วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556

จดหมายถึงเพื่อน

๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๖

บุญส่ง เพื่อนรัก

ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นกับเราว่ะเพื่อน อยู่ดีๆ ก็อยากเขียนจดหมายถึงนายในช่วงใกล้จะสิ้นปี ๒๕๕๖ นี้ และอยากเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาในช่วงปีนี้ให้นายฟัง

เป็นเรื่องที่คนไทยจำนวนไม่น้อยทั่วแผ่นดินกำลังเครียดกันไปหมด แต่ปีนี้ดูเหมือนจะหนักหน่วงเอาการกว่าปีที่ผ่านๆมา เพราะผู้คนหลายล้านได้ลุกขึ้นมาชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศไทยแบบจริง ๆ จัง ๆ แม้เรื่องนี้จะมีการเรียกร้องมากว่าสิบปีแล้วก็ตาม แต่ครั้งนี้ดูราวกับว่าไม่สามารถหยุดยั้งพลังคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ยอมจำนนกับสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ได้อีกต่อไปแล้ว

เราไม่แน่ใจว่านายรู้หรือเปล่าว่าประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีเป็นสุภาพสตรี ซึ่งเป็นคนแรกแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยเลยล่ะ เธอชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นน้องสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นผู้หญิงที่ “สวย” มากเลยนะเพื่อน

แต่ในอีกทางต้องบอกว่าเธอก็ค่อนข้าง “ซวย” เอามากๆเลยทีเดียวเช่นกัน เพราะตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งก็ต้องเข้ามาแก้ปัญหาน้ำท่วมประเทศครั้งใหญ่ ซึ่งก็โดนด่าไปทั้งบ้านทั้งเมือง

อีกทั้งที่ผ่านมามักจะมีคำครหาอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการติดโพยอ่านแถลงการณ์ต่างๆ การอ่านผิดอ่านถูก การไม่เข้าสภา แต่เธอก็เอาตัวรอดมาได้จนทุกวันนี้

จนมาถึงปลายเดือนตุลาคมนี้เอง ที่สภาผู้แทนราษฎรนำโดยพรรคเพื่อไทย หัวเรือใหญ่ที่เธอคุมบังเหียนอยู่ หยิบเอาเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ขึ้นมาพิจารณา และมีมติผ่านการเห็นชอบในช่วงตีสี่ของวันที่ ๑ พฤศจิกายน เรื่องราวอัปยศจึงเกิดขึ้น ณ ที่ประเทศไทยแห่งนี้

เพราะสาระของกฎหมายครอบคลุมไปถึงคดีความย้อนหลังไปจนถึงปี ๒๕๔๗ ในสมัยที่พี่ชายของเธอเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ทั้งๆที่ตอนเสนอกฎหมายฉบับนี้เข้ามาพิจารณาในสภาฯก็ไม่มีเรื่องนี้บรรจุอยู่

พรรคฝ่ายค้านจึงมีการตั้งเวทีนอกสภา ระดมมวลชนออกมาต่อต้านการออกกฎหมายล้างผิดฉบับนี้ ซึ่งสุดท้ายวุฒิสภาก็ทนต่อกระแสของสังคมไม่ไหว ลงมติไม่รับหลักการเห็นชอบให้พิจารณาต่อในชั้นวุฒิสภา ทำให้กฎหมายฉบับนี้ “สลบเหมือดไปชั่วคราว”

ต้องบอกว่าเราก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายฉบับนี้เช่นเดียวกัน เรากับเครือข่ายจึงได้ออกแถลงการณ์คัดค้านในบริเวณที่ทำงานเราด้วย และที่สำคัญยังเดินทางไปยื่นแถลงการณ์ต่อประธานวุฒิสภาด้วยนะ

แม้เรื่องนี้ยุติลง แต่ก็เกิดเหตุต่อเนื่อง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของวุฒิสภาไม่ถูกต้องทั้งในเรื่องกระบวนการและสาระ แต่พรรคเพื่อไทยก็ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

เหตุนี้เองจึงนำมาซึ่งการชุมนุมครั้งมโหฬารที่นำโดย “กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่ลาออกจากการเป็น สส.พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศยกระดับเป็นการขับไล่ระบอบทักษิณ ซึ่งได้ผลเป็นอย่างมาก มีประชาชนออกมาร่วมชุมนุมเดินขบวนตามท้องถนนในกรุงเทพฯ กว่า ๕ ล้านคน ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ว่าจะมากได้ขนาดนี้

เราก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้ไปร่วมชุมนุมหลายครั้งกับ “มวลมหาประชาชน” ที่เขาเรียกกัน ต้องบอกว่าคนที่มาชุมนุม หลายๆคนน่ารัก ยิ้มให้กัน แบ่งปันสิ่งของให้แก่กัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมากเลยทีเดียว

ความกดดันจากการชุมนุมหลายๆครั้ง ตกไปอยู่ที่รัฐบาล จนในที่สุดเธอต้องตัดสินใจประกาศยุบสภาเมื่อ ๙ ธันวาคม และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ปีหน้า แต่ทางฝ่ายผู้ชุมนุมก็ไม่ยอมรับ เสนอให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพราะถ้าเลือกตั้งตามระบบและกลไกเดิม ผลที่ออกมาก็คงเหมือนเดิม

เมื่อ ๒ วันก่อน คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้เปิดรับสมัครเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อไปแล้ว แต่ผู้ชุมนุมก็เข้าไปขัดขวาง นำมาซึ่งความสูญเสีย มีคนตายและบาดเจ็บอีกด้วย

ที่เราเล่ามาก็เพื่อให้นายได้รับรู้ว่า ประเทศไทยเรามันเปลี่ยนแปลงไปจากวันที่นายไม่อยู่หลายอย่าง

อย่างเมื่อหลายวันก่อน มีงานเลี้ยงรุ่นสมัยที่เราเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นด้วยกัน มีเพื่อนๆมาร่วมงานกว่า ๑๐๐ คน แต่ในงานไม่มีใครอยากพูดเรื่องการเมืองเลย เพราะมีทั้งเพื่อนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่เธอบริหารอยู่

แม้แต่เพื่อนในสายงานที่เราทำงานด้วยกันมานาน ก็มีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และใช้คำที่แสดงถึงความเกลียดชังและค่อนข้างรุนแรงกันสูงมาก

หน้าข่าวทางสื่อต่างๆ ก็มีแต่ข่าวการบ้านการเมือง ทั้งส่วนที่เห็นและต่อต้านรัฐบาล

ไม่รู้นะว่าคนอื่นเป็นอย่างไร แต่เราเครียดมากเลยว่า ต้องระวังคำพูดคำจา เพราะกลัวว่าจะไปพูดกับคนที่เห็นตรงกันข้ามกับเรา ซึ่งเจอบ่อยมากโดยเฉพาะยามต้องโดยสารรถแท็กซี่ ที่พอเราเอ่ยเรื่องนี้ขึ้นมาก็แสดงความคิดความเห็นที่รุนแรงต่อผู้ชุมนุมให้เราฟัง

ในความคิดของเรา แม้ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่จากข้อมูลที่ได้ยินได้ฟังมา ชี้ให้เห็นชัดว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการต่างๆ เยอะมาก

เช่น โครงการน้ำ มูลค่า ๓.๕ แสนล้านบาท ก็ได้รับการต่อต้านจากประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ เกือบทุกจังหวัด ซึ่งเราก็เคยเข้าไปร่วมใน ๒ จังหวัด คือที่นครสวรรค์ และพิจิตร ก็พบว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นจัดแบบขอไปที เน้นจำนวนแต่ไม่มีคุณภาพแต่อย่างใด

โครงการเงินกู้ ๒.๒ ล้านบาท ก็น่าเป็นห่วง ไม่มีรายละเอียดประกอบคำขอกู้เงินเลย หากกู้สำเร็จ ประชาชนอย่างเราๆ ลูกเราจะต้องใช้หนี้จากโครงการนี้ไปอีกกว่า ๕๐ ปี

โครงการจำนำข้าว ก็ขาดทุนมากมาย จนปัจจุบันนี้ไม่มีเงินจะไปจ่ายให้กับชาวนาที่นำข้าวมาจำนำไว้กับรัฐบาลแล้ว

โครงการรถคันแรก ฟังดูก็มีปัญหา ส่งผลกระทบให้ท้องถนนจราจรติดขัดเต็มไปหมด ส่วนโครงการทางด้านสุขภาพ ก็พยายามผลักดันให้เข้าไปสู่ระบบทุนนิยม โดยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคนยากคนจน และยังมีอีกหลายเรื่องที่มีลักษณะที่แฝงไปด้วยความไม่ชอบมาพากล

จนเรานี้แหล่ะเป็นคนหนึ่งที่ได้ร่วมกับเพื่อนๆในเครือข่ายด้านสุขภาพ ตั้งโต๊ะแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพื่อเปิดช่องให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

เราเล่ามาเสียยาวเลย นายคงมึนคงงงไปกับข้อมูลที่เราให้อย่างแน่นอน เพราะในวันที่นายจากไปเมื่อเกือบ ๑๐ ปีก่อนโน้น บ้านเมืองเรายังไม่เป็นแบบนี้ วันนั้นคนไทยยังมีความรักความสามัคคีกันอยู่มาก ซึ่งแตกต่างจากวันนี้อย่างสิ้นเชิง

ในวาระที่วันนี้เป็นวันสุดท้ายของปี ๒๕๕๖ เราขอให้นายช่วยเราหน่อยนะเพื่อน หากนายมีอานุภาพอยู่บ้าง เราขออ้อนวอนให้นายช่วยทำอะไรบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็น “สยามเมืองยิ้ม” เหมือนเก่าก่อน ประชาชนมีความรักสามัคคี ไม่แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย คนไทยทุกคนร่วมมือกันพัฒนาประเทศโดยมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตลอดไปอย่างสมานฉันท์ ซึ่งนายยืนยันในสมัยที่เราเรียนด้วยกันว่าเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดของประเทศไทยเรา

อย่าเพิ่งเบื่อกันนะ โอกาสหน้าเราจะเขียนจดหมายมาเล่าอะไรๆให้นายฟังต่ออีกนะ “รออ่านแล้วกัน”

สุดท้ายขอให้ดวงวิญญาณของนายสถิตอยู่ในสรวงสวรรค์ตลอดไปนะ

คิดถึงเพื่อนเสมอ

“เราเอง”

วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“หลวงตาแชร์” พเนจรพัฒนา

๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖

ถือเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง ที่ผมได้มีโอกาสเดินทางไปกราบนมัสการและรับพรปีใหม่จากพระภิกษุรูปหนึ่งที่ผมรักและศรัทธา ก่อนที่ปี ๒๕๕๖ จะเดินทางผ่านไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ผมเรียกพระรูปนี้ว่า "หลวงตา" จนติดปาก นับตั้งแต่ที่ผมรู้จักมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ในเวทีประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๓ ซึ่งต่อมาในปีถัดไปจึงได้มีโอกาสทำงานร่วมกันพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง “สุขภาวะพระสงฆ์” ที่หลวงตาเป็นหัวเรือใหญ่

แม้ว่าปีนั้นเรื่องที่หลวงตาพัฒนาจะยังคงไม่ได้รับการบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แต่ก็ไม่ได้ทำให้หลวงตาลดละความพยายามลง กลับยิ่งเพิ่มความมุ่งมั่นใจตั้งใจยิ่งขึ้น จนในที่สุดเรื่องนี้ก็ได้รับการบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ และคณะรัฐมนตรีก็รับทราบมติดังกล่าวเพื่อพัฒนาให้เกิดกลไกการดำเนินการต่อไปในอนาคต

เหตุผลสำคัญที่ หลวงตาพยายามผลักดันเรื่องนี้ เพราะประสบการณ์ทำงานพัฒนาที่ยาวนานหลายสิบปี กอปรกับการหารือกับกรมอนามัย จึงได้ทราบว่าปัจจุบันพระชั้นอาวุโสเกิดเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก อย่างน้อยกว่า ๑ แสน ๕ พันรูป ที่มีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน นอกจากนั้นยังพบว่ามีวัดไม่ถึง ๑๐ % ของวัดทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ ๓๐,๐๐๐ วัดในประเทศไทย ที่มีการจัดสภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีตามเกณฑ์ “วัดส่งเสริมสุขภาพ”

สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของความมุ่งหวังที่ปรารถนาจะเห็นระบบการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ให้มีสุขภาพดี สามารถเป็นกำลังหลักในการสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไปได้ เพราะโดยปกติแล้วพระสงฆ์ก็เป็นกลุ่มเครือข่ายที่มีพลัง มีพระนักพัฒนาจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้ ประสบการณ์และความสามารถในการเข้าไปพัฒนาชุมชนในมิติต่าง ๆ อย่างมากมายด้วยอยู่แล้วเช่นเดียวกัน

หลวงตาที่ผมกำลังพูดถึงท่านนี้ คือ “หลวงตาแชร์ พเนจรพัฒนา” หรือ “หลวงตาแชร์” เจ้าอาวาสวัดอาศรมธรรมทายาท ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา นั่นเองครับ

“หลวงตาแชร์” เดิมชื่อ “ชฎิล ทับเพ็ชร” วุฒิทางธรรมขั้นสูงสุดถึงนักธรรมเอก ส่วนวุฒิทางโลกท่านได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เดิมหลวงตามีฉายาทางสงฆ์ว่า “พระชฎิล อมรปัญโญ” และได้เลื่อนฐานะเป็น “พระครูใบฎีกาชฎิล อมรปัญโญ” ในปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็น “พระครูอมรชัยคุณ”

เมื่อช่วง ๓ เดือนก่อนหน้าจัดงานในวันนี้ หลวงตาเกิดอาพาธหนักต้องเข้ารับการผ่าตัดและรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ด้วยหลายโรคทั้งไฮเปอร์ไทรอยด์ ไฮโปไทรอยด์ และโรคเกี่ยวกับลำไส้ ต้องผ่าตัดและเรียงลำไส้ใหม่

หลวงตาได้เล่าตอนเริ่มการประชุมว่า “ตอนที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล นึกว่าจะไม่รอดเสียแล้ว หลับตาครั้งใดก็เห็นแต่โลงศพทุกครั้ง”

แม้ร่างกายของหลวงตาดูซูบลงไปมาก น้ำหนักลดไป ๑๐ กว่ากิโลกรัม แต่หลวงตาไม่ยอมไปพัก นั่งประชุมกับเราตลอดวัน

งานในวันนี้ ผมได้นิมนต์พระสงฆ์จากเครือข่ายสังฆพัฒนาทั้ง ๔ ภาค รวม ๑๕ รูป มาร่วมประชุมปรึกษาหารือที่อาศรมที่หลวงตาพักอยู่ เพื่อร่วมกันจัดทำแผนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” สู่การปฏิบัติ ซึ่งพระทุกรูปต่างช่วยกันระดมสมองจนได้ร่างแผนการทำงานออกมา และมีนัดคุยกันในครั้งถัดไป ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่จังหวัดชลบุรี

หลังเสร็จสิ้นการประชุม ผมได้มีโอกาสเดินชมสภาพของอาศรม ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่หลากหลายสายพันธุ์ สร้างความร่มรื่นให้กับวัดเป็นอย่างมาก ด้านหลังวัดติดกับ “ซับประดู่” เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีร้านอาหารพื้นขัดแตะหลังคามุงแฝกปลูกเรียงรายริมอ่างอยู่เต็มไปหมด

ภายในวัดมีอาคารขนาดใหญ่หลายหลัง ซึ่งเป็นสถานที่จัดค่ายฝึกอบรมสร้างเสริมคุณธรรมและจริยธรรมแบบมีส่วนร่วมให้กับเด็กและเยาวชนอยู่เนืองๆ โดยตั้งแต่จัดตั้งอาศรมมาเมื่อปี ๒๕๒๖ มีผู้เข้าอบรมนับหมื่นคนมาจากทั้งในและนอกจังหวัดนครราชสีมา

เมื่อเดินเข้าไปดูในกุฏิที่หลวงตาพัก ภายในห้องเต็มไปด้วยหนังสือ เอกสารวางอยู่เต็มโต๊ะและชั้นวางเอกสารนับพันเล่ม มีเครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์พร้อมที่จะทำงาน มองไปที่อีกมุมหนึ่งก็จะเห็นแฟ้มเอกสารที่มีข้อความที่สันแฟ้มเขียนให้เห็นชื่อโครงการหรืองานที่กำลังทำอยู่นับสิบแฟ้มวางตั้งเรียงรายอยู่ ซึ่งบ่งบอกว่า “หลวงตาครุ่นคิด ให้ความสำคัญต่อการทำงานเรื่องนี้ยิ่งนัก”

เดินลึกเข้าไปอีกห้อง กลายเป็นห้องสมุดเล็ก ๆ มีหนังสือทั้งธรรมะและหนังสือแนวพัฒนาชุมชนมากมายวางเรียงรายอยู่บนชั้นเกือบ ๑๐ แถว

หลวงตาเคยเล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครราชสีมามาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เติมหัวใจให้สังคม ที่ร่วมมือกับ ๒๒ เครือข่ายทั่วทั้งจังหวัด คัดสรรเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่มานำเสนอและแลกเปลี่ยนระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง จนพัฒนาเป็นประเด็นขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในจังหวัดขึ้นมา

จากการทำงานพัฒนามาตลอดชีวิต หลวงตาได้เข้ารับพระราชทาน “รางวัลเสาเสมาธรรมจักร” จากพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕

ผมอดที่จะถามหลวงตาถึงเหตุการณ์บ้านเมืองของประเทศไม่ได้ ซึ่งหลวงตาก็ได้อุปมาอุปไมยไว้อย่างชัดเจนว่า “ก็เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีกาฝากมาเกาะกินเนื้อไม้ ฝังรากลึก การจะเอากาฝากนั้นออกย่อมต้องเจ็บและเสียเลือดเสียเนื้อบ้าง ย่อมเป็นธรรมดา”


วันนี้ผมเดินทางกลับบ้านอย่างมีความสุข ที่เห็นหลวงตามีสุขภาพแข็งแรงขึ้น ได้รับพรปีใหม่จากหลวงตา และได้ทำงานสนองเจตนารมณ์ที่หลวงตาริเริ่มไว้เมื่อ ๓ ปีก่อน

ผมขอกราบนมัสการหลวงตามาด้วยความเคารพ ณ โอกาสนี้อีกคำรบหนึ่งครับ

ก้าวรักในรอยจำ

๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖

กุ้ง ที่รัก

เมื่อวานนี้ระหว่างที่พี่เดินทางกว่า ๔ ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ ไปจัดเวทีเครือข่ายพระสังฆพัฒนา ๔ ภาค ที่อาศรมหลวงตาแชร์ จังหวัดนครราชสีมา พี่ได้ใช้เวลาขณะนั่งรถอ่านหนังสือแปลเล่มหนึ่งจนจบ ซึ่งได้สร้างความประทับใจในอรรถรสที่มาพร้อมกับสายลมหนาวยามนี้

“ก้าวรักในรอยจำ” หรือ “A WALK TO REMEMBER” เขียนโดย NICHOLAS SPARKS เป็นหนังสือเล่มนั้นที่กวีซีไรท์ “จิระนันท์ พิตรปรีชา” เป็นผู้แปล ด้วยถ้อยคำที่ละเมียดละไมจนพี่วางไม่ลงด้วยความดื่มด่ำไปกับตัวอักษรและเหมือนตัวพี่เองไปนั่งฟัง “แลนดอน” เล่าเรื่องราวบางอย่างที่ล่วงเลยมากว่า ๔๐ ปี ด้วยตนเองเลยทีเดียว

กุ้งครับ ลองดูภาษาบางตอนนะครับ..ช่างทำให้พี่หวนกลับไปนึกถึงวันนั้นของพี่และอดยิ้มกับข้อความนี้ไม่ได้

ในแสงเงาเทาทึมของฤดูหนาว ผมเห็นริมฝีปากล่างของเธอสั่นระริก ผมเองก็เช่นกัน ในนาทีนั้นหัวใจผมเต้นแรงขึ้น ผมมองเข้าไปในดวงตาเธอ ยิ้มด้วยความรู้สึกทุก ๆ อย่างที่ลึกล้นอยู่ในหัวใจ ผมไม่อาจเก็บถ้อยคำนี้ไว้กับตัวเองอีกต่อไปแล้ว “ผมรักคุณ เจมี่” ผมพูดช้า ๆ “คุณคือสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตผม”

นี้คือฉากเล็กๆ ฉากหนึ่ง ที่ “แลนดอน” สารภาพความในใจต่อ “เจมี่” หญิงสาวเพื่อนนักเรียนที่เขารัก

นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ “แลนดอน” เด็กหนุ่มวัย ๑๗ ปี ลูกชายของวุฒิสภา กับ “เจมี่” ลูกสาวของบาทหลวง อาศัยอยู่ในเมืองโบฟอร์ท รัฐนอร์ทแคโรไลนา ทั้งคู่เป็นเพียงเพื่อนร่วมห้องเดียวกัน แต่ด้วยเพราะงานของโรงเรียนในค่ำคืนหนึ่งที่ให้นักเรียนต้องหาคู่เต้นรำ (คู่เดท) ไปร่วมงานในครั้งนั้น แต่ไม่มีผู้หญิงคนใดว่างสำหรับ “แลนดอน” แม้แต่คนเดียว ทำให้เขาต้องไปขอ “เจมี่” เป็นคู่เต้นรำอย่างไม่ค่อยจะเต็มใจนัก

เพราะ “เจมี่” นั้นเป็นหญิงสาวที่เคร่งศาสนาจัดและมักจะถือไบเบิลไว้กับตัวตลอดเวลาไม่ว่าเธอจะไปที่ไหน ส่วน “แลนดอน” เป็นนักเรียนที่เป็นที่นิยมของเพื่อนนักเรียนในโรงเรียน นี่จึงเป็นความแตกต่างที่เห็นได้ชัดของทั้งคู่และสร้างความกระอักกระอ่วนให้กับ “แลนดอน” ยิ่งนัก

ภายหลังจากกิจกรรมค่ำคืนนั้นผ่านไป “เจมี่” ได้มาขอร้องให้ “แลนดอน” ร่วมแสดงเป็นตัวเอกในบทละครที่เป็นบทประพันธ์ของพ่อเธอบ้าง “แลนดอน” ไม่กล้าปฏิเสธ ทั้งๆที่เขาอายต่อสายตาและคำล้อเลียนจากเพื่อนๆ ที่มาชอบสาว “ที่ดูไม่เอาไหนเสียเลย”

ในวันแสดงละคร “แลนดอน” เกิดความรู้สึกแปลกไปจากเดิม เมื่อได้พบ “เจมี่” ในชุดนางฟ้าสีขาว ปล่อยผมสยาย ใบหน้าแต่งแต้มเครื่องสำอาง จนเขาตะลึงในความงามของ “เจมี่” และอินไปกับบทละครและคำพูดสำคัญที่ว่า “คุณสวยเหลือเกิน” ซึ่งเดิมเขาแสดงไม่ได้เรื่อง แต่วันนี้กลับแปรเปลี่ยนน้ำเสียงและท่าทางได้อย่างสมจริง

นับจากวันนั้น หัวใจของ “แลนดอน” ได้แปรเปลี่ยนไป เขาไม่อายต่อคำล้อเลียนจากเพื่อนอีกแล้ว

หลังเลิกเรียนเขามักจะแวะไปหาเธอที่บ้าน พาไปพบกับพ่อและแม่ของเขา ไปเที่ยวด้วยกัน พูดคุยกัน

ในวันปีใหม่ ทั้งคู่ไปทานอาหารค่ำร่วมกันและเต้นรำด้วยกันเป็นครั้งแรก สองอาทิตย์ต่อมา “แลนดอน” ตัดสินใจสารภาพและขอความรักจาก “เจมี่” คำตอบที่ได้รับจากปากของ “เจมี่” ก็คือ “มันเป็นไปไม่ได้”

กุ้งครับ...ตอนต่อไปนี้ พี่อ่านไป หัวใจก็จะสลายตาม แต่ในขณะเดียวกันก็อดซาบซึ้งไปกับความรักของทั้งคู่อย่างเต็มตื้น

เพราะ “เจมี่” ได้เล่าให้เขาฟังว่า เธอเหลือเวลาอยู่ในโลกใบนี้อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะนี้เธอเป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือด แต่คำตอบนั้นกลับยิ่งทำให้ “แลนดอน” เพิ่มความรักต่อ “เจมี่” มากขึ้น

ทุกวันเขาจะแวะเวียนมาหาเธอที่บ้าน พูดคุยและให้กำลังใจเธอทุกวินาทีที่เขาจะสามารถแบ่งปันทุกข์จากเธอได้

เวลาผ่านไป อาการของ “เจมี่” ทรุดลงตามลำดับ จนสุดท้ายร่างกายของเธอผ่ายผอมนอนซมรอวันสิ้นใจบนเตียงนอนที่บ้าน “แลนดอน” กลายเป็นเพื่อนที่มาเฝ้าดูอาการเธอโดยไม่ยอมห่าง ยามใดที่ “เจมี่” ตื่นขึ้นมา ก็จะเรียกหา “แลนดอน” ในทันที

ความเศร้าของ “แลนดอน” เพิ่มทวีขึ้นทุกวัน มีเพียงพ่อกับแม่ที่คอยให้กำลังใจเขา สิ่งที่ “แลนดอน” ทำให้กับ “เจมี่” ได้ก็คือ การอ่านหนังสือไบเบิ้ลที่ได้รับเป็นของขวัญจาก “เจมี่” ในวันขึ้นปีใหม่ที่เพิ่งผ่านไปไม่นานให้ “เจมี่” ฟัง

วันหนึ่งหลังจากที่ “เจมี่” หลับไปเพราะฤทธิ์ยา “แลนดอน” ตัดสินใจวิ่งจากบ้านไปยังโบสถ์ที่พ่อของ “เจมี่” เป็นบาทหลวงอยู่ และได้ขอให้เขาได้แต่งงานกับ “เจมี่” ซึ่งก็ได้รับคำยินยอมตามที่ใจปรารถนา เขาดีใจมากรีบวิ่งกลับไปยังบ้านเพื่อบอกกับ “เจมี่” ที่นอนซมอยู่บนเตียง

“ฉันก็รักคุณ ฉันยินดีแต่งงานกับคุณค่ะ” คือคำตอบอันแผ่วเบาที่ “แลนดอน” ได้ยินจากปากของ “เจมี่”

วันแต่งงานมาถึง มีแขกเหรื่อมาร่วมงานกว่า ๕๐๐ คน “เจมี่” พยายามแข็งใจพยุงกายต่อสู้กับความเจ็บปวดของร่างกาย แต่งตัวด้วยชุดนางฟ้าในคืนวันเล่นละครคืนนั้นเข้าสู่พิธีวิวาห์กับชายที่เธอรัก โดยมีพ่อของเธอซึ่งเป็นบาทหลวงทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีแต่งงานในโบสถ์โบฟอร์ทนั้น

บทสุดท้ายของนิยายเรื่องนี้ ตัดฉับมากล่าวถึง “แลนดอน” อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป ๔๐ ปี

“ผมสูดหายใจเข้าเต็มปอดรับความสดชื่นของฤดูใบไม้ผลิ แม้เมืองโบฟอร์ทจะเปลี่ยนไปมากเช่นเดียวกับผม แต่อากาศไม่เคยเปลี่ยน มันยังคงเป็นอากาศแห่งวัยเยาว์ อากาศแห่งวัยสิบเจ็ดของผม และเมื่อผมระบายลมหายใจออก ผมก็กลายเป็นชายชราวัยห้าสิบเจ็ดอีกครั้ง ไม่เป็นไร ผมยิ้มรับสัจธรรม แหงนมองฟ้ากว้าง พลางนึกได้ว่า มีอีกข้อที่ผมยังไม่ได้บอกคุณ…. ผมเชื่อแล้วว่าปาฏิหาริย์มีจริง”

กุ้งครับ..ข้อความเมื่อครู่คือบทจบของเรื่อง เป็นการจบที่ทำให้พี่ต้องหยุดพักนิ่งไปนาน...และถามตนเองเบา ๆ ถึงประโยคที่ว่า “ผมเชื่อแล้วว่าปาฏิหาริย์มีจริง” นั้น “แลนดอน” กำลังหมายถึงอะไร

พี่อยากให้กุ้งได้อ่านนิยายเรื่องนี้ดูนะครับ และช่วยหาคำตอบถึงปริศนาที่ "แลนดอน" ได้ซ่อนไว้ และพี่เชื่อว่ากุ้งจะวางหนังสือเล่มนี้ไม่ลงจริงๆ จะต้องดื่มด่ำไปกับความรักของคนหนุ่มสาววัยรุ่นของ “แลนดอน” และ “เจมี่” ที่ “มหัศจรรย์แห่งรัก” สามารถเปลี่ยนโลกและเปลี่ยนใครบางคนได้โดยไม่มีสาเหตุ “แลนดอน” ก็เป็นหนึ่งในนั้นล่ะครับ

ความรักที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการใช้ชีวิตที่แตกต่าง ความชอบที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว แต่กลับทำให้คู่รักอย่าง “แลนดอน” และ “เจมี่” กุมมือเดินด้วยกันไปจนสุดปลายสะพานความรักได้อย่างงดงามทีเดียว

และเมื่ออ่านจบแล้ว พี่มั่นใจว่ากุ้งคงคิดถึง "ก้าวรักในรอยจำ" ของเราทั้งสองอย่างแน่นอน

ด้วยรัก
“พี่เอง”

วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ด่านปะทะในสายธาร “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ”

๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๖

ค่ำคืนวันคริสต์มาสปีนี้พอจะมีเวลาว่างจากภารกิจงานประจำบ้าง จึงทอดหุ่ยนั่งอ่านหนังสือโดยไม่รีบร้อนจนเกินไปนัก ย้อนกลับไปอ่านหนังสือเรื่อง “สมัชชาสุขภาพ: ปรัชญา แนวคิดและจิตวิญญาณ” ที่กอปรไปด้วยคำที่ละเมียดละไมชวนให้วางไม่ลงอีกครั้ง มีหลายเรื่องน่าสนใจ เลยนำมาแลกเปลี่ยนกันครับ

"สมัชชาสุขภาพ เปรียบประหนึ่งสายธารใหญ่ที่ไหลเลาะลัดในภูมิทัศน์อันสลับซับซ้อนของสยามประเทศ สายธารแห่งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสังคมแห่งสุขภาวะสายนี้ บางครั้งไหลเชี่ยวแรงเปี่ยมพลัง บางครั้งชะลอลงไหลเอื้อยช้า บางเวลาพุ่งตรงไปข้างหน้าราวกับว่าจะเร่งให้ถึงจุดหมาย แต่หลายครากลับต้องไหลเลาะอ้อมขุนเขาใหญ่ที่ปรากฏขึ้นขวางหน้า”

นี้คือถ้อยวลีของ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ได้เปรียบเปรยเครื่องมือที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพ” ไว้อย่างน่าฟัง โดยเฉพาะการย้ำถึงภูมิประเทศสองฟากฝั่งที่สายธารจักไหลผ่าน ทั้งภูเขา เนินดินและหินผา ต่างมีส่วนกำหนดสายธารสายนี้ ให้ไหลเร็วช้า ตรงไปข้างหน้า หรือว่าวกวน

เมื่อถอดรหัสคำเปรียบเปรยดังกล่าวนั้น จึงพบเจอประเด็นที่ท้าทายให้กับสังคมและคนทำงานไว้อย่างแหลมคม เพราะนี้คือด่านปะทะสำคัญที่จักชะลอสกัดกั้นและไหลรินของสายธารถึง ๕ ด่าน

ด่านที่ ๑ การกลายเป็นระบบราชการของสมัชชาสุขภาพ (Bureaucratization of the Assembly) ที่เต็มไปด้วยขั้นตอน กฎเกณฑ์ ระเบียบ และความเป็นทางการ แม้จะทำให้สมัชชาสุขภาพมีกลไกและกระบวนการที่ชัดเจน แต่ก็อาจจะกลายเป็นกับดักที่ทำให้รูปแบบการมีส่วนร่วมกลับขาดความยืดหยุ่น และละทิ้งผู้คนบางกลุ่มบางพวกออกไป

ด่านที่ ๒ ภาวะความแปลกแยกของรากหญ้า (Alienation of the Grassroots) ด้วยความเป็นสากลที่วางไว้ ได้ส่งผลให้กลุ่มรากหญ้าเกิดความแปลกแยกและห่างเหินไปจากการมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพ หรือกล่าวโดยง่าย คือ “เข้าไม่ถึงกระบวนการสมัชชาสุขภาพ” นั่นเอง

ด่านที่ ๓ วิกฤตความเป็นตัวแทน (Crisis of Representation) ที่เกิดขึ้นจากตัวแทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้าร่วมอย่างจำกัด อาจลดทอนความน่าเชื่อถือ หรืออาจทำให้กระบวนการถูกปฏิเสธจากผู้คนบางภาคส่วนได้ และที่สำคัญความเป็นตัวแทนที่สมบูรณ์เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เพราะ “ตัวแทน” ย่อมแทนคุณสมบัติเพียงบางด้านของ “ตัวจริง” เท่านั้น

ด่านที่ ๔ การอภิปรายไตร่ตรองร่วมกันกับมติสมัชชา (Deliberation VS Resolution – driven agenda) ที่ใช้เวลาในการอภิปรายไตร่ตรองร่วมกันอย่างจำกัด โดยกำหนดทั้งเวลาที่สั้น และมีโอกาสพูดเพียงครั้งเดียว ซึ่งนับเป็นข้อจำกัดของการอภิปราย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลความเห็น และการไตร่ตรองร่วมกัน เหล่านี้ต่างมีผลสำคัญต่อการนำมติไปผลักดันให้ขับเคลื่อนและการสร้างความเป็นเจ้าของร่วมทั้งสิ้น

ด่านที่ ๕ ฉันทามติกับฉันทาคติ (Consensus VS Prejudice) จากผลของการให้สิทธิเท่าเทียมกัน โดยไม่ได้พิจารณาถึงความไม่เป็นธรรมในเชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่ ซึ่งทั้งคนชายขอบ คนจน คนไร้อำนาจ ชนกลุ่มน้อยและคนเล็กคนน้อย นี้เท่ากับเป็นการสืบทอดความไม่เท่าเทียมดั้งเดิมไว้ การสร้างฉันทามติในบริบทของโครงการอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน อาจกลายเป็นฉันทาคติโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

แต่อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของด่านปราการทั้ง ๕ นั้น กลับเปิดพื้นที่ให้พวกเราได้หวนกลับมาฉุกคิดอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ผู้เขียนได้เสนอมุมมองที่สร้างสรรค์ต่อสายธารที่ชื่อ “สมัชชาสุขภาพ” เส้นนี้ไว้อย่างท้าทายว่า

(๑) ต้องสร้างและสะสมทุนทางสังคมที่หาได้ยากในกลไกอื่น นั่นก็คือ สร้างความไว้วางใจระหว่างกัน(Mutual trust) ทั้งในระดับบุคคลและสถาบัน โดยมีการวางกฎเกณฑ์ที่โปร่งใสเป็นที่รับรู้กันอย่างเปิดเผย มีความคงเส้นคงวา เสมอต้นเสมอปลาย

(๒) ต้องสร้างสรรค์ความหลากหลายของรูปแบบการมีส่วนร่วม ที่เหมาะสมกับขั้นตอนการพัฒนานโยบายสาธารณะในแต่ละขั้นตอน ทั้งขั้นตอนการหาปัญหา การหาความเห็นร่วม ตลอดจนการผลักดันให้เกิดผลทางนโยบาย

(๓) ต้องสร้างช่องทางที่เชื่อมโยงความเห็นร่วม สู่การเปลี่ยนแปลงในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับพฤติกรรมและทัศนคติ เกิดความสัมพันธ์และเครือข่ายใหม่ๆ เกิดความร่วมมือใหม่ ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสถาบัน ระดับนโยบายสาธารณะ ระดับศักยภาพของชุมชน และระดับชีวิตสาธารณะ ซึ่งช่องทางหนึ่งคือต้องอาศัยสื่อสารสู่สาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมแรงร่วมใจกัน

(๔) ต้องสร้างกระบวนการสมัชชาให้เป็นวิถีแห่งสันติวิธี ที่ยึดการใช้เหตุใช้ผลและการสนทนาสื่อสารกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน เร่งสร้างกระบวนกรที่มีทักษะในการสร้างฉันทามติให้เกิดขึ้นในสังคมให้มาก เพื่อรองรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ความขัดแย้งลุกลามไปทั่ว แนวทางนี้จะมีความจำเป็นและเป็นทางเลือกทางรอดสำคัญจากความรุนแรงได้

(๕) ต้องสร้างนวัตกรรมประชาธิปไตยด้วยกระบวนการสานเสวนา ที่ต้องแทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ที่ทุกคนพึงตระหนักว่า ภารกิจที่ร่วมกันทำนั้นไม่ใช่การจัดประชุมเพื่อหาข้อยุติของประเด็นปัญหาเท่านั้น แต่เป็นภารกิจของการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ที่สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว องค์กรและชุมชน

(๖) ความจริง คือ สิ่งที่ได้ผล เพราะหลักการก็เป็นเพียงหลักการที่อาจจะถูกหรือผิดได้และยังต้องถกเถียงกันไปได้อีกนาน แต่ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นความตาย ความทุกข์ที่ผู้คนต้องเผชิญอยู่ตรงหน้า สิ่งที่ทำแล้วได้ผล นั่นแหละคือความจริง ฉะนั้นต้องให้ความสำคัญกับสัมฤทธิผลว่าเป็นไปเพื่อการแก้ความทุกข์ยากของประชาชน และเพื่อการสร้างสังคมที่เคารพในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมเสมอกันเป็นประการสำคัญเสมอ

กว่า ๑๐ ปีแล้วที่สายธารสายนี้ไหลผ่านผู้คนพื้นที่ต่างๆในสังคมไทย ไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่เคยหยุดหย่อน หล่อเลี้ยงสรรพสิ่งต่างๆให้เติบโตและชุ่มชื้น เป็น “สายธารแห่งการมีส่วนร่วมของประชาชน” ที่เป็นพลังขับเคลื่อนของคนเล็กคนน้อย เพื่อทำให้เกิด “ความดี ความงาม ความจริง” ที่รู้สึกรู้สมกับชีวิตมนุษย์ที่อยู่ตรงหน้า รู้สึกร่วมไปกับความทุกข์ยากของคนรอบข้าง

เป็นสายธารที่นำพาพวกเราสองฟากฝั่งมาช่วยกัน มาโอบอุ้มดูแลสายธารนี้ให้ไหลผ่านได้ต่อไปเรื่อย ๆ เป็นสายธารที่เราต่างมาร่วมแสวงหาทางออกของ “ทุกข์” ผ่านการเข้าใจหลักอิทัปปัจจยตา ที่บอกเราเสมอว่า

“เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป”

วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การจ้างงานที่ไม่มั่นคง : เรื่องใหม่ที่ท้าทาย

๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๖

แม้ชื่อ "พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย" จะเป็นที่คุ้นชินของหลายๆคนในเครือข่ายคนทำงานด้านแรงงาน แต่สำหรับผมแล้ว การเดินทางครั้งแรกมา ณ ที่แห่งนี้ มิใช่เรื่องง่าย ขนาดป้ายชื่อสูงตระหง่านตั้งเด่นอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์ แต่ผมก็ยังขับรถเลยไปจนได้

พลันเปิดประตูห้องประชุมเข้าไป สายตาก็สัมผัสกับภาพและโปสเตอร์กระดาษติดตามผนังห้อง ด้วยข้อความทั้งเชิงรณรงค์และเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานในประเด็นต่างๆเต็มไปหมด

ขณะนั้นผู้เข้าประชุมราว ๒๐ กว่าคน กำลังถกแถลงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างออกรส

วันนี้ผมได้รับเชิญจาก “คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย” ให้ไปคุยเรื่อง “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ให้กับสมาชิกขององค์กรฟัง ผมรีบตอบรับคำเชิญทันที เพราะเห็นว่านี้เป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่จะได้ไปขยายแนวคิดของเครื่องมือชิ้นนี้

แต่สิ่งที่ผมได้รับมากกว่าการทำหน้าที่ตาม “คำเชิญ” แล้ว ผมยังได้กำไรจากการนั่งฟังเวทีการนำเสนอผลงานวิจัยที่จัดขึ้นก่อนช่วงเวลาของผม

งานวิจัยภายใต้หัวข้อเรื่อง “การจ้างงานที่ไม่มั่นคง” ของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทย เป็นหัวข้อที่ผมไม่รู้จักมาก่อนเลย แต่เมื่อฟังไป ๆ ทำให้เห็นสภาพของปัญหาที่เกินคาด ที่กำลังจะเกิดกับกลุ่มคนที่เป็นฐานทุนอันสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยแห่งนี้

ที่ผ่านมาเรามักเห็นงานวิจัยที่ทำโดยนักวิชาการหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่งานวิจัยเรื่องนี้เกิดขึ้นจากนักวิจัยที่เป็นตัวแรงงานซึ่งทำงานอยู่ในโรงงานทุกวัน พวกเขาได้ลุกขึ้นมาเก็บข้อมูลเอง เขียนงานวิจัยเอง และนำเสนอเองในวันนี้

ลักษณะ “การจ้างงานที่ไม่มั่นคง” นั้น มีขอบเขตที่ครอบคลุมงานที่ลูกจ้างที่อยู่ในสภาพการจ้าง ดังนี้

พนักงานเหมาช่วง หรือเหมาค่าแรง หรือ SUBCONTRACT เป็นพนักงานซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทบริการจัดหางาน และถูกส่งให้ไปปฏิบัติงานในบริษัทแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นคู่สัญญากับบริษัทบริการจัดหางานแห่งนั้น คนงานกลุ่มนี้มักจะได้ค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสวัสดิการที่ไม่เท่าเทียมกับพนักงานประจำ เมื่อใดที่ยอดการผลิตลดลงกลุ่มคนงาน SUBCONTRACT จะถูกส่งคืนไปยังต้นสังกัดเดิมซึ่งเป็นนายจ้างชั้นต้นตัวจริงของลูกจ้าง
พนักงานสัญญาจ้างระยะสั้น คือ พนักงานที่บริษัทผู้ผลิตเป็นผู้รับลูกจ้างเข้ามาทำงานโดยตรง ไม่ผ่านนายหน้าบริษัทบริการจัดหางาน แต่จะได้รับสัญญาจ้างในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น ๓ เดือน ๖ เดือน ๙ เดือน เป็นต้น เมื่อครบสัญญานายจ้าง เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย หรือนายจ้างอาจให้ลูกจ้างต่อสัญญาเป็นคราวๆไป ในลักษณะระยะสั้น

นักศึกษาฝึกงาน คือ นักศึกษาที่ยังศึกษาอยู่ในวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งบริษัทจ้างให้มาทำงานในสถานประกอบการ โดยอ้างระบบทวิภาคีความร่วมมือกันระหว่างสถานประกอบกับโรงเรียนอาชีวศึกษา หรือวิทยาลับเทคนิคต่างๆ เรียกว่า “สหกิจศึกษา” เป็นรูปแบบการผสมผสานระหว่างความรู้ที่ใช้ในห้องเรียน กับการทำงานที่ใช้ประสบการณ์จริง

แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้าเมืองไม่ถูกกฎหมาย คือ แรงงานข้ามชาติ ๓ สัญชาติจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการพิสูจน์สัญชาติ หรือเข้าสู่การจดทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรีรายปี เป็นกลุ่มแรงงานที่ต้องหลบซ่อนจากการจับกุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ยังคงทำงานและอาศัยอยู่ในสถานประกอบการ

โดยงานนี้ศึกษาผ่าน ๓ ภาคอุตสาหกรรม คือ ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ภาคอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และภาคอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ยาง และเคมีภัณฑ์

ข้อค้นพบเบื้องต้น พบว่า

(๑) กฎหมายไทยโดยเฉพาะพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ยังคุ้มครองไม่ครอบคลุมกลุ่มแรงงานเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้เท่าทันต่อสถานการณ์การจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

(๒) กระทรวงแรงงานเองก็ไม่ทราบขนาดของการจ้างแรงงานรูปแบบต่างๆ เพราะไม่มีสถิติข้อมูลที่แน่ชัดว่าการจ้างงานในรูปแบบต่างๆ มีเท่าใด จึงเป็นการยากที่จะเสนอแนะนโยบายที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาได้

(๓) การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ๒๕๕๘ จะส่งผลให้มีจำนวนแรงงานที่ทำงานในลักษณะนี้เพิ่มสูงขึ้น

ข้อเสนอแนะที่สำคัญจากการค้นพบครั้งนี้ คือ

รัฐต้องทบทวนกรอบและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศใหม่ เปลี่ยนกรอบการพัฒนาประเทศที่เป็นแบบเสรีนิยม โดยเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง คำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคม และค่าจ้างที่เป็นธรรม

สำหรับตัวองค์กรแรงงานเอง...จะต้อง

(๑) มีการทบทวนโครงสร้างขององค์กร เพื่อให้รองรับการขยายฐานสมาชิกแรงงานจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในกลุ่มที่มีสภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคง

(๒) วางแผนยุทธศาสตร์และดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ ที่จะทำให้เกิดการประสานงาน การแบ่งงานกันทำระหว่างองค์กรแรงงานระดับต่าง ๆ เพื่อสร้างเอกภาพทั้งในแนวตั้งและแนวนอน

(๔) พัฒนางานด้านวิชาการที่เป็นของตนเองอย่างชัดเจน เพื่อติดตามสถานการณ์ ศึกษาและส่งเสริมเพื่อการเจรจาต่อรองและพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป
(
๕) ทำงานร่วมกับขบวนการแรงงานในประเทศอื่น ๆ เพื่อการรวมกลุ่มและมีบทบาทในการเจรจาต่อรองเพื่อร่วมกำหนดและตัดสินใจกับรัฐและฝ่ายผู้ประกอบการ

ผมฟังไป อดชื่นชมกับกระบวนการทำงานที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ได้ และผมได้ใช้โอกาสทองชี้ให้เห็นว่า “สมัชชาสุขภาพ” อาจเข้ามาเสริมการทำงานที่กำลังดำเนินการอยู่ได้ โดยใช้เป็นเครื่องมือยกระดับงานวิชาการแรงงงานนี้ พัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมได้ต่อไปในอนาคต

ผมขับรถกลับด้วยความดีใจที่ได้เรียนรู้กับสิ่งใหม่มาก ๆ ในวันนี้ ในใจคิดว่าหากมีการประชุมที่ “พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย” อีก ผมคงไม่หลงเหมือนวันนี้อย่างแน่นอน

"คุณค่า" สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๖

“ทำไป....ทำไม ไม่เห็นเกิดอะไรขึ้นเลย”

เป็นข้อความที่ผมได้รับฟังบ่อยครั้งจากเพื่อนภาคีเครือข่าย ที่ตั้งคำถามต่อกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งเป็นงานหนึ่งที่ผมรับผิดชอบอยู่

ได้ยินตอนแรก ๆ ก็รู้สึกไม่สบายใจที่เรายังไม่สามารถทำให้คนรอบข้างเข้าใจงานที่ “ใหญ่-ยาก” แบบนี้ได้ แต่เมื่อคิดอีกที นี้เป็นคำถามสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผมได้อธิบายงานให้กระจ่างอีกครั้งหนึ่ง

ผมยอมรับครับว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีหลายมติที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ในมุมกลับกันก็มีอีกหลายมติมิใช่น้อยที่ออกดอกออกผลไปพอสมควร

ผมอยากจะเปรียบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กับลักษณะของครอบครัวในสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งพบว่า สามารถจำแนกได้ ๓ กลุ่ม

กลุ่มที่ ๑ กลุ่ม “ครอบครัวอบอุ่น” ที่ประกอบไปด้วย พ่อแม่ลูก ดูแลเลี้ยงดูกันเป็นอย่างดี ซึ่งก็เปรียบเสมือนการแสดงความเป็นเจ้าของในมติสมัชชาสุขภาพที่ตัวเองพัฒนาขึ้น แล้วมาขอใช้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม หรือทำคลอด เมื่อคลอดแล้ว ก็นำมติไปขับเคลื่อน ติดตามต่อ ได้ผลอย่างไรก็บอกก็กล่าวให้ทราบ ซึ่งมีมติในกลุ่มนี้ประมาณ ๑ ใน ๓

กลุ่มที่ ๒ กลุ่ม “ครอบครัวใหม่” หมายถึง เพิ่งเป็นครอบครัวมือใหม่หัดขับ อยากมีลูกก็เลยมาปรึกษากับหมอ จนได้ลูกตามความประสงค์ ก็นำลูกกลับไปเลี้ยง แต่ด้วยความเป็นพ่อแม่มือใหม่ จึงต้องขอรับการสนับสนุนจากพ่อแม่ หรือจากหมอที่ทำคลอดบ้าง ก็เฉกเช่นเดียวกัน ที่เจ้าของเรื่องนำมาใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจนได้มติออกมา แล้วนำไปขับเคลื่อนในบางเรื่องบางประเด็น แต่ยังไม่ครอบคลุมมติทุกข้อ หรือบางรายก็กลับมาขอรับการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อขับเคลื่อนต่อ ซึ่งมีมติในกลุ่มนี้ประมาณ ๑ ใน ๓

กลุ่มที่ ๓ กลุ่ม “ท้องไม่พร้อม” หมายถึง เป็นชายหญิงที่รักสนุก อยากลอง จนเกิดท้องและคลอดออกมา แต่ยังไม่มีความสามารถพอที่จะเลี้ยงดูลูกด้วยตนเองได้ จึงฝากไว้ให้หมอเลี้ยง ซึ่งในที่นี้ก็คือมาฝากให้องค์กรที่ผมทำงานอยู่ขับเคลื่อนเอง ซึ่งมีมติในลักษณะนี้ ราว ๑ ใน ๓ เหมือนกัน

ทั้งนี้กระบวนการทำงานทั้ง ๓ กลุ่มนั้น เมื่อปีที่แล้วทางมหาวิทยาลัยมหิดล โดยทีมของ อ.ศุภวัลย์ พลายน้อย ได้มาทำการประเมินกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในช่วง ๔ ปีแรก คือ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ – ๒๕๕๔ มีข้อค้นพบที่สำคัญว่า

คุณค่าของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มี ๕ ประการ อันได้แก่

คุณค่าด้านการพัฒนาหรือแก้ปัญหา : สมัชชาสุขภาพได้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนแก้ไขมาตรการสำคัญที่มีผลต่อสุขภาวะของสังคม คุณค่าของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมิได้หมายความเพียงการได้มาของมติที่นำไปปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดแนวทางการจัดการปัญหาสังคมที่ต่อเนื่องเรื้อรัง และไม่สามารถดำเนินการโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงลำพัง

คุณค่าด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ : ก่อให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีที่มีความแตกต่างในความเห็นและผลประโยชน์ ช่วยสร้างการเรียนรู้และเข้าใจในหน้าที่ความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบทางสังคม การตัดสินใจบนฐานข้อมูลความรู้ และก่อให้เกิดความเข้าใจสุขภาวะองค์รวม

อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้ประชาชนมามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะมากขึ้น สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของประเด็นสุขภาวะนั้น ๆ ในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะทางสังคมได้อย่างกว้างขวางและหลากหลาย ทำให้ทุกฝ่ายได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ค้นหาทางออกของปัญหาร่วมกัน ที่เน้นกระบวนการพัฒนาศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง

คุณค่าด้านการสร้างเครือข่ายและกลไกการจัดการเครือข่าย : สร้างให้เกิดผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้นโยบาย เครือข่ายที่ขับเคลื่อนประเด็นเดียวกัน เครือข่ายที่ขับเคลื่อนต่างประเด็น และการพัฒนาความสัมพันธ์และความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างภาคีเครือข่าย เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เครือข่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมพลัง เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงร่วมหรือปฏิญญาประกาศเจตนารมณ์ของภาคีเครือข่ายต่อสาธารณะ

คุณค่าด้านการพัฒนาองค์ความรู้ : มีการใช้ความรู้นำการเปลี่ยนแปลง ความรู้มิได้หมายถึงความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงความรู้เชิงประสบการณ์ คุณค่าด้านการพัฒนาองค์ความรู้จึงพิจารณาจากการมีชุดความรู้หรือเอกสารที่เกิดขึ้นจากกระบวนการสมัชชาสุขภาพ และชุดความรู้ที่เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะแบบองค์รวม ผู้มีส่วนได้เสียในสมัชชาสุขภาพมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ผลสืบเนื่องจากการที่สมัชชาสุขภาพออกแบบให้มีกระบวนการเก็บเกี่ยวความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ สรุปความรู้ และใช้ความรู้ ก่อให้เกิดองค์ความรู้จากพื้นที่เชิงประเด็น และระดับชาติในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

คุณค่าด้านผลต่อการขับเคลื่อนสมัชชาประเภทอื่น : ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดการรับรู้ ตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ และยังมีการถ่ายทอดรูปแบบ วิธีการไปสู่การขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาสังคมในเรื่องอื่น ๆ เช่น สมัชชาปฏิรูป สมัชชาคุณธรรม สมัชชาผู้สูงอายุ สมัชชาคนพิการ สมัชชาเด็กและเยาวชน เป็นต้น

ดังนั้นที่กล่าวมานี้คงพอเห็นภาพของเครื่องมือที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ไม่มากก็น้อยนะครับ

อีกทั้งต้องเข้าใจเพิ่มขึ้นด้วยว่า “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ไม่ใช่ “แก้วสารพัดนึก” ที่จะดลบันดาลให้ได้ทุกประการตามที่มีมติออกมา แต่เราทุกคนต้องมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำให้เกิดเข้มแข็งยิ่งขึ้น

เพราะความสำคัญของ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” คือ การเปิดกว้างสำหรับทุกภาคส่วน โดยไม่มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะเสียงเล็กเสียงน้อยที่เดิมถูกละเลย ให้ได้มีเวทีหรือพื้นที่เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการนโยบายสาธารณะนี้ได้อย่างทัดเทียมกัน

กระบวนการเช่นนี้ จึงนับเป็นกระบวนการที่ยิ่งใหญ่และท้าทายในหัวใจผมยิ่งนัก......

วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

บนเส้นทาง “ทุรกันดาร” การทำงานภาคประชาชน

๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๖

สัปดาห์ที่แล้วผมมีภารกิจต้องเชื่อมประสานกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ๓ งาน

งานแรกเป็นการพิจารณางบประมาณสนับสนุนการทำงานโครงการขององค์กรแห่งหนึ่ง
งานที่สองเป็นการจัดเวทีสาธารณะที่มีผู้แทนเครือข่ายต่างๆเข้าร่วมเวที
งานที่สามเป็นเวทีพัฒนาข้อเสนอโครงการที่แกนนำเข้ามาขอคำปรึกษา

ความน่าสนใจของงานทั้ง ๓ ซึ่งท้าทายต่อการทำงานของภาคประชาชนในอนาคตอย่างยิ่ง มี ๕ เรื่องสำคัญ

เรื่องที่หนึ่ง คือ การขัดกันของผลประโยชน์ หรือ “Conflict of interest” ที่มักมีการละเลยหรือมองข้ามในเรื่องนี้กันมาก ตัวอย่างที่พบผม มีกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์กรแหล่งทุนเข้าไปร่วมพิจารณาโครงการ ที่กรรมการคนดังกล่าวนั้นเองก็เป็นผู้รับทุนสนับสนุนหรือร่วมเป็นคณะทำงานโครงการดังกล่าวนั้นด้วย

เรื่องที่สอง การแสดงความเป็นเจ้าของผูกขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือประเด็นใดประเด็นหนึ่ง โดยใครก็ตามที่มาเกี่ยวข้องหรือเข้ามาทำเรื่องดังกล่าวทีหลัง “ตนเอง” ก็มักจะแสดงท่าทีเดียดฉันท์ ประชดประชัน หรือไปไกลขนาดที่ว่า “เป็นนักฉวยโอกาส หรือฉัน/ผม ทำมาก่อน ทำไมไม่บอกก่อน”

เรื่องที่สาม ความเข้มแข็งของงานเชิงวิชาการ ที่ถือเป็นจุดอ่อนอย่างมากของเครือข่ายภาคประชาชน ส่วนใหญ่แล้วเมื่อได้นั่งพูดคุยด้วย ก็สามารถอธิบายเรื่องราวที่ตนเองคิดและเข้าใจได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อให้ลองเขียนแบบที่พูด กลับเขียนอธิบายไม่ได้

โดยเฉพาะการมีศัพท์แสงทางวิชาการเข้ามาเกี่ยวข้องมาก ๆ เช่น ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี กลยุทธ์ มาตรการ เป้าประสงค์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย กลุ่มเป้าหมาย ผลผลิต ตัวชี้วัด และอีกมากมาย ที่แต่ละคน “เป็นงงไปตาม ๆ กัน” ซึ่งเรื่องนี้ต้องบอกเลยว่า “แม้แต่นักวิชาการจบสูงๆเองก็เกิดอาการงงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน”

เรื่องที่สี่ องค์กรสนับสนุนมักติดยึดรูปแบบการทำงานที่ตายตัว ไม่ยืดหยุ่น ต้องทำตามแบบฟอร์มที่องค์กรกำหนดเท่านั้น แม้ว่าเมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระแล้วจะมีความชัดเจนเพียงใดก็ตาม อย่างเช่นบางองค์กรนำเอาวิธีจัดทำโครงการแบบล็อคเฟรม (logical framework) มาใช้ ก็ต้องเขียนแบบล็อคเฟรม จะมาเขียนแบบอื่นๆไม่ได้ เป็นต้น

เรื่องที่ห้า เป็นเรื่องของวิธีคิดทำนองว่า “องค์กรฉันทำงานมายาวนานประเด็นนี้ ไม่มีองค์กรใดเก่งกว่าฉันอีกแล้ว” ฉะนั้นองค์กรอื่น (โปรด) อย่าเข้ามาข้องเกี่ยวหรือ “ยุ่ง” กับโครงการที่มาขอรับทุนหรือได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรฉันและกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

แน่นอนทั้ง ๕ เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องยากที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเครื่องมือสำเร็จรูปแบบใดแบบหนึ่ง เพราะทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อกระบวนการทำงานพัฒนาของภาคประชาชนทั้งสิ้น

ดังนั้นเรื่องแบบนี้ “จึงไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล” หรือ “ปล่อยให้เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง”

แต่ตัวแกนนำเครือข่ายประชาชนเอง จักต้อง..............

(๑) ปฏิบัติงานอยู่บนฐานของความโปร่งใส สุจริตให้ได้ เพราะปัจจุบันเครือข่ายประชาชนได้ออกมาโจมตีองค์กรภาครัฐว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นกันมาก แต่หากเครือข่ายภาคประชาชนกระทำเรื่องดังกล่าวเสียเอง ก็จะกลายเป็น “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”

(๒) เร่งพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการให้มากขึ้น ทั้งการพัฒนาตนเอง และการหาคนที่มีความรู้ความเข้าใจมาหนุนเสริมการทำงานของตนเองให้มากขึ้น

(๓) เปลี่ยนวิธีคิด ลดความเป็นเจ้าของและอัตตาลง มองอีกมุมแทนว่าการมีเพื่อนย่อมดีกว่าไม่มี “สร้างเพื่อน หนุนเสริม แบ่งปัน ช่วยเหลือและเกื้อกูลกัน” เป็น “ลมใต้ปีก” ซึ่งกันและกัน ดีกว่าบินเดี่ยวอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย

(๔) กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของความจริง กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่า “การใช้ความจอมปลอม” หรือ “ใส่หน้ากากเข้าหากัน” ในการทำงาน เพราะหากกระทำเช่นนั้น ยามเบื้องหลังหน้ากากฉายสิ่งที่ปรากฏออกมา อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงที่คาดไม่ถึงก็เป็นไปได้

สำหรับตัวองค์กรสนับสนุนเองแล้ว ก็ต้อง...........

(๑) พึงให้การยอมรับในเนื้อหาสาระมากกว่ารูปแบบ เพราะคนทำงานภาคประชาชนส่วนใหญ่ทำงานด้วยจิตสาธารณะ แต่เขาเหล่านั้นบางคนอาจไม่ได้เรียนสูงมากมาย การที่จะใช้ศัพท์แสงเชิงวิชาการหรือขนบทางวิชาการ อาจมิใช่เรื่องที่ชาวบ้านคุ้นชินและลงมือทำได้อย่างมีความสุขนัก

(๒) “แปลงสาร” จากงานวิชาการยากๆ ให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ อย่ายึดติดกับภาษาทางวิชาการสูง ๆ พยายามใช้คำที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่สับสน ไม่ปีนบันไดอ่าน

(๓) เร่งพัฒนาศักยภาพคนทำงานภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็ง หนุนเสริมในการแปลงสิ่งที่เขารู้หรือภูมิปัญญาที่เขามี ออกมาสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เพื่อขยายผล ขยายงาน ขยายเครือข่าย

(๔) เปลี่ยนวิธีคิดจากการคิดว่าองค์กรตนเองเก่ง ดี กว่าองค์กรอื่น มาเป็นการแสวงหาภาคียุทธศาสตร์ หันมาสร้างความร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน หนุนเสริมกัน หรือเป็นหุ้นส่วนกันให้ได้

หยิบมาฝากกันด้วยหวังเพียงว่า สังคมไทยเราจะมีการทำงานสาธารณะโดยภาคประชาชนที่เข้มแข็งและสุจริตมากขึ้น อันจะนำไปสู่ความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำตามเป้าหมายที่เราต่างมุ่งหวังและอยากเห็นในอนาคตร่วมกันครับ

วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

กำพืด (๒) : สาแหรกโคตร

๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๖

(๑)

เรียงร้อยอักษรไทย บันทึกไว้เพื่อเรียนรู้
ถ้อยวลีเหมือนเป็นครู นำมาสู่ผู้ร่วมธาร

บทกาพย์ที่แต่งแต้ม เปิดเผยแย้มบอกวันวาน
หวังผลเพื่อสืบสาน เป็นตำนานของกลุ่มคน

บ่งบอกความเป็นจริง ว่าทุกสิ่งมีเหตุผล
ก้าวย่างแต่ละคน เกิดจากต้นคนนำทาง

เริ่มต้นขอตัดบท สิ่งปรากฎให้กระจ่าง
กำเหนิดจากสองทาง ต่อเติมร่างสร้างกระจาย

จำแนกแยกชำแหละ ประดอยแกะทีละสาย
งัดแงะแกะบรรยาย อธิบายขยายความ

(๒)

ย้อนกลับนับร้อยปี ถึงสตรีผู้งดงาม
“ฟู” หญิงปรากฎนาม แต่งงานตามประเพณี

เคียงคู่ชายที่รัก “เซ้ง” สลักคือสามี
บุตรชายและบุตรี กำเหนิดมีถึงสามคน

เรียงนาม “หงวน” “ฮะ” “ผาด” สืบสัญชาติปรากฎตน
เลี้ยงลูกแม้นยากจน ก็อดทนจนเติบโต

มีรักอีกครั้งหนึ่ง นำมาซึ่งญาติโก
ชาย “หงวน” ผู้ใหญ่โต รักมาโผล่ร่วมเดินทาง

หญิงหนึ่งและชายสาม กำเหนิดตามลำดับวาง
ชื่อนามอย่าเลือนลาง เป็นก้าวย่างต้องจดจำ

“กิมฮวย” ต่อนาย “แวว” “กิ๊ด” ต่อแถว “สิ๊ว” ต่อตาม
บันทึกลำดับนาม นี่คือความสิ่งเป็นจริง

(๓)

จับความเพื่อบอกกล่าว ถึงเรื่องราวหนุ่มมาดสิงห์
เติบใหญ่ไม่ประวิง ดุจกระทิงหนุ่มรูปงาม

นาย “ฮะ” หนุ่มเจ้าชู้ เขาคือผู้ปรากฎนาม
เป็นหนุ่มหญิงแลตาม ทุกเขตขามกล่าวชื่นชม

ครองคู่ถึงสองหญิง อุ่นแอบอิงเพราะคารม
“แม่เล็ก” คู่ชิดชม เกาะเกี่ยวกลมคู่กันมา

มีบุตรถึงสามหน่อ ชื่อใดหนอโปรดเอ่ยมา
นาย “ถ่าย” คือพี่ยา “แฉล้ม” หนาคือน้องตน

นาย “อู้” คือน้องสุด นี้คือบุตรที่แสนซน
เกิดคลอดตามติดก้น แผ่ไพรสนธ์คนกว้างไกล

พบรักอีกครั้งหนึ่ง กับสาวซึ่งสวยสดใส
นาม “เนย” เจ้าขวัญใจ เคียงคู่ใคร่ได้อยู่กิน

กำเนิดบุตรอีกห้า ดั่งแก้วตาไข่ในหิน
เลี้ยงลูกโฉมยุพิน แมงไต่บินฉันไม่ยอม

“กิมหลัง” คือพี่ใหญ่ เฝ้าแกว่งไกวทนุถนอม
“กิมหลี” แม่พะยอม ดุจเจ้าจอมของครอบครัว

ชายเดียวคือ “เฮง” น้อย สมใจคอยพ่อทูนหัว
“เสวียน” รู้จักทั่ว ทุกถิ่นชัวร์รู้จักกัน

“สังเวียน” ลูกคนเล็ก เจ้าเป็นเด็กตามที่ฝัน
ครอบครัวสุขอนันต์ พร้อมหน้ากันด้วยเกื้อกูล

(๔)

ขอหยุดตรงนี้ก่อน แล้วขอย้อนเวลาหมุน
ใกล้เคียงอีกตระกูล เริ่มต้นทุนบุญโน้มนำ

หนุ่ม “รอด” คู่สาว “ฟ้อย” เคียงคู่จอยด้วยสุขล้ำ
เกิดบุตรกำเหนิดนาม สี่หน่อตามสืบกันมา

คนโตชื่อ “ทองเหลือ” ชายหน่อเนื้อคือพี่ยา
“ส้มแป้น” แก้วกัลยา ตามติดมาเป็นน้องรอง

ชาย “ตี่” และ “ลำจวน” เจ้าเนื้อนวลชวนจับจอง
เติบโตตามครรลอง วิถีท่องชาวพงไพร

(๕)

วันวานเคลื่อนผ่านผัน จนถึงวันที่สุขใจ
“ส้มแป้น” สาวบ้านไพร มีหนุ่มไกลมาเคียงคลอ

หนุ่ม “โปร่ง” ชายบ้านทุ่ง ด้นลัดคุ้งมาสู่ขอ
เคียงคู่พะเน้าพะนอ สร้างเรือนหอร่วมอยู่กิน

กำเหนิดบุตรแปดหน่อ เฝ้าพะนอมิโบยบิน
ไล่เลียงตามนามยิน นี่คือถิ่นญาติกา

“สงวน” คือพี่ใหญ่ “ทองปลิว” ไซร้ใช่อื่นหนา
“สนืท” คลานตามมา “จรูญ” หนาคือน้องกลาง

“บุญช่วย” คือน้องห้า “สมจิตร” อาบุญร่วมสร้าง
“สมใจ” ใจกว้างขวาง “บุญส่ง” รั้งคนท้ายสุด

เติบโตตามเวลา รักหนักหนาดั่งเข็มหมุด
หล่อเหลาและผ่องผุด ชายหญิงบุตรสง่างาม

(๖)

บุพเพสันนิวาส บุญร่วมชาติบุญหนุนค้ำ
สองฝั่งบุญโน้มนำ ร่วมรอยกรรมเคียงคู่กัน

“จรูญ” เมื่อเติบใหญ่ เมื่อครบวัยใจสัมพันธ์
มาพบสาวสคราญ เป็นสาวบ้านงามละออ

เฝ้าจีบเฝ้าตามติด จนมิ่งมิตรยอมร่วมหอ
ปลูกรักเฝ้าพะนอ “สังเวียน” ขอเป็นคู่กาย

เก็บเล็กผสมน้อย ตั้งใจคอยสู่เป้าหมาย
ประคองรักมิวางวาย มิรู้คลายให้จืดจาง

เคียงคู่ประคองรัก ทั่วรู้จักรักมิห่าง
เกิดบุตรแปดนายนาง ร่วมกันสร้างและเลี้ยงดู

(๗)

คนโตชื่อ “วิโรจน์” คนหัวโปรดแสนชื่นชู
เติบใหญ่ได้เดินสู่ ใจนักสู้ทหารไทย

ถัดมาชื่อ “ปราณี” เธอคือพี่ที่จากไป
อุบัติเหตุมาพรากให้ แต่เยาว์วัยสู่วิมาน

“ประนอม” คือพี่สาม กำเหนิดตามอย่างสุขสันต์
อาชีพครูคือทางฝัน เป็นเนื้องานสร้างเยาวชน

“ธวัช” หนุ่มรูปหล่อ ชาวท่าฬ่อขอแอบยล
เกษตรกรเลี้ยงชีพตน ขยายผลจนมั่งมี

“วิสุทธิ” สุดหล่อเด่น ชอบเรียนเล่นเสริมศักดิ์ศรี
ราชการคือหน้าที่ ทำอยู่ที่หน่วยสอชอ

น้องหญิงชื่อ “บุษบงค์” นิ่มอนงค์จำได้หนอ
ทุกถิ่นทุกที่ขอ นิยมพอในฝีมือ

“เกษม” คนที่เจ็ด ไม่อยากเซดต้องเชื่อถือ
ลูกจ้างนามระบือ บริษัทชื่อคือมิตซู

น้องเล็กนาม “ไพศาล” เก่งทางงานสร้างตึกหรู
งานสร้างงานก่อปู เขาคือผู้ชำนาญการ

(๘)

นี่คือครอบครัวใหญ่ ก่อขยายแผ่ไพศาล
เติบโตและเบิกบาน พ่อแม่ท่านให้ทำดี

อดสู้ส่งให้เรียน ฝึกอ่านเขียนอักษรศรี
หวังให้ปูทางมี รุ่งเรืองที่อันแน่นแท้

ถนอมและกล่อมเกลี้ยง เฝ้าปลอบเลี้ยงเฝ้าดูแล
ด้วยรักจากใจแม่ ด้วยรักแท้จากพ่อเรา

สั่งสอนและอบรม หมั่นเพาะบ่มทุกค่ำเช้า
ให้คำนึงถึงใจเขา ใส่ใจเราคือวลี

คำพูดต้องถือสัตย์ มารยาทต้องดูดี
ลักทรัพย์อย่าได้มี จะโดนตีให้หลาบจำ

บุญคุณต้องทดแทน ยึดให้แม่นฝึกกระทำ
พี่น้องต้องเกี่ยวนำ วจีพร่ำทุกคราคืน

เทศกาลงานมงคล ต้องรวมพลให้แช่มชืน
ไพ่ตองทั้งวันคืน ต้องทนฝืนเย้าแหย่กัน

ยามทุกข์ต้องช่วยเหลือ คอยเอื้อเฟื้อและแบ่งปัน
ยามสุขสุขด้วยกัน รักให้มั่นหมั่นดำรง

อักษรเพียงเท่านี้ หรือจะมีค่าควรคง
คำสอนที่มั่นคง สุดสูงส่งเกินบรรยาย

(๙)

เหล่านี้คือเรื่องย่อ คงเพียงพออธิบาย
รุ่นทวดเป็นต้นสาย สืบทอดกายสู่รุ่นเรา

รุ่นลูกและรุ่นหลาน เป็นตำนานสืบพงษ์เผ่า
ต่อทอดอีกนานเนาว์ สุดเกริ่นกล่าวอีกยาวนาน

สิ่งอยากขอฝากไว้ ขอยึดให้ได้กราบกราน
เราสุขอยู่ทุกวัน เพราะต้นธารท่านสร้างมา

สืบทอดรุ่นต่อรุ่น เป็นบุญคุณสืบนำพา
รำลึกทุกเวลา เสริมบุญญาบารมี

ตอบแทนซึ่งบุญคุณ เป็นต้นทุนหนุนราศรี
ประโยชน์ทับทวี เสริมบารมีสิ่งใดเทียม

ประพฤติปฏิบัติ อย่างเคร่งครัดอย่าได้เหนียม
มงคลดลสุดเยี่ยม คุณค่าเปี่ยมคำอวยพร

(๑๐)

ขอจบบทกวี ไว้เพียงนี้อนุสรณ์
เจตนาเพื่อสะท้อน ให้นึกย้อนสอนใจคน

มีเราทุกวันนี้ ก็เพราะมีจุดเริ่มต้น
อยู่ได้เป็นตัวตน เพราะต้นหนคนต้นทาง

ตระกูล “บุญน้อยกอ” หนึ่งเหล่ากอในโลกกว้าง
หากสืบเสาะทุกย่าง เป็นตัวอย่างให้จดจำ

มีสุขปนทุกข์โศก นี่คือโลกเอ่ยลำนำ
พุทธองค์ทรงสอนพร่ำ คือวงกรรมได้พบพาน

ขอพรอันยิ่งใหญ่ อำนวยชัยแด่ทุกท่าน
อดทนตั้งใจอ่าน หนึ่งตำนานผ่านกวี

รวยขึ้นและรวยขึ้น จิตแช่มชื่นทุกนาที
โรคภัยอย่าได้มี สวัสดีทุกท่านเอย

“สภาประชาชน” คือการเปิดพื้นที่สาธารณะ

๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๖

กระแสคำว่า “สภาประชาชน” ในช่วงนี้โด่งดังมาก ใครไม่พูดอาจเชยหรือตกยุคได้ทันที

ท่ามกลางวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ “สภาประชาชน” ถูกเสนอขึ้นเพื่อเป็นทางออกของประเทศที่สำคัญ

มีข้อเสนอต่อการก่อรูปเป็น “สภาประชาชน” ของฝ่ายต่างๆ อาจสามารถจำแนกได้เป็น ๒ แนวคิดสำคัญ คือ

แนวคิดแรก มองว่า “สภาประชาชน” เป็นกลไกหรือโครงสร้าง ที่ต้องมีองค์ประกอบของผู้คนชุดหนึ่งมาทำหน้าที่ต่างๆกันไป
แนวคิดที่สอง มองว่า “สภาประชาชน” เป็นกระบวนการหรือเป็นวิธีการทำงาน หรืออาจจะเรียกว่าเป็น “พื้นที่สาธารณะ” ที่เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาใช้ แบ่งปัน หรือหาข้อสรุปบางอย่างร่วมกัน
ทั้ง ๒ แนวคิด ถือว่ามีความแตกต่างในเชิงหลักการและวิธีคิดอย่างสิ้นเชิง

แต่สำหรับผมแล้ว......

"สภาประชาชน” ต้องเป็นเรื่องของ “กระบวนการที่เปิดกว้างให้ทุกคนได้เข้ามาในพื้นที่สาธารณะนี้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อร่วมกันคิดเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนางานเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาร่วมกัน” เป็นสำคัญ
เพราะตราบใดที่ “สภาประชาชน” ยังคงวนเวียนอยู่กับเพียงเรื่องของโครงสร้างหรือกลไกแล้ว ทั้งเรื่องบทบาทหน้าที่ องค์ประกอบ การได้มาซึ่งสมาชิกสภา สุดท้ายก็คงไม่พ้นย่ำรอยทางเดิมที่ประเทศไทยมีประสบการณ์อย่างมากมายมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา ไม่ต่างจากสภาผู้แทนราษฎร เป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ ที่มิพักเป็นทางออกต่อปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบันได้จริง

มีนักคิด นักวิชาการหลายคนที่เสนอรูปธรรมของสภาประชาชนตามแนวคิดที่ ๒

“ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์” ชี้ให้เห็นว่า สภาประชาชนคือ การรวมกลุ่มของผู้คน ประชาชน พลเมือง ที่เอาธุระของชุมชน องค์กร บ้านเมือง มารวมตัว ประชุมสนทนาปรึกษาหารือกัน เพื่อจัดการกับปัญหาที่เผชิญอยู่ร่วมกัน โดยต้องยึดให้มั่นในเรื่อง
การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน (share vision) ว่าปรารถนาอยากเห็นอนาคตเป็นอย่างไร มีรูปร่างหน้าตาและจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร มีใครจะต้องเข้าร่วมทำบ้าง
ต้องเน้นกระบวนการ ที่เปิดกว้างในการระดมพลังความคิด และหัวจิตหัวใจอย่างสร้างสรรค์ ไม่ติดรูปแบบที่แข็งกระด้าง
มีการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น เป็นมิตร เป็นพี่เป็นน้อง เกิดกระบวนการสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนมนุษย์ ทุกเพศ วัย ทุกสาขา อาชีพ มีการเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน เกิดความรักสามัคคี ผูกพัน และสามารถหลอมจุดร่วม โดยการบูรณาการความหลากหลายเข้าด้วยกัน รูปแบบและพิธีกรรมต้องไม่ทำลายบรรยากาศที่อบอุ่นและมีพลัง อย่าใช้รูปแบบที่จะให้คนมาโอ้อวดอัตตา และครอบงำความคิดของคนอื่นเป็นอันขาด

“เสรี พงศ์พิศ” เป็นอีกผู้หนึ่งที่สนับสนุนแนวคิดนี้ โดยยกรูปธรรมที่พื้นที่ต่างๆในประเทศไทย ว่ามีการดำเนินการมานานแล้ว แต่อาจจะเรียกชื่อแตกต่างกันไป อาทิ สมัชชา สภา หรือเครือข่าย ซึ่งประชาชนได้จัดพื้นที่ จัดเวที เพื่อแสดงตนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในการจัดการชีวิต ชุมชน สังคม ของตนเอง เพื่อการเปลี่ยนแปลง (dynamics) ที่แท้จริง

“โตมร ศุขปรีชา” เป็นคนรุ่นใหม่อีกคนหนึ่งที่ได้นำเสนอรูปแบบของ “สภาประชาชน” ไว้อย่างน่าสนใจในบทความเรื่อง “สภาประชาชน ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” เขาได้เล่าถึงรายการทีวีรายการหนึ่งชื่อว่า The People’s Parliament ที่ฉายในประเทศอังกฤษ

เริ่มต้นด้วยการตั้ง “ประเด็นปัญหา” เรื่องหนึ่งๆ แล้วสุ่มคนมา ๙๐ –๑๐๐ คน ทำหน้าที่คล้ายๆ กับเป็น “ลูกขุน” โดยจะมี “ผู้รู้” ในประเด็นดังกล่าวมาเป็นผู้เสนอประเด็น และคนเหล่านี้นำพยานมาให้การต่อหน้าลูกขุนด้วย โดยมีผู้ดำเนินรายการเป็นตัวกลาง

คนที่ถูกสุ่มมานั้น จะเรียกว่าเป็น MPP (Members of the People’s Parliament) ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่แค่ “ฟัง” เฉยๆ แต่ MPP นั้นสามารถซักถามได้ ตรวจสอบพยานได้ ลุกขึ้นพูดได้ และยังสามารถตั้ง “คณะกรรมาธิการ” ของตัวเองขึ้นมาได้ โดยคณะกรรมาธิการจะประกอบไปด้วยผู้มีความรู้ในด้านนั้น ๆ แล้วให้คณะกรรมาธิการไปทำหน้าที่ต่าง ๆ เพื่อดูข้อเท็จจริงต่าง ๆ ว่ามันคืออะไร
ที่สนุกและน่าสนใจมากที่สุดก็คือ ก่อนที่จะเริ่มการถกเถียงหาข้อเท็จจริงต่างๆ MPP จะต้อง “ลงคะแนนเสียง” เสียก่อน ว่าตนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง ต่อประเด็นนั้นๆ เสร็จแล้วหลังจากเกิดการถกเถียงกันแล้ว ก็ให้มีการลงคะแนนเสียงอีกเป็นครั้งที่สอง เพื่อเป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาว่า MPP มีความคิดเห็นอย่างไร การโต้เถียงนั้นได้ “เปลี่ยน” มุมมองของ MPP แต่ละคนไปอย่างไรบ้างหรือเปล่า แล้วจากนั้นก็จะมีผู้ไปสัมภาษณ์ว่าทำไมถึงเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนความคิดเห็นภายหลังการถกแถลงกันแล้ว

แนวทางของทั้ง ๓ คน ที่กล่าวมา จึงเป็นภาพสะท้อนสำคัญว่า “สภาประชาชน” ก็คือ พื้นที่สาธารณะที่หยิบยกประเด็นปัญหามาคุยกัน โดยใช้ความรู้ทางวิชาการเป็นฐานในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ข้อสรุปที่ได้ก็จะถูกส่งต่อไปยังผู้บริหารที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น นำไปพิจารณาและดำเนินการต่ออย่างทันท่วงทีนั่นเอง

ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้และขยายกระบวนการเหล่านี้ได้จริงในทุกพื้นที่ ทุกประเด็น ก็จะเป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับแนวคิดที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ในมาตรา ๘๗ ที่บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องดําเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง
ฉะนั้นถ้า “สภาประชาชน” เป็นกระบวนการดั่งที่ว่ามา ก็จะเป็นรากฐานหรือรากแก้วที่สำคัญของการสร้างให้เกิดประชาธิปไตยที่แท้จริงอย่างยิ่ง

แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าคำตอบหรือหน้าตา “สภาประชาชน” จะออกมาเป็นเช่นไร จะเป็นหุบเหวแห่งความมืดดำหรือเป็นยอดภูแห่งแสงสว่าง ผมขอเพียงการเปิดพื้นที่ให้เราทุกคนในฐานะพลเมืองของประเทศไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย จึงจะนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกคนพึงปรารถนา


อ่านเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง “สมัชชาสุขภาพ” : เครื่องมือสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
http://bwisutttoto.blogspot.com/2013/12/blog-post_3953.html

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

จงแข็งแกร่งเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก

๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๖

“บนเส้นทางที่ต้องเลือก ย่อมเลือกเส้นทางที่คิดว่าดีกว่า แม้นไม่ใช่เส้นทางที่เชื่อก็ตามที” เป็นคำพูดที่ผมใช้ปลอบประโลมใจตนเองทุกครั้ง ยามเหนื่อยล้าจากการทำงานในองค์กรที่ “ใหญ่ แข็ง และยาก” เช่นนี้

วันนี้เป็นวันเลี้ยงส่งน้องคนหนึ่งในสำนักงานที่ร่วมงานกันมากว่าสามปี ผมยังจำได้แม่นยำจากวันแรกที่เธอก้าวเข้ามา ณ ที่แห่งนี้ สาวน้อยช่างฝันที่ทำงานในองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ วนเวียนอยู่กับการแก้ไขปัญหาแบบ “case by case หรือรายกรณี” ทำให้ปัญหาไม่รู้จบสิ้น หนทางเดียวที่ ปัญหาจะได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน คือ จักต้องสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย เธอจึงผันตนเองไปเรียนปริญญาโทด้านนี้โดยตรง และก้าวเข้ามาทำงานที่นี่ในฐานะนักนโยบายสาธารณะ

เธอเล่าว่า “ระยะเวลาสามปีที่ได้อยู่ที่องค์กรแห่งนี้ ได้หล่อหลอมให้เธอเข้มแข็ง มีประสบการณ์ที่หลากหลาย เป็นองค์กรที่รักและศรัทธา” แต่นั้นเองในอีกมุมหนึ่ง วัยช่างฝันที่พร้อมโบยบินทะยานกล้า พร้อมออกเดินสู่เส้นทางแสวงหาที่ไม่คุ้นชินและอยู่ในกรอบเพียงเท่านั้น เธอจึงตัดสินใจออกเดินทางเพื่อไปทำงานกับองค์กรต่างประเทศ ที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชากรข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านแถวอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตากแทน

มากไปกว่านั้น อาจเป็นเพราะที่แห่งนี้ “ใหญ่ แข็ง และยาก” การทำงานจึงดูผกผันและเป็นเส้นขนานกับชีวิตสาวนักแสวงหาที่ต้องมาพร้อมกับ “ความคาดหวัง ความจริงจากการทำงาน และความรู้จากการการเรียน” ไปพร้อม ๆ กันด้วย

“ใหญ่” เพราะงานที่เรารับผิดชอบเป็นงานที่มีเป้าหมายเพื่อการปฏิรูประบบสุขภาพจากแนวคิดที่สุขภาพเป็นของหมอและเรื่องหยูกยา กลายมาเป็น “สุขภาพเป็นของทุกคน” และที่สำคัญงานที่องค์กรเรากำลังทำอยู่นี้เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่เดินช้าๆ ฟังอย่างตั้งใจ และต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงที่ยาวนานเหลือเกิน

“ยาก” เพราะงานที่องค์กรเรากำลังทำ เป็นเรื่องใหม่ที่สังคมไทยไม่คุ้นชิน อีกทั้งต้องใช้ยุทธศาสตร์การทำงานแบบใหม่ ที่อาศัยการสานพลังในการทำงาน ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมเดิมที่เน้นการสั่งการ และไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วม จึงต้องอาศัยเวลาในการทำงานค่อนข้างมากจึงจะได้เห็นผลเป็นรูปธรรม

“แข็ง” เพราะงานที่องค์กรเราทำเป็นงานที่ทั้ง “ใหญ่และยาก” คนทำงานจึงต้องมีความแข็งแกร่ง ต้องอดทน หมั่นเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และเกาะติดไม่ปล่อยวาง รวมถึงแสวงหาความรู้นอกกรอบจากที่เราคุ้นเคย

เพราะ ๓ สิ่งนี้เอง ที่นี่จึงเป็นได้ทั้งพื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักทดลอง และเป็นได้ทั้งพื้นที่เพื่อการเดินจากไปสำหรับผู้ไม่คุ้นชิน

“ที่นี่” พวกเราทำงานทำงานกันหนักมากและทุกระดับ เพื่อทำให้งานที่ “ใหญ่และยาก” ได้หยั่งรากอยู่ในสังคมไทยจนเป็นเรื่อง “ปกติ”

เราจึงเห็นเพื่อนหลายคนร้องไห้เพราะเหนื่อย เครียด จากปริมาณงานที่ตนเองรับผิดชอบ

เราจึงเห็นเพื่อนหลายคน บ่น เล่า บอกถึงความอึดอัดในการทำงานและปัญหาครอบครัวที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่และเรียกร้องทับทวี

เราจึงเห็นเพื่อนหลายคน นำความอึดอัดไประบายในหน้ากระดานของตนทางโซเซียลมีเดีย เพื่อหวังว่า “ความปลอบใจจะเป็นยาใจให้ฮึดสู้อีกครั้งหนึ่ง”

และเราอีกหลายๆคนต่างก็ต้องช่วยกันทำหน้าที่เยียวยาใจ ระบายความในใจ ความกังวล ความสงสัย เป็นที่ปรึกษา เสริมซ่อมในจุดที่ผิดพลาดหรือเสนอแนะแก้ไขในจุดบอด เติมกำลังใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้งาน “ใหญ่และยาก” บรรลุผล และยืนยันกันดังๆอีกครั้งว่า “สิ่งที่เราเชื่อและทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่มาถูกทางแล้ว”

ดังนั้นการเดินจากไปของน้องในวันนี้จึงคือ “บททดสอบอีกครั้งทั้งของน้องและพวกเราที่นี่” และนี้เองทำให้ผมหวนย้อนถึงบางอารมณ์ของตนเอง ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วเช่นเดียวกัน

วันนั้น.................

เหมือนผมยืนอยู่ท่ามกลางเขาควาย เขาด้านขวาเปรียบเสมือนงานที่ต้องรับผิดชอบ เขาด้านซ้ายเปรียบเสมือนครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าครอบครัว ที่มีภรรยา มีลูก มีพ่อ และมีญาติที่ต้องคอยช่วยเหลือเกื้อกูลดูแลกัน

บางครั้งด้วยภาระงานและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ จำต้องทิ้งภาระทางครอบครัว เหล่านี้คือความกดดันที่เกิดขึ้นเสมอมา

จนบางครั้งสะกิดบอกกับเพื่อน ๆ ว่า คงถึงเวลาแล้วที่ต้องตัดสินใจบางอย่าง แต่เมื่อใกล้เข้ามา ก็เกิดเปลี่ยนใจ เพราะเมื่อเราศรัทธาในสิ่งที่เราทำ เราจึงจะทำงานได้อย่างมีความสุข

อันที่จริงทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีข้อดี กระทั่งความทุกข์ที่สุดก็ยังเป็นบทเรียนสอนเราให้มองเห็นและเรียนรู้จากความทุกข์นั้น ที่บอกกับเราว่า "โลกไม่ได้มีแค่หลุมแห่งความทุกข์ที่เรากำลังจมอยู่" ทางที่ดีที่สุด คือ ก้าวออกมา และเดินหน้าต่อไป เพราะความทุกข์ไม่ใช่สัญลักษณ์ของคนอ่อนแอ แต่เป็นแค่ขั้นบันไดของคนที่กำลังจะเข้มแข็งในอนาคต

“เปลี่ยนแปลงตนเองให้แข็งแกร่ง เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกในที่สุด” ยังเป็นคำที่ใช้ได้ดีสำหรับทุกคน “ที่นี่” ครับ

วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

นัก “กินเมือง”

๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๖

“ยกพวกมากลากตั้งขึ้นบังอาจ
เป็นกังฉินกินชาติสุดบัดสี
เอาเลือกตั้งขึ้นตั้งเป็นตราตี
ให้ปู้ยี่ปู้ยำได้ตามใจ

ประโยชน์ชาติชั่วชาติเข้าฉ้อฉล
ยกเอาประโยชน์ตนขึ้นเป็นใหญ่
สร้างโครงกินโครงการบานตะไท
ใช้พวกมากลากไปไม่ฟังกัน

สารพัดสาระพิษผิดกฎหมาย
เอาอำนาจเป็นนายขึ้นเหนือมั่น
ทำฟ้าผ่าเปรี้ยงปร้างขึ้นกลางวัน
พอจับได้ไล่ทันตะบันตะแบง

กลับมาใช้วิชามารการเลือกตั้ง
จะกี่ครั้งก็ยังโกงกันโจ่งแจ้ง
อัฐยายซื้อขนมยายไม่เปลี่ยนแปลง
ใช้ให้ผีโม่แป้งไม่ต้องเปลือง

อำนาจซื้ออำนาจอุบาทว์ชั่ว
ยกคอกวัวเข้าสภาวางท่าเขื่อง
ถือเอาการเลือกตั้งขึ้นนั่งเมือง
มาเป็นเครื่องฟอกตัวชั่วระยำ

เป็นการเมืองน้ำเนาเขาวงกต
นักกินเมืองกำหนดกันอิ่มหนำ
จงผองเราเหล่าประชาร่วมกล้านำ
ร่วมดาหน้าเข้ากระหน่ำร่วมคว่ำมัน”

คุณจะรู้สึกอย่างไรที่มีศิลปินแห่งชาติมีชื่อเสียงระดับเจ้าของรางวัลซีไรท์ มาอ่านบทกวีในงานที่คุณเป็นผู้ดำเนินรายการ

"นักกินเมือง” คือชื่อบทกวีที่อ่านด้วยถ้อยคำของศิลปินแห่งชาติและกวีซีไรต์ นาม “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ในงาน “แถลงการณ์ของ ๕ เครือข่าย” ถ่ายทอดให้เห็นถึงความเลวร้ายของ “ระบบการเลือกตั้ง” ที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริง

บทกวีบทนี้ได้แต่งขึ้นระหว่างที่ผู้แต่งนั่งรถเดินทางมาร่วมงาน และได้อ่านด้วยตัวเอง ภายหลังที่ผู้แทนจาก ๕ เครือข่ายได้อ่านแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจถอยเพื่อชาติ สิ้นสุดลง
จากบทกวีบทนั้น คำแต่ละคำที่ประกอบเป็นวรรค แต่ละวรรคที่ประกอบเป็นบทแต่ละบท ได้บ่งบอกถึงความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการเลือกตั้งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และที่สำคัญได้ชี้ให้เห็นว่า ภายหลังการเลือกตั้งผ่านไป นักการเมืองได้ใช้ “ประกาศนียบัตรการได้ผ่านการเลือกตั้ง” นั้น เป็นเครื่องมือในการกอบโกยผลประโยชน์เข้าสู่ตนและกลุ่มตนไว้อย่างชัดแจ้ง

จุดนี้เองครับที่เป็นจุดสำคัญที่ ๕ เครือข่าย อันประกอบด้วย เครือข่ายคนรักสุขภาพ เครือข่ายคนรักประเทศไทย เครือข่ายสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย เครือข่ายสุขภาพแห่งชาติ และเครือข่ายคนรุ่นใหม่หัวใจพลเมือง ได้ออกแถลงการณ์ในวันนี้

สาระสำคัญของแถลงการณ์ คือ ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากการรักษาการนายกรัฐมนตรีทันที เพื่อเปิดช่องให้มีการสรรหานายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนทุกภาคส่วน โดยไม่มีพรรคการเมืองและแกนนำเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง มาทำหน้าที่บริหารประเทศชั่วคราว และดำเนินการให้ประชาชนทุกฝ่ายได้เข้ามาร่วมกันทำการปฏิรูป แก้ไขกฎเกณฑ์กติกาสำคัญต่าง ๆ แล้วจัดให้มีการทำประชามติ จากนั้นจึงจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามกติกานั้นต่อไป

กล่าวโดยสรุปก็คือ “ต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง”

ทั้งนี้ข้อเรียกร้องของ ๕ เครือข่าย เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ทุกประการ

เสียงขับขานอ่านบทกวีของ “เนาวรัตน์ พงษ์ ไพบูลย์” ยังก้องกังวานในหูของผม แม้จะล่วงผ่านกิจกรรมสำคัญในวันนี้มานานแล้วก็ตาม โดยเฉพาะท่อนที่ว่า
“ยกพวกมากลากตั้งขึ้นบังอาจ
เป็นกังฉินกินชาติสุดบัดสี
เอาเลือกตั้งขึ้นตั้งเป็นตราตี
ให้ปู้ยี่ปู้ยำได้ตามใจ”

ในใจพลันคิดต่อว่า สักวันหนึ่งผมคงต้องร้องขอต่ออาจารย์ให้ช่วยแต่งบทกวีอีกครั้ง ในวันที่ประเทศไทยเรามีระบบการเลือกตั้งที่ใสสะอาด เพื่อ ๕ เครือข่ายจะได้นำมาอ่านในเวทีแถลงการณ์ขอบคุณผู้เกี่ยวข้องในครั้งหน้า
และผมจะขออาสาเป็นผู้ดำเนินรายการในวันนั้นเองอีกครั้งหนึ่ง

วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

กำพืด (๑) : “บ้านหลังนั้น” และ “มะขามต้นเดิม”

๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖

“พอศอสองพันห้าร้อยสี่ ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี……….”
เสียงเพลงดังแว่วมาจากมุมหนึ่งของห้องรับแขก ผมละสายตาจากหนังสือที่กำลังอ่านอยู่ หันไปมองที่มาของเสียงเพลง เห็นลูกชายกำลังก้มหน้าก้มตาอยู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เขาคงกำลังทำการบ้านส่งครูเหมือนทุกครั้ง

ผมหันกลับมาสนใจตัวอักษรบนหนังสือที่เปิดค้างอยู่ แต่เสียงเพลงยังดังแว่วมาให้ได้ยินอย่างต่อเนื่อง
ทันใดนั้นภาพในสมองกลับปรากฏภาพอดีตเมื่อ ๕๐ กว่าปีก่อน ภาพวิถีชีวิตของผู้คนที่ผมรู้จักเป็นอย่างดีทั้งตา ยาย ลุง ป้า น้า อา และเพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกันกับผมในสมัยเด็ก ๆ

นอกเหนือจากภาพเครือญาติและผู้คนที่หลากหลายแล้ว ภาพของต้นไม้ใบหญ้า ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในชุมชนชนบทแห่งนั้นก็ปรากฏขึ้น
แต่ละภาพๆ ค่อย ๆ ชัดขึ้น คล้ายกับภาพที่ถูกฉายผ่านมาทางเครื่องฉายภาพ
และภาพบ้านหลังหนึ่งก็ปรากฏ

บ้านไม้หลังใหญ่ สองชั้น หลังคามุงสังกะสี ตั้งเด่นอยู่กลางสวน ล้อมรอบด้วยต้นไม้กินได้ ทั้ง ฝรั่ง มะม่วง กล้วย ปลูกแซมด้วยไม้ดอกไม้ประดับออกดอกสีสดใส
ใต้ถุนบ้านปล่อยเป็นที่โล่ง ที่โคนเสาไม้กว่าสิบต้น มีเครื่องมือทำงานทั้งจอบ เสียม ไม้กวาด มีดหวด รวมทั้งกระจาด กระบุง แขวนห้อยบ้าง วางพิงบ้างแบ่งกันไปที่เสาแต่ละต้น

ระหว่างคานใต้ถุนบ้านที่พอมีช่องว่างก็กลายเป็นที่เก็บไม้แผ่นกระดานบ้าง ไม้ไผ่บ้าง และเครื่องใช้สอย สำหรับทำงานในไร่นาสอดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ
ลานใต้ถุนที่กว้างขวาง มีโต๊ะขนาดใหญ่วางต่อ ๆกัน สำหรับให้เจ้าของบ้านและลูก ๆ หลาน ๆ ได้มาพักพูดคุยกันยามว่างงาน

บันไดไม้นับกว่า ๑๐ ขั้นพาดขึ้นไปบนชานบ้านกว้างใหญ่ที่ปูด้วยไม้แผ่นใหญ่เรียงต่อกันเป็นแนวยาว มุมหนึ่งถูกจัดเป็นห้องนอนของผู้อาศัยกระจายอยู่รวม ๔ ห้อง อีกมุมหนึ่งเรียงรายไปด้วยโอ่งเก็บน้ำฝนไว้กินยามหน้าแล้ง วางสลับกับกระถางดินเผาที่ปลูกไม้ใบและไม้ดอกชูช่อ เรียกความสดชื่นให้กับผู้พบเห็น

ชีวิตของทารกน้อยคนหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นที่บ้านหลังนี้ ท่ามกลางหมู่เครือญาติและความดีใจให้กับตาและยายเป็นอย่างมากที่เป็นลูกชายตามที่ตั้งใจไว้
เมื่อคลอดออกมาแม้นร่างกายจะสมบูรณ์ครบสามสิบสอง แต่หัวของทารกน้อยคนนั้นกับใหญ่กว่าปกติ พ่อกับแม่จึงตกลงเรียกลูกชายของเขาว่า “โต” และทุกคนก็เรียกตาม จนชื่อ “โต” กลายมาเป็นชื่อเล่นของผมจนทุกวันนี้

ผมเป็นลูกคนที่ ๕ ของพ่อกับแม่ เกิดขึ้นในปีเดียวกับเนื้อเพลงผู้ใหญ่ลีที่ผมหันไปหยุดฟังเมื่อครู่ เป็นปีเดียวกับที่รัฐบาลในสมัยจอมพลสฤษฎ์ ธนะรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกของประเทศไทย

บ้านหลังนี้เป็นที่อยู่รวมกันของลูกทั้ง ๕ คนของตากับยาย ซึ่งสมาชิกค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เมื่อลูก ๆ ได้แต่งงานและมีหลานให้กับตาและยาย จึงทำให้หลาน ๆ ทั้งหมดได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในบ้านหลังนี้ กินและเล่นด้วยกัน นำมาซึ่งความสนิทสนมกันมาก
ชีวิตวัยเด็กของผมจึงมีแต่ความสนุกสนานกับเพื่อน ๆ ทั้งที่เป็นญาติ และจากเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันนับสิบ

อีกภาพหนึ่งที่ปรากฏขึ้น คือ ภาพของ “ต้นมะขาม” ที่มีลำต้นใหญ่ขนาดห้าคนโอบ ยืนแผ่กิ่งก้านให้ความร่มรื่นอยู่ริมลำคลอง “ท่าฬ่อ” ที่ไหลมาจากจังหวัดพิษณุโลก ไหลลัดเลาะคดเคี้ยวผ่านมาจนถึงตำบล “ท่าฬ่อ” ของจังหวัดพิจิตร อันเป็นตำบลที่ผมเกิด

ต้นมะขามต้นนี้ยืนต้นเยื้องห่างจากบ้านของตาและยายออกไปเพียงไม่ถึงห้าสิบเมตร และต้นมะขามต้นนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในย่านนั้น ซึ่งรวมถึงชีวิตในวัยเด็กของผมด้วย
ช่วงใดที่ว่างเว้นจากการร่ำเรียน และช่วงพักของผู้หลักผู้ใหญ่ ทุกคนต่างก็มาใช้บริเวณโคนต้นมะขามต้นนี้ นั่งพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบกัน บางคนก็ปีนขึ้นไปนั่งบนรากไม้มะขาม ที่สานถักยื่นไปในลำคลองกลายเป็นที่นั่งแบบธรรมชาติได้บรรจงสร้างขึ้น

เหล่าบรรดาเด็ก ๆต่างก็ชักชวนกันเล่น “ต๊อกตังค์” เป็นการเล่นที่ใช้สันเหรียญขนาดเท่ากัน โยนใส่โคนต้นมะขามเพื่อให้เหรียญนั้นหมุนวิ่งออกมาบนพื้นดินที่เป็นที่โล่ง เหรียญของใครแล่นออกมาไกลจากโคนต้นมะขามมากที่สุดจะเป็นผู้เริ่มโยนเหรียญ (ทอย) ไปให้กระทบกับเหรียญที่อยู่ถัดไป หากโยนไปถูก ก็จะได้รางวัลจากเจ้าของเหรียญที่ถูกทอย ซึ่งอาจเป็น “ยางเส้น” หรือ “เงิน” ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้
แต่หากโยนไปแล้วไม่ถูก ก็จะให้สิทธิ์แก่เจ้าของเหรียญที่อยู่ไกลจากต้นมะขามเป็นอันดับรองลงไป ทำการทอยไปยังเหรียญถัดไปตามลำดับ
ไม่น่าเชื่อว่า เกมง่าย ๆ แบบนี้สามารถทำให้เด็ก ๆ เล่นได้เป็นวัน ๆ จนบางครั้งตาต้องถือไม้เรียวมาบอกให้เลิกเล่น และไล่ให้กลับไปอาบน้ำอาบท่าเสียที

เด็กบางคนชอบเสี่ยงและท้าทายก็จะปีนป่ายแข่งขันกันขึ้นไปตามกิ่งก้านของต้นมะขาม ยามหน้าน้ำหลากเต็มตลิ่ง เด็ก ๆ ก็จะสนุกมากขึ้น ปีนป่ายไปบนกิ่งมะขามที่ยื่นไปในลำคลอง แล้วกระโดดลงแม่น้ำเสียงตูมตาม พร้อมเสียงตะโกนโวกเวกบ่งบอกความสนุกสนานที่ไม่มีวันจบสิ้น

ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตจากการทำนาทำไร่ ก็จะมี “เรือมอญ” เรือบรรทุกขนาดใหญ่ล่องมาจอดบริเวณใกล้กับต้นมะขาม เพื่อรับซื้อผลผลิตจากชาวไร่ชาวนาที่นี่
บรรดาผู้ใหญ่ทั้งชายและหญิงต่างช่วยกันหาบข้าว ข้าวโพดหรือผลิตผลอื่น ๆ เดินเป็นทิวแถว ข้ามไม้พาดระหว่างริมตลิ่งกับขอบลำเรือขึ้นไปเทกองภายในลำเรือ
ผมและเด็ก ๆ ก็ใช้โอกาสในช่วงนั้นว่ายน้ำไปเกาะกาบเรือ แล้วก็ปีนป่ายขึ้นไปบนลำเรือ พร้อมกระโจนเล่นน้ำเป็นที่สนุกสนานไปตามกัน

ชีวิตในวัยนั้น ผมมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง หวนกลับไปเห็นภาพของตัวเองอยู่ท่ามกลางวงศาคณาญาติที่พร้อมหน้าในบ้านหลังนี้ และเห็นภาพกิจกรรมที่สนุกสนานของผมที่เกิดขึ้นภายใต้ต้นมะขามต้นนั้น

“พ่อครับ ช่วยดูผลงานผมหน่อยสิ”
สมองของผมหยุดชะงักลงทันที กลับคืนสู่ปัจจุบัน ลุกเดินไปที่โต๊ะทำงานที่ลูกชายกำลังทำงานอยู่

วีดิทัศน์ถูกฉายขึ้น เป็นฝีมือออกแบบโฆษณาสินค้าชิ้นหนึ่งที่ลูกชายผมทำเพื่อส่งครูในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ผมอดชมความคิดสร้างสรรค์และชื่นชมฝีมือในการตัดต่อหนังโฆษณาที่โหลดมาจากเว็ปไซด์ แล้วนำมาดัดแปลงและอัดเสียงของตัวเองใหม่แทน

และที่อดสะกิดใจอีกครั้งไม่ได้ ที่ลูกชายนำบทเพลง “ผู้ใหญ่ลี” มาใส่ในโฆษณาที่เขาสร้างสรรค์นั้นช่วงหนึ่งด้วยเช่นกัน

ลูกชายจะรู้ไหมว่าด้วยบทเพลงที่เขาเอามาใช้นั้น มันมีพลังทำให้ผมย้อนกลับไปคิดถึง “บ้านหลังนั้น” และ “ต้นมะขามต้นเดิม” ที่ผมได้สัมผัสในวัยเยาว์

วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คนขี่เสือ

๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๖

ในโลกมนุษย์อันสับสนวุ่นวายนี้ มนุษย์ทุกผู้ทุกนามย่อมเคยประสบพบพานกับบางเรื่องราวที่ต้องตัดสินใจท่ามกลางความขัดแย้งในตัวเอง

บางเรื่องในใจคิดแบบนี้แต่ต้องทำไปอีกทางหนึ่ง เหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะอิทธิพลจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาบังคับให้ต้องตัดสินใจ ลงมือกระทำตรงกันข้ามกับใจที่ปรารถนา

ผมหยิบเรื่องนี้มาเขียนในวันนี้ เป็นเพราะได้มีโอกาสอ่านหนังสือแปลเล่มหนึ่งเรื่อง “คนขี่เสือ” ที่แปลจากเรื่อง “He Who Rides A Tiger” อันเป็นผลงานการประพันธ์ของ “ดร.ภวานี ภัฎฎาจารย์” ชาวอินเดีย ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี ๒๔๙๗

หนังสือเล่มนี้ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆ แพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย

เจ้าของสำนวนไทยสำนวนแรกเป็นของ “จิตร ภูมิศักดิ์” นักเขียนและนักต่อสู้คนดังในอดีต ที่ได้แปลและเรียบเรียงไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๐๑ แต่ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ จนกระทั่งพี่สาวของจิตรคือ “ภิรมย์ ภูมิศักดิ์” ได้ไปพบต้นฉบับที่เป็นลายมือของพี่ชาย จึงได้ให้สำนักพิมพ์ดอกหญ้าตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี ๒๕๓๐

เรื่องเริ่มต้นที่ “กาโล” กรรมกรช่างตีเหล็กในประเทศอินเดีย ชนชั้น "กมาร" (kamar) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของวรรณะศูทรที่เป็นวรรณะต่ำ อาศัยอยู่ในเขตชนบท มีฐานะยากจนแสนเข็ญยิ่งนัก แต่งงานและมีลูกสาวนาม “จันทรเลขา” อันเป็นที่รักของพ่อเป็นอย่างมาก

ต่อมาเมียได้ตายลงจึงต้องเลี้ยงดูลูกสาวโดยลำพัง แต่ด้วยความยากจนจึงตัดสินใจเข้าสู่เมืองหลวง หวังหาเงินส่งเสียลูกให้ได้เรียนสูงๆ โดยทิ้งลูกสาวให้อยู่กับน้าสาว แล้วเดินทางโดยโหนรถไฟเข้าเมือง ระหว่างทางด้วยความหิวจึงแอบไปขโมยกล้วยสามใบจากตู้ผู้โดยสารรายหนึ่ง แต่ถูกจับได้ถูกนำตัวขึ้นศาลและถูกตัดสินให้ติดคุก ๓ เดือน

ระหว่างติดคุกได้เจอเพื่อนที่ติดคุกอยู่ด้วยกันคนหนึ่ง “กาโล” จึงได้เล่าชีวิตอันแร้นแค้นให้อีกฝ่ายหนึ่งฟัง และได้รับคำแนะนำว่าหากจะให้พ้นกับความยากจนต้องเปลี่ยนเป็นวรรณะพราหมณ์ พร้อมบอกวิธีการเปลี่ยนวรรณะให้ด้วย

หลังจากที่ “กาโล” ออกจากคุก เขาก็มุ่งหน้าเดินทางไปหางานทำในเมืองหลวง แต่ก็ไม่มีอาชีพใดให้เขาทำ นอกจากเป็นผู้ดูแลซ่องนางโลม ซึ่งต่ำต้อยมาก แต่เขาก็ดีใจเพราะทำให้เขาได้พบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันนั่นคือ ได้พบลูกสาวตนเองถูกหลอกมาขายตัวในซ่องที่ตัวเองทำงานอยู่ พ่อจึงได้ช่วยลูกสาวพ้นจากแดนนรกนั้นมาได้

เหตุการณ์ต่างๆ ได้บังคับให้ “กาโล” คิดหาหนทางที่จะทำให้ลูกสาวมีความสุข จึงตัดสินใจทำตามคำบอกของเพื่อนในคุก โดยการเล่นกลให้พระศิวะโผล่ขึ้นมาจากดินได้ จนชาวบ้านชาวเมืองเชื่อและศรัทธาและยกให้ “กาโล” ซึ่งเชื่อว่าเป็นคนชั้นวรรณะพราหมณ์ เป็นเจ้าแห่งเทวะดูแลวิหารที่จัดสร้างขึ้นใหม่ ณ ที่ที่พระศิวะโผล่ขึ้นมาจากผืนดินแห่งนั้น

วันเวลาผ่านไป โดยแต่ละวินาทีที่ผ่านไปนั้นได้สร้างความลำบากใจให้แก่ “กาโล” ว่าจะบอกวรรณะที่แท้จริงให้สังคมรับรู้ดีหรือไม่ ซึ่งในที่สุด “กาโล” ตัดสินใจไม่บอกกับใครว่าตัวเองอยู่ในวรรณะศูทร เพราะเกรงว่าความสุขที่ตนเองและลูกสาวได้รับจะหมดไป

วันหนึ่งมีเศรษฐีนายหนึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในเทวาลัยอย่างมาก เขามีเมียมาแล้ว ๔ คน อยากได้ “จันทรเลขา” ไปเป็นเมียอีกคน จึงส่งพ่อสื่อมาติดต่อ “กาโล” พร้อมยื่นเงื่อนไขว่าจะประเคนทรัพย์สมบัติให้ “จันทรเลขา” สบายไปทั้งชาติ

เรื่องรู้ไปถึงหูของ “จันทรเลขา” เธอไม่ได้รักเศรษฐีคนนี้เลย จึงตั้งใจไปบอกปฏิเสธกับผู้เป็นพ่อ แต่เมื่อได้พูดคุยกับ “กาโล” ผู้เป็นพ่อ จึงรู้ว่าพ่อของตนมีจิตใจแน่วแน่ว่าจะเลือกเส้นทางนี้ พร้อมชื่อเสียงเงินทองและความนับหน้าถือตาของสังคม ด้วยความรักพ่อ เธอจึงรับปากกับพ่อไปว่า จะยอมแต่งงานกับเศรษฐีคนดังกล่าวนั้น

ในพิธีสำคัญหนึ่งที่จัดขึ้น ณ เทวาลัย มีคนมาร่วมงานอย่างคับคั่ง มีทั้งข้าราชการ พ่อค้าวาณิช มากมายแน่นขนัดบริเวณงาน พิธีกรได้กล่าวเชิญ “กาโล” ขึ้นกล่าวปาฐกถาเริ่มต้น

ด้วยความรู้สึกละอายต่อบาป ประกอบกับความเห็นใจและเข้าใจในหัวใจของลูกสาวตน “กาโล” จึงตัดสินใจเปิดเผยวรรณะที่แท้จริงให้กับผู้มาร่วมงานได้ฟัง พร้อมประกาศว่าตนนั้นไม่เหมาะสมที่จะมายืนกล่าวปาฐกถาในงานนี้ได้

เหตุการณ์วิกฤตเริ่มขึ้น มีผู้คนที่มาร่วมงานต่างปาก้อนหินเข้าใส่ “กาโล” เพราะโกรธที่โดน “กาโล” หลอกให้กราบไหว้มานาน

ในขณะที่เหตุการณ์เริ่มรุนแรง ปรากฏว่ามีเสียงไชโยโห่ร้องและเสียงปรบมือจากคนอีกกลุ่มหนึ่งที่รวมกลุ่มไกลออกไป พร้อมเสียงตะโกนดังขึ้น ยกย่องให้ “กาโล” เป็นวีรบุรุษของกลุ่มตนที่ทำให้คนในวรรณะที่สูงกว่ามากราบไหว้คนในวรรณะศูทร ซึ่งเป็นวรรณะที่ต่ำกว่าได้

เรื่องจบลงเพียงเท่านั้น

ผมไม่สามารถจะเล่าให้เห็นอรรถรสที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดความลำบากใจที่เกิดขึ้นกับ “กาโล” ในทุกย่างก้าวของชีวิตเขาได้

เขาต้องตัดสินใจเลือกเส้นทาง ที่ทางหนึ่งคือความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งหากเลือกที่จะเดินไปก็จะพบแต่ความทุกข์เข็ญของตนและลูกสาวอันเป็นที่รัก

ในขณะที่อีกทางหนึ่งคือ หลังเสือที่ตนเองเป็นผู้ขึ้นไปคุมบังเหียนอยู่ เป็นทางที่มีแต่ความสุขที่รายล้อมไปด้วยเงินทองและความยอมรับของคนในสังคม แต่เส้นทางนี้กลับเป็นทางที่สร้างความทุกข์ระทมในใจให้แก่เขาเป็นอย่างมาก เผชิญหน้ากับความสับสน ความเจ็บปวดที่สาหัส บ่อยครั้งเขานึกถึงชีวิตแบบช่างตีเหล็กที่เมืองชาวนาบ้านเกิด แต่เขาก็ไม่สามารถก้าวลงจากหลังเสือนี้ได้

แต่สุดท้าย ใจของ “กาโล” ก็พ่ายแพ้ต่อความดี เขาจึงยอมบอกฐานะที่แท้จริงของตนให้กับคนรอบข้างได้รับทราบ ยอมทิ้งความสุขและการยอมรับจากสังคม หันกลับไปสู่ความเป็นจริงของชีวิตในการนำพาชีวิตเขาและลูกสาวเดินไปข้างหน้า

ผมหยิบเรื่องนี้มาเขียนด้วยความตั้งใจว่า ผมต้องการนำเรื่องราวของ “กาโล” เตือนสติให้กับผู้มีอำนาจในบ้านในเมืองนี้

หากท่านวิเคราะห์แล้ว พบว่าไม่เหมาะที่จะอยู่บนหลังเสือ อาศัยหยิบฉวยความสูงส่งของคำว่า “คนขี่เสือ” เพื่อตีสีหน้าเย่อหยิ่งลอยตัวบนหลังเสือที่แต้มสีไว้เฉิดฉายแบบปลอมๆ แล้ว ขอให้ยอมลงจากหลังเสือนี้เสียเถิด คำชื่นชมจากสังคมจะดังขึ้น เฉกเช่นเดียวกับ “กาโล” ในเรื่องนี้

แต่หากท่านยังคงนั่งอยู่บนหลังเสือนี้ต่อไป ผมก็ไม่แน่ใจว่าอะไรที่เลวร้ายจะเกิดขึ้นกับท่านในอนาคตบ้าง อาจเป็นวันที่จะย่อยยับลงได้ด้วยเพียงมือหรือเท้าของคนธรรมดา ๆ ก็ได้

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Hate Speech กับอิทธิฤทธิ์ของสื่อ

๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๖

ผมเพิ่งเข้าใจบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นกับลูกชายของผม และอดไม่ได้ที่จะชื่นชมในวุฒิภาวะของเขาที่มีปฏิกิริยาแบบนั้น เพราะลูกชายผมเพิ่งเริ่มต้นใช้คำว่า “วัยรุ่น” นี้เอง

เมื่อไม่กี่วันที่แล้วผมได้เล่าเรื่อง “ประชาธิปไตยในครอบครัว” เป็นปฏิกิริยาของลูกชายต่อเสียงจากทีวีดาวเทียมช่องหนึ่ง ที่ถ่ายทอดการจัดรายการสดรายงานสถานการณ์การชุมนุมของมวลมหาประชาชน
“ผมไม่ชอบ เขาชอบด่ากัน ใช้คำหยาบคาย และพูดซ้ำๆซากๆ น่าเบื่อจริงๆ” คือคำพูดที่ออกจากปากลูกชายในวันนั้น

วันนี้ (12 ธันวาคม 2556) ผมได้มีโอกาสไปเข้าร่วมเวที “พลังภาคประชาชน ทางออกประเทศไทย ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ที่จัดขึ้นหอประชุมพุทธคยา ชั้น ๒๒ อาคารอัมรินทร์พลาซ่า ซึ่งตั้งอยู่กลางใจเมืองหลวงย่านเพลินจิต

จักร์กฤษ เพิ่มพูล ในฐานะประธานสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้กล่าวในเวทีไว้ ๒ ประการ ที่น่าสนใจว่า
ประเด็นแรกก็คือ ภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว (Media landscape)
ประเด็นที่สองคือ วาทกรรมที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Hate Speech

"Hate speech is a communication that carries no meaning other than the expression of hatred for some group" หรือแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็คือ "การพูดซึ่งมีเจตนาก่อให้เกิดการเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่ง"

ต้องบอกว่าผมสนใจในเรื่อง Hate Speech เป็นอย่างมาก เพราะหวนคิดไปถึงคำพูดของลูกชายเมื่อวันก่อน
ระหว่างที่นั่งฟังจักร์กฤษ อธิบายในช่วงเวลาสั้น ๆ ถึงผลกระทบจากอิทธิพลสื่อที่ไม่มีจรรยาบรรณ โดยเฉพาะสื่อกระแสทางเลือกที่ถ่ายทอดสด โดยไม่มีกระบวนการกรองสาร
เมื่อคนรับสาร รับสารซ้ำไปซ้ำมาบ่อย ๆ จะไปมีอิทธิพลต่ออารมณ์ ความรู้สึก และวุฒิภาวะของบุคคลตามไปด้วย
หากสารที่ส่งไปนั้นเป็นวาทกรรมเชิงลบ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็แล้วแต่ ผู้รับสารที่ฟังซ้ำ ๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วิธีคิดจนถึงการกระทำได้

ฉะนั้น ปรากฏการณ์ที่ผมเห็นและได้ยินจากลูกชาย จึงเป็นผลลัพธ์จากอิทธิพลของสารที่เขารับเข้าไปแบบซ้ำไปซ้ำมาอย่างบ่อยครั้งนั่นเอง

ผมลองเปิดหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต พบผลงานวิชาการเกี่ยวกับ Hate Speech มากมาย สาระสำคัญคือ
“การสื่อสารเพื่อสร้างความเกลียดชัง” หมายถึง การใช้คำพูดหรือการแสดงออกทางความหมายใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีกลุ่มบุคคลหรือปัจเจกบุคคล โดยมุ่งไปที่ฐานของอัตลักษณ์ซึ่งอาจจะติดตัวมาแต่ดั้งเดิม หรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว สถานที่เกิด/ที่อยู่อาศัย อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ หรือลักษณะอื่นที่สามารถทำให้ถูกแบ่งแยกได้ การแสดงความเกลียดชังที่ปรากฏอาจเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรี หรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงด้วยก็ได้

วัตถุประสงค์ของการสื่อสารความเกลียดชังได้ ๔ ประเภทใหญ่ คือ
๑) ไม่สะท้อนวัตถุประสงค์ชัดเจน
๒) มีแนวโน้มสร้างความเข้าใจที่ผิดหรือมีอคติต่อกลุ่มเป้าหมาย
๓) ยั่วยุหรือทำให้เกิดความเกลียดชังหรือสบประมาทอย่างร้ายแรงต่อกลุ่มเป้าหมาย
๔) กำจัดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีทั้งการปฏิเสธการอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน และการทำร้าย/ทำลายล้างกลุ่มเป้าหมาย

แล้วทางออกสำคัญเพื่อให้รอดพ้นจาก Hate Speech มีไหม
จักร์กฤษ ได้แนะนำผู้ร่วมเวทีว่า จักต้องมี “สติ” ในการรับฟังและแยกแยะสารที่เข้ามา อย่าติดยึดกับสารอย่างตายตัว ให้ผ่อนปรนปล่อยวาง

ผมในฐานะที่ทำงานในวงการระบบสุขภาพ จึงอยากจะบอกว่าสิ่งที่จักร์กฤษเสนอ นั้นก็คือ “สุขภาวะทางปัญญา” ที่พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติความหมายไว้ว่า เป็น “ความรู้ทั่ว รู้เท่าทันและความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดี ความชั่ว ความมีประโยชน์และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตอันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” นั่นเอง

นอกจากนั้น สิ่งที่จักร์กฤษ ได้เรียกร้องผ่านเวทีอีกเรื่องหนึ่ง คือ การมีจรรยาบรรณของสื่อ ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากสารที่สื่อส่งไปด้วย
อีกทั้งเขายังห่วงใยต่อระบบสื่อสารสาธารณะของไทยในขณะนี้ ที่ปัจจุบันสื่อกระแสหลักนั้นถูกครอบงำไปด้วยทุน ส่งผลให้มีการจัดผังรายการนำเสนอสารในรูปแบบต่างๆ นั้นต้องคำนึงผลประโยชน์เชิงธุรกิจเป็นเป้าหมายสำคัญ
ฉะนั้น Hate Speech จึงอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ และไปมีความเกี่ยวข้องกับผลกำไรในเชิงธุรกิจด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้นแล้วในโลกของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งก็คือ กลไกสื่อสารทางเลือก โดยเฉพาะทีวีดาวเทียม และระบบอินเตอร์เน็ต มีความยุ่งยากอย่างมากในการควบคุมมิให้มีการใช้ถ้อยคำหรือข้อความในลักษณะ Hate speech จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องรวมหัวกันคิดถึงระบบป้องกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ

อย่างไรก็ตาม ผมมองย้อนกลับไปที่ปฏิกิริยาของลูกชายผม ผมยังพบสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การใช้ถ้อยคำของแกนนำหรือวิทยากรบนเวทีชุมนุม ที่ยังนิยมใช้ถ้อยคำในลักษณะ Hate Speech เพื่อสร้างความมันในอารมณ์ หรือความสะใจของผู้ฟัง
โดยคาดไม่ถึงผลกระทบที่ตามมาก็คือ เมื่อมีบุคคลรับสารได้ฟังแบบซ้ำ ๆ จะนำไปสู่การสร้างทัศนคติเชิงลบของบุคคลตามไปด้วย

ฉะนั้นในฐานะ “พ่อ” ผมจึงขอเรียกร้องไปยังทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวสื่อเองที่ต้องสร้างกลไกตรวจสอบการใช้ภาพหรือภาษาในลักษณะนี้ และเรียกร้องมายังแกนนำและวิทยากรที่ขึ้นพูดหรือจัดรายการในลักษณะรายการสดต้องตระหนักว่า คำพูดของท่านมีผลต่อผู้ฟังอย่างมหาศาล
และเรียกร้องมายังพ่อแม่ที่มีบุตรที่ยังอยู่ในวัยเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นวัยที่อ่อนไหว โดยควรระมัดระวังและสอดส่องดูแลการรับสารของเขาอย่างใกล้ชิด

เพราะตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกชายวัย ๑๓ ปีของผมนั่นเอง.............

วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คนตำบลเปือย ขอ "จัดการกันเอง"

๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๖

“คนตำบลเปือย อยู่ดีมีแฮง ฮักแพงแบ่งปัน สร้างสรรค์เฮียนฮู้ อยู่เย็นเป็นสุขถ้วนหน้า ภายในปี ๒๕๕๙”
เป็นภาพฝันที่คนตำบลเปือยร่วมกันกำหนดสิ่งที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี ในอนาคตข้างหน้าไว้

ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในธรรมนูญสุขภาพตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งชาวตำบลเปือยได้ร่วมกันจัดทำและประกาศใช้มาตั้งแต่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๔

รุ่งโรจน์ โฉมรักษ์ นายกเทศมนตรีตำบลเปือย หัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญได้เล่าให้ฟังว่า “ด้วยทุนทางสังคมที่หลากหลาย มีความเข้มแข็งเชิงโครงสร้าง กอรปกับความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายในตำบลเปือย ทำให้พื้นที่แห่งนี้สามารถจัดทำธรรมนูญสุขภาพฉบับแรกของภาคอีสานขึ้นมาเป็นผลสำเร็จ”

ธรรมนูญสุขภาพตำบลเปือย ใช้เวลายกร่างเพียง ๖ เดือนก็บรรลุผล และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยได้มีการบรรจุสาระที่ปรากฏไว้ในธรรมนูญสุขภาพของตำบลเปือย เข้าไปในทุกๆ โครงการ ไม่ว่าต่อยอดโครงการเก่าหรือโครงการใหม่ๆ จนได้ผลลัพธ์อย่างดี

แรงบันดาลใจของการจัดทำธรรมนูญ เกิดขึ้นหลังจากไปศึกษาดูงานสร้างสุขภาวะที่ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา จึงได้นำแนวคิดและประสบการณ์กลับมาดำเนินการทันที
ขั้นตอนการทำงานจำแนกเป็น ๓ ขั้นตอนง่าย ๆ อันได้แก่ การประกาศเจตนารมณ์ การสร้างกลไกการขับเคลื่อน และการจัดการเชิงระบบด้วยวิชาการ
ทุกขั้นตอนได้ให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วม มีการจัดเวทีระดมความเห็น และเวทีประชาคมภายใต้โครงการ “เปือยรุ่งโรจน์” บนเป้าหมายสูงสุด คือ สุขภาวะของชาวตำบลเปือย

ภายหลังประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพของตำบลแล้ว ได้นำมาเป็นกรอบในการจัดทำโครงการที่จะพัฒนาในตำบล
ที่ผ่านมาเกิดกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ โครงการปลอดเหล้าบุหรี่ โครงการประกวดหน้าบ้านสวย หลังบ้านสวย ในบ้านงาม เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนดูแลความสะอาด ส่งเสริมสุขลักษณะที่ดี และโครงการกองบุญสัจจะสวัสดิการไทบ้าน เพื่อส่งเสริมการออมวันละ ๑ บาทเพื่อเป็นสวัสดิการสำหรับคนในตำบลยามเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น

ความน่าสนใจของธรรมนูญสุขภาพตำบลเปือย ผมพบว่า
ภาษาที่ใช้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องแปลความ หรือใช้ศัพท์ทางวิชาการมากเกินไป ทำให้สามารถเข้าถึงชาวบ้านทุกคนได้ง่าย

ใช้สื่อท้องถิ่น ผ่านวิทยุชุมชนในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ทำให้ผู้คนทั่วชุมชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

สร้างความร่วมมือจากผู้ใหญ่ในชุมชน รวมถึงพระสงฆ์ในพื้นที่ ช่วยกันย้ำเตือนถึงปัญหาสุขภาพที่เป็นปัญหาร่วมของทุกคน เรียกว่าใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่อย่างเต็มที่

มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาขับเคลื่อนอย่างจริงจังหลายคณะ โดยดึงศักยภาพจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมทำงาน

อีกทั้งขณะนี้ยังพบว่า ในพื้นที่ได้มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นทุกหมู่บ้าน ปรากฏว่ามีการเสนอประเด็นเพิ่มเติมเข้าไปในธรรมนูญสุขภาพด้วย ๓ เรื่อง คือ
เรื่อง การเตรียมคนในตำบลเปือยเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
เรื่อง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากที่ตำบลเปือยมี “เสมาพันปี” อายุกว่า ๑,๓๐๐ ปีอยู่ในพื้นที่ ถือเป็นสัญลักษณ์แสดงความเก่าแก่ของชุมชน
เรื่อง การส่งเสริมการปลูกและการทำตลาดข้าวหอมมะลิปลอดสารพิษ

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีแนวคิดที่จะขยายแนวคิดเรื่องธรรมนูญสุขภาพของตำบลเปือยให้ครอบคลุมทุกตำบลในจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นไปตามธรรมนูญคนอำนาจเจริญจัดการตนเอง ที่ประกาศใช้ไปแล้วเช่นกัน

จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ตำบลเปือย แม้นเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่น่าจับตามอง เพราะเป็นพื้นที่ที่มีกระบวนการขับเคลื่อนสุขภาวะของชุมชน โดยชุมชนและเพื่อชุมชน ตามหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่แท้จริง

ทำให้ตำบลเปือยได้รับรางวัล “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ประจำปี ๒๕๕๖ อันเป็นรางวัลสำหรับพื้นที่ที่มีการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรม ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากที่ผมต้องการชื่นชมพื้นที่ต้นแบบตามที่ได้นำเสนอมาข้างต้นแล้ว เจตนาสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ พื้นที่แห่งนี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันว่า ในหลายชุมชนท้องถิ่นของประเทศไทยในขณะนี้ เป็นพื้นที่ที่เข้มแข็ง เป็นพื้นที่ที่สามารถจัดการกันเองได้

ฉะนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมาเอาจริงเอาจังกับ “การกระจายอำนาจ” ไปให้ชุมชนท้องถิ่นเสียที สนับสนุนงบประมาณให้มากขึ้น เปลี่ยนวิธีคิดจากการสั่งการจากข้างบน ให้ชุมชนสามารถวิเคราะห์ปัญหา หาทางแก้ ระดมทุน จัดการกันเอง โดยรัฐส่วนกลางเป็นพี่เลี้ยงคอยหนุนเสริม เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการปัญหาในชุมชนด้วยรูปแบบและบริบทที่สอดคล้องกับฐานรากของตนเอง อันเป็นหลักการที่สอดคล้องกับกระแสการปฏิรูปประเทศไทยอยู่ในขณะนี้

อีกทั้งยังสอดคล้องกับมาตรา ๗๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ที่บัญญัติเรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ

วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ท่าข้าม : ตำบล “จัดการกันเอง”

๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๖

ผมมีความเชื่อว่า “อนาคตกำหนดได้”
ดังจะเห็นรูปธรรมจากวงบริหารยุคใหม่ ที่จะออกมาในรูปของ “วิสัยทัศน์” ที่กำหนดเป้าหมาย หรือเป้าประสงค์ที่คาดหวัง อยากเห็น อยากเป็น อยากมี ไว้ในองค์กรตนเอง
หลักการดังกล่าวนี้จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ดีกับงานในชุมชนท้องถิ่น

๑๐ ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ วันที่รำลึกถึงการที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นกรอบการดำเนินงานทางการเมือง การปกครองและการบริหารของประเทศไทย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ณ ตำบลแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทย
“ตำบลท่าข้าม อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา” ได้ใช้โอกาสวันสำคัญที่มีความหมายอันยิ่งใหญ่นี้ พร้อมใจกันประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาวะตำบลท่าข้าม" เพื่อเป็นกรอบและกติการ่วมกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในตำบล

แม้ผมจะไม่ได้มีโอกาสไปร่วมงานที่สำคัญยิ่งครั้งนี้ แต่ก็รู้สึกดีใจมิใช่น้อยที่เห็นคนในพื้นที่ต่างๆ ลุกขึ้นมาป่าวประกาศว่า “ขอกำหนดอนาคตตัวเอง ว่าอีก ๕ ปี ๑๐ ปี จะพัฒนาพื้นที่ของตนเป็นอย่างไร

ชาคริต โภชะเรือง แกนนำคนสำคัญในพื้นที่ได้ส่งสารมาให้ทราบว่า
ธรรมนูญสุขภาวะตำบลท่าข้าม มีจุดเด่นอยู่ที่
เป็นการทำงานในมิติการปกครองร่วมกับมิติการพัฒนา โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นกับท้องที่เป็นอย่างดี
มีกระบวนการที่สร้างกติกาจากชุมชนระดับหมู่บ้านขึ้นสู่กติการะดับตำบล
ครอบคลุมการพัฒนาทุกด้าน อันมุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนตำบลท่าข้าม
ใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วมจากคนท่าข้ามอย่างกว้างขวาง อันเป็นรากฐานประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับหมู่บ้านและระดับตำบล

เขายังได้อธิบายต่ออีกว่า
“ธรรมนูญสุขภาพฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมาย จึงไม่เน้นการใช้อำนาจบังคับสั่งการ หากแต่เป็นข้อตกลงร่วม เป็นสัญญาประชาคมหรือพันธะสัญญาร่วมกันที่ทุกคนภาคส่วนพร้อมปฏิบัติ เพราะมีการนำภูมิปัญญามาปรับใช้อย่างหลากหลาย บนฐานจารีตประเพณี คุณธรรม จริยธรรมกำกับ เพื่อสร้างความมั่นคงในด้านต่างๆของชุมชน อันจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของชุมชม ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติภาวะ รวมถึงยังยึดกระบวนการมีส่วนร่วมแบบเข้มข้น ลงลึกในระดับตัวบุคคลและครัวเรือน หวังทำให้ชุมชนเป็นเจ้าของ และเกิดความงดงามอันหลากหลายขึ้นเต็มพื้นที่
ธรรมนูญท่าข้ามจึงเป็นตัวอักษรที่กินได้ อยู่ในวิถีชีวิต มิใช้หยิบยืมมาแต่รูปแบบจากต่างถิ่น เนื้อหาทุกตัวอักษรเกิดขึ้นจากคนท่าข้าม มิใช่ถูกกำหนดมาจากผู้อื่น”

ว่าไปแล้วที่ผ่านมาประเทศไทยมีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพไปแล้วในหลายพื้นที่ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และระดับหมู่บ้าน กระจายอยู่ทั่วประเทศทุกภาค
และทุกแห่งต่างยืนยันตรงกันว่า “ธรรมนูญสุขภาพของพวกเขา” นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพส่วนบุคคล ใช้เป็นกรอบการทำงานของคน คณะบุคคล และองค์กรต่าง ๆในพื้นที่นั้น เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีขึ้นของคนในชุมชนได้จริง
นี้จึงนับเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์สำคัญว่า ชุมชนท้องถิ่นมีศักยภาพ สามารถที่จะดูแลและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่กันเอง ด้วยฝีมือของเขาเองได้ และประโยชน์ก็เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

ท่ามกลางข้อเสนอให้มีการปฏิรูปประเทศที่หลากหลายอยู่ในขณะนี้ ผมจึง (แอบ) หวังไว้อย่างสูงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่ตำบลท่าข้ามในวันรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในปีนี้ จะเป็นตัวอย่างที่สำคัญนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดของผู้บริหารบ้านเมือง จากเดิมที่คุ้นชินกับการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ไปสู่การกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนท้องถิ่นเสียที !!!!!

วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

“สมัชชาสุขภาพ” : เครื่องมือสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

๙ ธันวาคม ๒๕๕๖

แม้ว่าเจตนารมณ์สำคัญของระบอบประชาธิปไตย คือ การเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มสามารถต่อรองร่วมกันได้ แต่กลับพบว่า คนบางกลุ่มกลับเข้าไม่ถึงกลไกบางอย่าง เพื่อจะทำให้ตัวเองสามารถจะต่อรองกับกลุ่มอื่นๆในสังคมได้ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าไปต่อรองในพื้นที่ดังกล่าวได้ โอกาสที่จะเกิดระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นในสังคมจึงเกิดขึ้นได้ยากตามไปด้วย

เช่นเดียวกับวิกฤติบ้านเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ต้องยอมรับว่ามีสาเหตุมาจากระบอบการปกครองที่เราใช้ นั่นก็คือ “ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน” ที่ใช้วิธีการเลือกตั้งผู้แทนของประชาชนไปทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง

แต่ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งนั้นกลับไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล แต่ไปทำตามบุคคลที่มีอิทธิพลเหนือกว่า โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ตั้ง

กระแสเรียกร้องทางการเมืองข้อหนึ่ง คือ ต้องมีการพัฒนาระบอบการปกครองของไทยเราให้เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เพื่อเป็นทางออกของประเทศไทย

แล้ว "ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม" คืออะไรล่ะ

มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายโดยสรุปได้ว่า หมายถึง "การมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนการกำหนดวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย ทั้งนี้ไม่ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ หน้าที่ ตามระบอบการเมืองการปกครองที่ไม่ไปก้าวก่ายหรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นหรือสังคมส่วนรวม"

มีนักวิชาการท่านหนึ่ง ชื่อ "แคทท์ (Helena Catt)" เสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า องค์ประกอบและเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดของความเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม มี ๔ ประการ คือ

ประการแรก ทุกคนสามารถยกประเด็นปัญหาใดปัญหาหนึ่งขึ้นมา เพื่อกำหนดเป็นวาระของการประชุม สามารถเสนอทางเลือก และมีส่วนร่วมในการเลือกหรือการตัดสินใจสุดท้ายได้

ประการที่สอง เป็นการประชุมที่ทุกคนสามารถพูดคุยกันได้อย่างทั่วถึง (Face-to-face meeting)

ประการที่สาม มีการปรึกษาหารือ หรืออภิปรายประเด็นปัญหาที่หยิบยกมาพิจารณากันอย่างกว้างขวาง ทุกคนต้องการมีส่วนร่วมในการอภิปราย และสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่

ประการที่สี่ มีแนวโน้มที่พยายามจะให้เกิดความเห็นพ้อง (Consensus) ร่วมกันในประเด็นปัญหาที่พิจารณา

กล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม จึงเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงทัศนะและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆที่จะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง

อีกทั้งยังช่วยในการตัดสินใจของรัฐบาลให้มีความรอบคอบ และสอดรับกับปัญหาและความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลให้มีความโปร่งใส (Transparency) ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชน (Responsiveness) และมีความรับผิดชอบหรือสามารถตอบคำถามของประชาชนได้ (Accountability) เป็นอย่างดี

ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นนั้นเอง

ผมเขียนมาถึงตรงนี้ ทำให้คิดไปถึงเครื่องมือหนึ่งตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพ” ซึ่งกฎหมายได้ให้ความหมายไว้ว่า

เป็น “กระบวนการที่ให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ หรือความมีสุขภาพที่ดีของประชาชน โดยจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและอย่างมีส่วนร่วม”

ซึ่งหากนำความหมายของคำว่า “สมัชชาสุขภาพ” ไปเชื่อมโยงกับแนวคิดของคำว่า “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ตั้งอยู่บนหลักการเดียวกัน

เพราะสมัชชาสุขภาพนั้น

เป็นกระบวนการที่เปิดกว้างสำหรับบุคคลและคณะบุคคล ในการเสนอประเด็นปัญหาที่จะนำมาพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย

เป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับทุกคนในการแสดงความคิดเห็นอย่างทัดเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเสียงเล็กเสียงน้อย และครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

เป็นกระบวนการที่เน้นการพูดคุยที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้และข้อมูลรองรับที่เชื่อถือได้

เป็นกระบวนการที่ไม่ได้ใช้เสียงส่วนมากในการตัดสินใจ แต่จะใช้ความเห็นร่วมกันจากบุคคลทุกฝ่ายในลักษณะที่เรียกว่า “ฉันทมติ” หรือ Consensus นั่นเอง

เป็นกระบวนการที่ไม่ได้มอบมติที่เห็นพ้องต้องกันนั้น ให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ถือเป็นเจ้าของร่วมกัน ทุกฝ่ายมีหน้าที่นำมตินั้นไปปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วก็นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แบ่งปันกัน

ผมจึงกล้ากล่าวอย่างเต็มปากว่า ในขณะนี้ประเทศไทยเราได้สร้างเครื่องมือไว้พร้อมแล้วสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

ฉะนั้น หากถามว่าเราจะพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างไร

คำตอบก็ง่ายนิดเดียว เพียงเร่งส่งเสริมให้ทุกพื้นที่ ทุกองค์กรมีการนำเครื่องมือ “สมัชชาสุขภาพ” ไปใช้อย่างกว้างขวางให้เต็มพื้นที่ เปิดพื้นที่ให้ทุกเสียงของทุกคนกำหนดอนาคตของตนเอง

เพราะหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม คือ การสร้างอำนาจให้ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มีอำนาจในการต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน ประชาธิปไตยจึงจะดำรงอยู่ได้ด้วยฐานอำนาจที่หลากหลายเช่นนี้

ความฝันวันยุบสภา

๙ ธันวาคม ๒๕๕๖
“ดิฉันใคร่ขอประกาศยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่”
เป็นคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)ประกาศผ่านทีวีพูลตอนเช้าของวันนี้ ในขณะที่มวลมหาประชาชนที่กำลังเดินจากทุกสารทิศไปสู่ทำเนียบรัฐบาล
ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บัญญัติให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน ๖๐ วัน
ซึ่งผมก็ไม่คิดว่าทุกอย่างจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ ยังเชื่อว่าวงจรเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

แล้วเราในฐานะคนไทยจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะทำให้วงจรเหล่านี้หายไปจากประเทศไทยเรา
ก็คงต้องบอกว่า เราคนไทยทุกคนต้องออกมาช่วยกันครับ ซึ่งสิ่งที่มวลมหาประชาชนได้แสดงบทบาทและออกมารวมกันแสดงพลังในกว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้ ผมเห็นว่าเป็นสิ่งรับรองที่เป็นรูปธรรมว่า คนไทยไม่ได้เป็น "ไทยเฉย" อีกต่อไป และเป็นต้นทุนที่ยิ่งใหญ่อันเป็นฐานรากของประชาธปไตยที่หมายถึงการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนที่แท้จริง

ผมเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งครับ ในการทำงานที่ผ่านมา ได้หล่อหลอมและปลูกฝังให้ผมมีความเชื่ออยู่ ๒ ประการ
ประการแรก คือ ผมเชื่อว่าเราสามารถกำหนดอนาคตได้ ทั้งของตนเอง ของชุมชน ของสังคม และของประเทศ
ประการที่สอง คือ ผมเชื่อว่าพลังการมีส่วนร่วมเป็นพลังอันสำคัญที่จะเดินไปสู่อนาคตที่คาดหวังได้
ด้วยความเชื่อของผมข้างต้น ผมจึงอยากบอกว่า ผมอยากบอกสิ่งที่ผมอยากเห็นประเทศไทยอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของผมเป็นอย่างไรในอนาคต

ผมอยากเห็น สัก ๑๐ เรื่องครับ
ผมอยากเห็น ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ผมอยากเห็น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบการเลือกตั้ง สส. สว. ส.อบจ. สท. ส.อบต. และ ทุกตำแหน่งที่มีการเลือกตั้ง ที่โปร่งใส เป็นธรรม ไม่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง
ผมอยากเห็น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนดีเข้ามาเป็นผู้บริหารทุกระดับ ยึดมั่นในหลักนิติธรรม นิติรัฐ และเคารพสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอย่างทัดเทียมกัน
ผมอยากเห็น องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเป็นอิสระจากการแทรกแซง และตัดสินด้วยความเป็นธรรม และยุติธรรม ไม่มี ๒ มาตรฐาน
ผมอยากเห็น ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลเป็นหลักการทำงานของทุกองค์กร ทุกหน่วยงานและทุกพื้นที่

ผมอยากเห็น ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำ มีความเป็นธรรมของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกอาชีพ และทุกพื้นที่
ผมอยากเห็น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการกระจายอำนาจไปให้พื้นที่จัดการกันเอง
ผมอยากเห็น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชาชนเป็นพลังพลเมือง ที่หมายถึงพลเมืองที่มีพลัง ทั้งพลังคิด พลังทำ พลังตรวจสอบ และมีจิตที่ยึดสาธารณะเป็นเป้าหมาย
ผมอยากเห็น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีช่องทางรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ฟังเขาทุกครั้งที่จะมีนโยบายสาธารณะที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตของเขา อย่างเป็นระบบและทั่วถึง
ผมอยากเห็น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบบสวัสดิการสังคมที่ดี ประชาชนมีหลักประกันทางสุขภาพ ทางเศรษฐกิจ และทางสังคมที่ดีและมั่นคง

ความฝัน ๑๐ ประการนี้ ผมคิดว่าเป็นไปได้ โดยการใช้ความเชื่อประการที่สองของผม นั่นก็คือ การใช้พลังร่วมของผู้คน ให้เข้ามาร่วมคิดร่วมทำกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ ร่วมกันกำหนดแนวทาง ช่องทาง วิธีปฏิบัติเพื่อแปลงความฝันสู่ความจริงได้ไม่ยาก

“พ่อ ๆ ตื่น ไปส่งผมไปโรงเรียนหน่อยครับ” เป็นเสียงลูกชายพูดพร้อมกับเอามือมาเขย่าที่ตัวผม
ผมค่อย ๆ ลืมตาขึ้น และเมื่อสติกลับคืนมา ก็อดกล่าวกับตัวเองว่า
"อ้าวนี้ผมฝันไปหรือนี่

วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ประชาธิปไตยในครอบครัว

๘ ธันวาคม ๒๕๕๖

อรุณรุ่งของเช้าวันหยุดในเหมันตฤดูนี้ ท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม หมอกสีขาวจับเป็นกลุ่มก้อนกระจายอยู่ทั่ว อากาศรอบกายรู้สึกได้ถึงไอเย็นที่กระทบผิวกาย ผมรีบสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าไปเต็มปอด

จากระเบียงบ้านมองลงไปยังลานหญ้าเขียวขจีด้านล่าง ต้นล่ำซำหรือต้นหูหนูแผ่กิ่งก้านขยายใหญ่ ใจนึกเปรียบเทียบกับวันแรกที่ซื้อมา “ช่างโตใหญ่กว่าเดิมไปมาก คงเหมือนอายุคนปลูกที่เพิ่มขึ้นทุกปีๆ”

ภายหลังเสร็จสิ้นจากอาหารเช้าที่ภรรยาจัดเตรียมไว้ให้ ด้วยกาแฟร้อนและผลไม้ที่ฝานแบ่งพร้อมรับประทาน
ผมเอื้อมมือไปกดรีโมททีวีค้นหาช่องที่ดูอยู่เป็นประจำ เบื้องหน้าจอกำลังถ่ายทอดการจัดรายงานสดจากเวทีราชดำเนินพิธีกรคู่กำลังอ่านข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ขายอยู่ในประเทศ พร้อมต่อเติมมุมมองของตน เสริมแต่งสร้างอารมณ์ร่วมให้ผู้รับชมได้ฟังกัน

สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ส่งผลให้ข่าวพาดหัวทุกฉบับออกมาในเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือ การนัดรวมพลครั้งใหญ่ในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่กรุงเทพฯ แต่ข้อความที่ปรากฏมีความแตกต่างกันไปตามมุมมองของบรรณาธิการแต่ละฉบับ
ขณะที่ผมกำลังติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวอยู่นั้น อีกมุมหนึ่งของห้อง ลูกชายวัย ๑๓ ปี ซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนประจำจังหวัดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ก้มหน้าก้มตาอยู่ที่หน้าจอโน๊ตบุ๊ค มือของเขากดคลิ๊ก ๆ ไปที่เมาท์ตลอดเวลา

เพียงไม่ถึง ๑๐ นาทีที่ผมเปิดทีวี ลูกชายค่อย ๆ ปลดสายไฟ พร้อมหอบคอมพิวเตอร์ เดินขึ้นไปยังห้องส่วนตัวของเขา
ในใจผมคิดว่า เขาคงต้องการสมาธิในการทำงาน เสียงจากทีวีคงไปรบกวนเขา ความรู้สึกผิดเกิดขึ้นในใจของผมทันทีและกะว่าจะกล่าวคำขอโทษลูกชายในเวลาที่เหมาะสม

"อยากจะเล่าอะไรให้พี่ฟัง" เสียงของภรรยาเอ่ยขึ้นทันที หลังจากที่เราอยู่กันตามลำพัง
"ลูกชายมีความคิดทางการเมืองแปลก ๆ จะเถียงกันประจำ น้องเข้าใจว่าอาจจะมาจากครูของเขา ลูกชายเคยมาเล่าให้ฟังว่า คนไทยไปทำลายคนที่ไปอยู่ต่างประเทศ ไปยึดเงินเขา ไปรังแกเขา เหมือนเขาถูกปล้น”
“เมื่อวานนี้ ยายมาเล่าให้ฟังอีกว่า พอยายด่ารัฐบาลชุดนี้เรื่องเงินที่ขายข้าวแล้วยังไม่ได้เงิน ลูกชายก็เถียงขึ้นมาทันที น้องไม่รู้จะทำอย่างไรดี อยากให้พี่คุยกับลูกในเรื่องนี้ค่ะ”

ข้อมูลที่ได้รับจากภรรยาสร้างความตกใจให้กับผมอย่างมาก และหวนคิดถึงปฏิกิริยาของลูกชายเมื่อสักครู่ที่หอบคอมพิวเตอร์ขึ้นห้องไปแทบจะทันที
“ลูกชายเขาเติบโตแล้ว เขาย่อมมีวิธีคิดตามรูปแบบที่เขาได้เรียนรู้มา” ผมนึกในใจ และคิดต่อว่าในฐานะ “พ่อ” ผมควรจะทำอย่างไร

"ลูกชาย เรามาคุยเรื่องการเมืองกันหน่อยดีไหม” ผมเอ่ยขึ้นทันที เมื่อลูกชายเดินมานั่งข้าง ๆ
“ได้เลยครับพ่อ”
“ลูกคิดอย่างไรกับการชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้”

“ผมไม่ชอบ เขาชอบด่ากัน ใช้คำหยาบคาย และพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ น่าเบื่อจริง ๆ” เป็นคำตอบที่ชัดเจน ซึ่งค่อนข้างตรงกับสิ่งที่ผมคิดเหมือนกัน เพราะคนที่ขึ้นเวทีหลายคน ใช้คำพูดแบบนั้นจริง ๆ
“อีกอย่างหนึ่งนะพ่อ ผมฟังจากทีวีที่พ่อฟังนะ ไม่เห็นตรงกับที่ผมอ่านจากบล็อกราชดำเนิน ในเว็ปไซด์พันธ์ทิพย์ดอทคอมเลย มีแต่คนเขียนด่าคนที่มาชุมนุม ทำให้บ้านเมืองเสียหาย"
ลูกชายเล่าไปเรื่อยๆ ตามสิ่งที่เขารับรู้มา

“ดีมากลูกชาย พ่อขอเสนอเรื่องหนึ่งได้ไหม” ผมกล่าวชมลูกชายไป พร้อมกับชวนเข้าเรื่องที่ตั้งใจ
“ได้ครับ”
“ในครอบครัวเรา ย่อมมีความคิดที่แตกต่างกันได้ พ่อไม่บังคับลูกให้เชื่อตามพ่อ แต่พ่อขอร้องว่า ถ้าลูกมีประเด็นสงสัยอะไร พ่ออยากให้ลูกปรึกษาหารือกับพ่อหรือกับแม่ก่อน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน เพราะพ่อก็อยากฟังความเห็นของลูกเหมือนกัน และคิดว่าแม่ก็เช่นเดียวกัน” ผมพูดไป พร้อมกับมองไปที่สายตาของลูกชายที่ประสานกลับมา เห็นลูกชายนั่งฟังอย่างตั้งใจ
“ได้ครับพ่อ” เป็นคำตอบของลูกชาย ก่อนที่เขาจะเดินออกไปนอกบ้าน พร้อมกับลูกบาสเกตบอลที่ผมซื้อให้เขา

ผมมองตามเขาไปจนลับตา ว่าไปแล้วผมคงไม่กล้าบอกลูกชายให้เชื่อตามที่ผมเชื่อ เพราะในสิ่งที่ผมเชื่อนั้นก็มีบางสิ่งที่แอบแฝงและเจือปนด้วยอะไรบางสิ่งอยู่ จนทำให้ความเชื่อของผมไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์จริง

นี้คงเป็นข้อพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดที่ยืนยันว่า ขนาดในครอบครัวเล็ก ๆ ยังพบว่ามีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แล้วในสังคมของมนุษย์ที่ใหญ่กว้าง มีผู้คนอาศัยอยู่หลายสิบล้านคน ก็ย่อมเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนที่หลากหลายเช่นกัน

ทุกคนย่อมมีความฝันในการสร้างโลกใบใหม่ตามที่แต่ละคนฝัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางออกสำคัญที่จะทำให้เรายืนอยู่บนโลกใบเดียวกัน ที่ทุกคนล้วนเป็นเจ้าของร่วมกันได้ เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายสลับซับซ้อนนี้ได้อย่างดี นั่นก็คือ การมีสติและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย และเคารพความคิดต่างซึ่งกันและกันนั้นเอง

วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สุขภาวะแรงงานข้ามชาติ : ข้อมูลจากมิตร

๗ ธันวาคม ๒๕๕๖
นก... บินได้ด้วยปีก แต่หากไม่มีลมคอยหนุนอยู่ใต้ปีกบอบบางนั้น ก็อย่าหวังว่าจะโบยบินได้ คนเราก็ไม่แตกต่างจากนก ที่ต้องพึ่งพาน้ำใจจากมิตร จากพี่ จากน้อง เป็น “ลมใต้ปีก” หนุนให้โบกปีกบินต่อไปได้
ผมหยิบเรื่อง “ลมใต้ปีก” มาเขียน ก็เพราะในวันนี้ผมได้รับความกรุณาจากมิตรที่ส่งข้อมูลในเรื่องที่ผมรู้น้อยมากมาให้ จนความกังวลค่อยบรรเทาบางเบาลง
ผมกำลังสนใจเรื่อง “สุขภาวะแรงงานข้ามชาติ” เพราะอยากจะผลักดันให้เป็นระเบียบวาระของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี ๒๕๕๗ แต่ต้องบอกตรง ๆ ว่า ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร จึงรู้สึกกังวลเป็นยิ่งนัก
เมื่อนำเอาความกังวลที่เกิดขึ้นไปบอกเล่ากับเหล่ามวลมิตรทั้งหลาย ทุกอย่างก็กระจ่างขึ้นเมื่อมีมิตรคนหนึ่งที่จับเรื่องนี้มาตลอดได้จัดส่งข้อมูลสำคัญมาให้
ข้อมูลที่ผมได้รับเป็นข้อมูลที่มีคุณค่ายิ่ง และถือเป็นความรู้สำหรับการเริ่มต้นของผมได้เป็นอย่างดี
เนื้อหาสาระของข้อมูล ผมแบ่งเป็น ๓ ส่วนคือ

ส่วนที่ ๑ ความหมายและขอบเขต
คำว่า “สุขภาวะแรงงานข้ามชาติ” นั้น มีความหมายรวมกลุ่มประชากรไว้ ๒ กลุ่มใหญ่ที่ทับซ้อนกันอยู่ คือ “ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล” กับ “แรงงานข้ามชาติ” ซึ่งได้จำแนกออกเป็นอีก ๖ กลุ่มย่อย คือ
กลุ่มที่ ๑ ชนกลุ่มน้อยตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ได้รับเลขประจำตัว ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๖ และบุตรหลานของคนกลุ่มนี้ ได้รับเลขประจำตัวที่ขึ้นต้นด้วยเลข ๗ ข้อมูลของกรมการปกครองปี ๒๕๕๔ มีประมาณ ๒๖๐,๐๐๐ คน
กลุ่มที่ ๒ ผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ได้รับการสำรวจตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๘ มีเลขประจำตัว ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๐ แบ่งออกเป็น ๔ กลุ่มย่อย คือ (๑) กลุ่มที่ตกหล่นจากการสำรวจและจัดทำทะเบียนชนกลุ่มน้อยเดิม มีประมาณ ๑๗๐,๐๐๐ คน (๒) กลุ่มนักเรียน นักศึกษาต่างด้าวในสถานศึกษา (๓) กลุ่มคนไร้รากเหง้า (๔) กลุ่มผู้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ ซึ่งรวมประชากร ๓ กลุ่มหลัง มีประมาณ ๙๑,๕๐๐ คน
กลุ่มที่ ๓ แรงงานข้ามชาติระดับล่าง ๓สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ประมาณ ๘๔๘,๔๔๐ คน และนำเข้าตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า ลาว กัมพูชา อีก ประมาณ ๑๑๑,๒๙๐ คน
กลุ่มที่ ๔ ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติระดับล่าง ๓ สัญชาติ ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว และบุตรหลานที่เกิดในประเทศไทย ไม่ทราบจำนวนที่แท้จริงของประชากรกลุ่มนี้ ยกเว้นผู้ติดตามที่ขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๔ มีประมาณ ๑๗,๔๕๐ คน
กลุ่มที่ ๕ แรงงานข้ามชาติระดับล่าง ๓ สัญชาติที่ไม่ได้จดทะเบียน เป็นแรงงานที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ไม่ว่าจะมีเอกสารพำนักชั่วคราว (ทร. ๓๘/๑) หรือไม่ก็ตาม ประมาณการณ์ว่ามีประมาณ ๑.๓ ล้านคน
กลุ่มที่ ๖ ผู้พลัดถิ่นจากประเทศพม่าและประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในที่พักพิงและนอกที่พักพิง มีประมาณ ๑๒๖,๘๐๐ คน

ส่วนที่ ๒ ปัญหาสำคัญที่ท้าทายต่อการทำงาน มีอย่างน้อย ๓ ประการ คือ
ประการแรก มีหน่วยงาน องค์กรและเครือข่าย กว่า ๕๐ องค์กร ที่มีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิดสุขภาวะแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ภายใต้ ๔ ประเด็นใหญ่ คือ สุขภาพ การศึกษา สิทธิแรงงานและสิทธิที่เกี่ยวข้อง และการเข้าถึงการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย จึงยังไม่เห็นการทำงานในเชิงบูรณาการได้เท่าที่ควร
ประการที่สอง ประเด็นงานแรงงานข้ามชาติไม่หยุดนิ่ง ไม่อยู่กับที่ เปลี่ยนแปลงบ่อยตามทิศทางกระแสโลกและทิศทางนโยบายของรัฐบาล แต่กลับพบว่าหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายยังคงยึดติดอยู่กับรูปแบบการทำงานในรูปแบบเดิมๆ วิธีการเดิมๆ ที่แต่ละองค์กรคุ้นชิน หรือเป็นไปตามประเด็นที่แหล่งทุนสนับสนุน
ประการที่สาม กระแสประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับแรงงานข้ามชาติที่พบว่า งานส่วนใหญ่ที่แรงงานข้ามชาติทำอยู่ตอนนี้ได้แก่ ก่อสร้าง ประมง ประมงต่อเนื่อง การเกษตร ปลูกพืชสวน ปศุสัตว์ หรือเป็นแรงงานที่ทำงานในบ้าน ทำงานเก็บขยะ พนักงานบริการในร้านอาหาร งานในโรงงานอุตสาหกรรม แรงงานในการขนส่งสินค้า ซึ่งไม่ได้เป็นอาชีพที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอนุญาตให้เคลื่อนย้ายแรงงานได้ ซึ่งจะนำมาสู่การเลือกปฏิบัติต่อสิทธิของแรงงานข้ามชาติมากขึ้นได้

ส่วนที่ ๓ ข้อเสนอแนะ ต่อการทำงานในอนาคตมี ๓ ข้อ คือ
ข้อเสนอที่หนึ่ง :ทำอย่างไรจะพัฒนาให้เกิดแผนและกลไกขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อลดทรัพยากรและการจัดการในการดำเนินงาน รวมทั้งก่อให้เกิดการบูรณาการในพื้นที่ที่มีความทับซ้อนระหว่างประเด็นการทำงานและกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น
ข้อเสนอที่สอง :ทำอย่างไรจะเกิดการเชื่อมประเด็นการทำงานในส่วนที่แต่ละองค์กรทำอยู่ เกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพทั้งในเชิงประเด็นการทำงานและในประเด็นอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมาย
ข้อเสนอที่สาม :ทำอย่างไรจะทำให้เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศ ร่วมกันสร้างสรรค์ให้เกิดพื้นที่หรือเวทีปรึกษาหารือระหว่าง “คนไทย” และ “คนไม่ไทย” เพื่อร่วมกันออกแบบอนาคตชุมชนท้องถิ่นประเทศไทยที่มี “คนไม่ไทยอยู่ร่วมด้วย” ในฐานะ “โอกาสของการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม”

เหล่านี้คือข้อมูลความรู้พื้นฐานสำหรับการก้าวแรกของการพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วย "สุขภาวะแรงงานข้ามชาติ" ที่ได้รับจากมิตรที่จับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น
คงไม่มีคำพูดใดจะกล่าวดีกว่า "คำขอบคุณ" ที่ผมขอมอบให้กับ "ลมใต้ปีก" ที่มิตรได้หนุนเสริมให้ผมบินต่อไปได้อย่างมั่นคงครั้งนี้ และหวังว่าเราจะเป็น "ลมใต้ปีก" ซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะของประเทศไทยเราในเบื้องหน้าต่อไป
ขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับ "ลมใต้ปีก" ครั้งนี้

วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2556

อาลัยแมนเดลา

๖ ธันวาคม ๒๕๕๖
สิ้นแล้ว "เนลสัน แมนเดลา" อดีตสุดยอดผู้นำ นักสู้ ผู้ต่อต้านการเหยียดผิว แห่งแอฟริกันชน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี ๒๕๓๖
เป็นข่าวดังทั่วโลกรับอรุณของเช้าวันนี้ สร้างความตกใจและอาลัยยิ่งให้กับคนทั้งโลก

เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีที่บุรุษผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ได้ทำไว้ ผมขอนำบทเรียนอันทรงคุณค่าจากสิ่งที่ผมได้อ่านพบจากงานเขียนที่เกี่ยวเนื่องกับท่าน ซึ่งผมได้อ่านไว้เมื่อ ๒ ปีก่อน มาถ่ายทอด อันเป็นการสดุดีและแสดงความอาลัยต่อการจากไปของท่าน ณ โอกาสนี้ด้วย
ในครั้งนั้นผมได้สรุปเรื่องราวที่ได้จากการอ่านหนังสือ ชื่อ “วิถีแมนเดลา” ที่นักเขียนนาม “ริชาร์ด สเตงเกิล” ได้ไปสัมภาษณ์ "เนลสัน แมนเดลา" และถ่ายทอดออกมาให้ผู้อ่านได้นำไปใช้เป็นหลักการในการทำงานของตนไว้

เนลสัน แมนเดลา เป็นลูกชายของหัวหน้าเผ่าเทมบู ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในแอฟริกาใต้ เมื่อบิดาเขาเสียชีวิตเขาจึงทำหน้าที่หัวหน้าเผ่าแทน โดยมีลุงคอยเป็นพี่เลี้ยงอยู่ใกล้ ๆ และด้วยความที่เป็นลูกของชนชั้นนำประจำเผ่า เขาจึงได้เรียนหนังสืออย่างดีที่สุดกับครูที่เป็นมิชชั่นนารีชาวอังกฤษ
การที่ได้เรียนกับครูที่เป็นผู้ดีอังกฤษทำให้เขามีโลกทัศน์ที่แตกต่างไปจากคนในเผ่าอย่างยากที่จะกลับไปเหมือนเดิมได้อีก เมื่อโตขึ้นเขาได้เข้าศึกษาที่มหาวิยาลัยชั้นนำชื่อ “ฟอร์ตแฮร์ คอลเลจ” จนจบ ต่อมาอีกไม่นานเขาได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์กเพื่อประกอบอาชีพทนายความและศึกษาต่อทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัย “วิทวอเตอร์สแรนด์” หลังสำเร็จการศึกษาเขาก็เริ่มทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชน โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกแห่ง “สภาแห่งชาติแอฟริกัน” ในขณะที่เขามีอายุเพียง ๒๕ ปีเท่านั้น
เนลสัน แมนเดลา เป็นทั้งทนาย เป็นทั้งโฆษกขององค์กรที่เขาสังกัด เหตุเพราะเขาเป็นผู้นำโดยธรรมชาติที่มีวาทศิลป์อย่างยอดเยี่ยม

เขาได้ลิ้มรสของชีวิตหลังลูกกรงเป็นครั้งแรกในปี ๒๔๙๙ ด้วยข้อหากระทำการอันผิดกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และได้ถูกปล่อยตัวออกมาในปี ๒๕๐๓
ครั้นถึงปี ๒๕๐๕ เขาก็ถูกจับอีกเป็นครั้งที่สองด้วยข้อหายุยงให้มีการสไตรก์และเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่มีหนังสือเดินทาง ในระหว่างที่เขาติดคุกอยู่นั้น ปีถัดมาคือปี ๒๕๐๖ รัฐบาลแห่งชาติแอฟริกาใต้ได้ค้นพบเอกสารบางชิ้นที่แสดงว่าองค์กรที่เขาสังกัดอยู่นั้นมีการวางแผนเป็นกบฎต่อต้านอำนาจรัฐด้วยอาวุธสงคราม ทำให้เขาและผองเพื่อนถูกตีตรวนยาวกลายเป็นนักโทษทางการเมืองตลอดชีวิต
เขาติดคุกอย่างยาวนานถึง ๒๗ ปี จวบจนในปี ๒๕๓๓ เขาจึงได้รับอิสรภาพในขณะที่เขามีอายุล่วงมากกว่า ๗๑ ปี

ในอีก ๓ ปีต่อมา เขาได้รับการประกาศให้เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอันเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดสำหรับมนุษยชาติทั้งโลก
ลุถึงปี ๒๕๓๗ ฟ้าหลังฝนเริ่มสดใส “เนลสัน แมนเดลา” ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศแอฟริกาใต้ เขาอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงปี ๒๕๔๒ เขาลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีและอุทิศตนให้กับงานกุศาลระดับโลกจนถึงทุกวันนี้
และเช้ารุ่งของวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ เขาก็จากโลกนี้ไป ด้วยวัย ๙๖ ปี

เนื้อหาของหนังสือที่ชื่อ "วิถีแมนเดลา" ได้ถ่ายทอดให้เห็นวิธีคิดวิธีทำงานของ “เนลสัน แมนเดลา” ไว้ ๑๕ ประการ อันได้แก่
(๑) หาญกล้าใช่ว่าหวาดกลัว
(๒) จงเยือกเย็น
(๓) นำจากข้างหน้า
(๔) นำจากข้างหลัง
(๕) สวมบทบาทให้ดี
(๖) ยึดหลักการให้มั่น
(๗) พึงมองแต่แง่ดี
(๘) รู้จักศัตรูของตน
(๙) เก็บคู่แข่งไว้ใกล้ตัว
(๑๐) รู้จักปฏิเสธ
(๑๑) เกมชีวิตยาวไกล
(๑๒) ความรักที่สร้างโลก
(๑๓) รู้จักวางมือคือผู้นำเช่นกัน
(๑๔) เป็นได้ทั้งสองทาง และ
(๑๕) เสาะหาอุทยานส่วนตัว
ผมคงไม่อธิบายวิถีแต่ละข้อได้ว่าได้บอกอะไรไว้ แต่ผมคิดว่าเพียงแค่เห็นหัวข้อของแต่ละวิถีก็พอคาดเดาเรื่องราวต่าง ๆ ได้ ซึ่งแต่ละวิถีล้วนบอกนัยแห่งการเติมเต็มหลักการในการทำงานของผู้คนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

นี่แหละครับ คนดีของโลก แม้เขาจากไปเขายังได้ทิ้งผลงานไว้ให้กับแผ่นดินและให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึง
แล้วเราล่ะ ได้ทำอะไรดี ๆ ให้กับโลกใบนี้บ้างหรือยัง
สู่สุคติเถิด "เนลสัน แมนเดลา” รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของโลก