๑๐ตุลาคม ๒๕๕๖
ชัดเจนครับกับความคิดของคนอุบลราชธานีที่ต้องการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยคนอุบลราชธานีเอง ด้วยวจีเด็ด "ขอพึ่งตนเอง" ในเวทีพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำเข้าเวทีการประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัด ที่จะจัดในวันที่ ๕ - ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นี้
วันนี้ผมต้องรีบลุกจากที่นอนเมื่อเสียงนาฬิกาปลุกตอน ๐๔.๑๕ น. เพราะผมต้องรบไปขึ้นเครื่องบินตอน ๐๖.๐๕ น. เหินฟ้าไปจังหวัดอุบลราชธานี ตามคำเชิญชวนของแกนประสานสมัชชาสุขภาพของจังหวัดอุบลราชธานี
ไปทำอะไรที่นั่นหรือ
ไปช่วยแนะนำการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายตามกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดครับ
ซึ่งคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดได้เคาะออกมาแล้ว ๖ เรื่อง แต่ละเรื่องล้วนเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งนัก ไล่เรียงตั้งแต่เรื่อง เด็กและเยาวชน การจัดการน้ำ การจัดการขยะ เกษตรอินทรีย์ อุบัติเหตุและการศึกษา ซึ่งวันนี้มีผู้เข้าร่วมเวทีใน ๕ เรื่อง ยกเว้นเรื่องอุบัติเหตุเพราะได้ดำเนินการเสร็จไปแล้ว
ในแต่ละวงมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเวทีมากบ้างน้อยบ้างลดหลั่นกันลงไป ที่คึกคักเป็นพิเศษก็น่าจะเป็นวงการศึกษาที่วันนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยเป็นครูใหญ่ครูน้อย ผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหาร มรภ.ต่างเข้าร่วมวงกันพร้อมหน้าและคึกคักยิ่งนัก ขนาดบอกให้หยุดพักบ้างก็ยังไม่ยอมหยุด บรรยากาศดีจริง ๆ ครับ
ต้องบอกว่านี่แหละครับเวทีแห่งการแบ่งปัน ทุกคนต่างช่วยกันขบคิดแสดงความคิดความเห็นตามโจทย์ที่ผมตั้งขึ้น
โจทย์สำคัญ ๔ ข้อที่ผมออกแบบ คือ ประเด็นปัญหาคืออะะไร ปัญหาเหล่านั้นมีสาเหตุจากอะไร แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร และใครล่ะจะเป็นผู้ดำเนินการ
สนุกมากครับกับเวทีที่เกิดขึ้นภายในห้องประชุมของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีในช่วงประมาณ ๕ ชั่วโมงที่เราอยู่ร่วมกัน
ไม่น่าเชื่อครับที่ทั้ง ๕ เรื่อง ผู้เข้าร่วมวงต่างมีข้อสรุปตรงกันบนกรอบแนวคิดเรื่อง "ขอพึ่งตนเอง" โดยกล่าวสอดคล้องกันว่า ใครจะรู้ปัญหาดีกว่าคนในพื้นที่ จริง ๆ แล้ว บางประโยคยังมีการกล่าวพาดพิงไปถึงหน่วยงานรัฐส่วนกลางว่าอย่าไปหวังอะไรมากนัก ดังคำล้อเลียนที่เรียกเสียงฮา เช่น นโยบายบอกว่า "ประชาชนต้องมาก่อน" เลยทำให้ข้าราชการมาสายเพราะต้องรอให้ประชาชนมาก่อน หรือแม้แต่คำว่า "เที่ยงธรรม" ก็กลายมาเป็น "เที่ยงแล้วจึงทำ" เป็นต้น
ผมว่ากรอบความคิดนี้ตรงกับทิศทางการทำงานของกลุ่มคนที่ทำงานด้านการพัฒนาอย่างยิ่ง และที่สำคัญผมจำได้ว่าไปสอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีหนึ่งในเรื่อง "พื้นที่จัดการตนเอง" ที่เป็นกระแสใหญ่ในการขับเคลื่อนสังคมอยู่ในขณะนี้
ผมเดินทางกลับบ้านด้วยความสุขครับ ที่เป้าหมายที่ผมคาดหวังก่อนออกเดินทางเสร็จตามที่วางไว้ ก็ต้องรอดูผลต่อไปว่าคำแนะนำทีให้ไว้จะออกมาในรูปใด
อย่างไรก็ตามนอกจากได้ไปทำหน้าที่ตามที่เล่าบอกข้างต้นแล้ว ผมยังได้แง่คิดจากผู้เข้าเข้าร่วมอาวุโสอย่างมากมาย โดยเฉพาะกรอบแนวคิดที่ รศ.ประจักษ์ เอื้ออารีย์ ได้กล่าวไว้ก่อนจบไว้ว่า
จะปลูกพืชต้องเตรียมพื้นที่
จะพัฒนาเทคโนโลยีต้องเตรียมวิทยาศาสตร์
จะพัฒนาชาติต้องเตรียมประชาชน
จะพัฒนาคนต้องเริ่มพัฒนาจิตใจ
จะพัฒนาใครเขาต้องพัฒนาตนเองก่อน
สู่การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
น้อมนำสู่การพัฒนาการเมืองและเศรษฐกิจ
โดยมีคุณภาพชีวิตเป็นเป้าหมาย
เป็นแนวคิดที่ลึกซึ้งจริง ๆ ครับ และที่สำคัญสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานพัฒนาได้เป็นอย่างดี
นีแหละคือความท้าทายร่วมกันของนักพัฒนาชุมชนครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น