วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เปือยรุ่งโรจน์

๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๖
เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมไปมากกับการพัฒนางานภายใต้การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ ข้อตกลงร่วมที่คนเปือยได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ภายใต้การหนุนเสริมขององค์กรปกครองท้องถิ่นระดับเทศบาลตำบล และองค์กรในชุมชนอย่างถ้วนทั่ว นับเป็น "ชุมชนเข้มแข็ง" อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย หรือก้อนอิฐก้อนหนึ่งที่วางรากฐานองค์เจดีย์ให้มั่นคง
ผมได้มีโอกาสร่วมไปเรียนรู้งานการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพที่ตำบลเปือยกับ "คณะอนุกรรมการพิจารณารางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี ๒๕๕๖" ในเช้าวันนี้ จึงทำให้ได้เห็นพัฒนาการการทำงานของคนที่นั่นอย่างชัดเจน
คณะเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นด้วยช่อดอกไม้ ผ้าขาวม้า พร้อมกับการพาไปกราบไหว้ศาลปู่ตาและการชมการแสดงของชมรมผู้สูงอายุที่น่าประทับใจ
ได้รับฟังการนำธรรมนูญสุขภาพไปขับเคลื่อนที่ชัดเจน โดยการนำเสนอของนายกเทศมนตรีที่ชื่อ "รุ่งโรจน์ โฉมรักษ์" นายกหนุ่มวัย ๔๘ ที่แต่งตัวภูมิฐาน และแกนนำจากองค์กรต่าง ๆ ในตำบล ทั้ง รพ.สต. สภาวัฒนธรรม กล่มเครือข่ายแผนแม่บท ผู้แทนท้องที่ สื่อชุมชนและพระครูอุดม โพธิกิจ ที่เป็นศูนย์รวมใจของคนที่นี้
ธรรมนูญสุขภาพตำบลเปือย ภายใต้สโลแกน "เปือยรุ่งโรจน์" มีทั้งสิ้น ๔๑ ข้อ ถูกชำแหละว่าแต่ละข้อได้มีการนำไปขับเคลื่อนอะไร และเกิดผลอะไรบ้าง
งบประมาณที่เทศบาลตำบลเปือยสนับสนุนไปกว่า ๑๒ ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วกว่า ๒ ล้านบาท เป็นเครื่องยืนยันว่าได้ทำจริง
นอกจากนั้นยังชี้ให้เห็นว่ามีองค์กรภายนอกได้มาสนับสนุนการดำเนินตามธรรมนูญสุขภาพอีกมากมาย นับเป็นงบประมาณกว่า ๓๐ ล้านบาท
รางวัลที่ได้รับอย่างมากมาย อาทิ จากกรมศาสนา จากกระทรวงวัฒนธรรม จากกระทรวงสาธารณสุข จาก สปสช. จาก กอ.รมน. จากจังหวัด และอื่น ๆ อีกเพียบ
การเป็นพื้นที่ดูงานทั้งจากพื้นที่อื่น จากสถาบันวิชาการ อาทิมหาวิทยาลับมหิดล จากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ อีกนับสิบรายการ
รายงานต่าง ๆ ถูกบันทึกไว้เป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการค้นคว้าและเรียนรู้
เหล่านี้คือหลักฐานของการพัฒนาที่เกิดขึ้นที่ชัดเจนที่ผมได้เห็นแตกต่างไปจากปีที่แล้วที่ผมก็ได้มีโอกาสมาร่วมด้วย
ผลงานเหล่านี้ได้สร้างความประทับใจให้กับคณะของเรา และต่างก็กล่าวชื่นชมกันถ้วนทั่ว
แม้กระทั่งผมเองที่ได้มีโอกาสกล่าวต่อที่ประชุม ว่าเป็นรูปธรรมของการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เป็นการขับเคลื่อนที่เชื่อมโยงกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในหลายเรื่อง ทั้งเรื่อง อุบัติเหตุ ผู้สูงอายุ สุขภาวะพระสงฆ์ การลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และที่สำคัญก็คือการพัฒนา "ชุมชนเข้มแข็ง" ที่จะเป็นระเบียบวาระหนึ่งในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปลายปีนี้
ข้อเสนอที่ผมให้ไว้คือ การทบทวนธรรมนูญสุขภาพโดยการใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือเทศบาลกำลังจัดธรรมนูญสัญจรไปตามหมู่บ้านทุกหมู่
คำตอบต่อคำถามที่ผมถามว่า "หากนายกรุ่งโรจน์ไม่ได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามารับตำแหน่งต่อจะทำอย่างไร" ที่ได้รับคือ "ธรรมนูญสุขภาพเป็นของคนเปือยไม่ใช่ของนายกรุ่งโรจน" เป็นสัญญะบ่งบอกให้เห็นถึงความดำรงอยู่ของธรรมนูญสุขภาพที่ตำบลเปือยแห่งนี้
ท้ายสุด ผมได้อ่านบทกลอนที่ผมแต่งขึ้นสด ๆ ระหว่างที่นั่งอยู่ในห้องประชุม เป็นบทกลอนที่แทนความรู้สึกของผมที่ขอมอบให้กับคนตำบลเปือยทุกคน
"ขอก้มกราบคุณพ่อและคุณแม่ น่ารักแท้การต้อนรับให้สุขี
เห็นความรักความเอื้อเฟื้อสามัคคี มิตรไมตรียื่นต่อทีมของเรา
๑ ปีผ่านเห็นขบวนที่ก้าวหน้า โน้มนำพาธรรมนูญเป็นหลักเสา
คิดอยากเฮ็ดเสร็จแล้วก็ยึดเอา หล่อหลอมเข้ารวมผู้คนตุ้มโฮมกัน
นำมาขับขยับเคลื่อนออกดอกผล เปือยทุกคนได้รับผลที่สุขสันต์
พลังร่วมรวมพลังสร้างสรรงาน เชื่อมประสานความร่วมมืออย่างจริงจัง
ณ วันนี้ขอขอบคุณทุก ๆ ท่าน ที่ชวยดันธรรมนูญจนกว้างขวาง
หลายพื้นที่ตื่นตัวร่วมแนวทาง ด้วยหนึ่งพลังของคนตำบลเปือย"
เชื่อมือ เชื่อมั่นและเชื่อถือในคนตำบลเปือยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น