วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กระบวนนโยบายเมืองไทย ก้าวหน้าไปอีกขั้น

๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๖
อยากตะโกนบอกกล่าวให้ก้องฟ้า ว่ากระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะของประเทศไทยเรานี้ก้าวหน้าไปอีกขั้น และผมกล้ากล่าวดัง ๆ ว่าก้าวหน้าไปกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วซะด้วย ไม่เชื่อคุณลองอ่านเรื่องนี้ดู
วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ คสช. โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่ชื่อนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา เป็นประธานการประชุม มีเรื่องหนึ่งที่มีการนำเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบว่า ครม. ได้เห็นชอบให้มีการกำหนดมาตรการลดผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรื่องราวที่จั่วหัวซะหวือหวาขนาดนั้นล่ะ
มันเกี่ยวสิ ลองติดตามเรื่องที่ผมจะเล่าต่อไป
ผมขอย้อนหลังไปในราวเดือนมีนาคม-เมษายน ปี ๒๕๕๕ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หรือ คจ.สช. ได้แจ้งเวียนให้องค์กร หน่วยงาน เครือข่ายต่าง ๆ ในประเทศไทยเข้าร่วมเสนอประเด็นเชิงนโยบาย เพื่อจะนำมากำหนดเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนั้น
ปรากฎว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดสุรินทร์รวมตัวกันเสนอเรื่องเข้ามาที่ คจ.สช. และได้รับเลือกให้เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนเรื่องหนึ่ง เพราะเห็นว่าหากปล่อยไว้จะเกิดผลกระทบในวงกว้าง และเรื่องนี้ต้องใช้พลังจากหลายหน่วยงาน หลายองค์กรมาทำงานร่วมกัน จึงกำหนดให้มีการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานวิชาการที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องซึ่งรวมทั้งผู้ที่เสนอเรื่องนี้เข้ามาเป็นทีมทำงานนั้น
ทีมทำงานต่างช่วยกันรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์สังเคราะห์เรื่องราว และยกร่างเป็นเอกสารขึ้นมาส่งให้ คจ.สช. ไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศ แล้วนำมาปรับปรุงนำเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ครอบคลุมทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชนและเอกชน ที่กำหนดเป็น ๒๓๔ กลุ่มเครือข่ายในเดือนธันวาคม ปีนั้น จนได้มติร่วมกันออกมา เรื่องนี้ได้ถูกนำเสนอต่อ คสช. อีกครั้ง คสช.บอกว่าไปทำเวทีพูดคุยกับหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องอีกครั้งและให้ช่วยกันทำโรดแมปการขับเคลื่อนมาพร้อมด้วย
ผู้รับผิดชอบก็รับไปดำเนินการ จนได้ร่างแผนการขับเคลื่อนออกมา จึงได้นำเสนอ คสช. อีกรอบ คราวนี้ คสช. เห็นชอบให้เสนอเรื่องต่อ ครม.
ฝ่ายเลขานุการของ ครม. ทำเรื่องแจ้งเวียนไปยังกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สอบถามความเห็น ซึ่งทุกกระทรวงก็ให้ความเห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่มีประเด็นทักท้วงอยู่ ๒ ประเด็น
ทางฝ่าย ครม. จึงได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อพิจารณาหาทางออกใน ๒ ประเด็นที่เป็นข้อทักท้วง จนได้ข้อสรุปร่วมกัน
เมื่อทุกฝ่ายเห็นด้วย เรื่องก็ถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม. และ ครม. ก็มีมติเห็นชอบตามที่ตกลงกันก่อนหน้านั้น
เรื่องราวมีเพียงเท่านี้
แต่จุดที่ผมกล่าวไว้ตอนต้นว่า เรื่องนี้เป็นกระบวนการที่ก้าวหน้า มันอยู่ตรงที่ "ที่มา" ของเรื่องครับ
ชัดเจนครับเรื่องนี้ที่มาอยู่ที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของกิจการที่ตั้งอยู่ในชุมชน ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นเสียงของคนเล็กคนน้อยเท่านั้น
หากเป็นกระบวนการปกติเรื่องเหล่านี้ยากมากที่จะถูกหยิบเอามาพิจารณากันในที่ประชุม ครม.
ผมไม่เชื่อว่ากระทรวงที่เป็นผู้ดูแลกิจการที่ส่งผลกระทบนี้จะเป็นผู้เสนอเรื่องนี้เข้า ครม. เอง เพราะอาจจะไปขัดกับเป้าหมายหลักขององค์กรก็ได้
แต่เพราะว่าปัจจุบันประเทศไทยเราได้กำหนดให้มีกระบวนการที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาใช้ได้ โดยได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ที่ออกมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ เรียกเครื่องมือหรือกระบวนการนี้ว่า "สมัชชาสุขภาพ" ครับ
วันนี้เรื่องของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ผมเล่ามาข้างต้น ถือเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่า "ประเทศไทยเราก้าวหน้าในเรื่องกระบวนการนโยบายสาธารณะ" ไปมากแล้วครับ
เรามาร่วมกันใช้ "สมัชชาสุขภาพ" เครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะที่ทุกคน ทุกองค์กร ทุกหน่วยงานต่างสามารถหยิบไปใช้ได้กันเถอะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น