วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

หนองตอง :ตำบลสร้างสุขภาวะผู้สูงวัย

๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๖
เป็นอีกวันหนึ่งที่ต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง เพราะต้องเดินทางไปเชียงใหม่ เพื่อร่วมการดูงานกับคณะอนุกรรมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่เป็นกลไกภายใต้บอร์ดของ สปสช.
สายการบินนกแอร์พาคณะเราไปพบกับคณะที่เดินทางโดยสายการบินไทยที่ร้านอาหารเช้าแห่งหนึ่ง ร้านอาหารจึงคึกคึกขึ้นมาทันตาเห็น เพราะมีลูกค้ากว่า ๕๐ คน
หลังจากอาหารเช้า คณะดูงานถูกแบ่งออกเป็น ๓ คณะย่อย เพื่อดูงานใน ๓ พื้นที่ ใน ๓ ตำบลและใน ๓ อำเภอ
ผมอยู่ในคณะที่ ๓ เดินทางไปที่ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง
ภายในเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงเศษ ที่อัดแน่นไปด้วยการนำเสนอผลงาน การชมนวัตกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ การร่วมพิธีกรรมต่าง ๆ บ่งบอกถึงงานนี้ผ่านการเตรียมการมาเป็นอย่างดี สาระสำคัญที่เรามาดูงานก็คือ ผลของการทดลองใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “ค่ากลาง” ในการสร้างสุขภาวะของผู้สูงอายุของตำบลหนองตอง
โดยข้อมูลได้ชี้ว่า ที่ตำบลหนองตองมีคนที่มีอายุสูงกว่า ๖๐ ปีขึ้นไป ๑,๕๖๖ คน คิดได้ประมาณ ๑๙ % ของคนทั้งตำบลที่มีอยู่ ๘,๗๖๕ คน ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่อยู่ราว ๆ ๑๕ % ในจำนวนนี้แบ่งเป็นกลุ่มที่ยังแข็งแรง ๑,๐๗๔ คน กลุ่มที่ต้องการให้ดูแล ๓๗๐ คน และกลุ่มคนติดเตียง ๑๒๒ คน
ภายหลังจากการนำค่ากลางมาใช้ทำให้มีงบประมาณเหลือที่สามารถนำไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ประมาณ ๒๗ %
ผมคงไม่กล้ายืนยันแบบฟันธงว่า การนำเครื่องมือ “ค่ากลาง” มาใช้ที่ตำบลหนองตอง แล้วก่อให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มเติมขึ้นมากมายตามที่ได้รับฟังการนำเสนอและเห็นจากนิทรรศการที่มานำเสนอให้เห็น
เพราะจากข้อมูลงบประมาณที่ลดลง ๒๗ % นั้น เป็นงบประมาณเพียง ๓๐,๕๐๐ บาท เท่านั้น เพราะไม่เชื่อว่าเงินเพียงเท่านี้จะเกิดนวัตกรรมทางสังคมได้อย่างหลากหลายขนาดนั้น แต่เชื่อว่าสิ่งที่นำมาเสนอเกิดจากกระบวนการพัฒนางานเพื่อสร้างสุขภาวะผู้สูงอายุมาอย่างยาวนาน
แต่ท่ามกลางความไม่มั่นใจ ก็มีความมั่นใจในความคิดของผมอยู่ ๒ ประการ ประการแรก มั่นใจว่าถ้ามีการบูรณาการงานกันดีๆ ย่อมมีงบประมาณเหลือแน่นอน และประการที่สองมั่นใจว่าคนที่ตำบลหนองตองที่นี้มีความร่วมไม้ร่วมมือค่อนข้างดี เพราะเห็นจากกิจกรรมที่นำมาเสนอเป็นสิ่งยืนยัน
มีเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจในการเอาจริงของเทศบาลตำบลหนองตอง นั่นก็คือ ได้มีการตั้งศูนย์เอนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุขึ้น สนับสนุนงบประมาณและจัดทำวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือบริหารร่างกายสำหรับผู้สูงอายุต่าง ๆ มากมาย ซึ่งผมสอบถามได้ความว่าไปดูของที่ขายตามห้างตามร้านมา แล้วชวนคนในตำบลมาประดิษฐ์คิดขึ้น เพราะไม่มีงบพอที่จะซื้อมาใช้เลย น่าทึ่งไหมล่ะ
และที่สำคัญที่ศูนย์แห่งนี้ได้กำหนดให้มีอัตรากำลัง ในตำแหน่ง “นักกิจกรรมบำบัด” ๒ อัตรา มาเป็นเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษา ดูแล รักษาผู้สูงอายุที่มาใช้บริการด้วย และแม้ภายหลังจะได้รับการทักท้วงจากจังหวัดว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ก็พยายามหาทางออกทางด้านการบริหาร จนทำให้มีเจ้าหน้าที่ทำงานได้ต่อไป
นับว่าที่ตำบลหนองตองแห่งนี้ เป็นอีกตำบลหนึ่งที่น่ามาเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง หากมีโอกาสที่เหมาะสมผมคงจะขอมาวิเคราะห์เจาะลึกลง เพื่อให้เห็นรากแก่นของขบวนงานต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้คนผู้สูงอายุที่นี้มีสุขภาวะดีตามที่ผมได้ยินฟังในวันนี้อีกสักครั้ง
ในเบื้องต้น ผมขอขอบคุณคนตำบลหนองตงทุกคนที่ได้เพิ่มการเรียนรู้ให้กับผมในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุมา ณ โอกาสนี้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น