๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๖
เป็นเรื่องใกล้ตัวจริง ๆ ครับ สำหรับเรื่อง "การบริหารความเสี่ยง" ที่บางครั้งคนเรามองข้ามไป หรือไม่ค่อยให้ความสำคัญ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญที่อยู่ทั้งในการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน และในชีวิตการทำงานของทุกหน่วยงานองค์กร
วันนี้เป็นนักเรียนครับ ไปเรียนเรื่อง "การบริหารความเสี่ยง" หรือ Risk Management : RM ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งหน่วยงานยุทธศาสตร์ขององค์กรจัดขึ้น
ตอนแรกผมฟังหัวข้อแล้ว ไม่ค่อยรู้สึกอยากเรียน เพราะคิดว่าเป็นงานของเจ้าหน้าที่ทางด้านงานบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นงานการเงิน งานบัญชี งานบุคลากร งานพัสดุ ประมาณนั้น
แต่ผมคิดผิดครับ ฟังไปฟังไป เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นเรื่องใกล้ตัวมากที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตการทำงานได้ เป็นเรื่องของคนทุกคนทุกระดับจริง ๆ ไม่ว่าคุยจะเป็นผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง ผู้อำนวยการสำนัก นักวิชาการ หรือเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ระดับเล็ก ๆ ก็ตาม
ผมสรุปการเรียนรู้ในวันนี้ได้ว่า
ความเสี่ยง เป็นเรื่องของความไม่แน่นอน เป็นเรื่องของอนาคต ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของการคาดการณ์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า การบริหารความเสี่ยงจึงเป็นการจัดการเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่คาดการณ์ไว้
เมื่อเป็นเรื่องของอนาคต บางเรื่องจึงจำเป็นต้องอาศัยผู้ทรงคุณวุฒิที่สามารถคาดการณ์อนาคตมาร่วมวางแผนการแก้ไขความเสี่ยงนั้น ๆ ด้วย
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นได้ทุกด้าน ทั้งด้านกลยุทธ์ ด้านการปฏิบัติการ ด้าน การเงิน และด้าน กฎระเบียบและข้อบังคับ
ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ เป็นความเสี่ยงอันเกิดจากการที่กำหนดนโยบายและแผนกลยุทธ์ แผนดำเนินงาน และการนำไปปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม หรือไม่สอดคล้องกับปัจจัยภายในและสภาพแวดล้อมภายนอก
ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ เป็นความเสี่ยงอันเกิดจากการดำเนินงานภายในองค์กร ซึ่งเป็นผลมาจากบุคลากร กระบวนการทำงาน โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการทุจริตภายในองค์กร
ความเสี่ยงด้านการเงิน เป็นความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านการเงินต่อองค์กร
และความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและข้อบังคับ เป็นความเสี่ยงอันเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ โดยครอบคลุมถึงกฎระเบียบของทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกที่กำกับดูแลองค์กร
เกณฑ์ที่นำมาวิเคราะห์ระดับความรุนแรงของความเสี่ยง ให้มองที่ "ผลกระทบ" ที่หมายถึง หากเกิดความเสี่ยงขึ้นจะส่งผลกระทบรุนแรงมากน้อยเพียงใด และ "โอกาส" ที่หมายถึง ความเสี่ยงที่เราวิเคราะห์นั้นมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยมากน้อยเพียงใด
วิธีการวิเคราะห์ความเสี่ยงก็ใช้วิธีง่าย ๆ ด้วยการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่วิเคราะห์ได้แต่ละตัวว่า หากเกิดแล้วจะเกิดผลกระทบรุนแรงไหม แะมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยไหม ถ้าค่าตัวคูณของคะแนนผลกระทบกับโอกาสสูงมาก ความเสี่ยงตัวนั้นต้องรีบจัดการแบบเร่งด่วน
วิธีการจัดการความเสี่ยงก็อาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น ใช้วิธีการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หรือลดความเสี่ยง หรือร่วมจัดการความเสี่ยง หรือยอมรับความเสี่ยงนั้นเสียเลยก็ได้
ในปัจจุบันผมคิดว่าเกือบทุกหน่วยงานไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ ซึ่งถ้าคนไทยเราถือเรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมปฏิบัติกันอย่างเป็นวิถีชีวิตทุกคน ผมว่าประเทศไทยเราจะก้าวหน้าไปไกลกว่านี้เยอะหลายเท่า โดยเฉพาะในระบบราชการหากมีการปฏิบัติกันอย่างจริงจัง งบประมาณที่ใช้ไปจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และส่งผลต่อความสำเร็จสูงสุดตามไปด้วย
หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวันหากนำไปใช้ ก็จะเป็นคนที่ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท ชีวิตก็จะยืนยาวยิ่งขึ้นตามไปด้วย
ขอบคุณจริง ๆครับ สำหรับทีมงานยุทธศาสตร์ที่ชวนผมเข้าไปร่วมเรียนรู้ในเวทีนี้ด้วย และขอบคุณวิทยากรที่ช่วยให้ความรู้กับผมและคณะครั้งนี้
นี่แหละครับ สิบปากว่าไม่เท่าหนึ่งตาเห็นจริง ๆ ฟังชื่อแล้วอย่าเพิ่งตัดสินใจนะครับต้องเห็นด้วยตาตัวเองก่อนตัดสินใจใด ๆ ลงไป ผมขอเตือนด้วยความรักจริง ๆ ครับ เพราะอาจจะเป็นแบบที่เกิดขึ้นกับผมในเรื่องนี้ก็ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น