วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

“ค่ากลาง” เครื่องมือใหม่หวังสร้างสุขภาพระดับตำบล

๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๖
เร่เข้ามา เร่าเข้ามา เตรียมตัวทำงานภายใต้ชื่อ “ค่ากลาง” เครื่องมือใหม่สุดสด ๆ ร้อน ๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับพื้นที่ กันเถอะ
ที่ผมกล่าวเช่นนี้ก็เพราะผมเชื่อว่า อีกไม่นานคนไทยโดยเฉพาะคนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคงจะต้องรู้จักกับเครื่องมือนี้เพิ่มขึ้น และมีพื้นที่ไม่น้อยต้องเริ่มทำงานตามเครื่องมือนี้
ทำไม่ถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะในขณะนี้เป็นช่วงของการพัฒนาโครงการโดยใช้ฐานทุนที่ค้นพบจากการปฏิบัติการในพื้นที่ ๕ ตำบล และจะมีการขยายผลไปยังตำบลอื่นในวงกว้าง
ทำไมผมถึงรู้เรื่องนี้ ก็เพราะผมได้มีโอกาสเดินทางไปกับกลไกหนึ่งภายใต้บอร์ดที่ สปสช. ตั้งขึ้น อันมีชื่อว่า “อนุกรรมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” ไปดูงานและปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่
ทำไมต้องไปถึงเชียงใหม่ ก็เพราะที่นั่นคือพื้นที่ปฏิบัติการใน ๕ ตำบล อันได้แก่ตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย ตำบลดอนใต้ อำเภอสันกำแพง ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง และตำบลทุ่งสะโลก อำเภอสันป่าตอง
หลังจากที่ผมตั้งใจจับประเด็นจากการดูงาน การนำเสนอและการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ผมเข้าใจเองว่า “ค่ากลาง” คือค่าเป้าหมายที่ควรเป็นเป้าหมายร่วมกันของแต่ละพื้นที่ เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์งานที่ผ่านมาว่าอะไรคืองานสำคัญร่วมกันของแต่ละพื้นที่
เป้าหมายการกำหนดค่างานที่ต้องการเห็นจะอยู่ในระดับจังหวัด ที่นำมาจากการวิเคราะห์ “แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์” ของแต่ละตำบลในจังหวัดนั้น แล้วดูงานที่มีความถี่สูงมากำหนดเป็นค่ากลาง
เป้าหมายงานที่จะใช้คือแผนงานโครงการที่จะใช้จาก “กองทุนสุขภาพตำบล” หรือ “กองทุน สปสช. ระดับพื้นที่” ก็แล้วแต่ละเรียก
ในความคิดเห็นส่วนตัว มีประเด็นสำคัญที่ผมยังไม่มั่นใจ ๓ ประเด็น ซึ่งผมได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในเวทีไปแล้วว่า
ประเด็นแรก ห่วงว่าจะไปขัดกับหลักการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. เพราะจะเป็นการไปกำหนดกรอบการทำงานในระดับจังหวัดแล้วสั่งลงไปให้ตำบลทำ
ประเด็นที่สอง ห่วงว่าค่ากลางที่เกิดขึ้นจะไม่สอดรับหรือไม่ครอบคลุมถึงปัญหาในแต่ละตำบล
ประเด็นที่สาม ในระบบปัจจุบันงานกองทุนสุขภาพตำบลนี้ ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มคน เครือข่าย องค์กร และหน่วยงานในตำบลขอรับการสนับสนุน ตรงนี้แหละที่เกรงว่าจะไปปิดกั้นการทำงานของขบวนของกลไกต่าง ๆ เพราะต้องทำตามค่ากลาง
จากข้อเสนอทั้งหมดของผู้เข้าร่วมเวที ทาง สปสช. คงนำไปพิจารณาประกอบในการพัฒนาโครงการและเสนอต่อผู้มีอำนาจต่อไป โดยผมเชื่อว่า อีกไม่นานโครงการนี้จะต้องออกมาอย่างแน่นอน
ผมจะได้ติดตามและนำมาเสนอความก้าวหน้าให้สาธารณะได้รับทราบต่อไป (ถ้ามีโอกาส)
ก่อนจบ ผมขอปิดด้วยประโยคเด็ดที่ผู้เข้าร่วมเวทีท่านหนึ่งกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “ค่ากลางคืองานที่ใคร ๆ เขาก็ทำกัน แต่ต้องไม่ปิดกั้นงานใหม่ ๆ ที่ใคร ๆ เขาไม่ค่อยทำกันด้วย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น