๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖
เวลาผ่านไปประมาณ ๒ ปี จากวันจุดประกายความคิดจนถึงวันนี้ได้ก่อเกิด "ธรรมนูญสุขภาพตำบลหนองยาว" นวัตกรรมทางสังคมที่เชื่อมโยงผู้คนในตำบลหนองยาวให้เข้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันทำและร่วมกันได้ประโยชน์ หากคุณเป็นเช่นเดียวกับผมคุณคงต้องรู้สึกมีความสุขปิติเกิดขึ้น เพราะผมได้เป็นส่วนหนึ่งเล็ก ๆ ที่เป็นผู้ร่วมจุดประกายในวันเริ่มก้าวย่างนั้น
จากการที่ได้ยกขบวน "นักสานพลัง" ไปเรียนรู้พื้นที่ที่มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ ที่ตำบลหนองยาว อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ในวันนี้นั้น ทำให้ผมได้เห็นทั้งปรากฎการณ์และเบื้องหลังที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ไม่น้อย
วันประวัติศาสตร์เริ่มต้นเมื่อกลางปี ๒๕๕๔ ที่ได้มีการเปิดเวทีปรึกษาหารือร่วมกันที่ตำบลหนองแหน ซึ่งในวันนั้นมีผมร่วมในขบวนดังกล่าวด้วย ในวันนั้นผมจำได้ว่าเราได้คุยกันถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น และขั้นตอนที่จะดำเนินการ ในการจัดทำธรรมนูฯสุขภาพ รวม ๘ แห่ง
ตำบลหนองยาวเป็นพื้นที่ ๑ ใน ๘ ตำบลที่อยู่ในเวทีนั้นด้วย ได้รับแนวคิดมาสานต่อ ด้วย ๙ ขั้นตอน ตั้งแต่ การประกาศเจตนารมย์ร่วมกันของแกนนำคนสำคัญ การแต่งตั้งกลไกทำงาน การค้นหาศักยภาพและปัญหาของพื้นที่ การยกร่าง การจัดเวทีประชาพิจารณ์ การนำมาปรับปรุงแก้ไข การประกาศใช้ การสร้างกลไกขับเคลื่อน และการติดตามประเมินผล
เอกสารเล่มขนาดเอห้า ปกสีเขียว มีข้อความสีเขียวเข้มว่า "ธรรมนูญสุขภาพตำบลหนองยาว ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยคนตำหนองยาว เพื่อให้คนตำบลหนองยาวมีสุขภาพดีถ้วนหน้า" โดยมีข้อความสีแดงว่า "เอกสารสำคัญประจำครอบครัว ห้ามทำลาย" บ่งบอกว่าเป็นเอกสารสำคัญของคนหนองยาวจริง ๆ
เนื้อหาทั้ง ๓๓ ข้อ ถูกถ่ายทอดร่ายเรียงกันภายใต้ ๑๓ หมวด โดยมีบทเฉพาะกาลอีก ๑ หมวด ล้วนเป็นสาระที่แสดงภาพฝันที่คนหนองยาวต้องการเห็นต้องการเป็น
เมื่อถูกถามว่าข้อใดที่ยังไม่ได้ดำเนินการ คำตอบที่ได้ก็คือ ข้อ ๘ เรื่องที่กำหนดให้มีการร่วมกันสร้างตัวชี้วัดสุขภาพครัวเรือนและชุมชนในตำบล โดยยืนยันว่าจะเริ่มทำงานในเร็ววันนี้
ในช่วงประมาณ ๓ ชั่วโมงที่นักสานพลัง ๑๕ ชีวิต ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเจ้าของพื้นที่มีมาร่วมกันให้ข้อมูลเกือบ ๑๐ คน ทุกคนในพื้นที่ต่างยืนยันว่าได้ประโยชน์จากการมีธรรมนูญสุขภาพฉบับนี้อย่างยิ่ง
ผมทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการในวันนี้ เมื่อฟังแล้วผมคิดว่า ตำบลหนองยาวมาถึงวันนี้ได้ เป็นเพราะ
สิ่งสำคัญข้อแรก คือ การยอมรับในตัวของผู้อำนวยการ รพ.สต. และสามี ที่เป็นคนดีและทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้านมายาวนาน จนเชื่อมั่นว่าหากเดินตามทางตามคำแนะนำของบุคคลทั้งสองนี้แล้วย่อมก่อเกิดแต่สิ่งดี ๆ ดังตัวอย่างคำพูดที่ว่า " เขาไม่ใช่คนที่นี้ ยังอยากทำ ผมเป็นคนที่นี้จะไม่ทำได้อย่างไร"
สิ่งสำคัญข้อที่สอง คือ ความร่วมมือของแกนนำคนสำคัญในพื้นที่ นอกจากทาง รพ.สต.จะหนุนเต็มที่แล้ว ทาง อบต. ผญบ. สมาชิกสภา อบต. และเครือข่ายต่าง ๆ ก็เอาด้วย แลัเอาแบบถวายหัว
สิ่งสำคัญข้อที่สาม คือ การมีศิลปะในการทำงานของกลุ่มแกนนำ ตัวอย่างเช่น ก่อนที่จะใช้คำว่าธรรมนูญสุขภาพเพราะชาวบ้านไม่เข้าใจ จึงเริ่มด้วยคำว่า "แนวปฏิบัติ" ก่อน และเมื่อเสร็จแล้วก็อ้างว่าจะไม่เป็นสากลเหมือนพื้นที่อื่น ๆ เป็นตัวอย่างในท่ามกลางศิลปะที่แยบยลในการทำงานของทีมคทำงาน
สิ่งสำคัญที่สี่ คือ การใช้เวทีประชุมปรึกษาหารือกันอย่างเป็นประจำทุกเดือนก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน
ปัจจุบันธรรมนูญสุขภาพของคนตำบลหนองยาวได้เริ่มขึ้นแล้ว แล้วมีการนำไปขับเคลื่อนมาเป็นเวลาหนึ่ง แม้นจะยังไม่มีการประเมินความสำเร็จอย่างเป็นระบบ แต่ก็ใช้เวลาประชุมเป็นเวทีติดตามความก้าวหน้าและพิจารณาเพื่อทบทวนให้เหมาะสมอยู่เสมอ ๆ ต่างยืนยันว่าเกิดออกผลที่ดี และจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามวันเวลาที่ผันผ่านไป
ขอเป็นหนึ่งกำลังใจให้กับคนหนองยาวครับ ที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาสุขภาวะของคนที่นี้โดยใช้เครื่องมือที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ด้วยความชื่นชมอย่างยิ่ง
คำพูดหนึ่งจากปากของแกนนำคนสำคัญของตำบลหนองยาว กล่าวไว้ชัดเจนว่า "หากเราไม่ทำ แล้วลูกหลานจะอยู่กันอย่างไร"
ยังเป็นคำพูดที่ดังก้องหูผมมาจนถึงวันนี้ และผมคิดว่าจะก้องหู (และใจ)ผมตลอดไปครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น