วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เอชไอเอ : เครื่องมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๖

ในช่วง ๕ ปี มานี้ คนไทยน่าจะรู้จักกับเครื่องมือใหม่ของสังคมไทยที่ชื่อ "การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ" หรือ Health Impact Assessment ที่เรียกย่อ ๆ ว่า HIA หรือ เอชไอเอ มากขึ้น เพราะข้อมูลข่าวสารมีการนำเสนอว่าเครื่องมือนี้มีการนำไปใช้ในการทำงานขององค์กร หน่วยงานหรือพื้นที่ต่าง ๆ บ่อยและหนาหูขึ้นเป็นลำดับ

จุดกำเนิดที่เป็นทางการของเครื่องมือนี้ เกิดขึ้นจากการมีกฎหมายที่ชื่อพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วในวงวิชาการได้มีการพัฒนาเครื่องมือนี้ในประเทศไทยมาก่อนหน้านี้พอสมควร และที่เป็นรูปธรรมในเชิงโครงสร้างมีการตั้งหน่วยงานระดับกองขึ้นในกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาเครื่องนี้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ แล้ว

เหตุที่ผมหยิบเรื่องนี้มาบอกเล่าก็เนื่องมาจากในช่วงเย็นวันนี้ ผมได้มีโอกาสเข้าไปนั่งฟังคนทำงานเรื่องเอชไอเอนี้คุยกัน เป็นการคุยกันเพื่อช่วยกันออกแบบงานเอชไอเอที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) องค์กรที่ผทำงานอยู่จะทำในปีนี้

ต้องบอกตรง ๆ ว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจยากพอสมควร แต่หากค่อย ๆ ทำความเข้าใจกับเครื่องมือนี้ ผมว่าจะเห็นคุณค่าของเครื่องมือนี้อย่างแน่นอน

ผมคงไม่ขอเล่าว่าเราคุยอะไรกันบ้างในวันนี้ แต่ผมอยากบอกเล่าความรู้พื้นฐานในเรื่องนี้ ตามสติปัญญาที่ผมพอมี เพื่อแบ่งปันความรู้ให้ขยายวงให้กว้างขึ้น เพราะผมเชื่อมั่นว่าเครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยเครื่องมือหนึ่ง นำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุขของคนไทย เป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนที่แท้จริง

ถ้าผมจะตั้งคำถามสั้น ๆ ว่า คุณคิดอย่างไรที่ประเทศไทยเรากำหนดไว้ว่า หากจะทำโครงการอะไรลงไป มีการวิเคราะห์วิจัยมองผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งผลดีและผลเสียอย่างรอบด้านก่อน
ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศจะเห็นด้วยแน่นอน นี่แหละคือเรื่องมือที่ผมกำลังกล่าวถึง

ในปัจจุบันประเทศไทยเราไม่มีระบบนี้หรือ มีครับ ที่เราคุ้นหูกันดีก็คือ EIA หรือ อีไอเอ ไง เป็นเครื่องมือประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อโครงการใดโครงการหนึ่ง ถูกนำมาใช้ตามกฎหมายส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนอยู่

เมื่อมีการทำอีไอเอไป ก็พบว่ายังมีช่องว่างบางประการ เพราะเป็นการประเมินเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม อาจจะไม่ครอบคลุมมิติด้านสุขภาพที่มีความหมายรวมไปถึง "สุขภาวะ" จึงต้องมีการพัฒนาเครื่องมือเพื่อปิดจุดอ่อนนั้น เอชไอเอจึงถือกำเนิดขึ้น

ขณะนี้ได้มีการวางหลักเกณฑ์โดยใช้ฐานอำนาจจากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ในการนำเอชไอเอไปใช้ ใน ๔ รูปแบบ

รูปแบบแรก เป็นการใช้เป็นเครื่องมือตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๗ ที่กำหนดไว้ว่าเป็นโครงการหรือกิจการที่อาจเป็นอันตรายร้ายแรง ซึ่งผมทราบว่าได้กำหนดไว้ ๑๑ กิจการ ซึ่งได้มีการพัฒนาจนกลายมาเป็น EHIA ซึ่งก็หมายถึงมีการประเมินผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

รูปแบบที่สอง เป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินงานตามมาตรา ๑๑ ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่กำหนดไว้ว่า "บุคคลอาจมีการร้องขอให้มีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ" ก็หมายความว่าประชาชนอาจใช้สิทธิยื่นหนังสือขอให้มีการทำเอชไอเอ เมื่อเห็นว่าโครงการนั้นสุ่มเสี่ยงในภายภาคหน้าได้

รูปแบบที่สาม ผมขอเรียกว่าเป็นแบบสมัครใจ ที่หน่วยงานหรือองค์กรมีแผนงานจะทำโครงการหนึ่งที่อยู่นอกเหนือจากรูปแบบที่หนึ่ง อยากจะทำเอชไอเอก็สามารถดำเนินการได้

รูปแบบที่สี่ เรียกกันว่าเอชไอเอชุมชน ก็ชัดเจนครับเป็นการทำในระดับชุมชน เป็นเรื่องของการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน เช่น อบต.อยากอนุมัติให้มีโครงการหนึ่งในชุมชน ก็จัดให้มีการทำเอชไอเอชุมชนเพื่อวิเคราะห์ให้เห็นผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนที่จะเดินหน้าโครงการนั้นต่อไป

ผมนั่งฟังเขาคุยกันแล้ว เกิดความรู้สึกว่า "ประเทศไทยเรานี่ดีจังเลย" เพราะถือว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ผมคิดต่อไปว่าถ้าประเทศไทยเราถือเรื่องนี่เป็นเรื่องสำคัญและใช้เป็นเงื่อนไขเชิงวัฒนธรรมว่า หากจะทำอะไรมีการทำเอชไอเอก่อน ผมว่าประเทศไทยเราจะพัฒนาก้าวไปไกลอย่างแน่นนอน

ก็นำมาแบ่งปันกันครับ และเชิญชวนทุกองค์กร หน่วยงานและทุกพื้นที่เข้ามาร่วมกันใช้เครื่องมือที่ก้าวหน้าชิ้นนี้ร่วมกัน อย่าให้เครื่องมือเป็นเพียงของสวยหรูที่ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น