วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ฤาไทยจะเป็นจริงดั่งคำทำนาย

๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ผมเคยเขียนเรื่องนี้มาครั้งหนึ่งตอนปี ๒๕๕๓ ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในวันนั้นผมเขียนไปแบบไม่ค่อยเชื่อนัก แต่วันนี้ความคิดผมเปลี่ยนไป มีระดับความเชื่อเพิ่มสูงขึ้น เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มันช่างเป็นไปตามคำทำนายที่มีการเล่าขานและส่งต่อกันมาอย่างยาวนานมากขึ้น ๆ ฤาไทยเราจะเป็นดั่งคำทำนายนี้จริง ๆ
คำทำนายที่ผมกำลังพูดถึงนี้ ถูกประพันธ์เป็นกลอนแปด ผมจำไม่ได้ว่านำบทกลอนบทนี้มาจากแหล่งใด ก็ต้องขอโทษเจ้าของบทกลอนนี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วย
บทกลอนบทนี้ ตั้งชื่อว่า “คำทำนาย” มีเนื้อหาว่า

..................................
คำทำนายที่เคยมีช้านานนัก เริ่มประจักษ์ให้เห็นเร้นไม่ได้
ฤาษีลิงดำเคยทำนาย เมื่อถึงปลายรัชกาลผ่านเข้ามา
ประเทศชาติจะรุ่งเรืองและเฟื่องฟุ้ง น้ำมันผุดขึ้นมาจนเห็นค่า
พวกกาขาวจะบินรี้หนีเข้ามา เป็นประชาจนเต็มพระนคร
ชนทั่วโลกจะยกพระองค์ท่าน ชื่อกระฉ่อนร่อนทั่วทุกสิงขร
ออกพระนามลือชื่อดั่งทินกร องค์อมรเอกบุรุษแห่งแผ่นดิน
ชาวประชาจะปิติยิ้มสดใส แต่อกไหม้หนอนกินข้างในสิ้น
จะมีพวกกาฝากคอยกัดกิน เพื่อให้ได้สิ่งถวิลสมจินตนา
จะมีการต่อยตีกันกลางเมือง ขุนนางเขื่องกังฉินกินทั่วหล้า
คอรัปชั่นจะกัดกร่อนทั้งพารา ประดุจปลวกกินฝานั้นปะไร
ข้าราชการตงฉินถูกประนาม สามคนหามสี่คนแห่มาลากไส้
เกิดวิกฤติผิดเพี้ยนโดยทั่วไป โกลาหลหม่นไหม้ไร้ความดี
ประชาชีจะสับสนเรื่องดีชั่ว ถ้วนทุกทั่วจะหมุดขุดรูหนี
ไม่แน่ใจสิ่งที่ทำนำความดี เกรงเป็นผีตายตกไปตามกัน
พุทธศาสน์จะถูกรุกและล้ำ มิตรเคยค้ำเป็นศัตรูมุ่งอาสัญ
เกิดวิกฤติธรรมชาติอุบาทว์ครัน พายุลั่นน้ำถล่มดินทลาย
แผ่นดินแยกแตกเป็นสองปกครองยาก เกิดวิบากทุกข์เข็ญระส่ำระสาย
เกิดการปราบจลาจลชนล้มตาย เลือดเป็นสายน้ำตานองสองแผ่นดิน
ข้าเป็นนายนายเป็นข้าน่าสมเพช ผู้มีบุญมีเดชจะสูญสิ้น
ทั้งพฤฒาอาจารย์ลือระบิล จะร่วงรินดุจใบไม้ต้องสายลม
ความระทมจะถมทับนับเทวศ ดั่งดวงเนตรมืดบอดสุดขื่นขม
คนที่ดีจะก้มหน้าสุดระทม ส่วนคนชั่วหัวร่อร่าทำท่าดัง
จะมีหนึ่งนารีขี่ม้าขาว ควงคฑามุ่งสู่ดาวสร้างความหวัง
ผู้ปกครองจะเป็นหญิงพึงระวัง สายน้ำหลั่งกรากเชี่ยวหวาดเสียวใจ
ศิวิไลซ์จะบังเกิดในสยาม หลังฝนคร้ามลั่นครืนจะยืนได้
จะเข้าสู่ยุคมหาชนพาไป เปลี่ยนเมืองใหม่ศักราชแห่งประชา
คนชั่วจะถูกปราบราบคาบสิ้น แผ่นดินเดือดสูญหายไร้ปัญหา
ประเทศชาติผ่านวิกฤติด้วยศรัทธา ยามเมื่อฟ้าศรีทองผ่องอำไพ
ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
...............................

คิดอย่างไรบ้างครับเมื่อท่านอ่านจบ ผมเชื่อว่าทุกท่านคงเกิดคำถามขึ้นในใจอย่างแน่นอนว่า “ทำไมมันคล้ายกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดอยู่ในขณะนี้จัง”
แต่อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลห่วงใยบ้านเมืองที่มีอยู่ก็รู้สึกผ่อนคลายลงไปบ้าง เพราะข้อความในบทกลอนใน ๒ บทสุดท้ายนั้นได้บ่งบอกเป้าหมายที่คนไทยทุกคนต้องการ
ผมเขียนถึงตรงนี้ สมองของผมบอกว่าใกล้จะถึงเวลานัดหมายกับเพื่อนที่จะชวนกันไปศูนย์ราชการ ที่ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อร่วมกับมวลมหาประชาชนที่มาชุมนุมอยู่ที่นั่น เพื่อทำให้บทสุดท้ายของคำทำนายที่ว่า
"ยามเมื่อฟ้าศรีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน"
เป็นจริง สวัสดีครับ

ไปดูเขาทำธรรมนูญสุขภาพแบบบ้าน ๆ ที่ตำบลบ้านแก้ง

๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
"ระเบิดจากข้างใน" คือหลักการทรงงานสำคัญข้อหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสอนให้กับคนไทยเพื่อเป็นข้อเตือนใจในการทำงานด้านพัฒนาต่าง ๆ ที่หมายถึง การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต้องคำนึงถึงความพร้อม และการมีส่วนริเริ่มดำเนินการโดยประชาชนในพื้นที่ มิใช่การริเริ่มจากภายนอก เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนของตนก่อน แล้วจึงค่อยขยายการพัฒนาออกมาสู่โลกภายนอก

ผมหยิบเรื่องนี้มาเขียนก็เนื่องจากวันนี้ผมได้มาพบพื้นที่ที่ทำงานตามหลัก "ระเบิดจากข้างใน" ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด

พื้นที่ที่ผมกำลังกล่าวถึง คือ "ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว" ที่คนในตำบลกำลังรวมตัวกันจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลบ้านแก้ง” โดยใช้พลังจากคนในพื้นที่ โดยไม่ร้องขอจากหน่วยงานภายนอก

ผมเดินทางไปที่นั่นด้วยเหตุผลว่า "อยากไปเรียนรู้" ว่าเขากำลังทำอะไรกัน และทำกันอย่างไร

ภายในห้องประชุมของ อบต.บ้านแก้ง คลาคล่ำไปด้วยผู้บริหาร อบต. ผู้นำชุมชนจาก ๑๖ หมู่บ้าน ราว ๓๐ ชีวิต นั่งพูดคุยกันอย่างคึกคัก เพื่อรอเวลาที่จะมาถึง

นายไพโรจน์ เที่ยงธรรม นายก อบต. บ้านแก้ง เจ้าของบุคลิกมาดมั่น พูดจาชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำ เป็นผู้กล่าวเปิดเวทีคนแรก บอกเล่าให้คนในเวทีให้เห็นวิสัยทัศน์ของตนว่า อยากทำธรรมนูญสุขภาพตำบล เพราะอยากให้คนบ้านแก้งมีสุขภาพดี ซึ่งได้เห็นผลเชิงประจักษ์แล้ว จากบทเรียนที่บ้านคลองอาราง ที่มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพหมู่บ้าน และเห็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาวะของคนที่นั่น จึงอยากนำมาขยายให้ครอบคลุมทั้งตำบล

นายกไพโรจน์ ได้กล่าวย้ำในช่วงท้ายอย่างหนักแน่นว่า ยินดีที่จะหนุนการทำงานนี้อย่างจริงจัง

ผมทราบจากทีมงานที่ไปด้วยว่า ชาวบ้านคลองอารางเริ่มทำธรรมนูญสุขภาพของหมู่บ้านช่วงต้นปี ๒๕๕๕ มีทั้งหมด ๑๒ หมวด ว่าด้วยเรื่องคุณธรรม จริยธรรม การสร้างสังคมที่ดี การป้องกันควบคุมและจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมการจัดการระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ เป็นต้น เนื้อหาฟังง่ายไม่ซับซ้อน เช่น ข้อ ๗ ควรรักษาศีลห้าให้ได้ หรือรักษาให้ได้ ๑ - ๒ ข้อเป็นอย่างน้อย. ข้อ ๑๔ เด็ก เยาวชน ควรรักนวลสงวนตัว

ในขั้นตอนการจัดหมวดหมู่ธรรมนูญ ก็อาศัยลูกหลานในชุมชน ช่วยกันจดๆ ทุกถ้อยคำจากบนกระดานมาว่าต้องการสิ่งใดบ้าง จากนั้นคณะกรรมการหมู่บ้านและทีมงานนำมาคัดกรอง เขาต้องการแก้ไขตรงไหน หลายคนช่วยกันคิด และตั้งกติกาขึ้นมา ถามว่าหลังมีข้อตกลงร่วมกัน

ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ใหญ่พัฒนา พรมเผ่า ผู้ใหญ่บ้านคลองอาราง ได้ยืนยันกับผมว่า ได้เห็นชุมชนเปลี่ยนไปอย่างเป็นรูปธรรมหลังมีธรรมนูญสุขภาพ คือ ทุกคนมีส่วนร่วม มีอะไรหนักเบาให้อภัยกันได้ ทุกคนมีจิตวิญญาณจะช่วยเหลือสังคมไปพร้อมๆ กัน ต่อไปจะทำธรรมนูญตำบล และทำธรรมนูญจังหวัด เป็นนิมิตหมายที่ดี ทำให้ชีวิตยั่งยืนชั่วลูกหลาน

ต่อคำถามที่ว่าแล้วใครเป็นคุมกฎ คำตอบที่ผมได้รับจากผู้ใหญ่พัฒนาก็คือ ชาวบ้านทุกคนครับ เพราะมีส่วนร่วมคิด พอเลิกบุหรี่ เหล้า อบายมุข ก็ทำเศรษฐกิจพอเพียง ทำบัญชีครัวเรือน ให้มีจิตสำนึกว่าทำอย่างไรจะอยู่อย่างพอเพียง ไม่โลภ

ในโอกาสที่ผมได้ไปร่วมเวทีครั้งนี้ด้วย จึงได้บอกเล่าบทเรียนที่เห็นจากพื้นที่อื่นให้ที่ประชุมทราบว่า ธรรมนูญสุขภาพได้ก่อให้เกิดคุณค่าหลายประการ อาทิ เป็นภาพอนาคตที่คนในตำบล มาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันขับเคลื่อน โดยคนนอกไม่เกี่ยว เป็นสิ่งกำหนดการทำงานขององค์กร หน่วยงานและผู้คนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นสิ่งยึดโยงให้คนเข้ามาทำงานร่วมกัน เป็นเครื่องมือในการรวมสรรพกำลังคน เงิน (กองทุน) และอื่น ๆ และที่สำคัญก็คือเป็นเครื่องบ่งบอกว่าคนในตำบลมีความรักสามัคคีกัน

เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษ ผู้เข้าประชุมได้ช่วยกันระดมสมองพิจารณาร่างธรรมนูญฯ ที่มีการยกร่างมาก่อนหน้านี้ ซึ่งมี ๕ หมวด ประกอบด้วย หมวดการพัฒนาคน หมวดสุขภาพ หมวดเศรษฐกิจชุมชน หมวดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหมวดการบริหารจัดการ

ซึ่งผลที่ออกมา ต้องบอกว่าเป็น “กินได้” จริง ๆ เพราะใช้ถ้อยคำที่ง่าย อ่านแล้วเข้าใจทันที โดยไม่ต้องตีความ

อาหารกลางวันวันนั้น นายก อบต. เป็นเจ้ามือ โดยแกบอกว่าได้ซื้อปลาจากแม่ค้าที่มาขายหน้าตึก อบต. เมื่อสักครู่ เลยขอต้มยำมาเลี้ยงพวกเราทุกคน ซึ่งทุกคนก็อิ่มหนำสำราญกันไปถ้วนหน้า

ผมครุ่นคิดมาตลอดทางหลังจากกล่าวร่ำลาผู้ร่วมเวที ว่า นี่คือทิศทางการพัฒนาประเทศไทยอย่างแท้จริง เป็นการพัฒนาที่ฐานรากของประเทศไทย ไม่ต้องรอคำสั่งการจากส่วนกลาง เพราะคนในพื้นที่เขาก็คิดเป็น ทำเป็น

และสิ่งที่ผมอยากจะฝากไปยังสังคมวงกว้างว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้อง “ปฏิรูปประเทศไทย” ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและหนุนเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง แล้วประเทศไทยเราจะน่าอยู่ที่สุดในโลกอย่างแน่นอน

วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ท่าฬ่อ : ตำบลที่ผมเกิด

๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
เมื่อวานนี้ผมมีเหตุที่ต้องเดินทางกลับไปยังจังหวัดพิจิตร อันเป็นจังหวัดที่ผมเกิด เพราะมีการนัดหมายเพื่อน ๆ สมัยเรียนเมื่อปี ๒๕๑๙ มาพบปะสังสรรค์ประจำปีกัน จึงมีโอกาสไปกราบขอพรคุณพ่อที่มีอายุเลย ๘๖ ปี และได้พักค้างคืนที่บ้านในตำบลที่ผมเกิด ก่อนจะร่ำลาคุณพ่อและญาติพี่น้องเดินทางกลับไปทำงานที่จังหวัดนนทบุรี
คนเรามีกำพืดหรือรากเหง้ากันทุกคน จึงอยากจะแบ่งปันตำบลที่ผมเกิดนี้ให้กับทุกท่านได้รู้จักกัน
อย่างที่ผมบอกไปแต่ต้นว่าผมเป็นคนพิจิตร ซึ่งเป็นจังหวัดที่ถูกแบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์ว่าอยู่ภาคเหนือของประเทศไทย เป็นจังหวัดเล็ก ๆ มีประชากรประมาณ ๖ แสนคน ชื่อเดิมตามประวัติศาสตร์คือ “โอฆบุรี” ที่แปลว่า “เมืองใต้ท้องน้ำ” นอกจากนั้นยังมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น “สระหลวง” “เมืองชัยบวร” และ “เมืองปากยม”
ตำบลที่ผมเกิดชื่อ “ท่าฬ่อ” ซึ่งมีชื่อที่มีเสียงอ่านแปลก ๆ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองพิจิตร เป็นตำบลชายแดนติดกับตำบล “ไผ่ล้อม” เขตอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
ในสมัยเด็ก ๆ ผมมีความอยากรู้จักว่าชื่อ “ท่าฬ่อ” มีความเป็นมาอย่างไร จึงเฝ้าเวียนถามคนโน้นคนนี้ไปเรื่อย และคนที่ผมคุยเรื่องนี้บ่อยที่สุดก็คือพ่อผมเอง
พ่อบอกกับผมว่า ในสมัยก่อนจะมีการคมนาคมทางบกโดยใช้เกวียนและล้อขนถ่ายสินค้ามาถ่ายสินค้าที่นี้ เพราะที่นี้จะมีท่าน้ำของแม่น้ำน่าน โดยจะมีเรือมอญมาจอดรอสินค้าที่ขนมาทางเกวียนหรือล้อ จึงตั้งชื่อว่าตำบล "ท่าล้อ" และเรียกเพี้ยนมาเป็น "ท่าฬ่อ" ในปัจจุบัน
ผมเคยลองหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ก็พบข้อมูลประวัติความเป็นมาของชื่อ “ท่าฬ่อ” จากคำบอกเล่าของพระครูวินัยธรมานัส จนฺทสีโล เจ้าอาวาสวัดท่าฬ่อ ซึ่งก็ตรงกับคำบอกเล่าของพ่อผม แต่ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า “การตั้งถิ่นฐานของประชาชนในตำบลท่าฬ่อ ไม่มีหลักฐานระบุไว้ชัดเจนว่า มีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งเมื่อใด รู้แต่เพียงว่า มีอายุประมาณร้อยกว่าปี ตามอายุการก่อตั้งวัดท่าฬ่อ โดยพื้นที่ของตำบลในอดีต เป็นป่าทึบ มีชาวบ้านรวมตัวกันเข้ามาจับจองเป็นรุ่นๆ บุกเบิกแผ้วถางป่าเป็นที่อยู่อาศัย และเป็นที่ทำกินอยู่ริมน้ำน่าน ตามลำคลองและเป็นที่มาของชื่อตำบลท่าฬ่อ เพราะในสมัยนั้นจะใช้ล้อเลื่อนสำหรับลากไม้ หรือล้อเกวียนในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร จนเป็นชุมชนที่รวมตัวของเหล่าล้อเลื่อน ล้อเกวียนต่างๆ ที่มาจอดรอบบริเวณริมท่าน้ำเต็มไปหมด จนชาวบ้านเรียกว่า "ท่าล้อ" และผิดเพี้ยนเป็น "ท่าฬ่อ" จนถึงปัจจุบัน”
ผมพยายามนึกไปถึงสภาพความเป็นอยู่ในสมัยที่ผมเป็นเด็ก ภาพที่ค่อย ๆ ปรากฎขึ้นมาทีละภาพไล่เรียงกันปรากฎขึ้นในสมองต่อเนื่องกัน
ภาพของโรงเรียนเมธีพิทยาที่เป็นโรงเรียนที่ฟูมฟักผมตั้งแต่ชั้น ป. ๑ จนถึงชั้น ม.ศ. ๓ รวม ๑๐ ปีที่ผมใช้ชีวิตอยู่ที่นี้ และถือว่าเป็นแหล่งหล่อหลอมผมให้ผมก้าวมาถึงวันนี้ก็เพราะโรงเรียนแห่งนี้
ภาพของวัดท่าฬ่อที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ผมยังจำบรรยากาศที่ผมต้องเรียนหนังสือกับพระและสามเณรในช่วงหนึ่งของการเล่าเรียน ซึ่งทำให้ผมได้ซึมซับธรรมะไปโดยไม่รู้ตัว
ภาพของตลาดเก่า ๆ สองฝากทางรถไฟทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่
ภาพของแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านหน้าวัดท่าฬ่อ และภาพของคลองท่าฬ่อที่ไหลมาจากจังหวัดพิษณุโลกไหลผ่านหน้าบ้านผม และเป็นลำคลองที่ผมลงเล่นน้ำอย่างสนุกสนานกับเพื่อน ๆ ข้างบ้าน
ภาพของสะพานดำซึ่งเป็นสะพานที่สร้างข้ามแม่น้ำน่านเพื่อให้วางรางรถไฟ ให้รถไฟสายเหนือวิ่งรับส่งสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งผมยังจำได้ว่าผมจะรู้สึกขาสั่นทุกครั้งที่เดินข้ามสะพานดำแห่งนี้
ภาพสถานีรถไฟท่าฬ่อที่สวยงาม ที่ผมใช้เป็นประจำในช่วงที่ผมต้องเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพมหานครกับบ้านเกิด
นอกเหนือจากภาพเชิงโครงสร้างตามที่ผมกล่าวไปข้างต้น ภาพของความสนุกสนานของผมที่ได้เล่นกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ภาพของผมในชุดนักเรียนที่ต้องเดินเท้ากว่า ๑ กิโลเมตรไปโรงเรียน ภาพของผมที่ช่วยพ่อช่วยแม่ทำงานบ้าน ตักน้ำ เลี้ยงควาย ทำไร่ ทำนา ทำสวน และภาพอื่น ๆ อีกมากมาย ปรากฎคล้ายม้วนวิดีโอที่ฉายแบบต่อเนื่อง
ภาพเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกเสียดายที่ัมันจะค่อย ๆ สูญหายไปตามวันเวลาที่ผันผ่านไป จึงอดคิดไม่ได้ว่า ผมควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อบันทึกรากเหง้าเหล่านี้ไว้เพื่อการเรียนรู้ของคนรุ่นหลัง ๆ
แต่อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ผมมีความสุขอย่างมากที่ได้มีโอกาสกลับมายังพื้นเพเดิมอันเป็นบ้านเกิดที่หล่อเลี้ยงและหล่อหลอมผมมาในช่วงวัยเด็ก
และที่สำคัญสิ่งที่ดีใจที่สุดคงหนีไม่พ้น การได้มากราบขอพรจากคุณพ่อและเห็นพ่อในวัย ๘๖ ขวบปีเศษยังมีสุขภาพที่แข็งแรง อารมณ์ร่าเริง
ผมจึงขอขอบคุณ "ท่าฬ่อ" ตำบลที่ผมเกิดอีกคำรบหนึ่ง

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี : คุณทำได้

๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
จากความพยายามยกระดับกระบวนการ "สมัชชาสุขภาพ" ตามคำท้าทาย วันนี้จังหวัดอุบลราชธานีได้ร่วมกันสรรค์สร้างจนเกิดเวที "สมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี ครั้งที่ ๑" ที่ยิ่งใหญ่ มีผู้เข้าร่วมกว่าพันคน ร่วมกันใพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่ "อุบลราชธานี จัดการตนเองสู่สังคมสุขภาวะ" ได้สำเร็จ ซึ่งผมขอยืนยันว่า "เขาทำได้" จริง ๆ
ผมเฝ้าติดตามและเป็นกำลังใจกับทีมงานของจังหวัดอุบลราชธานีมาหลายปี ได้เห็นพัฒนาการของกระบวนการ "สมัชชาสุภาพ" ของจังหวัดนี้ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓
เป้าหมายจากเริ่มต้นคือการเข้ามาส่วนร่วมขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดกฎหมายว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในที่สุดก็สำเร็จในปี ๒๕๕๐
เป้าหมายต่อมาคือการนำ "สมัชชาสุขภาพ" มาใช้แก้ไขปัญหาในพื้นที่ระดับชุมชน หมู่บ้าน จนมีรูปธรรมความสำเร็จ
จากความพยายามตลอดสิบกว่าปีนี้ จังหวัดอุบลราชธานีจึงเป็น ๑ ใน ๓ จังหวัดที่ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัล "สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ" ประจำปี ๒๕๕๖
คำท้าทายที่เราเสนอไปคือ การยกระดับ "สมัชชาสุขภาพ" ให้เป็นกระบวนการระดับจังหวัด เป็นเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของคนอุบลราชธานีอย่างแท้จริง
และในวันนี้คำท้าทายนั้นก็เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น เมื่อผมได้มาเห็นเวทีการประชุม "สมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี ครั้งที่ ๑" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๒ ธันวาคม ณ หอการประชุมของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ยิ่งใหญ่ มีผู้เข้าร่วมกว่า ๑,๐๐๐ คน และมีประเด็นเชิงนโยบายที่ร่วมกันพิจารณา รวม ๔ เรื่อง อันได้แก่ (๑) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยชุมชนร่วมคิดร่วมทำร่วมจัดการการศึกษา (๒) อุบล...ราชธานีแห่งเกษตรอินทรีย์ (๓) ชุมชนเข้มแข็ง ครอบครัวเข้มแข็ง และ (๔) การจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
กลไกที่อยู่เบื้องหลังและได้ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยและมุ่งมั่น นั่นก็คือ "คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาะจังหวัดอุบลรชธานี" หรือ "คจ.สจ." ที่มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธานกรรมการ และได้เชื้อเชิญนักวิชาการ และผู้แทนจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา และเครือข่ายประชาสังคม เข้ามาร่วมทำงานกัน
ที่มาของประเด็นเชิงนโยบายปรับให้มาจากข้อเสนอที่องค์กร หน่วยงานและเครือข่ายในจังหวัดเสนอขึ้นมามากกว่า ๑๐ ประเด็น
มีการตั้งทีมวิชาการที่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องครบทั้ง ๔ เรื่อง
มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาก่อน
ผู้เข้าประชุมก็มาจากการตัวแทนองค์กร หน่วยงานและภาคีเครือข่ายทั้ง ๓ ภาคส่วน อันประกอบด้วย หน่วยงานรัฐ สถาบันด้านวิชาการ และเครือข่ายจากทุกอำเภอ
กระบวนการในวันประชุมก็เริ่มตั้งแต่การรับรองระเบียบวาระ การแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อพิจารณาหาฉันทามติ และการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน
คำประกาศเจตนารมณ์ร่วมของสมาชิกสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลรชธานี ได้สกัดมาจากมติที่สำคัญทั้ง ๔ เรื่อง ได้บ่งบอกแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ในช่วง ๑ ทศวรรษข้างหน้า ว่า "อุบลราชธานี จัดการตนเองสู่สังคมสุขภาวะ” โดยมียุทธศาสตร์หลักคือ
การมุ่งสู่ “เมืองแห่งการเรียนรู้” โดยร่วมกันสร้าง “ธรรมนูญการศึกษา” เพื่อ “คืนการศึกษาให้กับชุมชน คืนคนให้กับท้องถิ่น” ใช้สมัชชาการศึกษาภาคพลเมือง เป็นกลไกในการขับเคลื่อน ระดมสรรพกำลังให้เข้ามาร่วมคิดร่วมจัด ร่วมพัฒนาการศึกษา
การมุ่งสู่ “เมืองชุมชนเข้มแข็ง ครอบครัวเข้มแข็ง” โดยร่วมมือกันสร้างแผนพัฒนาระดับจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว สภาเด็กและเยาวชน และเครือข่าย ภายใต้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การมุ่งสู่ “ราชธานีแห่งเกษตรอินทรีย์” โดยมี “คณะกรรมการศูนย์เกษตรอินทรีย์” เป็นแกนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ เน้นขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ สร้างสำนึกเศรษฐกิจพอเพียงต่อเกษตรกรและผู้บริโภคชาวอุบลราชธานีอย่างต่อเนื่อง
การมุ่งสู่ “เมืองปลอดขยะ” โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกหลักในการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อน เร่งรัดให้มี “ธนาคารขยะ” ให้ครอบคลุมทุกชุมชน
นี้คือสิ่งที่ปรากฎต่อสายตาของผู้เข้าร่วมเวทีที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ นับเป็นปรากฎการณ์ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและอดทนของคนทำงานที่อยู่เบื้องหลังงานครั้งนี้
อย่างไรก็ตามเมื่อคำท้าทายในเรื่องหนึ่งสำเร็จลงแล้ว การนำมติสมัชชาสุขภาพจังหวัดครั้งนี้ไปขับเคลื่อนให้เกิดผล ก็กลายเป็นคำท้าทายใหม่ต่อทีมทำงานต่อไป
ดังสุภาษิตในวงการนโยบายว่า "การสร้างนโยบายที่ดีนั้นยาก แต่การนำนโยบายนั้นไปสู่การปฏิบัตินั้นยากกว่า" ฉันใดก็ฉันน้้น
ผมขอเป็นกำลังใจให้กับกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานีอีกคำรบหนึ่ง และผมเชื่อมั่นว่า "คุณทำได้" ครับ

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ความลับที่น่าเปิดเผย

๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
รัฐบาลมีความรู้สึกไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาในวันนี้ เพราะเชื่อว่าในแวดวงตุลาการสามารถมีใบสั่งได้”
พลันที่ผมได้ยินประโยคนี้ แทบจะอยากลุกเดินไปจากออกจากห้องทันที แต่นั้นเองผมเป็นเพียงคนตัวเล็กๆที่ได้มีโอกาสติดตามผู้ใหญ่มา ณ ที่นี่ แต่บุคคลที่นั่งหัวโต๊ะการประชุมวันนี้ เป็นถึงผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของคณะรัฐบาลชุดนี้ซึ่งเข้าใจเรื่องกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างดี
ผมคาดไม่ถึงจริง ๆ ที่คำพูดเช่นนั้นจะออกมาจากปากของเขา เพราะบ่งบอกถึงฐานคิดของผู้พูด และมีผลส่งต่อการตัดสินใจดำเนินการใด ๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นติดตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง เพราะในเมื่อรัฐบาลชุดนี้ไม่เชื่อมั่นในเสาหลักหนึ่งในสามเสาเสียเลย นี้จึงเป็นทัศนคติที่บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติมิใช่น้อย.....
ภาพภายในห้องประชุมรับรองภายในตึกบัญชาการของผู้บริหารประเทศนี้ มีวงปรึกษาหารือเล็ก ๆ ราว ๑๐ คน เกี่ยวกับเรื่องของบ้านเมือง ภายหลังที่มีการอ่านคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญต่อการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของวุฒิสภาไปเมื่อช่วงบ่ายนั้นเอง รวมถึงการร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ที่มีการชุมนุมของประชาชนนับแสนคนอย่างต่อเนื่องมานานกว่า ๒๐ วัน

เขา : รัฐบาลเชื่อมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยว่าดีกว่าระบอบอื่น เพราะเปิดกว้างต่อการตรวจสอบของภาคส่วนอื่นทั้งในและนอกรัฐสภา เป็นระบอบที่มีเสรีภาพที่ดีกว่า
ผม : (คิดในใจ) ผมเห็นด้วยเรื่องการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยว่าดีกว่าระบอบอื่น แต่ผมไม่ค่อยเชื่อว่า รัฐบาลชุดนี้ได้ยึดหลักการนี้จริงหรือไม่ เพราะปรากฏการณ์การใช้เสียงส่วนมากผ่านวาระ ๓ ของกฎหมายนิรโทษกรรมไปเมื่อตอนตีสี่ครึ่งของเช้ารุ่งของวันที่ ๑ พฤศจิกายน ไปนั้น ทำให้ผมเกิดความไม่แน่ใจ

เขา : รัฐบาลเห็นว่าในรัฐธรรมนูญได้สร้างเครื่องมือหรือช่องทาง ๆ ไว้พร้อมทุกอย่าง ทั้งการลาออก การยุบสภา การอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ผม : (คิดในใจ) ผมก็เห็นด้วย แต่ไม่ค่อยเชื่อว่า รัฐบาลชุดนี้จะมีความรู้สึกไวในการหยิบเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้ เพราะยังไม่เคยได้ยินรัฐบาลออกมาพูดต่อสาธารณะว่า จะนำข้อเสนอของผู้มาชุมนุมกว่า ๒๐ วัน ไปพิจารณา มิหนำซ้ำยังมีเสียงดูถูกดูแคลนว่าเป็นการกระทำจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม

เขา: รัฐบาลได้วิเคราะห์ว่าการที่มีประชาชนมาร่วมชุมนุมอยู่ในขณะนี้มีเป้าหมายแตกต่างกัน บางกลุ่มมีเป้าหมายเพื่อให้หยุดการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ในขณะที่ยังมีอีกบางกลุ่มมีเป้าหมายที่การล้มล้างรัฐบาล
ผม : (คิดในใจ) รัฐบาลชุดนี้ประเมินผลต่ำไปมาก เพราะไม่เคยมองเลยว่าการที่มีประชาชนหลากหลายอาชีพ หลายวัย และหลายสถาบัน มาชุมนุมนับแสนนั้น เขาต้องการแสดงออกให้รัฐบาลเห็นว่าประชาชนต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรที่มากกว่าเหตุผลที่ฝ่ายรัฐบาลคิดหรือเปล่า

เขา : รัฐบาลมีความเป็นห่วงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ จะนำไปสู่เหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์
ผม : (คิดในใจ) ผมแอบนึกตำหนิผู้พูดหนักเข้าไปอีก เพราะหากคิดแบบนั้นรัฐบาลต้องทำอะไรบ้างเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เป็นไปตามที่ตนเองคิด แต่ตรงกันข้ามรัฐบาลกระทำคล้าย ๆ กับการราดน้ำมันลงในกองไฟมากกว่า

เขา : รัฐบาลมีความรู้สึกไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาในวันนี้ เพราะเชื่อว่าในแวดวงตุลาการสามารถมีใบสั่งได้
ผม : (คิดในใจ) ผมแทบจะลุกออกจากห้องทันที เพราะรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่เชื่อมั่นในเสาหลักหนึ่งในสามเสาเสียเลย ซึ่งเป็นทัศนคติที่บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติเราทีเดียว

ผ่านไปกว่าชั่วโมง ผมเดินตามหลังคณะออกจากห้องประชุม ระหว่างนั้นใจก็อดห่วงต่อท่าทีหรือฐานคิดของผู้บริหารท่านนี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นฐานคิดที่มองคนอื่น องค์กรอื่น สถาบันอื่น ไปในทางลบทั้งหมด โดยไม่เคยมองว่าภายในตัวรัฐบาลเองมีจุดอ่อนอะไร และหาทางแก้ไขจุดอ่อนนั้น
เรา” พยายามเสนอให้รัฐบาลเร่งปรับทิศทางสู่ “สร้างความไว้วางใจ” เพื่อเรียกศรัทธาคืนมา โดยนำกระบวนการ “พูดคุยแบบพหุภาคี” มาใช้ แต่ผมแทบไม่ได้ยินคำตอบรับอย่างหนักแน่นจากผู้บริหารรายนี้เลย
ระหว่างย่างก้าวกลับออกมา เสียงก้องในใจบอกผมชัดเจนว่า น่ากลัวจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์จริง ๆ ครับ และหากเกิดสิ่งนั้นขึ้นมาจริง ๆ ผมว่ารัฐบาลนั่นแหละคือต้นเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้

นโยบายส่งเสริมการเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
แม้นจะมีข้อมูลยืนยันตรงกันว่า "มติคณะรัฐมนตรีหลายเรื่อง" ไม่มีความคืบหน้าในการขับเคลื่อนหรือ "ไม่มีผลในทางปฏิบัติ" ตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ จนมีผู้บริหารหลายท่านเตือนผมว่าอย่าคาดหวังอะไรมากนักกับการผลักดันเรื่องเข้า ครม.ก็ตาม แต่ความรู้สึกของผมเห็นว่า อย่างน้อยการมีมติ ครม. คือการยอมรับของฝ่ายบริหารต่อเรื่องนั้น ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ง่ายขึ้น
ฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ ผมจึงรู้สึกดีใจและมีความสุขที่การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖) รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความเห็นชอบต่องานที่ผมมีส่วนร่วมในการผลักดันคนหนึ่ง
เรื่องที่ผมกำลังกล่าวถึงคือ "นโยบายว่าด้วยการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน" ซึ่งเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ "สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ" อันเป็นเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
ระยะเวลาเกือบ ๒ ปี ที่ใช้ไป จนวันนี้รัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายสาธารณะของสังคม จึงเป็นห้วงเวลาอันมีค่ายิ่ง เป็นห้วงเวลาที่คนทำงานได้ลงทุนลงแรงอันแสนเหนื่อยเหน็ด จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของการทำงานตามช่องทางใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแห่งนี้
เราค่อย ๆ มาลำดับเหตุการณ์กันครับ
จุดเริ่มต้น เมื่อ "ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งปรพเทศไทย" ได้เสนอเรื่องต่อ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ หรือ คจ.สช. ซึ่งในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ คจ.สช.ได้มีประกาศกำหนด ๑๑ ประเด็นเชิงนโยบาย เป็นร่างระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ ซึ่งมีเรื่อง "การเดินและการใช้จักรยาน" เป็น ๑ ใน ๑๑
เพื่อให้มีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ในเดือน มิถุนายน ๒๕๕๕ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานวิชาการพัฒนาร่างข้อเสนอเสนอเชิงรนโยบาย โดยมี ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ เป็นประธาน มีผู้แทนจาก ๓ ภาคส่วนร่วมเป็นคณะทำงาน เป็นกลไกในการยกร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย
ในระหว่างวันที่ ๑ กันยายน - ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๕ มีการจัดเวทีรับฟังความคิอดเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยการจัดเวทีทั้งระดับชาติและเวทีภูมิภาค เพื่อให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
วันที่ ๑๘ - ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ นำร่างข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ศูนย์การประชุมไบเทคบางนา โดยมี ๒๓๔ กลุ่มเครือข่าย จาก ๓ ภาคส่วน (ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน)ร่วมพิจารณา และได้มีฉันทามติต่อข้อเสนอเชิงนโยบายรี้ร่วมกันในที่สุด
วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๖ ได้นำเสนอเรืองต่อที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่ง คสช. รับทราบและมอบหมายให้คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) นำไปพิจารณากำหนดแนวทางการขับเคลื่อนมติ
เพื่อให้เป็นไปตามมติของ สช. ในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๖ คมส. ได้จัดประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายภาคีต่าง ๆ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้
วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ มีการนำเสนอเรื่องนี้เสนอต่อ คสช. อีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง คสช. ได้พิจารณาเห็นชอบให้นำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี
แ และในที่สุด คือวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมตินี้
หากนับระยะเวลาทั้งสิ้นที่ใช้ไปต่อการพัฒนานโยบายสาธารณะจากจุดเริ่มต้นเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๕ จนถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖ ก็ใช้เวลาไปทั้งสิ้น ๑๘ เดือน ซึ่งนับว่าใช้เวลาค่อนข้างมาก ทังนี้ก็เพราะการดำเนินการที่ยึดหลักการ "การมีส่วนร่วม" เป็นกรอบในการทำงานที่สำคัญ
ที่นี้เราลองมาดูสิว่าสาระสำคัญของนโยบายในเรื่องนี้มีอะไรบ้าง ซึ่งพอสรุปได้ว่า
ต้องการให้มีการทำแผนยุทธศาสตร์เป็นแผนแบบบูรณาการและดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
มีข้อเสนอในเชิงมาตรการที่หลายหลาย อาทิ
เสนอให้มีการเชื่อมต่อเส้นทางการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะ
การให้ความรู้ต่อผู้เดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน
การปรับปรุงกฎกระทรวงตาม พรบ.ควบคุมอาคาร ให้มีการจัดที่จอดจักรยานที่สะดวก ปลอดภัย และเพียงพอ
กำหนดให้ทุกจังหวัดและ อปท. ทุกแห่งมีการสนับสนุนนโยบายนี้ให้เป็นรูปธรรม
ส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง
รณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้การเดินและจักรยานในการเดินทาง
ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยใช้จักรยาน
กำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายนี้
พัฒนาองค์ความรู้ และถอดบทเรียนพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาเผยแพร่ตามช่องทางต่าง ๆ
เหล่านี้คือสาระสำคัญที่จะไปหนุนเสริมให้มีการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม อย่างที่ผมเกริ่นไว้แต่ต้นว่า การมีมติ ครม. ไม่ใช้เครื่องรับประกันว่านโยบายนั้นจะสำเร็จ ยังมีความท้าทายต่อทุกภาคส่วนที่ต้องหันมาร่วมมือกันทำงานอย่างแข็งขัน
ดังสุภาษิตในวงการนโยบายสาธารณะกล่าวไว้นานแล้วว่า "การได้มาซึ่งนโยบายนั้นแสนยาก แต่การนำนโยบายนั้นไปปฏิบัติให้เกิดผลนั้นยากกว่า"
ผมจึงขอเชิญชวนสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ได้มาให้ฉันทามติร่วมกันในวันนั้น นำสิ่งที่ท่านได้เห็นชอบไว้ไปปฏิบัติให้เกิดผลในองค์กร หน่วยงาน และพื้นที่ของท่าน แล้ววันนั้นความเชื่อต่อมติ ครม. ที่ไม่มีน้ำยาก็จะหมดไปครับ

วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

คนพิจิตรคัดค้านโครงการ ๓.๕ แสนล้านบาท

๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
จะทิ้งไปก็เสียดาย เลยขอบันทึกและนำเสนอต่อสาธารณะเพื่อให้รู้ว่า คนพิจิตรเขามีความคิดความเห็นต่อแผนแม่บทการจัดการน้ำแบบบูรณาการ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า "โครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้านบาท" ที่ผมมีโอกาสไปร่วมเวทีที่รัฐบาลเขาจัดขึ้นที่สนามกีฬาจังหวัดพิจิตร เมื่อวานนี้ (วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖)อย่างไร
ข้อมูลที่ผมนำเสนอนี้สกัดในสารพสำคัญจากผู้นำเสนอในช่วงก่อนพักเที่ยง ก่อนจะแยกย้ายกันไปรับประทานอาหารกลางวัน โดยผมขออนุญาติสงวนนามผู้เสนอความคิดเห็นไว้ ลองอ่านดูนะครับ
คนที่หนึ่ง :มีความเป็นห่วงต่อโครงการขุดลอกแม่น้ำสายพิจิตรสายเก่า โดยเฉพาะกับชาวบ้านที่ตั้งรกรากในเขตพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ รัฐจะช่วยเหลือเขาอย่างไร จะให้เขาไปอยู่ที่ใด ต้องอย่าลืมว่าเขาอยู่ที่นั่นมาหลายสิบปีนะ
คนที่สอง : ในเขตพื้นที่ที่อยู่นี้เป็นพื้นที่รับน้ำอยู่แล้ว จึงปรับวิถีชีวิตได้ ฉะนั้นหากจะมีโครงการอะไรลงมา ต้องลงไปถามความคิดเห็นคนในพื้นที่เสียก่อน อีกเรื่องหนึ่งก็คือ โครงการน้ำนี้รัฐมุ่งเน้นแต่จะแก้ปัญหาของคนภาคกลางและกรุงเทพฯ จึงไม่ใส่ใจกับคนที่อยู่ด้านบนเลย คนพิจิตรก็มีชีวิตนะ
คนที่สาม : ในภาพรวมเห็นด้วยกับโครงการ แต่ไม่เห็นด้วยในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน การนำเสนอก็รวบรัดตามไม่ทัน ควรมีการลงมารับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ระดับตำบลอีกครั้ง และที่สำคัญโครงการใหม่มาโครงการเก่า ๆ ที่ลงทุนไปมากมายจะเป็นอย่างไร ขอเรียกร้องให้ข้าราชการที่มาทำงานนี้คำนึงถึงหัวอกของคนพิจิตรด้วย
คนที่สี่ : ในปัจจุบันพิจิตรเป็นพื้นที่น้ำท่วมประจำอยู่แล้ว หากนำโครงการแก้มลิงลงมา จะท่วมนานขึ้นใช่ไหม เดิมทำนาได้ปีละ ๒ ครั้ง ถ้ามีโครงการนี้มาลงจะทำนาได้ปีละกี่ครั้ง
คนที่ห้า : ผมขอคัดค้านอย่างเต็มที่ โครงการนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะมาแก้ปัญหา หรือมาเพิ่มปัญหา
คนที่หก : ปัจจับันชาวนาเป็นหนี้สินอยู่กับ ธกส. จากการทำนาปังนาปี หากโครงการนี้มาลงพื้นที่ที่ถูกทำแก้มลิงเป็นเสมือนการทับถมหนี้สินของชาวนาให้เพิ่มขึ้น ขอเรียกร้องให้คนพิจิตรคิดให้ดี หากอยากเป็นลิงอยู่บนต้นไม้ก็เลือกโครงการนี้
คนที่เจ็ด : สภาพพื้นที่ของพิจิตรจะมีห้วย หนอง คลอง บึง เยอะแยะ กระจายเต็มพื้นที่ หากโครงการนี้มาลงสิ่งเหล่านี้จะเหลือไหม และที่สำคัญคนที่นี้ไม่กลัวน้ำท่วม หากท่วมเราก็หาผักหาปลากินได้ เราอยู่ขอเราได้
คนที่แปด : ในเอกสารไม่มีรายละเอียดเลย เราไม่มั่นใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ถิ่นที่อยู่และสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนไปอย่างไร ที่สำคัญไม่มีข้อมูลเรื่องการเวนคืนที่ดิน การชดเชยต่าง ๆ เราไม่รู้ว่าจะคุ้มไหม
คนที่เก้า : โครงการนี้ไม่ตรงประเด็น เพราะประเด็นน่าจะเป็นการบริหารนำทั้งระบบ ไม่ใช้แค่เพื่อป้องกันน้ำท่วมอย่างเดียว ในการจัดเวทีควรเชิญปราชญ์ชาวบ้านที่รู้และเข้าใจเรื่องน้ำมาประชุม ไม่ใช่ใครก็ได้ เวลาที่ให้พูดก็น้อยมากแค่ ๕ นาที รัฐควรกลับไปทบทวนแนวคิด ต้องลงไปในพื้นที่แต่ละหมู่บ้าน คนเข้าประชุมต้องเป็นคนรู้เรื่อง เสียดายงบประมาณ อยากให้มีการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพ
คนที่สิบ : ทำกันเร่งด่วนเกินไป เราไม่มีข้อมูล พยายามหาทางอินเตอร์เน็ตก็ไม่มี การเสนอข้อมูลก็เป็นฝ่ายบริษัท ชาวบ้านพูดได้น้อย ที่สำคัญน้ำเกาหลีกับน้ำประเทศไทยมันคนละเรื่องกัน งานนี้เสมือนย้ายปัญหาจากภาคกลางมาที่พิจิตร
คนที่สิบเอ็ด : ประเทศไทยอยู่ที่ไหน คำตอบก็คือกรุงเทพฯ อะไรก็เพื่อกรุงเทพ ขอให้เห็นใจคนพิจิตรบ้าง โครงการไม่จำเป็นต้องใหญ่ อาจขุดลอกบึง หนองน้ำที่เป็นที่สาธารณะประโยชน์ก็เพียงพอ
คนที่สิบสอง : อย่ามองแค่เพียงโครงสร้างทางวิศวกรรม ควรคำนึงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนพิจิตรด้วย ที่ผ่านมาเรามีการถอดบทเรียนไว้ควรชวนเขามาคุย เราต้องการให้ "คนพิจิตรจัดการตนเอง" เราไม่ต้องการคนเกาหลีมาออกแบบ ผมจบปริญญาโทยังตามการนำเสนอไม่ทัน อย่ารวบรัด อาจจัดที่ละอำเภอ เชิญแกนนำที่เข้าใจมาคุยกัน
คนที่สิบสาม : ผมพยายามทำความเข้าใจต่อเนื้อหา แต่ต้องบอกว่าไม่เข้าใจ ผลกระทบที่เสนอก็ไม่ชัดเจน ผมขอคัดค้านเต็มที่
คนที่สิบสี่ : ผมยังไม่ตัดสินใจเพราะข้อมูลไม่ครบ สงสัยว่ายังไม่มีรายละเอียดโครงการแต่ได้ผู้รับจ้างแล้ว สงสัยจริง ๆ
คนที่สิบห้า : ผมขอเรียกร้องให้ชาวพิจิตรคัดคานโครงการนี้ และเสนอให้นำโครงการนี้กลับมาจัดในพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง และหากมีโครงการลงมาอยากให้จัดสรรงบประมาณลงมาที่ อบจ. มอบหมายให้ อบจ. บริหารจัดการเอง คนพิจิตรเราทำได้
ผมขอสรุปแบบฟันธงเลยว่า "คนพิจิตรคัดค้านต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้าน" แบบเป็นเอกฉันท์ ด้วยสาเหตุที่มาจาก ขาดข้อมูลที่ชัดเจน การคัดเลือกผู้เข้าร่วมเวที ขากกระบวนการที่เปิดให้แสดงความคิดเห็นที่ดี"
พอมาถึงตรงนี้ ทำให้ผมคิดถึงองค์ประกอบของการจัดเวทีที่ดี ๓ ประการ อันได้แก่ สาระ กระบวนการ และบรรยากาศ ทั้งสามประการนี้จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปไม่ได้
แล้วอย่างนี้จะทำอะไรต่อดีล่ะ รัฐบาลเอ๋ย

วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ตามไปดูเวที่รับฟังความเห็นแผนแม่บทจัดการน้ำที่พิจิตร

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

อาจเป็นเพราะผมเกิดที่นี้ ฉะนั้นเมื่อได้ทราบว่ารัฐบาลกำหนดวันจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อแผนแม่บทการจัดการน้ำแบบบูรณาการ หรือโครงการ ๓.๕ แสนล้านบาท ที่จังหวัดพิจิตร ผมจึงตั้งใจเดินทางมาร่วมเวทีนี้ อยากจะรับรู้ว่าคนพิจิตรเขาคิดอย่างไรต่อโครงการมหาโปรเจ็กซ์นี้ ซึ่งบทสรุปที่ได้เห็นได้ยิน ต้องบอกตรง ๆ ว่า "คาดไม่ถึง" ครับ

ผมออกเดินทางจากบ้านพักที่นครสวรรค์ตั้งแต่เช้าตรู่ ขับรถยนต์คู่ใจมุ่งหน้าสู่จังหวัดพิจิตร เป้าหมายก็คือ "สนามกีฬาจังหวัดพิจิตร" สถานที่นัดหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ ซึ่งผมไปถึงในเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น.

หลังจากหาที่จอดรถยนต์เป็นเรียบร้อย จึงเดินเข้าไปในบริเวณจัดประชุม มองไปเห็นผู้คนคราคร่ำเต็มไปหมด ทุกคนกำลังเข้าแถวลงทะเบียนตามเต้นท์ที่จำแนกรายอำเภอไว้ โดยมีเสียงประกาศชี้แจงให้ผู้มาร่วมเวทีปฏิบัติตัวถูกทั้งคนที่เชิญมา คนที่ลงทะเบียนทางออนไลน์ และผู้สังเกตการณ์ หรือ กลุ่ม Walk in ถัดจากโต๊ะลงทะเบียนก็จะเป็นเต้นท์แสดงนิทรรศการแนะนำโครงการ แต่มองเข้าไปก็ไม่ค่อยมีใครเข้าไปดู ผมเลี่ยงเข้าไปดูแล้วขอเอกสารติดมือมา หนึ่งชุด

ผมถูกจัดอยู่ในกลุ่ม walk in ซึ่งต้องไปลงทะเบียน แต่ผมมองดู ปรากฎว่ามีคนต่อคิวรอยาวเหยียด เลยคุยกับเจ้าหน้าที่เพื่อขอเข้าไปฟัง ก็ได้รับคำตอบว่าให้ไปลงทะบียนก่อน แต่ด้วยความขี้เกียจเลยต้องใช้แนะนำตัวว่ามาจากสำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมควักบัตรประจำตัวให้ดูจึงได้เข้าไปสู่ห้องประชุม

ภายในห้องประชุมซึ่งดัดแปลงมาจากโรงยิมเนเซียมสำหรับเล่นกีฬาในร่ม มองไปที่ด้านหน้ามีโต๊ะและเก้าอี้ของวิทยากรวางไว้บนพื้นยกสูง ด้านล่างเต็มไปด้วยเก้าอี้พลาสติกสีน้ำเงิน ซึ่งทราบภายหลังว่า จัดไว้ ๑,๖๐๐ ตัว มองไปมีผู้คนเข้ามาจับจองกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะด้านหลังคนจะแน่น แต่แถวหน้าจะว่างโล่ง ด้านหน้ามีจอรับภาพแขวนไว้ ๑ จอ ใจก็อดคิดไม่ได้ว่า คนที่ยั่งแถวหลังจะเห็นไหมหนอ
ผมหาที่นั่งได้กับทีมข้าราชการที่ทำงานที่พิจิตรที่รู้จัก มองไปด้านหน้าเวทีมีพิธีกรชายหญิง ๒ คนกำลังกล่าวทักทายกับผู้อยู่ในห้องประชุมอยู่ รอเวลาพร้อมของเวที

เวลาล่วงเลยมาจนถึง ๐๙.๕๑ น. พิธีกรจึงกล่าวเรียนเชิญ ผวจ.พิจิตร ขึ้นกล่าวต้อนรับ ซึ่งท่านได้แสดงทัศนะในเวลา ๑๐ นาที ไว้ว่าท่านมาอยู่ที่นี้ต้องการทำ ๒ เรื่อง คือ เรื่องน้ำกับเรื่องข้าว ฉะนั้นวันนี้จึงเป็นวันที่ท่านรอคอย ซึ่งผมมาทราบภายหลังว่าท่านเองเพิ่งย้ายมาอยู่ได้ไม่นาน

เวลา ๑๐.๐๐ น. พิธีกรกล่าวเชิญชวนผู้เข้าประชุมให้ดูวีดิทัศน์ ซึ่งใชเวลากว่าครึ่งชั่วโมง อธิบายรายละเอียดของโครงการ และแผนงานในโมดูลที่เกี่ยวข้องกับคนพิจิตร คือ A๓ (การก่อสร้างแก้มลิง) และ A๔ (การขุดลอกแม่น้ำพิจิตรสายเก่า) คงเป็นเพราะความยาวของเนื้อหา ผมจึงเห็นผู้เข้าประชุมจับคู่คุยกันโดยไม่ได้สนใจกับเรื่องราวที่ถูกนำเสนอมากนัก

วีดิทัศน์จบลง เสียงพิธีกรเรียนเชิญวิทยากรกระบวนการ ๒๐ คน และกล่าวแนะนำให้ผู้เข้าประชุมรับทราบ ซึ่งก็ล้วนแต่ขึ้นต้นด้วยด็อกเตอร์กันแทบทุกคน แต่ผมเริ่มรู้สึกว่า "จะแนะนำทำไม"

เวลา ๑๐.๔๐ น. พิธีกรกล่าวเชิญวิทยากร ๕ คน ขึ้นเวที และเชิญให้ชี้แจงเนื้อหาสาระของโครงการ ซึ่งผมก็งงมาก เพราะก็เป็นเรื่องเดียวกับที่วีดิทัศน์เพิ่งนำเสนอไปเมื่อครู่ แต่ก็ยังดีใจที่วิทยากรใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที เท่านั้น
เวลาที่เริ่มรับฟังความคิดเห็นจริง ๆ เริ่มได้เมื่อเวลา ๑๐.๕๕ น. โดยกำหนดให้พูดได้คนละ ๕ นาที ซึ่งพิธีกรประกาศว่ามีคนลงทะเบียนทั้งสิ้น ๓๑ คน
ในช่วงเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงเศษจนถึงเที่ยงตรง มีผู้เสนอความเห็นทั้งสิ้น ๑๕ คน ซึ่งทุกคนล้วน "ไม่เห็นด้วย" กับกระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยประเด็นที่เกือบทุกคนพูดถึงก็คือ "รัฐบาลไม่จริงใจต่อการรับฟังความคิดเห็น" โดยชี้ให้เห็นการขาดข้อมูลประกอบการพิจารณา ไม่ได้รับทราบแผนงานโครงการมาก่อน ขาดการมีส่วนร่วม และที่สำคัญไม่เชื่อมั่นต่อผู้รับจ้างที่มาจากประเทศเกาหลีใต้

นอกเหนือการแสดงความไม่เห็นด้วย ผู้เข้าประชุมยังได้เสนอให้รัฐบาลจัดเวทีความคิดเห็นที่จังหวัดพิจิตรอีกครั้งหนึ่ง โดยให้ไปจัดในระดับพื้นที่ และให้เชิญผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยเฉพาะปราชญ์ชาวบ้านเข้าร่วมประชุมด้วย

มีเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างที่ภายในห้องประชุมกำลังมีการแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าประชุม เมื่อรองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) เดินทางมาถึง เสียงนกหวีดก็ดังลั่นต้อนรับการมาเยือนของประธาน กบอ. ซึ่งไม่รู้ว่าท่านรู้สึกอย่างไร แต่ผมไม่เห็นท่านเข้ามาในบริเวณห้องประชุม

ในช่วงเที่ยงผมเดินบริเวณรอบ ๆ ห้องประชุม จะมีการตั้งเต้นท์ไว้ ๑๙ เต้นท์ สำหรับการแบ่งกลุ่มรับฟังความเห็นกลุ่มย่อยในภาคบ่าย แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มีการจัดเวทีภาคประชาชนคู่ขนาน แสดงการคัดค้านโครงการ โดยมีวิทยากรขึ้นเวทีสลับกันให้เหตุผลที่คัดค้านทั้งในเชิงกฎหมาย กระบวนการ และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และนอกเหนือจากการใช้ข้อมูลชี้แจงแล้ว ยังมีการขอพรจากสมเด็จพระเจ้าเสือที่ประดิษฐานท่ายืนในบริเวณนั้นเข้าช่วยด้วย

ในช่วงบ่ายมีการแบ่งกลุ่มย่อย ๒๐ กลุ่ม ซึ่งต้องบอกว่า ๑๙ กลุ่มที่ตั้งเต้นท์รองห้องประชุมใหญ่ต้องดำเนินการท่ามกลางเสียงจากเวทีคู่ขนาน ผมจึงหลบมาฟังในห้องประชุมใหญ่เมื่อเช้า ซึ่งความคิดเห็นก็เป็นไปในทางเดียวกับเมื่อเช้าที่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อโครงการ

ผมออกจากห้องประชุมราว ๑๕.๐๐ น. เพื่อเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ระหว่างขับรถยนต์สมองก็คิดทบทวนสิ่งที่ได้เห็นได้เรียนรู้กับงานวันนี้
ต้องบอกว่า นอกจากการได้เห็นทัศนะของคนพิจิตรต่อโครงการนี้แล้ว ยังได้รู้ว่ามีกระบวนการเตรียมคนเข้าเวทีเพื่อปรึกษาหารือกันก่อนเวทีนี้ จนความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้มีน้ำหนักอย่างมากที่รัฐบาลต้องรับฟัง

นอกจากนั้นยังได้เห็นการออกแบบกระบวนการที่ไม่เอื้อต่อการรับฟังความเห็นที่มีคนนับพันที่มีความแตกต่างในอาชีพ วัย และประสบการณ์ในระยะเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงครึ่ง ข้อมูลนำเข้าที่นำเสนอด้วยวีดิทัศน์ก็แสนยาว ยากต่อความเข้าใจ เอกสารที่แจกก็ขาดข้อมูลสำคัญ ยากต่อการตัดสินใจ บรรยากาศก็ไม่เหมาะสมกับเป้าหมายที่วางไว้
ที่สำคัญสิ่งที่ได้เห็นก็คือคนพิจิตรก็กำลังอินกับบรรยากาศทางการเมือง และทันสมัยกับการใช้นกหวีดในการแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้

สุดท้ายต้องยอมรับว่า งานนี้ทำให้ผมรักคนพิจิตรขึ้นเยอะเลย เพราะได้แสดงความพร้อมและความเข้มแข็งของเครือข่ายอันเป็นพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้ผมเห็น ซึ่งผมขอกราบขอบคุณ มา ณ โอกาสนี้

นอกจากนั้นผมใคร่ขอบคุณ "ลูกชิ้น ๓ ไม้" ซึ่งเป็นอาหารกลางวันของผมในฐานะผู้เป็นเพียง Walk in สำหรับงานในวันนี้ด้วยครับ

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

แซมาอึล อุนดง : โมเดลสร้างชุมชนเข้มแข็งของเกาหลีใต้

๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
อย่าเพิ่งตกใจนะครับ ที่ผมตั้งชื่อบทความเป็นภาษาเกาหลี แล้วคิดว่าผมจะไปพูดเรื่องละครหรือดารานักร้องของเกาหลีที่กำลังฮิตในบ้านเราอยู่ในขณะนี้ แต่สิ่งที่ผมจะนำเสนอในวันนี้นั้นสำคัญมากกับแนวคิด "ปฏิรูปประเทศไทย" ที่มีข้อเสนอหนึ่งจากนักวิชาการหลายท่านให้มีการสร้าง "ชุมชนเข้มแข็ง" อันเป็นฐากรากของประเทศ
ผมขอเรียนว่าทุกประเทศก่อนจะพัฒนามาถึงทุกวันนี้ ย่อมมีประวัติศาสตร์การพัฒนามาอย่างยาวนาน การเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศที่มีความสำเร็จนับเป็นเรื่องสำคัญ ถือเป็นบทเรียนที่สามารถนำมาประยุกต์ปรับใช้กับการพัฒนาประเทศไทยเราโดยไม่ต้องไปคิดค้นใหม่
เรื่องที่ผมกำลังกล่าวถึง คือ "โครงการแซมาอึล อุนดง" ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งผมสรุปมาจากเอกสารที่สถาบันชุมชนพัฒนา หรือ LDI ส่งมาให้อ่าน
เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ประเทศเกาหลีใต้เพิ่งสถาปนาเป็นรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการ เมื่อปี ๒๔๙๑ นี้เอง ภายหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งในสถานการณ์ในช่วงนั้นประเทศตกต่ำถึงขีดสุด ไม่มีความมั่นคงทางสังคมและการเมือง ประชาชนก็ยากจนค้นแค้น เกียจคร้านอย่างหนัก
จวบจนปี ๒๕๐๔ ประธานาธิบดีปักจุงฮี ได้เข้ามาบริหารประเทศ ได้ตั้งกระทรวงคณะกรรมการวางแผนเศรษฐกิจ ทำหน้าที่ค้นหาแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยการระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการทั้งในและนอกประเทศ ในที่สุดได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี ฉบับแรกขึ้น เกาหลีใต้จึงเริ่มมีความเจริญก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรม เพิ่มปริมาณการส่งออก มากขึ้น จนมาถึงในช่วงแผนฉบับที่ ๓ รัฐบาลได้พัฒนา "โครงการแซมาอึล อุนดง" เป็นโครงการที่มุ่งเน้นที่การพัฒนาชนบทขึ้น
จุดกำเนิดของโครงการนี้ มาจากเหตุการณ์ในปี ๒๕๑๒ ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกว่าหมื่นเมือง มีผู้เสียชีวิตเกือยพันคน ชาวบ้านที่รอดตาย ลุกขึ้นมาซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและถนนหนทางด้วยตนเอง ปักจุงฮีไปเห็นชาวบ้านลุกขึ้นมาช่วยตนเองจึงเกิดแรงบันดาลใจและเห็นว่า "ความช่วยเหลือของรัฐบาลย่อมจะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง เว้นแต่ว่าประชาชนจะลงมือกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยจิตวิญญาณของการพึ่งพาตนเอง"
รัฐบาลปักจุงฮี จึงได้จัดงบประมาณอันจำกัด ซื้อปูนซีเมนต์มอบให้กับ ๓๓,๒๖๗ หมู่บ้าน หมู่บ้านละ ๓๕๕ ถุง ปรากฎว่ามีหมู่บ้านเกือบครึ่งหนึ่งสามารถปรับปรุงและพัฒนาหมู่บ้านตนเองให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้ดำเนินโครงการในปีที่ ๒ โดยเพิ่มการสนับสนุนปูนซีเมนต์เป็น ๕๐๐ ถุง และเหล็กเส้นอีก ๑ ตันต่อหมู่บ้าน ซึ่งทำให้หมู่บ้านได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ละหมู่บ้านลุกขึ้นมาพัฒนาหมู่บ้านตนเองให้ทักเทียมกับหมู่บ้านอื่น
ในปีที่ ๓ รัฐบาลได้ดำเนินการต่อ โดยได้แบ่งหมู่บ้านเป็น ๓ กลุ่ม คือ หมู่บ้านด้อยพัฒนา โครงการก็จะมุ่งเน้นการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและการจัดหาสาธารณูปโภค หมู่บ้านกำลังพัฒนา โครงการก็จะมุ่งเน้นที่การสร้างเสริมสาธารณูปโภคและการหารายได้ หมู่บ้านที่พัฒนาแล้ว โครงการจะเน้นที่การเพิ่มพูนรายได้และปรับปรุงสวัสดิการ
เมื่อดำเดินโครงการนี้ผ่านไป ๑๐ ปี จึงได้ปรับเป้าหมายไปที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่เน้นการสร้างงสวัสดิการทางสังคมมอย่างเท่าเทียมกันและทั่วถึง มุ่งสู่ "สังคมสวัสดิการประชาธิปไตย"
ขั้นตอนของ "โครงการแซมาอึล อุนดง" แบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ขั้นต้น เป็นขบวนการปลุกฝังความขยัน การช่วยเหลือตนเอง และสร้างความร่วมมือกันเพื่อความรู้สึกก้าวหน้าและสร้างสรรค์ของประชาชน ขั้นที่สอง เป็นการพัฒนาสังคม ซึ่งนำมาซึ่งความเปลี่ยนแลงวัฒนธรรมและปรับปรุงความเป็นอยู่สังคมให้ดีขึ้น และขั้นที่สาม เน้นการะัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มงานและรายได้
หลักการสำคัญของโครงการนี้คือ
หนึ่ง ขบวนการจะต้องดำเนินการโดยมรส่วนร่วมอย่างผสมผสานของชาวบ้านทุกคน
สอง โครงการทุกโครงการจะต้องได้รับการคัดเลือกและดำเนินการโดยมติของสมาชิกของชุมชน
สาม โครงการทุกโครงการจะเกี่ยวข้องทางตรงหรือทางอ้อมกัการเพิ่มรายได้ของผู้ที่มีส่วนร่วม
สี่ รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือหมู่บ้านตัวอย่างที่มีความสำเร็จก่อน เพื่อกระตุ้นหมู่บ้านที่เฉื่อยชา
ห้า แต่ละหมู่บ้านจะได้รับการพัฒนาเป็นขั้นตอนไปตามสภาพและความสามารถของตน
หก ขบวนการแซมาอึล อุนดง จะดำเนินการอยู่ตลอดไป โดยความพยายามอันมั่นคงของประชาชนบนพื้นฐานระยะยาว
โดยที่มาของการพัฒนาหมู่บ้านจะมาจากคณะกรรมการบริหารหมู่บ้าน ประกอบด้วยสมาชิก ประมาณ ๑๕ คน ที่มาจากการคัดเลือกมาจากผู้นำที่เป็นหญิงและชายในสัดส่วนใกล้กัน โดยได้รับการพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการชุดนี้อย่างต่อเนื่อง เป็นผู้ร่วมกันจัดทำเสนอขึ้นไปยังสภาตำบล และเมื่อได้รับการอนุมัติคณะกรรมการชุดนี้ก็จะทำหน้าที่กำกับติดตามโครงการด้วย
ในการทำงานมิใช่จะใช้งบประมาณจากภาครัฐแต่ฝ่ายเดียว แต่จะมีการระดมทุนจากผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นเท่าที่จะทำได้ และมีการขอรับจากองค์กรภายนอกในรูปของเงิน วัตถุดิบ เทคโนโลยี่
แนวคิดตามโครงการแซมาอึล อุนดง ได้ถูกนำไปขยายเข้าไปในวงการต่าง ๆ มากมาย อาทิ ในโรงเรียน ในสถานที่ทำงาน ในเขตเมือง ในโรงงาน
เอกสารได้วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ พบว่ามาจาก ๒ ปัจจัย คือ ปัจจัยแรก คือ ตัวชาวบ้านได้รับการกระตุ้นอย่างสูงและได้รับการเปิดโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วมของชุมชน มีการยกย่องชมเชยกับหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จ ปัจจัยที่สอง มาจากผู้นำของหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพให้เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง จึงอุทิศตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชาวบ้าน
แต่หากให้ผมวิเคราะห์ต่อจากที่นักวิชาการวิเคราะห์ไว้ ผมว่ายังมีปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จนั้นก็คือ "ความต่อเนื่องของโครงการ" ที่รัฐบาลดำเนินการสืบทอดต่อกันมา ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเหมือนอย่างประเทศไทยเรา
ผมอยากเปรียบเทียบกับประเทศไทยสักนิดว่า จุดเริ่มต้นการพัฒนาของเกาหลีใต้นั้นเริ่มต้นพร้อม ๆ กับประเทศไทยเรา โดยจะเห็นได้ว่าในปี ๒๕๐๔ เริ่มประกาศใช้แผนพัฒนาฉบับแรกเหมือนกัน แต่เราลองเปรียบเทียบระดับการพัฒนาดูนะครับว่าประเทศไทยเรากับเกาหลีใต้นั้นแตกต่างกันอย่างไร
ฉะนั้น คงถึงเวลาแล้วกระมังที่ประเทศไทยเราต้อง "ปฏิรูปประเทศไทย" อย่างจริง ๆ จัง ๆ สักที และประเด็นหนึ่งที่ต้องปฏิรูปก็คือ "การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน" ไม่ใช่การมีนโยบายประชานิยมที่ไปบ่อนทำลายความเข้มแข็งของชุมชนเฉกเช่นทุกวันนี้

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

หลากหลายวิถีบนเส้นทางไปราชดำเนิน

๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ปล่อยชีวิตให้ช้าลงบ้าง เปลี่ยนวิถีจากสิ่งที่ทำซ้ำซากมาทำอะไรใหม่ ๆ บ้าง เป็ชีวิตเราเหมือนได้พัก ได้เติมไฟในกายให้ลุกโนได้เหมือนกัน
หลังจากที่ผมเก็บรถยนต์คู่ใจในที่จอดรถเป็นที่เรียบร้อย พักได้สักครู่รู้สึกอยากไปเดินเที่ยวที่ราชดำเนิน เลยตัดสินใจเรียกมอเตอร์ไซด์รับจ้างให้ไปส่งที่ปากซอย ยืนรอรถแท๊กซี่แต่สายตาเหลือบไปเห็นรถเมล์ปรับอากาศวิ่งเข้ามาพอดี อ่านข้อความที่ติดไว้ที่หน้ารถ บอกว่าไปที่สนามหลวง เลยตัดสินใจก้าวขึ้นรถ โชคดีที่เย็นวันนี้คนไม่แน่น เลยมีที่นั่งว่างอยู่หลายที่ เลือกที่นั่งแถวหลังซ้ายสุด เพราะอยากจะมองวิถีชีวิตของผู้คนที่ใช้ชีวิตข้างถนน
ผมจำไม่ได้แล้วว่าครั้งหลังสุดผมใช้บริการรถเมล์เมื่อใด แต่มากกว่า ๕ ปี อย่างแน่นอน ความรู้สึกจึงเหมือนย้อนกลับไปในสมัยที่เป็นหนุ่มรุ่นกระทงอยู่ ตอนนั้นเข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ไม่มีเงินทองมากมาย ก็ได้รถเมล์นี้แหละเป็นพาหนะสัญจรเดินทางเป็นหลัก
สองข้างทางที่รถเมล็วิ่งผ่านไปได้เห็นชีวิตของผู้คนที่หลากหลาย
เห็นแม่ค้ากำลังขายลูกชิ้นปิ้ง น้ำอัดลม ผลไม้ เห็นหนุ่มมอเตอร์ไซดรับจ้าง เห็นคนที่ยืนรอรถอยู่เต็มบริเวณป้ายรถประจำทาง เห็นน้อง ๆ นักศึกษาหญิงชายเดินขวักไขว่ บางคนก็เดินหัวร่อต่อกระซิกกันไป บนถนนก็เต็มไปด้วยรถรา รถแท๊กซี่วิ่งตามกันไป
ถนนบางช่วงที่กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้ามีการปิดช่องจราจรช่องหนึ่ง ทำให้การจราจรติดแทบไม่ขยับ
เหลียวมามองผู้โดยสารบนรถคันเดียวกับที่ผมนั่งไป มีทั่งนั่งทั่งยืน บางคนก็เล่นสมาร์ทโฟน ไม่สนใจใคร บางคนก็นั่งคุยกับเพื่อนที่มาด้วยกัน บางคนนั่งหลับ บางคนมีหูฟังเสียบคาไว้ทั้งสองหู ถึงป้ายครั้งใดก็มีคนบนรถ แล้วก็มีคนขึ้นมาทดแทน หมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ
สองข้างทางที่ผมมองไปรู้สึกหงุดหงิดเห็นสายไฟและสายโทรศัพท์ห้อยระโยงระเยงเต็มไปหมด หมดความสวยงาม มองทะลุไปรู้สึกรำคาญตาเมื่อเห็นกำแพงที่ถูกมือดีที่พ่นสีวาดรูป เขียนข้อความปลดปล่อยอารมณ์เต็มไปหมด
บางช่วงแถว ๆ ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๖๖ เห็นป้ายคัดค้านโครงการเวนคืนที่ดิน เข้าใจว่าเป็นโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน ที่ต้องการเวนคืนที่ดินเอามาทำเสารถไฟฟ้า แต่ชาวบ้านเขียนป้ายคัดค้าน โดยเสนอให้ออกปบบใหม่โดยให้เจาะกลางถนนแม้นจะเป็นช่วงลงอุโมงค์ก็ตาม
เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ที่ผมใช้ชีวิตอยู่บนรถเมล์ ในมือก็มีกระดาษเล่มเล็ก ๆ จดสิ่งที่เห็นลงไปกันลืม มันทำให้ชีวิตผมรู้สึกว่าได้เรียนรู้วิถีของผู้คนในเมืองที่หลากหลาย ทุกคนต่างทำกิจกรรมตามที่แต่ละคนตั้งเป้าไว้
รถมาจอดส่งผู้โดยสารที่สนามหลวง ผมก้าวลงจากรถ ค่อย ๆ เดินตาผู้คนที่เดินนำหน้าผมไป เสียงจากลำโพงค่อย ๆ ชัดขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป
สักครู่เดียวผมก็มายืนอยู่หน้าเวทีประชาชนราชดำเนิน ทุกคนมีนกหวีดคาอยู่ที่ปาก พร้อมใจกันเป่าเป็นจังหวะสอดคล้องกับช่วงเว้นวรรคของผู้ปราศรัย ปากเป่านกหวีดในมือก็ขยับมือตบส่งเสียงเป็นจังหวะดังลั่นบริเวณนั้น บนศรีษะและข้อมือก็มีผ้าลายธงชาติพัน ผูก ดูสวยงามเต็มบริเวณลานของอนุสาวรียืประชาธิปไตย
โชคอาจไม่ดีที่มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ผู้คนต่างวิ่งเข้าไปหลบในเต้นท์ขนาดใหญ่ แต่แปลกใจเป็นอย่างมาก ผู้คนต่างยิ้มแย็มให้กัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันที่นั่งที่ยืนให้แก่กัน ดูแล้วเหมือนเป็นพี่น้องหรือคนในครอบครัวเดียวกัน
สี่ทุ่มกว่าแล้วสินะ ผมรอจังหวะช่วงฝนละเม็ด รีบเดินกลับมาที่ลงรถเมล็ เห็นรถหมายเลขเดิมวิ่งมา รีบขึ้นไปได้ที่นั่งแถวหลังอีกเช่นเคย อ้อ ลืมบอกไปเป็นรถเมล์ฟรีไม่ต้องจ่ายสตางค์ นั่งมองผูคนข้างถนน ซึ่งเปลี่ยนไปจากเมื่อตอนเยน คงเป็นเพราะค่ำแล้ว ขากลับรถไม่ค่อยติดเลยขับฉิว สายลมภายนอกโกรกประทะกับใบหน้าทำให้เย็นสบายจริง ๆ
มาถึงปากทางเข้าบ้าน หาอะไรรองท้องสักหน่อย ก่อนที่จะเรียกมอเตอรโไซด์รับจ้างไปส่งที่บ้าน ราคาค่ารถเพิ่มขึ้นอีก ๕๐ % จากเมื่อตอนกลางวัน
กลับมาถึงบ้านอาบน้ำอาบท่า รู้สึกปลอดโปล่งโล่งสบายทั้งใจทั้งกาย ความเครียดจากงานหายเป็นปริดทิ้ง รู้สึกมีกำลังวังชาเพิ่มขึ้น อยากทำงาน
นี่คือชีวิตของผมในเย็นวันนี้ อ่านดูแล้้วเหมือนไม่มีอแก่นสารเอาเสียเลย แต่ผมอยากบอกว่า สิ่งที่ผมเกริ่นไว้แต่ต้น ว่าการปรับเปลี่ยนสิ่งที่เคยทำซ้ำซากสะบ้าง จะทำให้ชีวิตเราสดใสขึ้น
ผมจึงนำมาฝากกับทุกท่าน ลอง ๆ ทำดูนะครับ ผมรับประกันด้วยตัวผมเอง เพราะผมลอทำแล้วและได้ผลจริง ๆ

วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ชวนคนไทยร่วมอารยะขัดขืนงดจ่ายภาษี

๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ผมเห็นด้วยกับคำเชิญชวนคนไทยทั่วประเทศร่วมอายะขัดขืนในเรื่อง "งดการชำระภาษี" ที่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณเสนอเมื่อคืนวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เป็นอย่างมาก และอยากชวนคนไทยร่วมแสดงอารยะขัดขืนในข้อนี้อย่างเต็มที่ ประเทศเราจะเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดทันที
คำเชิญชวนของผมนี้ อ่านแล้วอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าผมไม่รักประเทศ ไม่อยากเห็นสังคมกลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่ตรงกันข้ามครับ ผมรักคนไทย ผมรักประเทศไทย มากที่สุดคนหนึ่ง (เห็นไหมผมชักติดคำพูดแบบนักการเมืองไทยเข้าไปทุกขณะ)
ก่อนที่ผมจะกล่าวถึงว่าทำไมผมถึงกล้าเชิญชวนอย่างนั้น เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า "อารยะขัดขืน" เสียก่อน
นักวิชาการตะวันตก ได้ให้นิยามไว้ว่าหมายถึง “การกระทำทางการเมืองซึ่งมีลักษณะเป็นสาธารณะ (public)สันติวิธี (nonviolent) และมีมโนธรรมสำนึก (conscientious) ที่ขัดต่อกฏหมาย ปรกติเป็นสิ่งที่ทำโดยมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมาย (in the law) หรือในนโยบายของรัฐบาล"
นักวิชาการไทยในแวดวงสันติวิธีท่านหนึ่ง สรุปไว้ว่าการกระทำที่ถือเป็นอารยะขัดขืนจะต้องประกอบด้วยลักษณะ ๗ ประการ คือ เป็นการละเมิดกฎหมายหรือตั้งใจละเมิดกฎหมาย ใช้สันติวิธี เป็นการกระทำสาธารณะโดยแจ้งให้ฝ่ายรัฐรับรู้ล่วงหน้า ประกอบด้วยความเต็มใจที่จะรับผลทางกฏหมายของการละเมิดกฎหมายดังกล่าว ปรกติกระทำไปเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาล มุ่งเชื่อมโยงกับสำนึกแห่งความยุติธรรมของผู้คนส่วนใหญ่ในบ้านเมือง และมุ่งเชื่อมโยงกับสำนึกแห่งความยุติธรรมซึ่งโดยหลักแล้วเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายและสถาบันสังคม
หากให้ผมสรุปเป็นความคิดรวบยอด ผมอยากสรุปว่า "อารยะขัดขืน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยใช้สันติวิธี เพื่อหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย"
เมื่อเราพอเข้าใจกับคำว่า "อารยะขัดขืน" แล้ว เราลองมาทำความเข้าใจกับเรื่อง "ภาษี" ที่คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เสนอให้งดการจ่ายภาษี กันอีกสักหน่อย
ปัจจุบันประเทศไทยเรามีการเก็บภาษีในหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีจากการประกอบธุรกิจ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีศุลกากร ภาษีที่ดิน ภาษีป้าย และอื่น ๆ อีกหลายประเภท
"ภาษีสรรพสามิต" เป็นภาษีอีกประเภทหนึ่งที่รัฐยอดเก็บได้ในจำนวนหลายแสนล้านบาทต่อปี เป็นภาษีการขายเฉพาะที่เรียกเก็บจากสินค้าและบริการบางประเภท ซึ่งมีเหตุผลสมควรที่จะต้องรับภาระภาษีสูงกว่าปกติ เช่น สินค้าที่บริโภคแล้วอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและศีลธรรมอันดี สินค้าและบริการที่มีลักษณะเป็นการฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากรัฐ หรือสินค้าที่ก่อให้เกิดภาระต่อรัฐบาลในการที่จะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อให้บริการผู้บริโภค หรือเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
สินค้าที่เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตก็คือ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ น้ำหอม ไพ่ และอื่น ๆ อีกหลายรายการ ซึ่งรวมถึงเหล้าและบุหรี่ด้วย
ผมไม่มีตัวเลขที่แน่นอนว่า ในปีหนึ่ง ๆ รัฐสามารถเก็บเงินจากเหล้าและบุหรี่ได้ปีละเท่าไหร่ แต่หากประมาณคร่าว ๆ โดยคิดคำนวณกลับจากเงินที่ สสส.ได้รับในอัตราร้อยละ ๓ จากภาษีบาปที่เก็บขากเหล้าและบุหรี่ เป็นเงินปีละประมาณ ๓,๕๐๐ ล้านบาท ก็จะออกมาที่ปีละประมาณ ๑.๒ แสนล้านบาท
ผมเชื่อว่าคนเรารู้ว่าเหล้าและบุหรี่เป็นต้นเหตุของปัญหาทางสุขภาพมากมาย ปีหนึ่งรัฐบาลลงทุนเพื่อส่งเสริม ป้องกันและรักษาโรคที่มีต้นเหตุจากเหล้าและบุหรี่ ปีละหลายแสนล้านบาท เช่นกัน
ฉะนั้น หากคนไทยลด ละเลิกการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ก็ย่อมประหยัดงบประมาณในการจัดบริการทางด้านสาธารณสุขในจำนวนหลายแสนล้านบาทนั้นไปด้วย ซึ่งมากกว่าเงินที่รัฐเก็บได้หลายเท่า
มาถึงตรงนี้ ผมคิดว่าทุกท่านคงเริ่มเห็นด้วยกับผมที่เชิญชวนให้ทุกท่านร่วมอารยะขัดขืนโดยการงดการจ่ายภาษีตามข้อเสนอของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แล้วซินะ
แต่ผมขอย้ำว่าภาษีที่ผมเชิญชวนนี้ผมจำกัดเฉพาะภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสินค้าเหล้าและบุหรี่เท่านั้นนะครับ
ส่วนภาษีประเภทอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละท่าน และก็เป็นความรับผิดชอบของแต่ละท่านต่อผลของการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตรงนี้ผมไม่ขอเข้าไปเกี่ยวข้อง
เรามาร่วมอารยะขัดขืนโดยงดการจ่ายภาษีเหล้าและบุหรี่ โดยการงดซื้อสินที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งสองนี้กันเถอะ แล้วประเทศไทยเราจะเป็นประเทศที่มีสุขภาวะดีที่สุดในโลกเชียวแหละ

ปฎิรูปประเทศไทย : ขอแจมด้วยคน

๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
เห็นเขากำลังคุยกันเรื่อง "ปฏิรูป" ไม่ว่าจะเป็น "ปฎิรูปประเทศไทย" "ปฏิรูปการเมือง" และอีกสารพัด "ปฏิรูป" ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในแวดวง "ปฏิรูปสุขภาพ" เลยขอแจมความคิดความเห็นในเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย" กับเขาบ้าง โดยไม่ได้คิดหรือคาดหวังอะไรมากมาย แค่เพียงบอกเล่าว่าตนเองคิดอย่างไรก็เรื่องนี้ก็เพียงพอแล้ว
หากเราไปเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แล้วค้นหาความหมายของคำว่า "ปฏิรูป" จะพบความหมายว่า "สมควร" หรือ "เหมาะสม" ฉะนั้น ถ้าเราพูดถึง "ปฏิรูปประเทศไทย" ก็หมายความว่า "ปรับปรุงประเทศเราให้เหมาะสม" ประมาณนี้้
ไทยเรามีการปฏิรูปประเทศมาหลายครั้ง ครั้งล่าสุดที่ผมได้ยินก็คือ การปฏิรูปประเทศในยุคของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ในช่วงปี ๒๕๕๓ อันเป็นผลพวงจากการชุมนุมของกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า "เสื้อแดง" ที่นำประเด็นสำคัญของสังคมมาเสนอ คือ "ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมทางสังคม"
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ถึงกับออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูป เมื่อปี ๒๕๕๓ แต่งตั้งกลไกหลัก ๒ กลไก คือ คณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรการสมัชชาปฏิรูป เป็นกลไกคู่ทำหน้าที่จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อ "สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ" และจัดตั้งกลไกเลขานุการขึ้น คือ "สำนักงานปฏิรูป"
กิจกรรมสำคัญประการหนึ่งที่ขบวนนี้ได้ดำเนินการนั่นก็คือ การจัด "สมัชชาปฏิรูป" ซึ่งผมมีโอกาสไปร่วมสมัชชาปฏิรูปทั้ง ๓ ปี ได้พบได้เห็น ข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ นำไปพัฒนา ปรับปรุง แก้ไข อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ ชายฝั่งทะเล สื่อ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและอีกมากมาย
ท่ามกลางข้อเสนอที่หลากหลายนั้น ผมลองไล่เลียงดู พบมติหนึ่งที่น่าสนใจ ยังทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง
มติที่ผมกำลังกล่าวถึงก็คือ มติเมื่อปี ๒๕๕๕ ในเรื่อง การปฏิรูประบบการเมือง : พัฒนาความเข้มแข็งของพลเมืองเพื่อปฏิรูปประเทศไทย
ในมตินี้มีข้อเสนอที่สำคัญก็คือ การเพิ่มอำนาจและบทบาทหน้าที่ให้ประชาชน ต้องมีการถ่ายโอนอำนาจจากหน่วยงานรัฐไปยังชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ของตนเองได้ โดยไม่ละเลยต่อการเสริมสร้างเข้มแข็งให้แก่ภาคประชาชน
ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้เป็นไปตามหลักการข้างต้น ที่สำคัญและถือเป็นหัวใจของมตินี้ก็คือ
ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น สิทธิชุมชน สิทธิการมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรท้องถิ่น รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการกำหดนโยบายสาธารณะในระดับชาติและท้องถิ่น
มีการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนที่ทำหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและร่วมทำงานกับท้องถิ่น
มีการสร้างเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนและองค์กรชุมชนให้เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองที่ดี และสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชนในพื้นที่
ข้อเสนอเหล่านี้ถ้าหากพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว จะพบว่าเป็นข้อเสนอที่สอดรับกับการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจไปยังชุมชนท้องถิ่น ที่มีเป้าหมายไปสู่ "พื้นที่จัดการตนเอง" นั่นเอง
ซึงผมค่อนข้างเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเราบริหารประเทศโดยรัฐบาลกลาง โดยละเลยหรือให้ความสำคัญน้อยมากกับการสร้างความเข้มแข็งของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น
ผมจำได้ว่า นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เคยกล่าวไว้นานในทำนองที่ว่า "ประเทศไทยเราสร้างเจดีย์จากยอดไปหาฐาน" ซึ่งผมเข้าใจว่าท่านหมายถึงการคิดว่าส่วนกลางต้องเป็นใหญ่ นโยบายสาธารณะต่าง ๆ จึงต้องมาจากรัฐบาลกลาง ปัญหาจึงเป็นเช่นทุกวันนี้ ฉะนั้น ทางออกที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ กลับมาให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างพลังพลเมืองให้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอันเป็นฐานรากของเจดีย์ให้เข้มแข็ง เพราะเมื่อฐานเจดีย์เข้มแข็ง ตัวองค์และยอดเจดีย์ก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย
นี่แหละคือสิ่งที่ผมขอแจม ต่อข้อเสนอเพื่อ "การปฎิรูปประเทศ" ที่หลายฝ่ายกำลังเรียกร้องอยู่ในขณะนี้
จึงขอเรียกร้องไปยังทุกท่านว่า ลองชายตากลับมองไปมองทุนที่สมัชชาปฏิรุปได้ผลิตไว้บ้าง ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ เพราะจะเสียเวลา
ประเทศไทยเราไม่มีเวลามากพอสำหรับการเริ่มต้นใหม่เพื่อ "การปฏิรูปประเทศไทย" อีกแล้ว พี่น้องเอ๋ย

วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖

๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ต้องขอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๕๖ ยังคงกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ไม่เปลี่ยนแปลง แม้สถานที่ประชุมแห่งนี้อยู่ติดกับบริเวณที่ชุมนุมของมหามวลชนที่ออกมาคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมอยู่ในขณะนี้
อยากเน้นย้ำอีกครั้งว่า "สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ" เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีการทำงานมาตลอดปีตั้งแต่การเปิดรับประเด็นเชิงนโยบาย การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อหาฉันทามติร่วมกันของสมาชิกที่มาจากทุกภาคส่วน
หลังจากมีฉันทามติแล้ว บางเรื่องก็ถูกเสนอไปยังรัฐบาล บางเรื่องก็เสนอไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง บางเรื่ององค์กรทางวิชาการและองค์กรประชาชนก็นำไปขับเคลื่อนทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ จนออกดอกออกผลเป็นรูปธรรมในหลายเรื่อง
สำหรับกาประชุมในปีนี้ ได้กำหนด Theme หรือ ประเด็นหลัก ไว้ว่า “สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน” เพื่อชี้ให้เห็นว่าฐานชุมชนมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
ผมขอใช้โอกาสนี้ สรุปย่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย ๘ เรื่อง ที่ถูกกำหนดเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้
เรื่องที่ ๑ แผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติ ว่าด้วยระบบสุขภาพชุมชน : เป็นข้อเสนอที่ต้องการให้มีกรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์ร่วมว่าด้วยการสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง ในระยะ ๑๐ ปี ข้างหน้า ของ ๔๖ องค์กร โดยใช้ยุทธศาสตร์รวมแสงเลเซอร์เพื่อการสนับสนุนให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง เน้นให้เกิดกระบวนการประชุมปรึกษาหารือระหว่างหน่วยงานที่เป็นกลไกระดับพื้นที่ของหน่วยงานภาคีทั้ง ๔๖ องค์กรและเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันออกแบบและจัดตั้งกลไกประสานงานระดับตำบล เทศบาล และระดับจังหวัด
เรื่องที่ ๒ แผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๑ : เป็นข้อเสนอที่มุ่งเน้นให้สมาชิกรับรองแผนยุทธศาสตร์ เพื่อนำไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป และเสนอให้ตั้งกลไกร่วมระหว่าง อย. กสทช. สคบ. กระทรวงไอซีที และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นกลไกขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ
เรื่องที่ ๓ ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน : เป็นข้อเสนอที่มุ่งเน้นให้รัฐบาลผลักดัน ให้ประเด็นการจัดการอาหารในโรงเรียนเป็นวาระแห่งชาติและวาระของจังหวัด ให้มีการทบทวนและปรับปรุงระบบการบริหารจัดการกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาให้สามารถสนับสนุนระบบการจัดการอาหารกลางวันในโรงเรียนทุกสังกัด และมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ตรวจสอบได้
เรื่องที่ ๔ นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน : เป็นข้อเสนอให้มีการกำหนดนโยบาย หรือแนวทางเพื่อการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม โดยใช้กระบวนการในการดำเนินการที่ใช้หลักวิชาร่วมกับสถานการณ์ที่เป็นจริง และการตัดสินใจโดยใช้ความเป็นเหตุเป็นผลอย่างเหมาะสม มีการศึกษาทบทวน และพัฒนาสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนได้รับการตรวจสุขภาพที่ จำเป็นและเหมาะสม
เรื่องที่ ๕ การกำกับดูแลสื่อและการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : เป็นข้อเสนอให้มีการร่วมกันพัฒนาข้อบังคับจริยธรรม หรือ Code of Ethic (COE) และแนวทางปฏิบัติ หรือ Code of Conduct (COC) ให้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลกันเองในการผลิตสื่อ และการสื่อสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเคร่งครัด มีจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม
เรื่องที่ ๖ เป้าหมายในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย : เป็นข้อเสนอที่เสนอให้สมาชิกรับรองตัวชี้วัดและเป้าหมายทั้ง ๙ ที่ได้ปรับจากตัวชี้วัดและเป้าหมายระดับโลก รวมทั้งแหล่งข้อมูล วิธีการ และหน่วยงานที่รับผิดชอบในการวัดและติดตามความก้าวหน้า ให้เป็นของประเทศไทย
เรื่องที่ ๗ การสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อ “สุขภาพหนึ่งเดียว” ของคน-สัตว์-สิ่งแวดล้อม : เป็นข้อเสนอที่มุ่งเน้นให้ทุกฝ่าย รับเอาแนวคิด หลักการ และวิธีปฏิบัติ ของ “สุขภาพหนึ่งเดียว” ไปเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อควบคุมโรคและภัยสุขภาพ และสร้างกลไกการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเรื่องแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนานาชาติ ประเทศ ไปถึงชุมชนท้องถิ่น
เรื่องที่ ๘ ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ : เป็นข้อเสนอให้มีการให้สัตยาบันว่าจะให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคม โดยให้มีสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับกลไกการค้าระหว่างประเทศ และแสดงจุดยืนในการป้องกันผลกระทบดังกล่าวต่อคู่เจรจาต่างประเทศ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและการพัฒนาสังคมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
ต้องเรียนว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายแต่ละเรื่องล้วนมีความสำคัญและส่งผลต่อการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชนและสังคมในแง่มุมที่แตกต่างกันไป ก็ขอให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทุกท่านเตรียมตัวเข้าร่วมประชุมตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดโดยพร้อมเพรียงกัน โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับสมบูรณ์ได้ทาง www.samatcha.org ตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ศกนี้ครับ
ท้ายสุด ผมคงเชิญชวนให้สมาชิกร่วมกันภาวนาให้สถานการณ์บ้านเมืองกลับคืนสู่ความสุขสงบโดยเร็วนะครับ เราจะได้ไปประชุมที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติที่ตั้งอยู่ใกล้สะพานมัฆวานได้โดยไม่ต้องเลื่อนวันประชุมหรือย้ายสถานที่
แต่ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่า สมาชิกทุกคนจะร่วมภาวนาตามที่ผมเชิญชวน

วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พลังมวลชน : กลไกอภิบาลประเทศ

๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

พลังของมวลชนที่ออกมารวมตัวกันตามจุดชุมนุมต่าง ๆ เพื่อคัดค้านต่อการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยในช่วง ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา หากเรามองในเชิงวิชาการ ละทิ้งความคิดเห็นในเชิงสาระลงบ้าง เราจะเห็นว่าประเทศไทยเราเป็นประเทศประชาธิปไตยที่น่าอยู่ที่สุดประเทศหนึ่ง ทำไมผมกล่าวเช่นนั้น ลองอ่านตามผมไปครับ

วันนี้เป็นวันหยุด ก็เลยนอนอยู่บ้าน คอยติดตามความเคลื่อนไหวของข่าวสารการบ้านการเมืองทางทีวีดาวเทียมช่องต่าง ๆ ซึ่งต้องบอกว่าแต่ละช่องแต่ละค่าย ต่างระดมขุนพลออกมานำเสนอข้อมูล ความคิดความเห็นที่มุ่งโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเมามัน

ในส่วนตัวของผมรู้สึกสงสารผู้ฟัง เพระถ้าฟังโดยไม่ได้ไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง ก็จะทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกหลงไปกับสิ่งที่ได้ยิยได้ฟัง ทำให้เกิด "ความเกลียด" ต่อคนของอีกฝากหนึ่งได้

ระหว่างที่ผมเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใจจดใจจ่อ ก็หยิบงานวิชาการเล่มหนึ่งมาอ่าน พบเรื่องราวที่น่าสนใจอย่างมาก และเป็นเรื่องราวที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดในบ้านในเมืองไทยเราพอดิบพอดี

เรื่องที่ผมกำลังพูดถึง เป็นเรื่องของ "การอภิบาลระบบ"

หากผมเอ่ยคำว่า "การอภิบาล" ขึ้นมาลอย ๆ ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่จะเกิดอาการงงงวยเป็นแน่แท้ แต่ถ้าผมเปลี่ยนเป็นคำว่า "ธรรมาภิบาล" ผมคิดว่าจะมีคนรู้จักมากขึ้น แท้จริงแล้ว คำทั้งสองคำนี้มาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกัน นั่นก็คือคำว่า "Governance" และจากคำภาษาอังกฤษคำเดียวนี้ นักวิชาการไทยได้นำมากำหนดเป็นคำในภาษาไทยอีกหลายคำ ไม่ว่าจะเป็น การจัดการปกครองที่ดี การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

ผมหยิบเรื่องนี้มาจากงานวิจัยในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ของระบบการอภิบาลสุขภาพ ของศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส.

งานวิจัยเล่มนี้บอกไว้ว่า การอภิบาล หรือ Governance หมายถึง "การใช้อำนาจร่วมกันของกลไกและหน่วยงานต่าง ๆ ในการกำกับทิศทางการตัดสินใจเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง"

ประเทศไทยเราเริ่มนำเรื่องนี้มาใช้ในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี ๒๕๔๐ เมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF มองว่าวิกฤตเศรษฐกิจของไทยเราว่าเกิดจาก “การอภิบาลที่ไม่ดี” ดังนั้นจึงกำหนดเงื่อนไขที่มากับเงินกู้ให้รัฐบาลไทยต้องรับเอาแนวทาง “การอภิบาลที่ดี” (good governance)มาดำเนินการ

ตัวแบบในอุดมคติของการอภิบาล มี ๓ รูปแบบ คือ

รูปแบบแรกคือการอภิบาลในแนวทางของตลาด หรือทุน

รูปแบบที่สองคือการอภิบาลโดยรัฐ

รูปแบบสุดท้ายคือการอภิบาลแบบเครือข่าย หรือแบบชุมชน หรือสังคม

ในแต่ละประเทศจะมีการผสมผสานกลไกอภิบาลทั้งสามในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ประเทศที่มีกลไกรัฐเป็นกลไกหลักในการอภิบาลระบบ รูปแบบการจัดการก็จะออกมาในรูปของรัฐเป็นใหญ่ ประเทศที่มีอำนาจทุนเป็นกลไกหลัก ทุกอย่างก็จะดำเนินไปด้วยการตอบสนองความต้องการของอำนาจทุนนั้น แต่หากประเทศใดที่มีเครือข่าย หรือชุมชนเป็นกลไกที่เข้มแข็ง ประเทศนั้นก็จะให้ความสำคัญกับพลังของกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง

ประเทศไทยมีกลไกอภิบาลทั้ง ๓ ระบบ ผมขอชี้ตรง ๆ ว่า ในยุคเริ่มต้นของรัฐบาลยุคปัจจุบันนี้กลไกที่มีอำนาจในการบริหารประเทศคือกลไกรัฐ แต่เมื่อบริหารประเทศไปเกิดความคิดว่าตนเองเป็นใหญ่ คิดจะทำอะไรก็ได้ จึงขาดการอภิบาลที่ดี เหตุการณ์ค่อย ๆ สะสมไปตามวันเวลาที่ผ่านไป จนถึงจุดขีดสุด กลไกที่เหลือคือกลไกทุนและกลไกของมวลชนหรือกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจึงออกมาอภิบาลระบบ คัดค้านการจัดการปกครองที่ไม่ดีที่กลไกรัฐกระทำไว้ ดังตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับการออกมาคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยในทุกวันนี้

ผมเขียนมาถึงตรงนี้ ผมคิดว่าคุณน่าจะเริ่มรู้สึกเหมือนผมที่รู้สึกรักประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เพราะในปัจจุบันประเทศไทยเรามีกลไกอภิบาลระบบทั้ง ๓ คอยตรวจสอบและเคลื่อนไหว เพื่อทำให้การอภิบาลที่ไม่ดี กลับคืนสู่การอภิบาลระบบที่ดี

ฉะนั้น เราอย่าไปหงุดหงิดกับการที่มีมหามวลชนมารวมตัวกันคัดค้านสิ่งที่กลไกรัฐกระทำไปบนพื้นฐานของการอภิบาลระบบที่ไม่ดี แต่ในทางตรงกันข้ามเราน่าจะดีใจกับการเกิดขึ้นของขบวนของกลุ่มคน และกลุ่มเครือข่ายที่กำลังเกิดขึ้นอย่างหลากหลายและกว้างขวางอยู่ในขณะนี้ เพราะกลไกนี้กำลังทำหน้าที่อภิบาลระบบหรืออภิบาลประเทศไทยเราให้เป็นประเทศที่ยึดมั่นต่อหลักนิติรัฐ และนิติธรรมต่างหาก

แล้วแบบนี้ประเทศไทยเรายังไม่เป็นประเทศประชาธิปไตยที่น่าอยู่ที่สุดอีกหรือ

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

บันไดขั้นแรกสู่เส้นทางปฏิรูปประเทศไทย

๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ภายในห้องสี่เหลี่ยมของตึกที่ทำงานแห่งหนึ่งในย่านจังหวัดนนทบุรี หากมองไปที่นาฬิกาที่แขวนไว้ที่มุมหนึ่งของห้องประชุม มันบอกว่าเวลานั้นจะถึง ๖ โมงเย็นอีก ๕ นาที ซึ่งตามปกติห้องประชุมห้องนี้คงปิดเงียบ แต่วันนี้กลับตรงกันข้ามเพราะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งราว ๒๐ ชีวิต ได้นัดหมายมาเจอกัน คนกลุ่มนี้มาทำอะไรกัน ต้องเป็นเรื่องสำคัญเป็นแน่ จึงต้องใช้เย็นวันศุกร์สุดสัปดาห์นี้มาพบปะกัน
ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมพูดคุยกับผู้คนที่มาจากหลากหลายที่ ผมมองไล่เลียงไปตามลำดับล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนสังคมในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
เรื่องที่คนกลุ่มนี้คุยกันเป็นเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเกิดวิกฤตอยู่ในขณะนี้ แต่ละคนมาแบ่งปันมุมมองต่อเหตุการณืที่เกิดขึ้นแก่กัน
บางท่านวิเคราะห์ว่านี้คือผลที่ตอบสนองอันสาสมของความมั่นอกมั่นใจต่อเสียงข้างมากของรัฐบาล ที่คิดว่าจะทำอะไรก็ได้ และดูถูกเสียงของประชาชน
บางท่านวิเคราะห์ว่านี่คือเกมทางการเมืองของพรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายที่ต่างต้องการดึงเสียงให้มาสนับสนุนพรรคตน
บางคนวิเคราะห์ให้เห็นว่านี่คือพลังของมวลชนที่เปรียบเสมือนน้ำที่เคยนิ่งอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งได้ก่อตัวเป็นคลื่นใหญ่กระแทกโขดหินอย่างมีพลัง
บางคนวิเคราะห์ว่านี่คือวงจรที่หมุนวนซ้ำไปซ้ำมาที่ประเทศไทยเราไม่สามารถจะก้าวพ้นไปสู่วงจรใหม่่ได้
แล้วจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไร ทุกคนในกลุ่มเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องก้าวให้พ้นวงจรเก่า ๆ โดยการ "ปฏิรูปประเทศไทย" อีกคำรบหนึ่ง
ผู้เข้าร่วมเวทีท่านหนึ่งกล่าวเสริมเพื่อเติมเต็มว่า "การปฏิรูปคือการเปลี่ยนดุลแห่งกำลัง"
ในขณะที่ผู้เข้าร่วมเวทีอีกท่านหนึ่งกล่าวอย่างหนักแน่นว่า การเปลี่ยนดุลกำลังนั้นต้องก้าวไปสู่ความหวังใหม่ (New Hope)ร่วมกัน
ผู้เข้าร่วมเวทีหลายคนได้ชี้ให้เห็นว่า การปฏิรูปประเทศไทยที่ทำในช่วง ๓ ปีก่อนหน้านี้ ที่มีการนำกระบวนการ "สมัชชาปฏิรูป" มาใช้ถือเป็นต้นทุนอันมีค่า เพราะได้เกิดเครือข่ายการทำงานในหลายประเด็นและในหลายพื้นที่ หลายเรื่องมีการวิเคราะห์วิจัยและจัดทำเป็นข้อเสนอไว้อย่างดี
เมื่อเป้าหมายสุดท้ายชัดเจน ผู้ร่วมวงต่างเสนอหนทางการปฏิรูปประเทศไทยที่นาสนใจ คือ
หนึ่ง ต้องให้ความสำคัญกับการเสริมพลังของกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ ให้เกิดจิตสำนึกสาธารณะ มีใจร่วมเฉกเช่นใจของมหามวลชนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
สอง ต้องมีประเด็นการขับเคลื่อนเพื่อเดินสู่เป้าหมายการปฏิรูปประเทศไทยที่ชัดเจน ไม่สะเปะสะปะ โดยควรหยิบประเด็นที่กินได้ เป็นประเด็นที่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตมาเป็นประเด็นร่วมในการขับเคลื่อน
สาม ต้องยึดหลักการขยายวงไม่กีดกันฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดออกจากวง ไม่เลือกสีไม่เลือกข้าง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และ
สี่ ต้องมีการตั้งวงคุยกันอย่างต่อเนื่อง หลากหลายและกระจายทุกพื้นที่ ใช้การประชุมปรึกษาหารือแบบสุนทรียสนทนาเป็นเครื่องมือ
อย่างไรก็ตาม ได้มีเสียงสะกิดเตือนจากผู้อาวุโสในวงสนทนาท่านหนึ่งกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า "การพูดคุยในหมู่พวกเดียวกัน นั้นอันตราย" และ "การยึดโยงกับผู้ใดผู้หนึ่งแต่เพียงคนเดียว ก็อันตราย"
หากเราคิดตามบทสรุปที่ผู้คนกลุ่มนี้คุยกันข้างต้น อาจจะเห็นว่ามันคล้ายภาพฝันที่ค่อนข้างเป็นนามธรรมยิ่งนัก แต่ผมคิดว่าการจะก้าวขึ้นสู่บันไดขั้นที่สิบย่อมต้องก้าวจากบันไดขั้นแรกเสมอ
บทสรุปเหล่านี้น่าจะเป็นกรอบคิดในเชิงกระบวนการที่ท้าทายต่อนักเคลื่อนไหวสังคมที่มีอุดมการณ์ฝังอยู่ในจิตใจที่จะนำไปออกแบบการทำงานตามบทบาทที่แต่ละคนมี
เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยเรามีปัญหาที่สลับซับซ้อนเชื่อมโยงกันอย่างหลากหลาย เราคงไม่สามารถจะแก้ปัญหาอันสลับซับซ้อนนั้นได้เสร็จภายในระยะเวลาอันสั้น เรื่องเหล่านี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยการรวมพลังที่หลากหลาย ใช้เวลา อันมีเป้าหมายสู่ความหวังใหม่ที่จะนำพาประเทศไทยเราธำรงอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างมั่นคงบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน
ระยะเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงเศษ ภายในห้องที่เย็นสบายด้วยเครื่องปรับอากาศ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้คนที่เห็นประโยชน์สาธารณะได้ใช้เวลามาคุยกัน
ทุกคนต่างร่ำลากันด้วยรอยยิ้มเต็มไปด้วยมิตรไมตรี ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับบ้าน
แต่มีบางคนเดินทางมุ่งหน้าไปยังเวทีประชาชนราชดำเนินเพื่อเดินตามใจของตนเอง

ข้อเสนอที่น่าคิดจากกลุ่มนักศึกษาสายสุขภาพ

๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
วิกฤตความขัดแย้งอันมีมูลเหตุมาจากการลักหลับคนไทยด้วยการใช้ สส.พวกมากลากไปออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย เหมาโหล หรือยกเข่งในเช้าตรู่ของวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นำมาซึ่งข้อเสนอทางออกของปัญหามากมาย วันนี้เราลองมาฟังข้อเสนอที่น่าคิดจากกลุ่มนักศึกษาสายสุขภาพวัยกระเตาะจากจังหวัดนครราชสีมากันครับ
ผมใช้โอกาสที่มีนักศึกษาจากคณะสาธารณสุขศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ วิทยาลัยนครราชสีมา เดินทางมาดูงานที่องค์กรผมทำงาน ในเรื่อง การพัฒนาระบบสุขภาพ ในวันนี้ ลองตั้งโจทย์ให้น้องนักศึกษาสตรีล้วนที่กำลังเรียนอยู่ปี ๒ และปี ๔ กว่า ๔๐ คน ช่วยกันขบคิด
โจทย์ที่ผมตั้งขึ้น คือ "จะแก้ไขปัญหา พรบ.นิรโทษกรรม ตามหลักการของ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้อย่างไร"
ผมเน้นย้ำนะครับว่า น้องนักศึกษากลุ่มนี้ล้วนอยู่ในวันที่เรียกว่า "วัยรุ่น" น้อง ๆ แต่ละคนช่วยกันเสนอความคิดเห็นคนละนิดละหน่อย โดยผมทำหน้าที่จดข้อเสนอเหล่านั้นบนกระดานไวท์บอร์ด ข้อเสนอที่เป็นบทสรุปทำให้ผมรู้สึกทึ่งและรู้สึกเสียดายหากผมปล่อยทิ้งไปเฉย ๆ
ผมจึงขอนำข้อเสนอของน้อง ๆ นักศึกษา มาบันทึกและเผยแพร่สู่สาธารณะ ซึ่งผมคิดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยเราได้ไม่น้อย
เรามาดูข้อเสนอเหล่านั้น ซึ่งมี ๔ ข้อ กันครับ
หนึ่ง ต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นเป้าหมายที่ทุกฝ่ายเชื่อมั่น
สอง ต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน ทั้งที่ไปที่มาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย และที่สำคัญต้องมีการเปิดเผยผลการศึกษานั้นต่อสาธารณะในวงกว้างด้วย
สาม ต้องคุยกัน โดยมีการเชื่อมโยงผู้คนต่าง ๆ ให้เข้ามาคุยกันอย่างเท่าเทียมกัน
สี่ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฟากฝ่ายในสังคมอย่างทั่วถึง
ชัดเจนไหมครับสำหรับบทสรุปที่น้อง ๆ กลุ่มนี้เสนอ ซึ่งส่วนตัวผมอดภูมิใจต่อความคิดความอ่านที่แหลมคมของอนาคตของชาติกลุ่มนี้จริง ๆ
หากเรานำข้อเสนอสี่ข้อมาใช้เป็นกรอบการแก้ปัญหา เราสามารถทำได้โดย
เราควรจะร่วมกันกำหนดเป้าหมายที่จะร่วมมือกันแก้ไขให้ชัดเจน กำหนดเป็นธงปักไว้เป็นหลักหมุดที่ทุกคนยึดถือทุกคนเชื่อมั่น
หลักจากเราได้ปักธงเป้าหมายแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำก็คือการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยอย่างรอบด้านต่อเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธงอันเป็นเป้าหมายนั้น และมีการเปิดเผยข้อค้นพบต่าง ๆ ต่อสาธารณะอย่างกว้าง
สิ่งที่ต้องทำอีกสองอย่างคือ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในวงกว้าง รวมทั้งตั้งวงคุยกัน ปรึกษาหารือกัน และหาข้อสรุปร่วมกัน
ผมคิดว่าข้อเสนอที่น้อง ๆ ได้เสนอมาทั้งสี่ข้อข้างต้นนั้น ไม่ใช่แค่เพียงทางออกต่อโจทย์ที่ผมตั้งเท่านั้น แต่ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอที่สามารถนำไปใช้ได้ในทุกเรื่อง โดยเฉพาะการนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ของกลไกรัฐทุกระดับ ตั้งแต่ระดับตำบล จนถึงระดับชาติ
เพราสี่ข้อเสนอนี้สอดคล้องกับกุศล ๓ ประการ ของนโยบายสาธารณะที่ดี ที่นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เคยสรุปไว้ ซึ่งได้แก่
กุศลทางปัญญา ซึ่งก็คือ การใช้ความรู้เป็นฐานการกำหนดนโยบาย
กุศลทางสังคม นั่นก็คือ การเปิดโอกาสให้สังคมได้เข้ามาร่วมกำหนด ร่วมคิด ร่วมพัฒนา และ
กุศลทางศีลธรรม นั่นก็คือ เป้าหมายของนโยบายต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ตกอยู่ในเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ขอบคุณน้อง ๆ นักศึกษาจากวิทยาลัยนครราชสีมากลุ่มนี้อีกครั้งหนึ่ง และขออนุญาตน้อง ๆ เผยแพร่ข้อเสนอที่น้อง ๆ ได้ช่วยกันคิดนี้ต่อสาธารณะ ทั้งนี้เพียงหวังว่าจะมีการสื่อสารไปยังผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งรวมถึงการออกกฎหมาย พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับปัญหานี้ด้วย
ลองนำความคิดของน้อง ๆ นี้ไปคิดดูนะครับท่านผู้มีอำนาจ

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วิบากบนเส้นทางยื่นแถลงการณ์

๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
ผมนั่งกระสับกระส่ายเพราะเวลาได้ล่วงเลยเวลานัดหมายกับวุฒิสภาท่านหนึ่งไว้ตอน ๑๕.๐๐ น ไปกว่า ๑๐ นาทีแล้ว
"อาจารย์ครับ รถมันติดมากครับ อาจารย์รอผมหน่อยนะครับ" คือเสียงที่ผมพูดไปทางโทรศัพท์กับบุคคลที่เรานัดหมายไว้
"ได้เลย" เป็นเสียงจากปลายทางตอบกลับมา
อีกราว ๕ นาที หลังจากจบการสนทนาทางโทรศัพท์ ผมตัดสินใจเดินลงจากรถตู้ที่จอดแน่นิ่งไม่ขยับมาเกือบครึ่งชั่วโมงเดินตามจิ๋วที่เดินนำหน้าไปก่อน
ระยะทางไม่น้อยกว่า ๕๐๐ เมตร ที่ผมเดินไปกับจิ๋วบนฟุตบาทของถนนราชวิถี ท่ามกลางแดดอันร้อนระอุ เล่นเอาผมแทบจะถอดเสื้อสูทที่ใส่มาเพื่อการเข้าพบวุฒิสภาที่นัดหมายไว้ทิ้งเสีย
ผมกัดฟันเดินไปจนถึงสี่แยกไฟแดง มองไปข้างหน้า สายตาก็พบกับลวดหนามวางขวางกั้นทางเข้าถนนที่มุ่งหน้าสู่รัฐสภา ด้านหลังลวดหนามเต็มไปด้วยตำรวจพร้อมอาวุธครบมือยืนเรียงปิดกั้นไว้เกือบครึ่งร้อยชีวิต พร้อมมีป้ายสีขาวเขียนด้วยข้อความว่า "เขตประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ"
ผมตัดสินใจข้ามถนนเดินเข้าไปหาตำรวจที่ยืนเรียงแถวอยู่ พร้อมกับตะโกนถามข้ามลวดหนามไปว่า "ผมขอเข้าไปได้ไหม"
ตำรวจหน่มรุ่นกระทงตะโกนบอกสวนกับมาว่า "คุยกับหัวหน้าผม" ยังไม่ทันพูดจบ ตำรวจอีกนายหนึ่งมีอายุสูงกว่าคนแรกตะโกนถามผ่านโทรโข่งว่า "จะไปไหนครับ"
"ผมนัดกับทางประธานวุฒิสภาไว้" ผมตะโกนตอบไปพร้อมกับยกซองกระดาษสีน้ำตาลที่ใส่เอกสารแถลงการณ์ไว้ภายในซึ่งจอยทำให้ก่อนเดินทาง หันด้านที่มีข้อควาขนาดใหญ่ว่า "เรียนประธานวุฒิสภา" ไปให้ตำรวจนั้นดู
"ผมได้รับคำสั่งให้ปืด ห้ามคนเข้าเด็ดขาด ต้องขอโทษด้วยนะครับ" ผมรู้สึกประทับใจกับตำรวจรายนี้จังที่พูดจาสุภาพดีจัง แต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกหงุดหงิดที่งงว่าจะถามเราทำไม
"พี่เดินไปอีกประตูหนึ่งด้านนั้น จะเข้าได้" ตำรวจรายเดิมตะโกนแนะนำทางแก่ผม พร้อมกับชี้มือไปทางขวามือผม
ผมกล่าวขอบคุณตำรวจรายนั้นไป พร้อมกล่าวชวนจิ๋วเดินไปตามฟุตบาทผ่านหน้าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยไป
ผมก้าวจ้ำอ้าว เหงื่อเปียกชุ่มไปทั้งตัว ระหว่างที่ก้าวเท้าเดินไปหูก็ได้ยินเสียงจิ๋วคุยกับเด็กนักเรียนชาย ๒ คน ที่เดินร่วมทางมาด้วยกัน
เสียงที่ดังแว่วมาถึงหูผม รับรู้แต่เพียงว่าจิ๋วกำลังชวนน้องนักเรียนคุยกันถึงเรื่องการที่มีคนมาประท้วง โดยได้ยินจิ๋วพยายามอธิบายเหตุผลให้น้องทั้งสองฟังถึงสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ในใจก็อดชมจิ๋วไม่ได้ที่ยังมีอารมณ์ครู ซึ่งผมนั้นรู้สึกควาเหนื่อยมันเพิ่มขึ้น ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป จนไม่อยากจะพูดกับใคร
ผมกับจิ๋วเดินมาถึงสี่แยก ก่อนตัดสินใจเลี้ยวซ้ายเดินตามฟุตบาท สายตามองไปไม่เห็นประตูที่ตำรวจแนะนำเมื่อสักครู่เลย แต่ทุกอย่างต้องเดินหน้า
ระหว่างที่เดิน เดิน เดิน ในมือก็โทรศัพท์ประสานกับวุฒิสภาที่นัดหมายไว้ เพื่อเล่าสถานการณ์ให้ฟัง คำแนะนำที่ได้รับคือ "เอาไว้วันหลังไหม" ซึ่งผมตัดสินใจตอบยืนยันขอเป็นวันนี้ โดยขอร้องให้รอทีมผมด้วย
สายที่ผมกดไปหาอีกรายคือต๊ะผู้ขับรถตู้พาทีมร่วมคณะ โดยเล่าสถานการณ์ให้ฟัง พร้อมกับให้พยายามขับรถตามมา
"มอเตอร์ไซด์ไหมพี่" ชายวัยหนุ่มตัวเล็ก ผิวขาวใส่เสื้อสีเข้มสวมทับด้วยเสื้อวิน กางเกงยีนส์ ตะโกนถามผมกับจิ๋ว ที่เดินเข้าไปหา
"ผมจะเข้าไปในรัฐสภา ไปได้หรือ" ผมตอบกลับไป
"ชัวร์ ผมเพิ่งพาคนเข้าไปเมื่อสักครู่หนึ่งคน" หนุ่มวินยืนยันแบบมั่นใจ
"จริงหรือว่ะ" ผมถามกลับไป
"เชื่อผม ถ้าเข้าไม่ได้ ผมไม่เอาตังค์" หนุ่มวินเอ่ยแบบท้าทาย
ผมตัดสินใจพยักหน้าพร้อมกับก้าวขึ้นนั่งบนเบาะ โดยมีจิ๋วก้าวซ้อนหลังผมไปอีกคน
"นี่กูซ้อนสามเลยนะเนี่ย จะโดนซิวไหมนี่" ผมคิดไปตลอดทาง
หนุ่มวินขับพารถมอเตอร์ไซด์ลัดเลาะ เลี้ยวซ้ายทีขวาทีไปตามช่องว่างของรถยนต์ที่จอดแทบไม่ขยับ จนมาถึงสี่แยก ก่อนที่จะเลี้ยวซ้ายไปยังถนนที่มุ่งหน้าสู่รัฐสภาด้านซ้านเป็นสวนสัตว์ดุสิต สายตาเห็นชายฉกรรจ์ในชุดตำรวจชายแดนพร้อมอาวุธครบมือเต็มพรึดไปหมด ที่ทางเข้ามีหลวดหนามและแผงกั้น เปิดเป็นช่องให้รถยนต์ออกได้เพียงช่องเดียว
หนุ่มวินจอดรอตรงแผงกั้นเพราะมีรถตำรวจนำขบวนรถยนต์และรถบัสวิ่งสวนออกมานับสิบคัน
"พี่ไม่ต้องพูดอะไรนะ ทำเฉย ๆ เข้าไว้ " เสียงหนุ่มวินกระซิบบอกผม
ผมนิ่งไม่ตอบ อดคิดถึงจิ๋วไม่ได้ว่ากำลังคิดอะไรอยู่ สำหรับผมคิดไปตลอดทางว่า ถ้าตำรวจเข้ามาถามผมว่าจะไปไหน ผมควรจะตอบว่าอย่างไร
ในใจอุ่นขึ้น เมื่อมองไปที่ซองกระดาษสีน้ำตาลซองเดิมที่ผมใช้เมื่อครู่ ซองนี้แหละคือไม้กันผี ผมคิดอยู่ในใจ
หลังจากขบวนรถผ่านพ้นไป หนุ่มวินรีบบิดคันเร่งขับเลี้ยวไปเลี้ยวมา ผ่านฝูงตำรวจนับร้อยที่ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้างอยู่เต็มท้องถนนและฟุตบาท มองไปบนถนนเห็นเอ็ม ๑๖ วางเรียงรายเต็มไปหมด "พี่รู้หรือปล่าว เมื่อสักครู่เขาฉีดแก๊สน้ำตาไล่ม็อบไป" เสียงหนุ่มวินถามขึ้นในขณะที่ขับรถพาผมกับจิ๋วห้อตะบึงไปข้างหน้า
"มีด้วยหรือ" ผมถามกลับไป
"อ้าวพี่ไม่รู้หรือ" เสียงตอบกลับมา
ในใจพลันอดคิดไปว่า ถ้าผมอยู่ในเหตุการณ์ผมต้องทำอะไร เพราะไม่ได้เตรียมอะไรมาเลย แต่เหตุการณ์ก็ไม่มีอะไรตามที่คิดเลยเถิดไป รถมอเตอร์ไซด์วิ่งพามาจอดพืดที่หน้ารัฐสภา
"แค่นี้แหละครับ" หนุ่มวินกล่าวขึ้นหลังจากรถจอดสนิท
"ผมให้ ๑ ร้อยนะ" ผมกล่าวพร้อมหยิบกระเป๋าสตางค์จากกระเป๋ากางเกงออกมาถือ
"ผมขอคนละร้อยครับ" หนุ่มวินมอเตอร์ไซด์กล่าวสวนขึ้นทันควัน
บรรยากาศแบบนี้ผมคงไม่มีอารมณ์ที่จะมาต่อรอง แง้มดูเงินในกระเป๋ามีแต่แบงค์พัน
"จิ๋วมี" จิ๋วซึ่งมาด้วยควักเงินในกระเป๋าจ่ายเงินให้แก่หนุ่มวินนั้นไป
ผมกับจิ๋วเดินเข้าประตู สวนกับเจ้าหน้าที่รัฐสภาที่ทยอยเดินสวนออกไป ในใจก็คิดว่า "ทำเฉย" ไม่ต้องไปถามเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนอยู่ที่ประตูอีกหนึ่งรายตามที่หนุ่มวินแนะนำเมื่อสักครู่
ผมก้าวพ้นขอบประตูรั้วรัฐสภา ก้าวเข้าไปสู่ลานกว้างหน้าอาคารรัฐสภา ในใจรู้สึกโล่งสบาย พร้อมกับหยิบโทรศัพท์โทรกลับไปที่รถตู้ที่ผมลงมาเมื่อประมาณ ๑ ชั่วโมง เพื่อเล่าสถานการณ์และแนะนำวิธีการเข้ารัฐสภาให้กับทีมที่มาด้วยฟัง
นี่คือวิบากที่ผมประสบบนเส้นทางสู่รัฐสภาเพื่อยื่นแถลงการณ์ต่อรองประธานวุฒิสภาคัดค้าน พบ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับสุดซอย ตามที่นัดหมายไว้ ในใจก็อดคิดไม่ได้ว่า ที่ผมต้องทำในวันนี้เป็นผลของรัฐบาลที่เรียกตัวเองว่า "รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน" กระทำไว้
แม้นจะเหนื่อยแสนเหนื่อย แต่ใจบอกกับตัวเองตลอดเวลาว่า "ต้องทำให้ได้" และผมก็ทำได้ตามทีตั้งใจไว้จริง ๆ

แถลงการณ์เครือข่ายคนรักสุขภาพและเครือข่ายคนรักประเทศไทย ฉบับที่ ๒

๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
บนวิบากตลอดเส้นทางสู่การยื่นแถลงการณ์คัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง หรือสุดซอย ต่อวุฒิสภา เพราะเป้าหมายที่เราจะเดินทางตั้งอยู่ในพื้นที่ของการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ แต่ด้วยเป้าหมายที่จะร่วมสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยที่แสนยิ่งใหญ่ จึงเป็นพลังผลักดันให้คณะของเราปฏิบัติภารกิจนั้นสำเร็จเสร็จสิ้นลง
ผมรู้ตัวว่าได้รับการวางตัวให้เป็นผู้แทนคนหนึ่งของเครือข่ายคนรักสุขภาพและเครือข่ายคนรักประเทศไทย ที่ต้องทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ ในขณะที่ผมนั่งทำหน้าที่เลขานุการการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างนโยบายสาธารณะว่าด้วยการตายดี ที่จัดขึ้นที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร ในช่วงเวลา ๑๑.๐๐ น.
ผมแตะมือมอบให้ทีมงานที่นั่งอยู่ด้วยกันให้ทำหน้าที่แทน ก่อนจะรีบเดินทางไปพบกับอีกเครือข่ายท่านอื่น ณ ที่นัดหมาย เพื่อปรึกษาหารือกัน
เรานัดหมายกับทางวุฒิสภาไว้ตอน ๑๕.๐๐ น. เราจึงออกเดินทางจากที่ตั้งตอน ๑๔.๐๐ น. โดยรถตู้ แต่เราคาดการณ์ผิด เพราะว่าสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในขั้นวิกฤต พื้นที่บริเวณรอบรัฐสภาถูกปิดกั้นด้วยรั้วลวดหนามและมีกองกำลังปราบผู้ชุมนุมเต็มพื้นที่ไปหมด ส่งผลให้การจราจรติดหนึบ รถตู้ไม่สามารถฝ่าไปยังเป้าหมายได้
แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยการเปลี่ยนวิธีการเดินทางจากรถตู้ มาเป็นการเดินและมอเตอร์ไซด์รับจ้าง คณะขอเราจึงสามารถอ่านและยื่นแถลงการณ์ต่อรองประธานวุฒิสภาท่านหนึงได้ ในขณะที่เวลาได้ล่วงเลยเวลานัดหมาไปกว่า ๑ ชั่วโมงครึ่ง
และต่อไปนี้คือข้อความของแถลงการณ์ฉบับนั้น
..................................
แถลงการณ์ “เครือข่ายคนรักสุขภาพ และ เครือข่ายคนรักประเทศไทย” ฉบับที่ ๒
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรได้อาศัยเสียงข้างมาก ผ่านวาระ ๓ ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ฉบับทำลายหลักนิติธรรม ฟอกผิดให้คนโกงไม่จริงใจต่อประชาชน จนเกิดเป็นวิกฤติศรัทธา และเกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านทั่วประเทศนั้น เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา “เครือข่ายคนรักสุขภาพ และเครือข่ายคนรักประเทศไทย” นำโดยนายวิสุทธิ บุญญะโสภิต นายสุรพงษ์ พรมเท้า และตัวแทนภาคีเครือข่ายทั่วประเทศกว่า ๑๐๐ คน ได้ออกแถลงการณ์ประณาม และต่อต้าน พ.ร.บ.ฯ ฉบับดังกล่าว และได้แสดงพลังเดินขบวนต่อต้านที่หน้าอาคารสุขภาพแห่งชาติ ในกระทรวงสาธารณสุข (แถลงการณ์และภาพถ่ายการแสดงพลังตามที่แนบ)
เนื่องจากกฎหมายดังกล่าว จะถูกนำ เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ แม้ขณะนี้นายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ได้แถลงว่าพร้อมที่จะถอย และประธานวุฒิสภาแถลงว่าจะไม่รับหลักการในวาระ ๑ แล้วก็ตามแต่เครือข่าย ก็ยังไม่มีความมั่นใจ และไม่เชื่อใจคำแถลงเหล่านั้น เพราะการกระทำที่ผ่าน ๆ มาได้สร้างให้ประชาชนขาดความไว้วางใจว่าพวกเขาจะคิดและทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง มากกว่าจะทำเพื่อคนบางคนบางกลุ่ม
ดังนั้น “เครือข่ายคนรักสุขภาพ และ เครือข่ายคนรักประเทศไทย” ขอแถลงการณ์ (ฉบับที่ ๒) เพื่อยื่นต่อสมาชิกวุฒิสภาให้พิจารณาการทำหน้าที่โดยตระหนัก และคำนึงเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต่อต้านและไม่ยอมรับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพวกมากลากไปนี้
ลงชื่อ "เครือข่ายคนรักสุขภาพและเครือข่ายคนรักประเทศไทย"
วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
.....................................
หลายประโยคที่กล่าวโดยวุฒิสภาที่เราไปพบครั้งนี้ กล่าวขอบคุณพลังของเครือข่ายของเราที่เห็นแก่ประโยชน์ต่อบ้านเมือง และให้ความสำคัญต่อบทบาทของวุฒิสภาว่าเป็นกลไกที่จะคลี่คลายปัญหาอันหนักอึ้งที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศชาติได้ โดยรับปากว่าจะปฏิบัติหน้าที่ที่ตระหนักและคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่อย่างมั่นคง
ผมในฐานะที่ร่วมอยู่ในเวลาประวัติศาสตร์นั้น จึงขอนำคำขอบคุณจากวุฒิสภาเหล่านั้นมาส่งต่อเพื่อนสมาชิกของเครือข่ายได้รับทราบร่วมกัน
และที่สำคัญพวกเราควรจะภูมิใจร่วมกันว่าเครือข่ายของเราเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ที่มีเป้าหมายเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งประเทศที่ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม อย่างมั่นคง

การเสริมสร้างสุขภาวะเพื่อการตายดี

๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
ความตายนับเป็นสัจจธรรมของชีวิต ที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามไม่สามารถหลีกพ้น แต่มีคนน้อยมากที่มีการเตรียมตัวที่จะตายในสภาวะทีดี หรือ "การตายดี" เหตุเพราะความประมาท จึงขาดการเตรียมพร้อมที่จะเดินเข้าสู่ความตายที่ดี แต่ในทางตรงกันข้ามที่มีผู้คนไม่น้อยที่ได้วางแผนและเตรียมตัวเดินหน้าเข้าสู่ความตายไว้อย่างสวยงาม
คนเราแต่ละคนมีการใช้ชีวิตในขณะที่มีลมหายใจอยู่แตกต่างกัน
บางคน ใช้เวลาที่มีลมหายใจอยู่ เร่งหาเงินเพื่อนำมาสร้างความสุขแก่ตนและครอบครัวให้มากที่สุด
บางคน ใช้เวลาที่มีลมหายใจอยู่ แสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอความสุขทุกวิถีทาง ทั้งดื่ม กิน เที่ยว และเสพสุขทางกามารมณ์
บางคน ใช้เวลาที่มีลมหายใจอยู่ ประพฤติปฎิบัติและอุทิศตนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติอย่างต่อเนื่องและมั่นคง
บางคน ใช้เวลาที่มีลมหายใจอยู่ เพื่อค้นหาเส้นทางสายธรรมะโดยหวังจะมีความสุขที่แท้จริงในชีวิตตามหลักศาสนาที่ตนเองศรัทธา
เหล่านี้คือความแตกต่างกันของฐานคิดของผู้คน จึงผลักดันให้วิถีปฏิบัติของตนออกมาแตกต่างกัน
๗ องค์กร อันประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงเห็นพ้องต้องกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยเราต้องมีนโยบายสาธารณะว่าด้วยการเสริมสร้างสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต ขึ้นมาเป็นกรอบในการทำงานขององค์กร หน่วยงานและเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมกัน
ร่างแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต จึงเกิดขึ้น
ระยะเวลากว่า ๑ ปี ที่มีการประชุมปรึกษาหารือ วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจัดทำเป็นร่างแผนยุทธศาสตร์ฉบับแรกนำเสนอเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๖ จนได้ร่างแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่สอง และนำมาเสนอเพื่อขอรับฟังความเห็นจากสาธารณะอีกครั้งหนึ่งในวันนี้ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร ที่มีผู้เข้าประชุมกว่า ๔๐๐ คน
เป้าประสงค์ ๒ ประการของแผนยุทธศาสตร์ อันได้แก่ การทำให้ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีทัศนคติที่ดี มีความรู้ความเข้าใจ มีสิทธิ์และสามารถเข้าถึงและได้รับการปฏิบัติด้านการดูแลแบบประคับประคองอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการมีระบบบริการดูแลแบบประคับประคองรองรับการตายดีที่เป็นองค์รวมอย่างครอบคลุมเพียงอ มีคุณภาพและได้มาตรฐาน
๓ ยุทธศาสตร์ หรือเส้นทางสู่เป้าประสงค์ข้างต้น ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ เสริมสร้างความรู้ ทัศนคติที่ดีต่อการมีสุขภาวะในช่งท้ายของชีวิตและตายดีและการดูแลแบบประคับประคอง
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ พัฒนาและจัดระบบบริการดูแลแบบประคับประคองในช่วงท้ายของชีวิตที่ได้คุณภาพ มาตรฐาน ครอบคลุม เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะในช่วงท้ายของชีวิตและรองรับการตายดี
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ
แม้นจะเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับสังคมไทยที่มีการหยิบเรื่องที่เกี่ยวกับ "ความตาย" มาพัฒนาเป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ แต่ก็ได้รับความสนใจจากผู้ที่เข้ามาร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและร่วมแสดงความคิดเห็นที่ล้วนมีประโยชน์ต่อการปรับปรุงร่างแผนยุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ทุกความเห็นจะถูกนำไปประกอบการพิจารณาเพื่อปรับปรุงร่างแผนยุทธศาสตร์ และนำเข้าสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ อีกครั้งหนึ่ง
ผมขอสรุปว่า นอกเหนือจากเป็นการทำสิ่งใหม่ ๆ ที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคนแล้ว ยังเป็นการพัฒนากระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า "สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น" ที่เกิดขึ้นจากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
อันเป็นการพัฒนากระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะที่ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของร่วมกัน อันเป็นแบบอย่างหรือเป้าหมายที่พึงประสงค์ของการกำหนดนโยบายสาธารณะในเรื่องอื่น ๆ อีกด้วย

สมัชชาสุขภาพบานสะพรั่งที่เทศบาลนครพิษณุโลก

๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ในวงการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผมเชื่อว่า อปท. เกือบทุกแห่งรู้จักและอยากได้รางวัลอันทรงเกียรติที่มีชื่อว่า "รางวัลพระปกเกล้า" มาครอบครอง ในแต่ละปีจะมี อปท. หลายร้อยแห่งเสนอผลงานเพื่อขอรับรางวัลนี้
และเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สถาบันพระปกเกล้าได้มีการประกาศผล อปท. ที่ได้รับ "รางวัลพระปกเกล้า ประจำปี ๒๕๕๖" ออกมาเรียบร้อยแล้ว
ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องที่ผมตั้งใจจะนำมาบอกเล่า เรามารู้จักกับรางวัลนี้กันก่อน
"รางวัลพระปกเกล้า" เป็นรางวัลที่มีการประกาศต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ เพื่อประกาศเกียรติคุณแก่ อปท.ที่มีความเป็นเลิศด้านความโปร่งใส และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวและมีส่วนร่วมทางการเมืองและส่งเสริมการพัฒนาเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาท้องถิ่น แบ่งเป็น ๓ ประเภทรางวัล อันได้แก่ ประเภทที่ ๑ ด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ประเภทที่ ๒ ด้านการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ และประเภทที่ ๓ ด้านการเสริมสร้างเครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม
เมื่อรู้จักับรางวัลนี้เป็นพื้นฐานแล้ว เรามาเข้าเรื่องในสิ่งที่ผมอยากจะบอกเล่ากันดีกว่า
สิ่งที่นำมาซึ่งแรงบันดาลใจสำคัญผลักดันให้ผมหยิบเรื่องนี้มาเขียน ก็เพราะมี อปท. แห่งหนึ่งได้รับรางวัลนี้ เป็น อปท. ที่มีการนำเอาเครื่องมือที่เรียกว่า "สมัชชาสุขภาพ" ไปปรับใช้
และต้องบอกว่า "สมัชชาสุขภาพ" นี้เป็นเครื่องมือที่องค์กรที่ผมทำงานอยู่ กำลังหนุนเสริมองค์กรต่าง ๆ นำไปปรับใช้ในการพัฒนา "นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม"
อปท. ที่ผมกำลังกล่าวถึงคือ เทศบาลนครพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ที่เป็น อปท. ๑ ใน ๑๒ แห่งที่ได้รับรางวัลพระปกเกล้าด้านการเสริมสร้างเครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม ไปครอง
ผมรับทราบข่าวนี้จากเพื่อนที่ทำงานส่งไลน์มาบอก ในขณะที่ผมกำลังประชุมอยู่ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร
ความรู้สึกชื่นชมกับเทศบาลนครพิษณุโลก เกิดขึ้นกับผมโดยฉับพลัน ในใจพลันคิดไปถึงพี่สุกัญญา บำรุงชาติ พยาบาลจากเทศบาลนครพิษณุโลก ซึ่งเคยมาเป็นกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในช่วงปี ๒๕๕๔ - ๒๕๕๕ ที่ผมรู้จัก
ผมตัดสินใจโทรศัพทืไปหาพี่สุกัญญาฯ ในขณะที่กำลังเดินทางกลับสำนักงาน เพื่อขอแสดงความยินดี และชื่นชมในการได้รับรางวัลครั้งนี้
"มี ๑๑ โครงการที่เราเสนอไป และกรรมการเขาสนใจใน ๓ โครงการ และโครงการสมัชชาสุขภาพเป็น ๑ ใน ๓ โครงการ ที่กรรมการลงมาดูงานในพื้นที่" เป็นเสียงจากคู่สนทนาที่อธิบายมาจากปลายสาย
"พี่ต้องขอบคุณทาง สช. มากนะ ที่ทำให้พี่ได้รู้จักกับสมัชชาสุขภาพ" พี่สุกัญญาบอกเล่าความรู้สึกให้ผมฟัง
ความจำผมย้อนกลับไปเมื่อกลางปี ๒๕๕๕ ในวันนั้นผมได้มีโอกาสร่วมไปกับคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนั้นลงไปดูงานที่เ?บาลนครพิษณุโลก จึงรู้ว่า ที่เทศบาลนครแห่งนี้ได้นำเครื่องมือสมัชชาสุขภาพมาใช้ โดยได้จัดเวทีภายใต้ประเด็นหลักว่า “สุขภาวะที่ร่วมสร้าง หนทางที่เป็นไปได้” หรือ Healthy : It’s possible ขึ้นในปลายเดือนมกราคม ปี ๒๕๕๕
ในการจัดสมัชชาสุขภาพครั้งนั้น ได้มีการกำหนดระเบียบวาระการประชุมไว้ ๓ ประเด็น อันเป็นประเด็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ อันได้แก่ (๑) การแก้ปัญหาโภชนาการเกิน (หวานเกิน เค็มเกิน มันเกิน) (๒) ผลกระทบจากพฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่น (สารเสพติด เพศสัมพันธ์ การแต่งกาย สื่อ เกม และอื่นๆ)และ (๓) การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการเกิดโรคไข้เลือดออก
แรงบันดาลใจที่ได้นำเครื่องมือนี้มาใช้ในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้เกิดขึ้นจาก การได้เห็นคุณค่าของเครื่องมืออันค่อย ๆ ซึมซับจากการที่ได้เข้ามาร่วมเป็นกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ๒ ปีซ้อน และเมื่อเห็นว่าดี และมีความเข้าใจในกระบวนการอย่างชัดเจนแล้ว จึงนำไปปรึกษาหารือกับผู้บริหารเทศบาล และก็ได้รับไฟเขียวให้ดำเนินการ
วันเวลาผันผ่านไป ๑ ปีเศษ ผลของการนำสมัชชาสุขภาพไปขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งในพื้นที่ ได้ออกดอกออกผลจนเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะกรรมการรางวัลพระปกเกล้าที่ให้การยอมรับให้ อปท. แห่งนี้ได้รับรางวัลนี้ไปประดับช่อเกียรติยศประจำปี ๒๕๕๖ นี้
พี่สุกัญญาฯ ยังเล่าต่อให้ผมอิ่มเอมใจอีกว่า ยังลุ้นอีก ๒ รางวัล ทั้งรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น และรางวัลเมืองน่าอยู่ ซึ่งก็ใช้โครงการสมัชชาสุขภาพเป็นโครงการส่งเข้าประกวด
ผมจับน้ำเสียงของคู่สนทนาผมได้ว่า กำลังมีความสุขที่ความมุ่งมั่นได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า
ผมในฐานะที่เป็นบุคลากรในองค์กรที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระบวการสมัชชาสุขภาพก็ย่อมมีความปิติสุขตามไปด้วย
นอกเหนือจากความสุขที่เกิดขึ้นกับตัวผมแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นกับตัวผม สิ่งนั่นคือ เป็นการยืนยันว่า "สมัชชาสุขภาพ" สามารถนำมาใช้เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จริง ๆ
กราบขอบพระคุณผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และประชาชนในเขคเทศบาลนครพิษณุโลกมา ณ โอกาสนี้ ที่ได้สร้างหลักฐานยืนยันแก่สังคมไทยและสังคมโลกเช่นนั้น
ผมมั่นใจว่าอีกไม่นาน ต้นแบบที่เกิดที่เทศบาลนครพิษณุโลกนี้ จะขยายเมล็ดพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวางไปยัง อปท. แห่งอื่น ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง อย่างแน่นอน

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ต้นไม้ต้นนี้ชื่อ...สมัชชาพิจารณ์

๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
หากเราจะปลูกต้นไม้ใหญ่ที่หวังจะกินผลสักต้น คงต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมดิน เตรียมพันธุ์ ให้เวลารดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย คอยระวังแมลงหรือสัตว์มากินมาแทะทำลายต้นและใบ คอยประคบประหงมจนออกดอกออกผล แล้วเติมปุ๋ย และดูแลให้ต้นไม้นั้นยืนยงผลิตลูกผลให้เรากินอย่างยาวนาน ฉันใดก็ฉันนั้น งานพัฒนาก็เฉกเช่นเดียวกับการปลูกต้นไม้ ที่ต้องให้เวลา ให้ความมุ่งมั่น จวบจนงานพัฒนานั้นจะส่งผลดีต่อความเป็นอยู่ของผู้คนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย
งานพัฒนาหนึ่งที่ผมขอหยิบมาเขียนบอกเล่าในวันนี้คือ ต้นไม่ที่ชื่อ "สมัชชาพิจารณ์"
ผมรู้จักกับคำว่า "สมัชชาพิจารณ์" ครั้งแรกในปี ๒๕๕๔ เมื่อครั้งที่แกนเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลยโทรมาเล่าให้ฟัง และชวนให้ผมไปช่วยเรื่องการพัฒนาเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำเข้าเวทีสมัชชาพิจารณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๘ อุดรธานี
ผมมาเข้าใจกับคำว่า "สมัชชาพิจารณ์" ในภายหลังว่า เกิดขึ้นจากความต้องการยกระดับการดำเนินงานตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๘(๑๓) ให้มีการรับฟังความคิดเห็นเป็นประจำทุกปี และเครื่องมือที่ต้องการนำมายกระดับการรับฟังความคิดเห็นโดยใช้หลักการของ "สมัชชาสุขภาพ" เป็นต้นแบบ
รูปธรรมของการนำเครื่องมือที่เรียกว่า "สมัชชาสุขภาพ" มาใช้นั้น ครอบคลุมทั้ง การเปิดรับประเด็นเชิงนโยบาย การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย การรับฟังความคิดเห็นที่บางจังหวัดลงไปถึงระดับตำบล การจัดกลุ่มเครือข่ายที่ครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในปีนั้น ผมจำได้ว่า กระบวนการพัฒนาสมัชชาพิจารณ์ของจังหวัดเลยได้รับการประกาศผลให้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยอาร์ทูอาร์ (R2R)ประจำปี ที่จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
"เลยโมเดล" ได้ถูกขยายออกไปจนครบทุกจังหวัดในเขตความรับผิดชอบของ สปสช.เขต ๘ อุดรธานี ในปี ๒๕๕๕ และต่อเนื่องมาจนถึงปี ๒๕๕๖ ด้วยแรงสนับสนุนจาก สปสช.ระดับชาติและระดับเขต
มติ "สมัชชาพิจารณ์" ที่ออกมาถูกนำเสนอต่อกลไกของ สปสช. ที่มีอยู่ทั้งระดับชาติ ระดับเขต ระดับจังหวัด และระดับตำบล ซึ่งผมถือว่าเป็นจุดแข็งที่สำคัญ เพราะมีกลไกรองรับมติที่ออกมาอยู่ทุกระดับ
หลายมติบอร์ดของ สปสช. ได้นำมาพิจารณากำหนดเป็นนโยบาย หลักเกณฑ์ และแนวทางประกาศใช้ครอบคลุมทั้งประเทศ
หลายมติถูกนำไปเป็นกรอบในการกำหนดแผนงานโครงการของ สปสช. ระดับเขต และระดับจังหวัด ซึ่งมีกลไกและงบประมาณรองรับอยู่
หลายมติถูกนำไปขับเคลื่อนในกลุ่มของแกนเครือข่ายที่มีส่วนร่วมในกระบวนการมาตั้งแต่ต้น
และหลายมติถูกนำไปเป็นกรอบในการยกระดับงานในระดับตำบล ที่มีกองทุนสุขภาพตำบลเป็นงานสำคัญของพื้นที่ บางกองทุนมีการนำสมัชชาสุขภาพไปใช้ในการกำหนดแผนงานโครงการแบบมีส่วนร่วม บางกองทุนมีการจัดทำเป็นธรรมนูญสุขภาพขึ้น ทั้งนี้จากพลังของแกนเครือข่ายที่มีต้นทุนจากเครืองมือตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นกลไกขบเคลื่อนที่สำคัญ
จากจุดเริ่มต้นในไม่กี่ตำบล เริ่มขยายตัวจากกระบวนการเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำและต่อเนื่องตลอด ๓ ปีกว่า
แรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าของพื้นที่ต้นแบบเหล่านี้ นำมาสู่การตั้งเป้าหมายต้องการให้มีศูนย์เรียนรู้ในทุกอำเภอของเขต ๘ ที่มีอยู่ ๘๗ อำเภอ อย่างน้อยอำเภอละ ๑ ตำบล จึงเกิดขึ้น
ระยะเวลากว่า ๓ ปี ต้นไม้ที่ชื่อ...สมัชชาพิจารณ์ได้หยั่งรากลงสู่ผืนดินอย่างมั่นคง แผ่กิ่งก้านสาขาไปในวงกว้างทุกวันที่ผันผ่านไป นับเป็นความสวยงามที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของแกนเครือข่ายจากทุกภาคส่วนใน ๗ จังหวัดของเขต ๘ อุดรธานี ที่มีเป้าหมายที่ต้องการยกระดับการรับฟังความคิดเห็นให้เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า "สมัชชาสุขภาพ"
ผมมั่นใจว่าต้นไม้ต้นนี้ ได้เริ่มออกดอกออกผลให้ผู้คนที่คอยรดน้ำพรวนดินได้มีความสุข และถือเป็นต้นแบบของกระบวนการพัฒนาอีกหนึ่งขบวนที่ได้ใช้เวลายาวนานกว่า ๓ ปี ในการก่อร่างสร้างตัวจนเริ่มมีความเข้มแข็งและมั่นคง ยืนยงต่อไปในอนาคต
ผมขอเป็นกำลังใจต่อการขับเคลื่อนงานใน ๘๗ อำเภอเป้าหมายที่วางไว้ และขอกล่าวสั้น ๆ ว่า ผมขอชื่นชมกับต้นไม้ที่ชื่อ...สมัชชาพิจารณ์ด้วยคนครับ

วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

แถลงการณ์ของเครือข่ายคนรักสุขภาพและเครือข่ายคนรักประเทศไทย

๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ดีใจมากครับ ที่ได้รับเกียรติให้เป็นคนหนึ่งในการอ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายคนรักสุขภาพและเครือข่ายคนรักประเทศไทย แสดงจุดยืนคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ที่ถูกเรียกว่ากฎหมายอัปยศ ในวันนี้ เพราะกิจกรรมนี้แม้นจะเป็นเสียงเล็ก ๆ แต่เป็นงานที่สำคัญที่มีคุณค่า เป็นงานที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้คงอยู่ในความน่าเชื่อถือของนานาประเทศในสังคมโลก เป็นประเทศที่ยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐ และยึดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างมั่นคง
เวลา ๑๖.๐๐ น. เครือข่ายคนรักสุขภาพและเครือข่ายคนรักประเทศไทย จากที่ต่าง ๆ ต่างทยอยเดินทางมาสมทบกันที่หน้าอาคารสุขภาพแห่งชาติ เพื่อร่วมเดินไปยังลานพระะราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้าตึกกระทรวงสาธารณสุข
ระหว่างการเดินทางมีพี่น้องที่เห็นได้เดินเข้ามาร่วมสมทบ จากจุดเริ่มต้นที่มีไม่กี่สิบคน กลายเป็นขบวนหลักร้อย ทุกคนต่างถือธงไตรรงค์ ถือป้ายขนาดใหญ่ ที่มีข้อความคัดค้านกฎหมายสุดซอยฉบับนี้ เสียงนกหวีด พร้อมแตร ดังสลับกันไปตลอดการเดินทาง
คณะของเราเดินทางมาถึงจุดหมายพร้อมเริ่มต้นด้วยการถวายสักการะพระบรมรูปของทั้ง ๒ พระองค์ พร้อมขออนุญาตใช้ลานหน้าพระราชอนุสาวรีย์นั้นเป็นสถานที่อ่านแถลงการณ์ ผมและพี่สุรพงษ์ พรมเท้า เครือข่ายคนรักสุขภาพจากจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นผู้ทำหน้าที่นั้น
มีผู้คนและนักข่าวบางสำนักมามุงดูหลายสิบคน บางคนทนไม่ไว้ขอเข้ามาร่วมขบวนกับคณะของเราด้วย
.....................................
แถลงการณ์ “เครือข่ายคนรักสุขภาพ และ เครือข่ายคนรักประเทศไทย”
ตามที่สภาผู้แทนราษฎรที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำฝ่ ายรัฐบาล ได้อาศัยเสียงข้างมาก ดันทุรังหักดิบลงคะแนนเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... วาระที่ ๓ ไปแล้วเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ นั้น การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่อาศัยพวกมากลากไป ทำลายหลักนิติธรรม แปรญัตติเกินกว่าหลักการที่เห็นชอบกันไว้ในวาระที่ ๑ ออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของฝ่ ายนิติบัญญัติพึงกระทำ โดยหวังเพียงเพื่อฟอกความผิดให้คนทุจริตที่ผ่าน การตัดสินของศาลมาแล้ว
กฎหมายฉบับนี้เริ่มยกร่างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนิรโทษกรรมให้กับประชาชนคนเล็กคนน้อยที่เข้าข่ายความผิดในช่วงที่บ้างเมืองเกิดความขัดแย้งทางการเมืองแต่ในที่สุด สส.พวกมากได้พลิกพลิ้วออกกฎหมายให้มีผลเลยไปไกลกว่านั้น โดย สส. ผู้ขอแปรญัตติได้ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า กระทำเพื่อให้ลูกพี่ที่อยู่แดนไกลได้พ้นผิด ซึ่งเป็นการกระทำอันน่ารังเกียจ ผิดหลักการออกกฎหมายที่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของมหาชนเป็นสำคัญ
การกระทำของ สส.พวกมากลากไปดังกล่าว เป็นการกระทำที่ดูถูกประชาชนเหมือนว่าเมื่อมีเสียงข้างมากแล้วจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ ไม่ว่าผิดหรือถูกชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม เป็นการกระทำที่ทำลายหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่ดีงาม
ในนามของประชาชน “เครือข่ายคนรักสุขภาพ และ เครือข่ายคนรักประเทศไทย” ที่รวมตัวกันขึ้นมาจากประชาชนหลายหมู่เหล่า ในทุกพื้นที่ของประเทศขอประณามการกระทำ ดังกล่าว และขอแสดงการต่อต้าน ไม่ยอมรับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับดังกล่าวที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว
เครือข่ายฯ จะติดตามและดำเนินการต่อต้านทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ออกมามีผลบังคับใช้
เครือข่ายฯ ขอแสดงความเสียใจต่อประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ความไม่สงบ ที่ควรจะได้รับอานิสงส์จากกฎหมายฉบับนี้ ตามร่างแรกที่มีการเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องรอคอยกฎหมายนิรโทษกรรมสำหรับประชาชนต่อไปอีก ทั้งนี้ เนื่องจากเหตุเลวร้ายแทรกซ้อนเกิดขึ้นจาก สส.พวกมากที่ไม่มีความจริงใจกับประชาชนปฏิบัติหน้าที่โดยมีวาระซ้อนเร้น ผลจึงเกิดอย่างที่เห็นกันอยู่ในขณะนี้ พวกเราจะไม่เรียกร้องให้ สส.พวกมากที่ร่วมลงมติเห็นชอบกับกฎหมายนิรโทษกรรมยกเข่งฉบับนี้ ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากการเป็น สส.และเลิกทำงานทางการเมือง เพราะเราเข้าใจได้ดีว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่พวกคนเหล่านั้นจะมีมโนสำนึกอันดีงามได้ถึงขนาดนั้น
ลงชื่อ “เครือข่ายคนรักสุขภาพ และ เครือข่ายคนรักประเทศไทย”
๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
...............................
หลังจากที่อ่านแถลงการณ์จบลง เครือข่ายของเราร่วมใจกันร้องเพลงสดุดีมหาราชา ก่อนจะร้องไชโย ไชโย ไชโย พร้อมกัน เครือข่ายของเราเดินทางกลับ เพื่อนำแผ่นป้ายคัดค้านขนาดยักษ์ติดไว้ที่หน้าตึกอาคารสุขภาพแห่งชาติ ประกาศก้องให้ผู้คนที่สัญจรไปมาเห็นอย่างชัดเจน
มีน้อง ๆ หลายคน เข้ามาขอจับมือพร้อมเสนอความเห็นว่า อยากให้จัดกิจกรรมทุกวัน โดยเสนอตัวว่าจะพาเพื่อนอีกหลายสิบคมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้แน่นอน
เพียงไม่ถึงสิบนาที ผมกลับขึ้นมาทำงาน เปิดเฟจบุ๊คภาพที่คณะของเราเดินปรากฎหลาอยู่บนสังคมออนไลน์เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับการกดไลน์ของเพื่อนในเครือข่ายหลายสิบครั้ง
ผมคาดไม่ถึงจริง ๆ ว่า กิจกรรมเล็ก ๆ ที่เราทำกันขึ้นในวันนี้ จะได้รับเสียงตอบรับจากผู้คนที่พบเห็นมากมายขนาดนี้ นี่แสดงว่ายังมีผู้คนที่มีใจจะเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อบ้านเพื่อเมืองอีกมากมาย นับเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้มีอำนาจว่า "อย่าทำให้เขารู้สึกแบบนี้อีกเลย เพราะคนไทยทุกคนมีเลือดรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์กันทุกคน"
กลับมายึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารบ้านเมืองกันเถิด ผมและเครือข่ายฯ ขอร้องจริง ๆ

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มารู้จักแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกันเถอะ

๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
หากผมถามคนไทยว่า มีใครรู้จักโครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้านบาทบ้าง ผมเชื่อว่า คนไทยจะรู้จักโครงการนี้มากกว่า ๗๐ % แต่ถ้าผมถามใหม่ว่า ใครรู้จักแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบ้าง ผมเชื่อว่าจำนวนคนที่รู้จักจะลดลงมากกว่าครึ่ง และหากถามต่อไปอีกว่าแผนแม่บทนั้นมีรายละเอียดว่าอย่างไร ผมเชื่อขนมกินได้เลยว่า มีคนที่สามารถอธิบายได้ไม่เกินหลักแสนคน
ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะรัฐบาลกำลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ประชาชนที่เข้าร่วมเวทีจึงต้องรู้ถึงข้อมูลเหล่านี้ก่อนที่จะไปแสดงความคิดเห็น
พอดีผมมีโอกาสไปร่วมเวทีที่จัดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ในวันนี้มา ได้เอกสารมาชุดหนึ่งมี ๑๑ เล่ม แต่ละเล่มได้อธิบายให้เห็นเหตุผลความจำเป็น รายละเอียดสิ่งที่จะก่อสร้าง ผลที่คาดว่าจะได้รับไว้พอสมควร
ผมจึงขออนุญาตสรุปในสาระสำคัญของแผนแม่บทฯ ฉบับนี้ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อสำหรับผู้สนใจ ผมขอเน้นนะครับว่าเบื้องต้น เพราะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกเยอะมากหากท่านต้องการรู้อย่างแท้จริง ซึ่งผมสารภาพจริง ๆ ว่า ผมไม่มีข้อมูลนั้น
เอาล่ะ มาเข้าเรื่องกันดีกว่า
เหตุผลสำคัญที่เขียนไว้ตอนต้นของแผนแม่บทก็คือ ต้องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะที่เกิดในปี ๒๕๕๔
หลักยึดสำคัญที่ยกมาคือการน้อมนำหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนตามกระแสพระราชดำริ ๗ ประการ อันประกอบด้วย (๑) การสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา (๒) ความสัมพันธ์ระหว่างป่า ดินและน้ำ (๓) ภูมิสังคม (๔) การรักษาความมั่นคงทางน้ำ (๕) น้ำต้องมีที่อยู่ (๖) การระบายน้ำและการเก็บกักน้ำต้องประสานกัน และ (๗) การพัฒนาบนพื้นฐานเดิมที่มีอยู่
สาระสำคัญของโครงการในภาพรวมมีทั้งหมด ๙ แผนงาน หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า ๙ โมดูล จำแนกเป็น ๒ กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ ๑ เป็นโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีทั้งหมด ๕ โมดูล คือ
โมดูล A๑ เป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรังและป่าสัก จำนวน ๑๘ แห่ง มูลค่ากว่า ๔.๘๕ หมื่นล้านบาท
โมดูล A๒ เป็นการจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก พื้นที่ทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง ท่าจีน ป่าสักและเจ้าพระยา มูลค่ากว่า ๒.๔๙ หมื่นล้านบาท
โมดูล A๓ เป็นการปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัยและนครสวรรค์ โดยการสร้างพื้นที่เก็บกักน้ำหลากชั่วคราว หรือ แก้มลิง ใน ๓๗ พื้นที่ มูลค่ากว่า ๙.๘ พันล้านบาท
โมดูล A๔ เป็นการปรับปรุงขยายลำน้ำสายหลัก ขุดคลองป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ที่แม่น้ำพิจิตร คลองหกบาท คลองผันน้ำยาม-น่าน จังหวัดสุโขทัย รวมทั้งการขุดคลองสายใหม่ช่วงคอขวดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากอำเภอบางบาลถึงอำเภอบางไทร รวมถึงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม น่าน เจ้าพระยา มูลค่ากว่า ๑.๖๗ หมื่นล้านบาท
โมดูล A๕ จัดทำคลองผันน้ำด้านฝั่งตะวันตก มูลค่ากว่า ๑.๕๐ แสนล้านบาท
กลุ่มที่ ๒ เป็นโครงการใน ๑๗ ลุ่มน้ำ (นอกเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยา) มี ๓ โมดูล คือ
โมดูล B๑ เป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ จำนวน ๓ แห่ง มูลค่ากว่า ๑.๑๖ หมื่นล้านบาท
โมดูล B๒ เป็นการจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก พื้นที่ทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานในพื้นที่ ๔๗ จังหวัด มูลค่ากว่า ๑.๓๖ หมื่นล้านบาท
โมดูล B๓ เป็นการปรับปรุงสภาพแม่น้ำสายหลัก และป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ โดยการปรับปรุงคลอง ร.๑ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มูลค่ากว่า ๔.๙ พันล้านบาท
สุดท้ายคือโมดูล A๖B๔ เป็นโครงการติดตั้ง Single Command Center และการจัดทำระบบคลังข้อมูลในกาพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ มูลค่ากว่า ๓.๙ พันล้านบาท
ก็ดูเอาเองนะครับว่าโมดูลไหนมีมูลค่าลงทุนสูงสุด ต่ำสุด
ผมขอเรียนอีกครั้งว่า นี่เป็นข้อมูลพื้นฐานนะครับ หากท่านต้องการทราบว่ามีแผนงานลงไปที่จังหวัดท่านไหม ต้องหาข้อมูลเพิ่มครับ
ก่อนจบ ผมมีคำถามเล่น ๆ ท้ายเรื่อง ว่า "โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์อยู่ในโมดูลไหน"
หากคุณตอบว่า "โมดูล A๑" แสดงว่าคุณเก่งมาก คุณเป็นคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวนี้มาโดยตลอด
สำหรับผมกว่าจะรู้คำตอบที่ถูกต้อง ผมหาคำว่า "เขื่อน" แทบแย่ แต่ก็ไม่พบ เพราะในแผนแม่บทนี้เขาไม่รียก "เขื่อน" กัน เขาเรียกว่า "อ่างเก็บน้ำ" ต่างหาก
ฮาไหมล่ะ

เสียงของนายผัดไท รักษ์ป่า

๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
หากเราเปิดใจให้กว้าง รับฟังกันและกัน ผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นรอบด้านของเรื่องราวที่เราสนใจ โดยเฉพาะการรับฟังของเสียงเล็กเสียงน้อยที่คนไม่นิยมจะฟัง จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งและนับเป็นสิ่งที่เป็นหลักการสำคัญของ "ประชาธิปไตย" ที่แท้จริง
ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นต่อโครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้านบาท ที่รัฐบาลจัดขึ้นที่มหาวิทยาลับราชภัฎนครสวรรค์ ในวันนี้
ส่วนใหญ่ผมจะนั่งฟังคนที่มาร่วมในเวทีพูดกัน ไม่รู้เลยว่าอีกมุมหนึ่งของเวทีเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความไม่พอใจให้กับคนกลุ่มหนึ่ง
ผมได้รับข้อความที่แชร์ต่อ ๆ กันมาจากคนที่ใช้นามว่า "นายผัดไท รักษ์ป่า" ได้เขียนเล่าระบายถึงสิ่งที่เขาประสบในวันนี้ไว้
ผมอ่านดูแลรู้สึกสงสารเขา และคิดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น คุณลองอ่านข้อความที่เขาเขียนดูสิ
...........................
นายผัดไท รักษ์ป่า
เวทีน้ำนครสวรรค์ เวทีอัปยศ ของคนนครสวรรค์
...หลังจากที่เราได้เข้าไปภายในบริเวณจัดงานได้เริ่มเห็นผู้คนมาหน้าหลายตาทยอยมาลงทเบียน ซึ่งบางคนก็รู้จักมักคุ้นและอีกหลายๆคนก็ไม่เคบพบหน้ากันมาก่อน คณะเราได้ทำการลงทะเบียนแต่ไม่ได้รับแจกเอกสารคู่มือ ซึ่งกว่าจะลงทะเบียนได้ก็นานอักโขเพราะการบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่เรียกว่าไรระเบียบสุดๆ มีการด่าทอประทะคารมจากเจ้าหน้าที่และมวลชนที่ยืนรออย่างหนาแน่น แต่เมื่อมีผู้รู้จักคุ้นเคยมาถึงเจ้าหน้าที่ก็ให้ลัดคิว ที่บริเวณจุดลงทะเบียนของ NGO ที่แถวของชาวบ้านล้นออกมาพาด จนเราต้องออกไปยืนเขียนข้างหลัง
...เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ก็ไปรวมกับทีมงานที่ตั้งบู๊ธ ให้ข้อมูลแจกเอกสารและสติ๊กเกอร์ อยู่ไกล้ๆกับทางเข้าห้องประชุม แจกเอกสารได้สักพัก ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ก้ได้มาไล่ให้เรารื้อป้ายและให้เราย้ายออกจากบริเวณนั้น ให้ไปตั้งที่อื่น บอกเกะกะทางเข้ากลัวไม่สะดวก ทั้งๆที่ บริเวณนั้นมีเก้าอี้ ถังขยะ และโต๊ะวางให้ระเกะระกะอยู่ไม่เห็นท่านว่ากระไร ที่จริงมีงานใหญ่ขนาดนี้ ท่านน่าจะเก็บให้เป้นระเบียบด้วยซ้ำ เรากำลังเจราอยู่ ท่านก็ดึงป้ายเราพรวดๆๆ และให้พนักงานมายกโต๊ะพวกเราออก ขณะนั้นนักข้่าวก็กรูเข้ามา ถ่ายรูป
....ถึงตอนนั้นเราก็ต้องยอมหอบเอกสารเดินตามมาพร้อมขอกลับไปอยู่โซนเดิมแต่คนละที่ แต่ท่านไม่ยอม
....พอถึงเวลารับฟังความคิดเห็นก้ประกาศว่ามีผู้ลงทะเบียนพูด จำนวน ๖๐ ท่าน โดยที่เราทีมงาน มีโควต้า ที่จะพูด ๑๒ คน แต่ท่านตัดออก เหลือ ๓ คน บอกว่าคนของท่านมาเยอะ โดยที่การพูดก็มีแต่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ออกมาหนุนตามระเบียบ โดยมีกองเชียร์ที่อยู่ด้านนอกส่งเสียงเฮ ดังยิ่งกว่าดูมวยตู้ ขณะที่เรา กำลังนั่งฟังอยู่นั้น ท่านอดีต สส.ลาดยาว (ว) ผู้หนึ่งได้เข้ามาในบริเวณงานและมาถึงบริเวณที่คณะของเราแจกเอกสารอยู่ไม่พูดพร่ามทำเพลงเข้ามารื้อ มาดึงป้ายเราออก อย่างน่าเกลียด ท่ามกลางสายตานับ พันคู่ ไม่นึกว่าคนที่มีวุฒิภาวะอย่างท่านจะทำได้ จนทีมงานเราคนหนึ่งต้องเข้าไปเจรา ขอป้ายคืน และกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย ต่อมาเหตุการณ์ก็เข้าสู่ภาวะปรกติ
...แต่เมื่อถึง ผู้พูดคนสุดท้ายของคณะท่านผู้สนับสนุนให้สร้างเขื่อน กลับทำให้ทีมงานและผู้สื่อข่าวตะลึง แต่กลับได้รับเสียงเชียร์ลั่นจากกองเชียร์ผู้สนับสนุนเขื่อนราวกับว่า นั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง ...ท่านครับ เวทีจัดการน้ำที่นครสวรรค์ เป็นเวทีอันทรงเกียรติ มีผู้หลักผู้ใหญ่มาฟังกันหลายคน โดยเฉพาะคนใหญ่คนโตอย่างคุณปลอดประสพ รองนากยกฯ ท่านปล่อยให้มีการด่าโคตรพ่อโคตรแม่ ออกเครื่องขยายเสียงโดยที่ท่านนั่งฟังแล้วยิ้มอย่างสะใจและมีความสุข ...ท่านเปิดเวทีนี้เพื่อให้มีการด่าทอและขัดแย้งกันโดยไม่มีการบล๊อคเสียง ท่านปล่อยให้ฝ่ายของท่านด่าทอฝ่ายตรงข้ามเยี่ยงสัตว์ตัวหนึ่ง โดยที่ท่านนั่งฟังอย่างมีความสุข เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือครับ คนใดที่เป็นฝ่ายสนับสนุนท่านท่านคิดว่าเป้นฝ่ายที่ทำถูกต้อง แม้จะด่าโคตรพ่อโคตรแม่ฝ่ายตรงข้าม เปรียบฝ่ายตรงข้ามเหมือนสุนัขตัวหนึ่ง ท่านก็คิดว่าถูกต้องหรือครับ
...แต่อีกฝ่ายคือเรา นั่งฟังพวกท่านอย่างสงบ ท่านมาถึงก้รื้อของเราและไล่ไปให้พ้นรัศมีสายตาท่าน และท่านปรบมือลั่นเมื่อฝ่ายของท่านด่าโคตรพ่อโคตรแม่เรา ท่านทำถูกแล้วหรือครับ
...ครับเรายอม เมื่อท่านด่าเราแบบนี้ เราก็เก็บข้าวของเดินออกมาอย่างสงบและงุนงง เดินผ่านสายตาของพวกท่านและมุมปากที่แสยะยิ้มอย่างสะใจที่ได้ด่าเราออกอากาศ เราสิ้นหวังกับพวกท่านครับ เราสิ้นหวังกับอาคตประเทศไทยที่ฝากไว้กับพวกท่าน
...ถ้าท่านคิดว่าสิ่งนี้เป้นสิ่งที่ถูกต้อง ทำไปครับ สักวันสิ่งเหล่านี้จะประหัดประหารท่านเอง สังคมและประชาชนที่ไม่โง่เขลาจะพิพากษาท่านเอง เพราะสิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่กำลังติดลบในสายตาประชาชน
.........................
ทุกท่านอ่านแล้วรู้สึกเป็นอย่างไรบ้างครับ
(หมายเหตุ ผมขอโทรคุณผัดไท รักษ์ป่า มา ณ โอกาสนี้ ที่ไม่ได้ขออนุญาตนำข้อความที่ท่านเขียนมาประกอบการเขียนเรื่องเล่าของผมในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ผมพิจารณาแล้วว่าข้อความของท่านจะเป็นบทเรียนที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยเรา)

ไปดูเขาจัดเวทีรับฟังความเห็นเรื่องน้ำมา

๔ ตุลาคม ๒๕๕๖
"สิบปากว่า ไม่เท่าหนึ่งตาเห็น" แม้จะเป็นสุภาษิตไทยที่มีมานาน แต่ผมว่ายังทันสมัยเสมอ เป็นคำสอนที่ผลักดันให้ผมต้องหยุดงานหนึ่งวันเพื่อเข้าร่วมเวทีีรับฟังความเห็นต่อแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือโครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้านบาท ที่รัฐบาลที่จัดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดที่ผมตั้งรกรากใช้ชีวิตมากว่า ๒๐ ปี
วันนี้ผมเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์แต่เช้าตรู่ ประตูทางเข้าถูกปิดห้ามรถเข้า ผมจึงต้องขับไปจอดที่ลานจอดรถของสถานีตำรวจภูธรซึ่งมีรถยนต์ทยอยเข้ามาจอดแน่นเต็มสนามจอด
ระยะทางราว ๑ กิโลเมตร จากที่จอดรถไปยังเป้าหมาย มีผู้คนที่มาจากที่ต่าง ๆ เดินคุยกันไปเต็มทางเดิน เป้าหมายเดียวกับผมคือห้องประชุมของมหาวิทยาลัย
บริเวณหน้าห้องประชุมมีเต้นท์กางเรียงรายอยู่หลายเต้นท์ แต่ละเต้นท์มีเจ้าหน้าที่พร้อมป้ายบอก มีชาวบ้านต่อแถวยาวเหยียดเพื่อลงทะเบียนตามป้ายที่บอกไว้
ผมเดินลัดเลาะเข้าไปยังห้องประชุม โดยไม่ต่อคิว เพราะไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้าและไม่ต้องการเบิกค่าตอบแทนคนละ ๔๐๐ บาท ที่ทางผู้จัดจัดเตรียมไว้ให้
ก่อนเข้าห้องประชุม มีนิทรรศการนำเสนอแผนการจัดการน้ำที่จัดโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ผมเดินเข้าไปเดินหาข้อมูลแต่ละโมดูล ซึ่งก็แปลกใจอยู่เหมือนกันที่ไม่ค่อยมีใครเข้ามาดูทั้ง ๆ ที่ด้านนอกมีชาวบ้านมาร่วมเวทีนับพัน ๆ คน
ภายในเต้นท์นิทรรศการมีการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ แต่ละโมดูล แสดงเหตุผลว่าทำไมต้องทำ จะทำอะไรบ้าง ระยะเวลาก่อสร้างกี่ปี บางโมดูลก็มีการทำโมเดลรูปแบบการก่อสร้างออกมาให้ผู้ชมเห็นผสมกับการนำเสนอผ่านจอแอลซีดีระบบสัมผัส
แวะไปขอรับเอกสารหน้าเต้นท์ที่ทางสำนักนายกรัฐมนตรีจัดทำขึ้น เป็นเล่มเล็ก ๆ ๑๑ เล่ม ใส่ถุงพลาสติกสีฟ้า เพื่อขอไปศึกษา ก่อนเข้าไปในห้องประชุม หาที่นั่งได้ประมาณแถวที่ ๕ นับจากหน้าเวที พบเครือข่ายที่รู้จักเดินทางมาจากต่างจังหวัด เข้ามาทักทายกัน
เสียงพิธีกรคู่ชายหญิงประกาศเชิญชวนให้พี่น้องที่มาประชุมให้เข้าห้องประชุม พร้อมกับเชิญมานั่งในบริเวณแถวด้านหน้าที่ว่างอยู่
"วันนี้เป็นเวทีรับฟังความเห็น ไม่ใช่เวทีประชาพิจารณ์" เป็นประโยคหนึ่งที่พิธีกรประกาศย้ำแล้วย้ำอีก เป็นประโยคที่สะกิดใจและเกิดความสงสัยกับตัวผมเองอย่างมาก
เวลาประมาณ ๐๙.๑๕ น. เสียงพิธีกรกล่าวเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวต้อนรับ ท่ามกลางผู้เข้าร่วมเวทีที่เกือบเต็มห้องประชุม และถ่ายทอดเสียงไปนอกห้องประชุมซึ่งมีชาวบ้านนั่งอยู่ภายในเต้นท์ค่อนข้างหนาตา
ประมาณ ๑๕ นาที ที่ ผวจ.นครสวรรค์กล่าว ได้ย้ำให้เห็นวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีครั้งนี้ ที่ต้องการความคิดเห็นอย่างกว้างขวางจากผู้เข้าร่วมเวที
วิดิทัศน์นำเสนอรายละเอียดของแผนแม่บทถูกฉายขึ้น ผ่านจอภาพหน้าเวที ขนาดไม่ใหญ่มากนัก พร้อมกับการต่อเชื่อมไปที่จอแอลซีดีที่ติดตั้งไว้ที่เสาห้องประชุม ซ้ายและขวา ข้างละ ๓ ตัว ผมพยายามนั่งฟังและจับใจความ แต่ต้องบอกว่าระบบเสียงไม่ค่อยชัดประสมกับเวลานำเสนอที่ยาวนานเกือบ ๑ ชั่วโมงเต็ม จึงทำให้ชาวบ้านเริ่มจับกลุ่มคุยกันเป็นกลุ่ม ๆ
เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. เสียงพิธีกรกล่าวชี้แจงขั้นตอนการจัดเวที พร้อมกับกล่าวแนะนำวิทยากรหลัก พร้อมวิทยากรกระบวนการกลุ่มกว่า ๒๐ คน ผมจำชื่อไม่ได้แต่เสียงที่พิธีกรประกาศมีทั้ง ศาสตราจารย์ ด๊อกเตอร์ และจุด จุด จุด เต็มไปหมด ซึ่งก็คิดกับตัวเองว่า จะแนะนำไปทำไม
เวลาผ่านไปเสียงพิธีกรประกาศเรียกชื่อประชาชนที่ลงทะเบียนขอแสดงความคิดเห็นไว้ เชิญมาที่ไมโครโฟนเพื่อแสดงความคิดเห็น ตากล้องทั้งวิดีโอและกล้องถ่ายรูป ต่างวิ่งไปห้อมล้อมผู้พูดเต็มไปหมด ซึ่งถ้าเป็นผมผมคงพูดไม่ออก
ราว ๑๑.๐๐ น. ทั้งห้องประชุมต้องหันไปดูแขกผู้มาร่วมเวที ไม่ใช่ใครที่ไหน รองนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "ปลอดประสพ สุรัสวดี" ผู้รับผิดชอบหลักขอโครงการนี้เอง ท่านเดินมาพร้อมกับคณะนับสิบคน ล้อมหน้าล้อมหลัง
การนำเสนอดำเนินการต่อ ระหว่างที่กำลังเสนอความคิดเห็น จะมีทีมงานฝ่ายวิชาการของผู้จัดพยายามจดประเด็นสำคัญตามที่ตนเองจับได้ขึ้นจอตามไปด้วย
คนหนึ่งถูกกำหนดเวลาให้พูด ๕ นาที โดยมีเสียงจากระฆังเป็นสัญญาณเตือนเมื่อหมดเวลา
ในเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงในช่วงเช้ามีผู้เสนอความเห็นได้ไม่ถึง ๒๐ คน ซึ่่งส่วนใหญ่จะสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยการยกข้อมูลที่ตนเองได้รับประสบภัยมา ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วมในแต่ละปี มีเพียง ๒ เสียง เท่านั้นที่ออกมาคัดค้าน ด้วยเหตุผลการขาดรายละเอียดที่ดีพอ ขาดการมีส่วนร่วม และกระบวนการรับฟังที่ไม่เหมาะสม
พิธีกรสั่งหยุดเวทีในภาคเช้า เพื่อรับประทานอาหารกลางวันกัน โดยผู้ที่ลงทะเบียนจะได้รับคูปองอาหารไปแลกซื้ออาหารของศูนย์อาหารของมหาวิทยาลัย
บ่ายโมงเศษ ผู้เข้าประชุมถูกจำแนกเข้าห้องย่อยกว่า ๑๐ ห้อง ตามสมัครใจ
ผมเลือกเข้าห้องประชุม ๑ ซึ่งเป็นห้องประชุมเดียวกับเมื่อเช้า เป็นห้องที่พิจารณาในโมดูล A๑ ที่มีโครงการเขื่อนแม่วงก์ และ A๕ ที่มีเรื่องฟลัดเวย์สายใหม่ รวมอยู่ด้วย
เสียงประธานห้องกล่าวชี้แจงถึงขั้นตอนการรับฟัง พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้ผู้เข้าประชุมกรอกแบบสอบถาม ๔ หน้า ของกระดาษเอสี่ ซึ่งผมสะกิดถามคนที่นั่งข้าง ๆ ว่า ตอบยากไหม คำตอบที่ได้คือ "ยากมาก"
ผมหันไปฟังการแสดงความคิดเห็น ประชาชนที่ลุกขึ้นพูดแสดงความคิดเห็นมีเพียง ๖ คน มาจากอำเภอลาดยาวซะ ๕ คน ทุกเสียงจึงสนับสนุนโครงการทั้ง ๒ โมดูล นั้น
ข้อความที่ออกมาก็ไม่ต่างจากเมื่อเช้า ที่เป็นลักษณะความรู้สึกที่ตนเองประสบมาในพื้นที่ ไม่มีข้อมูลเชิงรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมเท่าใดนัก
ผมออกจากเวทีเพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเตรียมตัวทำงานในวันรุ่งขึ้น ตอน ๑๔.๓๐ น.
ระหว่างทางก็คิดถึงการจัดเวทีครั้งนี้มาตลอดทาง
สองคำถามใหญ่ที่ถามกับตัวเองตลอดการเดินทางก็คือ "ผู้เข้าร่วมเวทีมีความเข้าใจในเนื้อหาที่รับฟังเพียงใด" และ "กระบวนการเหล่านี้ได้ความคิดเห็นที่ดีต่อเรื่องสำคัญมากน้อยเพียงใด"
ซึ่งผมพยายามหาคำตอบมาตลอดการเดินทาง แต่ผมไม่สามารถตอบคำถามนั้นได้จริง ๆ ครับ
"สิบปากว่า ไม่เท่าหนึ่งตาเห็น" คือผลที่ผมไปเรียนรู้มา