วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

ชีวิตเรา….ชาว "นักประชุม" (ตอนที่ ๓)

๓๑ มกราคม ๒๕๕๗

หลังจากที่ผมได้นำเสนอชีวิตเรา….ชาวนักประชุมไป ๒ ตอนแล้ว มีภาคีเครือข่ายส่งข้อความมาแลกเปลี่ยนมิใช่น้อย ทั้ง “ประชุมอะไรกันบ่อยๆ, เสียเวลาทั้งวัน, บางเรื่องก็ไม่รู้จะเรียกไปประชุมทำไม, คุยนอกประเด็นไปไม่จบไม่สิ้น, ประชุมมากจนไม่มีเวลาทำงาน” สิ่งเหล่านี้ คือ ปัญหาที่ชาวนักประชุมเคยเจอกันแทบทั้งนั้น

หลายคนจึงเกิดอาการเบื่อหน่ายการประชุม หรือขยาดกลัวบรรยากาศการประชุมเพราะไม่แน่ใจว่านั่งอยู่ในสนามรบ (ทางความคิด) หรือว่าอยู่ในสนามแข่งอะไรสักอย่าง ดังนั้นในเมื่อเราไม่สามารถหลีกหนี “การประชุม” ไปได้ จึงต้องเปลี่ยน “การประชุมที่น่าเบื่อ หรือโรคเบื่อการประชุม” ทำให้เป็นชีวิตการประชุมที่สนุก น่าค้นหา และท้าทาย

หลายคนได้นำเสนอลักษณะการประชุมที่ดีไว้ ดังนี้

(๑) มีการตระเตรียมการประชุมอย่างพรักพร้อม วางแผนการประชุมล่วงหน้า ส่งหนังสือเชิญประชุมพร้อมทั้งระเบียบวาระการประชุมและเอกสารแนะนำการประชุม เมื่อมีผู้มาลงทะเบียนการประชุม ก็จะได้รับความสะดวก มีการจัดให้มีการลงทะเบียนได้รวดเร็วและมีสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างดี ได้รับเอกสารการประชุม และมีแผนผังที่นั่งการประชุมกำหนดไว้ชัดเจน

(๒) มีระเบียบวาระประชุมส่งให้ล่วงหน้าในเวลาอันสมควร เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้ตระเตรียมข้อมูลมาอภิปราย ทำให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ต่อการประชุม

(๓) สถานที่ประชุมเหมาะสม สะดวกสบาย ไม่เล็กจนคับแคบหรืออึกอัด ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป เก้าอี้และโต๊ะประชุมก็สะดวกสบาย

(๔) นำเรื่องที่สำคัญจริงๆ มาสู่การประชุม เรื่องที่ไม่จำเป็นหรือมีสาระน้อย อาจจะปรึกษากันนอกห้องประชุมก็ได้ แม้กระทั่งรายละเอียดในบางประเด็น ประธานที่ประชุมอาจขอให้ผู้เกี่ยวข้องได้ปรึกษากันนอกห้องประชุม เพื่อประหยัดเวลาการประชุม

(๕) ช่วงเวลาการประชุมที่เหมาะสม คือ ช่วงเวลากลางวัน แต่ไม่ใช่เวลาก่อนเริ่มงาน ไม่ใช่เวลาเที่ยงวันหรือหลังเลิกงาน การเลือกวันก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรจะเป็นวันจันทร์หรือวันศุกร์ เพราะเวลาและวันเหล่านั้นเป็นเวลาส่วนตัว และวันดังกล่าวผู้เข้าประชุมมักจะไม่พร้อม

(๖) ประธานสรุปประเด็นและตัดบทผู้ที่พูดมากได้อย่างเหมาะสม เพื่อมิให้การประชุมไม่ยืดเยื้อ มีความกะทัดรัด คุ้มค่ากับเวลาที่ผ่านไป และก็ไม่ให้ผู้ที่อภิปรายเยิ่นเย้อ ได้ใช้เวลาของที่ประชุมมากเกินไป แต่สนับสนุนให้ที่ประชุมได้อภิปรายความเห็นอย่างกว้างขวาง

(๗) มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันในหมู่ผู้เข้าประชุม โดยการอภิปรายอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา และเชื่อว่าผู้เข้าประชุมทุกคนเป็นผู้มีเกียรติ น่าเชื่อถือ รวมทั้งไม่แสดงการลบหลู่ดูหมิ่นที่ประชุมด้วย

(๘) ประธานสามารถกระตุ้นให้สมาชิกออกความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และทุกคนพยายามใช้ความคิดร่วมกันในการหาข้อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

(๙) มีสปิริตของประชาธิปไตย ยอมรับความคิดเห็นมติเสียงข้างมาก และเคารพเสียงข้างน้อย

(๑๐) ผู้เข้าประชุมต้องเป็นผู้ฟังที่ดีและพูดมีเหตุผล ต่างคนต่างก็ตั้งใจพูดเพื่อหวังประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อที่ประชุม ไม่พูดจาก้าวร้าวดูถูกความเห็นของบุคคลอื่น

(๑๑) ได้ข้อสรุปผลการประชุมตามเป้าหมาย ซึ่งที่ผู้เข้าประชุมต่างก็พอใจแม้ว่าผลการประชุมจะไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองเสนอก็ตาม เพราะต่างก็รู้สึกว่า ได้มาด้วยการอภิปรายและลงความเห็นกันอย่างรอบด้านแล้ว

(๑๒) ผู้ร่วมประชุมเข้าใจวัตถุประสงค์ของการประชุม และต่างก็ช่วยให้การประชุมดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

(๑๓) มีบรรยากาศของความร่วมมือและร่วมกันคิดอย่างเอาการเอางาน ไม่มีใครแสดงอาการเกียจคร้าน เบื่อหน่ายให้พบเห็น

(๑๔) ผู้ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ทุกคนมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และในขณะเดียวกันต่างก็รับฟังความคิดเห็นของกันและกันด้วย

(๑๕) มีเหตุผลยอมรับความคิดของคนข้างมาก เมื่อเสียงข้างมากมีมติอย่างใดก็ยอมรับมตินั้น ไม่ถือว่าตนเองไม่เห็นด้วยก็เดินออกจากห้องประชุม หรือตนเองเป็นประธานเมื่อแพ้มติก็ไม่ยอมรับตำหนิที่ประชุมว่ามีความเห็นไม่ถูกต้อง เป็นต้น

(๑๖) ผู้ร่วมประชุมมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ผู้เข้าประชุมทุกคนต่างได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่และทั่วถึงกัน ไม่มีใครสงวนท่าทีของตนเองตั้งแต่ต้นจนเลิกประชุม

(๑๗) เริ่มประชุมและเลิกประชุมตรงเวลา ไม่ชักช้าเสียเวลา เข้าสู่ห้องประชุมก่อนเวลาประชุมไม่น้อยกว่า ๕ นาที เตรียมตัวเตรียมความคิดสำหรับการประชุมอย่างจริงจัง

(๑๘) ผู้เข้าประชุมเตรียมตัวมาดี มีข้อมูลให้แก่ที่ประชุม โดยการค้นคว้าเพิ่มเติมในประเด็นที่มีการประชุมมาเป็นอย่างดี

ดังนั้นจากที่ผมแลกเปลี่ยนมาทั้ง ๓ ตอน เหล่านี้คือเคล็ดลับในการสร้างบรรยากาศการประชุมให้สนุก แม้เรื่องที่ประชุมจะต้องการระดมสมองอย่างหนักหน่วงเพียงใด แต่ถ้าเรารู้เทคนิคการประชุมและมีการเตรียมการให้สอดคล้องกับรูปแบบการประชุมต่างๆ เรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญเพียงไรก็จะสามารถทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนได้มีส่วนร่วมระดมสมองและร่วมกันคิดออกมาได้

เพราะเมื่อบรรยากาศในห้องประชุมสนุก ทุกคนก็จะกล้าพูดมากกว่าในห้องประชุมเครียดๆ สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะหลายครั้งความคิดสร้างสรรค์ดีๆ อาจมาจากผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่ได้มีตำแหน่งใหญ่โตและอายุอาจจะยังน้อยอยู่ก็เป็นไปได้สูง

การประชุมที่ดีจึงมาพร้อมกับความคิดที่ดี ความรักความสามัคคี ความสนิทสนม และความเป็นมิตรด้วยเช่นเดียวกันครับ

วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

ชีวิตเรา….ชาว "นักประชุม" (ตอนที่ ๒)

๓๐ มกราคม ๒๕๕๗

หลังจากที่ผมนำเสนอเรื่อง “ชีวิตเรา…ชาวนักประชุม” ตอนแรกไปแล้ว มีผู้มาเปิดอ่านและแชร์ไปยังเพื่อนเครือข่ายมากพอสมควร อดคิดไม่ได้ว่านี้เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า “การประชุมเป็นยาขม” สำหรับหลายๆคนเลยทีเดียว

"ปีเตอร์ ดรักเกอร์" (Peter Drucker) ปรมาจารย์ระดับโลกด้านองค์กรแห่งการเรียนรู้ ถึงกับเคยบอกไว้ว่า "การประชุมเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จตัวหนึ่งขององค์กร หากองค์กรใดที่การประชุมไม่มีประสิทธิผล คือประชุมเสียเวลานาน ไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายการประชุมที่ตั้งไว้ ย่อมส่งผลทำให้องค์กรนั้นไม่ประสบความสำเร็จในอนาคตอย่างแน่นอน"

การประชุมจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ หากเราไม่รู้เทคนิคการประชุมและมองข้ามไป โอกาสที่การประชุมครั้งนั้น ๆ จะไม่มีประสิทธิภาพก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

เพราะการประชุมแต่ละครั้งนั้นสามารถเกิดปัญหาได้ถึงสามช่วง คือ ก่อนประชุม อาจขาดการวางแผน เช่น เรียกประชุมกะทันหัน ทำให้ผู้เข้าประชุมไม่สามารถเตรียมข้อมูลได้ทัน หรือไม่มีวาระการประชุม ระหว่างการประชุม เช่น มาประชุมสาย หรือเวลาประชุมไม่เหมาะสม อภิปรายนอกประเด็น ประธานไม่สามารถนำการประชุม และหลังการประชุม ไม่มีการจดบันทึก หรือมีการจดบันทึกไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ซึ่งเรื่องพวกนี้สามารถเตรียมการแก้ไขได้ก่อนการประชุมแทบทั้งสิ้น เพื่อไม่ให้การประชุมแต่ละครั้งต้องสูญเสียเวลาไปมากมายและค่าใช้จ่ายอีกไม่น้อย ซึ่งถ้าได้ประโยชน์ไม่คุ้ม นั่นก็คือ ทุนที่ต้องจ่ายไป แล้วไม่เกิดประโยชน์นั้นเอง

ดังนั้นเรื่องเล่าในตอนที่ ๒ นี้ ผมจึงขอหยิบยกเรื่อง “เทคนิคการประชุม” มานำเสนอ นี้เป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ ในการทำงานที่ผ่านมาผมเคยประสบปัญหาเรื่องการออกแบบการประชุม เพื่อให้ได้คำตอบตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ในแต่ละครั้งอยู่บ่อย ๆ และคิดว่าทุก ๆท่านก็คงประสบปัญหามิแตกต่างเช่นเดียวกัน

ต่อไปนี้คือ “เทคนิคการประชุม” ที่ผมค้นคว้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันครับ

การบรรยาย หรือ Lecture of Speech เป็นการบรรยายหรือเล่าถึงเหตุการณ์ หรือเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้ฟังทราบและเข้าใจชัดเจนตรงตามจุดประสงค์ของผู้พูด การพูดบรรยายมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ฟังรู้และเข้าใจเป็นสำคัญ แต่การพูดบรรยายบางประเภทอาจมุ่งให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์คล้อยตาม หรือเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินด้วยก็ได้

การอภิปรายเป็นคณะ หรือ Panel Discussion หมายถึง การประชุมที่มีการอภิปราย โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ๓-๕ คน ให้ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรค แนวทางแก้ไข ซึ่งเป็นการอภิปรายในลักษณะที่สนับสนุน หรือให้เหตุผลโต้แย้งกัน และมีพิธีกรหนึ่งคนทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย (moderator) ประสาน เชื่อมโยง และสรุปการอภิปรายของวิทยากรแต่ละคน หลังการอภิปรายแล้วจะมีการเปิดโอกาสให้ผู้ฟังซักถามปัญหา

การประชุมอภิปรายกลุ่ม หรือ Group Discussion หมายถึง การประชุมที่เป็นโอกาสให้สมาชิกทุกคนได้แสดงความคิดเห็นและอภิปรายอย่างทั่วถึงกัน มีลักษณะที่ไม่เป็นทางการ ขนาดของกลุ่มไม่ใหญ่นัก บางกลุ่มอาจจะมีผู้รู้เฉพาะเรื่องคอยให้ความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่สมาชิกไม่ทราบ

การประชุมกลุ่มย่อย หรือ Buzz Session หมายถึง การประชุมที่แบ่งผู้ประชุมออกเป็นกลุ่มย่อยจากกลุ่มใหญ่ เพื่อพิจารณาประเด็นปัญหา ซึ่งอาจเป็นปัญหาเดียวหรือแตกต่างกัน ในช่วงเวลาที่กำหนด โดยวิทยากรจะคอยให้คำแนะนำ และหลังจากการประชุมเสร็จสิ้นแล้วกลุ่มจะต้องเลือกตัวแทน เพื่อนำความคิดเห็นของกลุ่มเสนอต่อที่ประชุมใหญ่

การประชุมระดมพลังสมอง หรือ Brainstorming หมายถึง การประชุมที่เสนอวิธีแก้ปัญหาหรือเสนอความคิดเห็นของสมาชิกให้ได้มากที่สุด วิธีการประชุมแบบนี้ต้องการความคิดเห็นของสมาชิกมากที่สุด เมื่อทุกคนได้แสดงความคิดเห็นแล้ว กลุ่มก็จะช่วยกันกลั่นกรองความคิดเห็นทั้งหมด เพื่อเลือกความคิดที่ดีเข้าสู่แนวทางเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ

การแสดงปาฐกถา หรือ Keynote Speeches การพูดหรือบรรยายแบบให้ความรู้แก่ผู้ฟังจำนวนมาก ซึ่งผู้พูด อาจเป็นแขกผู้มีเกียรติ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับเชิญให้มาพูดในหัวข้อเรื่องที่กำหนดไว้ตามสถาบัน สมาคม สโมสร การแสดงปาฐกถามิใช่เป็นการพูดเฉพาะเชิงวิชาการเท่านั้น อาจจะพูดถึงประสบการณ์หรือความคิดเห็น ซึ่งเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ ปัจจุบันการแสดงปาฐกถามักจะจัดเสมอ ตามโรงแรม สโมสร สมาคม บริษัทในช่วงเวลารับประทานอาหารกลางวัน อาหารเย็น หรือจัดแทรกในระหว่างการประชุมสัมมนาตามโอกาสสมควร

การประชุมอภิปรายกึ่งสัมภาษณ์ (หรือปุจฉา-วิสัชนา) หรือ Colloquy การประชุมที่มีลักษณะคล้ายการอภิปรายเป็นคณะ เพียงแต่การเสนอปัญหามาจากผู้แทนของผู้ฟัง ซึ่งมีจำนวนเท่ากันกับผู้ทรงคุณวุฒิ บุคคลที่เกี่ยวข้องมี ๔ กลุ่ม คือ พิธีกร ๑ คน ผู้ทรงคุณวุฒิ ๔-๕ คน ผู้แทนผู้ฟัง ๔-๕ คน และผู้ฟังที่นั่งฟัง สำหรับการจัดสถานที่จะให้พิธีกรนั่งกลาง ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนผู้ฟังจะนั่งแยกกัน ๒ ข้าง ให้ผู้แทนผู้ฟังเสนอปัญหา ผู้ทรงคุณวุฒิตอบปัญหานั้น

การประชุมแบบฟอรั่ม หรือ Forum Meeting เป็นเทคนิคที่ดัดแปลงมาจากการประชุมรัฐสภา ใช้กับการประชุมกลุ่มใหญ่ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม โดยการซักถามแสดงข้อเท็จจริง ปรึกษาหารือแสดงความเห็นกับวิทยากร จัดในห้องเรียนหรือรูปตัวยู ใช้เวลาไม่เกิน ๓๐-๔๐ นาที

การอภิปรายกลุ่มย่อย หรือ Buzz Session เป็นการรวมกลุ่มของผู้ประชุมเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยให้สมาชิกที่นั่งแถวเดียวกันจับกลุ่มกัน ๒-๔ คน ให้เวลาปรึกษาหารือแสดงความคิดเห็นในเวลาสั้น ๆ ทำให้มีความกระตือรือร้นที่จะต้องรีบแสดงความคิดเห็น เนื่องจากกลุ่มอยู่ใกล้กันมากจึงมีเสียงรบกวนเสมอ จัดที่นั่งแบบวงกลมหรือสี่เหลี่ยม ใช้เวลาไม่เกิน ๓๐ นาที และใช้เวลาทั้งหมดไม่เกิน ๒ ชั่วโมง

การประชุมกลุ่มย่อยแบบฟิลลิป ๖-๖ หรือ Phillip ๖-๖ Meeting เป็นการประชุมกลุ่มย่อยที่จับกลุ่มกันอย่างรวดเร็ว โดยสมาชิกไม่ต้องย้ายที่นั่ง ให้คนที่นั่งอยู่แถวหน้า ๓ คน หันกลับไปรวมกับคนหลัง ๓ คน ก็จะมีสมาชิกกลุ่มละ ๖ คน กำหนดเวลาในการอภิปรายสั้น ๆ ๖ นาที ให้สมาชิกแต่ละคนออกความคิดเห็นคนละ ๑ นาที รวบรวมความคิดเสนอต่อที่ประชุมใหญ่

การประชุมแบบ The Huddled Group หรือ The Huddled Group Meeting เป็นการแบ่งสมาชิกจากกลุ่มใหญ่ออกมาเป็นกลุ่มย่อย มักนิยมกลุ่มละ ๖-๘ คน โดยวิธีการนับให้สมาชิกที่กระจายอยู่ได้มาเข้าเป็นกลุ่มย่อย ๆ เช่น ต้องการ ๖ กลุ่มย่อย ก็ให้นับ ๑-๖ ไปเรื่อย ๆ ให้พวกที่นับเหมือนกันมาอยู่ด้วยกัน แล้วให้อภิปรายหรือทำกิจกรรมที่ต้องการ และสุดท้ายให้ตัวแทนออกมารายงานข้อสรุปต่อที่ประชุมกลุ่มใหญ่

การประชุมแบบจับเข่าคุยกัน หรือ Knee Group Meeting เป็นการประชุมกลุ่มย่อย โดยมีสมาชิกกลุ่มละ ๓-๕ คน ให้มีโอกาสอภิปรายกันอย่างใกล้ชิด เหมือนจับเข่าคุยกัน เพื่อให้สนิทสนมและได้ข้อสรุปที่รวดเร็วขึ้น

การประชุมแบบ Circular Response หรือ Circular Response Meeting เป็นการประชุมกลุ่มย่อยที่ให้สมาชิกทุกคนพูดหรือเสนอความคิดเรียงกันไปตามลำดับ โดยให้แต่ละคนมีโอกาสพูดเพียงครั้งเดียวในแต่ละรอบ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสพูดกันทั่วถึง

การระดมสมอง หรือ Brainstorming เป็นการประชุมกลุ่มเล็กไม่เกิน ๑๕ คน เปิดโอกาสให้ทุกคนพูดโดยเสรีในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง ไม่คำนึงความถูกผิด เพื่อให้เกิดแนวทางในการลงมือดำเนินการสิ่งใดในอนาคตหรือแก้ไขปัญหาร่วมกัน

กรณีศึกษา หรือ Case Study เป็นการเสนอเหตุการณ์ซึ่งรวบรวมขึ้นมาจากเหตุการณ์จริงให้ผู้เข้ารับการอบรมได้พิจารณา วิเคราะห์ อภิปรายและดำเนินการแก้ปัญหา หรือตัดสินใจโดยวิทยากร อาจเสนอเหตุการณ์ในลักษณะของสิ่งพิมพ์ เทปโทรทัศน์หรือใช้การเล่าให้ฟัง แล้วกำหนดคำถามหรือประเด็นให้อภิปรายกัน โดยวิทยากรจะต้องคอยดูแลควบคุมให้การอภิปรายอยู่ในขอบเขตที่กำหนด

สถานการณ์จำลอง หรือ Simulation ใช้การจำลองสถานการณ์ โดยให้ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงมากที่สุด ให้ผู้เข้ารับการอบรมเข้าไปมีส่วนร่วมในสถานการณ์นั้นเพื่อทดลองใช้หรือแก้ปัญหา

การแสดงบทบาทสมมติ หรือ Role Playing เป็นการให้ผู้เข้ารับการอบรมแสดงบทบาทในสถานการณ์เหมือนในชีวิตจริง โดยจะมีการสังเกต ประเมินและอภิปรายพฤติกรรมของผู้แสดงบทบาทในภายหลัง

การสาธิต หรือ Demonstration เป็นการสาธิตในเรื่องต่าง ๆ ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เห็นวิธีการ ขั้นตอนจริง ๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง โดยก่อนการสาธิตควรมีการบรรยายให้ฟังก่อน และหลังการสาธิตควรมีการสรุปและประเมินโดยการให้ผู้เข้ารับการอบรมลงมือปฏิบัติให้ดู

การศึกษาดูงานนอกสถานที่ หรือ Field Trip เป็นการนำผู้เข้าอบรมไปยังสถานที่ที่มีการปฏิบัติจริงเพื่อศึกษาสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ว่ามีการปฏิบัติอย่างไร ขั้นตอนอะไรบ้าง พบปัญหาอุปสรรคใด โดยอาจมีการบรรยายสรุปหรืออธิบายประกอบโดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานนั้น ๆ ด้วยก็ได้

การจัดนิทรรศการ หรือ Exhibition การจัดแสดงข้อมูล รวมไปถึงเนื้อหาต่าง ๆ จัดทำด้วยวัสดุ สิ่งของ และอุปกรณ์ต่าง ๆ และมีการผสมผสานกิจกรรมต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เช่น การอภิปราย การบรรยาย การประกวด เพื่อเป็นการให้ความรู้กับผู้ที่เข้าร่วมนิทรรศการ โดยในการจัดนิทรรศการในแต่ละครั้งจะมีจุดมุ่งหมายในการจัดนิทรรศการที่ชัดเจน เช่น นิทรรศการกล้วยไม้ ซึ่งเราจะได้ยินกันเป็นประจำ หรือนิทรรศการการไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งจะมีนักเรียน และผู้ปกครองให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

การประชุมทางไกล หรือ Tele-Conference หรือ Video Conference ระบบประชุมทางไกลที่ผสมผสานระหว่างภาพ ข้อมูล และเสียง ให้เปรียบเสมือนมีการประชุมอยู่ในห้องเดียวกัน องค์ประกอบต้องมีระบบการติดต่อสื่อสารชนิดหนึ่ง ที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลภาพ (ผู้ร่วมประชุมและเอกสารที่นำเสนอ) และข้อมูลเสียง ระหว่างจุดต่อจุดหรือจุดต่อหลายๆจุดโดยผ่านระบบสื่อสาร (IP หรือ ISDN) ซึ่งจะเป็นลักษณะของการโต้ตอบซึ่งกันและกันแบบสองทาง

ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดคงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยบ้างนะครับ สำหรับผู้มีหน้าที่จัดประชุมที่สามารถนำไปใช้ออกแบบการประชุมให้เหมาะสมกับเป้าหมายที่ต้องการบรรลุในครั้งนั้น และสำหรับผู้ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมก็จะได้รู้ว่า ตนเองต้องแสดงบทบาทใดเพื่อให้สอดคล้องกับเทคนิคการประชุมที่ถูกเลือกมาใช้

เพราะการประชุมแต่ละครั้ง จำเป็นต้องมีการลงทุน ทั้งเงิน บุคลากร ทรัพยากรต่าง ๆ และที่สำคัญคือ “เวลา” ทุกท่านจึงมีส่วนช่วยทำให้การประชุมนั้นมี “คุณค่า” สมกับ “มูลค่า” ที่ลงทุนไปได้อย่างแน่นอนครับ

วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

ชีวิตเรา...ชาว “นักประชุม”

๒๙ มกราคม ๒๕๕๗

สัปดาห์นี้ชีวิตผมกลับมาอยู่ในโหมด (mode) การประชุมแทบทุกวัน และอดคิดขึ้นมาไม่ได้ว่าหลาย ๆ คน ชีวิตการทำงานก็คงมิแตกต่าง เพราะจริง ๆ แล้วไม่ว่าอยู่ในสถานะใดหรือการทำงานองค์กรใดก็ย่อมหลีกการประชุมได้ยาก อย่างไรก็ตามเคยมีเพื่อนภาคีบางคนบ่นให้ฟังว่า “เหมือนชีวิตถูกขังอยู่ในห้องประชุมทั้งวันทั้งคืน และพอเสร็จประชุมก็ตรงดิ่งกลับบ้านอย่างอิดโรยและอยากนอนโดยทันที” หลาย ๆ คนจึงเบื่อหน่ายการประชุม (เป็นอย่างมาก)

ทั้ง ๆ ที่ว่าไปแล้ว “การประชุม” คือ เครื่องมือหรือกระบวนการที่สำคัญของการสรรค์สร้างงานขององค์กร ให้เป็นไปตามแนวทางหรือกรอบคิดที่ได้ตกลงไว้ร่วมกัน

แต่หลายต่อหลายครั้งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราสูญเสียเวลาไปกับการประชุมโดยมิได้อะไรติดมือออกมาจากห้องประชุมนอกจากเพียง “การเล่าสู่กันฟัง หรือการบ่นกันฟัง”

เมื่อไม่นานมานี้ผมโชคดีมากที่เจ้านายมอบหมายให้ไปช่วยค้นคว้าเรื่อง “การประชุม” จึงเห็นสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะการเรียกชื่อ “การประชุม” รูปแบบต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ประชุมเชิงปฏิบัติการต้องประชุมแบบไหน ประชุมแบบสัมมนานั้นเป็นอย่างไร จึงขอนำมาแบ่งปันให้กับทุกคนในครั้งนี้ไปพร้อมกันด้วยครับ

(๑) ความหมายของคำว่า “การประชุม”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “การมารวมกันหรือเรียกให้มารวมกันเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ มาร่วมพบกันเพื่อปรึกษาหารือ”

มีนักวิชาการ ๒ ท่าน ได้ให้ความหมายไว้อย่างชัดเจนและน่าสนใจเพิ่มขึ้นว่า

- ดร.สันทัด ศะศิวณิช ได้ให้ความหมายไว้ว่า “การที่บุคคลหลายฝ่าย ซึ่งอาจมาร่วมประชุมในสถานะของตนเองหรือเป็นผู้แทนของกลุ่มบุคคลหรือองค์กรใด ๆ มาร่วมกิจกรรมในการให้ข้อมูล รับข้อมูล หรือแลกเปลี่ยนข้อมูล ในเรื่องที่กำหนดขึ้นและหัวข้อเรื่องมีความเกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมประชุม โดยกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย สถานที่ วัน เวลา และระเบียบวาระสำหรับการประชุมนั้นไว้อย่างชัดเจน”

- ดร. วิทยาธร ท่อแก้ว ได้ให้ความหมายไว้ว่า “การที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปมาร่วมกันสื่อสารโดยปรึกษาหารือ เพื่อกระทำกิจกรรมให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้"

ทั้งนี้หากให้ผมสรุปว่า “การประชุม” คืออะไร ก็สรุปอย่างง่าย ๆ ได้ว่า การประชุม หมายถึง “การที่บุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป มาร่วมปรึกษาหารือ เพื่อกระทำกิจกรรมให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง” นั้นเอง

(๒) วัตถุประสงค์ของ “การประชุม”

การประชุมแต่ละครั้งย่อมมีเป้าหมายว่าทำไปเพื่ออะไร ถ้าเรียกในเชิงวิชาการหน่อยก็เรียกได้ว่า “มีวัตถุประสงค์” ซึ่งในการจัดประชุมแต่ละครั้งมักจะหนีไม่พ้นเป้าหมาย ๕ เรื่องนี้

เรื่องที่ ๑ การประชุมเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสาร เป็นการประชุมเพื่อทำความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขององค์กร นโยบาย เป้าหมาย กลยุทธ์ต่างๆ รวมถึงวิธีการปฏิบัติและกฎระเบียบต่างๆ เป็นต้น

เรื่องที่ ๒ การประชุมเพื่อเร่งเร้าจูงใจและประกาศเกียรติคุณ เป็นการประชุมเพื่อเร่งเร้าจูงใจและประกาศผลสำเร็จของงานเป็นสิ่งสำคัญ ในยามที่องค์กรต้องการรวบรวมพลัง ความมุ่งมั่นทุ่มเทของพลังงานที่จะผ่าวิกฤติหรือพิชิตเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง

เรื่องที่ ๓ การประชุมเพื่อร่วมกันคิดสร้างสรรค์ เป็นการประชุมเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่สำคัญในการบริหารให้องค์กรนั้นๆ เป็นองค์กรที่มีความคิดสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง และเป็นการฝึกให้สมาชิกทุกคนในองค์กรมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของทีมงานในทศวรรษหน้า

เรื่องที่ ๔ การประชุมเพื่อร่วมกันตัดสินใจ เป็นการประชุมเพื่อการตัดสินใจแก้ปัญหา กำหนดกลยุทธ์ หรือกำหนดเป้าหมาย รวมถึงการคัดเลือกระบบและเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง องค์ประชุมควรประกอบด้วยสมาชิก ซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ และไม่ควรเกิน ๑๐ – ๑๒ คน

เรื่องที่ ๕ การประชุมเพื่อสอนงานและฝึกอบรม เป็นการประชุมอบรมให้เข้าใจในขั้นตอนและวิธีการใช้เครื่องอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อองค์กรมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานหรือติดตั้งระบบงานใหม่ขั้น

ซึ่งต้องบอกว่า ใน “การประชุม” ๑ ครั้ง สามารถวางวัตถุประสงค์ได้มากกว่า ๑ เรื่อง เช่น อาจจะมีทั้งการแจ้งข้อมูลข่าวสาร การร่วมกันตัดสินใจ การประกาศเกียรติคุณ ซึ่งผมคิดว่าทุกท่านคุ้นชินอยู่แล้ว

(๓) รูปแบบของ “การประชุม”

จากเอกสารเผยแพร่ของวุฒิสภาไทย ได้แบ่งการประชุมออกเป็น ๙ รูปแบบ และแต่ละรูปแบบมีชื่อเรียกและวิธีการ ดังนี้

รูปแบบที่ ๑ การประชุมทั่วไป หรือ General Conference หรือ General Meeting เป็นการประชุมแบบที่เป็นทางการมีแบบแผน มีพิธีการที่แน่นอนชัดเจน องค์ประชุมประกอบด้วย ประธาน รองประธาน มีเลขานุการของที่ประชุม และสมาชิกผู้เข้าประชุมด้วย ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องมาเข้าประชุมด้วย ผู้เข้าประชุมมักจะเป็นผู้แทนจากส่วนงาน หรือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นในบางโอกาสยังอาจมีบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่าผู้ร่วมประชุม ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับเชิญให้มาเข้าร่วมในการประชุมอีกด้วย เพื่อให้มารับฟัง หรือ มาชี้แจงรายละเอียด ประกอบตามความต้องการของที่ประชุม

รูปแบบที่ ๒ การประชุมทีมงานภายในหน่วยงาน หรือ Staff – meeting เป็นการประชุมที่ผู้บริหาร หรือหัวหน้าประชุมกับผู้ร่วมงาน กับลูกน้อง หรือกับทีมงาน เป็นการประชุมทีมงานภายใน เพื่อปรึกษาหารือกันในหน่วยงาน เป็นเรื่องเฉพาะเป็นการภายในของหน่วยงานหรือเฉพาะของทีมงาน เพื่อปรึกษางาน เพื่อมอบหมายงาน หรือเป็นการประชุม เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานโดยเฉพาะของแต่ละหน่วยงานเกิดขึ้นได้ ในทุกหน่วยงานเป็นปกติ และมักเป็นการเรียกประชุมโดยหัวหน้าหน่วยงาน หรือโดยผู้ที่หัวหน้ามอบหมายให้เรียกประชุม หรือกำหนดให้ดำเนินการประชุม ตามเรื่องที่มอบหมาย

รูปแบบที่ ๓ การประชุมคณะกรรมการ หรือ Committee Meeting เป็นการประชุมเฉพาะกลุ่มของคณะผู้ทำงาน ซึ่งจัดอยู่ในรูปคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ เป็นกลุ่ม หรือคณะบุคคล ที่ได้มีการแต่งตั้ง หรือได้รับการมอบหมาย ให้พิจารณาดำเนินงานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ

รูปแบบที่ ๔ การประชุมสัมมนา หรือ Seminar เป็นการประชุมแบบเป็นทางการที่สมาชิกผู้มาร่วมการประชุม เป็นผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน หรือมีความสนใจตรงกัน มาประชุมร่วมกัน มาด้วยความตั้งใจจะมาร่วมใจกัน มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมกันศึกษาค้นคว้า มาร่วมปรึกษาหารือกัน หรือร่วมกันคิดเพื่อช่วยแก้ปัญหาในเรื่องที่จัดสัมมนาครั้งนั้น โดยทั่วไปมักจะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมด้วย ในฐานะผู้ให้ความรู้เสริม ช่วยชี้แนะ และให้คำแนะนำปรึกษา

รูปแบบที่ ๕ การประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ Workshop เป็นการประชุมที่ต้องมีการฝึกปฏิบัติ สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมเป็นหลักสำคัญ การประชุมแบบนี้ ปกติแล้วจะมีสมาชิกที่ร่วมประชุมจำนวนไม่มากนัก คือมักจะมีจำนวนแต่เพียงพอเหมาะกับอุปกรณ์ และ เครื่องอำนวยความสะดวกในการฝึกปฏิบัติการ ในเรื่องที่จัดประชุมนั้น ๆ ขึ้น เนื่องจากเน้นการฝึกปฏิบัติเป็นส่วนที่สำคัญมาก ในการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ สมาชิกในการประชุมจะต้องร่วมกันศึกษา รับฟังการบรรยาย หรือ ศึกษาค้นคว้า ทำความเข้า และฝึกปฏิบัติ เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานเฉพาะอย่าง ตามหัวข้อของการประชุมปฏิบัติการครั้งนั้น ๆ หลักสำคัญของการประชุมแบบนี้คือ การเรียนรู้ – ฝึกปฏิบัติ – แล้วนำไปปฏิบัติในการปฏิบัติงานจริง

รูปแบบที่ ๖ การประชุมระดมความคิด หรือ Brian - storming เป็นการประชุมในแบบที่มุ่งให้เกิดความคิดปัจจุบันแบบเร่งด่วน ให้ได้ความคิดจากสมาชิกมากที่สุดเท่าที่สมาชิกจะคิดได้ เป็นการประชุมเพื่อประมวลข้อคิด ความเห็น และข้อเสนอแนะ ด้วยเทคนิคการระดมความคิด ซึ่งเป็นวิธีการประมวลข้อคิด – ความเห็นอย่างกว้างขวาง จากสมาชิกในที่ประชุมด้วยเทคนิคเฉพาะอย่าง ซึ่งอาจเรียกชื่อแตกต่างกัน เช่นเรียกว่า การประชุมระดมความคิด การระดมความคิด การประชุมระดมสมอง การระดมพลังสมอง การประชุมระดมสติปัญญา หรือการประชุมระดมพลังความคิดแบบสร้างสรรค์

รูปแบบที่ ๗ การประชุมแบบกลุ่มย่อยเฉพาะกิจ หรือ Syndicate เป็นการประชุมแบบกลุ่มย่อยของผู้ซึ่งมีความสนใจร่วมกันในการพิจารณาปัญหาใดปัญหาหนึ่ง หรือเรื่องย่อยเรื่องใดเรื่องหนึ่งของการประชุมในแต่ละครั้ง สมาชิกในกลุ่มย่อยจะร่วมกันคิด อภิปราย ให้ความเห็นในเรื่องหรือในประเด็นที่ที่ประชุมใหญ่กำหนด ที่มอบหมายมาให้หรือเป็นเรื่องเฉพาะที่กลุ่มช่วยกันกำหนดขึ้น

โดยใช้กระบวนการกลุ่มที่ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าความคิดร่วมของกลุ่มขึ้น คือ กระบวนการประชุมกลุ่มที่ทำให้ทุกคนในกลุ่มได้มีส่วนในความคิดในการพิจารณา ได้โอกาสแสดงความคิดเห็น ได้อภิปราย กำหนดประเด็นปัญหา ค้นหาสาเหตุ พิจารณาข้อเสนอแนะ ไม่มีการข้ามขั้น ด่วนสรุปหรือมีการนำความเห็นของสมาชิกบางคนมายัดเยียดให้โดยไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของกลุ่ม

รูปแบบที่ ๘ การประชุมแบบซิมโพเซียม หรือ Symposium เป็นการประชุมทางวิชาการ มีลักษณะคล้ายปาฐกถาเป็นคณะ โดยหมู่หรือคณะผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมาเข้ากลุ่มอภิปราย แล้วอภิปรายหรือบรรยายตามหัวข้อเฉพาะของตน ตามที่ประธาน หรือผู้ดำเนินการอภิปรายเชิญให้พูดตามหัวข้อและตามเวลาที่กำหนด เมื่อผู้เชี่ยวชาญอภิปราย บรรยายให้ความรู้จนจบแล้ว หรือจบในแต่ละตอนแล้ว มักจะเปิดให้ผู้ฟังซักถามได้

รูปแบบที่ ๙ การประชุมแบบโต๊ะกลม หรือ Round Table เป็นการประชุมกลุ่มแบบหนึ่ง ที่นิยมจัดโดยให้สมาชิกที่มาประชุมทุกคนนั่งรอบโต๊ะกลมด้วยกัน แล้วสมาชิกมาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อมูล รายละเอียดในเรื่องที่สนทนาสู่กัน เป็นแบบ Share Information หรือ Information Sharing อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน บรรยากาศในการประชุมมักเป็นแบบค่อนข้างจะเป็นกันเอง

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่ารู้ไว้ ก็คือ มีผู้อธิบายวิธีการใช้คำว่า Convention หรือ Congress หรือ Conference ที่เป็นการประชุมใหญ่ระดับประเทศหรือระหว่างประเทศทั้งสิ้น ว่า

คำว่า Convention นิยมใช้ในสหรัฐอเมริกา

คำว่า Congress นิยมใช้ในกลุ่มประเทศยุโรป และประเทศในเครือสหราชอาณาจักร โดยทั่วไปจะเชื่อมโยงกับการประชุมทางการเมือง โดยเฉพาะการประชุมที่เป็นทางการ การประชุมใหญ่ การประชุมสมัชชาต่าง ๆ สาเหตุที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่นิยมใช้คำนี้ เนื่องจาก คำว่า Congress หมายถึง รัฐสภาอเมริกัน ดังนี้จึงนิยมใช้คำว่า Convention แทน

คำว่า Conference มีลักษณะเป็นการประชุมขนาดใหญ่ มีระยะเวลาการประชุมหลายวัน มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนร้อยถึงพันคน กิจกรรมระหว่างการประชุมมีหลากหลาย เช่น กิจกรรมทางสังคม นิทรรศการ การแสดง เป็นต้น

“เป็นยังไงบ้างครับ มึนงงมากขึ้นหรือกระจ่างขึ้น” กับความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ กับคำว่า “การประชุม” ที่ผมนำมาฝาก ซึ่งมีอะไรที่ลึกลับซับซ้อนน่าค้นหาเชียวแหล่ะ

ลองค่อย ๆ อ่านทำความเข้าใจดูครับ และนำไปประกอบการออกแบบ “การประชุม” ที่ต้องรับผิดชอบให้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่วางไว้ด้วย

ครั้งหน้าผมจะนำเสนอให้เห็นถึงวิธีการประชุมภายใต้ชื่อเรียกต่าง ๆ อีกครั้งว่า มีวิธีการอะไรบ้าง และแต่ละวิธีทำไปเพื่ออะไร และมีขั้นตอนอย่างไร

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

วิวาห์นี้...มีเพื่อเธอ

๒๘ มกราคม ๒๕๕๗

“น้องวิน” ครับ

หลังจากที่จดหมายฉบับที่แล้วพ่อได้เล่าเรื่องของ“จอห์น” เด็กหนุ่มวัย ๒๐ ปี กับ “ซาวันนาห์” สาววัยเดียวกัน กับความรักของทั้งคู่ที่ต่างมอบให้กันโดยไม่ต้องการการตอบแทนใด ๆ จากความรักของเด็กหนุ่มวัยรุ่น ได้ย่างก้าวผันผ่านกลายเป็นความรักที่ปรารถนาให้คนที่ตนเองรักมีความสุขมากกว่าความต้องการของตนเอง

ครั้งนี้ก็ยังเป็นนักเขียนคนเดิมที่พ่อชื่นชอบเสมอมา “นิโคลัส สปารคส์” (NICHOLAS SPARKS) กับเรื่องราวที่สะท้อน “ความรัก” ของสามีภรรยา ๒ คู่ คู่หนึ่งเป็นความรักที่ฝ่ายชายมอบให้กับภรรยาของเขา เพื่อประคับประคองชีวิตรักที่ผ่านมาด้วยกันกว่า ๔๐ ปีให้ก้าวเดินต่อไปได้อย่างคงมั่น ขณะที่อีกคู่หนึ่งเป็นความรักของชายที่ยังมั่นคงต่อภรรยาของเขา แม้นจะไม่ได้อยู่ร่วมกันบนพื้นพิภพแห่งนี้แล้วก็ตาม

นวนิยายเรื่องนี้มีชื่อภาษาไทยว่า “วิวาห์นี้….มีเพื่อเธอ” แปลมาจากต้นฉบับเรื่อง “THE WEDDING” โดย “พิกุล ธนะพรพันธุ์”

เป็นตอนที่ต่อมาจากเรื่อง “ปาฎิหาริย์บันทึกรัก” ที่ “จิระนันท์ พิตรปรีชา” แปลมาจากเรื่อง “THE NOTEBOOK” ซึ่งพ่อได้เขียนเล่าให้แม่ฟังไปเมื่อต้นเดือนนี้ ถึงชีวิตของ “โนอาห์” กับ “แอลลี่” ที่ใช้ชีวิตรักร่วมกันมาจนแก่เฒ่า

ช่วยปลายชีวิต “แอลลี่” ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่ด้วยความรักอย่างสุดซึ้ง “โนอาห์” จึงเฝ้าอ่าน “บันทึกรัก” ของชีวิตคู่ในวัยหนุ่มสาวของเขาและเธอให้กับภรรยาของเขาฟังตลอด ๕ ปี ซึ่งได้เกิดปาฎิหาริย์ที่สามารถทำให้ “แอลลี่” รำลึกถึงเรื่องราวของเธอได้ในบางช่วง และกลับมาจดจำ “โนอาห์” และเรื่องราวที่ผ่านมาในอดีตอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนนวนิยายเรื่องนี้ เป็นเรื่องของ “วิลสัน” ที่แต่งงานและอยู่กินกับ “เจน” (ลูกสาวของ “โนอาห์” กับ “แอลลี่”) มาจนครบรอบวันแต่งงานในปี ๓๙

ที่ผ่านมา “วิลสัน” เป็นผู้ชายที่ให้ความสำคัญกับงานมาก จนลืมชีวิตคนในครอบครัว ลืมกระทั่งวันครบรอบวันแต่งงานในปีที่ ๓๙ และทำให้ “เจน” รู้สึกน้อยใจเป็นอย่างมาก และตัดสินใจเดินทางไปหา “โจเซฟ” ลูกชายที่อาศัยอยู่อีกรัฐหนึ่งเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ เพื่อเยียวยาใจแทน

“โจเซฟ” เห็นอาการซึมเศร้าของแม่ จึงได้โทรมาเล่าให้พ่อฟัง

“วิลสัน” กลับมาคิดทบทวนเรื่องราวทั้งหมด อดรู้สึกผิดไม่ได้ถึง “ความละเลยและไม่เอาใจใส่หรือให้เวลากับภรรยาของตนเอง”

เขาจึงได้ปรึกษา “โนอาห์” ซึ่งพ่อตาก็ให้คำแนะนำแก่ลูกเขยอย่างดียิ่ง และสัญญากับตัวเองว่าในวันครบรอบปีที่ ๔๐ จะกลับไปสร้างความประทับใจกับ “เจน” ให้ได้

แต่ละวัน “วิลสัน” จึงพยายามให้เวลากับภรรยามากขึ้น สร้างความสงสัยให้กับ “เจน” และคิดว่า “วิลสัน” มีแฟนใหม่ ทำให้ปรับตัวจนกลายเป็นผู้ชายที่น่ารักได้ขนาดนั้น

ต่อมาวันหนึ่ง “แอนนา” ลูกสาวได้บอกกับ “เจน” ผู้เป็นแม่ว่า จะแต่งงานกับ “เคส” ชายหนุ่มที่รักกันมานาน ซึ่งทั้ง “วิลสัน” และ “เจน” ไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด

แต่“เจน” ต้องตกใจสุดขีด เมื่อ “แอนนา” บอกว่า จะแต่งงานในอีก ๒ สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งตรงกับวันครบรอบแต่งงาน ๔๐ ปี ของพ่อกับแม่พอดี

ด้วยความรักของแม่ที่มีต่อลูก “เจน” จึงยอมทำตามคำขอของ “แอนนา” ทุกอย่าง แต่สิ่งที่ “เจน” ยอมไม่ได้คือ “แอนนา” จะขอแต่งงานแบบง่าย ๆ ท่ามกลางแขกเหรื่อไม่กี่คน “เจน” จึงลุกขึ้นมาจัดเตรียมงานทุกอย่างเอง จนสร้างความเหนื่อยล้าและความกังวลยิ่งนัก เพราะมีเวลาในการเตรียมงานน้อยมาก

“เจน” นำเรื่องดังกล่าวมาปรึกษาสามีของเธอและเอ่ยปากขอให้ช่วยจัดการ ทั้งเรื่องอาหาร เครื่องดื่ม ดนตรี และสถานที่จัดงาน ซึ่ง “วิลสัน” ได้ช่วยอย่างเต็มที่ และบอกกับ “เจน” ว่าจะใช้ “บ้านหลังนั้น” ที่ “โนอาห์” และ “แอลลี่” ได้ใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันมากว่า ๔๐ ปี เป็นสถานที่จัดงานแต่งงานดังกล่าว

“วิลสัน” พา “เจน” ไปดู “บ้านหลังนั้น” ที่ขณะนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปอย่างมาก มีหยากไย่ขึ้นเต็มไปหมด สวนที่เคยสวยงามกลับรกเต็มไปด้วยหญ้าและต้นไม้ปกคลุม เพราะถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ตั้งแต่เจ้าของบ้าน คือ “โนอาห์” และ “แอลลี่” ได้ย้ายไปอยู่ที่ศูนย์พักคนชรา

“วิลสัน” ปรับปรุงบ้านราวเนรมิตเพียงภายในเวลาสัปดาห์เดียว จนสร้างความแปลกใจให้กับ “เจน” เป็นอย่างมาก เพราะทุกอย่างพร้อมสำหรับงานแต่งงานที่จะเกิดขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้า

ระหว่างเตรียมงาน “วิลสัน” จะปลีกเวลาไปเยี่ยม “โนอาห์” พ่อตาตัวเองที่ที่บ้านพักคนชราเป็นประจำ

ในแต่ละครั้งที่เขาจะเห็น “โนอาห์” นั่งให้ขนมปัง “หงส์” ตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบด้านหลังบ้านพักคนชราแห่งนั้น พูดคุยกับหงส์ตัวนั้นอย่างมีความสุข สีหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม จนวันหนึ่ง “วิลสัน” จึงเอ่ยปากถาม “โนอาห์”

“หงส์ตัวนั้น คือ “แอลลี่” ที่ตายจากไปเมื่อสามปีก่อน นี้เป็นคำตอบของ “โนอาห์” ที่ให้กับลูกเขย

ก่อนงานแต่งงานเพียง ๓ วัน “วิลสัน” เห็น “โนอาห์” นั่งซึมเศร้าหมดอาลัยตายอยากอยู่บนเก้าอี้ข้างทะเลสาบ มีเพียงเสียงอันแผ่วเบาออกมาจากปากของ “โนอาห์” ว่า “เธอจากไปแล้ว”

ในบ่ายของวันเสาร์วันแต่งงาน แขกเหรื่อต่างเดินทางมาร่วมงานคับคั่งเต็มลานสนามหญ้า ที่ถูกประดับประดาไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับและแสงสีที่สวยงาม เสียงเพลงอันแสนไพเราะจากนักเปียโนชั้นนำขับกล่อมไปทั่วงาน อาหารรสเลิศจากภัตตาคารหรูในเมืองถูกนำมาบริการ

ช่วงเวลาที่รอคอยมาถึง “แอนนา” ค่อย ๆ เยื้องกรายออกมา แต่ภาพที่ปรากฏขึ้นสร้างความตกใจให้กับ “เจน” เป็นอย่างมาก เพราะ “แอนนา” ไม่ได้ใส่ชุดเจ้าสาวที่ “เจน” เป็นฝ่ายเลือกให้

“แม่น่าจะเป็นคนสวมชุดนั้นเอง” ในขณะที่ “เจน” ยังอยู่ในอาการตกตะลึงกับภาพที่เธอเห็น

“งานนี้คืองานแต่งงานของแม่มาตั้งแต่ต้น แม่ไม่สงสัยบ้างเลยหรือคะ ที่หนูปล่อยให้แม่เลือกทุกอย่างเอง”

“เจน” ไม่เข้าใจกับคำพูดที่ได้ยิน เธอจึงพยายามกวาดสายตาไปยังคนที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ และในที่สุดเธอก็หันหน้ามาพบ “วิลสัน” ที่ยืนยิ้มอยู่อีกมุมหนึ่งของห้อง

“คุณเคยบอกว่าจะแต่งงานกับผมอีกครั้ง ใช่ไหมจ๊ะ”

“นี้เป็นงานแต่งงานของฉันหรือคะ”

เมื่อทุกอย่างถูกเปิดเผย นี้คือสิ่งที่สามีได้บรรจงสรรค์สร้างให้เธออย่างสุดหัวใจ ทั้งคู่ต่างตระกองกอด เดินไปพบกับแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน ที่ทุกคนต่างรู้ล่วงหน้าถึงแผนการนี้อันดียิ่ง

ยามใดที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกันตามลำพัง “วิลสัน” ก็จะกระซิบบอกกับภรรยาของเขาว่า “ผมรักคุณ” ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ภายหลังจากที่แขกเหรื่อกลับไปหมดแล้ว “วิลสัน” พยายามมองหา “โนอาห์” แต่ไม่พบในบริเวณงาน จนในที่สุดเขามองไปยังด้านหลังของ “บ้านหลังนั้น” จึงได้เห็น “โนอาห์” ยืนอยู่ท่ามกลางความมืดบนชายฝั่งทะเลสาบที่ลาดชัน

ภาพที่ปรากฏต่อสายตา คือ “โนอาห์” กำลังพูดกระซิบกระซาบกับบางอย่างอยู่

เขาเดินเข้าไปจนใกล้ และมองออกไปยังเบื้องหลังของ “โนอาห์”

“หงส์” ตัวเดิมที่หายไปเมื่อ ๓ วันก่อน กำลังเคลื่อนกายเข้ามาบนผิวน้ำที่อาบไปด้วยแสงนวลของจันทรา สง่าและงดงาม ปีกขนสีเงินวับเงา ว่ายวนอยู่ตรงหน้า “โนอาห์” นั้นเอง

นวนิยายเรื่องนี้จบเพียงเท่านี้ครับลูก พร้อม ๆ กับน้ำตาพ่อที่ซึมออกมาโดยไม่รู้ตัว

นี้คือความรักแท้ที่ “วิลสัน” มีต่อ “เจน” กับความศรัทธาในความรักที่มั่นคงของ “โนอาห์” มีต่อ “แอลลี่” เสมอมา อานุภาพของความรักที่สามารถบันดาลให้ทุกเรื่องเกิดขึ้นได้ แม้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ก็ตาม

ซึ่งพ่ออยากให้ลูกได้เรียนรู้และซึมซับตัวอย่างการใช้ชีวิตคู่ ที่จะเป็นรากฐานอย่างดีต่อความมั่นคงที่เกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

เป็นเด็กดีของพ่อและแม่นะ และฝาก..จูจุ๊บ..แม่ ก่อนนอนทุกคืนด้วยนะครับ

“พ่อโต”

วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

(บาง) บทเรียนจากยอดภูทับเบิก

๒๗ มกราคม ๒๕๕๗

“ที่ไหนมีอำนาจ ที่นั่นมีความหายนะ” เป็นภาษิตม้งบทหนึ่งที่แปลมาจากภาษาต้นฉบับว่า “ขอ ตือ มั่ว ฮื่อ สิ ขอเต๋อ เหลี่ย หลี่” (Qhov twg muaj hwj tshim qhov natawv liam tsim) นี้เป็นภาษิตที่สะท้อนช่องโหว่ที่สำคัญของกระบวนการทำงานของกลไกภาครัฐได้เป็นอย่างดี

บันทึกสุชนทัศนาจรตอนที่ ๒ ได้บอกเล่าเรื่องราวที่ครอบครัวสุชนได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และมีโอกาสไปเที่ยวชมธรรมชาติบน “ภูทับเบิก” อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อที่มีผู้สนใจหลั่งไหลมาเยี่ยมชม จนเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องเฟื่องฟู

ภายหลังที่ผมโพสต์เรื่องเล่าดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊ค (facebook) ได้ไม่นาน เพื่อนภาคีคนหนึ่งได้ส่งบทความ เรื่อง “อย่าแค่ค่ำคว้าดาว เช้าคว้าหมอก : เสียงเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากพี่น้องม้งภูทับเบิก” มาให้อ่านเพิ่มเติมถึงบางกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมื่อปี ๒๕๕๔

เมื่อผมอ่านจบและลองวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น ได้เห็นประเด็นสำคัญอย่างน้อย ๓ ประเด็น ที่อยากชวนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ประเด็นแรก การทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพขององค์กรรัฐ ที่ขาดการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะแจ้งความเอาผิดกับทางคริสตจักรทับเบิกในฐานะเจ้าของที่ดินที่ถูกกฎหมาย

ประการที่สอง วิธีการทำงานของกลไกภาครัฐที่ยังขาดมิติการทำงานแบบปรึกษาหารือหรือรัฐศาสตร์ แต่มุ่งเน้นการทำงานที่อาศัยอำนาจทางกฎหมายหรือนิติศาสตร์แต่เพียงด้านเดียว

ประการที่สาม ความเข้มแข็งของชุมชนเป็นเกราะอันสำคัญในการถูกทำลายจากจากปัจจัยต่างๆ ที่มากระทบ ซึ่งในกรณีนี้ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของชาวบ้าน ประกอบกับการมีข้อมูลที่ถูกต้องและการหนุนช่วยจากองค์กรเครือข่ายภายนอก นับเป็นปัจจัยสำคัญของการยืนหยัดในสิทธิที่ดินทำกินของชาวบ้านตัวเล็ก ๆ

แม้ว่าบทสรุปของเรื่องนี้ คือ “การยอมถอนแจ้งความ” แต่สิ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญจากกรณีศึกษาเรื่องนี้ คือ ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่อง “นโยบายสาธารณะที่ดี” ที่ต้องคำนึงกุศล ๓ ประการ อันประกอบด้วย กุศลทางปัญญา ที่ต้องมีข้อมูลวิชาการที่รอบด้าน กุศลทางสังคม ที่ต้องดำเนินการแบบมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ และกุศลทางศีลธรรม ที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายของนโยบายที่คำนึงถึงสาธารณะมากกว่าเพียงกลุ่มพวกพ้องของตน

เชิญชวนอ่านเรื่องราวจากกรณีศึกษานี้ร่วมกันครับ

“บ้านทับเบิก” เป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนภูสูง อยู่เลยจากยอดภูทับเบิกไปอีก ๕ กิโลเมตร คนในหมู่บ้านแทบทั้งหมดกว่า ๖๐๐ ครัวเรือนเป็นชนเผ่าม้ง อาชีพหลัก คือ ปลูกกะหล่ำปลี ทำให้ที่นี่จึงเป็นแหล่งปลูกกะหล่ำปลีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กะหล่ำปลีที่คนเมืองกินทุกวันนี้หรือที่วางขายกันตามท้องตลาดมาจากบ้านทับเบิกกว่า ๘๐ %

คนม้งบางส่วนของหมู่บ้านประมาณ ๓๐ % นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ จึงทำให้มีการตั้งคริสตจักรทับเบิกขึ้นมาอย่างถูกต้องตามธรรมนูญแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๔๓ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยมี “นายพรชัย บัญชาสวรรค์” เป็นครูสอนศาสนา

พื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้านอยู่ในความดูแลของ “ศูนย์พัฒนาสังคม หน่วยที่ ๓๘ จังหวัดเพชรบูรณ์” หรือในชื่อเดิมคือ ”ศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขา” สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

“บ้านทับเบิก” เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” หรือ “โครงการ Unseen Thailand” ที่ประกาศเมื่อปี ๒๕๔๖ “ภูทับเบิก” จึงกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ดังกล่าว

หากใครได้เห็นบรรยากาศชุ่มฟ้าฉ่ำฝน เมื่อฟ้าหลังฝนเต็มไปด้วยเมฆหมอกฝนขาวโพลนลอยอ้อยอิ่งให้ได้สัมผัส จับสูดดม ท่ามกลางขุนเขาและแมกไม้เขียวขจี หรือในทุก ๆ เหมันตฤดู ชื่อของ “ภูทับเบิก” ถูกนำเสนอด้วยสโลแกนเก๋ ๆ ว่า “นอนทับเบิก สัมผัสความหนาว ดูดาวบนดิน” จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างถิ่นจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวที่ภูทับเบิกจนที่พักไม่เพียงพอ

ชาวบ้านม้งคนหนึ่งเล่าว่า “อย่าว่าแต่ที่จะกางเต็นท์เลย ที่จอดรถยังแทบไม่มี รถติดกันเป็นแถวยาว ไปไหนไม่ได้ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่นี่ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาว ตั้งแต่วันพ่อ วันรัฐธรรมนูญ วันปีใหม่” จึงทำให้ชาวบ้านที่นี่ลุกขึ้นมาหาทางจัดการ จนมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็น "วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวภูทับเบิก" เพื่อเข้ามาบริหารจัดการ ดูแลการท่องเที่ยวบนภูทับเบิก ตลอดจนมีการก่อสร้างอาคารถาวรเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในที่ดินทำกินของแต่ละคนมากขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงในกรณีการก่อสร้าง “สถานคริสเตียนศึกษาภูสวรรค์” ของคริสตจักรทับเบิกด้วยเช่นเดียวกัน

ล่วงเลยมาจนถึงเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ และ ๕ มกราคม ๒๕๕๔ ทาง “ศูนย์พัฒนาสังคม หน่วยที่ ๓๘” ได้มีหนังสือแจ้งมายังคริสตจักรถึง “นายพรชัย บัญชาสวรรค์” ให้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง “สถานคริสเตียนศึกษาภูสวรรค์” ที่สร้างขึ้นมาเมื่อปี ๒๕๕๒ และยังมีหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรหล่มเก่า ให้ไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ และ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๔ ในข้อหา “เข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงก่นสร้าง หรือเผาป่า ที่ดินของรัฐ โดยไม่ได้รับอนุญาต และก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือ หรือครอบครองป่าเพื่อตนเอง หรือผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต”

จากข้อเท็จจริงจากปากของ “นายพรชัย บัญชาสวรรค์” ได้เล่าในขณะนั้นว่า “แม้ว่าที่ดินแห่งนี้จะอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาสังคมที่ ๓๘ แต่คริสตจักรทับเบิกก็ได้ซื้อที่ดินจำนวน ๓ ไร่เศษ มาโดยถูกกฎหมายเมื่อปี ๒๕๔๙ เป็นเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อนำมาใช้ในพันธกิจของคริสตจักรในอนาคต คริสตจักรจึงไม่ใช่ผู้เข้าไปบุกรุกตามข้อกล่าวหาแต่ประการใด เพราะคริสตจักรมีสิทธิในที่ดินอยู่ก่อนแล้ว”

“และเมื่อได้รับหนังสือแจ้งเตือนจากศูนย์พัฒนาสังคม ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำหนังสือถึงนายอำเภอหล่มเก่า และถึงศูนย์พัฒนาสังคม เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ และ ๕ มกราคม ๒๕๕๔ ตามลำดับ เพื่อหารือถึงทางออก แนวทางการผ่อนปรนเนื่องจากได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว และพร้อมปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป แต่ก็ไม่ได้รับการแจ้งใดๆจากศูนย์พัฒนาสังคม สุดท้ายก็มีหมายเรียกมาในที่สุด”

“นายยงยุทธ สืบทายาท” ผู้อำนวยการสมาคมม้งในขณะนั้น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจยิ่งขึ้นว่า “ที่ผ่านมาในท้องถิ่นแห่งนี้ การก่อสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างอื่นใดก็ไม่เคยมีการขออนุญาตกับหน่วยงานราชการมาก่อน เนื่องจากเห็นว่าเป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิและมีการครอบครองทำกินและใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งก็ไม่เคยมีปัญหาการฟ้องร้องใด ๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อคริสตจักรเริ่มต้นก่อสร้าง คริสตจักรได้ไปปรึกษากับองค์การบริหารส่วนตำบลวังบาลว่าจะต้องขออนุญาตดำเนินการอย่างไร แต่ทาง อบต. แจ้งว่าพื้นที่ก่อสร้างไม่อยู่ในอำนาจของ อบต.จึงไม่มีการออกใบอนุญาตใดๆ คริสตจักรจึงดำเนินการก่อสร้างไป โดยเข้าใจว่าสามารถดำเนินการก่อสร้างเหมือนกับการก่อสร้างที่ผ่านมา”

ตามประวัติดั้งเดิมแล้วพื้นที่แห่งนี้มีชาวม้งจำนวนมากได้เข้ามาบุกเบิกและจับจองที่ทำกินมาตั้งแต่ประมาณปี ๒๔๖๕ ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๐๒ คณะรัฐมนตรีได้มีมติจัดตั้งเขตนิคมสร้างตนเองและสงเคราะห์ชาวเขาในประเทศไทยขึ้น ๔ แห่ง โดยหนึ่งในจำนวนนั้น คือ “นิคมสร้างตนเองและสงเคราะห์ชาวเขาภูลมโล” เขตติดต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย รวมเนื้อที่มากกว่าสองแสนไร่

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมชาวเขาที่อยู่กระจัดกระจายซึ่งยากแก่การพัฒนาและสงเคราะห์ได้อย่างทั่วถึง ให้เข้ามาตั้งหลักแหล่ง และประกอบอาชีพเป็นการถาวรในเขตนิคม ทั้งในด้านการส่งเสริมอาชีพการเกษตร อุตสาหกรรมในครัวเรือน ด้านการศึกษา การอนามัย ด้านการสังคมสงเคราะห์ ด้านการจัดสรรที่ดินเพื่อการครองชีพ เป็นต้น

ต่อมาในปี ๒๕๐๙ ได้มีมติคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยมอบพื้นที่ดังกล่าวให้อยู่ในความดูแลของกรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันคือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และเริ่มมีหน่วยงานของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาเข้ามาในพื้นที่

ปี ๒๕๑๑ – ๒๕๒๖ มีการสู้รบในพื้นที่ระหว่างรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ชาวม้งในพื้นที่แบ่งออกเป็นสองฝ่าย

ปี ๒๕๒๗ – ปัจจุบัน ภายหลังจากที่มีการประกาศนโยบาย ๖๖/๒๕๒๓ บ้านทับเบิกจึงได้กลับคืนสู่สภาพหมู่บ้านปกติ และชาวม้งที่นี่ก็คงอยู่และทำกินในพื้นตลอดมา

ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาถึงแม้ว่าจะมีมติคณะรัฐมนตรีหรือประกาศของทางราชการเกี่ยวกับพื้นที่ซึ่งชาวม้งอาศัยและทำกินอยู่ แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีการกำหนดหลักเกณฑ์ใด ๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินเหล่านี้แจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่รับทราบและปฏิบัติตาม การก่อสร้างใดๆ จึงไม่เคยมีการขออนุญาตมาก่อน หรือการใช้ประโยชน์ในที่ดินก็ไม่มีข้อห้ามแต่ประการใดว่าต้องเฉพาะเกษตรกรรมเท่านั้น ชาวม้งในพื้นที่จึงไม่เคยขออนุญาตเรื่องการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ในที่ดินของตนเอง ประกอบกับการได้มาซึ่งสิทธิการทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินเหล่านี้ก็เป็นไปโดยชอบธรรมและสืบสิทธิในที่ดินต่อจากผู้มีสิทธิคนก่อน ๆ

เช่นเดียวกับกรณีคริสตจักรทับเบิกที่ซื้อที่ดินมาจากการซื้อต่อจากผู้มีสิทธิเดิม ที่ดินดังกล่าวได้ทำกินและใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีแล้ว จึงมิใช่เป็นการบุกรุกแผ้วถางหรือไปจับจองที่ดินของรัฐในภายหลังแต่ประการใด การครอบครองที่ดิน การพัฒนาที่ดิน ตลอดจนการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคริสตจักรจึงเป็นสิ่งอันชอบธรรม มิใช่เป็นไปตามข้อกล่าวหาของศูนย์พัฒนาสังคมที่ ๓๘

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ พี่น้องม้งจากบ้านทับเบิก กว่า ๑๐๐ คน จึงเดินทางลงจากภูทับเบิกมุ่งหน้าไปยังที่ว่าการอำเภอหล่มเก่า กว่า ๔๐ กิโลเมตร เพื่อส่งเสียงขอความเป็นธรรมต่อนายอำเภอหล่มเก่า โดยขอให้พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง “นายพรชัย บัญชาสวรรค์” ซึ่งนายอำเภอได้มอบให้ศูนย์ดำรงธรรมเข้ามาดำเนินการไกล่เกลี่ย และเสนอให้ “ศูนย์พัฒนาสังคมที่ ๓๘ พิจารณาให้คริสตจักรทับเบิกดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะทำเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องชาวทับเบิก มิได้มุ่งหาผลประโยชน์แต่อย่างใด”

และในที่สุดเมื่อมีการพิสูจน์หลักฐานกันจนที่แน่นชัดว่า ที่ดินบริเวณที่ปลูกสร้างคริสตจักรได้ซื้อมาอย่างถูกกฎหมาย โจทย์จึงยอม “ถอนแจ้งความ”

ผมอดไม่ได้ที่จะขอบคุณอีกครั้งสำหรับการต่อสู้ของชาวบ้านบ้านทับเบิก ที่ทำให้บนยอดภูแห่งนี้ยังคงมี “คริสตจักรทับเบิก” ไว้เป็นสถานที่ประกอบกิจทางศาสนายืนเด่นเป็นสง่ามาจนถึงวันนี้ ยังคงมี “ภาพไม้กางเขนเด่นสง่า” ผงาดทายท้าอธรรมที่จะมารุกรานสิทธิของคนเล็ก ๆ บนผืนแผ่นดินแห่งนี้ได้ต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

บันทึกสุชนทัศนาจร (ตอนที่ ๓)

๒๖ มกราคม ๒๕๕๗

เป็นดั่งที่คาดการณ์ไว้เมื่อวานนี้ว่า (อาจ) มีความรุนแรงเกิดขึ้นในวัน “เลือกตั้งล่วงหน้า” เมื่อข้อความบนไลน์ (line) ที่ส่งมาจากเพื่อนทางเครือข่ายระบุว่า “เกิดการประทะกันที่วัดศรีเอี่ยมทำให้นายสุทิน ธาราทิน แกนนำ กปท. เสียชีวิต” จึงทำให้แต่ละคนลดความสนุกจากการทัศนาจรในทริปนี้ไปไม่น้อย

ภายหลังอาหารเช้า รถตู้ทั้ง ๘ คันก็เข้าประจำที่ กระเป๋าและสัมภาระถูกจัดเตรียมพร้อม และเมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ขบวนรถก็เคลื่อนตัวมุ่งหน้าสู่อำเภอเขาค้อ เพื่อเที่ยวชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

จุดแรกที่แวะชมคือ "ไร่บีเอ็น" แม้ผมได้ยินชื่อไร่แห่งนี้มาตั้งแต่สมัยยังเด็ก แต่ก็ไม่เคยแวะเข้ามาชมเลย วันนี้จึงถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้ครั้งแรกกับสถานที่แห่งนี้

ไร่บีเอ็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรนับพันไร่ ที่ได้รับความนิยมจากผู้ที่มาเที่ยวเขาค้อไม่เสื่อมคลาย จุดเด่นอยู่ที่การทำการเกษตรเชิงวิชาการแผนใหม่ ที่นำมาปรับปรุงและพัฒนากับพืชผลในไร่ จนกลายเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตและการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรสำหรับไม้เมืองหนาว ที่นี่มีพืชผัก ผลไม้ที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันตามฤดูกาลมากมาย

เช่น สตรอเบอร์รี่ ลิ้นจี่ น้อยหน่า อโวคาโด้ ลูกพลับ ผักต่างๆ เช่น แครอท บีทรูท แตงกวาญี่ปุ่น ฟักแม้ว ผักกาดแก้ว บรอคเคอรี่ และดอกไม้สวยๆ สำหรับเมืองหนาว เช่น คาร์เนชั่น แกลดิโอลัส แอสเตอร์ นอกจากนี้ยังมีสินค้าแปรรูป ประเภท ไอศครีม แยมผลไม้ น้ำผลไม้ ผลไม้อบแห้ง ผลไม้แช่อิ่มประเภทต่าง ๆ

ผมใช้เวลาเดินชมไร่ลิ้นจี่ที่ปลูกไว้บนพื้นที่หลายสิบไร่ และชมไร่สตรอเบอร์รี่ซึ่งมีคนงานกำลังเก็บผลอยู่พอดี จุดที่ผู้คนให้ความสนใจมากไม่น้อยก็คือ ไม้โบราณดึกดำบรรพ์ที่ชื่อว่า “ต้นสาละ” ที่มีลูกขึ้นอยู่เต็มต้นดูแปลกตา และสวนไม้ดอกไม้ประดับที่มีดอกไม้บางชนิดที่อาจไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน

จุดที่สอง คือ "พิพิธภัณฑ์อาวุธ" ซึ่งมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “ฐานอิทธิ” ที่ตั้งชื่อตาม “พันเอกอิทธิ สิมารักษ์” ผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ยึดพื้นที่เขาค้อคืนจาก ผกค. ในปี ๒๕๒๔ บริเวณนี้เคยเป็นฐานปืนใหญ่ที่ยิงสนับสนุนการสู้รบ

ปัจจุบันนี้จัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง มีอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ใช้ในการสู้รบตั้งอยู่มากมาย เช่น เครื่องบินขับไล่ เอฟ ๕ รถสายพานลำเลียงพล ปืนใหญ่ ปืนใหญ่ เป็นต้น

ภายในอาคารมีห้องบรรยายสรุปเกี่ยวกับเหตุการณ์ในยุทธภูมิเลือดเขาค้อ มีห้องจัดนิทรรศการเกี่ยวกับอุปกรณ์ เครื่องใช้ เสื้อผ้า อาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนด้านนอกอาคารยังมีฐานอาวุธ จัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่น ปืนใหญ่ รถถัง รถแทรกเตอร์ บังเกอร์หลบภัย แต่ละจุดมีป้ายประวัติพร้อมคำอธิบายประกอบ

จุดที่สามที่ครอบครัวสุชนเดินทางไปเยี่ยมชม คือ อนุสรณ์สถานผู้เสียสละเขาค้อ ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขา โดดเด่นด้วยแท่งหินอ่อนรูปทรงสามเหลี่ยม ออกแบบโดย “ดร.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ได้เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานเปิดอนุสรณ์สถานแห่งนี้ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ เพื่อเตือนใจคนไทยทั้งชาติว่า "ยามใดที่คนไทยขัดแย้งกัน จะต้องมีการสูญเสียเกิดขึ้นเช่นเดียวกับ ๑,๑๗๑ ชีวิต จงอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก และได้จารึกนามทหารกล้าไว้กับองค์อนุสรณ์ "

คณะของเราให้ความสนใจกับบริเวณด้านข้างของอนุสรณ์ฯ ที่เป็นฐานจำลองการสู้รบ เป็นเนินเตี้ย ๆ มีหลุมหลบภัย มีกระสอบทรายบังเกอร์ ซึ่งในอดีตที่แห่งนี้เป็นฐานแห่งแรกที่ทหารไทยยึดคืนมาได้จากการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

จุดนี้ยังเป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งบนเขาค้อ เนื่องจากตั้งอยู่บนส่วนที่สูงที่สุด สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเนินเขาลูกเล็ก ลูกน้อย ไล่เลียงกันเป็นทะเลภู และมองเห็นทะเลหมอกด้านล่างกระจายอยู่ทั่วไป

เราแวะเติมพลังมื้อกลางวันกันที่ร้านอาหาร “ไร่จันทร์แรม” ซึ่งเป็นร้านอาหารที่มีชื่อเสียงมาก สมกับสโลแกนของทางร้านที่ว่า “วิวสวย รวยบริการ อาหารอร่อย ดอกไม้งาม ต้องไร่จันทร์แรม” ที่นี่มีลูกค้ามาใช้บริการแน่นขนัด นอกจากนั้นในบริเวณด้านนอกยังมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับยั่วยวนนายแบบ-นางแบบมิใช่น้อยเลยทีเดียว

หลังจากนั้นเราเดินทางต่อไปยังพระตำหนักเขาค้อ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ตั้งอยู่บนเขาย่า สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๑,๑๐๐ เมตร จัดสร้างโดยบรรดาข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนในพื้นที่ ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านภายหลังการต่อสู้ด้วยอาวุธกับ ผกค. สิ้นสุดลงแล้ว จึงได้รวบรวมทุนทรัพย์ ก่อสร้างพระตำหนักเขาค้อขึ้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชนในพื้นที่ และเป็นที่ทรงงาน และแปรพระราชฐานมาประทับแรม ในวโรกาสที่พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จมาตรวจเยี่ยมโครงการตามพระราชดำริในพื้นที่เขาค้อ

ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการถ่ายรูปบริเวณโดยรอบพระตำหนัก ซึ่งเต็มไปด้วยดอกกุหลาบหลากสีต่าง ๆ มากมาย นอกจากนั้นยังมีสนขนาดใหญ่ สูงโปร่ง กระจายอยู่เต็มบริเวณ ท่ามกลางสายหมอกกับอากาศที่เย็นสบาย วันนี้มีนักทัศนาจรกลุ่มอื่น ๆ มาเยี่ยมชมค่อนข้างหนาตา

หลังจากที่คณะของเราขึ้นรถตู้เพื่อเตรียมตัวกลับ ข่าวร้ายจากการเสียชีวิตของ “นายสุทิน ธาราทิน” ก็เดินทางมาถึง ใครหลายคนคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะทวีความรุนแรงมากขึ้น บางคนถึงกับหลุดคำพูดออกมาว่า “ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นในช่วงกลางวันแสก ๆ”

ระหว่างทางครอบครัวสุชนแวะจับจ่ายซื้อหาของกินที่ “ร้านกำนันจุล” ร้านขายสินค้าของฝากที่มีชื่อเสียงที่สุดของจังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่บนถนนสายสระบุรี-หล่มสัก บริเวณสามแยกวังชมภู เป็นแหล่งจำหน่ายผลไม้ สินค้าที่ได้จากผลผลิตทางการเกษตร และสินค้าแปรรูปที่มีคุณภาพหลายอย่าง ทั้งในกลุ่มผลไม้แปรรูป น้ำผลไม้ อาหารแปรรูป ผ้าไหมไทย และยังมีกิจกรรมนำเที่ยวชมไร่

อาหารขึ้นชื่อที่สุดคงหนีไม่พ้นผลไม้สดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ เช่น เยลลี่ผลไม้นานาชนิด น้ำผลไม้เข้มข้นหลายชนิด รวมทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร โดยเฉพาะปลาส้มกำนันจุล ที่หลายคนในคณะต่างหอบหิ้วพะรุงพะรังเป็นของฝากคนทางบ้าน

กว่า ๑ ทุ่มแล้ว ขบวนรถตู้มุ่งหน้าจนมาถึงจังหวัดสระบุรี แวะรับประทานอาหารเย็นกันที่ “โรงแรมเกียวอัน” ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง โรงแรมนี้ทำให้ผมอดคิดถึงสมัยที่ยังทำงานที่กรมอนามัยใหม่ ๆ ไม่ได้ เราใช้โรงแรมนี้ในการอบรม “ผู้ดูแลระบบประปาหมู่บ้าน” บ่อยครั้งมาก แม้เวลาจะผ่านมานาน แต่รสชาติอาหารที่นี่ยังเหมือนเดิม จนบางโต๊ะต้องสั่งเพิ่มโดยเฉพาะขาหมูหมั่นโถว และผัดผักคะน้าหมูกรอบ

รถตู้พาคณะของเรามาถึงสำนักงาน สช. ประมาณ ๒๑.๓๐ น. และก็เป็นเวลาที่ทุกคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน

ระหว่างเดินทางกลับ ผมฟังข่าวร้ายที่เกิดขึ้นกับ “สุทิน ธาราทิน” อย่างละเอียด ยิ่งทำให้อดคิดต่อไม่ได้ว่าดินแดนที่มีสมญานามว่า “สยามเมืองยิ้ม” ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว และหวนคำนึงถึงข้อเตือนใจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ได้ให้ไว้ในวันที่ไปเปิดอนุสรณ์สถานผู้เสียสละที่เขาค้อ ที่ว่า "ยามใดที่คนไทยขัดแย้งกัน จะต้องมีการสูญเสียอย่างผู้กล้าหาญ ๑,๑๗๑ ชีวิต ที่จารึกไว้กับองค์อนุสรณ์ จงอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก"

เหตุการณ์เช่นนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในดินแดนด้ามขวานทองแห่งนี้

วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2557

บันทึกสุชนทัศนาจร (ตอนที่ ๒)

๒๕ มกราคม ๒๕๕๗

“สยามเมืองยิ้ม ยิ้มกันเข้าไว้
แต่ก่อนทีไร ยิ้มได้เต็มที่
ล่วงเลยมา อีกไม่กี่ปี
ผู้คนวันนี้ ยิ้มแตกต่างกันไป”

ผมนั่งฮัมเพลงนี้ระหว่างที่คณะเรากำลังเดินทางมุ่งหน้าสู่ “ภูทับเบิก” ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่หลาย ๆ คนในทริป ต่างก็ติดตามสถานการณ์ของบ้านเมืองว่า (จะ) มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ผ่านทางสังคมออนไลน์ที่ระยะทางไม่ได้ทำให้ความห่างไกลของข้อมูลลดน้อยลงหรือถอยห่างไปด้วย

เช้าวันนี้ (๒๕ มกราคม) หลังจากรับประทานอาหารเช้าที่โรงแรมที่พักแล้ว ชาวสุชนกว่า ๕๐ ชีวิต ได้แบ่งเป็น ๒ ทีม ทีมหนึ่งเดินทางไปร่วมงานแต่งงานน้องบี น้องที่เคยทำงานอยู่ที่ สช. ส่วนอีกทีมซึ่งรวมถึงผมด้วย มุ่งหน้าสู่ “ภูทับเบิก” สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบูรณ์ แม้ว่าไม่นานมานี้ผมก็เพิ่งจะพาครอบครัวขึ้นไปนอนสัมผัสอากาศหนาวบนยอดภูมาแล้วก็ตาม

เราใช้เส้นทางถนนพิษณุโลก-หล่มสัก มุ่งหน้าสู่ภูทับเบิกที่ตอนนี้กำลังมีการก่อสร้างขยายถนน สองข้างทางเต็มไปด้วยเครื่องจักรกลที่กำลังทำงาน และกองดินกองหินเต็มไปหมด ทำให้ทางแคบลงและเดินทางลำบากขึ้น จนมาถึงทางแยกเข้าอำเภอหล่มเก่า ถนนหนทางจึงดีขึ้น ขับมาไม่นานก็เข้าสู่เส้นทางขึ้นเขา ระยะทางกว่า ๓๐ กิโลเมตร ถนนคดเคี้ยวมากและชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่ออยู่หลายช่วง

คณะภูทับเบิกประกอบไปด้วยรถตู้ ๔ คัน ผมนั่งรถหมายเลข ๔ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นรถนำขบวน พี่คนขับแม้จะมีรูปร่างท้วมแต่ก็ดูทะมัดทะแมงยิ่งนัก และค่อนข้างชำนาญเส้นทางเป็นอย่างดี จึงทำหน้าที่คอยบอกเส้นทางอย่างละเอียดให้กับรถที่วิ่งตามมาข้างหลังผ่านวิทยุสื่อสารตลอดเวลา ผมนั่งฟังไปก็ได้เรียนรู้ระบบการทำงานในเรื่องนี้ไปด้วย และยิ่งสนุกมากขึ้น เมื่อมีการกระเซ้าเย้าแหย่กัน เช่น รถยนต์ที่สวนไปคนขับชื่อ “ท้าวขับดี” เป็นต้น

ก็คงไม่แตกต่างจากคณะนักทัศนาจรอื่น ๆ ที่พอถึงจุดชมวิวก็แวะถ่ายรูป พร้อมอุดหนุนสินค้าที่วางขายอยู่หลายร้านกันอย่างสนุกสนาน

สองข้างทางมองลงไปเต็มไปด้วยป่าเขาลำเนาไพรสีเขียวเต็มยอดเขา บางช่วงก็หวาดเสียวมองไปเห็นเป็นหุบเหวลึก เมื่อมายืนบนยอดเขา “ทับเบิก” ที่อยู่บนเขาสูง แล้วมองลงมาข้างล่างก็จะเห็นถนนวกไปวกมาคล้ายงูกำลังเลื้อยอยู่ เห็นแปลงไร่กะหล่ำปลีเต็มยอดเขา ดูสวยงามแปลกตา หากมองไปในระดับสายตาก็จะเห็นสายหมอกสีขาวปกคลุมเต็มไปหมด เป็นอากาศยามเช้าที่แสนบริสุทธิ์และสดชื่นเป็นยิ่งนัก

ภูทับเบิก เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ที่บ้านทับเบิก ตำบลวังบาล ห่างจากอำเภอหล่มเก่า ๓๐ กิโลเมตร ตามเส้นทางจากหล่มเก่าไปภูหินร่องกล้า หรือห่างจากตัวจังหวัดเพชรบูรณ์ประมาณ ๙๐ กิโลเมตร

มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๗๖๘ เมตร สภาพภูมิประเทศสวยงามด้วยธรรมชาติแบบทะเลภูเขา อากาศเย็นสบายตลอดปี เนื่องจากเป็นร่องที่รับลมเย็นจากเทือกเขาหิมาลัยและอยู่บนที่สูง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล โดยช่วงเช้าจะมองเห็นกลุ่มเมฆ และทะเลหมอกตัดกับยอดเทือกเขาเพชรบูรณ์

ปัจจุบัน ภูทับเบิก เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ซึ่งได้อพยพมาอาศัยอยู่ที่บ้านทับเบิก โดยอยู่ในความดูแลของ “ศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเพชรบูรณ์” มีอาชีพทำการเกษตรแบบขั้นบันไดตามเชิงเขา ในช่วงปลายฝนต้นหนาว จะพบเห็นไร่กะหล่ำปลีอยู่สองข้างถนนสู่ทับเบิกสวยงาม ในราวเดือนธันวาคม-มกราคม จะมี ดอกซากุระ หรือนางพญาเสือโคร่ง สีชมพูบานสะพรั่งไปทั้งภูเขา

ทีมงานสุชนต่างแยกย้ายกันเดินชมทิวทัศน์ที่สวยงาม จับกลุ่มถ่ายรูป บ้างก็เดินจับจ่ายซื้อผัก ผลไม้ และของพื้นเมืองที่วางขายเป็นเพิงข้างทางเดินสู่ยอดภู ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการถ่ายรูป โดยเฉพาะดอกไม้ ซึ่งมีแปลงดอกไม้กระดาษสีสันสวยงามแปลกตานับสิบไร่ตั้งอยู่ด้านหลังเพิงขายของ

เมื่อถึงเวลานัดหมาย รถทั้ง ๔ คันก็มุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เส้นทางสายนี้หฤโหดมาก เป็นหลุมเป็นบ่อตลอดทาง รถจึงเคลื่อนตัวไปอย่างเชื่องช้า

อุทยานแห่งนี้ตั้งอยู่บนรอยต่อของ ๓ จังหวัด คือ จังหวัดเลย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ที่มีธรรมชาติแปลกตาและสวยงาม ทั้งยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ เป็นยุทธภูมิสำคัญในอดีตที่เกิดจากความขัดแย้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้น

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์การสู้รบ โรงเรียนการเมืองการทหาร กังหันน้ำ สำนักอำนาจรัฐ โรงพยาบาลรัฐ ลานอเนกประสงค์ สุสาน ที่หลบภัยทางอากาศ หมู่บ้านมวลชน

ทีมงานสุชนใช้เวลากว่า ๒ ชั่วโมงเดินเที่ยวชม “ลานหินแตก” ที่มีรอยแตกเป็นร่องแนวเหมือนแผ่นดินแยก รอยแตกนี้บางรอยก็มีขนาดแคบขนาดพอคนก้าวข้ามได้ แต่บางรอยก็กว้างจนไม่สามารถจะกระโดดข้ามไปถึง ความลึกของร่องหินแตกนั้นไม่สามารถจะคะเนได้ บริเวณลานหินแตกปกคลุมไปด้วยมอส ไลเคน ตะไคร่ เฟิร์น และกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ

อีกแห่งหนึ่ง คือ “ลานหินปุ่ม” ตั้งอยู่ริมหน้าผา ลักษณะเป็นลานหิน ซึ่งมีหินผุดขึ้นมาเป็นปุ่มปมขนาดไล่เลี่ยกัน คาดว่าเกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติของหิน เนื่องจากอยู่บนหน้าผาและมีลมพัดผ่านตลอดเวลา

สถานที่แห่งสุดท้ายคือ “ผาชูธง” ซึ่งอยู่ห่างจากลานหินปุ่มประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นหน้าผาสูงชัน สามารถเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล สวยงามมากในยามพระอาทิตย์ตกดิน บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ซึ่ง ผกค. ขึ้นไปชูธงแดงรูปค้อนเคียวทุกครั้งที่รบชนะฝ่ายรัฐบาล แต่วันนี้ได้มีการก่อสร้างเสาธงและประดับธงชาติไทยไว้อย่างสวยงาม

อาจเป็นเพราะช่วงออกจากโรงแรมที่พัก อากาศยังค่อนข้างหนาวมาก ทุกคนเลยแต่งตัวอย่างเต็มยศ ทั้งเสื้อกันหนาว ถุงมือ ถุงเท้า ผ้าพันคอ แต่เส้นทางการเดินทางเที่ยวชมทั้ง ๓ จุด ทำเอาทีมสุชนต้องเปลื้องเครื่องกันหนาวออกทีละชิ้น ๆ จนเหลือเสื้อเพียงตัวเดียวที่เต็มไปด้วยเหงื่อโทรมกายและใบหน้า เวลาชวนคุยก็ได้ยินเสียงหอบถี่ ๆ ขาก็ก้าวไม่ค่อยจะออก หายใจแทบไม่ทัน บางคนแทบจะอยากเขวี้ยงเครื่องกันหนาวที่จัดอย่างเต็มที่มาทิ้งเสียกลางทาง

ระหว่างออกเดินทางจากอุทยานมุ่งหน้ากลับโรงแรม ได้แวะพักถ่ายรูปกันที่ "ร้านกาแฟ Route ๑๒" ที่ตั้งอยู่ริมถนนสาย ๑๒ (พิษณุโลก-หล่มสัก) ร้านรวงแต่ละร้านตกแต่งแบบแปลกตา มีทั้งเครื่องดื่ม ของที่ระลึก และของเก่า ๆ ที่น่าสะสมวางขาย มีนักทัศนาจรแวะชมแน่นขนัด

ณ จุดนี้ ครอบครัวสุชนที่แยกย้ายกันเมื่อตอนเช้า กลับมาเจอกัน ณ จุดนี้ บรรยากาศจึงคึกคักยิ่งขึ้น จับกลุ่มถ่ายรูปตามมุมต่าง ๆ จนทั่วทุกซอกทุกมุม จนได้เวลานัดหมาย จึงเดินทางกลับโรงแรม

เวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น. งานสังสรรค์ “สานพลัง สช.” ก็เริ่มขึ้น บริเวณลานข้างโรงแรม โดยทีม “เพื่อนท่องเที่ยว” เป็นผู้จัดกิจกรรมให้ ซึ่งมีทั้งการแสดงของสาวประเภทสอง การเล่นเกม การทายปัญหา การร้องเพลงคาราโอเกะ อย่างสนุกสนาน บนลานกว้าง หน้าโรงแรม ท่ามกลางอากาศที่เย็นเฉียบ

แม้งานปาร์ตี้จะมาพร้อมกับความสนุกสนาน แต่หลาย ๆ คนก็อดมิพักกังวลใจไม่ได้ เพราะวันรุ่งขึ้นจะเป็น “วันเลือกตั้งล่วงหน้า” ซึ่งแม้จะมีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเมื่อวานแล้วก็ตาม แต่ กกต.ก็ยังไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาให้เลื่อนเลือกตั้งฉบับใหม่ออกมา จึงต้องเดินหน้าจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าต่อไป ซึ่งทุกคนล้วนแล้วเห็นตรงกันว่า “จะเกิดเหตุการณ์เผชิญหน้าและความรุนแรงอย่างยากจะหลีกเลี่ยง”

ผมก็ขอตั้งจิตเพียรภาวนาขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ ช่วยดลใจให้คนไทยทุกคนหันมารักกัน สามัคคีกัน เห็นแก่ประโยชน์ของชาติบ้านเมืองก่อนผลประโยชน์ส่วนตัว และช่วยกันสรรสร้างให้ประเทศไทยเรากลับมาเป็น “สยามเมืองยิ้ม” อีกครั้งด้วยเทอญครับ

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557

บันทึกสุชนทัศนาจร (ตอนที่ ๑)

๒๔ มกราคม ๒๕๕๗

หลังจากที่หลายๆ คนต่างคร่ำเคร่งกับงานประจำ อีกหลายคนก็เคร่งเครียดกับสถานการณ์บ้านเมืองมาอย่างต่อเนื่องข้ามปี วันนี้และนับต่อจากนี้ไปอีกสองวัน ชาวสุชนหรือบรรดาคนทำงานจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กว่า ๕๐ ชีวิต ก็ถึงเวลาพักสมอง(ชั่วขณะ) และเดินทางไปสัมผัสอากาศหนาวเย็นบนเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกัน

น้องที่เป็นฝ่ายจัดเตรียมงานในครั้งนี้ย้ำนักย้ำหนากับพวกเราถึงความหนาวเย็นและองศาของอุณหภูมิที่แตกต่างจากเมืองหลวง

รถตู้ ๘ คัน มาจอดรอล่วงหน้า ผมถูกกำหนดให้นั่งรถคันที่ ๒ พร้อมกับเพื่อนร่วมคณะอีก ๔ คน เมื่อถึงเวลา ๐๗.๒๐ น. คาราวานสุชนก็ต่างเคลื่อนตัวออกจากหน้าสำนักงานมุ่งสู่เป้าหมาย

รถคันที่ผมนั่ง มีน้อง “โอเล่” ทำหน้าที่สารถี และมี “คุณเล็ก” สาวมหิดล เจ้าของบริษัท “เพื่อนท่องเที่ยว” ทำหน้าที่ไกด์แนะนำและคอยบริการ คณะของเรามี ๕ ชีวิต ประกอบด้วย หมอประจักษ์วิชช์ พี่ก๊อต อ้อม จุ๋ม และตัวผม ระหว่างเดินทางก็มีเสียงเพลงที่เหมาะกับวัยผู้โดยสาร ทั้งอรวี สัจจานนท์ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ แจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์ คอยขับกล่อมผู้โดยสารให้หลับสบายตลอดทาง

จุดหมายแรก ขบวนของเราจอดที่ “ไร่ทานตะวัน” แห่งหนึ่ง ณ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เสียงกดชัตเตอร์ทั้งจากกล้องถ่ายภาพตัวเก่งหรืออุปกรณ์สมาร์ทโฟนดังอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน โดยไม่กลัวเปลืองหน่วยความจำ อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเป็นยุค “ฟิล์ม” เสียงลั่นชัตเตอร์คงเงียบเหงาเป็นแน่แท้

ครู่เดียวภาพใบหน้าแนบดอกทานตะวันในอิริยาบถที่หลากหลายก็ถูกส่งผ่านสังคมออนไลน์ ทั้งเฟจบุ๊ค (Facebook) ทั้งไลน์ (Line) ทั้งอินตราแกรม (Instagram) โดยทันที พร้อมกับข้อความแสดงความคิดเห็นติดตามมาฉับพลัน โอ้! โลกยุคไอทีนี้ช่างรวดเร็วเสียจริง

จุดแวะที่ ๒ พวกเราแวะดู "ฟาร์มวัวนม" ที่อยู่ห่างไปไม่ไกลจากไร่ทานตะวันเท่าใดนัก มีทั้งแม่วัว พ่อวัว และลูกวัวอยู่ในคอกหลายสิบตัว แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เลยช่วงการรีดนมวัวไปแล้ว จึงทำได้เพียงแวะขอเข้าไปถ่ายรูปกับวัวแทน “นี่ขนาดวัวยังไม่เว้น” ผม (แอบ) คิดในใจ

ครู่เดียวรถก็เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ “ร้านไก่ย่างบัวตอง” ตรงสามแยกวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ทีมงานสุชนต่างจับจองที่นั่ง ที่ได้จัดเตรียมอาหารกลางวันไว้พร้อมแล้ว ทั้งไก่ย่าง ปลาดุกย่าง ลาบเป็ด ต้มไก่ ส้มตำ น้ำพริกปลาหวาน ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง ต่างลิ้มรสอาหารทุกชนิดอย่างถ้วนหน้าจนอิ่มหนำ

เสียง “โอเล่” เอ่ยบอกกับทุกคนในรถว่า “ช่วงนี้จะใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ที่จะเดินทางสู่สถานที่ต่อไป นั่นก็คือ “วัดผาซ่อนแก้ว” ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา บริเวณตำบลแคมป์สน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์”

หลายคนจึงใช้เวลาในช่วงนี้พักสายตาและหลับคอพับคออ่อนไปตามๆ กัน บางครั้งก็มีเสียงเรือกลไฟปล่อยเสียง “ครืดคราด” ให้ได้ยินเป็นครั้งคราว

วัดพระธาตุผาแก้ว เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นท่ามกลางธรรมชาติและบรรยากาศที่เงียบสงบบนเทือกเขาสลับซับซ้อนโดยรอบ มีพระเจดีย์ที่งดงามโดดเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดเขา คือ “เจดีย์พระธาตุผาซ่อนแก้ว สิริราชย์ธรรมนฤมิต” ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยกระเบื้องหลากหลายสี เครื่องประดับ พลอย สร้อย กำไล ถ้วยชามเครื่องเบญจรงค์ เป็นต้น ที่นำมาตกแต่งทีละชิ้นๆ จนทั่วองค์พระเจดีย์

รอบ ๆ องค์พระเจดีย์แบ่งเป็นสถานที่พักของนักปฏิบัติธรรม และเขตสังฆาวาส แยกเป็นสัดส่วน ที่สะดุดตา กว่าสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งอื่นๆ คือ อาคารที่พักของนักปฏิบัติธรรมสวยงามกลมกลืนไปกับธรรมชาติโดยรอบ ด้วยยึดหลักที่ว่าหากได้อยู่ในสถานที่สงบสวยงาม จิตใจก็จะสงบได้โดยง่าย

“วัดพระธาตุผาแก้ว” เดิมชื่อ “พุทธธรรมสถานพระธาตุผาซ่อนแก้ว” เริ่มก่อสร้างในราวปลายปี ๒๕๔๗ โดย “คุณภาวิณี - คุณอุไร โชติกูล” ได้มีจิตศรัทธาซื้อที่ดินถวายเริ่มแรกจำนวน ๒๕ ไร่ เพื่อก่อสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมแก่พระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป แต่ปัจจุบันมีผู้ร่วมถวายปัจจัยซื้อที่ดินเพิ่มรวมทั้งสิ้นมีที่ดินรวม ๙๑ ไร่

บนยอดเขาสูงตระหง่าน มีถ้ำอยู่บนปลายยอดเขา ซึ่งมีชาวบ้านหลายคน ได้เห็นลูกแก้วลอยเหนือฟากฟ้า และลับหายเข้าไปในถ้ำบนยอดผาบ่อยครั้ง

ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จมา และต่างถือว่าเป็นสถานที่มงคล มีความศักดิ์สิทธิ์และเรียกตามๆ กันว่า "ผาซ่อนแก้ว" และพุทธสถานที่ที่มาตั้งในจุดที่โอบล้อมด้วยทิวเขาดังกล่าว จึงเรียกว่า "พุทธธรรมสถานผาซ่อนแก้ว" เพื่อเป็นนิมิตมงคลแก่ชาวบ้านบริเวณนั้นและผู้มาปฏิบัติธรรมสืบไป

คณะของเราต่างเข้าไปสักการะขอพรจากพระธาตุที่ตั้งอยู่ในเจดีย์ที่สวยงาม และก็เช่นเดิมทุกย่างก้าวเต็มไปด้วยเสียงชัตเตอร์ดังเดิมและการส่งผ่านสู่สังคมออนไลน์โดยมิรอช้า

ตะวันเริ่มคล้อยต่ำใกล้เส้นขอบฟ้า เสียงสัญญาณบอกว่าถึงเวลาเดินทางต่อไปยังโรงแรมที่พัก

“โรงแรมอิมพีเรียล ภูแก้ว” โรงแรมระดับห้าดาวถูกตกแต่งไว้อย่างสวยงาม บ้านพักหลากสไตล์ยุโรป มองไปเห็นปล่องไฟบนหลังคา ปลูกสร้างอยู่ตามเชิงเขา สูงต่ำรายเรียง มองเข้าไปดูสวยงามยิ่งนัก

คืนนี้ไม่มีกิจกรรมอะไรพิเศษเพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสพักผ่อนอย่างเต็มที่จากการเดินทางมาตั้งแต่รุ่งเช้า และนัดหมายกันอีกครั้งในเวลา ๘ โมงเช้าวันรุ่งขึ้น

แม้ทีมงานจะอยู่ในระหว่างเดินทางท่องเที่ยว แต่หลายคนก็คอยเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะการรอฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเรื่องให้ตีความ ซึ่งผลก็ปรากฏมาว่า “สามารถเลื่อนเลือกตั้งได้ โดยให้ทางรัฐบาลและ กกต. ไปหารือกัน” แต่อย่างไรก็ตามก็คงต้องเฝ้าดูปฏิกิริยาของฝ่ายต่างๆ ต่อไปว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญนี้ จะมีผลให้สถานการณ์บ้านเมืองสงบลงหรือไม่ อย่างไร

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

เป็น (Be) ทำ (Do) มี (Have)

๒๓ มกราคม ๒๕๕๗

“ผมจะเป็นความรัก และจะส่งมอบความปรารถนา การช่วยเหลือและการเป็นที่ปรึกษาที่มีแต่ความรักให้กับคนรอบข้าง”

นี้เป็นคำพูดที่ผมได้ตอบ “มาร์ติน่า สแปรงเกอร์ส” หญิงสาวผู้มีพลังเปล่งประกาย นำสารแห่งความรักและพลังบวกมาสู่หัวใจของทุกคน ในระหว่างที่เธอได้เดินทางมาเป็นวิทยากรให้กับบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในเวที Learning Session ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา

เธอเป็นชาวมาเลเซียแต่มาเติบโตในประเทศไทยจนที่นี่กลายเป็นบ้านเกิด จบการศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดีอินเตอร์ และได้ศึกษาต่อทางด้านสื่อสารมวลชนที่ University of California Los Angeles (UCLA) เธอแต่งงานกับ “แฮรี่ สแปรงเกอร์ส” นักธุรกิจชาวเนเธอร์แลนด์ที่มาประกอบธุรกิจในประเทศไทย มีบุตรด้วยกัน ๑ คน งานอดิเรกของเธอเป็นนักร้องให้กับวง Bangkok Opera และเขียนบทความให้กับนิตยสารต่าง ๆ หลายฉบับ

เธอเชื่อว่า “คนเราทุกคนล้วนเกิดมามีความพิเศษอยู่ในตัวเอง ดึงส่วนชัดเจนนั้นออกมา แล้วนำพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จ และอย่าดูถูกความสามารถของตัวเองเด็ดขาด หรือเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น โปรดใช้ความพิเศษนั้นให้เป็นประโยชน์กับตัวเราและผู้อื่น เราเองในฐานะผู้ให้ก็จะได้รับสิ่งดี จงสร้างชีวิตให้เป็นปาฏิหาริย์ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะโยนสิ่งใดมาให้เรา”

สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของ “มาร์ติน่า” ในการดำเนินชีวิต คือ “การตระหนักถึงคุณค่าอย่างลึกซึ้งของการใช้ชีวิตในทุกสถานการณ์ ขอบคุณในทุกเรื่องราวที่เดินผ่านเข้ามาในชีวิต จงสำรวจเข้าไปภายในชีวิตให้เห็นถึงศักยภาพของตนเอง เพื่อสร้างความท้าทายและรับมือกับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในทุกขณะ”

ดังนั้นเคล็ดลับในการใช้ชีวิตแบบนี้ จงปรับเปลี่ยนจาก “มี (Have) ทำ (Do) เป็น (Be)” มาเป็น “เป็น (Be) ทำ (Do) มี (Have)”

“มาร์ตินา” อธิบายว่า คนเรามักจะมีนิสัยที่เริ่มจาก “มี ทำ เป็น” ตัวอย่างเช่น “เราอยากมีความสุข จึงเดินทางตามหาความสุข เพื่อหวังว่าจะทำให้ตัวเองเป็นผู้ที่มีความสุข”

ผมคิดตาม “มาร์ตินา” จึงเข้าใจเลยว่านี้คือ “วิธีคิดที่คาดหวังให้คนรอบข้างเป็นผู้ทำให้เราเป็นผู้มีความสุข โดยตัวเราเองนั่งคอยแต่รอรับความสุขเหล่านั้นที่จะเดินทางเข้ามาหา”

เช่น “วันนี้เราอยากไปทำงานอย่างมีความสุข จึงพยายามเรียกร้องให้เพื่อนร่วมงานสร้างความสุขให้เรา ซึ่งอาจจะมีเพื่อนบางคนทำให้ได้ แต่บางคนก็อาจไม่สนใจ และนั้นอาจทำให้เราเองโกรธเคืองเพื่อนคนที่ไม่สนใจ หรือไม่ยอมสร้างความสุขให้กับเรา”

“มาร์ตินา” จึงเสนอให้เปลี่ยนแปลงตัวเองเสียใหม่ มาเป็น “เป็น ทำ มี” ซึ่งหมายความว่า “ทำตัวเองให้เป็นผู้มีความสุขเสียก่อน และให้ทำอะไรลงไปตามที่ตัวเองเป็น ก็จะทำให้เรามีความสุขในที่สุด”

“มาร์ติน่า” ขยายความเพิ่มเติมในเรื่อง “ทำ” ว่า นี้เป็นเรื่องของ “เกมชีวิต”

“มนุษย์ล้วนเล่นเกมชีวิตกันทุกคน”

“อยากมีอะไร ตัวเราต้องเป็นเช่นนั้นก่อน และเล่นเกมชีวิตตามที่เราเป็น”

“ถ้าเราต้องการมีความสุข เราต้องเป็นความสุขเสียก่อน”

เมื่ออธิบายจนทุกคนที่เข้าร่วมพอเข้าใจแล้ว “มาร์ตินา” ได้บอกให้แต่ละคนเขียนใส่กระดาษว่า ตนเองต้องการ “เป็น-ทำ-มี” อะไร

ผมเขียนคำว่า “ความรัก” ไว้บนกระดาษแผ่นนั้น

และเมื่อ “มาร์ติน่า” ถามต่อว่า "แล้วเกมชีวิตของคุณคืออะไร”

ผมก็เขียนข้อความต่อว่า “ความปรารถนาดี การช่วยเหลือและการเป็นที่ปรึกษา” ไว้บนกระดาษแผ่นเดียวกัน

หลังจากที่ทุกคนเขียนเสร็จแล้ว “มาร์ติน่า” ได้สอบถามผมว่า “เขียนอะไรไว้บนกระดาษบ้าง”

“ผมอาจจะโรแมนติกสักหน่อยนะครับ ผมเขียนไว้ว่า “ความรัก” ซึ่งก็แปลว่า ผมจะเป็นความรัก และเล่นเกมชีวิตเพื่อให้ตนเองมีความรัก นั่นก็คือ จะส่งมอบความปรารถนา การช่วยเหลือและการเป็นที่ปรึกษาที่มีแต่ความรักให้กับคนรอบข้าง

“เยี่ยมมาก” คือคำพูดที่ออกมาจาก “มาร์ติน่า”

ผมเก็บข้อแนะนำนี้มาคิดต่อ แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่า “วิธีคิดแบบนี้นำมาใช้กับเหตุการณ์บ้านเมือง ที่คนไทยมีความแตกแยกอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ได้ไหม”

“หากคนไทยทุกคนปรับตัวเองให้ “เป็น” เสียก่อน เช่น เป็นผู้ที่รักบ้านเมือง เป็นผู้ละอายต่อบาป เป็นผู้สร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง และทุกคนก็ “ทำ” หรือเล่น “เกมชีวิต” บนสิ่งที่แต่ละคนเป็น ประเทศไทยเราก็จะ “มี” อย่างที่แต่ละคน “เป็น” ได้ตามที่มุ่งหวัง"

มาร่วมกันสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ร่วมกันอีกครั้งนะครับ ด้วยคำเพียง ๓ คำ ปรับเปลี่ยนตัวเองให้ “เป็น (Be)” แล้ว “ทำ (Do)” ตามนั้น ผลออกมาก็จะ “มี (Have)” ตามที่ตัวเองเป็นอย่างแน่นอน

วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

๑๐๐ เรื่องเล่า ร้อยเรื่องราวบันดาลใจ

๒๒ มกราคม ๒๕๕๗

“บอกกับตัวเองเสมอว่า ไม่ต้องเป็นนักเขียนก็เขียนได้”

ไม่น่าเชื่อนะครับ วันนี้ผมมีงานเขียนผ่านเรื่องเล่าในหลายๆอารมณ์ความรู้สึกผ่านสังคมออนไลน์ครบ ๑๐๐ เรื่องไปเมื่อสองวันก่อน

หลายคนถามมาบ่อยครั้งว่า “อยากเขียนหนังสือแบบผมบ้าง” ต้องทำอย่างไร ง่ายนิดเดียวเองครับ แค่ตัดคำว่า “อยาก” ออก ให้เหลือแต่คำว่า “เขียน” จากนั้นก็อย่ารอช้า ลงมือโดยทันที

ผมเขียนไดอารี่ประจำวันมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ต่อเนื่องเหมือนทุกวันนี้ คือเขียนไปได้ช่วงหนึ่งแล้วก็หยุด และที่สำคัญคือไม่รู้จะเขียนอะไร เมื่อโตขึ้นก็กลับมาเขียนอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการบอกเล่าในแต่ละวันว่าทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่ก็ไปไม่รอด สุดท้ายก็หยุดเขียนอีกเช่นเคย

มาจริงจังก็ตอนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารระดับกองของกรมแห่งหนึ่ง สมัยนั้นอธิบดีประกาศให้ทุกกองต้องนำเรื่องการจัดการความรู้เข้าไปเป็นนโยบายสำคัญ ผมจึงกลับมาเขียนงานอย่างขะมักเขม้นอีกครั้งเขียนแล้วก็นำเสนอผ่านทางเว็ปไซด์ขององค์กรที่ทำงานอยู่ สร้างบรรยากาศความคึกคัก กระตือรือร้นและสร้างความเป็นนัก (อยาก) เขียนให้กับพี่ๆ น้องๆ ในองค์กรอย่างมาก จนในที่สุดหน่วยงานของเราก็ได้รับรางวัลจากผู้บริหารกรมและถูกหยิบยกให้เป็นหน่วยงานตัวอย่างในเรื่องการเขียนเรื่องเล่าต่าง ๆ

แม้นผมย้ายมาทำงานที่องค์กรปัจจุบัน แต่ความอยากเขียนก็ยังติดตัวตามมา “ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เห็นอะไร รู้สึกอย่างไร” ก็นำมาเขียนแบบ “ตามอารมณ์หรืออารมณ์พาไป ยามขยันก็เขียน ยามขี้เกียจก็ไม่เขียน”

จวบจนเดือนตุลาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมาไม่นานนี้เอง กับการเริ่มต้นปี (งบประมาณ) ใหม่กับความท้าทายใหม่ที่มีไว้ให้พุ่งชน ผมกลับมาเริ่มต้นเขียนบล็อก (Blog)ภายใต้ชื่อ “เก็บเล็กประสมน้อย” และบอกตัวเองซ้ำๆ ทุกวันว่า “จะต้องพยายามเขียนให้ได้ทุกวัน”

ในที่สุด ณ วันนี้ ๑๐๐ เรื่องเล่า ได้เดินทางเพื่อร้อยเรื่องราวบันดาลใจต่างๆในช่วง ๑๑๔ วันที่ผ่านมาก็ปรากฏต่อสายตาของทุกท่าน แม้นไม่เป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ก็ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ จากเพียงความหวังที่ยังไม่เห็นในวันแรก กลายเป็นความจริงที่จับต้องได้ในวันนี้

ผมย้อนกลับไปดูเรื่องที่เขียน พบประเด็นสำคัญอย่างน้อย ๔ เรื่อง ที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันครับ

(๑) ความหลากหลายของเนื้อหา พบว่า เรื่องราวที่ผมหยิบมาเขียนนั้นมีหลากหลายเรื่องราว ไม่จำกัดเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งเท่านั้น มีทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับงานขององค์กรที่ทำงานอยู่ การบอกเล่าเรื่องย่อจากหนังสือที่ได้อ่าน บอกเล่าชีวิตของตัวเอง เหตุบ้านการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และเรื่องอื่นๆ อาทิ ไปอ่านพบข้อมูลความรู้หรือไปพบพื้นที่ตัวอย่างที่น่าสนใจก็หยิบมาเล่าบอกต่อกัน

(๒) ความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เขียนเอง ที่ฝีมือในการเขียนมีพัฒนาการขึ้น จากวันแรกๆ เดือนแรกๆ ที่เขียนออกมายังไม่น่าอ่าน ใช้ภาษาเยิ่นเย้อ ไม่สละสลวย ไม่มีจุดสนใจในเรื่อง ไม่มีลีลาในการนำเสนอให้ดึงดูดใจผู้อ่าน คิดแล้วอดขำกับฝีมือตนเองไม่ได้เลยเชียว แต่เมื่อมาอ่านผลงานในช่วงหลังๆ จะเห็นความแตกต่างอย่างเด่นชัด

(๓) การตอบรับจากผู้อ่าน ในที่นี้หมายถึง มีจำนวนคนเข้ามาอ่านเรื่องเล่าที่เขียนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยจะเห็นจากสถิติของผู้คนที่กดไลค์ (Click like) แสดงความคิดเห็น และนำเรื่องเราของผมไปแบ่งปัน (share) ต่อผ่านทางเฟซบุ๊ก (Facebook) ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นตามกระแสของเรื่องที่นำเสนอในขณะนั้น โดยเฉพาะช่วงร้อนแรงทางการเมือง

(๔) การโปรยคำเพื่อดึงดูดและเชิญชวนผู้อ่านให้เข้ามาอ่านงานของเรา ผมพบว่าตนเองได้พัฒนาทักษะในการนำเสนอเรื่องเล่าที่ชวนให้สะดุดตาและน่าสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งในสมัยก่อนนั้น เพียงบันทึกลงใน บล็อก แต่ยังไม่รู้จักช่องทางเพื่อสื่อสารและเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่ปัจจุบันมีคนแนะนำวิธีการนำเสนอโดยการเชื่อมโยงจากบล็อก “เก็บเล็กประสมน้อย” ที่ผมเขียนกับเฟชบุ๊ก ชื่อ “วิสุทธิ บุญญะโสภิต” และเพิ่มจุดสนใจโดยการใส่ภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ซึ่งปรากฏว่ามีจำนวนคนอ่านมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

หลายคนถามมาอีกว่าแรงบันดาลใจในการเขียนของผมมาจากไหน ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามาจากหนังสือ “หยดน้ำแห่งจินตนาการ” ของ "นายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์" ที่ได้แนะนำหลักการ ๗ ข้อง่าย ๆ สำหรับผู้ที่อยากเริ่มเขียน ไว้ดังนี้

หลักการที่ ๑ บอกกับตัวเองเสมอว่า ไม่ต้องเป็นนักเขียนก็เขียนได้

หลักการที่ ๒ เริ่มจากสิ่งที่ “กำลังเห็น” หรือ “รับรู้” อยู่ตรงหน้า

หลักการที่ ๓ เขียนให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ ทุกที่ ทุกเวลา

หลักการที่ ๔ ไม่ต้องสนใจถูกผิด ดีหรือไม่ดี แค่เขียนแล้วจดจ่ออยู่กับการเขียน

หลักการที่ ๕ สังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะกำลังเขียนให้มาก ๆ

หลักการที่ ๖ ฝึกเขียนติดต่อกันให้ได้ สัก ๒๑ วัน

หลักการที่ ๗ ค่อย ๆ ขยายขอบเขตการเขียนตามคำถามดี ๆ

มาถึงบรรทัดนี้ ผมจึงอยากเชิญชวนทุกท่านเข้ามาสู่วงการ “นัก(อยาก)เขียน” โดยนำหลักการทั้ง ๗ ข้อเป็นหลักยึด แล้ววันนั้นวันที่ฮอร์โมนพลุ่งพล่าน วันที่มีอะไรอยากเขียนเยอะมาก วันที่ต่อมความตื่นเต้น อยากรู้ อยากเห็น อยากถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้เราเห็นให้คนอื่นบ้าง วันนั้นคือวันที่จะบอกเราชัดเจนว่า “ไม่มีอะไรยากเกินไป เมื่อหัวใจเรามุ่งมั่นและอยากเป็นครับ”

วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557

รักจากใจจร

๒๐ มกราคม ๒๕๕๗

“น้องวิน” ครับ

เป็นอีกวันที่พ่อหยิบหนังสือของ “นิโคลัส สปาร์ก” (NICHOLAS SPARKS) มาอ่านเป็นเล่มที่ ๓ แล้ว และยิ่งคนแปลเป็นกวีซีไรท์นาม “จิระนันท์ พิตรปรีชา” ด้วยแล้ว ยิ่งกระตุ้นให้พ่อจดจ่อกับการอ่านหนังสือของนักเขียนคนนี้มากยิ่งขึ้น กับภาษาที่สรรค์สร้างอย่างวิจิตรบรรจงทำให้ผู้อ่านเคลิบเคลิ้มไปกับเรื่องราวของตัวละครเสมือนเข้าไปสู่ในเหตุการณ์จริง

“รักจากใจจร” แปลมาจากเรื่อง “DEAR JOHN” เป็นเรื่องราวของ “จอห์น” เด็กหนุ่มวัย ๒๐ ปี ที่อาศัยอยู่ตามลำพังกับพ่อที่มีชีวิตวันๆหมดไปกับการสะสมและค้นคว้าเรื่องราวของเหรียญกษาปณ์ชนิดต่างๆ นี้เป็นเพียงเรื่องเดียวที่พ่อหาเรื่องมาคุยกับเขาได้ทั้งวัน จนสร้างความเบื่อหน่ายให้กับเขาอย่างมาก และนำมาสู่การตัดสินใจหาเรื่องออกจากบ้านเพื่อไปหางานทำที่อื่นแทน

ในที่สุด “จอห์น” ก็ไปสมัครเป็นทหารราบนานถึง ๔ ปี หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกแล้ว เขาถูกส่งไปประจำการที่ประเทศเยอรมัน ผ่านไปกว่า 3 ปี เขาได้ลาพักร้อนกลับมาหาพ่อ แต่ชีวิตพ่อเหมือนถูก แช่แข็งไว้กับกาลเวลาที่ไม่เคยผันผ่าน พ่อยังคงคลุกอยู่กับเหรียญกษาปณ์ในห้องส่วนตัว เรื่องที่สนทนากันระหว่างพ่อกับลูกก็ยังคงเป็นเรื่องเดิมๆ แบบอดีต

ด้วยความเบื่อหน่ายพ่ออย่างยิ่ง เขาจึงออกไปเดินเล่นที่ชายหาดแห่งหนึ่งและนั่งทอดอารมณ์อยู่บนสะพานที่ยื่นไปในทะเล เหม่อมองดูคลื่นที่ซัดสาดเข้าหาฝั่งอย่างไม่มีวันหยุด ใจคิดโกรธพ่อที่มอบความรักให้กับเหรียญกษาปณ์มากกว่าตัวเขา

ทันใดนั้นสายตาเขาก็พลันเห็นหนุ่มสาว ๒ คู่ เดินมาที่กลางสะพาน ห่างจากที่เขานั่งอยู่ไม่ไกลมากนัก เพียงครู่เดียวเขาเห็นชายคนหนึ่งเดินพลาดจนเตะกระเป๋าใบหนึ่งที่วางอยู่ตกลงสู่ทะเลเบื้องล่าง เสียงของหนุ่มสาวทั้งสี่ร้องตะโกนโวกเวก แต่ทุกคนกลับยืนนิ่งตกใจ

วินาทีนั้นเขาตัดสินใจกระโจนลงไป ดำผุดดำว่ายอยู่ชั่วคู่ และในที่สุดก็โผล่ขึ้นมาพร้อมกับกระเป๋าใบนั้น

และนี้เองคือจุดเริ่มต้นของ “รักแรกพบ” ระหว่าง “จอห์น” ที่มีต่อ “ซาวันนาห์” เจ้าของกระเป๋าใบนั้น

“ซาวันนาห์” แนะนำให้เขารู้จักกับเพื่อนที่มาออกค่ายอาสาในบริเวณนั้นด้วยกัน หนึ่งในนั้น คือ “ทิม” เพื่อนชายคนสนิทของเธอ เธอเล่าให้ “จอห์น” ฟังว่า “ทิม” มีน้องชายชื่อ “อลัน” เป็นเด็กออทิสติก ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เธอตัดสินใจเรียนสาขานี้เพื่อนำความรู้มาช่วยเหลือ “อลัน” และคนกลุ่มนี้ที่ยังมีอยู่อีกมากในสังคม

ช่วงเวลา ๑ สัปดาห์ที่เหลืออยู่สำหรับการลาพักร้อน เขาเทียวรับเทียวส่ง “ซาวันนาห์” พาไปเล่นกระดานโต้คลื่น ขี่ม้า กินอาหารค่ำด้วยกัน จนพัฒนากลายเป็น “คู่รัก” ขึ้นมา

“จอห์น” พาแฟนสาวไปพบพ่อของเขา “ซาวันนาห์” จึงรู้ว่าพ่อของ “จอห์น” มีอาการของโรคแอสเพอร์เจอร์ ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับพัฒนาการชนิดหนึ่ง เธอจึงหาซื้อหนังสือเพื่อหาวิธีการมาดูแลพ่อของเขา “จอห์น” รู้สึกโกรธมาก แต่ “ทิม” ก็เข้ามาเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยให้ทั้งคู่เข้าใจกัน

เมื่อหมดเวลาลาพักร้อน “จอห์น” กลับไปรับราชการทหาร หัวใจของเขาเปลี่ยนไปจนเพื่อนๆ สงสัย ทุกๆวันเขาจะคิดถึงแต่ “ซาวันนาห์” มีเวลาว่างเมื่อใดก็จะโทรศัพท์ไปคุยกับเธอ และเร่งวันเร่งคืนที่จะให้ถึงเวลาลาพักร้อนครั้งหน้าอย่างใจจดจ่อ

เมื่อวันเวลาแห่งการรอคอยมาถึง “ซาวันนาห์” มาคอยรับเขาที่สนามบิน ทั้งคู่ต่างใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างคุ้มค่าสมกับการถวิลหาทางใจและโหยหาทางกาย ต่างสัญญากันว่าเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาทำงานอีก ๖ เดือนข้างหน้า ทั้งคู่จะกลับมาแต่งงานกัน

แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เกิดเหตุการณ์ ๙ กันยายน ๒๐๐๑ ประเทศของเขาประกาศเปิดรับสมัครทหารเพิ่มเป็นจำนวนมาก “จอห์น” ตัดสินใจอยู่ช่วยชาติตามเพื่อนๆ ของเขาต่อ ซึ่ง“ซาวันนาห์” ก็เข้าใจและสัญญาว่าจะรอเขากลับมาอีก ๒ ปีข้างหน้า เขาถูกส่งตัวไปประจำการที่ประเทศอิรัก ทำให้การติดต่อของทั้งคู่จึงต้องขาดหายไป

เมื่อเขาถูกส่งตัวกลับมายังค่ายทหาร สิ่งที่เขาพบก็คือ จดหมายของ “ซาวันนาห์” ที่เขียนมาบอกว่า “ขอโทษและกำลังจะแต่งงาน”

“จอห์น” เสียใจมาก ชีวิตของเขาเหมือนหมดทุกสิ่ง คนที่เขารักก็หนีไปแต่งงาน เขาเหลือพ่อเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ยามใดที่คิดถึงพ่อ ก็อดคิดถึงภาพที่มีแต่เหรียญกษาปณ์ขึ้นมาไม่ได้ เขาตัดสินใจต่อเวลาทำงานเป็นทหารออกไปอีก ๔ ปี เพื่อที่จะได้ลืม “ซาวันนาห์” คนที่เขามอบหัวใจรักเต็มดวงนี้ให้

เขากลับมาบ้านเกิดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อมาเยี่ยมพ่อของเขาที่แก่ลงไปมากและพบว่าไม่สบายอย่างหนัก เขารีบจัดแจงพาพ่อไปพักรักษาตัวที่ศูนย์พักรักษาตัวระยะยาวที่มีแพทย์และพยาบาลดูแลเป็นอย่างดี ก่อนที่จะเดินทางกลับเยอรมันในวันรุ่งขึ้น

ในเวลาเดียวกันนั้น เขาได้พบกับทนายความประจำตัวพ่อ และทราบว่าพ่อได้ทำพินัยกรรมยกเหรียญกษาปณ์ให้กับเขาทั้งหมด และเพียงไม่ถึงเดือนถัดมา เขาก็ได้รับข่าวร้ายว่าพ่อได้เสียชีวิตลงแล้ว เขาลางานอีกครั้งกลับมาจัดการศพของพ่อ ซึ่งมีเพียงเจ้าหน้าที่บ้านพักไม่ถึงสิบคนมาร่วมงาน

หลังเสร็จสิ้นงานศพ “จอห์น” รู้สึกว้าเหว่เป็นที่สุด ไม่รู้จะตัดสินใจต่อไปอย่างไร เขาตัดสินใจขับรถคันเก่าของพ่อมุ่งหน้าไปตามทางที่ใจเรียกร้อง

ในที่สุดเขาดั้นด้นจนมาพบบ้านของ “ซาวันนาห์” เรื่องราวต่างๆในช่วงที่ทั้งคู่ห่างหายไปถูกรื้อฟื้นขึ้นมา หนึ่งเรื่องสำคัญ คือ เหตุผลที่ “ซาวันนาห์” ต้องตัดสินใจแต่งงานกับชายอื่น

หลังจากที่ “จอห์น” กลับไปรับราชการทหารได้ไม่นาน พ่อและแม่ของ “ทิม” เกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิตทั้งคู่ “ทิม” ต้องกลายเป็นผู้ดูแล “อลัน” ตามลำพัง ช่วงนี้เองที่ทำให้ “ซาวันนาห์” ได้กลับไปใกล้ชิดกับ “ทิม” อีกครั้งหนึ่ง เพราะเธอต้องเข้าไปดูแล “อลัน” เช่นเดียวกัน รวมทั้งต้องทำงานในโครงการวิจัยเรื่องเดียวกัน จนวันหนึ่ง “ทิม” จึงเอ่ยปากขอแต่งงาน

“ฉันรักเขานะ แต่ก็เป็นรักที่ไม่เหมือนที่ฉันรักเธอนะ”

จอห์นเมื่อรู้ความจริง ความรักกลับเข้ามาแทนที่ ความโกรธเคืองเมื่อครั้งอดีตได้หายไป แต่เวลานั้นสถานะต่างๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว เขาจึงทำได้แต่เพียงเก็บงำความรักให้ท่วมท้นอยู่ภายในใจเพียงเท่านั้น

“ซาวันนาห์” อยากให้ “จอห์น” ได้เจอกับสามีของเธอ จึงขับรถพาเขาไปที่โรงพยาบาล ภาพที่ปรากฏต่อสายตา คือ “ทิม” กำลังนอนอยู่บนเตียงในสภาพที่อิดโรย ร่างกายดูผ่ายผอมผิดไปจากความทรงจำเดิม เขาทักทาย “ทิม” แต่ “ทิม” ก็ทำได้เพียงการกล่าวตอบรับเขาเพียงไม่กี่คำก่อนที่จะหลับไป

“ทิม” เป็น “โรคมะเร็งไฝ” ต้องเข้าออกโรงพยาบาลตลอดช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมา ภาระหน้าที่ในการดูแลคอกม้าและ “อลัน” จึงตกมาอยู่ที่ “ซาวันนาห์” เพียงคนเดียว และขณะนี้เธอต้องหาเงินจำนวนมากเพื่อมารักษา “ทิม” ด้วยวิธีการใหม่ให้ได้ผลกว่าที่เป็นอยู่

ความรู้สึกสงสาร “ซาวันนาห์” เพิ่มมากขึ้น ตลอดคืนเขาครุ่นคิดว่าจะตัดสินใจอย่างไรดีกับสิ่งที่ได้รับรู้นี้

เช้าวันนั้นเขาบึ่งรถไปที่โรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง “ทิม” ขอโทษ “จอห์น” ที่แย่งความรักจากเขามา และ หากเขาตายไปขอให้ “จอห์น” อย่าทิ้ง “ซาวันนาห์”

ขณะนั้น “ซาวันนาห์” ได้นั่งรออยู่ที่รถของเธอ “ซาวันนาห์” พยายามจะเหนี่ยวรั้งเขาไว้ แต่ “จอห์น” ก็พยายามหักห้ามใจ

“ผมรักคุณ.....ซาวันนาห์ และจะรักคุณตลอดไป คุณเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตผม เป็นเพื่อนและคนรักที่ดีที่สุด ทุกนาทีของเรามีค่ามากสำหรับผม คุณให้ชีวิตใหม่แก่ผม และเหนือสิงอื่นใด คุณทำให้ผมกับพ่อได้เข้าใจกัน ผมจะไม่มีวันลืมเรื่องนี้ คุณจะเป็นส่วนที่ดีที่สุดของผมตลอดไป ผมเสียใจที่มันจะต้องจบลงแบบนี้ แต่ผมต้องไป และคุณจะต้องกลับไปหาทิม ผู้เป็นสามีคุณ”

“ฉันก็รักคุณค่ะ…จอห์น”

เขารีบขับรถออกมาจากโรงพยาบาล สายตามองผ่านไปที่กระจกมองหลัง “ซาวันนาห์” กำลังร้องไห้โฮก่อนที่จะก้าวเดินไปตามทางเชื่อมตึกในโรงพยาบาล

ก่อนเดินทางกลับไปเยอรมัน เขาโทรหาคนรับซื้อเหรียญกษาปณ์และได้เงินก้อนโตมาก้อนหนึ่ง เขาขอให้ทนายความของเขานำเงินที่ขายเหรียญกษาปณ์ได้นั้นไปมอบให้กับ “ซาวันนาห์” เพื่อใช้รักษาตัว “ทิม” โดยห้ามบอกว่าใครเป็นผู้มอบเงินจำนวนนั้น ขอเพียงให้รายงานผลการรักษาให้เขาทราบเท่านั้น ซึ่งเขาดีใจเป็นที่สุดเมื่อทราบจากทนายความว่า “ทิม” มีสุขภาพดีขึ้นตามลำดับ

วันหนึ่ง “จอห์น” เดินทางขึ้นไปยังเนินเขา หาที่ซ่อนตัวซึ่งสามารถมองลงไปยังบ้านของ “ซาวันนาห์” กับ “ทิม” แค่เพียงอยากเห็น “ซาวันนาห์” อีกสักครั้ง เขานั่งรอจนตะวันกำลังใกล้ลับฟ้า

และในที่สุด “ซาวันนาห์” ก็ก้าวเดินออกมายืนอยู่บนขั้นบันไดบ้าน กวาดสายตาไปรอบบ้าน แวบหนึ่งหันมามองตรงจุดที่เขายืนซุ่มอยู่ ใจเขารู้สึกเย็นวาบอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน แต่เธอก็ไม่เห็นเขา และค่อยๆ เดินลงไปยังกลางลานบ้าน

“ซาวันนาห์” ค่อยๆ แหงนหน้าขึ้นช้าๆ เขาเห็นท่วงท่าเธอกำลังดื่มด่ำกับดวงจันทร์อันสุกสกาว กระแสแห่งความทรงจำในอดีตเมื่อครั้งหนึ่งที่ทั้งคู่เคยตระกองกอดกันใต้แสงจันทร์ในวันนั้นได้คืนกลับมา “จอห์น” ค่อยๆแหงนขึ้นมองดวงจันทร์ดวงเดียวกันนั้น ด้วยความรู้สึกที่เหมือนทั้งคู่ได้อยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องราวของ “รักจากใจจร” จบลงเพียงเท่านี้ พ่ออ่านช่วงสุดท้ายซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ เพราะความรู้สึกยังอิ่มเอมกับความรักของ “จอห์น” ที่มอบให้กับ “ซาวันนาห์” หญิงคนรักของเขา อย่างไม่ต้องการการตอบแทนใด ๆ ช่างเป็นความหมายของคำว่า “ความรัก” ที่ยั่งยืน ยาวนาน และคงทนเสมอมา เป็นความรักของเด็กหนุ่มวัยรุ่นที่ชีวิตผันผ่านประสบการณ์และวัยวันแห่งความว้าวุ่นไปแล้ว เป็นรักที่อาบความบริสุทธิ์ของแสงจันทราที่ส่องมายังผืนโลกและโอบกอดมนุษย์ไว้ทุกผู้นามโดยไม่ลำเอียง

พ่ออยากให้น้องวินได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้บ้าง พ่อนำมาวางไว้ให้แล้วที่ชั้นหนังสือข้างล่าง ความรักของ “จอห์น” ไม่ต่างจากความรักที่พ่อมอบให้แม่กุ้งและน้องวินเสมอมาครับ

รักลูกมากครับ

“พ่อโตเอง”

วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2557

ปาฏิหาริย์บันทึกรัก

๒๐ มกราคม ๒๕๕๗

“กุ้ง” ที่รัก

แม้พี่จะอ่านหนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่ตอนกลางคืนจนเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมาบนเก้าอี้ไม้ตัวโปรดที่วางอยู่หน้าบ้าน วันนั้นเป็นเช้าที่แสงอาทิตย์ส่องผ่านช่องว่างใบไม้แต่ละใบของต้นล่ำซำที่แผ่กิ่งก้านใหญ่โตมากนักจากวันที่เราปลูก ทอดผ่านมายังสนามหญ้าเขียวขจี ที่ยังมีต้นมะม่วงอีก ๒ ต้นซึ่งใบอ่อนเพิ่งผลิขึ้นมาไม่นาน ตัดกับใบของต้นเล็บครุฑสีขาวเหลือง เป็นเช้าแห่งความอิ่มเอิบใจยิ่งนัก

แตกต่างจากช่วงที่ผ่าน ๆ มาหลายสัปดาห์กับสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ส่งผลให้พี่เคร่งเครียดและกังวล จึงต้องหาทางผ่อนคลายความตึงเครียดที่สะสมอยู่บ้าง หนทางหนึ่ง คือ การหาหนังสือดีๆ เช่นเล่มนี้มาอ่าน

ไม่รู้เป็นเพราะว่าพี่หลงใหลในผลงานการแปลนวนิยายของ “จิระนันท์ พิตรปรีชา” กวีซีไรท์หรืออย่างไร ที่ช่างสรรหาถ้อยคำมาเรียงร้อยและถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรแต่ละคำจนสวยสดงดงามจนสร้างความตื้นตันในอารมณ์ ซึ่งต้องบอกว่าเมื่อพี่ได้อ่านแล้ววางไม่ลงจริง ๆ และเมื่ออ่านไปเหมือนมีน้ำตารินไหลออกมาหลายช่วงในระหว่างดื่มด่ำแต่ละบรรทัด

“ปาฏิหาริย์บันทึกรัก” เป็นหนังสือที่แปลมาจากเรื่อง “The Notebook” ของ “นิโคลัส สปาร์ก” (NICHOLAS SPARKS) คนเขียนคนเดียวกับเรื่อง “A Walk to Remember” ที่พี่เคยเขียนจดหมายเล่าให้ฟังเมื่อเดือนก่อนนั้น นอกจากเรื่องราวจะตราตรึงไปกับความรักของชายหญิงคู่นี้แล้ว พี่ยังอยากเล่าให้เป็นเรื่องที่มาผ่อนคลายความตึงเครียดของกุ้งที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

นวนิยายเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของ “โนอาห์” ชายวัย ๘๐ ปี ที่เป็นอัมพฤกษ์ครึ่งตัว เขากำลังทอดสายตาเหม่อมองออกไปทางหน้าต่างของบ้านพักคนชราแห่งหนึ่ง และหวนคะนึงถึงกิจวัตรประจำวันที่เคยปฏิบัติมากว่า ๔ ปี

ทุก ๆ วันก่อนหน้านี้ “เขา” จะนั่งอ่าน “บันทึกรัก” ชีวิต “เขาและเธอ” ในช่วงที่อยู่ด้วยกันมากว่า ๔๕ ปี ให้กับ “แอลลี่” ภรรยาที่นอนป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์และพักรักษาตัวอยู่ที่เดียวกัน ฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่รู้จักเบื่อ ด้วยเชื่อว่า “ปาฏิหาริย์” จากการอ่านบันทึกเล่มนั้นจะปรากฏขึ้นในสักวันหนึ่ง

แต่มาสัปดาห์ที่แล้วนี้เอง โรคอัมพฤกษ์กลับเดินมาสู่ชีวิตเขาโดยมิทันระวังตัว ความเจ็บป่วยของร่างกายมิเทียบเท่าความทรมานใจอย่างรวดร้าว ยามที่เขาต้องถูกจับแยกห้องกับ “แอลลี่” เช่นนี้

“วันนี้ใครจะดูแลเธอแทนเขา เธอเป็นอย่างไรบ้าง และวันนี้เธอคงไม่ได้ฟังคนอ่านบันทึกให้เธอฟังอย่างแน่นอน” เขาไม่สามารถหยุดความคิดถึงเธอได้แม้แต่วินาทีเดียว

วันครบรอบแต่งงานเวียนมาถึงอีกครั้ง เขาค้นเจอจดหมายที่เป็นลายมือของ “แอลลี่” ที่เขียนไว้เมื่อ ๔ ปีก่อน ตอนที่เธอเริ่มรู้ตัวว่าเป็น “อัลไซเมอร์” เขาหยิบจดหมายฉบับนั้นมาอ่านอีกครั้ง มือที่ถือกระดาษจดหมายสั่นไหวพร้อมกับใจที่สั่นหวิว เพ่งสายตาไล่เรียงไปตามตัวอักษรที่ยาวกว่า ๒ หน้ากระดาษ

“ได้โปรดอย่าโกรธเคืองในวันที่ฉันจำคุณไม่ได้ วันที่เราต่างรู้แน่ว่าต้องเกิดขึ้น ขอให้คุณเข้าใจว่า ฉันรักคุณ และจะรักตลอดไป และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฉันก็ได้ผ่านชีวิตมาอย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว เพราะมันคือชีวิตที่มีคุณ”

หลังอ่านจดหมายจบลง “โนอาห์” ตัดสินใจโดยทันที ประคองร่างเดินอย่างแสนลำบากไปหา “แอลลี่” ที่นอนอยู่อีกฟากหนึ่งของตึก แม้จะถูกทัดทานจากพยาบาลที่มาพบเจอเข้า แต่เขาก็ขอร้องที่จะเดินไปหาคนที่เขารักสุดหัวใจให้ได้

เมื่อมาถึง เขาไม่กล้าที่จะปลุกเธอ จึงเขียนสิ่งที่อยู่ในใจของเขา ลงบนกระดาษแผ่นเล็ก ๆ สอดไว้ใต้หมอนแทน

“ในช่วงปลายท้ายราตรี…มองที่รัก
ยิ่งประจักษ์พิสุทธิ์งามความอ่อนไหว
เชิญอรุณส่องฟ้ามารำไร
แนบดวงใจปลุกรักด้วยภักดี”

ก่อนที่เขาจะหันหลังกลับ เขาค่อย ๆ เอื้อมมือไปลูบที่ผมของ “แอลลี่” เพื่อบอกลา ทันใดนั้นเขารู้สึกตกใจมากที่เธอลืมตาขึ้น วินาทีนั้นเขาจึงโน้มตัวลงแนบกับใบหน้าเธอ บรรจงจูบไปที่ริมฝีปาก ซึ่งเขาก็ได้รับการสนองตอบกลับมาเช่นเดียวกัน

ยิ่งแอลลี่ตอบรับ เขายิ่งกระชับร่างเข้าหาไออุ่นจากกายเธอมากขึ้น เอื้อมไปกุมมือเธอ มีเสียงพึมพำออกมาว่า

“โอ…โนอาห์….ฉันคิดถึงเธอเหลือเกิน

เขาอดที่จะกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ ปาฏิหาริย์แห่งบันทึกรักได้เกิดขึ้นแล้ว

ความรู้สึกเขาล่องลอย ความเจ็บปวดรวดร้าวของร่างกายพลันหายปลิดทิ้ง ปลายนิ้วมือของ “แอลลี่” เริ่มควานหากระดุมบนอกเสื้อผ้าเขา แม้นจะเชื่องช้า แต่เธอก็ค่อย ๆ ปลดมันออกทีละเม็ด…ทีละเม็ด

นวนิยายจบเพียงเท่านี้ แต่กุ้งรู้ไหมว่าความรู้สึกของพี่มันยังคงอิ่มเอมไปกับความรักของทั้งคู่ต่อไปอีกนาน

พี่อยากเล่าเรื่องย่อ ๆ ของ “บันทึกรัก” ที่ “โนอาห์” ได้อ่านให้กับ “แอลลี่” ฟังทุกวันตลอด ๔ ปีก่อนหน้านั้น แล้วกุ้งจะเห็นถึงความรักแสนหวานของทั้งคู่

“แอลลี่” ในวัย ๑๕ ปี จำใจต้องเดินทางออกจากเมืองที่เคยอาศัยตามคำขอร้องของแม่ ทิ้งให้ “โนอาห์” ชายที่เธอรักวัย ๑๗ ปี ไว้ข้างหลัง ด้วยเหตุผลเรื่องฐานะที่แตกต่างกัน ก่อนวันจากลา ทั้งคู่มาที่ “บ้านหลังหนึ่ง” พลอดรัก กอดก่าย และพร่ำรำพันด้วยความอาลัยตลอดคืน

ผ่านไป ๑๔ ปี “แอลลี่” ได้เห็นภาพ “บ้านหลังนั้น” อีกครั้งหนึ่งบนหน้าหนังสือพิมพ์ เธอหวนระลึกถึงอดีตที่ผ่านมาครั้งนั้น จึงออกอุบายขออนุญาตคู่หมั้นหนุ่ม “ลอน” ทนายความหนุ่มทายาทเศรษฐีที่มีกำหนดแต่งงานในอีก ๓ สัปดาห์ข้างหน้า โดยอ้างว่าจะไปหาซื้อเครื่องใช้ไม้สอยโบราณเพื่อนำมาตกแต่งบ้าน แต่แท้จริงแล้ว เธอขับรถมุ่งหน้าสู่ที่ตั้งของ “บ้านหลังนั้น”

เมื่อ “แอลลี่” เดินทางมาถึง ภาพแรกที่เธอเห็น คือ “โนอาห์” กำลังนั่งอยู่เก้าอี้ไม้โยกตัวเดิม เมื่อทั้งสองตั้งสติได้ก็ต่างวิ่งเข้าหาและโอบกอดกัน ต่างพร่ำระล่ำระลักถึงหัวใจที่เฝ้าคอยโหยหาต่อกัน เล่าชีวิตที่แต่ละคนดำเนินไปในช่วงที่จากกันไป

“โนอาห์” เพิ่งรู้เดี๋ยวนั้นเองว่าแม่ของ “แอลลี่” เก็บจดหมายที่เขาเขียนไปหาเธอตลอดกว่า ๓ ปีแรกที่จากกัน ทั้งคู่จึงเข้าใจผิดว่าความรักได้จางหายไปแล้ว และทำให้ “แอลลี่” ตกลงใจรับหมั้นจาก “ลอน” คนที่รักเธอเป็นที่สุดแทน ในขณะที่ “โนอาห์” ก็เฝ้ารอ “แอลลี่” มาตลอด ๑๔ ปี โดยไม่มอบความรักให้กับหญิงอื่นใด

“แอลลี่” กลับมาหา “โนอาห์” อีกครั้งหนึ่งในวันรุ่งขึ้น ทั้งคู่พายเรือคยัคออกไปกลางทะเลสาบสีคราม ห่านฝูงใหญ่กำลังลอยตัวบนผืนน้ำ สายฝนเริ่มโปรยปราย ทำให้ทั้งคู่ต้องรีบพายเรือกลับบ้านพักแทน เสื้อผ้าที่เปียกปอนจากสายฝนยามแนบชิดเนื้อ สร้างอารมณ์พิศวาสแก่ทั้งคู่ยิ่งนัก

เมื่อมาถึงบ้าน เตาผิงสร้างได้เพียงความอบอุ่นทางกาย แต่ความโหยหาทางใจกว่า ๑๔ ปี ที่ผ่านมา ทำให้ทั้งคู่ก่ายกอดและร่วมรักกันอย่างดูดดื่มจากเสียงเรียกร้องภายในที่พลุ่งพล่าน ปากก็พร่ำแต่อดีตที่ฝังจำ

“แอลลี่” กลับมาหาเขาอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น ขณะที่ทั้งสองกำลังพลอดรักกันอยู่นั้น แม่ของ “แอลลี่” ก็ปรากฏตัวขึ้น และบอกกับลูกสาวของตัวเองว่า “ลอน” คู่หมั้นกำลังเดินทางตามมา เธอแนะนำให้ลูกสาวตัดสินใจเลือกตามที่หัวใจเรียกร้อง

ในที่สุด “แอลลี่” ก็ตัดสินใจบอก “ลอน” ว่า เธอจะขอใช้ชีวิตรักอยู่กับ “โนอาห์” ตลอดไปแทน

ชีวิตรักของทั้งคู่ยาวนานถึง ๔๔ ปี มีทายาทด้วยกัน ๕ คน ทุกคนต่างเติบโตและแยกครอบครัวไปอยู่กันเอง ทิ้งให้ “โนอาห์” อยู่กับ “แอลลี่” ตามลำพัง ณ บ้านหลังนั้น

ชีวิตคู่เมื่อเริ่มปีที่ ๔๕ “แอลลี่” ได้รับข่าวร้ายจากแพทย์ประจำตัวว่าเธอเริ่มเป็น “โรคอัลไซเมอร์” ทำให้ “แอลลี่” ต้องย้ายตัวเองไปนอนที่บ้านพักคนชราโดยมี “โนอาห์” มาคอยดูแลปรนนิบัติอย่างใกล้ชิด

กิจวัตรประจำวัน “โนอาห์” จะนั่งอ่าน “บันทึกรัก” ให้กับ “แอลลี่” ฟัง บางวัน “แอลลี่” ไม่มีการตอบสนองใด ๆ แต่บางวัน “แอลลี่” ก็มีการตอบสนอง ทั้งน้ำตาไหลซึม เอามือมาจับแขนของเขา ในขณะที่บางวันเขาได้ยิน “แอลลี่” แซวเขาว่า “ฉันรู้นะว่าเธอชอบฉัน”

นี้เป็นสิ่งบ่งบอกว่า “ปาฏิหาริย์จากบันทึกรัก” มีจริง

แม้นน้อยครั้งมากที่ “โนอาห์” ได้รับการตอบสนองจาก “แอลลี่” แต่เขาก็ไม่เคยเบื่อที่จะอ่านบันทึกรักให้คนที่เขารักฟังตลอดเกือบ ๕ ปีที่เขาและเธอพักอยู่ที่บ้านพักคนชราแห่งนี้ด้วยกัน

บางตอนในนวนิยายแปลเรื่องนี้ ผู้แปลได้ถ่ายทอดออกมาเป็นบทกลอนแปดที่แสนไพเราะนับ ๑๐ บท ที่พี่ชอบมากอย่างยิ่ง คือ ๒ บทนี้

“ไม่เคยเป็นเช่นนี้ชีวีข้า
ต้องมนตรารักตรึงสุดซึ้งหวาน
ใบหน้าเธอคือมาลีที่แย้มบาน
ฉุดวิญญาณฉกหัวใจข้าไปครอง”

เป็นบทกลอนที่พยาบาลคนหนึ่งที่บ้านพักคนชรานำมาฝากให้กับ “โนอาห์” เพราะเห็นถึงความรักที่เขาได้มอบให้กับภรรยาอย่างสม่ำเสมอและไม่เสื่อมคลาย

สังขารกาลเวลาพาเสื่อมถอย
แต่ร่องรอยแห่งรักหนักแน่นเหลือ
สัมผัสด้วยจุมพิตยามชิดเชื้อ
รักยิ่งเกื้อดวงใจให้รื่นรมย์”

เป็นบทกลอนที่ “แอลลี่” เขียนบนกระดาษแผ่นน้อย ส่งให้ “โนอาห์” ในวันหนึ่งหลังจากที่ “โนอาห์” อ่านบันทึกรักจบลง

ว่าไปแล้วนะกุ้ง ความรักไม่ได้สอนให้อดทน แต่สอนให้รู้จัก "ทำ" เพื่อคนที่เรารักอยู่เสมอ

ก่อนจบจดหมายฉบับนี้ พี่ขอยกข้อความตอนหนึ่งที่ช่างตรงกับความรู้สึกของพี่เพื่อมอบให้กับคนที่พี่รัก

“กวีมักบรรยายถึงความรักว่า เป็นสภาพอารมณ์ที่เราไม่อาจควบคุมได้ อารมณ์ที่อยู่เหนือตรรกะและเหตุผลใด ๆ ผมเองก็รู้สึกอย่างนั้น ผมไม่เคยวางแผนว่าจะรักคุณ และคุณเองก็คงไม่ได้ตั้งใจจะมารักผม แต่ทันทีที่พบกัน เราต่างไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราได้ เราตกหลุมรักกันโดยไม่คำนึงถึงข้อแตกต่างใด ๆ และเมื่อมันเกิดขึ้น ความงดงามชนิดที่จะหาไม่ได้อีกแล้วก็ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับผม ความรักแบบนี้ เกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต เพราะฉะนั้นผมถึงต้องจดจำทุก ๆ นาที ที่เราเคยมีร่วมกัน ไม่เคยลบเลือนแม้แต่น้อยนิด”

ด้วยรัก

“พี่เอง”

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2557

เสียงที่ไม่ค่อยมีใครได้ยิน

๑๙ มกราคม ๒๕๕๗

“บ้านเมืองเราทำไมมันถึงยุ่งอย่างนี้”

คำพูดลอย ๆ จากปากของคน ๒ คน ที่ผมได้ยินครั้นไปทำธุระส่วนตัวนอกบ้าน อดคิดไม่ได้ว่า “บ่งบอกถึงบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังของคำพูดนี้มากมาย นัยหนึ่งได้แสดงถึงความอึดอัดคับข้องใจ”

ขณะนั้นเลยเวลา ๔ โมงเย็นไปกว่า ๑๐ นาทีแล้ว ผมตะโกนบอกลูกชายที่อยู่ในห้องส่วนตัวไปว่า “พ่อไปตัดผมนะ”

“อย่าลืมแวะไปเอาเสื้อผ้าที่ร้านยายด้วยนะ แม่ฝากให้เตือนพ่อด้วย” ลูกชายตอบกลับมา

ผมขับรถยนต์ไปยังร้านตัดผมที่ใช้บริการเป็นประจำ ซึ่งตั้งอยู่ในซอยถัดไปจากบ้านของผม

ประมาณปีกว่าตั้งแต่ย้ายบ้านมาอยู่ที่นี่ ผมใช้บริการ “ลุงปัง” มาโดยตลอด ตอนนี้แกอายุ ๖๕ ปีเศษแล้ว พื้นเพอยู่ที่อำเภอวชิระบารมี จังหวัดพิจิตร ย้ายมาอยู่ที่นครสวรรค์เพราะลูกสาวมาแต่งงานอยู่กินกับสามีจนมีลูก ๒ คน และตั้งรกรากอยู่ที่นี่

สมัยเมื่ออยู่ที่พิจิตรลุงปังมีอาชีพทำนาทำไร่ แต่พอย้ายมาอยู่ที่นี่ เห็นว่าตนเองพอจะมีฝีมือตัดผมอยู่บ้าง จึงเอ่ยปากขอใช้ที่ว่างด้านข้างบ้านลูกสาวตั้งเป็นร้านตัดผม ทำให้มีรายได้คอยจุนเจือตัวลุงและป้าคู่ชีวิตที่มาอยู่ด้วยกัน โดยไม่ต้องเป็นภาระลูกสาว

ลูกสาวกับลูกเขยของลุงปังทำงานราชการทั้งคู่ แต่ด้วยภาระที่แบกรับอันหนักอึ้ง ทำให้ใช้ช่วงวันหยุดไปรับเสื้อผ้าจากกรุงเทพมาขายที่ตลาดนัดหน้าค่ายทหารเป็นรายได้เสริม เพื่อมีเงินผ่อนบ้านที่จำนองไว้กับธนาคารเพิ่มขึ้น

ภรรยาลุงปังดูมีอายุอ่อนกว่าเล็กน้อย มีหน้าที่คอยทำอาหารและดูแลหลานทั้ง ๒ คน ป้าเป็นคนพูดจาไพเราะและช่างคุยมากกว่าลุงปัง บางครั้งในขณะที่ผมรอคิวตัดผม ป้าก็จะออกมาคุยด้วย และยิ่งรู้ว่าผมเป็นคนจังหวัดเดียวกัน ป้ายิ่งเล่าเรื่องราวต่างๆที่บ้านเราอย่างออกรสมากขึ้น

เมื่อเดินเข้าไปในบริเวณร้าน เห็นลุงปังกำลังขะมักเขม้นตัดผมให้กับลูกค้าอยู่ แกหันมาส่งยิ้มให้กับผม พร้อมกับเอื้อนเอ่ยเชื้อเชิญให้นั่งรอสักครู่

ผมหันไปหยิบหนังสือการ์ตูนที่วางซ้อนกันอยู่หลายเล่มมานั่งอ่านฆ่าเวลา ได้ยินเสียงลูกค้าแว่ว ๆ ชวนลุงปังคุย แต่ลุงปังตอบไปเพียงคำสองคำเท่านั้น

สักพักเห็นลุงปังรับเงินจากลูกค้าพร้อมกับล้วงกระเป๋าหยิบเงินทอนส่งให้ พร้อมกับเอ่ยคำขอบคุณ

ผมเดินเข้าไปนั่งประจำที่

“วันนี้ได้กี่หัวแล้วครับ”

“เพิ่งได้สัก ๑๐ หัวเอง ช่วงนี้ไม่ค่อยมีคน ดูเงียบ ๆ”

“เป็นไงบ้างกรุงเทพฯ ตอนนี้”

“ก็วุ่นวายดีครับ” ผมตอบเพื่อหยั่งเชิงว่าลุงปังคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะไม่แน่ใจว่าลุงปังอยู่ฝ่ายไหนกันแน่ หากเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผม ก็เกรงแกจะเอาใบมีดโกนที่แกถืออยู่ปาดใบหูผม

“ก็เพราะนายกฯ ไม่ยอมลาออกสักที” ลุงปังพูดสวนผมออกมาทันที

“อ้าว มันไม่ดีหรือ”

“จะดีอย่างไรล่ะ คนเขามาชุมนุมมากมายขนาดนี้ ยังหน้าด้านไม่ออกอีก”

“น่าจะไปตั้งนานแล้ว โกงมากมายขนาดนี้ ตอนนี้ชาวนาที่พิจิตรก็มาปิดถนนแถว ๆ โพธิ์ไทรงาม มีอย่างที่ไหน จำนำข้าวไปตั้งนานแล้ว ยังไม่ได้เงินเลย” ลุงปังสาธยายต่อ ในขณะที่ผมคิดไปถึงลูกค้าเมื่อสักครู่ที่ลุงปังไม่ได้ตอบโต้อะไรออกไปเลย

“ลุงรู้ข่าวพวกนี้มาจากที่ไหน”

“ทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ ออกข่าวเต็มไปหมด” ยังไม่ทันที่ผมจะพูดอะไร เสียงทีวีก็ดังลอดออกมาจากในบ้าน ฟังดูก็รู้ทันทีว่า เป็นช่อง “บลูสกาย” เสียงคุ้นหูผมจริง ๆ

“แล้วจะไปเลือกตั้งกับเขาไหมลุง”

“มันจะมีเหรอ ยุ่งขนาดนี้ แต่ถ้ามีก็คงต้องไป คิดไปก็เสียดายเพราะลุงต้องกลับไปเลือกที่พิจิตรโน่น เสียดายเงินเสียดายเวลา เลือกมาก็คงอยู่ได้ไม่นาน แต่ถ้าไม่ไปเลือก ก็จะเสียสิทธิ” ลุงปังร่ายยาว

คำพูดของลุงปังทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า “ลุงปังคนนี้ไม่ใช่ย่อย” เป็นคนที่สนใจเรื่องราวต่าง ๆ ของบ้านเมืองมิใช่น้อย และที่สำคัญตระหนักถึงหน้าที่ในฐานะพลเมืองไทยที่ดีเชียวล่ะ

“ถามจริง ๆ เถอะลุง ลุงจะเลือกเบอร์อะไรล่ะ”

“นั่นนะซิ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ยอมส่งใครลง คงจะกาช่องไม่เลือกใครน่ะ”

ผ่านไปสักพักลุงปังเอื้อมมือมาปลดที่หนีบผ้า และดึงผ้าที่คลุมตัวผมออก พร้อมกับเอ่ยว่า “เสร็จแล้วครับ”

ระหว่างที่กำลังเดินไปขึ้นรถยนต์ที่จอดไว้ที่หน้าบ้านลุงปัง “มันยุ่งมากจริง ๆ ประเทศอื่นเขาพัฒนาไปถึงไหนกันแล้ว คนไทยมัวแต่ทะเลาะกันอยู่นี่เอง” เสียงลุงปังดังขึ้น ผมหันไปมองเห็นแกกำลังกวาดเส้นผมที่ตกอยู่บนพื้นมากองรวมกัน

ผมขับรถยนต์ลัดเลาะมุ่งหน้าไปอีกซอยหนึ่งเพื่อไปรับผ้าที่จ้างรีดที่บ้านยายตามที่ลูกชายเตือน

ยายคนนี้อายุราว ๖๐ ปี ปล่อยผมขาวโพลนทั้งหัว แม้นผมจะมาใช้บริการแกบ่อย ๆ แต่ก็ไม่เคยถามชื่อแกสักที มาบ้านครั้งใด ก็จะเห็นตาอายุรุ่นราวคราวเดียวกับยายช่วยบริการลูกค้า กับหลานชายที่กำลังเดินเตาะแตะอีกหนึ่งคน เข้าใจว่าคงเป็นหลานหรือเหลนตาและยายเป็นแน่แท้

ยายเห็นหน้าผม รีบส่งยิ้มต้อนรับทันที

"สวัสดียาย มารับผ้าที่แฟนเอามาฝากไว้เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว”

"ได้ค่ะ รอเดี๋ยวนะ ไม่มาเสียนานเลยนะ”

“ช่วงนี้งานเยอะ เลยไม่ค่อยได้กลับมาบ้านครับ”

ยายละจากผมไป สักครู่ก็ค่อยๆเดินออกมา พร้อมกับเสื้อผ้าที่รีดอย่างเรียบร้อยบนไม้แขวน

“นี่จะเข้ากรุงเทพหรือ” ยายเอ่ยถาม

“ครับ”

“อ้าว เข้ากรุงเทพฯ ได้หรือ”

“ทำไมล่ะ"

“ก็เขาปิดกรุงเทพกันไม่ใช่หรือ”

“ผมนี่แหละคนปิดกรุงเทพฯ เข้าได้อยู่แล้วยาย” ผมเอ่ยตอบโดยหวังจะหยอกให้ยายขำ

“อ้าวพวกเดียวกันหรือนี่ ยายไม่ค่อยคุยกับใครหรอกเรื่องนี้ ไม่รู้เขาคิดอย่างไร” ยายเดินเข้ามาใกล้ตัวผม แล้วลดระดับเสียงในขณะที่พูดลงต่ำกว่าเมื่อครู่

“ดีแล้วล่ะยาย”

ผมควักเงินในกระเป๋าจ่ายให้ยายไป ก่อนที่จะเอ่ยลา

“บ้านเมืองมันวุ่นวายจริง ๆ เลย ยายเบื่อมากเลย” เป็นคำพูดของยายที่ผมได้ยินก่อนที่จะปิดประตูรถยนต์ แล้วขับออกมา

เสียงจากวิทยุติดรถยนต์มีรายงานข่าวแทรกตอนต้นชั่วโมง รายงานเหตุการณ์วางระเบิดแถวๆอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีผู้บาดเจ็บนับสิบหลายแต่ยังไม่พบมีผู้เสียชีวิต

ว่าไปแล้วจากเรื่องราวที่ผมได้รับฟังจากลุงปังและยายเมื่อสักครู่ เป็นภาพสะท้อนจากคนตัวเล็กๆในชนบทถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยในเมืองใหญ่อยู่ในขณะนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยอย่างวงกว้าง เกิดความวิตกกังวล และที่สำคัญได้ก่อให้เกิดความระแวงต่อกัน จะพูดคุยกับใครก็ต้องระมัดระวัง ฤา สังคมไทยที่เคยได้ชื่อว่า “สยามเมืองยิ้ม” จะสูญสิ้นไปแล้วกระมัง

แวบหนึ่งของความคิดพลันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า

“จะมีใครที่ได้ยินเสียงของลุงปังกับยายบ้างไหมครับ”

“มันช่างวุ่นวายจริง ๆ หนอเมืองไทย”

วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2557

ความไว้วางใจ คือ หัวใจของเครือข่าย

๑๘ มกราคม ๒๕๕๗

“พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว” หนึ่งในผู้ก่อตั้งเครือข่ายอินแปง จากบ้านบัว ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร เคยเล่าให้ผมฟังนานแล้วว่า “อินแปง มีความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ที่พระอินทร์ได้ทรงสร้าง (แปง) ไว้ให้มวลมนุษย์” ความสำเร็จของเครือข่ายอินแปง จึงเป็นความสำเร็จของมวลมนุษย์ที่มาลงมือก่อร่างพัฒนาร่วมกันจากอดีตตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ จนถึงทุกวันนี้

ที่นี่ให้ความสำคัญกับบริหารที่เน้นลักษณะเฉพาะตามความเหมาะสมภายในท้องถิ่นแต่ละแห่ง มีความเป็นอิสระแก่กัน ไว้วางใจในการทำงานกัน ศูนย์อินแปงจะเป็นเพียงตัวประสานงาน เน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลเพียงเท่านั้น”

ไม่ต่างจากที่วันนี้ผมได้มีโอกาสมานั่งล้อมวงฟัง “ดร.เสรี พงศ์พิศ” ชวนคุยเรื่อง “เครือข่าย” และฉายภาพรูปธรรมของ “เครือข่ายอินแปง” เป็นตัวอย่างประกอบ

ล้าสมัยแล้วที่จะทำงานด้วยตัวคนเดียวหรือองค์กรเดียว การทำงานแบบ “เครือข่าย” จึงเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานในยุคปัจจุบันและอนาคต

ณ ห้องประชุมลีลาวดี โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๗ เต็มไปด้วย “นักสานพลัง” ที่เดินทางมาจากเกือบ ๒๐ จังหวัดทั่วประเทศ กว่า ๔๐ ชีวิต ที่มีทั้งวัยหนุ่ม วัยผู้ใหญ่ และผู้สูงวัย ที่ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์การทำงานพัฒนาชุมชนมายาวนาน

อาจารย์เสรีฯ คนเดินเรื่องได้ชวนมองคิดชวนคุยเรื่อง “เครือข่าย” อย่างรอบด้านอย่างสนุก หากนำมาไล่เรียงถึงแก่นสาระ ทำให้ได้เรียนรู้ถึง

"เครือข่าย" มีความหมายประการหนึ่ง คือ “ขบวนการทางสังคม อันเกิดจากการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กลุ่ม องค์กร สถาบัน โดยมีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และความต้องการบางอย่างร่วมกัน เพื่อดำเนินกิจกรรมบางอย่าง โดยที่สมาชิกของเครือข่ายยังคงความเป็นเอกเทศไม่ขึ้นต่อกัน”

แต่ในอีกความหมายหนึ่ง หมายถึง “วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นกระบวนทัศน์ใหม่และทำให้มีการจัดความสัมพันธ์ภายในองค์กรหนึ่ง ระหว่างคนในองค์กร และระหว่างองค์กรนั้นกับองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการเปลี่ยนจากการจัดการแบบลำดับชั้น (hierarchical) มาเป็นการสร้างเครือข่าย (networking)”

โดยวัฒนธรรมองค์กรที่มีกระบวนทัศน์ใหม่นี้ ไม่เน้นการใช้อำนาจในการบริหารจัดการ แต่เน้นการจัดความสัมพันธ์ใหม่ สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนอยากทำงาน และทลายกำแพงกั้นระหว่างกอง ฝ่าย โครงการต่างๆที่อยู่ในองค์กรแห่งนั้น ให้เกิดเป็นความร่วมมือเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดี และทำงานแบบลักษณะประสานพลัง (Synergy)

กิจกรรมสำคัญที่สุดที่ทุกเครือข่ายต้องทำร่วมกัน คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ แล้วพัฒนาไปสู่การวางแผนเพื่อดำเนินกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน ทำให้ด้านหนึ่งหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน อีกด้านหนึ่งทำให้กิจกรรมนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นการประสานพลัง (Synergy) เป็นการใช้ทรัพยากร ใช้พลังงาน อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ

เงื่อนไขสำคัญของเครือข่าย จึงจำเป็นต้องมีการติดต่อสัมพันธ์สื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอระหว่างสมาชิก อาจมีผู้ประสาน ซึ่งเป็นบุคคลหรือกลุ่มประสาน แต่ไม่ใช่เป็นผู้ดำเนินการแทนสมาชิกเครือข่ายในทุกเรื่อง

เครือข่ายอาจเป็นเครือข่ายแบบผสมผสานระหว่างสมาชิกที่แตกต่างกันในสถานภาพ เช่น เป็นผู้นำชุมชน ข้าราชการ นักธุรกิจ นักวิชาการ แต่เมื่อทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันก็สามารถเป็นเครือข่ายได้

อีกแบบหนึ่ง คือ เครือข่ายขององค์กรหรือคนที่มีสถานภาพเดียวกัน อาชีพเดียวกัน ระดับเดียวกัน เช่น เกษตรกร นักวิจัย องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันวิจัย เป็นต้น

เครือข่ายจะยั่งยืนถ้าหากว่าสมาชิกร่วมใจกันตั้งแต่ต้น ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายเลขานุการ ไม่ให้มีคนครอบงำ มีปัจจัยหรือทุนในการดำเนินงาน มีการประสานงานสม่ำเสมอ มีความยืดหยุ่นปรับตัวตามที่สมาชิกส่วนใหญ่เห็นชอบ

ดังนั้นบทบาทของผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชน หรือเครือข่ายองค์กรที่ทำงานกับชุมชนจึงมีหลักสำคัญ ๓ ประการ คือ เป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนา (Facilitator) เป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (catalyst) และเป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดเครือข่าย (networker)

อาจารย์เสรีฯ ได้ยกตัวอย่างการทำงานแบบเครือข่ายในชุมชนที่ประสบความสำเร็จให้ฟังหลายพื้นที่ แต่ที่เน้นย้ำคือ การทำงานที่ “เครือข่ายอินแปง”

ดั่งที่ผมเล่าในตอนต้นแล้วถึงความหมายของคำว่า “อินแปง” ที่หมายถึง “สถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมือนพระอินทร์ได้สร้างไว้”

“เครือข่ายอินแปง” มีสมาชิกอยู่ใน ๕ จังหวัดรอบตีนเขาภูพาน คือ สกลนคร กาฬสินธุ์ อุดรธานี มุกดาหาร และนครพนม มีสมาชิกหลายหมื่นคนจนอาจถึงหลักแสน

“ชาวอินแปง” คือ ชาวบ้านในชนบทที่หันกลับมาทบทวนชีวิตของตน แสวงหาสิ่งที่ตนเองทำหล่นหายไประหว่างทางการดำเนินชีวิตของพวกเขา และเริ่มต้นใหม่จากสิ่งที่ตนเองมีอยู่และสิ่งที่ตนเองเป็น โดยไม่ได้ก้าวตามกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ชาวอินแปงถือเอา “ชีวิต คือ การศึกษา และการศึกษา คือ ชีวิต” ไม่ได้แยกเรื่องทั้งสองออกจากกัน ศึกษาให้รู้จักการอยู่ร่วมกันด้วยความเกื้อกูล ศึกษาให้สร้างเศรษฐกิจพอเพียง ศึกษาให้เห็นแก่ตัวน้อยลง และเห็นแก่ผู้อื่นมากยิ่งขึ้น

วิธีคิดของชาวอินแปง คือ ทำอย่างไรจึงจะพึ่งพาตนเองได้ เริ่มจากการกลับคืนสู่รากเหง้า ซึ่งไม่ใช่คืนสู่อดีต แต่หมายถึงการสืบค้นหาคุณค่าของอดีตและนำมาประยุกต์กับปัจจุบันให้สมสมัย ตอบให้ได้ว่าทำอย่างไรจึงจะ “เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน” และ “พออยู่พอกิน” แม้ไม่ร่ำรวยแต่มีชีวิตที่มั่นคง มีสวัสดิการที่ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย

คนอินแปงใช้หลัก ๓ อี คือ Education แปลว่า การศึกษา emancipation แปลว่า การปลดปล่อย empowerment แปลว่า การทำให้เข้มแข็ง หรือการเพิ่มการเสริมพลัง การปลุกพลังจากข้างในให้สำแดงประจักษ์ชัดออกมา

การปลดปล่อยในความหมายของอินแปง คือ การช่วยให้รอดจาก ๗ อย่าง คือ “รอดจากสารพิษ รอดจากการมีหนี้สิน รอดจากการเจ็บไข้ได้ป่วย รอดจากการถูกเอาเปรียบ รอดจากความไม่เพียงพอ รอดจากกระแสพัดพาไป และรอดจากความเหงา”

อินแปงเป็นตัวอย่างของการปลดปล่อยจากการครอบงำต่างๆ เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง คิดได้เอง ตัดสินใจได้เอง เลือกได้เอง โดยไม่ต้องมีใครมาชี้นำ มาครอบงำ มาสอนให้เดินไปในทางที่พวกเขาต้องการ

การศึกษาแบบอินแปงไม่จำเป็นต้องไปเรียนถึงมหาวิทยาลัย เพราะถ้าเรียนเป็น เรียนที่ไหนก็ได้ กับใครก็ได้ที่มีวิชา มีความรู้ ศูนย์อินแปงจึงติดป้ายใหญ่ไว้หน้าศูนย์ว่า “มหาวิทยาลัยชีวิต” เป็น “สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน”

การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน หมายถึง การทำให้ชุมชนร่วมมือกันเอง และกับชุมชนใกล้เคียงและเครือข่ายที่กว้างไกลออกไป ข้ามเขตแดนทางภูมิศาสตร์ เป็นชุมชนในความหมายใหม่ เป็นเครือข่ายของคนที่มีแนวคิด มีอุดมการณ์เดียวกัน

ตอนจบอาจารย์เสรีได้สรุปทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า “เครือข่ายอยู่ได้ ไม่ใช่เพราะกฎระเบียบหรือโครงสร้างแบบสถาบัน แต่อยู่ที่ “ความไว้วางใจ” หรือ “Trust” ที่สมาชิกของเครือข่ายมีต่อกัน”

ไม่ต่างจากการทำงานในฐานะ “นักสานพลัง” ที่เป็นการทำงานในลักษณะ “เครือข่าย” อยู่แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ต้องสร้างให้เกิดความ “ไว้วางใจ” ต่อมวลสมาชิกที่สานเข้ามาเป็นเครือข่ายให้ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนนั่นเองครับ

วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557

“เขามาทำไม?” : เรื่องของ “คนเบื้องหลัง”

๑๗ มกราคม ๒๕๕๗

“อยากให้ทุกคนไปศึกษาเหตุการณ์บ้านเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ว่าเป็นอย่างไร และถ้ามีโอกาสให้ลองพูดคุยกับคนที่มาชุมนุม ว่าเขามาด้วยเหตุผลใด” เป็นโจทย์ที่หัวหน้าหลักสูตร “นักสานพลัง” กล่าวขึ้น ก่อนที่ผู้เข้าอบรมเกือบ ๔๐ ชีวิต จาก ๒๐ จังหวัด จะแยกย้ายกันไปลงพื้นที่

เมื่อวานนี้ (๑๖ มกราคม) เป็นวันแรกของกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ “นักสานพลัง” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร หัวหน้าหลักสูตรตัดสินใจเพิ่มกิจกรรมนี้เข้ามา ด้วยเห็นว่าเป็นโอกาสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของประเทศในช่วงการชุมนุมของมวลมหาประชาชน ที่มีเวทีกระจายอยู่ทั่วเมืองหลวงถึง ๗ จุด

แม้ผมจะเดินทางไปเข้าร่วมชุมนุมกับมวลมหาประชาชนนับสิบครั้งตั้งแต่ตั้งเวทีที่ถนนราชดำเนินแล้วก็ตาม แต่ก็อดไม่ได้ที่จะลงไปเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนที่ไปร่วมชุมนุมในคืนนี้ด้วย จึงเดินทางไปพร้อมกับทีมงานในฐานะ “ทีมผู้จัดงาน” รวม ๕ ชีวิต

เบื้องหน้าพวกเรา คือ ถนนพหลโยธินที่ถูกปิดห้ามรถผ่าน เราก้าวลงจากรถพร้อมกับเครื่องประดับที่มีธงชาติแซมในบางจุดของเรือนกาย

ค่อยๆ เดินลัดเลาะฝ่าผู้คนที่เดินสวนทางกลับมา มีทั้งเดินมาคนเดียว เป็นคู่ เป็นกลุ่ม มีทั้งคนวัยหนุ่มสาว นิสิตนักศึกษา คนทำงานออฟฟิศ

แทบทุกคนต่างมีแถบผ้าสีธงไตรรงค์หรือนกหวีดประดับประดาอยู่บนร่างกายอย่างน้อยหนึ่งชิ้น มีบางคนนำแถบผ้ามาประดับเต็มตัวไปหมด บนศีรษะ กรอบแว่นตา สายโพกหัว คล้องคอ ต่างหู บนแก้มและหน้าผากก็ยังมีรอยประทับรูปธงชาติไทยติด

ยิ่งใกล้เวทีเท่าใด เสียงที่ดังลั่นยิ่งสนั่นมากขึ้น คนแออัดยัดเยียดเบียดเสียดแน่นขึ้น

บนทางเดินสองฟากเริ่มมีสินค้ายอดฮิตวางขาย อันเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ กางเกง แว่นตา ผ้าผูกผม สายคล้องคอ มือตบ นกหวีด

แม่ค้ามีทั้งชายหญิงวัยแรงงานผู้ใหญ่ แต่บางร้านก็ยังเป็นหนุ่มสาววัยรุ่น ปากก็เอื้อนเอ่ยเชื้อเชิญให้ซื้อสินค้าที่ตัวเองวางขาย

ยิ่งเดินลึกเข้าไป พื้นที่แทรกตัวลำบากขึ้น ก็จะเจอคนเดินขายสินค้าสีธงชาติแทนมากกว่านั่งพื้นเหมือนตอนที่เจอเข้ามา ราคาไม่แตกต่างกันนัก

“๑๐ บาท ครับ ๑๐ บาทครับ”

ผมหันไปเห็นสายรัดข้อมือสีธงชาติไทย เลยซื้อมา ๑ ชิ้น พร้อมแกะใส่ข้อมือซ้ายทันที “ขออินเทรนด์สักหน่อย”

สังเกตเห็นผู้คนต่างจับจ่ายซื้อสินค้าเหล่านี้กันอย่างคึกคัก ในใจก็คิดไปว่า “ธุรกิจแบกะดินเล็กๆ ท่ามกลางการชุมนุมแบบนี้ ที่ค่าครองชีพทุกวันนี้ก็ไม่ได้ต่ำ สร้างรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวได้มิใช่น้อย”

พวกเราเดินมาหยุดอยู่ข้างเวทีใหญ่ เสียงนกหวีดกับมือตบดังเป็นช่วงๆ ขณะนั้นนักวิชาการมีชื่อเสียงคนหนึ่งกำลังปราศรัยอยู่ ผมติดตามการพูดของนักวิชาการคนนี้มาตลอด เพราะมักมีข้อมูลลึกมาเล่าให้ผู้ฟังเสมอ แต่นั้นเองก็มีบางช่วงพูดจาหยาบคายไปบ้าง คงเป็นเพราะต้องการสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้มาชุมนุม

เราเดินฝ่าที่ชุมนุมไปเรื่อยๆ โดยไม่ยากเย็นจนเกินไปนัก เดินผ่านเต็นท์ยาจึงแวะเข้าไปทักทาย เห็นกล่องยาวางเรียงรายและซ้อนเทินกันหลายสิบกล่อง เอ่ยถามเจ้าหน้าที่ว่า “เหนื่อยไหม” คำตอบที่ได้รับกลับมา คือ “พอสมควรครับ เพราะต้องดูแลผู้ชุมนุมที่มาอยู่รวมกันและเจ็บป่วยพร้อมๆ กัน”

เราเดินลัดเลาะไปจนถึงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต และซื้อตั๋วโดยสารไปลงสถานีอโศก บนรถไม่ค่อยมีผู้โดยสารเท่าใดนัก ยามที่รถวิ่งผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็ชะเง้อมองลงไป เห็นผู้คนเต็มบริเวณโดยรอบ

เมื่อถึงสถานีอโศก เดินตามทางลงมาเรื่อยๆ จนถึงตรงสะพานลอยที่ทอดยาวข้ามถนน เชื่อมตึกต่างๆ ในบริเวณนั้นเข้าด้วยกัน ผู้คนหนาตามาก เกือบทุกคนมีลักษณะเหมือนที่เวทีก่อน คือ มีสัญลักษณ์ของธงไตรรงค์ประดับไว้ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเสื้อผ้าอาภรณ์ประจำตัว เพื่อบ่งบอกความเป็นพวกเป็นกลุ่มเดียวกัน

เรามาหยุดอยู่บนสะพานลอย มองลงไปด้านล่างเห็นเวทีไฮปาร์คชัดเจน มองไกลออกไปเห็นผู้มาชุมนุมแน่นขนัด นั่งบ้าง ยืนบ้างเต็มพื้นที่ เสียงไฟบริเวณนั้นสว่างจ้า

มีผู้คนเดินสวนไปสวนมาตลอด แต่มีชายกลุ่มหนึ่งหลายสิบคน ลักษณะบ่งบอกว่าเป็นคนพื้นเพภาคใต้อย่างชัดเจน ยืนกระจายอยู่ ผมเหลือบไปดูที่หน้าอก เห็นป้ายคล้องคอทุกคน ตัวอักษรที่เห็นชัดเจนก็คือ ตัว A บ้าง B บ้าง C บ้าง ซึ่งผมเห็นแล้วก็ไม่เข้าใจว่าคืออะไร

จึงเดินเข้าไปหาชายคนหนึ่งที่ยืนอยู่ตามลำพัง ส่งยิ้มไปให้ และเขาก็ส่งยิ้มตอบกลับมา บ่งบอกถึงความเป็นมิตรที่มอบให้แก่กันในเบื้องต้น

ชายคนนี้อายุ ๔๕ ปี หน้าตาดูแก่เกินวัย ผิวดำคล้ำ บ่งบอกว่าช่วงชีวิตที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างหนักมาโดยตลอด ยามยิ้มทำให้เห็นฟันเหยิน ที่มีบางซี่ได้หายไปจากปากแล้ว

“ผมเป็นคนนครศรีธรรมราชครับ มาตั้งแต่วันที่ ๙ ที่ผ่านมา กับเพื่อนๆ ในหมู่บ้าน ๕ คน ไม่มีใครจ้างผมหรอก ผมมาของผมเอง นั่งรถไฟมาก็ ๒๐๐ กว่าบาท มานอนที่เต็นท์ที่เขาจัดไว้ให้ กินก็กินกับเขา ไม่อดหรอก”

“ก็โทรไปหาแม่กับเมียอยู่บ่อยๆ แม่ก็บอกว่าให้ระวังตัวนะ”

“มันแย่มากนะครับพี่ เศรษฐกิจมันแย่มาก ราคายางมันตกมากเลย”

“อยากมาช่วยกำนันสุเทพให้ชนะ”

เหล่านี้คือคำตอบที่ผมได้รับจากการพูดคุยกันบนสะพานลอยย่านอโศก ขณะที่คุยกัน สายตาของเขาก็สอดส่ายคอยระแวดระวังดูผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาตลอด

ผมยกมือไหว้แกพร้อมคำบอกลา ก้าวเดินไปหาชายอีกคนหนึ่งที่กำลังยืนอยู่ตามลำพังเช่นเดียวกัน ดูอายุอ่อนกว่าชายคนก่อน อยู่ในชุดลายทหาร ที่คอมีผ้าลายสีธงชาติคล้องอยู่ มีนกหวีด ๓ อันคล้องอยู่เต็มลำคอ หน้าตาดูหล่อเหลาทีเดียว

“ผมเป็นคนสุราษฎร์ธานีครับ มา ๔ รอบแล้วตั้งแต่อยู่ที่ราชดำเนินโน่น ไปแล้วก็กลับมาใหม่ ไม่มีใครไปบอกหรอก ชวนคนในหมู่บ้านมาที่นี่ ไม่มีหรอกครับค่าจ้าง ก็ลำบากนะ แต่ก็ต้องทน เพื่อบ้านเมือง”

“พี่คิดดูสิ ผู้ว่าก็คนของเขา ส่งไปเป็นผู้ว่า เขาไม่ได้ช่วยอะไรชาวบ้านหรอก เขาฟังแต่รัฐมนตรี ราคายางตกแทบแย่ ก็บอกว่าต้องรอรัฐบาลสั่งการมา มันแย่มากครับ”

“ผมไม่ได้รู้จักกำนันสุเทพหรอก แต่ผมอยากมาช่วยแก เห็นแกเหนื่อย ชาวใต้ต้องช่วยชาวใต้ครับ"

“กินก็กินกับเขา นอนก็นอนที่เต็นท์ที่เขาจัดไว้ให้”

“เมียผมหรือ ผมไปบอกกับเขา ก็ให้มานะ เขาเข้าใจนะ เรื่องบ้านเรื่องเมืองนะ เมียผมเข้าใจดี”

“เราจะแบ่งบทบาทหน้าที่กัน จะมีรหัสบอกหน้าที่ไว้ชัดเจนครับ”

ผมพูดยังไม่ทันจบ เสียงประกาศจากผู้ดำเนินรายการจากเวทีที่อยู่กลางลานด้านล่าง ดังแว่วมาว่า “อีกสักครู่กำนันสุเทพ จะออกมาพบกับผู้ชุมนุม” ได้ยินเสียงนกหวีดผสมกับเสียงมือตบดังลั่น

การ์ดคนนั้นเดินจากผมไปโดยไม่ได้ร่ำลา แกเดินไปที่บริเวณราวสะพานลอย ที่อยู่เหนือเวทีกลาง พร้อมกับเอ่ยปากขอให้ผู้ชุมนุมที่ยืนอยู่ให้ถอยห่างออกมาจากราวสะพาน พร้อมกับคำว่า “ขอโทษครับ ตรงนี้ผมขออนุญาตไม่ให้มีใครมายืนนะครับ” ซึ่งผู้ชุมนุมก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ผมเดินตามทีมงานไปตามทางเดินบนสะพานลอย ก้าวลงตามบันได แทรกตัวลัดเลาะไปหาที่ว่างหน้าเวที ที่ยังว่างอยู่ เข้าไปขออนุญาตนั่ง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ทีมงานเรานั่งฟังกำนันสุเทพพูดสักพักใหญ่ๆ พร้อมๆกับมีเสียงนกหวีดสลับกับเสียงมือตบดังสลับกันไปเป็นช่วง ๆ และพร้อมเพรียงกัน

อีก ๕ นาทีจะถึงเวลาเที่ยงคืน เราเดินทางกลับที่พักตามเส้นทางเดิมตอนขามา

ระหว่างนั้นก็อดคิดไปถึงสิ่งที่ได้พบเห็น โดยเฉพาะได้พูดคุยกับการ์ดทั้ง ๒ คน

“เขามาทำหน้าที่การ์ดทำไม ทั้งๆที่เขาต้องมาอยู่อย่างลำบาก ห่างลูกเมียพ่อแม่มาแสนไกล การกินการนอนก็ลำบาก ไม่สบายเหมือนอยู่บ้าน มาด้วยใจสมัคร ไม่มีใครจ้าง อีกทั้งไม่ได้รู้จักสนิมชิดเชื้อกับกำนันสุเทพอย่างใกล้ชิด”

แม้ผมยังไม่มีคำตอบกับคำถามนี้ แต่อย่างน้อยก็มีคำตอบว่า "การ์ดทั้งคู่ต่างก็เป็นคนใต้เหมือนกำนันสุเทพนั่นเอง" .....