วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปฏิรูประบบสุขภาพ ปฏิรูปประเทศไทย (ตอนที่ ๓) : สถานการณ์และแนวโน้มระบบสุขภาพไทย

๒๘ มีนาคม ๒๕๕๗

อย่างที่ผมเขียนไว้ในตอนที่แล้วว่า ประเทศไทยมีพัฒนาการปฏิรูประบบสุขภาพมาเกือบ ๔ ทศวรรษ นับตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ ที่เริ่มรับแนวคิด “สาธารณสุขมูลฐาน” มาใช้ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องการสาธารณสุข มาจนถึงปัจจุบันที่มีการจัดเขตบริการสาธารณสุข เน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกันของสถานพยาบาลต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่เดียวกัน

สถานการณ์ดังกล่าวนี้เองนำมาสู่การประชุมเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดประชุมระดมสมองระหว่างกลุ่มผู้แทนเครือข่ายภาคีทุกภาคส่วน เรื่อง “การปฏิรูประบบสุขภาพและการปฏิรูปประเทศไทย” และนำผลการประชุมไปเสนอต่อคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หรือ คจสช. จนในที่สุด คจสช.ได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุระเบียบวาระ “ข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” เพิ่มเติมอีก ๑ ระเบียบวาระของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ นี้

ในวันนั้นผู้เข้าร่วมเวทีเห็นตรงกันว่า บริบทที่มีผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศไทยมีหลายประการ และล้วนแต่มีความสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเสมอเพื่อการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย ทั้งมิติด้านการเมืองและนโยบาย มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม มิติด้านเทคโนโลยี และมิติด้านสิ่งแวดล้อม

มิติด้านการเมืองและนโยบาย
- ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนและความขัดแย้งทางการเมือง
- สังคมไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ไม่ชอบ ฉ้อฉล ทุจริตคอรัปชั่นด้วยรูปแบบต่าง ๆ
- พลังพลเมืองและประชาสังคมจะมีบทบาทมากขึ้น มีความตระหนักในสิทธิและหน้าที่ เรียกร้องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเพื่อร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะที่กระทบต่อความเป็นอยู่ ชีวิตและสุขภาพประชาชนมากขึ้น ร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
- เรียกร้องการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง/จัดการกันเอง

มิติด้านเศรษฐกิจ
- ภูมิภาคเอเชียจะทวีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น
- การรวมกลุ่มเศรษฐกิจประชาคมอาเซียนจะทำให้ประเทศสมาชิกพัฒนาก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ในปี ๒๕๕๖ หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวตามศักยภาพ คาดว่าอัตราการเติบโตของผลผลิตมวลรวมของประเทศจะอยู่ที่ร้อยละ ๕.๓ หากยังคงติดกับดักปัญหาทางการเมืองต่อไปอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงร้อยละ ๓.๓
- ถ้ามีการปรับโครงสร้างทั้งการศึกษา สังคม เศรษฐกิจและการเมือง ประเทศไทยจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มเป็นประมาณร้อยละ ๖.๖ และสามารถก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
- การเติบโตทางเศรษฐกิจจากการเร่งกระตุ้นการบริโภค ไม่เพียงบั่นทอนศักยภาพในการพึ่งตนเองของสังคมชนบท ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น และขาดความมั่นคงในสังคม ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา ได้แก่ ปัญหาเยาวชน ยาเสพติด อาชญากรรม ความรุนแรง สถาบันครอบครัวอ่อนแอลง ระบบคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่ดีเสื่อมลง ชีวิตคนเมืองแออัด เร่งรีบ แข่งขัน นำไปสู่การมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพ ขาดสมดุลในชีวิต มีความเครียดสูง
- แนวโน้มของการเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคระบาด และอุบัติเหตุจากการเดินทาง ที่เป็นผลข้างเคียงจากการมีโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้าข้ามพรมแดนอย่างสะดวก

มิติด้านสังคม
- ประเทศไทยจะมีภาระการดูแลผู้สูงอายุทั้งด้านสุขภาพและสังคมเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปีพ.ศ. ๒๕๗๓ ๑ ใน ๔ ของประชากรไทยจะเป็นผู้สูงอายุ
- วิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยนเป็นสังคมเมืองและเลียนแบบประเทศตะวันตกมากขึ้น ตามกระแสโลกาภิวัตน์มากขึ้น โดยสังคมคนชั้นกลางจะเติบโตมากขึ้น ประชาชนจะเข้าถึงทรัพยากร ข้อมูลข่าวสาร มีการศึกษา มีอาชีพและรายได้ดีขึ้น
- การเคลื่อนย้ายประชากรเข้าเมือง ทั้งจากชนบทและจากการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติที่เข้าออกประเทศง่ายและมากขึ้น มีผลกระทบต่อสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรคและการจัดบริการสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
- แบบแผนความต้องการบริการสุขภาพจะเปลี่ยนจากเดิมทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยจะมีหลากประเภท และซับซ้อนกว่าเดิม เช่น ต้องการบริการดูแลผู้สูงอายุ ต้องการบริการเพื่อความงามและบริการส่วนเสริมต่างๆ เพิ่มขึ้น
- ประชาชน/ผู้ป่วยจะรู้จักเรียกร้องและรักษาสิทธิมากขึ้น

มิติด้านเทคโนโลยี
- เทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาและขยายครอบคลุมรวดเร็ว ทำให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศง่ายและกว้างขวางมากขึ้น สามารถสื่อสารเชื่อมโยงเครือข่ายได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง รับและส่งข้อมูลข่าวสารแยกตามกลุ่มความสนใจเฉพาะ แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
- ผลกระทบในทางลบ เช่น การติดเทคโนโลยี การหลอกลวงชักจูงต่างๆ ผ่านการโฆษณาสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ไม่เหมาะสม
- ผลกระทบในด้านบวก เช่น ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลสุขภาพได้อย่างไม่มีขีดจำกัด สามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพและลดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางกายภาพ การสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างกลุ่มผู้บริโภคที่เข้มแข็ง สื่อสารเนื้อหาสาระเฉพาะกลุ่มได้ลึก เกิดชุมชนเสมือนจริง มีโอกาสในการเสริมงานด้านสุขภาพ เป็นต้น
- ข้อจำกัดด้านความครอบคลุมโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ ทำให้คนในพื้นที่ห่างไกล คนจนคนด้อยโอกาส ยังเข้าถึงได้ยาก

มิติด้านสิ่งแวดล้อม
- สภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นและแผ่ขยายไปทั่ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เสี่ยงต่อการเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรง ได้แก่ ปัญหาคลื่นความร้อน น้ำท่วมรุนแรง ภัยแล้ง พายุ แผ่นดินไหว ดินถล่ม สึนามิ ภัยธรรมชาติอื่นที่ร้ายแรง เป็นต้น
- ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร เกิดการขาดแคลนทรัพยากร มีการใช้พลังงานมากขึ้น และจะทำให้พลังงานมีราคาแพงขึ้น ซึ่งกระทบชีวิต ความเป็นอยู่และจะเกิดเป็นปัญหาใหม่ๆ ที่กระทบต่อสุขภาพ
- ประเทศมหาอำนาจ ซึ่งมีความรู้และโอกาสมากกว่า จะแก่งแย่งช่วงชิงทรัพยากร ทั้งที่ดิน น้ำ และอื่นๆ เกิดเป็นความขัดแย้ง
- สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้เชื้อโรคมีวิวัฒนาการตามไปด้วย โรคจากสัตว์สู่คนจะมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น ควบคุมได้ยากขึ้น เพราะคนและสัตว์เข้ามาอยู่ใกล้ชิดกันมากกว่าในอดีต

และหากตีวงแคบเข้ามาศึกษาถึงสถานการณ์และแนวโน้มของระบบสุขภาพ ก็จะพบว่า ระบบย่อย ๆ ของระบบสุขภาพก็มีแนวโน้มที่ปรับเปลี่ยนไปมาจากจากอดีต ไม่ว่าจะเป็น

ระบบการสร้างเสริมสุขภาพ การควบคุมโรคและภัยคุกคามสุขภาพ
- ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลอย่างสำคัญต่อระบบสุขภาพ ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า ได้แก่ โครงสร้างประชากรที่กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ การเพิ่มขึ้นของชุมชนเมือง การเกิดภัยธรรมชาติที่จะมีความรุนแรงและมีความถี่มากขึ้น ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง การเพิ่มความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงและปลอดภัยของอาหาร การเกิดโรคอุบัติใหม่ในพืชและสัตว์ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนมีแนวโน้มซับซ้อน รุนแรง ควบคุมยากขึ้น การเคลื่อนย้ายของประชากร การเข้ามาทำงานของแรงงานต่างชาติ ล้วนมีผลต่อแบบแผนการจัดบริการ ระบบการเฝ้าระวัง สร้างเสริมป้องกันโรค
- ปัจจัยคุกคามสุขภาพส่วนหนึ่งยังเกิดจากการดำเนินนโยบายของรัฐ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม การสัมปทานเหมืองแร่ การส่งเสริมเกษตรที่ทำให้มีการใช้สารเคมีมากขึ้น เป็นต้น
- ระบบการควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ไม่เข้มแข็ง จึงต้องพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมด้วย

ระบบบริการสุขภาพ ระบบคุณภาพ การแพทย์แผนไทย และการคุ้มครองผู้บริโภค
- ภาระโรคของประชากรไทย มีแนวโน้มเป็นโรคไม่ติดต่อและโรคเรื้อรังมากขึ้นเรื่อยๆ (ยกเว้นผู้ชายมีโรคที่เกิดจากการเสพติดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุ เป็นโรคที่มีการสูญเสียมากที่สุด) โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (รวมเชื้อโรคดื้อยา) มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเฉพาะสัตว์ป่า
- หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการและมีผู้ใช้บริการได้มากขึ้น จำเป็นต้องเน้นการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิและบริการสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็งและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
- การบริหารจัดการโรงพยาบาลของรัฐยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน ยังมีปัญหาด้านการบริหารจัดการในการประสานส่งต่อผู้ป่วย สถานบริการในชนบทยังคงประสบปัญหาเรื้อรังจากการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทห่างไกล
- บุคลากรทางการแพทย์ของไทยส่วนใหญ่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จึงมีแนวโน้มจะทำให้ระบบบริการสาธารณสุขกลายเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
- การส่งเสริมนโยบายความเป็นเลิศด้านผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพของประเทศ
- แนวโน้มการแพทย์เชิงธุรกิจและการทำเวชปฏิบัติเสริมความงามขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
- ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย/ญาติกับแพทย์และโรงพยาบาลนำไปสู่การฟ้องร้องแพทย์และโรงพยาบาลที่ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดเวชปฏิบัติแบบปกป้องตนเอง จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณภาพและระบบบริการควบคู่กันไป และจะต้องพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็งควบคู่ไปด้วย
- การแพทย์แผนไทยได้ถูกนำมาใช้ในบริการสุขภาพมากขึ้น จึงต้องพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน พัฒนาบุคลากรเพื่อขยายบริการให้มากขึ้น
- ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังระยะยาว ระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย จะมีความจำเป็นมากขึ้นตามลำดับ

ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ และหลักประกันสุขภาพ
- การประกันสุขภาพถ้วนหน้านับตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น ผลลัพธ์ด้านสุขภาพมีแนวโน้มดีขึ้น
- สภาพสังคมในอนาคตจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน การเคลื่อนย้ายประชากรข้ามแดนที่มากขึ้น มีผลต่อความต้องการบริการสุขภาพ และการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพ
- ปัจจุบันคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายและเป็นแรงงานในระบบจะมีหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมภายใต้ระบบประกันสังคม ในส่วนคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายแม้ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น แต่ยังมีจำนวนมากที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ ปัญหาสุขภาพอาจสร้างผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ได้ (Externalities) ระบบหลักประกันสุขภาพจึงควรครอบคลุมทุกคนบนแผ่นดินไทย
- การอุดหนุนและสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการยังเหลื่อมล้ำกันอยู่ ซึ่งจะต้องบริหารจัดการให้เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
- จากบัญชีรายจ่ายสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนรายจ่ายภาครัฐด้านสุขภาพคิดเป็นร้อยละ ๑๖.๙ ของรายจ่ายภาครัฐทั้งหมดนับเป็นภาระทางการคลัง โดยอัตราการเติบโตของค่าใช้จ่ายสุขภาพรวมของประเทศสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภาระรายจ่ายของระบบบริการสุขภาพจะกระทบความยั่งยืนทางการคลังหากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศมีต่ำกว่าร้อยละ ๓.๓
- การบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ จะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า มีการเกี่ยงภาระในการจ่ายค่าชดเชย มีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินที่ยุ่งยากซับซ้อน จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ทำให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคมและสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและลูกจ้างต้องรับภาระมากขึ้น ในขณะที่บริษัทเอกชนซึ่งเป็นผู้เก็บเบี้ยประกันกลับไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย อีกทั้งระบบการบริหารจัดการของบริษัทประกันภัยเอกชนเน้นผลกำไรทางธุรกิจมากกว่าประโยชน์ต่อสังคม
- การชดเชยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้ประสบภัยจากการทำงานตามกองทุนเงินทดแทนของผู้ประกันตน ยังมีความยุ่งยากในการพิสูจน์ว่าเป็นโรคจากการทำงาน
- ความจำเป็นในการปฏิรูประบบบริการสุขภาพร่วมกับการปฏิรูปกองทุนหลักประกันสุขภาพภาครัฐ เพื่อช่วยลดภาระทางการคลังของรัฐ

การอภิบาลระบบสุขภาพและนโยบายสาธารณะ
- นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบงานด้านสุขภาพ เป็นกลไกหลักในการพัฒนานโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐ ตามแนวทางการอภิบาลโดยรัฐ โดยหน่วยงาน องค์กร ภาคีอื่นๆ มีบทบาทเป็นผู้ร่วม
- การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นหน่วยงานประสานและสนับสนุนการดำเนินงาน ตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ด้วยเครื่องมือต่างๆ ได้แก่ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตามแนวทางการอภิบาลระบบโดยเครือข่าย
- ในอนาคตระบบสุขภาพมีแนวโน้มที่ซับซ้อนและสัมพันธ์เชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่น รวมทั้งได้รับอิทธิพลของกลไกตลาดและโลกาภิวัตน์ที่บางนโยบายอาจก่อผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ ซึ่งภาคสาธารณสุขอาจมีอำนาจต่อรองจำกัด จึงจำเป็นที่ต้องเชื่อมโยงการอภิบาลระบบสุขภาพโดยรัฐ โดยเครือข่าย และโดยตลาด บูรณาการการทำงานของส่วนต่างๆในระบบสุขภาพแห่งชาติให้หนุนเสริมการทำงานซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการมีสุขภาพดีถ้วนหน้าในทิศทางสร้างนำซ่อม
- ให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจและทรัพยากรให้ชุมชนท้องถิ่น ทำหน้าที่อภิบาลระบบสุขภาพ พัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ และจัดการงานด้านสุขภาพด้วยตนเองได้มากขึ้น

จากบริบทและสถานการณ์แนวโน้มข้างต้น ประกอบกับตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๖ ต่อเนื่องถึงปี ๒๕๕๗ ประเทศไทยเกิดวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากความฉ้อฉล และความล้มเหลวในการบริหารประเทศอย่างรุนแรง ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นการเมืองการปกครองตามระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เกิดความแตกแยกทางความคิดของคนในชาติ การสื่อสารสมัยใหม่จะทำให้ผู้คนเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารเท่าเทียมกันมากขึ้น ทำให้สังคมโลกเชื่อมโยงกัน

ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงเรียกร้องให้ปฏิรูประบบและโครงสร้างต่างๆ ของประเทศ เพื่อแก้วิกฤตินี้โดยเร็ว ระบบสุขภาพ ไม่ได้เป็นระบบที่แยกอยู่อย่างโดดๆ เมื่อบริบทสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นการสมควรที่จะได้ทบทวน เตรียมความพร้อม และเตรียมการปฏิรูประบบสุขภาพให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปฏิรูประบบสุขภาพ ปฏิรูปประเทศไทย (ตอนที่ ๒): พัฒนาการปฏิรูประบบสุขภาพ

๒๗ มีนาคม ๒๕๕๗

ถ้าการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ไม่ถูกเลื่อนออกไป วันนี้เราคงได้ร่วมกันพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่อง “การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” ที่จะนำเสนอในเวทีวันนี้แล้ว

หลายคนอาจถามว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างไร ทั้งๆ ที่ว่าไปแล้วการปฏิรูประบบสุขภาพประเทศไทยถือว่ามีความก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะการมีรูปธรรมคือ การประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่เป็นเครื่องมือปฏิรูประบบสุขภาพโดยเน้นการมีส่วนร่วมอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่

ผมขอยกคำพูดของ “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่มักย้ำบ่อยครั้งว่า “ต้องคืนสุขภาพไปให้ทุกคนและชุมชน สุขภาพดีจะเกิดได้ต้องให้ความสำคัญกับชุมชน ไม่ใช่ไปรอมติคณะรัฐมนตรี กฎหมายหรือกระทรวงต่างๆ เพราะชุมชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการดำรงชีวิตที่ดี สุขภาพอยู่ที่เรา อยู่ที่วิถีชีวิต อะไรที่มาทำลายต้องมีกระบวนการทำให้รู้เท่าทันและพัฒนานโยบายสาธารณะแค่นั้นเอง

เพราะที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามักพบปัญหาว่า ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ยังติดกรอบคิดว่า “สุขภาพเป็นเรื่องของมดหมอหยูกยา” ถนนทุกสายจึงพุ่งตรงไปที่กระทรวงสาธารณสุข โดยฝากความหวังไว้กับการบริหารจัดการของที่นั่น

หากเราวิเคราะห์สถานการณ์ในวันนี้ จะพบว่ามีสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชนที่มีแนวโน้มซับซ้อน รุนแรง ควบคุมยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้สูงอายุ การเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น การเคลื่อนย้ายของประชากรข้ามชาติข้ามพรมแดน การเกิดโรคอุบัติใหม่ในพืชและสัตว์ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน รวมถึงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายการพัฒนาของรัฐ

ฉะนั้น คำว่า “สุขภาพ” จึงถูกขยายความหมายไปอย่างกว้างขวางว่าเป็น “ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล” ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับปัจจัยกำหนดสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

หากมองย้อนกลับไปในระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ในปี ๒๕๒๐ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่งเมื่อประเทศไทยรับแนวคิด "การสาธารณสุขมูลฐาน" ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุข มาดำเนินการและขยายผลสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ จากเดิมที่มีการทุ่มงบประมาณเพื่อมุ่งพัฒนาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เป็นการที่มุ่งขยายโรงพยาบาลชุมชนและพัฒนาสถานีอนามัยแทน

พัฒนาการด้านปฏิรูประบบสุขภาพในประเทศไทยยังดำเนินการมาเป็นระยะ ถือเป็นการวางรากฐานระบบสุขภาพในปัจจุบัน

หลังเหตุการณ์การเมืองปี ๒๕๓๕ มีการออกกฎหมายจัดตั้ง "สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข" หรือ สวรส. เพื่อเป็นหน่วยงานสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบสาธารณสุข ซึ่งได้ผลิตงานชิ้นสำคัญๆ ที่เป็นประโยชน์กับการปฏิรูประบบสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทบทวนย้อนคิดถึงปัญหาของระบบสุขภาพที่ประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญร่วมกัน

ปี ๒๕๔๐ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน รับรองสิทธิของประชาชนและชุมชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในมิติต่างๆ จนทำให้ในปี ๒๕๔๓ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำรายงานระบบสุขภาพประชาชาติขึ้นมา โดยมีข้อเสนอสำคัญ คือ การปฏิรูประบบสุขภาพที่มีทิศทาง “สร้างนำซ่อม” เสนอแก่วุฒิสภา

และในปีเดียวกันนั้นเองก็มีการออก "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ" กำหนดให้ "คณะกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ" หรือ คปรส. ทำหน้าที่ผลักดันให้มีการปฏิรูประบบสุขภาพและจัดทำร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดระบบโครงสร้าง กลไก กติกา และเงื่อนไขของระบบสุขภาพที่สมบูรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน ๓ ปี ต่อมาขยายเป็นไม่เกิน ๕ ปี และขยายต่อจนกว่าการจัดทำ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติจะแล้วเสร็จ โดยมี "สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ" หรือ สปรส. ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ

ปี ๒๕๔๔ มีการออกกฎหมายตั้ง "กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ" นับเป็นการเปิดศักราชการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมทำงานสร้างเสริมสุขภาพในมิติกาย ใจ สังคม และปัญญา ให้กว้างขวางขึ้น

ปี ๒๕๔๕ ออก "กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" จัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปรับระบบการเงินการคลังเพื่อการจัดบริการสาธารณสุขใหม่

ปี ๒๕๕๐ ออกกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ ให้ความหมาย “สุขภาพ” ว่าหมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย จิต ปัญญาและสังคม และ “ระบบสุขภาพ” หมายถึง ระบบความสัมพันธ์ทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ กำหนดให้มี "คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ" หรือ คสช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบเน้นการมีส่วนร่วม ด้วยเครื่องมือต่างๆ ได้แก่ สมัชชาสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ การจัดทำธรรมนูญสุขภาพ เป็นต้น และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานต่าง ๆ

ปี ๒๕๕๑ กระทรวงสาธารณสุขทดลองถ่ายโอนสถานีอนามัยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒๘ แห่ง มีการออกกฎหมายจัดตั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ และออกกฎหมายสุขภาพจิตแห่งชาติ อีกทั้งยังมีการริเริ่มจัด “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” เป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม

ปี ๒๕๕๒ เกิด “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อให้ทุกภาคส่วนใช้เป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐ และมีการขยายผลจัดทำเป็นธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ (อำเภอและตำบล) ทั่วประเทศประมาณ ๑๐๐ แห่ง

นอกจากนั้นแล้วยังมีการออกหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพใช้เป็นครั้งแรก และมีการสนับสนุนให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพทั้งระดับนโยบาย แผนพัฒนา โครงการ และระดับชุมชนไปแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เรื่อง

ปี ๒๕๕๖ กระทรวงสาธารณสุขปรับบทบาทหน้าที่และโครงสร้างภายใน เน้นการสร้างเอกภาพการทำงานด้านนโยบายสาธารณสุขของประเทศ ในฐานะเป็นกลไกหลักของรัฐบาล และมีการจัดเขตบริการสาธารณสุข เน้นมีการใช้ทรัพยากรร่วมกันของสถานพยาบาลต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่เดียวกัน

เหล่านี้คือกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ ถือได้ว่าเป็นการขยายกรอบคิดเรื่องสุขภาพจากที่เน้นความเจ็บป่วยของแต่ละบุคคลไปสู่สุขภาวะ ที่กินความกว้างไปถึงมิติทางสังคม วัฒนธรรม และปัญญา จากความคิดที่เจ็บป่วยแล้วค่อยไปหาหมอรักษาไปสู่ความคิด “สร้างนำซ่อม” ที่ย้ายหัวใจของสุขภาพไปไว้ที่การสร้างเสริมสุขภาพและการดำเนินการต่างๆ ที่กว้างกว่าการดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุข

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า ๒๐ กว่าปีของการปฏิรูประบบสุขภาพก็ยังมีบางด้านที่ยังไปไม่ถึงเป้าหมาย อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนั้นความท้าทายหนึ่งของการปฏิรูประบบสุขภาพวันนี้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ “ชุมชนท้องถิ่น” สามารถจัดการตนเองในด้านสุขภาพได้มากขึ้น

โดยเฉพาะการนำกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชนอยู่แล้วเข้ามาเป็นเครื่องมือในการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งนี้ เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชน ถือได้ว่าเป็นการลดบทบาทของรัฐในการจัดการด้านสุขภาพ และทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการตนเองอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

คงอีกไม่นานเกินรอที่วันเวลาและสถานที่การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ จะถูกกำหนดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อนั้นผองเพื่อนภาคีในระบบสุขภาพทุกภาคส่วนคงได้มาร่วมกันพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง “การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” กันอย่างสมานฉันท์ในระยะเวลาอันใกล้นี้

วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

“หมอแสงเดือน” เพื่อนแท้ของคนยากจากลุ่มน้ำจัน

๒๔ มีนาคม ๒๕๕๗

แม้เข็มตกพื้น ณ เวลานี้ ทุกคนในห้องประชุมที่มาอยู่รวมกันก็จักได้ยิน ความเงียบมาพร้อมกับข่าวสารที่เดินมาถึงยามตะวันใกล้ตกดินอย่างกะทันหัน และสร้างความตกใจมิใช่น้อย เนื่องจากอีก ๒ วันเท่านั้นก็จะถึงวันจัดงานแล้ว

"ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) มีความกังวลเรื่องความปลอดภัย จึงไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๘ มีนาคม ๒๕๕๗ สถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) จึงจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมออกไปก่อน สำหรับวันเวลาและสถานที่จัดจะแจ้งให้ทราบภายหลัง”

คำถามที่ปราศจากคำตอบดังก้องในใจ “เหตุใดทาง UNCC จึงไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ และบอกยกเลิกจัดงานกระชั้นชิดเช่นนี้”

ข่าวคราวเดินทางมาถึงพร้อม ๆ กับที่องค์ปาฐกถาพิเศษท่านหนึ่งก็เดินทางมาถึงตัวอำเภอแม่สอดแล้ว กับการเดินทางกว่า ๒๕๔ กิโลเมตร ร่วม ๖ ชั่วโมงกว่า ๆ จากหมู่บ้านหม่องกั๊วะ ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ที่ว่ากันว่าเป็นเสมือนเมืองหลวงของหมู่บ้านกะเหรี่ยงในแถบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฟากตะวันออก

พวกเรามองหน้ากันและใครสักคนในที่นี้ก็ต้องทำหน้าที่แจ้งข่าวนี้ให้ “หมอแสงเดือน” หรือ “พะโฉะ สิรินิพนธ์” ทราบ เพราะในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๗ จะเป็นครั้งแรกที่ “หมอแสงเดือน” จะต้องขึ้นปาฐกถาต่อหน้าสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกว่า ๒,๐๐๐ คน ในช่วงหนึ่งของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ นี้

๑๒ ชั่วโมงกับการเดินทางไป - กลับของเธอที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงกะทันหันเช่นนี้ ทำให้ผมอดคิดต่อไม่ได้ว่า แล้วคนไข้ที่เจ็บป่วยและจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ก็ยังอยู่ห่างจากหมู่บ้านออกไปกว่า ๘๖ กิโลเมตร นั้นแปลได้ว่า “บ่อยครั้งกว่าที่ผู้ป่วยจะถึงมือหมอ ก็อาจสายเกินแก้เสียแล้ว”

อีกไม่นานวสันตฤดูจะเดินทางมาถึง บางปีกินเวลานานกว่า ๖ เดือน สายฝนที่ตกมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทำให้เส้นทางสายหลักที่เข้าสู่หมู่บ้านซึ่งแสนทุรกันดารอยู่แล้ว ก็จะยิ่งถูกตัดขาดจากโลกภายนอกมากยิ่งขึ้น และนั่นย่อมหมายถึงการเดินทางไปรักษาตัวในโรงพยาบาลประจำอำเภอก็จะใช้เวลาทบทวีคูณ

นี้เองคือที่มาของ “หมอแสงเดือน” ผู้หญิงกะเหรี่ยงวัยกลางคน ผู้ทำหน้าที่ปิดทองหลังพระต่อการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย

ผมนั่งอ่านปาฐกถาของ “พะโฉะ สิรินิพนธ์” หรือ “หมอแสงเดือน” ที่ทีมงานของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เรียบเรียงจากการถ่ายทอดโดยตรงจากปากของ “หมอแสงเดือน” ขึ้นมาในวันที่เดินทางไปพบเธอที่หมู่บ้านและเชื้อเชิญมาเป็นองค์ปาฐกในครั้งนี้ น้ำตาก็พลันซึมไม่รู้ตัวและพระราชดำรัสของ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ก็แทรกมากลางหว่างใจที่ว่า “ถ้าหากมีแต่คนปิดทองหน้าพระ องค์พระก็จะไม่งดงามสมบูรณ์ จึงต้องมีคนที่ปิดทองหลังพระ เพื่อให้องค์พระนั้นมีความสมบูรณ์สวยงาม เปรียบเช่นการทำความดี ถ้าหากมีแต่คนทำดีเพื่อเอาหน้า ไม่มีใครทำดีเพื่อความดีอย่างแท้จริง ประเทศชาติสังคมก็จะไปไม่รอด”

และนี่คือปาฐกถาอันทรงคุณค่าฉบับนั้น ฉบับที่ไม่รู้ว่าจะถูกอ่านขึ้น ณ เวลาใด

“ปัจจุบันดิฉันอายุ ๕๕ ปี มาจากชุมชนบ้านมอทะ หมู่ ๗ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก แต่ชาวบ้านจะเรียก “หมอแสงเดือน” จากชื่อที่ได้ใช้สมัยอยู่กับคณะปฏิวัติ

ในครอบครัวมีพี่น้องทั้งหมด ๔ คน ครอบครัวเป็นคนปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยง พอจำความได้ว่าอาศัยอยู่ในบ้านกระท่อมไม้ไผ่ นอนด้วยกันพี่น้อง ๔ คน นอนใกล้ชิดกันยิ่งอบอุ่น กลางวันตามพ่อแม่ไปไร่ ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ การทำมาหากิน มีความสุขดี

พออายุได้ ๑๒ ปี พ่อบอกว่าต้องย้ายบ้าน เพราะหมู่บ้านเราจะมีทหารมายิงถล่มแล้ว พี่น้องทุกคนเตรียมตัวหนี แต่ตัวเองไม่อยากไป กลางคืนยังอยากนอนกับพี่น้อง แต่ทุกคนอพยพในคืนนั้น ตัวเองก้าวลงบันไดเป็นคนสุดท้าย มองกลับมาที่บ้านตัวเอง นึกในใจ ทำไมเราต้องหนี และเราจะได้กลับมาอยู่บ้านของเราอีกหรือเปล่า มองไปอีกที เขาไปกันไกลแล้ว ก็เลยต้องทิ้งบ้าน เข้าไปอยู่ในป่าลึกร่วมกับคณะปฏิวัติ ซึ่งปลอดภัยกว่า

การใช้ชีวิตอยู่กับคณะปฏิวัติ เขาสอนให้เราช่วยเหลือกัน ไม่เอาเปรียบกัน ไม่เห็นแก่ตัว ต้องช่วยเหลือประชาชนตลอด พออายุได้ ๑๕ ปี ก็เริ่มเห็นคนเจ็บคนป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ เลยขอไปฝึกเรื่องการรักษาคนกับคณะปฏิวัติ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ ได้เรียนรู้เรื่องการฉีดน้ำเกลือ การทำแผล การนวด การฝังเข็ม ได้ฝึก ได้ทำจริงทำให้คล่องเหมือนหมอ

ต่อมาฐานที่มั่นของเราถูกย้ายมาอยู่แม่กลองคี อำเภออุ้มผาง และสุดท้ายต้องไปมอบตัวให้กับทางรัฐบาล ไปกันทั้งหมู่บ้าน แต่เขาบอกเราว่า ให้มอบแต่ตัว แต่อย่ามอบใจ คือใจที่ช่วยเหลือประชาชน ใจที่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ต้องมอบให้เขา ให้เก็บที่ตัวเรา

ตอนนั้นอายุประมาณ ๒๖ ปี พอมอบตัวเสร็จก็ย้ายมาอยู่ที่บ้านมอทะ แต่ก็ทำหน้าที่รักษาคนเหมือนเดิม และหาความรู้ที่เป็นสมุนไพรปกาเกอะญอควบคู่ไปกับความรู้ที่ได้จากคณะปฏิวัติ รวมทั้งเรียนรู้เรื่องการทำคลอดจากหมอตำแยในหมู่บ้านจนสามารถทำคลอดได้ คนก็มาหาตลอด จนบางทีเขาเรียกเราว่า “หมอปฏิวัติ”

จนอายุ ๓๐ ปี ก็แต่งงาน เพราะถ้าแก่กว่านี้คงหาผัวไม่ได้แล้ว ไม่มีใครเอาแล้ว ต้องแต่งงาน พอแต่งงานตอนแรกลำบากเพราะต้องทิ้งครอบครัว เพื่อดูแลคนป่วย ครอบครัวตอนแรกไม่เข้าใจ ก็เลยบอกพ่อของลูกว่า ถ้าเขารักษาตัวเองได้ เขาคงไม่มาหา ไม่มาเรียกเราหรอก ฉะนั้นเราต้องช่วยรักษาเขา หลังๆมาเขาก็เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เขาเห็นใจเราบ้าง โกรธเราบ้าง แต่ก็อยู่ด้วยกันจนมีลูกหลายคน

มีคนถามว่า ทำไมไม่เก็บเงินคนที่มารักษา ก็ไม่รู้ไม่กล้าเก็บเงิน เพราะต้องช่วยเหลือกัน ต้องอยู่ร่วมกัน การดูแลคนป่วยก็ลำบาก ต้องคอยเลี้ยงข้าว เตรียมน้ำให้เขาเช็ดตัว จริงๆ มีหมอปฏิวัติหลายคน ส่วนใหญ่หมู่บ้านละ ๑ คน แต่เขาก็มาหาเรา คนในหมู่บ้านก็มี คนหมู่บ้านอื่นก็มี ตอนนี้ที่หมู่บ้านมีสถานีอนามัย แต่คนก็ยังมาหา เขาบอกว่า เขาเชื่อใจ ไว้ใจ เขามาหาเราแล้วเขาหายป่วย เขามาด้วยใจก็เลยดูแลเขาด้วยใจ เห็นเขาหายป่วยเราก็หายเหนื่อย

ปัจจุบันก็ยังรักษาคนอยู่เรื่อยๆ เราคิดว่าเราไม่ได้ทำผิด เราทำถูกต้องตามหลักของมนุษย์ และตอนนี้ก็เป็น อสม. ด้วย ก็ถือว่าช่วยแบ่งเบาภาระของหน่วยงานราชการในด้านการรักษาคนเจ็บป่วย ถึงแม้บางทีเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจ ก็ต้องอดทนทำงานไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ไม่มีกะกลางวันกลางคืน ถ้าคนมาเรียก คนมาหาก็ต้องทำ

บางทีถ้าเขาเรียกไม่ได้ เขาก็ด่าเรา บางครั้งเขาก็ชมเรา เดือนหนึ่งเฉลี่ยทำคลอดประมาณ ๓-๔ คน บางทีต้องนั่งรถมอเตอร์ไซด์ไปทำคลอดที่หมู่บ้านอื่นก็ต้องไป

โรคส่วนใหญ่คือ มาลาเรีย ไข้หวัดใหญ่ ท้องร่วง โรคบางโรคต้องใช้ยาปฏิชีวนะ โรคบางโรคต้องใช้ยาสมุนไพร คนบางคนรักษาด้วยยาปฏิชีวนะได้ คนบางคนต้องรักษาด้วยสมุนไพรเขาถึงจะหายจากการเจ็บป่วย โรคไม่เหมือนกัน คนไม่เหมือนกัน ต้องรู้จักทั้งโรคทั้งคน

ปัจจุบันได้มีมูลนิธิสืบ นาคเสถียร เข้ามาจัดตั้งเป็นเครือข่ายหมอปฏิวัติ และได้ประสานเรื่องยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือต่างๆ ให้ คนจะมาขอยาทุกวัน บางครั้งมีหมอจากโรงพยาบาลมาตรวจแล้วบอกว่า ยาที่นี่เยอะเกินไป เขาก็เอากลับไปใช้ที่โรงพยาบาลบ้าง ก็บอกว่าถ้าเป็นประโยชน์กับคนอื่นก็เอาไปใช้ได้

เพราะว่าโรงพยาบาลเองก็ไม่ได้รักษาคนไข้ที่โรงพยาบาลอย่างเดียว แต่ออกไปรักษาคนข้างนอกด้วย เพราะบางคน บางชุมชนไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้ เขาจึงมีมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผาง เพื่อทำหน้าที่ระดมทุนในการช่วยเหลือผู้อยู่ห่างไกลไม่สามารถมารักษาความเจ็บป่วยที่โรงพยาบาลได้ การที่เขาเอายาจากที่มีคนมาบริจาคให้เราไปรักษาคนต่อ มันก็คือจุดมุ่งหมายเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือประชาชน

การที่มีเครือข่ายหมอปฏิวัติขึ้นมานั้น เพราะว่าในแต่ละชุมชนมีหมอที่ได้เรียนรู้มาจากคณะปฏิวัติอยู่ และการรักษาคนของเรานั้น เกี่ยวข้องกับเรื่องสมุนไพร สมุนไพรก็เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ เครือข่ายของเราก็เลยต้องดูแลเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนด้วย ไม่มีป่าก็ไม่มีสมุนไพร ไม่มีน้ำสมุนไพรก็ไม่รู้จะเอาน้ำที่ไหนมาให้คนป่วยเช็ดตัว ก็ต้องดูแลทั้งคนและทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไป และตอนนี้ได้เริ่มฝึกคนคนรุ่นใหม่ในชุมชนมาทดแทน เช่นตอนนี้ลูกสาวก็จัดยาเป็นแล้ว ฉีดยาเป็นแล้ว จับชีพจรเป็นแล้ว

ปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องที่เก็บยา เพราะอยากได้ที่เก็บยาที่ถูกหลัก เก็บเป็นหมวดเป็นหมู่ สะอาดปลอดภัย แต่คิดว่าเป็นสิ่งที่ยังทำเองไม่ได้ตอนนี้ หากได้รับความร่วมมือผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะเป็นการเติมเต็มในสิ่งที่เรายังขาดอยู่

ก็อยากฝากความหวังต่อการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยเรา คือ อยากให้มีความเข้าใจกัน ไม่ว่าคนในเมืองกับคนในเมือง และคนในเมืองกับคนในป่า ไม่อยากให้ทะเลาะกัน ไม่จับผิดกันและกัน รับฟังกัน พูดคุยกัน อยากให้มีการแบ่งปันกัน ถ้าพี่ล้ม น้องก็ต้องช่วยพยุงให้ลุกขึ้น ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาเปรียบประชาชน ไม่เอาเปรียบประเทศชาติ ให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน

เช่นเรื่อง การดูแลรักษาสุขภาพ ที่จริงอยากให้มีการส่งเสริมให้ท้องถิ่น ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสุขภาพของคนในชุมชนได้ เช่น อยากให้คนที่อยู่ในป่าได้สามารถมีสิทธิมีโอกาส มีทางเลือกในการได้รับการรักษาสุขภาพที่มีคุณภาพได้ โดยเลือกได้ว่าจะรักษาความเจ็บป่วยของตนเองที่ไหน ถ้าไปโรงพยาบาลก็จะได้รับยาและการรักษาที่มีคุณภาพ ถ้าจะรักษาในชุมชนก็มีผู้รู้ในชุมชนที่มีภูมิปัญญาเกี่ยวกับหมอพื้นบ้าน ใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณถูกหลักอนามัยและวัฒนธรรมรักษาอาการเจ็บป่วยได้ และได้รับการยอมรับจากทางการด้วย ขอเป็นให้กำลังใจให้ทุกคนในการทำสิ่งที่ดีเพื่อประชาชน”

ปาฐกถาฉบับสั้นๆ แต่บ่งบอกรอยทางของประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า ๓๐ ปี ในการลดภาระความเจ็บป่วยของคนชายขอบ-ชายแดนในสังคมไทย จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม "หมอแสงเดือน" จึงได้รับรางวัล “คนค้นคนอวอร์ด” เมื่อปี ๒๕๕๓

เพราะ ณ ใจกลางป่าลึก ที่นี่คือที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยงหลายร้อยครอบครัวที่อาศัยอยู่มาหลายชั่วอายุคน ความหวังอันเลือนรางในการรักษาความเจ็บป่วยได้รับการเยียวยาจาก “หมอแสงเดือน”

ปัจจุบันเธอยังคงยืนหยัดทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องเพื่อต่อลมหายใจให้เพื่อนมนุษย์ที่ยากไร้ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดยา ฝังเข็ม ให้น้ำเกลือ ดูแลสุขภาพ หรือแม้ในยามฉุกเฉินเธอก็สวมวิญญาณแห่งเป็นหมอใหญ่ในการทำคลอดให้กับทารกที่กำลังจะลืมตามาดูโลกในผืนป่าแห่งนี้หลายร้อยคน โดยไม่ได้เรียกร้องค่าใช้จ่าย หรือเรียกร้องความเห็นใจ

แม้อุปกรณ์ที่เธอมีจะน้อยชิ้น และไม่ได้ทันสมัย ครบครันเทียบได้เท่าที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลเล็ก ๆ แต่ก็เพียงพอที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทางกาย และปลอบประโลมความรู้สึกทางจิตใจของชาวบ้านหมู่บ้านหม่องกั๊วะและหมู่บ้านใกล้เคียงได้

อีกทั้งฐานะทางบ้านของเธอก็ไม่แตกต่างจากคนที่เดินทางมารักษา แต่เธอก็ยังเสียสละเวลา และใช้ที่พักอาศัยส่วนตัวเป็นที่เฝ้ารับการบำบัด รักษา ผู้คนที่ทุกข์ยากอย่างไร้ข้อยกเว้น และไม่ผูกติดกับเงื่อนไข และที่สำคัญไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายจากชาวบ้านแต่อย่างใด โดยยาและอุปกรณ์ต่าง ๆ “หมอแสงเดือน” ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และวัดท่าซุง

หลังจาก พ.ศ. ๒๕๒๖ ที่สงครามปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสิ้นสุดลง สหายในเมืองทยอยกลับ แต่ “หมอแสงเดือน” ยังยึดมั่นที่จะช่วยต่อลมหายใจให้ชาวบ้าน ณ ดินแดนไกลปืนเที่ยงแห่งนี้ต่อไปหลักสูตรการรักษาพยาบาลที่ได้รับมาจากสมัยการต่อสู้ยังคงถูกนำมาใช้รักษาชาวบ้านที่นี่อยู่ทุกวี่วัน

แม้การรักษาของ “หมอแสงเดือน” จะเป็นการรักษาตามอัตภาพเท่าที่จะทำได้ และบางครั้งก็ไม่มียารักษา แต่ชาวบ้านก็เชื่อใจ “หมอแสงเดือน” ยิ่งกว่าการเดินทางไปหาหมอที่สถานีอนามัยเสียด้วยซ้ำ และบ่อยครั้ง “หมอแสงเดือน” ต้องพบกับผู้ป่วยที่เกินกำลังในการรักษา เพราะยาและอุปกรณ์ไม่เพียงพอ แต่เธอก็ต้องไปดูแลคนไข้เหล่านั้น เพราะเพียงแค่คนไข้เห็นว่า “หมอแสงเดือน” มาแล้ว จะทำให้คนไข้อุ่นใจและมีกำลังใจที่ดีขึ้น แม้เธอจะทำได้เพียงแค่ดูอาการเฉย ๆ ก็ตาม

ว่าไปแล้วระบบสุขภาพประเทศไทยไม่ใช่เรื่องของคนตัวใหญ่ๆที่อยู่ใจกลางเมืองหลวงเพียงเท่านั้น แต่นี้คือเรื่องราวของผู้หญิงกะเหรี่ยงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่อยู่ริมชายแดนตะวันตกประเทศไทย แต่เธอกำลังทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ เธอกำลังยื้อยุดลมหายใจที่กำลังพรากชีวิตให้มีชีวิตต่อ

“ชีวิตคน รอคอยไม่ได้ การเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดขึ้นตลอด จะป่วยตอนนี้ก็ได้ พรุ่งนี้ก็ได้ แต่การไปทำไร่ หรือไปวัด วันนี้เราไปไม่ได้แต่วันพรุ่งนี้เรายังไปได้ ไปทำบุญที่วัด บุญนี่ยังรอพวกเราอยู่นะ แต่ชีวิตคนนี่ไม่มีการรอคอย วันนี้ก็คือวันนี้ ถ้าช่วยไม่ทัน ชีวิตก็จะเสียหาย”

เสียงของหมอแสงเดือนแว่วเข้ามา พอ ๆ กับบทปาฐกถาที่จะถูกจดจารและจดจำตลอดไป แม้ว่าการจัดงานสมัชชาสุขภาพครั้งที่ ๖ จะยุติลงอย่างกะทันหันโดยปราศจากเหตุผลที่ชัดแจ้งก็ตามที

วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

ต้นไม้ "สมัชชาพิจารณ์" ผลิดอกออกผลเต็มพื้นที่

๒๒ มีนาคม ๒๕๕๗

เกือบสองปีแล้วที่ต้นล่ำซำค่อยๆ เติบโตทีละนิดๆ นับตั้งแต่วันแรกที่ผมและลูกไปซื้อมาปลูกไว้ที่บ้านหลังนี้เพื่อทำให้ลานหน้าบ้านได้ร่มเงา ทุกๆ ครั้งที่ผมกลับบ้านครั้งใดก็อดไม่ได้ที่จะนั่งชื่นชมไม้ต้นนี้ที่กำลังแผ่กิ่งก้านใหญ่โตตามที่ตั้งใจ เป็นความรื่นรมย์ระหว่างทางที่เป็นผลมาจากหยาดเหงื่อแรงกายที่เราเฝ้ารดน้ำพรวนดิน ทะนุถนอมใส่ใจ ประคมประหงม และใส่ปุ๋ยความรักลงไปจนไม้เติบใหญ่ในปัจจุบัน

ไม่ต่างจากต้นไม้ที่ชื่อ “สมัชชาพิจารณ์” ต้นไม้ชื่อยากๆ ที่ผมรู้จักครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๔ คราที่ได้รับการชักชวนจากเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลย ให้ไปช่วยพัฒนาเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ดีขึ้น เพื่อนำเข้าเวทีสมัชชาพิจารณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๘ อุดรธานี

“สมัชชาพิจารณ์” เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะยกระดับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๘ (๑๓) ว่า ให้มีการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้แต่ละเครือข่ายจะใช้เครื่องมือใดๆในการรับฟังความคิดเห็นก็ได้ แต่ขอให้คงไว้ซึ่งหลักการของ "สมัชชาสุขภาพ" เป็นสำคัญ

ณ ที่แห่งนี้ จังหวัดเลยได้นำเครื่องมือ “สมัชชาสุขภาพ” มาปรับเป็น “สมัชชาพิจารณ์” ที่มีกระบวนการเริ่มต้นนับตั้งแต่การเปิดรับประเด็นเชิงนโยบาย การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย การรับฟังความคิดเห็นที่ลงไปถึงเวทีระดับตำบล ตลอดจนการจัดกลุ่มเครือข่ายที่ครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผลจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว "เลยโมเดล” “สมัชชาพิจารณ์" จึงได้ถูกขยายออกไปจนครบทุกจังหวัดในเขตความรับผิดชอบของ สปสช.เขต ๘ อุดรธานี และเครื่องมือดังกล่าวถูกใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

มติ "สมัชชาพิจารณ์" ที่ออกมา ถูกนำเสนอต่อกลไกของ สปสช. ที่มีอยู่ทั้งระดับชาติ ระดับเขต ระดับจังหวัด และระดับตำบล กล่าวได้ว่านี้เป็นจุดแข็งที่สำคัญเพราะมีกลไกรองรับมติที่ออกมาอยู่ทุกระดับในการที่จะนำไปปฏิบัติต่อไป

กว่า ๓ ปีแล้วครับ ที่ไม้ต้นนี้หยั่งรากลงในสังคมไทย แผ่กิ่งก้านสาขาไปในวงกว้าง คนเริ่มต้นปลูกจึงนั่งแย้มยิ้มและคอยเฝ้าดูห่างๆอย่างภาคภูมิใจ ยามต้นไม้ผลิดอกออกผลชูช่อไสวและยังประโยชน์แก่คนรอบข้าง

จากจุดเริ่มต้นที่จังหวัดเลย ต้นไม้ที่ชื่อ “สมัชชาพิจารณ์” ถูกนำไปปลูกในอีก ๖ จังหวัดในภาคอีสานตอนบน ตั้งแต่อุดรธานี นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู หนองคาย และบึงกาฬ ภายใต้ความรับผิดชอบในการรดน้ำพรวนดินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต ๘ อุดรธานี

๑๘ มีนาคม ๒๕๕๗ ผมได้มีโอกาสมาอยู่ในเวที “สมัชชาพิจารณ์” ประจำปี ๒๕๕๗ ณ โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี

ผมนั่งอ่านเอกสาร “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” อย่างละเอียด ซึ่งอัดแน่นไปด้วยสาระของข้อเสนอต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นผลมาจากการประมวลเนื้อหาที่ลงไปจัดเวทีรับฟังความคิดทั้งในระดับอำเภอและระดับจังหวัด ใน ๗ เรื่อง ได้แก่

๑) ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต
๒) มาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ
๓) การบริหารจัดการสำนักงาน
๔) การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
๕) การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่
๖) การพัฒนาระบบการมีส่วนร่วมของประชาชน
๗) การคุ้มครองสิทธิผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

นอกจากนั้นแล้วความน่าสนใจยิ่งนักของเวทีในปีนี้ คือ พัฒนาการของต้นไม้ “สมัชชาพิจารณ์” ที่ปีก่อนๆ ยังมิปรากฏ ในอีก ๒ เรื่องสำคัญ

ประการแรก การให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาร่วมที่ทุกเขตของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศต้องการรับรู้เพียงเท่านั้น ทั้งนี้มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อประเด็นปัญหาเฉพาะของพื้นที่ อีก ๔ เรื่อง คือ
๑) มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งตับที่มีสาเหตุจากพยาธิใบไม้ในตับ
๒) คนไร้รัฐ : คนไทยที่ไม่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ
๓) เด็กและเยาวชน
๔) อุบัติเหตุถนนลื่นจากน้ำยายางพาราและปัญหาผลกระทบจากการประกอบอาชีพเกษตร เช่น อ้อย เป็นต้น

การดำเนินการเช่นนี้นับเป็นตัวอย่างของทิศทาง “การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” จากการเริ่มต้นที่ระดับพื้นที่ ด้วยพลังความร่วมมือและมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ เพื่อหวังผลต่อสุขภาวะของคนในพื้นที่นั่นเอง เป็นการดำเนินการตามแนวคิด “พื้นที่จัดการตนเอง” หรือ “พื้นที่จัดการกันเอง” จึงนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งนัก

ประการที่สอง ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ออกมา มีการปรับทิศทางไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด จากในอดีตเมื่อเริ่มต้นข้อเสนอส่วนใหญ่จะเรียกร้องให้หน่วยงาน องค์กรอื่น ซึ่งรวมถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นหน่วยงานส่วนกลาง “ทำโน่นทำนี่” แต่ข้อเสนอที่ออกมาในปีนี้ เป็นข้อเสนอต่อองค์กร หน่วยงานในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

ทิศทางเหล่านี้นับเป็นพัฒนาการของกระบวนการพัฒนา “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” ที่ยึดหลักการสำคัญว่า “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมิน และร่วมรับประโยชน์” นั่นเอง

นับเป็นความโชคดีที่ผมได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “ร่วมปฎิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสุขภาวะคนอีสานตอนบน” ในช่วงสายของวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๗ ร่วมกับผู้ร่วมเสวนา อีก ๖ ท่าน ประกอบด้วย (๑) พระมหานิรันดร์ พระคุณเจ้าจากวัดโพธิ์ชัยศรี จังหวัดบึงกาฬ (๒) นายพีธากร ศรีบุตรวงศ์ ผู้แทนเยาวชนจากจังหวัดอุดรธานี (๓) นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (๔) นายมานพ เชื้อบัณฑิต จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู (๕) นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ผู้อำนวยการเขตบริการสุขภาพเขต ๘ และ (๖) นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๘ อุดรธานี

สิ่งที่ผู้ร่วมเวทีเสวนาได้ร่วมแสดงทัศนะ ผมได้ประมวลสรุปต่อที่ประชุมไว้ ๗ ประการ คือ

๑) ทิศทางการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในภาพรวม อยากเห็นใน ๔ เรื่อง คือ (๑) การพัฒนาเขตบริการสุขภาพ (๒) ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหนึ่งเดียว (๓) การใช้ระบบ ICT และ (๔) การจัดให้มีแพทย์ประจำครอบครัว
๒) ทำอย่างไรระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมุ่งเน้นการ “สร้างนำซ่อม” มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการ “รวมพลัง” ของทุกภาคส่วน และยึด “ชุมชนท้องถิ่น” เป็นฐานการพัฒนา มีระบบการสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้มีสุขภาพดี
๓) การสร้างความสำนึกใน “หน้าที่ทางสุขภาพ” ควบคู่ไปกับ “สิทธิทางสุขภาพ” ไม่ใช่เป็นผู้ที่เรียกร้องสิทธิเพียงประการเดียว จำเป็นต้องมีหน้าที่ในการเข้ามาร่วมในการพัฒนางานด้านสุขภาพควบคู่ไปด้วย
๔) เร่งรัดการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้คน ให้เข้าใจในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาให้ขยายวงให้มากขึ้น
๕) การเพิ่มช่องทางการเข้ามาส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของผู้รับบริการให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
๖) การยกระดับเรื่องราวดี ๆ ในพื้นที่ ทั้งกระบวนการ “สมัชชาพิจารณ์” “ธรรมนูญสุขภาพ” และ “หลักสูตรหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่มีแล้วในเขต ๘ อุดรธานี ให้มีคุณภาพและขยายครอบคลุมพื้นที่ในเขต ๘ อุดรธานี ต่อไปโดยเร็ว
๗) พัฒนากองทุนทางสุขภาพที่มีอยู่หลากหลายในพื้นที่เป็นระบบที่เชื่อมโยงกัน และมีการทำงานที่บูรณาการยึดความมีสุขภาวะของประชาชนเป็นเป้าหมาย

นอกเหนือจากสาระ ๗ ประการที่ผู้ร่วมเสวนาได้เสนอมุมมองไว้ต่อเวทีแล้ว ผมยังได้สรุปทิ้งท้ายไว้อีก ๓ ประการคือ

ประการแรก สุขภาพเป็นของทุกคน ไม่จำกัดอยู่ที่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง ดังสโลแกนที่ว่า “All for Health, Health for All”
ประการที่สอง “การมีส่วนร่วม” เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ประการที่สาม “อย่าปล่อยให้มติลอยนวล” ทุกฝ่ายต้องนำมติที่ออกมาไปปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่อย่างจริงจัง

เมื่อทำหน้าที่ดำเนินการเสวนาเสร็จ ผมมีภารกิจที่จังหวัดขอนแก่นต่อ จึงไม่ได้อยู่ร่วมชื่นชมยินดี เมื่อต้นไม้ “สมัชชาพิจารณ์” ได้ผลิดอกออกผลกลายเป็น “ข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต ๘ อุดรธานี กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเขต ๘ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพตำบล พัฒนาตำบลจัดการสุขภาพต้นแบบ” ในตำบลที่มีการพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่ที่เข้มแข็ง ซึ่งกระจายอยู่ในจังหวัดของเขต ๘ อุดรธานี ดังนี้

จังหวัดเลย จำนวน ๑๔ ตำบล จังหวัดอุดรธานี จำนวน ๒๐ ตำบล จังหวัดนครพนม จำนวน ๑๒ ตำบล จังหวัดสกลนคร จำนวน๔๐ ตำบล จังหวัดหนองบัวลำภู จำนวน ๖ ตำบล จังหวัดหนองคาย จำนวน ๙ ตำบล และจังหวัดบึงกาฬ จำนวน ๘ ตำบล รวมทั้งหมด ๑๐๙ ตำบล

อีกไม่นานครับ “ธรรมนูญสุขภาพ” ของ ๑๐๙ ตำบล จะสำเร็จตามเจตนารมณ์ ซึ่งนับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถือเป็นการบูรณาการงานที่ยึดพื้นที่เป็นฐาน โดยเฉพาะงานกองทุน สปสช. กับงานธรรมนูญสุขภาพ และการพัฒนาสุขภาวะของคนตามบทบาทหน้าที่ของ อปท. แต่ละแห่ง

สอดคล้องกับที่ นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ได้กล่าวชื่นชมคนปลูกต้นไม้ “สมัชชาพิจารณ์” ที่ร่วมพลังกันรดน้ำพรวนดินจนไม้ต้นนี้เติบใหญ่และขยายหน่ออ่อนไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ต่างจากความรู้สึกชื่นชมในใจผมเช่นเดียวกัน

เหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือ ดอกผลของต้นไม้ที่ชื่อ “สมัชชาพิจารณ์” ที่ได้เบ่งบานไปทั่วพื้นที่ของ ๗ จังหวัดของภาคอีสานตอนบน ที่พร้อมจะผลิดอกออกผลในทุกฤดูกาลให้คนในพื้นที่ได้เก็บกินและนำมาซึ่งความอยู่ดีมีแฮงของคนในพื้นที่ต่อไป

วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

ธรรมนูญชุมชนบนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา : เป้าหมายมีไว้พุ่งชน

๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗

ตะวันกำลังใกล้ลับฟ้าแล้วพร้อม ๆ กับสายฝนที่เพิ่งหยุดโปรยสาย เมื่อผมเดินทางมาถึงวัดท้ายยอ ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ภาพเบื้องหน้าบริเวณศาลาริมเลสาบ คือ ไซนั่งที่วางระเกะระกะสุดลูกหูลูกตา อาจเป็นเพราะการทำงานทำให้ผมลงมาที่สงขลาบ่อยครั้ง และได้สดับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างชาวประมงที่ทำมาหากินอยู่กับทะเลสาบสงขลากับนโยบายรัฐ ที่มองว่า “ไซนั่ง” คือ เครื่องมือประมงที่ขวางกั้นการขึ้นลงของน้ำ ทำให้น้ำถ่ายเทไม่สะดวก อีกทั้งยังปิดทางเดินของสัตว์น้ำเข้าสู่ทะเลสาบตอนกลาง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนสัตว์น้ำลดลง

คำถามสำคัญที่อยู่ในใจผมเสมอมา คือ ความสมดุลของชุมชนต่อการจัดการทรัพยากรรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ควรดำเนินไปอย่างไร ที่คนก็มีสุขและนโยบายรัฐก็ไม่กระทบสิทธิชุมชน

๑๕ มีนาคม ๒๕๕๗ ผมได้รับเกียรติจากทาง "วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ" ผ่านโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดการองค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา)” ให้ไปเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” ให้กับแกนนำใน ๗ พื้นที่ ที่มีเป้าหมายการจัดทำ “ธรรมนูญชุมชน” ได้รับฟัง

ต้องไม่ลืมว่าที่จังหวัดสงขลาแห่งนี้ คือ จุดเริ่มต้นการเกิดขึ้นมาของ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้” เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และส่งผลให้เกิดธรรมนูญสุขภาพในพื้นที่อื่นๆ ทั้งระดับอำเภอและตำบลอีกหลายสิบพื้นที่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ธรรมนูญสุขภาพ” จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างสำคัญในการนำไปจัดทำเป็น “ธรรมนูญชุมชน” ในมิติต่าง ๆ ที่หลากหลาย ที่มีเป้าหมายเพื่อความอยู่ดีมีสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในแต่ละชุมชน

การเดินทางมาครั้งนี้ผมจึงอดรู้สึกตื่นเต้นไม่ได้ ที่กำลังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมที่เรียกว่า “ธรรมนูญชุมชน” ขึ้นมา

ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีพื้นที่ประมาณ ๘,๕๖๓ ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ใน ๒ อำเภอ คือ อำเภอชะอวด และอำเภอหัวไทร) จังหวัดพัทลุงทั้งจังหวัด (คือ อำเภอเมือง อำเภอกงหรา อำเภอเขาชัยสน อำเภอตะโหมด อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน อำเภอศรีบรรพต อำเภอป่าบอน อำเภอบางแก้ว อำเภอป่าพะยอม) และจังหวัดสงขลา (ใน ๑๒ อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอหาดใหญ่ อำเภอสะเดา อำเภอรัตภูมิ อำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอควนเนียง อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอนาหม่อม อำเภอบางกล่า อำเภอคลองหอยโข่ง)

เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนั้นการบริหารจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จึงต้องใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการที่มีความสอดคล้องกับบริบทของชุมชนท้องถิ่น

โครงการฯ ที่เชิญผมมาในครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายสำคัญในการทำงาน โดยใช้งานวิจัยชุมชนด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นเครื่องมือนำไปสู่การขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดทางเลือก เพื่อนำไปสู่ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองต่อไป

โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ ๔ ปี มีวัตถุประสงค์สำคัญ ๔ ประการ คือ

ประการที่ ๑ เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

ประการที่ ๒ เพื่อศึกษาการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทางเลือกในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

ประการที่ ๓ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นขับเคลื่อนงานวิจัยชุมชนที่มีการพัฒนาจากประเด็นปัญหาในพื้นที่ และนำงานวิจัยชุมชนมาสนับสนุนกระบวนการชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในการบริหารจัดการทรัพยากร ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

ประการที่ ๔ เพื่อศึกษากระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา นำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะของชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา)

การดำเนินงานในปีนี้เป็นปีที่ ๒ โดยในปีแรกได้มีเป้าหมายอยู่ใน ๗ พื้นที่ และทั้ง ๗ พื้นที่ ต่างมีข้อตกลงร่วมกันว่า รูปธรรมการทำงานที่อยากเห็น นั่นก็คือ “ธรรมนูญชุมชน” ในเรื่องหรือประเด็นที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลในปีที่ผ่านมา ดังนี้

- พื้นที่ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป้าหมายคือ ธรรมนูญชุมชนว่าด้วยการจัดการป่าต้นน้ำ
- พื้นที่ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เป้าหมายคือ ธรรมนูญชุมชนว่าด้วยสิทธิชุมชนเรื่องการจัดการที่ดิน
- พื้นที่ตำบลควนโส อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา เป้าหมายคือ ธรรมนูญชุมชนว่าด้วยการจัดการป่าเสม็ดกับผึ้ง
- พื้นที่ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป้าหมายคือ ธรรมนูญชุมชนว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
- พื้นที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง เป้าหมายคือ ธรรมนูญชุมชนว่าด้วยเรื่องข้าว
- พื้นที่ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง เป้าหมายคือ ธรรมนูญชุมชนว่าด้วยการจัดการป่าต้นน้ำ
- พื้นที่ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป้าหมายคือ ธรรมนูญชุมชนว่าด้วยการบริหารจัดการปูทะเล เพื่อให้เป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมง

จากประสบการณ์การลงไปเรียนรู้จากพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีการจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” จึงถูกประมวลเป็นสาระสำคัญและเนื้อหาที่ผมนำไปใช้แลกเปลี่ยนกับชาวบ้านทั้ง ๗ พื้นที่ ในเวทีครั้งนี้

ประเด็นที่ ๑ ธรรมนูญชุมชน คืออะไร

ไม่น่าเชื่อว่าฐานความคิดเดิมที่เริ่มต้นจากการลงไปเรียนรู้ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้” ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ความหมายของ “ธรรมนูญสุขภาพ” จำกัดอยู่เพียง “ภาพอันพึงประสงค์” ที่คนในชุมชนนั้นอยากเห็น อยากเป็น อยากมีในอนาคตอีก ๕ ปี ๑๐ ปี แต่เมื่อได้ไปพูดคุยกับพื้นที่อื่น ๆ ที่มีการจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพ” ระดับพื้นที่ในระยะต่อมา ปรากฏว่าชุมชนและชาวบ้านมอง “ธรรมนูญสุขภาพ” มากกว่านั้น

บางชุมชนมองเป็นเป้าหมายหรือความฝันร่วม บางชุมชนมองเป็นข้อตกลง กฎ กติกา ร่วมกัน บางชุมชนมองเป็นศีลร่วม

และครั้งล่าสุด ได้มีโอกาสไปคุยกับคนภาคใต้ เขาเรียกธรรมนูญชุมชน ว่าคือ “ชันชี” หรือ “การตกลง หรือสัญญาร่วมกัน”

แม้จะมอง “ธรรมนูญชุมชน” แตกต่างกัน แต่มีจุดที่เหมือนกันก็คือ “สิ่งเหล่านั้นต้องเป็นสิ่งที่คนในชุมชนอยากเห็น อยากเป็น อยากมี ร่วมกัน และเห็นว่าสิ่งนั้นจะนำไปสู่การมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน”

ฉะนั้นหากให้ผมนิยามความหมายของ “ธรรมนูญชุมชน” จึงให้ความหมายไว้ว่าเป็น “เป้าหมาย ความฝัน ศีล ข้อตกลง กฎ กติกา ที่คนในชุมชนอยากเห็น อยากเป็น อยากมี ร่วมกัน อันนำไปสู่การมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี” นั่นเอง

ในเวทีครั้งนี้ ผมเน้นย้ำไว้ว่า “ไม่ว่าเราจะเรียกเครื่องมือนี้ว่าอะไรก็ตาม สาระสำคัญที่สุดคือ ธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชุมชนท้องถิ่น เพราะเครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่มีชีวิตและทรงอำนาจมากกว่าเครื่องมือไหน ๆ กฎหมายฉบับใด ๆ เพราะถูกออกแบบด้วยพ่อแม่พี่น้องลูกเล็กเด็กแดงเจ้าของปัญหา ผ่านการมีเวทีและปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนนำไปสู่การจัดการสิ่งละอันพันละอย่างที่เป็นปัญหาในชุมชนร่วมกัน"

ประเด็นที่ ๒ หลักการสำคัญในการจัดทำธรรมนูญชุมชน

ผมได้นำเสนอหลักการสำคัญ ไว้ ๔ ประการคือ

หนึ่ง : การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทั้งท้องถิ่น (อบต. เทศบาล) ท้องที่ (ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน) ท้องทุ่ง (สมาคม มูลนิธิ เครือข่าย ชมรม กลุ่มคน) และหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ (โรงเรียน วัด รพ.สต. เกษตรตำบล เป็นต้น)

สอง : ยึดโยงกับรากเหง้าและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนในแต่ละพื้นที่

สาม : ความเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ใช่เป็นของใคร หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ทุกคนต้องจำเป็นต้องใช้ธรรมนูญชุมชนเป็นกรอบในการประพฤติปฏิบัติตัวตามเนื้อหาสาระที่เขียนไว้ในธรรมนูญชุมชน
สี่ : พื้นที่จัดการกันเองเป็นหลัก โดยไม่ต้องรอองค์กรภายนอกมาจัดการให้

ประเด็นที่ ๓ เงื่อนไขสำคัญในการขับเคลื่อนธรรมนูญชุมชน

ผมได้ถอดบทเรียนจากการเรียนรู้การขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพ” ในพื้นที่ต่าง ๆ แล้วเห็นว่าเงื่อนไขที่ทำให้ธรรมนูญสุขภาพมีชีวิต หรือเกิดผลลัพธ์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จะประกอบด้วย

หนึ่ง : ต้องกินได้ และเข้าใจง่าย อันหมายถึง เกิดประโยชน์กับคนในชุมชนนั้น ๆ และเมื่ออ่านแล้วเข้าใจทันที ไม่มีศัพท์แสงทางวิชาการที่ต้องตีความกันหลายตลบ

สอง : มาจากคนในพื้นที่ และเปิดกว้างให้ผู้คนในชุมชนได้เข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตาม ร่วมได้ประโยชน์ ฉะนั้นจึงไม่ควรคัดลอกเนื้อหาสาระมาจากธรรมนูญของพื้นที่อื่นมาใช้ และไม่ควรเชื่อความคิดเห็นจากบุคคลภายนอกที่เสนอให้เป็นแบบโน้นแบบนี้

สาม : การรับรู้เป็นเรื่องสำคัญ จึงควรมีการสื่อสารให้คนในพื้นที่รับรู้อย่างทั่วถึง โดยช่องทาง ๆ ที่เหมาะสมกับคนในชุมชน อาทิ แผ่นพับ ป้ายโปสเตอร์ หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน การรณรงค์ในวาระสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น

สี่ : ปรับปรุง ทบทวนและเพิ่มเติมได้ จึงไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องความสมบูรณ์ในเนื้อหามากนัก เพราะเมื่อใช้ธรรมนูญชุมชนไปสักระยะหนึ่ง ก็นำมาพิจารณาว่าจะปรับปรุง หรือทบทวนธรรมนูญในข้อใดก็ได้ หรืออาจจะขอเพิ่มเติมเนื้อหาบางประการลงไปใหม่ก็ได้ โดยยึดหลักการสำคัญ ๔ ประการข้างต้น

ห้า : มีคนเกาะติด โดยคน ๆ นั้น ควรเป็นคนที่มีจิตสำนึก จิตสาธารณะ จิตอาสา และจิตเข้มแข็ง ในการทำงาน

ประเด็นที่ ๔ คุณค่าของธรรมนูญชุมชน มี ๔ ประการ คือ

หนึ่ง เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สอง เป็นเครื่องมือในการยึดโยงให้ผู้คน หน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายต่าง ๆ ในชุมชนให้เข้ามาทำงานด้วยกันภายใต้กรอบทิศทางเดียวกัน

สาม เป็นเครื่องมือในการระดมสรรพกำลังคน กำลังเงินจากแหล่งต่าง ๆ มาพัฒนางานภายใต้กรอบการพัฒนาเดียวกัน นำไปสู่การทำงานที่เสริมกำลังกัน ลดความซ้ำซ้อน เกิดการบูรณาการกันอย่างจริงจัง

สี่ เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความรักสามัคคีของคนในชุมชน

ประเด็นที่ ๕ ขั้นตอนในการขับเคลื่อนธรรมนูญชุมชน

ผมได้นำเสนอขั้นตอนการทำงานไว้ ๓ กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ ๑ เป็นขั้นตอนการจัดทำ “ธรรมนูญชุมชน” หรือเรียกอีกอย่างว่า “ขาขึ้น” ประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ ๑.๑ การวิเคราะห์ข้อมูลที่สอดคล้องกับประเด็นที่จะจัดทำ “ธรรมนูญชุมชน” เช่น ธรรมนูญชุมชนว่าด้วยการจัดการป่าต้นน้ำ ก็จะต้องทำการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับ “ป่าต้นน้ำ” อาทิ รัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย สถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งอาจจะหาได้จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว หรือเกิดจากการจัดหาขึ้นใหม่

ขั้นตอนที่ ๑.๒ การรับฟังความคิดเห็นรายพื้นที่และรายกลุ่มที่สำคัญ โดยคำถามสำคัญที่ควรตั้งเพื่อให้ช่วยกันกำหนด นั่นก็คือ (๑) สิ่งที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี ในอีก ๕ ปี ๑๐ ปี ของประเด็นที่จะจัดทำธรรมนูญชุมชน (๒) สิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน และแนวทางรักษาหรือพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น และ (๓) สิ่งที่ไม่ดีที่มีอยู่ในชุมชน และแนวทางการแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีนั้นให้กลับเป็นสิ่งดี ๆ

ขั้นตอนที่ ๑.๓ ยกร่างธรรมนูญชุมชน โดยการประมวลข้อมูลจากขั้นตอนที่ ๑.๑ และ ๑.๒ มาทำการยกร่างโดยทีมทำงานที่ส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยองค์ประกอบที่สำคัญ ควรมีสัก ๓ ส่วน คือ ส่วนนำ ที่กล่าวถึง ปรัชญา แนวคิดหลัก และความอยากเห็นอยากเป็น อยากมี ที่ได้มาจากการรับฟังความคิดเห็น ส่วนที่ ๒ คือ สาระสำคัญของประเด็น ซึ่งขึ้นอยู่กับประเด็นของธรรมนูญ ชุมชนและข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็น

ขั้นตอนที่ ๑.๔ การรับฟังความคิดเห็นรวม โดยนำร่างธรรมนูญชุมชนไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ โดยต้องให้ครอบคลุมผู้แทนทั้งระดับพื้นที่ และกลุ่มคน หน่วยงานที่มีอยู่ในชุมชน

ขั้นตอนที่ ๑.๕ ปรับปรุงธรรมนูญชุมชน โดยแก้ไขเพิ่มเติมจากข้อมูลที่ได้มาจากขั้นตอนที่ ๔ และถ้าจะให้มีคุณภาพมากขึ้น ควรนำกลับไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ทุกภาคส่วนให้ความเห็นชอบ

ขั้นตอนที่ ๑.๖ ประกาศใช้ธรรมนูญชุมชน โดยผมได้เสนอให้ (๑) เชื่อมโยงกับวันสำคัญของชุมชน หรือของชาติ (๒) จัดให้มี “สัจจะในที่แจ้ง” ซึ่งให้คนในชุมชนเปล่งวาจาออกมาพร้อม ๆ กัน (๓) มีพิธีกรรมที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ เช่น การใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือ การจัดทำธรรมนูญเป็นใบลาน เป็นต้น (๔) มีการจัดทำเป็นเอกสารประจำครอบครัว เพื่อให้ทุกครอบครัวได้ศึกษาเนื้อหาของธรรมนูญ และย้ำเตือนใจว่าเป็นสิ่งที่ตนเองได้กล่าว “สัจจะในที่แจ้งไว้”

กลุ่มที่ ๒ การนำธรรมนูญชุมชนไปปฏิบัติ หรือเรียกอีกอย่างว่า “ขาเคลื่อน” ซึ่งประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ ๒.๑ การจัดทำแผนการขับเคลื่อน โดยระบุว่าจะมีวิธีการขับเคลื่อนอย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ

ขั้นตอนที่ ๒.๒ การติดตามและรายงานผล เพื่อให้เห็นผลและความก้าวหน้าในการนำธรรมนูญชุมชนไปปฏิบัติ

ขั้นตอนที่ ๒.๓ การประเมินผลและทบทวนธรรมนูญชุมชน ซึ่งควรเน้นกระบวนการแบบมีส่วนร่วม

จากประสบการณ์ที่ได้เห็นการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพ” พบว่าบางพื้นที่นำไปจัดทำเป็นข้อบังคับขององค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อการผูกโยงกับงบประมาณประจำปีของท้องถิ่นไปด้วย ซึ่งก็เป็นอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อน

กลุ่มที่ ๓ งานสนับสนุนที่จะทำให้ “ธรรมนูญชุมชน” มีการดำเนินทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยดี ได้แก่ งานสื่อสารสาธารณะ งานจัดการความรู้ และงานบริหารจัดการ ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ

ทุกจังหวะของเวลาที่ค่อย ๆ ผ่านไปแต่ละวินาทีที่ผมเล่าแต่ละขั้นตอน สายตาของผู้เข้าประชุมที่เรียกตัวเองว่า “นักวิจัยชุมชน” ที่เป็นผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะจัดทำธรรมนูญชุมชนจาก ๗ พื้นที่นั้น บ่งบอกให้เห็นถึงแววของความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมในการเรียนรู้ อีกทั้งยังร่วมกันแสดงความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก ทำให้ผมในฐานะผู้เล่าเรื่องมีความสุขและเกิดปิติยิ่งที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมเล็ก ๆในครั้งนี้

แม้ผมจะไม่ได้เป็นคนที่อาศัยอยู่บนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แต่ก็เต็มใจอย่างยิ่งและพร้อมที่จะเป็นแรงหนุนให้พื้นที่เหล่านี้บรรลุสู่เป้าหมายที่วางไว้ นั่นก็คือ การนำแนวคิด “ธรรมนูญสุขภาพ” มาใช้ในการจัดทำ “ธรรมนูญชุมชน” บนพื้นที่รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

“เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” ครับ

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2557

เพลงอักษร : เรื่องเล่าชาว สช. (ตอนที่ ๒)

๑๕ มีนาคม ๒๕๕๗

เพราะผมเชื่อว่า “ตัวอักษรมีชีวิต” แต่ละตัวอักษรที่ถักทอขึ้นมาเป็นคำ จึงมีแรงบันดาลใจอยู่เบื้องหลังมากมาย เมื่อคนเราอ่านหนังสือมากๆ เขียนหนังสือมากๆ ทักษะในการเขียนจะเป็นเงาตามตัวจนเราไม่รู้ตัว สำนวนต่าง ๆถูกบรรเลงขึ้นโดยธรรมชาติ สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ในการเป็นนักเขียนที่ดี คือ การสังเกตสิ่งรอบตัว เพราะเมื่อใดที่เรามองสิ่งต่างๆรอบตัว เราจะสามารถหยิบสิ่งใดก็ได้บนโลกใบนี้มาแต่งเติมปรุงรสชาติใหม่แล้วเสริฟให้คนอ่านได้ลิ้มลอง เช่นเดียวกับผลที่เกิดขึ้นจากเวที We Can Do เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เหล่านี้คือผลผลิตสำคัญที่มาจากแรงบันดาลใจเล็กๆในวันนั้นครับ

เรื่องที่ ๑ : ชีวิต การงาน และความสุข โดย “กชพร นิลปักษ์”

เมื่อทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มาจนถึงวันนี้ ฉันกลับพบว่าชีวิตการทำงานที่นี่มีทั้งความสนุก ท้าทาย หลากหลาย อีกทั้งยังได้ร่วมงานกับคนเก่งๆ ที่มีความสามารถมากมาย อดไม่ได้ที่จะรู้สึกภาคภูมิใจที่ตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแห่งนี้ ซึ่งต่างจากความรู้สึกแรกลิบลับตอนเข้ามาใหม่ๆ ที่อยากลาออกก็ตาม

อาจเป็นเพราะการทำงานเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและยังสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต แน่นอนบางครั้งก็ทุกข์ ยุ่งยาก แต่ในความทุกข์ ฉันก็เห็นความสัมพันธ์และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ชีวิตทุกวันนี้จึงทุ่มเทให้กับการทำงานมากกว่าอยู่กับครอบครัว

การทำงานกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการวางรากฐานของชีวิตและครอบครัว ทำให้รู้จักเก็บออม รู้จักใช้จ่าย เพื่อความอยู่รอดทั้งในปัจจุบันจนถึงอนาคต และระหว่างการทำงานก็หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น จะได้ไม่ทำให้คนเบื้องหลังหรือคนที่มีชีวิตอยู่ลำบากเพราะความเจ็บไข้ได้ป่วยของฉัน

ทุกวันนี้อายุก็มากแล้วจะไปสมัครงานที่ไหน ก็คงไม่มีใครรับ เลยปวารณาตนเองไว้ว่าจะขอทำงานที่นี่ไปจนกว่าเกษียณอายุ

เรื่องที่ ๒ : ความสุขยกระดับ โดย “นวินดา จัดหงษา”

“ความสุขที่มีอย่างพอเพียง และเพียงพอจากพ่อแม่ที่สร้างมาให้ กับหนึ่งชีวิตที่ลิขิตมาให้เจอกัน ใครเลยจะรู้ว่า มันจะมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม”

สุขยกที่หนึ่ง

เป็นความสุขที่ได้รับจากการสร้างรากฐานที่ดีให้กับลูก ด้วยความรักที่พ่อแม่มีให้มา ไม่ว่าคนเป็นพ่อแม่จะเหนื่อยเพียงใด ขอให้ลูกได้มีอนาคตที่ดี

ชีวิตของ “ฉัน” ไม่ค่อยมีสีสันมากมาย เพราะเป็นชีวิตที่เรียบง่าย เวลาส่วนใหญ่จะอยู่กับครอบครัว ที่มีกัน ๔ คน คือ พ่อ แม่ พี่สาวที่ตอนนี้เป็นพยาบาลอยู่โรงพยาบาลเอกชน และตัวฉันที่ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ สช.

จำได้ว่าอาจารย์แนะแนว เคยบอกว่า ความสุขในวัยเรียนที่มีความสุขที่สุด คือ ช่วงวัยมัธยม เพราะจะได้เจอเพื่อนถึง ๖ ปี ความรักความผูกพันระหว่างเพื่อนมีให้กันมาตลอด จนถึงตอนนี้ก็ยังติดต่อกันเหมือนเดิม

หลังจบปริญญาตรี “ฉัน” ได้ทำงานของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ในตำแหน่งเลขานุการ และได้ทำงานกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง สิ่งที่สังเกตได้ คือ เขาชอบร้องเพลงในเวลาทำงาน ชอบเขียนบทความลงนิตยสาร เรื่องส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องท่องเที่ยว ทำให้ฉันได้รับความรู้ไปด้วย

สิ่งที่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกในการทำงาน คือ วันที่ฉันทำกระเป๋าเงินหาย และได้รับความมีน้ำใจจากเจ้านาย ให้เงินแทนจำนวนที่หายไป และวันที่ฉันนำไปคืนเขา แต่เขากลับไม่รับเงินคืน เขาบอกว่า ผมให้คุณแล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจต่อตัวเขามาก เพราะในวันที่เลวร้าย อย่างน้อยฉันก็ยังเจอคนมีน้ำใจ

สุขยกที่สอง

ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเริ่มจากการเปลี่ยนงาน เมื่อได้มาทำงานใน “มูลนิธิแพทย์ชนบท”

ได้รู้จักคำว่า “รพช.” ที่หมายถึง “โรงพยาบาลชุมชน” ได้รู้จักกับหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขระดับภูมิภาคมากขึ้นกว่าเดิม ได้เรียนรู้ว่าความจน ความลำบากของคนในชนบท มีมากเท่าไหร่ คนที่เขาไม่มีข้าวจะกินเป็นอย่างไร ได้รู้ว่าหมอในโรงพยาบาลชุมชน เป็นคนน่ารักทุกคน ติดดิน ไม่เรื่องมาก

ได้รับรู้ประสบการณ์ความลำบากจากคนไข้ในชนบทที่กว่าเขาจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล มันลำบากอย่างไร ได้รับรู้ความเสียสละของแพทย์ ที่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เปิดคลินิก เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และเสียสละเพื่อประชาชน ในการยอมทำงานในชนบท โดยไม่หนีไปอยู่ โรงพยาบาลเอกชน ได้เห็นความมีน้ำใจของคนไข้ที่มีต่อคุณหมอ เปรียบเสมือนหนึ่งคุณหมอคือเทวดาของเขา

“เวลาที่ฉันรู้สึกท้อใจ มีปัญหาเข้ามาในชีวิต คนที่เขาลำบากกว่ายังมีอีกตั้งมากมาย ชีวิตฉันสบายกว่าเขาตั้งหลายเท่า ความสุข และความทุกข์คงไม่ได้อยู่ติดตัวฉันตลอดไป ยังไงก็ต้องผ่านมันไปให้ได้”

สุขยกที่สาม สุขยกระดับอย่างแท้จริง

ความสุขนี้เป็นความสุขที่ยิ้มได้ทุกครั้ง เป็น “สุขบริสุทธิ์” จากการได้เป็นแม่ ถึงแม้ว่าฉันจะไม่ได้ตั้งครรภ์เองก็ตาม

ใครเลยจะรู้ว่า ชีวิตฉันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย เมื่อได้เจอกับหนึ่งชีวิตน้อย ๆชีวิตหนึ่ง โดยที่ไม่ได้ตั้งตัวเลย

ย้อนชีวิตไปประมาณ ๘ ปี ฉันได้เจอกับเด็กน้อยคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหลานของเพื่อนพ่อ เด็กคนนี้เกิดมาในความไม่พร้อมของพ่อแม่ที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่

“ฉัน” เจอกับเด็กคนนี้ครั้งแรก นึกว่าเป็นเด็กผู้ชาย เพราะผมสั้นมาก จนวันที่พ่อของเด็กนี้ มาบอกว่าเป็นผู้หญิง ชื่อ “รวงข้าว”

ตอนนั้น “รวงข้าว” เพิ่งอายุ ๘ เดือนเอง ยังคลานอยู่เลย หน้าตาน่ารัก แก้มแดงมาก ผิวขาว ก็เลยถูกชะตา และ “ฉัน” รับเอามาเลี้ยงไว้

คืนแรกที่มาอยู่ด้วยกัน ไม่อยากจะบอกเลยว่า ประสบการณ์การเลี้ยงเด็กไม่มีเลย ชงนมยังไงก็ไม่รู้ แม่ก็ไม่อยู่

คืนนั้นน้อง “รวงข้าว” ต้องกินนมร้อน ๆ เพราะว่าไม่รู้ว่า วิธีการชงนมให้เด็กนั้น ต้องเอาน้ำร้อนผสมกับน้ำเปล่า จึงจะได้นมสำหรับเด็กอ่อน

พอ “รวงข้าว” ฉี่ ก็เอาไปอาบน้ำทุกครั้งที่ฉี่ออกมา จนน้องยืนมองหน้า โชคดีที่ว่า ช่วงเวลาที่เลี้ยง “รวงข้าว” นั้น มีความสุขที่สุด “รวงข้าว” เป็นเด็กเลี้ยงง่าย จะมีปัญหาที่ว่า เป็นเด็กที่ถ่ายออกยาก ก็ต้องคอยโทรถาม “คุณหมอสุวัฒน์” และ “คุณหมอสุภัทร” ที่เคยทำงานมาด้วยกัน จึงสนิทกันจนถึงทุกวันนี้

การเลี้ยงน้อง “รวงข้าว” ทำให้มีประสบการณ์ความเป็นแม่ เพราะเลี้ยงเขามาตั้งแต่ ๘ เดือนจนจะถึง ๘ ขวบแล้วในวันนี้ ด้วยความรัก ความผูกพัน ที่ให้กับเด็กคนนี้อย่างมากมาย

“ฉัน” ไม่เคยคิดหวัง ว่าเขาจะให้อะไรตอบแทนฉันในยามที่ฉันแก่ลงไป แต่เป็นความสุขอย่างหนึ่ง สุขที่จะให้อีกหนึ่งชีวิต มีพัฒนาการไปเรื่อย ๆ สุขที่ฉันได้เลี้ยงเขามา

“รวงข้าว” ทำให้ “ฉัน” เข้าใจเลยว่า ความรักที่แม่มีให้ลูกเป็นยังไง เมื่อก่อนไม่ค่อยเข้าใจความรักความห่วงใยของพ่อแม่ที่มีให้ลูก เป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเองมาก จนวันหนึ่งที่ได้มาเจอกับตัวเอง มีความรักให้กับ “รวงข้าว” จึงเข้าใจความรักที่แม่มีให้ต่อลูกอย่างลึกซึ้งขึ้น

“ความสุขที่มีอย่างพอเพียง และเพียงพอจากพ่อแม่ที่สร้างมาให้ กับหนึ่งชีวิตที่ลิขิตมาให้เจอกัน ใครเลยจะรู้ว่า มันจะมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม”

และคงจะมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม ในวันที่ “รวงข้าว” ประสบความสำเร็จในชีวิต เรียนจบ มีงานทำ เป็นคนดีของสังคม แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

เรื่องที่ ๓ : The Reader โดย “สุนันทา ปินพทาโน”

เมื่อประมาณ ๒๕ ปีก่อน เคยได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตที่จังหวัดมหาสารคามประมาณ ๒ – ๓ ปี ซึ่งเป็นบ้านปู่กับย่า

ตอนไปครั้งแรกร้องไห้กลับสุพรรณบุรีทุกวันเลย เพราะคิดถึงพ่อกับแม่ อาหารก็กินไม่ได้ มีแต่น้ำพริกกับผักต้ม

ใช้ชีวิตอยู่กับปู่กับย่าตั้งแต่ ๖ ขวบ จนถึงอายุ ๘ ขวบ พ่อกับแม่ก็ไปรับกลับมาอยู่จังหวัดสุพรรณบุรี

เรื่องแรกที่พ่อกับแม่ต้องทำ คือ ต้องหาโรงเรียนให้เข้าเรียน สุดท้ายก็ได้เข้าโรงเรียนใกล้บ้าน คือ “โรงเรียนเทศบาล ๔ วัดโพธิ์อ้น” ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนตั้งแต่อนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ ๖ มีนักเรียนประมาณ ๑๐๐ คน

ถึงวันมอบตัวเข้าโรงเรียนแม่ก็พามาพบครูใหญ่ ชื่อ “คุณครูมาลี พละเลิศ” เบื้องต้นครูก็สอบถามแม่ว่า “ด.ญ. สุนันทา อายุเท่าไหร่ เคยเข้าเรียนระดับใดมาก่อนบ้าง” ซึ่งทางแม่ก็ตอบคุณครูว่า “เคยเข้าเรียนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่ต่างจังหวัดมาก่อน” ทั้งที่ความจริง ด.ญ.สุนันทา เคยสมัครเรียนที่โรงเรียนในต่างจังหวัดจริงแต่ไม่เคยได้เข้าเรียนเลย

“คุณครูมาลี” จึงให้ “ด.ญ.สุนันทา” เข้าเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ ๒

ในวันเปิดเทอมของโรงเรียน ทุกคนในห้องต่างนั่งตามที่คุณครูได้จัดเอาไว้ และครูประจำชั้นก็เข้ามาแนะนำกับนักเรียนทุกคน จากนั้นก็ให้นักเรียนทุกคนแนะนำตัวให้เพื่อนๆ ได้รู้จัก

มาถึงตอนเข้าสู่บทเรียนแรกของการเปิดเทอม คือ วิชาภาษาไทย โดยคุณครูจะให้ทุกคนอ่านบทเรียนคนละ ๕ บรรทัด จนกว่าจะจบบทเรียนนั้นๆ

นักเรียนต่างอ่านหนังสือไล่จนมาถึง “ด.ญ.สุนันทา” เธอยืนขึ้นพร้อมหนังสือในมือแต่ไม่ได้อ่านอะไรออกมา สร้างความงุนงงให้คุณครูและเพื่อนร่วมชั้นเป็นอย่างมาก

คุณครูก็จึงเปล่งเสียงถาม ด.ญ.สุนันทาว่า “ด.ญ.สุนันทาอ่านหนังสือไม่ออกใช่ไหมคะ”

ด.ญ.สุนันทาก็ตอบว่า “ใช่ค่ะ”

เหตุการณ์นี้ทำให้มีการประชุมระหว่างครูประจำชั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้ปกครองของ “ด.ญ.สุนันทา” เพื่อหารือกันว่าจะทำอย่างไรดีกับ “ด.ญ.สุนันทา”

ผลสรุปของที่ประชุมคือได้เรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ ๒ ต่อ โดยมีเงื่อนไขว่าในตอนเย็นเวลา ๑๕.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. จะต้องเรียนพิเศษ การเขียน การอ่าน การผสมคำ

“ด.ญ.สุนันทา” เรียนพิเศษอยู่ประมาณ ๒ ปี พร้อมการสอบเลื่อนขั้นไปด้วย

จนกระทั่ง “ด.ญ.สุนันทา” จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ได้ในที่สุด

เป็นอย่างไรบ้างครับกับลีลาการเขียนแบบที่เป็นเรื่อง “ใกล้ตัว” เกี่ยวกับชีวิตตนเองที่ประสบมาในแต่ละช่วงวัย ที่แต่ละคนก็มีความสามารถเชิงช่างในการเขียนที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่เริ่มวางพล็อต เขียนบทสนทนา จนถึงเขียนให้อ่านเข้าใจรู้เรื่อง เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำเรื่อยๆ เพราะงานเขียนไม่มีทางลัดง่ายๆสำหรับผู้ไม่ฝึกฝนลงมือเขียนอย่างแน่นอนครับ

วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

ซินจ่าวเวียดนาม ตอนที่ ๖ : มองอีกมุมจาก “ลุงอำพล จินดาวัฒนะ”

๑๑ มีนาคม ๒๕๕๗

น้องวิน ลูกรัก

ลูกคงแปลกใจเมื่อได้รับจดหมายฉบับนี้และพ่อขึ้นหัวว่า “ซินจ่าวเวียดนาม” เพราะตอนที่พ่อกลับบ้านอาทิตย์ที่แล้ว ลูกยังถามเลยว่าไม่มีจดหมายจากเวียดนามให้อ่านอีกเหรอ “สนุกเหมือนกับลูกได้เดินทางเองเลย” และพ่อก็ตอบไปว่า มีเป็นเรื่องเล่าแบบสรุปยาวๆตลอดการเดินทางของทริปนี้ แต่ลูกอาจไม่สนุกกับการอ่านแบบนี้เท่าใดนัก

พ่อบอกลูกไม่ทันไร “ลุงอำพล จินดาวัฒนะ” ได้อ่านเรื่องเล่าที่พ่อบอกว่าเป็นบทสรุปของทริปนี้ กับชื่อยาวๆว่า “นนส.ทริป”: พลังเล่น พลังเรียน (รู้) สานพลังคนทำงาน ลุงอำพลเลยเขียนเล่ากลับมาบ้าง พ่ออ่านแล้วสนุกกว่าที่พ่อเขียนเองซะอีก ก็เลยอยากให้ลูกได้อ่านด้วยเช่นกัน มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าเรียนรู้และนำไปขบคิดต่อหลายประเด็นเลยครับลูก (เดิมทีลุงอำพลเขียนมาแทนตัวเองว่า “ผม” แต่พ่อเกรงว่าลูกจะงง เลยขอเปลี่ยนคำว่า “ผม” เป็น “ลุง” แทนนะครับ)

“ลองอ่านดูนะลูก”

ลุงไปเวียดนามมาแล้ว ๔ ครั้ง ครั้งแรกไปเมื่อ ๑๙ ปีก่อน ไปกับคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์) ไปเยี่ยมชมกิจการของโรงพยาบาลใหญ่และคณะแพทย์ที่โฮจิมินท์ ซิตี้ และไปที่ฮานอย ที่นั่นได้ไปเยี่ยมโรงพยาบาลเล็กๆในชนบทด้วย สมัยนั้นเวียดนามเพิ่งผ่านพ้นสงครามหมาดๆ เพิ่งรวมเวียดนามเหนือ-ใต้เข้าด้วยกันมาได้ไม่นาน

ครั้งที่ ๒ ไปเมื่อ ๘ ปีก่อน ไปฮานอย ไปดูงานการศึกษา และการพัฒนาชุมชนกับศูนย์คุณธรรม ครั้งที่ ๓ ไป เมื่อ ๓ ปีก่อน ไปเวียดนามกลาง (เว้) เดินทางโดยทางรถยนต์จากมุกดาหารผ่านลาว ตรงไปตามถนนหมายเลข ๙ ระยะทาง ๓๐๐ กิโลเมตร เส้นทางเดียวกับที่ไปครั้งนี้ (ครั้งที่ ๔)

มีคนแซวลุงว่า “ลุงคงลืมอะไรบางอย่างไว้บนเส้นทางสายนี้ จึงจัดไปซ้ำอีก” ลุงก็ตอบไม่ได้นะ แต่จะว่าไปแล้ว ลุงรักเวียดนามมากกว่ามั้ง?

หนึ่งเป็นเพราะประเทศเวียดนามมีภูมิประเทศยาว เหนือ-ใต้ กว่า ๓,๐๐๐ กม. มีพื้นที่แคบๆด้านหนึ่งติดทะเลจีนใต้ อีกด้านเป็นเทือกเขามีพื้นที่ราบน้อยมาก แต่ละปีมีมรสุมเข้าแยะ ทำให้มีน้ำมาก แม้มีที่ดินน้อย แต่เพาะปลูกได้ดี มรสุมทำให้คนของเขาทรหดกว่าเรา เพราะต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติปีแล้วปีเล่า จนแข็งแกร่ง ไม่ย่อท้อต่อภัยธรรมชาติ (เรียกว่าชินจนแกร่ง)

ประกอบกับเวียดนามเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนยาวนานมาก ต่อมาฝรั่งเศสมายึดครองอีก แล้วยังมาเจอสงครามกับสหรัฐอเมริกา คนเวียดนามผ่านการต่อสู้อย่างทรหดครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อชาติบ้านเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ของเขา

คนเวียดนามจึงเปี่ยมไปด้วยหัวใจรักชาติ และมีความทรหดอดทนอย่างสูง

สิ่งเหล่านี้มีผลทำให้คนเวียดนามเป็นอย่างที่เราเห็น เรารู้จัก คือ มีความขยันขันแข็ง รักชาติ มุ่งมั่น มุมานะ ไม่ท้อถอยต่อปัญหาอุปสรรคอะไรง่ายๆ ลักษณะเช่นนี้หล่อหลอมมาเป็นร้อยๆปี

สอง คนเวียดนามมีประมาณ ๙๐ ล้านคน มากกว่าประเทศไทย แต่มีพื้นที่เล็กกว่า คือ ประมาณ ๒ ใน ๓ ของประเทศไทย จึงนับว่ามีประชากรหนาแน่น เขาจึงต้องใช้พื้นที่กันอย่างเต็มที่ ที่ไหนว่างเป็นต้องเพาะปลูก ริมทะเลยังปลูกข้าวอย่างที่เราเห็น

การศึกษาของเขาสอนให้คนเวียดนามรู้เรื่องของชาติบ้านเมืองที่ผ่านความยากลำบากมา สอนให้รู้เรื่องโลกภายนอก อิทธิพลจีนทำให้เขารับวัฒนธรรมกตัญญู

เขาไม่ได้สอนให้รู้แต่วิชาในตำรา คนเวียดนามที่จบชั้นเดียวกับนักเรียนไทย เขารู้เรื่องโลกภายนอกมากกว่าเรามากมาย เขาใส่ใจเรียนรู้เรื่องของเพื่อนบ้านและโลกภายนอก คนเวียดนามสนใจประเทศไทยมาก เขาตั้งความหวังว่าจะพัฒนาให้ทันและแซงไทยในอนาคต เพราะเขาเห็นเราพัฒนาไปได้ไกลกว่า

“แต่ละวันนักเรียนของเขาต้องทำการบ้านส่งครูเพื่อบอกว่า มีอะไรเกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง มีอะไรเกิดขึ้นในประเทศเวียดนาม มีอะไรเกิดขึ้นในโลก เขาฝึกให้นักเรียนเรียนรู้สังคมและโลก”

ดร.เสรี พงศ์พิศ เคยเล่าให้ลุงฟัง ซึ่งสอดคล้องกับที่เพื่อนของลุง ดร.สิริวงษ์ หงส์สวรรค์ ที่เคยไปอยู่เวียดนามหลายปีก็บอกว่า ชาวเวียดนามเขาให้ความสำคัญเรื่องสังคมนำหน้าเรื่องบุคคล

ลุงเคยไปดูเด็กนักเรียนชั้นประถมที่ฮานอย เด็กเขียนหนังสือสวยมาก ครูก็เขียนตัวหนังสือสวย เขาบอกว่าการฝึกให้เขียนหนังสือสวย เป็นการฝึกให้มีวินัยขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่ทำอะไรลวกๆแบบสุกเอาเผากิน

เคยมีรัฐมนตรีสาธารณสุขของเวียดนามมาเยี่ยมที่สำนักงานลุง เขาเขียนตัวหนังสือสวยอย่างที่ลุงเห็นเด็กนักเรียนชาวเวียดนามเขียน ยังไงยังงั้นเลย

ทุกวันนี้มีนักเรียนเวียดนามมาเรียนภาษาไทยในมหาวิทยาลัยราชภัฎจบไปแล้วเป็นหมื่นคน ลุงเคยรับนักศึกษาฝึกงานเป็นเด็กเวียดนาม เขาขยันมาก มีวินัย มีความมุ่งมั่น เรียนจบได้งานทันที เพราะเขาได้ทั้งภาษาเวียดนามและภาษาไทย ตอนนี้ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่จีนแล้ว

ลุงเคยไปดูงานที่มหาวิทยาลัยที่ฮานอย มีแผนกภาษาไทย มีนักศึกษาสนใจเรียนจำนวนมาก นักศึกษาของเขานั่งอ่านหนังสือกันเต็มห้องสมุดเลย

นักศึกษาไทยที่สนใจเรียนภาษาเวียดนาม น่าจะนับหัวได้?

วันนี้ประเทศเวียดนามเพิ่งผ่านสงครามกับอเมริกามาได้ไม่นานนัก ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูชาติอีกหลายปี แต่เขาเติบโตเร็ว เพราะเขามี “คนเวียดนาม” เป็นทุนทางสังคมที่มีค่ามาก

ระบบโครงสร้างพื้นฐานเขาสู้บ้านเราไม่ได้ ของบ้านเราพัฒนาไปก่อนเขาหลายก้าว แต่เรื่องพวกนี้พัฒนาง่าย เมื่อใดที่เขามีเงินมากพอ เขาทำได้ไม่ยาก

ประเด็นที่น่าคิด คือ คนไทยเราเป็นทุนทางสังคมที่มีคุณภาพมากแค่ไหน เราสอน เราเรียนอะไรกัน เราสร้างคนโดยมีเป้าหมายอะไร ประเทศเรามีอุดมการณ์ของชาติ มีเป้าหมายของชาติร่วมกันไหม

ชาวเวียดนามวันนี้เขามี “ลุงโฮ” เป็นเหมือนเทพเจ้าประจำใจคนทุกคน ลุงโฮคือสัญลักษณ์ของความเป็นเวียดนาม คือเสียสละ กล้าหาญ อดทน และทำทุกอย่างเพื่อเวียดนาม

ไกด์ชาวเวียดนาม (ซึ่งเคยมาบวชอยู่เมืองไทย ๕-๖ ปี) ร้องเพลงให้ฟังบนรถหนึ่งเพลง ลุงฟังได้แต่คำว่า โฮจิมินท์ กับคำว่า เวียดนาม ถามเขาว่าเนื้อเพลงเป็นอย่างไร เขาบอกว่า เป็นเพลงที่สื่อสารว่าลุงโฮคือเวียดนาม เวียดนามคือลุงโฮ ดูเขาภูมิใจกับเพลงนี้มาก

สาม ประเทศไทยอยู่ติดกับลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย และไม่ไกลกับเวียดนาม มุกดาหารอยู่ห่างทะเลแค่๓๐๐ กม. ถ้าไปที่เว้ แต่ห่างทะเลที่อ่าวไทยกว่า ๖๐๐ กม. เชียงใหม่ห่างทะเลที่พม่าแค่ไม่กี่ร้อยกม. แต่ห่างทะเลที่อ่าวไทยตั้ง ๗๐๐ กม.

ถ้าเอาเส้นแบ่งประเทศออก เราล้วนอยู่ใกล้ชิดกัน บางพื้นที่ใกล้ชิดประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าใกล้ชิดกรุงเทพเสียอีก

แต่การรวมศูนย์อำนาจที่กรุงเทพ ได้สั่งสอนให้เราแยกขาดจากเพื่อนบ้าน ยิ่งไปกว่านั้น ยังปลูกฝังทัศนคติดูแคลนเพื่อนบ้าน ให้เกลียดชังเพื่อนบ้าน บูชาฝรั่งทั้งๆที่ภูมิใจว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง ทัศนะเช่นนี้ทำให้เรามองเพื่อนบ้านด้อยกว่าไปทุกเรื่อง เป็นทัศนะที่คับแคบ สมัยรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น อาจถูกต้อง แต่ถึงวันนี้ ไม่น่าจะถูกแล้ว

ลุงคิดว่าเราต้องถอนทัศนคติที่ผิดนี้ออกโดยเร็ว เพราะปัจจุบันเป็นโลกาภิวัตน์ ประเทศเราเชื่อมโยงถึงกันไปหมดแล้ว ไม่ต้องรอ AEC ผู้คนก็ไปมาหาสู่ถึงกันได้โดยง่ายอยู่แล้ว เราต้องอยู่ด้วยกัน เราต้องพึ่งพาอาศัยกัน เพื่อพัฒนาก้าวหน้าไปด้วยกัน

บางเรื่องเราดีกว่า เก่งกว่า บางเรื่องเพื่อนบ้านดีกว่า เก่งกว่า เราต้องช่วยกัน เสริมกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่ข่มกัน

เอเชียกำลังเติบใหญ่ เราก็ต้องเติบโตไปพร้อมๆกัน อย่ามองเพื่อนบ้านว่าเราจะไปเอาอะไรจากเขา แต่ควรมองว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร จะช่วยเสริมอะไรกันได้อย่างไร ที่ต้องแข่งขันกันก็ว่ากันไป แต่ที่ต้องช่วยเหลือกัน ก็ต้องทำคู่ไปด้วย ไม่ควรมองแบบจะเอาชนะกัน อวดเก่งใส่กัน เพราะเราต้องเติบโตไปด้วยกัน เราอยู่ด้วยกัน เราขาดกันและกันไม่ได้ นี่คือมุมมองใหม่ ที่คนไทยควรมีต่อประเทศเพื่อนบ้าน

เป็นไงครับลูก อ่านเพลินเลยล่ะซิ ลุงอำพลจบด้วยคำพูดที่ทำให้พ่อสามารถนำไปคิดต่อได้อีกหลายเรื่อง นี่ล่ะคือการมองมุมใหม่จากลุงอำพล ที่ชี้ให้เห็นแล้วว่าการเดินทางคือการย้อนรอยความทรงจำและทบทวนประสบการณ์ที่สั่งสมมา และกลายเป็นมุมมองใหม่ในวันนี้ ว่าไปแล้วนะลูกแค่การเดินทางสั้นๆแค่ ๔-๕ วัน ยังทำให้ลุงอำพลและพ่อมีเรื่องราวมาเขียนมากมาย ถ้าได้เดินทางมากกว่านี้ ตัวอักษรบนโลกนี้คงไม่เพียงพอที่จะบรรยายประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างแน่นอน

อือ! พ่อลืมบอกลูกไป ไม่ใช่แค่ลุงอำพลและพ่อที่เขียนเรื่องเล่าแบบนี้ออกมากัน ยังมีเพื่อนๆพ่อในนามของนักเรียนหลักสูตร นนส. ที่ร่วมเดินทางไปเวียดนามครั้งนี้ ต่างก็เขียนถ่ายทอดประสบการณ์ออกมากันทั้งนั้น แล้วยังไงพ่อจะทยอยส่งมาให้ลูกอ่านนะครับ

รักลูกมาก

“พ่อโต”

ถอดรหัสโครงการ ๕๐๐ ตำบล : ถอดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ

๑๑ มีนาคม ๒๕๕๗

ย้อนไปเมื่อตุลาคม ๒๕๕๕ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้พัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อดำเนิน “โครงการ ๕๐๐ ตำบล” หรือในชื่อเต็มๆว่า “โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพโดยให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในชุมชนท้องถิ่น โดยใช้เครื่องมือภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ”

ผ่านมาวันนี้กว่า ๑ ปี ทำให้เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๗ ทาง สช. จึงได้จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนการทำงานในแต่ละภูมิภาคขึ้นมา โดยมีทีมงาน “นักถอดบทเรียน” จาก ๔ ภาค ราว ๖๐ คน เข้าร่วม พร้อมทั้งนำเสนอแผนการทำงานในระยะต่อไป

หลายคนคงสงสัยโครงการ ๕๐๐ ตำบล คืออะไร

แนวความคิดสำคัญที่ถือเป็นฐานของโครงการ คือ ที่ผ่านมามีตำบลไม่น้อยที่มีการขับเคลื่อนกระบวนการ “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” อันเป็น ๑ ใน ๕ ของกฎบัตรการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ “กฎบัตรออตตาวา” ที่ประเทศต่าง ๆ ได้มีความเห็นร่วมกันในการประชุมที่เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อปี ๒๕๒๙

โดย “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” หรือ “นโยบายสาธารณะที่ดี” (Healthy Public Policy) นี้องค์การอนามัยโลกได้ให้อธิบายไว้ว่าเป็น

“นโยบายสาธารณะที่แสดงความห่วงใยอย่างชัดเจนในเรื่องสุขภาพ พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายนั้น ขณะเดียวกันก็เป็นนโยบายที่มุ่งสร้างเสริมสิ่งแวดล้อม ทั้งทางสังคมและกายภาพที่เอื้อต่อการมีชีวิตที่มีสุขภาพดี และมุ่งให้ประชาชนมีทางเลือกและสามารถเข้าถึงทางเลือก ที่ก่อให้เกิดสุขภาพดีได้”

เครื่องมือตามกระบวนการ “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” ที่นำมาใช้กันมีนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น ๓ เครื่องมือตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ อันได้แก่ สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพหรือเอชไอเอ

นอกจากนั้นยังมีเครื่องมืออื่น ๆ อีกหลายชิ้น อาทิ แผนแม่บทชุมชน แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ เป็นต้น

สสส. กับ สช. จึงเห็นตรงกันว่า น่าจะมีการลงไปศึกษา เรียนรู้และถอดบทเรียนกระบวนการ “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” รูปแบบต่าง ๆ ที่แต่ละตำบลต่าง ๆ ทั่วประเทศทำกันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อยกระดับงานในตำบลที่เป็นเป้าหมาย และใช้บทเรียนสำหรับการขยายผลไปยังตำบลอื่น ๆ ต่อไป

โครงการนี้มีระยะเวลา ๒ ปี โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ ๕ ประการ คือ

ประการที่ ๑ สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและองค์กรที่มีบทบาทในการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นให้เข้ามาร่วมกันหนุนเสริมอย่างบูรณาการ ให้ชุมชนท้องถิ่นมีการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

ประการที่ ๒ สร้างความร่วมมือระหว่างท้องที่ ท้องถิ่น ชุมชน และหน่วยงานอื่นๆ ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในแต่ละตำบล

ประการที่ ๓ พัฒนาระบบและกลไกของท้องที่ ท้องถิ่น ชุมชน และหน่วยงานอื่นๆ ในการติดตามและรายงานผลการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ

ประการที่ ๔ พัฒนาศักยภาพของท้องที่ ท้องถิ่น ชุมชน และหน่วยงานอื่นๆ ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ

ประการที่ ๕ พัฒนาระบบการสื่อสารแบบเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพให้เป็นรูปธรรมในชุมชนท้องถิ่น

ยุทธศาสตร์หลัก ที่นำมาใช้คือ “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้” โดยมียุทธศาสตร์รอง ๓ ยุทธศาสตร์ คือ การสร้างความเป็นเจ้าของ (Ownership) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันด้วยการปฏิบัติ (Interactive Learning through Action) และการสื่อสารสังคมแบบเครือข่าย (Networking Social Communication)

โครงการวางเป้าหมายรวม ๕๐๐ ตำบล โดยแบ่งเป้าหมายปีละ ๒๕๐ ตำบล

สำหรับการดำเนินการในปี ๒๕๕๗ ได้วางเป้าหมายกระจายไปตามภาคต่าง ๆ ดังนี้

ภาคกลาง มีเป้าหมายรวม ๖๐ ตำบล อยู่ที่จังหวัดนครปฐม ๑๐ ตำบล ราชบุรี ๑๐ ตำบล ฉะเชิงเทรา ๒๐ ตำบล และจันทบุรี ๒๐ ตำบล โดยมีมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ เป็นหน่วยงานสนับสนุนทางวิชาการ

ภาคใต้ มีเป้าหมายรวม ๖๐ ตำบล อยู่ที่จังหวัดปัตตานี ๑๕ ตำบล สงขลา ๑๖ ตำบล สตูล ๑๔ ตำบล และตรัง ๑๕ ตำบล โดยมีวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร ตรัง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ตรัง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นหน่วยงานสนับสนุนทางวิชาการ

ภาคเหนือ มีเป้าหมายรวม ๖๐ ตำบล อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ๒๐ ตำบล เชียงราย ๑๒ ตำบล ลำปาง ๑๒ ตำบล ลำพูน ๘ ตำบล และพะเยา ๘ ตำบล โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สมาคมส่งเสริมการพัฒนาสตรีและเยาวชน ลำปาง มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นหน่วยงานสนับสนุนทางวิชาการ

ภาคอีสาน มีเป้าหมายรวม ๗๐ ตำบล อยู่ที่จังหวัดอำนาจเจริญ ๒๐ ตำบล อุบลราชธานี ๒๐ ตำบล ยโสธร ๑๐ ตำบล และศรีสะเกษ ๒๐ ตำบล โดยมีมูลนิธิประชาสังคมจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร อุบลราชธานี โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหิดลจังหวัดอำนาจเจริญ และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เป็นหน่วยงานสนับสนุนทางวิชาการ

ทั้งนี้ในการดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันทั้งในระดับพื้นที่ ระหว่างพื้นที่ภายในแต่ละภาค และการประชุมร่วมระหว่างภาคต่าง ๆ มาเป็นระยะ และการประชุมในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต ดอนเมือง กรุงเทพฯ ก็เป็นอีกวาระหนึ่ง

มีข้อคิดเห็นที่น่าสนใจจากเวทีที่ “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้กล่าวไว้ และชี้ชวนให้เห็นว่า “ทำอย่างไรไม่ให้โครงการนี้เป็นแค่การถอดบทเรียนกิจกรรม แต่ต้องคือการถอดบทเรียนกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ”

ผมคิดว่าคำพูดนี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเมื่อย้อนกลับที่ไปชื่อโครงการ คือ “โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพโดยให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในชุมชนท้องถิ่น โดยใช้เครื่องมือภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ” จึงเห็นได้ชัดว่าการถอดบทเรียนนี้ ก็คือการถอดบทเรียนกระบวนการ “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” ที่ปรากฏอยู่ในชื่อโครงการนี้นั่นเอง

ซึ่งหากเราย้อนกลับไปที่ “วงจรของนโยบายสาธารณะ" ที่ประกอบด้วย ๕ ขั้นตอน คือ
ขั้นที่ ๑ การก่อตัวของนโยบายสาธารณะ
ขั้นที่ ๒ การกำหนดทางเลือกเชิงนโยบาย
ขั้นที่ ๓ การตัดสินใจเชิงนโยบาย
ขั้นที่ ๔ การแปลงนโยบายไปสู่ปฏิบัติ
ขั้นที่ ๕ การติดตาม ประเมินผลและการทบทวนนโยบาย

ก็หมายความว่าสิ่งที่เป็นที่ต้องการเรียนรู้จากโครงการนี้นั่นก็คือ “บทเรียนในการดำเนินงานตามกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ว่าในแต่ละขั้นตอนมีการดำเนินการอย่างไร โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆในพื้นที่” เป็นสำคัญ

ผมลองตั้งประเด็นย่อยในแต่ละขั้นตอนของ “วงจรนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” เพื่อเป็นตัวอย่างในการถอดบทเรียน ดังนี้

ขั้นก่อตัวของนโยบายสาธารณะ เช่น
 ประเด็นนโยบายสาธารณะเกิดขึ้นได้อย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร
 ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด
 มีข้อมูลวิชาการสนับสนุนมากน้อยเพียงใด
 มีคณะทำงานหรือไม่ อย่างไร มาได้อย่างไร
ขั้นการกำหนดทางเลือกเชิงนโยบายสาธารณะ เช่น  เมื่อได้ประเด็นนโยบายสาธารณะมาแล้ว มีกระบวนการทำงานอย่างไร  ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด  มีคณะทำงานหรือไม่ อย่างไร มาได้อย่างไร  มีข้อมูลวิชาการสนับสนุนมากน้อยเพียงใด  มีการวิเคราะห์ทางเลือกที่หลากหลายหรือไม่อย่างไร
ขั้นการตัดสินใจเชิงนโยบายสาธารณะ เช่น
 มีกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายสาธารณะอย่างไร
 ภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด
 มีการเชื่อมโยงกับท้องถิ่นอย่างไร
 มีการถกแถลงแสดงเหตุผลเพื่อร่วมกันตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดอย่างไร

ขั้นการแปลงนโยบายสาธารณะไปสู่ปฏิบัติ เช่น
 มีกระบวนการทำงานอย่างไร มีระบบการวางแผน การจัดสรรงบประมาณ การกำหนดผู้รับผิดชอบอย่างไร
 ใครเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง เข้ามาได้อย่างไร
 มีการสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานอย่างไร

ขั้นการติดตาม ประเมินผลและการทบทวนนโยบาย เช่น
 มีกระบวนการทำงานอย่างไร มีระบบการติดตาม กำกับ และรายงานผลอย่างไร
 มีการสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานอย่างไร
 มีกระบวนการทบทวนนโยบายสาธารณะอย่างไร

อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการถอดบทเรียนตาม “วงจรนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” ทั้ง ๕ ขั้นตอนข้างต้นแล้ว สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงและมีคุณค่าต่อการทำงานต่อไปภายภาคหน้าด้วยที่ควรศึกษาและบันทึกไว้ด้วย นั่นก็คือ “บทเรียนในมิติทางใจ” อาทิ
• สิ่งที่เป็นความภาคภูมิในในชุมชนคืออะไร
 กุญแจความสำเร็จของการทำงานคืออะไร
 ข้อที่พึงสังเกต หรือพึงระวังในการทำงานคืออะไร
 อยากจะบอกอะไรให้พื้นที่อื่นทราบบ้าง
 บทเรียนที่ได้รับ และสิ่งที่ได้เรียนรู้
เป็นต้น

“ศ.นพ.ประเวศ วะสี” เคยกล่าวไว้นานแล้วว่า “ตำบลเป็นฐานของเจดีย์ หากฐานแข็งแรง ย่อมทำให้ตัวองค์และยอดเจดีย์จะเข้มแข็งตามไปด้วย” นับเป็นคำกล่าวที่ท้าทายต่อนักพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องบอกว่ามีตำบลมากมายที่มีความเข้มแข็งจนกลายเป็น “ตำบลที่สามารถจัดการกันเองได้” และมีหลายตำบลที่มีกระบวนการขับเคลื่อนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เข้มแข็ง ซึ่งท้าทายต่อการเรียนรู้ของนักพัฒนายิ่งนัก

ฉะนั้นโครงการนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อนำบทเรียนที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้นมา “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” ร่วมกัน อันจะนำพาไปการขยายวงของเรื่องราวดี ๆ ให้กว้างขวางขึ้น และทำให้ “เจดีย์ที่ชื่อประเทศไทย” เป็นเจดีย์ที่แข็งแกร่งด้วย “ฐานเจดีย์” ที่สร้างขึ้นมาอย่างมั่นคงนั้นเอง

วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2557

“เบื้องหลังของผู้ชายมักมีสตรีอันเป็นที่รักเสมอ”: เนื่องในวันสตรีสากล ๒๕๕๗

๘ มีนาคม ๒๕๕๗

แม้ว่าวันนี้จะเป็น "วันสตรีสากล" ที่หลายๆ หน่วยงานในประเทศไทยรวมทั้งทั่วโลกต่างจัดเวทีรำลึก หรือบ้างก็เฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึงการต่อสู้ของแรงงานหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องระบบสามแปด คือ ลดเวลาทำงานเหลือวันละ ๘ ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก ๘ ชั่วโมง และอีก ๘ ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน

แต่สำหรับผมแล้วอาจเป็นเพราะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “สิทธิของผู้หญิงโดยตรง” มีเรื่องการแก้ไขปัญหาวัยรุ่นไทยกับการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในปี ๒๕๕๓ เท่านั้นที่คาบเกี่ยวอยู่บ้าง รวมถึงประเด็นผู้หญิงไปแทรกอยู่ในทุกๆประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมติสมัชชาสุขภาพก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความรู้ในเรื่องนี้ของผมกระจ่างขึ้นแต่อย่างใด

ตามประวัติความเป็นมาของ "วันสตรีสากล" หรือ "International Women's Day" ที่ตรงกับวันที่ ๘ มีนาคมของทุกปี มีจุดเริ่มต้นมาจากวันที่ ๘ มีนาคม ปี ค.ศ.๑๘๕๗ (พ.ศ.๒๔๐๐) ที่กลุ่มแรงงานหญิงจากโรงงานทอผ้าและตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มได้พากันเดินขบวนประท้วงในกรุงนิวยอร์ก เพื่อเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพการทำงาน แต่แล้วเหตุการณ์ก็จบลงด้วยการฆาตกรรมคนงานหญิง ๑๑๙ คน โดยการเผาโรงงานในขณะที่คนงานหญิงกลุ่มนี้กำลังประท้วงอยู่

๕๐ ปีผ่านไป หรือเมื่อปี ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบกดขี่ทารุณของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ ๑๖ – ๑๗ ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด อันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก หลายคนต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยและเสียชีวิตตามมา

สถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้ “คลาร่า เซทคิน” นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมันตัดสินใจปลุกระดมเหล่าแรงงานหญิงด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ ๘ มีนาคม ปี ๒๔๕๐ พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ ๘ ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้ผู้หญิงมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย

แม้การเรียกร้องครั้งนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จ มีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ “คลาร่า เซทคิน” และจุดประกายให้ผู้หญิงทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

ในวันที่ ๘ มีนาคมปีถัดมา มีแรงงานหญิงกว่า ๑๕,๐๐๐ คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า “ขนมปังกับดอกกุหลาบ” อันหมายถึง “การได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดี” นั่นเอง

จนกระทั่งในวันที่ ๘ มีนาคม ปี ๒๔๕๓ ความพยายามของแรงงานหญิงกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนผู้หญิงจาก ๑๗ ประเทศ เข้าร่วมประชุม “สมัชชาสตรีสังคมนิยม” ครั้งที่ ๒ ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดาแรงงานผู้หญิงในระบบสาม แปด นั่นก็คือ “ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ ๘ ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก ๘ ชั่วโมง และอีก ๘ ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน” พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย

พร้อมทั้งยังได้รับรองข้อเสนอของ “คลาร่า เซทคิน” ด้วยการกำหนดให้ “วันที่ ๘ มีนาคมของทุกปี” เป็น “วันสตรีสากล”

สำหรับประเทศไทยแล้วในฐานะประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามพันธะสัญญาต่อเวทีโลกที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับบทบาทและสถานภาพของผู้หญิงในหลากหลายรูปแบบ โดยได้มีการดำเนินการทั้งในแง่กฎหมาย นโยบาย มาตรการและกิจกรรมต่างๆ ในการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย คือ สร้างให้เกิดความเป็นธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายในทุกรูปแบบ เพื่อให้ผู้หญิงได้มีโอกาสรับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน

แน่นอนสถานการณ์การเข้าไม่ถึงความไม่ธรรมของผู้หญิงในประเทศไทยก็ยังปรากฏในหลายมิติ โดยเฉพาะความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ที่ต้องแสวงหาหนทางจัดการต่อไป

แต่สำหรับผมแล้วในฐานะ “ผู้ชายคนหนึ่ง” สำหรับวันสตรีสากลปีนี้ ผมกลับอยากขอบคุณผู้หญิงอันเป็นที่รักของผมหลายๆคนที่มีส่วนสร้างและเกื้อหนุน โอบอุ้มให้ผมเติบโตมายังทุกวันนี้

คนแรก แม่อันเป็นที่รักของผม “สังเวียน บุญน้อยกอ” ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดผมขึ้นมาบนโลกใบนี้ท่ามกลางครอบครัวที่อบอุ่น พร้อมกับเลี้ยงดู หล่อหลอม สั่งสอนและส่งเสียจนผมเติบโตมาจนแข็งแกร่งในวันนี้ ไม่มีวินาทีไหนที่ท่านจะไม่ห่วงใยผม แต่น่าเสียดายที่ท่านได้จากผมไปกว่า ๑๖ ปี แล้ว แต่ผมยังคงรำลึกถึงท่านอยู่เสมอ

คนต่อมา “ครูลำดวน เล็กบุญส่ง” ครูบ้านนอกที่สั่งสอนผมด้วยความรักมาตั้งแต่วัยประถมศึกษา จนผมมีความรู้และมีฐานทุนต่อยอดจนเข้าสู่มัธยมศึกษา “ครูนันทนา” และ “ครูสมพร” ครูประจำชั้นสมัยที่ผมเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๔ และ ๕ ที่ดูแลและสอนผมจนจบการศึกษาได้อย่างภาคภูมิใจ

“น้าวิภาดา ถาวรกุล” ภรรยา “น้าบุญเสริม ถาวรกุล” เจ้าของ “ภัตตาคารเสริมมิตร สาขาลาดพร้าว” ที่มีชื่อเสียงมากในช่วงปี ๒๕๒๕ – ๒๕๓๐ ที่เปิดโอกาสให้ผมเข้ามาทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง ในตำแหน่งสมุหบัญชี หลังเรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถือเป็นประสบการณ์ในการทำงานเชิงบริการอันเป็นฐานในการสร้างนิสัย “การคำนึงถึงคนอื่นก่อน” ของผมมาจนถึงทุกวันนี้

“ดร.กาญจนา กาญจนสินิทธ์” รองอธิบดีกรมอนามัย ที่มีส่วนผลักดันและส่งเสริมให้ผมเข้ามามีส่วนสำคัญในการทำงานระดับชาติเมื่อครั้งที่อยู่ที่กรมอนามัย ทำให้เด็กบ้านนอกกลายมาเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านยุทธศาสตร์และงบประมาณ จนในที่สุดกลายมาเป็นผู้อำนวยการกองในที่สุด และยังมีส่วนผลักดันให้ผมเข้ามาสู่องค์กร สช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) ที่ผมรักอีกด้วย

“กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร” รองเลขาธิการ คสช. ผู้มีส่วนสนับสนุนสำคัญอีกคนหนึ่งที่ทำให้ผมเข้ามาทำงานที่ สช. แห่งนี้ และยังเป็นผู้บังคับบัญชาของผม สอนงานและแนะนำงานให้แก่ผมจนมีความรู้ ประสบการณ์ในการทำงาน “สมัชชาสุขภาพ” ให้แก่ผมได้ทุกวันนี้

นอกจากนั้นแล้วยังมีผู้หญิงอีกมากมายที่หนุนเสริมผมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยเฉพาะในช่วงที่ทำงานในฐานะผู้อำนวยการกองแผนงาน และผู้อำนวยการสำนักสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ทีมงานส่วนใหญ่เป็น “ผู้หญิง” จนทำให้งานที่รับผิดชอบสำเร็จลงด้วยดี

คนสำคัญที่จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้โดยเด็ดขาด คือ ภรรยาของผม “รัมภ์รดา บุญญะโสภิต” ที่เป็นทั้งคู่ชีวิตและเพื่อนชีวิตที่สร้างครอบครัวเล็ก ๆ ด้วยความรักมาด้วยกันจนมี “เรา” ในวันนี้

ว่าไปแล้วชีวิตผู้ชายคนหนึ่งๆ ที่เติบโตมายังปัจจุบัน ต่างมีส่วนสร้างจากผู้หญิงอันเป็นที่รักรายรอบไม่ทางหนึ่งก็ทางใด เบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชายทุกคน คือ ผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังที่ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ ดูแลเอาใจใส่ ปลอบประโลม ช่วยเหลือในการแก้ปัญหา ให้คำปรึกษาและตักเตือนซึ่งกันและกัน

จุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของชีวิตผู้ชายคนหนึ่งจึงมีอยู่ ๓ จุดสำคัญ จุดที่หนึ่งคือ ตอนตัดสินใจเลือกเรียนต่อ สอง ตอนตัดสินใจเลือกงาน และ สาม ตอนตัดสินใจเลือกภรรยา และทั้ง ๓ จุดนี้ ต่างมีผู้หญิงอย่างน้อยคนหนึ่งอยู่เบื้องหลังเสมอ

เนื่องใน “วันสตรีสากลปี ๒๕๕๗” ผมจึงขอขอบคุณผู้หญิงทุกคนที่ทำให้มี “ผม” ในวันนี้ขึ้นมาครับ

วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปฏิรูประบบสุขภาพ ปฏิรูปประเทศไทย

๗ มีนาคม ๒๕๕๗

กระแสการ “ปฎิรูปประเทศไทย” กลับมาดังขรมขึ้นอีกครั้งหนึ่งในสังคมไทย ซึ่งนับเป็นเรื่องดียิ่งนัก เพราะเมื่อมีการปฏิรูป นั่นหมายถึง ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามทำอย่างไรไม่ให้ “การปฏิรูป” เป็นเพียงแค่ “การปฏิรูปตามกระแส” ที่ต้อง “ไม่เสียเวลา ไม่เสียงบประมาณไปโดยใช่เหตุ และไม่เสียอารมณ์ของผู้คนที่เกี่ยวข้องและคาดหวังกับการปฏิรูปในครั้งนี้” เหมือนกับหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมาในอดีต

เพราะสิ่งสำคัญที่ต้องสร้างให้ได้ก่อนการปฏิรูป คือ “ความไว้วางใจ” ของกลุ่มคนทุกภาคส่วนที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหานั้นๆร่วมกัน นี้เป็นความท้าทายยิ่งกว่าเรื่องที่จะปฏิรูปด้วยซ้ำ ผมนึกถึงคาถา ๓ ประการ ที่ “นายแพทย์ประเวศ วะสี” ให้ไว้สำหรับการสร้างนโยบายสาธารณะที่ดี ซึ่งเป็นคาถาที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ นั่นก็คือ การปฏิรูปต้องสร้างให้เกิด “กุศล ๓ ประการ” ให้ได้ กล่าวคือ

หนึ่ง กุศลทางปัญญา เรื่องที่เราจะปฏิรูปต้องมีข้อมูลรองรับที่รอบด้าน มีการทำงานวิชาการที่ชัดเจน เพื่อชี้ให้เห็นที่มาที่ไปของเรื่องราวทั้งหมด

สอง กุศลทางสังคม ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ไม่กีดกันคนที่เห็นตรงกันข้าม เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมถกแถลงแสดงเหตุผลกันอย่างมิตรหรือด้วยความรัก

สาม กุศลทางศีลธรรม เรื่องที่หยิบขึ้นมาปฏิรูปเป็นเรื่องที่นำไปสู่ประโยชน์สุขของสังคมในวงกว้าง ไม่จำกัดอยู่ในวงกลุ่มผลประโยชน์ของตนหรือเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

เช่นเดียวกับที่วันนี้กระแสการปฏิรูปสุขภาพก็ถูกหยิบยกขึ้นมาหารืออีกครั้งหนึ่งพร้อมๆไปกับการปฏิรูปประเทศไทย ว่าไปแล้วต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีจุดเด่นมากในระดับโลก เรื่อง “การปฏิรูประบบสุขภาพ”

ที่เห็นได้ชัดเจนอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การเกิดขึ้นมาขององค์กรด้านสุขภาพที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับ “กระทรวงสาธารณสุข” ที่เป็นองค์กรหลักภาครัฐ

การมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นองค์กรด้านวิชาการ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นองค์กรสนับสนุนการ “สร้างนำซ่อม” สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นองค์กรดูแลระบบบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นองค์กรหนุนเสริมการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) เป็นองค์กรดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะวิกฤตและฉุกเฉิน และสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานบริการพยาบาล (สรพ.) เป็นองค์กรดูแลด้านมาตรฐานของสถานบริการด้านสุขภาพ นับเป็นตัวอย่างเชิงรูปธรรมด้านกลไกที่ชัดเจนของ “การปฎิรูประบบสุขภาพ” ในห้วงที่ผ่านมา

นอกจากนั้นยังมีองค์กร หน่วยงาน และเครือข่ายต่างๆ มากมายที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและการเมือง รวมถึงบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ หน่วยงานภาควิชาการที่หันมาให้ความสำคัญกับงานด้านสุขภาพมากขึ้น และที่สำคัญที่เป็นกำลังหลักหนึ่ง นั่นก็คือ องค์กรภาคประชาชน เอกชน ซึ่งรวมถึงสื่อสาธารณะต่าง ๆ ต่างก็มีบทบาทในการดูแลสุขภาพของผู้คนร่วมกันมาอย่างดี

อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การปฏิรูประบบสุขภาพรอบใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้คนที่เกี่ยวข้องต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพอย่างรอบด้านด้วยเช่นเดียวกัน

“สุชาติ อุดมโสนากิจ” และคณะ ได้ทำการวิเคราะห์ปัจจัยที่ควรพิจารณา ๓ ประการ คือ

(๑) การเปลี่ยนแปลงของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มีความเกี่ยวข้องกับ ๓ ปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต คือ น้ำ อาหาร และพลังงาน โดยปัจจัยดังกล่าวมีความสัมพันธ์กันในหลายมิติ เช่น ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชอาหารหรือพลังงานก็ตาม ล้วนต้องอาศัยน้ำและพลังงานเป็นต้นทุนการผลิต จึงต้องได้รับการจัดการที่มีประสิทธิภาพและทันการณ์ กิจกรรมการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการแปรรูปส่งผลต่อคุณภาพน้ำ การทำการเกษตรเพื่อมุ่งสร้างรายได้สงผลให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายและสร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น

(๒) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นผลรวมจากโครงสร้างประชากรของประเทศที่เป็นสังคมสูงอายุ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่สะดวกมากขึ้น การเติบโตของชุมชนเมือง การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการใช้งานของคนทุกวัยและทุกสถานภาพ การเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและสังคมกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคและนานาชาติ ทำให้การเคลื่อนย้ายของเงินทุน แรงงานและสินค้ามากขึ้น ซึ่งย่อมอ่อนไหวต่อการระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นผลจากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น

(๓) ความเหลื่อมล้ำและความเปลี่ยนแปลงในสังคม จากความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยด้านต่าง ๆ เช่น การเข้าถึงบริการสุขภาพ การเข้าถึงข้อมูล การศึกษา เทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ปัญหาต่าง ๆ จะต้องได้รับการแก้ไขหรือบรรเทาด้วยกลไกต่าง ๆ โดยการปฏิรูปครั้งใหญ่ของสังคมไทย การกระจายอำนาจให้ชุมชนมีความสามารถในการจัดการตนเองน่าจะเป็นคำตอบได้ในระดับหนึ่ง

เมื่อมาพิจารณาสถานการณ์ทั้ง ๓ ประการที่เกี่ยวข้องข้างต้นแล้วนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า ระบบสุขภาพมีขอบเขตและความหมายที่กว้างขวางเกี่ยวข้องกับเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่มีผลเกี่ยวข้องกระทบกับสุขภาพมากมายหลายด้าน ทั้งปัจจัยด้านบุคคล ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมและปัจจัยด้านระบบบริการสุขภาพ

จึงจำเป็นต้องอาศัย “พลังร่วม” ขององค์กร หน่วยงาน และเครือข่าย ทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมกันพัฒนาระบบสุขภาพ ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำไปโดยลำพัง

ซึ่งก็สอดคล้องกับคำนิยามของคำว่า “ระบบสุขภาพ” ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ว่าหมายถึง “ระบบความสัมพันธ์ทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ” ในขณะที่คำว่า “สุขภาพ” นั่นหมายถึง “ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล” นั้นเอง

นอกจากนั้นแล้วในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ก็ได้บัญญัติให้เห็นสาระของ “ระบบสุขภาพ” โดยต้องมีการกำหนดไว้ใน “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” ว่าอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) ปรัชญาและแนวคิดหลักของระบบสุขภาพ
(๒) คุณลักษณะที่พึงประสงค์และเป้าหมายของระบบสุขภาพ
(๓) การจัดให้มีหลักประกันและความคุ้มครองให้เกิดสุขภาพ
(๔) การสร้างเสริมสุขภาพ
(๕) การป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ
(๖) การบริการสาธารณสุขและการควบคุมคุณภาพ
(๗) การส่งเสริม สนับสนุน การใช้และการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ การแพทย์แผนไทยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ
(๘) การคุ้มครองผู้บริโภค
(๙) การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาพ
(๑๐) การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ
(๑๑) การผลิตและการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข
(๑๒) การเงินการคลังด้านสุขภาพ”

อีกทั้งในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้ระบุ “ปรัชญาและแนวคิดหลักของระบบสุขภาพ” กำหนดไว้อีก ๘ ประการ คือ

(๑) สุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
(๒) ระบบสุขภาพ เป็นระบบความสัมพันธ์ทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยมีระบบการบริการสาธารณสุขเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพ
(๓) ระบบสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม และเป็นส่วนหนึ่งของระบบความมั่นคงของประเทศ
(๔) รัฐและทุกภาคส่วนในสังคมพึงให้ความสำคัญอย่างสูงแก่การพัฒนาระบบสุขภาพ
(๕) ระบบสุขภาพจะต้องส่งเสริมคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องให้ความสำคัญกับความเป็นธรรม และความเท่าเทียมกันในสังคม
(๖) ระบบสุขภาพจะต้องคำนึงถึงการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ครอบคลุมภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันอย่างสมดุล
(๗) ระบบสุขภาพจะต้องให้ความสำคัญสูงกับการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนและการพึ่งตนเองได้ของประชาชน
(๘) ทุกภาคส่วนมีหน้าที่ร่วมกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศจากแนวทางบริโภคนิยมไปสู่แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพ ทางจิต ปัญญาและสังคม

จาก ๑๒ องค์ประกอบในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ “สุชาติ อุดมโสนากิจ” และคณะ เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเติมองค์ประกอบอื่นๆอีก ๔ ประการ หรือหลัก 4G’s เพื่อให้สมบูรณ์ขึ้น เพื่อทำให้ทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพในประเทศไทยเข้าถึงความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง ได้แก่

(๑) G๑ : Governance หรือ “ระบบอภิบาล” ซึ่งหมายรวมถึง การใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมและสร้างสรรค์ การกระจายอำนาจในการบริหารจัดการไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาวะความเป็นผู้นำที่ซื่อสัตย์ มีความกล้าหาญ กล้าตัดสินใจ มีความเข้าใจหลักการของระบบสุขภาพและมีความมุ่งมั่นพัฒนาสังคมโดยรวม ซึ่งต้องสร้างให้เกิดขึ้นทั้งในส่วนกลางและในท้องถิ่น การกำกับดูแลซึ่งควรเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และสนับสนุนการปฏิบัติหรือกิจกรรมใด ๆ โดยอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับกฎระเบียบ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคมในหลาย ๆ มิติตามความเหมาะสมสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพ

(๒) G๒: Glomeration หรือ “การรวมกันเป็นหนึ่ง” หมายถึง การทำงานอย่างมีเอกภาพ แม้จะอยู่ในหน่วยงานที่ต่างกัน แต่มีความเข้าใจและยอมรับหลักการในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพร่วมกัน มีนโยบายที่สอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน พยายามขจัดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน

(๓) G๓: Growth หรือ “การเติบโต” ของระบบสุขภาพ ด้วยการขยายหลักการของระบบสุขภาพไปยังทุกภาคส่วน การส่งเสริมการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการระบบสุขภาพไปยังองค์กรในชุมชนและท้องถิ่น รวมทั้งภาคประชาสังคม ให้มีบทบาทร่วมในการกำหนดทิศทาง มีอำนาจในการตัดสินใจ การดูแลสอดส่องและการติดตามประเมินผลการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพ บนพื้นฐานความต้องการที่แท้จริงในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ต้องส่งเสริมให้องค์กรต่าง ๆ ข้างต้นมีศักยภาพเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ

(๔) G๔: Generosity หรือ “ความเอื้ออาทร” โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ฐานะ สถานะทางสังคม อายุ ความสมบูรณ์พร้อมของร่างกายและจิตใจ โดยถือว่าระบบสุขภาพเป็นระบบที่จะเป็นหลักประกันพื้นฐานของการดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุข และทุกคนในฐานะที่เป็นหน่วยหนึ่งของสังคม สามารถเป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับ โดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมร่วมกัน

โดยสรุปจากที่ผมกล่าวมาทั้งหมดจึงเห็นได้ว่า ระบบสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่สลับซับซ้อน มีมิติกว้างกว่าเรื่องทางการแพทย์และสาธารณสุข อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับเสริมสร้างพลังอำนาจภาคประชาชน ผ่านการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพร่วมกันทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่นและระดับชาติ

ความท้าทายของการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งนี้ จึงเกี่ยวข้องกับทั้งการสร้างองค์ความรู้เพื่อรองรับการปฏิรูประบบสุขภาพ การพัฒนาและติดตามนโยบายสาธารณะที่ผ่านการถกแถลงจากคนทุกฝ่ายในสังคม การประสานกับทุกฝ่ายโดยเฉพาะกับฝ่ายที่เป็นผู้กำหนดนโยบายเพื่อนำข้อเสนอและมติต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ การวางยุทธวิธีการทำงานที่จะนำเอาข้อมติทั้งหลายไปเชื่อมโยงกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และผลักดันให้เป็นรูปธรรมให้ได้จริง

เพราะเจตนารมณ์สำคัญของการปฏิรูประบบสุขภาพ คือ การเน้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมสร้างและผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เน้นการ “สร้างนำซ่อม” เน้นการเข้าถึงระบบสุขภาพที่เป็นธรรมอย่างถ้วนหน้าและมีคุณภาพ และเน้นการขับเคลื่อนสุขภาวะทุกมิติบนพื้นฐานของการใช้ความรู้คู่กับความรักเป็นหลัก

ความตั้งมั่นเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ภารกิจการปฏิรูประบบสุขภาพสามารถดำเนินต่อเนื่องไปได้ โดยที่การลงแรงครั้งนี้จัก “ออกดอกออกผลมุ่งมาดสมปรารถนาในที่สุด”

วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

บทสรุป “นนส.ทริป”: พลังเล่น พลังเรียน (รู้) สานพลังคนทำงาน

๔ มีนาคม ๒๕๕๗

อาจเป็นเพราะผมเชื่อว่า “การเดินทาง” คือ กระบวนการเติบโตเพื่อการเรียนรู้ในอีกรูปแบบหนึ่งที่นอกเหนือจากการอยู่เพียงในห้องแคบๆที่เรียกกันว่า “ห้องประชุม” เพียงเท่านั้น แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบ ๒ สัปดาห์แล้ว แต่ประสบการณ์จากทริปเวียดนามกับทีม นนส. หรือ “นักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ยังหวนอยู่ในความทรงจำกับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ การออกแบบกิจกรรมที่มีมากกว่าเพียงการเดินทางและเที่ยวชมสถานที่สำคัญ ๆ จึงทำให้การเดินทางครั้งนี้มีความหมายยิ่งนัก

กว่า ๑ เดือนก่อนถึงวันเดินทาง ชาว นนส. ทุกคน ต้องอ่านหนังสือมาล่วงหน้า ๒ เล่ม คือ “บูรพาภิวัฒน์” ของ “อเนก เหล่าธรรมทัศน์” กับ “ยลญวน” ของ “พิษณุ จันทร์วิทัน” เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกันระหว่างนั่งอยู่บนรถบัสที่เดินทางจากมุกดาหาร ผ่านลาว และข้ามไปยังเวียดนาม

อีกทั้งก่อนถึงวันเดินทาง ๑ วัน ทางองค์กรผู้จัด คือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ยังได้เชิญ “ดร.สิริวงษ์ หงส์สวรรค์” ที่เป็นผู้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศเวียดนาม มาบอกเล่าเรื่องราวต่างๆให้กับชาว นนส. รับฟังกว่า ๒ ชั่วโมง

๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ กับการเดินทางวันแรกบนรถบัส ๒ คัน คันที่ ๑ มี “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” กับ “สุทธิพงษ์ วสุโสภาพงษ์” เป็นทีม สช. ที่คอยเอื้ออำนวย และสำหรับรถคันที่ ๒ มีผม และ “สุนีย์ สุขสว่าง” เป็นทีมเอื้ออำนวย

ต้องบอกว่าเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง ทีม นนส. บนรถคันที่ ๒ ได้มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันเองว่า ใครเป็นทีมวิชาการ ทีมสันทนาการ และทีมประสานงาน เมื่อรถเริ่มเคลื่อนตัวงานต่าง ๆ ก็เดินตามที่กลุ่มได้ออกแบบไว้อย่างลงตัว

"วิชัย นิลคง" จากจังหวัดน่าน ได้แจกจ่ายผังความคิด (mind map) สรุปย่อหนังสือ “บูรพาภิวัฒน์” เหลือเพียง ๑ หน้ากระดาษแก่ผู้ร่วมเดินทาง เช่นเดียวกับ “วันชัย ประชุมชน” สมาชิกจากรถคันที่ ๑ ก็ได้จัดทำและแจกจ่ายให้กับสมาชิกทั้ง ๒ กลุ่มได้เรียนรู้ร่วมกัน เอกสารทั้ง ๒ แผ่น ต่างสรุปรวบยอดเนื้อหาของหนังสือกว่า ๓๐๐ หน้า ได้อย่างชัดเจน และเป็นต้นทุนสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันบนรถที่กำลังเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้อย่างดียิ่ง

บนรถคันที่ ๒ หลังจากทีมสันทนาการได้สร้างสีสันจบแล้ว “วิชัย นิลคง” เจ้าของผังความคิด ก็ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ชักชวนสมาชิกแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน สมาชิกแต่ละคนต่างนำเสนอทัศนะที่หลากหลายและเพิ่มเติมเรื่องราวจากประสบการณ์ที่ประสบมาอย่างสนุกสนานและเต็มเปี่ยมไปด้วยสาระ

ยามเมื่อยล้าจากเวทีวิชาการและการเดินทาง ทีมสันทนาการและผู้ร่วมเดินทางก็สร้างบรรยากาศด้วยเสียงเพลงปากเปล่าโดยปราศจากดนตรีประกอบ ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้ไกด์เจ้าถิ่นทั้งชาวลาวและเวียดนามได้ทำหน้าที่เติมเต็มข้อมูลสำคัญของแต่ละประเทศให้กับพวกเรา

ในแต่ละวันคณะของเราได้แวะชมสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย โดยมีไกด์คอยเติมเต็มข้อมูลที่มาที่ไปอย่างรอบด้าน ซึ่งผมได้เขียนเล่าเรื่องดังกล่าวผ่านจดหมายถึงลูกชายถึง ๕ ฉบับไปแล้ว

ในวันเดินทางกลับ กิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นบนรถที่ผมประทับใจมาก คือ การยอวาทีเรื่อง “ยลญวนว่าเร้าใจ ไทยเราลัลล้ากว่า” นับว่าได้สร้างสีสันและการมีส่วนร่วมให้กับสมาชิกกลุ่มที่ ๒ เป็นอย่างมาก โดยกลุ่มที่อยู่ที่ฝั่งซ้ายมือก็พยายามยกจุดเด่นของประเทศเวียดนามมานำเสนอ ในขณะที่สมาชิกที่อยู่ฝั่งขวามือ ก็หาเรื่องราวของประเทศไทยมาเสนอ เป็นกิจกรรมที่แฝงทั้งสาระทั้งความสนุกสนานเฮฮาในคราเดียวกัน

เหล่านี้คือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วง ๕ วัน ที่ชาว นนส. ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

อย่างที่ผมบอกไปในตอนต้นแล้วว่า เพราะทริปนี้มีการออกแบบที่ผสานทั้งพลังเล่นและพลังวิชาการด้วยตัวของ นนส. เอง จึงทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลผลิตออกมาอย่างวิจิตรบรรจง ถือเป็นพื้นฐานสำหรับการต่อยอดยกระดับสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพในวาระและโอกาสข้างหน้าได้เป็นอย่างดีต่อไป

การใช้เวลาบนรถบัสผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกันตามประเด็นที่แต่ละคนค้นพบจากหนังสือ ๒ เล่ม อีกทั้งยังเปิดกว้างสำหรับแง่มุมอื่น ๆ ที่สอดคล้องกัน ถือเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสการเรียนรู้มุมมอง ทัศนคติของคนอื่น ๆ เป็นอย่างดี

เพราะเวลาบนรถยนต์เป็นเวลาที่ไม่มีใครสามารถยึดครองการเป็นผู้พูดไว้แต่เพียงผู้เดียว รวมทั้งบรรยากาศสองข้างทางที่รถแล่นผ่าน ทั้งภูเขาที่เขียวขจี ต้นข้าวที่กำลังออกรวง บ้านเรือนที่ปลูกตามฐานะของคนอยู่ กลายเป็นครูโดยธรรมชาติบนเส้นทางที่โชเฟอร์ได้พาลัดเลาะไป เหล่านี้คือประสบการณ์ที่ได้รับมากกว่าการอยู่ในห้องประชุมเพียงเท่านั้น

เสียงไกด์ชาวลาวและเวียดนามที่ส่งเสียงภาษาไทยได้อย่างชัดเจนอธิบายแง่มุมความเป็นมาทั้งเชิงภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คู่ขนานไปกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ทางขวาและซ้ายของผู้ฟัง ก็นับเป็นปรากฏการณ์ที่เติมเต็มให้ได้เรียนรู้แบบเร่งด่วน โดยไม่ต้องไปค้นคว้าหาด้วยตนเอง มิหนำซ้ำยังได้อรรถรสจากการสอดแทรกมุขตลกที่เรียกเสียงเฮฮาได้บ่อยครั้ง

การได้แวะปั้มน้ำมันข้างทางบนดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ยังได้รู้ว่าการพัฒนาสภาพแวดล้อมตามนโยบายสุขาน่าใช้ (Healthy Toilet) ของประเทศไทยก้าวหน้าไปไกลกว่าหลายขุม แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้มากกว่านั้นก็คือ ราคาน้ำมันของประเทศเขายังต่ำกว่าของประเทศไทยเราอยู่ คำถามก็คือ อะไรคือต้นทุนที่ส่งผลทำให้น้ำมันจากจุดเดียวกันซึ่งน่าจะมีราคาใกล้เคียงกันกลับมีความแตกต่างกันเช่นนี้

อาหารในต่างแดน แม้จะมีรสชาติแตกต่างไปบ้างจากรสแบบไทย แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งก็จะเห็นความละม้ายคล้ายคลึงกัน ไม่ได้แตกต่างกันแบบที่เคยเห็นเมื่อไปเยือนประเทศทางตะวันตก ไข่เจียว ผัดผัก อาหารทะเล หมู ไก่ ปลา คือปัจจัยพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน

การได้อยู่ด้วยกัน กินด้วยกัน นอนโรงแรมแห่งเดียวกัน ถ่ายรูปด้วยกัน ท่องเที่ยวไปด้วยกัน กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นการสานความเป็นกันเองให้เกิดความสนิทสนม เรียนรู้นิสัยใจคอของกันและกัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “เครือข่าย” ข้ามพรมแดนจังหวัดได้เป็นอย่างดี

บทพิสูจน์หนึ่งที่ผมได้ยินกับตัวเองก็คือ “กิจกรรมนี้ดีมาก ๆ อยากให้มีอย่างต่อเนื่อง โดยยินดีออกค่าใช้จ่ายเอง”

กล่าวได้ว่าทริปนี้จึงสอดรับกับเป้าหมายของหลักสูตร นนส. ที่ต้องการสร้าง “เครือข่าย” การทำงาน นอกเหนือจากการเรียนรู้กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมที่วางไว้เพียงเท่านั้น

ในเชิงสาระการเรียนรู้ ผมได้กล่าวสรุปไว้ในตอนท้ายของกิจกรรมยอวาทีเรื่อง “ยลญวนว่าเร้าใจ ไทยเราลัลล้ากว่า” หลังจากที่เพื่อน ๆ ได้สะท้อนความคิดเห็นต่อการได้ไปเรียนรู้ประเทศเวียดนามในช่วง ๔ วัน กันจนครบถ้วนแล้วว่า

(๑) การได้มาเที่ยวชมประเทศเวียดนามเพียง ๔ วัน อาจจะมีการเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ยังไม่ลึกซึ้งมากนัก ฉะนั้นต้องมีการศึกษาข้อมูลให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จึงจะเปรียบเทียบทั้งสองประเทศได้อย่างตรงประเด็นและรอบด้าน

(๒) สิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งน่าจะนำไปเป็นตัวอย่างได้ คือ

(๒.๑) การจราจร : ประเทศเวียดนามมีการจำกัดความเร็วของรถยนต์ไว้ที่ ๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากใครฝ่าฝืนจะถูกจับและปรับ ทำให้คนเวียดนามเป็นคนที่มีวินัย ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และนำไปสู่การมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่นำไปสู่ความเสียหายขั้นรุนแรงน้อย แม้จะมีการใช้จักรยานร่วมกับมอเตอร์ไซด์และรถยนต์บนถนนเดียวกันก็ตาม

(๒.๒) โรคอ้วน : จากการท่องเที่ยวตลอด ๔ วัน ไม่พบเห็นคนมีรูปร่างอ้วนแม้แต่น้อย ซึ่งอาจจะเกี่ยวเนื่องมาจากคนเวียดนามนิยมเดินทางโดยการใช้จักรยานกันมาก ถือเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการรณรงค์การส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นวิถีชีวิตตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอยู่เช่นกัน

(๒.๓) การท่องเที่ยว : สถานที่ดูงานทั้งหมดจะเชื่อมโยงกับแหล่งประวัติศาสตร์ของประเทศซึ่งนำมาซึ่งรายได้เข้าประเทศ จึงคล้ายคลึงกับประเทศไทยทีหันมาให้ความสำคัญกับแหล่งประวัติศาสตร์อันสำคัญของประเทศ

(๒.๔) การเกษตรกรรม : ประเทศเวียดนามยังเป็นการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ใช้กำลังคนเป็นหลัก ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่หันมาใช้เครื่องจักรกลเข้ามาช่วย ตั้งแต่การหว่านดำ การฉีดยา การเก็บเกี่ยวตลอดจนการไถพรวน

(๒.๕) ข้าว : แม้ประเทศเวียดนามจะเป็นคู่แข่งกับประเทศไทยในการส่งออก แต่ทราบจากไกด์ว่า คนเวียดนามยังยอมรับในรสชาติของข้าวไทย โดยบอกว่าข้าวไทยอร่อยกว่าข้าวเวียดนาม แต่ที่น่าสนใจก็คือ คนเวียดนามจะใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์โดยการปลูกข้าวเต็มพื้นที่ว่างทุกพื้นที่

(๒.๖) ทิวทัศน์ : สองข้างทางที่รถวิ่งผ่าน ยังพบความเขียวขจีของป่าไม้ ภูเขา ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่เห็นภูเขาหัวโล้นเป็นส่วนใหญ่

(๒.๗) การศึกษา : ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่แน่ใจว่าคนไทยสนใจภาษาเวียดนามมากน้อยเพียงใด

(๓) มุมมองของผมต่อ หนังสือ “บูรพาภิวัฒน์” และ “ยลญวน” ที่ผมได้แสดงทัศนะไว้ตอนหนึ่งที่รถบัสกำลังเดินทางกลับสู่ประเทศไทย ไว้ ๖ ประการ

(๓.๑) เป็นบทเรียนที่ นนส. น่าจะยึดเป็นตัวอย่างในการทำงานด้านการใช้ “ข้อมูล” ที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ ประกอบเรื่องราวต่าง ๆ ที่นำเสนอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของนักสานพลัง ที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงผู้คนให้เข้ามาร่วมกันพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ซึ่ง “ข้อมูล” เป็นเรื่องสำคัญของการพัฒนาตลอดวงจรของนโยบายสาธารณะ

(๓.๒) ได้เห็นแนวโน้มการพัฒนาในอนาคต ที่จะใช้มาตรการทางด้าน “การทูต” มากกว่า “สงคราม” การมองประเทศเพื่อนบ้านเป็น “พันธมิตร” มากกว่าเป็น “คู่แข่ง” ฉะนั้น บทบาทการ “สานพลัง” จึงมีความสำคัญมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างทักษะการทำงานด้านนี้ให้เพิ่มขึ้น

(๓.๓) ประเทศต่าง ๆ จะหันมาใช้ทุนทางศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ มาเชื่อมโยงกับการจัดหารายได้เข้าประเทศมากขึ้น ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งนำเสนอผ่านภาพยนตร์และละครมากขึ้น จึงนับเป็นข้อเตือนใจสำหรับ นนส. ที่ควรพัฒนาชุมชนที่ยึดโยงกับฐานทุนทางประวัติศาสตร์หรือ “รากเหง้า” ของชุมชนให้มากขึ้น

(๓.๔) ได้เห็นตัวอย่างการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่ดี อาทิ ประเทตุรกีได้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไว้ว่า “ไร้ปัญหากับเพื่อนบ้าน” หรือประเทศอินโดนีเซีย กำหนดไว้ว่า “เพื่อนมากมาย ศัตรูไม่มีเลย” ซึ่งเป็นตัวอย่างในการนำมาใช้ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ ชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ที่ชัดเจน และถือเป็นกรอบในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงทิศทางการพัฒนาที่วางไว้อย่างเข้มงวด

(๓.๕) การสร้างความร่วมมือระดับประเทศสามารถกระทำได้หลายมิติ เช่น ใช้ความเป็นกลุ่มภูมิภาคเดียวกัน เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประเทศยุโรป ใช้การตั้งอยู่บนคาบสมุทรเดียวกัน เช่น ประเทศที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรแปซิฟิค ที่จัดตั้งเป็นกลุ่ม G ๗ และจะขยายเป็นกลุ่ม G ๒๐ หรือใช้ขนาดของประเทศเป็นกรอบการสร้างความร่วมมือ เช่น กลุ่ม BRIC (ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) ซึ่งสมาชิกเป็นประเทศที่พื้นที่และประชากรจำนวนมาก ซึ่งมิติต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นตัวอย่างที่ นนส. สามารถนำไปเป็นตัวอย่างการทำงานในการสานความร่วมมือกับพื้นที่ต่าง ๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมองพื้นที่ข้างเคียงเท่านั้น

(๓.๖) พลังของเรื่องเล่า อย่างเช่น เรื่องเล่าจาก “ยลญวน” นับว่ามีคุณค่า ทำให้ผู้อ่านได้เห็นที่มาที่ไปของเรื่องราวต่าง ๆ ได้เข้าใจศิลปะ วัฒนธรรม อาหารการกิน รวมทั้งแนวคิดการพัฒนาต่าง ๆ ของผู้เขียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากและในหลากหลายมิติ จึงอยากให้ “นนส.” ได้ให้ความสำคัญกับการเขียนเรื่องเล่าในงานที่ตนเองทำไว้

แม้วันเวลาจากการเดินทางจะผ่านไปร่วม ๒ สัปดาห์แล้ว แต่ความรู้สึกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ เจือปนไปด้วยความรัก ความเอื้ออาทร ความสนุกสนาน ยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจและความทรงจำของผมอย่างยากจะลืมเลือนและจางหายไปกับการเดินทางของกาลเวลาที่เพิ่มขึ้น