วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

วิถีชาวเล : คืนปูให้ทะเล

๓๐ เมษายน ๒๕๕๗

“มาเยี่ยมชม บุคคล สาธารณะ……….ที่มานะ สร้างเสริม เติมอาหาร
ให้อุดม สมบูรณ์ ถิ่นพักพาน………………………..เป็นถิ่นฐาน เลี้ยงผู้คน ได้ชิมกิน

เพาะพันธุ์ปู แล้วนำคืน ธรรมชาติ…...เป้าแน่ชัด ท้องทะเล กระแสสินธุ์
แหล่งอาหาร อุดมพลี มีปูกิน……………………….สร้างแผ่นดิน มีสารพัด นานาปู

น้าชำนาญ ลุงนันท์ และป้าต้อย………ตัวเชื่อมร้อย อุดมการณ์ ด้วยใจสู้
ขอคารวะ ด้วยจิต และเชิดชู……………………….ท่านคือผู้ สร้างโลก ให้สมบูรณ์”

บทกลอนข้างต้นผมได้ถ่ายทอดความรู้สึกไว้ใน “สมุดเยี่ยม” ที่ “น้าชำนาญ” ขอให้ผมเขียนแสดงความคิดเห็นต่องานที่เรียกว่า “ธนาคารปู” กิจกรรมเล็ก ๆ แต่มีคุณค่า และส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของ “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ให้เป็นแหล่งอาหารสำหรับหล่อเลี้ยงผู้คนทั่วโลกได้ชิมได้กินกันต่อไปในทุกวี่วัน

ในช่วงก่อนเที่ยงของวันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๗ ผมและทีมงานรวม ๘ คน ในนามของคณะวิจัยโครงการการจัดการองค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา) ของวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชม “ธนาคารปู” ที่ “กลุ่มออมทรัพย์ ป.ทรัพย์อนันต์ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา”

“กลุ่มออมทรัพย์ ป.ทรัพย์อนันต์” แห่งนี้ แต่ก่อนเป็นเพียง “แพ ป.ทรัพย์อนันต์” ที่ทำกิจการซื้อขายปูทะเลจากชาวประมงทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน แต่เมื่อ “ลุงนันท์” และ “ป้าต้อย” เจ้าของได้เห็นความสำคัญและต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวประมง จึงริเริ่มให้มีการออมเงินเพื่อเป็นสวัสดิการด้านต่าง ๆ ให้กับสมาชิก และจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ เป็นต้นมา

กลุ่มออมทรัพย์แห่งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ ๔ ข้อ คือ (๑) เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะปูที่ใกล้สูญพันธุ์ เป็นการขยายการเพาะพันธุ์ลูกปูจากแม่ปูคืนสู่ธรรมชาติ (๒) ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้าน (๓) ส่งเสริมการออมทรัพย์และการประหยัดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ (๔) ส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและทะเลอ่าวไทยให้เป็นแหล่งทำมาหากินแก่คนรุ่นหลังต่อไป

หลังจากทักทาย “น้าชำนาญ” น้องชาย “ลุงนันท์” หัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญแล้ว ผมใช้โอกาสที่หาได้ไม่ง่ายนี้ เดินสำรวจดูสถานที่โดยรอบของธนาคารปู ที่เต็มไปด้วยบ่อคอนกรีตขนาดยาวประมาณ ๕ เมตร กว้างประมาณ ๑ เมตร ก่อสูงขึ้นมาจากพื้นประมาณครึ่งเมตร โดยมีการก่อปูนกั้นเป็นห้อง ๆ ราว ๑๐ ห้อง แต่ละห้องก็จะมีน้ำประมาณค่อนถัง มองลงไปจะเห็นลูกปูขนาดต่าง ๆ ว่ายวนอยู่ยั้วเยี้ยเต็มไปหมด บางห้องแทบมองไม่เห็นลูกปูเพราะตัวเล็กมาก สอบถาม “น้าชำนาญ” จึงรู้ว่าเพิ่งมีอายุได้ประมาณ ๒ – ๓ วันเท่านั้น

ผมเดินลัดเลาะไปยังด้านหลังของตัวธนาคาร ซึ่งเป็นบริเวณทะเลสาบที่มีสะพานไม้ทอดยาวยื่นออกไปในท้องทะเล ขณะนั้นมีเรือประมงขนาดเล็กจอดอยู่ประมาณ ๔ – ๕ ลำ เรือแต่ละลำก็จะมีเครื่องมือประมงอยู่พร้อมสรรพวางซ้อนเทินกันอยู่เต็มลำเรือ

ผมเดินย้อนกลับออกมาด้านหน้าธนาคารอีกครั้ง สายตาก็ประสบกับอาหารทะเลที่วางอยู่บนโต๊ะทั้งปลาหมึก ปลา และที่สำคัญก็คือปูนึ่งตัวใหญ่ ๆ วางบนจานพูน โดยมีเสียงของ “น้าชำนาญ” เอ่ยเชิญชวนทีมงานของเราว่า “กินข้าวกันก่อน”

บุคคล ๓ คน สำคัญที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ของ “ธนาคารปู” แห่งนี้ คือ “ลุงนันท์” “ป้าต้อย” และ “น้าชำนาญ”

“ลุงนันท์” ชายวัยกลางคนที่นับถือศาสนาพุทธท่ามกลางชาวบ้านรายรอบในหมู่บ้านที่นับถืออิสลาม แต่ด้วยความมีอัธยาศัยไมตรีที่ดีและยังได้ “ป้าต้อย” ภรรยาคอยช่วยเหลือและมีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อผู้คน ทำให้ครอบครัวนี้กลายเป็นที่รักของทุกคนในชุมชน

“ลุงนันท์” เล่าให้กับทีมงานของเราฟังด้วยเสียงดังฟังชัดว่า “ในสมัยก่อนบริเวณแถวนั้นจะมีปูอุดมสมบูรณ์ขนาดมีคำเปรียบเปรยว่า หากเอาอวนไปลากแล้วชักอวนขึ้นมาจะไม่มีที่ให้มือจับ เพราะทั้งอวนจะเต็มไปด้วยปู แต่เหตุการณ์เริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ที่มีการสร้างฐานเจาะน้ำมันกลางทะเล จำนวนปูเริ่มลดลงอย่างชัดเจน โดยดูจากปริมาณการจับปูที่เคยได้วันละหลายร้อยกิโลกรัมต่อครั้งที่ออกทะเลไป ลดลงมากถึงบางวันไม่สามารถจับปูได้เลย ออกเรือไปก็ไม่คุ้มกับค่าน้ำมัน จนเวลาผ่านไปประมาณ ๕ ปีเศษ “ปู” กลายเป็นสิ่งหายากยิ่งในย่านทะเลแถวนั้น”

“ลุงนันท์” มานั่งคิดว่าควรจะทำอะไรดี เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปย้ายฐานเจาะน้ำมันออกไปให้พ้นจากกลางทะเล จึงคิดที่จะทำให้ปูกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเก่าก่อนแทน ประกอบกับตัวเองก็รู้สึกผิดบาปกับชีวิตที่ผ่านมาซึ่งใช้ “ปูทะเล” เป็นแหล่งทำมาหากินของครอบครัวจนความเป็นอยู่ดีขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน

จากฐานคิดดังกล่าว จึงแลกเปลี่ยนกับผู้คนฝ่ายต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนในที่สุดได้รับการสนับสนุนจากบางหน่วยงานให้วัสดุก่อสร้างและเงินทุนมาก้อนหนึ่ง รวมกับเงินส่วนตัวที่ได้รับเป็นค่าชดเชยความเสียหายที่ทาง ปตท. ในฐานะเจ้าของฐานเจาะน้ำมันจ่ายให้รายเดือน มาก่อสร้างและพัฒนาเป็น “ธนาคารปู” มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ โดยมี “น้าชำนาญ” เป็นกำลังสำคัญในการเพาะพันธุ์ปู

อย่างไรก็ตามการทำธนาคารปูไม่ได้ราบเรียบเป็นเส้นตรง เพราะอุปสรรคสำคัญ คือ “น้ำ” สำหรับเลี้ยงปูที่จะเพาะพันธุ์ออกมา เนื่องจากน้ำทะเลในบริเวณใกล้ ๆ ที่พัก ไม่สามารถที่จะใช้เลี้ยงปูให้อยู่รอดได้ เนื่องจากมลพิษที่มองไม่เห็นจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน จำเป็นต้องขับเรือออกไปนำน้ำจากกลางทะเลมาใช้ และนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

จากสิ่งที่ “ลุงนันท์” กำลังทำอยู่นี้ จึงส่งผลให้เกิดความคิดใหม่ว่า “ทำอย่างไรที่จะให้คนในชุมชนคนอื่น ๆ จะหันมาร่วมมือกันเพิ่มผลผลิตปูให้กับท้องทะเลมากขึ้น” จึงได้เข้าร่วมกับโครงการวิจัยที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ประสานงานมา โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖

ผมได้รับข้อมูลจาก “ศรีภารัตน์ ภูวเดชชูกุลโรจน์” หรือ “น้องน้ำ” ผู้ประสานงานพื้นที่ว่า ในปีที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีชาวบ้านพูดคุยถึงปัญหาและทิศทางการพัฒนาตำบลหัวเขามาแล้ว ซึ่งผลการจัดเวทีนั้นพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้มีสาเหตุมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น

• ชาวประมงหันมาเพิ่มศักยภาพในการทำประมง เนื่องจากเกิดภาวะทรัพยากรที่ลดลง เช่น ลดขนาดตาอวนให้เล็กลงให้สามารถจับสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กได้มากขึ้น เนื่องจากตัวใหญ่เหลือน้อยลง เพิ่มจำนวนเรือหรือจำนวนเครื่องมือประมงเพื่อให้ได้ปริมาณสัตว์น้ำมากขึ้น

•ระบบนิเวศมีความเสื่อมโทรมมากขึ้น โดยเฉพาะมีสาเหตุมาจากน้ำมือมนุษย์ที่ใช้ทะเลสาบเป็นแหล่งรองรับมลพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสีย สารเคมีต่างๆ ที่ปล่อยสู่แหล่งน้ำโดยไม่มีการบำบัดที่ได้มาตรฐาน จึงทำให้ที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำโดนทำลาย

• ภาวะของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เป็นภาวะที่หนุนเสริมให้มีการจับสัตว์น้ำให้ได้มากขึ้นเพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุน แต่ละครั้งที่ออกทะเลไปจับสัตว์น้ำจึงต้องมีสัตว์น้ำกลับมา จึงทำให้เพิ่มเป้าหมายมาจับสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ยังไม่เติบโตและวางไข่ด้วย ทำให้ลดจำนวนสัตว์น้ำที่อยู่ในภาวะเจริญพันธุ์ตามไปด้วย

• ปริมาณเครื่องมือทำลายล้างบริเวณทะเลสาบสงขลาที่มีมากขึ้น ส่งผลให้สัตว์น้ำขนาดเล็กถูกจับไปอย่างมากมายมหาศาล จนทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถโตพอในขนาดที่จะจับได้ สัตว์น้ำบางชนิดก็เกิดการสูญพันธุ์ในที่สุด

• การบังคับกฎหมายไม่สามารถทำอย่างจริงจังได้ เป็นสาเหตุที่กระบวนการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ไม่เป็นผล เนื่องจาก ผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติมีมูลค่ามหาศาล การจัดการจึงไม่สามารถดำเนินคดีอย่างจริงได้เพราะมีกลุ่มอิทธิพลขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่

• หน้าที่ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติไม่ได้เป็นหน้าที่ของเฉพาะหน่วยงานราชการเท่านั้น ต้องขยายการมีส่วนร่วมไปถึงทุกคนที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาตินั้นร่วมกัน ทั้งคนจับสัตว์น้ำ คนซื้อขาย คนบริโภค ต่างก็มีส่วนในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน

จากสาเหตุที่ชาวบ้านร่วมกันวิเคราะห์ขึ้นมานั้น จึงได้ร่วมกันพิจารณาว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในที่สุดทุกฝ่ายก็เห็นพ้องกันว่าควรจะมี “กติกาชุมชน” ในการบริหารจัดการทรัพยากรในทะเล ร่วมกัน

ตัวอย่างกติกาชุมชนของตำบลหัวเขาที่ผมได้เห็นนับว่าสนใจยิ่ง อาทิเช่น

• ขนาดสัตว์น้ำที่จับ ไม่ควรจับสัตว์น้ำที่มีขนาดยังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เพื่อให้สัตว์น้ำได้สามารถแพร่พันธุ์ก่อน
• เครื่องมือจับสัตว์น้ำต้องเป็นเครื่องมือที่ไม่ทำลายล้าง
• วิธีการจับสัตว์น้ำที่มีจรรยาบรรณในการทำประมง
• การกำหนดเขตในการจับสัตว์น้ำที่เหมาะสม และการสร้างเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ
• การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการจัดการทรัพยากรร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกับหน่วยงาน หน่วยงานกับชาวบ้าน กลุ่มประมงพื้นบ้านกับประมงพาณิชย์
• การสร้างพื้นที่เรียนรู้ ชุดการเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดและขยายพื้นที่ให้กับ บุคคลหรือกลุ่มที่สนใจ
• การสร้างจิตสำนึกสาธารณะร่วมในการใช้ทรัพยากร
• การรณรงค์ฟื้นฟูแหล่งน้ำเสียให้มีคุณภาพที่เหมาะสม
• การปล่อยปูที่เพาะฟักสู่ทะเลนอก เพื่อให้อัตรารอดสูงขึ้น แต่ต้องมีแหบ่งหลบซ่อนให้ปูด้วย
• ส่งเสริมชาวประมงให้ทำการเพาะปูทะเลมากขึ้น เพื่อช่วยกันเพิ่มทรัพยากร ให้รอบชายฝั่งทะเลสงขลาหรือทั่วประเทศ
• การศึกษาอัตรารอดในการปล่อยลูกปูสู่ธรรมชาติ ว่ามีอัตรารอดเท่าใด
• การปล่อยสัตว์น้ำ ให้เหมาะสมกับพฤติกรรม เช่น ปูทะเลหากินตอนกลางคืนควรปล่อยในตอนกลางคืนและมีแหล่งหลบภัย หรือปล่อยลงคอกก่อนสู่ทะเล
• การส่งเสริมกลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มออมทรัพย์ให้แก่ชาวประมง
• การรับรองสิทธิชุมชน ให้มีบทบาทในการร่วมจัดการทรัพยากรมากขึ้น โดยให้ท้องถิ่นสนับสนุน
• การรณรงค์ให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกิน เช่น การรับประทาน ปูไข่ ปลาไข่
• สร้างความชัดเจนของบทบาทหน่วยงานต่างๆ ให้แก่ประชาชน และความเข้าใจระหว่างหน่วยงานด้วยกันเอง

โดยเงื่อนไขสำคัญที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน คือ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ต้องเข้ามีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินการในครั้งนี้

กว่า ๓ ชั่วโมง ที่ทีมงานของเรานั่งฟังเรื่องราวต่าง ๆ จากปากของ “ลุงนันท์” และ “น้าชำนาญ” ท่ามกลางอาหารที่จัดบริการโดย “ป้าต้อย” ช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วเสียจริง เวลาแต่ละนาทีที่ผ่านไปล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยสาระที่น่าเรียนรู้ยิ่งนัก โดยเฉพาะผมที่พื้นเพเป็นคนภาคเหนือตอนล่าง ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยท้องทะเลเป็นที่พักพิง เรื่องเล่าต่าง ๆ ที่พรั่งพรูออกมาจากคนต้นเรื่องจึงสนุกและได้แง่คิดในการทำงานของผมยิ่งนัก เกิดความอิ่มเอมใจที่ได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ จากนักเล่าเรื่องที่เป็น “ผู้ทำจริง”

การได้เห็นชุมชนลุกขึ้นมาจัดการกันเอง และนำแนวคิดของ “ธรรมนูญสุขภาพ” อันเป็นเครื่องมือ "ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐" ที่ผมกำลังขับเคลื่อนอยู่ ไปปรับใช้เพื่อสร้าง “กติกาของชุมชน” ด้วยมือของคนในชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อคนในชุมชน นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมเกิดความรู้สึกดังกล่าว

ผมอดคิดไม่ได้ว่าพลังความตั้งใจของคนตำบลหัวเขา โดยเฉพาะ “ลุงนันท์” "ป้าต้อย” และ “น้าชำนาญ” ที่เดินตามเส้นทางศรัทธาอย่างคงมั่น ยิ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงานที่จะมุ่งมั่นตั้งใจและเป็นแรงสนับสนุนเบื้องหลังให้ชาวบ้านที่นี่ได้เดินไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งและเต็มพลังการทำงานที่มุ่งมาดปรารถนาต่อไป

วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

วิถีชาวเล : บางคำถามยังไร้คำตอบ

๒๙ เมษายน ๒๕๕๗

ดวงตะวันเบื้องหน้ากำลังคล้อยต่ำ ความร้อนแรงของแสงสุรีย์ดูราวจะผ่อนคลายกว่าตอนที่ผมอยู่กลางทะเลสาบสงขลายิ่งนัก ผมเดินออกจากบ้านท่าเสา หมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ด้วยใจที่อ่อนโรยพร้อมกับน้ำหน่วงตา และแสงตะวันที่กำลังลาลับฟ้าทีละน้อย ๆ

“กลับมาอีกนะ” คำพูดที่สั่นเครือของ “บังรัน” พูดก่อนที่ผมจะก้าวขึ้นรถตู้

บ่ายวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๗ ผมนั่งอยู่ที่บ้านของ “บังรัน” คำพูดที่อธิบายเหตุการณ์และตั้งคำถามพรั่งพรูจากผู้ร่วมวงสนทนา บางคำถามยังไร้คำตอบในวันนี้ ความสลับซับซ้อนของปัญหาที่ไม่ใช่มองเห็นได้เพียงบนผิวน้ำทะเล และยังเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตเชิงวัฒนธรรมที่แตกต่าง

พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ได้ก่อเกิดปมความขัดแย้งให้กับผู้คนที่มาใช้เป็นแหล่งทำมาหากิน ปัญหาค่อย ๆ เติบโตขึ้นไปตามกาลเวลาที่หมุนเวียนผ่านไป และทำลายความรักความสามัคคีของคนในชุมชนเดียวกันกลายเป็นความเกลียดชังแม้คนรั้วบ้านติดกัน

“ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” พื้นที่สำคัญที่หลายคนรู้จักดี เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนรอบทะเลสาบหลายจังหวัด มีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า ๘,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม ๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา ครอบคลุม ๑๑ อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอหาดใหญ่ อำเภอสะเดา อำเภอรัตภูมิ อำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ อำเภอควนเนียง อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอนาหม่อม อำเภอบางกล่ำ อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดพัทลุง ครอบคลุมทุกอำเภอ รวม ๑๒ อำเภอ และจังหวัดนครศรีธรรมราช ครอบคลุม ๒ อำเภอ คือ อำเภอชะอวด และอำเภอหัวไทร รวมทั้งสิ้น ๒๕ อำเภอ

"บ้านท่าเสา" เป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพประมงในทะเลสาบสงขลาที่อยู่หน้าบ้านนั้นเอง

ในวงสนทนาตั้งแต่บ่ายจนเย็นย่ำวันนั้น มีคนสำคัญร่วมวงและถือเป็นคนต้นเรื่องนาม “บังรัน” ผู้มีพื้นเพจากแดนดินใต้สุดของประเทศไทย "นราธิวาส" ซึ่งได้ย้ายมาอยู่กินกับภรรยาที่บ้านท่าเสามากกว่า ๑๐ ปีเศษ ยึดอาชีพทำประมงพื้นบ้านด้วย “ไซนั่ง” เครื่องมือดักสัตว์น้ำทั้งปลา ปู กุ้ง

"ไซนั่ง" หรือโป๊ะน้ำตื้นหรือลอบยืน คือ เครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่งแต่ถูกเรียกชื่อแตกต่างกันไป โป๊ะน้ำตื้น คือ ชื่อที่เรียกโดยประกาศของจังหวัดสงขลา ส่วน "ไซนั่ง" หรือลอบยืนเป็นคำนิยมที่ใช้กันในหมู่ชาวประมงและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรวมถึงคนทั่วๆไป

“ไซนั่ง” เป็นโครงไม้รูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์สูง ๑.๕ – ๒.๐ เมตร ยาวประมาณ ๑ เมตร กว้างประมาณ ๖๐-๘๐ เซนติเมตร ตัวโครงของไซนั่งบุด้วยอวนไนลอนขนาดของช่องตา ๑.๕ เซนติเมตร มีช่องเปิดสำหรับสัตว์น้ำเข้าทางหนึ่ง ปากช่องเปิดยาวตลอดเท่ากับความสูงของไซนั่ง มีงาแซงกันสัตว์น้ำว่ายน้ำย้อนกลับออกมา ทางด้านตรงข้ามทำเป็นช่องขนาดเล็ก เปิดปิดได้ อยู่ตรงส่วนล่างของไซนั่ง สำหรับเก็บรวบรวมสัตว์น้ำ มีโครงไม้ประกอบเชือกทำเป็นกว้านไม้ขัด สำหรับชักลอกตัวไซนั่งขึ้นพื้นผิวน้ำ

ชาวประมงจะวางไซนั่งในตอนเย็นและเก็บในตอนเช้าตรู่ ที่ระดับน้ำลึกประมาณ ๑ – ๒ เมตร และจะจุดตะเกียงน้ำมันตั้งไว้ส่วนบนของ "ไซนั่ง" ด้วย เพื่อให้มีแสงสว่างช่วยล่อกุ้งและปลาเข้ามา

"ไซนั่ง" เข้ามาในพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตั้งแต่ช่วงประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๐ใช้กันแพร่หลายตั้งแต่บริเวณทะเลสาบสงขลาตอนล่างในจังหวัดสงขลา จนถึงอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เนื่องจากสามารถจับกุ้งได้เป็นจำนวนมากกว่าเครื่องมือประเภทอื่น ๆ อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอย่างดี แม้ว่าการวาง "ไซนั่ง" แต่ละลูกต้องใช้ต้นทุนประมาณลูกละ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงกว่าเครื่องมือประเภทอื่น ๆ ก็ตาม

“บังรัน” เล่าให้ฟังว่า “ไซนั่ง” หนึ่งลูกจะจับสัตว์น้ำไปขายได้คืนละประมาณ ๓๐๐ – ๕๐๐ บาท

เมื่อปี ๒๕๕๖ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพัทลุง ได้สำรวจและสรุปจำนวน "ไซนั่ง" ในทะเลสาบ พบว่าในจังหวัดสงขลามีจำนวน ๒๕,๑๗๘ ลูก และจังหวัดพัทลุงมี ๔,๔๒๖ ลูก

“บังรัน” เล่าให้ฟังว่าชาวบ้านท่าเสาใช้ “ไซนั่ง” เป็นเครื่องมือทำมาหากินมาโดยตลอด แต่ในช่วง ๔ – ๕ ปีหลังมานี้ มีชาวบ้านหันมาใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “อวนรุน” เพราะสามารถจับสัตว์น้ำได้มากกว่า และส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว คืนหนึ่งได้ไม่น้อยกว่า ๑๕,๐๐๐ บาท ในขณะที่ชาวประมงที่ยังใช้ไซนั่งจะมีรายได้คืนหนึ่งสูงสุดไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาทเพียงเท่านั้น

ด้วยรายได้ที่ดีขึ้นกว่าหลายเท่าตัว ชาวบ้านในตำบลจึงหันไปใช้ “อวนรุน” เพิ่มขึ้นทุกวัน จนขณะนี้ชาวบ้านกว่า ๙๐ % หันมาใช้ “อวนรุน” กันหมดแล้ว

“อวนรุน” เป็นเครื่องมืออวนรูปถุงที่ใช้เครื่องยนต์ผลักดันเครื่องมืออวนที่ยึดติดกับเครื่องมืออวน และติดตั้งบริเวณหัวเรือ ให้เคลื่อนที่ในแนวราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สัตว์น้ำที่อยู่ด้านหน้าใกล้ปากอวนเข้ามาติดอยู่ที่ก้นถุงอวน เครื่องมือประเภทนี้ ปากอวนจะเป็นสามเหลี่ยมเอนตามคันรุน

สัตว์น้ำที่เป็นเป้าหมายหลักของ “อวนรุน” คือ กุ้งทะเลทุกชนิด ปลากะตักชนิดตัวแบน หมึกและเคย แต่เนื่องจากปากอวนกางออกเป็นรูปสามเหลี่ยม และเปิดสูงมาก จึงทำให้จับสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่อาศัยบริเวณเดียวกันได้ด้วย

ด้วยความเกรงว่าสัตว์น้ำในท้องทะเลสาบสงขลาจะหมดไป “บังรัน” และชาวบ้านรอบๆทะเลสาบสงขลาจึงลุกขึ้นมารณรงค์ให้ชาวบ้านกลับมาใช้ “ไซนั่ง” เหมือนเดิม มีการร้องเรียนกับทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การกระทำดังกล่าวนำมาซึ่งความเกลียดให้กับชาวบ้านที่ใช้ “อวนรุน” เพราะต้องถูกตรวจตราจากเจ้าหน้าที่ของรัฐมากขึ้น

บางครั้งก็โดนจับ ถูกเรียกค่าปรับ แต่ด้วยรายได้ที่ทบทวีเมื่อเทียบกับค่าปรับเพียง ๕,๐๐๐ บาทเท่านั้น อีกทั้งชาวบ้านยังมีการส่งสัญญาณกันเองเมื่อมีเรือตรวจการณ์แล่นมาเพื่อหลบหลีกจากการตรวจจับจากเจ้าหน้าที่

สิ่งที่ไม่คาดคิดก่อนที่ผมและทีมงานจะไปร่วมวงสนทนาเพียง ๒ วัน นั่นก็คือ “ไซนั่ง” ของ “บังรัน” ที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบจำนวนกว่า ๑๕ ลูก ถูกกีดจนเสียหายไม่สามารถจับดักสัตว์น้ำได้อีกต่อไป นอกจากต้องประกอบขึ้นมาใหม่เพียงเท่านั้น

“บังรัน” เล่าให้ฟังว่า “ไซนั่ง” เหล่านี้ เพิ่งนำมาลงได้เพียงคืนเดียว เงินที่ลงทุนต่อ “ไซนั่ง” ๑ ลูก เกือบ ๒ หมื่นบาท ฉะนั้นงานนี้จึงแทบหมดตัว เพราะค่าเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนี้กว่าสองแสนบาท

หญิงชาวบ้านคนหนึ่งที่นั่งร่วมวงสนทนาอยู่ด้วย ระบายความอัดอั้นใจว่า “เริ่มจะเปลี่ยนความตั้งใจ หันไปทำอวนรุนกับเขาบ้าง แต่ด้วยใจที่ยังอยากอนุรักษ์สัตว์น้ำให้อุดมสมบูรณ์ตลอดไป จึงระงับไม่เห็นแก่รายได้ที่ยั่วยวน”

เรือไม้ความยาวประมาณ ๕ เมตร ท้ายติดเครื่องยนต์ นำผมและทีมงานอีก ๒ คน แล่นฝ่าเปลวแดดอันแรงกล้าไปบนผืนน้ำของท้องทะเลสาบ ละอองน้ำกระเซ็นมาปะทะใบหน้า สร้างความสดชื่นได้พอควร สองฟากซ้ายขวาที่เรือแล่นผ่านไป เต็มไปด้วย “ไซนั่ง” วางเรียงรายสุดลูกหูลูกตา

กว่าครึ่งชั่วโมงที่ต้องใช้เวลานั่งอยู่บนเรือที่ขับโดยเพื่อนบ้าน “บังรัน” พาผมและทีมงานมาหยุดอยู่ ณ จุดตั้ง “ไซนั่ง” ลูกหนึ่ง

“บังรัน” ค่อย ๆ ก้าวไต่ขึ้นไปบนยอดของไซนั่งที่ทำด้วยไม้ไผ่อย่างคล่องแคล่ว ในมือหยิบไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๑ ศอก ติดมือขึ้นไปด้วย “บังรัน” ใช้ไม้อันนั้นสอดเข้าไปในช่องเชือก แล้วค่อย ๆ ม้วนไม้ ทำให้ “ไซนั่ง” ที่จมอยู่ในน้ำ ค่อย ๆ ขยับขึ้นสู่บนผืนน้ำ จนเห็นฐานของ “ไซนั่ง”

ภาพที่ปรากฏต่อสายตาทุกคนที่ไปด้วยกันก็คือ ตาข่ายที่ผูกร้อยรอบตัวโครง “ไซนั่ง” มีรอยถูกของมีคมตัดขาดเป็นช่องโหว่เต็มไปหมด ในใจผมอยากจะเห็นปลาหรือกุ้งสักตัวติดอยู่ในไซนั่งจำเป็นต้องสลายไป

น้ำเสียงของ “บังรัน” เมื่อเห็น “ไซนั่ง” ของตนโดยทำลายอย่างรุนแรง เปลี่ยนไปคล้ายคนจะร้องไห้ คำพูดต่าง ๆ ระบายออกมาบ่งบอกถึงความเจ็บช้ำที่อยู่ในใจของเขา

พวกเราทำได้เพียงการให้กำลังใจชายผู้ถูกกระทำเท่านั้น

เขาบอกกับผมว่า เขาไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า จะโดนกระทำรุนแรงขนาดนี้ เขาไม่กล้าที่จะลงทุนซ่อมแซมไซนั่งที่ถูกทำลาย เพราะเกรงว่าจะโดนลอบกลั่นแกล้งแบบเดิมอีก

วงสนทนาที่ประกอบด้วยชาวบ้านกว่า ๑๐ คน และคณะของเรา ๕ คน นั่งปรึกษาหารือกัน และเห็นพ้องร่วมกันว่า ทางออกเฉพาะหน้าที่เป็นไปได้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องใน ๔ แนวทาง

(๑) ประสานงานกับหน่วยงานด้านการประมงที่ดูแลบริเวณดังกล่าว ให้เร่งรัดการประกาศให้บริเวณพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่อนุรักษ์สัตว์น้ำ ห้ามใช้อวนรุน
(๒) ในระหว่างที่รอการดำเนินงานจากภาครัฐ ควรมีการจัดทำป้ายรณรงค์ให้ชาวบ้านตระหนักและร่วมกันอนุรักษ์สัตว์น้ำที่เหมาะสมกับฤดูกาล
(๓) ทำความเข้าใจกับโต๊ะอิหม่าม ให้ใช้พิธีละหมาดทุกวันศุกร์ เน้นย้ำเรื่องประกาศจังหวัดที่ห้ามใช้อวนรุนในพื้นที่อนุรักษ์ดังกล่าว
(๔) ตั้งวงปรึกษาหารือ เพื่อสร้างกติกาการทำมาหากินร่วมกันในชุมชน

แต่สำหรับผมแล้วแม้จะมีหลักการทำงาน “เรื่องการมีส่วนร่วม” เป็นหลักเสมอมา แต่สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ผมคงไม่กล้าที่จะเสนอให้ตั้งวงพูดคุยโดยใช้หลักการดังกล่าว

เพราะเสียงของ “บังรัน” ที่กระซิบบอกกับผมว่า “แม้แต่คนที่อยู่ข้างบ้าน เขาก็ใช้อวนรุน และตอนนี้เขาไม่คุยกับผมแล้ว”

เมื่อต่างฝ่ายต่างกล่าวถึงเป้าหมายบนจุดยืนที่แตกต่างกันและดูเหมือนจะเป็นเส้นขนานที่ยากจะมาบรรจบกันได้ อะไรคือดุลยภาพของการพัฒนาที่นำมาซึ่งความยั่งยืนรอบด้าน

คำถามท้าท้ายสำคัญที่ว่า จะพัฒนา จะอนุรักษ์ไปทำไม่ เมื่อกระทำแล้ว คนอยู่ไม่ได้ หรือ จะเหลือเพียงผู้คนที่ยากจนและหิวโหย บนวาทกรรมแห่งสิ่งที่เรียกว่า การพัฒนา

ฉะนั้นการพัฒนาที่มีคนเป็นตัวตั้งน่าจะเป็นคำตอบที่สำคัญ ที่จะใช้กำหนดทิศทางแห่งการพัฒนาทะเลสาบสงขลาในอนาคต

การค้นหาคำตอบเรื่องนี้จึงท้าทายสำหรับผมและ “บังรัน” ยิ่งนัก

วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2557

บันทึกไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม : วันรับเสด็จ

๖ เมษายน ๒๕๕๗

วันที่ ๖ เมษายน ปีนี้เป็น "วันจักรี" วันย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยในวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสถาปนาราชวงศ์จักรี และขึ้นครองราชย์เป็นองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในวันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕ เป็นต้นมา

นับจากนั้นเป็นต้นมาประเทศไทยก็มีพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชย์มาจนถึงทุกวันนี้ และได้นำพาประเทศไทยผ่านปัญหาอุปสรรค และก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีการพัฒนาระดับแนวหน้าประเทศหนึ่งในสังคมโลกใบนี้

ฉะนั้นในวาระที่วันจักรีได้เดินมาอีกวาระหนึ่ง ผมในฐานะประชาชนคนไทยที่เกิดและเติบโตอยู่บนพื้นแผ่นดินไทยแห่งนี้ ใคร่ขอน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ท่ามกลางความร้อนระอุของคิมหันตฤดูที่แผ่คลุมประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ผมนึกถึงเรื่องราวเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ตนเองได้มีโอกาสใกล้ชิดพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่งขึ้นมา และขอใช้โอกาสวันหยุดนี้นำความปลาบปลื้มดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟังครับ

ย้อนไปเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นวันแรกของพิธีเปิดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๔๒ และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ ๑๒” ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร โดยมี “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” อันเป็นที่รักของคนไทยทุกคน เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานในครั้งนี้

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งนัก ที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมในพิธีเปิดงานวันนั้น ทั้งเฝ้ารับเสด็จและถวายหนังสือต่อพระองค์ท่าน นี้เป็นความปิติยิ่งในชีวิตของผมและครอบครัว

ปีนี้เป็นปีแรกที่องค์กรที่ผมทำงานอยู่ คือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เข้าร่วมเป็นองค์กรหนึ่งในการจัดบู๊ธงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติประจำปีนี้ โดยเป็นความร่วมมือกับองค์กรด้านสุขภาพหลายองค์กร อาทิ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มูลนิธิหมอชาวบ้าน และสำนักงานโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program: HITAP) กระทรวงสาธารณสุข

ที่ตั้งของบู๊ธ สช. อยู่ในทำเลที่ดีมาก เมื่อเดินลงบันไดจากห้องประชุมใหญ่ไป แล้วเลี้ยวขวาไปเพียงเล็กน้อยก็จะถึงทันที ภายในบู๊ธมีโลโก้ สช. ขนาดใหญ่ลอยเด่นดึงดูดสายตาอยู่บนผนังหลังห้อง มีบอร์ดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับ “การวัดรอบเอว” เพื่อดูระดับความอ้วนของตนเอง อีกทั้งยังมีข้อมูลผลการศึกษาของ “การตรวจสุขภาพ” ประกอบความเข้าใจ ว่าผลที่ออกมาหมายถึงเช่นไร และที่เตะตาที่สุด คือ ป้ายที่ตั้งอยู่หน้าบู๊ธซึ่งมีข้อความที่ว่า “ตรวจวัดระยะสุขภาพ” ตั้งเด่นเป็นสง่าเคียงข้างตู้กระจกโชว์หนังสือที่ สช. และองค์กรภาคีได้ผลิตไว้อย่างสวยงาม

ที่ชั้นบนของตู้โชว์นั้นได้แสดงหนังสือจำนวน ๓ เล่ม ที่ได้ทูลเกล้าถวายแด่องค์ประธานในครั้งนี้ด้วย

เล่มที่ ๑ “รอยเวลา : เส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพ” ที่ “นฤนาท อนุพงศ์พัฒน์” ได้เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าพัฒนาการของการพัฒนาระบบสุขภาพตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ปี ก่อนหน้ายุคปัจจุบัน จนถึงปี ๒๕๕๒ ที่มีการประกาศใช้ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ มี “วิชัย โชควิวัฒน และ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์” เป็นบรรณาธิการ สนับสนุนการพิมพ์โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ตีพิมพ์เมื่อมกราคม ๒๕๕๖

เล่มที่ ๒ “รอยเหมือง : สารคดีภาพเล่าเรื่องเหมืองแร่ในประเทศไทย” เป็นหนังสือรวบรวมภาพจากฝีมือการถ่ายภาพของ “เริงฤทธิ์ คงเมือง” และเขียนบรรยาย โดย “บำเพ็ญ ไชยรักษ์” เป็นสารคดีภาพจากต้นเรื่อง ๑๑ แห่ง ประกอบด้วย “ลาทีเหมืองดีบุก มารักไข่มุกอันดามัน” “แม่นางร่อนแร่ : ความป่วยไข้สีดำที่ร่อนพิบูลย์” “หลักโคหลักใจในเขาคูหา” “ลมบอกข่าวจากดอยผาแดง” “แม่ถอด ถิ่นนี้มีมากกว่าเหล็ก” “ปริศนาบนก้อนเมฆ” “เวียงแหงในเงาสงคราม” “มายาทองคำ” “ช้างผูกโบว์แห่งเซไล” “พิษตะกั่วที่คลิตี้ ๓๐ ปี ยังไม่จาง” และ “เกลือ – โปแตส อีสาน : ศึกชิงมณีสมุทร”

เล่มที่ ๓ “เมฆปริศนา : ประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องเหมืองแร่ในเมืองไทย” เป็นหนังสือบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่ โดยฝีมือของนักเขียนสารคดีช่อการะเกดนาม “บำเพ็ญ ไชยรักษ์” ภาพประกอบเรื่องโดย “เริงฤทธิ์ คงเมือง” รวม ๑๑ เรื่อง คือ “ศิวิไลซ์แห่งเหล็กวิลาศที่ภูเก็ต” “ร่อนพิบูลย์กับความป่วยไข้สีดำ” “เขาคูหาขวัญหาย” “แม่ตาว : ความลับบนดอยผาแดง” “สู่หัวใจแห่งขุนเขาที่แม่ถอด” “แม่เมาะ : เมืองเมฆปริศนา” “เวียงแหงถิ่นพหุวัฒนธรรม” “เทือกเขาเพชรบูรณ์ในมายาทองคำ” “จดหมายจากทะเลภูเขา” “คลิตี้ : หมู่บ้านเสือร้องไห้” “และ “เกลือ – โปแตส : สินแร่มณีสมุทร”

โดยหนังสือเล่มที่ ๒ และ ๓ จัดอยู่ในกล่องสีน้ำตาลอ่อนกล่องเดียวกัน ภายใต้ชื่อ “เล่าเรื่องเหมืองแร่ในเมืองไทย” สนับสนุนการพิมพ์โดย “ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ตีพิมพ์เมื่อกันยายน ๒๕๕๖

เมื่อผมรู้ตัวว่าต้องปฏิบัติภารกิจที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ในช่วงเย็นของวันพุธที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๗ แม้นมีคำถามมากมายเกิดขึ้นทั้งเรื่องการแต่งตัว การกล่าวถวายรายงาน สาระของหนังสือที่จะถวาย แต่ความดีใจล้นพ้นในโอกาสที่หาได้ยากยิ่งในชีวิตเช่นนี้ ก็กลบความกังวลใจทุกสิ่งเหล่านั้นไปจนหมด

เสียงโทรศัพท์จาก “วิเชียร ฤกษ์จินดาพล” หรือ “น้องหนุ่ม” ผู้ประสานงานหลัก ที่ดังขึ้นในช่วงค่ำของวันเดียวกัน ได้บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ผมรับทราบล่วงหน้า และการเตรียมตัวที่เกี่ยวข้องดังกล่าวจนสิ้นความสงสัย

๐๖.๒๐ น. ผมเดินทางมาถึง “ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” สถานที่จัดงาน ขณะนั้นยังมีผู้คนที่บางตามากผมพบ “น้องหนุ่ม” สาวฐิติพร คหัฎฐา หรือ “น้องอ้อม” และทีมงาน ช่วยกันจัดบู๊ธให้พร้อม จัดเตรียมหนังสือที่จะถวาย โดยต้องนำไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ก่อนที่จะนำมาตกแต่งด้วยริบบิ้นจัดวางบนพานสีทองอย่างสวยงาม พร้อมกับนำไปจัดวางไว้ ณ โต๊ะถวายพร้อมกับผู้ที่จะถวายรายอื่น ๆ

และแล้วเวลาแห่งการรอคอยมาถึง ภายหลังจากพิธีเปิดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” ผ่านไป องค์ประธาน ได้เสด็จไปตามลาดพระบาท เพื่อชมบู๊ธต่าง ๆที่องค์กรและสำนักพิมพ์ต่าง ๆ นำมาแสดงภายในงาน ผมกับทีมงานเข้าประจำที่บริเวณหน้าบู๊ธของตนเอง

องค์ประธานค่อย ๆ เสด็จ พร้อมกับผู้ติดตามที่เดินตามไปอย่างช้าๆ บางบู๊ธพระองค์ท่านก็จะแวะทักทาย บางบู๊ธจะมีการถวายหนังสือ คณะของพระองค์ท่านเดินผ่านหน้าบู๊ธฝั่งตรงข้ามไป แล้วไปวกกลับเสด็จชมบู๊ธที่ตั้งอยู่ฝั่งเดียวกับบู๊ธขององค์กรเรา

ขณะนั้นผมรู้สึกคอแห้งลงแบบฉับพลัน ในใจคิดว่าจะถวายรายงานอย่างไรดี หัวใจของผมเต้นไม่เป็นจังหวะเสียแล้ว

เมื่อผมตั้งสติได้ พระองค์ท่านก็มายืนอยู่หน้าบู๊ธของ สช. แล้ว สายตาเพ่งมองไปภายในบู๊ธ และเงยหน้ามองไปที่ป้ายข้อความ “ตรวจวัดระยะสุขภาพ”

“บู๊ธนี้เป็นบู๊ธของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติครับ ในงานนี้ได้เปิดบริการตรวจสุขภาพกับประชาชนที่มาในงาน” ผมกล่าวรายงานพร้อมกับใจที่เต้นรัวด้วยความปลาบปลื้ม

พระองค์ท่านอมยิ้ม สายตาส่งมายังผม พร้อมกับตรัสออกมาว่า

“สุขภาพ สุขภาพ ดิฉันไม่กล้าตรวจสุขภาพ” พร้อมกับทรงสรวลออกมา ทำให้ผมและทีมงานที่เฝ้ารับเสด็จ พร้อมทั้งคณะที่ติดตามเสด็จ อดไม่ได้ที่จะหัวเราะออกมาพร้อม ๆ กัน

ผมโค้งคำนับพระองค์ท่านในขณะที่พระองค์ท่านเสด็จไปยังบู๊ธถัดไป ความรู้สึกของผมปนเปกันระหว่างความปิติและความโล่งอก

พระองค์ท่านค่อย ๆ เสด็จไปตามบู๊ธต่าง ๆตามเส้นทางที่ได้กำหนดไว้แล้ว ผมเห็นรถเข็นบรรทุกหนังสือที่มีผู้ถวายให้แก่พระองค์ท่านเข็นไปยังรถพาหนะที่เตรียมไว้นับสิบ ๆ เที่ยว แต่ละเที่ยวจะเห็นหนังสือเต็มคันรถทุกเที่ยวไป

ผมรีบเข้าประจำที่ ณ จุดที่จะถวายหนังสือที่จัดไว้อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับผู้แทนสำนักพิมพ์และองค์กรต่าง ๆ

เวลาผ่านไปนานนับชั่วโมง และนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สายตาของผมได้สัมผัสกับพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด พระองค์ท่านเสด็จมาถึงจุดแรกของโต๊ะที่มีผู้รอรับเสด็จ แล้วค่อย ๆ เสด็จพร้อมกับเอื้อมพระหัตถ์ไปรับหนังสือที่มีผู้ถวาย จนมาถึงจุดที่ผมยืนอยู่ ผมยกพานทองที่วางหนังสือทั้ง ๓ เล่ม ขึ้น พร้อมกับกล่าวว่า “เป็นหนังสือสารคดีภาพเกี่ยวกับเหมืองแร่ในประเทศไทย”

พระองค์ท่านเอื้อมพระหัตถ์มารับ พร้อมกับพยักพระพักตร์ ผมได้ยินเสียงของพระองค์ท่านไม่ถนัดนัก แต่รู้อยู่เต็มอกว่า พระองค์ท่านแสดงความขอบใจออกมา

พระองค์ท่านค่อย ๆ รับถวายหนังสือไปจนหมด ก่อนที่จะเสด็จไปยังบู๊ธในลำดับต่อไป

ผมอดไม่ได้ที่จะเปล่งเสียงออกมาอย่างพร้อมเพรียงกัน พร้อมกับประชาชนที่มารอแน่นอออยู่ที่ประตูทางเข้า ยามที่พระองค์ท่านเสด็จผ่านไป อย่างกึกก้องว่า “ทรงพระเจริญ”

แม้นวันเวลาจะล่วงเลยมากว่า ๑ สัปดาห์แล้ว แต่ความประทับใจในการได้รับโอกาสจากผู้บริหารในองค์กร ให้เป็นผู้แทนเข้าเฝ้ารับเสด็จและถวายหนังสือครั้งนี้ยังคงอยู่ในความทรงจำ ความอิ่มเอมใจยังไม่จางหายและคลายออกจากชีวิตจนยากอธิบายเป็นตัวอักษรถึงความรู้สึกดังกล่าวนั้นออกมา

เหตุการณ์ในครั้งนี้นับเป็นมงคลยิ่งต่อชีวิตของผมและครอบครัว และทำให้ผมมีแรงบันดาลใจในการทำงานตามบทบาทหน้าที่ต่อไป

ใครจะคิดบ้างล่ะครับว่า โอกาสอันหายากครั้งนี้จะเดินทางเข้ามาในชีวิตผมแบบกะทันหันเช่นนี้

ผมนึกย้อนหลังไป ถึงเหตุการณ์ ๓ ครั้งก่อนหน้านี้ที่ผมได้มีโอกาสใกล้ชิดพระองค์ท่าน

ครั้งที่ ๑ ในปี ๒๕๒๕ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรระดับปริญญาตรี ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ครั้งที่ ๒ ในปี ๒๕๔๕ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรระดับปริญญาโท ของมหาวิทยาลัยมหิดล

ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๔๙ เมื่อครั้งที่ยังเป็นข้าราชการกรมอนามัย ได้ถ่ายรูปหมู่กับพระองค์ท่านพร้อมกับคณะเจ้าหน้าที่ของกรมอนามัย ในงานหนึ่งที่พระองค์ท่านเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด

ฉะนั้นกิจกรรมในครั้งนี้จึงนับเป็นครั้งที่ ๔ ที่ผมได้มีโอกาสได้รับเสด็จ “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” พระบรมวงศานุวงศ์อันเป็นที่รักยิ่งของคนไทยทุกคน

ในวาระวันจักรีประจำปีนี้ ผมในฐานะข้าราชการของพระมหากษัตริย์ไทย ใคร่ขอน้อมถวายหัวใจในการทำหน้าที่ที่รับผิดชอบอย่างเต็มกำลัง พร้อมใคร่ขอถวายคำอำนวยพรจากประชาชนตัวเล็ก ๆ คนนี้ว่า “ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน” สืบไป

วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557

ปฏิรูประบบสุขภาพ ปฏิรูปประเทศไทย (ตอนที่ ๔) : ข้อเสนอเพื่อการปฎิรูป

๒๙ มีนาคม ๒๕๕๗

แม้การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ ที่เดิมกำหนดจัดไว้ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ จะถูกเลื่อนออกไปเพราะเจ้าของสถานที่เกรงเรื่องความไม่ปลอดภัยจากสถานการณ์ทางการเมือง แต่นี้ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระเบียบวาระ “ข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” ซึ่งเป็นระเบียบวาระหนึ่งของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ที่จะได้รับการรับรองในการประชุมครั้งนี้จะถูกลดความสำคัญลงไปแต่อย่างใด

อีกทั้งระยะเวลาที่ถูกเลื่อนออกไปนั้นกลับเป็นโอกาสอันดี ที่จะให้สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ถูกกำหนดไว้ ๒๓๔ กลุ่มเครือข่ายนั้น ได้มีเวลามากขึ้นในการนำข้อเสนอทั้ง ๕ เรื่องไปตั้งวงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในกลุ่มเครือข่ายตน และนำกลับมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนกลุ่มเครือข่ายอื่น ๆอีกครั้ง ในวันที่ ๑๗ – ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ ที่เป็นกำหนดการใหม่ของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ณ ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

อีกกว่า ๓ เดือนข้างหน้า สมาชิกผู้เข้าประชุมกว่า ๒,๐๐๐ คน จะได้มาร่วมกันให้ฉันทมติต่อ “ข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” และร่วมกันขับเคลื่อนมตินี้สู่การปฏิบัติร่วมกัน นำมาซึ่งความมีสุขภาวะของประชาชนบนพื้นแผ่นดินไทยสืบไป

ย้อนไปเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ซึ่งเป็นวันจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องนี้ บรรยากาศวันนั้น ช่างคึกคักยิ่งนัก คลาคล่ำไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและภาคีเครือข่ายในแวดวงสุขภาพนับ ๑๐๐ ชีวิตที่มาร่วมกันแสดงมุมมองต่อประเด็นที่ถูกตั้งไว้ โดยมี “นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ” เป็นประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น และ “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” ในฐานะฝ่ายเลขานุการ

เวลากว่า ๒ ชั่วโมง สมาชิกที่เข้าประชุมถูกแบ่งออกเป็น ๘ กลุ่มย่อย โดยมีโจทย์ร่วมกันที่ให้ความเห็นในแต่ละเรื่อง ก่อนที่จะกลับมานำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อยต่อที่ประชุมใหญ่ แม้เวลาจะล่วงเลยเที่ยงวันอันเป็นช่วงของอาหารกลางวัน แต่สมาชิกทุกคนก็ยังไม่ยอมพัก ต่างให้ความสนใจและร่วมให้ความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่

คณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น ได้นำผลการประชุมในวันนั้นไปปรับปรุง แก้ไข และเพิ่มเติมร่างข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยในอนาคต จำแนกได้ ๕ เรื่อง คือ

เรื่องที่ ๑ การปฏิรูประบบสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการจัดการกับภัยคุกคามสุขภาพ มีข้อเสนอดังนี้

๑.๑ ส่งเสริม สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนนำหลักการเรื่องสุขภาพในทุกนโยบาย (Health in All Policy) มาแปลงสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผล ในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและจัดการกับภัยคุกคามสุขภาพ อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการขยายความเข้าใจเรื่องสุขภาพในมิติที่กว้าง ตามคำจำกัดความใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ และทิศทางระบบสุขภาพ “สร้างนำซ่อม”

๑.๒ พัฒนาระบบงานและองค์กรที่ทำงานด้านระบาดวิทยา ทั้งด้านการป้องกัน ควบคุมโรค และระบาดวิทยาสังคม (social epidemiology) และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การสร้างเสริมสุขภาพนอกภาคบริการสาธารณสุข รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาและใช้การประเมินผล กระทบด้านสุขภาพ เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ

เรื่องที่ ๒ การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ ควรพิจารณาดำเนินการตามหลักการที่สำคัญ คือ

๒.๑ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ทั้งระบบสุขภาพชุมชนและระบบบริการสุขภาพ ผสมผสานในระดับอำเภอ(District Health Systems) ควบคู่กับการส่งเสริมเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน เพื่อรองรับการจัดบริการสุขภาพแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งกาย จิต ปัญญาและสังคม และการดูแลสุขภาพระยะยาว (long term care)

๒.๒ จัดให้มีการวางแผนระบบบริการสุขภาพ (Health Service Plan) ของประเทศ ที่ครอบคลุมการบริการสุขภาพทั้งของภาครัฐและเอกชน ทุกระดับบริการ ได้แก่ ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ระบบบริการเฉพาะทาง ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบการส่งต่อและส่งกลับผู้รับบริการ เพื่อให้เกิดการจัดระบบบริการที่เชื่อมโยงหนุนเสริมกันได้ทั้งระบบ มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อเป็นการรองรับความต้องการบริการสุขภาพที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (palliative care) ซึ่งจะเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาระบบการพัฒนาและรับรองคุณภาพที่ดีเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคควบคู่ไปด้วย

๒.๓ ทบทวนนโยบายความเป็นเลิศด้านบริการสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพในภูมิภาคเอเชีย ให้เกิดความเหมาะสม เพื่อลดผลกระทบต่อการจัดบริการสุขภาพสำหรับประชาชนไทย และเป็นไปตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ ที่กำหนดว่า “รัฐไม่พึงให้การสนับสนุนหรือสิทธิพิเศษทางภาษีและการลงทุนกับบริการสาธารณสุข ที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ทางธุรกิจ” อีกทั้งให้มีมาตรการป้องกันผลกระทบจากบริการสุขภาพเชิงธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นด้วย เช่น การใช้มาตรการทางภาษี เพื่อนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวกลับมาจัดการลดผลกระทบ เป็นต้น

๒.๔ ส่งเสริมการพัฒนาและใช้การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ ในการบริการสุขภาพให้เข้มแข็ง มีคุณภาพและแพร่หลายอย่างมีคุณภาพ

๒.๕ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสนับสนุนต่างๆ ได้แก่ ระบบการสร้างและจัดการความรู้ ระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารด้านสุขภาพ ระบบการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ ระบบการเงินการคลัง เป็นต้น

เรื่องที่ ๓ การปฏิรูประบบการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข มีข้อเสนอดังนี้

๓.๑ ให้ความสำคัญกับการวางแผน การผลิตและการพัฒนาบุคคลากรด้านสุขภาพสาขาต่างๆ ทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ และการกระจาย ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทย โดยบริหารจัดการปริมาณผู้เชี่ยวชาญรายสาขามิให้เกินความจำเป็น ควบคู่กับการเพิ่มปริมาณบุคลากรผู้ทำหน้าที่จัดบริการองค์รวม บริการครอบครัว และบริการชุมชนให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการและความเหลื่อมล้ำทางวิชาชีพลง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมทางวิชาชีพ และการสร้างฉันทะ แรงจูงใจและขวัญกำลังใจแก่บุคลากรสาธารณสุข

๓.๒ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้และผู้รับ บริการสุขภาพ และพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากบริการสุขภาพ ที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บนหลักการช่วยเหลือเกื้อกูลและสร้างความสมานฉันท์

๓.๓ สนับสนุนบทบาทและพัฒนาศักยภาพของคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ รวมทั้งผู้สูงอายุ และบุคคลด้อยโอกาสต่างๆ ให้มีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

เรื่องที่ ๔ การปฏิรูประบบการเงินการคลังและระบบหลักประกันด้านสุขภาพ มีข้อเสนอดังนี้

๔.๑ ปฏิรูประบบการเงินการคลังให้เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และจัดการกับภัยคุกคามสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น การใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้าและบริการที่มีผลกระทบทั้งด้านลบและบวกต่อสุขภาพ การส่งเสริมการลงทุนที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี การสนับสนุนและกระตุ้นการมีส่วนร่วมลงทุนจากชุมชนท้องถิ่น

๔.๒ ปรับการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพและการเงินการคลังด้านสุขภาพของกองทุนสุขภาพต่างๆ ให้เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในการอภิบาลระบบให้มากขึ้น เพื่อดูแลภาพรวมและความยั่งยืนทางการคลัง ให้เกิดนโยบายการดำเนินการที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เกิดเอกภาพในการบริการ และให้เกิด “สิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุข ที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน” ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ

๔.๓ พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ครอบคลุมไปถึงหลักประกันสุขภาพของทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย โดยใช้ทั้งหลักการด้านมนุษยธรรม และการร่วมจ่ายเงิน ภายใต้ระบบประกันสุขภาพเสริม เพื่อความยั่งยืนทางการเงินการคลัง และให้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

๔.๔ ปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และ พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนฯ เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับกองทุนสุขภาพอื่น และเพิ่มประสิทธิภาพ ของระบบหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งเพิ่มบทบาทหน้าที่ในด้านการป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งนี้ให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง กับการดูแลสุขภาพผู้ใช้บริการ

๔.๕ สนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาองค์ความรู้และขีดความสามารถ ของบุคลากรของกองทุนสุขภาพต่างๆ เพื่อรองรับการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพและการเงินการคลัง ด้านสุขภาพอย่างเชื่อมโยง ต่อเนื่องและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง

เรื่องที่ ๕ การปฏิรูปการอภิบาลระบบสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ มีข้อเสนอดังนี้

๕.๑ ให้ความสำคัญกับการอภิบาลระบบสุขภาพโดยเครือข่าย (Governance by networking) ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ และ พ.ร.บ.อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส โดยเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับกับการอภิบาลระบบโดยรัฐ (Governance by government) และเชื่อมกับการอภิบาลระบบโดยตลาด (Governance by market) เช่น กลไกและกฎระเบียบทางการค้า การลงทุน ในทิศทางสร้างนำซ่อม และการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า

๕.๒ ให้มีการบูรณาการการทำงานของส่วนต่างๆ ในระบบสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดเอกภาพในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นการลดการรวมศูนย์การอภิบาลระบบสุขภาพโดยรัฐ ลดบทบาทของรัฐในการพัฒนานโยบายสาธารณสุขและการจัดการงานสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม

๕.๓ กระจายอำนาจและทรัพยากรให้ชุมชนท้องถิ่นทำหน้าที่ อภิบาลระบบสุขภาพ พัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ และจัดการงานด้านสุขภาพด้วยตนเองให้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยลดบทบาทของรัฐบาลส่วนกลางให้เหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดย

๕.๓.๑ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและความพร้อม ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับชาติ และระดับชุมชนท้องถิ่นอย่างจริงจัง

๕.๓.๒ ให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการจัดการภัยคุกคามสุขภาพได้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการพัฒนาความเข้มแข็งของกิจกรรมสำคัญ ในชุมชน เช่น การจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล ระบบสวัสดิการชุมชน การดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนตำบล การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพคนและองค์กร ในทุกระดับ

๕.๓.๓ กำหนดแผนและขั้นตอนการถ่ายโอนสถานพยาบาลของรัฐไปให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น และ/หรือปรับเปลี่ยนเป็นสถานบริการของรัฐให้เป็นระบบการบริหารจัดการที่คล่องตัว (Autonomous management unit) และให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานบริการประชาชน และลดภาระกิจการบริหารจัดการของรัฐบาลกลางลง

จากข้อเสนอเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทยที่ผ่านการระดมความคิดเห็นทั้ง ๕ เรื่องหลัก จึงเป็นภาพสะท้อนสำคัญว่า การปฏิรูปครั้งนี้ คือ การปรับบริบทระบบสุขภาพให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง โดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนและสังคมเป็นสำคัญ และกระทรวงสาธารณสุขก็ยังคงเป็นกลไกหลักของประเทศในการดูแลสุขภาพประชาชน โดยทำหน้าที่เป็นแกนประสานนโยบายและสนับสนุนวิชาการ และลดบทบาทภารกิจเชิงปฏิบัติการให้เหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ทั้งนี้การกระจายอำนาจจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการพัฒนากลไกต่างๆ เพื่อรองรับ เช่น การอภิบาลเขตสุขภาพ การออกแบบกลไกการเงินการคลัง การออกแบบระบบบริการที่สอดคล้องกับปัญหาพื้นที่อย่างมีบูรณาการ ตลอดจนการกำกับติดตาม