วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557

การอภิบาลระบบสุขภาพ : มองผ่านเรื่อง “การส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่”

๓๐ กันยายน ๒๕๕๗

แม้ว่าทุกคนจะทราบถึงคุณประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มากล้นด้วยคุณค่านานัปการ แต่ทุกวันนี้ได้มีปัจจัยหลายประการเข้ามาเกี่ยวข้องและบั่นทอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มิใช่น้อย หนึ่งในนั้น คือ การตลาดในธุรกิจนมผงที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

ดังนั้นจึงทำให้ในวันสิ้นสุดปีงบประมาณ ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมสานพลัง ชั้น ๖ ของอาคารสุขภาพแห่งชาติ มีผู้แทนจากสามภาคส่วน ทั้งภาครัฐและการเมือง ภาควิชาการและวิชาชีพ และภาคประชาชนและเอกชน มานั่งปรึกษาหารือกันเพื่อ “ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่”

แม้ว่าเรื่องการควบคุมกลยุทธ์การตลาดในเรื่องดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นมากว่า ๓๐ ปี แล้วก็ตาม นับตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ ๓๔ ที่ทุกประเทศต่างเห็นด้วยต่อหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ และได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามพันธะของหลักเกณฑ์ดังกล่าว

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้มีการนำมติสมัชชาอนามัยโลกครั้งนั้นมาปฏิบัติ โดยประกาศเป็นระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขในปีเดียวกัน และมีการปรับปรุงแก้ไขอีก ๓ ครั้ง คือในปี ๒๕๒๗ ปี ๒๕๓๘ และล่าสุดในปี ๒๕๕๑

จวบจนในปี ๒๕๕๓ สมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ ๖๓ ได้หยิบยกเรื่องนี้มาหารือกันอีกครั้งหนึ่ง และได้เรียกร้องให้ทุกประเทศปรับปรุงหลักเกณฑ์จาก “ระเบียบกระทรวง” ที่มีผลบังคับใช้ต่อบุคลากรภาครัฐในวงการสาธารณสุข เป็น “กฎหมาย” เพื่อการบังคับใช้ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน

ซึ่งประเทศไทยเห็นก็เร่งดำเนินการกับแนวทางดังกล่าว โดยได้นำเข้าสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๕๓ และได้มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ ว่าด้วย “การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก” และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ

สาระประการหนึ่งในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวคือการเรียกร้องให้เร่งผลักดันการตรากฎหมายควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กโดยเร็ว

ความพยายามในการผลักดันให้เกิดกฎหมายเพื่อการควบคุมการตลาดในธุรกิจอาหารทารกและเด็กเล็กได้มีการขับเคลื่อนมาโดยตลอด แต่ด้วยความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมยังเห็นไม่ตรงกันประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่เอื้อ จึงทำให้ในวันนี้ยังไม่สามารถจะตรากฎหมายตามมติสมัชชาอนามัยโลก มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้

แต่ ณ วันนี้ สังคมเริ่มมีความหวัง เพราะเรื่องดังกล่าวได้ปรากฎไว้ในคำประกาศนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์) ข้อ ๓.๑ (๑) ที่มุ่งจัดการกับปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพ ในกลุ่มวัยทารกและเด็กเล็ก ว่า

“เน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพของศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ การจัดทำชุดนโยบายเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก การออก พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และการจัดการภาวการณ์ขาดสารอาหารเฉพาะอย่าง โดยเฉพาะธาตุเหล็กและไอโอดีน” นับเป็นนโยบายที่มีความชัดเจนและสอดคล้องกับทิศทางที่กล่าวไว้ข้างต้น

ผู้เข้าร่วมประชุมในเวทีวันนี้ต่างสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้ในธุรกิจอาหารทารกและเด็กเล็กที่หลากหลายรูปแบบ อาทิ
• การลงทุนด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสารสาธารณะทุกรูปแบบ
• การแจกตัวอย่างสินค้าให้กับบุคลากรสาธารณสุข แม่ ผู้ปกครอง ด้วยยุทธวิธีที่แยบยล
• การให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณค่าของน้ำนมแม่
• การนำเสนอข้อมูลที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์และเกินความเป็นจริง
• การใช้ฉลากของผลิตภัณฑ์ด้วยรูปภาพหรือข้อความที่ชักจูงให้ใช้สินค้า
• การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง
• การสร้างแรงจูงใจโดยการให้ทุนสนับสนุนการเดินทางไปต่างประเทศของบุคลากรสาธารณสุข

ระหว่างที่ผมนั่งฟังการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมอย่างคึกคัก ผมคิดไปถึงคำ ๆ หนึ่ง ที่ผมกำลังค้นคว้าอยู่ คือ คำว่า “Governance” หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “การอภิบาล” ซึ่งมีความหมายดั้งเดิมว่า “การนำหรือกำกับทิศทางโดยอาศัยการกำหนดกติกา” แต่ในปัจจุบันได้ขยายความหมายไปถึง “ปฏิสัมพันธ์กันของภาครัฐ องค์กรสาธารณะต่าง ๆ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมแก้ปัญหาความท้าทายต่าง ๆในสังคมและสร้างสรรค์โอกาสใหม่ ๆ”

“การอภิบาล” มี ๓ รูปแบบ คือ การอภิบาลโดยตลาด การอภิบาลโดยรัฐ และการอภิบาลโดยเครือข่าย

จากกรณี “การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” ซึ่งเป็นประเด็นปรึกษาหารือในครั้งนี้ จะพบว่ามีผู้เล่นที่หลากหลายที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และผู้เล่นแต่ละฝ่ายต่างก็แสดงบทบาทที่แตกต่างกันไป

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้เล่นที่หลากหลายใน “การอภิบาลในระบบสุขภาพ” ว่าต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย ๖ ประการ คือ (๑) การกำหนดนโยบาย (๒) การสังเคราะห์และใช้ความรู้และการดูภาพรวม (๓) การประสานงานและสร้างความร่วมมือ (๔) การกำกับดูแล (๕) การออกแบบระบบ และ (๖) การมีความรับผิดชอบ

ผมรู้สึกยินดีเป็นยิ่งนักที่ได้ยินคำกล่าวและเห็นบทสัมภาษณ์ที่นำเสนอผ่านทางสังคมออนไลน์จาก “นพ.ประพัฒน์ โสภณาทรณ์” ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก อันเป็นองค์กรภาคธุรกิจ ที่มีสาระสำคัญ ๓ ประการ คือ

หนึ่ง สนับสนุนนโยบายขององค์การอนามัยโลกและกรมอนามัยว่าด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกของทารก

สอง ยึดมั่นไว้ซึ่งการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานและจรรยาบรรณระดับสูงสุดเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ และนโยบายขององค์การอนามัยโลกและกรมอนามัย จึงได้จัดทำระบบการกำกับดูแลตนเองเกี่ยวกับการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของบริษัทสมาชิกด้วยความสมัครใจ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดด้านโภชนาการสำหรับทารกและเด็กเล็กอย่างถูกต้องและเหมาะสม และไม่เข้าไปกระทบหรือขัดขวางการปกป้องและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

สาม เห็นด้วยและขอสนับสนุนในหลักการของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการตลาดสำหรับอาหารทารกและผลิตภัณฑ์ในประเด็นที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับทารกในประเทศไทย โดยขอเข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนการประชาพิจารณ์ก่อนส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เจตนารมณ์ทั้ง ๓ ประการนี้ นับเป็นท่าทีที่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ในการอภิบาลระบบสุขภาพที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ทั้ง ๖ ประการ

อีกไม่ช้าประเทศไทยเราคงมีกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับมติสมัชชาอนามัยโลก มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติคณะรัฐมนตรี และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขภายใต้รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”

เพราะผู้เล่นทุกฝ่ายต่างร่วมแสดงบทบาทในการอภิบาลระบบสุขภาพอย่างสอดคล้องกันนั้นเอง

วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557

ตงเจิน เจ้าหญิงจารชน

๑๗ กันยายน ๒๕๕๗

บางครั้งภาพการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏให้คนทั่วไปได้รับรู้อาจซ่อนเร้นปกปิดบางสิ่งบางอย่างไว้ คล้ายกับฟันเฟืองเล็กๆในเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ทำงานสร้างผลผลิตออกมา แม้ไม่มีใครมองเห็นแต่องค์ประกอบเล็ก ๆ นี้เองได้มีส่วนสำคัญในการสรรสร้างผลิตผลเหล่านั้นรวมอยู่ด้วย

“ตงเจิน” สุภาพสตรีสาวสวยที่มีพื้นเพโดยกำเนิดเป็นชาวจีน แต่ถูกหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น ทำให้ความคิด ความรู้สึกและอุดมการณ์ของเธอแปรเปลี่ยนไป เธอกลายเป็นสายลับให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นและหวนกลับมาทำลายประเทศให้กำเนิด

“บันทึกลับตงเจิน เจ้าหญิงจารชน” หรือ “The Private Papers of Eastern Jewel” หนังสือขนาดพอเหมาะประมาณ ๔๐๐ หน้า ที่ประพันธ์โดย “โมรีน ลินด์ลีย์ (Maureen Lindley)” นักจิตบำบัดชาวอังกฤษที่ผันตัวเองมาเป็นนักเขียน และได้สมมติตัวเองเป็น “ตงเจิน” สำหรับในฉบับภาษาไทยแปลโดย “วิภาดา กิตติโกวิท” ด้วยอรรถรสที่ชวนติดตามจนวางไม่ลง

ผู้ประพันธ์ได้สมมติตัวเองเป็น “ตงเจิน” ผู้หญิงที่ทุกคนตัดสินว่ามีความชั่วร้าย โดยถ่ายทอดความคิดที่อยู่ก้นบึ้งอันเป็นรากฐานของพฤติกรรมที่แสดงออกมาว่าทำไปด้วยเหตุใด ทำให้ผู้อ่านเข้าใจแรงขับภายในตัวเธอมากยิ่งขึ้น จนอาจแปรเปลี่ยนเป็นความสงสารในตัวเธอได้

จากเด็กสาวในฐานะเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ชิง บุตรีเจ้าชาย “ซู่ชินอ๋วง” สายเลือดสายตรงของอนุชาองค์สุดท้ายของปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ชิงกับสนมคนที่สี่ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับจักรพรรดิปูยีจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีน ต้องกลับกลายเป็นจารชนล้มล้างแผ่นดินเกิด และถูกตัดสินประหารชีวิตโดยคำสั่งของรัฐบาลเจียงไคเช็ค

บทลงโทษทีเธอได้รับในวัยแปดขวบ จากเหตุการณ์ในค่ำคืนหนึ่ง ตัวเธอไปพบเห็นพ่อของตัวเองกำลังเริงสวาทกับเด็กสาวทำให้ถูกส่งตัวไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นบุตรบุญธรรมของ “คาวาชิมะ” สมาชิกเครือข่ายข่าวกรองระดับสูงของประเทศญี่ปุ่น

สิบปีเต็มที่เธออาศัยอยู่ภายใต้ร่มเงาของครอบครัวผู้เป็นพ่อบุญธรรมภายในคฤหาสน์อันใหญ่โต ร่วมกับ “เทชิมะ” พ่อของ “คาวาชิมะ” และ “นัติชิโกะ” กับ “ชิมะโกะ” ภรรยาของ “คาวาชิมะ” โดยมี “เป้าเชี่ยน” ที่เดินทางจากประเทศจีนไปด้วยกันเป็นพี่เลี้ยง

ภาพที่เธอเห็นทุกวัน คือ การพบปะพูดคุยกับบุคคลสำคัญของญี่ปุ่น ท่ามกลางวงสุราและบรรดาเกอิชาที่เจ้าบ้านจัดต้อนรับ

เมื่อรู้ตัวว่าย่างเข้าสู่วัยสาวเต็มตัวเมื่อมีประจำเดือนครั้งแรก เธอก็ถูกเรียกตัวเข้าไปพบ “เทชิมะ” ผู้เฒ่าวัยเจ็ดสิบสองเพื่อเปิดบริสุทธิ์ โดยอ้างว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ และหลังจากนั้นเธอต้องเปลี่ยนฐานะจากบุตรบุญธรรมไปเป็นของเล่นยามเหงาให้กับ “คาวาชิมะ” และบุคคลที่เดินทางมาปรึกษาข้อราชการในรั้วคฤหาสน์อันใหญ่โตหลังนั้นนับไม่ถ้วน

“ยามางะ” นายทหารหนุ่มรูปงามเป็นคนหนึ่งที่เข้ามาในชีวิตเธอ เธอมอบใจและร่างกายให้กับเขา เพราะมั่นใจว่าจะพาเธอพ้นจากเส้นทางที่พ่อบุญธรรมขีดเส้นให้เดิน แต่ก็ต้องเสียใจอย่างหนักเมื่อได้รับคำปฏิเสธหลังเอ่ยปากให้ “ยามางะ” มาขอเธอแต่งงาน

“ยามางะ” เดินออกไปจากชีวิตเธอ แต่ได้ทิ้ง “ลูก” ไว้ในท้องเป็นอนุสรณ์รักฝ่ายเดียว “เป้าเชี่ยน” แนะนำเธอให้ตัดใจด้วยความไม่เหมาะสมกับฐานะเจ้าหญิงที่เธอดำรงอยู่

ด้วยความยากจนไม่มีเงินจะไปทำแท้ง เธอจึงต้องแต่งเรื่องไปบอกกับ “นัติชิโกะ” โดยอ้างว่าเด็กในท้องเป็นลูกของ “คาวาชิมะ” ทำให้ “นัติชิโกะ” รีบเข้ามาช่วยจัดการเพื่อไม่ให้เธอคลอดลูกออกมาแบ่งปันทรัพย์สมบัติที่เธอหวังไว้ในอนาคต แต่โชคร้ายการทำแท้งครั้งนั้น ทำให้เธอไม่สามารถมีบุตรไปตลอดชีวิต

ข่าวร้ายมาถึงหูเธอในอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ “คาวาชิมะ” บอกกับเธอว่า ได้ยกเธอให้กับ “กันจูเออจาบ” เจ้าชายมองโกเลียที่อยู่ทางทิศเหนือของประเทศจีน เธอไม่สามารถปฏิเสธคำสั่งของพ่อบุญธรรมได้ ต้องเดินทางไปแต่งงานกับเจ้าชายมองโกเลีย ณ ดินแดนท่ามกลางหุบเขา มีแต่ป่าและลานกว้างของทุ่งหญ้าท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บ

ทุกวันเวลาที่ผ่านไปทุกขณะ เธอคิดวางแผนหนีจากดินแดนที่แสนโหดร้าย ยอมพลีกายเป็นเครื่องนำทางจนในที่สุดเธอก็สามารถหนีออกมาจากดินแดนที่ห่างไกลนั้นได้ โดยเดินทางไปพร้อมกับรถขนส่งสินค้าคันหนึ่งมุ่งหน้าสู่ท่าเรือพอร์ตอาเธอร์ ที่จะมีเรือโดยสารไปยังโตเกียว เธอยอมแบ่งทรัพย์สินที่เธอลักมาจากสามีผู้เป็นเจ้าชายมองโกเลียเป็นค่าโดยสารที่แสนแพง

บนเรือโดยสารที่มุ่งหน้าสู่ดินแดนใหม่ เธอได้รู้จักกับ “มาดามฮิดาริ” สตรีหม้ายนักธุรกิจไฮโซจากประเทศญี่ปุ่น และกลายเป็นเพื่อนกัน “ฮิดาริ” ได้แบ่งบ้านหลังหนึ่งให้กับเธอเป็นแหล่งพักพิงในกรุงโตเกียว และคอยส่งผู้ชายที่ร่ำรวยมาให้เธออยู่เป็นประจำ

ความฝันอยากจะเดินทางไปยังเซี่ยงไฮ้ ของเธอสำเร็จด้วยการช่วยเหลือจากบรรดาผู้ชายที่เข้ามาในชีวิตเธอ เมื่ออยู่ในเชี่ยงไฮ้ เธอใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยหรูหรา ก้าวขึ้นมาเป็นสาวไฮโซแสนสวยเป็นที่หมายปองของบรรดาชายหนุ่มและแก่หลากหน้าในวัยยี่สิบต้น ๆ

“แฮรี่” หนุ่มชาวยุโรปนักธุรกิจกระเบื้องเคลือบก้าวเข้าในชีวิตเธอ เขาหลงรักเธอมาก จนเอ่ยปากชักชวนเธอไปอยู่ด้วยกันที่ประเทศอังกฤษ แต่เธอปฏิเสธ

ชีวิตเธอเริ่มแปรเปลี่ยนเมื่อในค่ำคืนหนึ่งเธอได้พบกับ “ทานะกะ” ทหารหนุ่มชาวญี่ปุ่น ด้วยชะตาที่ต้องกันเธอก็ได้มอบความรักให้กับเขาในอีกสองวันต่อมา สิ่งที่เธอได้รับจาก “ทานะกะ” ก็คือการชักชวนเข้ามาเป็นสายลับให้กับญี่ปุ่น และถูก “พันเอกโดอิฮาระ” ผู้เป็นหัวหน้าของ “ทานะกะ” เรียกตัวให้ไปรายงานตัวที่เมืองเทียนจินที่อยู่ทางเหนือ อันเป็นเมืองที่พำนักของ “จักรพรรดิปูยี” หลังจากถูกพรรคก๊กมินตั๋งยึดครองประเทศ

เธอตกเป็นของ “โดอิฮาระ” ก่อนที่จะถูกมอบหมายให้เข้าไปเป็นสายลับในบ้านพักของ “จักรพรรดิปูยี” เพื่อโน้มน้าว “หวั่นหยง” ภริยาของ “ปูยี” ให้ยอมเดินทางไปอยู่กับสวามีที่เมืองหมั่นโจว ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่ญี่ปุ่นกำลังขยายดินแดนไปถึง

ด้วยความที่เธอมีสายเลือดชาวจีนจึงทำให้ “หวั่นหยง” ให้ความไว้วางใจเธออย่างมาก เธอกลายเป็นคู่ปรับทุกข์ เพื่อนร่วมโต๊ะอาหาร และสูบฝิ่นด้วยกัน

เธอพยายามเกลี่ยกล่อมให้ “หวั่นหยง” ย้ายไปกับ “ปูยี” โดยเร็ว แต่ก็ไม่สำเร็จ เธอเริ่มหาวิธีการอันชั่วช้ามาใช้ทุกอย่าง ซึ่งก็แค่ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับ “หวั่นหยง” เท่านั้น จนถึงขั้นสุดท้ายกับการสร้างสถานการณ์จลาจลขึ้นในย่านชาวจีนของเมืองเทียนจิน จน “ปูยี” และ “หวั่นหยง” ยอมเดินทางไปที่เมืองหมั่นโจวได้สำเร็จ

เธอได้รับการเลื่อนยศเป็นพันตรีแห่งกองทัพญี่ปุ่น

ภารกิจใหม่ที่เธอได้รับมอบหมายจาก “โดอิฮาระ” ให้ทำงานร่วมกับ “ทานะกะ” ก็คือ การก่อกวนชาวเมืองย่านใจกลางกรุงเซี่ยงไฮ้ เธอได้ว่าจ้างนักเลงหัวไม้เข้าไปก่อกวนในชุมชน ปล้นขโมย ทุบตีทำร้ายพี่น้องชาวญี่ปุ่น จนญี่ปุ่นอ้างเป็นเหตุผลในการเข้าไปโจมตีเซี่ยงไฮ้แก่ชาวโลก เซี่ยงไฮ้ต้องจมอยู่ในกองเพลิง เสียหายอย่างมหาศาล เกิดข้าวยากหมากแพง ทั้งเมืองเต็มไปด้วยซากปลักหักพัง ขอทานเดินขอรับเศษอาหารทั่วท้องถนน

ชีวิตของเธอก้าวต่อไปในโลกของสังคมชั้นสูง เธอได้พบรักอีกครั้งกับ “แจ๊ค” นักข่าวอเมริกัน “แจ๊ค” พยายามเกลี่ยกล่อมเธอให้คิดถึงประเทศบ้านเกิดของเธอ แต่เธอปฏิเสธความปรารถนาดีของเขาอย่างสิ้นเชิง

ข่าวสารที่ส่งมาถึงเธอพร้อม ๆ กัน คือ “แจ๊ค” ถูกเรียกตัวกลับนิวยอร์กในสัปดาห์หน้า กับ “หวั่นหย่ง” ส่งข่าวผ่านมาว่า “โดอิฮาระ” ต้องการพบตัวเธอที่หมั่นโจว ซึ่งเมื่อ “แจ๊ค” รู้เรื่องก็พยายามทักท้วงการเดินทางไปหมั่นโจวโดยให้เลือกความรักของเขา แต่เธอปฏิเสธคำอ้อนวอนของ “แจ๊ค” อย่างไม่มีเยื่อใย

เธอเดินทางถึงเมืองฉางชุน เมืองหลวงของหมั่นโจว โดยเครื่องบินทหารของญี่ปุ่น มี “นายพลทาดะ” มาคอยต้อนรับและพาเธอเดินทางไปยังวังหมั่นโจว เพื่อพบกับ “หวั่นหยง” และได้พบกับจักรพรรดิปูยีในอีกหนึ่งเดือนถัดมา ตลอดระยะเวลาที่เธอพักอยู่ เธอจะส่งข่าวความเคลื่อนไหวในวังแห่งนั้นให้กับ “โดอิฮาระ” ทราบตลอด

ด้วยความเหงาทำให้เธอกลายเป็นคู่นอนกับ “นายพลทาดะ” ตลอดสิบเดือนที่พักอยู่ในวังหมั่นโจว และต้องเอ่ยคำลา “นายพลทาดะ” อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเธอถูกเรียกตัวให้เดินทางไปปักกิ่ง หลังจากที่จักรพรรดิปูยีเดินทางไปญี่ปุ่นไม่นาน

การเดินทางครั้งนั้นสร้างความรู้สึกเศร้าใจให้กับ “หวั่นหยง” เป็นอย่างมาก เธอต้องอาศัยอยู่ตามลำพังในวังหมั่นโจว โดยขาดอิสรภาพในการใช้ชีวิต เพราะต้องอยู่ในสายตาของทหารญี่ปุ่นอย่างเข้มงวด

หน้าที่ใหม่ที่เธอได้รับ คือ การสืบให้รู้ว่าในหมู่คนจีนชั้นสูงที่ร่ำรวยมีใครบ้างที่สนับสนุน “เจียงไคเช็ค” หากรู้จะได้นำมาพิพากษาลงโทษเพื่อเชือดไก่ให้ลิงดู การทำงานครั้งนี้เธอต้องทำงานร่วมกับ “หลี่ชิ่งหวี่” คนจีนแต่อยู่ข้างญี่ปุ่น เป็นลูกพี่ลูกน้องกับเธอ และเป็นคนพาเธอไปรู้จักกับผู้คนในวงสังคมชั้นสูงทั้งคนญี่ปุ่นและคนจีน

เธอไต่เต้าชีวิตด้วยเรือนกาย จนในที่สุดกลายมาเป็นประธานบริษัทเหมืองทองแห่งประเทศจีนและประธานสมาคมชาวแมนจูในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นบทบาทที่มีเกียรติและมีประโยชน์อย่างมากต่อญี่ปุ่น เธอมีชีวิตที่ร่ำรวยขึ้น เงินทองเธอหมดไปกับเสื้อผ้า เครื่องประดับ การพนัน ฝิ่น หมอดู ช่างเสริมสวย งานปาร์ตี้ และการบริจาคให้กับการกุศลเพื่อรักษาฐานะที่เธอดำรงอยู่

ชีวิตสุขสบายของเธอต้องมาหยุดลงเมื่อในเช้าวันนั้น เธอได้รับการบอกข่าวว่า “จักรพรรดิญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามต่ออเมริกา” หลังจากที่โดนถล่มด้วยระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ เธอตกใจสุดขีด พยายามติดต่อนายทหารญี่ปุ่นที่เธอรู้จัก แต่คนที่เธอรู้จักต่างเดินทางกลับไปญี่ปุ่นหมดแล้ว

เธอพยายามร้องขอต่อนักบินทหารเที่ยวบินสุดท้ายที่จะออกจากสนามบิน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเพราะกลัวขัดคำสั่งที่รับพลเรือนร่วมเดินทางไปด้วย สร้างความปวดร้าวให้กับเธอยิ่งนัก จิตวิญญาณและสายเลือดญี่ปุ่นที่มีอยู่ในตัวเธอตั้งแต่วัยเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือเธอในยามคับขันได้

เธอยอมทิ้งบ้านหลังหรูไปพักอาศัยในกระท่อมหลังเล็กของชายฝาแฝด ที่เคยทำหน้าที่หน่วยอารักขาเธอในยามร่ำรวย พร้อมกับโรคซิฟิลิสที่ติดตัวเธอไป เธอต้องใช้เงินก้อนโตที่ติดตัวมารักษาโรคร้ายนั้นจนหายขาด

เงินทองที่ติดตัวเธอไปเริ่มร่อยหรอ ชายทั้งสองเริ่มหยาบคายกับเธอเมื่อเงินทองเธอหมด เธอต้องทนกัดฟันทนอยู่ในกระท่อมหลังนั้น โดยพยายามเดินทางไปพบคนที่ที่เธอพอรู้จักให้พาเธอหนี

จนวันหนึ่งฝาแฝดผู้น้องก็มาบอกกับเธอว่า มีประกาศให้รางวัลนำจับเธอในฐานะ “อาชญากรสงคราม” ทำให้เธอต้องเก็บตัวเงียบอยู่ในกระท่อมโดยไม่ออกไปไหน

วันสิ้นสุดอิสรภาพก็มาถึงในเช้าวันถัดมา ฝาแฝดทั้งสองหายไปจากกระท่อมตลอดคืน จนรุ่งเช้าเธอถูกปลุกด้วยเสียงกระซิบกระซาบนอกกระท่อม เธอพยายามลืมตาปรับเข้ากับแสงแรกของวัน ประตูก็ถูกเตะให้เปิด กลุ่มทหารจีนแห่เข้ามาล้อมเธอไว้ เสียงตะคอกใส่อย่างบ้าคลั่ง ถูกดึงทึ้งกระชากผมให้ลุกขึ้นยืน และพาไปยังเรือนจำหมายเลขหนึ่งของกรุงปักกิ่ง

เธอมารู้ทีหลังว่าเธอโดนจับเพราะฝาแฝดที่เธอชุบเลี้ยงมาหักหลังเธอ โดยสมัครไปเป็นตำรวจให้กับรัฐบาลเจียงไคเช็กแล้วส่งตำรวจมาจับเธอ เธอถูกตัดสินประหารชีวิตในอีกสองปีถัดมาด้วยข้อหาฉกรรจ์

“จินอี้” ภรรยาลับของเจ้าชายญี่ปุ่น คนที่เธอเคยช่วยเหลือจนร่ำรวย ได้ส่งข่าวมาว่าจะช่วยเหลือเธอ โดยการเปลี่ยนตัวกับผู้หญิงรายหนึ่งที่เป็นวัณโรคที่จะนำเข้ามาแทนเธอในคืนก่อนวันประหาร

รายงานข่าวที่ถูกตีพิมพ์ใน “ปักกิ่งรายวัน” ฉบับวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๙๑ รายงานว่า “เมื่อเวลา ๑๘.๔๐ น. ของวันที่ ๒๕ มีนาคม ๑๔๙๑ นักโทษหญิงชื่อ “ตงเจิน” ถูกประหารชีวิตในเรือนจำหมายเลขหนึ่งในปักกิ่ง ตงเจินเป็นธิดาคนที่สิบสี่ของ “ซู่ชินอ่วง” สายเลือดสายตรงของอนุชาองค์สุดท้ายของปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ชิง”

มีการพิสูจน์ดีเอ็นเอในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๕๒ ยืนยันว่า “ผู้ตายไม่ใช่ตงเจิน” ทำให้ข่าวลือที่ว่าเธอหนีไปใช้ชีวิตในหมู่บ้านชนบทที่นครฉางชุนในหมั่นโจว และอยู่ต่อมาอีก ๓๐ ปี จนเสียชีวิตด้วยวัย ๗๒ ปี นั้น จึงเป็นเรื่องจริง

วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2557

หมากรัก หมากชีวิต

๑๔ กันยายน ๒๕๕๗

ไม่น่าเชื่อว่า “หมากล้อม” กีฬาขึ้นชื่อและนิยมเล่นกันของชนชาติเอเชียตะวันออก จะกลายเป็นเครื่องมือสืบความลับของประเทศหนึ่งที่ต้องการครอบครองอีกประเทศหนึ่ง อีกทั้งยังทำให้คนสองคนที่มีพื้นเพที่แตกต่างกัน กำเนิดบนพื้นแผ่นดินที่เป็นอริกัน ได้มาพบกันและก่อเกิดความสัมพันธ์ทางใจต่อกันจนรักกัน และยอมตายไปพร้อมกัน

“หมากรัก หมากชีวิต” แปลมาจากต้นฉบับของ “เหยียนหนี” หรือเจ้าของนามปากกา “Shan Sa” จากหนังสือเรื่อง La Joueuse De Go ที่เป็นภาษาฝรั่งเศส และ “อรจิรา” ได้หยิบมาแปลเป็นภาษาไทยด้วยสำนวนที่พริ้วไหวซึมซับไปด้วยไออวลแห่งความสนุก ตื่นเต้น และชวนสิเน่หา น่าติดตามจนวางไม่ลง

ผู้เขียนได้สมมติตัวเองเป็นตัวเอกของเรื่อง โดยใช้คำว่า “ผม” และ “ฉัน” แทน ทำให้แม้อ่านจนจบแล้ว คนอ่านก็ยังไม่รู้จักชื่อตัวละครทั้งสองแม้แต่น้อย

เรื่องราวในหนังสือนำเสนอสลับกันไปมาคนละฉากระหว่างชีวิตของ “ผม” กับชีวิตของ “ฉัน” ทำให้เมื่ออ่านไปจึงรู้สึกสนุกและได้รับอรรถรสที่แปลกใหม่ โดยเฉพาะฉากที่ตัวเอกทั้งสองพบเจอกัน ฉากหนึ่งจะบรรยายความรู้สึกของ “ฉัน” ในขณะที่อีกฉากหนึ่งบรรยายความรู้สึกของ “ผม” ในสถานการณ์เดียวกัน

“หมากล้อม หมากชีวิต” เป็นเกล็ดหนึ่งทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี ๑๙๓๘ ที่จักรพรรดิปูยีแห่งราชวงศ์ชิง ถูกพรรคก๊กมินตั๋งโค่นล้ม จนต้องอพยพไปอยู่ที่เมือง “ซินจิง” หรือเมือง “ฉางชุน” ที่ประเทศ “แมนจูเรีย” โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือ โดยหวังจะยึดประเทศจีน จึงสนับสนุนให้ปูยีเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดเพื่อรอวันกลับมาปกครองจีนต่อไป

รัฐบาลได้ส่งทหารเข้ามายังประเทศแมนจูเรียเต็มไปหมด เพื่อรอวันยกทัพเข้าสู่ประเทศจีน ทุกยุทธวิธีทุกยุทศาสตร์ถูกหยิบมาใช้ ซึ่งรวมถึงการส่งทหารให้ปลอมตัวเป็นคนจีนทำหน้าที่เป็นสายลับในย่านต่าง ๆ และทหารญี่ปุ่นรูปงามคนหนึ่ง ซึ่งก็คือ “ผม” ในนวนิยายเรื่องนี้ก็ได้รับมอบหมายให้ไปสืบราชการ ณ บริเวณ “จัตุรัสเชียนฟง” ที่มีลานกว้างใช้สำหรับให้บรรดานักเล่นหมากล้อมมาปะทะฝีมือกัน

ข้างฝ่ายสาวน้อยชาวจีนที่ชื่นชอบกีฬา “หมากล้อม” เป็นชีวิตจิตใจ ก็จะมายังลานกว้างของ “จัตุรัสเชียนฟง” เพื่อประลองฝีมือในกีฬาชนิดนี้อยู่เป็นประจำ

ด้วยความน่ารักของสาวน้อยชาวจีนผู้นี้ ทำให้มีชายหนุ่มเข้ามาเกี่ยวข้องเชิงรักใคร่อยู่หลายคน ทั้ง “พี่ลู่” ผู้ที่คอยสอนการเล่น “หมากล้อม” มาตั้งแต่เธอมีอายุได้เพียงสี่ขวบ และคอยติดสอยห้อยตามเขาไปเล่นหมากล้อมนี้มาโดยตลอด

“หมิ่นฮุย” ชายหนุ่มรูปงามที่เธอพบระหว่างเดินทางไปโรงเรียน เป็นชายอีกคนหนึ่งที่เธอหลงรัก จึงคอยหาโอกาสมาแอบมองชายผู้นี้อยู่บ่อย ๆ และในที่สุดทั้งคู่ก็นัดหมายกันไปพลอดรักกันหลังโรงเรียนเลิกบนยอดเขา “ชีอวิ้น” กันอยู่หลายครั้ง

“จิงฉี่” ชายหนุ่มรุ่นพี่ในโรงเรียน ที่คอยปั่นจักรยานรับส่งเธอไปโรงเรียน แม้ภายหลังที่ “จิงฉี่” ได้พบภาพการพลอดรักของเธอกับ “หมิ่นฮุย” แต่ “จิงฉี่” ก็ไม่ได้ลดถอยความมุ่งมั่นที่จะครอบครองเธอน้อยลงเลย เขาพยายามตามจีบเธอในยามที่มีโอกาสตลอดมา

ด้วยความรักที่เธอมีต่อ “หมิ่นฮุย” เธอจึงเอ่ยปากชวนเขาแต่งงาน แต่คำตอบที่ได้รับก็คือ ขอให้รอไปก่อนเพราะภารกิจเพื่อชาติสำคัญกว่า เขากำลังรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ต่อต้านและขับไล่ทหารญี่ปุ่นออกไปจากประเทศ

ข่าวร้ายที่ “จิงฉี่” นำมาบอกกับเธอในวันหนึ่งก็คือ “หมิ่นฮุย” ถูกทหารญี่ปุ่นจับตัวไปสอบสวนในโทษฐานต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น และได้รับโทษประหารชีวิตโดยการยิงเป้า ณ ลานประหารใจกลางเมือง ซึ่งสร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับเธอเป็นอย่างมาก เธอดั้นด้นเดินทางไปยังแดนประหาร แต่ก็ทำได้เพียงประสานสายตาเพียงชั่วครู่กับ “หมิ่นฮุย” ก่อนที่ลูกปืนจะตัดขั้วหัวใจส่งวิญญาณให้ลอยออกจากร่างเขาไป

เธอมารู้ตัวว่า “ตั้งครรภ์” หลังจาก “หมิ่นฮุย” จากโลกนี้ไปไม่นาน ด้วยความเกรงกลัวต่อครอบครัวที่เธอพักอาศัยอยู่ ทำให้เธอตัดสินใจทำแท้งด้วยการกินยาขับเลือด จนเธอเสียเลือดไปมากทำให้ร่างกายทรุดโทรมและอ่อนแอลง

ภาพของเธอไม่ได้ถูกละเลยไปจากสายตาของทหารหนุ่มญี่ปุ่นที่ปลอมตัวมาเล่น “หมากล้อม” กับเธอในทุกช่วงเย็นแต่อย่างใด

“เขา” และ “เธอ” เมื่อได้มาเล่น “หมากล้อม” ด้วยกันบ่อยครั้ง ค่อย ๆ ก่อเกิดความสัมพันธ์ทางใจเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน วันใดที่มีความทุกข์ ความเหงา เขาหรือเธอก็จะมานั่ง ณ ลานกว้างของจัตุรัสเชียนฟงแห่งนั้น คำพูดที่ทั้งสองคุยกันนั้นนับคำได้ โดยรวมการนัดหมายในวันรุ่งขึ้นในบทสนทนาด้วยทุกครั้ง

ในเย็นวันนั้นหลังจากที่เธอพอพยุงร่างกายหลังจากการเสียเลือดอย่างหนักลุกขึ้นเดินได้ เธอมานั่งรอเขา ณ จุดนัดหมาย และเมื่อได้ประลอง “หมากล้อม” กันจนจบเกมแล้ว เธอได้เอ่ยปากชวนเขาให้พาเธอหนีออกจากเมือง “ฉางชุน” แต่คำตอบที่เธอได้รับคือการปฏิเสธ เพราะบทบาทหน้าที่ทางการทหารที่เขารับผิดชอบอยู่

เธอเสียใจมาก จึงตัดสินใจหนีตามไปกับ “จิงฉี่” คนที่แอบรักเธอ แล้วมาเอ่ยปากชวนเธอให้เดินทางไปยังเมือง “เป่ยผิง” ที่อยู่ทางตอนใต้ของเมือง “ฉางชุน” แต่ด้วยความที่เธอไม่ได้รัก “จิงฉี่” ที่แท้จริง เธอจึงปลอมตัวเป็นชายแล้วตัดสินใจหนีออกจากห้องพักของโรงแรมเล็ก ๆ ในเมือง “เป่ยผิง” หลังจากที่ “จิงฉี่” หลับลง

ข้างฝ่ายทหารหนุ่มชาวญี่ปุ่น หลังจากปฏิเสธคำเชิญชวนของสาวน้อยให้พาเธอหนีไปแล้ว เขาก็ตัดสินใจที่จะไม่ไปยังจัตุรัสเชียนฟงอีก และในไม่กี่วันต่อมาเขาถูกคำสั่งให้เดินทางร่วมกับทหารชุดหนึ่งไปคุมสถานการณ์ที่เมือง “เป่ยผิง” อันเป็นเมืองเกือบร้างหลังจากที่ทหารญี่ปุ่นบุกเข้าโจมตีและยึดครองมาก่อนหน้านี้ไม่นาน

ในเช้าวันนั้นเขาได้รับรายงานจากพลทหารว่าได้จับสายลับได้คนหนึ่ง เขาสั่งให้นำสายลับคนนั้นเข้ามาเพื่อตัดสินโทษ ภาพที่เขาเห็นคือหนุ่มน้อยผมเผ้ายุ่งเหยิง ที่แขนได้รับบาดเจ็บ สวมใส่ชุดนักศึกษาหลวมโพรก เขาก้มหน้าดูพื้นขบฟันแน่นไม่ส่งเสียง

เขาตะโกนสั่งการว่า “ไม่ต้องสอบสวน ให้ยิงเป้าทิ้งให้หมด” ทำให้ทหารหลายรายยกปืนขึ้นเล็งไปที่ร่างของหนุ่มน้อยนั้น

“ฮายาชิ” เพื่อนทหารของเขายกมือขึ้นให้ทหารทุกคนหยุดยิง ก่อนที่จะก้าวออกไปพร้อมกับจับดาบด้วยสองมือยกขึ้นเหนือหัว หวังจะประหารโดยใช้ดาบแทนปืน

นักโทษค่อย ๆ เงยหน้าขึ้น ทำให้ทหารหนุ่มญี่ปุ่นคนนั้นตะลึงไปชั่วครู่ ก่อนตะโกนออกมาว่า “หยุดก่อน” พร้อมกับพุ่งเข้าไปหาเด็กหนุ่มคนนั้น ใช้แขนเสื้อเช็ดคราบฝุ่นที่เปื้อนติดอยู่บนใบหน้า เขาจำรอยกระเป็นจุด ๆ ของเธอได้

“อย่าแตะต้องตัวฉัน” เป็นเสียงตะโกนออกมาจากปากของนักโทษหนุ่ม และเสียงนี้เองที่ทำให้ทุกคนที่ล้อมวงอยู่รู้ว่า “เป็นผู้หญิง”

เมื่อรู้ว่าเป็นผู้หญิง “ฮายาชิ” รีบก้าวออกไปจับเธอพร้อมกับตะโกนว่า “เป็นผู้หญิง ให้จัดการเธอก่อน” พร้อมกับเตรียมปลดเข็มขัดของตนลง แต่ก็ต้องหยุดชะงักลงเพราะมีปลายกระบอกปืนมาจ่ออยู่ข้างหลัง

ทหารทุกคนยอมหลีกทางให้กับทหารหนุ่มผู้เป็นหัวหน้า โดยหวังจะต่อคิวหลังจากที่เขาจัดการกับหญิงคนนั้นเรียนร้อยแล้ว เขาพาเธอไปยังศาลร้างที่อยู่ตรงข้าม เขาค่อย ๆ ถอดเสื้อนอกออกคลุมปิดสองขาที่เปลือยเปล่าของเธอ ร่างของเธอสั่นไปทั้งตัว

เขาค่อย ๆ เอ่ยว่า “อย่ากลัวไปเลย”

เสียงนี้ทำให้เธอสับสน ค่อย ๆ เบิกตาขึ้นสำรวจคนที่อยู่ตรงหน้า พลันที่สติของเธอกลับคืนมา ภาพที่อยู่ตรงหน้าเธอคือชายคนที่เธอรักในชุดทหารญี่ปุ่น เธอจึงโกรธมากจึงถ่มน้ำลายใส่หน้าเขา พร้อมกับกลิ้งตัวร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่บนพื้น พร้อมกับตะโกน “ฆ่าฉัน ฆ่าฉัน”

เสียงเขย่าประตูจากด้านนอกของเหล่าทหารที่หวังจะรอต่อคิวดังขึ้นไม่ขาดระยะ

เขาโน้มตัวลงไปกอดสาวน้อยเอาไว้ในอ้อมแขน เธอกัดไหล่เขาอย่างรุนแรงและดุดัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาหยุด เขายื่นหน้าเข้าไปแนบกับหน้าเธอ น้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัว พร้อมกับพูดเบา ๆ กับเธอว่า “ขอโทษด้วย ขอโทษ”

เขาค่อย ๆ ชักปืนออกมา เล็งปลายกระบอกปืนไปที่ขมับของสาวน้อยชาวจีน เธอเงยหน้าขึ้น สายตาของเธอเฉยชา เขาค่อย ๆ ก้มลงไปจุมพิตที่แก้มของสาวน้อยชาวจีนอีกครั้งอย่างบ้าคลั่ง พร้อมกับกระซิบที่ข้างหูของเธอว่า

“ไม่ต้องห่วง ผมจะไปเป็นเพื่อนคุณ ผมจะคอยปกป้องคุณท่ามกลางความมืดมิด”

เธอลืมตาขึ้น พร้อมกับหลุดเสียหนึ่งออกมาว่า “ฉันชื่อเย่เกอ” พร้อม ๆ กับเสียงลั่นไกปืนดังขึ้น ร่างของเธอหงายหลังล้มลง

ปะตูเปิดออกด้วยฝีมือของเหล่าทหารที่วิ่งกรูเข้ามา เขารีบยัดปืนที่เปื้อนเลือดสด ๆ เข้าปาก

เสียงกระหึ่มดังกึกก้องขึ้นจนสะเทือนฟ้าสะเทือนดิน ร่างอันไร้วิญญาณของเขาล้มลงไปนอนเคียงคู่กับสาวน้อยหมากล้อม ที่มุมปากคงเหลือเพียงรอยยิ้มน้อย ๆ เผยอขึ้น

นี้คือผลงานชิ้นที่สามของ “เหยียนหนี” ที่ได้บรรจงสรรสร้างไว้ และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากถึง ๑๙ ภาษา และยังได้รับการดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์อีกด้วย

นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัล “Le Prix Goncourt des Lyceens” อันเป็นรางวัลทางวรรณกรรมที่สำคัญรางวัลหนึ่งของฝรั่งเศษ และรางวัล “Kiriyama Prize” ที่กองทุนคิริยามาแปซิฟิกประเทศญี่ปุ่นและมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสดกประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกันมอบให้ประจำปี ๒๐๐๔ และเป็นหนังสือที่ทำให้นาย Jacques Chirac ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ต้องเขียนจดหมายไปแสดงความชื่นชมถึงผู้ประพันธ์ด้วยความประทับใจ

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

เขตสุขภาพเพื่อประชาชน : นวัตกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพไทย

๑๒ กันยายน ๒๕๕๗

ปลายเดือนสิงหาคม ผมได้เขียนเรื่อง “สมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี : ตัวแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชน” เพื่ออธิบายถึงรูปธรรมและความหมายของเรื่องนี้ไว้ว่าสามารถทำได้จริง และในหลายๆพื้นที่ก็ได้มีทำงานในเรื่องนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

นับตั้งแต่ที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ให้จัดตั้ง "เขตสุขภาพเพื่อประชาชน" เพื่อเป็นกลไกชี้ทิศทางแบบมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐและภาคประชาชน บูรณาการการทำงานในระบบสุขภาพของทุกหน่วยงานโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นศูนย์กลางนั้น ได้มีความพยายามของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

รูปธรรมหนึ่งที่สำคัญ คือ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมโรงแรมปรินซ์พาเลซ แขวงมหานาค กรุงเทพมหานคร มีเวทีประชุมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อกำหนดเป็นระเบียบสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗

ข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องหนึ่งในห้าเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ คือ "ข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพ : การจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน" ซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบายนี้จะนำเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔–๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร ต่อไป

ผมชอบคำพูดของ “นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา” ประธานคณะทำงานพัฒนารูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพประชาชน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวไว้ว่า “เขตสุขภาพเพื่อประชาชนเปรียบ เสมือนดาวเคราะห์ที่ไม่มีแสงในตัวเอง เข้าใกล้แล้วจึงไม่เป็นอันตราย ดาวเคราะห์ดวงนี้ต้องอาศัยดาวฤกษ์ที่ส่องแสงมาให้ เพื่อส่องแสงสร้างความสว่างไสวต่อไปได้”

เพราะ “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” เป็นกลไกที่ทำงานในลักษณะแนวราบแบบเพื่อน ไม่ได้มีอำนาจสั่งการใครได้ ทำให้ผมจึงอดคิดต่อไม่ได้ว่า

“แล้วทำอย่างไรดาวฤกษ์ทั้งหลาย จะส่งแสงมายังดาวเคราะห์ดวงนี้”
“ทำอย่างไรจะไม่มีเมฆหมอก มาบดบังแสงจากดาวฤกษ์เหล่านั้น”
“ทำอย่างไรแสงที่ส่งจากดาวเคราะห์ดวงนี้ จะสามารถส่องแสงไปยังประชาชนในพื้นที่ได้อย่างไม่มีสิ่งใดมาปิดกั้น”
“ทำอย่างไรประชาชนในพื้นที่จะสามารถรับแสง ที่ส่งมาจากดาวเคราะห์ดวงนี้อย่างเท่าเทียมกัน”

เวทีวันที่ ๑๒ กันยายน ที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นจากคณะอนุกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ ต้องการสร้างกระบวนการแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ๕ เรื่อง ประกอบด้วย

๑) นโยบายสาธารณะเพื่อสนับสนุนกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชนและครอบครัว
๒) ข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพ : การจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน
๓) การจัดการยาสเตียรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย
๔) การพัฒนาระบบการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ
๕) วาระแห่งชาติ : พยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดี

ภายหลังจากที่เสร็จสิ้นการชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประชุมแล้ว ได้มีการแบ่งกลุ่ม ๕ กลุ่มตามวาระข้างต้น ผมสนใจเรื่อง “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ที่มี “นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา” และ “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” ในฐานะประธานและเลขานุการคณะทำงาน ทำหน้าที่นำกระบวนการประชุม

ร่างความคิด ๔ ประการ ถูกนำเสนอต่อผู้เข้าร่วมประชุมกว่า ๑๐๐ คน ประกอบด้วย

หนึ่ง
หลักการสำคัญ มี ๓ ประการ คือ ๑) ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยทุกภาคส่วนที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับสุขภาพ/สุขภาวะของคน ชุมชนและสังคม มีความเป็นเจ้าของ มีความผูกพันและร่วมรับผิดชอบ
๒) ยึด “หลักการ ทิศทางและแนวทางของการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นกรอบการดำเนินการ
๓) ใช้เขตพื้นที่ (กลุ่มจังหวัด) เป็นฐานการทำงานแบบมีส่วนร่วมตามภารกิจ โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการทิศทาง นโยบาย ยุทธศาสตร์ การใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดคุณภาพในการทำงาน ไม่เพิ่มภาระการคลังในด้านการบริหารจัดการ และมีความยืดหยุ่น สามารถปรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม

สอง
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน”
เพื่อเป็นกลไกชี้ทิศทางและบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในด้านสุขภาพทุกมิติ ทั้งทางกาย ใจ ปัญญาและสังคม

สาม
โครงสร้างและบทบาทหน้าที่ ประกอบด้วย
๑) โครงสร้าง : กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เป็นคณะกรรมการที่มีการอภิบาลแบบมีส่วนร่วม ที่ให้มีพันธะผูกพันสำหรับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตาม มีองค์ประกอบและจำนวนตามความเหมาะสมและอาจยืดหยุ่นตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งอาจประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง ๓ ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคสังคมและภาควิชาการ

๒) บทบาทหน้าที่ :
๒.๑ ร่วมกันอำนวยการเพื่อให้เกิดทิศทางและบูรณาการงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของส่วนราชการ หน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การจัดการกับภัยคุกคามและปัจจัยที่กำหนดสุขภาพ การบริการสุขภาพ การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ การเงินการคลังและหลักประกันสุขภาพ และการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยอาจพิจารณาเรื่องเชิงประเด็น เช่น ประเด็นผู้สูงอายุ ประเด็นปัจจัยสังคมที่กระทบต่อสุขภาพ เป็นต้น
๒.๒ สร้างพื้นที่บูรณาการการทำงานด้านสุขภาพของทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและคุณภาพในการทำงานด้านสุขภาพของทุกมิติ และลดความเหลื่อมล้ำ
๒.๓ ผลักดันและขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพในพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน เพื่อยกระดับสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ

สี่
แนวทางความร่วมมือ อยู่ในขอบเขต ๕ ร่วม คือ (๑) ร่วมประสานข้อมูล ภารกิจและการทำงานของแต่ละองค์กร (๒) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำงานเสริมกัน (๓) ร่วมชี้ทิศทางการทำงานสู่เป้าหมายเดียวกัน (๔) ร่วมบูรณาการการทำงานในพื้นที่เดียวกัน และ (๕) ร่วมระดมสรรพกำลังทั้งคน วิชาการ งบประมาณและทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนงานให้เป็นรูปธรรมตามภารกิจขององค์กร

ภายหลังจากการนำเสนอร่างความคิดทั้ง ๔ ประการข้างต้น ได้เปิดฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเวที ซึ่งต่างแสดงความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก ผมนั่งจับสาระสำคัญได้ใน ๔ ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ ๑
เป้าหมายการทำงาน มีข้อเสนอให้
• มีการกำหนดเป้าหมายการทำงานที่ครอบคลุมสุขภาวะทั้ง ๔ มิติ
• คำนึงถึงสุขภาวะของประชาชนทุกกลุ่ม อาทิ กลุ่มคนวัยแรงงาน กลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยด้วย เช่น คนในเรือนจำ คนที่ไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก เป็นต้น
• เป้าหมายการทำงานควรมุ่งไปที่ “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม”

ประเด็นที่ ๒
กลไกการทำงาน มีข้อเสนอให้
• ต้องเป็นกลไกที่สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง มีองค์ประกอบครอบคลุมทุกกลุ่มเครือข่าย มีหลักคิดเป็นหลักยึดโยงการทำงานร่วมกันที่ชัดเจน
• กลไกใหม่ที่เกิดขึ้นต้องมีการเชื่อมโยงกับผู้คนในกลไกเดิมโดยมีการวางบทบาทใหม่ อาทิ ต้องเชื่อมโยงกับเขตบริการสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการอยู่
• ควรมีกลไกที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลในลักษณะกำกับดูแลกันเอง มีความยืดหยุ่นไปตามพื้นที่
• มีกลไกที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนมติหรือข้อตกลงที่ออกมา
• มีกติกากำกับการทำงานของกลไกที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประชุมปรึกษาหารือกันอย่างเป็นประจำ เป็นต้น
• การออกแบบกลไกควรพิจารณาให้ครอบคลุมบทบาทหน้าที่ของการอภิบาลระบบที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ๖ ประการ คือ การกำหนดทิศทางนโยบาย การประสานความร่วมมือ การออกแบบระบบ การกำกับดูแล การสังเคราะห์ความรู้ และการร่วมรับผิดชอบ
• กลไกที่เกิดขึ้นควรมีการกำหนด “อำนาจ” อะไรบางอย่างเพื่อการบริหารจัดการในบางเรื่องได้

ประเด็นที่ ๓
กระบวนการทำงาน มีข้อเสนอให้
• สิ่งที่กำลังคิดกันนี้ควรให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” ที่เน้นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
• กระบวนการที่ใช้ควรนำหลักการของ “สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่” ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ไปใช้ ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการอยู่ในหลายจังหวัด
• กระบวนการทำงานต้องมีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าถึง และรู้เท่าทัน เพื่อนำไปสู่การ “ยอมรับ” ของประชาชน
• การทำงานควรยึดหลัก “กระจายอำนาจ” และ “การอภิบาลแบบเครือข่าย”
• ควรมีการออกแบบกระบวนการทำงานที่สร้างการยอมรับซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง เพราะคนในสังคมไทยยังมีวิธีคิดแบบแนวดิ่งอยู่มาก
• มีการออกแบบกระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจที่ตรงกัน

ประเด็นที่ ๔
เรื่องอื่น ๆ โดยมีข้อเสนอให้
• ในเขตกรุงเทพมหานคร ต้องมีความพิถีพิถันในการแบ่งเขตสุขภาพ
• มีการออกแบบการทำงานร่วมกับเขตสุขภาพข้างเคียง

ผมนั่งฟังเงียบ ๆ อยู่หลังห้อง ซึมซับข้อเสนอที่เพื่อนภาคีสุขภาพจากทุกภาคส่วนได้แสดงทัศนะไว้ กล่าวได้ว่านี้คือ การเปิด “พื้นที่สาธารณะ” ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ร่วมกันได้ เป็นตัวอย่างของการทำงานที่ต้องการ “การมีส่วนร่วม” จากเจ้าของประเทศอีกวาระหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับประเด็นสาธารณะอื่นได้ เป็นแบบฝึกหัดสำคัญของกระบวนการ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ที่เป็นสิ่งพึงประสงค์ของคนทุกฝ่ายสังคมไทย

แน่นอนแม้การจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน จะเป็นนวัตกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพไทยที่ท้าทายอีกครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามก็ย่อมเผชิญกับแรงเสียดทานมิใช่น้อยเช่นเดียวกัน เพราะนี้คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบการบริหารจัดการด้านสุขภาพในประเทศไทยอย่างมหาศาล ที่บนเส้นทางมุ่งสู่เป้าหมายย่อมมีสิ่งกีดขวางทางเสมอ

ความท้าทาย คือ ทำอย่างไรที่เราจะก้าวข้ามสิ่งกีดขวางสู่ดาวเคราะห์ที่ชื่อ “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้อย่างเป็นจริง ?

วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

ผู้หญิงเปลี่ยน "โรค" ให้ "โลก" เปลี่ยน

๘ กันยายน ๒๕๕๗

โลก ณ วันนี้ หมดสมัยแล้วที่จะถามว่า “ผู้หญิงทำอะไรได้”

คำถามเดียวที่ยังคงอยู่ “มีอะไรอีกบ้างที่เธอยังไม่ได้ทำ”

เมื่อใดที่ “ผู้หญิงคนหนึ่ง” เกิดแรงบันดาลใจ เมื่อนั้น “เธอ” จักมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้อื่น

ผู้หญิงบางคนเปลี่ยน “โลก” ได้ ไม่ใช่แค่เพียงเพราะความสามารถหรือมนุษยธรรมเท่านั้น

แต่เพราะ “เธอ” มีความ “ดื้อรั้น” เกินคนธรรมดา

“ความเปลี่ยนแปลง” บนโลกทุกวันนี้ ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากคนส่วนน้อยที่กล้าเดินสวนกระแส

ความ “ดื้อรั้น” จึงเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของคนที่จักสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก

ยามคิมหันตฤดูมาเยือนครั้งใด สีเหลืองอร่ามของดอกลมแล้งหรือดอกคูนหรือในชื่อทางการว่า “ต้นราชพฤกษ์” พลิ้วสะบัดไหวบานสะพรั่งชวนมอง ดุจดั่งความเบิกบานของ “สายลมประชาธิปไตย” ที่แผ่ขยายท่ามกลางพื้นดินร้อนระอุ ทุรกันดาร และแห้งแล้วในฤดูร้อนดังกล่าว

“๔๐ ปีแล้วซินะ” กับ “ชีวิต” แบบนี้ที่เลือกแล้ว

เธออดไม่ได้ที่จะหวนคิดถึงการตัดสินใจครั้งแรกของตนเองที่มุ่งหน้าสู่ชนบท พื้นที่ที่ถูกเรียกขานว่า “แผ่นดินสีแดง” แต่นั้นเองเป็นเพราะท่อนฮุกของเพลง “วันสีเหลือง” ที่ชาวสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร้องจนขึ้นใจว่า “มุ่งออกไป ณ ถิ่นแดนไกล ทุรกันดาร ป้องกันทุกข์ เพราะโรคภัยชุก เรารุกมิวาง บำรุงเสริมความสุข เพิ่มพูน ในทุกๆทาง มีใจรักกว้างขวางในหมู่ประชาชาวไทย”

ไม่ต่างจากชีวิตชาวสาธารณสุขที่ต้องรุกเข้าไปในถิ่นแดนไกล ถิ่นทุรกันดารทั่วทุกหัวระแหงของประเทศ เพื่อปฏิบัติภารกิจสาธารณสุขตามรอยพระบาท “พระบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย” ที่ตรัสไว้ว่า “ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศ จะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”

ไม่ต่างจากดอกลมแล้งที่มาเยือนเฉพาะยามหน้าร้อนและกระจายสร้างความสดชื่นให้ทุกหมู่เหล่า

ย้อนกลับไปเมื่อปี ๒๔๙๗ เด็กหญิงตัวน้อยๆ คนหนึ่งได้ลืมตาขึ้นมองโลกใบนี้ในร้านขายของชำเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในมุมหนึ่งของเมืองปัตตานี เธอเป็นน้องคนเล็กคนที่ ๙ ของพ่อแม่ที่มีเชื้อสายชาวจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาจากจีนโพ้นทะเล

พ่อและแม่ต่างช่วยกันทำมาหากิน เก็บหอมรอมริบจนสามารถตั้งร้านค้าขึ้นมาได้ และกลายเป็นแหล่งเลี้ยงดูลูกทั้ง ๙ คน จนเติบใหญ่ มีเพียงทรัพย์ “การศึกษา” เท่านั้นที่พ่อแม่จักมอบให้เป็นมรดกติดตัวไปตลอดชีวิต ลูกทั้ง ๙ คน จึงได้รับการส่งเสียให้ได้เล่าเรียนทุกคน จนมีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่งทุกคน บางคนเป็นเภสัชกร บางคนเป็นพยาบาล บางคนเป็นนักธุรกิจ เป็นต้น

สำหรับ “กรรณิการ์” หรือ “เด็กหญิงเพ็กเอง แซ่อั้ง” ก็เฉกเช่นเดียวกับพี่ ๆ ที่ได้รับการส่งเสียให้เข้าเรียนที่โรงเรียนจ้องฮั้ว ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีการสอนภาษาจีนควบคู่ไปกับภาษาไทย เมื่อเธออายุครบ ๘ ขวบแล้ว ซึ่งเหมือนจะล่าช้ากว่าเพื่อนร่วมห้อง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเรียน จนจบชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ ๔ โดยสิ่งที่ได้ติดตัวมาด้วยนอกจากใบประกาศนียบัตร คือ “ความสามารถในการพูดภาษาจีน”

เธอย้ายมาเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ที่โรงเรียนเมืองปัตตานี จนจบมัธยมศึกษาตอนต้น และด้วยที่พี่ชายได้เข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร เธอจึงได้เดินทางมาศึกษาต่อที่โรงเรียนบดินทรเดชา แถวถนนลาดพร้าว และเมื่อจบมัธยมศึกษาตอนปลาย เธอจึงเลือกที่จะเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสาธารณสุขศาสตร์

แนวคิด “การสัมผัสกับชุมชน” ถูกหล่อหลอมอย่างเข้มข้นจากสถาบันการศึกษาแห่งนี้ อาจเป็นเพราะในช่วงนั้นเป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบานภายหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ จึงทำให้เธอและเพื่อน ๆสนใจต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย ได้สร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ มากมายที่มีเป้าหมายให้ถึงคนทุกข์ยากเหล่านั้น

ที่แห่งนี้เองที่ได้หล่อหลอมให้เธอเกิดความคิดว่า ต้องทำเพื่อชุมชนและประชาชนที่เป็นรากเหง้าของแผ่นดิน เพราะคนเหล่านี้ยังมีความทุกข์สะสมอยู่มากมาย เธอจึงเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆอย่างมิขาดจนเพื่อน ๆ ขนานนามว่า “นักกิจกรรมตัวยง” ผสานกับท่อนฮุกของบทเพลงวันสีเหลืองที่ทำให้เธอ “อินมาก” และตัดสินใจอย่างมุ่งมั่นว่า “เมื่อเรียนจบแล้วต้องออกไปชนบททันที” แม้ว่าขณะนั้น “ตอนจบ เธอรอดมาด้วยเกรด ๒ กว่า ๆ และเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันสามารถผ่านพ้นมาได้เพียง ๑๘ คน จาก ๔๐ คน” ก็ตามที

งานแรกที่เธอตัดสินใจไปทำ ตามคำแนะนำและชักชวนของรุ่นพี่หลายๆคน คือ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำโครงการ UNFPA โดยต้องไปปฏิบัติงานที่วิทยาลัยการสาธารณสุข (วสส.) จังหวัดพิษณุโลก เธอทำงานในโครงการได้เพียงไม่ถึง ๒ ปี ก็ผันตัวเองมาเป็นอาจารย์ของ วสส. ในตำแหน่ง “วิทยาจารย์ ๓” โดยตั้งความหวังที่จะถ่ายทอดอุดมการณ์และความรู้ให้แก่หมออนามัย ซึ่งจะเป็นผู้ที่ออกไปทำงานดูแลสุขภาพในชุมชน

ด้วยจิตสำนึกรักประชาชนเป็นฐานสำคัญอยู่แล้ว เธอจึงได้นำมาปรับใช้ในกระบวนการเรียนการสอนกับศิษย์ โดยกำหนดให้มีช่วงหนึ่งของการเรียนการสอนที่นักศึกษาทุกคนต้องลงไปอยู่กับชุมชน เพื่อให้สัมผัสกับความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคน นอกเหนือจากทฤษฎีที่มาจากตำรับตำรา

แม้เวลาผ่านไปอุดมการณ์ในเรื่องดังกล่าวก็มิได้แปรเปลี่ยนไป แต่ตรงกันข้ามกลับเข้มข้นขึ้นหลายเท่าทวีคูณ เพราะเมื่อเธอได้เดินทางไปทำหน้าที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุขที่จังหวัดตรัง ในอีก ๑๗ ปีถัดมา เธอได้แบกประสบการณ์และเจตจำนงอันแน่วแน่ที่ “ไม่ทิ้งประชาชน” ไปด้วย

เธอได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนนักศึกษาใน ๓ สาขา ทั้งสาขาสาธารณสุขชุมชน ทันตสาธารณสุข และเทคนิคเภสัชกรรม ให้มาเรียนรวมกันกลายเป็นหลักสูตร “ทรีอินวัน” หรือ “๓ ใน ๑” บทฐานคิดแบบองค์รวม โดยกำหนดให้นักศึกษาทั้ง ๓ หลักสูตร ได้เรียนวิชาพื้นฐานบางวิชาร่วมกัน ลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติภาคสนามร่วมกัน ทำโครงการในพื้นที่ร่วมกัน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานแบบ “สหวิชาชีพ” ก่อนที่นักศึกษาจะจบและออกไปทำงานจริงในพื้นที่

นอกเหนือจากการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ข้ามสาขาแล้ว ยังก่อให้เกิดการบูรณาการเนื้อหาและการประสานความร่วมมือทั้งในตัวนักศึกษาและคณะอาจารย์ผู้สอนด้วย เกิดความรู้ซึ้งเคารพและเข้าใจงานของผู้อื่น ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ดีและเชื่อมโยงการทำงานเป็นเครือข่ายภายหลังจากจบการศึกษาแล้วอีกด้วย

ราว ๓ ปีเศษ นอกจากการก่อร่างสร้างฐานให้กับ วสส.ตรัง ในฐานะผู้อำนวยการคนแรก เธอได้ทุ่มเทในการวางระบบการบริหารจัดการ การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน นอกจากนั้นเธอยังได้ทำหน้าที่สานเชื่อมกับบุคคล องค์กร หน่วยงาน และภาคีเครือข่ายในจังหวัดตรัง จนกลายเป็นที่รักของคนทั้งในและนอกรั้ววิทยาลัย

วสส. กลายเป็นภาคีสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน จนกลายเป็นที่ยอมรับของคนในจังหวัดตรังอย่างกว้างขวาง เกิดความร่วมมือระหว่าง วสส. กับองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ ในพื้นที่ อาทิ สมาคมหยาดฝน ชมรมประมงพื้นบ้าน เป็นต้น

“จริงใจ จริงจัง ไม่ทิ้งประชาชน” จึงกลายเป็นคำที่คุ้นหูจากคนที่คุ้นเคยกับสุภาพสตรีร่างเล็กหัวใจใหญ่คนนี้ ที่มักจะได้ยินคำพูดนี้ออกจากปากเธออยู่บ่อย ๆ เพราะคำนี้เอง คือ จิตวิญญาณที่แท้ของเธอที่หล่อหลอมเป็นส่วนหนึ่งของเธอมาตั้งแต่ครั้งยังเรียนอยู่ในชั้นอุดมศึกษา

จากผลงานการทำงานที่ให้ความสำคัญกับ “ฐานราก” ในช่วงปลายปี ๒๕๔๓ เธอจึงได้รับการทาบทามจาก “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปรส. ให้เข้ามาช่วยงานขับเคลื่อนงานปฏิรูประบบสุขภาพในระดับชาติ ในบทบาทของ “นักสานพลัง”

แม้จะยังเป็นนักสานพลังมือใหม่หัดขับ แต่ด้วยรากฐานทางความคิดที่ผ่านมาตั้งแต่วัยเรียนและทำงานในรั้วของ วสส. มาเกือบ ๒๐ ปี ประกอบกับการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ทำให้ในช่วงระยะประมาณ ๗ ปี ที่ทำงานอยู่ที่ สปรส. เธอจึงกลายเป็นที่รักและเป็นที่ยอมรับจากเพื่อน ๆ ภาคีในทุกระดับวงการ และมีคนรู้จักไปทั่วประเทศ

งานในระยะแรกของการขับเคลื่อนงานปฏิรูประบบสุขภาพ นั่นก็คือ การสานพลังคนไทยให้เข้ามาร่วมกันปฏิรูประบบสุขภาพ บนฐานแนวคิด “Health for All, All for Health” และเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้ก็คือ “กระบวนการสมัชชาสุขภาพ” ซึ่งในวันนั้นยังเป็นเครื่องมือที่คนไทยยังรู้จักอยู่ในวงจำกัด

“ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” คือ กรอบการสานพลัง และในที่สุด “สมัชชาสุขภาพในระดับพื้นที่” ก็ค่อย ๆ เกิดขึ้นและขยายไปทั่วประเทศในที่สุด”

“ในช่วงปีแรกเป็นช่วงของการยกร่างกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการจัดทำกรอบความคิดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ของคนไทย แล้วนำไปรับฟังความคิดเห็นผ่านเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ จำได้ว่าเราจัดเวทีในระดับพื้นที่ รวม ๖๙ จังหวัด รวม ๕๒๖ เวที และมีเวทีระดับอนุภาคอีก ๖ เวที เพื่อรวบรวมความคิดเห็นเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งแรกในปี ๒๕๔๔”

บนเส้นทางมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะในช่วงปี ๒๕๔๖ ฝ่ายการเมืองในขณะนั้นไม่ให้ความสำคัญต่อร่างกฎหมายจากภาคประชาชนเลย จึงเกิดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนภาคประชาชน โดยการรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนร่างกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ กว่า ๔.๗ ล้านชื่อ เสนอต่อประธานรัฐสภาในขณะนั้น

แต่ก็ยังไม่เกิดผลใด ๆ จนต้องมีการรวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า ๑ แสนคน เสนอร่างกฎหมายสุขภาพแห่งชาติภาคประชาชนอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จนกระทั่งมีการรัฐประหารเปลี่ยนรัฐบาล และสามารถคลอดกฎหมายที่มาจากเจตจำนงของประชาชนได้ในปี ๒๕๕๐

จากจุดเริ่มต้นของขบวนการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติมาจนมีกฎหมายสุขภาพแห่งชาติในปี ๒๕๕๐ ให้การรับรองว่า “สุขภาพ” คือ “ความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ”

กว่า ๗ ปีนั้นมีนามของ “กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร” ร่วมเป็นผู้ขับเคลื่อนงานคนสำคัญอยู่ด้วยคนหนึ่ง

ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ สปรส. ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็น “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” หรือ สช. เธอได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ “รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพ” ดูแลงานสำคัญคือ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” อันเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ที่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามา “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผล” ในกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม

เธอเป็นกำลังสำคัญในการจัดการให้เกิด “การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” รวม ๖ ครั้ง จนสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่มาจากทุกภาคส่วนตามยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ได้ร่วมกันให้ฉันทมติต่อข้อเสนอเชิงนโยบาย รวม ๕๙ มติ

นอกจากนั้นในช่วงปี ๒๕๕๔ – ๒๕๕๖ เธอยังเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านปฏิรูปประเทศไทยอีกภารกิจหนึ่ง มีการสนับสนุนให้เกิดกลไกและกระบวนการปฏิรูปประเทศอย่างคึกคักไปทั่วประเทศ และเป็นผู้เบื้องหลังของ "สมัชชาปฏิรูประดับประเทศ” รวม ๓ ครั้ง ก่อให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกิดจากการสานพลังของทุกส่วน รวม ๒๐ มติ

“ต้องทำงานด้วยใจ ด้วย ๕ วิธีการ ๕ หลักคิด” นี้คือคำสั้นๆที่เธอใช้สานพลังในการทำงานกับภาคีเครือข่ายมาตลอด

หนึ่ง ต้องสร้างให้เครือข่ายยอมรับ เมื่อรับปากอะไร ต้องตั้งใจทำให้ได้มากที่สุด พยายามอย่างแรงก่อน ไม่เหลาะแหละ “ปากกับใจต้องตรงกัน” และต้อง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”

สอง ต้องคิดพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้เก่งขึ้น รอบรู้ มีศักยภาพในการทำงานร่วมกับเรานั้นให้สำเร็จ

สาม ต้องเป็นเหยี่ยว ต้องเป็นนักสังเกตว่าใครเป็นใคร ใครเป็น ๕ ตัวจี๊ด ใครเป็นแกนนำเครือข่ายระดับไหน ดูจากการเตรียมการ การจัดฉาก และสอบถาม เบื้องหลังจาการนำเสนอ ความโปร่งใสในการทำงาน ต้องหาข้อมูลรอบด้าน ไม่ฟังหรือเชื่อใครเพียงคนเดียว จดจำชื่อ ลักษณะเด่นของเครือข่ายให้มากที่สุด เมื่อพบกันครั้งต่อไป ทักทายเขาก่อน

สี่ ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพเรียบร้อย ท่วงทำนองและท่าทีเราต้องอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ ควรเป็นผู้ไหว้ก่อน เพราะการไหว้คือการทักทาย

ห้า ต้องพูดแบบสุนทรียะ ไม่โอ้อวด ไม่ดูแคลนหรือข่มคนอื่น เวลาพูดต้องสบสายตา เพื่อแสดงถึงความจริงใจ

อีกทั้งต้อง “เห็นคุณค่าของทุกคน ต้องทำตัวให้เล็กทำใจให้ใหญ่ งานเราสำเร็จเพราะด้วยเครือข่าย ต้องคิดงานตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง และกอปรไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต” นี้คือหลักคิดที่เธอยึดมาตลอดช่วงการทำงาน

จากวันนั้นวันที่เธอเป็นเด็กน้อย ค่อยๆเติบโตทั้งด้านกายภาพ และด้านความคิดอุดมการณ์ มาจนถึงวันที่ “๗ สิงหาคม ๒๕๕๗” วันที่อายุเธอครบ ๖๐ ปี บริบูรณ์ วันที่ขีดเส้นให้เธอต้องออกไปยืนในอีกฐานะหนึ่งขององค์กรที่ชื่อ สช.

เป็นวันที่ครอบครัว สช. รวมทั้งเพื่อนภาคีเครือข่ายรู้สึกเสียดายยิ่งที่เธอต้องเดินออกไปตามวิถีของราชการที่กำหนดไว้

พวกเราในฐานะน้อง ๆ ขอตั้งปณิธานว่า พวกเราจะธำรงอุดมการณ์ของพี่ ที่ได้เพาะปลูกต้นไม้สุขภาวะนี้ไว้ในแผ่นดินด้วยอุดมการณ์ที่มุ่งมั่น ให้เจริญเติบโตต่อไปในภายภาคหน้า ให้ต้นไม้ต้นนี้เป็นต้นไม้ที่แข็งแกร่ง แผ่กิ่งก้านสาขา ออกดอกออกผลให้ผู้คนให้เก็บเกี่ยวและอุดมสมบูรณ์มีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย ใจ ปัญญาและสังคม สืบต่อไป

พวกเราขอขอบคุณเธอ ผู้ที่ “จริงใจ จริงจัง ไม่ทิ้งประชาชน” อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราและของทุกคน สำหรับเธอผู้มีนาม “กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร” ตลอดไป

สุภาพสตรีร่างเล็กแต่หัวใจแกร่งดั่งเพชร ผู้เปลี่ยนความหมายของ “โรค” ให้คนใน “โลก” เปลี่ยนแปลง

หมออุกฤษฎ์ : งาน ชีวิต และคุณค่าแห่งตน

๘ กันยายน ๒๕๕๗

ณ ปี ๒๕๒๒ ที่อำเภอปาย เมืองเล็กๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ชุมชนๆ เล็กอันเงียบสงบที่ตั้งอยู่กลางหุบดอย การติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกมีเพียง “โทรเลข” เท่านั้น ถนนสาย ๑๐๙๕ ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอนกับเชียงใหม่ ยังขรุขระและลำบากยิ่งนักสำหรับการสัญจรไปมา

เมืองปายในวันที่ไม่มีรีสอร์ทหรู ไม่มีที่นอนนุ่มให้หลับสบาย ไม่มีน้ำอุ่นให้อาบ ไม่มีน้ำแร่ร้อนให้นอนแช่ ไม่มีกาแฟกลิ่นหอมกรุ่นให้จิบ ไม่มีถนนคนเดินยามค่ำคืนที่คึกคักเนืองแน่นไปด้วยผู้คนจากกรุงเทพ และไม่มีเสื้อยืดให้เลือกซื้อเลือกใส่เป็นที่ระลึก

แต่วันนั้นเด็กหนุ่มวัยใกล้เบญจเพสที่เพิ่งจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลับตัดสินใจมุ่งหน้าเดินทางมาเริ่มต้นทำงานรับราชการครั้งแรกในชีวิต ณ เมืองแห่งนี้ ในตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาลปาย

ตึกเล็กๆ เพียง ๑ หลัง กับเพื่อนร่วมงานเพียง ๖ คน และกระแสไฟฟ้าที่ใช้ได้เพียงตอนพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงยามพระอาทิตย์ตกตอน ๖ โมงเย็นเพียงเท่านั้น แต่ความยากลำบากเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เขาและเพื่อนร่วมงานลดละความพยายาม ต่างก็พยายามทำหน้าที่ในฐานะ “ผู้บรรเทาความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์ให้ได้มากที่สุด” ในถิ่นทุรกันดารแห่งนี้

ชื่อของ “พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ผู้ก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” “นายแพทย์อภิเชษฐ์ นาคเลขา หรือ หมอเมืองพร้าว” “อาจารย์องุ่น มาลิก แห่งภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” และ “นิสิต จิรโสภณ อดีตนักศึกษาภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ถูกจดจารในใจเขาเสมอมา

อาจเป็นเพราะในช่วงที่เขาศึกษาอยู่ที่คณะแพทย์ศาสตร์นั้น ตรงกับช่วงยุคประชาธิปไตยเบ่งบานพอดี ประกอบกับชีวิตในช่วงของวัย “หนุ่มนักแสวงหา” พื้นฐานที่ได้รับจากคุณพ่อที่ชอบพาเดินทางท่องเที่ยวยามที่ว่างเว้นจากการงาน ทำให้เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เขาจึงกลายเป็นผู้นำจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่างเว้น

ความเป็นตัวตนที่แท้จริงถูกปลุกเร้าขึ้นอีกครั้ง ยามเมื่อเขาได้มีโอกาสเรียนหนังสือกับ “อาจารย์องุ่น มาลิก”อาจารย์ที่สั่งสอน ดูแล และเพาะบ่ม “ความเป็นมนุษย์”

เหล่านี้ทำให้เขามุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายที่จะคอยช่วยเหลือ “เพื่อนมนุษย์” เสมอมา

แต่ละปีๆ เขาจะชักชวนเพื่อนๆให้ใช้เวลาว่างจากการร่ำเรียน ออกไปสัมผัสกับชีวิตของมนุษย์ในชนบท ไปกินนอนร่วมกับชาวบ้าน เพื่อเรียนรู้วิถีมนุษย์ในชุมชนที่อยู่ในดินแดนของความแร้นแค้น

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเบ้าหลอมสำคัญของชีวิตเมื่อเขาเรียนจบ และตัดสินใจเลือกทำงานชดใช้ทุนจากภาษีประชาชน ที่โรงพยาบาลปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลที่เขาเลือกมาทำงานตั้งแต่สมัยเป็นแพทย์ฝึกหัดหรือแพทย์อินเทิร์นมาก่อนหน้านั้น ๑ ปีแล้ว

๖ ปีเต็มๆ ที่เมืองแห่งนี้ ทั้งความสนุกที่ได้เป็นผู้บุกเบิก คุณค่าที่ได้ทำงานเพื่อประชาชนในถิ่นห่างไกล คอยช่วยเหลือคนเจ็บป่วยที่มารักษา และที่สำคัญได้รับความรักจากเพื่อนร่วมงานและประชาชนทั้งอำเภอ ทำให้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เขาจึงเป็นคนแรกที่ได้รับ “รางวัลกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกสร” นี่คือความปลาบปลื้มยิ่งนักของชีวิตวัยหนุ่ม

กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นในมูลนิธิแพทย์ชนบท เพื่อมอบรางวัลให้กับแพทย์หนุ่มสาวที่ปฏิบัติงานในชนบทเสี่ยงภัยและทุรกันดารเฉกเช่นเดียวกับ “นายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกสร” ซึ่งเป็นแพทย์คนแรกที่ตัดสินใจไปทำงานในตำแหน่ง “ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตาพระยา จังหวัดสระแก้ว” อันเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยและมีการปะทะอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดนายแพทย์ท่านนี้ก็ถูกลอบยิงจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๗

วันนี้ในวัย ๖๐ ปี เมื่อเขานั่งหวนรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อกว่า ๓๐ ปีที่แล้ว ระหว่างนั่งเก็บของเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขนย้ายออกจากห้องทำงานแห่งนี้ โดยเฉพาะหนังสือจำนวนมากที่บางส่วนเขาตั้งใจแล้วว่าจะมอบให้กับห้องสมุดเพื่อการศึกษาของผู้สนใจต่อไป พลันรอยยิ้มก็ปรากฏบนใบหน้าเงียบๆ อาจเป็นเพราะด้วยอุปนิสัยส่วนตัวที่เชื่อว่า “ไม่จำเป็นต้องประกาศตัวว่าเราทำอะไร การทำงานต่างหากจะเป็นตัวบ่งบอกสิ่งที่กระทำ หากมีคนสนใจในงานที่เราทำ เขาก็คงจะเดินเข้ามาพูดคุยกับเราเอง จะมีคนรู้มีคนเห็นเอง”

๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ วันสุดท้ายของชีวิตราชการในตำแหน่ง “รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” และพนักงานของ “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “สช.”

จากชีวิต “เด็กชายอุกฤษฏ์ มิลินทางกูร” ที่เติบโตขึ้นมาเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว ณ มุมหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ในครอบครัวอันอบอุ่น มีฐานะค่อนข้างดี คุณพ่อทำธุรกิจส่วนตัว คุณแม่ยึดอาชีพ “เรือจ้าง” รับราชการเป็นครู

นอกเหนือจากความรักที่ครอบครัวมอบให้อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว “การศึกษา” นับเป็นสินทรัพย์สำคัญที่เขาได้รับ จากเด็กอนุบาลที่ “โรงเรียนวัดกิตติ” ศึกษามาจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

กอปรกับเพื่อนๆรอบตัวเป็นเพื่อนที่ใฝ่เรียนรู้ สนใจอ่านหนังสือและศึกษาเล่าเรียนตลอดเวลา ทำให้เขาตัดสินใจศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในสายวิทย์ และจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ พร้อมกับผลการเรียนระดับดีเยี่ยม พร้อมกับได้โควตาเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่กลับสละสิทธิ์เพราะอยากจะทดสอบความรู้ของตนเองโดยสมัครสอบเอ็นทรานซ์ ในที่สุดเขาก็สอบติดคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นคณะเดิมที่สละสิทธิ์นั้นเอง

ปี พ.ศ.๒๕๒๘ เขาต้องยอมละทิ้งงานที่โรงพยาบาลปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยผู้บังคับบัญชาได้ย้ายให้ไปทำหน้าที่ “ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร” เป็นเวลาปีเศษ ก่อนที่จะถูกย้ายไปทำหน้าที่ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธรกว่า ๓ ปี ที่มี “นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ” เป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอยู่ที่นั่นก่อนแล้ว

นอกจากที่ได้ร่วมงานกับ “หมออำพล” สมัยที่อยู่ยโสธรด้วยกันแล้ว ช่วงที่ได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่ประเทศเบลเยี่ยมร่วมกัน ทำให้ “เขา” และ “หมออำพล” ต่างรู้จักในวิธีคิดและอุปนิสัยใจคอของกันและกันเป็นอย่างดี

ชีวิตราชการหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวันเวลาที่ผันผ่าน เขาถูกย้ายเข้ามาเป็น “ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองฝึกอบรม กระทรวงสาธารณสุข” ในระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะย้ายไปดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุข” ที่จังหวัดพิษณุโลก และได้มีโอกาสร่วมทำงานกับ “อาจารย์กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร” ซึ่งเป็นทำงานอยู่ที่นั่น จนเกิดความคุ้นเคยกัน

ในปี ๒๕๓๗ เขาถูกย้ายไปเป็น “ผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุข” ที่จังหวัดชลบุรี และทำงานอยู่ที่นั่นเพียง ๑ ปี ก่อนที่จะถูกชักชวนจาก “หมออำพล” ให้มาร่วมเป็นทีมใน “สถาบันพัฒนากำลังคนสาธารณสุข” ซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่

เกือบ ๕ ปีเต็มที่เขาทำหน้าที่ในสถาบันด้านการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขแห่งนั้น ซึ่งต่อมาได้ถูกยกระดับเป็น “สถาบันพระบรมราชชนก” ในวันนี้

ปี ๒๕๔๕ นับเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ เมื่อ “หมออำพล” ซึ่งย้ายไปทำหน้าที่ “ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “สปรส.” ก่อนหน้า ได้มาชักชวนให้ไปร่วมในขบวนปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย

เป้าหมายหลักของ “สปรส.” คือ การผลักดันให้มีการประกาศใช้ “กฎหมายว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” ด้วยยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” โดยได้ร่วมทำงานกับ “อาจารย์กรรณิการ์ บันเทิงจิตร” คนคุ้นเคยที่เคยทำงานอยู่ด้วยกันที่จังหวัดพิษณุโลก

งานสำคัญที่เขาได้รับมอบหมาย คือ “การประสานงานกับเครือข่าย” ทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมกันเป็นเจ้าของกฎหมายฉบับนี้

กิจกรรมสำคัญที่ถูกจัดขึ้นนับตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ จนถึงปี ๒๕๕๐ จะต้องมีชื่อเขาเข้าร่วมเป็นทีมงานขับเคลื่อนทุกกิจกรรม งานที่เขาประทับใจเป็นที่สุด คือ “งานรณรงค์รวมพลังสร้างเสริมสุขภาพ ตามรอยยุคลบาท” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑ – ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ หรือกว่า ๑๐ ปี ล่วงผ่านมาแล้ว

ในกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ครั้งนั้น ได้มีการจัด “ขบวนวิ่ง ปั่นจักรยาน” เพื่อรณรงค์ให้คนไทยร่วมกันสร้างสุขภาพตามรอยยุคลบาท เป็นขบวนที่ใช้เวลา ๗ วัน จาก ๕ จังหวัด ๔ ภาค มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานคร สายใต้จากจังหวัดสงขลา สายตะวันออกเริ่มจากจังหวัดสระแก้ว สายเหนือเริ่มจากจังหวัดเชียงใหม่ และสายอีสานเริ่มจากจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดหนองคาย ระหว่างทางก็แวะชมสิ่งดี ๆในการสร้างสุขภาพ พร้อมไปกับการรวบรวมรายชื่อคนไทยที่สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งรวบรวมได้กว่า ๔ ล้านรายชื่อ ขบวนทั้ง ๕ สายมุ่งหน้าสู่ท้องสนามหลวงนำเอารายชื่อผู้สนับสนุนมอบต่อประธานรัฐสภา (นายอุทัย พิมพ์ใจชน) และต่อหน้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองขณะนั้น

จนในที่สุดในปี ๒๕๕๐ ก็มีการประกาศใช้กฎหมายที่ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมขับเคลื่อนมากว่า ๗ ปี สร้างความสุขให้กับทุกคนที่เฝ้ารอมาอย่างยาวนาน

ภายหลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ และได้เกิด “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “สช.” งานสำคัญที่เขาได้รับบทบาทให้ดูแลล้วนมีความสำคัญยิ่งกับเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ทั้งการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายที่เป็นองค์กรและหน่วยงานในต่างประเทศ การสานพลังกับเครือข่ายในภาคเหนือ รวมถึงงานพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

ด้วยชีวิตวัยเด็กที่หล่อหลอมให้เขาสนใจอ่านหนังสือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขายังรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการให้กับหนังสือหลายๆ เล่ม ไม่ว่าจะเป็น “สาระพัฒน์ ๒” “เรียนรู้วิถีชุมชน” “สร้างคน สร้างปัญญา” “เรียนภาษาอังกฤษกับนักเรียนนอก” “ธรรมะที่ควรเติมลงในชีวิต” “ธรรมสัญจรสู่มูลนิธิพุทธฉือจี้” เป็นต้น นี้ไม่นับเขายังได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ “เลขาธิการมูลนิธิหมอชาวบ้าน” ในช่วงเวลาหนึ่งด้วย

ภาพของหนังสือที่วางเป็นกองสุมอยู่ด้านหน้าระหว่างที่เขากำลังเลือกหยิบบางเล่มกลับบ้าน และมิใช่น้อยได้ตัดสินใจมอบให้ห้องสมุด โดยเฉพาะ “ห้องสมุด ๑๐๐ ปี เสม พริ้งพวงแก้ว” ที่ตั้งอยู่ที่ชั้น ๑ ของอาคารสุขภาพแห่งชาติ จนปัจจุบันเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือและสื่อที่เกี่ยวกับ “การปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย” ไว้อย่างครบถ้วนมากที่สุดในประเทศไทย จนได้รับการประกาศเกียรติคุณ เป็น “ห้องสมุดเฉพาะดีเด่น” ของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย

ทำให้เขาอดที่จะเหลียวมองโล่ที่ได้รับพระราชทานจาก “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ” ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมาไม่ได้ ในฐานะ “ผู้มีอุปการคุณต่อวงการห้องสมุดและการศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสนเทศศาสตร์” ที่จัดโดย “สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย”

ชีวิตหลังจากนี้เขาปวารณาตัวที่จะทำงานกับ “เพื่อนมนุษย์ให้หลุดพ้นความทุกข์ยาก” ต่อไป ดุจดั่งปณิธานที่เขาตั้งมั่นมาแต่วัยหนุ่ม รวมถึงการนำวิถีปฏิบัติของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ประเทศไต้หวัน มาน้อมนำชีวิต วิถีฉือจี้ คือ วิถีที่ดึงเอาความดีงามของมนุษย์มาใช้ เพื่อทำให้ทุกคนมีความสุขในการอยู่ร่วมกัน

หัวใจของความเป็นมนุษย์ของฉือจี้ มีหลักสำคัญ ๓ อย่าง คือ ศรัทธาในการทำความดีเพื่อคนอื่น รับเอาองค์ความรู้เทคโนโลยี มาปรับใช้เพื่อเข้าถึงคนทุกรุ่น และทำงานอย่างเป็นระบบเป็นมืออาชีพ

วิถีฉือจี้เป็นอีกแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขาต้องทำงานเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือสังคมต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เขารู้ดีว่า “โรคมะเร็ง” ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในวันนี้ ทำลายเขาได้เพียงกายเท่านั้น แต่ใจที่กล้าแกร่ง ทำให้เขาสามารถฝ่าโรคร้ายนี้ได้อย่างเข็มแข็ง ยามว่างเขาจะให้เวลากับการออกกำลังกายโดยใช้จักรยานคู่ใจพาเขาไปนับร้อยกิโลเมตร ปรับพฤติกรรมการกินการอยู่ทุกอย่างเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายนี้ ให้เขายังสามารถทำงานเพื่อคนอื่นได้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

แม้ปฏิทินจะเดินผ่านวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ มาร่วมเดือนกว่าแล้ว และเขาก็ได้กลายเป็นอดีตบุคลากรของ สช. ไปแล้วก็ตาม

แต่ภาพของชายคนหนึ่งที่รักสุขภาพของตนเอง ผู้ก้าวล้ำทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ชอบถ่ายรูปในทุกกิจกรรม ผู้ให้ความรักและความเป็นเพื่อนกับทุกคนที่สัมผัส ผู้เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมบนเส้นทางสายปฏิรูปอย่างมุ่งมั่น ภาพเหล่านี้ยังอบอวลอยู่ในใจของครอบครัว สช. และเพื่อนภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างมิมีวันรู้ลืม

เพราะมีเพียงตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลง แต่ไม่สามารถขีดแบ่งความสัมพันธ์ของ “คนในครอบครัวเดียวกัน” ให้แยกจากกันได้ ความศรัทธาในกันและกัน ความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีตนเอง การได้ทำงานที่มีคุณค่าเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต เหล่านี้คือความเชื่อมร้อยชีวิตที่ห่างเพียงกายให้ “ใจ” ได้ใกล้กันตลอดเวลา

ตะวันกำลังลับแล้ว และพรุ่งนี้ตะวันดวงเดิมก็กลับมาทำหน้าที่อีกครั้ง ผมยังจำภาพที่ “เขา” นั่งเก็บหนังสือทีละเล่มๆ และเรื่องราวที่บอกเล่าให้ “พวกเราคนรุ่นหลังฟังอย่างลึกซึ้ง” ทำให้ผมนึกถึงข้อความท่อนหนึ่งของ “ศรีบูรพา” นักเขียนไทยที่มีชื่อเสียง ที่กล่าวไว้ในนวนิยายอิงการเมืองเรื่อง “จนกว่าเราจะพบกันอีก” ว่า “ฉันไม่คิดว่าการมีชีวิตอยู่เพียงแต่จะกินไปวันหนึ่ง และแสวงหาความสุขไปวันหนึ่ง แล้วก็รอวันเจ็บป่วยและตายนั้นเป็นสิ่งที่มีค่าอะไร ตามความเห็นของฉัน ชีวิตเช่นนั้นเป็นของว่างเปล่าเท่ากับไม่ได้เกิดมาเลยในโลกนี้ ชีวิตเฉยๆ ไม่มีความหมายสำหรับฉัน ถ้าฉันอยู่ ฉันต้องอยู่ในชีวิตที่ดีงาม และชีวิตที่ดีงามนั้นต้องมีอะไรมากกว่าการหากิน การแสวงหาความสนุก แล้วก็รอวันตาย ชีวิตที่ดีงามย่อมมีอยู่ และถูกใช้ไปเป็นคุณประโยชน์แก่คนอื่น”

นายแพทย์อุกฤษฏ์ มิลินทางกูร ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นอย่างชัดเจนว่า การเปลี่ยนโลกทุกครั้งล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากการมองเห็นคุณค่าในตนเอง และคนที่จะจุดประกายให้คนอื่นได้มองเห็นคุณค่าในตนเองก็จะต้องเป็นคนที่เต็มเปี่ยมทั้งความกล้าหาญและความรักนั้นเอง

วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557

ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา : ความฝันของคนลุ่มน้ำ

๗ กันยายน ๒๕๕๗

เวลากว่า ๑ ชั่วโมงบนสายการบินน้องใหม่จากอินโดนีเซีย “ไทยไลอ้อนแอร์” ทำให้ผมมีโอกาสได้นั่งอ่าน “ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” อย่างละเอียด ที่พึ่งจะผ่านการรับรองและประกาศใช้ในเวทีสมัชชาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ผมได้รับการเชื้อเชิญจาก “อาจารย์เทพรัตน์ จันทพันธ์” อาจารย์ประจำวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการการจัดการองค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา) ให้มาร่วมวงพูดคุยกันถึงเรื่อง “ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”

ภาพของการเปลี่ยนแปลงในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาปรากฏแทรกขึ้นมาระหว่างตัวอักษรแต่ละบรรทัด โดยเฉพาะด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มลพิษที่มากขึ้น น้ำในทะเลสาบที่ตื้นเขินและไม่ไหลเวียน ภัยธรรมชาติ ป่าต้นน้ำลดลง ความขัดแย้งระหว่างคนใช้น้ำทำนาข้าวกับทำนากุ้ง การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมัน การใช้เครื่องมือผิดประเภทในการทำประมงมากขึ้นจนทำให้สัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว

แม้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาในรัฐบาลทุกยุคสมัย โดยเฉพาะการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาขึ้นมาที่คณะรัฐมนตรีรับรองแล้ว และมีแผนปฏิบัติการในระยะ ๑๐ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ พ.ศ.๒๕๖๐ แต่ก็ยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำและเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ

ทั้ง ๆ ที่ในพื้นที่มีรูปธรรมหลายประการในชุมชนที่ชาวบ้านมีการสร้างกติกาชุมชนขึ้นมาเพื่อปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา เช่น ธรรมนูญลุ่มน้ำคลองภูมี ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ เหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเกิดขึ้นมาของ “ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”

เช้าวันเสาร์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมอาศรมศิลปกรรมทักษิณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ มีการหารือถึงทิศทางการขับเคลื่อนให้ “ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ได้รับการปฏิบัติจริงในพื้นที่ต่าง ๆ

จุดกำเนิดของการจัดทำ “ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” มาจากการตระหนักร่วมกันว่าพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทางวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ จึงได้จัดทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการการจัดการองค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาขึ้นมา ระยะเวลาดำเนินการ ๔ ปี ภายใต้วัตถุประสงค์สำคัญ ๔ ประการ คือ

(๑) เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

(๒) เพื่อศึกษาการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วม ในการกำหนดทางเลือกในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

(๓) เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นขับเคลื่อนงานวิจัยชุมชนที่มีการพัฒนาจากประเด็นปัญหาในพื้นที่ และนำงานวิจัยชุมชนมาสนับสนุนกระบวนการชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ในการบริหารจัดการทรัพยากร ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

(๔) เพื่อศึกษากระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา นำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะของชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่เกิดขึ้นครั้งนี้จึงเป็นการตอบวัตถุประสงค์ประการที่ ๔ นั่นเอง

โดยในช่วง ๒ ปีก่อนหน้านี้ ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ใน ๒๕ อำเภอ ครอบคลุม ๓ จังหวัด คือ พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา

เมื่อมาพิจารณาสาระสำคัญของธรรมนูญฯ ประกอบด้วย ๒๕ ข้อ ใน ๑๗ หมวด ได้แก่

หมวดที่ ๑ บททั่วไป ที่ได้รวบรวมคำนิยามศัพท์ที่สำคัญ และวัตถุประสงค์ของการจัดทำธรรมนูญไว้
หมวดที่ ๒ วิสัยทัศน์และแนวคิดของธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๓ ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หมวดที่ ๔ ความมั่นคงทางอาหาร หมวดที่ ๕ สิทธิชุมชนและการอยู่ร่วมกันของคนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๖ สังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๗ การศึกษาและพัฒนาคนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๘ การศึกษาและวิจัยและการจัดการความรู้
หมวดที่ ๙ การพัฒนาอาชีพและเศรษฐกิจคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๑๐ การสื่อสารและสารสนเทศของชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๑๑ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ
หมวดที่ ๑๒ กองทุนพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
หมวดที่ ๑๓ การบริหารจัดการ การบูรณาการแผนพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๑๔ การบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๑๕ การบริหารจัดการธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาบนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน
หมวดที่ ๑๖ สมัชชาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๑๗ การแก้ไขและบังคับใช้ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

“กำราบ พานทอง” คณะทำงานสำคัญที่ผลักดันให้เกิดธรรมนูญฉบับนี้เล่าให้ฟังว่า “เกิดขึ้นมาจากแนวคิดของธรรมนูญสุขภาพ โดยเฉพาะธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ โดยเจตนารมณ์สำคัญคือ ความเป็นข้อตกลงที่มาจากเป้าหมาย ความฝัน ศีล ข้อตกลง กฎ กติกา ที่คนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอยากเห็น อยากเป็น อยากมีร่วมกัน อันนำไปสู่การมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน นำมาใช้เป็นระเบียบปฏิบัติที่ดีงาม รวมทั้งการใช้ในการจัดระเบียบชุมชนท้องถิ่นและสังคมของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”

ผมอดไม่ได้ที่จะภูมิใจเล็ก ๆ เมื่อเครื่องมือที่พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด “ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ฉบับนี้ขึ้นมา

แน่นอนแม้วันนี้ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลายังเป็นเพียงตัวอักษรบนกระดาษ แต่ก็ถือเป็นความท้าทายสำคัญของคนในพื้นที่ในการขับเคลื่อนธรรมนูญฉบับนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ ตามความมุ่งมั่นและความพยายามของคนในพื้นที่ที่ต่างก็ต้องการอนุรักษ์ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประเมินค่ามิได้ของโลกใบนี้ไว้ให้กับลูกหลานสืบต่อไป