วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

“หมวกหกใบ” : เครื่องมือเสริมสร้างกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพ” ที่มีคุณค่าอีกชิ้นหนึ่ง

๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๗

นอกจาก “เวิลด์คาเฟ่” ที่เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างพื้นที่สนทนาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสมานฉันท์อันเป็นกระบวนการสำคัญของ “สมัชชาสุขภาพ” ที่ผมได้เล่าไปอย่างละเอียดในครั้งที่แล้ว “หมวกหกใบ หรือ Six Thinking Hats” เป็นอีกเครื่องมือที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ สำหรับการกำหนดประเด็นเพื่อสร้างให้เกิด “พลังการสนทนา” อันเป็นหลักการสำคัญของกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพ” ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐

ย้อนไปเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๗ ที่ห้องประชุมของโรงแรมเรือโบราณหรือคุ้มหม่อมไฉไล ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดให้มีเวทีพัฒนาศักยภาพ “นักสานพลัง” กว่า ๕๐ ชีวิต

ในเรื่องเล่าครั้งนั้น ผู้ทำหน้าที่กระบวนกรได้นำเครื่องมือ “เวิลด์คาเฟ่” มาใช้สำหรับการระดมสมองของบรรดานักสานพลัง จนได้ข้อสรุปที่ลึกซึ้งและมีประโยชน์อย่างมากมาย จุดสำคัญที่ทำให้ “เวิลด์คาเฟ่” เกิดผลอันเป็นที่พอใจ นั่นก็คือ “คำถาม” ที่ผู้ทำหน้าที่ “กระบวนกร” ได้ตั้งไว้อย่างชัดเจนและครอบคลุม

หลักการหรือเทคนิคที่นำมาใช้ในการกำหนดกรอบการตั้งคำถาม ก็คือ “หมวกหกใบ หรือ Six Thinking Hats”

เทคนิคนี้เป็นเครื่องมือที่โด่งดังมากมายาวนานกว่า ๒๐ ปี พัฒนาโดย “เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน” (Edward de bono)

หลักการของเครื่องมือนี้ คือ การจัดความคิดของทุกคนในกลุ่มให้คิดไปในแนวทางเดียวกันในเวลาเดียวกัน เรียกว่าการคิดแบบขนาน (Parallel Thinking) เพื่อป้องกันการขัดแย้งทางความคิดซึ่งกันและกัน และลดทิฐิในความคิดของตนเอง จากนั้นค่อยสั่งให้เปลี่ยนแนวคิดไปอีกแนวหนึ่งพร้อมๆ กัน เพื่อให้ได้พิจารณาในทุกแง่มุมให้ครบทุกมุมมอง

ความคิด ๖ ด้าน ที่เปรียบเสมือนหมวก ๖ ใบ ประกอบด้วย

หมวกสีขาว (White Hat) : เป็นตัวแทนของข้อเท็จจริง ซึ่งได้แก่ ตัวเลขและข้อมูลต่าง ๆ มีประโยชน์ในการวิเคราะห์ เพื่อหาข้อสรุปโดยไม่คำนึงถึงทัศนคติหรือความคิดเห็นใด ๆ

หมวกสีแดง (Red Hat) : เป็นตัวแทนของอารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อเรื่องราวนั้น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผลใด ๆ

หมวกสีดำ (Black Hat) : เป็นตัวแทนของความระมัดระวัง ซึ่งจำเป็นต้องไตร่ตรองและยับยั้งการดำเนินการ ถ้าอาจทำให้ความเสียหายหรือล้มเหลวได้

หมวกสีเหลือง (Yellow Hat) : เป็นตัวแทนของการแสงหาทางเลือกอย่างมีความหวัง พร้อมทั้งทดลองปฏิบัติเพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

หมวกสีเขียว (Green Hat) : เป็นตัวแทนของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนต้นไม้ที่ให้ความสดชื่น เป็นการเปิดโอกาสให้กับการปรับปรุง สร้างสรรค์และพัฒนา

หมวกสีน้ำเงิน (Blue Hat) : เป็นตัวแทนของการควบคุมความคิดทั้งหมดหรือมุมมองในทางกว้างที่ครอบคลุมทุกสรรพสิ่ง ซึ่งเปรียบเหมือนท้องฟ้า

เมื่อผู้เข้าประชุมเข้าประจำที่ในกลุ่มย่อย “กระบวนกร” ก็ฉายภาพขึ้นจอขนาดใหญ่ ข้อความที่ปรากฏบนคือ “คำถาม” ชวนคิด ว่า “เราได้เรียนรู้อะไรจากเครื่องมือตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐”

แต่เพื่อไม่ให้การคิดของแต่ละกลุ่มไปคนละทิศทาง กระบวนกรจึงได้ตั้งคำถามย่อย ๓ คำถาม สำหรับการประชุมกลุ่มในรอบที่ ๑ โดยอาศัยกรอบความคิดของ “หมวก ๖ ใบ” มาใช้คือ

หมวกสีขาว : สิ่งที่เราเจอ ข้อเท็จจริง

หมวกสีแดง : รู้สึกอย่างไร

หมวกสีเขียว : ต่อยอด

เมื่อหมดเวลาที่กำหนด กระบวนกรก็ประกาศให้สมาชิกแต่ละกลุ่มแยกย้ายไปยังกลุ่มอื่น โดยให้เหลือ “เจ้าบ้าน” ประจำกลุ่มไว้หนึ่งคน เพื่อคอยอธิบายสิ่งที่ได้คุยกันไว้ให้สมาชิกใหม่รับทราบ พร้อมทั้งกำหนด “คำถาม” ใหม่อีก ๒ ข้อ ตามแนวคิดของหมวกอีก ๒ ใบ คือ

หมวกสีเหลือง : คุณค่า ประโยชน์

หมวกสีดำ : เงื่อนไข ข้อควรระวัง

เฉกเช่นเดียวกัน เมื่อหมดเวลาสมาชิกก็จะย้ายไปยังกลุ่มอื่น โดยมอบหมายให้ใครคนหนึ่งทำหน้าที่ “เจ้าบ้าน” เพื่ออธิบายให้สมาชิกใหม่รับฟังเช่นเดิม

อีกทั้งยังได้เพิ่ม “คำถาม” อีก ๑ ข้อ ตามแนวคิดของหมวกอีก ๑ ใบที่เหลือ คือ

หมวกสีฟ้า : สรุปรวบยอด

เวลาประมาณ ๙๐ นาที สำหรับกระบวนการ “เวิลด์คาเฟ่” ที่มีการตั้งคำถามตามแนวคิดของ “หมวก ๖ ใบ” ได้หมดลง นอกจากภาพของผู้เข้าประชุมที่เดิน นั่ง นอน อย่างมีชีวิตชีวาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้ทุกคนเห็นก็คือ ภาพวาด แผนผังความคิดและตัวอักษรที่ถูกขีดวาดไว้บนกระดาษฟลิปชาร์ทของทุกกลุ่ม ต่างล้วนมีคำตอบตามคำถาม ๖ ข้อ ที่ลึกซึ้งและเป็นประโยชน์ยิ่ง

ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่า ความสำคัญของการ “ตั้งคำถาม” หรือ “โจทย์เวที” ในการประชุม อย่างพิถีพิถันและเปิดโอกาสให้มีการครุ่นคิดอย่างรอบด้าน จะสามารถสร้างประสิทธิภาพของการจัดประชุมให้เกิดประสิทธิผลได้อย่างดียิ่ง

วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

“เวิลด์คาเฟ่” เครื่องมือเสริมสร้างกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพ”

๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๗

หากพลิกกลับไปดูคำนิยามของคำว่า “สมัชชาสุขภาพ” ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ แล้วจะพบว่าเป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับ “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสมานฉันท์” ซึ่งหากวิเคราะห์ลงไปถึงเจตนารมณ์ที่อยู่เบื้องลึกของกระบวนการดังกล่าวคงหนีไม่พ้นที่ผู้ร่างกฎหมายได้ให้ความสำคัญกับ “พลังของการสนทนา” เป็นที่สุด

มีนักวิชาการที่ให้คุณค่ากับ “พลังของการสนทนา” ไว้อย่างหลากหลาย ซึ่งผมขอยกตัวอย่างมาสัก ๕ คน ดังนี้

"เฟรด คอฟมาน และปีเตอร์ เซงเก" กล่าวไว้ว่า “องค์กรที่เรียนรู้อย่างแท้จริงคือพื้นที่สำหรับการสนทนาที่สร้างสรรค์และการปฏิบัติที่ร่วมกัน ที่เกิดเป็นความตกลงร่วมอันมีพลังมหาศาลในการสร้างความเป็นจริงใหม่ ๆ ในการสนทนา และนำความจริงใหม่นี้มาปฏิบัติ”

"วิลเลี่ยม กรีเดอร์" ก็กล่าวไว้ว่า “ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในการสนทนาของมนุษย์ การลงทุนที่ง่ายที่สุดและน่ากลัวน้อยที่สุดที่พลเมืองสามารถทำได้ในการปรับเปลี่ยนประชาธิปไตยคือการเริ่มต้นพูดกับคนอื่น ถามคำถาม และรู้ว่าคำตอบนั้นสำคัญ”

"แกรี่ ฮามมัล" กล่าวไว้เช่นกันว่า “การวางแผนยุทธศาสตร์ยุทธวิธีขึ้นอยู่กับการสร้างสายใยที่ซับซ้อนและรุ่มรวยของการสนทนาที่ตัดผ่านชุดความรู้ ซึ่งก่อนหน้านี้แยกจากกัน และสร้างการผสมผสานของญาณทัสนะใหม่ ๆ ที่ไม่คาดฝันมาก่อน”

"ลินดา ลอมเบิร์ต" กล่าวในแง่มุมทางการศึกษาไว้ว่า “ในระบบสังคม การสนทนาที่ดีสักครั้งหนึ่งอาจสามารถเปลี่ยนทิศทางของการเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล”

"ทอม แอตลี่" ได้กล่าวไว้ว่า “การสนทนาเป็นหัวใจของการเกิดปัญญาร่วม เราจะสร้างปัญญาระดับสูงในกลุ่มของเราได้ หากได้พูดคุยกันอย่างมีคุณภาพสูงเท่านั้น”

ฉะนั้น ผมจึงนึกชื่นชมเป็นยิ่งนักกับกิจกรรมในเวทีพัฒนาศักยภาพ “นักสานพลัง” ที่จัดขึ้นในช่วงเช้าของ “วันปิยะมหาราช” ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมของโรงแรมเรือโบราณหรือคุ้มหม่อมไฉไล ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ในเขตอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

เพราะ “พีธากร” หนุ่มร่างเล็กท่าทางทะมัดทะแมงหน้าตาคมสัน ทำหน้าที่ “กระบวนกร” และได้ใช้ “เวิลด์คาเฟ่” อันเป็นเทคนิคการประชุมที่ให้ความสำคัญกับ “การสนทนา” มาใช้ในช่วงเวลาดังกล่าว

“พีธากร” ได้ทำหน้าที่ “กระบวนกร” อย่างมืออาชีพ ผ่านการนำเข้า ตั้งโจทย์ กระตุ้น ย้ำเตือน และสรุปที่กระชับ ชัดเจน ตรงประเด็น และเต็มเปี่ยมไปด้วยสาระ

“นักสานพลัง” เกือบ ๕๐ ชีวิตที่เดินทางมาจากทั่วสารทิศของประเทศต่างแลกเปลี่ยนความคิด มุมมองกันอย่างมีชีวิตชีวา คึกคัก และได้ข้อสรุปที่ลึกซึ้งยิ่งนัก

“สมัชชาสุขภาพ คือ เครื่องมือสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม"

“สมัชชาสุขภาพ คือ ช่างเชื่อม ทั้งเชื่อมคน เชื่อมงาน เชื่อมพลังทางวัฒนธรรม"

“สมัชชาสุขภาพ เป็นการยกระดับจากการทำกิจกรรมมาเป็นเรื่องของนโยบาย ยกระดับจากการทำงานในหมู่พวกพ้องของตนมาเป็นการทำงานในเชิงสาธารณะ"

“สมัชชาสุขภาพ เปรียบเหมือนรถไฟที่แล่นไปตามราง ใครจะขึ้นใครจะลงก็ได้ แต่รถไฟคันนั้นก็จะแล่นไปถึงเป้าหมายในที่สุด"

“สมัชชาสุขภาพ เป็นการทำงานที่เน้น ความสัมพันธ์ จึงต้องมีความพิถีพิถันในการออกแบบ อย่าออกแบบตามประเพณี แต่ต้องออกแบบตลอดเวลา”

นี้คือเสียงบางส่วนที่แล่นเข้าไปในหัวใจของผม ในขณะที่นั่งฟังสมาชิกกลุ่มสนทนากันอย่างออกรส

ย้อนกลับไปในเช้าอรุณรุ่งวันหนึ่งของเดือนมกราคม ๑๙๙๕ ณ บริเวณบ้านหลังหนึ่งใน “มิล วาเล่ย์” รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นวันที่สองของการนัดหมายคนจำนวนสองโหลที่ล้วนเป็นผู้บริหารบริษัท นักวิจัยและที่ปรึกษาจาก ๗ ประเทศ จะมาพบและสนทนากันด้วยเรื่อง “ทุนทางปัญญา”

ผู้รับผิดชอบการประชุม คือ “เดวิด ไอแซคส์” และ “ฆวนนิต้า บราวน์” ค่อนข้างวิตก เพราะในเช้าวันนั้นเกิดฝนตก ทำให้ยังมีผู้ที่ยังเดินทางมาไม่ถึงที่ประชุม

พลันความคิดหนึ่งก็เกิดขึ้นว่า “น่าจะจัดโต๊ะในห้องนั่งเล่น แล้วให้แต่ละคนที่มาถึงดื่มกาแฟไปพลางก่อน” จึงรีบจัดแจงตามความคิดนั้น

ผู้เข้าประชุมคนหนึ่งเสนอว่า “น่าจะเปลี่ยนผ้าปูโต๊ะ” จึงช่วยกันเอากระดาษขาวมาคลุมโต๊ะ ในขณะที่บางคนนำแจกันดอกไม้มาวางบนโต๊ะ ส่วนอีกคนหนึ่งนึกสนุกจึงเขียนป้ายกระดาษว่า “โฮมสเตคคาเฟ่” ไปติดไว้ที่หน้าร้าน

เมื่อทุกคนมาถึงต่างก็แปลกใจกับบรรยากาศที่จัดเตรียมไว้ ต่างเดินไปหยิบกาแฟแล้วเดินมานั่งตามโต๊ะ ๆ ละ ๔ – ๕ คน ช่วยกันขบคิดถึงคำถามที่ค้างมาจากเมื่อวาน บางคนเริ่มจดอะไรขยิกขยิกบนผ้าปูโต๊ะ ผู้จัดทั้งสองเมื่อเห็นภาพดังนั้น จึงช่วยกันกล่าวกระตุ้นให้ผู้ร่วมวงคิดต่อ

จนสี่สิบห้านาทีผ่านไป ผู้เข้าประชุมคนหนึ่งลุกขึ้นยืนพร้อมกับกล่าวว่า “ผมชอบจังที่ได้เห็นบรรยากาศแบบนี้ แต่อยากรู้จังว่ากลุ่มอื่นคิดอะไรกัน ทำไมเราไม่ปล่อยให้เราเอาเมล็ดพันธุ์ทางความคิดของกลุ่มเราไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นบ้างล่ะ”

ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นข้อเสนอที่ดี จึงดำเนินการตามข้อเสนอนั้น โดยมอบให้สมาชิกคนหนึ่งทำหน้าที่เจ้าบ้านคอยเล่าให้สมาชิกกลุ่มอื่นที่มาใหม่ฟัง

การสนทนารอบนี้ใช้เวลาไปอีกหนึ่งชั่วโมง ปรากฏว่าทั่วทั้งห้องมีชีวิตชีวา ผู้คนตื่นเต้นและติดพันกับการสนทนาจนแทบไม่หายใจหายคอ จนมีคนหนึ่งเสนอขึ้นมาว่า “ทำไมไม่ลองเปลี่ยนเจ้าบ้านเป็นคนใหม่ แล้วที่เหลือก็เดินไปแลกเปลี่ยนความคิดกับกลุ่มอื่นอีกสักรอบล่ะ”

การสนทนาดำเนินต่อไปท่ามกลางสายฝนที่ตกหนักอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่ในห้องประชุมเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดกัน เกิดรูปภาพ แผนภูมิและตัวอักษรเต็มผ้าปูโต๊ะ จนถึงเวลาใกล้เที่ยง

ผู้จัดทั้งสองเสนอให้แต่ละกลุ่มนำผ้าปูโต๊ะไปวางรวมกันบริเวณพรมตรงกลางห้อง แล้วเชิญชวนให้ผู้เข้าประชุมเลียบเลาะชมสิ่งที่ปรากฏบนผืนผ้าปูโต๊ะนั้น

สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของผู้จัดทั้งสองและผู้เข้าประชุมทั้งห้องเป็นเสมือนมนตราที่ยากจะอธิบายได้ เพราะได้เกิดความคิดใหม่ ได้เห็นความเชื่อมโยงใหม่ ๆ เคล้าผสมเกสรของการหยั่งเห็นอันลึกล้ำที่หลากหลายกันไปมา

นี่คือจุดกำเนิดของเทคนิคการประชุมที่ให้ความสำคัญกับ “การสนทนา” ภายใต้ชื่อว่า “เวิลด์คาเฟ่”

นับตั้งแต่นั่นเป็นต้นมา “เวิลด์คาเฟ่” ก็ได้ถูกพัฒนากันมาตลอดเกือบ ๒๐ ปี มีการนำไปใช้สำหรับการประชุมในห้องโถงโรงแรมที่แน่นขนัด จุคนได้มากกว่าพันคน ไปจนถึงห้องนั่งเล่นที่เป็นกันเองมีผู้คนร่วมวงไม่ถึงสิบคนก็มี ทั้งในวงของนักธุรกิจ รัฐบาล สุขภาพอนามัย การศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน หรือในชุมชน อย่างกว้างขวาง

มีการสรุปเป็นหลักการสำคัญของ “เวิลด์คาเฟ่” ไว้ ๗ ประการ คือ

หนึ่ง : กำหนดบริบท การทำเป้าหมายให้กระจ่างชัด และปัจจัยหรือสถานการณ์กว้าง ๆ ที่ช่วยให้การสนทนาสามารถเกิดและพัฒนาขึ้นได้

สอง : สร้างพื้นที่แห่งมิตรไมตรี ต้องมั่นใจว่าสภาพแวดล้อมมีความเป็นมิตร ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจและปลอดภัย และมีความนับถือซึ่งกันและกัน

สาม : สำรวจและพิเคราะห์คำถามอันสำคัญ มุ่งความสนใจร่วมกันไปที่คำถามที่มีพลังกระทบใจ และชักนำให้เกิดความผูกพันและมีพันธะร่วมกัน

สี่ : ช่วยกระตุ้นหนุนให้ทุกคนมีส่วนสมทบ กระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่าง “ฉัน” กับ “เรา” โดยเชิญชวนให้ทุกคนเข้าร่วมอย่างเต็มตัวและเต็มใจ

ห้า : ผสมเกสรทางความคิดข้ามกลุ่ม เชื่อมโยงมุมมองที่หลากหลาย ใชัพลวัตของการอุบัติขึ้นของระบบชีวิตโดยการเพิ่มพูนความหลากหลายและความเข้มข้นในความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็คงไว้ซึ่งจุดเน้นร่วมในปัญหาหลัก

หก : ร่วมกันฟังเพื่อหาแบบแผน ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและคำถามที่เจาะลงไป มุ่งความสนใจร่วมกันในลักษณะที่ก่อให้เกิดความประสานสอดคล้องกันของความคิด โดยความเห็นชอบของแต่ละคนไม่ได้สูญหายไป

เจ็ด : เก็บเกี่ยวและแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบร่วมกัน ทำให้ความรู้และปัญญาร่วมนี้ให้เป็นที่รู้เห็นและนำไปปฏิบัติได้

หลักการง่าย ๆ ทั้งเจ็ดประการนี้ หากได้นำไปผนวกใช้ด้วยกัน ก็จะให้แนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้แสวงหาวิธีการสร้างสรรค์อันเอื้อเฟื้อให้เกิดการสนทนาขนานแท้ โดยมีเป้าหมายเพื่อการคิดร่วมกันและสร้างความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้

“เวิลด์คาเฟ่ มีจุดเน้นที่ “การสนทนาที่มีความสำคัญยิ่ง” เป็นสิ่งที่สอดคล้องเป็นอย่างดีกับธรรมเนียมปฏิบัติของ “สภากาแฟ” ในภาคใต้ของประเทศไทย”

เป็นบทสรุปที่ “ฆวนนิต้า บราวน์ และเดวิด ไอแซคส์” กล่าวไว้ในบทนำ “จากผู้เขียน” ของหนังสือชื่อ “เดอะเวิลด์คาเฟ่” ที่ทั้งคู่ร่วมกันเขียนขึ้น

ขอบคุณ “พีธากร” ที่รังสรรค์การประชุมในเช้าวันหยุดที่ยิ่งใหญ่วันนั้นได้อย่างเยี่ยมยอด และทำให้ผมได้ข้อสรุปอีกประการหนึ่งว่า “เวิลด์คาเฟ่” ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างพื้นที่สนทนาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสมานฉันท์อันเป็นกระบวนการสำคัญของ “สมัชชาสุขภาพ” ได้อย่างกลมกลืน

วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ข้อคิดจากงานศพ

๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗

ค่ำคืนวานวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ ณ ศาลาจารุมิลินท วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จังหวัดนนทบุรี ผมได้มีโอกาสมาร่วมงานฟังสวดพระอภิธรรมศพ “คุณแม่เซียมลั้ง แซ่จึง” มารดาของ “นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์”

นับเป็นอีกวันหนึ่งที่น่ายินดียิ่งนักเมื่อได้รับฟังคำสอนของพระภิกษุรูปหนึ่งที่เทศนาสอนธรรมให้แก่ผู้มาร่วมงาน ทุกครั้งที่ผมมาร่วมฟังสวดพระอภิธรรมศพที่วัดแห่งนี้ ก็มักจะได้รับข้อคิดจากพระคุณเจ้าด้วยการเทศนาสอนด้วยภาษาไทยแบบสด ๆ ก่อนที่จะสวดพระธรรม ๗ บท ทำให้ผู้ฟังได้รับความรู้และแง่คิดติดตัวกลับไปด้วยเสมอ

นี้เป็นความแตกต่างจากวัดอื่น ๆ ที่ริเริ่มโดย “หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ” ซึ่งไม่ได้สวดพระอภิธรรมศพด้วยภาษาบาลีเพียงอย่างเดียว ทำให้มีน้อยคนนักที่จะเข้าใจต่อบทสวดที่ได้รับฟัง

ในค่ำคืนนี้พระคุณเจ้าได้เทศนาชี้ให้เห็น “สัจธรรม” ของชีวิตมนุษย์ประการหนึ่ง โดยเริ่มต้นว่า “คนเราไม่สามารถเรียงคิวกันตายได้ ไม่แน่นอนเสมอไปที่คนเกิดก่อนจะต้องตายก่อน”

โดยได้ยกตัวอย่างที่ชัดเจนให้ญาติโยมที่มานั่งฟังแน่นขนัดภายในศาลาให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า “ในคืนหนึ่งที่วัดแห่งนี้ มีการสวดศพพร้อมกัน ๓ ศาลา ศาลาแรกตั้งสวดศพที่มีอายุขัย ๑๐๘ ปี ศาลาถัดไปเป็นศพที่มีอายุ ๒๑ ปี และอีกศาลาหนึ่งที่เยื้องไปตั้งศพของเด็กวัย ๘ ขวบเท่านั้น”

“ดังนั้นคนเราจึงเลือกเกิดไม่ได้ เลือกตายไม่ได้ แต่คนเราเลือกที่จะทำได้” เป็นบทเทศนาท่อนหนึ่งที่พระคุณเจ้าสรุป ก่อนที่จะเทศนาต่อ

“มีคำอยู่ ๒ คำที่เกี่ยวข้องกับงานในวันนี้ คือ คำว่าอยู่ กับคำว่าจาก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่มนุษย์เราจะอยู่อย่างไรให้มีคุณค่า”

พระคุณเจ้าได้อธิบายคุณลักษณะ ๓ ประการ ในการ “อยู่อย่างมีคุณค่า” ว่าประกอบด้วย

ประการที่หนึ่ง ต้องสงบเย็นและเป็นประโยชน์ ซึ่งหมายถึง การฝึกพัฒนาจิตใจตนเองให้มีความสงบเย็น สร้างสันติสุขและสันติภาพ ดำรงตนให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชน สังคมและประเทศชาติ

ประการที่สอง ต้องเป็นคนที่ใคร ๆ ก็ใช้เราได้ เพราะคนใช้เรา เขาเห็นว่าเรามีประโยชน์ มีความไว้วางใจในตัวเรา จึงอย่าเบื่อและอย่าบ่นเมื่อถูกใช้ ขอให้คิดเสมอเมื่อมีคนมาใช้เราว่า “เขาเอาบุญมาให้เราอีกแล้ว”

ประการที่สาม ต้องทำตนให้หมดขี้ ขี้ในที่นี้ หมายรวมถึงทั้งขี้นอกและขี้ใน โดยขี้นอกก็คือ ขี้ที่เราเห็นตามร่างกายภายนอก เช่น ขี้ไคล ขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ในขณะที่ขี้ใน หมายถึง ขี้เกลียด ขี้โกรธ ขี้โกง และขี้น้อยใจ ขี้เหล่านี้ต้องทำให้หมดไปจากตัวเรา เพราะ “ความชั่วเป็นขี้ ความดีเป็นแก้ว”

ผมนั่งฟังพระเทศนาธรรมไป ใจก็อดคิดย้อนหลังไปถึงเรื่องเล่าจากอดีตอธิบดีกรมอนามัย (นายแพทย์ธัชชัย มุ่งการดี) ที่เล่าให้ฟังในงานเลี้ยงเกษียณอายุให้กับข้าราชการกรมอนามัยเมื่อสิบกว่าปีก่อนว่า

มีพระภิกษุรูปหนึ่งบอกรับกิจนิมนต์จากศิษย์รักคนหนึ่งให้ไปฉันเพลที่บ้านในต่างจังหวัด ในวันนัดหมาย พระรูปนั้นได้ว่าจ้างแท็กซี่ขับรถไปส่งยังบ้านงาน แต่ด้วยนิสัยของคนขับแท็กซี่เป็นคนชอบขับรถเร็ว จึงเกิดอุบัติเหตุขับไปชนเสาสะพานข้างทาง เสียชีวิตทั้งคู่

วิญญาณของพระและคนขับแท็กซี่ลอยออกจากร่าง เดินทางสู่ดินแดนนรกสวรรค์เพื่อไปรายงานตัวกับยมบาลเพื่อตัดสินว่าจะลงนรกหรือขึ้นสวรรค์

จากการตรวจสอบรายชื่อของพระรูปนั้น มีข้อสรุปว่า ดวงวิญญาณจะต้องตกนรก ในขณะที่ดวงวิญญาณของคนขับแท็กซี่ได้ขึ้นสวรรค์

พระรูปนั้นเอ่ยปากถามถึงเหตุผล คำตอบที่ได้รับก็คือ

ในช่วงที่อยู่ในโลกมนุษย์ พระรูปนั้นแม้จะเป็นพระสงฆ์มีหน้าที่เทศนาสอนธรรมะให้กับญาติโยม แต่พระรูปนั้นก็เทศนาด้วยภาษาบาลี ญาติโยมต่างไม่เข้าใจ นั่งหลับสัปหงก จึงเสมือนไม่ได้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับสังคมเลย ซึ่งต่างจากคนขับแท็กซี่ที่แม้จะเป็นคนขับรถที่เร็ว แต่การขับรถเร็วนั้นก็ทำให้คนที่โดยสารมาด้วยนึกถึงคุณพระคุณเจ้า มีการควบคุมสติไปชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งถือเป็นการทำหน้าที่ที่มีผลประโยชน์ต่อสังคม

นับเป็นเรื่องเล่าที่ติดอยู่ในความทรงจำผมตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้นค่ำคืนนี้จึงถือเป็นกำไรชีวิต เพราะนอกจากจะได้แสดงความเสียใจต่อญาติของผู้เสียชีวิต ได้พบเจอผู้ใหญ่และเพื่อน ๆ ร่วมงานที่หลากหลาย ยังได้รับข้อคิดดี ๆ จากพระคุณเจ้าในค่ำคืนนี้พร้อมกันไปด้วย

อดคิดต่อไปไม่ได้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังจัดทำพิมพ์เขียวเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยกันอยู่ จึงขอเสนอต่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มีการเปิดประชุมครั้งแรกในวันนี้ ให้มุ่งเน้นไปที่การปฏิรูประบบศาสนาควบคู่ไปด้วยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาให้เกิดกลไกหรือวิธีการต่างๆที่จะทำให้ประชาชนหรือญาติโยมทั้งหลายสามารถเข้าใจหลักธรรมคำสอนในศาสนาต่าง ๆ ด้วยภาษาง่าย ๆ และสามารถนำมาปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวันโดยทันที ถือได้ว่านี้เป็นการยกระดับทางจิตใจรูปแบบหนึ่งที่ดีทีเดียว

วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557

๔๑ ปี ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ : มองผ่านธรรมนูญสุขภาพตำบลริมปิง

๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๗

“ความหวังยังไป่สิ้น สูญสลาย
ตราบเท่าแสงสูรย์พราย พร่างฟ้า
คนจักยืนหยัดหมาย มือมั่นเสมอฮา
จักเสกความหวังจ้า แจ่มให้ เป็นจริง”

วันนี้เป็น “วันประชาธิปไตย” ของประเทศไทย วันที่ถูกสถาปนาขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือ “วันมหาวิปโยค” ของคนไทย ซึ่งนับล่วงมาถึง ๔๑ ปีบริบูรณ์

หากย้อนกลับไปในเหตุการณ์วันนั้น ผมเพิ่งจะผ่านวัย ๑๒ ปีมาเพียงไม่กี่เดือน แต่มาวันนี้ ผมมีอายุล่วงมาถึงวัย ๕๐ กว่า อดรู้สึกไม่ได้ว่าวันที่ ๑๔ ตุลาคม เมื่อ ๔๑ ปีก่อน เป็นวันที่สำคัญยิ่งนักกับประเทศชาติ

เป็นวันที่ถือเป็นสัญญะของความต้องการของชนในชาติ ว่าประเทศไทยต้องการการปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตย”

วันที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนับแสนคน เดินขบวนเรียกต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านอำนาจเผด็จการของรัฐบาลคณาธิปไตย

มีการเคลื่อนไหวขับไล่กลุ่มเผด็จการทรราชออกจากอำนาจที่ยึดครองมาหลายสมัย รวมทั้งมีการเรียกร้องให้ปลดปล่อยนิสิต นักศึกษา อาจารย์ และนักการเมือง ๑๓ คน ที่ถูกจับกุมฐานเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกรัฐบาลตั้งข้อหากระทำผิดกฎหมาย ทำลายความมั่นคงของรัฐ เป็นกบฏภายในราชอาณาจักรและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

รัฐบาลได้ออกปราบปรามผู้ชุมนุมในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ โดยทหารและตำรวจได้ใช้อาวุธ รถถัง เฮลิคอปเตอร์ และแก๊สน้ำตา ยิงใส่ผู้ชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวได้ลุกลามใหญ่โต เมื่อประชาชนที่โกรธแค้นต่างร่วมมือกันต่อสู้ และบางส่วนได้เผาทำลายอาคารสถานที่และยานพาหนะของทางราชการ แต่ด้วยพระบารมีขององค์ในหลวงของปวงชนชาวไทยทรงเข้ามาแก้ปัญหา เหตุการณ์จึงสงบ

ในที่สุดนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ลาออกจากตำแหน่ง และเดินทางออกนอกประเทศ

มีการโปรดเกล้าฯ ให้ "นายสัญญา ธรรมศักดิ์" องคมนตรีในเวลานั้น ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อฟื้นฟูระเบียบของบ้านเมือง เพื่อประสานสามัคคีให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และมีการร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมในการปกครองประเทศ และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม ๒๕๑๗

กล่าวได้ว่า ๑๔ ตุลาคม จึงนับเป็นวันสำคัญทางการเมือง ที่ทำให้ประชาชน คนรุ่นหลังได้ทราบถึงเส้นทางการเมืองในอดีตของประเทศไทยที่กว่าจะมาถึงในวันนี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยได้ถากถางเส้นทางมาอย่างยากลำบากและทุรกันดารเพียงใด

๔๑ ปีผ่านไป บางคนบอกว่าประเทศไทยเดินหน้าไปไม่กี่ก้าว ประชาธิปไตยมีอาการสะดุดและล้มลุกคลุกคลานอยู่บ่อยครั้ง

รัฐธรรมนูญที่บอกว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุดถูกฉีกทิ้งมานับไม่ถ้วน “ฉีกแล้วสร้าง” และ “สร้างแล้วฉีก” วนเวียนกันมาแบบนี้จนเสมือนเป็นวัฎจักรปกติของคนไทยไปแล้ว

ไม่ต่างจากเมื่อ ๔ เดือนก่อน ที่ก็เพิ่งมีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีประชามติเห็นชอบให้ประกาศใช้เมื่อปี ๒๕๕๐ และเมื่อฉีกไปแล้วก็กำลังมีการสร้างกลไกและกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาประกาศใช้ในอนาคตอีกครั้ง โดยหวังว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา ซึ่งผมก็อดคิดไม่ได้ว่าความคิดนี้คงจะเหมือนเมื่อครั้งยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกฉีกทิ้งไปหรือไม่ อย่างไร

พลันผมก็นึกถึงบรรยากาศเมื่อวานนี้ (๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๗) ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปที่เทศบาลตำบลริมปิง จังหวัดลำพูน เพื่อไปเรียนรู้เรื่องราวของการพัฒนา “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ผ่าน “ธรรมนูญสุขภาพตำบลริมปิง” ที่มีการประกาศใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓

คนในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า กว่าจะออกมาเป็น “ธรรมนูญสุขภาพตำบลริมปิง” ที่มีเพียง ๑๒ หมวด ๕๗ ข้อ ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกหมู่บ้านในตำบลเข้ามามีส่วนปรับแก้ ต่อเติมเสริมแต่งจนคนริมปิงเห็นชอบร่วมกัน เกิดความเป็นเจ้าของธรรมนูญสุขภาพฉบับนี้ แล้วจึงมีการประกาศใช้

สาระสำคัญข้อหนึ่งที่บัญญัติไว้และผมเห็นว่าน่าสนใจยิ่งนัก คือ “โดยมาตรฐานทั่วไปของคนตำบลริมปิง ควรรักษาศีล ๕ ให้เป็นปกติหรือตามหลักคำสอนของศาสนาที่ตนเองนับถือ”

ความคิดแวบหนึ่งฉายชัดขึ้นมาทันทีว่า “ศีล ๕” นี้เองที่จะสามารถนำพาชุมชนและสังคมไทยให้มีความสุขคืนมาได้ ดังจะเห็นได้จากการดำเนินโครงการ “หมู่บ้านศีล ๕” ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้

แต่นั้นเองข้อความที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ๆ แบบนี้คงจะไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ สปช. และ สนช. กำลังดำเนินการอยู่ ภาษารัฐธรรมนูญกลายเป็นภาษาที่ต้องปีนบันไดอ่านและคนตัวเล็กตัวน้อยก็หยิบมาอ่านแบบไม่มีโอกาสเข้าใจและได้ซักถามให้เกิดความกระจ่างเหมือน “ธรรมนูญสุขภาพตำบลริมปิง” ฉบับนี้

อย่างไรก็ตามในวาระที่วันนี้คือ “วันประชาธิปไตย” วันที่ประเทศไทยได้เดินผ่านเหตุการณ์วันนั้นมา ๔๑ ปีแล้ว ประจวบเหมาะกับที่ประเทศไทยเรากำลังมีการจัดทำ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ขึ้นมาใช้

ผมคงทำได้แค่เพียงส่งเสียงเล็กๆให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ พึงขอให้ยึดหลักการ “ประชาธิปไตย” ไว้เป็นพื้นฐานของสาระบัญญัติทุกข้อที่จะถูกขีดเขียนไว้ใน “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่นี้

และแอบหวังอีกว่าอยากเห็น “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่นี้มีกระบวนการสร้าง “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ที่เปิดกว้างให้คนบนผืนแผ่นดินไทยเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของ เฉกเช่นตัวอย่างที่ “คนตำบลริมปิง” ทำ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลริมปิง” ขึ้นมาและทุกคนก็รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของธรรมนูญฉบับนี้ร่วมกัน

วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2557

จดหมายถึงเพื่อน (ฉบับที่ ๗)

๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๗

บุญส่ง เพื่อนรัก

สี่เดือนกว่าแล้วสินะที่เราไม่ได้เขียนจดหมายมาบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยให้กับนายรับรู้ คงเป็นเพราะช่วงที่ผ่านมา เรามัวยุ่งกับงานที่ต้องรับผิดชอบนะ

จดหมายฉบับท้ายสุด เราเขียนมาบอกให้นายรู้ว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. ภายใต้การนำของ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ทำการควบคุมอำนาจการปกครอง ในช่วงเย็นของวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องสิ้นสุดอำนาจลง

หลังจากนั้นประเทศไทยก็อยู่ภายใต้การบริหารของ คสช. โดยได้มีการประกาศ “กฎอัยการศึก” ออกมาควบคุมสถานการณ์ จัดระเบียบการบ้านการเมือง และรักษาความสงบเรียบร้อยของชาติ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่

มีการประกาศโรดแมปการทำงาน ว่าจะดำเนินการใน ๓ ระยะ คือ

ระยะที่ ๑ เป็นช่วงแรกของการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ งานสำคัญคือการดำเนินการในเรื่องการปรองดองสมานฉันท์ ให้เร็วที่สุด มีการจัดตั้งศูนย์การปรองดองสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปทั้งในส่วนกลาง เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชาวนา การคลี่คลายเหตุด่วนเหตุร้ายต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมการเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตลอดจนการประกาศให้มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อทดแทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ คสช. ประกาศยกเลิกไป

ระยะที่ ๒ เป็นช่วงที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สรรหานายกรัฐมนตรี ตั้งคณะรัฐมนตรี เพื่อบริหารราชการ ร่าง/จัดทำรัฐธรรมนูญ พร้อมกับการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อปฏิรูปแก้ไขในทุกเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องการ และเป็นที่ยอมรับ โดยน่าจะใช้เวลาประมาณ ๑ ปี

ระยะที่ ๓ เป็นช่วงที่จัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ที่ทุกคนทุกพวกทุกฝ่ายพอใจ ด้วยกฎหมายที่ทันสมัยในทุกด้าน รวมทั้งกฎระเบียบ กติกาต่างๆ ได้รับการแก้ไข เพื่อให้ได้คนดี สุจริต มีคุณธรรม มาปกครองบ้านเมืองด้วยหลักธรรมาภิบาล

จนถึงวันนี้

ประเทศไทยเรามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรียบร้อยแล้ว

มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ มี “พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี

มีการจัดตั้ง สนช. ได้ “ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย” มานั่งเป็นประธาน มีสมาชิกจำนวน ๒๐๐ คน มาจากการคัดเลือกโดย คสช.

มีการจัดตั้ง สปช. ที่มีสมาชิก จาก ๑๑ สาขา รวม ๒๕๐ คน มาจากการเลือกโดย คสช. จากผู้สมัครจากทั่วประเทศ ซึ่งเพิ่งประกาศรายชื่อผู้ที่เป็น สปช. ไปเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ที่ผ่านมา เราอยากจะเล่าเรื่องสำคัญให้นายฟังสัก ๒ เรื่อง

เรื่องแรก คือเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยถาวรฉบับใหม่ จะมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสมาชิก ๓๕ คน โดย ๒๐ คนมาจาก สปช. ๕ คน มาจาก สนช. ๕ คน มาจากคณะรัฐมนตรี และอีก ๕ คนมาจาก คสช. ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะไปทำการยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ ภายใน ๑๒๐ วัน แล้วนำมาเสนอต่อ สปช. ให้ความเห็นชอบก่อนทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ต่อไป

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๕๕๗ ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ สปช. ที่จะต้องทำการศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ รวม ๑๑ ด้าน คือ (๑) การเมือง (๒) การบริหารราชการแผ่นดิน (๓) กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (๔) การปกครองท้องถิ่น (๕) การศึกษา (๖) เศรษฐกิจ (๗) พลังงาน (๘) สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม (๙) สื่อสารมวลชน (๑๐) สังคม และ (๑๑) อื่น ๆ”

เราเข้าใจว่าคงมีการตั้งกรรมาธิการใน สปช. ตามประเด็นปฏิรูปทั้ง ๑๑ เรื่องดังกล่าว เพื่อทำหน้าที่จัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยเสนอต่อ สนช.ต่อไป

เรื่องการปฏิรูปประเทศไทยนี้ ต้องบอกตรง ๆ ว่า ทำกันมานาน อย่างเช่นในช่วงปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๕ ในสมัยรัฐบาลของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูปเป็นการเฉพาะ มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ขึ้นมาเป็นกลไกจัดทำข้อเสนอแนะในเรื่องต่าง ๆ

เราเองก็ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัด “สมัชชาปฏิรูป” ที่มีการจัดไป ๓ ครั้ง มีข้อเสนอที่มุ่งเป้าไปที่ “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม” หลายเรื่อง ทั้งเรื่อง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการภาครัฐ การเมืองการปกครอง การปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น การแก้ไขปัญหาสังคมทั้งเรื่องแรงงาน ผู้สูงอายุ การสื่อสารสาธารณะ การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปพลังงาน เป็นต้น

ซึ่งหาก สปช. ที่เกิดขึ้นนำข้อมูลจากสมัชชาปฏิรูปทั้ง ๓ ครั้ง ไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปครั้งใหม่นี้ก็จะเป็นประโยชน์ คุ้มค่ากับการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาได้

ในความคิดของเรานั้น ต้องบอกว่าฐานคิดสำคัญที่เรายังคงยึดมั่นมาโดยตลอด นั่นก็คือ การปกครองใน “ระบอบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เฉกเช่นเดิม แต่ก็ยอมรับกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมืองเราอยู่ในขณะนี้ เพราะเหตุมาจากบ้านเมืองเราเหมือนเจอทางตัน ไม่รู้จะเดินไปทางไหน

จึงคิดว่า ช่วงของการเว้นวรรคในระยะปีกว่า ๆ นี้ ทั้ง คสช. รัฐบาล สนช. และ สปช. จะรีบเร่งจัดการแก้ไขชำระสะสางปัญหาที่หมักหมมเป็นตะกอนกัดกินผืนแผ่นดินไทย และช่วยกันกำหนดกรอบกติกา และพิมพ์เขียวประเทศไทยที่ตั้งมั่นบนฐานคิด “ประชาธิปไตย” ที่แท้จริงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

เพื่อเราจะก้าวเดินไปตามโรดแมประยะที่ ๓ ตามที่ คสช. ได้กำหนดไว้ด้วยกันบนกติกาใหม่ที่นำไปสู่ความสุขของคนในชาติร่วมกัน

เราก็คงขอให้นายช่วยดลบันดาลให้สิ่งที่เราคิดเป็นจริงด้วยนะเพื่อน

คิดถึงเพื่อนเสมอ

เราเอง

วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว : “ก่อร่าง สร้างฝัน อนาคตตนเอง”

๓ ตุลาคม ๒๕๕๗

“ตัวอักษร ลิขิต ในกระดาษ
ขอจงช่วย แต่งเติมวาด ให้เกิดผล
พลังใจ พลังรัก พลังชุมชน
ชาวตำบล เขาไม้แก้ว ให้สัญญา”

พลันกลอนบทนี้ก็ปรากฏขึ้นมาระหว่างที่ผมนั่งอ่าน “ธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว” ที่ประกอบไปด้วยสาระสำคัญ ๗ หมวด ได้แก่ หมวดสุขภาพ หมวดสิ่งแวดล้อม หมวดการศึกษา หมวดเด็กและเยาวชน หมวดเศรษฐกิจ หมวดศาสนาและวัฒนธรรม หมวดภูมิปัญญาท้องถิ่น รวม ๕๔ ข้อ ล้วนบอกเป้าหมายที่คนในตำบลเขาไม้แก้วอยากเห็น อยากเป็น อยากมี

ณ กลางลานวัดบรรพตรัตนาราม (เขาไม้แก้ว) เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๗ เต็มไปด้วยผู้คนที่ต่างหลั่งไหลมาร่วมพิธีประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว”

เวทีไม้ถูกยกระดับขึ้นสูง ตกแต่งด้วยลำไม้ไผ่นับร้อยเป็นฉากหลัง ประดับประดาด้วยดอกไม้ ฟางข้าวและผลิตผลทางการเกษตร และฉากผ้ายึดติดด้านขวาของเวทีด้วยข้อความที่ว่า “พิธีประกาศธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว : ก่อร่าง สร้างฝัน อนาคตตนเอง” คู่กับฉากผ้าแสดงผังชุมชนฝีมือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจาก “โรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว” ขึงเด่นบนเวที

ด้านหน้าเวทีมีโต๊ะไม้ตัวสูงตั้งตรง กึ่งกลางเวทีมีองค์พระพุทธรูปสูงราวศอกตั้งเด่นบนฐาน ประดับประดารายรอบไปด้วยเอกสารที่หน้าปกปรากฏข้อความว่า “ธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว” นับร้อยเล่ม ห่อหุ้มด้วยฟางข้าว พร้อมมีสายสิญจน์ผูกโยงไปยังประรำพิธีที่จัดเตรียมไว้สำหรับพระสงฆ์ที่จะมาร่วมสวดชยันโต

รอบลานโพธิ์มีเต็นท์วางเรียงรายโดยรอบ มีป้ายเขียนด้วยลายมือแสนสวยบอกชื่อหมู่บ้านทั้ง ๑๐ หมู่ เคียงคู่กับชื่อรายการอาหารที่แต่ละหมู่บ้านนำมาเลี้ยงผู้คนที่มาร่วมงาน ทั้งไก่อบโอ่ง แกงยอดหวาย อ่อมปูนา แกงคั่วกบ แกงส้มสายบัว ส้มตำปลาร้า แกงหน่อไม้ใส่ปลาแขยง ป่นปลาดุก ขนมจีนน้ำยาไก่ แกงเปอะหน่อไม้ ซุปบักมี้ (ซุปขนุน) และแกงน้ำพริก ๒ สูตร ทุกเมนูชวนน้ำลายสอให้กับผู้มาร่วมงาน

อีกฝั่งหนึ่งมีเต็นท์นิทรรศการจากหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชนนำเสนอความรู้ต่าง ๆ ทั้งเรื่อง ประกันสังคม เกษตรอินทรีย์ ถัดไปเห็นแม่เฒ่ากำลังนั่งปั่นไยไหม บ่งบอกถึงความอุตสาหะกว่าจะได้ผ้าสักผืน

เสียงปี่ ฉาบ ฉิ่ง ตีรับเข้าจังหวะกลองยาว “มงเทิ่งมง” ที่คุ้นชินมาตั้งแต่สมัยเด็ก

“การดำเนินงานของตำบลเขาไม้แก้วนับเป็นตัวอย่างที่ดี ที่ได้มีการสร้างกติกาของชุมชนขึ้นมาด้วยพลังของคนในชุมชน ซึ่งผมได้อ่านสาระแล้วมีขอบเขตไปไกลกว่าเรื่องสุขภาพ มีเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพโดยตรง ผมขอเป็นกำลังใจในการขับเคลื่อนงานนี้ด้วยความจริงใจ และจะใช้เป็นต้นแบบในการเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับพื้นที่อื่น ๆ ทั้งจังหวัดต่อไป ผมขอประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว ณ บัดนี้”

เป็นคำกล่าวของ “นายวีระวุฒิ บุตรเสนีย์” รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ต่อหน้าผู้บริหารหน่วยงานในจังหวัด อาทิ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ผู้บริหารองค์กรรัฐ ผู้นำองค์กร ประชาชนและเยาวชนในตำบลเขาไม้แก้ว กว่า ๖๐๐ คน

ซึ่งบ่งบอกความหมายของคำว่า “สุขภาพ” แนวใหม่ได้เป็นอย่างดี เสมือนเป็นความท้าทายต่อคนตำบลเขาไม้แก้วในการนำภาพฝันที่บรรจุไว้ในบนแผ่นกระดาษมาขับเคลื่อนให้มีชีวิตอีกด้วย

ผมนั่งอ่านไปทีละข้อ เห็นการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อครั้งมาดูงานกับทีม “นักสานพลัง” เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ไปเล็กน้อย แต่ยังคงเป้าหมายใน ๔ ระดับไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น

หนึ่ง ระดับปัจเจกบุคคล เป็นสิ่งที่กำหนดให้คนในตำบลยึดเป็นแนวปฏิบัติ อาทิ
ข้อ ๔ งดใช้สารเคมีทางการเกษตรในชุมชนที่หนาแน่น
ข้อ ๑๕ ห้ามช็อตปลาและเบื่อปลา
ข้อ ๒๑ ห้ามตัดหรือขุดล้อมพันธุ์ไม้ในที่หรือทางสาธารณะ หากจำเป็นที่ต้องดำเนินการใด ๆ ต้องทำประชาคมหมู่บ้านก่อน
ข้อ ๕๐ พระสงฆ์ต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับการเป็นพระ
ข้อ ๕๑ งดดื่มสุราและเล่นการพนันในเขตบริเวณวัด

สอง ระดับชุมชน ที่กำหนดให้คนในตำบลต้องร่วมมือกันถือปฏิบัติ อาทิ
ข้อ ๖ ชุมชนช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงและสัตว์นำโรค
ข้อ ๒๒ ชุมชนต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับเยาวชนในเรื่องการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมในวัยรุ่น
ข้อ ๓๐ ชาวตำบลเขาไม้แก้วต้องเป็นผู้ที่เลื่อมใสต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข้อ ๔๘ ทุกคนในชุมชนต้องปฏิบัติตนตามฮีต ๑๒ ครอง ๑๔

สาม ระดับหน่วยงานหรือองค์กร ที่กำหนดเป็นแนวในการทำงานไว้ อาทิ
ข้อ ๕ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ออกให้บริการเยี่ยมบ้าน พร้อมทั้งประเมินสุขภาวะของคนในชุมชน
ข้อ ๑๓ จัดให้มีคณะกรรมการเพื่อการมีส่วนร่วมในกรณีฟาร์มปศุสัตว์หรือกิจการใด ๆ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อชุมชน
ข้อ ๒๓ จัดให้มีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือการศึกษาทางเลือก
ข้อ ๓๙ จัดให้มีศูนย์ประสานแรงงานทั้งสำหรับผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงาน
ข้อ ๕๔ ส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นในทุก ๆ ด้าน

สี่ ระดับหลักการเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันชุมชน อาทิ
ข้อ ๑๒ ทุกโครงการที่จะมาดำเนินการในชุมชนต้องผ่านมติของคนในชุมชนและตรงกับความต้องการของคนในชุมชน โดยจัดให้มีเวทีประชาคมเพื่อให้ข้อมูลการดำเนินการอย่างเหมาะสม
ข้อ ๒๐ รถเร่ที่จำหน่ายสินค้าในชุมชนต้องไม่ทิ้งขยะในที่หรือทางสาธารณะ หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินการ ว่ากล่าวตักเตือนและประชาสัมพันธ์ไม่ซื้อสินค้า

ท้ายเล่มของเอกสารได้ปรากฏรายชื่อ “คณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว” โดยมี “นายสานิตย์ เจนสัญญายุทธ” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการที่มาจากองค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว ผู้ใหญ่บ้าน ประธานประชาคมและประธาน อสม. ทั้ง ๑๑ หมู่บ้าน โดยมี “นายยุทธชัย แสวงสุทธิ์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมตำบลเขาไม้แก้ว เป็นกรรมการและเลขานุการ ทีมเลขานุการประกอบด้วย ประธานชมรมรักษ์เขาไม้แก้ว และอาจารย์จากโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว อีก ๓ คน

วันนั้นชาว “ตำบลเขาไม้แก้ว” กำลังช่วยกันสานฝันสร้างสังคมสุขภาวะ ด้วยการใช้พลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งในและนอกตำบล อันเป็นกระบวนการพัฒนาโดยชุมชน เพื่อชุมชน และชุมชนเป็นเจ้าของ

“ฐานคิดสำคัญ” ที่อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้ และได้ข้อสรุปเป็นคำตอบให้กับตนเองอย่างน้อย ๔ ประการ

หนึ่ง มุมมองต่อเรื่องสุขภาพได้เปลี่ยนไปมากจากเดิมที่เป็นเรื่องของบุคลากรสาธารณสุข แต่วันนี้กลายมาเป็นเรื่องของทุกคน ทุกองค์กร ดังจะเห็นได้จากเนื้อหาที่ปรากฏในธรรมนูญสุขภาพของตำบลเขาไม้แก้ว

สอง อนาคตของตำบลสามารถกำหนดได้ เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ที่สามารถกำหนดเป้าหมายในชีวิตได้

สาม ตำบลใดที่สามารถขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพให้เกิดผลได้เป็นรูปธรรม เป็นเครื่องบ่งบอกหรือเป็นเครื่องหมายว่าคนในชุมชนมีความรักสามัคคีกันเป็นพื้นฐาน

สี่ กระบวนการธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือหนึ่งในการหล่อหลอมความเป็น “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ที่เปิดกว้างให้กับทุกคน ทุกองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทั้งการจัดทำ การประกาศใช้และการขับเคลื่อน

“ใต้ร่มโพธิ์ ลานธรรม คือลานรัก
ทุกฝ่ายร่วม ทอถัก อย่างสร้างสรรค์
รวมดวงจิต รวมแรง มาร่วมกัน
ประกาศฝัน ธรรมนูญ ของตนเอง

เขาไม้แก้ว คือแก้ว อันสวยสด
เป้าหมายลด ความทุกข์ คอยข่มเหง
สร้างความสุข ความดี ความครื้นเครง
พึ่งตนเอง บรรเลงดัง ทั้งตำบล”