วันอังคารที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ปีศาจแห่งกาลเวลา

๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗

สายลมหนาวของเช้าตรู่วันอังคารในช่วงปลายปีโชยมากระทบผิวกาย เพิ่มความรู้สึกสบายให้กับตนเองยิ่งนัก จิบกาแฟร้อนรสชาติดี สายตาจับจ้องไปที่ต้นไม้ใบสีเขียวที่ปลิวโยกไปตามสายลมที่เอื้อยพัด สมองปล่อยวางจากภาระงาน จินตนาการโลดแล่นไปไกล

นี่อีกเพียง ๒ วันเท่านั้นที่ปี ๒๕๕๗ จะผ่านไปแบบไม่มีวันกลับ สมองหวนคิดคำนึงถึงวันเวลาที่ผ่านมา คิดทบทวนเรื่องราวของตนว่าในปีหนึ่งนั้นได้ทำอะไรลงไปบ้าง โอ มันช่างสับสนวุ่นวายดีแท้หนอชีวิตเรา

แวบหนึ่งของความคิดผุดขึ้นคิดไปถึงคำ ๆ หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเวลาที่กำลังจะผ่านไป คำว่า “ปีศาจแห่งกาลเวลา” ที่อ่านเจอไม่นานในนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ของ “เสนีย์ เสาวพงศ์”

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที”

เป็นคำพูดของพระเอกของเรื่องที่เปรียบเปรยตัวเองไว้ว่าเป็นปีศาจ

อดชื่นชมนักประพันธ์ผู้นี้เสียจริง ๆ ที่ช่างสรรหาคำมาเรียงร้อยจนมีความหมายซ่อนเร้นให้คนอ่านได้ครุ่นคิดตาม จริงสินะที่เวลานี่แหละคือปีศาจตัวหนึ่งที่คอยหลอกหลอนผู้คน หากยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ ที่ตัวเองศรัทธาไม่ยอมปรับเปลี่ยนไปตามเวลา ก็อาจจะพานพบกับคำพูดของใครบางคนที่ลุกขึ้นแล้วตะโกนบอกแบบที่นิยายเรื่องนี้แต่งไว้ก็ได้

ผมสนใจอยากอ่านนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ของ “เสนีย์ เสาวพงศ์” เจ้าของรางวัลศรีบูรพาคนแรกในปี ๒๕๓๑ หลังจากทราบจากสื่อนักประพันธ์ผู้นี้เสียชีวิตไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา

“ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์” หรือ “เสนีย์ เสาวพงศ์” คือบุคคลคนเดียวกัน

ผมได้รับการอนุเคราะห์จากน้องบรรณารักษ์ “หอสมุด ๑๐๐ ปี เสม พริ้งพวงแก้ว” ที่ตั้งอยู่ในอาคารสุขภาพแห่งชาติ จัดหามาให้

นวนิยายเรื่องนี้แต่งขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๖ ซึ่งเป็นช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ ซึ่งยังมีกลิ่นอายผลิตผลอำนาจของคณะราษฎรอยู่ แม้จากนั้นอีกไม่กี่ปีสถานการณ์จะพลิกกลับให้อำนาจเก่ากลับเข้ามาอีกครั้ง ที่ทำให้นักคิด นักเขียน ปัญญาชน ถูกทำให้ไร้ตัวตน สร้างงานไม่ได้ ถูกทำให้หลับใหลในกาลเวลาตามไปด้วย จนมาได้รับความนิยมขึ้นอีกครั้งในช่วงปี ๒๕๑๖ อันเป็นช่วงของยุคหนุ่มสาวที่เรียกร้องประชาธิปไตยกัน

นอกเหนือจากการได้สัมผัสอรรถรสที่บรมครูได้ประพันธ์ไว้ด้วยภาษาที่สวยงาม ทึ่งในการใช้คำมาเรียงร้อยจนกลายเป็นนิยายความยาวเกือบ ๓๐๐ หน้าแล้ว ยังได้ซึมซับแนวคิดที่ต้องการกระตุ้นต่อมคิดเตือนให้คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาทำงานเพื่อสังคมอย่างซื่อตรงอีกด้วย

บทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ที่ผมสืบค้นจากสื่อออนไลน์ปรากฏผ่านบทความต่าง ๆ อย่างมากมาย ทำให้ผมในฐานะคนอ่านที่เพิ่งพานพบกับนิยายที่แต่งมากเกือบ ๖๐ ปี ได้เข้าใจเบื้องหลังที่ซ่อนเร้นอยู่หลังตัวอักษรมากยิ่งขึ้น

แม้นจะล่วงเลยมามากกว่าครึ่งศตวรรษ บางคนคิดว่าคงล้าสมัยไปตามกาลเวลา กลับตรงข้ามหากนำมาวิเคราะห์เจาะลึก ยังพบว่าเรื่องราวที่นำเสนอผ่านการเรียงร้อยของผู้ประพันธ์ยังทันสมัยอยู่จวบจนทุกวันนี้

“ปีศาจ” เป็นเรื่องราวการต่อสู่ระหว่างความเชื่อในสังคมเก่า หรือสังคมของผู้รากมากดี กับสังคมใหม่หรือสังคมเสรีที่เชื่อในสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของคนในสังคม

"ปีศาจ" จึงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความจริงที่หลอกหลอนคนในสังคมเก่า และในขณะเดียวกันปีศาจตนนี้ก็ไม่ได้สยบยอมให้กับความฉ้อฉลเอารัดเอาเปรียบที่มีอยู่ในสังคมใหม่เช่นกัน

ตัวแทนของปีศาจในเรื่องคือ “สาย สีมา” ลูกชาวนาที่เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ประกอบอาชีพเป็นทนายความ แต่ยังทำใจไม่ได้ที่จะรับใช้กลุ่มทุนในการฟ้องร้องชาวบ้านที่มีความเดือดร้อน ในขณะเดียวกันสายก็ถูกเยาะเย้ยเหยียดหยามจากกลุ่มสังคมเก่า

“สาย สีมา” เป็นทนายความที่ประกอบอาชีพทนายโดยยึดหลักความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง เป็นคนที่มีมุมมองในการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างแปลกกว่าคนทั่วไปซักหน่อย เพราะลูกชาวนาส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยภูมิใจกับชาติกำเนิดของตนเท่าไรนัก แต่เขาเป็นคนที่ตอบกับใครทุกครั้งว่าพ่อของเขาเป็นชาวนาได้อย่างเต็มภาคภูมิ เป็นคนที่มีคำพูดและความคิดเฉียบคมและมีอุดมการณ์ที่จะช่วยเหลือสังคมหากมีโอกาส

นางเอกในเรื่องคือ "รัชนี" หญิงสาวที่เกิดมาในตระกูลขุนนางเป็นลูกสาวของท่านเจ้าคุณ เป็นหญิงสาวที่มีความคิดที่ทันสมัยและคิดว่าคนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน โดยวัดค่าของคนที่ความดีไม่ใช่ที่ชาติตระกูล เธอกล้าที่จะกบฏต่อกฎเกณฑ์ชีวิตในแบบเก่า และเลือกที่จะกำหนดชีวิตตามความต้องการของตัวเธอเอง และยอมทิ้งทุกอย่างที่เพียบพร้อม ยอมเดินทางไปกับ “สาย สีมา” บนเส้นทางชีวิตที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากบรรดานายทุน

อีกคนที่ต้องกล่าวถึง คือ “กิ่งเทียน” ลูกแม่ค้าขายขนมซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ “รัชนี” สาวน้อยที่ไม่ต้องการที่จะเป็นคนสวย โดยการแต่งหน้า ทาปาก ทาเล็บ และใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเหมือนกับเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยคนอื่นๆ แต่เธอเลือกที่จะทำงานหนักเหมือนกับแม่ โดยเธอคิดว่า มือของเธอไม่ควรที่จะอ่อนนุ่ม หรือไว้เล็บยาว และทำสีเล็บสวยๆ เหมือนผู้หญิงโดยทั่วไป เพราะมันจะทำให้เธอช่วยแม่ทำขนมไม่ได้

นอกจากนั้นยังมี “นิคม” ปลัดอำเภอหนุ่มผู้มีอุดมการณ์ที่ขัดแย้งและส่วนทางกับเพื่อนร่วมงาน “มหาจวน” อดีตพระที่ชาวบ้านเคารพนับถือที่ต่อมาแปรเปลี่ยมกลายมาเป็นคนปล่อยกู้หน้าเลือด “เชิด" ทนายความร่วมสำนักงานกับ “สาย” ที่มีความคิดส่วนทางกันโดยสิ้นเชิง

ตัวละครเหล่านี้ล้วนเป็นบุคลิกของคนที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมปัจจุบัน

เนื้อเรื่องหลักพูดถึงสภาพสังคมในยุคที่ยังมีเจ้าขุนมูลนายอยู่ ยุคที่ผู้หญิงอย่างเช่น “รัชนี” จะถูกห้ามไม่ให้เรียนหนังสือสูงๆ ยุคที่ผู้หญิงต้องแต่งงานกับผู้ชายที่พ่อกับแม่หามาให้เท่านั้น ยุคที่มีการเหยียดชนชั้นว่าถ้าไม่เป็นผู้ดีก็คือไพร่ ส่วนในชนบทก็เป็นช่วงเวลาแห่งการแผ้วทางป่ารกให้กลายเป็นที่นาอันเขียวชอุ่มเป็นที่ทำมาหากิน

ที่ถือเป็นจุดเด่นคือบทสนทนาที่สะท้อนภาพของสังคมได้อย่างหมดจด การเสียดสีสังคม การสะท้อนถึงความเห็นแก่ตัวของนายทุนที่เข้ามาจับจองเบียดบังเอาที่ทำกินของชาวบ้านไป การแสดงให้เห็นถึงข้อแตกต่างระหว่างคนที่ยึดมั่นในความยุติธรรมกับคนที่ยึดมั่นในผลประโยชน์ส่วนตน ความหวงแหนต่อแผ่นดินเกิดของชาวบ้านและความกล้าหาญที่จะปกป้องมันไว้ด้วยชีวิต

คำพูดวรรคทองที่ “สาย สีมา” กล่าวขึ้นในงานที่เขาได้รับเชิญไปงานเลี้ยงที่บ้านของ “รัชนี” หญิงสาวที่เขารัก ภายหลังที่ท่านเจ้าคุณผู้เป็นพ่อของ “รัชนี” ได้กล่าวต่อหน้าผู้มาร่วมงานอย่างดังว่า

“เขาว่าสมัยนี้เป็นสมัยเสรีภาพ สมัยนี้ใคร ๆ จะทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องอยู่กับร่อยกับรอย โดยไม่ต้องด้วยขนบประเพณี คนที่ผุดเกิดมาจากป่าดงไหนก็อาจเป็นใหญ่เป็นโตได้ ฉันเห็นว่าเจ้าความคิดเหล่านี้ทำให้ตนเลวลงมากกว่าที่จะดีขึ้น ทำให้คนเราไม่รู้จักเจียมกะลาหัว ไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ไม่ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา ดีแต่จะเอาดีด้วยการตลบตะแลง ปลิ้นปล้อนหลอกลวงแบบพวกสิบแปดมงกุฎที่มีอยู่เต็มบ้านเมือง เห็นเขาดีก็อยากจะได้บ้าง โดยไม่ได้สำนึกตนว่าความเป็นผู้ดีนั้นมาจากสายเลือด กาก็ย่อมเป็นกา และหงส์ก็จะต้องเป็นหงส์อยู่ตลอดไป”

แล้วเขาก็ถูกพี่เขยของ “รัชนี” เชิญออกจากบ้าน

“สาย สีมา” ค่อยๆ ทรงตัวลุกขึ้นอย่างช้า ๆ แล้วค่อย ๆ กล่าวตอบโต้อย่างมีสติ ถ้อยคำหนึ่งของเขากลายเป็นวรรคทองในเวลาต่อมาก็คือ

“ผมมีความยินดีมากที่ท่านทั้งหลายได้รู้จักผม โดยความกรุณาของท่านเจ้าภาพที่แนะนำให้ ผมเป็นแขกผู้หนึ่งที่ได้รับเชิญมา เป็นกาตัวเดียวในฝูงหงส์ ท่านเชิญผมมาด้วยความมุ่งหมายบางอย่าง ฉะนั้นจึงไม่ใช่ความผิดของเจ้ากาตัวนี้ ที่ไม่มีความเจียมตัวเข้ามาปะปนอยู่ในฝูงหงส์ในคืนวันนี้ เพราะมันไม่ได้เสนอตัวของมันเองเข้ามา แต่มาเพราะได้รับเชิญให้มา

ผมมีความภูมิใจสูงสุดในวันนี้เองที่เกิดมาเป็นลูกชาวนา ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมพ่อผมจึงไม่ได้เป็นขุนนาง แต่ทว่าขุนนางนั้นมีอยู่จำนวนน้อย และคนที่เป็นชาวนานั้นมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า พ่อผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในฝ่ายข้างมาก ผมไม่มีเหตุผลประการใดเลยที่จะน้อยอกน้อยใจในโชคชะตาที่มิได้เกิดในที่สูง ในสายเลือดของผู้ดีมีสกุล เพราะนั่นมันเป็นสิ่งหรือเงื่อนไขที่คนเราได้สร้างขึ้น และคิดสรรค์มันขึ้นมา สภาพเช่นนี้มันไม่ยืนยงคงทนอะไร และมันจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

ครับแน่นอนทีเดียว ความคิดผิดแผกแตกต่างกันในสมัยและเวลา ทำให้คนเรามีความคิดผิดแผกแตกต่างกันด้วย ผมไม่ได้เป็นผู้รุกรานท่านที่อยู่ในปราสาทงาช้างที่สูงส่ง แต่เมื่อท่านที่อยู่บนปราสาทนั้นถ่มน้ำลายลงมายังพื้นดิน ผมก็จำต้องเช็ดน้ำลายนั้นเสีย เพราะมันเป็นสิ่งปฏิกูล

สำหรับท่านที่อยู่ในปราสาทนั้นไม่จำเป็นจะต้องแตะต้อง เพราะอย่างไรก็จะต้องเสื่อมสลายไปตามเวลา ท่านไม่สามารถจะยับยั้งความเปลี่ยนแปลงแห่งกาลเวลาได้ดอก เมื่อวันเวลาช่วงไปของเก่าทั้งหลายก็นับวันจะเข้าไปอยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์ยิ่งขึ้น

ท่านเข้าใจผิดที่คิดว่าผมจะลอกคราบตัวเองขึ้นเป็นผู้ดี เพราะนับเป็นการถอยหลังกลับ เวลาได้ล่วงไปมากแล้วระหว่างโลกของท่านกับโลกของผมมันก็ห่างกันมากมายออกไปทุกที

ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที

ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าอาคิลลิสหรือซิกฟริด เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา

ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก

โลกของผมเป็นโลกของธรรมดาสามัญชน”

แล้วเขาก็ก้าวเดินจากไปอย่างทระนง

เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความกดดันให้แก่ “รัชนี” อย่างยิ่ง แต่ในที่สุดหล่อนก็ตัดสินใจลุกขึ้น “กบฏ” ต่อตระกูลหงส์ของหล่อน ด้วยการติดตามคนรักของหล่อนไป

“หล่อนก้าวเดินออกไปท่ามกลางแสงสว่างสีเหลือง เป็นสีทองของตะวันที่กำลังฉายท้องฟ้ากรุงเทพฯ ในยามอรุณเบิกฟ้า”

คือประโยคจบของนิยายยิ่งใหญ่เรื่องนี้ของ “เสนีย์ เสาวพงศ์” ที่ลาลับจากโลกนี้ไปแล้ว

แสงแดดยามเช้าค่อย ๆ ทอแสงจ้าขึ้น สายลมเย็นปลายหน้าหนาวยังคงพัดโชยสร้างความสบายให้กับผม ยกกาแฟร้อนแก้วนั้นขึ้นจิบ สมองแล่นลอยมาหยุดอยู่ที่คำเดิมคำนั้น

“ปีศาจแห่งกาลเวลา” มันช่างมีความหมายที่ลึกซึ้งจริง ๆ

วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557

หลวงตาแชร์ : พระนักพัฒนาหัวใจเกินร้อย (ตอนจบ)

๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๗

อสว. : นวัตกรรมด้านสุขภาพ

บนลานธรรมวันนั้น “นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก” หรือ “หมอแหยง” บุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการสาธารณสุข ได้เข้ามาร่วมบอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่เคยทำงานในการพัฒนาแกนนำประจำวัดที่เรียกว่าอาสาสมัครสาธารณสุขประจำวัด ที่หลวงตาแชร์เป็นบุคคลผู้ร่วมขับเคลื่อนมาตั้งแต่ต้น

“ในส่วนที่ผมได้เกี่ยวพันกับหลวงตาตั้งแต่เป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ตอนนั้นคิดว่าการพัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชน ต้องพัฒนาสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ในการพัฒนาให้สำเร็จนอกเหนือจากหมอ พยาบาล ครู แล้ววัดก็มีความสำคัญมาก คือ “บวร” หรือบ้าน วัด โรงเรียน มีส่วนเกี่ยวพันกัน

ในส่วนของบ้านก็ไปทำอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ตัวย่อว่า “อสม.” ในโรงเรียนนอกจากครูต้องมีแกนนำเรียกว่า “อสร.” หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำโรงเรียน ในส่วนของวัดเนื่องจากพระสงฆ์เป็นที่เคารพในหมู่บ้านอยู่แล้วท่านจึงเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ แต่การจะให้ไปพูดกับพระสงฆ์ทุกรูปคงยาก ก็จำเป็นต้องมีผู้นำการเปลี่ยนแปลงเหมือนกับบ้าน และโรงเรียนจึงสร้าง “อสว.” ขึ้นมา

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญก็คือหลวงตาแชร์ เพระว่ามาหาท่านบอกว่าผมอยากทำตรงนี้ พระถ้าไปพูดทุกรูปคงยาก ถ้าเรามี “อสว.” ก็จะทำได้ หลวงตานี่แหล่ะขอเป็นอาสาสมัครแนวหน้า เป็นผู้มีบทบาทสร้างนำเป็นตัวอย่างการนำของวัด ท่านทำที่นี่ แล้วท่านก็ช่วยสอน ช่วยขยาย จนกระทั่ง อสว. ซึ่งนอกจากจังหวัดเรา จังหวัดอื่นก็นำไปเป็นตัวอย่าง”

จากปัญหาในพื้นที่สู่นโยบายระดับชาติ

จากการที่ทำงานสวัสดิการสังคมให้กับพระสงฆ์และการขับเคลื่อนงาน อสว. ในจังหวัดนครราชสีมามานานหลายปี ได้เห็นปัญหาที่กำลังถาโถมให้วงการพระพุทธศาสนาสั่นคลอน เหตุเพราะปัญหาสุขภาพของตัวพระสงฆ์เอง ทำให้หลวงตาค้นคิดหาทางแก้ไขปัญหานี้ในเชิงระบบครอบคลุมพระภิกษุสงฆ์ที่มีราว ๓ แสนห้าหมื่นรูป กระจายอยู่ในวัดและสำนักสงฆ์เกือบ ๔ หมื่นแห่ง

จากข้อมูลที่พบเจอ พบว่า ปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์กำลังมีแนวโน้มสุ.ขึ้นเป็นลำดับ ในจำนวนพระ ๓ รูป จะมี ๑ รูป ที่มีภาวะเจ็บป่วย และโรคนิยมที่เป็นกันในลำดับต้น ๆ ก็คล้ายคลึงกับฆราวาส นั่นก็คือ โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคปอด และโรคหัวใจและหลอดเลือด

จากข้อมูลโครงการหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่สำหรับพระภิกษุ สามเณรในพระราชูปถัมภ์ฯ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยมูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ ในปี ๒๕๕๔ ทำการตรวจคัดกรองสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ จำนวน ๙๔,๙๒๘ รูป จาก ๗๗ จังหวัด พบว่าพระภิกษุสงฆ์มีค่าน้ำตาลในเลือดสูง ร้อยละ ๑๗.๖ มีประวัติเป็นเบาหวานร้อยละ ๕.๒๓ ความดันโลหิตสูงร้อยละ ๔.๐๑

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ทำการสัมภาษณ์พระภิกษุสงฆ์จำนวน ๒๔๖ รูป ใน ๑๑ จังหวัด พบพระภิกษุสงฆ์ประมาณครึ่งหนึ่งที่มีปัญหาสุขภาพกาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาโภชนาการ เช่น โรคกระเพาะอาหารและลำไส้ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง

และจากการศึกษาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงศ์เชาวลิตกุล ในเขตจังหวัดนครราชสีมาพบว่า พระภิกษุสงฆ์สูบบุหรี่ประมาณ ๒ ใน ๕ โดยเฉลี่ยสูบบุหรี่ ๘ มวนต่อวัน บุหรี่ที่สูงมาจากการซื้อเองเกือบร้อยละ ๙๐

ปัญหาสำคัญนอกจากการสูบบุหรี่แล้ว ยังมีอีกสาเหตุหนึ่ง คือ การบริโภคอาหาร ซึ่งอาหารที่พระสงฆ์นำมาฉันนั้นส่วนใหญ่มาจากอาหารที่ใส่บาตรทำบุญของประชาชน ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงผลเสียต่อการเจ็บป่วยของพระภิกษุสงฆ์ เช่น แกงกะทิ อาหารที่มีไขมันสูง ขนมหวานต่าง ๆ

จุดสำคัญอีกประการหนึ่งที่พบก็คือ การส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์มีข้อจำกัด โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ยังไม่มีข้อแนะนำกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ทำให้พระสงฆ์ทำได้เพียงการเดินบิณฑบาต การเดินจงกรม การเก็บกวาดลานวัด โบสถ์ วิหาร และการตัดหญ้า เก็บกวาดใบไม้ เท่านั้น

จากการวิเคราะห์ข้อมูลวิชาการเห็นตรงกันว่า การพัฒนาแนวทางปฏิบัติด้านสุขภาพสำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่สอดคล้องกับพระธรรมวินัยและเหมาะสมกับสถานการณ์ ยังเป็นการแยกส่วนกันทำ จึงทำให้ขาดการพัฒนาศักยภาพพระภิกษุสงฆ์ การรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนถวายอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เป็นโทษต่อสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ และหลีกเลี่ยงหรืองดเว้นสิ่งที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ ที่จะก่อให้เกิดโรคเรื้อรังยังเป็นเรื่องยากลำบากที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ

นอกจากนั้น ยังขาดการส่งเสริมสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาทุกระดับ จัดหลักสูตรการเรียนการสอน การศึกษาวิจัย และการสร้างนวัตกรรมการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์อย่างต่อเนื่อง

จุดสำคัญเชิงกลไก นั่นก็คือ การขาดเจ้าภาพหลักในการดำเนินงานในระดับพื้นที่ รวมทั้งขาดการบูรณาการการดำเนินงานทั้งภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของพระภิกษุสงฆ์ในพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาสุขภาวะของชุมชน

แม้นจะอกหักจากการถูกปฏิเสธจากกลไกที่ทำหน้าที่จัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ ที่เสนอให้จัดประชุมทางวิชาการเพื่อพัฒนาร่างข้อเสนอเชิงนโยบายให้เข้มแข็งก่อน ก็ไม่ได้ทำให้หลวงตาอ่อนล้าและล่าถอยไป กลับตรงกันข้ามเดินหน้าชักชวนกรมอนามัยให้เข้าร่วมพัฒนาเอกสารให้มีคุณภาพ เพื่อรอเวลาวงจรสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีใหม่จะเริ่มขึ้น

เมื่อใบเชิญชวนจากกลไกจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ มาถึง หลวงตาก็รีบประสานงานกับเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ เครือข่ายพระสงฆ์พัฒนาภาคอิสาน เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครราชสีมา ศูนย์ประสานงานวัดอาศรมธรรมยาท มูลนิธิชีวิตพัฒนา เครือข่ายพุทธชยันตี สังฆะเพื่อสังคม และกลุ่มเสขิยธรรม จัดทำเอกสารตามแบบที่กำหนดจัดส่งไปให้พิจารณาในอันดับต้น ๆ และคำตอบตอนปลายเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๕๕ ก็ทำให้หลวงตารู้สึกปิติ เมื่อทราบว่า ประเด็นเชิงนโยบายที่หลวงตาออกแรงมานานนั้นได้รับการบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕

หลวงตาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น โดยมีทีมงานจากหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นทีมทำงาน ช่วยกันพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย จนสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๕ ได้อย่างมีคุณภาพ

สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ราว ๒ พันคน ต่างเห็นพ้องต่อข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ”

และในคราวการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๖ หลวงตาแสนดีใจเป็นอย่างมาก เมื่อที่ประชุมมีมติเห็นชอบและมอบหมายให้มีการแจ้งมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่หลวงตาลงทุนลงแรงมาอย่างยาวนานให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และมอบให้มีการนำไปพิจารณาแสวงหาวิธีการผลักดันและขับเคลื่อนมตินี้ให้บรรลุผลต่อไป

นับจากนั้นเป็นต้นมา หลวงตาก็กลายเป็นหัวขบวนรถไฟสายพระสงฆ์ขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่หลวงตารู้สึกรักและเป็นเจ้าของอย่างเต็มกำลัง

แปลงนโยบายระดับชาติสู่รูปธรรมในพื้นที่

ด้วยความคิดที่ว่า ต้องสร้างรูปธรรมการทำงานให้เห็นก่อนการขยายผล หลวงตาจึงเดินหน้าแปลงนโยบายจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติสู่แผนการทำงานในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

ยุทธศาสตร์ “เครือข่าย” ถูกนำมาใช้ โดยหลวงตาประสานงานกับคณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๙ นครราชสีมา องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา พัฒนา “โครงการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์อย่างยั่งยืน ปี ๒๕๕๗ – ๒๕๖๐” ขึ้น มี “สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครราชสีมา” เป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน

เป้าหมายสำคัญคือ ความต้องการให้พระสงฆ์ได้รับการส่งเสริมสุขภาพตั้งแต่ยังไม่ป่วย มีการคัดกรองตรวจสุขภาพพระสงฆ์ประจำปีอย่างต่อเนื่อง มีระบบการรักษาพระสงฆ์เมื่อเจ็บป่วยได้อย่างทันท่วงที และมีความสะดวกคล่องตัวเต็มทั้งพื้นที่จังหวัด

วิธีทำงาน ได้ใช้การประสานองค์กรพระสงฆ์และสร้างเครือข่ายพระสงฆ์ให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาส่งเสริมสุขภาพและการพัฒนาด้านอื่น ๆ ทันที จะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำวัด (อสว.) เป็นผู้ประสานงานและขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ และที่สำคัญก็คือจะเชื่อมโยงกับผู้นำประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เข้ามีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ เพื่อทำให้พระสงฆ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และยังเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติให้เข้มแข็ง มีการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และทุก ๆ ด้านต่อไป

โดยคาดหวังว่าเมื่อสิ้นสุดปี ๒๕๕๗ จะเกิดคณะกรรมการและมีการจัดทำแผนปฏิบัติ มีการอบรม อสว. วัดละ ๑ รูป อย่างน้อย ร้อยละ ๕๐ ของวัดทั้งหมด มีการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ได้ร้อยละ ๕๐ ของพระสงฆ์ทั้งหมดในจังหวัด

และในปี ๒๕๕๘ ตั้งใจจะจัดอบรม อสว. ให้ครบวัดที่เหลือ ตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ให้ครบทุกรูป มีการพัฒนาระบบส่งต่อ รักษาสุขภาพพระสงฆ์อย่างเป็นระบบทุกขั้นตอน

บทสรุปที่ยากจะสรุป

ผมและทีมงานกรายนมัสการลาหลวงตาแชร์และผู้ร่วมวงบนลานธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เดินทางกลับด้วยใจเป็นสุข พวกเราคุยกันว่า จากความเครียดความกังวลในตอนเช้าระหว่างเดินทางไปได้มลายหายสิ้นไป ในทางกลับกันกลับถูกทดแทนด้วยความสุข ความสนุกที่ได้รับจากบรรยากาศและเรื่องราวที่ได้ยิน ได้เห็น ตลอดเวลาของการสนทนา

ผมลองถามทีมงานไปว่า “หลวงตาแชร์คืออะไร ?” คำถามนี้เล่นเอาทีมงานร่วมเดินทางเงียบไปโดยพลัน ผมได้ยินเสียงลมหายใจที่ผ่อนสั้นยาวของแต่ละคน บ่งบอกให้รู้ว่าแต่ละคนคงกำลังหาคำตอบอยู่ สุดท้ายทีมงานผมคนหนึ่งก็กล่าวว่า “สรุปยากจริงๆ”

คำตอบนี้ช่างตรงกับคำตอบที่กำลังผุดขึ้นในสมองของผมอย่างตรงเผง เพราะ “ยากที่จะสรุปจริง ๆ” พลันความจำของผมก็อดคิดถึงคำพูดของผู้ร่วมวงก่อนหน้านี้ ๓ ราย ที่กล่าวไว้อย่างกินใจ

“หมอแหยง” หรือ “นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก” ได้กล่าวเปรียบหลวงตาแชร์ว่า “ท่านเป็นผู้ปฏิบัติงานพัฒนาทุกด้าน ท่านเองเป็นผู้ปฏิบัติและนักปฏิบัติ นักบริหารในการที่จะทำงานให้สำเร็จ ท่านเป็นทั้งจิตปัญญาศึกษาผู้นำทางพุทธ ท่านไม่เอาคัมภีร์มาสอน ท่านปฏิบัติจริง นักศึกษาของเราต้องเรียนธรรมะ ๕ เท่า เราต้องใช้สถานที่เข้าค่ายหลังจากนั้นก็จะเป็นผู้นำกับผู้ที่มาสอนและท่านก็จะเป็นผู้สรุปบทเรียน นำบทเรียนนี้กลับมาสู่สังคมชีวิตได้อย่างไร ท่านเป็นภาคประชาชนธรรมดา ในฐานะที่ท่านเป็นพระพ่อ พระเพื่อน พระพี่น้องของทุกคน นำความรู้สึกในด้านจิตใจของมนุษย์ เป็นบุคคลธรรมดา ท่านเป็นผู้ที่อดทนในการเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไม่ย่อท้อต่อสู้ ในการที่จะทำงานต่าง ๆ เหล่านี้ มีในตัวท่าน ที่เราจะยกย่องในตัวท่านต่อไป”

“ลุงโกวิทย์” หรือ “พ.ต.โกวิทย์ กลิ่นศรีสุข” ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “สิ่งที่เห็นในตัวท่านคือความกตัญญู แกดูแลมารดา ซึ่งทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งได้บุญ คือต้องอยู่ใกล้ ๆ เวลาป่วยต้องดูแลตลอดเวลา ถึงแม้ว่าแม่จะเป็นคนบ่นมากไปนิดหนึ่ง แต่ท่านก็เป็นคนดูแลตลอดเวลา อย่างอื่นก็มี ท่านเน้นเรื่องศาสนา ที่ชัด ๆ ก็คือ มีธรรมะสัญจร การปฏิบัติธรรมร่วมกันที่มีมา ๕ – ๖ ปี แล้วรู้สึกว่าจะได้ผลดีตลอดมา มีการปฏิบัติ และก็ขยายผลต่อไป”

และ “ป้าสุครีพ” หรือ “สุครีพ ภมรมาลีรัตน์” เป็นอีกคนหนึ่งที่กล่าวถึงหลวงตาแชร์ว่า “จะพูดว่าท่านเป็นเหมือนเทพเจ้า เทวดา ที่สอนให้เรารู้มีสติ มีปัญญา เวลาเราเขลาปัญญา ท่านก็บอกว่าเหตุเกิดที่ไหนปัญญาเกิดที่นั้นคิดดู แล้วท่านก็บอกว่าสักวันหนึ่งดอกไม้จะบานสะพรั่ง สักวันหนึ่งคนจริงจังหลากหลาย ดิฉันก็ไปพูดให้ลูกฟังว่า หลวงตาท่านสอนอย่างนี้นะ”

คำกล่าวของบุคคลทั้ง ๓ รายข้างต้นนี้ เป็นคำตอบต่อคำถามที่ว่า “หลวงตาแชร์คืออะไร” ได้เป็นอย่างดี สำหรับผมแล้ว ผมขอสรุปเพียงสั้น ๆ ว่า

“หลวงตาแชร์ คือ พระนักพัฒนาหัวใจเกินร้อย” ครับ

วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2557

หลวงตาแชร์ : พระนักพัฒนาหัวใจเกินร้อย (ตอนที่ ๓)

๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๗

ธนาคารบุญ หลวงตาแชร์สงเคราะห์

จากลานธรรมที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจใฝ่ธรรม ได้มาฟังธรรมะของพระพุทธองค์ผ่านการเทศนาของหลวงตาแชร์ที่เรียบง่าย ใช้ภาษาที่ฟังเข้าใจ ปลุกจิตให้คิดถึงสัจธรรมในชีวิต บางบทกลายเป็นคำสอนในการดำรงชีวิตอยู่บนโลกอย่างมีสติ จากวงสมาชิกเล็ก ๆ เริ่มขยายวงกลายเป็นลานธรรมที่คึกคักตามกาลเวลาที่ผ่านไป

เมื่อการบรรยายธรรมสิ้นสุดลง ผู้มาร่วมกิจกรรมต่างใช้เวลาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ต่างเล่าให้คู่สนทนาได้รับฟังเรื่องราวทั้งสุขและทุกข์ของแต่ละคน กลายเป็นกลุ่มคนที่เป็น “เนื้อนาบุญเดียวกัน”

“เนื้อนาบุญ หมายถึง ผู้คนที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกันที่อาศรมธรรมทายาท เกิดการจับกลุ่มกัน เกิดความเข้มแข็งรักใคร่กัน มีความซื่อสัตย์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงถือเป็นเนื้อนาบุญของหลวงตา” ลุงโกวิทฯ บอกเล่าให้กับทีมงานได้รับฟัง

จากการเริ่มต้นจากคนเพียง ๑๐ ถึง ๒๐ คน ค่อย ๆ ขยายเป็นวงกว้างขึ้น คนที่มาเมื่อเกิดศรัทธาในตัวของหลวงตาแชร์ เมื่อกลับไปก็ชักชวนดึงญาติพี่น้องมาร่วมวงในลานธรรมแห่งนั้น จนกลายเป็นลานธรรมที่มีสมาชิกเกือบ ๑๐๐ ชีวิต

“เมื่อเรามาอยู่เป็นกลุ่มเนื้อนาบุญเดียวกันแล้ว ญาติโยมก็ได้มาคุยกันว่าเรามาอยู่ที่นี่เราไม่มีหลักอะไรที่มันชัดเจนที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงตกลงให้มีการตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ผ่อนเดือนละ ๑๐๐ บาท ถ้าใครมีความเดือดร้อนก็ยืมไปใช้ได้ มีคณะกรรมการเก็บออมทรัพย์ ไปหาระเบียบและก็ดูโครงการที่อื่นเขามา แล้วมาจัดเป็นระเบียบในการออมทรัพย์เป็นกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ โดยมีหลวงตาเป็นผู้แนะนะ พวกเราจึงกราบนิมนต์หลวงตาให้เป็นประธานเสียเลย” ลุงโกวิทย์ หรือ "พ.ต.โกวิทย์ กลิ่นศรีสุข" อดีตข้าราชการทหารที่อาสามาทำหน้าที่เลขานุการธนาคารบุญภายหลังจากเกษียณอายุ เล่าให้ฟังย้อนกลับให้เราเห็นความเป็นมาเมื่อครั้งอดีต

“ต่อมาเราได้ตั้งชื่อเป็น “ธนาคารบุญ หลวงตาแชร์สงเคราะห์” ช่วงนี้มีเงินประมาณ ๓ แสนกว่าเกือบจะ ๔ แสน หมุนเวียนให้สมาชิกกู้ยืม การกู้ยืมนั้นก็ส่งตามสัจจะที่ได้กำหนดไว้ อย่างเช่นว่ายืมไป ๑๐,๐๐๐ บาท ส่งคืนเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท ตอนแรกเราคิดว่าควรจะมีการเสียค่าบำรุงด้วย แต่ก็เห็นว่าเป็นเงินของพวกเราเอง เลยตกลงกันว่าไม่ต้องเสียค่าบำรุง ถือว่าตามศรัทธา ใครจะทำบุญก็ทำได้ เงินที่เหลือ ก็จะนำไปช่วยเหลือทุนทางสังคมต่าง ๆ”

ยังไม่ทันที่ลุงโกวิทย์จะพูดจบ พลันสายตาของผมก็หันไปเห็นยายคนหนึ่งที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ยกมือขอพูด และสิ่งที่พรั่งพรูออกจากปากของยายก็เล่นเอาผมและทีมงานอึ้งไปโดยพลัน

“ดิฉันชื่อตา อยากเล่าว่า ยามเกิดความเดือดร้อน เรื่องที่ดินกับบ้าน ถึงเวลาแล้วเขานัดสามเดือน มีเงินอยู่ไม่พอ ไม่รู้จะไปพึ่งใคร จึงคุกเข่าเข้ามาหาหลวงตา หลวงตาก็ให้ไปเรียกลูกหลานมาและให้ไปช่วยกันหามาผสมกันก่อน พอถึงวันกำหนดกลับมาเล่าให้หลวงตาฟังว่ายังไม่พอ หลวงตาก็ให้โทรให้ลุงโกวิทมาหา และบอกให้เอาเงินกองทุนช่วยยายซื้อบ้านที่อยู่แปดหมื่นบาท ครู่เดียวก็ตีเช็คออกมาให้เลยได้ไปวางเงิน นี้คือกองทุนบุญ พอเดือนหนึ่งลูกสาวคนเล็กมีก็เอามาคืนทุนให้หลวงตา ไม่ต้องเอาไปนาน”

ในขณะที่ยายตา ผู้โชคดีคนนั้นกำลังเล่าเรื่องที่ประสบกับตนเองให้ฟังนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นอย่างชัดเจน นั่นก็คือ ก้อนน้ำเล็ก ๆ ค่อย ๆ ซึมไหลออกจากดวงตาของยายทั้งสองข้าง ยายพยายามสะกดกั้น เอามือข้างหนึ่งปาดไม่ให้ใครเห็น น้ำเสียงสั่นเครือ บ่งบอกถึงความสำนึกถึงคุณค่าที่อยู่ในก้นบึ้งของหัวใจที่ได้รับจากหลวงตาแชร์ จนผมอดรู้สึกอยากจะร้องไห้ตามยายไปอีกคน

ลุงโกวิทย์กล่าวขึ้นหลังจากยายตากล่าวจบว่า “เกิดจากกลุ่มเนื้อนาบุญด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผลที่ได้ก็ได้ไปช่วยสังคมด้วย ได้ช่วยเหลือคนที่มีความเดือดร้อน ทั้งคนที่มีภาระเรื่องเรียนหนังสือ หรือว่าจะไปซ่อมรถซ่อมเรือก็สามารถยืมได้ถ้ามีความจำเป็น และโดยเฉพาะที่ช่วยเหลือสังคมใหญ่ ๆ จะนำไปช่วยเราจัดงานอะไรต่างๆ เงินยังไม่พอเราก็มาหมุนไปใช้ก่อนได้ ที่แล้วซื้อที่ดินมันขาดเหลืออยู่เราก็เอาเงินตัวนี้ที่มีอยู่ไปช่วย ที่ดินวัดที่เราขยายนี่ครับก็มีส่วนไปช่วยเป็นแสนแล้ว อีกอย่างที่วัดดำรงอยู่ได้ แก้ปัญหาได้หลายอย่างครับ”

ผลพวงจากโครงการที่มาจากหลวงตา

ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าในช่วงปี ๒๕๔๒ ได้เกิดกองทุน SIF ขึ้นท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตก และหลวงตาแชร์เป็นบุคคลหนึ่งที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการขับเคลื่อนงานตามกองทุนชุมชนนี้ คุณค่าที่เกิดมากว่า ๑๕ ปี ได้บอกเล่าให้เห็นถึงคุณค่าที่ยังคงฝังตรึงอยู่ในจิตใจของบุคคลที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการนี้และจากการหนุนเสริมจากหลวงตาแชร์ ได้อย่างชัดเจน

พ่อประสาสน์ หรือ "ประสาสน์ ทวีศรี" ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่บ้านศรีษะกระบือ อำเภอสีคิ้ว เป็นคนหนึ่งที่บอกเล่าให้กับทีมงานฟังว่า เมื่อปี ๒๕๔๒ ได้เดินทางมากับเจ้าอาวาสวัดในหมู่บ้าน มาเรียนรู้กระบวนการทำงานของหลวงตาแชร์ ได้เห็นสิ่งที่หลวงตาแชร์ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือประเทศชาติ จึงอาสาเข้าร่วมโครงการ SIF ได้เงินมาก้อนหนึ่ง จึงนำไปสร้างกิจกรรมและจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ในหมู่บ้าน เกิดร้านค้าชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มทำอิฐทรายแดง กลุ่มน้ำหมักชีวภาพ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มจักรสาน พวกเยาวชนก็จะให้รวมตัวกันทำหน้าที่ดูแลป่า น้ำ และแหล่งธรรมชาติ โดยก่อนที่จะทำอะไรหลวงตาแชร์จะเดินทางไปดูทุนและทรัพยากรในหมู่บ้านก่อนว่ามีอะไร ก่อนที่จะให้มุมมองให้คิดปรับให้เหมาะกับชาวบ้าน

ลุงอู๋เป็นอีกคนหนึ่งที่เล่าให้กับทีมงานเราฟังว่า เขาได้เดินทางตามเจ้าอาวาสวัดบ้านโป่งมากราบนมัสการหลวงตาแชร์ ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๓ ในช่วงนั้นทำหน้าที่สอนดนตรีไทยบนศาลาวัด แต่ไม่มีเครื่องดนตรีไว้สอน มีเพียงระนาดผืนเดียว วันหนึ่งเกิดเหตุเห็นเด็กตกน้ำตายที่วัด ก็เลยคุยกับเจ้าอาวาสวัด และเสนอว่าถ้าเอาเด็กพวกนี้มาเรียนดนตรีไทยกันรับประกันได้ว่าจะไม่มีเด็กตกน้ำอีก คุยกันเล่น ๆ เจ้าอาวาสวัดเลยพามารู้จักกับหลวงตาแชร์ แล้วเข้าร่วมโครงการ SIF ได้แรงบันดาลใจและคำแนะนำจากหลวงตาแชร์ว่า “เออต้องทำอย่างนั้นนะ อย่างนี้นะ” ก็ทำกันมาเรื่อยมาจนมีคนรู้จักทั่วไป จนเครื่องดนตรีที่ได้มาสามารถช่วยสร้างโบสถ์ได้ นอกจากนั้น จากจุดเริ่มต้นนั้นก็ทำงานเรื่อยมา จนปัจจุบันได้ก่อตั้งกับหลวงตาที่วัดบ้านโป่งเป็น “วิชชาลัยชุมชนบ้านแก้ว” ก็คือรวบรวมผู้คนที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ มารวมกัน

ในขณะที่ผมฟังลุงอู๋เล่าเรื่องราว “ดนตรีไทยสร้างโบสถ์” ไป ผมหันไปมองหน้าทีมงานที่เดินทางไปด้วยกัน ผมคาดเดาในใจแบหนึ่งว่าทุกคนคงเหมือนตกอยู่ในพะวังก์ ถูกสะกดจิตด้วยมนต์ขลังของเรื่องเล่าที่ได้ยินเฉกเช่นเดียวกับผมอย่างแน่นอน

ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น : นวดไทยวิธีพุทธ

ในตอนหนึ่งของการสนทนากลางลานธรรม ป้าแสงจันทร์ หรือ “แสงจันทร์ จันทร์ผ่องจินดา” ได้บอกเล่าคุณค่าการนวดไทยวิธีพุทธ ที่เกิดขึ้นที่อาศรมธรรมทายาทให้กับทีมงานเราฟังด้วยความสนุก

“ก่อนนี้ได้ใช้นวดแผนไทยวิถีพุทธ กับสามีที่เคยรับราชการทหารแล้วประสบอุบัติเหตุเลือดคั่งสมองเป็นอัมพฤกษ์ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ นวดมาเรื่อย จนปี ๒๕๔๗ ได้มารู้จักหลวงตาแชร์ ท่านก็ถามว่าเอาโยมผู้ชายไปนวดที่ไหน ก็บอกว่าไปที่อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี เกือบ ๔ ปี เมื่อปีกลายไปที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ หลวงตาท่านเลยชวนให้เข้าโครงการนวดแผนไทยที่เปิดขึ้นที่อาศรม เลยเปลี่ยนมานวดที่นี้แทน”

“ใครไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ ดิฉันเจอกับตัวเองนะคะ สามีดิฉันเดินได้ทุกวันนี้เพราะนวดแผนไทย แข็งแรงขึ้น อยากจะบอกว่าโครงการนวดแผนไทยของหลวงตาแชร์ เป็นการสืบทอดมาจากโบราณ” สิ้นเสียงป้าแสงจันทร์ที่บอกเล่าอย่างมีความสุขถึงผลที่ได้รับจากการนำสามีของเธอมานวดแผนไทยที่อาศรมธรรมทายาท จนสามีมีอาการดีขึ้น ตัวละครหนึ่งที่ป้าแสงจันทร์กล่าวถึง คือ “ยายตา” ว่าคือหมอนวดแผนไทยคนนั้นคนที่ช่วยให้สามีเธอมีร่างกายฟื้นคืนกลับมา ผมหันไปเห็นสตรีร่างผอมเล็ก แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มยกมือขึ้นขอพูดบ้าง ทุกคนในวงสนทนาต่างกล่าวขึ้นพร้อม ๆ กันว่า “นี่แหละคือยายตา” ในใจผมคาดไม่ถึง เพราะไม่เชื่อว่าสตรีร่างผอมเกร็งคนนี้จะมีแรงนวดได้จนมีผู้คนติดอกติดใจ

“สวัสดีค่ะขอเป็นภาษาอีสานนะ ขอโทษหลาย ๆ แล้ว เป็นคนยากคนจนอีหลี ในปี ๒๕๔๒ ขึ้นมาหาหลวงตา ขนหินขนทรายแม่เป็นคนเฮ็ด ปูนแม่เป็นคนผสมปี ต่อมาปี ๒๕๔๗ ห้าปีผ่านไป เป็นรูปเป็นร่างขึ้น ลูกก็ตั้ง ๘ คน หลานอีก ๑๕ คน บัดนี้แม่ก็มาอยู่กับหลวงตาแชร์ พบแต่ความสุขความเจริญทุกอย่างได้สำเร็จ ทุกประการ”

“ในปี ๒๕๔๗ มาเรียนนวดแผนไทย ที่หลวงตาแชร์ไปหาครูมาสอนมีจำนวน ๓๕ คน แต่ว่าเขาก็ขยายออกไปข้างนอกได้ก็สำเร็จทุกคนนั่นแหละ เวลามีงานกฐินเขาก็มาช่วย แม่ภูมิใจในตัวแม่เองก็คือว่า หนึ่งได้เป็นหมอมีแพทย์ทางเลือกของตำบลมิตรภาพก่อนพ.ศ.๒๕๕๓ แม่ไม่ได้ไปสอบอะไรแต่ว่ามีหมอเขาเข้ามาสอบแม่ว่าทำอย่างไรถึงรักษาคนมีคาถาวิชาอะไร เขาก็เข้ามาถามแม่ก็บอกว่ามีวิชาหยังดอกมือสิบนิ้ว ได้มือสิบนิ้วนี่แหละ คนแปดคนเอาพลังมาจากไหนเขาถาม พลังก็มีจากจิตเมตตา อย่างเดียว เงินล่ะชั่วโมงละเท่าไหร่ แม่บอกไม่มีชั่วโมง ค่าครู ๑๒ บาท แล้วแต่ศรัทธาที่มีต่อแม่ ถ้าไม่มีมือ ๑๐ นิ้วแม่ก็เอาขอให้คนหายแม่ก็ดีใจ”

นี่คือเรื่องเล่าของป้าแสงจันทร์ กับยายตา ที่บอกเล่าให้เห็นว่าหลวงตาแชร์ได้ให้การสนับสนุนงานนวดแผนไทยอย่างไร ซึ่งถ้าถอดรหัสจากการบอกเล่าจากสุภาพสตรีทั้งสองคน จะพบว่าได้ช่วยเหลือทั้งด้านสุขภาพ ด้านการหารายได้ เป็นการสร้างอาชีพให้กับผู้คน และที่สำคัญได้ช่วยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีงามไว้ให้อนุชนรุ่นหลังอีกด้วย

หลวงตาแชร์ได้มอบเอกสารกับทีมงานมาหนึ่งเล่ม ในเอกสารเล่มนั้นได้มีการบันทึก “วิสัยทัศน์ของหลวงตาแชร์กับ การนวดแผนไทยวิถีพุทธ” ไว้ โดยชี้ให้เห็นว่า การนวดแผนไทยวิถีพุทธ ต้องประกอบด้วย

หนึ่ง การนวดแผนไทย เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มุ่งสร้างพลังทางสุขภาวะของสังคม

สอง จิตวิญญาณของผู้นวด ประกอบด้วยความมีจิต เมตตา กรุณา คือ มีความปรารถนาให้ผู้อื่น พ้นจากความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ

สาม ผู้นวด เป็นผู้มีศีล สมาธิ เพื่อแผ่พลังออกมาทางมือที่กำลังทำงานอยู่ สมาธิจะทำให้เกิดพลังแห่งการเรียนรู้ โดยอาศัยกระแสแห่งความสัมผัสที่เรียบง่ายแต่ล้ำลึกและมีอำนาจทรงพลังทีเดียว

สี่ พลังแห่งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ซึ่งสามารถที่จะถูกถ่ายทอดออกมาด้วยสติปัญญา จากจุดหนึ่งสู่จุดหนึ่ง ไม่สามารถที่จะให้ใคร ลอกเลียนแบบได้ ด้วยกระแสแห่งสายโลหิตแห่งชาติพันธุ์ไทยแท้แต่สมัยพุทธกาล มีปูชนียบุคคล คือหมอชีวกโกมารภัจจ์ของเรานั้นเอง

ห้า สุขภาวะทางครอบครัวอบอุ่น จึงเป็นเป้าหมายสูงสุดเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมในยุคปัจจุบัน และมิใช่เพียงเพื่อระบบธุรกิจอันกว้างขวางใหญ่โต ความสุขที่ประกอบด้วย พลังแห่งพรหมวิหารธรรมจึงเป็นสิ่งประเสริฐและมีค่ายิ่งในทุกยุคสมัยนั่นเอง

หลวงตาแชร์ตบท้ายท้ายเอกสารไว้อย่างลึกซึ้งว่า “การนวดแผนไทยเป็นการช่วยเหลือให้มีการยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้พ้นจากอำนาจกิเลส โลภ โกรธ หลง เพราะจิตใจของผู้นวดปรารถนาให้ผู้ป่วยหายจากโรค นี่คือ ความหวังของผู้ป่วยและหมอนวดนั่นเอง”

วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สมัชชาเธียร์เตอร์ : ให้อะไรตั้งเยอะ

๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๗

“ในวันแรก เราตั้งเป้าหมายไว้ว่า ผู้เข้าชมภาพยนตร์ทั้งหมดคงประมาณ ๒๐๐ คน และคาดหวังว่าแต่ละรอบมี ๕ – ๑๐ คน ก็จะฉาย จึงได้จัดเก้าอี้ไว้เพียง ๕๐ ที่นั่งเท่านั้น และตั้งกติกาไว้ว่าถ้าเก้าอี้เต็มแล้วหรือเมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้นแล้วจะปิดประตูไม่รับคนเพิ่ม

เมื่อเริ่มฉายหนังรอบแรกผลปรากฏว่ามีผู้เข้าชม ๓๐ คน และมีผู้ขอเข้าชมเรื่อยๆ แม้หนังจะฉายผ่านไปได้แล้วครึ่งเรื่องก็ตาม ทำให้ทีมงานมีกำลังใจและตื่นเต้นกับจำนวนผู้เข้าชมที่เกินคาดหมายตั้งแต่รอบแรก

เนื่องจากเป็นการดูหนังในมติใหม่ที่ได้ทั้งความบันเทิง ความรู้และผู้เข้าชมยังสามารถสะท้อนความรู้สึกแสดงความคิดดีๆที่เกิดขึ้นหลังจากดูหนังจบ จากกระบวนการชวนคิด คุย แลกเปลี่ยน ทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

เป็นเสียงสะท้อนของ “น้อย” หรือ “อรวรรณ์ ดวงดี” หนึ่งในทีมงาน “สมัชชาเธียร์เตอร์” ที่ได้ระบายความรู้สึกของตนแสดงถึงความรู้สึกประทับใจในงานที่เธอรับผิดชอบ

“สมัชชาเธียร์เตอร์” คืออะไร ฉายที่ไหน เมื่อไร อย่างไร คงเป็นคำถามสำหรับคนที่เข้ามาอ่านพบ

“สมัชชาเธียร์เตอร์” คือกิจกรรมหนึ่งที่คณะอนุกรรมการเรียนรู้ ที่มี “รัตนา สมบูรณ์วิทย์” เป็นประธาน ได้เสนอต่อ “คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗” ขอจัดกิจกรรมนี้ในเวทีการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา

คณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ผมและ “สุรพงษ์ พรมเท้า” รับผิดชอบในกิจกรรม ที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

แนวคิดหลักที่เราเห็นพ้องต้องกันคือ “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านความบันเทิง” หรือ “Edutainment” ที่มาจากคำว่า “Education” และ “Entertainment” มาสมาสกัน

กระบวนการสำคัญที่นำไปสู่แนวคิดหลักนั้น คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันเสนอมุมมองและข้อเสนอแนะต่อประเด็นที่แฝงอยู่ในหนังสั้น โดยจัดให้มีกระบวนกรชวนคิดชวนคุยกันหลังจากฉายหนังจบลงในแต่ละเรื่อง

ทีมงานช่วยกันคัดเลือกหนังสั้นภาพยนตร์ จนได้ออกมาทั้งสิ้น ๑๒ เรื่อง เป็นหนังที่จัดทำโดย

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รวม ๓ เรื่อง คือ เรื่อง “พูดไม่ออก บอกไม่ได้” “สวรรค์บนดิน” และ “ตามรอยเขาเงินล้าน”

เป็นหนังเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๒ เรื่อง คือ เรื่อง “ราชประชานุเคราะห์” และ “จากดินสู่ฟ้า”

เป็นหนังสั้นเกี่ยวกับการ “โกง” ๔ เรื่อง คือ เรื่อง “มิชชั่นอิมพอสซิเบิ้ล” “OPANAYIGO” “กล้วยแขก” และ “ความดีใต้โต๊ะ”

เป็นหนังสั้นเกี่ยวกับ “ความเหลื่อมล้ำ” ๒ เรื่อง คือ เรื่อง “สี่แยก” และ “ภิกษุณี”

เป็นหนังสั้นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย ๑ เรื่อง คือ เรื่อง “ฝันประเทศไทย”

ทีมงานที่มาจากคนละที่กัน นอกจากผมกับ “สุรพงษ์ พรมเท้า” แล้ว ยังมี “อิสเรศณุชิตภ์ จันทร์ศรี” จากจังหวัดอุดรธานี “วาสนา ทองใบ” “อรวรรณ์ ดวงดี” และ “ธีรภัทร์ ปัดชา” จากจังหวัดเพชรบูรณ์

ได้น้องอาสาสมัครที่กำลังศึกษาด้านการละคร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ “น้องปูติน” และ “น้องนินา” มาเสริมกำลังทำให้งานเดินหน้าไปได้อย่างลงตัว

นอกจากเครื่องฉาย ระบบเสียงที่ดีแล้ว สิ่งที่แตกต่างจากโรงหนังโดยทั่วไปก็คือ กระดาษฟริบชาร์ต และ กระดานสำหรับแปะกระดาษโน๊ตรับความคิดเห็น ตั้งรายล้อมเก้าอี้ของผู้เข้าชม

และนี้คือผลที่ออกมา

วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๗
เวลา ๑๑.๒๐ – ๑๒.๒๐ น. ฉายเรื่อง “พูดไม่ออก บอกไม่ได้” มีผู้เข้าชม ๓๑ คน
เวลา ๑๒.๒๐ – ๑๓.๒๐ น. ฉายเรื่อง “ราชประชานุเคราะห์” มีผู้เข้าชม ๕๕ คน
เวลา ๑๓.๒๐ – ๑๔.๒๐ น. ฉายเรื่อง “มิชชั่น อิมพอสซิเบิ้ล” มีผู้เข้าชม ๓๒ คน
เวลา ๑๕.๒๐ – ๑๖.๒๐ น. ฉายเรื่อง “กล้วยแขก” มีผู้เข้าชม ๔๒ คน
เวลา ๑๖.๒๐ – ๑๗.๒๐ น. ฉายเรื่อง “สวรรค์บนดิน” มีผู้เข้าชม ๑๖ คน

วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗
เวลา ๑๑.๒๐ – ๑๒.๒๐ น. ฉายเรื่อง “ฝันประเทศไทย” มีผู้เข้าชม ๘๐ คน
เวลา ๑๒.๒๐ – ๑๓.๒๐ น. ฉายเรื่อง “จากดินสู่ฟ้า” มีผู้เข้าชม ๗๖ คน
เวลา ๑๓.๒๐ – ๑๔.๒๐ น. ฉายเรื่อง “สี่แยก” มีผู้เข้าชม ๖๔ คน
เวลา ๑๔.๒๐ – ๑๕.๒๐ น. ฉายเรื่อง “ความดีใต้โต๊ะ” มีผู้เข้าชม ๖๒ คน (โดยมีเด็ก ๆ จากเพื่อนบ้านกัมพูชามาร่วมชมด้วย ๑๙ คน)
เวลา ๑๕.๒๐ – ๑๖.๒๐ น. ฉายเรื่อง “ภิกษุณี” มีผู้เข้าชม ๕๔ คน (โดยมีพระสงฆ์มาร่วมชมด้วย ๖ รูป)
เวลา ๑๖.๒๐ – ๑๗.๒๐ น. ฉายเรื่อง “ตามรอยเขาเงินล้าน” มีผู้เข้าชม ๒๘ คน

รวมจำนวนผู้เข้าชมทั้งสิ้น ๕๔๐ คน ซึ่งเกินเป้าหมายที่วางไว้เกือบ ๓ เท่า

ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดูหนังสั้นเรื่อง “ฝันประเทศไทย” ในเช้าวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นหนังที่เกี่ยวกับจินตนาการของเด็ก เยาวชน ที่อยากเห็นอนาคตประเทศไทยในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าว่าเป็นอย่างไร และเขาต้องการมีบทบาทต่ออนาคตนั้นอย่างไรบ้าง ใช้เวลาที่ฉาย ๒๐ นาที หลังจากหนังจบลงได้มีข้อคิดเห็นจากผู้เข้าชมที่น่าสนใจ

สิ่งที่ผู้ชมมองเห็น คือ

• พ่อ-แม่ อยากให้ลูกทำตามความต้องการของตนเอง กลัวว่าลูกๆ (เด็ก เยาวชน) ไม่สามารถปกป้องตนเองจากสังคมได้ เข้าใจว่าสิ่งที่พ่อ-แม่คิดถูกต้อง ดีเหมาะสมจึงต้องคอยจึงตีกรอบสร้างข้อจำกัดทางความคิด ตัดสินใจให้บังคับให้ทำตาม เมื่อความต้องการของพ่อ-แม่-ลูก ไม่ตรงกันจึงทำให้เกิดการต่อต้านทางความคิดและพฤติกรรมก่อให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัว

• เด็ก เยาวชน มีความคิดอิสระเป็นของตนเอง ต้องการตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่ตนเองชอบทำให้เกิดความสุขในการทำงาน เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างอาชีพและดำเนินชีวิตด้วยความสุขไปพร้อมๆ กันได้

• สังคมรับค่านิยมจากตะวันตก ทำให้มีความเชื่อว่าความเจริญทางด้านวัตถุคือสิ่งที่ดีและจำเป็นจึงให้ความสำคัญมากกว่าความเจริญทางด้านจิตใจ เกิดค่านิยมมีเงินแล้วจะมีทุกอย่างทำให้เกิดการแข่งขันมากกว่าแบ่งปัน เห็นชัดเจนตั้งแต่ ด้านการศึกษา ด้านอาชีพ รายได้ ฐานะ

• การพัฒนากับโลกาภิวัตน์ไม่ทันกัน เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีค่านิยมฝากความหวังไว้ที่ผู้นำและส่วนกลางจึงเข้าใจว่าตนเองไม่ใช่คนทีต้องคิดเป็นเพียงคนปฏิบัติ

• รังเกียจอาชีพที่ต้องใช้แรงงาน หรือทำงานหนักได้เงินน้อย เช่น อาชีพทำนา สร้างค่านิยมทำงานน้อยแต่ได้เงินมาก

• การศึกษาเป็นแบบการศึกษาเชิงธุรกิจ มุ่งเน้นการแข่งขัน เอาชนะผลิตนักเรียนนักศึกษาที่เก่งด้านทักษะ/ความสามารถเฉพาะตัว แต่ไม่สอนให้มีค่านิยมในการทำงานร่วมกับคนอื่นให้ประสิทธิภาพสูงสุด

โดยผู้เข้าชมได้มีข้อเสนอแนะให้

• มีการรื้อฟื้นประเพณี/วัฒนธรรมเก่าๆ เพื่อให้รู้จักรากเหง้า สืบสานวิธีคิด ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์

• สนับสนุนให้คนในพื้นที่เรียนจบแล้วกลับบ้าน นำความรู้ความสามารถที่เรียนมากลับไปใช้พัฒนาในชุมชนพื้นที่ของตนเองเพราะจะมีความสัมพันธ์กับชุมชนผู้คนในชุมชนและมีความเป็นเจ้าของ • สร้างความตระหนักให้คนไทยหันกลับมาพึ่งตนเองได้และร่วมมือกันรับมือกับประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น

• มีการปรับทัศนคติด้านการศึกษา ให้มีความภาคภูมิใจกับอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะอาชีทำนาและไม่เปรียบเทียบอาชีพว่าดีกว่าหรือแย่กว่าเพราะทุกอาชีพมีความสำคัญต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
• กำหนดแนวทางพัฒนาที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่ด้านการศึกษา ด้านอาชีพ ปลูกฝังให้เป็นกรอบวิธีคิดจนเกิดเป็นค่านิยมของคนไทย

• ยึดหลักธรรมเนียมปฏิบัติทางด้านอาหารให้เน้นการบริโภคที่ส่งเสริมสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม แม้นจะประทับใจกับความสำเร็จเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นใน ๒ วัน กับหนังสั้น ๑๑ เรื่อง ที่ได้นำเสนอและสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทีมงานก็มีข้อเสนอแนะเพื่อต่อยอดกิจกรรมนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

• ควรใช้ประโยชน์จากเครือข่ายออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น โปรแกรมยูทูป เป็นต้น เผยแพร่หนังสั้นเหล่านี้ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเกิดเป็นเครือข่ายการทำงานได้กว้างขวางและรวดเร็วขึ้น

• ควรเปิดโอกาสให้บุคคล องค์กร เครือข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจกรรมนี้ โดยควรจัดให้มีการประกวดหนังสั้นในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม หรือ “สมัชชาฮอตช๊อตฟิล์ม” แล้วนำมาเปิดฉายในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในแต่ละปี

• สร้างบรรยากาศภายในโรงหนังให้เป็นโรงหนังกลางแปลงจริง ๆ เช่น มีเสื่อปูในบางมุมสลับกับเก้าอี้ การออกแบบโรงหนังให้ดูคล้ายโรงหนัง เป็นต้น

• มีรอบการฉายที่ไม่แน่นจนเกินไป และมีการเพิ่มทีมคนทำงานให้เหมาะสมกับรอบการฉายนั้น

• ควรมีการเชิญตัวละครที่ปรากฏในหนังมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะสามารถสร้างสีสันและดึงดูดผู้ชมให้มากขึ้นได้

“ขอชื่นชมจริง ๆ สำหรับสมัชชาเธียร์เตอร์ โดยเฉพาะเรื่อง “สวรรค์บนดิน” ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ป้ามากเลย”

เป็นเสียงที่ดังมาจากปลายสายของเจ้าป้า “กาญจนา ประชาพิพัฒ” จากจังหวัดลำปาง เมื่อตอน ๒๒.๐๐ น. ของคืนวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ ก่อนที่ผมจะนอน

หลวงตาแชร์ : พระนักพัฒนาหัวใจเกินร้อย (ตอนที่ ๒)

๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๗

หลวงตาแชร์ : ชื่อนี้มาจากไหน

ผมอดสงสัยมานานแล้วตั้งแต่รู้จักหลวงตาใหม่ ๆ ว่าชื่อ “หลวงตาแชร์” มาจากไหน ซึ่งผมก็เคยได้รับคำตอบมาครั้งหนึ่งจากปากหลวงตาเอง แต่วันนั้นมีเอกสารที่ได้รับจากหลวงตาชิ้นหนึ่ง เป็นเอกสารที่ถ่ายเอกสารมา หัวมุมเขียนว่า คอลัมน์ “หนึ่งในร้อย” ได้บอกเล่าที่มาของชื่อไว้อย่างชัดเจน

คนเขียนเขาบอกไว้ว่า ครั้งแรกที่ได้ยินใครต่อใครเรียกหลวงตาแชร์ ก็ให้นึกไปได้หลายทางว่าพระอะไรชื่อแปลกดี หรือจะเป็นพระฝรั่ง แต่พอเห็นหน้าก็พระไทยดี ๆ นี่เอง แถมยังมีบุคลิกเด่นที่ดวงตามุ่งมั่น บ่งบอกถึงความเอาจริงเอาจังอย่างถึงที่สุด

“ช่วงแรก ๆ ที่หลวงตาบวช ก็ไม่ค่อยอยู่วัดธุดงค์ไปเรื่อย ๆ โยมแม่ก็ว่า หลวงตาชอบแชไปโน่นนี่ ก็เรียกกันเป็นหลวงตาแช พเนจร ต่อมาก็เห็นว่าที่เราไปไหนต่อไหน ก็เพื่อไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างมุมมองแนวคิดใหม่ ๆ หลวงตาก็เลยเติม “ร์” กลายเป็นหลวงตาแชร์ในวันนี้”

นี่คือที่มาของชื่อ “หลวงตาแชร์” หรือ “พระครูอมรชัยอมรคุณ” พระที่ได้รับการยอมรับสูงในวงการพัฒนาเอกชน ดังจะเห็นได้จากการได้รับนิมนต์ไปร่วมงานประชุมสัมมนา และร่วมเป็นกรรมการ เป็นที่ปรึกษาในกลุ่มองค์กร เครือข่ายต่าง ๆ มากมาย ผ่านการศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศมากมาย

อ่านแล้วนึกขำ แค่ “ร์” ตัวเดียว เปลี่ยนอะไรไปได้ตั้งเยอะเลย

กำเนิด “อาศรมธรรมทายาท”

“อาศรมธรรมทายาท” เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๒๖ โดยได้รับบริจาคที่ดินจาก “พันโทเพิ่มและคุณนายมาลัย ทับเพชร” เดิมบริเวณแถวนั้นเป็นไร่มันสำปะหลัง มีเนื้อที่ ๖ ไร่ สภาพทั่วไปเป็นผืนดินแห้งแล้ง ดินร่วนปนทราย ปลูกพืชหรือต้นไม้ไม่ได้ผล บริเวณโดยรอบเป็นเชิงเขาลาดเอียงลงสู่อ่างน้ำซับประดู่

เมื่อเริ่มก่อตั้งมีพระภิกษุจำวัด ๒ – ๓ รูป สภาพโดยทั่วไปยังรกร้างและไม่มีอาคารสถานที่สะดวกสบาย หลวงตาจึงชักชวนชาวบ้านมาร่วมกันลงมือปลูกต้นไม้ ช่วยกันหิ้วน้ำจากอ่างเก็บน้ำมารดน้ำต้นไม้ด้วยความยากลำบาก กว่าจะเติบโตเป็นต้นไม้สูงยืนต้นเป็นรมเงาให้ความชุ่มชื่นร่วมรื่นอย่างเช่นทุกวันนี้

หลวงตาแชร์เป็นพระสงฆ์นักพัฒนา จึงได้รับกิจนิมนต์เข้าร่วมกิจกรรมและเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาชุมชน จึงได้รับการสนับสนุนงบประมารจากหลายหน่วยงาน หลายองค์กรในการพัฒนาวัด กลายเป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรมและอบรมคุณธรรม จริยธรรม ให้กับเด็กนักเรียน เยาวชน ข้าราชการ และชาวบ้านเป็นธรรมทายาท ทำให้วัดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางเผยแพร่และพัฒนางานคุณธรรม ธรรมทายาท ชาวบ้านในตำบลและใกล้เคียงเดินทางมาเข้าวัดประกอบกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา และปฏิบัติธรรมมากขึ้น

ได้มีการขยายพื้นที่ของวัดในปี ๒๕๕๓ มีการสร้างอาคารสถานที่ให้เหมาะสมกับการจัดศาสนพิธี และพัฒนาเป็น “ศูนย์เรียนรู้” และได้รับการจดทะเบียนรับรองเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อปี ๒๕๕๑ ดำเนินกิจกรรมตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาชุมชน สังคมและกลุ่ม องค์กรต่าง ๆ ให้มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง โดยการนำศาสนธรรม การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม พัฒนาวิถีชีวิตและชุมชนแบบยั่งยืน

หลวงตาใช้ชีวิตนักบวชระเหเร่ร่อน ไปที่โน่นที่นั่นได้ ๑๐ ปี จนโยมแม่เห็นว่า ท่านน่าจะมีที่ส่วนตัวบ้างในการทำงานตามที่ต้องการ ก็เลยยกที่ไร่มันเก่าให้หลวงตาจำนวนประมาณ ๖ ไร่ เพื่อให้เป็นขนาดใหญ่พอที่จะสร้างวัดได้ เมื่อปี ๒๕๒๒

ช่วงที่บวชก็ธุดงค์ไปเรื่อย เข้าถ้ำก็แสวงหาที่ปฏิบัติธรรมไปด้วย ก็ไปทั้งสวนโมกข์และวัดชลประทานฯ ก็ไปอบรมพระธรรมทายาท เมื่อปี ๒๕๒๕ เป็นรุ่นที่ ๒ พออบรมเสร็จก็เห็นว่า ชื่อ “ธรรมทายาท” น่าจะเป็นมงคลสำหรับเรา ก็เลยนำมาตั้งสำนัก “อาศรมธรรมทายาท” ขึ้นที่นี่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ของการเป็นพระธรรมทายาทที่วัดชลประทาน

ก็เลยเอาแนวทางของ “หลวงพ่อพุทธทาส” และ “หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ” มาใช้ในการปฏิบัติศาสนกิจ เช่น อบรมกลุ่มผู้สูงอายุไปทำโรงเรียนพุทธบุตรที่เรือนจำอำเภอสีคิ้ว

"หลวงตาอยู่เบื้องหลังโครงการพระธรรมทายาทของวัดชลประทานฯ มาตลอด และได้เป็นเลขาโครงการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ เป็นต้นมา จนยุติโครงการเมื่อปี ๒๕๔๓ หลวงตาก็ขอลาออก เพื่อมาทำงานในพื้นที่ หลวงตาจากพื้นที่นี้ไปตั้งร่วม ๒๐ ปี พอกลับมาก็เริ่มต้นใหม่ ต่อมาได้รับตำแหน่งเจ้าคณะตำบลเมื่อปี ๒๕๔๕ ดูแล ๑๑ วัด ในเขตตำบลสีคิ้ว ก็เริ่มงานพัฒนาในพื้นที่

ที่อาศรมของเรา เดิมเป็นไร่มัน เราก็อยากพัฒนาให้ไร่มันเกิดคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อมหาชน เมื่อคิดได้ดังนั้น ก็ปลูกป่าซ่อมเสริมและอนุรักษ์ต้นไม้เดิมเอาไว้ และรวมกลุ่มชาวบ้านขึ้นม

นโยบายของหลวงตาก็มีความคิดที่อยากจะสร้างป่าด้วยน้ำมือของเราเอง ไม่ใช่ไปอยู่ในเขตภูเขาแล้วก็ยึดเอาภูเขานั้นว่าเป็นป่าของฉัน หลวงตาเคยไปธุดงค์กับกลุ่มพระป่า ก็เคยถามท่านว่า ที่วัดอยู่ตรงไหน เขาก็ชี้นิ้วกราดไปหมดเลยว่าทั้งหมดนี้คือที่ของวัด ถามว่าท่านปลูกต้นไม้สักกี่ต้น ท่านก็ไม่ได้ปลูก การตีขลุมอย่างนี้ หลวงตาว่ามันผิด เขาจะอนุรักษ์ป่าไว้ก็เรื่องของเขา

แต่มันเป็นเรื่องที่อยู่ในใจเราว่า ทำไมเราไม่สร้างป่าด้วยตัวเราเอง มันเป็นความภูมิใจมากกว่า อย่างที่นี้กว่า ๑๓ ปี ถึงจะได้ต้นไม้ใหญ่พอที่จะทำลานหินโค้งแบบสวนโมกข์ได้ เราต้องลงทุนดึงน้ำจากข้างล่างขึ้นมาเลี้ยงต้นไม้

หลักคิดของเราก็คือ อยากจะทำให้มรดกของพ่อชิ้นนี้เกิดประโยชน์ เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ศาสนพิธีบางอย่างเราก็ตัดออก เพื่อให้ได้เห็นแก่นแท้ของชีวิต เข้ามาที่นี่ ต้องฝึกความอดทน และสร้างพลังภายในไว้ การทำความดีนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่เสมอไป วัดเราจะต้องเป็นวัดที่ปลอดอบายมุขแต่ไม่ถึงกับห้ามคนกินเหล้าสูบบุหรี่เข้ามาในวัด”

คำสัมภาษณ์นี้ปรากฏอยู่บนนิตยสารเมื่อหลายปีก่อน บ่งบอกให้เห็นฐานคิดของหลวงตาแชร์ในการพัฒนา “อาศรมธรรมทายาท” ให้พัฒนาไปในทิศทางใดได้เป็นอย่างดี

รู้จักเครือข่ายพระสังฆะพัฒนาโคราช

ในอดีตที่ผ่านมา วัดและพระสงฆ์มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกันกับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก วัดได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ในการประกาศศาสนาจนเป็นที่ยอมรับและศรัทธา และเป็นที่เคารพของคนในชุมชน

เมื่อความเจริญในรูปแบบต่าง ๆ เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ชุมชน บทบาทของวัดและพระสงฆ์เริ่มลดลง ทำให้วัดและพระสงฆ์มีการมุ่งเน้นการพัฒนาแต่ “ทางโลก” ทำให้ละเลยมิติ “ทางธรรม” เป็นเหตุให้สถาบันศาสนาคงเหลือแต่บทบาทในการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น

ในจังหวัดนครราชสีมาเองก็เหมือนกันที่ประสบปัญหาเช่นนี้ ทางพระสงฆ์ในจังหวัดนครราชสีมา จึงมีการรวมตัวกันเพื่อทำงานพัฒนาชุมชน ในชื่อที่ว่า “เครือข่ายพระสังฆะพัฒนาโคราช” ที่มีวิธีคิด และ วิธีการทำงาน ที่หลายคนก็ยังคงสงสัยว่าพระสงฆ์ทำอะไรได้บ้างต่อการพัฒนาชุมชน

การก่อเกิดของเครือข่ายพระสังฆะพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ก่อตั้งโดยพระสงฆ์นักพัฒนากลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์และเคยร่วมทำงานพัฒนามาด้วยกัน อีกทั้งมีอุดมการณ์ร่วมกัน ที่ต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยการนำของ “หลวงตาแชร์” ในขณะที่ยังเป็น “พระครูใบฎีกาชฎิล อมรปญฺโญ”

หลังจากมีการรวมกลุ่มกันได้ในครั้งแรก ๑๐ วัด ก็ได้ทำงานหลายโครงการเพื่อชุมชน เริ่มต้นได้เริ่มทำงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน งานอบรมคุณธรรมจริยธรรม งานฝึกอาชีพด้านการผลิตปุ๋ยจุลินทรีย์ในชุมชน จนทำเกิดความเชื่อมั่นของพระสงฆ์ในพื้นที่และคนในชุมชน

แนวคิด “พัฒนาคนก่อนพัฒนางาน” คือแนวคิดต้นแบบของการทำงานเครือข่ายพระสังฆะพัฒนา โดยพยายามให้พระสงฆ์ในเครือข่ายได้ทำงานด้วยความสุข และมีสัมมาสมาธิให้เกิดการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อสร้างความสามัคคีกันในหมู่ของพระสงฆ์เพื่อผลักดันงานให้ไปสู่ความสำเร็จ ซี่งพระสงฆ์นั้นมีความเชื่อความศรัทธาเป็นทุน มีบุญเป็นกำไร มีปัญหาเป็นตัวแก้ไข และมีเงินเป็นผลพลอยได้ โดยเป้าหมายสูงสุดเพื่อความยั่งยืนและความเข้มแข็งในชุมชน

เมื่อวิเคราะห์กระบวนการทำงานพัฒนาที่เครือข่ายพระสังฆะพัฒนาได้ใช้ทำงานร่วมกับชุมชนนั้น ประกอบด้วยขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบ ตั้งแต่ก่อนเริ่มทำงาน จนกระทั่งลงมือปฎิบัติงานในพื้นที่ และรวมไปถึงการประเมินผลการทำงานในแต่ละพื้นที่เพื่อการพัฒนาและปรับปรุง โดยทางเครือข่ายฯ ได้สร้างเครื่องมือสำหรับการมองชุมชนและร่วมทำงานโดยใช้ “บันได 7 ขั้นเพื่อการพัฒนา” ดังนี้

ขั้นที่ ๑ ค้นหาทุนทางสังคม เรียนรู้ศึกษางานชุมชน
ขั้นที่ ๒ ถอดองค์ความรู้และถอดบทเรียนที่ได้ศึกษามา
ขั้นที่ ๓ สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อปลุกจิตสำนึกต่อการเปลี่ยนแปลงชุมชนตนเอง
ขั้นที่ ๔ พยายามพัฒนาปรับปรุงและสร้างความภูมิใจในชุมชนโดยการเสริมแรงสนับสนุนที่เข้มแข็ง เพื่อเกิดพลัง และความสุขในการมองชุมชน
ขั้นที่ ๕ พยายามหาทางออกและแก้ปัญหาในชุมชนของตนเอง เมื่อเห็นว่าการทำงานได้ผลในระดับหนึ่งควรเป็นแบบอย่างต่อการเรียนรู้ในชุมชนอื่นๆ
ขั้นที่ ๖ ขยายผลสู่ชุมชนอื่น เพื่อเป็นแบบอย่าง
ขั้นที่ ๗ นำสู่ความรู้เหล่านั้น ไปสู่เวทีสาธารณะ และ สร้างวิทยากรในชุมชน

ถึงแม้สภาพปัญหาในชุมชนมีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกันหลายๆ ฝ่ายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และค่านิยามความเชื่อ การที่จะแก้ปัญหานั้นคงเกิดขึ้นไมได้เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถ้ามองถึงการเชื่องโยงทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชน นำมาประยุกต์และพัฒนาให้เกิดการแก้ปัญหานั้น พระสงฆ์เองก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนานั้น แต่การทำงานของพระสงฆ์ที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ถือได้ว่าส่งผลดีต่อชุมชนเป็นอย่างมาก ในการเป็นจุดเริ่มต้นและกระบวนการขับเคลื่อนกิจกรรมหรืองานในชุมชน ซึ่งหากถอดบทเรียนจากความสำเร็จในอดีต จะพบว่า เครื่องมือที่สำคัญที่สุดคือ “ความเชื่อ ความศรัทธา” ที่ประชาชนมีต่อพระ และ “จิตสาธารณะ” ที่สมาชิกในชุมชน มีร่วมกัน ทั้งนี้ “เครือข่าย” ก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและนำไปใช้ในการเชื่อมโยงจากเครือข่ายพระสงฆ์สู่ชาวบ้านในชุมชนด้วยเช่นกัน.

วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

หลวงตาแชร์ : พระนักพัฒนาหัวใจเกินร้อย (ตอนที่ ๑)

๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗

เมื่อเอ่ยคำว่า “หลวงตา” ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คน คงจะนึกถึง “หลวงตา” จากละครทีวีที่กำลังเผยแพร่ประจำวันหยุดอยู่ในขณะนี้ แต่บางคนคงคิดถึงหนังสือนิยายธรรมะสอนใจของ “แพร เยื่อไม้” อันเป็นนามปากกาของ “พระครูพิศาลธรรมโกศล (สุพจน์ กญจนิโก)” อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดประยุรวงศาวาส ที่โด่งดังมากกว่า ๔๐ ปี

แต่ “หลวงตา” ในปี ๒๕๕๗ ที่ผมกำลังกล่าวถึงนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ไม่ได้เป็นหลวงตาที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมหรือสื่อบันเทิงที่ผู้คนมากมายรู้จัก แต่เป็นหลวงตารูปหนึ่งที่พำนักอยู่ในอาศรมเล็ก ๆ เขตชนบท เป็นเพียงพระภิกษุบ้านนอกที่มุ่งมั่นปฏิบัติตนตามธรรมะวินัยรูปหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเมื่อเอ่ยชื่อออกมาน้อยคนนักที่จะรู้จัก

“หลวงตาแชร์พเนจรพัฒนา” ซึ่งศิษยานุศิษย์มักจะเรียกสั้น ๆ ว่า “หลวงตาแชร์” ผู้อยู่เบื้องหลังงานพัฒนาตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล จังหวัด ภาคและระดับชาติ ที่หลากหลาย คือ “หลวงตา” ที่ผมกำลังกล่าวถึง

งานสำคัญชิ้นหนึ่งที่ถือเป็นแม่เหล็กดึงให้ผมและทีมงานต้องเดินทางไปยัง “อาศรมธรรมทายาท” ซึ่งตั้งอยู่ติดอ่างซับประดู่ ตำบลมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา นั่นก็คือ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ ประจำปี ๒๕๕๕ ว่าด้วยเรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ซึ่ง “หลวงตา” คือหัวขบวนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนามาตั้งแต่เริ่มต้น

อะไร ทำไม อย่างไร คือคำถามที่คาใจผมและทีมงาน และถูกหยิบขึ้นมาสนทนาปรึกษาหารือกันถึงวิธีการค้นหาคำตอบระหว่างนั่งรถตู้ปรับอากาศเดินทางไปยังเป้าหมาย สร้างความหนักใจให้กับผู้ทำหน้าที่ขุด แคะ แกะ เกลา ไม่น้อย

พลันก้าวลงจากรถตู้ที่หน้าอาศรม ภาพที่ปรากฏยิ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับผมและทีมงานมากขึ้น เพราะบนบริเวณลานธรรมอันโล่งกว้างใต้ร่มธรรมชาติอันเกิดจากกิ่งก้านไม้ที่ยื่นออกมาจากลำต้นนับสิบต้นรอบลานคลาคล่ำไปด้วยฆราวาสและพระภิกษุสงฆ์ที่นั่งล้อมบนเก้าอี้พลาสติกสีแดงกระจายไปทั่วลาน เกือบ ๓๐ ชีวิต

ความเครียดความกังวลของทีมงานหายไปอย่างปิดทิ้ง เมื่อเวลาหลังจาก “หลวงตา” คนต้นเรื่องได้เปิดประเด็นกล่าวถึงที่ไปที่มาของเวที แต่ละคนยกมือขอพูดขอเล่าเพื่อบอกกล่าวให้เห็นถึงความคิดของตนที่มีต่อคนต้นเรื่อง สร้างความสนุกที่คลุกเคล้าด้วยสาระที่อัดแน่น ชี้เจาะกะเทาะแนวคิด ความมุ่งมั่นของเรื่องได้อย่างเข้มข้น ลึก จนผู้เป็นเจ้าของเรื่องเองยังอดกระซิบกับทีมงานว่า “ไม่เคยทำแบบนี้มาก่อนเลย”

สายธารชีวิตของหลวงตาแชร์

หากกล่าวถึงปี ๒๔๙๕ ขึ้นมาลอย ๆ คนที่ได้ยินก็คงไม่คิดอะไรมากไปกว่าการเป็นปีหนึ่งเมื่อ ๖๒ ปีที่ผ่านมา แต่หากบอกว่าในปีนั้น เป็นปีเกิดของบุคคลสำคัญระดับโลกอย่าง “วลาดิเมียร์ ปูติน” ประธานาธิบดีแห่งประเทศรัสเซีย “โยชิทากะ อามาโนะ” ศิลปินชาวญี่ปุ่น “ชารอน ออสบอร์น” นักแสดงและภรรยาของนักร้องดัง “ออสซี่ ออสบอร์น” เป็นปีเกิดของคนไทยที่มีชื่อเสียอย่าง “วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “กฤษณา ไกรสินธุ์” ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ “โภคิน พลกุล” นักกฎหมายชาวไทยและอดีตประธานรัฐสภาคนหนึ่ง

ในปีเดียวกันนั้นครอบครัวทหาร “ทับเพ็ชร” ที่ตั้งรกรากอยู่ในมุมหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา มีคุณพ่อนาม “พันโทเพิ่ม” และคุณแม่ “มาลัย” ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว ที่วันนั้นคงไม่มีใครคาดคิดว่าทารกน้อยคนนั้นจะได้เติบโตมาเป็น “หลวงตา : พระนักพัฒนาหัวใจเกินร้อย” บุคคลที่นั่งอยู่ตรงหน้าทีมงานเราอยู่ในขณะนี้

เด็กน้อยค่อย ๆ เติบโตขึ้นด้วยการเลี้ยงดูด้วยความรักและความเอ็นดูจากครอบครัวอย่างทะนุถนอม เมื่อย่างเข้าสู่วัยเรียนพ่อแม่ก็ส่งเข้าเรียนชั้น ป. ๑ ถึง ป.๗ ที่โรงเรียนสุขานารี จนจบแล้วไปต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย

ปี ๒๕๑๑ เบนหน้าเข้าเรียนทางสายอาชีพ ที่วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา) และในช่วงนี้นี้เองที่ทำให้เขาที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นหันมาสนใจธรรมะเข้าเรียนพุทธศาสนาในทุกวันอาทิตย์

เหตุการณ์ที่เป็นจุดผลิกผันของชีวิตเกิดขึ้นในปี ๒๕๑๕ เมื่อชายหนุ่มวัย ๑๙ ขวบปีเต็มเกิดป่วยหนักในขณะที่เพิ่งเริ่มเข้าเรียนชั้นปีที่ ๕ ได้เพียง ๒๐ วัน ป่วยจนเรียนไม่ได้ จึงตัดสินใจไปเข้าเรียนวิปัสสนากรรมฐาน อยู่กับ “แม่ศิริ กรินชัย” เกิดศรัทธาในร่มพระพุทธศาสนา จึงขอไปปฏิบัติธรรมต่อที่แดนสงบ โดยฝึกปฏิบัติกับ “พระครูภาวนาวิศิษย์” ในที่สุดตัดสินใจบวชเป็นสามเณร และเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ก้าวเข้าสู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ บวชเป็นพระภิกษุศิษย์ของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มตัวในปลายปี ๒๕๑๙ นั้น

เมื่อบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว ก็เริ่มแสวงหา จึงเดินทางไปสมัครเป็นลูกศิษย์ของ “ท่านพุทธทาส” ที่วัดสวนโมกข์ จำพรรษาอยู่ ๒ ปี โดยในปี ๒๕๑๖ ซึ่งเป็นปีแรกที่ไปจำพรรษาอยู่ที่นั่นก็สามารถสอบผ่านนักธรรมตรี และในปีถัดมาก็สอบผ่านนักธรรมโท และผ่านนักธรรมเอกในปี ๒๕๒๒ ในที่สุด

ปี ๒๕๒๕ ได้เข้าร่วมโครงการธรรมทายาทที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จังหวัดนนทบุรี และนำไปเปิดเป็นโครงการแรกที่ “อาศรม” ที่จังหวัดนครราชสีมา ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อต้นปี ๒๕๒๖ โดยร่วมกับพระลูกศิษย์ที่มีอยู่เพียง ๒ รูป ก่อนที่จะเดินทางไปดูงานแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองที่จังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่เป็นวิทยากรกระบวนการ หมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ทำงานทั้งในเขตจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดในเขตภาคอีสานทั่วทั้งภาค โดยทำงานอยู่ที่นั่นจนถึงปี ๒๕๓๓

ในช่วงปี ๒๕๓๔ หลวงตาแชร์กลับมานั่งคิดทบทวนชีวิตที่ผ่านมา ก็คิดได้ว่า การที่วิ่งไปวิ่งมาแบบนั้นก็คงไม่เจริญเติบโต เลยล่ำลาเพื่อนพระสงฆ์และผู้ร่วมงานกลับมาปักหลักที่อาศรม ที่ปล่อยให้ลูกศิษย์อยู่เพียงลำพัง และเริ่มต้นโครงการ “แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง” ตามประสบการณ์ที่พบมากว่า ๗ ปี ในเขตอำเภอสีคิ้ว โดยคัดเลือกหมู่บ้านเป็นพื้นที่ปฏิบัติการได้ ๘ หมู่บ้าน แต่บางเวลาก็เดินทางไปร่วมขยายโครงการในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ควบคู่กับการพัฒนางานในเขตจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น

ในช่วงปี ๒๕๔๐ ซึ่งเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ ได้เกิดกองทุนหนึ่งที่เรียกว่า “กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม” หรือ “SIF : Social Investment Fund” เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตก มีผู้คนตกงานกลับคืนถิ่นสู่ชนบทกว่า ๒ ล้านคน รัฐบาลในขณะนั้นจึงตัดสินใจกู้เงินจากธนาคารโลกมาตั้ง “กองทุนชุมชน” อันเป็นกองทุนที่ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ต้องการแสวงหาทางออกใหม่ให้แก่สังคม ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพชุมชน สร้างทุนทางสังคม มุ่งช่วยเหลือกลุ่มคนว่างงาน กลุ่มคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส เสริมสร้างการพึ่งตนเองและความเข้มแข็งแก่ชุมชน และหวังผลให้เกิดประชาคมและธรรมาภิบาล ซึ่งหลวงตาแชร์เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้เข้าไปรับแนวคิดในเรื่องการขับเคลื่อน “กองทุน SIF” นี้

ในปี ๒๕๔๑ ได้ร่วมผลักดันโครงการอาสาสมัครประจำวัด (อสว.) กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการซึมซับงานด้านสุขภาพ จึงเริ่มพัฒนาโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุน SIF และต่อมาในปี ๒๕๔๒ ได้รับการยอมรับให้เป็นหัวหน้าเครือข่ายรับงบจากกองทุน SIF สูงถึง ๑๔.๒๖ ล้านบาท เพื่อนำมาพัฒนาชุมชนในพื้นที่ภาคอีสาน

ในการทำงานก็ใช้ทุนเดิมที่มีอยู่ ทำการประสานเครือข่ายที่รู้จักและเคยทำงานร่วมกัน จนเกิดเป็น “เครือข่ายสังฆะพัฒนาโคราช” มีสมาชิกในเครือข่าย ๓๖ เครือข่ายย่อย เป้าหมายสำคัญของงานจะมุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในจังหวัดนครราชสีมา

ปี ๒๕๔๔ เริ่มขยายเครือข่ายออกไปครอบคลุมในจังหวัดข้างเคียงในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) มีเครือข่ายเพิ่มขึ้นเป็น ๔๓ เครือข่ายย่อย ซึ่งเป้าหมายก็ยังคงขับเคลื่อนการอนุรักษ์ป่าไม้เช่นเดิม ในการขับเคลื่อนได้รับงบประมาณจากกองทุน SIF จำนวน ๗.๙ ล้านบาท ในปีเดียวกันนี้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง นำบทเรียนจากตำบลไม้เรียง จังหวัดนครศรีธรรมราชมาเป็นต้นแบบ ขยายผลในเขตจังหวัดนครราชสีมา รวม ๓๓ ตำบล

ปี ๒๕๔๕ จัดตั้งหน่วยสังฆะพัฒนาโคราช เป็นหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งในปีนั้นสามารถขยายเครือข่ายไปได้ครอบคลุมทั้ง ๓๒ อำเภอ และที่สำคัญก็คือได้รวมงาน อสว. เข้าไปในหลักสูตรไปด้วย

ในปี ๒๕๔๖ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลสีคิ้ว ในด้านการทำงานพัฒนาชุมชนก็เริ่มขยับงานงดเหล้าเข้าพรรษาที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ใน ๑๐๐ วัด ควบคู่ไปกับงานแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเองที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นหน่วยสนับสนุน งานนี้ทำให้ได้รู้จักบุคคลสำคัญในเครือข่ายทั้ง ๔ ภาค

ในปี ๒๕๔๗ หลวงตาแชร์สำเร็จการศึกษาระดับพุทธศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ จากมหาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (มจร.) และได้รับการเลื่อนเป็น “พระครูใบฎีกา” ในงานพัฒนาก็ให้ความสำคัญกับโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา จนในทั้งสุดได้รับการหนุนเงินทำโครงการเป็นระยะ ๓ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ – ๒๕๕๐ ครอบคลุมวัดทุกแห่งในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๒,๕๖๔ วัด

ในปี ๒๕๔๘ ได้เข้าร่วมโครงการกับศูนย์คุณธรรม โดยได้ปรับปรุงอาศรมเป็นศูนย์เรียนรู้ ทำการอบรมโรงเรียนผู้นำ และสร้างและขยายเครือข่ายจิตอาสา และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปริยัติธรรมและธรรมศึกษาประจำตำบลสีคิ้ว

ในปี ๒๕๕๐ เข้าร่วมขบวนสังฆะเพื่อสังคม ๔ ภาค ที่จัดขึ้นที่พุทธมณฑล เกิดเป็นเครือข่ายพุทธยันตรี ๔ ภาค สังฆะเพื่อสังคม

ปี ๒๕๕๑ รวมทั้งริเริ่มงานสวัสดิการเพื่อพระสงฆ์ ตามโครงการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการจัดสวัสดิการพระสงฆ์ครบทั้ง ๓๒ อำเภอ ซึ่งโครงการนี้ทำให้ได้เห็นข้อมูลพระสงฆ์ในภาพรวมทั้งจังหวัด และเป็นจุดกำเนิดของการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพพระสงฆ์ในระดับประเทศ และในปีเดียวกันนี้เองที่ได้ร่วมกับทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา จัดทำโครงการ “เติมหัวใจให้สังคม” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สนับสนุน

ในปีเดียวกันนี้ ได้รับการเลื่อนฐานะทางสงฆ์เป็น “พระครูอมรชัยคุณ”

ในปี ๒๕๕๒ ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการพุทธสมาคมอำเภอสีคิ้ว และประธานุเคราะห์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสีคิ้ว งานทางด้านพัฒนาก็ขับเคลื่อนงานสวัสดิการพระสงฆ์ต่อเนื่อง มีการถอดบทเรียนใน ๕ วัด

ปี ๒๕๕๓ จากประสบการณ์ในการทำงานด้านสวัสดิการพระสงฆ์มากว่า ๒ ปี ทำให้เห็นปัญหาสำคัญของพระสงฆ์ด้านสุขภาพอย่างมาก จึงมีดำริที่จะยกระดับการทำงานในพื้นที่ให้เป็นนโยบายสาธารณะระดับชาติ จึงเสนอเป็นประเด็นเชิงนโยบายเรื่อง “สุขภาวะพระสงฆ์” ตามกระบวนการของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประจวบเหมาะที่กรมอนามัยก็เสนอประเด็นเชิงนโยบายเรื่อง “วัดส่งเสริมสุขภาพ” เข้าไป ทำให้เกิดการบูรณาการเข้าด้วยกัน

ปี ๒๕๕๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการใน "คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)" ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ทำให้มีโอกาสทำงานกับเครือข่ายพระสงฆ์และกรมอนามัยในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะได้เพิ่มขึ้น ในที่สุดได้รับคัดเลือกให้เป็นประเด็นประชุมวิชาการในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔

ปี ๒๕๕๕ ด้วยความมุ่งมั่นของหลวงตาแชร์จึงจับมือกับทางกรมอนามัยพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายตลอดปี ๒๕๕๔ และในที่สุดก็ได้รับการบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ และสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีฉันทมติเป็นมติ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ”

ในปีเดียวกันนี้ ได้เข้าไปร่วมก่อตั้ง “มหาวิชชาลัยชุมชนย่าโม (มวย.)” และร่วมเป็นกรรมการและเป็นศิลปจารย์ใน มวย. ด้วย นอกจากนั้นยังได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็น “วัดส่งเสริมสุขภาพ” จากกรมอนามัย

นอกจากนั้น ในปีนี้หลวงตายังได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปี ๒๕๕๕ ประเภทสงเคราะห์ประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาชุมชนโดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา สาขาสงเคราะห์ประชาชนและชุมชน และได้เข้ารับพระราชทาน “เสาเสมาธรรมจักร” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา ประจำปี ๒๕๕๕ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพุธที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕

ปี ๒๕๕๖ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์เสมานครและนครจันทึก ซึ่งเป็นศูนย์ของ มวย. ทำการสอนนักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี ในขณะที่ทาง มจร. ก็สนับสนุนงานสังฆะพัฒนา ๔ ภาค เกิดเป็นเครือข่ายสังฆะพัฒนาแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง

ปี ๒๕๕๗ ผลักดันงานการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ให้เป็นเป้าหมายหนึ่งในงานของเครือข่ายสังฆะพัฒนา และประสานงานกับสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๙ จัดทำโครงการขับเคลื่อนงานในเขตจังหวัดนครราชสีมา ประจวบเหมาะกับการเป็นแกนนำขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านศีล ๕ ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติควบคู่ไปด้วยกัน

จะเห็นว่าตลอดสายธารชีวิตของหลวงตาแชร์ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน ได้อุทิศชีวิตทั้งชีวิตให้กับงานทั้งการเผยแพร่พระศาสนา การอบรมจิตใจ และงานพัฒนาในหลากหลายสาขา โดยหลักการสำคัญที่ได้เห็นจากการศึกษาจะพบว่าจุดที่หลวงตาแชร์ให้ความสำคัญก็คือ “การสร้างเครือข่าย” ซึ่งจะเห็นว่าทุกงานหลวงตาแชร์ได้ใช้เครือข่ายเข้ามาหนุนการทำงานจนสำเร็จก่อเกิดผลลัพธ์ที่ดีทุกครั้ง

อย่าลืมติดตามต่อในตอนที่ ๒ นะครับ

วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ไหใหญ่ล้น ไหน้อยบ่เต็ม : ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทยที่ต้องคำนึง

๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๗

“ในการปฎิรูปด้านสังคมจะต้องมุ่งสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ลดสภาพ “ไหใหญ่ล้น ไหน้อยบ่เต็ม”

เป็นคำกล่าวที่ให้ภาพทิศทางที่ชัดเจนถึงทิศทางการปฏิรูปประเทศไทยท่อนหนึ่งของ “นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน” ในนามสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่แสดงปาฐกถานำในเวที “สานพลังผู้สูงอายุในการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ” เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ อาคารรัฐสภา ๒

เวทีในครั้งนี้จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน ศตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ร่วมกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

เนื้อหาในปาฐกถาที่ "นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน" ได้แสดงไว้นั้น ล้วนอัดแน่นไปด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และน่าสนใจยิ่งนัก มีสาระที่สำคัญคือ

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ มีประชากรที่เป็นผู้สูงอายุเกินกว่าร้อยละ ๑๐ มาราวหนึ่งทศวรรษแล้ว ปัจจุบัน เรามีประชากรสูงอายุราวร้อยละ ๑๔ และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นประมาณร้อยละ ๑๙, ๒๖ และ ๓๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓, ๒๕๗๓ และ ๒๕๘๓ ตามลำดับ

ประชากรวัยผู้สูงอายุนี้ หากนโยบายไม่ถูกต้องและบริหารผิดพลาด จะเป็นภาระแก่สังคมอย่างมากดังในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงที่สุดในโลก ถึงราวร้อยละ ๑๗.๙ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ เป็นค่าใช้จ่ายในช่วงปีสุดท้ายของชีวิตถึงร้อยละ ๗๕ ประเทศไทยเปิดรับเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างเต็มที่และเดิมตามสหรัฐอเมริกามากว่า ๕ ทศวรรษ หากไม่ปฏิรูป เราจะเดินไปสู่หุบเหวหรือกับดักเช่นเช่นเดียวกัน

การตื่นตัวระดับสากล

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้รับรองเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๑ ได้กล่าวถึงการเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ บนพื้นฐานแห่งเสรีภาพ ความยุติธรรม ครอบคลุมผู้สูงอายุไว้ในข้อ ๒๕(๑) ดังนี้

“ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพ และความอยู่ดีของตนและของครอบครัวรวมทั้งอาหารเครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์และบริการทางสังคมที่จำเป็นและมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน”

ทั้งนี้ สหประชาชาติได้มีการรับรอง “แผนปฏิบัติการนานาชาติว่าด้วยผู้สูงอายุ” โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ สหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นปีผู้สูงอายุสากล และได้ประกาศ “หลักการในการเคารพสิทธิของผู้สูงอายุ” รวม ๑๘ ประการ

การดำเนินของประเทศไทย

น่ายินดีที่ประเทศไทยได้ดำเนินการเรื่องผู้สูงอายุมาพร้อมกับการตื่นตัวของสากล ตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในการประชุมนานาชาติเรื่องผู้สูงอายุ ประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมโดยหัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่ไปร่วมประชุมคือ “พลเอกสิทธิ จิรโรจน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายสาธารณสุข คือ “นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช” ซึ่งขณะนั้นเป็นรองอธิบดีกรมการแพทย์

นายแพทย์บรรลุได้รับรู้ปัญหาและความสำคัญของผู้สูงอายุจากการประชุมครั้งนั้น และน่ายินดีที่ท่านได้จับงานนี้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า ๓๐ ปีแล้ว ข้อสำคัญประเทศไทยได้มีแผนพัฒนาผู้สูงอายุซึ่งเป็นแผนระยะยาว ๒๐ ปี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ขณะนี้อยู่ในระยะแผนที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๖๔) ซึ่งมีการประเมินกึ่งแผนไปแล้ว

ในปีเดียวกันกับที่สหประชาชาติประกาศให้เป็นปีผู้สูงอายุสากล ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา ประเทศไทยได้ประกาศปฏิญญาผู้สูงอายุไทย เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ไว้ ๙ ข้อ

ข้อ ๑ ผู้สูงอายุต้องได้รับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี ได้รับการพิทักษ์และคุ้มครองให้พ้นจากการถูกทอดทิ้ง และละเมิดสิทธิโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้และผู้พิการที่สูงอายุ

ข้อ ๒ ผู้สูงอายุควรอยู่กับครอบครัวโดยได้รับความเคารพรัก ความเข้าใจ ความเอื้ออาทร การดูแลเอาใจใส่ การยอมรับ บทบาทของกันและกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

ข้อ ๓ ผู้สูงอายุควรได้รับโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการทางสังคมอันเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมรอบด้าน เพื่อสามารถปรับบทบาทของตนให้สมวัย

ข้อ ๔ ผู้สูงอายุควรได้ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ให้สังคม มีโอกาสได้ทำงานที่เหมาะสมกับวัยและตามความสมัครใจ โดยได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจและเห็นชีวิตมีคุณค่า

ข้อ ๕ ผู้สูงอายุควรได้เรียนรู้ในการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง ต้องมีหลักประกันและสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอนามัยอย่างครบวงจรโดยเท่าเทียมกัน รวมทั้งได้รับการดูแลจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบตามคตินิยม

ข้อ ๖ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่พึ่งพาตนเองได้ สามารถช่วยเหลือครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมในสังคม เป็นแหล่งภูมิปัญญาของคนรุ่นหลัง มีการเข้าสังคม มีนันทนาการที่ดี และมีเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน

ข้อ ๗ รัฐโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคเอกชน ประชาชน สถาบันสังคมต้องกำหนดนโยบายและแผนหลักด้านผู้สูงอายุ ส่งเสริมและประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้บรรลุผลตามเป้าหมาย

ข้อ ๘ รัฐโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคเอกชน ประชาชน สถาบันสังคมต้องตรากฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ เพื่อเป็นหลักประกันและการบังคับใช้ในการพิทักษ์สิทธิ คุ้มครองสวัสดิภาพ และจัดสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ

ข้อ ๙ รัฐโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคเอกชน ประชาชน สถาบันสังคมต้องรณรงค์ปลูกฝังค่านิยมให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุตามวัฒนธรรมไทยที่เน้นความกตัญญูกตเวทีและเอื้ออาทรต่อกัน

ในปีที่สหประชาชาติได้รับรองแผนปฏิบัติการนานาชาติว่าด้วยผู้สูงอายุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ประเทศไทยก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติในปีเดียวกัน และเมื่อสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี ๒๕๔๒ เป็นปีผู้สูงอายุสากล สี่ปีต่อมาประเทศไทยก็ได้มี "พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖" กำหนดให้มีองค์กรผู้รับผิดชอบระดับชาติ มีกองทุนผู้สูงอายุ และมีการรับรองสิทธิของผู้สูงอายุ ไว้ ๑๓ ประการ

สิทธิทั้ง ๑๓ ประการนี้ นำสาระสำคัญส่วนหนึ่งจากหลักการเคารพสิทธิของผู้สูงอายุ ๑๘ ประการของสหประชาชาติมาบัญญัติไว้ในกฎหมายไทย หวังว่าในอนาคตจะได้มีการพัฒนาสิทธิเหล่านี้ให้เท่าเทียมกับสากลต่อไป

กฎหมายที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งที่มีคุณูปการอย่างยิ่งแก่ผู้สูงอายุและประชาชนคนไทยโดยรวม คือ "พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕" กฎหมายฉบับนี้ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันคือ “นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” ซึ่งทุ่มเททำงานเรื่องนี้มายาวนาน สามารถผลักดันจนเกิดกฎหมายและได้แปรเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เป็นองค์กร และการบริหารงานที่มีธรรมาภิบาลอย่างดียิ่ง เป็นองค์กรที่สามารถพัฒนาจนบรรลุเจตนารมณ์ที่แท้จริงแห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีอย่างแท้จริง สามารถสร้างผลงานช่วยให้ประชาชนคนไทยกว่าค่อนประเทศมีหลักประกันที่แท้จริงด้านสุขภาพ บรรลุถึงหลักการแห่งความเท่าเทียม คุณภาพ และประสิทธิภาพ จนได้รับการยกย่องอย่างสูงในระดับนานาชาติ และในระดับชาติ องค์กรแห่งนี้ได้รับรางวัลองค์กรดีเด่นหลายประการ ข้อสำคัญประชาชนทั้งคนยากจนและคนชั้นกลางที่ล้มละลายเพราะการเจ็บป่วยร้ายแรงแทบจะหมดไปแล้ว

พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นหนึ่งรูปธรรมของการปฎิรูปประเทศที่แท้จริง เพราะสามารถสร้างหลักประกันด้านสุขภาพอันเป็นสิ่งจำเป็น โดยค่าใช้จ่ายที่ประหยัดและมีประสิทธิสูงยิ่ง โดยปัจจุบันประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพรวมเพียงร้อยละ ๔ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเท่านั้น เทียบกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีระบบประกันสุขภาพที่ดีเยี่ยม ใช้ไปร้อยละ ๙.๕ สหรัฐอเมริกาใช้สูงที่สุดในโลก ถึงร้อยละ ๑๗.๙ แต่ยังมีปัญหาทั้งเรื่องการควบคุม และการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ที่สำคัญค่าใช้จ่ายในระบบของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมประชากน ๔๗ – ๔๘ ล้านคนนี้ ใช้ค่าใช้จ่ายประหยัดที่สุด ส่วนที่สูงที่สุดคือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานของรัฐ ซึ่งสูงกว่า ๖ – ๗ เท่า

นี่คือเรื่องที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปต่อไป

กฎหมายที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งที่ควรกล่าวถึง คือ "พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๔" กฎหมายฉบับนี้เริ่มต้นด้วยการศึกษาวิจัย ทั้งจากข้อมูลในต่างประเทศและในประเทศ ด้วยตระหนักถึงความจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้สูงอายุด้วยการออม จากนั้นได้มีการจัดประชุมสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติขึ้น มติชัดเจนให้สร้างระบบการออมขึ้น มติดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขการคลังเป็นประธาน มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช” เป็นรองประธาน ได้จัดทำร่างกฎหมาย ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทูลเกล้าต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงลงปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ มีระยะเวลาให้เตรียมการหนึ่งปี แต่รัฐบาลไม่ยอมดำเนินการตามกฎหมาย

นับเป็นตัวอย่างของ “ประธาธิปไตยสามานย์” ที่ต้องมีการปฏิรูปต่อไป

แทนที่จะดำเนินการตามกฎหมายนี้ รัฐบาลสมัยนั้นกลับไปแก้ไขมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมเพื่อ “แข่ง” กับกฎหมายฉบับนี้ โดยมีการให้สิทธิซ้ำซ้อนแก่ผู้มีสิทธิอยู่แล้ว เช่น
ข้าราชการบำนาญ เป็นต้น เป็นทำลายหลักการ เพิ่มความไม่เท่าเทียม น่าเสียดายที่รัฐบาลภายใต้ คสช. ซึ่งประกาศ “คืนความสุขให้ประชาชน” กลับเห็นดีงามกับความไม่เทียมนี้ ซ้ำร้าย บ่ายเบี่ยง ซื้อเวลา ไม่ยอมเร่งรัดการบังคับใช้ พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติให้บังเกิดผลโดยเร็ว อ้างน้ำขุ่น ๆ ว่า เพราะ พรบ.นี้ ซ้ำซ้อนกับมาตรา ๔๐ ของ พรบ.ประกันสังคม ทั้ง ๆ ที่ พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติออกมาก่อน และเป็นหลักการที่ถูกต้อง

อันที่จริง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่มีผลบังคับใช้ในขณะนั้นมีบทบัญญัติกำหนดให้ข้าราชการและลูกจ้างของรัฐต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายไว้อย่างอย่างชัดเจน เรื่องนี้มีหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ เสนอให้มีการดำเนินงานแล้วมากมาย เช่น กลุ่มแรงงานนอกระบบและคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นต้น แต่ทั้งรัฐบาลและข้าราชการล้วน “ดื้อด้าน” ไม่ปฏิบัติตาม ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้ จะต้องทบทวนว่า “จะต้องปฏิรูปอย่างไร เพื่อให้ทั้งรัฐบาลและข้าราชการสามารถละเมิดรัฐธรรมนูญเหมือนที่ทำมาแล้วไม่ได้”
ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป

ในนามของสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ จึงมีข้อเสนอโดยสรุป ดังนี้

ข้อ ๑ จะต้องมุ่งดำเนินการเรื่องผู้สูงอายุ โดยหลักการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งตนเองได้มากที่สุด และยาวนานที่สุด ให้ผู้สูงอายุเป็นพลังของครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ มากกว่าจะเป็นภาระ สำหรัผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะต้องพึ่งพิง ต้องจัดระบบการดูแล ช่วยเหลืออย่างเหมาะสม โดย

• กำหนดเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับผู้สูงอายุ อย่างน้อยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
• ส่งเสริมสิทธิของผู้สูงอายุตามหลักการของสหประชาชาติ
• บริหารจัดการให้กลไกต่าง ๆ ตามกฎหมาย เช่น พรบ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖ ให้บีลุผลตามเจตนารมณ์ รวมทั้งพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเสนอ • เร่งรัดให้มีการดำเนินการตาม พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยเร็ว

ข้อ ๒ เพื่อให้บรรลุได้ตามข้อ ๑ จำเป็นต้องสร้างความมั่นคงของประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้เคยเผชิญปัญหาที่คับขันกว่าปัจจุบัน แต่สามารถฟันฝ่ามาได้ เช่น สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งได้วางรากฐานงานผู้สูงอายุเอาไว้ ได้นำประเทศฝ่าวิกฤตมาได้ โดยได้ดำเนินการสร้างความมั่นคงของประเทศ อย่างน้อย ๒ ด้านได้แก่

• สร้างความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยเฉพาคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๒๓ ได้สร้างความปรองดองในชาติอย่างได้ผล และสามารถแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างน่าพอใจ • ด้านเศรษฐกิจ ได้เปลี่ยนอุตสาหกรรมของประเทศ จากเพื่อทดแทนการนำเข้า เป็นเพื่อการส่งออก ทำให้ลูกค้าเพิ่มจากหลัก ๕๐ – ๖๐ ล้านคนในประเทศไ เป็นหลักพันล้านคนทั่วโลก โดยการสร้างเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออกและท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง เป็นต้น มีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ และสามารถควบคุมการทุจริตคอรัปชั่นได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ประเทศมั่งคั่งขึ้น จากเศรษฐกิจที่ติดลบ จนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสูงขึ้นระดับตัวเลขสองหลัก

ข้อ ๓ ในการปฎิรูปด้านสังคม จะต้องยึดหลัก ๒ ประการ คือ

• จะต้องมุ่งสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ลดสภาพ “ไหใหญ่ล้น ไหน้อยบ่เต็ม”
• จะต้องมุ่งสร้าง “สังคมที่คนไทยไม่ทิ้งกัน” ไม่แยกเพศ วัย ชาติพันธุ์ ศาสนา สร้างบ้านเมือง ชุมชนโดย “อารยสถาปัตย์” ให้ผู้พิการและผู้สูงอายุ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยสะดวกตามสมควร

ข้อ ๔ จะต้องมุ่งแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ปัจจุบัน นิยามผู้สูงอายุ คือ ผู้มีอายุเกิน ๖๐ ปีขึ้นไป นิยามดังกล่าวเหมาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเศรษฐกิจ สังคม ยังด้อยอยู่ ปัจจุบันประเทศไทยพัฒนาเลยขีดดังกล่าวมาแล้ว ควรปรับนิยามผู้สูงอายุใหม่ให้เหมือนสากล คือ อายุเกิน ๖๕ ปีขึ้นไป เพื่อขยายอายุการทำงาน และลดช่วงวัยพึ่งพิงลง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามข้อเสนอ ข้อ ๑

ข้อเสนอเรื่องนิยามใหม่ผู้สูงอายุ มีรายละเอียด ขั้นตอนการดำเนินการตามที่มีการเสนอแล้วจากผลการศึกษาวิจัยในการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ข้อ ๕ ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุ จะต้องยึดหลักการสำคัญ คือ

• จะต้องมุ่งสร้างสวัสดิการสังคม ไม่มุ่งประชานิยม ข้อสำคัญคือ (ก) ต้องมุ่งส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีศักดิ์ศรี และสามารถพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด ไม่มุ่งหาคะแนนนิยม และ (ข) ต้องระมัดระวังในเรื่องการเงินการคลัง หากจะมีค่าใช้จ่ายใด จะต้องเตรียมการเรื่องการหารายได้ที่มั่นคง ยืนยาว มาเป็นค่าใข้จ่าย
• การช่วยเหลือผ้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิง ต้องมุ่งช่วยให้ผู้สูงอายุอยู่ได้ในครอบครัวและชุมชนหลีกเลี่ยงการนำสังคมผู้สูงอายุ เข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักคนชรา ซึ่งนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายสูงแล้ว ยังเป็นการแยกผู้สูงอายุจากครอบครัวและชุมชนด้วย

ข้อ ๖ ผู้สูงอายุกระจายอยู่ทั่วประเทศ การเตรียมการและแก้ปัญหาผู้สูงอายุต้องมีการกระจายอำนาจ โดยยึดแนวทาง ดังนี้

การกระจายอำนาจต้องกระจายให้ถึงประชาชนให้มากที่สุด ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรุปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน ได้เสนอไว้ คือ “ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ” สรุปสาระสำคัญ คือ ลดอำนาจส่วนกลาง ลดหรือเลิกอำนาจส่วนภูมิภาค เพิ่มอำนาจท้องถิ่น และเพิ่มอำนาจและความเข้มแข็งภาคประชาชนและประชาสังคม

การปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งก้าวหน้ากว่ารัฐธรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ และต้องกระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น ตาม พรบ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งกำหนดให้งบประมาณลงสู่ท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ ๓๕ ไม่หดเหลือราวร้อยละ ๒๖ – ๒๗ อย่างในปัจจุบัน

ข้อ ๗ การดูแลในระยะสุดท้ายของชีวิต แต่ก่อนคนไทยส่วนใหญ่จากโลกนี้ไปท่ามกลางการแวดล้อมของญาติมิตร ไม่จากไปอย่างโดดเดี่ยวพร้อมสายระโยงรยางค์ที่มุ่งยืดชีวิต ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการยืดความตาย สร้างภาระมากมายให้แก่ ทั้งลูกหลานคำ ญาติพี่น้อง และแพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลรวมทั้งประเทศชาติ จนหลายครอบครัวต้องสิ้นเนื้อประดาตัว เส้นทางนี้คือเส้นทางที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้ดูแลระยะสุดท้ายในไอซียู คือ การดูแลแบบประคับประคอง ไม่ว่าจะที่โรงพยาบาลหรือที่บ้าน เพื่อให้จากไปอย่างสง่า แทนที่จะจากไปอย่างอ้างว้างและทุกข์ทรมาน

นับเป็นปาฐกถาที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุราว ๑๔๐ คนในวันนั้น และที่สำคัญข้อเสนอทั้ง ๗ ข้อนี้ ถือเป็นการชี้ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทยด้านสังคมไว้อย่างชัดเจน ซึ่งหากดำเนินการได้สังคมไทยเราก็จะเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด สมกับที่ “นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน” ได้กล่าวปิดปาฐกถาไว้ว่า

“หวังว่าประเทศไทยจะมีการปฏิรูป เพื่อให้ผู้สูงอายุ และคนไทยทุกคนเป็นสังคมที่คนไทยไม่ทิ้งกันอย่างแท้จริง”

วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชุมชนเป็นนิติบุคคล : เป็นไปได้หรือ

๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๗

“ชุมชนต้องมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง จัดการกันเอง ชุมชนสามารถเป็นนิติบุคคล เพื่อจัดการกิจการสาธารณะ ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและอัตลักษณ์กันเองได้ มีการสนับสนุนสัมมาชีพชุมชนที่เป็นจริง ให้สอดคล้องแนวคิด “ทุนสัมมา”

โดยต้องมีการกระจายอำนาจรัฐไปสู่ชุมชน ให้อำนาจจัดการกันเอง โดยภาครัฐทำหน้าที่หนุนเสริมการพัฒนากลไกสนับสนุนการสร้างชุมชนเข้มแข็งและสามารถกำหนดเป็นเขตคุ้มครองวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์เฉพาะชุมชนได้ รวมทั้งมีการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้านจากนโยบาย แผนงาน โครงการและกิจกรรมที่จะดำเนินการในชุมชนนั้นแบบมีส่วนร่วม”

เป็นข้อความที่ปรากฎอยู่ในข้อเสนอของ "คณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส" (กมธ.ด้านสังคมฯ) ที่เสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เสนอให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยเรา

แนวคิดนี้นับเป็นกระแสที่มีการหยิบมาพูดกันในวงกว้าง และได้เกิดคำถามมากมายว่า การที่จะให้ชุมชนเป็นนิติบุคคลนั้น จะทำงานอย่างไรกับโครงสร้างและกลไกที่มีอยู่เดิมอย่างไร โดยเฉพาะกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ที่เป็นองค์กรนิติบุคคลที่ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายจัดตั้งกำหนดแทบจะเรียกว่ารอบด้านอยู่แล้ว

ผมพยายามคิดใคร่ครวญหาคำตอบอยู่นาน จนได้มาพบหนังสือ “ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ” ที่จัดทำโดย "คณะกรรมการปฏิรูป" ที่มีการเผยแพร่มาตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๔ ได้ให้คำตอบในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน

สาระสำคัญที่ผมจับได้ สรุปได้ว่า

ชุมชนนั้นเกิดมานานแล้ว และมีอำนาจที่มีมาแต่เดิมในการบริหารจัดการตนเองภายในชุมชนและท้องถิ่น มาก่อนที่จะมีการถ่ายโอนอำนาจไปยัง อปท.

แนวคิดการปฏิรูปโครงสร้างภายในชุมชน จึงเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของ อปท. ที่มีอำนาจตามกฎหมายกับการรับรองบทบาทและอำนาจที่มีโดยธรรมชาติของชุมชน ที่เน้นการแสวงหาข้อตกลงร่วมกัน โดยกระบวนการในแต่ละพื้นที่อาจมีความแตกต่างหลากหลายไปตามระบบนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนหรือกลุ่มชาติพันธุ์

หลักการพื้นฐานสำคัญที่ต้องนำมาใช้ คือ “การกระจายอำนาจแนวราบ” ที่ยอมรับในการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลของอำนาจตามกฎหมายและอำนาจตามธรรมชาติที่มีอยู่

การสนับสนุนบทบาทของชุมชน สามารถดำเนินการได้หลายแนวทาง เช่น

• การยอมรับในบทบาทการจัดการของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม การสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น การให้บริการสาธารณะ และการวางแผนการพัฒนาท้องถิ่น โดยจะต้องยอมรับความจำเพาะและความแตกต่างหลากหลายทางระบบนิเวศน์วัฒนธรรมของแต่ละชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่นด้วย

• การเอื้ออำนวยความสะดวกในการจดแจ้งองค์กรชุมชน/องค์กรภาคประชาสังคม ให้สามารถมีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งจะทำให้องค์กรชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการในท้องถิ่นได้สะดวกขึ้น และมีการใช้สิทธิในด้านต่าง ๆ ในระบบการบริหารราชการ รวมถึงการใช้สิทธิความเป็นนิติบุคคลในระบบกฎหมายและในกระบวนการยุติธรรมด้วย

• การสนับสนุนให้องค์กรชุม/องค์กรภาคประชาสังคม เป็นหน่วยบริการที่สามารถบริหารจัดการตนเองในรูปแบบต่าง ๆ ได้ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยตรงจากท้องถิ่นและจากรัฐบาล ภายใต้มาตรฐานที่กำหนดอย่างเหมาะสม

• การถ่ายโอนงบประมาณควรจัดสรรลงไปสู่ประชาชน ในลักษณะของการให้งบประมาณตามตัวผู้ใช้ จะช่วยให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจโดยตรงในการตัดสินใจใช้งบประมาณหรือเลือกผู้ให้บริการด้วยตนเอง ซึ่งผลหน่วยบริการส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นองค์กรชุมชนเอง

บางคนอาจจะถามว่า แล้วองค์กรชุมชนที่เกิดขึ้นนี้จะทำงานกับ อปท. อย่างไร

คำตอบก็คือ ให้นำหลักการ “ประชาธิปไตยทางตรง” มาใช้ควบคู่ไปกับหลักการ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” โดยผู้บริหารและสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ทำหน้าที่ตัดสินใจต่อเรื่องที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตและทิศทางการพัฒนาของท้องถิ่น

แล้วให้มีการตั้ง “คณะกรรมการประชาสังคม” เป็นกลไกเชื่อมโยงประชาชนและชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการบริหารจัดการท้องถิ่น

องค์ประกอบของคณะกรรมการประชาสังคม จำแนกเป็น ๒ ส่วน คือ
• ส่วนที่ ๑ เป็นกรรมการประจำที่มีวาระการดำรงตำแหน่งที่แน่นอน ไม่เกิน ๑ ใน ๓ มาจากการคัดเลือกจากผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กร อาชีพ ศาสนา และองค์กรประชาสังคมอื่น ๆ และ
• ส่วนที่ ๒ เป็นกรรมการเฉพาะกิจที่หมุนเวียนเข้ามาทำหน้าที่ในภารกิจแต่ละด้าน เป็นผู้ที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีส่วนร่วมด้วย

คณะกรรมการประชาสังคม จะทำหน้าที่ถ่วงดุลการตัดสินใจของ อปท. โดยมีอำนาจในการแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริง ความเห็นและแนวทางเลือกต่าง ๆ ในการตัดสินใจจากชุมชน จากประชาชน และจากหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง

การตัดสินใจที่สำคัญของ อปท. ที่อาจกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในท้องถิ่น จะต้องผ่านคณะกรรมการประชาสังคม โดยคณะกรรมการประชาสังคมก็จะต้องจัดและเอื้อให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ปรึกษาหารือ และแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกัน โดยเฉพาะจากสมาชิกในชุมชนและในท้องถิ่น

แต่คณะกรรมการประชาสังคมไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการยับยั้งการตัดสินใจ หรือถอดถอนผู้บริหารและสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นกลไกในการนำการตัดสินใจคืนให้กับประชาชน ผ่านการลงประชามติ หรือการลงลายมือชื่อรับรองหรือยับยั้งการดำเนินงานของท้องถิ่น

สรุปก็คือคณะกรรมการประชาสังคม จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างการใช้ประชาธิปไตยทางตรงกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน ผ่านการปรึกษาหารือและการต่อรองระหว่างประชาชน ชุมชนและท้องถิ่น ในหนังสือเล่มเดิม ยังได้ชี้ให้เห็นการเติบโตของชุมชนและภาคประชาคมและมีข้อเสนอที่น่าสนใจอีกว่า

การก่อตัวและการเติบโตควรเป็นไปตามธรรมชาติ มิใช่การบังคับกะเกณฑ์ให้เกิดขึ้นจากกลไกรัฐ จึงต้องยอมรับว่า การเกิดขึ้นและความเข้มแข็งของความเป็นชุมชนและความเป็นประชาสังคมอาจแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น

ในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนนั้น ภาครัฐและองค์กรภายนอกต้องทำหน้าที่หนุนเสริม โดยไม่ไปทำลายจุดแข็งและความอิสระของชุมชน/ประชาสังคม ซึ่งการส่งเสริมสนับสนุนที่ดีที่สุ คือ การกระตุ้นและสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนในเครือข่ายและการเรียนรู้จากความผิดพลาดและความสำเร็จขององค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมด้วยกัน

และเพื่อให้มีการทำงานได้ จึงเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนในระดับจังหวัดเพื่อการพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม โดยใช้กลไกเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมเป็นผู้บริหารจัดการ

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการส่งเสริมให้เกิดกลไกเรียนรู้และต่อรองในการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศและการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งระหว่าง ส่วนกลาง อปท. และชุมชน โดยไม่ใช่อำนาจที่กดทับลงมาจากส่วนกลาง หรือจากราชการส่วนท้องถิ่นเช่นที่ผ่านมา

ผมอ่านมาถึงตรงนี้ ทำให้ผมเห็นความสอดคล้องกันระหว่างเอกสารที่ผมหยิบมาศึกษากับข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปด้านสังคมฯ และได้พบคำตอบในคำถามที่มีหลากหลายอย่างชัดเจนขึ้น ทั้งเรื่อง บทบาทหน้าที่ขององค์กรชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่าง อปท. กับองค์กรชุมชน และแหล่งทุนดำเนินการ

ข้อมูลเหล่านี้นับว่ามีประโยชน์มากและถือเป็นข้อมูลตั้งต้นในการนำไปคุยกันต่อได้เป็นอย่างดี

คำบางคำอาจจะปรับเปลี่ยนได้ เช่น คำว่า “คณะกรรมการประชาสังคม” อาจแปรเปลี่ยนไปเป็น “สภาพลเมือง” ที่เป็นคำอีกคำหนึ่งที่ถูกหยิบมาพูดคุยกันอยู่ในขณะนี้อย่างหนาหู

ซึ่งสิ่งเหล่านั้น ถือเป็นรายละเอียดในการจัดทำต่อไป สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การยอมรับในอำนาจของชุมชน ที่เชื่อว่า ชุมชนนั้นมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลและจัดการสิ่งต่าง ๆ มาตั้งแต่อดีต ก่อนที่จะมีองค์กรใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาภายหลังอย่าง กระทรวง กรม จังหวัดและ อปท. ระดับต่าง ๆ

ฉะนั้น จึงอยากเรียกร้องไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิชุมชนที่มีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองตามข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปด้านสังคมฯ ข้างต้นอย่างจริงจังด้วย

เรามาร่วมกันเดินหน้าเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง อันเป็นรากฐานสำคัญของสังคมไทยกันเถอะ

วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ปฏิรูปประเทศไทยต้องปฏิรูปสังคม

๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๗

“การปฏิรูปประเทศไทยต้องเร่งปฏิรูปสังคม มุ่งสร้างชุมชนท้องถิ่นและพลังพลเมืองให้เข้มแข็ง”

คือบทสรุปที่ทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันในเวทีกรรมาธิการปฏิรูปสังคมฯ สัญจร เมื่อเช้าวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ ลานกว้างของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งนับเป็นประโยคสำคัญที่ถือเป็นหัวใจที่บ่งชี้แนวทางในการปฏิรูปประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

เวทีในวันนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (สปพส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสัมมาชีพ โดยมีผู้เข้าประชุมจากและขบวนองค์กรภาคประชาชนกว่า ๑๐ เครือข่าย กว่า ๕๐๐ คน เข้ามาร่วมกันค้นหา “คานงัดปฏิรูปประเทศไทย”

ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ต่างให้แนวคิดที่สำคัญไว้อย่างน่าสนใจ

นพ. ประเวศ วะสี ได้แสดงปาฐกถานำเปิดประเด็นไว้ให้คิดต่อว่า

• องค์ประกอบสำคัญยิ่งยวดในการปฏิรูปประเทศไทยที่ถือเป็นระเบียบวาระของชาติที่เป็นความตั้งใจครั้งใหญ่ที่สุดของชาติ
• หัวใจของการปฏิรูปประเทศไทยอยู่ที่ “ปฏิรูปสังคม ชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง พลังพลเมืองเข้มแข็ง”
• วิธีการปฏิรูปต้องปฏิรูปความสัมพันธ์จากแนวดิ่งมาเป็นแนวราบ จัดให้มีการ “รวมกันคิดรวมกันทำในทุกพื้นที่ชุมชน ในทุกองค์กร และในทุกประเด็น”
• จำเป็นต้องปฏิรูปไปที่โครงสร้างอำนาจ โดยคืนอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเอง ในรูปของชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง โดยการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านจิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษาและประชาธิปไตย ซึ่งจะนำไปสู่สังคมศานติสุข
• รูปธรรมที่จะนำไปสู่สิ่งดังกล่าวได้ จะต้องมีกฎหมายปฏิรูปสังคม ที่กำหนดหน้าที่ของรัฐในการสนับสนุน ปลดล็อคกฎหมาย กระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น กำหนดให้ระบบการศึกษาสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น จัดให้มีธุรกิจเพื่อสังคม มีมูลนิธิทางสังคมเพื่อสังคม มีองค์กรสื่อสารภาคพลเมือง มีกองทุนสันติประชาธรรม และสร้างเครือข่ายพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย หนุนสัมมาชีพชุมชนให้เกิดเต็มประเทศ”

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวในลำดับถัดมา โดยชี้ว่า

• การปฏิรูปประเทศไทยเป็นความคาดหวังของประชาชนทั้งแผ่นดิน ที่อยากเห็นการปฏิรูปนำชีวิตสู่ความสุขสมบูรณ์
• ที่ผ่านมามักจะมองเรื่องการปฏิรูปเป็นเรื่องรองจากการชนะการเลือกตั้ง ผู้นำไม่มีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง
• วันนี้ถือเป็นโอกาส เพราะรัฐบาลโดยผู้นำประกาศอย่างชัดเจนว่าจะปฏิรูป มีสภาปฏิรุปแห่งชาติ (สปช.) เป็นกลไกที่มีบทบาทชัดเจน
• สิ่งสำคัญคือการสร้าง “พลังพลเมืองที่เข้มแข็ง” ที่ในวันนี้พลังพลเมืองมีอยู่มากมายและหลากหลาย
• เรื่องเร่งด่วนคือ การสร้างการรวมตัวที่เหนียวแน่น มีการบริหารจัดการเครือข่ายอย่างเป็นระบบ สร้างข้อมูล ความรู้และการสื่อสารที่สร้างความใจให้ตรงกันโดยเฉพาะในประเด็นร่วมระดับชาติ และต้องมีความชัดเจนในประเด็นหรือกิจกรรมร่วมที่จะปฏิรูปให้ตรงกัน
• เครือข่ายพลเมืองนี้จะต้องพัฒนาให้เป็นกลไกที่มีหน้าที่จัดทำและผลักดันข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปที่สำคัญเพื่อการปฏิรูป ทำหน้าที่เฝ้าระวังการบริหารจัดการของภาครัฐ ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ การทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น ให้ได้

ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวไว้ชัดเจนว่า

• คำถามสำคัญของการปฏิรูประเทศไทยครั้งนี้ จะต้องนำไปสู่ประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีความเหมาะสมกับประเทศไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้กลไกของรัฐสามารถบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม
• องค์ประกอบสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวคือ “ การปฏิรูปสังคม”
• การปฏิรูปสังคมมีความสลับซับซ้อนมากมาย ทั้งในเรื่องความหมายและนัยที่แท้จริง ขอบข่ายความครอบคลุม ประเด็นที่เป็นปัญหาหรือจุดอ่อน และเป้าหมายที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต
• จำเป็นต้องเลือกปฏิรูปสังคมในประเด็นที่มีผลกระทบอย่างสำคัญมากมาทำ
• สปช. จะทำอย่างเต็มที่ แต่การจะทำให้สำเร็จลงได้ต้องเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมช่วยกันทำการปฏิรูปให้สำเร็จ ต้องเข้ามา “ร่วมคิด สร้างไทย ร่วมใจ สร้างอนาคต”

นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปสังคมฯ กล่าวย้ำว่า

• ความเห็นของขบวนองค์กรภาคประชาชนสอดคล้องกับ กมธ. เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งได้เสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นเป็น ๑ ใน ๘ ประเด็น ที่ควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่
• ข้อเสนอที่ทาง กมธ. เสนอในเรื่อง “สิทธิชุมชน” คือ เสนอให้เขียนให้ชัดเจนว่าชุมชน
(๑) จะต้องมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง จัดการกันเอง
(๒) ชุมชนสามารถเป็นนิติบุคคลเพื่อจัดการกิจการสาธารณะ ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและอัตลักษณ์กันเองได้
(๓) มีการสนับสนุนสัมมาชีพชุมชนที่เป็นจริง สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “ทุนสัมมา”
(๔) รัฐต้องกระจายอำนาจสูชุมชน ให้อำนาจชุมชนจัดการกันเอง
(๕) รัฐต้องทำหน้าที่หนุนเสริมการพัฒนาศักยภาพให้ชุมชนเข้มแข็งได้จริง

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรเอกชน (พอช.) ได้ให้แง่คิดกับผมว่า

• เราต้องยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ฉะนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับพลังของประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศในการกำหนดทิศทางการพัฒนา มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอำนาจของตนเอง
• ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงอยากเห็นทิศทางที่กำหนดให้รัฐบาลทุกสมัยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้างพลังพลเมือง มีการกระจายอำนาจ และสร้างชุมชนเข้มแข็งที่ชัดเจน ปรับบทบาทองค์กรภาครัฐให้ทำหน้าที่พัฒนาศักยภาพและหนุนเสริมกลไกต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายพลังพลเมืองและสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง

และจากการระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเวทีที่มีตัวแทนจากขบวนองค์กรภาคประชาชนกว่า ๑๐ เครือข่าย อันประกอบด้วย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายสวัสดิการชุมชน เครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชน เครือข่ายที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เครือข่ายการจัดการทรัพยากร เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น เครือข่ายสัมมาชีพชุมชน เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมเพื่อการเมือง เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เครือข่ายการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรุป เครือข่ายนักสานพลังขับเคลื่อนนโยบายสุขภาวะ และสภาประชาชนเพื่อการปฏิรุป (สชป.) ในภาคบ่าย โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ ๖ ข้อ คือ

หนึ่ง ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนการบริหารและพัฒนาประเทศ สร้างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงอำนาจ โครงสร้างการปกครอง กระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ชุมชนท้องถิ่น มีระบบให้ได้ผู้เข้ามาบริหารชุมชนและบ้านเมืองที่ดีและมีคุณภาพ

สอง มีระบบและกลไกที่หนุนเสริมชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง มีอำนาจในการกำหนดอนาคตกันเอง สามารถจัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีงาม มีระบบสวัสดิการชุมชนที่ครอบคลุมในทุกมิติ โดยมีสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน

สาม ควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเสนอให้มีกลไกเพื่อการขับเคลื่อนใน ๓ ระดับ คือระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการและระดับพื้นที่โดยมีตัวแทนจากชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยรัฐต้องมีการสนับสนุนให้เกิดกองทุนการพัฒนาสัมมาชีพชุมชน ปรับระบบภาษีที่เอื้อต่อการสร้างเศรษฐกิจชุมชน และมีระบบที่ป้องกันการผูกขาดของอำนาจทางการเมืองและป้องกันอิทธิพลที่จะไปทำลายชุมชนด้วย

สี่ เสนอให้มีสภาพลเมืองในทุกระดับ เป็นกลไกของประชาชนที่ใช้อำนาจประชาธิปไตยทางตรง ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนและสังคม จัดทำข้อเสนอเพื่อการพัฒนาสังคม เป็นกลไกในการเฝ้าระวังติดตามการทำงานอย่างเกาะติด

ห้า จัดตั้งกลไกภาคประชาชนทำหน้าที่คู่ขนานและเชื่อมโยงการทำงานกับ สปช. ติดตามข้อเสนอและขับเคลื่อนในส่วนที่เป็นหน้าที่ของภาคประชาชน

หก การปฏิรูปต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์และคนไร้รัฐที่ดำรงอยู่ในขณะนี้อย่างจริงจัง โดยควรมีการกำหนดเขตคุ้มครองวัฒนธรรมเฉพาะในแต่ละกลุ่มได้

ผมนั่งประมวลความคิดที่ได้ฟังจากผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วนำมาเชื่อมโยงกับความคิดเห็นที่ได้จากการระดมความคิดเห็นจากผู้แทนขบวนองค์กรประชาชน เกือบ ๕๐๐ คน ของทุกท่าน ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า “หัวใจของการปฏิรูปประเทศไทย อยู่ที่การปฏิรูปสังคม ให้ชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง พลังพลเมืองเข้มแข็ง”

เมื่อทุกคนทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องกันแบบนี้ คำถามที่ผมคิดว่าต้องหยิบนำมาพูดกันอย่างจริงจังก็คือเราจะวาง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานให้เกิดตามภาพฝันดังกล่าวอย่างไร”

“พลังพลเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย แต่ความจริงจังของพลังพลเมืองที่มีอยู่หลากหลายมีการเกาะเกี่ยวกันที่ขาดพลัง ขาดการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลวิชาการ และขาดการสื่อสารทำความเข้าใจในประเด็นที่จะขับเคลื่อนที่ตรงกัน”

เป็นคำกล่าวของ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งในช่วงเช้าวันนั้น น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่และสำคัญที่สุดที่ทุกฝ่ายต้องนำมาขบคิดเพื่อวางยุทธศาสตร์ดังกล่าวกันอย่างจริงจัง

๘ ประเด็นสำคัญด้านสังคม : ข้อเสนอเพื่อบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๗

ตื่นเต้นกับการเฝ้ารอผลตอบรับจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต่อข้อเสนอ ๘ ประเด็นด้านสังคมที่เสนอโดย "คณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส" ที่มี "นพ.อำพล จินดาวัฒนะ" เป็นประธาน

ผมได้มีโอกาสที่ดีมากที่ได้เข้าไปฟังการประชุมของคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านสังคมฯ ในวันที่มีการพิจารณาข้อเสนอด้านสังคมที่สมควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และได้มีโอกาสพูดคุยกับกรรมาธิการบางท่าน ทำให้ได้เรียนรู้ทั้งเชิงกระบวนการและเชิงวิชาการ

จุดเริ่มต้นกระบวนการทำงาน เริ่มจากการทบทวนข้อมูลวิชาการจากแหล่งต่าง ๆ โดยเอกสารต่าง ๆ ที่ถูกหยิบมาใช้ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญของไทยฉบับก่อนหน้า มติสมัชชาปฏิรูปของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และข้อเสนอขององค์กร เครือข่ายต่าง ๆ อีกมากมาย

ภาพฝัน "ภิวัฒน์ไทย" ที่เป็นผลสรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทั้ง ๒๕๐ คน เมื่อวันที่ ๙ – ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ ที่โรงแรมเซนทารา แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร กำหนดไว้ ๔ ประการ คือ
หนึ่ง พลเมืองไทยมีคุณภาพ มีความรู้ มีคุณธรรม วินัย ภาคภูมิใจในความเป็นไทย รับผิดชอบเห็นแก่ส่วนร่วม สุขภาพดี
สอง สังคมพหุวัฒนธรรม คนอยู่ร่วมกันได้บนความหลากหลาย เกื้อกูลแบ่งปัน
สาม ชุมชนเข้มแข็ง ลดอำนาจรัฐส่วนบน ขยายอำนาจฐานการเมืองส่วนล่าง สร้างสมดุลระหว่างภาคการเมือง ราชการและประชาชน
สี่ สังคมแห่งพลังปัญญา การใช้ข้อมูลความรู้เพื่อแก้ปัญหา สร้างมูลค่าและคุณค่า เป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
นับเป็นเป้าหมายสำคัญที่ถูกนำมาใช้เป็นกรอบความคิดในการยกร่างเป็นเอกสารตั้งต้น

ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ได้ช่วยกันเสนอให้เห็นสิ่งที่ "อยากเห็น อยากเป็น อยากมี" ในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ต่างช่วยกันเติมเต็มจนสมบูรณ์ ได้ภาพฝันในเป้าหมาย ๕ ระดับคือ
หนึ่ง เป้าหมายระดับสังคมในภาพรวม : เป็นสังคมที่มีความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ สิทธิ เสรีภาพได้รับการคุ้มครอง มีการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และเป็นสังคมคุณธรรม
สอง เป้าหมายระดับพลเมืองในภาพรวม : บุคคลทุกคนได้รับการรับรองสถานะบุคคล ประชากรมีคุณภาพ มีความเกื้อกูลแบ่งปัน มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ตระหนักในหน้าที่พลเมือง มีสุขภาพเหมาะสมตามกลุ่มวัย และมีสวัสดิการสังคมที่ดีและครอบคลุม
สาม เป้าหมายระดับชุมชน : ที่ต้องการเห็นชุมชนมีความเข้มแข็ง มีอำนาจกำหนดอนาคตตนเอง
สี่ เป้าหมายระดับครอบครัว :ที่ต้องการเห็นครอบครัวมีความอบอุ่นและมีคุณภาพ
ห้า เป้าหมายระดับกลุ่มคนต่าง ๆ : อันประกอบด้วย กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มสตรี กลุ่มบุรุษ กลุ่มแรงงาน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการหรือทุพพลภาพ บุคคลวิกลจริต บุคคลไร้ที่อยู่และไม่มีรายได้เพียงพอ บุคคลที่ไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่า ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีการกำหนดเป้าหมายที่อยากจะให้เกิดขึ้น เช่น มีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากภาครัฐ ได้รับการคุ้มครองจากรัฐให้ปราศจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม โดยมีสภาพบังคับ และมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว เป็นต้น

เมื่อกรรมาธิการเห็นภาพรวมทั้งหมดแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่ต้องร่วมกันตัดสินใจก็คือ “ประเด็นสำคัญที่สมควรถูกนำไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

ในที่สุดคณะกรรมาธิการฯ ได้เห็นชอบร่วมกันให้เสนอประเด็นสำคัญรวม ๘ ประเด็นต่อคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง : ขอบเขตและความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ

• เสนอให้ให้เขียนความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญครอบคลุมในเรื่อง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล โดยมีขอบเขตครอบคลุมกลุ่มคนใน ๓ กลุ่ม คือ (๑) บุคคลทุกคนที่มีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย (๒) ประชาชนที่อาศัยในประเทศไทย ไม่ว่าเหล่ากำเนิด สีผิว เพศ เพศสภาพ ภาษา ชาติพันธุ์ สัญชาติ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญเสมอกัน และ (๓) คนสัญชาติไทยย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในหรือนอกประเทศไทย

ประเด็นที่สอง : สิทธิที่ควรได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ

• เสนอให้ขยายขอบเขตความคุ้มครองให้ครอบคลุมถึง “สิทธิการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์” และ“สิทธิได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย” เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๕๐ บัญญัติไว้เพียง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล” เท่านั้น
• โดยสิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ สิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการและสภาพแวดล้อมอันเป็นสาธารณะ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การขนส่ง ข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนบริการอื่น รวมทั้งการช่วยเหลืออย่างสมเหตุสมผล อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และปราศจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
• และสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คือ ข้อมูลและข่าวสารสาธารณะในครอบครองของรัฐ โดยต้องอยู่ในรูปแบบ ช่องทางหรือวิธีการที่ทุกคนรวมถึงคนพิการและผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ด้วยตามมาตรฐานสากล”

ประเด็นที่สาม : ความเสมอภาค เท่าเทียมกัน และการไม่เลือกปฏิบัติ

• เสนอให้เขียนว่า “ในการจัดสรรบุคคลลงตำแหน่งต่างๆ ในกลไกของรัฐทุกระดับ ต้องมีสัดส่วนเพศตรงข้ามไม่น้อยกว่า ๔ ใน ๑๐” เพื่อให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
• และเสนอให้ขยายขอบเขตการไม่เลือกปฏิบัติให้กว้างขวางขึ้น โดยขยายการไม่เลือกปฏิบัติรวมไปถึง “เหตุมาจากความแตกต่างจากเพศสภาพ ชาติพันธุ์ สัญชาติ สีผิว พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิด” เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ ที่กำหนดเหตุจาก “ถิ่นกำเนิด ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดทางการเมือง” เท่านั้น

ประเด็นที่สี่ : สิทธิชุมชน

• เสนอให้เขียนเรื่องสิทธิชุมชนให้ชัดเจนในการกำหนดอนาคตตนเอง จัดการกันเอง ชุมชนสามารถเป็นนิติบุคคล เพื่อจัดการกิจการสาธารณะ ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและอัตลักษณ์กันเองได้ มีการสนับสนุนสัมมาชีพชุมชนที่เป็นจริง ให้สอดคล้องแนวคิด “ทุนสัมมา”
• และเพื่อให้ชุมชนมีสิทธิข้างต้น เสนอให้เขียนให้เห็น “การกระจายอำนาจรัฐไปสู่ชุมชน ให้อำนาจจัดการกันเอง โดยภาครัฐทำหน้าที่หนุนเสริมการพัฒนากลไกสนับสนุนการสร้างชุมชนเข้มแข็งและสามารถกำหนดเป็นเขตคุ้มครองวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์เฉพาะชุมชนได้ รวมทั้งมีการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้านจากนโยบาย แผนงาน โครงการและกิจกรรมที่จะดำเนินการในชุมชนนั้นแบบมีส่วนร่วม” ไว้ด้วย

ประเด็นที่ห้า : หน้าที่พลเมือง

• เสนอให้มีการกำหนดหน้าที่ของพลเมืองว่า “ทุกคนมีหน้าที่ในการร่วมพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันดีงามของชุมชนและของชาติ มีหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของภาครัฐ และเสียภาษีตามความสามารถที่เป็นธรรมอย่างทั่วถึง
• และเพื่อให้เกิดสิ่งดังกล่าว ได้เสนอเขียนให้ชัดเจนว่า “รัฐต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพการทำหน้าที่พลเมือง ตระหนักถึงคุณค่าหรือค่านิยมในการทำงานเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รักชาติ เสียสละ มีความเกื้อกูลแบ่งปันกัน เป็นสังคมแห่งพลังปัญญา สามารถ อยู่ร่วมกันได้ในสังคมพหุวัฒนธรรม และสามารถรวมตัวกันเป็นองค์กรภาคประชาสังคม ภาคประชาชน หรือเครือข่ายพลังพลเมืองได้อย่างหลากหลาย โดยมีการสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนที่พึ่งพาตนเองและทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนร่วม”

ประเด็นที่หก : การสร้างครอบครัวเข้มแข็ง ร่มเย็นและเป็นสุข

• เสนอให้เขียนโดยกำหนดให้ “สถาบันครอบครัวมีหน้าที่พัฒนาสมาชิกในครอบครัวให้เป็นพลเมืองดี สร้างครอบครัวที่อบอุ่น พ่อและแม่มีสิทธิลาเพื่อดูแลบุตรในระยะเวลาที่เพียงพอ สร้างระบบและกลไกที่หนุนเสริมให้ครอบครัวมีบุตรที่มีคุณภาพ”
• และเพื่อให้เกิดสิ่งดังกล่าวได้จริง จึงเสนอให้เขียนให้ชัดเจนว่า “รัฐต้องส่งเสริมให้เกิดครอบครัวที่เข้มแข็งร่มเย็นและเป็นสุข ให้สมาชิกมาอยู่รวมกัน มีระบบหนุนเสริมครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เด็กที่ถูกทอดทิ้งได้รับการส่งเสริมให้มีครอบครัวอุปถัมภ์หรือครอบครัวบุญธรรม มีการป้องกันความรุนแรงในครอบครัวและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม รวมทั้งมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูเยียวยาในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว”

ประเด็นที่เจ็ด : สังคมคุณธรรม

• เสนอให้เขียนให้ชัดเจนว่าต้องมี “การจัดระบบและกลไกในการทำให้เกิดสังคมคุณธรรม มีความเกื้อกูลแบ่งปันกัน เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของผู้อื่น และมีมาตรการและกลไกป้องกันและควบคุมการทุจริตประพฤติมิชอบในทุกวงการอย่างจริงจัง”

ประเด็นที่แปด : การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม

ได้มีข้อเสนอที่สำคัญ รวม ๔ ประการ คือ
(๑) การปฏิรูปด้านสังคมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ในเรื่องระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราและการเตรียมความพร้อมสู่วัยผู้สูงอายุที่เหมาะสมของประชาชน และปรับปรุงระบบการเกษียณอายุที่เหมาะสม และการนำทุนทางปัญญาของผู้สูงอายุมาใช้ในการพัฒนาประเทศชาติ รวมทั้งการมีระบบและกลไกให้เกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย ชมรม ที่เข้มแข็งของประชาชนวัยสูงอายุ
(๒) การปฎิรูประบบสวัสดิการที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้ ครอบคลุมทั้งด้านการบริการทางสังคม การประกันสังคม การช่วยเหลือทางสังคม และการสนับสนุนหุ้นส่วนทางสังคม
(๓) การเปิดช่องทางที่เปิดโอกาสให้แรงงานเข้าไปเป็นหุ้นส่วนในกิจการที่ตนทำงานอยู่ได้
(๔) การกำหนดให้มีกลไกทำหน้าที่พัฒนาข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และเสนอกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติเพื่อให้เกิดสุขภาวะในทุกมติ สังคมเป็นธรรมสูง ความเหลื่อมล้ำต่ำ โดยให้สามารถให้ดำเนินการให้ดำเนินการได้อย่างคล่องตัวและต่อเนื่องในเวลา ๑๐ ปี

กำหนดการล่าสุดที่ทราบมาก็คือ ในวันที่ ๑๕ – ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๗ จะมีการเปิดประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้คณะกรรมาธิการฯ ชุดต่าง ๆ ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์และวิทยุตลอดการประชุม

ผมยังจำคำพูดของ “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” ประธานกรรมาธิการปฏิรูปสังคมฯ ที่กล่าวไว้อย่างตอนท้ายของการประชุมได้ว่า

“หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติสิ่งเหล่านี้ไว้ เชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การภิวัฒน์ไทย ที่มีเป้าหมายในการสร้างสังคมแห่งพลังปัญญา เป็นสังคมคุณธรรม อยู่ร่วมกันได้ในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยมีชุมชนที่เข้มแข็งเป็นรากฐานของประเทศ อันนำไปสู่ มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทําให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ อย่างแน่นอน”

นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ผมตื่นเต้นและเฝ้ารอผลการประชุมของ สปช. และเสียงตอบรับจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างใจจดใจจ่อตามไปด้วย