วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ทิศทางนโยบายส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพของประเทศไทย

๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

ถ้ายังจำกันได้ช่วงใกล้วันวาเลนไทน์เมื่อ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เปิดเผยสถานการณ์วัยรุ่นไทยติดอันดับตั้งครรภ์ไม่พร้อมสูงเป็นอันดับ ๑ ของเอเชีย และเป็นอันดับ ๒ ของโลก หรือประมาณ ๘๐ % ของวัยรุ่นทั้งหมด เด็กวัยรุ่นอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ ๓๗๐ คน และที่อายุต่ำกว่า ๑๕ ปี คลอดบุตรวันละ ๑๐ คน อายุน้อยที่สุดที่พบ คือ ๙ ปี

โดย ๗๐ % ใช้บ้านตัวเองและบ้านเพื่อนเป็นสถานที่มีเพศสัมพันธ์ และมีการใช้ถุงยางเพียง ๕๕ % เท่านั้น ส่วนใหญ่มักมีเพศสัมพันธ์โดยไม่คุมกำเนิด บ้างไม่รู้ว่ามีเพศสัมพันธ์แล้วท้อง บ้างคุมกำเนิดไม่เป็น บ้างไม่สนใจคุมกำเนิด บ้างไม่สามารถเข้าถึงการบริการคุมกำเนิด บ้างกลัวการคุมกำเนิด เป็นต้น

นี้เป็นข้อมูลที่น่าตกใจไม่น้อยถึงเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นไทยในยุคปัจจุบัน

เพราะในขณะที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายกำหนดแผนประชากรในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ หรือระหว่างปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๗ โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ประชากรไทยทุกคนเกิดมามีคุณภาพ ได้รับการพัฒนาทุกช่วงวัยให้สามารถเป็นพลังในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของประเทศ มีหลักประกันที่มั่นคงพร้อมเข้าสู่สังคมอายุที่มีการจัดสวัสดิการอย่างยั่งยืนโดยครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วม”

และได้กำหนดยุทธศาสตร์ประการหนึ่ง คือ “ส่งเสริมให้ประชากรไทยทุกคนเกิดมามีคุณภาพ พร้อมที่จะพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเติบโตขึ้น”

คำถามที่ท้าทายยิ่งก็คือ เมื่อสถานการณ์การตั้งครรภ์หรือท้องในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ยังไม่พร้อมที่จะมีบุตรยังมีอัตราสูงอยู่เช่นนี้ จะนำไปสู่การเกิดที่มีคุณภาพตามแผนประชากรที่รัฐบาลกำหนดได้อย่างไร

มีข้อมูลวิชาการจำนวนมากที่ยืนยันว่า บุตรที่คลอดจากมารดาวัยรุ่นมักจะเจ็บป่วยบ่อย พัฒนาการล่าช้า และมีโอกาสเสียชีวิตสูง ในขณะที่ตัววัยรุ่นที่ตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดภาวะเเทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์สูง ไม่ว่าจะเป็นครรภ์เป็นพิษ รกลอกตัวก่อนกำหนด แท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด หรือทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าปกติ เป็นต้น

ด้วยความตระหนักต่อสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวข้างต้น กรมอนามัย โดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการสร้างประชากรของประเทศไทยให้มีคุณภาพ จึงมีแนวที่จะจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น

ต้องถือว่าเป็นความโชคดีอย่างยิ่งที่ผมได้รับเกียรติอย่างสูงจากหน่วยงานดังกล่าว มอบหมายให้เป็นวิทยากรนำกระบวนการเวทีในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเอวัน พัทยากลาง จังหวัดชลบุรี

ในเวทีครั้งนี้ ผมได้พบผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงหลายท่าน อาทิ "ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล" จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล "แพทย์หญิงนันทา อ่วมกุล" อดีตผู้ทรงคุณวุฒิระดับ ๑๑ ของกรมอนามัย "รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ" จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายภาคีที่หลากหลาย อาทิ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย สำนักงานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี ศูนย์อนามัยที่ ๓ ชลบุรี และนักวิชาการจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ เป็นต้น

ประสบการณ์สมัยที่ผมเป็นผู้อำนวยการกองแผนงานของกรมอนามัย ถูกหยิบมาใช้ในเวทีครั้งนี้อย่างมาก

ตั้งแต่การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและภัยคุกคาม ที่เรียกกันติดปากว่า SWOT Analysis หลักการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด และการกำหนดยุทธศาสตร์ และกลวิธีหรือมาตรการสำคัญที่จะนำมาใช้

ผู้เข้าร่วมเวทีราว ๓๐ ชีวิต ต่างช่วยกันระดมความคิดอย่างเข้มข้น แต่ก็แฝงไปด้วยความสนุกสนาน ทั้งนี้ทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยควรมีกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วน อันประกอบด้วย องค์กรภาครัฐและการเมือง ภาควิชาการและวิชาชีพ และภาคประชาชนและภาคเอกชนรวมทั้งองค์กรสื่อ ทุกระดับ (ตั้งแต่ระดับชาติ จังหวัด อำเภอและชุมชนท้องถิ่น) ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน เกิดการบูรณาการ และมีเป้าหมายที่สอดคล้องกัน

โดยยึดหลักการสำคัญเรื่อง “การเป็นเจ้าของร่วมกัน” และ “การมีส่วนร่วม” ในการทำงานเรื่องนี้

ที่ประชุมได้กำหนดวิสัยทัศน์หรือภาพอันพึงประสงค์ที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี ร่วมกันว่า “ทุกครอบครัวให้กำเนิดชีวิตใหม่ ที่มีคุณภาพและพร้อมจะเติบโต อย่างมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี ด้วยการรวมพลังของทุกภาคส่วน”

โดยนำยุทธศาสตร์สำคัญ ๕ ประการ ตาม "กฎบัตรออตตาวา" มาเป็นกรอบในการกำหนดกลวิธีหรือมาตรการสำคัญที่จะดำเนินการ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ โดยกำหนดมาตรการสำคัญ ประกอบด้วย

• ผลักดันให้มีและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยอนามัยการเจริญพันธุ์
• การแก้ไขกฎหมายครอบครัว ให้พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายรับผิดชอบการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการเลี้ยงดูบุตร
• การแก้ไขกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง ให้สอดคล้องกับนิยามใหม่ของคำว่าสุขภาพ
• การแก้กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการรับบริการการคุมกำเนิดของวัยรุ่น กฎหมายเทคโนโลยีด้านอนามัยการเจริญพันธุ์
• ส่งเสริมและสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
• การกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประกันสังคม สิทธิอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการมีบุตรยากของครอบครัวที่พร้อม การตรวจสุขภาพก่อนมีบุตร
• การพัฒนาข้อเสนอนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ การเข้าถึงการวางแผนครอบครัว และการคุมกำเนิดที่ง่าย การส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ (Baby Bonus) สวัสดิการให้บิดาลาเลี้ยงลูก การดูแลการเกิดของกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มชนเผ่า) มาตรการทางสังคมเพื่อช่วยดูแลการเกิดที่มีคุณภาพ มาตรการสร้างเครือข่ายครอบครัว มาตรการส่งเสริมการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัว เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่

• การส่งเสริมและสนับสนุนให้ท้องถิ่นจัดให้มีศูนย์เด็กเล็กที่น่าอยู่ และสถานที่สร้างสรรค์ เช่น สนามกีฬา สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น
• การจัด zoning สถานบันเทิง ร้านเกม ร้านจำหน่ายบุหรี่/สุรา
• การควบคุมสื่อที่มีผลต่อสุขภาพ อาทิ ทีวีดาวเทียม อินเตอร์เน็ต วิทยุชุมชน
• การควบคุมสภาวะแวดล้อม (กายภาพ จิตใจ สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี) ที่มีผลกระทบเชิงลบ และส่งเสริมให้มีสภาวะแวดล้อมที่มีผลกระทบเชิงบวก

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง โดยมีมาตรการสำคัญ คือ

 สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น โดย การพัฒนาศักยภาพและจิตสำนึกผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สร้างภาคีเครือข่ายระดับชุมชน (ร้านสะดวกซื้อ ร้ายขายยา โรงเรียน บ้าน วัด ฯลฯ) และสร้างพื้นที่ต้นแบบ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในระดับอำเภอ
 พัฒนาแกนนำระดับชุมชนให้สามารถดูแลและเป็นที่ปรึกษาได้
 สร้างเครือข่ายความร่วมมือการป้องกัน เฝ้าระวัง และการช่วยเหลือระหว่างชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ
 การถอดบทเรียนชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเพื่อเป็นต้นแบบในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับพื้นที่อื่น

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล โดยมีมาตรการสำคัญ คือ

 ส่งเสริมให้องค์กร/สื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะ เผยแพร่ความรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย
 กำหนดให้มีการพัฒนาทักษะโดยใช้เพศศึกษารอบด้านเป็นตัวชี้วัดของผู้บริหารระดับสูง
 สร้างจิตสำนึกให้ทุกคน โดยสื่อสารสาธารณะทุกช่องทาง ทั้ง Air War และ Ground War รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์
 การพัฒนาระบบให้คำปรึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมีครอบครัว
 ความรักและรับผิดชอบต่อตนเอง (ผู้หญิงรักตนเอง ผู้ชายและผู้หญิงรับผิดชอบต่อตัวเอง)
 การผลักดันให้มีการจัดการเรียนการสอนในและนอกระบบการศึกษาทุกระดับชั้น ตามอัธยาศัย (ผลักดันการสอนเพศศึกษา และการสร้างครอบครัวในโรงเรียน)
 การพัฒนาทักษะให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัว
 เพิ่มเป็นเกณฑ์ในโรงเรียนระดับเพชร
 เพิ่มช่องทางให้เด็กวัยรุ่นสามารถเข้าถึงข้อมูลเรื่องเพศได้อย่างต่อเนื่อง เช่น อินเตอร์เน็ต การจัด event
 จับคู่การสอนเรื่องเพศระหว่างครูกับ จนท.สาธารณสุข
 การจัด mobile team
 การทำสื่อประเภทการ์ตูน คลิปวีดีโอ (การเห็นคุณค่าในตนเอง) เพื่อช่วยสอนในกรณีที่ไม่มีผู้สอน
 สร้างแกนนำเยาวชนให้มีความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้วยตนเองได้ Youth advisory panel

ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การปรับเปลี่ยนระบบบริการ โดยมีมาตรการสำคัญ

• เร่งรัดให้ระบบบริการสุขภาพผ่านการประเมินรับรองตามมาตรฐาน
• เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการ (hotline, facebook, เอกชน, โรงเรียน, ชุมชน รพ.สต. )
• พัฒนาศักยภาพคลินิกการให้คำปรึกษาในโรงเรียนและเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น
• เชื่อมโยงระบบบริการของแต่ละหน่วยงานให้มีการดำเนินงานในทิศทางเดียวกัน
• ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ชายในการรับผิดชอบต่อเรื่องเพศ (เช่น ขณะคลอดบุตร การดูแลสุขภาพของมารดาตั้งแต่ตั้งครรภ์ คลอดและเลี้ยงดูบุตรจนโต การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับภรรยา )
• ปรับระบบการให้บริการโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เช่น facebook , line
• มีศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัว
• การเตรียมความพร้อมของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข
• การใช้ medical abortion
• คลินิกบริการที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน
• สนับสนุนเวชภัณฑ์วางแผนครอบครัวที่หลากหลาย และฟรีทุกสิทธิ
• พัฒนาและขยายการให้บริการของศูนย์พัฒนาครอบครัวให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การบริหารจัดการ โดยมีมาตรการสำคัญคือ

• พัฒนาระบบฐานข้อมูล เช่น เด็กถูกทอดทิ้ง การแท้ง และพัฒนาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานเข้าหากัน
• การพัฒนาให้ศูนย์พัฒนาชุมชนมีการจัดทำข้อมูลด้านสุขภาพครอบครัวให้ครอบคลุมและใช้ประโยชน์
• หาช่องทางในการได้มาซึ่งข้อมูลจากหน่วยบริการอื่นๆที่นอกเหนือจากภาครัฐ โดยต้องคำนึงถึงการพิทักษ์สิทธิของผู้รับบริการด้วย
• การพัฒนาระบบเพื่อเข้าถึงข้อมูลสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย
• การพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผล (เพื่อการพัฒนางานต่อ)
• ผลักดันให้มีการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานให้มากขึ้น และมีการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ
• การพัฒนากลไก/แผน ทำงานให้มีประสิทธิภาพในทุกระดับ (ระดับชาติ จังหวัด อำเภอ ตำบล)
• เชื่อมโยงแหล่งทุนในชุมชน เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยผลักดันให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น (กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีงบประมาณจะลงไปสนับสนุนที่การกู้ยืม การช่วยเหลือ การพัฒนาศักยภาพสตรี มีลักษณะของกองทุน ความยั่งยืนอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการกองทุน โดยใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกองทุน)
• การสร้างองค์ความรู้หรือนวัตกรรม การจัดการความรู้ (knowledge management )
• การลงทุนเรื่องงานวิจัย และการสร้างนวัตกรรมให้มากขึ้น

เหล่านี้คือผลผลิตเบื้องต้นที่ผู้เข้าร่วมเวทีทุกคนได้ช่วยกันคิดค้น อภิปราย ถกเถียง แสดงเหตุผลและกำหนดออกมา โดยทุกคนเน้นย้ำว่า “นี้คือร่างแรก” ที่จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไปอีกหลายเวที

สำหรับผมแล้ว แม้จะเป็นส่วนเล็ก ๆ ในการสร้างกระบวนการที่ทำให้ผู้คนได้ร่วมกันระดมสมองครั้งนี้ แต่ความรู้สึกในขณะที่มีโอกาสได้ทำงานนี้ กลับเกิดความสุขและสนุกยิ่งนักที่ได้มีส่วนร่วมในการรังสรรค์งาน ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมไทยในอนาคตให้เป็นประเทศที่มีประชากรที่มีคุณภาพต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ซินจ่าวเวียดนาม ตอนที่ ๕ : “ฮอยอัน” เมืองประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต

๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

“น้องวิน” ลูกรัก

นี้เป็นจดหมายฉบับสุดท้ายที่พ่อจะเล่าเรื่อง "เวียดนาม" ที่พ่อได้ไปเรียนรู้มาในช่วงันที่ ๒๐ - ๒๓ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ในช่วงบ่ายจนถึงย่ำค่ำของวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ คณะของพ่อได้เดินทางมาถึง “เมืองฮอยอัน” หรือที่คนเวียดนามเรียกว่า “โห่ยอาน” เมืองเล็กๆริมฝั่งทะเลจีนใต้ ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม ในเขตจังหวัดกว๋างนาม

ย้อนไปในสมัย “อาณาจักรจามปา” บริเวณนี้เคยเป็นเมืองท่าชื่อว่า “ไฮโฟ” ตั้งอยู่บนปาก “แม่น้ำทูโบน” เป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ โดยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗ จะมีชาวต่างชาติมาตั้งถิ่นฐานและค้าขายในเมืองนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งชาวจีน ญี่ปุ่น ดัตซ์ และอินเดีย

เดิมทีเมืองนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งโดยมีคลองสายหนึ่งคั่นอยู่กลางเมือง มีสะพานญี่ปุ่นทอดข้ามคลองเพื่อกั้นแบ่งเขตชุมชนของชาวญี่ปุ่นกับชุมชนที่ตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ตัวสะพานสร้างโดยชาวญี่ปุ่น มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

จนถึงมาถึงช่วงศตวรรษที่ ๑๙ บริเวณปาก “แม่น้ำทูโบน” เกิดตื้นเขิน ประกอบกับเรือบรรทุกสินค้ามีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ไม่สะดวกในการเดินเรือ จึงย้ายท่าเรือไปอยู่ที่ “เมืองดานัง” ซึ่งห่างออกไปประมาณ ๓๐ กิโลเมตรแทน

แต่ด้วยความเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ จึงทำให้ “องค์การยูเนสโก” ได้ขึ้นทะเบียนเขตเมืองเก่าของฮอยอันให้เป็นมรดกโลกในปี ๒๕๔๒ ด้วยเหตุผลว่าเป็นตัวอย่างของเมืองท่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕-๑๙ ที่มีการผสมผสานศิลปะและสถาปัตยกรรมทั้งของท้องถิ่นและของต่างชาติไว้ได้อย่างมีเอกลักษณ์ และอาคารต่าง ๆ ภายในเมืองได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี

บ้านโบราณ ตึกเก่าที่เคยเป็นร้านค้าในสมัยนั้น วัดเซน (วัดญี่ปุ่น) ศาลเจ้า(แบบจีน) ยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก บ้านบางหลังยังมีผู้สืบทอดมาจนถึงรุ่นที่ ๖ และเครื่องใช้ไม้สอยบางอย่างมีอายุถึง ๒๐๐ ปี บางคนกล่าวว่า “ฮอยอันเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต”

สำหรับคนไทยแล้ว ภายหลังที่มีละคร “ฮอยอัน ฉันรักเธอ” เมื่อปลายปี ๒๕๕๕ ออกมา ทำให้คนไทยหลายคนต่างรู้จัก “ฮอยอัน” มากขึ้น และเดินทางมาเที่ยวที่นี่มากขึ้นเช่นกัน แม้กระทั่งเพื่อนๆที่มากับพ่อในครั้งนี้ก็จะพูดชื่อละครเรื่องนี้กันแทบทั้งนั้น

ทุกวันนี้ “ฮอยอัน” ได้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนเป็นจำนวนมาก บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมีร้านอาหารเปิดเรียงรายอยู่มากมาย บางร้านก็ขายอาหารดั้งเดิมที่มีอายุนับร้อย ๆ ปี และราคาไม่แพง ซึ่งยังรักษาเอกลักษณ์ของรสชาติอาหารมาจนทุกวันนี้

มีร้านค้าที่ขายของที่ระลึกโดยเฉพาะภาพเขียนที่มีราคาถูก และร้านโคมไฟที่สร้างสีสันให้ถนนสายนี้น่าเดินเล่นมากยิ่งขึ้น ยิ่งในยามค่ำคืนแล้วโคมไฟหลากสีสว่างไสวสวยงามเต็มท้องถนนไปหมด

ในการมาเที่ยวครั้งนี้ พ่อได้ไปเยือน “สะพานญี่ปุ่น” (Japanese Covered Bridge) อีกครั้ง สะพานแห่งนี้สร้างโดยชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี ๒๑๓๖ หรือเมื่อประมาณ ๔๐๐ กว่าปีมาแล้ว รูปทรงของสะพานมีลักษณะโค้ง มีหลังคามุงกระเบื้องเป็นคลื่น ตรงกลางสะพานมีเจดีย์ทรงจัตุรัส ถือเป็น “สะพานแห่งมิตรไมตรี” ที่ด้านหน้าของสะพาน เป็นลายปูนปั้นรูปทับทิม มีความหมายว่า “ความเจริญรุ่งเรือง มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง” สะพานญี่ปุ่นแห่งนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Pagoda Bridge” เนื่องจากมีห้องสำหรับประกอบพิธีกรรมและประดิษฐานสิ่งที่ควรบูชาไว้ด้วย

บริเวณสะพานญี่ปุ่นได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอันมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ต่างพากันถ่ายรูปแน่นขนัด

พ่อและเพื่อน ๆ ได้เดินข้ามสะพานไปยังอีกฟากหนึ่ง พบเห็นบ้านเรือนเก่าสไตล์ญี่ปุ่น จีน และเวียดนามผสมผสานกัน ทอดยาวไปตามถนนทางเดิน ทุกหลังต่างมีเอกลักษณ์พิเศษเป็นของตนเอง ทั้งรูปทรงและลักษณะการออกแบบในรายละเอียดของหน้าต่างและประตูแกะสลัก ลวดลายปูนปั้น หลังคา การประดับโคมไฟ การตกแต่งหน้าร้านขายของสินค้าและของที่ระลึก

สินค้าและของที่ระลึกก็มีหลากหลาย ทั้งผลงานทางศิลปะ หัตถกรรมพื้นเมืองนานาชนิด เช่น ภาพเขียน โคมผ้าไหม เครื่องจักสานผลิตภัณฑ์จากไม้ ผ้า เซรามิก กระเป๋าแผ่นพับที่ส่องกระจก ตลอดจนเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และอีกมากมาย

มีอยู่ร้านหนึ่ง ซึ่งพ่อจำได้ว่าเมื่อ ๓ ปีก่อนพ่อไปแวะซื้อกระเป๋าที่ร้านนี้ จึงเข้าไปชวนคุย และชวนเพื่อน ๆ ที่ไปด้วยเข้าไปซื้อสินค้าประเภทกระเป๋าเสื้อผ้าที่ราคาถูกมาก จนเพื่อนๆซื้อติดไม้ติดมือไปเกือบทุกคน ก่อนออกจากร้านแม่ค้าหยิบของชำร่วย ๓ ชิ้นมาส่งให้ พร้อมกับบอกว่า “ให้” พ่อคิดว่าคงเป็นการแสดงความขอบคุณพ่อที่ช่วยแกขายของได้เงินหลายบาทเลยทีเดียว

คณะของพ่อยังได้เข้าเยี่ยมชมบ้านเก่าแก่ประจำตระกูล ที่ยังคงความงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นบ้านของลูกหลานชาวจีนเก่าแก่อายุเกือบ ๓๐๐ ปี ซึ่งอยู่อาศัยมาถึง ๖ รุ่นแล้ว ภายในบ้านทั้งผนังและคานใต้หลังคามีงานไม้แกะสลักตกแต่งอย่างวิจิตร ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี และยังเป็นที่อยู่อาศัยของทายาทรุ่นที่เจ็ดของตระกูล

ภายในตัวบ้านมีการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่แบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นสัดส่วนต่างๆ อย่างลงตัว ตั้งแต่ห้องรับแขก ห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ และห้องสมุด ส่วนที่เป็นหลังคาด้านนอกมุงกระเบื้องสไตล์ฮอยอัน แต่คานเพดานด้านในเป็นไม้ มีโต๊ะเก้าอี้ฝังมุกมีอายุกว่า ๒๐๐ ปี ฉากไม้ฝังมุกอายุ ๑๕๐ ปี ที่แขวนบนเสาจรดเพดาน เขียนบทกวีบรรยายถึงฤดูกาลทั้งสี่ด้วยตัวอักษรจีนหนึ่งร้อยตัว หากแต่เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จะสังเกตเห็นว่าตัวอักษรแต่ละตัวล้วนเป็นมุกที่สลักเป็นรูปนกที่โผผินในลีลาต่างๆ ประกอบขึ้นมาเป็นตัวอักษรจีนแต่ละตัว

คณะที่เดินทางไปด้วยแยกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งก็ชอบช๊อปปิ้ง ก็จะไปซื้อของกัน แต่ละคนหิ้วถุงใส่ของเดินขึ้นรถกันหลายถุงมิใช่น้อย

ส่วนอีกกลุ่ม ๑ ซึ่งพ่อรวมอยู่ในกลุ่มนี้ ก็จะนั่งตามร้านขายเครื่องดื่ม ซึ่งหนีไม่พ้นการนั่งจิบเบียร์ ๒ ยี่ห้อ คือ “ฮูดา” กับ “ลารู” ไปเรื่อยๆ ซึ่งราคาก็ถูกมาก แค่ ๕ กระป๋อง ๑๐๐ บาท รสชาติก็อร่อยไปอีกแบบ

หลังจากเดินจับจ่ายใช้สอยกันอย่างสนุกสนานแล้ว รถก็พาเรากลับที่พัก แต่บางคนก็ยังออกมาเดินเที่ยวชมเมืองยามราตรี ส่วนพ่อนอนเล่นอินเทอร์เน็ตและหลับไปอย่างมีความสุข ท่ามกลางอากาศค่อนข้างเย็น และความอ่อนเพลียที่แฝงจากการเดินทาง

จดหมายทั้ง ๕ ฉบับที่ผ่านมารวมถึงฉบับนี้ น้องวินคงได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ อย่างน้อยภาพสถานที่ต่างๆก็คือ ภาพความทรงจำเดิมที่ ๓ ปีก่อนที่ครอบครัวเราได้เดินทางไปมาแล้ว ครั้งนี้จึงคือการย้อนรอยทางเดิม แต่เป็นทางเดิมในมุมใหม่ มุมที่มีเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์และที่มาที่ไปของสถานที่แต่ละแห่งที่ได้ไปเยือน

อย่างที่พ่อย้ำกับลูกเสมอมา ปัจจุบัน คือ ภาพสะท้อนอดีตที่ผ่านมา ปัจจุบันจะยั่งยืนเพียงใดก็เป็นเพราะอดีตที่วางรากฐานไว้คงมั่นมาก่อนนั้นเอง

รักลูกเสมอ

“พ่อโต”

วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เขียนเป็น : ไม่ยากอย่างที่คิด

๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

อย่างที่ผมย้ำกับใครหลายๆคนว่า “ไม่ต้องเป็นนักเขียนก็เขียนได้” แค่เริ่มต้นตัดคำว่า “อยาก” ออก ให้เหลือแต่คำว่า “เขียน” จากนั้นก็อย่ารอช้า ลงมือโดยทันที

“ไม่ยากอย่างที่คิด…………………วันละนิดถ้าเริ่มเขียน
อะไรก็น่าเรียน………………………. มันวนเวียนอยู่รอบตัว
อธิบายสิ่งที่เห็น…………………….. หยิบมาเป็นเรื่องจั่วหัว
วันนี้เริ่มออกตัว………………………รับรองชัวร์คุณเขียนเป็น”

นี้คือกาพย์ยานี ๑๑ ที่ผมแต่งขึ้นสด ๆ จากเวที We Can Do ที่จัดขึ้นสำหรับ “ชาวสุชน-คนทำงานในสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)” ในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ กับตอนที่ว่า “การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง” ด้วยความเชื่อว่า งานเขียนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้ ทำอย่างไรคนเริ่มฝึกเขียนในครั้งแรกๆจะเกิดแรงบันดาลใจและลงมือเขียนเรื่องเล่าได้โดยไม่ยากจนเกินไปนัก

ให้แปรเปลี่ยน “ยาขมในงานเขียน” เป็น “กาแฟหอมหวานที่จักชวนลิ้มลอง”

ต้องบอกว่านี้เป็นความโชคดียิ่งนัก ที่การจัดเวทีในครั้งนี้ได้วิทยากรในฐานะ “คนต้นเรื่อง” ที่มากประสบการณ์และทักษะในการเขียนเรื่องเล่าอยู่แล้ว ทำให้สร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดให้กับผู้เข้าร่วมวงยิ่งขึ้น ทั้ง "นพ.อำพล จินดาวัฒนะ" และ "คุณสัณหกิจ รัตนกุล" ที่มาแลกเปลี่ยนเทคนิควิธีการเขียนเรื่องเล่าที่หลากหลาย รวมถึงตัวผม ที่ร่วมแลกเปลี่ยนในเรื่องประสบการณ์ตรงในการเขียนเรื่องเล่า และอะไรเกิดขึ้นเมื่อได้เขียน

วิทยากรคนแรก คือ “สัณหกิจ รัตนกุล” น้องจาก “งานทรัพยากรบุคคล” ได้ชี้ให้เห็น ๔ วิธีการในการเขียนเรื่องเล่า

วิธีที่ ๑ เขียนเล่าถึงเหตุการณ์และพัฒนาการในการทำงานและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน

วิธีที่ ๒ เขียนแบบ AAR เป็นการสรุปผลจากการทำงานกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเมื่อสิ้นสุดลง ว่ามีอะไรเป็นไปตามความคาดหวัง ต่ำกว่าความคาดหวังและข้อเสนอแนะหากต้องทำกิจกรรมนั้นอีกในอนาคต

วิธีที่ ๓ เขียนโดยเล่าเหตุการณ์ที่มีการดำเนินการที่เป็นเลิศในเรื่องนั้น หรือ Best Practice

วิธีที่ ๔ เขียนเพื่อสรุปความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน ที่สะท้อนความคิดเห็นหรือแนวคิดในการปฏิบัติงาน

วิทยากรคนที่สอง คือตัวผมเอง ที่ได้เล่าประสบการณ์การเขียน “เรื่องเล่า” นำเสนอผ่านสังคมออนไลน์ในรูปแบบ Blog http://bwisutttoto.blogspot.com/ กว่า ๑๒๐ เรื่อง โดยชี้ให้เห็นหลักการ ๗ ข้อ ที่ “นายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์” ได้แนะนำไว้ ซึ่งก็คือ

หลักการที่ ๑ บอกกับตัวเองเสมอว่า ไม่ต้องเป็นนักเขียนก็เขียนได้

หลักการที่ ๒ เริ่มจากสิ่งที่ “กำลังเห็น” หรือ “รับรู้” อยู่ตรงหน้า

หลักการที่ ๓ เขียนให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ ทุกที่ ทุกเวลา

หลักการที่ ๔ ไม่ต้องสนใจถูกผิด ดีหรือไม่ดี แค่เขียนแล้วจดจ่ออยู่กับการเขียน

หลักการที่ ๕ สังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะกำลังเขียนให้มาก ๆ

หลักการที่ ๖ ฝึกเขียนติดต่อกันให้ได้ สัก ๒๑ วัน

หลักการที่ ๗ ค่อย ๆ ขยายขอบเขตการเขียนตามคำถามดี ๆ

นอกจากนั้นแล้วผมยังได้ชี้ให้เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ๗ ประการที่เป็นผลมาจากการเขียนเรื่องเล่า ได้แก่ (๑) บันทึกไว้เพื่อเป็นการทบทวน (๒) เป็นจุดเริ่มต้นของการค้นคว้า (๓) ได้พัฒนาทักษะการเขียน (๔) เป็นการตกผลึกทางความคิด (๕) ได้เผยแพร่งานและแนวคิดของตนเอง (๖) ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่น และ (๗) ได้เรียนรู้และรู้จักคนอื่นๆมากยิ่งขึ้น

วิทยากรคนที่สาม “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้เน้นย้ำว่าเรื่องการเขียน เป็น ๑ ใน ๔ เรื่องของ “หัวใจนักปราชญ์” นั่นก็คือ “สุ (ฟัง-อ่าน) จิ (คิด) ปุ (ถาม) ลิ (ลิขิต)”

และหลังจากนั้นคุณหมอได้นำตัวอย่างงานเขียนในเรื่อง “ไปดูฟุตบอลยุโรป” ๒ ลีลา มาให้ผู้ร่วมวงได้วิพากษ์วิจารณ์กัน

ภายหลังจากที่วิทยากรทั้ง ๓ คนนำเสนอเรียบร้อยแล้ว ไฮไลท์สำคัญของการจัดเวทีครั้งนี้คือ การให้ทุกคนฝึกทดลองเขียนเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตตนเอง “โดยเขียนเรื่องอะไรก็ได้ให้เสร็จภายใน ๑๕ นาทีต่อจากนี้”

อดทึ่งไม่ได้จริง ๆ ครับ กับผลงาน “เรื่องเล่าที่หลากหลาย หลากสไตล์ หลากสีสัน หลากเรื่องราวที่เรียงร้อยถ้อยคำ” กว่า ๓๐ เรื่อง ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน ๒ ชั่วโมงนี้ ที่ครอบครัวสุชนได้รังสรรค์ออกมาร่วมกัน รวมถึงตัววิทยากรเองด้วย และขออาสาให้อ่านผลงานให้ฟังซึ่งกันและกัน

เรื่องเล่าที่ถูกอ่านจากปากของผู้เขียนราว ๑๐ เรื่อง บางเรื่องเรียกรอยยิ้ม บางเรื่องเรียกเสียงหัวเราะ บางเรื่องก็เรียกน้ำตาให้ซึมออกมาโดยไม่รู้ตัว

เหล่านี้คือตัวอย่าง “เรื่องเล่า” ๕ เรื่อง ที่ผมมีอยู่ในมือขณะนี้

เรื่องที่ ๑ : ลูกอม ๓ เม็ดบาท สอน-คิด ชีวิต ของ “เตชิด ชาวบางพรหม”

เจดีย์ยอดแหลมตั้งตรงเฉียดฟ้า เป็นบ้านเกิดของผม ความคุ้นชินในวิถีชาวพุทธ การจับจ่ายซื้อของ เป็นกิจวัตรแบบตลาดสด สังคมดิ้นรน หาเช้ากินค่ำ

ผมเดินตลาด ตะเวนขายขนมตั้งแต่ ๑๐ ขวบ หาเงินเรียนไปวันๆ ไม่ได้คิดเรียนได้เกรดดี ไม่ต้องเอาที่ ๑ หรือที่ ๒ ไปอวดใคร สิ่งที่คิดในสมองตอนนั้นมีคำที่ท่องอยู่ในสมองว่า “ต้องขายให้หมด”

เช้าก็ไปเรียนเจอเพื่อนๆ ไม่ให้อายเด็กข้างบ้านก็พอ แต่ก็ไม่วายพกลูกอม ๓ เม็ดบาท จากร้านข้างบ้านไปขายเพื่อน ๒ เม็ดบาท ทำแบบนี้ทุกวัน ต้นทุน ๒๐ บาท จะได้ลูกอม ๖๐ เม็ด ถ้าขายหมดจะได้เงิน ๓๐ บาท กำไรเห็นๆ ทันที

ฉะนั้นเรื่องการค้าขายหาเงิน ถือเป็นเรื่องปกติของชีวิตผม ในวัยเด็กก็ต้องดิ้นรนกันไป เมื่อวันหนึ่งเราพบว่า เรื่องเงินเป็นเรื่องง่าย มันขึ้นอยู่กับปัจจัยความขยันและพื้นที่ที่ทำการค้าได้ เรื่องอื่นๆ จึงตามมา

“คุณภาพชีวิต” และ “ทักษะชีวิต” จึงเป็นเรื่องที่ตามมาสมัยเริ่มเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

วิธีคิดปกติ คือ ต้องเรียนที่ไหน? จบแล้วทำมาหากินอะไร? มีชีวิตอยู่กับอาชีพแบบไหน? อนาคตต่อไปจะเป็นอย่างไร?

ดังนั้นการคิดคำนวณแบบ ๓ เม็ดบาท จึงกลับมาเป็นต้นทุนความคิดที่จะร้อยเรียงการคำนวณ เพื่อเรียงร้อยเรื่องราวชีวิตใหม่เสมอ

เรื่องที่ ๒ : กินกับนุช ของ “ชญาดา ฟักน่วม”

เป็นคนชอบกินค่ะ …. แต่ก็จะกินเฉพาะสิ่งที่ตัวเองชอบ (งงมั้ย ๕๕๕)

พี่ ๆ ที่ สช. จะยกให้กับการสรรหาของกิน ไปกินที่ไหน แถวไหนมีอะไรอร่อย ถ้าไม่ถามเจ้เก๋มือทองอันดับหนึ่ง ก็จะได้ยินว่า “ถามไอ้นุชมัน ซิ”

อาหารหลัก ๆ ที่ชอบกินก็ “กุ้ง” คะ “ต้มยำกุ้ง" นี้ถือว่าเป็นของโปรดที่สุดแล้ว

ถ้าให้ยกตัวอย่างร้านโปรดแถวนนท์ ที่ถ้าถามว่า “จะกินต้มยำกุ้งไปกินที่ไหนดี” นุชก็จะมีคำตอบให้คำตอบเดียว คือ “ต้มยำกุ้งท่าน้ำนนท์ไง” ร้านนี้อร่อยตรงไหน มาลองดูกันค่ะ

ร้านต้มยำกุ้งท่าน้ำนนท์ อยู่บริเวณศาลเจ้าตรงท่าน้ำนนท์ จากวงเวียนหอนาฬิกาไปทางซ้ายมือจะสุดทางพอดี เป็นร้านอาหารตามสั่งธรรมดานี่ล่ะค่ะ เพียงแต่ของขึ้นชื่อของร้าน คือ “ต้มยำกุ้ง” และอีกเมนูที่ต้องสั่งคู่กันตลอด คือ “ไข่เจียวกากหมู”

รสชาติของต้มยำกุ้งแท้ ๆ คือเป็นน้ำใส แบบไทย ๆ ไม่มีการเติมนมสดเหมือนร้านทั่วไปสมัยนี้ เวลาสั่งคนทำจะถามว่า “น้ำข้นหรือน้ำใส”

แม้ร้านจะดูธรรมดาแต่รสชาติอาหารกับบรรยากาศริมน้ำเจ้าพระยาสบาย ๆ (ถ้าอากาศไม่ร้อน) ถ้ามีโอกาสก็มาลองชิมกันได้นะคะ

ร้านนี้จะเปิดวันธรรมดา หยุดเสาร์-อาทิตย์และวันนักขัตฤกษ์

เขียนมาถึงตรงนี้แล้วก็เปรี้ยวปาก คงต้องหาเวลาไปกินในเวลาอันใกล้นี้แน่ ๆ คราวหน้าถ้ามีร้านไหนน่าสนใจ จะเอามาเล่าให้ฟังอีกนะคะ

เรื่องที่ ๓ : น้ำพักน้ำแรง ของ "กรกนก ตันตระกูล"

ครอบครัวของชั้นเป็นครอบครัวเล็ก ๆ พ่อแม่ลูก ชีวิตของเราดูแลลูกกันเอง ไม่เหมือนหลายครอบครัวที่มีปู่ย่าตายายมาคอยเลี้ยงหลานให้ เราจึงบริหารการใช้ชีวิตด้วยตัวของเราเอง บ้านที่อาศัยอยู่ปัจจุบันเป็นบ้านที่พ่อทิ้งมรดกเอาไว้ ก่อนพ่อจะเสียชีวิต พ่อได้สั่งไว้ว่า “ถ้าพ่อตายไปวันไหน ขอให้ยกบ้านหลังนี้ให้น้องชาย เพราะน้องยังเรียน ไม่จบ พ่อไม่มีอะไรจะให้”

จากจุดนั้น ทำให้ได้ซื้อบ้านเก่า ๆ เนื้อที่ ๙๒ ตารางวา ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เอาไว้ ๑ หลังด้วยราคาที่แสนถูก สภาพบ้านเก่าจนถ้ามีพายุแรง ๆ คงพัง

จากเหตุการณ์มหาอุทกภัย ปี ๒๕๕๔ ที่แทบจะทุกบ้านทุกครอบครัวต้องได้รับความเดือดร้อนในครั้งนั้น บ้านของชั้นอยู่ในเขตบางซื่อถือว่ารอดหวุดหวิด แต่ก็เกิดผลกระทบเรื่องการอยู่การกิน จึงทำให้หัวอกแม่อย่างเราคำนึงถึงความลำบากของลูก ครอบครัวเราจึงย้ายที่ตั้งไปอาศัยอยู่บ้านแม่สามีที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย นับแล้วระยะเวลาประมาณ ๑ เดือน ทำให้ได้คิดว่า การที่เราอาศัยบ้านคนอื่นอยู่มันรู้สึกไม่สะดวกใจ จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจเราต้องทำอะไรสักอย่าง เราต้องวางแผนสร้างบ้านใหม่ ซึ่งก็ได้เพื่อนลุงช่วยจัดการหาช่าง ซื้อวัสดุในการสร้างบ้าน

๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕ วันที่ลงเสาเอกก็มาถึง ก่อนเดินทางมาตัวเองได้ตั้งจิตจุดธูปเชิญดวงวิญญาณพ่อไปร่วมในพิธีด้วย วันนั้นอากาศดีมาก มีฝนโปรยละออง ทำให้รู้สึกว่าเทวดาอวยพร พิธีดำเนินไปตามประเพณีของคนอีสาน

การสร้างบ้านหลังนี้ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง วาดแปลนบ้านเอง ได้รู้ว่าลงเสาเอกต้องทำเดือนไหน รู้ข้อดีข้อเสียของการเลือกวัสดุก่อสร้าง รู้ว่าทรายที่ถูกที่สุดคือ "ทรายริมโขง" ได้รู้ว่าการเลือกสีบ้านต้องเลือกให้ถูกโฉลกกับเจ้าของบ้าน เราเกิดวันจันทร์ตัวบ้านสีเหลือง หลังคาบ้านสีน้ำเงิน การเลือกต้นไม้ถูกโฉลกต้องเลือกต้นโมก ต้นแก้ว ต้นมะลิ และยังมีอีกหลายอย่างที่เราก็เรียนรู้จากบ้านหลังนี้

วันเวลาผ่านไปกว่า ๖ เดือนการสร้างบ้านดำเนินไปจนแล้วเสร็จเดือนธันวาคม ๒๕๕๕

๑ มกราคม ๒๕๕๖ เป็นวันเข้าบ้านใหม่ ได้อัญเชิญสมบัติของพ่อไปอยู่ที่บ้านหลังนี้ด้วย คือ หลวงพ่อฉิม พระพุทธรูปที่พ่อรักมาก ให้ท่านปกปักรักษาดูแลบ้านหลังนี้ให้ร่มเย็นเป็นสุข และตัวเองก็รู้ว่าพ่อก็มองลูกอยู่ข้างๆ และภูมิใจในน้ำพักน้ำแรงของลูกคนนี้

เรื่องที่ ๓ : ลูกหลง ของ "นพ.อำพล จินดาวัฒนะ"

พ่อผมเป็นทหาร เติบโตมาจากนายสิบ ตอนพ่อตายอายุได้ ๕๐ ปี มียศเป็นพันโท แม่เป็นลูกแม่ค้า ทำหน้าที่แม่บ้าน ทั้งพ่อแม่เป็นคนราชบุรี

ผมมีพี่น้อง ๖ คน เป็นคนสุดท้อง

แม่ท้องผมตอนที่พ่อย้ายไปอยู่โคราช ตอนนั้นมีพี่ชาย ๓ คน พี่สาว ๒ คน แม่ตั้งใจว่าจะพอแค่นั้น เพราะมีลูกมากแล้ว พ่อเป็นทหารเงินเดือนน้อย ต้องค้าขายโน่นนี่มาจุนเจือครอบครัว

พ่อแม่เลือกคุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัย แต่สมัยนั้นถุงยางอนามัยคงยังคุณภาพไม่ดี วันหนึ่งถุงยางรั่ว ทำให้แม่ตั้งท้องที่ ๖ คลอดออกมาเป็นผม

ตอนท้องแก่ แม่อุ้มท้องผมจากโคราชไปคลอดที่ศิริราช และทำหมัน

ที่จริงพ่อไม่อยากให้แม่ทำหมัน เพราะคนสมัยนั้นเชื่อว่า ทำหมันแล้วจะไม่แข็งแรง พ่อคงกลัวแม่ทำงานหนักไม่ได้

แต่แม่ก็ตัดสินใจทำหมัน แล้วอุ้มผมขึ้นรถไฟกลับไปเลี้ยงดูที่โคราช

ชีวิตผมได้เกิดมาเป็นลูกหลง ก็เพราะถุงยางอนามัยไม่ได้มาตรฐาน จึงทำให้มี “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” ในวันนี้

เรื่องที่ ๔ : ความลับ ของ “วิสุทธิ บุญญะโสภิต”

ผมเชื่อว่าทุกอย่างมีที่มาที่ไป การเกิดขึ้นของสิ่งหนึ่งย่อมมีเหตุผลรองรับเสมอ แม้แต่ “ชื่อของผม” ก็ยืนอยู่บนหลักการดังกล่าว

ย้อนหลังกลับไปเมื่อกว่า ๕๐ ปี ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีชื่อแปลก ๆ ว่า “ท่าฬ่อ” ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร สภาพของหมู่บ้านยังเต็มไปด้วยป่า มองไกลสุดตาออกไปจะเห็นทุ่งนา สลับกับเรือกสวนกล้วย ส้ม ขนุน มะพร้าว ถนนหนทางก็ยังเป็นทางเดินเล็ก ๆ ที่เกิดจากการที่ผู้คนเดินไปมาหาสู่กันเป็นประจำ

ณ บ้านหลังนั้น เด็กน้อยเพศชายคนหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ ในยามย่ำรุ่งของเช้าวันอังคารที่ ๖ มิถุนายน ปีเดียวกับที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ท่ามกลางครอบครัวที่พ่อ แม่ เรียกตัวเองได้อย่างเต็มปากว่า “เกษตรกร”

“แม่จ๋า ทำไมผมจึงชื่อโต” ผมเอ่ยถามแม่เมื่อเติบโตรู้ความในวันหนึ่ง

“ก็เอ็งหัวมันโต มันใหญ่มากเลยตอนลูกคลอดมาใหม่ ๆ”

ตั้งแต่นั้นมา ผมก็อดภูมิใจในชื่อเล่น “โต” ที่พ่อและแม่ได้ตั้งใจตั้งให้ผมมาจนถึงวันนี้

“เอ็งรู้ไหมว่า ทำไมเอ็งชื่อว่า “วิสุทธิ” เป็นคำถามที่พ่อเอ่ยถามขึ้นหลังจากที่ครอบครัวเราที่มีพ่อ แม่ พี่ น้อง ล้อมวงกินข้าวเย็นในอีกวันหนึ่ง

“ผมก็สงสัยมานาน พ่อช่วยบอกผมหน่อยสิ”

“ก็ไม่มีอะไรมากหรอกลูก ตอนนั้นรัฐบาลรณรงค์ให้ครอบครัวไปทำหมันกัน ใครมีลูกมากจะยากจน พอแม่คลอดเอ็ง พ่อก็เลยไปทำหมันที่สุขศาลาข้างบ้าน จึงคิดกันว่าเอ็งจะเป็นลูกคนสุดท้อง พ่อกับแม่จึงช่วยกันคิดว่า จะตั้งชื่ออะไรดีที่บ่งบอกว่าเป็นคนสุดท้าย พากันไปหาพระที่วัด พระท่านก็บอกว่า “สุด สุด สุด วิสุทธิ ดีที่สุด” พ่อก็เลยตั้งชื่อ “วิสุทธิ” ให้กับเอ็งไง”

เสียงหัวเราะดังขึ้นมาจากสมาชิกในวงอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมินัดหมายกับที่มาของชื่อเล่นและชื่อจริงของผม “วิสุทธิ บุญญะโสภิต”

ในช่วงสุดท้ายก่อนปิดเวที “นพ.อำพล” ได้แนะเคล็ดลับการเป็นนักเขียน ๗ ประการ ที่เรียงร้อยอย่างคล้องจองว่า “มีหัวข้อ ย่อหน้า ภาษา ลีลา ลูกเล่น เน้นบางจุด สุดท้ายสรุป” อีกทั้งยังได้กล่าวชื่นชมผลงานที่ผลิตกันออกมาได้อย่างดีเยี่ยมภายในเวลาที่จำกัด บ่งบอกว่า “ใคร ๆ ก็เขียนเรื่องเล่าได้” และได้มอบหมายให้จัดรวมเล่มเป็นอีบุ๊ค (e-book) เผยแพร่ให้คนในครอบครัวสุชนได้อ่านเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ซินจ่าวเวียดนาม ตอนที่ ๔ : ดานัง เมืองแห่งหาดทรายขาวและภูเขาหินอ่อน

๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

“น้องวิน” ลูกรัก

ในการเดินทางของพ่อครั้งนี้ “เมืองดานัง” เป็นเพียงแค่ “ทางผ่าน”เท่านั้น คือ เดินทางจากเมืองเว้ในบ่ายของวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ผ่านเมืองดานังเพื่อไปพักค้างคืนที่เมืองฮอยอัน และในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ก็เดินทางกลับจากฮอยอันเพื่อกลับไปพักค้างคืนที่เมืองเว้อีกครั้ง ทำให้พ่อจึงได้นั่งรถผ่าน “ช่องเขาหายเวิน” ทั้งไปและกลับเลยทีเดียว

น้องวินคงจำอุโมงค์หายเวินได้นะครับ ซึ่งในคราวที่ครอบครัวเราไปท่องเที่ยวเมื่อ ๓ ปีก่อน เราก็นั่งรถผ่านอุโมงค์แห่งนี้ ที่ในครั้งนั้นลูกรู้สึกตื่นเต้นอย่างมาก

จะไม่ให้ตื่นเต้นได้อย่างไร เพราะเมืองดานังเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ระหว่างเมืองเว้กับเมืองฮอยอัน โดยมีทิวเขา "หายเวิน (Hai Van)" ซึ่งยาวกว่า ๒๑ กิโลเมตรขวางกั้นไว้ “หายเวิน” หมายความว่า ทะเลและเมฆ เพราะด้านล่างคือทะเล ส่วนบนยอดปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกตลอดปี ช่องเขาหายเวินถือเป็นเส้นแบ่งเขตปกครองระหว่างจังหวัดเถื่อเทียนเว้ในภาคเหนือและนครดานังในภาคใต้

อีกทั้งเป็นช่องเขาที่สวยงามที่สุด แต่ก็เป็นช่องทางที่อันตรายที่สุดบนเส้นทางจากเหนือจรดใต้ ทำให้รัฐบาลเวียดนามซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ขุดเจาะอุโมงค์ทะลุเขาที่มีความยาวที่สุดในแถบอาเซียน กว่า ๖.๒๘ กิโลเมตร ช่วยทำให้ล่นระยะเวลาการเดินทางไปได้อย่างมาก และมีความปลอดภัยกว่าสมัยก่อนที่ต้องขับรถลัดเลาะไปตามเชิงเขา และเกิดอุบัติเหตุสูงมิใช่น้อย

ขณะนี้ประเทศเวียดนามกำลังลงทุนเจาะอุโมงค์คู่ขนานกับอุโมงค์แห่งนี้อยู่ เป็นอุโมงค์รถไฟฟ้าความเร็วสูง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีกไม่ช้านี้

"ดานัง" หรือ "ด่าหนัง" เป็นเมืองท่าสำคัญของเวียดนามกลางตอนใต้ ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลจีนใต้ จัดเป็น ๑ ใน ๕ เขตการปกครองส่วนท้องถิ่นในเวียดนาม ทิศเหนือติดกับเมืองเว้ ทิศตะวันตกและทิศใต้ติดกับจังหวัดกว๋างนาม ทิศตะวันออกติดกับทะเลจีนใต้ ห่างจากกรุงฮานอยไปทางใต้ ๗๖๔ กิโลเมตร และห่างจากเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ ไปทางเหนือ ๙๖๔ กิโลเมตร

ระหว่างเดินทางพ่อสังเกตทิวทัศน์สองข้างทางเป็นชายทะเลที่สวยงามตลอดเส้นทาง ดูสวยงามมาก และที่สะดุดตามาก คือ ได้เห็นเรือหน้าตาแปลก ๆ คล้ายกะลา ซึ่งไกด์บอกกับคณะของเราว่าเขาเรียกว่า “เรือกะลา” ลอยริมฝั่งทะเลเต็มไปหมด

ตามประวัติศาสตร์ บันทึกไว้ว่าในเดือนสิงหาคม ปี ๒๔๐๑ กองทหารฝรั่งเศสยกพลขึ้นบกที่ดานัง ตามพระบัญชาของพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ เพื่อประกาศพื้นที่นี้เป็นอาณานิคมภายใต้อาณัติของฝรั่งเศส และถูกเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า "ตูราน (Tourane)" ขณะนั้นถือว่าเป็น ๑ ใน ๕ เมืองสำคัญบนคาบสมุทรอินโดนีเซีย

ในระหว่างสงครามเวียดนาม เมืองนี้เป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศหลักของกองทัพสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจำนวนประชากรในเมืองนี้จึงได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า ๑ ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยสงคราม

ก่อนปี ๒๕๔๐ ดานังยังเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดกว๋างนาม-ดานัง จนกระทั่งวันที่ ๑ มกราคม ปี ๒๕๔๐ ดานังได้ถูกแยกออกจากจังหวัดกว๋างนาม และเป็นเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งที่ ๔ ของเวียดนาม

สถานที่ที่คณะของพ่อได้มีโอกาสแวะชมคือ “ร้านไข่มุก” ซึ่งที่ร้านแห่งนี้ได้เรียกเสียงหัวเราะให้กับชาวคณะของเราได้อย่างมาก เพราะเจ้าร้านที่เป็นสตรีสาวชาวเวียดนามที่สามารถพูดภาษาไทยได้ชัดเจน และมีลีลามีลูกเล่นลูกฮากับลูกค้าของเธอได้อย่างเชี่ยวชาญ

สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่คณะของเราได้แวะชม นั่นก็คือ "ร้านรูปปั้นที่ทำมาจากหยก" ซึ่งภายในร้านเต็มไปด้วยรูปแกะสลักที่ทำมาจากหยกหลากหลายจนลายตา มีตั้งแต่ขนาดเล็ก จนถึงขนาดใหญ่ สวยงามมากเต็มร้านไปหมด ซึ่งพ่อทึ่งไปกับฝีมือของช่างแกะสลักเป็นอย่างมาก

สิ่งที่พ่อประทับใจมากในวันนี้ก็คือ ได้มีโอกาสไปกราบสักการะ "เจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่" ที่ตั้งอยู่แหลมเซินจร่า อยู่ภายใน "วัดหลิงอึ๋ง"

เมื่อพ่อมายืนต่อหน้าองค์ "เจ้าแม่กวนอิม" ทำให้พ่อรำลึกถึงสมัยที่ยังไม่มีน้องวิน แม่กุ้งจะให้พ่อพาไปกราบขอพรพระองค์ท่านที่วัดเขาสมอแคลง ที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ทันที

"วัดหลินอึ๋ง" เป็นวัดสร้างใหม่และใหญ่ที่สุดของเมืองดานัง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่รวบรวมความเชื่อ ความศรัทธาของธาตุทั้งห้าและจิตใจของผู้คนอยู่ในที่นี้ ภายในวิหารใหญ่ของวัเป็นสถานที่บูชาเจ้าแม่กวนอิมและเทพองค์ต่าง ๆ ตามความเชื่อของชาวบ้านแถบนี้

รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมที่ตั้งตระหง่านมีความสูงถึง ๖๗ เมตรสูงที่สุดในเวียดนาม โดยเป็นรูปปั้นท่ายืนสูงถือแจกันโรยน้ำทิพย์ประทานพรให้ชาวบ้านที่ออกจับปลาในทะเลให้มีความปลอดภัย ตั้งอยู่บนฐานดอกบัว กว้าง ๓๕ เมตร ยืนหันหลังให้ภูเขาและหันหน้าออกทะเล คอยปกป้องคุ้มครองชาวประมงที่ออกไปหาปลานอกชายฝั่ง นอกจากนั้นยังมีหินอ่อนแกะสลักเป็นรูป ๑๘ พระอรหันต์ขนาดใหญ่อยู่ภายในวัด

ไกด์ในรถบัสที่พ่อนั่งไปด้วยเล่าให้ฟังว่า เมื่อคราวเกิดพายุไต้ฝุ่น “ไห่เหยี่ยน” ที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี ๒๕๕๖ มีผู้เสียชีวิตเกือบ ๔ พันคนนั้น มีทิศทางตรงมาที่เมืองดานัง แต่ด้วยอานุภาพของเจ้าแม่กวนอิม ทำให้ไต้ฝุ่นเปลี่ยนทิศไปยังประเทศจีนแทน ฉะนั้นคนเวียดนามและนักท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ จึงศรัทธา และเดินทางมากราบสักการะขอพรเจ้าแม่กวนอิมองค์นี้อย่างแน่นขนัด

นอกเหนือจากวัดแห่งนี้จะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านมากราบไหว้บูชาและขอพรแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม เป็นอีกหนึ่งจุดที่สามารถมองวิวเมืองดานังได้สวยงามมาก

หากมองจากยอดเขาอันเป็นที่ตั้งขององค์เจ้าแม่กวนอินลงไปจะมองเห็นชายหาดที่ชื่อว่า “บ๊ายบุต” ถือเป็นชายหาดที่สวยที่สุดของคาบสมุทรเซินจ่า เป็นเขตที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบเพราะความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมและบรรยากาศที่สงบร่มเย็น ท่ามกลางบรรยากาศที่คึกคักของตัวเมืองที่กำลังพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มพลังแห่งยุคสมัย

"วัดหลิงอื๊ง-บ๊ายบุต" คือ แหล่งท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณที่เสียงระฆังประสานกับเสียงเพรียกของคลื่นลม สร้างเป็นเสียงดนตรีแห่งธรรมชาติที่ช่วยให้จิตใจดีงามเบิกบานผ่องใสและปรารถนาจะทำแต่สิ่งที่ดีงาม
เหล่านี้คือช่วงเวลาสั้น ๆ ในดานัง ที่แม้เป็นเพียงทางผ่านแต่ก็สร้างประทับใจให้พ่อจดจำไม่น้อย จึงต้องหยิบมาเล่าให้ลูกฟัง

รักลูกเสมอ

“พ่อโต”

วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ซินจ่าวเวียดนาม ตอนที่ ๓ : มนต์ขลังเมืองเว้.....เสน่ห์ประวัติศาสตร์อันตรึงใจ

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

“น้องวิน” ลูกชายที่น่ารัก

ระหว่างที่พ่อเขียนจดหมายหาลูกฉบับนี้ พ่อได้กลับมาถึงประเทศไทยตั้งแต่คืนวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์แล้วครับ แต่ภาพของกระทงที่ลอยไปบนแม่น้ำหอม (Song Houng river) แม่น้ำแห่งสัญลักษณ์เมืองเว้ แม่น้ำที่ไม่ว่าใครๆก็ตามที่เดินทางมาถึงเมืองแห่งนี้ก็ต้องหาเวลามาล่องเรือชมแม่น้ำแห่งนี้ให้จงได้ ภายใต้ค่ำคืนที่ท้องฟ้าแต้มประดับด้วยหมู่ดาว ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของพ่อมิเสื่อมคลาย

ระหว่างที่เรือมังกรสองหัว (Dragon Boat) ซึ่งเป็นเรือที่ใช้ในราชสำนักของเวียดนามเมื่อหลายร้อยปีก่อน กำลังล่องไปและมาหยุดกลางแม่น้ำหอม เสียงขับกล่อมบทเพลงอันเพราะพริ้งของนักร้องประจำชาติในชุด “อ๋าวหย่าย” พร้อมกับเสียงบรรเลงจากพิณน้ำเต้า และเครื่องดีดสีตีเป่าอื่นๆตามแบบฉบับของนาฎลีลาเก่าแก่ของเวียดนาม ก็ดังประสานขึ้นอย่างกลมกลืนไปกับการไหลของสายน้ำ โดยเฉพาะกับ “เพลงพระราชนิพนธ์สายฝน” ที่ได้รับเสียงปรบมือมากเป็นพิเศษ

มนต์สะกดของสายน้ำหอม และหญิงสาวเอวบางร่างน้อย เนื้อผ้าอันบางพลิ้วรัดรูปภายใต้แสงวิบวาววามของค่ำคืนแห่งท้องน้ำ ยิ่งฉายให้เห็นความงามในอีกมิติอย่างไม่ต้องสงสัย

มนต์เสน่ห์ของสายน้ำหอมจึงติดตามพ่อกลับมายังประเทศไทยและไหลรินอยู่ในดวงใจ ดั่งการไหลของสายน้ำหอมที่ไหลผ่านผืนดินและป่าเขามายาวไกล ผ่านเซาะแมกไม้ทั้งที่อยู่บนบกและใต้ผืนน้ำจำนวนมากจนแม่น้ำถูกปรุงแต่งด้วยสมุนไพรจนมีกลิ่นหอมไปโดยปริยาย และทำให้ชาวเมืองเว้พร้อมใจกันเรียกชื่อแม่น้ำสายนี้ว่า “แม่น้ำหอม” สืบมาจนปัจจุบัน

อีกทั้งสายน้ำหอมยังมีประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับราชวงศ์เหงียนที่มีกษัตริย์ยาลองเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ ซึ่งได้สถาปนาเมืองเว้เป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ.๒๓๔๘ และสร้าง "พระราชวังไดนอย" (Dai Noi ) ขึ้นอย่างใหญ่โตริมฝั่งแม่น้ำหอมแห่งนี้อีกด้วย

ทำให้พ่ออดไม่ได้ที่จะต้องเล่าเรื่อง “มนต์ขลังเมืองเว้ เสน่ห์ประวัติศาสตร์อันตราตรึงใจ” ให้ลูกฟังในครั้งนี้

พ่อมานอนพักที่เมืองเว้ถึง ๒ คืน จึงได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่นี้ที่น่าเรียนรู้หลายด้าน โดยเฉพาะการสัญจรไปมาที่ยังใช้จักรยานเป็นพาหนะกันเต็มท้องถนน เสียงกระดิ่งดังลั่นเพื่อบอกสัญญาณขอทาง พ่อออกไปยืนดูบริเวณสี่แยกซึ่งไม่มีไฟแดงเหมือนกลับที่บ้านเรา แต่ก็น่าแปลกใจเป็นอย่างมากที่รถยนต์ จักรยานยนต์และจักรยานที่มากมาย ก็สามารถแล่นไปได้อย่างคล่องตัว ทำให้พ่ออดคิดไม่ได้ว่า “ถ้าเป็นบ้านเรา ป่านนี้คงชนกันระเนระนาดกันไปแล้ว”

อาจเป็นเพราะที่นี่เป็นเมืองจักรยาน พ่อจึงไม่เห็นคนเวียดนามมีรูปร่างอ้วนเลย จึงอดคิดถึงมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อปีก่อนที่มีเรื่องการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันว่า ถ้าเมืองไทยทำได้แบบที่เมืองเว้นี้คงจะดีไม่น้อย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนที่นั่นมีสุขภาพดี

พ่อขอย้อนเล่าประวัติศาสตร์ให้ลูกฟังในเบื้องต้นก่อนนะครับ

“เมืองเว้” เป็นเมืองเอกของจังหวัดเถื่อเทียน ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศเวียดนาม ริมฝั่งแม่น้ำหอม ถัดเข้ามาในแผ่นดินจากริมฝั่งทะเลจีนใต้เพียง ๒ – ๓ ไมล์ ห่างจากกรุงฮานอยไปทางใต้ประมาณ ๕๔๐ กิโลเมตร และห่างจากนครโฮจิมินห์ (เดิมชื่อเมืองไซ่ง่อน) ไปทางเหนือประมาณ ๖๔๔ กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ซึ่งเต็มไปด้วยหินภูเขาไฟ หาดทราย เนินทราย และทะเลสาบ นอกจากนี้ยังเป็นเขตพื้นที่ป่าไม้สำคัญที่สุดของเวียดนาม

เคยเป็นเมืองหลวงเก่าในสมัย “ราชวงศ์เหงียน” ช่วงปี ๒๓๔๕ – ๒๔๘๘ “เมืองเว้” จึงมีชื่อเสียงจากโบราณสถานที่มีอยู่ทั่วเมือง และได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๖

หลังจาก “อาณาจักรจามปา” ล่มสลายลง “เมืองเว้” เมืองเล็กๆที่อยู่ในความปกครองของ “ขุนนางเหงียนฮวาง” ในแผ่นดินของ “ราชวงศ์เล” แต่ “ราชวงศ์เล” ปกครองได้ไม่นานก็เกิดสงครามแบ่งแยกดินแดนขึ้น ทางตอนเหนือตกไปอยู่ในการปกครองของ “ขุนนางตริงห์” ทางตอนใต้ตกอยู่ในการปกครองของ “ขุนนางเหงียน”

ต่อมาได้ขัดแย้งกันและได้เกิดสงครามขึ้นมา พี่น้อง “ตระกูลเตยเซิน” ก่อกบฏขึ้นและยึดเวียดนามได้ทั้งหมด “เหงียนฉวาง” หรือที่คนไทยรู้จักพระองค์ในชื่อว่า “องเชียงสือ” ซึ่งเป็นผู้ปกครองเวียดนามใต้อยู่ในขณะนั้น จึงได้ลี้ภัยมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชการที่ ๑ ของไทยเรานานถึง ๔ ปี แล้วจึงกลับไปปราบกบฏลงได้ ในปี ๒๓๔๕ และรวบรวมดินแดนทางตอนเหนือและตอนใต้เข้าไว้ด้วยกัน โดยเรียกชื่อเสียใหม่ว่า “เวียดนาม” พร้อมกับสถาปนาตนเองเป็น “จักรพรรดิยาลอง” แห่ง “ราชวงศ์เหงียน” ขึ้นปกครอง และใช้เมืองเว้เป็นราชธานี

หลังจากที่ “จักรพรรดิยาลอง” ปกครองได้เพียง ๓๓ ปี ฝรั่งเศสก็บุกเข้าโจมตีเมืองเว้ ในช่วงระยะเวลานี้จักรพรรดิแต่ละองค์ต่างผลัดกันขึ้นสู้ชิงบัลลังก์ในช่วงสั้นๆ การเดินขบวนต่อต้านฝรั่งเศสและการต่อสู้กับลัทธิจักรพรรดินิยม รวมถึงเหตุการณ์ต่อมาคือ การยึดครองของญี่ปุ่นในมหาสงครามเอเชียบูรพาเมื่อปี ๒๔๘๘

เหตุการณ์ในปี ๒๔๘๘ ทำให้ “จักรพรรดิบาวได๋” ทรงตัดสินใจสละราชสมบัติ “เมืองเว้” เป็นจุดเริ่มต้นแห่ง “ราชวงค์เหงียน” จึงกลายเป็นราชธานีสุดท้ายของ “ราชวงศ์เหงียน” เช่นเดียวกัน

ต่อมาในปี ๒๔๙๒ “จักรพรรดิบาวได๋” ทรงได้รับการช่วยเหลือจากชาวฝรั่งเศสในอาณานิคม และทรงก่อตั้งเมืองหลวงใหม่ คือ ไซ่ง่อน ทางใต้ของประเทศ

ในช่วง “สงครามเวียดนาม” “เมืองเว้” อยู่ในอาณาเขตของเวียดนามใต้ซึ่งอยู่ใกล้กับเวียดนามเหนือ ผลของสงครามในปี ๒๕๑๑ จึงทำให้ตัวเมืองได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะโบราณสถานหลายแห่งที่ถูกยิงและถูกระเบิดจากกองทัพอเมริกัน

แม้หลังสงครามสงบลงแล้ว เหล่าโบราณสถานก็ยังไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ เนื่องจากถูกกลุ่มผู้นำคอมมิวนิสต์และชาวเวียดนามบางส่วนมองว่า เป็นสัญลักษณ์ของระบอบศักดินาในอดีตแต่หลังจากที่แนวคิดทางการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป ก็เริ่มมีการบูรณะโบราณสถานบางส่วนมาจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่า “เมืองเว้” จะได้รับความเสียหายจากพิษภัยของสงครามรวมชาติเวียดนามไปบ้าง แต่ก็ยังคงหลงเหลือร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองของนครจักรพรรดิอยู่อีกไม่น้อยเช่นกัน แต่ละแห่งล้วนมีเรื่องราวน่าสนใจมากมายให้นักเดินทางได้เข้าไปเยี่ยมชม ตั้งแต่พระราชวัง สุสานจักรพรรดิที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองในอดีต โบราณสถานอันงดงามและทรงคุณค่า วัฒนธรรมที่มีแบบฉบับของตนเอง

ในการเดินทางครั้งนี้พ่อได้มีโอกาสเข้าไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่งเลยทีเดียว

“วัดเทียนมู่” เป็นวัดพุทธมหายาน สร้างขึ้นในปี ๒๑๔๔ ในสมัย “ขุนนางเหงียนฮวาง” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหอม เป็นอาคารทรงเจดีย์แปดเหลี่ยม ๗ ชั้น แต่ละชั้นเป็นตัวแทนของชาติภพต่างๆ ของพระพุทธเจ้า สูง ๒๑ เมตร ส่วนทางฝั่งซ้ายและขวาเป็นที่ตั้งของศิลาจารึกและระฆังสำริดขนาดใหญ่หนักถึง ๒,๐๐๐ กิโลกรัม ถัดมาทางด้านหลังของเจดีย์เป็นประตูทางเข้าสู่บริเวณภายในวัด มีรูปปั้นเทพเจ้า ๖ องค์ คอยยืนเฝ้าปกป้องไม่ให้ความชั่วร้ายเข้ามาเยือน

วัดแห่งนี้เองมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และการเมืองในช่วงยุคหลังของเวียดนาม เมื่อพระภิกษุ “ทิจ กวาง ดิ๊ก” เจ้าอาวาสของวัดเทียนมู่ได้ใช้รถออสตินสีฟ้าคันเล็กเป็นพาหนะไปเผาตัวเองที่กลางกรุงไซ่ง่อนหรือโฮจิมินห์ซิตี้ในปัจจุบัน ในช่วงสายของวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๐๖ เพื่อประท้วงรัฐบาลที่บังคับให้ประชาชนไปนับถือศาสนาคริสต์ และการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาล “โงดินห์เดียม” ที่เป็นคาทอลิก รวมทั้งใช้ความรุนแรงขัดขวางการฉลองวันวิสาขบูชาของประชาชนในประเทศ ปัจจุบันรถออสตินสีฟ้าคันนั้นได้ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ภายในวัดแห่งนี้

คณะของเราได้เดินทางต่อไปที่พระราชวังหลวงของกษัตริย์ “ราชวงศ์เหงียน” ที่อยู่ไม่ไกลจากวัดเทียนมู่ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เป็นมรดกตกทอดอันยิ่งใหญ่และงดงามของเมืองเว้ พระราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ๒๓๔๘ ใน “สมัยจักรพรรดิ์ยาลอง” แล้วเสร็จในปี ๒๓๗๕ ในสมัยจักรพรรดิมิงห์หม่าง รวมระยะเวลาก่อสร้าง ๒๗ ปี เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์เหงียน ๑๓ พระองค์

พระราชวังนี้สร้างตามแบบพระราชวังต้องห้ามของประเทศจีนแต่ได้ย่อส่วนลงมาจากต้นแบบ แม้ว่าจะถูกย่อส่วนแต่ก็ยังใหญ่โตไม่น้อย เช่น กำแพงวังมีความยาวถึง ๑๑ กม. (ด้านละประมาณ ๒.๕ กม.) มีความสูง ๖ เมตร หนา ๒ เมตร มี ๑๑ ประตู มี ๒๔ ป้อมปราการ พระราชวังนี้ได้ออกแบบให้มีกำแพงล้อมรอบถึง ๓ ชั้น แต่ละชั้นจะประกอบไปด้วยพระราชวังและตำหนักต่าง ๆ

พระราชวังแห่งนี้ถูกเผาจากฝรั่งเศสในปี ๒๔๘๘ ซึ่งได้รับความเสียหายเป็นอันมาก จากนั้นก็กลายเป็นพระราชวังร้าง ครั้นถึงปี ๒๕๑๑ หรือสมัยสงครามเวียดนามก็ถูกเครื่องบินสหรัฐทิ้งระเบิด เนื่องจากเป็นที่ซ่องสุมของพวกคอมมิวนิสต์ เมื่อสงครามสงบ องค์การยูเนสโกจึงเข้ามาบูรณะและได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นมรดกโลกเมื่อปี ๒๕๓๖

จุดน่าสนใจของการเที่ยวชม หลังจากที่นักท่องเที่ยวข้ามสะพานเดินลองผ่านซุ้มประตูหรือกำแพงชั้นนอกเข้าไป จะได้พบกับ “ซุนทานกง” หรือ “ปืนใหญ่” ๙ เทพเจ้า ซึ่งอยู่ทางด้านขวามือ หมายถึงเทพ ๕ องค์ ตัวแทนของธาตุทั้งห้า คือ โลหะ น้ำ ไม้ ไฟ และดิน ส่วนอีก ๔ องค์ เป็นตัวแทนของฤดูกาลทั้ง ๔ ฤดู ใน ๑ ปี

ถัดมาเป็นกำแพงเหลือง ซึ่งเป็นกำแพงชั้นกลางที่ล้อมรอบนครของจักรพรรดิ พระราชวัง วัด และสวนดอกไม้เอาไว้ ในส่วนนี้มีประตูทางเข้าที่ตกแต่งเอาไว้อย่างสวยงาม ๔ ประตู ประตูที่สำคัญที่สุด คือ “โหงะโมน” หรือ “ประตูเที่ยงวัน” ที่สร้างขึ้นครั้งแรกด้วยหินแกรนิตในสมัยพระเจ้ามิงห์หม่าง

เมื่อพ่อเดินผ่านลอดประตูชั้นที่สองโดยข้ามสะพานน้ำทอง ซึ่งเคยถูกสงวนไว้เฉพาะจักรพรรดิเท่านั้น จะเจอกับพระราชวังไทเฮา อันเป็นวังที่สำคัญที่สุดในนครจักรพรรดิ ใช้สำหรับต้อนรับเชื้อพระวงศ์ระดับสูง และนักการทูตต่างประเทศ นอกจากนั้นราชสำนักยังใช้เป็นที่จัดงานฉลองสำคัญต่างๆ เช่นกัน

ส่วนวัดวาอารามภายในกำแพงแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับขุนนางหลายคน วัดสำคัญคือ “วัดเถเหมียว” ซึ่งได้รับการดูแลอย่างดี สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับผู้ปกครองในราชวงศ์เหงียน

ถัดมาส่วนในสุดของนครจักรพรรดิ คือ “ตือกามแทงห์” หรือนครต้องห้ามของจักรพรรดิ ที่ถูกสงวนไว้เฉพาะจักรพรรดิและเชื้อพระวงศ์นั้น

ในขณะที่พ่อเข้าไปเที่ยวชมในบริเวณราชวังครั้งนี้ซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิสังขรณ์ จึงได้เห็นช่างหลายสิบคนมาทำงานกระจายอยู่ทั่วบริเวณราชวัง ซึ่งในบางจุดที่เสร็จแล้วดูสวยสดงดงามยิ่งนัก ซึ่งพ่อคิดว่าเมื่อบูรณะและทาสีใหม่เสร็จสิ้นแล้ว พระราชวังแห่งนี้คงกลับมาสวยงามเหมือนเมื่อครั้งอดีตเป็นแน่แท้

ในบ่ายวันเสาร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ คณะของเรากลับมายังเมืองเว้อีกครั้งหนึ่ง โดยก่อนเข้าพักที่โรงแรมที่พัก ได้แวะเที่ยวชมสุสานของพระเจ้าไคดิงห์ (Tomb of Khai Dinh) ที่เป็นสุสานที่มีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันออกร่วมกับสถาปัตยกรรมตะวันตก เป็นสถาปัตยกรรมสุดแปลกที่เกิดจากการผสมผสานแบบสุดขั้วระหว่างจีนและยุโรป

สุสานแห่งนี้ถูกสร้างในสมัย “จักรพรรดิไคดิงห์” เพื่อใช้เป็นสุสานของพระองค์ แต่แล้วสุสานไม่ทันสร้างเสร็จก็ทรงสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน ภารกิจสร้างสุสานแห่งนี้ต่อจึงตกเป็นของ “จักรพรรดิบาวได๋” ผู้เป็นพระราชโอรส สุสานแห่งนี้สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กอย่างดี โดยใช้เวลาก่อสร้างนานถึง ๑๑ ปี

“จักรพรรดิไคดิงห์” ทรงเป็นจักรพรรดิพระองค์ที่ ๑๒ ของราชวงศ์เหงียน ขึ้นครองราชย์ในปี ๒๔๕๙ โดยการสนับสนุนจากฝรั่งเศส ทั้งนี้เป็นเพราะในช่วงนั้น เวียดนามเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ฐานะจริง ๆ ขององค์ไคดิงห์ ก็คือ ผู้ปกครองอันนัม โดยทางฝรั่งเศส (ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคม) ได้แบ่งเวียดนามออกเป็นสามส่วน มี “ตังเกี๋ย” ทางตอนบน “อันนัม” ในตอนกลาง และ “โคชินจีน” ทางตอนใต้

พระองค์ทรงให้ความร่วมมือกับทางเจ้าอาณานิคมในการต่อต้านขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชกลุ่มต่าง ๆ จนถูกกล่าวหาว่า “พระองค์นั้นขายชาติ” แม้แต่โฮจิมินห์ เองก็ยังเขียนบทละครขึ้นเพื่อล้อเลียนพระองค์ในทำนองว่า “แม้จะดูยิ่งใหญ่ มีชีวิตที่หรูหรา แต่ก็ไม่มีพลังอำนาจอันใด เพราะเป็นเพียงหุ่นเชิดของฝรั่งเศสเท่านั้น”

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีเรื่องที่เป็น “ขี้ปากชาวบ้าน” มาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ “รสนิยมทางเพศ” ของพระองค์ ไกด์ชาวเวียดนามถึงกับพูดว่า “พระองค์ไม่ทรงโปรดอิสตรี” จึงทำให้ไม่มีองค์รัชทายาท จึงต้องยกราชสมบัติให้กับ “จักรพรรดิบ๋าวได่” ซึ่งเป็นราชโอรสบุญธรรมของพระองค์

พ่อเดินเที่ยวชมไปตามทางเดินขึ้นสุสานที่ได้รับการตกแต่งเป็นบันไดมังกรอันโอ่อ่า ไปสู่ลานชั้นหนึ่ง จากนั้นมีบันไดต่อไปยังลานชั้นสองที่เรียงรายด้วยรูปปั้นหินของช้าง ม้า ข้าราชการทหารและพลเรือน กลางลานมีแผ่นจารึกเขียนด้วยอักษรจีน นิพนธ์โดย “จักรพรรดิบาวได๋” เพื่อรำลึกถึงพระบิดาของพระองค์

ส่วนด้านบนสุดเป็น “พระราชวังเทียนดิงห์” ภายในมีการตกแต่งอย่างสวยงามด้วยการใช้กระเบื้องสีปูพื้นจิตรกรรมฝาผนังภาพ มังกรในม่านเมฆขนาดใหญ่ที่วาดโดยใช้ศิลปินที่เขียนภาพด้วยเท้า ประดับอยู่บนเพดานกลางห้องโถง ส่วนทางซ้ายและขวาเป็นภาพอันเต็มไปด้วยสีสันที่ตกแต่งด้วยการฝังกระจก สีและกระเบื้องนับพันชิ้น แสดงถึงเรื่องราวมากมายของสัตว์ ต้นไม้ และดอกไม้

แต่ห้องที่สำคัญที่สุดจะเป็นห้องที่มีรูปหล่อสำริดปิดด้วยทองขนาดเท่าองค์จริง ในพระอิริยาบถนั่ง บนแท่นสูง และบนเพดานจะมีภาพวาดชื่อ "มังกรในม่านเมฆ" อยู่

เล่ากันว่าภาพมังกรในม่านเมฆนี้จิตรกรวาดขึ้นโดยใช้เท้าวาด จักรพรรดิไคดิงห์ทรงกริ้วมาก จึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิต แต่ก็มีผู้ทูลทัดทานว่า “ถ้าไม่มีจิตรกรผู้นี้แล้ว คงยากที่จะหาผู้ที่มีความชำนาญในการวาดภาพให้งดงามขนาดนี้ได้อีก” อย่างไรก็ตามเหตุผลที่จิตรกรวาดภาพโดยใช้เท้านั้น บ้างก็อธิบายว่าเป็นเพราะความถนัดในการใช้เท้า บ้างก็ว่าเป็นการเลี่ยงที่จะเอาเท้าชี้ลงมาทางด้านล่าง เวลามีผู้เดินทางมาตรวจงาน

ส่วนพระบรมศพของพระองค์นั้น ถูกฝังอยู่ลึกลงไปใต้แท่นสูงในห้องนี้นั้นเอง

แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปี สุสานแห่งนี้ก็ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ค่อนข้างมาก รอดพ้นจากการถูกทำลาย ไม่ว่าประเทศเวียดนามจะได้ผ่านศึกสงครามและกลียุค มาแล้วหลายครั้ง

หลังจากออกจากสุสานแห่งนี้แล้ว รถพาคณะของเราไปจับจ่ายใช้สอยซื้อของราคาถูกที่ “ตลาดนัดดองบา” ที่เป็นตลาดสินค้าขนาดใหญ่ของเมืองเว้ ที่อยู่ติดกับแม่น้ำหอม ซึ่งพ่อได้พบคนไทยหลายคนเดินซื้อของ เสียงแม่ค้าเชิญชวนให้ซื้อของด้วยภาษาไทยสำเนียงเวียดนามดังลั่นตลาด

สินค้าที่นี่ต้องต่อรองก่อนซื้อทั้งนั้น เพราะราคาจะบอกผ่านหมดทุกอย่าง บางอย่างก็บอกราคาสูง ข้อควรระวัง สินค้าส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน เช่น เสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง เกรดของสินค้าจึงพอๆกับราคาที่จ่ายไป

หากพ่อจะเปรียบเทียบกับบ้านเรา ก็คือ ตลาดนัดจตุจักรขนาดย่อม ตรงกลางที่เป็นอาคารจะขายพวกเสื้อผ้า กระเป๋า และของฝาก รวมทั้งสินค้าจากประเทศจีน เช่น กระเป๋าเดินทาง ของเด็กเล่น เสื้อผ้าเด็ก ฯลฯ ส่วนด้านข้างและด้านหลังจะเป็นพื้นที่ขายผักขายปลา และอาหารแห้ง ปลาหมึก กุ้งแห้ง เต็มไปหมด

คณะของเราใช้เวลาในตลาดกว่า ๒ ชั่วโมง จนสมใจอยากและเป็นที่ถูกใจแก่คณะของเรามาก แต่ละคนต่างหิ้วของกันเต็มมือกันเกือบทุกราย อ้อ !! ลืมบอกลูกไปว่าที่นี้สามารถจ่ายเป็นเงินบาทได้เลย

พ่อพาพี่ที่ไปด้วยไปต่อรองซื้อเสื้อฝากทางบ้าน “ต่อกันมันมาก ลดลงไปกว่า ๖๐ %” สำหรับพ่อได้เสื้อกันหนาวมา ๑ ตัว ราคาแค่เพียง ๒๐๐ บาทเท่านั้น

บริเวณที่จอดรถจะมีลานกว้างซึ่งมีร้านขายของเต็มไปหมด พวกกลุ่มผู้ชายขณะนั่งรอก็ฆ่าเวลาด้วยเบียร์ “ฮูดา” เบียร์เวียดนาม ๕ กระป๋อง ๑๐๐ บาท “หมดกันไปเป็นโหล”

มีเรื่องสนุกก็คือ ก่อนที่รถจะออกจะมีแม่ค้านำสินค้ามาขายข้างรถ ซึ่งสามารถต่อราคาได้ถูกกว่าซื้อในตลาดอีก จึงทำให้คณะของเราอดไม่ได้ที่จะจ่ายเงินซื้อกันเพิ่มอีก ซึ่งเป็นที่สนุกสนานมากมาย

หลังจากนั้นก่อนไปกินอาหารเย็น ชาวคณะได้แวะไป “ล่องเรือมังกรแม่น้ำหอม” ชมการแสดงและความบันเทิงตามแบบของราชวงค์ในสมัยก่อน

ในคืนวันเสาร์นี้คณะของเราเข้าพักที่โรงแรม MIDTOWN HOTEL เป็นโรงแรมระดับ ๔ ดาว ซึ่งพ่อประทับใจมาก เพราะมีไวไฟที่แรงมาก ทำให้พ่อได้เข้าไปติดตามสถานการณ์ทางการเมืองที่ประเทศไทยได้อย่างใกล้ชิด

เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ คณะของเราตื่นแต่ตีสีครึ่ง และออกจากโรงแรมตั้งแต่ ๐๖.๓๐ น. เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย โดยแวะไปชมอุโมงค์หวิงห์ม็อกที่ย้ายโปรแกรมจากวันแรกมา

อุโมงค์แห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเว้มาทางทิศเหนือราว ๖๕ กิโลเมตร นับเป็นอุโมงค์ใต้ดินที่คนทั้งหมู่บ้านอาศัยอยู่เป็นเวลาหลายปีเพื่อหลบภัย จากการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องในสมัยสงครามเวียดนาม แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะพากันอพยพไปอยู่ในส่วนอื่นๆ ของประเทศ แต่ก็มีชาวบ้านจำนวนกว่า ๓๐๐ คน ที่ยังอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์คนรูแห่งนี้เป็นเวลากว่า ๕ ปี นับจากปี ๒๕๐๙ – ๒๕๑๔

ภายในเครือข่ายอุโมงค์ที่มีความยาวกว่า ๒,๐๐๐ เมตร เมตรนี้ แบ่งออกเป็น ๓ ชั้น มีทางเข้าออกทั้งหมด ๑๓ ทาง แต่ละชั้นจะมีการสร้างเป็นห้องต่างๆ ทางซ้ายและขวา โดยชั้นแรกมีจุดเด่นน่าชมอยู่ที่ห้องที่ใช้คลอดเด็กทารก และชั้นที่สองเป็นส่วนที่ใช้ในการประชุมในสมัยสงคราม จากนั้นจะมีทางเดินลงสู่ชั้นที่ ๓ ของอุโมงค์

ลูกชายคงจำได้ที่ครอบครัวเราจับมือกันเดินตามกันไปตามทางเดินภายในอุโมงค์เมื่อ ๓ ปีก่อนได้นะครับ

หลังจากออกจากอุโมงค์คณะของเราก็มุ่งหน้ากลับประเทศไทย โดยใช้ถนนหมายเลข ๙ เส้นเดิมกลับเหมือนตอนขามา

อ่านจดหมายมาถึงตอนนี้ น้องวินคงเริ่มทำหน้าเบื่อและคงนึกในใจ “จดหมายฉบับนี้ พ่อโตเขียนมาเสียยืดยาวเลย” แต่พ่อคิดว่าเรื่องที่พ่อเล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ของลูกได้บ้างไม่มากก็น้อย เพราะจากการที่พ่อได้เที่ยวชมสถานที่ประวัติศาสตร์ที่เมืองเว้ครั้งนี้ ทำให้พ่อคิดไปถึงเรื่อง “รากเหง้า” ของมนุษย์ ว่ากว่าจะมีวันนี้ได้ย่อมมีที่มาที่ไปเสมอ และ “รากเหง้า” เหล่านี้แหละที่เป็นตัวเชื่อมมิติทางใจให้กับผู้คนโดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ ณ ที่พื้นที่นั้นเข้าหากัน

ไม่ต่างจากที่ “บ้านท่าฬ่อ” ก็เป็น “รากเหง้า” ที่เป็นจุดกำเนิดให้กับพ่อ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้รากเหง้าที่เมืองเว้แห่งนี้ จึงทำให้พ่อกำลังใคร่ครวญว่าน่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษา “รากเหง้า” ที่มีคุณค่านั้นไว้เพื่อให้ลูกหลานได้รำลึกถึงต่อไปอย่างยาวนาน

ฉบับหน้าพ่อจะเล่าเรื่องเราเกี่ยวกับ “เมืองดานัง” ที่เป็นอีกเมืองหนึ่งที่พ่อได้มีโอกาสไปเที่ยวชมมาให้ลูกชายได้รับรู้ต่อไป

รักลูกเสมอ

“พ่อโต”

วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ซินจ่าวเวียดนามตอนที่ ๒ : การศึกษา....ขุมพลังขับเคลื่อนคนเวียดนาม

๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

“น้องวิน” ลูกรัก

คืนนี้พ่อมานอนอยู่ที่เมืองฮอยอัน เมืองท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศเวียดนาม จดหมายฉบับที่แล้วพ่อได้เกริ่นไปคร่าวๆบ้างแล้วว่า การเดินทางครั้งนี้พ่อเดินทางร่วมกับคณะผู้เข้าอบรมหลักสูตร “นักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” หรือ “นนส.” ซึ่งเป็นการอบรมที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริงเป็นสำคัญ ที่ผ่านมาได้อบรมผ่านไปแล้ว ๓ โมดูล

สำหรับทริปนี้ คือ โมดูลที่ ๔ เป็นการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศเวียดนาม เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์และทิศทางการพัฒนาของประเทศเวียดนามสำหรับการเตรียมตัวก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ในปี ๒๕๕๘ ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๓ กุมภาพันธ์ ศกนี้ โดยมีผู้ร่วมเดินทางเป็นเครือข่ายคนทำงานในพื้นที่ จาก ๑๙ จังหวัด รวมกว่า ๖๐ ชีวิต

คณะของเราเริ่มเดินทางตั้งแต่วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ หลายคนต้องมาขึ้นเครื่องพร้อมกันที่สนามบินดอนเมืองตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง เพื่อเตรียมตัวเดินทางโดยสายการบินนกแอร์ไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ในเวลา ๐๖.๐๕ น. ความกระปรี้กระเปร่าจึงแปรเปลี่ยนเป็นความง่วงเหงาหาวนอนมิใช่น้อย

ปลายทางแรกของการเดินทางวันนี้อยู่ที่ "โรงแรมอันนาวานารีสอร์ทแอนด์สปา" จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมสำหรับเตรียมความพร้อมชาว “นนส.” และคณะพี่เลี้ยงก่อนออกเดินทางสู่ประเทศเวียดนามในวันรุ่งขึ้น

น้องวินคงจำโรงแรมนี้ได้นะครับ เมื่อ ๓ ปีก่อนที่เราจะเดินทางไปเวียดนามกัน เราก็มานอนพักที่นี่

บรรยากาศการเตรียมความพร้อมชาวคณะ ต้องบอกลูกว่าเป็นไฮไลท์สำคัญเลยทีเดียว เมื่อได้รับเกียรติจาก “ดร.สิริวงษ์ หงส์สวรรค์” อาจารย์สอนภาษาเวียดนาม ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ได้เสียสละเวลามาพูดคุยทั้งเต็มไปด้วยสาระที่เข้มข้น แต่ก็แกมไปด้วยความสนุกสนานมิใช่น้อย

อาจารย์สิริวงษ์ได้เล่าเรื่องราวต่างๆจำนวนมาก แต่ที่พ่อสนใจเป็นพิเศษ คือ เรื่อง “การศึกษา” คนเวียดนามยึดถือกันว่า “การศึกษาคือสิ่งสำคัญสำหรับคนเวียดนาม”

ว่าไปแล้ววิธีคิดของคนไทยและคนเวียดนามคงไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก หากเทียบกับคำขวัญ (slogan) ของคนไทยที่เคยอบรมสั่งสอนลูกหลานในสมัยก่อน และยังใช้ได้มาจนถึงปัจจุบันว่า “รากฐานของบ้านคืออิฐ รากฐานของชีวิตคือการศึกษา” คนเวียดนามส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า “การศึกษาจะช่วยสร้างคนให้เป็นคน มีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ และมีทุกอย่างตามที่ตนเองต้องการ”

หลังจากที่เด็กเวียดนามถือกำเนิดมา ครอบครัวชาวเวียดนามจะคิดถึงการศึกษาของลูกไปพร้อมๆกับการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจของครอบครัวตน เศรษฐกิจของครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้สามารถเลี้ยงดู และส่งเสียลูกของตนได้เล่าเรียนถึงชั้นสูงสุด

เนื่องจากคนเวียดนามส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องประสบกับความยากลำบาก “หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” มีแต่ความยากแค้นลำเค็ญ ดังนั้นชาวเวียดนามส่วนใหญ่จึงไม่ต้องการให้ลูกของตนประสบกับวิถีแบบบรรพบุรุษ

วิธีการที่จะทำให้ลูกของตนพ้นจากความยากลำบากได้นั้น มีวิธีการเดียวและเป็นวิธีการที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ สร้างรากฐานการศึกษาให้แก่ลูก

ในภาษาเวียดนาม มีคำกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงความคิดของคนเวียดนามในการเลี้ยงดูลูกซึ่งใช้กันมาจนถึงปัจจุบันคือ “เติ๊ท ก่า หวี่ กอน ก๋าย” ที่หมายถึง “ทุกอย่างก็เพื่อลูก” ตีความได้ว่า “พ่อแม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้เพื่อลูก ไม่ว่าตนเองจะลำบากหรือเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็ตาม พ่อแม่ก็สามารถยอมเหนื่อยเพื่อนำเงินไปลงทุนเพื่อการศึกษาของลูก”

สำหรับครอบครัวชาวนาหรือครอบครัวเกษตรกรผู้ยากไร้นั้น มีความคิดกันว่า ถ้าให้ลูกประกอบอาชีพ เกษตรกรรมหรือเป็นชาวนาเช่นเดียวกับตน ลูกจะไม่สามารถพ้นไปจากห้วงวิถีของความยากลำบาก แร้นแค้นลำเค็ญไปได้ ดังนั้นเพื่อความก้าวหน้าในอนาคตของลูก ครอบครัวจึงยอม “อดทน และ ทนอด” เพื่อผลักดันลูกให้สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ เพราะนี้คือเกียรติยศ หน้าตา ศักดิ์ศรีของครอบครัวและวงศ์ตระกูลอย่างยิ่ง

คนเวียดนามหลายๆ คนยังมีการเปรียบเทียบอาชีพของตนกับอาชีพของลูกหลานที่เกิดมาในรุ่นหลัง ยิ่งถ้าหากว่าพ่อแม่เป็นชาวนา แต่ลูกได้ดิบได้ดีเป็นถึงข้าราชการ ยิ่งจะเป็นผลดีในการผลักดันเชื้อสายและวงศ์ตระกูลของตนให้สูงขึ้น ผู้คนก็จะนับหน้าถือตา และให้เกียรติในฐานะที่สามารถทำให้ลูกเป็นอภิชาตบุตรได้

การอบรมเลี้ยงดูลูกของคนเวียดนามจะเน้นเรื่องของการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ที่เห็นได้ชัด หลายๆ บ้านจะบังคับให้ลูกเรียนเป็นหลัก โดยเฉพาะจะเน้นให้ลูกต้องเรียนเก่งไว้ก่อน มีการนำไปเปรียบเทียบกับเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้อง หากลูกทำไม่ได้ก็จะว่ากล่าวค่อนข้างแรง เช่น “งู ญือ จ๋อ” ที่หมายถึง “โง่เหมือนหมา” หรือ “งู ญือ บ่อ” ที่หมายถึง “โง่เหมือนวัว” โดยไม่ได้สนใจว่าลูกจะเสียใจหรือน้อยใจหรือไม่

พวกเขามองว่า ยิ่งว่ากล่าวประชดประชันแบบนี้ ยิ่งจะทำให้ลูกเกิดความคิดที่จะสู้หรือมีใจสู้ต้องเรียนให้เก่งขึ้น หรือทำให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม จะได้ไม่โดนพ่อแม่ดุด่าว่าโง่อีกต่อไป

มีบางบ้านที่ทุ่มเทให้กับลูกมาก ๆ ถึงขั้นเสียใจหรือจะเป็นจะตายกับผลการเรียนของลูกเลยทีเดียว หากออกมาไม่ตรงใจพ่อแม่หรือลูกสอบตก ดังนั้นหลายๆบ้านจึงจัดหาติวเตอร์หรือครูพิเศษมาสอนที่บ้าน หรือส่งลูกไปเรียนพิเศษในสถานที่ที่มีชื่อเสียง แม้ว่าจะเสียค่าใช้จ่ายมากเท่าใด พ่อแม่ก็ยอม

นอกจากนั้นแล้วแทบทุกครอบครัวจะเข้มงวดกวดขันเรื่องการเรียนของลูกอย่างมาก พ่อแม่จะสอบถามและตรวจสอบการเรียนของลูกทุกวัน “ทำการบ้านวิชานั้นวิชานี้เสร็จหรือยัง วันนี้ไปเรียนพิเศษกับคุณครูคนนี้หรือไม่ อย่างไร ครูให้การบ้านอะไรมาบ้าง”

เด็ก ๆ จำนวนมากที่ไม่ปฏิบัติตามก็มักจะถูกลงโทษด้วยไม้เรียว พวกเขาถือปฏิบัติตามคำพังเพยของเวียดนามที่สอนกันมาแต่โบราณว่า “เอียว จอ ซอย จอ หวอด แก๊ท จอ หง็อท จอ บุ่ย” ที่แปลว่า “รักต้องให้ไม้เรียว เกลียดต้องให้ความหวานและความมัน” ซึ่งอธิบายได้ว่า “ถ้ารักลูกก็ต้องตีลูก ถ้าเกลียดลูกก็ต้องเอาอกเอาใจหรือตามใจลูก”

เมื่อก่อนระบบการศึกษาของเวียดนามนำรูปแบบมาจากสหภาพโซเวียตรัสเซีย ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนเวียดนาม แต่ก็ยังได้รับอิทธิพลจากจีนและฝรั่งเศสอยู่มาก เพราะเคยตกอยู่ใต้อาณานิคมของสองประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะอิทธิพลในเรื่องของการใช้ตัวหนังสือหรืออักษรที่ใช้ในการเรียนมาจากอักษร “หาน” หรือที่คนไทยเรียกว่า “ฮั่น” จากจีน และตัวอักษรโรมันที่เวียดนามใช้กันปัจจุบันที่เรียกว่า “ก๊วก หงือ” มาจากฝรั่งเศส เพราะในอดีตฝรั่งเศสประกาศให้เวียดนามใช้ตัวอักษร “ก๊วก หงือ” เป็นอักษรทางการ

ส่วนการเรียนการสอนของเวียดนามที่ได้รับอิทธิพลจากสหภาพโซเวียตหรือรัสเซียนั้น จะปรากฏอยู่ในวิชาบังคับที่ในมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัยต้องสอน นั่นคือ วิชาการเมืองซึ่งเน้นลัทธิสังคมนิยมและการปกครองประเทศแบบสังคมนิยม ทั้งแนวคิดของมาร์ก เลนิน และโฮจิมินห์

โดยเฉพาะแนวคิดของมาร์ก เลนินที่ว่า “ห็อก ห็อก ห็อก ห็อก เหนือ ห็อก” ที่หมายความว่า “เรียน เรียน เรียน เรียนต่อไป เรียนตราบชั่วนิจนิรันดร์” ซึ่งเชื่อว่าทุกคนต้องเรียน และการเรียนไม่มีวันสิ้นสุดสำหรับคนเวียดนาม แม้ว่าจะเรียนจบได้ใบปริญญาบัตรแล้ว ก็ยังต้องเรียนกันต่อไป เรียนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ระบบการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของเวียดนามกำหนดไว้ ๑๒ ปี หรือ ระบบ ๕-๔-๓ คือ ระดับ ๑ (ประถมศึกษา) เรียน ๕ ปี ระดับ ๒ (มัธยมศึกษาตอนต้น) เรียน ๔ ปี และระดับ ๓ (มัธยมศึกษาตอนปลาย) เรียน ๓ ปี ซึ่งแตกต่างกันเล็กน้อยกับประเทศไทยที่เรียนในระบบ ๖-๓-๓

สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ไม่ต่างจากที่เมืองไทยเท่าใดนัก จะต่างกันเล็กน้อยตรงที่หากใครที่ความสามารถไม่ถึงขั้นที่จะเรียนมหาวิทยาลัยได้ก็จะเลือกเรียนระดับ “กาว ดั่ง” ซึ่งเทียบได้กับระดับอนุปริญญาของไทย โดยที่เวียดนามจะเรียน ๓ ปี และระดับ “จุง เกิ๊บ” หรือสายวิชาชีพ เรียน ๒ ปี นอกจากนั้น หลังระดับอุดมศึกษาก็มีระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งแยกเป็นระดับปริญญาโท และปริญญาเอกเหมือนประเทศไทย

อาจารย์สิริวงษ์ยังเล่าให้ฟังถึงปัญหาจากวิธีการศึกษาของคนเวียดนามในปัจจุบัน ก็คือ เน้นการเรียนการสอนแบบให้ผู้เรียนต้องเรียนแบบ “ห็อก แหว็ต” ที่แปลว่า “เรียนแบบนกแก้ว” หมายถึง เรียนแบบท่องจำ แต่ปัญหาก็คือว่า พวกเขาไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ นักศึกษาที่เรียนจบมหาวิทยาลัยและได้คะแนนสูง ๆ นั้น เมื่อเริ่มต้นทำงานก็ไม่สามารถนำความรู้ที่ตัวเองได้รับในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยมาปรับใช้ในการทำงานได้

การเรียนแบบท่องจำหรือ “ห็อก แหว็ต” นี้ เรียกได้ว่าเป็นโรคร้ายชนิดหนึ่งของการศึกษาของเวียดนามในปัจจุบันนี้เลยก็ว่าได้ แม้ว่ากระทรวงการศึกษาและการฝึกอบรมของเวียดนามจะรับทราบปัญหาดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นักศึกษาหลายคนจึงจำเป็นต้องเสียเวลาเพื่อไปเรียนปริญญาตรีอีกใบเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของตน แทนที่จะยกระดับของตนโดยการเรียนปริญญาโทต่อแทน

ปัญหาข้างต้นปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนสำคัญยิ่งนักมาจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ตั้งแต่ในวัยเด็ก ที่เน้นสอนให้ลูกเรียนเก่งและได้คะแนนสูง ๆ แต่ไม่ได้สนใจในเรื่องของการนำไปใช้ในอนาคต เพราะคิดว่าต้องเรียนเก่งเพื่อจะได้ประกอบอาชีพรับราชการ เป็นเจ้าคนนายคน และเน้นความร่ำรวยเป็นหลัก

ความคิดดังกล่าวจึงส่งผลมาถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากในปัจจุบันหน่วยงานต่างๆในเวียดนาม โอกาสที่คนเวียดนามไปสมัครงานแล้วจะได้ทำงานดี ๆ ได้รับเงินเดือนสูงๆ มีค่อนข้างน้อยหากได้คะแนนสะสมหลังจากที่สำเร็จการศึกษาไม่ค่อยดี ดังนั้นในปัจจุบันคนเวียดนามจึงเน้นให้ลูกของตนเรียนให้เก่ง ๆ ให้ได้คะแนนสูงๆ เพื่อที่จะหางานทำให้ได้ดีในอนาคต

พ่อฟังอาจารย์สิริวงษ์เล่าเรื่องนี้ ทำให้คิดไปถึงบางเหตุการณ์เมื่อ ๓-๔ ปีก่อนที่มีน้อง “อานนท์” ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยของประเทศไทย และมาฝึกงานในที่ทำงานที่พ่อทำอยู่ เพื่อหาประสบการณ์จากการทำงานจริง พ่อทราบว่าหลังจบปริญญาตรีที่ประเทศไทยแล้ว เขาได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างของบริษัทในประเทศไทยเลย และมาทราบอีกว่าตอนนี้ได้ทุนไปเรียนระดับปริญญาโทและเอกที่ประเทศรัสเซียแล้ว

พ่อเล่าเรื่องนี้ให้ลูกฟัง นอกจากจะทำให้รู้เรื่องระบบการศึกษาของคนเวียดนามแล้ว แต่สิ่งที่พ่อปรารถนาอย่างยิ่งยวดก็คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา การต้องการเห็นลูกเรียนสูง ๆ เพราะจะเป็นพื้นฐานในการทำงานเลี้ยงชีพในอนาคตต่อไป

อีกทั้งตอนนี้ประเทศเวียดนามให้ความสำคัญกับการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนมาก สิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือ การสนับสนุนในคนเวียดนามสามารถสื่อสารภาษาอาเซียนได้เพิ่มจากภาษาของประเทศตนอย่างน้อยอีก ๑ ภาษา

ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากนั่นก็คือ คนเวียดนามจะสนใจเรียน “ภาษาไทย” กันเป็นส่วนใหญ่ เพราะเห็นประเทศไทยเป็นตัวอย่างการพัฒนาของประเทศเขา มีการเปิดสอน “ภาษาไทย” เป็นวิชาหนึ่งในระบบการเรียนการสอนกันในหลายมหาวิทยาลัย

ซึ่งตรงนี้พ่อคิดว่าน่าศึกษาเป็นแบบอย่างเลยทีเดียว เพราะประเทศไทยหันไปสนใจภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากประชาชนในอาเซียนจำนวนมากไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ พ่อจึงอยากให้ลูกลองพิจารณาศึกษาภาษาในประเทศเพื่อนบ้านเราบ้าง นอกเหนือจากภาษาอังกฤษที่ลูกเรียนอยู่แล้วเป็นปกติ

น้องวินครับ ตอนนี้พ่อรู้สึกง่วงมาก คงเพลียจากการเดินทางในวันนี้ พ่อจึงขอจบจดหมายฉบับนี้เพื่อจะเข้านอนเอาแรงไว้สำหรับวันพรุ่งนี้ แล้วฉบับหน้าจะมาเล่าเรื่องสนุก ๆ ที่แฝงสาระให้ลูกฟังต่อนะครับ
รักลูกมากครับ

“พ่อโต”

วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ซินจ่าวเวียดนามตอนที่ ๑ : จากสี่แยกอินโดจีน กับเส้นทางหมายเลข ๙

๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

“น้องวิน” ลูกรัก

กว่า ๘ ชั่วโมงจากจังหวัดมุกดาหาร พ่อเพิ่งจะเดินทางมาถึงโรงแรม Camellia Hue ที่เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม น้องวินคงจำได้ดีเพราะนี้เป็นโรงแรมเดียวกับที่ลูก แม่ และพ่อ มาพักเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว

เช้านี้ระหว่างข้ามแดนมายังสะหวันนะเขต ประเทศลาว ช่วงประทับตราขาออกในพาสปอร์ตพ่อเหลือบไปเห็นวันเดินทางมาเวียดนามของครอบครัวเราครั้งที่แล้วพอดี ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ไม่น่าเชื่อนะครับลูก ๓ ปีผ่านไปรวดเร็วมาก พอ ๆ กับความเปลี่ยนแปลงบนเส้นทางจากตะวันตกจรดตะวันออกสายนี้

พ่อแอบขำทุกครั้งที่น้องวินมักจะหัวเราะ ยามเราขับรถผ่านสี่แยกอินโดจีนหรือสี่แยก “ร้องโพธิ์” ที่จังหวัดพิษณุโลก และน้องวินก็จะหันไปมองหลักกิโลเมตรขนาดใหญ่มากอย่างตั้งใจและบางทีก็อ่านออกเสียงดัง ๆ ซึ่งเขียนบอกไว้ว่า อีกกี่กิโลเมตรจะถึงกรุงเทพ ย่างกุ้ง ดานัง คุนหมิง และสิงค์โปร์

“ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ใช่ไหมลูก ที่เราจะสามารถเดินทางข้ามประเทศด้วยรถยนต์”

มันดูเหมือนเป็นเพียงหลักกิโลเมตรธรรมดาที่ไร้ความหมาย แต่จริง ๆ แล้วจากสี่แยกแห่งนี้สามารถเดินทางขึ้นเหนือถึงนครคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน ลงใต้ถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ไปทางตะวันออกได้ถึงท่าเรือดานัง เวียดนาม และทางตะวันตกถึงเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เพราะจุดที่ตั้งของสี่แยกนี้ คือ ศูนย์กลางของ East-West Economic Corridor และ North-South Economic Corridor

น้องวินอย่าเพิ่งทำหน้านิ่วคิ้วขมวดครับ พ่อกำลังจะอธิบายต่อว่าคืออะไร

ย้อนไปเมื่อปี ๒๕๓๕ ประเทศไทยได้ลงนามในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Cooperation: GMS) ร่วมกับประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า และจีน เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ในการสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การเกษตร และบริการ สนับสนุนการจ้างงาน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

ผ่านไปร่วม ๑๓ ปี การประชุม GMS ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๔-๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ที่นครคุนหมิง ประเทศจีน ผู้นำทั้ง ๖ ประเทศได้ออก "แถลงการณ์ร่วมคุนหมิง (Kunming Declaration)" เรื่องหนึ่งในแถลงการณ์ฉบับนี้ คือ การพัฒนาโครงข่ายถนนเชื่อมแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Corridor) ๓ แนว คือ แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East -West Economic Corridor) เชื่อมโยงพม่า ไทย ลาว เวียดนาม แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ – ใต้ (North-South Economic Corridor) เชื่อมโยงจีน -ลาว–ไทย กับ จีน-เวียดนาม และแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor) เชื่องโยงไทย กัมพูชา เวียดนาม เข้าด้วยกัน

ซึ่งวันนี้พ่อได้กลับมาอยู่บนเส้นทางสายตะวันออก-ตะวันตกนี้อีกครั้ง หรือที่เรียกกันว่า “เส้นทางหมายเลข ๙” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามแนวที่เกิดขึ้นจากแถลงการณ์ร่วมคุนหมิงนั่นเอง

ต้องบอกลูกว่า เพราะสะพานมิตรภาพแห่งที่สอง ที่จังหวัดมุกดาหาร ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดมุกดาหาร ประเทศไทยกับแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปลายปี ๒๕๔๙ นี้เอง ที่ทำให้เส้นทางสายนี้ที่มีความยาวกว่า ๑,๔๕๐ กิโลเมตร บรรจบเข้าหากัน

เส้นทางนี้เริ่มจากเมืองท่าดานังของเวียดนาม ผ่านเมืองเว้ กวางจิ ดองฮา และเข้าสู่เมืองลาวบาว อันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามซึ่งติดกับชายแดนลาว จากนั้นผ่านเข้าแขวงสะหวันนะเขตในลาว และข้ามสะพานมิตรภาพแห่งที่ ๒ ข้ามแม่น้ำโขงสู่ประเทศไทยที่จังหวัดมุกดาหาร ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย จนไปสุดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเข้าต่อไปยังประเทศพม่าที่เมืองมะละแหม่ง ขณะนี้เส้นทางจากไทย-เวียดนามใช้ได้สมบูรณ์แล้ว มีเพียงบางช่วงในพม่าที่ยังก่อสร้างอยู่เพียงเท่านั้น

การท่องเที่ยวดูจะได้รับอานิสงส์จากถนนสายนี้มากที่สุด ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยหลายสิบคันรถใช้เส้นทางจากมุกดาหาร ผ่านลาวเพื่อมุ่งไปเที่ยวเวียดนาม เพราะนี้เป็นการเที่ยว “เมืองนอก” ในราคาที่ถูกที่สุดและสะดวกที่สุดแล้ว

แม้ว่าตอนนี้จะ ๙ โมงกว่าแล้ว แต่อากาศยังหนาวเย็นอยู่มากจนพ่อต้องใส่เสื้อถึง ๒ ชั้น พวกเรา พ่อหมายถึง พี่ป้าน้าอา ในนามของนักเรียน “โครงการพัฒนาศักยภาพนักสานพลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม รุ่นปี ๒๕๕๖” หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “นนส.” ที่ถือว่าการเดินทางในครั้งนี้คือการปิดหลักสูตรโครงการ

และการเดินทางมาประเทศเวียดนาม คือ การเรียนรู้ความเป็นอาเซียนผ่านประเทศเวียดนามแห่งนี้ เพราะในปี ๒๕๕๘ อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัว เวียดนาม คือ ประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องเรียนรู้ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี รากเหง้าโบราณกาล และความทันสมัยของทุนนิยมที่ถาโถมเข้ามา และเวียดนามรับมือกับเรื่องแบบนี้ได้ดีประเทศหนึ่งเลยทีเดียว

กว่า ๒๔๐ กิโลเมตร จากสะพานมิตรภาพแห่งที่ ๒ เวลาผ่านไป ๓ ชั่วโมง พ่อก็เดินทางมาถึงด่านลาวบาว ด่านพรมแดนกั้นระหว่างประเทศลาว-เวียดนาม และนับเวลาไปอีกจากนี้กว่า ๑ ชั่วโมง ที่ต้องรอคอยการตรวจเช็คตามระบบคนเข้าเมืองของประเทศเวียดนาม อีกทั้งตอนนี้ทางการเวียดนามเข้มงวดเรื่องการป้องกันยาเสพติดเข้าประเทศอย่างมาก จึงต้องรัดกุมในการตรวจสอบคนเข้าประเทศเลยทีเดียว

แค่ผ่านมา ๒ ด่าน ต้องใช้เวลารวมกว่า ๓ ชั่วโมงแล้วกับพิธีการต่างๆในการตรวจคนเข้าเมือง ตั้งแต่ด่านไทย – ลาว กับด่านลาว – เวียดนาม จนพ่ออดคิดไม่ได้ว่านี้เป็นเรื่องต้องปรับปรุงเป็นอย่างยิ่งเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็น “ประชาคมอาเซียน” อย่างสมบูรณ์แบบในปีหน้า ต้องหาทางลดเวลาลงมาให้ได้ เพื่อทำให้การไปมาหาสู่กันมีความคล่องตัวมากกว่านี้

สำหรับความน่าสนใจของด่านลาวบาว คือ ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบาว ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เดิมลาวบาวนั้นเป็นเมืองชายแดนที่ไม่ได้รับความสนใจและเป็นพื้นที่ยากจนที่สุดของจังหวัดกวางจิ ประเทศเวียดนาม แต่เมื่อรัฐบาลเวียดนามตัดสินใจเปิดด่านพรมแดน (ลาวบาว-แดนสะหวัน) อย่างเป็นทางการที่นี่ ทำให้การค้าข้ามแดนระหว่างเวียดนามกับลาว รวมทั้งการลงทุนจากนักธุรกิจไทย มีการเติบโตอย่างมากในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะการทำให้คนท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้น ลดปัญหาความยากจน พัฒนาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน และความสะดวกในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้เศรษฐกิจของลาวบาวยังมีการเปลี่ยนแปลงจากการเกษตรสู่การเป็นแหล่งการค้าที่มีความคึกคัก มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการบริการ ซึ่งล้วนแต่มีส่วนช่วยในการปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของคนในท้องถิ่น รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดกวางจิเป็นอย่างยิ่ง

จากด่านลาวบาว พ่อยังอยู่บนถนนหมายเลข ๙ เช่นเดิมครับลูก เรากำลังมุ่งหน้าไปยังเมืองเว้ เมืองหลวงเก่าของประเทศเวียดนาม แต่เราต้องผ่านเมืองดองฮาก่อน

๒ ชั่วโมงจากด่าน กับระยะทางเพียง ๘๔ กิโลเมตร เราก็มาถึง ณ ที่แห่งนี้

ภาพของสงครามเวียดนามที่ทำให้คนเวียดนามกว่า ๓ ล้านคนต้องสังเวยชีวิตซ้อนเข้ามา (ช่วง พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๑๘) ในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องที่พ่อเคยดู เราจะเห็นอุโมงค์ที่ชาวบ้านช่วยกันขุดในป่า เพื่อหนีภัยสงครามจากอเมริกาที่เข่นฆ่าชาวเวียดนาม รวมถึงหลบภัยจาก "ฝนเหลือง" หรือ “สารสีส้ม” หรือ “สารไดออกซิน” ที่อเมริกาใช้โปรยลงบนพื้นที่ของเวียดนาม เพื่อกำจัดแหล่งหลบซ่อนของทหารชาวเวียดนาม และทำให้ชาวเวียดนามนับล้านคนล้มป่วยเป็นมะเร็ง ทารกเกิดมาพิกลพิการ ชาวบ้านจึงต้องเข้าไปอยู่และใช้ชีวิตในนั้น

ที่นี่ก็เช่นเดียวกันชาวบ้านวินห์ม๊อคช่วยกันขุดอุโมงค์ที่มีความยาวกว่า ๒ กิโลเมตร ใช้เวลาร่วม ๒ ปีถึงจะเสร็จ และชาวบ้านกว่า ๓๐๐ คน รวม ๖๖ ครอบครัว ลงไปอยู่ในอุโมงค์นานถึง ๕ ปีเลยทีเดียว นับจากปี พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๔ เล่ากันว่ามีเด็กที่เกิดในอุโมงค์ด้วยถึง ๑๗ คน เป็นเด็กที่ไม่เคยเห็นแสงตะวันหรือโลกภายนอกเลย และที่สำคัญเด็กเหล่านี้พูดไม่ได้เลยซักคนเดียว เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง !!!

แต่เป็นที่น่าเสียดายมากที่เสียเวลากับพิธีการที่ด่านไปหลายชั่วโมง รวมทั้งการเดินทางบนถนนที่ชำรุดและมีหลายช่วงที่กำลังปรับปรุง จึงทำให้การเดินทางทริปนี้ต้องตัดรายการไปชมอุโมงค์ดังกล่าวออกไป

เดินทางต่อไปอีก ๖๕ กิโลเมตร เราก็ถึงเมืองเว้เสียทีในตอนเย็นย่ำตะวันเมืองเวียดนามกำลังใกล้ลับฟ้า

ซินจ่าวเวียดนามครับลูก "ซินจ่าว" เป็นภาษาเวียดนาม "ซิน" แปลว่า "ขอ" "จ่าว" แปลว่า "สวัสดี"

ส่วนคำว่า “เวียต” หรือ “เวียด” เป็นคำที่คนจีนเรียกคนเวียดนามหรือ “คนญวน” มีหลายความหมาย เช่น “ไกลออกไป” หรือ “เดินทางข้าม” หรือ “เดินทางผ่านไป” หรือ “เดินทางถึง” หรือ “ลุกขึ้น” หรือ “ทรงตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง” คำว่า “นาม” มีความหมายว่า “ทิศใต้” "เวียดนาม" จึงแปลว่า "ทิศใต้ที่ไกลออกไปจากประเทศจีน" นั้นเอง

เว้เป็นเมืองหลวงเก่าของเวียดนามในสมัยราชวงศ์เหงียนช่วงปี พ.ศ. ๒๓๔๕ - ๒๔๘๘ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหอมหรือแม่น้ำเฮือง (ซง แปลว่า แม่น้ำ เฮือง แปลว่าหอม) มีชื่อเสียงมาจากโบราณสถานที่มีอยู่ทั่วเมือง อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและวัฒนธรรมด้วย สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองเว้ส่วนใหญ่จะเป็นป้อมปราการ พระราชวังหลวง และสุสานจักรพรรดิ หมู่โบราณสถานในเมืองเว้ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖

ใคร ๆ มาเวียดนามก็คงไม่พลาดที่จะชม “หุ่นกระบอกน้ำ” กุญแจทางวัฒนธรรมดอกสำคัญที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้ชีวิตและประวัติศาสตร์การสร้างชาติของชาวเวียดนาม

พ่อไม่รู้ว่าคนอื่นมองหุ่นกระบอกน้ำกันอย่างไร แต่สำหรับพ่อแล้ว หุ่นกระบอกน้ำสอนให้พ่อได้เรียนรู้ถึงภูมิปัญญาของคนเวียดนามในการจัดการกับภัยคุกคาม ทั้งที่เป็นภัยธรรมชาติและภัยมนุษย์

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้สอนให้คนเวียดนามกล้าแกร่งไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา และไม่ก้มหัวให้แก่ศัตรูผู้รุกราน โดยเฉพาะศัตรูชาวต่างชาติ

ความโกรธ เกลียด เคียดแค้น และชิงชังศัตรูต่างชาติฝังรากลึกจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรม และวิธีคิดของคนเวียดนามอย่างแยกไม่ออก บทเรียนประวัติศาสตร์สอนให้คนเวียดนามมองคนต่างชาติด้วยความหวาดระแวง พวกเขารักอิสรภาพและเอกราชของตนเองเหนือสิ่งอื่นใด

อีกทั้งอิทธิพลของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีต่อวิถีชีวิตของคนเวียดนาม ภัยธรรมชาติ เช่น พายุใต้ฝุ่น น้ำท่วม ความแห้งแล้ง หมอกเค็ม และความหนาวเย็น คือสิ่งที่คนเวียดนามต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา ภัยธรรมชาติเหล่านี้อยู่ใกล้ตัว พร้อมที่จะสร้างความเสียหายต่อพืชผลการเกษตรและบ้านเรือนได้ทุกเมื่อ แต่คนเวียดนามก็รู้ว่าพวกเขาไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้หากปราศจากธรรมชาติเหล่านี้ เพราะธรรมชาตินั้นมีทั้งด้านคุณและโทษอยู่ในตัว พวกเขาต้องเตรียมความพร้อมและต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าเพื่อจะเอาตัวรอดในท่ามกลางภัยคุกคาม

นอกจากนั้นแล้วคนเวียดนามมีคติความเชื่อที่สัมพันธ์กับน้ำอย่างแนบแน่น จากนิทานปรัมปราคนเวียดนามเชื่อว่าตนเองมีเชื้อสายมาจากพญามังกรจากท้องมหาสมุทร และยังมีสุภาษิตที่ถ่ายถอดความเชื่อว่าน้ำเป็นบ่อเกิดของความสุข ความทุกข์ หรือความยากดีมีจน น้ำจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของความเป็นชาติเวียดนาม

เหล่านี้จึงปรากฏผ่านการแสดงหุ่นกระบอกน้ำ เล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวเวียดนามได้อย่างน่าตื่นตาและอลังการ และยังคงเป็นปริศนาของชาวเวียดนามที่คนทั่วไปไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า กรรมวิธีการชักหุ่น การละเล่นหลังม่านไม้ไผ่นั้น เขาทำกันอย่างไร

เวียดนามวันแรก กับการเดินทางครั้งที่สอง ด้วยวัยวันและมุมมองที่ต่างไปจากเดิม เรื่องที่พ่อเล่าให้ลูกฟังจึงเต็มไปด้วยเกร็ดประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ เราอยากรู้จักประเทศใดในวันนี้ รากของอดีต คือ คำตอบในการเรียนรู้ครับลูก

อ้อ ! พ่อลืมเล่าให้ลูกฟังไปเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ การเดินทางมาครั้งนี้ พวกเรามีการเตรียมตัวสำหรับ นนส. ทุกคน ที่ต้องอ่านหนังสือมาล่วงหน้า ๒ เล่ม คือ เรื่อง “บูรพาภิวัฒน์” ของ “อเนก เหล่าธรรมทัศน์” กับ “ยลญวน” ของ “พิษณุ จันทร์วิทัน” และระหว่างเดินทางชาว นนส.ก็จะหยิบยกสาระจากการอ่านหนังสือมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย

ตอนนี้ก็ดึกมากแล้ว เวลาที่เวียดนามไม่ต่างจากเวลาที่บ้านนครสวรรค์ พรุ่งนี้มีอีกหลาย ๆ สถานที่ที่พ่อจะไปเยี่ยมชม จะได้เก็บเกร็ดต่าง ๆ มาเขียนจดหมายถึงลูกในฉบับต่อ ๆ ไป และที่พ่อเล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ลูกได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ ในเพื่อนบ้านของเรา แต่มีความสำคัญมากที่ลูกต้องเรียนรู้อย่างใกล้ชิดและอย่ากระพริบตาเลยทีเดียวครับ

รักลูกมาก

“พ่อโต”

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เพลงรักบทสุดท้าย

๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

“น้องวิน” ลูกรัก

นี้เป็นจดหมายฉบับที่ ๓ แล้วที่พ่อเขียนถึงลูก ยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักที่ไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใด ๆเหมือนเดิม แต่ฉบับนี้เปลี่ยนจากความรักของสามีภรรยาเป็นความรักในรูปแบบอื่น ๆ แทน พ่อยังไม่เฉลยในตอนนี้ แต่อยากให้น้องวินได้อ่านจดหมายฉบับนี้ไปเรื่อย ๆ ก่อน

อย่างที่ลูกรู้อยู่แล้วว่าช่วงนี้พ่อหลงใหลในงานของ “NICHOLAS SPARKS” นักประพันธ์นวนิยายโรแมนติคชาวอเมริกาที่มีผลงานหลายเล่ม จนถอนตัวไม่ขึ้น ซึ่งครั้งที่แล้วพ่อก็เคยเขียนมาเล่าให้ลูกฟัง ทั้งเรื่อง “ปาฎิหาริย์บันทึกรัก” กับ “รักจากใจจร” สำหรับครั้งนี้พ่อนำมาจากเรื่อง “The Last Song” หรือ “เพลงรักบทสุดท้าย” แปลโดย “วรางคณา เหมสกุล”

เป็นเรื่องของ “รอนนี่” สาวน้อยวัยสิบเจ็ด ที่ถูก “คิม” ผู้เป็นแม่บังคับให้ไปอยู่กับ “สตีฟ” คนเป็นพ่อ (ที่แยกทางกับแม่มากว่า ๓ ปีแล้ว) ซึ่งอยู่อีกเมืองหนึ่งในช่วงฤดูร้อนปีหนึ่ง และได้สร้างความไม่พอใจให้กับรอนนี่อย่างมาก เนื่องจากเธอเกลียดพ่ออย่างมากที่ได้ทิ้งแม่ไป แต่ด้วยความรักแม่จึงต้องยอมจำใจทำตาม และได้ชวนน้องชาย “โจนาห์” วัยสิบเอ็ดปีไปอยู่ด้วยกัน

เมื่อไปถึงบ้านพ่อ เธอไม่พูดไม่จาและเห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด แม้กระทั่ง “เปียโน” เครื่องดนตรีที่เธอรักและเคยเล่นกับพ่อเมื่อครั้นอดีต วางอยู่กลางบ้าน ด้วยความรักที่ “สตีฟ” มีต่อลูกสาวมาก จึงทำการกั้นห้องเก็บ “เปียโน” หลังนั้นไว้ไม่ให้ “รอนนี่” ได้เห็นอีกต่อไป

เพราะไม่อยากเห็นหน้าพ่อ “รอนนี่” จึงหาทางออกไปเที่ยวนอกบ้านเสมอ ๆ ปล่อยให้น้องชายอยู่กับพ่อตามลำพัง ซึ่งยิ่งทำให้ทั้งคู่เข้ากันได้ดีมากขึ้น และมีงานทำด้วยกัน โดยเฉพาะการสร้างหน้าต่างโบสถ์ที่จะนำไปติดตั้งที่โบสถ์แห่งใหม่ที่สร้างทดแทนโบสถ์หลังเก่าที่ถูกเพลิงไหม้ไปเมื่อไม่นานมานี้

“รอนนี่” เที่ยวเตร็ดเตร่ไปตามย่านต่าง ๆ ภายในเมือง จนรู้จักผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “วิลล์” นักกีฬาวอลเล่ย์บอลชายหาด “มาร์คัส” นักเลงประจำย่าน และ “เปลวไฟ” แฟนของ “มาร์คัส”

วันหนึ่ง “รอนนี่” ออกจากบ้านแต่เช้า และได้พบกับ “มาร์คัส” ซึ่งแอบชอบ “รอนนี่” อยู่แล้ว “มาร์คัส” พยายามเข้ามาตีสนิทกับเธอ ภาพดังกล่าวไม่พ้นสายตาของ “เปลวไฟ” ทำให้ “เปลวไฟ” รู้สึกเกลียด “รอนนี่” มาก เพราะเข้ามาพัวพันกับคนรักของเธอ จึงหาทางกลั่นแกล้ง โดยหยิบเอาสิ่งของในห้างสรรพสินค้าใส่ลงไปในกระเป๋าถือของ “รอนนี่” จนในที่สุด “รอนนี่” ก็ถูกตำรวจจับดำเนินคดี

เมื่อ “สตีฟ” รู้ข่าวว่าลูกสาวถูกจับ เขาก็รีบไปประกันตัวเธอออกมาจากห้องขัง

“รอนนี่” รู้สึกแปลกใจอย่างมาก ที่พ่อไม่ดุว่ากล่าวอะไรเลย กลับแสดงความเห็นใจ ทำอาหารให้เธอกิน ทำให้ความเกลียดชังพ่อเบาบางลง

บริเวณหลังบ้านที่เธอกับพ่อพักอยู่เป็นชายหาดยาวที่เต่าขึ้นมาวางไข่เสมอ วันหนึ่งเธอเห็นพ่อไปนอนเฝ้ารังไข่เต่า เพราะกลัวว่า “ตัวแร็กคูน” จะมากินไข่ จึงเอ่ยปากอาสาที่จะมานอนเฝ้าแทนพ่อเอง ผลจากการมานอนเฝ้ารังไข่เต่า ทำให้เธอได้พบ “วิลล์” ที่ยังทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครดูแลพิพิธภัณฑ์ด้านสัตว์น้ำที่อยู่ในเมืองด้วย ทั้งคู่จำกันได้เมื่อครั้งที่ลูกวอลเล่ย์บอลกระเด็นมาโดนเสื้อเธอ

“รอนนี่” และ “วิลล์” เริ่มไปไหนมาไหนด้วยกัน และในที่สุดก็ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน

“รอนนี่” ได้ไปร่วมงานแต่งงานของ “เมแกน” พี่สาวของ “วิลล์” ตามที่เขาขอร้อง เธอได้พบกับพ่อแม่ของเขา ทำให้ “รอนนี่” รู้ว่า “วิลล์” เป็นลูกชายของมหาเศรษฐีของเมือง

“ซูซาน” แม่ของ “วิลล์” ไม่ชอบ “รอนนี่” เพราะความต่ำต้อยทางด้านฐานะ แต่ “รอนนี่”ก็ได้กำลังใจทั้งจาก “เมแกน” และ “ทอม” ผู้เป็นพ่อของ “วิลล์”

ยามใดที่ “รอนนี่” กลับมาถึงบ้าน ก็จะเห็นภาพพ่อกับน้องชายขลุกอยู่กับการทำหน้าต่างโบสถ์อยู่ในโรงเรือนข้างบ้านเสมอ

มีวันหนึ่งเธอกลับมาบ้านแต่ไม่พบพ่อ น้องชายบอกว่าพ่อไปหา “สาธุคุณแฮร์ริส” ตั้งแต่เช้าแล้ว ด้วยความสงสัย เธอเดินตามไปจนถึงโบสถ์ เบื้องหน้า คือ พ่อกำลังเล่นเปียโนอย่างมีความสุข และทันใดนั้นภาพที่เธอเคยเล่นเปียโนกับพ่อด้วยกันก็ปรากฏขึ้นมาในความทรงจำอีกครั้งหนึ่ง

“วิลล์” ได้มีโอกาสมาพบกับ “สตีฟ” จึงรู้ว่าเขากำลังหาทางสร้างโบสถ์หลังใหม่อยู่ จึงไปอ้อนวอนพ่อของตนเองให้ช่วยสนับสนุนเงินทุน ซึ่งพ่อของเขาก็ยินดีที่จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อใช้ในการสร้างโบสถ์หลังใหม่ที่สวยงามแห่งนี้

ช่วงฤดูร้อนค่อย ๆ ผ่านไปวันแล้ววันเล่า ความรักของ “รอนนี่” กับ “วิลล์” ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่ทั้งคู่ก็อดกังวลใจกับวันเวลาที่จำต้องแยกกันในไม่อีกกี่วันข้างหน้า เพราะ “วิลล์” ต้องไปเรียนต่อที่ต่างประเทศตามที่ แม่ของเขากำหนด ส่วน “รอนนี่” ก็จะต้องกลับไปอยู่กับแม่ของเธอเมื่อหมดฤดูร้อนปีนั้นเช่นกัน

สิ่งที่ทั้งคู่ทำได้ก็คือ “สัญญารัก” ว่าจะหาทางมาอยู่ด้วยกันให้จนได้

กิจกรรมสำคัญในช่วงปลายฤดูร้อนหนึ่ง คือ การแข่งขันวอลเล่ย์บอล ซึ่งทีมของ “วิลล์” ลงแข่งรอบชิงชนะเลิศด้วย ในขณะที่กำลังแข่งอยู่นั้น สายตาของ “วิลล์” ก็เหลือบไปเห็น “มาร์คัส” กำลังเล่น “ลูกไฟ” เพื่อเรียกเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชม

ช่วงหนึ่ง “มาร์คัส” โยนลูกไฟไปให้ “เปลวไฟ” ลูกมือของเขา เกิดพลาดทำให้ลูกไฟกระเด็นไปโดนเสื้อผ้าที่ “เปลวไฟ” ใส่ จนลุกไหม้ท่วมตัว ทำให้ “วิลล์” ที่กำลังเล่นบอลอยู่นั้นตกใจ รีบวิ่งออกจากเกมไปช่วย “เปลวไฟ” โดยมี “รอนนี่” ตามไปด้วย ทั้งคู่พา “เปลวไฟ” ส่งโรงพยาบาล ทำให้เธอรอดชีวิตมาได้ สร้างความซึ้งใจให้กับ “เปลวไฟ” ยิ่งนัก

ในงานเทศกาล “ปล่อยลูกเต่า” ลงทะเลมาถึง ไข่เต่าที่เธอกับ “วิลล์” และครอบครัวนอนเฝ้ามาตลอด ค่อย ๆ แตกตัวมีลูกเต่าหลายร้อยตัวคลานออกมาและเดินช้า ๆ ลงสู่ทะเล สร้างความสุขให้กับ “รอนนี่” เป็นอย่างมาก แต่ความดีใจก็เกิดขึ้นไม่นาน เพราะหลังงานเลิกงาน เธอเห็นพ่อล้มลงและใบหน้าเต็มไปด้วยเลือด

ในระหว่างที่พักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น ความลับที่พ่อของเธอเก็บไว้ก็ถูกเปิดเผยออกมาจากปากของ “สาธุคุณแฮร์ริส” ผู้ที่รัก “สตีฟ” เป็นอย่างมาก ว่า “สตีฟ” เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และกำลังจะจากโลกนี้ไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อีกทั้งพ่อยังเป็นผู้ขอร้องให้ “คิม” อนุญาตให้ “รอนนี่” กับ “โจนาห์” ลูกทั้งสองคนได้มาอยู่ด้วยกันในช่วงสุดท้ายของชีวิตเขาด้วย

เมื่อ “รอนนี่”และ “โจนาห์” รู้ความจริงทั้งหมด จึงพยายามหาทุกหนทางช่วยพ่อ โดยทำสิ่งต่าง ๆ ที่พ่อเธอรัก ทั้งคู่ชวน “วิลล์” ไปช่วยกันสร้างหน้าต่างโบสถ์ที่ประดับประดาไปด้วยกระจกสีที่สวยงามที่ทำค้างไว้จนเสร็จ

เมื่อ “คิม” มารับเธอกลับบ้าน “รอนนี่” ก็ปฏิเสธที่จะกลับไป โดยบอกว่าจะขออยู่ดูแล “พ่ออันเป็นที่รัก” ก่อน โดยขอร้องให้น้องชายกลับไปกับแม่ตามลำพัง และ “รอนนี่” ได้ขอร้องแม่ให้ส่งจดหมายของพ่อที่เขียนไปหาเธอหลายสิบฉบับ แต่เธอไม่เคยเปิดอ่านเลยเพราะความเกลียดที่มีต่อพ่อ ส่งกลับมาให้เธอด้วย

เมื่อถึงกำหนด “วิลล์” เดินทางไปเรียนหนังสือ ทำให้ชีวิต “รอนนี่” ต้องอยู่กับพ่อตามลำพัง เธอพยายามดูแลพ่อของเธออย่างดี พาเดินเที่ยวตามชายหาด ชวนพูดคุย

และในช่วงนี้เองขณะที่เธออยู่บ้าน “เปลวไฟ” ได้เดินทางมาหา และขอโทษที่แกล้งนำสิ่งของใส่กระเป๋าเธอ จนทำให้ “รอนนี่” ถูกดำเนินคดี แต่ด้วยความดีที่เธอกับ “วิลล์” ได้ช่วยชีวิตเธอไว้ “เปลวไฟ” จึงได้ไปสารภาพกับทางตำรวจถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และทำให้ “รอนนี่” กลายเป็นผู้บริสุทธิ์

ทุกวันรอนนี่จะโทรหาน้องชายและเล่าอาการของพ่อให้ฟัง เมื่ออยู่คนเดียวเธอก็เปิดจดหมายของพ่อ (ที่แม่ส่งกลับมาให้) ตั้งแต่ฉบับแรกเมื่อสามปีก่อนอ่าน จนทำให้เธอได้เห็นความรักของพ่อมากขึ้น และก็รู้สึกโกรธตัวเองที่คิดร้ายกับพ่อมาโดยตลอด

วันหนึ่ง “รอนนี่” ได้ไปพบกระดาษที่เขียนด้วยลายมือของ “สตีฟ” อยู่ในลิ้นชักโต๊ะทำงานที่พ่อนั่งทำงานอยู่เป็นประจำ “รอนนี่” เปิดอ่านดู จึงรู้ว่าเป็น “บทเพลง” ที่ “สตีฟ” แต่งค้างไว้ เธอจึงใช้เวลาเกือบทั้งวันในวันนั้นแต่งบทเพลงบทนั้นจนจบ

“รอนนี่” ไปชวน “เปลวไฟ” ให้มาช่วยกันรื้อกำแพงที่พ่อสร้างกั้นเปียโนเอาไว้ และทั้งคู่ค่อย ๆ ช่วยกันยกเปียโนมาวางไว้ที่กลางบ้าน

“รอนนี่” รีบบึ่งรถยนต์ไปรับพ่อที่โรงพยาบาล และเมื่อมาถึงบ้าน เธอค่อย ๆ พาพ่อไปนั่งที่โซฟาหน้าเปียโน เธอเดินเข้าไปประจำที่เปียโน พร้อมกับเอ่ยบอกกับพ่อว่า “บทเพลงของพ่อได้แต่งเสร็จแล้ว และลูกจะขอเล่นให้พ่อฟัง”

เสียงเปียโนที่แสนไพเราะได้ถูกถ่ายทอดมาจากหัวใจของ “รอนนี่” พร้อม ๆ กับรอยยิ้มผุดขึ้นที่มุมปากของผู้เป็นพ่อ

“รอนนี่” ได้ทราบข่าวจาก “สาธุคุณแฮร์ริส” ว่าโบสถ์ได้สร้างเสร็จพร้อมที่จะติดตั้งหน้าต่างที่ “สตีฟ” กับลูก ๆ ได้สร้างไว้ “รอนนี่” พยายามประคองร่างของพ่อไปร่วมในพิธี สายตาของ “สตีฟ” เฝ้ามองหน้าต่างที่ถูกติดตั้งในโบสถ์หลังใหม่ ด้วยสายตาที่มีความสุขที่สุด

“สตีฟ” ได้ขอร้องกับ “รอนนี่” ว่า เขาอยากจากโลกนี้ไปอย่างสงบ ซึ่งเขาได้ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับการรักษา (DNR) ไว้แล้ว แม้รอนนี่จะรักพ่อปานใด แต่เธอก็ต้องทำตามความประสงค์ของพ่อ

แล้ว “สตีฟ” ก็จากโลกนี้ไป ทิ้งความเศร้าโศกเสียใจไว้กับ “รอนนี่” เป็นอย่างมาก ในงานศพของ “สตีฟ” มีผู้ร่วมงานไม่มาก แต่สิ่งที่เธอแปลกใจมากก็คือ “วิลล์” ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วยพร้อมกับพ่อและแม่ของเขา

หลังเสร็จสิ้นงานศพพ่อ “รอนนี่” ย้ายกลับมาอยู่กับแม่และน้องชายที่เมืองนิวยอร์ก เธอเริ่มกลับไปเรียนเปียโนต่อหลังจากทิ้งไป และนำบทเพลงบทสุดท้ายมาเล่นอยู่สม่ำเสมอ และเมื่อเล่นเพลงนั้นครั้งใดเธอก็จะน้ำตาไหลซึมด้วยความคิดถึงพ่อทุกคราไป

ในตอนจบของนิยายเรื่องนี้ เป็นตอนที่ “รอนนี่” กำลังเล่นเพลงบทสุดท้ายอยู่ และเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น เธอเหลือบไปเห็นชื่อ “วิลล์” อยู่บนหน้าจอโทรศัพท์ ทั้งคู่ต่างพูดคุยกันอย่างมีความสุข ถามไถ่ถึงชีวิตของแต่ละฝ่ายด้วยความคิดถึงและเป็นห่วงซึ่งกันและกัน

และแวบหนึ่งพลันสายตาของ “รอนนี่” ก็หันไปเห็น “วิลล์” กำลังเดินเข้ามาหา เธอตกใจเป็นอย่างมาก ทั้งคู่โผเข้าหากันด้วยความรัก

“วิลล์” ได้บอกกับ “รอนนี่” ว่าเขาได้ทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ โดยได้โอนหน่วยกิตมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในเมืองนิวยอร์กเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสร้างความสุขให้กับ “รอนนี่” เป็นยิ่งนัก

พ่ออ่านนวนิยายเรื่องนี้จนจบแล้ว นอกจากความสุขและความเต็มตื้นที่ได้รับ พ่อยังเห็นคุณค่าของความรักที่ยิ่งใหญ่ทั้งความรักระหว่าง “พ่อกับลูก” นั่นก็คือ ความรักที่ “สตีฟ” มีให้กับ “รอนนี่” ลูกสาวของเขาและได้เห็นความรักที่ “รอนนี่” มอบคืนให้กับพ่อของเธอในระยะสุดท้ายของชีวิต

พ่อยังได้เห็นความของ “คู่รัก” ระหว่าง “วิลล์” กับ “รอนนี่” ที่ทั้งคู่รักกัน แม้จะถูกกีดกันจากครอบครัว แต่ทั้งคู่ก็ทำตามสัญญาที่ให้กันไว้

พ่อได้เห็นความรักที่ “รอนนี่” มีให้ต่อ “โจนาห์” น้องชายของเธอ ได้เห็นความรักที่ “สาธุคุณแฮร์ริส” มอบให้กับ “สตีฟ” ได้เห็นความรักที่ “วิลล์” มีให้กับเพื่อน ๆ ของเขาหลายคน

เหล่านี้เป็นความรักในหลากหลายมิติมาก ซึ่งสิ่งที่พ่อได้เขียนเล่ามานั้น ยังเล่าได้ไม่หมดเหมือนที่ผู้แต่งได้แต่งไว้ เพราะบางครั้งความรักก็ไม่สามารถอธิบายแทนได้ด้วยตัวอักษร ไม่ต่างจากที่“สตีฟ” ได้บอกกับ “รอนนี่” ลูกสาวของเขาว่า “ลูกเป็นผู้วิเศษที่สุดในหัวใจพ่อ พ่อภูมิใจที่มีลูกที่แสนดีเช่นนี้” คำพูดสั้น ๆ เพียงเท่านี้ แต่กลับสะท้อนถึงพลังความรักที่ยิ่งใหญ่และท่วมท้นของผู้เป็นพ่อถึงลูกอย่างถึงที่สุด

รักลูกมากครับ

“พ่อโต

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

"บอกรักประเทศไทย" กับ "ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง"

๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

ณ ที่ชุมนุมของ กปปส. บริเวณสี่แยกอโศก หลังเลยเวลาเคารพธงชาติช่วงเย็นย่ำไปเล็กน้อยของวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาคือ “วันมาฆบูชา” และวันแห่งความรักหรือ “วันวาเลนไทน์” หรือวันที่ชาว กปปส. เรียกกันว่า “วันบอกรักประเทศไทย” "ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล" ได้ขึ้นเวทีและมีบางช่วงของการปราศรัยพูดขึ้นมาว่า

“....ประเทศไทยไม่ใช่ Full Democracy แต่เป็น Flawed Democracy Flawed Democracy แปลว่า ประชาธิปไตยแบบมีตำหนิ ประเทศไทยจึงจัดเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยต่ำเป็นลำดับที่ ๕๘ ของโลก จาก ๑๖๗ ประเทศ ประชาธิปไตยของไทยภายใต้ระบอบทักษิณ บกพร่อง ล้มเหลวในทุกดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย....”

ผมนึกในใจ “อาจารย์สมเกียรติใช้คำยากจังเลยครับ แล้วชาวบ้านจะเข้าใจไหมเนี่ย!!!! เพราะนี่เป็นศัพท์เฉพาะที่จำเป็นต้องอธิบายและขยายความมิใช่น้อย” ต้องไม่ลืมว่าการถ่ายทอดสดผ่านช่องบลูสกายได้กระจายไปทุกหัวระแหงหย่อมหญ้า จากในกลางเมืองหลวงสู่ท้องทุ่งบ้านลุงปัง ช่างตัดผมประจำตัว และบ้านยายที่ซักผ้าให้ครอบครัวผม

พอเห็นคำอภิปรายวันนี้ ผมเลยอดนึกถึงความทรงจำส่วนตัวตอนเป็นนักศึกษารามคำแหงขึ้นมาไม่ได้ สมัยนั้นผมทำกิจกรรมตลอด ๔ ปีในรั้วมหาวิทยาลัย สมัยที่ประเทศไทยยังเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” กองทัพยังมีบทบาททางการเมืองสูงมาก มีนายกรัฐมนตรีชื่อ “พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” กับ “พลเอกเปรม ติณสูลานนท์” เป็นยุคที่รัฐธรรมนูญได้เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ “อยากตั้งใครก็ตั้งได้เลย”

กิจกรรมนักศึกษาส่วนใหญ่จึงเป็นไปเพื่อการเรียกร้องประชาธิปไตย และขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง เพราะนี่คือสัญลักษณ์หนึ่งของประชาธิปไตย "รัฐบาล" ต้องมาจาก "เสียง" ของ "ประชาชน" ไม่ใช่มาจากเสียงของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เสียงข้างมากในสภามากแค่ไหนก็ต้องฟัง

แต่พอมาถึงช่วงสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร" และยุคปัจจุบันที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" คำว่า “ประชาธิปไตย” ในความหมายของเขา มีความหมายเพียง “เป็นเครื่องมือในการเถลิงอำนาจ การเลือกตั้ง กลายเป็นกระบวนการเปลี่ยนบุคคลในครอบครัวทักษิณขึ้นมาครองอำนาจ” เราจึงพบการเข้าไปแทรกแซงระบบราชการ ระบบการเมือง องค์อิสระต่าง ๆ ด้วยระบบพวกพ้องและเงินตรา และนำไปสู่การคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ในประเทศไทย

และนี้เป็นที่มาสำคัญของคำว่า “Flawed Democracy ที่แปลว่า ประชาธิปไตยแบบมีตำหนิ” ดั่งที่ "ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล" ได้ปราศรัยไว้ ซึ่งสอดคล้องกับคะแนนที่ประเทศไทยได้รับจากการจัดอันดับผ่าน “ดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย” นั่นเอง

ผมลองหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะได้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า “ดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย” เขาวัดกันอย่างไร ถึงทำให้ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำมากเช่นนั้น
มีเอกสารวิชาการเรื่องหนึ่งจัดทำโดย “ยุวดี เทพยสุวรรณ” จากสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง “ดัชนีชี้วัดประชาธิปไตย” เมื่อปี ๒๕๕๑ ซึ่งเรียบเรียงมาจากเรื่อง The Economist Intelligence Unit’s index of democracy เผยแพร่ในวารสาร The Economist เขียนโดย "Laza Kekic" นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจาก Economist Intelligence Unit (EIU) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการศึกษาและวิจัยด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

EIU ได้คิดค้นเครื่องมือวัดความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ หรือที่เรียกว่า “ดัชนีชี้วัดประชาธิปไตย” (Democracy Index) ใน ๕ ประเด็น คือ

๑) กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม (Electoral process and pluralism)
๒) เสรีภาพพลเมือง (Civil liberties)
๓) หน้าที่ของรัฐบาล (Functioning of government)
๔) การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political participation) และ
๕) วัฒนธรรมทางการเมือง (Political culture)

คะแนนชี้วัดในแต่ละประเด็นจะมีตั้งแต่ ๐ ถึง ๑๐ และค่าของคะแนนนี้ถูกใช้เพื่อกำหนดประเทศต่างๆ ออกเป็น ๔ ระบบ คือ

๑) ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ (Full democracies) ระดับคะแนน ๘ ถึง ๑๐
๒) ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่บกพร่อง (Flawed democracies) ระดับคะแนน ๖ ถึง ๗.๙
๓) ประเทศที่มีการปกครองแบบผสม (Hybrid regimes) ระดับคะแนน ๔ ถึง ๕.๙
๔) ประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ (Authoritarian regimes) ระดับคะแนนต่ำกว่า ๔

โดยในแต่ละประเด็นจะมีตัวชี้วัดย่อย ๆ ซึ่งรวมแล้วมีทั้งหมด ๖๐ ตัวชี้วัด มีรายละเอียดดังนี้

๑) ตัวชี้วัดของ “กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม” มีทั้งสิ้น ๑๒ ข้อ ได้แก่

๑.๑ การเลือกตั้งของฝ่ายนิติบัญญัติแห่งชาติและหัวหน้ารัฐบาลเป็นไปอย่างอิสระหรือไม่ พิจารณาว่าการเลือกตั้งมีการแข่งขันโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอิสระในการออกเสียงและมีทางเลือกได้หลากหลายหรือไม่
๑.๒ การเลือกตั้งสำหรับฝ่ายนิติบัญญัติแห่งชาติและหัวหน้ารัฐบาลมีความยุติธรรมหรือไม่
๑.๓ การเลือกตั้งระดับเทศบาลมีความเป็นอิสระและยุติธรรมหรือไม่
๑.๔ ให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่ผู้ใหญ่ทุกคนหรือไม่
๑.๕ พลเมืองสามารถออกเสียงเลือกตั้งโดยปราศจากการคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยจากรัฐหรือองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (Non – state bodies) หรือไม่
๑.๖ กฎหมายเปิดโอกาสให้มีการรณรงค์หาเสียงอย่างแพร่หลายหรือไม่
๑.๗ กระบวนการในการให้เงินอุดหนุนพรรคการเมืองมีความโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปหรือไม่
๑.๘ หลังการเลือกตั้ง กลไกของรัฐธรรมนูญในการส่งผ่านอำนาจจากรัฐบาลหนึ่งไปสู่อีกรัฐบาลหนึ่งมีความชัดเจน แน่นอน และเป็นที่ยอมรับหรือไม่
๑.๙ พลเมืองมีอิสระในการจัดตั้งพรรคการเมืองที่เป็นอิสระจากรัฐบาลได้หรือไม่
๑.๑๐ พรรคฝ่ายค้านมีโอกาสจริงๆ หรือไม่ในการได้เป็นรัฐบาล
๑.๑๑ พลเมืองทุกคนมีสิทธิเข้าถึงตำแหน่งในรัฐบาลหรือไม่
๑.๑๒ พลเมืองมีอิสระในการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองและองค์กรภาคพลเมืองหรือไม่ และเป็นอิสระจากการแทรกแซงของรัฐและการควบคุมของรัฐหรือไม่

๒) ตัวชี้วัดของ “เสรีภาพพลเมือง” มีทั้งสิ้น ๑๔ ข้อ ได้แก่

๒.๑ ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งมีการตัดสินใจได้อย่างอิสระต่อการกำหนดนโยบายรัฐบาลหรือไม่
๒.๒ สภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดทางการเมือง มีอำนาจสูงกว่าฝ่ายอื่นในรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัดหรือไม่
๒.๓ มีระบบการถ่วงดุลอำนาจในการบริหารงานของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพหรือไม่
๒.๔ รัฐบาลมีความเป็นอิสิระจากอิทธิพลของกองทัพหรือฝ่ายบริการความมั่นคงหรือไม่
๒.๕ พลังอำนาจของต่างประเทศไม่สามารถกำหนดภาระหน้าที่หรือนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลได้
๒.๖ กลุ่มทางเศรษฐกิจ ศาสนา หรือกลุ่มผู้มีอำนาจในประเทศไม่ได้ใช้อำนาจทางการเมืองที่สำคัญ และขนานไปกับสถาบันประชาธิปไตยหรือไม่
๒.๗ ระหว่างการเลือกตั้ง มีกลไกและสถาบันที่ทำให้รัฐบาลรับผิดชอบผู้มีสิทธิเลือกตั้งในช่วงระหว่างการเลือกตั้งหรือไม่
๒.๘ อำนาจของรัฐบาลขยายครอบคลุมทั่วทั้งประเทศหรือไม่
๒.๙ บทบาทหน้าที่ของรัฐบาลมีความเปิดเผยและโปร่งใสเพียงพอต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสาธารณชนหรือไม่
๒.๑๐ คอร์รัปชั่นมีการแพร่หลายมากน้อยเพียงใด
๒.๑๑ ข้าราชการพลเรือนมีความเต็มใจและมีความสามารถในการนำนโยบายรัฐบาลไปปฏิบัติหรือไม่
๒.๑๒ ความรู้สึกของประชาชนว่ามีทางเลือกที่อิสระและสามารถควบคุมชีวิตตนมากน้อยเพียงใด
๒.๑๓ ความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อรัฐบาล
๒.๑๔ ความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อพรรคการเมือง

๓) ตัวชี้วัดด้าน “การมีส่วนร่วมทางการเมือง” มีทั้งสิ้น ๙ ข้อ ได้แก่

๓.๑ การมีส่วนร่วม (อัตราการออกเสียงเลือกตั้งโดยคิดตามสัดส่วนอายุของประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้ง)
๓.๒ เชื้อชาติ ศาสนา และคนกลุ่มน้อยต่างๆ มีความเป็นอิสระอย่างเหมาะสมหรือไม่ และมีสิทธิมีเสียงในกระบวนการทางการเมืองหรือไม่
๓.๓ ผู้หญิงในรัฐสภา (เปอร์เซ็นต์ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่เป็นผู้หญิง)
๓.๔ ระดับของการมีส่วนร่วมทางการเมืองสมาชิกของพรรคการเมืองและองค์กรที่มิใช่รัฐ (NGO) ทางด้านการเมือง
๓.๕ การเกี่ยวข้องของประชาชนทางด้านการเมือง
๓.๖ ความพร้อมของประชากรในการมีส่วนร่วมในการประท้วงที่อยู่ในขอบเขตตามที่กฎหมายกำหนด
๓.๗ การอ่านออกเขียนได้ของผู้ใหญ่
๓.๘ ประชากรผู้ใหญ่ที่มีความสนใจและติดตามข่าวการเมืองมีระดับมากน้อยเพียงใด
๓.๙ เจ้าหน้าที่รัฐมีความพยายามอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมือง

๔) ตัวชี้วัดด้าน “วัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตย” มีทั้งสิ้น ๘ ข้อ ได้แก่

๔.๑ มีระดับฉันทามติของสังคมและการร่วมกันสร้างความมั่นคงให้ระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปด้วยดีหรือไม่
๔.๒ ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นผู้นำ (สัดส่วนของประชากรที่ต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง โดยมองข้ามรัฐสภาและการเลือกตั้ง)
๔.๓ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปกครองโดยทหาร (สัดส่วนของประชากรที่ปรารถนาจะให้กองทัพมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง)
๔.๔ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปกครองโดยผู้เชี่ยวชาญหรือรัฐบาลแบบเทคโนเครต (technocratic government) (สัดส่วนของประชากรที่ปรารถนาการปกครองโดยผู้เชี่ยวชาญหรือเทคโนเครตมากกว่า)
๔.๕ ความคิดเห็นเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยและความสงบเรียบร้อยของสังคม (สัดส่วนของประชากรที่เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ดีต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน)
๔.๖ ความคิดเห็นเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจ (สัดส่วนของประชากรที่เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยเอื้อต่อการสร้างผลงานทางเศรษฐกิจ)
๔.๗ ระดับของประชาชนที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย
๔.๘ มีประเพณีที่เคร่งครัดต่อการแบ่งแยกระหว่างศาสนจักรและรัฐ

๕) ตัวชี้วัดด้าน “เสรีภาพพลเมือง” มีทั้งสิ้น ข้อ ได้แก่

๕.๑ มีสื่อแบบอิเลคโทรนิคส์ที่เป็นอิสระหรือไม่
๕.๒ มีสื่อ สิ่งพิมพ์อย่างอิสระหรือไม่
๕.๓ มีเสรีภาพในการแสดงออกและการประท้วงหรือไม่
๕.๔ การรายงานข่าวของสื่อมีความเที่ยงตรงหรือไม่ มีการเปิดโอกาสและให้อิสระในการถกเถียงปัญหาของสาธารณะด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างกันหรือไม่
๕.๕ มีข้อจำกัดทางการเมืองในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตหรือไม่
๕.๖ พลเมืองมีอิสระในการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพและสหภาพแรงงานหรือไม่
๕.๗ สถาบันให้โอกาสพลเมืองในการยื่นร้องทุกข์ต่อรัฐบาลเพื่อให้แก้ไขความเดือดร้อนหรือไม่
๕.๘ การใช้วิธีการทรมานโดยรัฐ
๕.๙ ระดับของอำนาจตุลาการที่อิสระจากอิทธิพลของรัฐบาลพิจารณาถึงมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศและการตรวจสอบอำนาจตุลาการ และศาลเคยตัดสินเรื่องสำคัญที่ขัดต่อรัฐบาลหรือข้าราชการระดับสูงหรือไม่
๕.๑๐ ระดับของการยอมรับในศาสนาอื่นๆ และเสรีภาพในการแสดงออกในศาสนาต่างๆ ทุกศาสนามีโอกาสดำเนินกิจกรรมอย่างอิสระหรือไม่ หรือมีข้อจำกัดหรือไม่ ทั้งโดยปัจเจกบุคคลและสาธารณะมีสิทธิในการนับถือหรือไม่ และแม้ว่ากฎหมายให้ความเท่าเทียมและการคุ้มครอง แต่บางศาสนาถูกข่มขู่หรือไม่
๕.๑๐ ระดับพลเมืองที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายพิจารณาว่ามีสมาชิกของใดที่ได้รับความคุ้มครองจะไม่ถูกฟ้องร้องตามกฎหมายหรือไม่
๕.๑๑ พลเมืองพอใจระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐานหรือไม่
๕.๑๒ ระดับของสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนตัวและธุรกิจเอกชนมีความเป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐบาล
๕.๑๓ ระดับของพลเมืองที่พอใจในเสรีภาพของปัจเจกบุคคล พิจารณาถึงความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิในการเดินทาง การทำงานและการศึกษา
๕.๑๔ ความคิดเห็นของประชากรต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน (สัดส่วนของประชากรที่คิดว่าสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานได้รับการคุ้มครองอย่างดี)
๕.๑๕ ไม่มีการขีดกันด้วยเหตุผลของเชื้อชาติ สีผิวหรือความเชื่อทางศาสนา
๕.๑๖ ระดับของรัฐบาลที่อ้างถึงความเสี่ยงและการคุมคามใหม่ๆ เพื่อควบคุมเสรีภาพพลเมือง

เมื่อทราบตัวชี้วัด “ความเป็นประชาธิปไตย” แล้ว เรามาดูผลการจัดอันดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ กันดีกว่า รวมถึงประเทศไทยด้วย

(๑) ในปี ๒๕๓๙ ประเทศสวีเดนถูกจัดให้อยู่ในอันดับ ๑ จากทั้งหมด ๑๖๗ ประเทศ โดยมีคะแนนรวมทั้งสิ้น ๙.๘๘ ในขณะที่ประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ ๙๐ โดยมีคะแนนรวมทั้งสิ้น ๕.๖๗ ซึ่งหมายความว่าเป็นประเทศที่ยังมีการปกครองแบบผสม (Hybrid regime) คือยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

(๒) ในการสำรวจเมื่อปี ๒๕๕๓ พบว่าประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงสุด คือ นอร์เวย์ ด้วยคะแนนรวม ๙.๘๐ ในขณะที่ประเทศไทย เลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับที่ ๕๘ ด้วยคะแนนรวม ๖.๕๕ ซึ่งตกอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประชาธิปไตยที่บกพร่อง (Flawed democracies) อยู่

(๓) ล่าสุดผลการสำรวจในปี ๒๕๕๕ ยังพบว่าประเทศนอร์เวย์ ยังอยู่อันดับที่ ๑ และประเทศไทยก็ยังยืนในอันดับที่ ๕๘ เหมือนเดิม

(๔) หากวิเคราะห์ประเทศที่มี “ความเป็นประชาธิปไตย” สูงสุด ๑๐ อันดับแรก ซึ่งได้แก่ ประเทศนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ จะพบว่า มีถึง ๗ ประเทศ ที่มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข หาใช่ประเทศที่มีระบอบแบบประธานาธิบดีไม่

(๕) สำหรับประเทศมหาอำนาจที่สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างออกหน้าออกตาอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา นั้นจัดอยู่ในอันดับที่ ๑๙ ส่วนอังกฤษ อยู่ในอันดับที่ ๑๘ และญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ ๒๑

(๖) สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จัดอยู่ในอันดับที่ ๕๘ นำหน้าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย (๖๐) มาเลเซีย (๗๑) ฟิลิปปินส์ (๗๕) ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ และนำหน้าประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เช่น ฮ่องกง (๘๐) สิงคโปร์ (๘๑) กัมพูชา (๑๐๑) เวียดนาม (๑๔๓) ลาว (๑๕๖) และพม่า (๑๖๑)

แต่อย่าเพิ่งดีใจกับอันดับที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านนะครับ เพราะผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ประเทศต่าง ๆ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นหากประเทศไทยยังหยุดนิ่งอยู่กับที่หรือเดินถอยหลัง วันนั้นประเทศไทยเราอาจมีอันดับเป็นเลขสามตัวก็ได้

อีกทั้งเมื่อพิจารณา “ดัชนีชี้วัดประชาธิปไตย” ทั้ง ๕ ประเด็น แล้ว ก็จะเห็นชัดเจนว่า “การเลือกตั้ง” นั้นเป็นเพียง ๑ ใน ๕ องค์ประกอบของ “ความเป็นประชาธิปไตย” เท่านั้น

ฉะนั้นจึงอย่าติดหล่มกับคำว่า “การเลือกตั้ง” เพียงคำเดียวว่านี้เป็นความหมายของ “ประชาธิปไตย” เพราะยังมีอีกหลายดัชนี้ชี้วัดที่จะบ่งบอก “ความรักประเทศไทย” ที่จะสร้างประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยได้มากกว่า “การไปเลือกตั้ง” เพียงอย่างเดียวเท่านั้นครับ

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เมื่อพลังมดล้มช้างที่สระบัว

๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

“เพราะทะเล คือ ชีวิต และชีวิต คือ ทะเล ออกทะเลจับปูได้กินปู ลงอวนปลาได้กินปลา เราภูมิใจที่คนท่าศาลาสามารถเลี้ยงชาวนครศรีธรรมราช และคนไทยได้ทั้งประเทศ”

นี้คงไม่ใช่คำพูดกล่าวเกินจริง เบื้องหน้าผม คือ ท้องทะเลอ่าวไทยสีคราม ขอบฟ้าเบื้องหน้าจรดขอบน้ำดูไกลสุดตา บริเวณชายหาดมีเพิงไม้ปลูกเรียงรายไปทั่วบริเวณ บางเพิงมีเรือประมงลำเล็กจอดทิ้งไว้ มองไปบนเรือเห็นเครื่องมือหาปลาเตรียมพร้อมสำหรับการออกไปหากินยามน้ำทะเลขึ้น

ผมกำลังอยู่ที่หมู่บ้านสระบัว ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่อำเภอท่าศาลา นี้คือ ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านที่ใหญ่ที่สุดในนครศรีธรรมราช

ตลอดแนวยาวของพื้นที่ชายฝั่งอำเภอท่าศาลา ชาวบ้านเรียกที่นี่ว่า “อ่าวทองคำ” เป็นพื้นที่ที่ดำรงความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของอ่าวไทย สามารถทำประมงได้ตลอดทั้งปี และสร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยโดยรวมกว่า ๕๐๐ ล้านบาทต่อปี

ดังนั้นหากเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ผมและคณะ อันประกอบด้วย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) คณะกรรมการบริหาร (คบ.) เจ้าหน้าที่จากสำนักงบประมาณ สื่อมวลชน และจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รวมกว่า ๔๐ คน ได้เดินทางมายัง ณ สถานที่แห่งนี้ เพื่อเรียนรู้ถึงเรื่องราวการต่อสู้ของคนในพื้นที่จากสิ่งคุกคามต่าง ๆ เพื่อปกปักรักษาผืนแผ่นดินแห่งนี้ไว้ให้ลูกหลานในอนาคต

ผมอดนึกถึง “โครงการจัดการน้ำมูลค่า ๓.๕ แสนล้าน” ที่ได้รับการต่อต้านจากประชาชนทั่วประเทศขึ้นมาไม่ได้โดยทันที แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ จะมีการระบุไว้ในมาตรา ๖๖ ว่า “บุคคลซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน”

แต่ที่ผ่านมากลับพบว่าแทบทุกรัฐบาลต่างละเลยต่อบทบัญญัติดังกล่าว มิหนำซ้ำกลับมีการกระทำที่ตรงกันข้าม เราจึงได้เห็นนโยบาย แผนงาน โครงการต่าง ๆ ที่มองข้ามความสำคัญของเรื่อง “สิทธิชุมชน” ดังกล่าวไป

ณ ริมทะเลบริเวณบ้านสระบัว อันเป็นที่ตั้งของ “สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลา” ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จได้ไม่นาน เป็นอาคารชั้นเดียวก่อสร้างด้วยอิฐถือปูน ด้านหน้าของตัวอาคารหันหน้าสู่ท้องทะเลสีคราม ภายในตัวอาคารมีโต๊ะและเก้าอี้ไว้พร้อมสำหรับการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้

วิดีทัศน์ “คืนชีวิต ให้ทะเล” ถูกนำเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ในพื้นที่ร่วมกันเป็นอันดับแรก และตามติดด้วยเวทีเสวนาจากนักเล่าเรื่องผู้ทำจริงที่พรั่งพรูเรื่องราวไม่ขาดสาย

๑๐ ปีที่ผ่านมา จึงเป็น ๑๐ ปี ของการเดินทางอย่างยืนหยัดของคำว่า “สิทธิชุมชน” ณ พื้นที่แห่งนี้

ช่วงแรก เป็นการแย่งชิงทรัพยากรในทะเล ทั้งระหว่างชาวบ้านภายในหมู่บ้านด้วยกันเองที่นำเครื่องมือประมงที่ไม่ถูกกฎหมาย อาทิ ยาเบื่อ ระเบิด มาใช้ และระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มประมงพาณิชย์ ที่มีการนำเรือประมงขนาดใหญ่เข้ามาทำการคราดหอยลายวันละ ๕๐ – ๖๐ ลำ จนทำให้ระบบนิเวศน์สูญเสียไป สิ่งมีชีวิตภายใต้ท้องทะเล ทั้งปะการัง สัตว์น้ำ และพืชน้ำต่าง ๆ ถูกทำลาย

สถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความขัดแย้งภายในชุมชน และเกิดการลอบทำร้ายกัน จนในที่สุดกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพ” ได้ถูกหยิบยกและนำเข้าไปใช้แก้ไขปัญหา เชื้อเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมปรึกษาหารือ มีการออก “ข้อบังคับตำบลท่าศาลา ว่าด้วยการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” กำหนดกติกาและบทกำหนดโทษการทำประมงที่ทุกฝ่ายยอมรับ

ช่วงที่สอง มีแผนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือโครงการเซ้าท์เทิร์นซีบอร์ด เข้ามาในพื้นที่ นำมาซึ่งการต่อต้านของคนในพื้นที่อย่างหนัก ผลของการต่อสู้อย่างหนักหน่วงนำมาสู่การจัดทำ “สัญญาประชาคม” ร่วมกันของภาครัฐและคนในพื้นที่

ช่วงที่สาม มีโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกจากบริษัทข้ามชาติ “เชฟรอน” เข้ามาดำเนินการที่นี่ ถือเป็นอภิมหาโปรเจกต์

การต่อสู้กับยักษ์ใหญ่ครั้งนี้ เครื่องมือทุกอย่างถูกนำมาใช้ในการต่อสู้ ทั้งการเดินขบวน ร้องเรียน การเข้าพบ เพื่อคัดค้านโครงการทุกรูปแบบ และในที่สุดเครื่องมือที่ชื่อว่า “การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพชุมชน” หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “เอชไอเอชุมชน” ก็ถูกนำมาปรับใช้ เพื่อยืนยันว่า ที่นี่ คือ อ่าวทองคำ คือ แหล่งผลิตอาหารทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของอ่าวไทย แม้ปัจจุบันโครงการนี้ยังไม่หยุดการดำเนินการ แต่ทิศทางที่เห็นชัดคือ ทางเชฟรอนได้ประกาศชะลอโครงการบนพื้นที่นี้ไปแล้ว

ถ้อยคำจากนักเล่าเรื่องทั้งจาก “ทรงวุฒิ พัฒแก้ว” หรือ “หนู” ชายหนุ่มวัย ๓๐ ปีเศษ แกนนำคนสำคัญในพื้นที่ กับ “ประสิทธิชัย หนูนวล” นักวิชาการภายนอกที่ลงมาทำงานในพื้นที่ โดยยอมทิ้งเป้าหมายการเรียนปริญญาเอกไว้เบื้องหลัง ได้ปลุกเร้าคนฟังให้ตื่นตัว ทึ่ง และศรัทธาต่อการต่อสู้ของคนในพื้นที่เสียยิ่งนัก

ภายหลังการนำเสนอ มีผู้เข้าประชุมคนหนึ่งได้ตั้งคำถามต่อคนในพื้นที่อย่างน่าสนใจว่า

“มองประสิทธิชัย ซึ่งเป็นคนภายนอกที่เข้ามาทำงานในพื้นที่อย่างไร ?”

“เขาเหมือนอากาศครับ เป็นผู้เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างพื้นที่กับระดับชาติได้เป็นอย่างดี มีอะไรใหม่ๆจากภายนอกเขาก็นำเอาเข้ามาให้คนในพื้นที่ได้เรียนรู้ และปรึกษาหารือกัน และเป็นผู้นำพาข้อมูลและความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ไปสู่หน่วยงานต่าง ๆ ภายนอก ให้เข้าใจเรื่องราวของคนที่นี่มากขึ้น เขาจึงเหมือนอากาศที่คอยเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ให้มาเจอกัน”

หลังจากนั้น "นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ" เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า

หนึ่ง ได้เห็นกระบวนการทำงานของคนที่นี่ ที่พวกเขาไม่คิด “จะฝากปัญหา” ไว้กับคนอื่น แต่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาด้วยสองแรงและพลังเล็ก ๆ ที่กล้าแกร่งของตัวเอง

สอง คนที่นี่มีการทำงานตามกลยุทธ์ของซุนวู ที่ว่า “รู้เรา รู้เขา รบร้อย บ่พ่าย” ซึ่งจะเห็นได้จากเริ่มต้นด้วยการ “รู้เรา” ก่อน มีการจัดทำข้อมูลต่าง ๆ ที่รอบด้าน แล้วจึง “รู้เขา” โดยการศึกษาข้อมูลจากสิ่งคุกคามต่าง ๆ อย่างรอบด้าน และนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับใช้ในการกำหนดวิธีการทำงานต่อไป

สาม ปัจจัยคุกคามที่ถาโถมเข้ามาในพื้นที่ เนื่องมาจาก
(๑) สงครามแย่งชิงฐานทรัพยากรโดยละเลย “สิทธิชุมชน”
(๒) โครงสร้างฐานอำนาจ ที่อำนาจการตัดสินใจยังอยู่ที่ข้างบน ฉะนั้น ทางออกที่สำคัญก็คือ “การกระจายอำนาจ” ลงไปยังข้างล่างหรือพื้นที่โดยเร็ว และ
(๓) นี้คือปัญหาที่เกิดจาก “ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน” ที่เมื่อได้อำนาจไปแล้ว ก็คิดว่าประชาชนมอบอำนาจมาให้ โดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่เป็นฐานเสียงอย่างจริงจัง ทางออกที่ดีก็คือการสร้าง “ระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ให้ขยายวงให้มากที่สุด

สี่ แนวทางสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย ก็คือ การเสริมสร้าง “พลังพลเมือง” ให้เข้มแข้ง ให้พลังพลเมืองเหล่านี้เข้ามามีบทบาทในการ “เฝ้าระวัง เป็นธุระและสนใจไปทุกเรื่อง”

สี่ข้อเสนอของ "นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ" ทำให้ผมนึกถึง “พลังมด” ขึ้นมา เราคงเคยเห็นมดต่างช่วยกันขนย้ายอาหารที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวมันหลาย ๆ เท่าไปยังรังของพวกมันได้ ซึ่งมีสัตว์ไม่กี่ชนิดที่มีความสามารถเช่นนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านสระบัวนี้ สามารถนำมาเปรียบเปรยกับการต่อสู้ของมนุษย์ต่อโครงการพัฒนาของรัฐที่มีขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งยังเป็นรูปธรรมของการปฏิบัติตามมาตรา๖๖ ในเรื่อง “สิทธิชุมชน” ที่ชัดเจนที่สุด

ผลจากการต่อสู้ของชุมชนแห่งนี้ ทำให้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ เห็นพ้องกันว่าสมควรประกาศเกียรติคุณต่อสาธารณะ โดยมอบรางวัล “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๖” กรณีที่มีการนำเครื่องมือ “เอชไอเอชุมชน” ไปพัฒนาจนเกิดเป็นรูปธรรม โดยคนในชุมชนจะเข้ารับรางวัลในเวทีประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร

ก่อนถึงเวลาปิดเวที ณ วันนี้ “คุณรัตนา สมบูรณ์วิทย์” กรรมการสุขภาพแห่งชาติที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วย ได้ทำหน้าที่เป็นผู้กล่าวขอบคุณและปิดเวที

ส่วนผมกลับเกิดบางความรู้สึกในใจ ซาบซึ้งและศรัทธาไปกับบทเรียนอันทรงคุณค่ายิ่งครั้งนี้ ในกระบวนการของ “พลังมด” ที่หาญกล้าลุกขึ้นต่อสู้กับ “พลังช้าง” อันเป็นภัยคุกคามทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จึงขอยกมืออ่านบทกลอนที่แต่งขึ้นสด ๆ ในระหว่างที่นั่งฟังการเล่าเรื่องไปด้วย ภายใต้ชื่อ “พลังมดที่สระบัว” ว่า

…..ทอดสายตา แลมุ่ง ไปตรงหน้า........จรดขอบฟ้า ทะเลใส ดูไร้คลื่น
มองเผินเผิน ชีวิต ทุกวันคืน..............ดูราบรื่น มีสุข ไร้คลื่นลม

…..แกะสกัด ย้อนถอย รอยวิถี .......... ณ ที่นี้ ประชา เคยขื่นขม
เป็นพื้นที่ หมายปอง ของทุนนิยม.......... ดาหน้ามุ่ง ถาโถม สู่ชุมชน

…..ถูกรุกราน นานา สารพัด............ สิ่งคุกคาม เปลี่ยนผลัด แสนสับสน
นโยบาย เปลี่ยนพื้นที่ เปลี่ยนชุมชน........ สู่เป้าผล เมืองท่า อุตสาหกรรม

……โรงไฟฟ้า ท่าเรือ มากันครบ........... มาบรรจบ ลงพื้นที่ จนบอบช้ำ
ทำไมหนอ พื้นที่เรา จึงถูกกระทำ...........แสนระกำ สิ้นสูญ เพราะทุนระดม

…..เราจะปล่อย ให้เป็น แบบนั้นหรือ........เราจะปล่อย วางมือ สิ่งถาถม
เราจะปล่อย ให้ความสวย ของคลื่นลม........ธรรมชาติ สวยสม เปลี่ยนได้ไง

…..ขอปลุกคน รวมคน คนพื้นที่...........วางวิธี ต่อสู้ ศัตรูใหญ่
เดินขบวน ร้องเรียน ทุกที่ไป.............. หวังขับไล่ สิ่งชั่วร้าย ให้พ้นมือ

…..เสริมแนวร้อน ด้วยแนวเย็น คู่ขนาน......สร้างสะพาน สานผู้คน ให้เชื่อถือ
ชวนทุกฝ่าย เข้ามารวม มาร่วมมือ...........สมัชชา สุขภาพคือ กระบวนการ

……เอชไอเอ ชุมชน หยิบมาสู้............. สร้างความรู้ ว่านี่คือ แหล่งอาหาร
อ่าวทองคำ มิใช่ อ่าวพลังงาน..............เก็บเอาไว้ ให้ลูกหลาน เถิดคนไทย

…..นี่คือ ตัวอย่าง ความเข้มแข็ง...........การร่วมแรง ของผู้คน คนใจใหญ่
มิยอมแพ้ ยกธง ยอมปราชัย.............. สู้ด้วยใจ ด้วยข้อมูล สันติวิธี

…….หยิบเครื่องมือ จากกฎหมาย สุขภาพ......นำมาขับ นำมาเคลื่อน งานที่นี่
แปลงเปลี่ยนปรับ จากตัวบท บรรดามี.........สู่วิถี จนเกิด รูปธรรม

……ทอดสายตา แลมุ่ง ไปตรงหน้า...........ด้วยศรัทธา บังเกิด แสนสุขล้ำ
ได้บทเรียน จากคุณครู คนผู้ทำ.............ขอเอ่ยคำ ว่า “คุณแน่ แน่จริง ๆ”