วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

“ย้อนชีวิต” ในวันงดสูบบุหรี่โลก

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ผมยังจำภาพนั้นได้ดี ย้อนไปเมื่อ ๓๕ ปีที่แล้ว จุดนัดพบของพวกเรา คือ “ซุ้มชาละวัน พิจิตร” ที่ตั้งอยู่หลังอาคารคณะพาณิชย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ภายในซุ้มรุ่นพี่ ๆ ได้ช่วยกันจัดหาโต๊ะไม้พร้อมที่นั่ง ๓ ชุดตั้งอยู่ขนาบกับต้นสนริมรั้ว มีป้ายไม้บอกชื่อกลุ่มตั้งอยู่ แต่ละวันช่วงเปิดการเรียนการสอนก็จะมีพี่ ๆ เพื่อน ๆ ชาวพิจิตรต่างมานั่งพัก พูดคุยกัน ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปเรียนตามคาบเวลาที่ทำการสอน

ผมก็ไม่ต่างจากเด็กพิจิตรคนอื่น ๆ เริ่มมีเพื่อนสนิทที่ซุ้มมากขึ้น มีกิจกรรมสังสรรค์ในตอนเย็นหลังเลิกเรียนเพิ่มขึ้น จับกลุ่มนั่งล้อมวงคุยกัน โดยมี “เหล้า” เป็นสื่อกลางในการร้อยประสานสมาชิกให้แนบแน่น เสียงกีต้าร์ดีดเป็นจังหวะเพื่อให้ทุกคนส่งเสียงตามบทเพลงที่คุ้นหู

เมื่อมี “เหล้า” เป็นผู้พี่ “บุหรี่” ผู้เป็นน้องก็ตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ภาพอดีตวันนั้นผุดขึ้นมาพร้อมกับที่เสียงจากโทรทัศน์บอกว่า “วันนี้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก” หรือ “ World No Tobacco Day”

จากเด็กบ้านนอกที่เกิดและเติบโตอยู่ในตำบลหนึ่งของจังหวัดพิจิตร ซึ่งมีโอกาสน้อยครั้งมากที่จะเข้าเมืองหลวง เมื่อคุณพ่อคุณแม่อนุญาตให้ไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่ “มหาวิทยาลัยรามคำแหง” หลังจากที่ปฏิเสธการไปรายงานตัวเรียนวิชาชีพครูที่ “วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม” แม้ตัวเองจะสอบติดก็ตาม

รถไฟสายเด่นชัย-กรุงเทพฯ จอดรับผมและผู้โดยสารคนอื่น ๆ ในช่วงหัวค่ำของวันหนึ่งเมื่อปี ๒๕๒๒ จวบจนอรุณรุ่งของอีกวันหนึ่ง รถไฟก็มาจอดที่ชานชลาสถานี “ดอนเมือง”

ผมกับคุณแม่นั่งรถต่อไปยังบ้านพี่สาว ซึ่งเป็นลูกสาวของคุณลุงที่มาตั้งครอบครัวอยู่แถว ๆ สะพานดวงมณี ติดกับรั้วกองบัญชาการทหารอากาศ ดอนเมือง

และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจากเด็กบ้านนอกก็เริ่มกลายเป็นเด็กเมืองหลวงทีละน้อย ๆ

ผมสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะวิทยาศาสตร์ และกลายเป็น “ลูกพ่อขุน” ตั้งแต่นั้นมาด้วยรหัส “๒๒” ได้พบเพื่อน ๆ จากจังหวัดพิจิตรที่มาเรียน ณ มหาวิทยาลัยเปิดแห่งนี้หลายคน บางคนเรียนนิติศาสตร์ บางคนเรียนรัฐศาสตร์ บางคนเรียนพาณิชย์ศาสตร์ จากการที่ได้พบได้เจอกันบ่อย ๆ ก็เกิดความสนิทสนมเป็นเพื่อนกัน และกลายมาเป็นสมาชิก “ซุ้มชาละวัน พิจิตร”

ผมเริ่มลองสูบจากก้นบุหรี่ที่เพื่อน ๆ คนหนึ่งจุด แล้วส่งเวียนไปให้กับเพื่อนที่นั่งร่วมวงในซุ้มทีละคน ๆ

เมื่อลองบ่อย ๆ เข้า จากที่รอขอสูบจากเพื่อนกลายมาเป็น “ซื้อเอง” หนังสือที่ถือมาเรียนหากเปิดดูจะมีมวนบุหรี่วางอยู่ในซอกหนังสือ ๑ ตัวบ้าง ๒ ตัวบ้าง

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาในกระเป๋าเสื้อที่ผมใส่ไปเรียน จะปรากฏซองบุหรี่ยี่ห้อต่าง ๆ อยู่เสมอ

ผมติดบุหรี่ไปโดยไม่รู้ตัว หลังกินข้าวทุกมื้อต้องสูบ เข้าห้องน้ำต้องสูบ รู้สึกเครียดกับการเรียนต้องสูบ ว่าง ๆ ไม่รู้จะทำอะไรต้องสูบ คุยกับเพื่อนต้องสูบ เดินตามถนน ไปเรียน ไปเที่ยวต้องสูบ

ข่าวเรื่องผมสูบบุหรี่รู้ไปถึงคุณพ่อคุณแม่ เมื่อพี่สาวพบที่เขี่ยบุหรี่พร้อมก้นบุหรี่ภายในห้องพัก จนต้องตักเตือนให้เลิก แต่ผมก็ไม่สามารถเอาชนะใจตัวเองให้เลิกได้

๓ ปีครึ่ง ที่ผมอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ นอกจาก “ใบปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง” แล้ว ผมยังได้ “โรคติดบุหรี่” เป็นปริญญาใบที่สอง

จำได้แม่นยำว่า หลังจากทำงานผ่านไปกว่า ๑๐ ปี ทั้งที่ภัตตาคารเสริมมิตร แถว ๆ ถนนลาดพร้าว กองประปาชนบท กรมอนามัย และศูนย์ประปาชนบท จังหวัดขอนแก่น แม้บุหรี่จะเป็นเพื่อนคู่กาย แต่ก็ไม่มากเท่าช่วงที่มาบุกเบิกงานที่จังหวัดนครสวรรค์ ที่ “ศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อมเขต ๘ นครสวรรค์” บุคลากรเพียง ๗ คน กับภาระงานมหาศาล และสิ่งที่ผมนำมาขจัดความเครียดจากงาน นั่นก็คือ “บุหรี่”

ผมสูบบุหรี่หนักมาก บางวันเกือบ ๒ ซอง บางครั้งสูบแบบมวนตัวมวน เล็บมือที่ครีบบุหรี่กลายเป็นสีเหลือง เพราะควันบุหรี่ ตื่นเช้าขึ้นมาจะมีเสลดสีดำ ๆ ออกมา

จนวันหนึ่ง ผมต้องไปพบหมอด้วย “โรคภูมิแพ้” หมอท่านนั้นเอ่ยกับผมตอนหนึ่งว่า “สูบต่อไปเถอะ เดี๋ยวก็ตายแล้ว”

จากคำพูดหมอวันนั้น ผมเริ่มคิด “เลิกสูบบุหรี่”

ทุกเย็นผมหาเวลาไปวิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะกลางใจเมืองนครสวรรค์ แต่ผมก็ยังไม่สามารถเอาชนะใจตัวเองได้

จนเวลาผ่านไปอีกหลายเดือน

วันนั้นที่บ้านพักส่วนตัว ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองหลายกิโลเมตร ผมมีบุหรี่ติดตัวเพียง ๓ มวน และบุหรี่ก็หมดลงในช่วงบ่ายแก่ ผมพยายามเดินหาร้านค้าที่ขายบุหรี่แต่ก็ไม่มี จะขับรถเข้าเมืองก็ขี้เกียจไม่น้อย เลยตัดสินใจว่าจะลองอดบุหรี่ดู

ผมใช้ความพยายามอดทนต่อสู้กับความอยาก จนผ่านไปถึงเช้าวันจันทร์ได้ โดยสูบบุหรี่ในวันอาทิตย์เพียงมวนเดียว ด้วยการเดินไปขอจากเพื่อนบ้านที่อยู่ซอยถัดไป

ผมเดินทางไปทำงานในเช้าวันจันทร์วันนั้นด้วยความสดชื่น ในกระเป๋าเสื้อของผมไม่มีบุหรี่ติดไปเลย และในวันนั้น ผมก็มอบไฟแช็คยี่ห้อ “ซิปโป้” ที่แสนรักให้กับเพื่อนอีกคนหนึ่งไป

ปี ๒๕๓๗ คือปีที่ผมประกาศยุติการสูบบุหรี่

ผมมีบุหรี่เป็นเพื่อน ๑๕ ปีเต็ม

แม้ผมจะเลิกสูบบุหรี่มาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว แต่บุหรี่ก็ได้เข้ามาสร้างความเศร้าอย่างมหันต์ให้กับผมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมัจจุราชที่ชื่อ “บุหรี่” นี้เอง ที่มาพรากชีวิตของคุณแม่ผมไปด้วย “โรคมะเร็งในกล่องเสียง” เมื่อ ๑๓ ปีที่ผ่านมา

เนื่องใน “วันงดสูบบุหรี่โลก” ปีนี้ นอกจากจะส่งเสียงเตือนมายังเยาวชนคนรุ่นใหม่ว่า อย่าเข้าใกล้กับ “บุหรี่” เลย มันไม่ได้เท่แบบที่น้อง ๆ คิดหรอก แต่มันยังคือมหันตภัยร้ายที่ค่อย ๆ ฆ่าชีวิตเราไปอย่างใจเย็น

จำไว้เสมอว่า “ใจที่เข้มแข็ง” คือ เครื่องมือเลิกสูบบุหรี่ที่ชะงัดที่สุดครับ

วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ยุทธศาสตร์การเกิดที่มีคุณภาพ

๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่สถานการณ์ประเทศไทยเต็มไปด้วยความขัดแย้งในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐยังให้ความสำคัญกับมิติทางด้านสังคมยังน้อยอยู่ โดยเฉพาะการลงทุนกับงานทางด้านประชากรไทยตั้งแต่แม่เริ่มต้นตั้งครรภ์ เพื่อสร้างประชากรที่เติบโตมีคุณภาพในอนาคต

ผมนั่งอ่านแนวทางการปฏิรูปของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ประกาศออกมา ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การปฎิรูปทางด้านการเมืองการปกครอง เช่น การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปการเลือกตั้ง และการปฏิรูปทางด้านเศรษฐกิจ แน่นอนเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน แต่อย่างไรก็ตามการปฏิรูปทางด้านประชากรไทย ก็นับเป็นเรื่องเร่งด่วนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ ?

• อัตราเพิ่มของประชากรไทยเมื่อปี ๒๕๕๓ อยู่ที่ร้อยละ ๐.๗๒ ลดลงจากเมื่อ ๒๐ ปีก่อนที่มีอัตราเพิ่มที่ร้อยละ ๒.๑

• ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างมาก โดยในปี ๒๕๕๓ วัยแรงงาน ๕.๗ คน ต้องดูแลผู้สูงอายุ ๑ คน แต่หากอัตราการเกิดเป็นแบบนี้ต่อไป อีก ๒๐ ปีข้างหน้า วัยแรงงาน ๒.๔ คน จะต้องมีภาระดูแลผู้สูงอายุ ๑ คน

• สตรีไทยมีอัตราเจริญพันธุ์หรือให้กำเนิดบุตรน้อยมาก เฉลี่ยคนละ ๑.๖ คน ลดลงจากปี ๒๕๑๙ หรือเมื่อประมาณ ๒๕ ปีก่อน ที่มีอัตราเฉลี่ยคนละ ๔.๙ คน (ข้อมูลปี ๒๕๕๓)

• มารดาที่มีอายุ ๒๐ – ๓๔ ปี มีอัตราการคลอดร้อยละ ๗๐.๓ ของจำนวนมารดาคลอดทั้งหมด ในขณะที่มารดาที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี อยู่ที่ร้อยละ ๐.๕ อายุระหว่าง ๑๕ – ๑๗ ปี ร้อยละ ๗.๕ อายุระหว่าง ๑๘ – ๑๙ ปี อยู่ที่ร้อยละ ๘.๗ และที่มีอายุสูงกว่า ๓๕ ปี ขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ ๑๓.๐

• สตรีที่สมรสที่มีอายุ ๑๕ – ๔๙ ปี จะมีอัตราคุมกำเนิด ร้อยละ ๗๙.๓ (ข้อมูลปี ๒๕๕๕)

• วิธีการคุมกำเนิดของสตรีที่สมรสที่มีอายุ ๑๕ – ๔๙ ปี คือการกินยาเม็ดคุมกำเนิด ร้อยละ ๓๕ รองลงมือคือการใช้วิธีทำหมันถาวร ร้อยละ ๒๓.๗ ส่วนการใช้ถุงยางอนามัย มีการใช้เพียง ๒.๓ (ข้อมูลปี ๒๕๕๒)

• มารดาที่มีอายุระหว่าง ๑๕ – ๑๙ ปี มีอัตราการทำแท้งอยู่ที่ร้อยละ ๒๓.๘ และที่น่าวิตกมากก็คือมีมารดาที่มีอายุยังไม่ถึง ๑๕ ปี มาทำแท้งร้อยละ ๓.๖ จากจำนวนผู้ทำแท้งทั้งหมด (ข้อมูลปี ๒๕๕๕)

• มารดาที่มาทำแท้งทั้งหมด มีสถานภาพเป็นนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ ๓๐.๘ (ข้อมูลปี ๒๕๕๕)

• มารดาที่มีอายุน้อยกว่า ๑๘ ปี มีการตั้งครรภ์ซ้ำแล้วมาคลอดบุตร อยู่ในอัตราร้อยละ ๕.๔ ของมารดาที่มาคลอดทั้งหมด (ข้อมูลปี ๒๕๕๕)

• มีนักเรียนออกจากการศึกษากลางคันด้วยเหตุสมรสแล้ว ร้อยละ ๖.๕ ของการออกทุกสาเหตุ

• มารดาที่ช่วงอายุ จะคลอดทารกที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ร้อยละ ๑๐.๔ โดยมารดาที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี คลอดทารกจะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ สูงสุดที่ร้อยละ ๑๘.๒ ในขณะที่มารดาที่มีอายุระหว่าง ๑๕ – ๑๙ ปี จะคลอดทารกที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นลำดับรองลงมา ที่ร้อยละ ๑๓.๗ (ข้อมูลปี ๒๕๕๕)

จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมอนามัยโดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ จึงได้มีการจัดทำ “นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๒) ว่าด้วยการเกิดที่มีคุณภาพ” ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับ "ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒" ที่ออกตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๓๑ ที่เขียนไว้ว่า “ให้รัฐจัดให้มีแผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์แบบมีส่วนร่วม”

กระบวนการยกร่างทั้ง ๔ ครั้ง ให้ความสำคัญกับการเชื้อเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้าง “ความเป็นเจ้าของ” ผ่าน “ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” อันประกอบด้วย พลังความรู้ พลังการเคลื่อนไหวสังคม และพลังทางการเมืองและอำนาจรัฐ ซึ่งผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเป็นทีมคณะทำงานยกร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ครั้งนี้ด้วย

เวทีครั้งที่ ๑ : ธันวาคม ๒๕๕๖ จัดประชุมปรึกษาหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิ ถึงเป้าหมายการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรมีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงไปที่ “การเกิดที่มีคุณภาพ”

เวทีครั้งที่ ๒ : ๒๔ – ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่จังหวัดชลบุรี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมสมองในการจัดทำ (ร่าง) นโยบายและยุทธศาสตร์ โดยมีผู้แทนหน่วยงาน นักวิชาการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าร่วมประชุม ที่ประชุมได้ร่วมกันจัดทำโครงสร้าง กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ร่วมกัน

เวทีครั้งที่ ๓ : ๓ เมษายน ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างนโยบายและยุทธศาสตร์จากผู้ทรงคุณวุฒิ

เวทีครั้งที่ ๔ : ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมกรมอนามัย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างนโยบายและยุทธศาสตร์จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนองค์ภาครัฐ

ต่อมาในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมของโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ได้จัดให้มีเวทีครั้งที่ ๕ ขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง “นโยบายและยุทธศาสตร์” จากภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน กว่า ๑๐๐ คน ที่เป็นตัวแทนจากสถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพ องค์กรวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ องค์กรสาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร เครือข่ายภาคประชาชน หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น

โครงสร้างของ ร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ได้นำเสนอต่อเวทรับฟังความเห็นครั้งนี้ ประกอบด้วย ๕ ส่วน คือ

ส่วนที่ ๑ ว่าด้วยบทนำ
ส่วนที่ ๒ ว่าด้วยสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดที่มีคุณภาพ
ส่วนที่ ๓ ว่าด้วยกฎหมาย นโยบายและบทเรียนจากต่างประเทศ
ส่วนที่ ๔ ว่าด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกและภายใน
ส่วนที่ ๕ ว่าด้วยสาระสำคัญของนโยบายและยุทธศาสตร์
ส่วนที่ ๕ ว่าด้วยการบริหารจัดการนโยบายและยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ

สาระสำคัญของนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งอยู่ในส่วนที่ ๔ ซึ่งเป็นส่วนที่ผู้เข้าร่วมเวทีให้ความสนใจและเสนอแนะนำความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง มีเนื้อหาสาระโดยย่อ ดังนี้

วิสัยทัศน์ : การเกิดทุกรายเกิดจากความต้องการและความพร้อมทุกด้านของผู้ให้กำเนิดเพื่อให้ได้ประชากรที่มีคุณภาพ

เป้าหมายหลัก ๒ ประการ คือ
(๑) ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการตั้งครรภ์ที่มีการวางแผน มีความตั้งใจและอยู่ในวัยอันสมควร
(๒) ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน มี ๖ ยุทธศาสตร์ คือ

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ เป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นให้เกิดการส่งเสริมให้การเกิดทุกรายเกิดจากความตั้งใจ และมีการวางแผน ซึ่งจะนำไปสู่การคลอดที่ปลอดภัย ทารกแรกเกิดมีสุขภาพแข็งแรง ผู้ให้กำเนิดสามารถเลี้ยงดูให้เติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การพัฒนาทักษะชีวิตส่วนบุคคล เป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความรู้ ความเข้าใจ ค่านิยมและมีทักษะชีวิตของปัจเจกบุคคลที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทุกเพศทุกวัย ให้สามารถประพฤติปฏิบัติและมีพฤติกรรมที่ถูกต้องทั้งมิติด้านสาธารณสุข และด้านสังคมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดที่มีคุณภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การสร้างและส่งเสริมชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับชุมชน มีศักยภาพด้านการจัดการ ทั้งด้านสภาพแวดล้อม วิชาการและการประสานความร่วมมือกับกลไกต่างๆ ให้เข้ามาร่วมมือกันอย่างบูรณาการ

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การปรับระบบบริการทางสุขภาพและสังคม เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาสถานบริการทั้งในและนอกระบบสุขภาพ ให้มีศักยภาพในการรองรับการเกิดที่มีคุณภาพ ทั้งในมิติการส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ การป้องกันแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุการณ์ และการจัดการภายหลังการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ของกลไกทั้งในส่วนของภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และองค์กรชุมชนท้องถิ่น

ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การพัฒนากฎหมาย และกำหนดนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้มีการพัฒนากฎหมาย และกำหนดนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมให้เอื้อต่อการดาเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การพัฒนาระบบบริหารจัดการและการจัดการความรู้ เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการ และพัฒนาระบบจัดการความรู้ของหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

กว่า ๓ ชั่วโมง ในเวทีต่างมีผู้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อให้มี “การเกิดที่มีคุณภาพ” สามารถสรุปสาระสำคัญออกได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ ๑ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์
• การนำเสนอให้เห็นผลการประเมินนโยบายและยุทธศาสตร์ ระยะที่ ๑
• การเชื่อมโยงด้านเนื้อหากับแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑
• กำหนดระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดของนโยบายและยุทธศาสตร์ฉบับนี้ ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาของแผนพัฒนา ฉบับที่ ๑๑

กลุ่มที่ ๒ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเนื้อหาของนโยบายและยุทธศาสตร์
• มีมาตรการที่ครอบคลุมถึงกลุ่มคนเป้าหมายเฉพาะ เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม ชาวเขา กลุ่มประชาชนมุสลิม กลุ่มคนที่ต้องการมีบุตรโดยไม่ต้องมีครอบครัว กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
• เพิ่มมาตรการรองรับการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นนักเรียนให้เหมาะสม
• เพิ่มบทบาทของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ให้เข้ามาหนุนเสริมงานการเกิดที่มีคุณภาพให้มากขึ้น
• เพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม
• การกำหนดทิศทางการเพิ่มขึ้นของประชากร เพื่อทดแทนอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรไทยที่อยู่ในระดับต่ำ
• เพิ่มมาตรการในระบบบริการสุขภาพเชิงรุกให้มากขึ้น
• ให้ความสำคัญกับบทบาทของครอบครัว บทบาทของพ่อแม่ให้เพิ่มขึ้น
• คำนึงถึงการพัฒนาศักยภาพด้านกำลังคน โดยเฉพาะทัศนคติของกำลังคนด้านการศึกษา
• ออกแบบระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของประชาชนที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นเร็วขึ้น
• ใช้มาตรการทางการสื่อสารสาธารณะสมัยใหม่เข้ามาช่วย
• ใช้มาตรการทางการเงินการคลังเข้ามาส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ

กลุ่มที่ ๓ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ
• กำหนดหน่วยงานเจ้าภาพหลักและหน่วยงานสนับสนุนให้ชัดเจน เพื่อการติดตามและประเมินผล
• บูรณาการนโยบายและยุทธศาสตร์กับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
• กำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน วัดได้ ไม่ลงทุนมากเกินความจำเป็น ควรคำนึงถึงตัวชี้วัดที่มีอยู่เดิมแล้ว

สถานการณ์ทั้งหมดจากที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้จะไม่มีความหมายใด ๆ เลย ถ้าทุกฝ่ายไม่ได้ให้ความสำคัญ ดังนั้นกระบวนการทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ให้เป็นจริงได้นั้น ความท้าทายที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรที่จะให้เรื่องราวเหล่านี้ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นในการปฏิรูปประเทศไทยของทุกภาคส่วนที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในกระแสช่วงนี้ให้ได้อย่างจริงจัง และทุกฝ่ายต่างมองเห็น “ความสำคัญในการพัฒนาคนที่ยั่งยืนในอนาคต”

วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ธรรมนูญข้าวแห่งแรกในโลก

๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ในวันอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ อันเป็นช่วงเวลาการปกครองของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)ผมหนีเมืองหลวงเดินทางไปร่วมนั่งสนทนาอยู่กับทีมวิจัยในโครงการการจัดทำธรรมนูญข้าวบางแก้ว อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง อย่างมีส่วนร่วม ซึ่งต่างเป็นผู้ก่อตั้งและสมาชิกกลุ่มศูนย์บ้านเรียนรู้เกษตรกรรมธรรมชาติบางแก้ว รวมกว่า ๑๐ คน ภายในกระต๊อบกลางสวนป่าอันเย็นสบาย ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ที่กลายเป็นร่มกันแดดได้เป็นอย่างดี

นอกจากครูอำนวย หรือ “อำนวย เสมือนใจ” อดีตครูบ้านนอกที่ขอเกษียณตัวเองก่อนครบกำหนด แล้วหันมาทำงานสาธารณะในบ้านเกิด ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยแล้ว ยังมี “คุณสมชาติ นาควิโรจน์” เกษตรอำเภอบางแก้ว ในฐานะประธานสำนักธรรมนูญข้าวบางแก้ว “คุณจักรกฤษณ์ สามัคคี และคุณนลินี สามัคคี” สามีและภรรยาที่ลงทุนลงแรงจัดตั้ง “ศูนย์บ้านเรียนรู้เกษตรกรรมธรรมชาติบางแก้ว” เพื่อผลักดันการทำนาโดยไม่ใช้สารเคมีในพื้นที่

“ด้วยความเป็นห่วงว่าพันธุ์ข้าวดีๆ ของบางแก้วจะสูญหายไป กลายเป็นประกายความคิดสำคัญในการชักชวนให้กลุ่มคนต่างๆ ในท้องถิ่น มาร่วมคิดหาทางป้องกันไม่ให้เป็นไปตามความคิดนั้น”

ผมและทีมงานวิจัยโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ : การจัดการองค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา) มหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้การนำของ “เทพรัตน์ จันทพันธ์” หัวหน้าโครงการ ได้เดินทางมาลงพื้นที่และร่วมพูดคุยกันถึง “ธรรมนูญข้าวอำเภอบางแก้ว” อันเป็นธรรมนูญข้าวแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งผมคิดว่าคงเป็นฉบับแรกของโลกด้วยเช่นเดียวกัน

อำเภอบางแก้ว เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพัทลุง เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ซึ่งได้รับการประกาศจัดตั้งจากกระทรวงมหาดไทยให้เป็นกิ่งอำเภอบางแก้ว เมื่อปี ๒๕๓๓ และจัดตั้งเป็นอำเภอบางแก้วมาตั้ง เมื่อแต่วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๘ ประกอบด้วย ๓ ตำบล คือ ตำบลโคกสัก ตำบลท่ามะเดื่อ ตำบลนาประขอ

ประชาชนชาวบางแก้ว ส่วนหนึ่งเป็นชาวจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเดินทางเข้ามาทางเรือและทางรถไฟ โดยยึดอาชีพทำนามาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จวบจนรัฐบาลในสมัยของจอมพล ป พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มีการประกาศให้ อาชีพการทำนาเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย ชาวจีนจึงหันไปทำอาชีพอื่น เช่น สวนยางพารา เป็นต้น

พันธุ์ข้าวดั้งเดิมในเขตอำเภอบางแก้วมีมากมายหลายชนิดและที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ คือ “ข้าวสังหยด” นอกจากนั้นยังมีพันธุ์ข้าวหอมขุนราม ข้ามเหมร่ (มะลิ) หอม ข้าวนางเฟือง ข้าวกอ ข้าวหัวนา ข้าวหอมจันทร์ ข้าวไข่มดริ้น ข้าวเฉี้ยง ข้าวเข็มทอง ข้าวช่อดาน ข้าวช่อหลุมพี ข้าวช่อจังหวัด ข้าวช่อมุด ข้าวช่อม่วง ข้าวนางเกิด ข้าวแดง ข้าวตูน ข้าวนางพาด ข้าวนางหงส์ ข้าวยาไทร ข้าวหมูมูสัง ข้าวหน่วยเขื้อ ข้าวดอกยอม ข้าวนางพญาผักเสี้ยน ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวไครและข้าวเหนียวดำตับแรด

“คุณสมชาติ” ให้ข้อมูลกับวงสนทนาว่า “พื้นที่ทำนาในเขตอำเภอบางแก้วลดลงอย่างน่าใจหาย เหลือไม่เกิน ๓ พันไร่ จากเมื่อ ๑๐ ปีก่อนมีการทำนามากกว่า ๑๓,๐๐๐ ไร่ เพราะชาวนาหันไปทำสวนยางพาราแทน”

จากปัญหาการลดลงของพื้นที่ทำนาอย่างมาก และด้วยความเกรงว่าพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่หลากหลายและขึ้นชื่อจะสูญหายไป ทีมวิจัยจึงรับคำเชิญชวนจาก “อ.เทพรัตน์” ที่เข้ามาแนะนำให้มีการทำวิจัยชุมชน เมื่อปลายปี ๒๕๕๕ ซึ่งมีข้อสรุปร่วมกันว่า ควรจัดทำ “ธรรมนูญข้าวอำเภอบางแก้ว” เพื่อใช้เป็นกติการ่วมกันในการแก้โจทย์ทั้ง ๒ ประเด็นนั้น

กระบวนการยกร่างธรรมนูญข้าว เริ่มต้นด้วยการตั้งทีมทำงานประมาณ ๑๐ คน และได้มอบหมายให้ “ครูอำนวย” เป็นผู้ยกร่าง แล้วนำมาเสนอต่อคณะทำงาน ซึ่งร่างแรกได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะขาดสาระสำคัญในเรื่อง “สิทธิชุมชน” และ “ทุนทางวัฒนธรรม” ไป

จวบจนมาถึงเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ ได้มีการนำร่างธรรมนูญข้าวที่ปรับแก้ตามคำแนะนำของคณะทำงาน ไปจัดเวทีย่อย ๆ ในตำบลต่าง ๆ ๖ ครั้ง และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นชาวนา ผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ ผู้สนใจ ปราชญ์ชาวบ้าน และนักวิชาการ กว่า ๗๐ คน อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้รับข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมเวทีอย่างกว้างขวาง

และเมื่อทุกอย่างเป็นที่ยอมรับกับทุกฝ่ายแล้ว จึงได้จัดให้มีพิธีประกาศใช้ “ธรรมนูญข้าวอำเภอบางแก้ว” ขึ้นในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ บริเวณศูนย์บ้านเรียนรู้เกษตรกรรมธรรมชาติบางแก้ว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงเดินทางมาเป็นประธานในพิธีด้วยตนเอง

ในวันประกาศใช้ธรรมนูญข้าวนั้น ก่อนเริ่มพิธีมีฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่พอถึงเวลาฝนก็หยุดตก สามารถทำพิธีได้อย่างราบรื่น มีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวด มีการผูกโยงสายสิญจน์ทั่วบริเวณงาน และที่สำคัญก็คือ ได้เชิญปราชญ์ชาวบ้านทั้งอำเภอบางแก้วมาร่วมงาน

“ในวันนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้เน้นย้ำว่าถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่หยิบเรื่องข้าวมาทำกัน และจะนำไปเป็นตัวอย่างกับชาวนาในอำเภออื่น ๆ ด้วย”

ผมหยิบ “ธรรมนูญข้าวบางแก้ว” ขึ้นมาดู มีสาระรวม ๘ หมวด คือ

หมวด ๑ หมวดทั่วไป
หมวด ๒ ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมนูญข้าวบางแก้ว
หมวด ๓ ว่าด้วยสมาชิก
หมวด ๔ ว่าด้วยพันธุกรรมข้าวบางแก้ว
หมวด ๕ ว่าด้วยพื้นที่คุ้มครองการทำนาสมุนไพรและภูมินิเวศน์
หมวด ๖ ว่าด้วยสมุนไพรในนาข้าว
หมวด ๗ ว่าด้วยสิทธิประโยชน์
หมวด ๘ ว่าด้วยประเพณีวัฒนธรรมข้าว

“หลักการสำคัญที่เรานำมาใช้ในการขับเคลื่อนธรรมนูญข้าวฉบับนี้ให้เป็นจริง ก็คือ การพึ่งตนเอง โดยขณะนี้ได้รับคำยืนยันจาก อปท. ซึ่งมี ๔ แห่ง ในเขตอำเภอบางแก้วแล้วว่า จะจัดสรรงบประมาณในปีหน้าสนับสนุนการดำเนินงาน อีกทางหนึ่งคือจะใช้เครื่องมือการสื่อสาร โดยจะให้ความสำคัญกับการสื่อสารในลักษณะปากต่อปาก โดยใช้คณะกรรมการเป็นผู้ขยายวงไปเรื่อย ๆ ซึ่งทางทีมงานเรามั่นใจว่าอีกไม่นานจะมีชาวนาเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะตอนนี้มีชาวนารายหนึ่งประกาศยกเลิกการทำสวนยางพาราและจะหันหน้ามาทำนาข้าวแล้ว”

“ศูนย์บ้านเรียนรู้เกษตรกรรมธรรมชาติบางแก้ว จะเป็นศูนย์สำหรับการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวดั้งเดิมของอำเภอบางแก้ว ขณะนี้มีชาวนามาขอซื้อพันธุ์ข้าวไปขยายผลมากขึ้น และที่สำคัญมีคนช่วยประชาสัมพันธ์แทนเราตลอดเวลา โดยเฉพาะลูกหลานชาวจีนที่รู้จักพันธุ์ข้าวเหล่านี้มาจากบรรพบุรุษ”

ระยะเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมง ที่ผมได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ “ธรรมนูญข้าวอำเภอบางแก้ว” ครั้งนี้ นับว่าเป็นความรู้ใหม่ที่สร้างความประทับใจให้กับผมและทีมงานเป็นอย่างยิ่ง อดคิดด้วยความภูมิใจไม่ได้ว่าแนวคิดของ “ธรรมนูญสุขภาพ” ที่เกิดขึ้นจากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ ได้ถูกนำไปเป็นแรงบันดาลใจในการจัดทำ “ธรรมนูญข้าว” ของคนบางแก้วครั้งนี้

ผมได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กระบวนการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพ” ในพื้นที่อื่นๆ เพื่อการขับเคลื่อน “ธรรมนูญข้าว” ต่อไปในอนาคต ๖ ประการ คือ

หนึ่ง : การเผยแพร่ให้ครอบคลุมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยควรจัดพิมพ์และมอบให้กับทุกครัวเรือน และอาจเชื่อมโยงกับความเชื่อและศาสนาที่คนบางแก้วนับถือศรัทธา ดังเช่น ที่ตำบลแม่ถอด จังหวัดลำปาง ที่มีการจัดพิมพ์ออกมาในลักษณะใบลานสำหรับเทศนาของพระสงฆ์ เป็นต้น

สอง : จัดทำแผนการขับเคลื่อนให้ชัดเจน โดยหยิบประเด็นสำคัญ ๆ ในบางเรื่องมาทำเป็นแผนการทำงานของคณะกรรมการฯ และมีการเชื่อมโยงกับแหล่งทุน อาทิ อปท. ทั้ง ๔ แห่ง และอาจเสนอไปยังจังหวัดเพราะมีงบประมาณสนับสนุนได้อยู่

สาม : ควรมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง โดยใช้การสื่อสารที่มีอยู่ในอำเภอ เช่น วิทยุชุมชน แผ่นพับ หรือในเวทีการประชุมสัมมนา หรืองานประเพณีต่าง ๆ

สี่ : ควรจัดให้มีการจัดการความรู้ ทั้งการถอดบทเรียนการทำงานที่ผ่านมางาน และการถอดบทเรียนกิจกรรมที่มีความก้าวหน้าตามสาระในธรรมนูญข้าว และนำมาเป็นตัวอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับสมาชิกและผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง

ห้า : ควรมีการสร้างแรงจูงใจเชิงบวก เช่น การยกย่องชมเชย การมอบเกียรติบัตร ต่อบุคคลที่ทำดีเป็นไปตามธรรมนูญข้าว เพื่อเป็นตัวอย่างในการทำสิ่งดี ๆ กับผู้อื่นต่อไป

หก : ควรมีการทบทวนธรรมนูญข้าวเป็นประจำทุกปี เพื่อปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม ให้เหมาะสมกับความเป็นจริงและความเป็นไปได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ก่อนที่คณะของเราจะลากลับ ได้มีโอกาสไปสักการะเจ้าแม่โพสพที่ตั้งอยู่ภายในอาคารศูนย์เรียนรู้ฯ ที่เต็มไปด้วยพันธุ์ข้าวนานาพันธุ์ และเครื่องมือทำนา โดย “ครูอำนวย” เป็นผู้กล่าวนำให้คณะของเรากล่าวตาม และเมื่อกล่าวจบ บอกให้ทุกคนขอพรตามที่แต่ละคนปรารถนา

“ขอให้ประเทศชาติเรากลับมาสู่ความสงบสุข และขอให้เจตนาของคนบางแก้วที่ถูกเขียนไว้ในธรรมนูญข้าว สำเร็จลุล่วงด้วยเทอญ” ผมรำพึงเบาๆ ก่อนเดินออกจากศูนย์เรียนรู้ฯด้วยความสุขใจ

วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เรื่องเล่าจาก “ลุงสมควร”

๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ในบ่ายของวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ วันเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารครั้งที่ ๑๘ ในประเทศไทย ที่ห้องประชุมโรงเรียนวัดพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ผมได้รับการประสานจากเพื่อนภาคีมาช่วยให้แง่คิดในเวทีติดตามประเมินผลกองทุนสวัสดิการชุมชนของจังหวัดนครปฐม เพื่อยกระดับกองทุนสวัสดิการชุมชนให้ดีขึ้น ทั้งนี้เป็นงานสืบเนื่องมาจากปีก่อนที่ผมได้เข้ามาร่วมเป็นทีมประเมินผลกองทุนมาแล้วครั้งหนึ่ง

ช่วงหนึ่งของการประชุมมีการเรียนเชิญกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มาเล่ากระบวนการทำงานให้ผู้บริหารกองทุนสวัสดิการชุมชนอื่นๆ เกือบ ๔๐ แห่ง ได้ฟังกัน ต้องบอกว่านับเป็นความโชคดียิ่งนัก ที่ผมได้มีโอกาสฟังและได้เรียนรู้เรื่องราวจากบุคคลคนหนึ่ง ที่เป็นมดงานตัวน้อยที่กำลังทำงานพัฒนาชุมชนของตนเอง อันเป็นฐานล่างสุดของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้

“ลุงสมควร” หรือ “สมควร รวยเรืองรุ่ง” คือ บุคคลที่ผมกำลังกล่าวถึง ชายสูงวัยที่ผ่านชีวิตข้าราชการครูมาอย่างยาวนาน ผู้อุทิศเวลาอันแสนสุขสบายมาทำงานจิตอาสาในตำแหน่ง “เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเลน”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเลน เป็นงานที่ต่อยอดมาจากชมรมผู้สูงอายุของตำบลบางเลน โดยเมื่อปี ๒๕๕๒ ได้มีการจัดประชุมและเชิญวิทยากรไปพูดถึงเรื่อง “กองทุนสวัสดิการชุมชน” ให้กับสมาชิกชมรมฟัง และที่ประชุมเห็นด้วยที่จะมีการจัดตั้งเป็น “กองทุนสวัสดิการชุมชน” จึงได้เปิดรับสมัครในวันนั้น โดยเริ่มต้นที่ตัวกรรมการชมรมผู้สูงอายุ ได้สมาชิกในวันนั้นรวม ๒๓ ราย และมีการเลือกกรรมการขึ้นมาบริหาร โดยได้เชิญเจ้าของร้านทองเข้ามาเป็นประธานกรรมการกองทุน

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการจัดตั้งกองทุนและมีกรรมการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้มีความพยายามหาสมาชิกเพิ่มเติม กลับพบว่าชาวบ้านต่างปฏิเสธที่จะเข้าร่วม เพราะในช่วงนั้นเกิดความล้มเหลวในการดำเนินโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์พอดี จึงทำให้ชาวบ้านต่างเข็ดขยาด

จากปัญหาดังกล่าวทางกรรมการก็มีไม่หยุดยั้ง ยึดหลักการสำคัญว่า “บอกให้เขารู้ ทำให้เขาเห็น” จนในที่สุดทางกองทุนฯได้รับการจดแจ้งจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ จึงได้ใช้ใบจดแจ้งนี้เป็นใบเบิกทางขยายฐานสมาชิกให้มีจำนวนมากขึ้น

จากวันนั้นถึงวันนี้กองทุนมีสมาชิกกว่า ๑,๓๐๐ ราย มีเงินหมุนเวียนกว่า ๒ ล้านบาท มีการจัดสวัสดิการ ๗ ด้าน คือ สวัสดิการสำหรับการเกิด การเจ็บป่วย การเสียชีวิต ผู้ด้อยโอกาส การศึกษา วัฒนธรรมประเพณีและกรณีฉุกเฉิน เช่น การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติเมื่อ ๒ ปีก่อน

“ต้องยอมรับว่าพวกเราไม่ใช่นักขายประกัน ไม่เคยผ่านการอบรมเทคนิคการพูด จึงพูดดุ่ยๆ ครั้งแรกก็เป็นอย่างนี้ ครั้งเวลาผ่านไปสัก ๑ ปี กองทุนได้รับการจดแจ้งจัดตั้งเป็นองค์กรสวัสดิการชุมชนแล้วเปรียบเสมือนเรามีใบรับประกัน เมื่อมีโอกาสลงพื้นที่จะไปทำอะไร เราก็ติดสำเนาใบรับประกันไปด้วยเอาให้ชาวบ้านดู บอกว่ากองทุนเราไม่ใช่กองทุนเถื่อน การพูดหาสมาชิกเราก็ไม่ต้องพูดมากมาย

วิธีการที่ใช้มี ๔ อย่าง คือ

หนึ่ง : บอกให้เขารู้ จะใช้ทุกวิธีที่ทำได้เพื่อทำให้ประชาชนมีความรู้เรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน เช่น ทำแผ่นพับแจก ออกเสียงตามสายของเทศบาล ลงพื้นที่พบปะประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมกับทางเทศบาลทุกโอกาสที่มี

สอง : ทำให้เขาเห็น ข้อนี้สำคัญสุด ถือเป็นหัวใจ เช่น การรับขวัญเด็กแรกเกิด การชดเชยการเจ็บป่วยจากการนอนโรงพยาบาล หากมีใบรับรองแพทย์ก็จะเอาเงินไปมอบให้ หากตายก็จะไปร่วมงานศพ มอบเงินสวัสดิการต่อหน้าคนที่มาร่วมงาน ก่อนมอบก็ขอเวลาบอกให้เขารู้ที่ไปที่มาของเงิน เช่น บอกเขาว่าเป็นสมาชิกเมื่อไร รวมเวทีกี่ปี ส่งเงินเข้ากองทุนเท่าไร วันนี้กองทุนมามอบเป็นเงินเท่าไร แล้วเปรียบเทียบให้เขาเห็นว่ามีผลจ่ายคืนเป็นกี่เท่าของเงินที่ส่งเข้ากองทุน ซึ่งทุกกรณีจะมียอดหลายเท่า

นอกจากจะทำให้เขาเห็นเกิด เจ็บ ตายแล้ว ก็ยังทำกับกรณีอื่น ๆ อีก เช่น ช่วยเหลือผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุที่ยากไร้ ก็ใช้วิธีทำให้เขาเห็น คือ ชวนกรรมการกองทุนไปกันหลาย ๆ คน คนบ้านใกล้เรือนเคียงเห็นออกมาดู เราก็ชวนไปด้วยกัน ที่นี้ก็จะมีคนพูดปากต่อปากขยายวงออกไป

สาม : ขจัดปัญหา มีปัญหาอะไร ประธานและกรรมการต้องรีบลงไปแก้อย่างทันที

สี่ : สร้างศรัทธาให้เกิด ซึ่งเรื่อง “ศรัทธา” เป็นผลจากการทำตั้งแต่ข้อแรก เมื่อทำให้เขาเห็น เขาก็จะเกิดความรู้สึกว่า “เราทำได้จริงและได้หลายเท่าด้วย” ความศรัทธาก็จะเกิดขึ้นตามมา สิ้นปีเมื่อมีการประชุมสมาชิกประจำปี เราก็ชี้แจงรายรับรายจ่าย อธิบายว่าใครได้รับสวัสดิการจากกองทุนไปบ้าง เป็นเงินเท่าไร”

ผมฟัง “ลุงสมควร” ไป ในใจก็คิดตามไปด้วยและเห็นว่า “ยุทธวิธี” ที่เล่านี้ไม่มีในตำราทางวิชาการอย่างแน่นอน มีช่วงหนึ่งลุงตอบผู้เข้าร่วมเวทีที่ถามว่า “มีวิธีการเชื่อมร้อยกับทาง อปท. อย่างไร” ยิ่งทำให้ประทับใจมากขึ้น

“สิ่งที่ อปท. เขากลัวมากที่สุดก็คือ เขาจะเพ่งเล็งว่าเราทำตรงนี้เพื่อหาเสียง สร้างฐานคะแนนเสียงเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในสมัยหน้าหรือเปล่า ฉะนั้นเราต้องสร้างความมั่นใจให้เขาไว้ใจ โดยเฉพาะกับตัวนายกเทศมนตรี โดยจะทำอะไรก็ไปบอกให้ตัวนายกได้รับรู้ และถ้าเป็นไปได้ก็จะเอาตัวนายกไปด้วย

เราคนทำงานไม่จำเป็นต้องเสนอหน้า ดันให้นายกเดินหน้าเข้าไว้ และรวมไปถึงตัวรองนายกฯ และสมาชิกสภาด้วย เมื่อทำบ่อย ๆ ความเข้าใจและไว้วางใจก็จะเกิดขึ้น งานก็เดิน พองานเดิน เราก็ใช้โอกาสเสนอขอรับการสนับสนุนเงินสมทบจากทางเทศบาล

การของบประมาณก็ต้องทำให้ทันวงจรงบประมาณของ อปท. ประมาณเดือนเมษายนของทุกปี เพื่อให้หน่วยนโยบายและแผนทำเรื่องบรรจุไว้ในแผนของเทศบาล ประกาศเป็นเทศบัญญัติต่อไป ซึ่งเมื่อผ่านสภาออกมาเป็นเทศบัญญัติแล้ว เทศบาลก็จะมาเชิญเราไปทำบันทึกข้อตกลงแล้วก็โอนเงินเข้าบัญชีให้เรา เงินที่ อปท. โอนให้กองทุนหากใช้ไม่หมดภายในปี ไม่ต้องส่งคืน เพราะเป็นเงินสมทบตามระเบียบ เราต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่ทำก็อย่าไปโทษ อปท. ว่าเขาไม่ให้”

เมื่อผมตั้งคำถามไปว่า “มีวิธีการใช้เงินกองทุนอย่างไร” “ลุงสมควร” ก็ตอบทันควันว่า

“กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางเลน จะแบ่งเงินออกเป็น ๕ ส่วน คือ
ส่วนที่ ๑ ร้อยละ ๕ ของเงินทั้งหมด จัดเป็นเงินคงคลังของกองทุน
ส่วนที่ ๒ ร้อยละ ๓๐ ของเงินทั้งหมด เป็นเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง
ส่วนที่ ๓ ร้อยละ ๔๐ ของเงินทั้งหมด เป็นเงินสำหรับใช้จ่าย เพื่อการบริหารจัดการ และการจัดสวัสดิการด้านต่าง ๆ ให้สมาชิก เงินส่วนนี้หากไม่พอใช้ก็สามารถดึงมาจากส่วนที่ ๒ ได้
ส่วนที่ ๔ ร้อยละ ๑๐ ของเงินทั้งหมด จัดเป็นทุนการศึกษาให้กับสมาชิกที่เป็นนักเรียนนักศึกษา
ส่วนที่ ๕ ร้อยละ ๑๕ ของเงินทั้งหมด เป็นเงินกองทุนสำหรับจัดการเกี่ยวกับภัยพิบัติต่าง ๆ "


โดยเงินทั้ง ๕ ส่วน จะนำมาจัดสรรใหม่ทุกสิ้นปี”

ผมฟังแล้วอดไม่ได้ที่จะชื่นชมกับข้อมูลที่พรั่งพรูออกมาจากปาก “ลุงสมควร” เป็นอย่างมาก ในใจยอมรับว่านี้เป็นการออกแบบการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชนที่แยบยลระดับมือพระกาฬจริง ๆ

"ทางกองทุนเห็นว่า การศึกษาดูงานเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ไปดูที่ อบต.ไร่ส้ม จังหวัดเพชรบุรี ที่ อบต.อ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปพิษณุโลก กำแพงเพชร ก็ได้อะไรดี ๆ มาใช้ แต่ต้องบอกว่าบางแห่งก็สู้เราไม่ได้

บางกองทุนไม่รับผู้สูงอายุเป็นสมาชิก ด้วยเหตุผลว่าใกล้ตาย เรื่องอะไรจะเอาผีมานฝากไว้กับกองทุน เราคิดว่าความคิดนี้ไม่ใช่ ไม่ควรกีดกัน เรามีวิธีแก้โดยตั้งเงื่อนไขว่า หากใครมีอายุ ๖๐ ปี จะสมัครเข้ากองทุน ต้องหาลูกหลานที่อายุไม่มากมาเข้าด้วย ไม่น้อยกว่า ๑ คน ถ้าอายุ ๗๐ – ๘๐ ปี ต้องไม่น้อยกว่า ๒ คน แต่หากหาไม่ได้จริง ๆ เราก็รับเป็นสมาชิก”

กว่า ๓๐ นาทีที่ผมได้ฟังเรื่องเล่าจาก “ลุงสมควร” เกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเลน นับเป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่หาไม่ได้ในตำรา

ผมสรุปบทเรียนทิ้งท้ายก่อนจบไว้ว่า สิ่งที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จจากการบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเลนนั้น มี ๕ ประการ

หนึ่ง : การมีแกนนำขับเคลื่อนที่มีจิตใจที่มุ่งมั่น เกาะติด ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค

สอง : การมีทีมงานที่เข้มแข็ง นั่นก็คือ กรรมการบริหารกองทุน ที่ทำงานเป็นทีม และที่สำคัญมีการวางตัวกรรมการแต่ละคนในบทบาทที่เหมาะสม เฉกเช่น การให้เจ้าของธุรกิจร้านทองมาเป็นประธานกรรมการบริหารกองทุน

สาม : มีการเชื่อมโยงกับทาง อปท. อย่างมีศิลปะ โดยเข้าใจในงานของ อปท. ที่ทำงานอยู่บนความต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชน ฉะนั้นจึงมีการวางทีท่าระหว่างกรรมการกับผู้บริหาร อปท.ที่เหมาะสมและให้เกียรติซึ่งกันและกัน

สี่ : มียุทธศิลป์ในการทำงาน ซึ่งจะเห็นได้จากกิจกรรมที่กรรมการบริหารกองทุนได้ทำในหลายเรื่อง ทั้งการบอกให้เขารู้และทำให้เขาเห็น

ห้า : มีการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยการเรียนรู้ทั้งจากวิทยากร และการดูงานจากกองทุนสวัสดิการชุมชนแห่งอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีการนำมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง

ว่าไปแล้วการพัฒนาความเข้มแข็งของกองทุนสวัสดิการชุมชน ถือเป็นหน่ออ่อนสำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ยิ่งทำให้เห็นพลังของสวัสดิการชุมชนสู่ความยั่งยืนของชุมชน หากทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการขับเคลื่อน พลังจิตอาสาสร้างสวัสดิการชุมชน จึงเป็นหัวใจสำคัญสู่การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนต่อไปในอนาคต

นี่คือเรื่องราวดี ๆ จากปากของ "ลุงสมควร" ที่เกิดขึ้นก่อนการทำการรัฐประหารยึดอำนาจไม่เกิน ๒ ชั่วโมง

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

จดหมายถึงเพื่อน ฉบับที่ ๖

๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗

บุญส่ง เพื่อนรัก

“ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ…..จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๓๐ น. เป็นต้นไป”

ระหว่างที่ผมกำลังขับรถกลับบ้านหลังจากเสร็จสิ้นจากภารกิจงานในพื้นที่ เสียงดังกล่าวดังผ่านลำโพงรถคู่ใจและสร้างความตระหนกให้ผมไม่น้อย พลันที่เสียงประกาศจบก็มีเสียงเพลงแนวปลุกใจรักชาติดังขึ้นตามมา ไม่ต่างจากสถานีอื่นๆ ก็จะมีเพียงเสียงเพลงดังกล่าวสลับกับการอ่านประกาศของโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ใช้ชื่อย่อว่า คสช. เป็นระยะ ๆ

บุญส่งเพื่อนรัก เราไม่ได้เขียนจดหมายมาหานายนานมากแล้วซินะ ด้วยภารกิจการงานในช่วงนี้ที่ค่อนข้างรัดตัว แต่เพราะเสียงประกาศข้างต้น ทำให้เราคิดถึงนายขึ้นมาทันที และลงมือเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงนาย เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ ในประเทศไทยให้ฟัง

ถ้านายยังจำได้ ๒ เดือนที่แล้ว จดหมายฉบับล่าสุดที่เราเขียนถึงนายเล่าให้ฟังว่า

ผู้ชุมนุมภายใต้ชื่อ กปปส. ยังคงชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยนำยุทธวิธีมาใช้ทุกรูปแบบ ทั้งเดินปิดกรุงเทพฯ บางจุด ตั้งเวทีในย่านที่สำคัญๆ พร้อมกันหลาย ๆ จุด เดินรณรงค์ไปตามท้องถนนทั่วกรุงเทพ เดินสายไปพบผู้บริหารองค์กรรัฐและรัฐวิสาหกิจ ย้ายไปชุมนุมที่สวนลุมพินี แล้วสุดท้ายย้ายมาชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน และกำหนดวันประกาศชัยชนะในวันที่ ๒๖ พฤษภาคมนี้

การกระทำของ กปปส. มีเป้าหมายสำคัญ คือ การให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออก เพื่อเปิดให้มีการตั้งคณะรัฐมนตรีคนกลางทำการปฏิรูป แล้วเร่งให้มีการเลือกตั้งที่โปร่งใส แต่จนวันที่เกิดเหตุการณ์นี้รัฐบาลก็ไม่ยอมลาออกแต่อย่างใด

แม้นมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากอำนาจหน้าที่กรณีโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ และคำตัดสินของ ปปช. กรณีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ว่านายกรัฐมนตรีมีความผิด ก็มีการตั้งรัฐมนตรีคนอื่นมาทำหน้าที่แทน

อีกทั้งทางด้านวุฒิสภาก็มีความพยายามหาทางออก แต่ทางรัฐบาลก็ยังไม่ยอมลาออกแต่อย่างใด

จนในที่สุดเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ผบ.ทบ. จึงใช้อำนาจตาม พรบ.กฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ประกาศกฎอัยการศึก และมีการเชิญหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ไปประชุม และเมื่อวานนี้ได้มีการเชิญแกนนำ ๗ ฝ่าย คือ รัฐบาล พรรคเพื่อไทย นปช. พรรคประชาธิปัตย์ กปปส. วุฒิสภาและ กกต. ไปร่วมประชุมหารือกันที่สโมสรกองทัพบก

ซึ่งตามข่าวที่เราติดตามทราบว่าแต่ละฝ่ายก็มีข้อเสนอของตนเอง แต่ข้อเสนอเหล่านี้ยังไปคนละทิศละทาง ผบ.ทบ. จึงเลิกประชุมแล้วตั้งโจทย์ให้แต่ละฝ่ายกลับไปคิด แล้วนำคำตอบมาประชุมใหม่ในวันนี้

และต่อไปนี้คือข่าวที่เราได้มาจากเฟชบุ๊ค เล่าให้เห็นบรรยากาศก่อนการยึดอำนาจในครั้งนี้

“ผู้เข้าร่วมประชุมชุดเดิมที่เดินทางไป ต่างรู้สึกได้ถึงความแตกต่างของบรรยากาศการรักษาความปลอดภัยในวันนี้ ที่ทางกองทัพได้จัดกำลังทหารเข้ามาดูแลภายในตัวอาคารสโมสรกองทัพบก ที่ใช้เป็นสถานที่หารือจำนวนมาก และแต่ละคนจะพกอาวุธประจำกาย ขณะเดียวกันบรรดาเสนาธิการทหาร ก็ได้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ขณะที่วันที่ ๒๑ พ.ค. ที่ผ่านมา แม้จะมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำการในอาคารแต่ก็ไม่มีการพกพาอาวุธ และแต่ละเหล่าทัพก็มีเพียงผู้นำ หรือตัวแทนเหล่าทัพบางคนเท่านั้น

นอกจากนี้ก่อนการหารือยังได้มีการขอเก็บเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดของผู้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากการหารือเมื่อวันที่ ๒๑ พ.ค. ได้มีภาพภายในห้องประชุมเผยแพร่ออกไป และได้กันผู้ติดตามให้ไปรอผู้ร่วมประชุมอีกชั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ตามเมื่อการประชุมเริ่มขึ้น ผบ.ทบ. ได้เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้เสนอแนวทางตามที่ได้ให้การบ้านไปก่อนหน้านี้ โดยแต่ละฝ่ายก็ยังคงนำเสนอแนวทางในมุมของตัวเอง ซึ่งเห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศแล้ว

เมื่อแต่ละฝ่ายไม่มีจุดร่วมที่ตรงกัน ผบ.ทบ. ได้ขอพักการประชุม และเชิญแกนนำฝ่าย นปช. และ กปปส. ไปหารือร่วมกันอีกห้องหนึ่ง ประมาณ ๔๕ นาที เมื่อกลับมาที่วงหารือแล้วก็ยังได้เชิญเฉพาะประธาน นปช. และเลขาธิการ กปปส. ไปพูดคุยกันส่วนตัวประมาณ ๑ นาที ก่อนที่จะกลับมาที่วงหารือ

และได้สอบถาม รมว.ยุติธรรมในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาล ว่าตกลงรัฐบาลยืนยันไม่ลาออกทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่ ซึ่ง รมว.ยุติธรรม ระบุว่านาทีนี้ไม่ลาออก

ผบ.ทบ. จึงบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นตั้งแต่นาทีนี้ ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง

จากนั้นก็ได้เชิญตัวแทนวุฒิสภาและ กกต. ออกจากที่ประชุม โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้แต่ขอให้ยังอยู่ในพื้นที่สโมสรทหารบกเพื่อรอกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกจากพื้นที่ก่อน ส่วนตัวแทนจากฝ่ายอื่นๆ ได้ถูกควบคุมตัวไปยังสถานที่หนึ่ง”

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ต้องบอกว่าความรู้สึกของเราค่อนข้างสับสนมากมาย ระหว่างความรู้สึกที่เชื่อมั่นต่องานที่เราทำอยู่ซึ่งเป็นงานเพื่อสร้าง “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” กับความรู้สึกต่อการใช้ “การยึดอำนาจ” ที่กลายเป็น “ทางออกประเทศไทย” ที่ถูกเลือกนำมาใช้

หรือทางออกนี้ คือ ทางออกเดียวที่หลงเหลืออยู่ในช่วงเวลาเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถย้อนอดีตได้ ฉะนั้นสิ่งที่เราและคนไทยทุกคนจะทำได้นับต่อไปนี้ไป ก็คงทำหน้าที่ของตนให้ดีและสุจริตที่สุดตามบทบาทที่แต่ละคนมี

สำหรับเราแล้ว คงทำได้ด้วยการเรียกร้องให้ คสช. ยึดผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นที่ตั้ง เร่งรัดจัดให้มีคณะรัฐมนตรีที่ดีโดยเร็วเพื่อออกมาทำการปฏิรูปประเทศไทย โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้งให้เป็นระบบที่ทำให้ได้คนดีและเก่งเข้ามาทำงาน และคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็ว

เราขอให้นายช่วยดลบันดาลให้สิ่งที่เราคิดเกิดขึ้นจริงด้วยนะ

คิดถึงเพื่อน

“เราเอง”