วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ประชาธิปไตยทางตรง

๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗

เวลาพูดถึงคำว่า “พื้นที่สาธารณะ” ภาพที่ปรากฏขึ้นมาในหลายๆคนคงหนีไม่พ้นสถานที่เหล่านี้ เช่น วัด บ่อน้ำ ป่าใกล้บ้าน ศาลปู่ตา โรงเรียน ท้องไร่ท้องนา ตลาด ศาลาประชาคม ร้านกาแฟในหมู่บ้าน เป็นสถานที่ที่คนในชุมชนสามารถมาใช้พื้นที่ดังกล่าวได้ร่วมกัน ดังนั้นพื้นที่สาธารณะจึงคือ ภาพสะท้อนถึงความเป็นชุมชนหนึ่ง ๆ นั่นเอง

อย่างไรก็ตามชุมชนหนึ่งๆย่อมมีความแตกต่างกันและไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ ดูแค่เพียงชุมชนในเขตเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ก็จะประกอบไปด้วยทั้งชุมชนของหมู่บ้านจัดสรร ชุมชนคนใต้ทางด่วน ชุมชนสลัม ชุมชนชาวแฟลต ชุมชนคอนโดมิเนียม และอื่นๆอีกมากมาย

หรือเมื่อมามองชุมชนในต่างจังหวัด ชุมชนที่อยู่ติดชายทะเล ชุมชนที่อยู่กับภูเขาลำเนาไพร ชุมชนใน ๓ จังหวัดภาคใต้ ก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างมากขึ้นไปอีก

ดังนั้นแต่ละชุมชนจึงไม่เพียงแตกต่างแค่ในเชิงภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่องค์ประกอบที่ประกอบขึ้นเป็นชุมชนหนึ่งๆก็แตกต่างกันไปด้วย ดูง่ายๆแค่สมาชิกของชุมชนที่ประกอบไปด้วยทั้งวัยเด็ก วัยทำงาน วัยชรา ต่างก็มีอาชีพ ความคิด ทักษะ อุดมการณ์ ประสบการณ์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะสังคมไทยทุกวันนี้ คือ สังคมพหุลักษณ์ที่สลับซับซ้อนยิ่งนัก ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม การศึกษา การทำมาหากิน การปฏิสัมพันธ์ของสมาชิก การบริหาร การปกครอง สุขภาพ และอื่นๆ ที่แต่ละชุมชนต่างก็มีลักษณะเฉพาะเจาะจงตามสภาพและบริบท

เมื่อเห็นภาพความสลับซับซ้อนทั้งในมิติภูมิศาสตร์ และวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละชุมชนแล้ว คำถามที่ต้องคิดตามมาก็คือ เราจะจัดการกันในแต่ละชุมชนที่มีความแตกต่างกันอย่างไร ที่จะรองรับความแตกต่างกันเหล่านั้น และคนทุกกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้ในชุมชนอย่าง “อยู่เย็นเป็นสุข”

แนวคิด “พื้นที่สาธารณะ” ของฮาร์บามาส จึงน่าจะเป็นคำตอบสำคัญสำหรับคำถามดังกล่าว

นักปรัชญาชาวเยอรมันคนหนึ่งชื่อ "เจอร์เก้น ฮาเบอร์มาส" (Jürgen Harbermas) ได้เคยเสนอไว้ว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเปิดให้มีพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาแลกเปลี่ยน ถกเถียง หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ซึ่งไม่ได้เป็นการมาพูดคุยถึงเรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาสาธารณะหรือผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างอิสระ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อส่วนรวม

เพราะ “พื้นที่สาธารณะ” จะนำไปสู่การสร้างความรู้ของชุมชนขึ้นมาชุดหนึ่ง ที่ผ่านการคัดสรร คัดกรองและกลั่นกรองจนตกผลึก จนกลายเป็นประเด็นร่วมของคนที่มาหารือร่วมกัน เกิดการนำไปสู่การพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมกับชุมชนต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตามการที่จะทำให้เกิดสิ่งต่างๆเหล่านั้นได้ ต้องมีการสร้างบรรยากาศของการ “สานเสวนาสาธารณะ” ที่ยอมรับในความแตกต่างทางความคิดของสมาชิก มีบรรยากาศการสื่อสารแบบเผชิญหน้าต่อกัน ผ่านรูปแบบการสนทนา อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมหรือของสาธารณะให้เกิดขึ้น โดยไม่มีการบังคับข่มขู่ ชักจูง คุกคาม หรือออกคำสั่งให้ต้องพูดแต่อย่างใด

“พื้นที่สาธารณะ” เป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับการถกเถียงสนทนา หรือที่เรียกว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ” ให้แต่ละฝ่ายที่เห็นแตกต่างกันได้มีพื้นที่ในการเสนอความเห็นอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม มีการให้น้ำหนักกับหลักฐาน เหตุผล ความรู้สึก อารมณ์ และสร้างความเข้าใจในเจตนารมณ์ร่วมมากกว่าการตัดสินใจโดยเสียงข้างมากแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนกับในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน

ถ้ากล่าวอีกแบบหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า “พื้นที่สาธารณะ” เป็น “กระบวนการประชาธิปไตยทางตรง” ที่คนในชุมชนท้องถิ่น คนตัวเล็กตัวน้อยจะมาร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือ เปิดกว้างในการเข้าถึง มีความเท่าเทียมในการแสดงความคิดเห็น มีการแลกเปลี่ยนอภิปรายบนฐานของเหตุผล มีการหาข้อสรุปร่วมกัน และนำข้อสรุปไปทำ ไปทำงานร่วมกันหรือไปเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายหรือผู้มีอำนาจในสังคมต่อไป

เราสามารถนำแนวคิดเรื่อง “พื้นที่สาธารณะ” นี้มาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยปัจจุบันได้ โดยการเปิดให้มีพื้นที่สาธารณะในประเด็นสำคัญ ๆของสังคม ที่ต้องการจะนำไปสู่การคลี่คลายความกังวลใจร่วมกันของสมาชิกในสังคม และยังสามารถยกระดับพัฒนาให้กลายเป็นความคิดร่วมหรือข้อตกลงร่วม จนกลายเป็นกฎหมายหรือนโยบาย ที่เป็นกฎหมายหรือนโยบายที่สมาชิกในสังคมได้

“คิดร่วม เห็นร่วม ตกลงร่วม” เพื่อนำไปสู่การสร้าง “ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของทั้งชุมชน” นั่นเอง