วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี : ตัวแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชน

๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๗

“เขตสุขภาพเพื่อประชาชน ถือเป็นกลไกใหม่ที่เสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้ประชาชนในทุกระดับ สนับสนุนการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเชื่อมโยงการทำงานแบบกลุ่มจังหวัด และมีกลไกอภิบาลแบบมีส่วนร่วม อำนวยการให้เกิดทิศทางและบูรณาการความร่วมมือ ในงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ระดับภูมิภาค ท้องถิ่น มหาวิทยาลัย องค์กรภาคประชาชน ชุมชนและตัวแทนวิชาชีพ ถือเป็นโครงสร้างการทำงานแบบแนวราบ ที่ทุกฝ่ายรับผิดชอบในภาระหน้าที่ของตนเองและไม่เน้นการใช้อำนาจสั่งการในรูปแบบเดิม”

คำอธิบายของ "นพ.อำพล จินดาวัฒนะ" เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อต้นสิงหาคม ๒๕๕๗ คือความหมายของคำว่า “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” อย่างชัดเจน

และนำมาสู่มติของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ให้จัดตั้ง "เขตสุขภาพเพื่อประชาชน" เพื่อเป็นกลไกชี้ทิศทางแบบมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐและภาคประชาชน บูรณาการการทำงานในระบบสุขภาพของทุกหน่วยงานโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

มีตัวอย่างรูปธรรมที่เห็นได้ชัดจากการทำงานในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยเมื่อวันที่ ๒๘ – ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่ เพื่อสานพลัง “การทำงานขับเคลื่อนนโยบาย เคลื่อนไหวสังคม” ร่วมกัน ระหว่างคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) คณะกรรมการบริหาร (คบ.) และคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐

กระบวนการขับเคลื่อนงานปฏิรูประบบสุขภาพของจังหวัดอุบลราชธานีเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ โดยความริเริ่มของ “นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ” ที่ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับกรรมการมูลนิธิประชาสังคม และที่ประชุมต่างเห็นพ้องที่จะขับเคลื่อนร่วมกับกลไกระดับชาติ ให้เกิดกฎหมายว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ

ใน ๒ ปีแรก มีการจัดเวทีรวม ๒๗ เวทีในทุกอำเภอ ครอบคลุมทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ มุ่งเน้นไปที่เครือข่ายภาคประชาชน และมีการรวบรวมความคิดเห็นต่าง ๆ ส่งไปยังสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) เพื่อประมวลร่วมกับเวทีจากจังหวัดอื่น ๆ

สำหรับการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ มีการทดลองปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเพื่อแสวงหาทางออกในรูปแบบของเวที “โสเหล่สาธารณะ”

ตัวอย่างเช่น เวทีตลาดน้อยจะผ่านวันนี้ไปได้อย่างไร, เวทีคนปลูกอยู่ได้ ผู้ซื้อปลอดภัย ทำได้หรือไม่, เวทีโต้รุ่งในฝันของคนอุบล เป็นต้น เหล่านี้เป็นการจัดเวทีกลางแจ้งในพื้นที่ที่มีปัญหา ทำให้มีคนมาเข้าร่วมเวทีกันอย่างคึกคัก และเมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันอย่างไร ก็มีกลไกการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จนทำให้ทีมงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานีได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

กระบวนการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง มี “มูลนิธิประชาสังคม” เป็นกองเลขานุการสำคัญที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานผู้คนให้เข้ามาร่วมกระบวนการ

จวบจนมีการประกาศใช้กฎหมายสุขภาพแห่งชาติ ในปี ๒๕๕๐ จึงมีการปรับกระบวนการสมัชชาสุขภาพของจังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนางานเชิงวิชาการ

ในช่วงปี ๒๕๕๐ – ๒๕๕๕ ได้มีการคัดเลือกประเด็นนโยบายสาธารณะในพื้นที่ที่สำคัญมาขับเคลื่อน อาทิ การพัฒนาพื้นที่ชุมชนริมมูล การพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ตำบลปทุม การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้รัฐไร้สัญชาติ การพัฒนาเด็กและเยาวชนบ้านผับแล้ง อำเภอสำโรง และการสร้างการมีส่วนร่วมศูนย์แพทย์ชุมชนวัดใต้ เป็นต้น

ในปี ๒๕๕๖ นับเป็นยุคแห่งการปรับเปลี่ยนที่สำคัญ มุ่งเน้นมาเป็นการขับเคลื่อนในภาพรวมระดับจังหวัด มีการจัดตั้งกลไกอย่างเป็นทางการ ที่มีตัวแทนจาก ๓ ภาคส่วนเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน และปรับเปลี่ยนกลไกฝ่ายเลขานุการมาเป็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีแทน

มีการนำกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะมาใช้อย่างเป็นระบบ โดยเปิดรับประเด็นนโยบายสาธารณะ อย่างกว้างขวาง มีการตั้งคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และนำเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีสมาชิกจากทุกภาคส่วนกว่า ๒,๐๐๐ คน เข้าร่วมและให้ฉันทมติร่วมกัน ภายใต้แนวคิดหลักที่ว่า “อุบลราชธานีจัดการตนเอง สู่สังคมสุขภาวะ”

มีข้อเสนอเชิงนโยบาย รวม ๕ เรื่อง ที่นำเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ ๒๑-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คือ เกษตรอินทรีย์ การจัดการขยะและสิ่งปฏิกูล การพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว การจัดการแม่น้ำมูล และการจัดการศึกษา

“กาญจนา ทองทั่ว” นักวิชาการผู้มีบทบาทสำคัญและกำลังหลักของคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวสรุปให้เห็นกระบวนการ “ขับเคลื่อนนโยบาย และเคลื่อนไหวสังคม” ในจังหวัดอุบลราชธานี ว่าสามารถจำแนกออกเป็น ๓ รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ ๑ คือการนำกระบวนการสมัชชาสุขภาพไปขับเคลื่อนงานในประเด็นเชิงนโยบายในองค์กรในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานีขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชน ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๑๐ จัด “สมัชชาพิจารณ์” เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น

รูปแบบที่ ๒ มีการนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่สำคัญมาขับเคลื่อนงานในพื้นที่ อาทิ มติว่าด้วยเรื่อง การจัดการปัญหาน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ และการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น เป็นต้น

รูปแบบที่ ๓ มีการใช้งาน “วิจัยเพื่อท้องถิ่น” มาเสริมกระบวนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่ อาทิ มติว่าด้วยเรื่องการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง และมาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ

ภายหลังจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในภาพรวมที่จัดขึ้นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว คณะดูงานได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานในพื้นที่ รวม ๓ เรื่อง คือ

เรื่องที่ ๑ การแก้ไขปัญหาเด็กเยาวชน งานศพ งานบุญปลอดเหล้า ที่เทศบาลตำบลปทุม อำเภอเมือง
เรื่องที่ ๒ การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ
เรื่องที่ ๓ การจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ที่เทศบาลตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ

ภายหลังจากการดูงานได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และพบว่าปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี” มีอย่างน้อย ๖ ประการ คือ

หนึ่ง มีกลไกบริหารจัดการแบบพหุภาคี โดยเห็นความหลากหลายของผู้ที่เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพจังหวัด ทั้งส่วนที่เป็นผู้แทนภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน โดยเฉพาะในภาควิชาการที่มีผู้แทนจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่เข้ามาร่วมอย่างครบครัน

สอง มีกองเลขานุการที่มีศักยภาพ เก่งทั้งด้านการประสานงาน มียุทธวิธีในการทำงาน มีบารมีที่ทุกคนรักและศรัทธา

สาม มีการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของ โดยการเชิญชวนผู้ที่เป็นเจ้าของปัญหาหรือเจ้าของพื้นที่เข้ามาใช้กระบวนการอย่างเปิดกว้าง

สี่ ให้ความสำคัญกับข้อมูลความรู้ มีการนำเอากระบวนการ “วิจัยเพื่อท้องถิ่น” เข้ามาเสริมกระบวนการ ให้เกิดการยอมรับจากทุกภาคส่วน

ห้า มีกระบวนการสื่อสารสาธารณะที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้ทุกช่องทาง ทั้งทีวี วิทยุชุมชน สื่อสังคมออนไลน์

หก มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการวางแผนการทำงาน การวางระบบติดตามประเมินผล การรายงานผลอย่างเป็นระบบ มีการประสานกับแหล่งทุนทั้งภายในและภายนอกพื้นที่

บทสรุปดังกล่าวถือเป็น “องค์ความรู้” สำคัญยิ่งที่เกิดจากการทำงานจริงของคนในพื้นที่ ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงคำพูดของ “ผศ.เกษม บุญรมย์” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ที่ได้กล่าวไว้ในช่วงสายของวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ว่า “กระบวนการสมัชชาสุขภาพ คือทางออกของประเทศไทย”

และเมื่อคิดถึงมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ร่วมด้วย ก็ทำให้เห็นตัวแบบ “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ลาง ๆ ขึ้นมาในทันใด

วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ศีลชุมชนคนบ้านคลองอาราง : ธรรมนูญสุขภาพหมู่บ้านแห่งแรกในไทย

๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๗

๑๓ มกราคม ๒๕๕๗ หรือกว่า ๘ เดือนมาแล้ว วันนั้นที่เมืองหลวงของประเทศไทยกำลังจัดกิจกรรม “ปิดกรุงเทพฯ” กัน โดยมีการตั้งเวทีชุมนุมในพื้นที่สำคัญต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากการบริหารประเทศที่ล้มเหลว

แต่ ณ ที่แห่งนี้ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก้ง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ชาวบ้านได้มาชุมนุมร่วมกันเพื่อเป็นสักขีพยานในการประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลบ้านแก้ง” โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เข้าร่วมด้วย ซึ่งภายหลังจากที่มีการประกาศใช้แล้ว ทางนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก้งได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพให้แก่ทุกหมู่บ้าน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดขึ้นมาของธรรมนูญสุขภาพระดับตำบลแห่งนี้นั้น มาจากจุดกำเนิดเล็กๆที่ชื่อว่า “ธรรมนูญสุขภาพหมู่บ้านคลองอาราง” ต้นแบบสำคัญที่นายก อบต.บ้านแก้งได้มีโอกาสเรียนรู้และใช้เป็นต้นแบบในการยกระดับ

๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ คณะ นนส. หรือทีม “นักสานพลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมและสังคมสุขภาวะ” หรือที่เรียกสั้นๆชาว “นักสานพลัง” ซึ่งมาจากทีมงานเลขานุการกิจของคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดจากทุกภาคของประเทศไทย กว่า ๓๐ คน ได้เดินทางมาถึงที่บ้านคลองอาราง หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นหมู่บ้านแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพระดับหมู่บ้านขึ้นมา

“พัฒนา พรมเผ่า” ผู้ใหญ่บ้าน บ้านคลองอาราง ฉายภาพเริ่มต้นให้เห็นถึงที่มาที่ไปอย่างชัดเจนว่า

“ช่วงต้นปี ๒๕๕๕ สังเกตเห็นลูกบ้านเกิดล้มเจ็บและตายกันมาก จึงนั่งคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหา พอดีได้มีโอกาสรับรู้จากเวทีสาธารณะในตอนที่ไปประชุมกับทาง สสจ. ว่ามีหลายตำบลมีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพชุมชนกัน เลยไปหาวีซีดีมานั่งดู จึงเกิดแนวคิดอยากทำธรรมนูญสุขภาพระดับหมู่บ้านบ้าง

จึงปรึกษากับทางแกนนำในหมู่บ้าน ทุกฝ่ายเห็นด้วย จึงเริ่มดำเนินการ

มีการลงไปจัดเวทีในหมู่บ้าน รวม ๖ ครั้ง แต่ละครั้งจะใช้เวลาช่วงค่ำ ๆ หลังชาวบ้านเสร็จภารกิจจากงานประจำแล้ว ในแต่ละเวทีจะสอบถามชาวบ้านว่า ต้องการอะไรบ้าง แล้วนำกลับมาจัดกลุ่มแบ่งหมวดหมู่

ในช่วงแรกก็ไม่ค่อยมีงบประมาณ ก็ตัดต้นยูคาลิปตัสขาย ได้เงินมาเป็นค่าน้ำ ค่าน้ำมัน บางเวทีชาวบ้านก็จัดหาน้ำ หุงข้าวมาสมทบ

มีชาวบ้านคนหนึ่งลุกขึ้นถามว่าเอาจริงหรือ ทำให้ผมเดินหน้าแบบตั้งใจว่าต้องทำให้สำเร็จ”

จนในที่สุดเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕ “ธรรมนูญสุขภาพหมู่บ้านคลองอาราง” จึงได้ถูกประกาศใช้ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วเดินทางมาร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดนี้ด้วย

ในเวทีวันนั้นลูกบ้านจากทุกหลังคาเรือนต่างได้กล่าวสัจจะวาจาร่วมกันว่า “จะร่วมมือกันปฏิบัติตามธรรมนูญสุขภาพหมู่บ้านฉบับนี้อย่างเต็มกำลัง”

ผมเปิดเอกสารปกสีเขียวเล่มเล็กที่ได้รับมอบจากเจ้าของพื้นที่ มีข้อความปรากฏอยู่บนปกว่า “ธรรมนูญสุขภาพบ้านคลองอาราง หมู่บ้านน่าอยู่ด้วยกระบวนการและการจัดการตนเองอย่างยั่งยืน (ฉบับที่ ๑) พ.ศ. ๒๕๕๕”

สาระสำคัญที่ถูกบรรจุอยู่ในธรรมนูญสุขภาพฉบับนี้ มีทั้งหมด ๑๒ หมวด รวม ๑๑๓ ข้อ จำแนกเป็น

หมวดที่ ๑ ว่าด้วยปรัชญาแนวคิด
หมวดที่ ๒ ว่าด้วยคุณธรรม จริยธรรม ศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดี
หมวดที่ ๓ ว่าด้วยสังคมดี
หมวดที่ ๔ ว่าด้วยการป้องกันควบคุมและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
หมวดที่ ๕ ว่าด้วยการศึกษาดี คนในหมู่บ้านมีการศึกษา/การเรียนรู้ที่เหมาะสม
หมวดที่ ๖ ว่าด้วยเศรษฐกิจดี คนในหมู่บ้านมีงานทำ มีรายได้ มีเงินออม
หมวดที่ ๗ ว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น
หมวดที่ ๘ ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคและสิทธิต่าง ๆ
หมวดที่ ๙ ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ชุมชนเข้มแข็ง
หมวดที่ ๑๐ ว่าด้วยสุขภาพดี อนามัยดี
หมวดที่ ๑๑ ว่าด้วยการจัดการระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ต่อสุขภาพชาวบ้านคลองอาราง
หมวดที่ ๑๒ ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมนูญสุขภาพบ้านคลองอาราง

“ผู้ใหญ่พัฒนา” เล่าให้คณะที่มาดูงานฟังต่อว่า ทั้ง ๑๒ หมวด จะมีการแต่งตั้งให้มีคนรับผิดชอบในการขับเคลื่อน ติดตามและรายงานให้ที่ประชุมกรรมการหมู่บ้านฟังทุกเดือน

“ไม่น่าเชื่อว่า ภายหลังจากการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพไป ปรากฏว่าหวยหุ้นที่เคยเล่นกันเกือบทุกบ้านทุกวัน หายไปจากหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านกลัวจะผิดสัญญาที่ตนเองให้สัญญาไว้”

“มีวันหนึ่งที่มีชาวบ้านคนหนึ่งไปซื้อโต๊ะสนุกเกอร์มาจากในเมือง จะเอามาติดตั้งในหมู่บ้าน แต่พอรถมาส่งเพื่อนบ้านเห็นเข้าเลยมาทักท้วงว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับธรรมนูญสุขภาพ ชาวบ้านคนนั้นเลยต้องขนโต๊ะสนุกเกอร์ออกจากหมู่บ้านไป”


“ตอนแรก ๆ ก็จะมีชาวบ้านเข้าร่วมไม่มาก เราใช้วิธีประกาศรายชื่อคนที่เข้าร่วมในที่ต่าง ๆ คนที่ไม่เข้าร่วมมาเห็นเข้าก็เกิดความละอายจะทยอยมาเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางหมู่บ้านจัดเพิ่มขึ้น ๆ”

ไม่ต่างจากที่ “สุริยา อร่ามเรือง” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เล่าถึงรูปธรรมชัดเจนที่เกิดขึ้นกับตนเองว่า

“วันนั้นผมกลับไปถึงบ้าน ลูกชายมาขอร้องให้เลิกสูบบุหรี่ นึกไปถึงว่าได้ให้คำสัญญาว่าจะปฏิบัติตามธรรมนูญสุขภาพในวันประกาศใช้ จึงตอบตกลง ลูกขอเอาด้ายขาวมาผูกข้อมือ แม่และเมียนั่งอยู่ข้าง ๆ เห็นเข้า เลยขอผูกด้ายที่มือด้วย

คืนนั้นเข้านอน นึกอยากบุหรี่ขึ้นมา เลยมุดออกมาจากมุ้ง เปิดไฟตั้งใจจะหยิบบุหรี่ที่ติดกระเป๋ามาสูบ หันไปเห็นด้ายที่ข้อมือ จึงคิดถึงคำสัญญาที่ให้ไว้กับลูก แม่และเมีย เลยปิดไฟแล้วมุดมุ้งเข้าไปนอนต่อ ตั้งแต่นั้นมา ผมเลิกบุหรี่เด็ดขาด ตอนนี้ผมอ้วนขึ้น หล่อขึ้น”

ผมลองไล่เรียงสาระไปทีละข้อจนครบทั้ง ๑๑๓ ข้อ สามารถจำแนกได้เป็น ๔ ลักษณะ คือ

ลักษณะที่ ๑ เป็นหลักการสำคัญ ซึ่งปรากฏอยู่ในข้อที่ ๕ ที่ระบุว่า ชาวบ้านคลองอาราง ร่วมสร้างความสุขทางกาย จิต สังคม ปัญญาและสิ่งแวดล้อมให้เข้าถึงตนเอง ครอบครัว ชุมชนเพื่อมุ่งสู่หมู่บ้านแห่งสุขภาวะที่น่าอยู่แบบมีส่วนร่วมจากความเข้าใจ ความสามัคคีด้วยวิถีประชาธิปไตย จรรโลงเอกลักษณ์มรดกทางวัฒนธรรม รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยพื้นฐานทางจริยธรรม คุณธรรม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ลักษณะที่ ๒ เป็นสิ่งที่กำหนดให้ชาวบ้านคลองอารางถือปฏิบัติ ซึ่งเป็นสาระสำคัญของธรรมนูญฉบับนี้ อาทิ
ข้อ ๑๑ ชาวบ้านคลองอารางควรใช้คำพูดที่มีความสุภาพเรียบร้อย มีสัมมาคารวะ ถนอมน้ำใจซึ่งกันและกัน
ข้อ ๒๑ ชาวบ้านคลองอารางทุกคน ร่วมโครงการลด ละ เลิกการพนัน เหล้า บุหรี่และอบายมุขทุกชนิด
ข้อ ๔๐ ชาวบ้านคลองอารางมีหน้าที่ลดการใช้สารเคมีในการดำรงชีวิต

ลักษณะที่ ๓ เป็นกรอบการทำงานของหมู่บ้านหรือองค์กรที่อยู่ในพื้นที่ อาทิ
ข้อ ๑๗ ส่งเสริมสนับสนุนร่วมกันสร้างร่วมกันพัฒนาอาสาสมัครในการดูแลเด็ก คนพิการ คนชราและผู้ด้อยโอกาสให้สามารถพึ่งตนเองได้ และสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ
ข้อ ๒๓ หมู่บ้านต้องมีมาตรการทางสังคมในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหมู่บ้าน
ข้อ ๙๑ ให้กองทุนสุขภาพและกองทุนที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ตำบล ท้องถิ่นใช้ธรรมนูญสุขภาพฉบับนี้เป็นแผนแม่บทในการดำเนินกิจกรรมหมู่บ้าน

ลักษณะที่ ๔
เป็นกรอบกำหนดกระบวนการทำงานของชาวบ้านและองค์กรต่างๆในพื้นที่ อาทิ
ข้อ ๔๕ จัดให้มีสมัชชาสุขภาพอย่างน้อยปีละ ๑ – ๒ ครั้ง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณ
ข้อ ๙๘ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสมัชชาสุขภาพร่วมกับภาคีเครือข่ายสนับสนุนติดตามและนำมติสมัชชาสุขภาพสู่การปฏิบัติในพื้นที่ของตน
ข้อ ๑๐๑ จัดให้มีประชาเสวนาในหมู่บ้าน ๓ เดือนครั้ง

“ธรรมนูญสุขภาพจึงคือธรรมนูญชีวิต เป็นเสมือนศีลที่คนบ้านคลองอารางถือปฏิบัติ” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสุริยา ปิดท้ายสรุปด้วยการให้ความหมายธรรมนูญสุขภาพที่ลึกซึ้งยิ่งนัก

ก่อนเดินทางกลับ ผมอดไม่ได้ที่จะเหลือบสายตาไปมองโล่และถ้วยเกียรติยศที่วางเรียงซ้อนเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบ กะขนาดด้วยสายตาไม่น้อยกว่า ๒๐ ชิ้น บ่งบอกถึงผลงานการพัฒนาด้านต่างๆจนเป็นที่ยอมรับจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆได้เป็นอย่างดี เครื่องการันตรีสำคัญ คือ แทบทุกสัปดาห์จะมีรถบัสขนาดใหญ่พาคณะดูงานจากพื้นที่ต่างๆเข้าออกหมู่บ้านไม่ขาดสาย

วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ธรรมนูญสุขภาพ : เครื่องมือสร้างความสมานฉันท์ในชุมชน

๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๗

“ชาวบ้าน ๑๑ หมู่บ้าน ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ชุมนุมคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล หวั่นผลกระทบสิ่งแวดล้อม”

เป็นตัวอย่างข่าวพาดหัว ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อสาธารณะ แสดงให้เห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่ตำบลเขาไม้แก้วในช่วงที่ผ่านมานานนับกว่า ๔ ปี

แต่วันนี้เหตุการณ์เหล่านี้ เริ่มคลี่คลายไปในทางบวก ทุกฝ่ายหันหน้ามาคุยกัน ปล่อยวางปัญหาที่เกิดขึ้นให้เป็นไปตามกระบวนทางกฎหมาย และหันมานั่งล้อมวงคุยกัน

“อนาคตของคนตำบลเขาไม้แก้วจะเป็นอย่างไร” คือหัวข้อที่ถูกหยิบมาคุยกัน

เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ ทีม “นสส.” ที่ย่อมาจาก “นักสานพลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมและสังคมสุขภาวะ” หรือเรียกแบบย่อ ๆ ว่า “นักสานพลัง” ประจำปี ๒๕๕๗ กว่า ๕๐ ชีวิต ได้มารวมตัวกันที่ลานกว้างภายในศาลาไม้ผสมคอนกรีตเสริมเหล็กของสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งที่ตั้งตะหง่านอยู่บนเนินเขากลางตำบลเขาไม้แก้ว

เดินโดยรอบตัวศาลา จะสัมผัสกับความเย็นสบายโปร่งโล่งด้วยสายลมที่โชยพลิ้วมา ท่ามกลางร่มธรรมชาติของต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นสูงแผ่กิ่งก้านใบปกคลุมสร้างความร่มเย็นไปทั่วลานกว้าง

แผนที่ทำมือบนผืนผ้าดิบสีขาวขนาดใหญ่ที่เกิดจากฝีมือของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนในตำบลที่ช่วยกันบรรจงแต่งแต้มขีดเขียนและระบายสี แสดงขอบเขต ถนน แม่น้ำลำคลอง วัด โรงเรียน และสถานที่สำคัญ จำแนกรายหมู่บ้าน ถูกยึดโยงด้วยเส้นเชือกจากยอดไม้กางเด่นให้ผู้มาเยือนได้ศึกษาและเห็นภาพโดยรวมของตำบลเขาไม้แก้วได้เข้าใจและรับรู้ถึงสภาพบริบทและองค์ประกอบเชิงกายภาพอย่างชัดเจน

ละครสะท้อนทุนวัฒนธรรมประเพณีที่บ่งบอกต้นทุนทางสังคมและรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่น้องนักเรียนหญิงชายราวยี่สิบคนได้แสดงผ่านลีลาท่าทางอันคล่องแคล่ว ประกอบบทพูดที่กล่าวเปล่งด้วยภาษาพื้นบ้านอย่างชัดถ้อยชัดคำในบทที่แต่ละคนสวมอยู่ บ่งบอกว่าผ่านการฝึกปรือมาอย่างหนัก

“การกวนกระยาสารท” ได้สะท้อนภาพความรักสามัคคีของคนเขาไม้แก้วที่เป็นต้นทุนสำคัญที่ตกทอดจากอดีตมาถึงปัจจุบัน บ้างคั่วข้าวตอก บ้างคั่วงา บ้างคั่วถั่ว บ้างกวน บ้างอัดตัดแบ่ง ถูกแสดงผ่านบทละครและนำเสนอผ่านนักแสดงวัยเยาว์ชี้ให้ผู้ชมเห็นถึงผลของการสานมือสานใจกันว่ากว่าจะได้ขนมคู่บ้านสักชิ้นต้องเกิดจากการทำงานร่วมมือกันอย่างไร

ช่วงท้ายของละครบทนั้น น้อง ๆ เยาวชนต่างแปลงบทแสดงให้เห็นถึงการรุกคืบเข้ามาของ “ธุรกิจขนาดใหญ่” โดยใช้ “เงิน” เป็นเครื่องนำทาง ก่อเกิดโรงงานกลางชุมชนสร้างสรรค์รายได้ ยกระดับฐานะเศรษฐกิจและความเจริญให้กับหมู่บ้าน ถนนคอนกรีต ไฟฟ้า ขยายทั่วตำบล สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนในตำบลที่วิถีชีวิตปรับเปลี่ยนไปสู่สังคมยุคใหม่

แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับมีชาวบ้านที่อยู่รอบโรงงานได้รับผลกระทบจากมลพิษที่โรงงานเหล่านั้นเป็นต้นเหตุ นำไปสู่การร้องเรียนและต่อต้าน

แม้นไม่มีบทสรุปของละครที่น้อง ๆ ได้แสดงออกมา แต่ได้ทิ้งประเด็นร่วมให้คนดูได้คิดต่อ ว่า “คนเขาไม้แก้ว” จะเดินหน้าต่อไปทางไหนดี

แกนนำคนสำคัญคนหนึ่งได้ฉายภาพผ่านจอแอลซีดี บอกเล่าความเป็นมาตั้งแต่การก่อตั้งชุมชนเมื่อครั้งปี ๒๔๘๔ ที่พื้นที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ จวบจนค่อย ๆ มีชาวบ้านกลุ่มลาวเวียงอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่จากเพียงไม่กี่ครอบครัวจนปัจจุบันมีมากกว่า ๑,๘๐๐ หลังคาเรือน

จวบจนปี ๒๕๒๔ ที่แยกตัวออกมาจากตำบลกบินทร์บุรีมาตั้งเป็น “ตำบลเขาไม้แก้ว”

จุดผลิกผันครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี ๒๕๔๔ ที่มีบริษัททุนขนาดใหญ่เข้ามากว้านซื้อที่ดินและบุกรุกที่ดินสาธารณะเพื่อปลูกป่ายูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานกระดาษ จนเกิดการรวมตัวของชาวบ้านเรียกร้องขอคืนพื้นที่สาธารณะคืนจากนายทุน

ในปีถัด ๆ มา “ฟาร์มเลี้ยงหมู” ก็เกิดขึ้น จนต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกัน เกิดการต่อต้านการประกอบกิจการโรงงานเผาหลอมขยะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จนต้องยุติกิจการไป

และในปี ๒๕๕๓ มีกลุ่มนายทุนเข้ามาขออนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีเป้าหมายใช้มันสำปะหลังดิบที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักในตำบลเป็นวัตถุดิบ จนเกิดการต่อต้านจากชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในตำบล เรื่องราวที่แกนนำคนนั้นนำเสนอให้กับ “นนส.” ได้รับฟังได้ซ้ำเสริมบทละครที่น้องนักเรียนชายหญิงได้แสดงให้เห็นเมื่อครู่

ทุกเครื่องมือที่มีอยู่ในสังคม ถูกคิดถูกนำมาใช้ ทั้งการเดินรณรงค์ การประท้วง การปิดล้อม การร้องเรียน การฟ้องศาล มาใช้

มีความพยายามที่จะนำเครื่องมือที่เรียกว่า “การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพชุมชน” หรือ “ซีเอชไอเอ” ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาใช้หลังจากเห็นตัวอย่างจากพื้นที่อื่นที่ดำเนินการมาก่อน

ถึงขนาดมีการรวบรวมเงินจากทุนส่วนตัวเดินทางไปดูงานถึงจังหวัดร้อยเอ็ดและสุรินทร์

ควบคู่กับการขับเคลื่อนสังคมด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ที่พึ่งสุดท้ายที่ชาวบ้านหวังพึ่ง นั่นก็คือ “อำนาจศาล”

“ชาวเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เดินทางไปร้องต่อศาลปกครองกลางให้เพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ เนื่องจากยังไม่ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากคนในพื้นที่”

เป็นข่าวพาดหัวข่าวสังคมภูมิภาคที่ปรากฏอยู่บนเว็ปไซด์ของโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา

แต่สิ่งเหล่านี้คืออดีต ที่นำมาซึ่งความร้าวฉานของคนเขาไม้แก้ว

จวบจนวันหนึ่ง แกนนำของตำบลได้มีโอกาสรู้จัก “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” จากเพื่อนเครือข่ายลุ่มน้ำพระปงจากเวทีสาธารณะแห่งหนึ่ง จึงเกิดปิ๊งแวบเห็นทางออกสายใหม่ที่แตกต่างทางออกที่ร้อนแรงในอดีต นั่นก็คือ "ทางออกบนเส้นทางสมานฉันท์"

ประกอบกับการได้รับการหนุนเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ต้องการขยายผลการทำงานเชิงบูรณาการในพื้นที่เขตภาคตะวันออกร่วมกัน

จึงเกิดการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างแกนนำที่สำคัญในตำบลเขาไม้แก้ว และเห็นชอบร่วมกันว่า “เส้นทางเดิมนั้นปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางศาลไป เราจะมาเริ่มเส้นทางใหม่ที่ทุกคนมีส่วนร่วม โดยใช้ ธรรมนูญสุขภาพ” เป็นเครื่องมือ”

“ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมตำบลเขาไม้แก้ว” ลุกขึ้นอธิบายให้กับ นนส. ฟังอย่างฉาดฉานประกอบกับเพาเวอร์พ้อยต์ที่ฉายภาพไปสู่จอที่ตั้งอยู่กลางพื้นศาลาหลังนั้น

“เป้าหมายสำคัญของการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว คือ เราจะมากำหนดอนาคตตัวเอง และกำจัดปัญหาที่เคยมีมาในอดีตให้หมดไป”

เป็นวรรคทองอันสำคัญที่ถูกถ่ายทอดมาจากปากของผู้นำเสนอบ่งบอกนัยยะสำคัญว่าเป้าหมายสำคัญของเครื่องมือชิ้นนั้นกำลังทำงานในหน้าที่ใด

ร่างธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว ที่ผ่านเวทีรับฟังความเห็นจากชาวบ้านใน ๑๑ หมู่บ้าน รอจัดเวทีรวมในระดับตำบลในวันที่ ๓๑ สิงหาคมนี้ และจะมีพิธีประกาศใช้ในเดือนกันยายนนี้ ปรากฏอยู่บนกระดาษเอสี่รวมสี่หน้า ได้จัดแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น ๗ หมวด ทั้งหมด ๕๐ ข้อ จำแนกเป็น หมวดสุขภาพ ๗ ข้อ หมวดสิ่งแวดล้อม ๑๑ ข้อ หมวดการศึกษา เด็กและเยาวชน ๘ ข้อ หมวดสังคม ๘ ข้อ หมวดเศรษฐกิจ ๙ ข้อ หมวดศาสนาและวัฒนธรรม ๕ ข้อ และหมวดภูมิปัญญาท้องถิ่น ๒ ข้อ

“ส่งเสริมให้ชุมชนมีพฤติกรรมการกินที่ถูกต้อง โดยการให้ความรู้และรณรงค์ไม่ให้กินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ”

“หลีกเลี่ยงการจับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่”

“ผู้ปกครองไม่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเล่นการพนัน”

“ส่งเสริมให้มีการแต่งกายที่เหมาะสมต่อสถานที่และถูกกาลเทศะ”

“ลดการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ส่งเสริมการทำเกษตรพอเพียง”

“บุคคลที่จะบวชควรที่จะมีการตรวจคัดกรองสารเสพติด”

“ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนปลูปพืชสมุนไพรและเรียนรู้การใช้อย่างถูกต้อง”

เหล่านี้คือตัวอย่างของสาระของ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว” ซึ่งล้วนเขียนด้วยภาษาง่าย ๆ และใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนยิ่งนัก

ข้อความหนึ่งที่เมื่ออ่านไล่เลียงไป จะสะดุดสะกิดให้คิดตามนั่นก็คือ “สาระในข้อที่ ๔ หมวดสิ่งแวดล้อม” ทีเขียนไว้ว่า

“ทุกโครงการที่จะมาดำเนินการในตำบลต้องจัดให้มีเวทีประชาคมเพื่อให้ข้อมูลอย่างเพียงพอและจะดำเนินการได้ต้องผ่านมติของคนในตำบลและความต้องการของคนในชุมชน”

ผมอ่านทวนข้อความข้อนี้สองสามรอบ ในสมองคิดย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ที่ได้รับฟังผ่านการนำเสนอของแกนนำคนสำคัญและบทละครของเยาวชนคนรุ่นใหม่ คิดถึงคำพูดของ ผอ.รพ.สต. ที่กล่าวถึงเป้าหมายการจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพ” ไว้เมื่อครู่

พลันความคิดรวบยอดก็บังเกิดขึ้นในสมอง พร้อมกับคำรำพึงที่พูดกับตัวเองว่า “นับเป็นความชาญฉลาดจริงๆ”

ฐานทุนเดิมที่ผมเคยได้อธิบายความหมายของ “ธรรมนูญสุขภาพชุมชน” ว่าหมายถึง “กฎร่วม กติการ่วม ข้อตกลงร่วม เป้าหมายร่วม หรือศีลร่วมของคนในชุมชน อันจะนำมาซึ่งความมีสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชนนั้น”

แต่มาถึงวันนี้ ที่ “ตำบลเขาไม้แก้ว” ได้บอกกับผมว่า

“ธรรมนูญสุขภาพชุมชนคือเครื่องมือสร้างสมานฉันท์ในชุมชนด้วยอีกความหมายหนึ่ง”

มันช่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนักกับเครื่องมือที่เรียกว่า “ธรรมนูญสุขภาพชุมชน”

วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เรือนรักแรมใจ

๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗

“เคธี” อดไม่ได้ที่จะรู้สึกขอบคุณ “โจ” เป็นพิเศษ ชีวิตระหกระเหมาอยู่ต่างถิ่นคนเดียวในเมืองเซาท์พอร์ต แห่งนี้ ความอบอุ่นใจจากการมีเพื่อนข้างกาย ซึ่งอาศัยอยู่ที่กระท่อมหลังถัดไป ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยมิใช่น้อย ชีวิตปกติสุขกลับมาเยือนอีกครั้ง บางวันทั้งคู่มานั่งจิบกาแฟด้วยกัน พูดคุยกระเซ้าเย้าแหย่กัน จนทำให้เธอ “ลืม” เรื่องราวที่ผ่านมาได้ชั่วขณะ

เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เธอต้องเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่มีเพื่อน ไม่พูดคุยสนิทสนมกับใคร ใช้ชีวิตอย่างกระเบียดกระเสียรด้วยการทำงานเป็นสาวเสิร์ฟในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ทุก ๆ วันเธอจะตั้งหน้าตั้งตาทำงานทั้งในช่วงเวลางานของตนเองและทำแทนเพื่อนหากเพื่อนไม่ว่าง ทั้งนี้เพื่อหวังทิปจากแขกเหรื่อที่มาทานอาหาร

เธอหวังเพียงว่ากำแพงใจที่เธอก่อขึ้นมา จะช่วยทำให้ชีวิตอยู่รอดและราบรื่นปลอดภัย

เพราะเหตุการณ์วันนั้น ทำให้เธอต้องตัดสินใจหนีจาก “เควิน” สามีซึ่งเป็นตำรวจด้านสืบสวนสอบสวน ที่มักใช้ความรุนแรงและจำกัดสิทธิต่าง ๆ นานากับเธอเสมอมา มาอาศัยอยู่ที่เมืองนี้แบบโดดเดี่ยวและใช้ชีวิตระแวดระวัง ไม่ให้สามีตามสืบเสาะมาเจอได้

“โจ” มาทำให้ชีวิตเธอสว่างไสวขึ้นอีกครั้ง พร้อม ๆ กับแนะนำให้เธอเปิดใจรับ “อเล็กซ์” พ่อหม้ายลูกติด ๒ คน ที่เป็นเจ้าของร้านขายของชำเล็ก ๆ ในเมืองนั้น

เป็นเพราะเธอต้องไปซื้อของที่ร้าน “อเล็กซ์” บ่อย ๆ การพบเจอบ่อยครั้งทำให้ความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่สนิทแนบแน่นมากขึ้น จนเขากล้าตัดสินใจชวนเธอไปเที่ยว ไปทานอาหาร วานให้ไปช่วยดูแลลูกทั้งสองในวันที่เขาไม่อยู่

เธอรับรู้ได้ดีถึงการปะทะกันระหว่างความรู้สึกก้นบึ้งหัวใจที่ตนเองยังคงมีสามีอยู่ กับอำนาจแห่งรักครั้งใหม่ที่ก่อตัวกรุ่นขึ้นในห้วงใจนี้

ข้างฝ่าย “เควิน” เมื่อภรรยาหนีจากไป เขาก็กินไม่ได้นอนไม่หลับและหันมาพึ่งเหล้าเป็นเพื่อน จนส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานและถูกพักงาน

เขาพยายามแกะรอยสืบหาว่าเธอหนีไปอยู่ที่ไหน จนวันหนึ่งทุกอย่างก็เปิดเผยเมื่อเพื่อนบ้านที่สนิทกับภรรยาได้มาส่งข่าวถึงเธอว่า แม่ของเธอได้เสียชีวิตแล้ว และอยากให้เธอไปร่วมงานเพราะหน้าตาของภรรยาเขาละหม้ายคล้ายคลึงกับบุตรสาวอีกคน ทำให้แม่ของเพื่อนบ้านจึงชอบภรรยาเขาเป็นพิเศษ

วันนั้นความจริงจึงถูกเปิดเผยว่า “เคธี” คือ ชื่อใหม่ของภรรยา หรือในชื่อเดิมว่า “เอริน” และนั่นทำให้เขาไม่เคยสืบหาเธอเจอเลย

“เควิน” จับรถคู่ใจมุ่งหน้าสู่เมืองที่ภรรยาพักอาศัยอยู่ เขาเห็น “เคธี” เดินเกาะเกี่ยวไปกับ “อเล็กซ์” และลูกทั้งสองในงานเทศกาลประจำปีที่จัดขึ้น

เขารู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้นที่เห็นภาพบาดตาบาดใจนั้น พยายามขับรถไล่ตามคนทั้งสี่ที่กำลังขี่จักรยานกลับบ้าน แต่ด้วยการจราจรที่ติดขัดเนื่องจากมีผู้คนมาเที่ยวงานกันหนาแน่น จึงทำให้เขาคลาดกับคนทั้งสี่ไป

“เควิน” ตามหาคนทั้งสี่จนหมดแรง จนเขามองเห็นร้านค้าแห่งหนึ่งจึงตัดสินใจขับรถเข้าไปจอดพักและตั้งใจจะลงไปดื่มน้ำจากท่อประปาที่ติดตั้งอยู่หน้าร้าน พลันสายตาเขาก็เหลือบเห็นจักรยานทั้งสี่คันจอดเรียงรายอยู่ที่มุมหนึ่ง

เขาเพียรพยายามหาทางที่จะเข้าไปในร้านให้ได้แต่ก็ไม่พบทางเข้าใด ๆ จนหัวสมองสั่งว่า “เผา” เขาจึงทุบกระจกร้านค้าแล้วหยิบถังน้ำมันมาราดและจุดไฟเผาบ้านทันที

ค่ำคืนนั้น “อเล็กซ์” มีงานด่วนที่จะเดินทางไปต่างเมือง จึงขอร้องให้ “เคธี” มาอยู่เป็นเพื่อนลูกของเขา

หลังจากที่ “เคธี” พาลูกทั้งสองเข้านอนแล้ว ตัวเธอเองก็มานั่งรอ “อเล็กซ์” ที่โซฟา ที่สัญญาว่าจะกลับก่อนเที่ยงคืน จนเผลอหลับไป และความรู้สึกช่วงหนึ่งคลับคล้ายว่า “โจ” เพื่อนสนิทมาบอกกับเธอว่า “ตื่นเถิด”

เธอค่อย ๆ ลืมตาขึ้น พร้อมกับได้กลิ่นควันไฟที่โชยขึ้นมาในห้อง เมื่อรู้ว่าไฟกำลังไหม้ เธอรีบเข้าไปปลุกเด็กทั้งสองคนให้ตื่น ฉีกผ้าห่มพันร่างกาย และให้เด็กทั้งคู่กระโดดลงไปที่ชั้นล่าง ก่อนที่เธอจะกระโดดตามลงไป

แม้ว่าทั้งสามจะปลอดภัยจากพายุไฟที่โหมกระหน่ำ แต่ภาพตรงหน้า ก็คือ “เควิน” ถือปืนที่พร้อมจะลั่นไก เธอตัดสินใจเขาไปกอด “เควิน” พยายามบ่ายเบี่ยงและโน้มน้าวให้เขาวางปืนลง และเมื่อมีจังหวะเธอก็ฟาด “เควิน” ด้วยก้านเหล็กที่เก็บได้แถวนั้นอย่างแรงจนปืนกระเด็นหลุดมือไป พร้อมกับตะโกนให้เด็กทั้งสองคนวิ่งหนีไปให้ไกลที่สุด

“อเล็กซ์” รีบขับรถกลับบ้าน แต่ภาพที่เห็น คือ เปลวไฟกำลังลุกไหม้ร้านของตน เขาตกใจเพราะคิดว่า “เคธี” และลูกทั้งสองของเขาตกอยู่ในกองเพลิงนั่นเสียแล้ว

เมื่อสายตาชินกับความมืด เขาเห็นเด็กสองคนกำลังเกาะมือกันวิ่งมาทางเขา เขารีบพาลูกไปที่กระท่อมของ “เคธี” แล้วรีบกลับไปรับเธอ

แต่ในขณะที่ “อเล็กซ์” กำลังจะเดินไปหา “เคธี” เขาก็ล้มลงด้วยแรงฟาดอย่างแรงที่ “เควิน” ทุ่มสุดตัว

“เคธี” ตัดสินใจหยิบปืนที่เก็บมาได้ เล็งไปที่ “เควิน” แต่ยังไม่ทันเหนี่ยวไก “เควิน” ก็ค่อย ๆ ทรุดลง เพราะทนพิษบาดแผลจากก้านเหล็กที่โดนตีไปก่อนหน้านั้นไม่ไหว

ทั้งคู่ถูกนำเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล อาการของ “เคธี” ดีขึ้นจนหมออนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่เธอกลับเลือกเฝ้าดูอาการของ “อเล็กซ์” อย่างใกล้ชิดด้วยความเป็นห่วงแทน

อาการ“ อเล็กซ์” ค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ เมื่อออกจากโรงพยาบาลทั้งสี่คนมาขออาศัยที่บ้านของเพื่อนรักแทน

วันนั้น “อเล็กซ์” และ “เคธี” ชวนกันมาดูซากกองเพลิงที่ร้านของเขา และขอร้องให้หน่วยเก็บหลักฐานค้นหาตู้เซฟใบหนึ่ง จนพบ

เขารีบเปิดตู้เซฟใบนั้น และค่อย ๆ หยิบซองจดหมายสีขาวส่งให้กับ “เคธี” พร้อมกับบอกว่า ขอให้เอาไปอ่านที่บ้านด้วยในคืนนี้

เมื่อกลับมาถึงกระท่อม “เคธี” ตั้งใจจะชวน “โจ” มาคุยด้วย แต่ภาพที่ปรากฏตรงหน้ากลายเป็นกระท่อมร้าง ที่เต็มไปด้วยหยากไย่ เหมือนไม่มีคนมาอยู่นานหลายปี ทั้ง ๆ ที่กระท่อมหลังนี้ คือ กระท่อมหลังที่ “โจ” พักอยู่

เธอเดินเข้ากระท่อมตนเองด้วยความงุนงง และค่อย ๆ หยิบซองจดหมายที่ได้รับออกมาอ่าน

จดหมายฉบับนี้เขียนโดย “คาร์ลี” ภรรยาของ “อเล็กซ์” ก่อนที่เธอจะเสียชีวิต

“ฉันชื่อคาร์ลี่ แต่คนส่วนใหญ่จะเรียกฉันว่า “โจ””

“เคธี” ตกใจและมึนงงกับข้อความดังกล่าวมาก เธอพยายามอ่านจดหมายด้วยมืออันสั่นเทา เนื้อหาในจดหมายได้แสดงความดีใจต่อคนที่กำลังอ่านจดหมายฉบับนี้ เพราะเป็นจดหมายที่ “อเล็กซ์” ได้ตัดสินใจแล้วที่จะมอบให้กับคนที่เขารัก ตามสัญญาที่ “อเล็กซ์” ได้ให้ไว้กับ “คาร์ลี”

“เคธี” ค่อย ๆ อ่านจดหมายไปอย่างช้า ๆ พร้อม ๆ กับความรู้สึกที่ได้โบยบินไปหา “อเล็กซ์” และแก้มทั้งสองก็เปอะเปื้อนไปด้วยหยาดน้ำตา

เธอค่อย ๆ พับจดหมายใส่ซองเมื่ออ่านจบ และหันไปมองกระท่อมหลังที่ “โจ” เคยพักอยู่

“ขอบใจนะที่ไว้ใจฉัน” เป็นเสียงที่เธอกระซิบออกมาจากหัวใจ

“น้องวิน” ลูกรัก ลูกคงแปลกใจที่พ่อขึ้นต้นจดหมายฉบับนี้แบบนี้ เพราะทุก ๆ ครั้งที่พ่อหยิบหนังสือของ “นิโคลัส สปารคส์” (NICHOLAS SPARKS) นักเขียนที่พ่อชื่นชอบมาอ่านครั้งใด ดูราวกับพ่อจะจมดิ่งหายไปในทะเลอักษร และดื่มด่ำกับอรรถรสที่เรียงถ้อยร้อยคำผ่านนักแปลนามอุโฆษ “จิระนันท์ พิตรปรีชา”

กับหนังสือเล่มล่าสุดนี้ที่พ่ออ่านนี้แปลมาจากเรื่อง “Safe Haven” หรือในชื่อภาษาไทยว่า “เรือนรักแรมใจ”

พ่ออ่านจนจบและซาบซึ้งไปกับความรักของคนทั้งคู่ แม้ว่าเนื้อเรื่องจะนำเสนอแบบสลับไปสลับมาสองสถานที่ และสลับอดีตกับปัจจุบันย้อนกลับไปกลับมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนอ่านสับสนแต่อย่างใด ถือเป็นกลวิธีการเขียนที่แยบคายน่าติดตามยิ่งนัก

อีกทั้งแต่ละฉากแต่ละตอน ช่างชวนอ่านจนพ่อวางหนังสือไม่ลง นับเป็นความรักที่แปลกไปอีกมิติหนึ่ง ที่มีความผูกพันไปถึงคนที่ตายไปแล้ว เป็นการอ่านที่ทั้งสนุก ระทึก แอบซึ้ง แอบหลอน ไปพร้อม ๆ กัน

พ่อซื้อหนังสือเล่มนี้มา และวางไว้ให้แล้วบนชั้นหนังสือ ลูกอย่าลืมบอกแม่ให้อ่านเล่มนี้ด้วยนะครับ ว่าไปแล้ว “ความรัก” ชนะได้ทุกสิ่งอย่างนะลูก

คิดถึงน้องวินเสมอมาครับ

“พ่อโต”

วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลานโพธิ์ : ลานธรรม ลานความรู้นอกกรอบ

๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๗

แม้คำว่า “บ้าน-วัด-โรงเรียน” ดูจะกลายเป็นคำเชยๆสำหรับคนรุ่นใหม่ไปแล้ว ที่วันนี้โลกโซเชียลเน็ตเวิร์คได้เข้ามาทำหน้าที่พื้นที่สำหรับสื่อสาร พบปะ และสนทนาแทน แต่ที่แห่งนี้ชาวบ้านยังคงใช้พื้นที่ของวัดเป็น “พื้นที่เรียนรู้” สำหรับคนหลายกลุ่มหลายช่วงวัยอยู่

ชาวบ้านตำบลชอนสมบูรณ์ อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี เรียกที่นี่กันว่า “มหาวิทยาลัยนอกคอก”

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมมายืนอยู่กลางลานโพธิ์ ลานปูนกว้างราวๆ ๓๐ – ๔๐ ตารางเมตร มีต้นโพธิ์สูงเด่นแผ่กิ่งก้านปกคลุมลานกว้าง จนทำให้บริเวณนั้นดูร่มเย็น มีแสงแดดสาดส่องลงมากระทบลานปูนบ้างตามมุมที่ดวงอาทิตย์ที่คล้อยเคลื่อนไป

ผมได้ยินชื่อมหาวิทยาลัยนอกคอกในขณะที่มีโอกาสได้ร่วมวงถอดบทเรียนเรื่อง “บทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ร่วมกับพระครูใบฎีกาทรงพล ชยนันโท เจ้าอาวาสวัดศรีรัตนาราม และแกนนำขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ทั้งนายก อบต. กำนัน ครูใหญ่ นักวิจัย นักวิชาการสาธารณสุข ผอ.รพ.สต. และแกนนำภาคประชาชน ราว ๑๕ ชีวิต

ได้ยินครั้งแรก อดคิดไม่ได้ว่า “เข้าใจตั้งชื่อดีจัง” และยิ่งได้ฟังคนที่มานั่งล้อมวงพูดคุยกันไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้เข้าใจกับชื่อที่ตั้งขึ้นมานี้มากยิ่งขึ้น

“เราใช้ลานโพธิ์แห่งนี้ในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในหมู่บ้าน หรือมีโครงการอะไรลงมาในหมู่บ้าน เราก็จะชักชวนผู้คนมานั่งปรึกษาหารือกัน แม้แต่หากมีคณะมาดูงานในหมู่บ้าน เราก็จะใช้ที่ตรงนี้นำเสนอผลงานให้กับผู้คนที่มาดูงาน” พี่เสนอ แกนนำคนสำคัญบอกกล่าว

เช่นเดียวกับที่มาของโครงการ “การแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของวัยรุ่น” ที่ดำเนินมากว่า ๓ ปีแล้ว ก็เริ่มต้นที่นี่ “พระครูใบฎีกาทรงพล ชยนันโท” ได้เล่าให้ฟังว่า

วันหนึ่งขณะที่กำลังทำหน้าที่วิทยากรอบรมเยาวชนชายอยู่ มีนักวิชาการผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาพบ แล้วเอ่ยถามว่า “พระอาจารย์ไม่คิดจะช่วยเหลือเยาวชนที่เป็นผู้หญิงบ้างหรือ”

จากคำถามนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นได้คุยกัน และทราบว่าขณะนั้นมีนักเรียนที่เป็นลูกหลานของชาวชอนสมบูรณ์มีการตั้งครรภ์ในวัยเรียนปีละเกือบ ๒๐ ราย อีกทั้งเป็นจังหวะดีที่ได้พบกับทีมงานจากสถาบันนารายณ์เพื่อการพัฒนา จังหวัดลพบุรี จึงได้ปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้ เพื่อลงมาหนุนเสริมการทำงานโดยนำหลักการ “สมัชชาสุขภาพ” มาใช้

มีการชักชวนแกนนำในหมู่บ้านมาตั้งวงปรึกษาหารือกันที่ “ลานโพธิ์” แห่งนี้ จนในที่สุดเกิด “ยุทธศาสตร์ไข่แดง” ที่ทุกคนต่างให้ความสำคัญกับลูกหลานที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย โดยเปรียบเหมือน “ไข่แดง” ที่จะต้องมี “ไข่ขาว” คอยปกป้องคุ้มกันภัย

มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายไว้ในยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน

ผลจากการทำงานทำให้ปัญหาที่เกิดปีละมากกว่า ๑๐ ราย กลับลดลงเหลือเพียงปีละ ๒ – ๓ รายเท่านั้น

ระหว่างเล่าเรื่องนี้ แววตาแต่ละคนต่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ใบหน้ายิ้มแย้ม และต่างหยอกเย้ากระเซ้าแหย่กันสร้างความครื้นเครงและเป็นกันเองอย่างดียิ่ง จนผมอดปลาบปลื้มไปด้วยไม่ได้

จากการที่หมู่บ้านแห่งนี้มีผลการดำเนินงานโครงการ “ท้องไม่พร้อม” ในระดับที่ดี ส่งผลให้มีการนำตัวแบบนี้ไปกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะในระดับอำเภอและจังหวัดในเวลาต่อมา ทำให้มีคณะทำงานจากพื้นที่อื่นมาศึกษาดูงานกระบวนการทำงานไม่ขาดสาย และ “ลานโพธิ์” แห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ต้อนรับคณะดูงานที่เข้ามาดูงานทุกคณะ

นอกจากโครงการนี้แล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีผลการดำเนินงานในโครงการอื่น ๆ ที่ประสบผลสำเร็จ เช่น โครงการคุมประพฤติ การลดละเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปราบปรามยาเสพติด และล่าสุดคือโครงการ “หมู่บ้านศีล ๕” ที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้หมู่บ้านชุมชนร่วมกับองค์กรศาสนาร่วมกันสร้างหมู่บ้านศีล ๕ โดยใช้หลักเบญจศีลเบญจธรรมมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต หมู่บ้านแห่งนี้ก็เป็น ๑ ใน ๑๑ หมู่บ้านนำร่องของจังหวัดลพบุรี และทุกโครงการล้วนผ่านเวที “ลานโพธิ์” แห่งนี้ทั้งสิ้น

ก่อนจบเวที ผมได้สรุปให้กับผู้ร่วมวงสนทนาภายใต้ “ร่มโพธิ์” บน "ลานโพธิ์" แห่งนั้นในช่วงท้ายว่า

(๑) ได้เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่า “พระสงฆ์” ได้เข้ามาบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งนับเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ ว่าด้วยเรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” เมื่อปี ๒๕๕๕ ซึ่งจากบทเรียนที่ได้รับครั้งนี้จะนำไปประมวลและกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการทำงานในภาพกว้างต่อไป

(๒) เป็นการยืนยันแนวคิด “พื้นที่จัดการตนเอง” หรือ “พื้นที่จัดการกันเอง” ได้อย่างชัดเจนว่า ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในชุมชนหมู่บ้าน คนในชุมชนหมู่บ้านสามารถที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหากันเองได้ จึงถือเป็นทิศทางสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยที่ควรให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและส่งเสริมให้เกิด “ชุมชนเข้มแข็ง” ให้เกิดขึ้นกระจายทั่วประเทศ

(๓) หากให้วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จต่อโครงการ “ท้องไม่พร้อม” พบว่ามาจากปัจจัย ๕ ประการ คือ

o มีพระสงฆ์ที่เป็นที่รักของคนในหมู่บ้านรับเป็นธุระในการขับเคลื่อนงานอย่างมีศิลปะ

o แกนนำในหมู่บ้านทั้งท้องถิ่น ท้องที่ ท้องทุ่งและหน่วยงานต่าง ๆ มีความรักสามัคคีไม่แบ่งแยกกัน

o มีการวางยุทธศาสตร์ที่มาจากการมีส่วนร่วม และที่สำคัญมีการนำยุทธศาสตร์นั้นไปปฏิบัติตามบทบาทของแต่ละคนแต่ละฝ่าย

o มีการหนุนเสริมและเชื่อมโยงกับทุนความรู้ ทุนวิชาการและทุนงบประมาณจากองค์กรนอกพื้นที่ที่ดี

o มีการนำกระบวนการปรึกษาหารือมาใช้อย่างต่อเนื่องและสร้างสรรค์

ขอบคุณ “ลานโพธิ์” หรือ “มหาวิทยาลัยนอกคอก” ของชาวบ้านชอนสมบูรณ์ที่ได้ประสิทธิ์ประศาสน์วิชา “กระบวนการชุมชน” ที่เป็นรูปธรรมให้กับผมไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

เป็นอีกวันที่ผมเดินทางออกมาจากตำบลชอนสมบูรณ์ด้วยความสุข ด้วยความรู้สึกเหมือนตัวเองเพิ่งผ่านหลักสูตรที่มีพระสงฆ์ นายก อบต. กำนัน ผอ.รพ.สต. ร่วมกันเป็นอาจารย์ผู้สอนมาหยก ๆ

วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลดภัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สู่มหานครแห่งความสุข

๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๗

ทุกๆ เดือนผมต้องไปพบหมอประจำตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อรักษาโรคไซนัสเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง (ผลจากการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วัยหนุ่ม) เดือนที่แล้วหมอได้แนะนำให้ลดการดื่มเบียร์เพื่อให้ลดอาการจมูกบวมให้น้อยลง พอมาเดือนนี้ระหว่างตรวจรักษา อาการจมูกบวมยังปรากฏเช่นเดิมและดูราวจะมากขึ้น ทำให้ผมจึงโดนหมอดุไปตามระเบียบ

พอนึกถึงอาการของตนเอง เลยเข้าใจได้ดีเลยว่าทำไมจึงจำเป็นต้องรณรงค์ป้องกันไม่ให้เกิด “นักดื่มหน้าใหม่” เพราะเมื่อเด็กหรือเยาวชนสักคนลองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งแรกโดยเฉพาะยิ่งอายุน้อยเท่าใด โอกาสที่จะติดอย่างต่อเนื่องมายังวัยผู้ใหญ่ก็จะมีสัดส่วนที่สูงทีเดียว

ถ้ายังจำกันได้เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว มีข่าวครึกโครมกรณี “ทายาทกระทิงแดงเมาแล้วขับจนชนตำรวจ สน.ทองหล่อ จนเสียชีวิต” ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีแอลกอฮอล์ในเลือดของคนขับเกินกว่า ๖๔ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเกินกว่ากฎหมายของการขับขี่รถยนต์ได้กำหนดไว้

ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” สามารถสร้างให้เกิดปัญหาสังคมที่ร้ายแรงยิ่งนัก ก่อให้เกิดโรคภัยกว่า ๖๐ ชนิด จนคร่าชีวิตประชากรโลกปีละกว่า ๓.๓ ล้านคน นอกจากส่งผลต่อปัญหาสุขภาพแล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่ส่งผลถึงศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาของสังคมโดยรวมอีกด้วย

มีข้อมูลในระดับประเทศไทยที่น่าสนใจในเรื่องนี้ ดังนี้

• มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คิดมูลค่าสูงถึง ๑.๕๑ คิดเป็นร้อยละ ๑.๙๗ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ

• ปริมาณการบริโภค เพิ่มขึ้นจาก ๓๗ ลิตรเครื่องแอลกอฮอล์ต่อคนต่อปี ในปี ๒๕๔๐ เป็น ๕๒ ลิตรเครื่องแอลกอฮอล์ต่อคนต่อปี ในปี ๒๕๕๔ หรือคิดเป็น ๗.๑ ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อคนต่อปี ซึ่งเทียบได้กับการดื่มเบียร์ประมาณ ๒๒๖ ขวดใหญ่ต่อปี หรือ ๑๙ ขวดต่อเดือน หรือเทียบได้กับการดื่มสุราสีประมาณ ๒๕ ขวดกลมต่อปี หรือประมาณ ๒ ขวดกลมต่อเดือน

• คนไทยที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ ๑๗ ล้านคน หรือร้อยละ ๓๑.๕ ของคนวัยนี้ทั้งหมด

• อายุเฉลี่ยของคนไทยที่เริ่มดื่มสุราอยู่ที่ ๒๐.๓ ปี โดยผู้ชายเริ่มดื่มอายุเฉลี่ย ๑๙.๔ ปี และผู้หญิง อายุเฉลี่ย ๒๔.๖ ปี โดยผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิงประมาณ ๕ เท่า

• สังคมไทยมีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประมาณปีละ ๒.๕ แสนคน สัดส่วนนักดื่มในกลุ่มประชากรที่เคยมีความชุกของผู้บริโภคในระดับต่ำ อย่างเช่น ประชากรเพศหญิง กลุ่มเยาวชน และ ประชากรอายุน้อย ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ เพิ่มขึ้นชัดเจน ในขณะที่ความชุกของผู้บริโภคในประชากรสูงอายุมีแนวโน้มลดลง

• การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น สัดส่วนนักดื่มที่บริโภคเป็นประจำ โดยเฉพาะที่บริโภคทุกวันเพิ่มสูงขึ้น ในทางกลับกันสัดส่วนผู้บริโภคประเภทนานๆ ครั้งกลับลดลง สัดส่วนของผู้บริโภคเป็นประจำเพิ่มจากร้อยละ ๓๗.๑ ในปี ๒๕๓๙ เป็น ร้อยละ ๔๔.๒ ในปี ๒๕๕๔

• ในการดื่มแต่ละครั้ง นักดื่มไทยมีรูปแบบการบริโภคที่มีความเสี่ยงสูง โดยเพศชายบริโภคแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ๘๕.๗๒ กรัมต่อหนึ่งครั้งการดื่ม และ ๕๑.๙๙ กรัมต่อหนึ่งครั้งการดื่มในเพศหญิง ในขณะที่นักดื่มเยาวชน (อายุ ๑๒ – ๑๙ ปี) เพศชายมีปริมาณการบริโภคสูงถึง ๑๑๘.๓๕ กรัมต่อหนึ่งครั้งการดื่ม และ ๖๑.๙๕ กรัมต่อหนึ่งครั้งการดื่มในเพศหญิง ซึ่งล้วนจัดเป็นการดื่มแบบอันตรายและการดื่มจนมึนเมา

• มีคนไทยเฉลี่ยตาย ๑ คนในทุก ๒๐ นาที

จากสถานการณ์ที่รุนแรงข้างต้น ทำให้ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๕๒ จึงได้มีการหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาถกแถลงกันอย่างกว้างขวาง และได้มีฉันทมติว่าด้วยเรื่อง “ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ” และในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบ “แผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ” ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ในเวลาต่อมา

ข้อเรียกร้องประการหนึ่งในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ คือ ต้องการเห็นทุกจังหวัดให้ความสำคัญกับปัญหานี้ ซึ่งกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้เห็นความสำคัญในการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

เพราะพบว่า

• มีความชุกของการดื่ม ร้อยละ ๒๓.๕ ซึ่งมีความชุกของการดื่มน้อยกว่าภาพรวมของประเทศ

• มีสัดส่วนการดื่มประจำ ร้อยละ ๔๘.๗ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของประเทศ

• มีกลุ่มผู้ที่ดื่มเบียร์ทุกวันสูงที่สุดในประเทศ ในอัตราร้อยละ ๑๕.๑

• มีสัดส่วนของผู้ที่ดื่มหนักหรือการดื่มหัวราน้ำเป็นประจำ ร้อยละ ๑๒.๔ ซึ่งเป็นการดื่มจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม

ทั้งนี้การจัดการปัญหาดังกล่าวนี้ไม่สามารถจะดำเนินการได้โดยส่วนงานใดส่วนงานหนึ่งได้เพียงลำพัง ทำให้จึงมีการจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๕๙” ขึ้นมา โดยมีสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว

ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว ซึ่งเห็นความตั้งใจและมุ่งมั่นของผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายภาคีที่ได้แสดงออกมาในเวทีทั้ง ๓ ครั้ง

กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ได้ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการมีส่วนร่วม” จึงได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายภาคีที่ทำงานด้านนี้มาประชุมร่วมกัน โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ ณ โรงแรมปริ๊นตัน พาเลช กรุงเทพมหานคร

ผู้เข้าประชุมเกือบ ๑๐๐ คน ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายระยะ ๓ ปี และระดมสมองวิเคราะห์สถานการณ์ที่เป็นโอกาสและภัยคุกคามทั้งทางด้านการเมือง สังคม สภาพแวดล้อม และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการวิเคราะห์ปัจจัยภายในทั้งที่เป็นจุดแข็ง จุดอ่อนต่อการดำเนินงาน รวมทั้งการออกแบบกำหนดมาตรการสำคัญเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน

การจัดเวทีที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ที่โรงแรมปริ๊นตัน พาเลช กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นต่อร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่ยกร่างจากข้อมูลที่ได้จากเวทีครั้งแรก

และล่าสุดเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ได้จัดเวทีประชาพิจารณ์แผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้ โดยขยายวงเชิญหน่วยงาน องค์กรและเครือข่ายภาคี กว่า ๑๒๐ คน ซึ่งผู้เข้าประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่า

(๑) เป้าหมายที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี ภายใน ๓ ปี คือ “กรุงเทพเป็นมหานครแห่งความสุข ทุกฝ่ายร่วมใจขจัดภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

(๒) เป้าหมายเพื่อมุ่งสู่สิ่งที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี มี ๔ เป้าหมาย คือ

เป้าหมายที่ ๑ : ควบคุมและลดปริมาณการบริโภคของสังคม

เป้าหมายที่ ๒ : ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และควบคุมความชุกของผู้บริโภค

เป้าหมายที่ ๓ : ลดความเสี่ยงของการบริโภค ทั้งในมิติของปริมาณการบริโภค รูปแบบของการบริโภค และพฤติกรรมหลังการบริโภค

เป้าหมายที่ ๔ : จำกัดและลดความรุนแรงของปัญหาจากการบริโภค

๓) แผนงานและมาตรการสำคัญ มี ๕ แผนงาน คือ

แผนงานที่ ๑ : ควบคุมและลดปริมาณการบริโภคของสังคม โดยมีมาตรการที่สำคัญ คือ

o มีการจัดชุดตรวจปฏิบัติการจับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีการบังคับใช้และลงโทษอย่างจริงจัง
o สร้างแกนนำในชุมชน สถานประกอบการ สถานศึกษา เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังและเป็นเครือข่ายควบคุมป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
o เปิดช่องทางการรับแจ้งเหตุการณ์กระทำผิดกฎหมายและประชาสัมพันธ์ช่องทางการรับแจ้งเหตุ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นต้น รวมทั้งประชาสัมพันธ์เรื่องรางวัลสินบนนำจับให้กับผู้แจ้งเหตุการณ์ เพื่อจูงใจให้เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง
o ศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมให้ กทม. ออกใบอนุญาตและการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นได้เอง
o ศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดความเหมาะสมของความหนาแน่นของจุดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการพิจารณาแก้ไขกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านประเภทขายส่ง ให้งดขายในช่วงเวลาห้ามขายเช่นเดียวกับร้านค้าประเภทอื่น ๆ

แผนงานที่ 2: แผนงานป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และควบคุมความชุกของผู้บริโภค มีมาตรการที่สำคัญ คือ

o พัฒนาระบบเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาและสื่อการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีส่วนร่วม
o ป้องกัน แก้ไข และบังคับใช้กฎหมายด้านการโฆษณาและสื่อการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมาย เช่น ป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ป้ายบิลบอร์ดอิเลคทรอนิคส์ ป้ายไฟหน้าสถานประกอบการ โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการออกใบอนุญาตป้ายโฆษณาในครั้งต่อไป
สร้างและพัฒนาต้นแบบทั้งระดับองค์กรและระดับบุคคล เช่น เยาวชน แกนนำชุมชน ผู้บริหารและประชาชนทั่วไป เป็นต้น
o มีการจัดกิจกรรมค่ายอาสาหน้าใหม่ไร้แอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง
o ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานใน กทม. ให้งดเว้นการรับการสนับสนุนการโฆษณาประชา สัมพันธ์ทั้งโดยตรงและแฝงในรูปแบบต่างๆ จากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
o ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดพื้นที่โซนนิ่งขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน กทม. เช่น ห่างจากสถานศึกษา ๓๐๐เมตร หรือจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามวันเวลาที่กำหนด

แผนงานที่ 3: แผนงานลดความเสี่ยงของการบริโภค มีมาตรการที่สำคัญ คือ

o ส่งเสริม สนับสนุนการการมีส่วนร่วมของชุมชนในเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมาย ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการขอความร่วมมือในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในพื้นที่
o จัดทำฐานข้อมูลการที่เกี่ยวกับการดำเนินงานควบคุมแอลกอฮอล์ทั้งในระดับเขต และระดับ กทม. เช่น การดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
o บูรณาการความร่วมมือเพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ในช่วงเทศกาลสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง
o จัดชุดตรวจแบบบูรณาการในการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมทั้ง ๕๐ เขต ทั้งในช่วงปกติและในช่วงเทศกาล
o สนับสนุนการสร้างชุมชนต้นแบบไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเติมจากวันที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เช่น ทุกวันพระ วันสำคัญทางศาสนาร่วมไปกับการสร้างแกนนำชุมชนต่อต้านแอลกอฮอล์
o ผลักดันให้มีสถานประกอบการปลอดแอลกอฮอล์ โดยขอความร่วมมือให้สถานประกอบการปลอดแอลกอฮอล์ เช่น กำหนดเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการต่อใบอนุญาตสถานประกอบการ ยกเว้นสถานประกอบ การที่ผลิต จำหน่าย นำเข้าแอลกอฮอล์ ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

แผนงานที่ 4: แผนงานจำกัดและลดความรุนแรงของปัญหาจากการบริโภค มีมาตรการที่สำคัญ คือ

o สนับสนุนให้มีชุมชนลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตัวอย่างกระจายไปทั่วทุกเขต
o พัฒนาระบบสำรวจและคัดกรอง และส่งต่อบุคคลเพื่อเข้ารับการบำบัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ถึงช่องทางการเข้ารับบริการ และพัฒนาระบบและกลไกในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ที่เคยประสบปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผ่านการบำบัดรักษา เพื่อป้องกันการกลับมาติดซ้ำ
o ช่วยเหลือและดูแลรักษาผู้มีปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
o สร้างความร่วมมือในการดำเนินงานและปฏิบัติตามกฎหมายกับสถานประกอบการขนาดใหญ่ โดยมีการนำมาตรการทางสังคมมาร่วมกับการบังคับใช้ทางกฎหมายด้วยช่องทางและวิธีการต่าง ๆ ที่หลากหลาย
o เพิ่มพื้นที่และองค์กรสีขาวในแต่ละเขต
o ส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัวด้วยค่ายครอบครัวอบอุ่น

แผนงานที่ 5 แผนงานสื่อสารสาธารณะและบริหารจัดการ มีมาตรการสำคัญ คือ

o รณรงค์ และประชาสัมพันธ์ อย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่าย เกี่ยวกับ ความรู้ด้านพิษภัย โทษและผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม รวมทั้งบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
o พัฒนาระบบติดตามประเมินผลแบบบูรณาการ
o จัดให้มีการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ และมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายภาคที่เกี่ยวข้องอย่างประจำและต่อเนื่อง
o จัดให้มีกลไกระดับคณะทำงานระดับเขตแบบบูรณาการ
o พัฒนาระบบสารสนเทศในการติดตามผลการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใน กทม.

นอกจากนั้นยังมีการกำหนดค่าเป้าหมายของแต่ละมาตรการและกิจกรรม รวมทั้งหน่วยงาน องค์กรหลักและสนับสนุนไว้อย่างชัดเจน

จากแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ผมเชื่อว่าหาก “พวกเรา” มีความร่วมมือกันอย่างจริงจัง มีการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมครั้งนี้ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตกรุงเทพมหานครก็จะค่อยๆน้อยลงตามลำดับ และกรุงเทพมหานครก็จะเป็น “มหานครแห่งความสุข” ตามที่ทุกคนตั้งเป้าหมายไว้ในที่สุด

วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สานพลังเด็กและเยาวชนสู่อาเซียน

๖ สิงหาคม ๒๕๕๗

ในปี ๒๕๕๘ สิบประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นหนึ่งเดียวกันในนาม “ประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN Community” ภายใต้วิสัยทัศน์ “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม หรือ One Vision, One Identity, One Community” ตามปฏิญญาชะอำ หัวหิน ที่ผู้นำทั้ง ๑๐ ประเทศ ได้ตกลงกันไว้เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๒ หรือ ๕ ปีมาแล้ว

วัตถุประสงค์สำคัญคือ ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาใน ๓ ด้าน คือ

๑) ความร่วมมือในด้านการเมืองและความมั่นคง มุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนในอาเซียนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ปราศจากภัยคุกคามด้านการทหาร และภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า เสาประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community: APSC)

๒) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการพัฒนาประชาชนในอาเซียนให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ หรือที่เรียกว่า เสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)

๓) ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การคุ้มครองและให้สวัสดิการสังคม สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียนและการลดช่องว่างทางการพัฒนา หรือที่เรียกว่า เสาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)

การพัฒนาเด็กและเยาวชน เป็นภารกิจที่จำเป็นและสำคัญยิ่งต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมอาเซียนทั้ง ๓ เสาหลักในอนาคต เพราะการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จำเป็นต้องอาศัยคนของประชาคมอาเซียนที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ มีความรู้ดี มีสติปัญญาดี มีทักษะการดำเนินชีวิต ทักษะในการประกอบอาชีพการงาน มีสุขภาพจิตดี สุขภาพกายดี มีทักษะทางสังคม สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นที่มีความแตกต่างจากตนได้อย่างดี ตลอดจนมีคุณธรรมจริยธรรมเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

การพัฒนามนุษย์ จึงคือภารกิจร่วมกันของทุกประเทศที่จะต้องกระทำให้บรรลุผล เพื่อลดช่องว่างของคุณภาพคนในประชาคมอาเซียนให้เหลือน้อยที่สุด และที่สำคัญ คือ มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนของทุกประเทศในประชาคมอาเซียน เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตของประชาคมอาเซียนต่อไป

คำถามสำคัญ “ประเทศได้เตรียมความพร้อมของเด็กและเยาวชนไทยเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนดีแล้วหรือยัง ?”

จากคำถามดังกล่าวรัฐบาลไทยจึงได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. เป็นองค์กรหลักในการรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวนี้ ทำให้กระทรวง พม. จึงได้มีการจัดสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติประจำปี ๒๕๕๗ ขึ้นมา ซึ่งได้ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๑(๔) ว่าจะต้องมีการจัดอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะหยิบประเด็นสำคัญมาถกแถลงและพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะร่วมกัน มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕

โดยในปีนี้ได้หยิบประเด็นเรื่อง “การเตรียมความพร้อมของเด็กและเยาวชนเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” มาเป็นประเด็กถกแถลงกัน ภายใต้กรอบความคิดหลัก “สานพลังเด็กและเยาวชนสู่อาเซียน”

ผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเป็น ๑ ใน ๔๙ คน ในคณะกรรมการจัดสมัชชาฯดังกล่าว มี “นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์” หรือ “ครูหยุย” เป็นประธานกรรมการ ทั้งนี้ก่อนถึงวันจัดงานคณะกรรมการได้มีการประชุมเป็นประจำทุกเดือนมาก่อนหน้าร่วม ๖ เดือน มีคณะทำงานวิชาการทำหน้าที่พัฒนาร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายก่อนล่วงหน้าในหลายครั้ง

ไฮไลท์ที่สำคัญ คือ มีการนำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายมาพิจารณาในที่ประชุมสมัชชา ซึ่งได้จัดไปเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมแอมบาสซิเดอร์ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนมา และที่สำคัญคือมีตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชนจาก ๗๗ จังหวัด ร่วมกันพิจารณา

ที่ประชุมได้มีการถกแถลงแสดงเหตุผลกันอย่างกว้างขวาง จนในที่สุดได้มีฉันทมติต่อข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง ๒ เรื่อง ดังนี้

เรื่องที่ ๑ การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน : ด้านการศึกษาและภาษา มีมติที่สำคัญคือ

• เร่งรัดการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข และมีทักษะชีวิตที่เหมาะสม โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น และเชื่อมโยงกับทุนทางสังคมและชุมชน รวมทั้งปรับโครงสร้างเวลาและกระบวนการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับการพัฒนาการศึกษาและภาษายิ่งขึ้น

• เร่งรัดการขับเคลื่อนงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแผนงานการจัดตั้งประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๐๙ – ๒๐๑๕ (พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๘) และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาความ สามารถด้านภาษาอังกฤษ พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๖๕ เน้นทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร เหมาะสมกับช่วงวัย เชื่อมโยงกับบริบทและประวัติศาสตร์ของชุมชน และให้ความสำคัญกับการรายงานผลการดำเนินงานดังกล่าวต่อสมาชิกสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติเป็นประจำทุกปี

• จัดให้มีครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนอาสาสมัครในพื้นที่ ที่มีความเชี่ยวชาญการใช้ภาษาอังกฤษ ทำหน้าที่สอนภาษาอังกฤษทั้งในและนอกสถานศึกษา ชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการจัดกิจกรรม และสร้างสื่อภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง

• ให้ความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในเรื่องการศึกษาและภาษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม โดยมีการบรรจุประเด็นการพัฒนาเด็กและเยาวชนอยู่ในแผนพัฒนาในระดับจังหวัดและชุมชน ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ปกครองควบคู่ไปด้วย

• พัฒนากระบวนการเรียนการสอนโดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี สังคมออนไลน์ ให้เกิดความคุ้มค่า

• สร้างความตระหนักแก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ ให้มีความใฝ่รู้ และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ รวมทั้งภาษาของประเทศอาเซียน

เรื่องที่ ๒ ระบบการคุ้มครองสิทธิเด็กในบริบทอาเซียน มีมติที่สำคัญ คือ

• ให้มีการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการการคุ้มครองเด็กเคลื่อนย้ายให้ครอบคลุมการเคลื่อนย้ายแบบมีส่วนร่วมให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๕๘

• ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนในประเด็นต่างๆ เช่น การจดทะเบียน การเกิด การรับรองสัญชาติ การให้บริการด้านสุขภาพและการควบคุมโรคตามบริเวณชายแดน การจัดการศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของประเทศต้นทาง และนายจ้างหรือบุคคลอื่นๆ ร่วมรับผิดชอบในการจัดหางบประมาณหรือบุคคลากรดำเนินการ

• จัดให้มีกลไกการคุ้มครองเด็กที่ครอบคลุมทั้งระบบ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของเด็กเคลื่อนย้าย

• ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มีการจดทะเบียนการเกิด และมีระบบการขึ้นทะเบียนแรงงานและผู้ติดตามที่เหมาะสม จัดทำแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการให้บริการแก่เด็กและครอบครัว ในเรื่องการจดทะเบียนการเกิด การกำหนดสถานะบุคคล และการเดินทางออกนอกพื้นที่ จัดทำมาตรการให้นายจ้าง ร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดบริการและสวัสดิการแก่แรงงานต่างด้าวและครอบครัว

• จัดทำฐานข้อมูลเด็กทุกคนรวมถึงเด็กเคลื่อนย้าย และส่งเสริมให้ชุมชน สถานประกอบการ มีมาตรฐานในการเฝ้าระวังที่เป็นรูปธรรมและชัดเจน จัดตั้งเครือข่ายอาสาสมัครในการเฝ้าระวังติดตามการเคลื่อนย้ายของประชากรเข้ามาในพื้นที่

• ส่งเสริมให้เด็กเคลื่อนย้าย ได้รับการศึกษาและการพัฒนาทักษะชีวิตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดให้มีระบบการดูแลติดตามการเข้าถึงการศึกษาของเด็กเคลื่อนย้าย มีการพัฒนาแนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กเคลื่อนย้ายก่อนเข้าเรียนในหลักสูตรปกติ มีการสร้างความรู้ความเข้าใจแนวปฏิบัติและส่งเสริมให้มีการจดทะเบียนศูนย์การเรียนของบุคคล องค์กรชุมชน และองค์กรเอกชน

• ขยายกลุ่มเป้าหมายการประกันสุขภาพเพื่อการรักษาและควบคุมโรคตามปกติให้ครอบคลุมเด็กเคลื่อนย้าย จัดทำคู่มือเผยแพร่ความรู้ ควบคุมโรคร่วมกันบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

• จำแนกสถานภาพทางกฎหมายของเด็กให้ชัดเจน ดำเนินการทางกฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติ กรณีเมื่อพบเด็กที่กระทำผิดทางอาญาอื่นๆต้องดำเนินการตามหน้าที่ โดยไม่ผลักดันกลับ และให้มีกลไกติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินงานของตำรวจเกี่ยวกับเด็กเคลื่อนย้าย

• ติดตามตรวจสอบสถานประกอบกิจการไม่ให้มีการใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย โดยมีกลไกการตรวจสอบ สำหรับกรณีแรงงานต่างด้าวควรมีนโยบายเปิดแรงงานเสรี และเป็นแรงงานถูกกฎหมาย โดยได้รับค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการเหมือนคนไทย นายจ้าง/ประเทศต้นทาง ร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

• จัดทำมาตรฐานการคุ้มครองเด็กเคลื่อนย้าย มีการจัดตั้งกลไกรองรับการปฏิบัติงาน สร้างระบบอาสาสมัคร ตั้งศูนย์อบรม จัดตั้งกองทุนหรือใช้ประโยชน์จากกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อช่วยเหลือและสงเคราะห์เด็กเคลื่อนย้ายและครอบครัว รวมทั้งมีระบบให้การคุ้มครองเด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและภายหลังพ้นจากกระบวนการยุติธรรม

โดยทั้ง ๒ เรื่อง ได้มีมติให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ จัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนและการติดตามการดำเนินงานตามข้อมติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ โดยให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนและการติดตามการดำเนินงาน และรายงานผลการดำเนินงานตามมติเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติเป็นประจำทุกปี

ในฐานะที่ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสมัชชาครั้งนี้ นอกเหนือจากการได้เรียนรู้สาระของข้อเสนอเชิงนโยบายแล้ว ยังได้เห็นความพยายามยกระดับกระบวนการให้มีคุณภาพทั้งด้านวิชาการและการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ได้เห็นบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมอย่างสร้างสรรค์และกว้างขวาง ภายใต้กฎกติกาที่ผ่อนปรนไม่เข้มงวด

หากทุกฝ่ายร่วมมือกันขับเคลื่อนมติสมัชชาครั้งนี้ไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าประเทศไทยเราก็จะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างมีความพร้อมประเทศหนึ่ง และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนต่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป