วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

ข้างหลังภาพ

๒๐ มกราคม ๒๕๕๘

แม้นจะล่วงผ่านมากว่า ๗๐ ปี นวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” บทประพันธ์ของ “ศรีบูรพา” หรือ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ที่แต่งมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๐ เมื่อหยิบมาอ่านครั้งใดก็ยังคงสร้างความตราตรึงใจให้กับผู้อ่านทุกครั้ง

ผมยังจำได้แม้นจะลางเลือนไปบ้างว่าเมื่อเกือบ ๓๐ ปีที่แล้ว (ปี ๒๕๒๘) ผมได้ดูหนังเรื่องนี้ที่นำแสดงโดย “นาถยา แดงบุหงา” และ “อำพล ลำพูน” ยังประทับใจในความรักระหว่าง “หม่อมราชวงศ์กีรติ” กับ “นพพร” มิรู้คลาย และทราบว่าเมื่อปี ๒๕๔๔ ได้มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้ง โดยฝีมือการกำกับของ “เชิด ทรงศรี” และ นำแสดงโดย “คารา พลสิทธิ์” และ "ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์” จึงแสดงถึงความสวยงามของนวนิยายเรื่องนี้

ท่ามกลางสายลมยามเช้า ๆ โชยหอบความเย็นมากระทบผิวกายเพิ่มความหนาวในต้นปีใหม่ ๒๕๕๘ ผมแสนดื่มด่ำไปกับความรัก ความรื่นรมย์ ความสงสาร และความประทับใจในตัวอักษรที่เรียงร้อยไว้อย่างประณีตบรรจงของฝีมือบรมครู เพราะได้ใช้เวลาว่างละเมียดไปกับ “ข้างหลังภาพ” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔๕ ของสำนักพิมพ์ดอกหญ้าที่ซื้อมาวางบนชั้นหนังสือตั้งแต่ปีกลายอีกคราหนึ่ง

นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าของ “นพพร” ที่บอกเรื่องราวความคิด ความรู้สึกของเขาที่มีต่อ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” สุภาพสตรีที่เขาหลงรักตั้งแต่วันแรกพบจวบจนวาระสุดท้ายของเธอ

“หม่อมราชวงศ์กีรติ” ดำรงความเป็นสาวอยู่จนเข้าขีดความสาวทึมทึก ก็ยังไม่พบรักหรือชายที่สมควรแก่ความรักของเธอ จวบจนเธออายุย่างเข้าปีที่ ๓๕ จึงมีข้าราชการชั้นพระยาอายุ ๕๐ ปี ซึ่งเป็นพ่อหม้ายมีลูกติด ๒ คนมาสู่ขอ

ด้วยความหมดหวังที่จะได้พบชายที่ดีกว่านั้นและนิสัยนักศิลปะของเธอทำให้มีความต้องการจะรู้จักความเป็นไปของโลกให้กว้างกว่าที่ได้พบเห็นอยู่ในวงแคบ เธอจึงได้ยอมแต่งงานกับเจ้าคุณผู้นั้น และแล้วก็ได้พบเห็นโลกภายนอกบ้านของเธอสมความปรารถนา “พระยาอธิการบดี” ผู้เป็นสามีพาเธอไปเที่ยวญี่ปุ่น ณ ที่นั้นเอง เธอก็ได้พบกับ “นพพร” นิสิตหนุ่มแห่ง “มหาวิทยาลัยริคเคียว” ซึ่งเป็นบุตรชายของเพื่อนสามี และเป็นผู้ที่สามีของเธอขอร้องให้ช่วยจัดหาบ้านพักและนำเที่ยวด้วยในโอกาสต่าง ๆ


“หม่อมราชวงศ์กีรติ” ยังสาวและสวยสดชื่นอยู่ ด้วยการเป็นสุภาพสตรีสมัยใหม่ที่รู้จักบำรุงรักษาความงามแลวัยไว้ได้ ด้วยเหตุนี้เธอจึงเป็นที่สะดุดตาสะดุดใจของ “นพพร” เด็กหนุ่มผู้ห่างการสมาคมกับสุภาพสตรีไทยถึง ๓ ปีเศษแล้วอย่างมากมาย

การได้พบและติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาที่ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” กับสามีพักอยู่ที่ประเทศนั้นจึงทำให้ “นพพร” กับ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” คุ้นกันจนถึงขีดสนิทสนม ประกอบกับได้อยู่ด้วยกันท่ามกลางบรรยากาศอันสวยงามของประเทศญี่ปุ่น และความงามความเปล่งปลั่งของ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” เป็นสื่อชักจูงใจด้วย ในที่สุด “นพพร” เด็กหนุ่มผู้ไม่เดียงสาก็เกิดความรักขึ้นในหัวใจ

บรรยากาศในเรือลำน้อยท่ามกลางราตรีเดือนหงายในสวนสาธารณะใกล้บ้านพัก ทั้งคู่ได้มีโอกาสอยู่ด้วยกันตามลำพังกว่า ๒ ชั่วโมง ได้เริ่มถักทอความรักขึ้นในหัวใจของ “นพพร” จนทำให้ “นพพร” นอนไม่หลับ คิดฟุ้งซ่านทั้งคืน

การเดินทางไปพักผ่อนและอยู่ด้วยกันถึง ๕ วันที่ “กามากูระ” ยิ่งเพิ่มเติมเชื้อไฟรักให้กับทั้งคู่ให้ลุกลามใจเพิ่มขึ้นไปอีก

เหตุการณ์ได้ดำเนินต่อไป จนวันนั้นซึ่งเป็นวันอาทิตย์ “พระยาอธิการบดี” ได้รับเชิญจากเอกอัครราชฑูตให้ไปร่วมงานพิธีแห่งหนึ่ง จึงอนุญาตให้ “นพพร” พา “หม่อมราชวงศ์กีรติ” ไปเที่ยวเล่นที่ “มิตาเกะ”

ทั้งคู่ต่างได้ใช้เวลาพูดคุยกัน เล่าเรื่องชีวิตให้กับคู่สนทนาฟังอย่างละเอียด ทั้งคู่ใกล้ชิดกันจนในที่สุด “นพพร” ก็อดใจไว้ไม่ได้ เข้าไปประคองร่างของ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” ให้เข้ามาชิดกายเขา ซบหน้าลงที่พวงแก้มสีชมพูอ่อน ประคองกอดและจุมพิต “หม่อมราชวงศ์กีรติ” ที่อยู่แนบกายด้วยสุดแสนเสน่หา พร้อมกับเอ่ยปากบอกรักสตรีผู้มีอายุมากกว่า

ความรักอันบริสุทธิ์และร้อนแรงของผู้ที่เพิ่งมีความรักเป็นครั้งแรกนี้ดูเหมือนจะทำให้ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” นักศิลปะซึ่งไม่เคยได้พบความรักเลยรู้สึกลำบากใจที่จะข่มใจไว้อยู่มากเหมือนกัน แต่ด้วยความที่มีอายุมากแล้ว มีพันธะและการได้รับการอบรมศึกษาในทางดีงามในชีวิตเบื้องต้นมาแล้ว ก็ข่มใจไว้อย่างดี จน “นพพร” ไม่สามารถจะทราบได้ว่า “หม่อมราชวงศ์กีรติ” รักตนหรือไม่

ทั้งสองต้องจากกัน เมื่อกำหนดการเที่ยวญี่ปุ่นของ “พระยาอธิการบดี” ยุติลง แต่ความรักของ “นพพร” คงรบเร้าจิตใจให้กระสับกระส่ายจนถึงขีดสุด จดหมายคือช่องทางบอกความในใจของทั้งคู่ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปความรักในหัวใจก็ค่อย ๆ อ่อนลงตามธรรมชาติของคนที่มีภาระทางด้านการเล่าเรียนที่จะต้องใส่ใจมากกว่า

จนในที่สุดเมื่อสองปีล่วงไปแล้ว “นพพร” ก็รู้สึกใน “หม่อมราชวงศ์กีรติ” อย่างมิตรคนหนึ่งเท่านั้น

หกปีล่วงไป “นพพร” สำเร็จการศึกษาและฝึกหัดงานที่ญี่ปุ่นพอสมควรแก่การแล้วก็เดินทางประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้น “หม่อมราชวงศ์กีรติ” เป็นหม้ายแล้ว และบำเพ็ญชีวิตอยู่อย่างสงบเสงี่ยมที่บ้านหลังหนึ่ง

เขาทั้งสองได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการพบที่ “นพพร” รู้สึกเหมือนพบพี่สาวที่ดีคนหนึ่งเท่านั้น

เวลาหกปีในญี่ปุ่นได้เปลี่ยนจิตใจของ “นพพร” เด็กหนุ่มผู้อ่อนแก่ความรักให้เป็นชายหนุ่มที่ไม่ใคร่จะคิดถึงอะไรนอกจากงานและการตั้งตัวเท่านั้น

เมื่อมาอยู่เมืองไทย น้อยครั้งมากที่ “นพพร” จะเดินทางไปพบกับ “หม่อมราชวงศ์กีรติ”

ในวันนั้น “นพพร” ได้เดินทางไปพบ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” แต่เป้าหมายของการไปพบคือการแจ้งข่าวการแต่งงานกับคู่หมั้นที่บิดาหาไว้ไห้เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ในญี่ปุ่น

“หม่อมราชวงศ์กีรติ” ตกใจกับข่าวที่ได้รับแจ้งเป็นที่สุด แต่ก็พยายามเก็บความรู้สึกไว้ภายในใจตน สิ่งที่เธอทำดีที่สุดคือคำอวยพร

“ฉันขออวยพรล่วงหน้าไว้ก่อน ฉันเป็นผู้ที่มีความเชื่อถือในความรัก ฉะนั้นฉันขออวยพรให้เธอทั้งสองได้รักกัน จะก่อนหรือหลังแต่งงานก็ตาม แต่ขอให้รักกันอย่างที่สุดและโดยเร็วที่สุด”

เมื่อแต่งงานแล้วได้สองเดือน “นพพร” ได้ทราบว่า “หม่อมราชวงศ์กีรติ” เจ็บหนักด้วยโรควัณโรค เขาจึงเดินทางไปเยี่ยม “หม่อมราชวงศ์กีรติ”

เมื่อทราบว่า “นพพร” มาเยี่ยม “หม่อมราชวงศ์กีรติ” บอกให้น้องสาวและพยาบาลช่วยแต่งตัวในชุดที่สวยที่สุดเพื่อปกปิดร่างกายที่ร่วงโรยจากโรคที่รุมเร้าเธอ

เมื่อทั้งคู่ไปพูดคุยกันระยะหนึ่ง “หม่อมราชวงศ์กีรติ” ได้สอดมือลงไปใต้หมอน แล้วล้วงเอากระดาษภาพแผ่นหนึ่งยื่นมอบให้กับ “นพพร”

สิ่งที่ “นพพร” ได้เห็น คือภาพวาดสีน้ำแสดงถึงภาพลำธารที่ไหลผ่านเชิงเขาแห่งหนึ่ง มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่หนาทึบตามลาดเขา มีทางเดินเล็ก ๆ ผ่านไปบนชะง่อนหิน ตะปุ่มตะป่ำไปด้วยก้อนหินใหญ่น้อย มีพรรณไม้เลื้อยและดอกไม้ป่าสีต่าง ๆ บนต้นเล็ก ๆ ขึ้นเรียงรายอยู่ตามหินผานั้น มุมหนึ่งของภาพมีภาพของคนสองคนนั่งเคียงคู่กันอยู่ ตอนล่างของมุมหนึ่งเขียนไว้ด้วยตัวหนังสือเล็ก ๆ ว่า “มิตาเกะ”

“ความรักของเธอเกิดขึ้นที่นั่น และก็ตายที่นั่น แต่ของอีกคนหนึ่งยังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังแตกดับ”

“หม่อมราชวงศ์กีรติ” กล่าวพร้อมกับมีน้ำตาไหลซึมออกมาจากเปลือกตาที่ปิดลง

อีก ๗ วันต่อมา “นพพร” มาเยี่ยม “หม่อมราชวงศ์กีรติ” อีกครั้งหนึ่ง ในวันนั้น “หม่อมราชวงศ์กีรติ” พยายามจะพูดประโยคสุดท้ายกับ “นพพร” แต่ก็ไม่มีเสียง หมดเรี่ยวแรง เธอจึงขอดินสอกับกระดาษแผ่นหนึ่ง แล้วค่อย ๆ บรรจงเขียนลงบนกระดาษว่า

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

นวนิยายขนาดความยาวเพียง ๑๕๘ หน้า จบลงเพียงเท่านี้ แต่แม้นจะอ่านจบลงผมยังไม่อาจละวางหนังสือเล่มน้อยหน้าปกสีลายเส้นของหญิงสาวที่แสนสวยเล่มนั้นลงได้ พลันคล้ายมีน้ำตาเอ่อคลอเบ้าอันคงเกิดจากความสงสารต่อ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” ที่เก็บซ่อนความรักแรกของตนไว้ในใจ

ผมค่อย ๆ วางหนังสือเล่มน้อยลงบนโต๊ะ พร้อมกับค่อย ๆ หลับตาลงดื่มด่ำกับความประทับใจที่ยากจะอธิบายได้หมดจากบทประพันธ์ของ “ศรีบูรพา” ที่ได้เรียงร้อยตัวอักษรไว้อย่างวิจิตรบรรจงสวยงามจนกลายเป็นนิยายรักที่ดีเยี่ยมเล่มหนึ่งของวงการวรรณกรรมไทย

ยามใดที่เพื่อน ๆ เหงา เศร้า และเครียด ผมเสนอให้หา “ข้างหลังภาพ” มาอ่าน ผมมั่นใจว่าความเหงา ความเศร้าและความเครียดนั้นจะหายเป็นปลิดทิ้งอย่างแน่นอน

วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2558

วันเด็ก : คิดถึงเด็ก

๑๐ มกราคม ๒๕๕๘

......“บัวดอกหนึ่งโผล่พ้น......ชลธาร
สูงสิบนิ้วเบ่งบาน..............อุทกพ้น
หากจักกะประมาณ.............ตื้นลึก สระฤา
ใช้คณิตศาสตร์ตอนต้น..........ตอบได้ ไม่นาน
......โน้มมาลย์จนมิดน้ำ.......พอดี
หมายจุดคู่พื้นนที..............เที่ยงไว้
ยี่สิบเอ็ดนิ้วมี.................ระยะเบี่ยง เบนนอ
ย่อมบอกตื้นลึกได้.............ดั่งนี้ แหละสหาย”

จากปริศนาข้างต้น สระน้ำลึกเป็นจำนวนเต็มนิ้วได้เท่าไร (ตอบเป็นจำนวนเต็ม)

เป็น ๑ ใน ๔๐ ข้อ บนกระดาษคำถามที่ลูกชายส่งให้ผมดู หลังจากกลับมาจากการสอบวัดระดับความรู้ด้านคณิตศาสตร์ของโรงเรียนที่ลูกชายผมเรียนอยู่ในชั้น ม.๒

ผมพยายามหาคำตอบของคำถามข้อนี้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ตัดสินใจโพสต์ขึ้นเฟชบุ๊ค มีเพื่อน ๆ หลายคนต่างให้คำตอบกับคำถามข้อนี้แต่คำตอบก็แตกต่างกันไป ยิ่งซ้ำเสริมให้ผมคิดต่อไปไม่ได้ว่าเป้าหมายของข้อสอบข้อนี้ต้องการอะไรเพิ่มขึ้นไปอีก

ใน “วันเด็กแห่งชาติ” ปีนี้ อดดีใจที่ได้ทำหน้าที่เป็นพ่อที่ดี ขับรถไปส่งให้ลูกชายไปโรงเรียนเพื่อเข้าสอบแข่งขัน ท่ามกลางอากาศที่ไม่ปกติ เพราะมีสายฝนพรำมาแต่เช้า ทำให้อากาศยิ่งเย็นขึ้นจนรู้สึกหนาว ต้องหาเสื้อคลุมมาใส่สร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายตลอดทั้งวัน

กลับจากส่งลูกชายไปโรงเรียน ก็กลับบ้านมานอนอ่านหนังสือที่กำลังถึงบทสนุก เปิดดูทีวีดู โดยมีเสียงเครื่องบินไอพ่นที่หน่วยงานของจังหวัดจัดขึ้นบินผ่านเหนือหมู่บ้านเป็นระยะ ทำให้ต้องชะโงกออกไปนอกบ้านดูเป็นระยะ

ทีวีทุกช่องก็จะรายงานหรือถ่ายทอดสดรายการเกี่ยวกับงานวันเด็กที่หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ จัดขึ้น

“ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต” อันเป็นคำขวัญของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ให้ไว้ในวันเด็กแห่งชาติประจำปีนี้ถูกนำเสนอผ่านรายการทีวีซ้ำไปซ้ำมา

“วันเด็ก” หรือ “Children's Day” เริ่มมีมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ เป็นปีที่ทั่วโลกเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติกันขึ้น ตามความเห็นคล้อยตามกับองค์การสหประชาชาติที่นำปัญหาเรื่องเด็กมาร่างเป็นปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของเด็ก

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่รับข้อเสนอจาก “องค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ” ผ่านมาทาง “กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย” ว่า ประเทศไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็กให้มากขึ้น ดังที่นานาประเทศกำลังทำอยู่

ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๙๘ ได้มีมติรับหลักการให้จัดงาน “วันเด็กแห่งชาติ” ขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการรับไปดำเนินการ และในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๙๘ ประเทศไทยจึงมีงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติและจัดติดต่อกันมาจนถึงปี ๒๕๐๖

ในปีเดียวกันนั้นที่ประชุม “คณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ” มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่เพื่อความเหมาะสม ด้วยเหตุผลว่าในเดือนตุลาคม ประเทศไทยยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็กไม่สะดวกในการมาร่วมงาน รวมทั้งวันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้ ตลอดจนการจราจรก็ติดขัด

คณะรัฐมนตรีได้ประชุมกันในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ เห็นชอบ จึงประกาศเปลี่ยนงานฉลองวันเด็กแห่งชาติจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม มาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ปี ๒๕๐๗ ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว

งานวันเด็กแห่งชาติที่ยึด “วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม” จึงเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี ๒๕๐๘ และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

และในแต่ละปีนายกรัฐมนตรีก็จะมีการกำหนดคำขวัญวันเด็กแห่งชาติให้เด็กได้ท่องจำกัน โดยคำขวัญวันเด็กแห่งชาติแรกมาจากนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” ที่ให้ไว้ว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม”

แวบหนึ่งของความคิด อดที่จะคิดไปถึง “คุณภาพของเด็กไทยในภาพรวม” ไม่ได้

เมื่อศึกษาลงลึกไปดูจำนวนเด็กของประเทศไทย พบว่าขณะนี้ประเทศไทยเรามีเด็กประมาณร้อยละ ๒๐ ซึ่งประมาณคร่าว ๆ ก็คงประมาณ ๑๓ ล้านคน (คิดจากประชากรไทยทั้งหมด ๖๕ ล้านคน)

สิ่งที่น่าตกใจก็คือ ข้อมูลจากเว็บไซด์ของสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า เด็กราว ๖,๔๐๐,๐๐๐ คน เป็นเด็กที่ด้อยโอกาส จำแนกเป็น

• เด็กเร่ร่อนจรจัด มีประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ซึ่งแหล่งชุมชนแออัดที่มีจำนวนเด็กเร่ร่อนมากที่สุดอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร บริเวณสะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ชุมชนคลองเตย ชุมชนรังสิต และชุมชนธัญบุรี รวมทั้งตามเมืองขนาดใหญ่ อาทิ ด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย บริเวณตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว บริเวณชุมชนข้างทางรถไฟ หอนาฬิกา จังหวัดนครราชสีมา และบริเวณเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาครอบครัวแตกแยก ถูกทารุณกรรม บางส่วนออกมาเร่ร่อนเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว และหนีตามเพื่อนมาเร่ร่อน โดยเด็กกลุ่มนี้กำลังเผชิญความเสี่ยงสูงต่อปัญหายาเสพติด การขายบริการทางเพศ และอาชญากรรม

• เด็กไร้สัญชาติ มีราว ๒๐๐,๐๐๐ – ๓๐๐,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้มีอยู่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน ที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษา เป็นเด็กจากชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาพักพิงในประเทศไทย มีทั้งที่อยู่มานานเป็นชั่วอายุคน และเพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ จึงยังไม่ถูกรับรองสัญชาติ ทำให้เด็กในกลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับบริการเท่าเทียมกับเด็กทั่วไป โดยขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่ได้รับสิทธิรับทุนแม้เรียนดี เสี่ยงต่อการถูกล่อลวงไปค้ามนุษย์ ขาดสิทธิทางการรักษาพยาบาล และไม่สามารถเดินทางไกลได้ เพราะไม่ได้รับการรับรองสิทธิการเป็นพลเมือง

• ลูกของแรงงานต่างด้าว มีจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ คน ปัญหาสำคัญของเด็กในกลุ่มนี้คือ ขาดโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากต้องอพยพตามผู้ปกครองเข้ามาทำงาน และเป็นกลุ่มที่ต้องเป็นแรงงานเด็ก จึงไม่มีเวลาเรียนในระบบโรงเรียนปกติ

• เด็กติดเชื้อเอดส์ มีจำนวน ๕๐,๐๐๐ คน ซึ่งติดเชื้อเอดส์จากพ่อแม่ จึงมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นทั้งเด็กกำพร้าและติดเชื้อเอดส์ จึงต้องเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพ ขาดการยอมรับจากสังคมทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ การส่งต่อของเด็กระหว่างองค์กรไม่เป็นความลับ และเด็กที่ป่วยไม่สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้

• เด็กกำพร้าถูกทอดทิ้ง มีเกือบ ๙๐,๐๐๐ คน ซึ่งถูกทอดทิ้งตามโรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก และที่สาธารณะ โดยมีสาเหตุจากแม่ที่อยู่ในวัยเรียน และแม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้

• เด็กถูกบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ที่ถูกบังคับเป็นแรงงานอย่างผิดกฎหมาย มีราว ๑๐,๐๐๐ คน ซึ่งมีจำนวนมากที่ยังไม่เข้าถึงระบบการคุ้มครองของกฎหมายและบริการทางสังคม เนื่องจากสถานประกอบการมีลักษณะซ่อนเร้น เช่น โรงงานขนาดเล็กตามห้องแถวและชานเมือง

• เด็กถูกบังคับให้ค้าประเวณี รวมถึงเด็กที่ทำงานในสถานบริการ เช่น สนุ๊กเกอร์คลับ ผับ คาเฟ่ ฯลฯ โดยพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ที่เข้าสู่การค้าประเวณี ไม่ต่ำกว่า ๒๕,๐๐๐ คน

• เด็กติดยา มีราว ๑๐,๐๐๐ คน กระจายอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ รวมถึงพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

• เด็กยากจนพิเศษ หรือเด็กที่ครอบครัวมีรายได้รวมกันไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาทต่อปี มีจำนวนเกือบ ๓,๐๐๐,๐๐๐ คน

• เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดาร มีจำนวน ๑๖๐,๐๐๐ คน

• เด็กออทิสติก เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ (LD) เด็กสมาธิสั้น (ADHD) มีจำนวนถึง ๒,๕๐๐,๐๐๐ คน อยู่ในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา ซึ่งขาดการส่งเสริมดูแลตามพัฒนาการการเรียนรู้อย่างเข้าใจ

ข้อมูลจากเว็บไซด์ของ สสส. อีกแห่งหนึ่งยังได้เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์เด็ก ไว้เมื่อเดือนมกราคม ปี ๒๕๕๗ ไว้อย่างน่ากังวลว่า

“ในรอบ ๑๕ ปีที่ผ่านมา พบว่า เด็กปฐมวัยประมาณร้อยละ ๓๐ หรือ ๑ ใน ๓ ของเด็กเล็กในประเทศมีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่สูงมาก โดยพบว่ามีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าถึงร้อยละ ๒๐ ตามด้วยพัฒนาการทางปฏิภาณไหวพริบและการเข้ากับสังคม อีกร้อยละ ๕ ซึ่งพัฒนาการทั้งสองด้านจะมีผลต่อระดับสติปัญญา ทำให้เด็กกลุ่มนี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ทั้งด้านทักษะการอ่าน เขียน คิดคำนวณ และไอคิว”

“ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโณทัย” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ชี้ไว้อย่างชัดเจนว่า

“การดูแลเด็กเล็ก ๐ – ๕ ปี นับว่าเป็นยุคทองของพัฒนาการเรียนรู้เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมองมีการพัฒนาการสูงสุดที่จะผลต่อสติปัญญา บุคลิกภาพ และความฉลาดทางอารมณ์ การลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่เด็กเล็ก จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด”

โดยยังได้กล่าวถึงผลการศึกษาของ James Heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล (๒๕๔๒) สำทับไว้ว่า

“การลงทุนในเด็กปฐมวัย จะได้ผลตอบแทนกลับคืนในอนาคตถึง ๗ เท่า นั่นคือ หากลงทุน ๑ บาท จะได้ผลประโยชน์คืนกลับสู่สังคมถึง ๗ บาท โดยพบว่า เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีทั้งสารอาหารและการดูแลสุขภาพที่ดีในช่วงแรกของชีวิตจะมีทักษะทางกายภาพ ไอคิวและอีคิวที่ดีกว่า มีโอกาสที่จะเข้าเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษาสูงกว่า สามารถลดโอกาสการซ้ำชั้นหรือออกกลางคัน และมีโอกาสเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ มีรายได้ให้กับครอบครัวในอนาคต”

นอกจากข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อมูลที่เป็นกระแสฮือฮาให้แก่คนไทยที่สุด นั่นก็คือข้อมูลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน จาก The Global Competitiveness Report ๒๐๑๒ – ๒๐๑๓ ที่จัดให้ประเทศไทยเราอยู่อันดับ ๘ โดยอันดับ ๑ ได้แก่ สิงคโปร์ อันดับ ๒ มาเลเซีย อันดับ ๓ บรูไน ดารุสซาลาม อันดับ ๔ ฟิลิปปินส์ อันดับ ๕ อินโดนีเซีย อันดับ ๖ กัมพูชา อันดับ ๗ เวียดนาม

เห็นข้อมูลที่ค้นพบ เห็นคำถามที่ลูกชายเอาให้ช่วยหาคำตอบ อดไม่ได้ที่จะนำไปเชื่อมโยงกับคำขวัญวันเด็กแห่งชาติปีนี้ที่ว่า “ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต”

แล้วให้บทสรุปให้กับตนเองว่า “ถึงเวลาปฏิรูปประเทศไทย” แล้วจริง ๆ

วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558

เด็กชาย (หญิง) สมัชชาสุขภาพ

๗ มกราคม ๒๕๕๘

“๗ ปี ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สังคมไทยได้อะไร ?”

เป็นคำถามแบบอัตนัยของนักวิชาการรุ่นใหม่รายหนึ่งโพสต์แลกเปลี่ยนกันบนสื่อออนไลน์ ภายหลังจากพิธีปิดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติอิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร ไม่กี่นาที

ผมไม่ทราบเจตนาที่แท้จริงว่าคำถามนี้มีนัยอะไรแฝงเร้นอยู่ภายใต้ตัวอักษรที่เรียงร้อยมาหรือไม่ ?

แต่ถึงจะมีเจตนาอะไรหรือไม่ คำถามนี้นับเป็นคำถามที่ทำให้ผมได้ใช้เวลาในช่วงต้นปีใหม่ทำการทบทวนหวนคิดถึงห้วงเวลา ๗ ปีที่ตนเองได้เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อน “สมัชชาสุขภาพ” ด้วยคนหนึ่ง เพื่อตอบคำถามนี้

ผมใช้คำว่า “เด็กชาย (หญิง)” นำหน้าคำว่า “สมัชชาสุขภาพ” ไว้เพื่อบอกว่า “สมัชชาสุขภาพ” เปรียบเสมือนเด็กที่มีอายุยังไม่ครบ ๘ ปี กำลังเป็นช่วงของการเจริญเติบโต เรียนรู้และปรับตัว

แต่เป็นที่น่ายินดีที่ “สมัชชาสุขภาพ” แม้นจะเป็นเพียงเด็กน้อย แต่ก็มีผู้คนที่เฝ้ามองหรือจับตาดูอยู่ เฉกเช่นเดียวกับนักวิชาการผู้ที่ตั้งคำถามอัตนัยข้างต้น

“สมัชชาสุขภาพ” ตามกฎหมายว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ ที่ตราขึ้นและประกาศใช้เมื่อปี ๒๕๕๐ ได้ถูกนิยามไว้ว่าเป็น “เครื่องมือพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” หรือ “นโยบายสาธารณะที่ดี” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ๑ ใน ๕ ตามกฎบัตรออตตาวา ที่ประเทศต่าง ๆ ได้ไปประชุมกันในเวทีที่ว่าด้วย “การส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่” ที่ประเทศแคนาดา เมื่อปี ๒๕๒๙ เพราะเห็นว่า “นโยบายสาธารณะที่ดี” จะส่งผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวกตามไปด้วย

“นพ.ประเวศ วะสี” ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า “นโยบายสาธารณะที่ดี” เป็นประกอบไปด้วย “กุศล ๓ ประการ” คือ หนึ่ง กุศลทางปัญญา ที่หมายถึงการใช้ข้อมูลวิชาการที่เที่ยงตรงเป็นฐานในการทำงาน สอง กุศลทางสังคม ที่มีการเปิดพื้นที่ให้กับสังคมโดยรวมได้เข้ามาส่วนร่วม และ สาม กุศลทางศีลธรรม ที่มีเป้าหมายเพื่อสาธารณะ ไม่ใช่มีเป้าหมายเฉพาะตน กลุ่มคน หรือกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ฉะนั้น “สมัชชาสุขภาพ” จึงยึดหลัก “กุศล ๓ ประการ” นี้เป็นกรอบในการออกแบบการการทำงานอย่างเคร่งครัด ทั้งสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

ดังนั้น จึงได้เห็นกระบวนการทำงานของ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งกฎหมายให้มีการจัดขึ้นอย่างน้อยปีละครั้งนั้นมีการทำงานเป็นวงจรต่อเนื่องไม่สิ้นสุด นับตั้งแต่ กระบวนการเปิดรับประเด็นเชิงนโยบายจากทุกภาคส่วน การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย การรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศ การประชุมเพื่อหาฉันทมติ การนำมติไปขับเคลื่อน และการติดตาม รายงานและประเมินผล

ประเด็นเชิงนโยบายที่องค์กร หน่วยงานและเครือข่ายต่าง ๆ เสนอเข้ามาต้องมีข้อมูลสถานการณ์ที่ชัดเจน มีหลักเกณฑ์ที่เปรียบเสมือนตะแกรงตาถี่ที่รอบด้านคอยกลั่นกรองทั้งด้านความสำคัญ ความเร่งด่วน ความรุนแรงและความเป็นไปได้ในทำงานเป็นเครื่องมือกลั่นกรองว่าประเด็นเชิงนโยบายนั้นเหมาะสมที่จะถูกหยิบยกขึ้นเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติหรือไม่

ประเด็นเชิงนโยบายที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นระเบียบวาระการประชุม ก็จะมีการจัดทำเป็นเอกสารวิชาการที่เรียกว่า “เอกสารหลักและร่างมติ (บางเรื่องอาจจะมีเอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติม)” หรืออาจจะเรียกว่า “เอกสารข้อเสนอเชิงนโยบาย” ก็ต้องมีข้อมูลวิชาการที่ผ่านการวิเคราะห์สังเคราะห์มาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยมีกลไกอย่างน้อย ๓ ชั้น ทั้ง “คณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น” “คณะอนุกรรมการวิชาการ” และ “คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ช่วยกันกลั่นกรองให้เป็นเอกสารที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ

“เอกสารข้อเสนอเชิงนโยบายทุกเรื่อง” จะมีการนำไปเปิดเวทีสาธารณะในพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในวันประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในวันประชุมเพื่อร่วมกันหาฉันทมติก็จะมีผู้แทนกลุ่มเครือข่ายทั้งระดับพื้นที่ และจากกลุ่มเครือข่ายภาครัฐและการเมือง ภาควิชาการและวิชาชีพ และภาคประชาชน ประชาสังคมและเอกชนเข้าร่วมพิจารณากันอย่างครบถ้วน

เมื่อมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติออกมาแล้ว หน่วยงาน องค์กร เครือข่ายต่าง ๆ ก็นำไปดำเนินการในรูปแบบต่าง ๆ กันไป

ในแต่ละปีก็จะมีระบบการติดตามและประเมินผลทั้งการประเมินภายในและภายนอก และที่สำคัญก็คือมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการนำมติไปปฏิบัติร่วมกันในช่วงของการประชุมพิจารณาระเบียบวาระการประชุมที่เป็นเรื่องใหม่คู้ขนานกันไปด้วย

จากแนวปฏิบัติดังกล่าว จึงทำให้ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” เป็นกระบวนการที่นำไปสู่ “นโยบายสาธารณะที่ดี” ที่มีองค์ประกอบตาม “กุศล ๓ ประการ” ที่กล่าวไว้ข้างต้น

จากระยะเวลาที่ผ่านมา ๗ ปี ของการมี “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ในทัศนะของคนทำงานในวงใน ได้เห็นผลที่เกิดขึ้นอยากน้อย ๘ ประการ คือ

หนึ่ง เป็นเครื่องมือเพิ่มตัวละครที่เป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะให้กว้างมากขึ้นกว่าเดิม : ในอดีต เราจะคุ้นชินว่า เจ้าของนโยบายสาธารณะต้องจำกัดอยู่ในองค์กรของรัฐ ตั้งแต่ คณะรัฐบาล กระทรวง กรม กอง จังหวัด อำเภอ ตำบล ที่กระจายอยู่ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น แต่วันนี้ประชาชนทุกกลุ่มทุกพื้นที่สามารถเข้ามาเป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะได้ เราจึงได้เห็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล” ที่เสนอมาโดยประชาชนที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้าในจังหวัดสุรินทร์ หรือเรื่อง “การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง” ที่เสนอมาจากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในจังหวัดสงขลา เป็นต้น

สอง เป็นเครื่องมือเปิดเผยประเด็นปัญหาที่อยู่ใต้พรมต่อสาธารณะ : เมื่อตัวละครที่เป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะขยายขอบเขตมากขึ้น ปัญหาที่เคยเก็บดอง ซุกไว้ใต้พรม ก็ถูกเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ ตัวอย่างหนึ่ง คือ เรื่อง “แร่ใยหิน” ซึ่งเป็นสารที่นำไปใช้ในสิ่งของที่ชาวบ้านใช้ในชีวิตประจำวันหลายอย่าง อาทิ กระเบื้องปูหลังคา เบรก ครัชท์รถยนต์ เป็นต้น ในวงการวิชาการยอมรับกันว่าแร่ใยหิน หรือที่เรียกกันในวงการวิทยาศาสตร์ว่า “แร่ไคโซรไทม์” นี้ เป็นสารก่อมะเร็ง หลังจากเรื่องนี้ผ่านออกมาเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ ๓ – ๔ ปีก่อน ได้ทำให้สังคมได้รับรู้พิษภัยของสารอันตรายนี้กว้างขวางจนถึงทุกวันนี้

สาม เป็นเครื่องมือสร้างเครือข่ายการทำงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบข้ามสาขา : จากหลักการสำคัญอันเป็นฐานคิดสำคัญของสมัชชาสุขภาพ คือ “การมีส่วนร่วม” โดยใช้ “ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” เป็นกรอบคิดในการออกแบบกลไกทุกระดับ ส่งผลให้เกิดการทำงานในลักษณะ “ข้ามสาขา” เกิดการเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าในกระบวนการได้เรียนรู้สิ่งที่แตกต่างไปจากความรู้ของตนเอง เกิดการมองปัญหาและกำหนดทิศทางการพัฒนาที่รอบด้านมากกว่าเดิม

สี่ เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคม : ในบางครั้งเรื่องบางเรื่องมีขอบเขตจำกัดอยู่ในวงวิชาการเฉพาะเท่านั้น อาทิ เรื่องแร่ใยหิน โรคติดต่ออุบัติใหม่ แผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลก เป็นต้น แต่เมื่อประเด็นเชิงนโยบายเหล่านี้ถูกกำหนดให้เป็นระเบียบวาระของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแล้ว ได้สร้างการเรียนรู้ให้กว้างขวางออกไปนอกวงการเฉพาะกลุ่มเฉพาะเรื่อง พื้นที่ทั่วประเทศได้มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวไปพร้อม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม แม้ในเรื่องที่เสมือนเป็นประเด็นที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของประชาชนทุกหมู่ทุกเหล่า เช่น การตั้งครรภ์ไม่พร้อมของวัยรุ่น การป้องกันปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วน การป้องกันอุบัติเหตุ เป็นต้น เมื่อได้นำมากำหนดเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ก็ยิ่งเป็นการเสริมการเรียนรู้ให้กับสังคมให้กว้างขวางขึ้น ภายใต้ข้อมูลวิชาการที่ถูกต้องตรงกัน

ห้า เป็นห้องเรียนหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพของคนไทยในการแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของความมีเหตุผลด้วยข้อมูลวิชาการ : ด้วยเงื่อนไขของการเสนอความเห็นในระยะเวลาจำกัด ส่งผลให้เกิดการใช้เวลาที่จำกัดนั้นอย่างคุ้มค่า จากการเฝ้าดูพัฒนาการของการแสดงความคิดเห็นของผู้แทนกลุ่มเครือข่ายที่ได้เสนอความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จะพบว่ามีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดี แต่ละคนจะเสนอความคิดเห็นบนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการ กระชับ ตรงประเด็น ไม่เยิ่นเย้อ แบบน้ำท่วมทุ่งเหมือนในปีแรก ๆ และที่สำคัญเป็นการแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของความคิดเห็นร่วมของกลุ่มเครือข่ายที่ตนเองสังกัด ไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกเหมือนแต่ก่อน ซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่งของสังคมไทย

หก เป็นกระบวนการสร้างการทำงานแบบเครือข่ายอันเป็นพื้นฐานของการสร้างพลังพลเมือง : จากข้อจำกัดและความเป็นไปได้ในการที่จะเปิดให้กับประชาชนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมในกระบวนการของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ จึงมีการกำหนดให้มีการรวมตัวกันเป็น “กลุ่มเครือข่าย” จำแนกเป็น ๔ ประเภท คือ กลุ่มเครือข่ายเชิงพื้นที่ ที่ใช้พื้นที่จังหวัดเป็นฐานในการกำหนด กลุ่มเครือข่ายองค์กรภาครัฐและภาคการเมือง กลุ่มเครือข่ายวิชาการและวิชาชีพ และกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน ประชาสังคมและเอกชน โดยในแต่ละปีจะมีจำนวนกลุ่มเครือข่ายที่แตกต่างกันไป อย่างเช่นในปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๗ มีกลุ่มเครือข่ายรวม ๒๓๔ กลุ่ม

ในวันประชุมจะมีการกำหนดโควตาให้กับกลุ่มเครือข่ายและกลุ่มเพื่อคัดเลือกกันเองให้ได้มาซึ่งผู้แทนกลุ่มเครือข่ายตนให้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อไปร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ถูกกำหนดเป็นระเบียบวาระการประชุม

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมากลุ่มเครือข่ายเชิงพื้นที่มีการยกระดับการทำงานในเชิงเครือข่ายที่ชัดเจนกว่ากลุ่มเครือข่ายอื่น มีการประชุมปรึกษากันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงร่างเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบาย การคัดเลือกผู้แทนกลุ่มเครือข่าย การกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนในการเรียนรู้กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดคู่ขนานกับการประชุมพิจารณาตามระเบียบวาระการประชุม ซึ่งผลจากการทำงานดังกล่าวส่งผลต่อกระบวนการสมัชชาสุขภาพในระดับจังหวัดที่ยกระดับการทำงานตามไปด้วย นอกจากนั้นในแต่ละจังหวัดมีเครือข่ายการทำงานต่อเนื่องในการทำงานเรื่องอื่นๆ อีกด้วย

เจ็ด เป็นเครื่องมือบูรณาการการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน : ทั้งนี้เนื่องจากหลักการ “การมีส่วนร่วม” ทั้งระดับกลไกจัดการ และการเปิดพื้นที่สาธารณะแสดงความคิดเห็นให้กับทุกกลุ่ม ทุกองค์กร และทุกพื้นที่ ทำให้ประเด็นเชิงนโยบายสาธารณะที่ถูกนำมากำหนดเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้รับการวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างรอบด้าน ไม่มีข้อจำกัดในเชิงพันธกิจของหน่วยงาน องค์กรแบบเดิม ๆ ที่ผ่านมา

แปด เป็นตัวแบบให้แก่ “สมัชชา” ที่องค์กร หน่วยงาน หรือเครือข่ายอื่น ๆ เป็นผู้ดำเนินการ : ในปัจจุบันมีการจัดสมัชชาต่าง ๆ มากมาย อาทิ สมัชชาพัฒนาการเด็กและเยาวชนแห่งชาติ สมัชชาผู้สูงอายุ สมัชชาครอบครัว สมัชชาสตรี สมัชชาการศึกษา สมัชชาผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ เป็นต้น สมัชชาเหล่านี้ได้มีความพยายามที่จะปรับกระบวนการจาก “สมัชชาสุขภาพ” ไปใช้ให้เหมาะสมกับสมัชชาต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติหลายราย จะได้รับเชื้อเชิญให้เข้าไปร่วมเป็นคณะทำงาน คณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในกลไกจัดสมัชชาต่าง ๆ เหล่านั้นอยู่หลายชุด

“สมัชชาปฏิรูประดับชาติ” นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้นำตัวแบบ “สมัชชาสุขภาพ” ไปใช้ในเกือบทุกขั้นตอน และได้มีการจัดสมัชชาปฏิรูปในช่วงปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๖ รวม ๓ ครั้ง และมีมติออกมาเกือบ ๒๐ มติ และมติเหล่านี้ได้ถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ต้องขอขอบคุณนักวิชาการท่านนั้นที่ช่วยตั้งคำถามว่า “๗ ปี ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สังคมไทยได้อะไร ?”

เพราะเป็นคำถามที่ได้กระตุ้นให้คนทำงานได้ใช้เป็นประเด็นทบทวนการทำงานที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางผลที่เริ่มดอกออกผลข้างต้นย่อมมีสิ่งท้าทายอยู่เสมอ ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ไม่ใช่เป็นของผู้หนึ่งผู้ใด แต่เป็นของทุกคน

เรามาร่วมมือกันอุ้มชูดูแล “เด็กชาย (หญิง) สมัชชาสุขภาพ” ที่ยังอยู่ในวัยเด็ก ให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่า เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อสังคมอันเป็นที่รักของพวกเราทุกคนกันเถอะ