วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง (๒)

๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘

ผมร่ำลาทีมงาน เพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เมื่อนาฬิกาบอกเวลา ๑๙.๐๐ น. ของวันวาน (๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘) ในขณะที่ “คณะกรรมการจัดทำธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุตำบลเขาทอง” กำลังประชุมกันอยู่ที่ “มหาวิทยาลัยต้นมะขาม” บริเวณหน้ากุฏิเจ้าอาวาสวัดเขาทอง ใต้ต้นมะขามต้นใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านขยายไปรอบต้น

ระหว่างขับรถ ใจก็อดนึกขอบคุณผู้หลักผู้ใหญ่ของตำบลเขาทอง โดยเฉพาะ “พระครูนิภาธรรมวงศ์” หรือ “หลวงน้า” ที่พวกเราเรียกขานกัน ที่สละเวลามาเป็นประธานการประชุม ตลอดจนทีมงานที่เข้มแข็งและมุ่งมั่น ให้ใจเข้ามาร่วมกันทำงานชิ้นนี้

และก็อดไม่ได้ที่ย้อนกลับไปคิดถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้

ทุกปีใหม่ ผมจะได้รับ ส.ค.ส. จากสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร People Audit เมื่อเกือบ ๑๐ ปีก่อน และทำให้ผมรู้สึกรักองค์กรนี้เสมอมา

พร้อมกับคำอวยพรบนแผ่น ส.ค.ส. แล้ว ก็จะแนบแบบประเมินการนำความรู้จากการอบรมว่าทำงานต่ออย่างไร นอกจากนั้นยังแนบใบประกาศเชิญชวนให้ทุนไปทำงานให้กับผู้ผ่านหลักสูตรนี้อีกด้วย เกือบ ๑๐ ปี ผมได้แต่ระลึกถึงกิจกรรมที่ดีงามนี้เท่านั้น ไม่สนใจที่จะเขียนโครงการไปขอทุนตามใบประกาศนั้นเลย เหตุผลรึแสนมากมายหากขุดขึ้นมาอ้าง

แต่มาปีนี้ เกิดความคิดแปลกไป เกิดอยากใช้โอกาสที่สถาบันหยิบยื่นให้ดู

ประจวบกับที่ผมเองได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในขบวนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และไปเกี่ยวข้องกับงานด้านสังคมกับชุมชน ได้เห็นข้อมูลหนึ่งที่ประเทศเรากำลังเผชิญอยู่ นั่นก็คือ “การเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย” อันหมายถึง สังคมที่มีสัดส่วนคนสูงอายุที่มีอายุเกิน ๖๐ ปี มากกว่าร้อยละ ๑๐ ขณะนี้ประเทศเรามีผู้สูงอายุสูงเกือบร้อยละ ๑๕ และอีกไม่เกิน ๕ ปี จะสูงเป็นร้อยละ ๒๐ ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่รอวันประทุ

งานการศึกษาของ สปช. พบว่า ผู้สูงอายุของไทยกำลังเผชิญปัญหาสำคัญ ๔ ด้าน คือ (๑) ด้านสุขภาพ (๒) ด้านเศรษฐกิจ (๓) ด้านสังคม และ (๔) ด้านสภาพแวดล้อม (ซึ่งจะได้นำมาเสนอให้ทราบในรายละเอียดในตอนต่อ ๆ ไป)

จากโอกาสที่เปิดกว้างพร้อมกับข้อมูลที่พบเห็น จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผมหยิบเรื่องนี้ไปปรึกษาคนข้างตัว ซึ่งอดีตเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ ที่มีที่ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาทอง และเคยทำงานพัฒนาศักยภาพให้กับอาสาสมัครผู้สูงอายุในตำบลเขาทอง เมื่อราว ๓ – ๔ ปีก่อน

คำตอบที่ได้รับคือให้เดินหน้า พร้อมกับคำว่า “ธรรมนูญสุขภาพ” เกิดปิ๊งแว๊บขึ้นในสมอง

เหล่านี้จึงเป็นที่มาของ “โครงการจัดทำธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุตำบลเขาทอง” ที่ถูกจัดส่งไปให้กับสถาบันพระปกเกล้าตามระยะเวลาที่กำหนด

หลังจากชุ่มฉ่ำจากการเล่นรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์เพียง ๒ วัน ก็ได้รับจดหมายแจ้งสถาบันพระปกเกล้าว่า “ยินดีสนับสนุนทุนสำหรับโครงการที่ยื่นไป” ในวงเงิน ๓๕,๐๐๐ บาท และให้ผมตอบยืนยันว่าจะรับทุนหรือไม่

ผมนำเรื่องไปปรึกษาคนข้างตัวอีกครั้ง และเห็นตรงกันว่า “เดินหน้า” เป็นคำรบสอง แม้นวงเงินจะดูน้อยไปสักนิด แต่คิดว่าสามารถทำงานตามแผนให้เสร็จตามเป้าหมายได้

นี่คือจุดเริ่มต้น อันนำมาถึงการประชุมกันที่มหาวิทยาลัยต้นมะขามที่มีเป้าหมายของความอยู่ดีมีสุขของคนเขาทองเป็นปริญญาบัตรที่รอมอบให้ นั่นเอง

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง (๑)

๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘

“สิบปากว่า ไม่เท่าหนึ่งตาเห็น สิบตาเห็น ไม่เท่าหนึ่งมือคลำ สิบมือคลำ ไม่เท่าหนึ่งทำดู” เป็นสุภาษิตที่ผมจำมาจากที่ไหนไม่รู้ แต่ช่างมีความหมายลึกล้ำจริง ๆ บอกอะไรไว้ในข้อความนั้นมากมายทีเดียว

ผมเป็นพนักงานของ “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ที่เรียกย่อ ๆ ว่า “สช.” ภารกิจหนึ่งขององค์กรนี้คือ การหนุนเสริมให้พื้นที่ชุมชนมีการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม อะไรน่ะ “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” ทำไมฟังแล้วมันช่างเข้าใจยากจัง

ผมก็เห็นด้วยนะ แต่ที่ใช้คำนี้ก็เพราะเห็นเขาใช้กันนะ ผมก็เลยขอใช้บ้าง

แต่หากอธิบายแบบง่าย ๆ เจ้า “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” แท้จริงแล้วก็คือ “ทิศทางที่มีเป้าหมายไปสู่สิ่งที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี โดยเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม” นั่นแหละ

คงพอเข้าใจขึ้นบ้างนะครับ

ที่นี้หากจะให้อธิบายต่อ ก็ต้องบอกว่า เจ้าตัวชื่อยาก ๆ นี้ จุดเริ่มต้นมันมาจากการประชุมของตัวแทนประเทศต่าง ๆ ที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อปี ๒๕๒๙ ก็ประมาณเกือบ ๓๐ ปีที่แล้ว แล้วสรุปว่าหากจะสร้างเสริมสุขภาพประชาชนให้ดีขึ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ การสร้าง “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม”

ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้มานาน แต่ผมคงไม่ขอย้อนไปเล่าว่ามีการขับเคลื่อนอย่างไร แต่ขอบอกว่าเรื่องนี้มาสำเร็จเมื่อปี ๒๕๕๐ มีการประกาศใช้กฎหมายที่ชื่อว่า “พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐” และทำให้เกิดสิ่งใหม่กับสังคมไทย ๕ เรื่อง

๑ ใน ๕ เรื่อง มีเรื่อง “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ” รวมอยู่ด้วย โดยในปี ๒๕๕๒ มีการประกาศใช้ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” พร้อม ๆ กับ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา” ซึ่งนับเป็นธรรมนูญสุขภาพตำบลแห่งแรกของประเทศไทย

หากจะนับกันตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ จนถึงปี ๒๕๕๘ ตอนนี้มีพื้นที่ต่าง ๆ ทำธรรมนูญสุขภาพตำบลมากกว่า ๓๐๐ แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ

ในฐานะที่ผมเป็นพนักงานของ สช. ก็ทำหน้าที่ไปบรรยายให้พื้นที่ต่าง ๆ ฟังว่า ธรรมนูญสุขภาพคืออะไร ทำอย่างไร ดีอย่างไร

แต่บอกตรง ๆ ว่า ไม่เคยทำด้วยตัวเองสักที ได้แต่ครูพักลักจำ ฟังจากชุมชนโน้นเล่าว่าทำแบบนี้ ชุมชนนี้ทำแบบนั้น แล้วไปอธิบายต่อให้ชุมชนที่สนใจฟัง ก็ไม่รู้ว่าผลออกมาดีตามที่ผมเล่าให้ฟังหรือปล่าว

เมื่อเป็นแบบนี้ ใจจึงอยากจะเรียนรู้ของจริง เพื่อทดสอบสมมติฐานจากฟังว่า “มันดีจริงตามที่ฟังหรือปล่าว”

โชคดีมากมาย ที่ไปพบ “คนจิตใหญ่ใจสาธารณะ” เข้า เอ่ยปากชักชวนกันหาพื้นที่ทำ “ธรรมนูญสุขภาพ” กัน ทุกคนสนใจ และอาสายื่นมือยื่นใจเข้ามาช่วย จึงเกิดกลุ่ม “ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง” ขึ้น ชื่อ “ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง” มาจากไหนนะ ฟังแล้วเข้าท่าดี

แย้มนิดหนึ่งว่าทำไมต้อง “ฒ ผู้เฒ่า” และทำไมต้อง “เขาทอง” ก็เพราะ สิ่งที่จะทำนี้จะทำงานเกี่ยวกับ “คนสูงวัย” หรือจะเรียกแบบไม่สุภาพว่า “คนแก่” ก็ไม่ว่ากัน และสถานที่ที่เป็นเป้าหมายก็คือ “ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์” นั่นเอง

จุ๊ จุ๊ เอาไว้แค่นี้ก่อนนะ หากอยากรู้เรื่องต่อต้องติดตามตอนต่อไปว่า แล้วที่เขียนมาทั้งหมดเนี่ยะกำลังจะบอกอะไร

แต่ผมยืนยันว่าเรื่องนี้สนุกแน่นอน

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แผ่นดินของเรา

๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘

เช้าของวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องโถงของอาคารรัฐสภาเนืองแน่นไปด้วยประชาชนที่แต่งตัวด้วยอัตลักษณ์ของความเป็นชนเผ่าที่หลากหลาย ถือป้ายที่มีข้อความต่าง ๆ มีทั้งผู้เฒ่า หนุ่มสาวและเด็ก ๆ เกือบ ๒๐๐ คน

ผมรี่เข้าไปยืนฟังคำแถลงการณ์ จึงทราบว่า ผู้คนที่มาร่วมกันนี้เป็นตัวแทนของ “สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” มายื่นหนังสือต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ขอการสนับสนุนผลักดันให้รัฐบาลและคนไทยยอมรับและเคารพการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมทั้งเร่งดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามปฏิญญาสหประชาชาติว่า ด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และให้ช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

“สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” (Council of Indigenous People in Thailand) เป็นสภาที่มีสมาชิกของคนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย รวม ๓๘ ชนเผ่า อาทิ กะเหรี่ยง กุย ขมุ คะฉิ่น ของ ดาราอาง ถิ่น ไทเขิน ไทยทรงดำ ไทพวน ไทยวน ไทยอง ไทลื้อ ไทใหญ่ ไตหย่า บรู บีซู ปลัง ญ้อ ญ้อกุร ภูไท มลาบรี มอญ มอแกน มอแกลน มันนิ ม้ง เมี่ยน โย้ย ลาหู่ ลีซู ลาวกา ลาวคั่ง ลาวแง้ว ลาวเวียง ลเวือะ โส้ แสก อาข่า อึมปี อูรักละโว้ย เป็นต้น

สภาแห่งนี้เป็นผลมาจากกระบวนการรวมตัวเพื่อต่อสู้และเรียกร้องสิทธิภาคประชาชนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้โดยกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การรับรองไว้เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๔ และประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไปแล้ว

แท้จริงแล้วการรวมตัวของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี และได้ประกาศให้วันที่ ๙ สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย”

ในปี ๒๕๕๗ ได้มีการจัดสมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย ครั้งที่ ๑ ที่จังหวัดตาก มีมติรับรอง "ธรรมนูญสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย" ที่ถือเป็นกติการ่วมที่สมาชิกต้องปฏิบัติ

และระหว่างวันที่ ๘ – ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ ได้มีการจัดสมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย ครั้งที่ ๒ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ได้มีการสรรหาสมาชิกสภาและจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการสภา

เป้าหมายหนึ่งของข้อเสนอที่มายื่นต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งนี้ คือ การผลักดันให้เกิดกฎหมายว่าสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย ซึ่งได้มีการยกร่างโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายไว้เรียบร้อยแล้ว สาระสำคัญที่ปรากฏในร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมีกลไกหลัก ๔ กลไก คือ สภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย คณะกรรมการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย คณะผู้อาวุโส และสำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย

และมีกองทุนสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย เพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชนเผ่า ตลอดจนส่งเสริม ฟื้นฟู อัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรมอันดีงาม ภูมิปัญญา อาหาร สมุนไพร พันธุ์พืช พื้นที่ทำมาหากิน และโครงสร้างการปกครองตามจารีตประเพณีของกลุ่มประชากร ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย

นับเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าชื่นชมของตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทยครั้งนี้ เพราะเขาได้มายืนยันให้คนไทยและสังคมโลกรู้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเป็นพหุลักษณ์ของผู้คนที่อยู่อาศัยบนพื้นแผ่นดินผืนนี้

และนี่คือความสวยงามของประเทศอันมีนามว่า “ประเทศไทย”

ว่าด้วยเรื่อง “เพศสภาพ”

๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘

“การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ เพศสภาพ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้”

เป็นบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญ ในมาตรา ๓๔ วรรคสาม ฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งมาให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๘

ในวันนั้น ผมรู้สึกดีใจที่พบคำว่า “เพศสภาพ” ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยเหตุผล ๒ ประการ คือ

หนึ่ง เรื่องของ “เพศสภาพ” เป็นเรื่องใหม่สำหรับรัฐธรรมนูญ เพราะหากย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ และปี ๒๕๕๐ จะไม่มีคำนี้ปรากฏอยู่

สอง เรื่องนี้เป็นการผลักดันแรงหนึ่งจากคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส (กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ) สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าไปเป็นทีมงานเลขานุการของ กมธ.ปฏิรูปชุดนี้

ผมจำได้ว่า ข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ ที่เสนอไปให้บัญญัติเรื่อง “เพศสภาพ” ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มี ๒ จุด คือ

จุดแรก ให้บัญญัติไว้ในบททั่วไปในมาตราที่ว่าด้วยขอบเขตความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ โดยเสนอให้บัญญัติว่า “ประชาชนที่อาศัยในประเทศไทย ไม่ว่าเหล่ากำเนิด สีผิว เพศ เพศสภาพ ภาษา ชาติพันธุ์ สัญชาติ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญเสมอกัน”

จุดที่สอง ได้เสนอให้ขยายขอบเขตการไม่เลือกปฏิบัติให้กว้างขวางขึ้น โดยขยายการไม่เลือกปฏิบัติรวมไปถึง “เหตุมาจากความแตกต่างจากเพศสภาพ ชาติพันธุ์ สัญชาติ สีผิว พื้นเพทางชาติหรือสังคมทรัพย์สินการเกิด” เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐ ที่บัญญัติไว้เพียงว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเหตุเพราะความแตกต่างจากถิ่นกำเนิด ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้”

แม้นความเห็นของ กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนำไปบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพียงจุดเดียว ผมก็ยังดีใจ

เหตุผลที่ กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ เสนอไป เพราะเห็นว่าในปัจจุบัน สังคมได้ให้การยอมรับในเรื่องเพศสภาพมากขึ้น แต่ยังไม่เคยบัญญัติรับรองในเรื่องนี้ไว้

และได้ชี้ว่า คำว่า “เพศสภาพ (Gender)” นั้นองค์การอนามัยโลกได้ให้ความหมายไว้ว่าเป็น “คุณลักษณะของผู้หญิงและผู้ชายในบทบาทประกอบสร้างทางสังคม พฤติกรรม กิจกรรมและคุณลักษณะที่ให้สังคมพิจารณาว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง” ในขณะที่คำว่า “เพศ (Sex)” มีความหมายในลักษณะทางชีววิทยาของบุคคล ที่แบ่งเป็นเพศหญิงและเพศชาย แต่เพศภาพมิใช่เป็นเพียงการแบ่งเพศชาย เพศหญิง ทางกายวิภาคและสรีรวิทยาเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการถูกกำหนดโดยสังคมและวัฒนธรรมที่กำหนดความเป็นหญิง-ชาย ความความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทหญิงชาย ลักษณะเฉพาะประจำเพศ (gender stereotype) และความเป็นตัวตนของหญิงชายที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาด้วย

ตัวอย่างเช่น เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ซึ่งมีเพศสภาพที่จะนำไปสู่การกำหนดบทบาทเพศต่าง ๆ มากกว่าเพศหญิงและเพศชายเท่านั้น

อีกไม่นาน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะส่งร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ที่ได้ปรับปรุงภายหลังจากที่รับฟังความคิดเห็นจากกลไกสำคัญในสังคม กลับมาที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ศกนี้

ก็คงลุ้นว่าคำว่า “เพศสภาพ” จะยังคงอยู่หรือถูกตัดทิ้งจากร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจะอยู่หรือถูกตัดทิ้งเรื่องของ “เพศสภาพ” ก็ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยไว้เรียบร้อยแล้ว

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558

อีกก้าวหนึ่งขององค์กรประชาสังคม

๙ สิงหาคม ๒๕๕๘

แม้นจะเป็นวันอาทิตย์ ที่เป็นวันหยุดพักผ่อนของคนส่วนใหญ่ แต่ภายในห้องประชุมชั้น ๓๔ ของตึกเอสเอ็มทาวเวอร์ ที่ตั้งอยู่หน้าสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ สนามเป้า หมู่มวลสมาชิกกลุ่มหนึ่ง เกือบ ๓๐ ชีวิต ได้ใช้เวลาของวันหยุดนี้มานั่งประชุมปรึกษาหารือพูดคุยกันในเรื่องสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรภาคประชาสังคม

และผมก็เป็นคนหนึ่งในหมู่มวลกลุ่มนั้น

เรื่องที่พวกเราพูดคุยกันคือ เรื่อง "การส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม"

เหตุผลสำคัญที่ต้องมาพูดคุยก็คือ รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีพลเอกประยุทธ รสโอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ เห็นชอบต่อ "ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ...." ตามที่รองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นผู้เสนอ

สาระสำคัญของระเบียบฉบับนี้ คือ ให้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม" (คสป.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ มีรัฐมนตรีตัวแทนหน่วยงาน และผู้ทรงวุฒิ ร่วมเป็นกรรมการ

ความสำคัญของกรรมการชุดนี้ คือ การส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชน ชุมชน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ขององค์กรภาคประชาสังคม

และยังรวมถึงเรื่องของการสนับสนุนการศึกษาวิจัย การฝึกอบรม การพัฒนาศักยภาพและธรรมาภิบาลขององค์กรภาคประชาสังคม การจัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคม และการจัดทำนโยบายสาธารณะที่เสนอโดยองค์กรภาคประชาสังคม

ตลอดจนการจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมในการพัฒนาประเทศ การติดตามและประเมินผลและการรายงานผลการดำเนินงาน รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคอีกด้วย

สรุปแบบง่าย ๆ ก็คือ จะมีกลไกระดับชาติที่มาทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็งในการทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของสาธารณะอย่างเป็นระบบ เป็นรูปธรรม ซึ่งแท้จริงแล้วประเทศไทยมีขบวนขององค์กรภาคประชาสังคมที่เข้ามาร่วมอภิบาลและพัฒนางานทางสังคมมาอย่างยาวนาน แต่การทำงานในอดีตนั้นเป็นไปในลักษณะ “การช่วยเหลือกันเอง”

จึงนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของวงการภาคประชาสังคม ที่นับต่อจากนี้ไป ประเทศไทยเราได้กำเนิดกลไกที่มีบทบาทหน้าที่หนุนเสริมองค์กรภาคประชาสังคมเป็นตัวเป็นตนโดยฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ทำคลอด

ผมทราบว่ากว่าที่จะมีมติคณะรัฐมนตรีนี้ออกมา มีพัฒนาการการขับเคลื่อนมายาวนานกว่าเกือบ ๒ ปี ซึ่งผมคิดว่า

"ช่วงเวลาที่ผ่านไปนั้นเกิดผลคุ้มค่าต่อความเหน็ดเหนื่อยทุ่มเทของกลุ่มคนผู้ก่อการดีครั้งนี้ เพราะท่านได้วางปักหมุดวางฐานให้กับกลไกภาคประชาสังคมของประเทศ ที่ถือว่าเป็นกลไกหนึ่งที่มีบทบาทในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากลไกภาครัฐเรียบร้อยแล้ว"

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2558

อาเซียน : ภูมิภาคแห่งความชรา

๘ สิงหาคม ๒๕๕๘

เมื่อสองวันก่อน (๖ สิงหาคม ๒๕๕๘) ได้มีโอกาสไปร่วมเวทีประชุมสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติ ประจำปี ๒๕๕๘ ที่ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ซึ่งทราบว่าจัดมาหลายครั้งแล้ว โดยในปีนี้ได้กำหนดกรอบแนวคิดหลักของงานไว้อย่างทันสมัยว่า “สังคมสูงวัย จะสร้างพลังอย่างไรในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ผมค่อนข้างจะพอรับทราบข้อมูลเรื่องสังคมสูงวัยของประเทศไทยอยู่พอสมควร แต่ไม่เคยรับรู้เลยว่าประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนของเรานี้ แต่ละประเทศมีสัดส่วนของผู้สูงวัยมากน้อยเพียงใด

แต่ในงานนี้ ผมได้พบกับคำตอบเหล่านั้น

คำว่า “สังคมสูงวัย” นั้นหมายถึง “ประเทศที่มีประชากรที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ ๑๐ ของประชากรทั้งประเทศ”

ซึ่งประเทศไทยเรานั้นเข้าสู่สังคมสูงวัย มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ หรือ ๗ ปีล่วงมาแล้ว และคาดหมายกันว่าในอีก ๓ ปีข้างหน้า หรือปี ๒๕๖๔ ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete aged society)” คือ มีจำนวนผู้สูงอายุถึงร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งหมด

และที่น่าตกใจยิ่งขึ้น เมื่อคาดการณ์ว่าในอีกไม่เกิน ๒๐ ปีข้างหน้า หรือปี ๒๕๗๘ จำนวนผู้สูงอายุของไทยเราจะพุ่งไปถึงร้อยละ ๓๐ กลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super aged society)” ในที่สุด นั่นก็หมายความว่า ประชากร ๓ คน จะเป็นผู้สูงอายุ ๑ คน

การเป็นสังคมสูงวัยนั้น ย่อมส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งมิติด้านสุขภาพ ด้านสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ด้านรายได้ อาชีพและเศรษฐกิจ และด้านสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่

ปรากฏการณ์นี้มิได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว เพราะเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่เกือบทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากร และเมื่อหันกลับมามองประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน ภาวการณ์นี้ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

หากเรียงลำดับสัดส่วนผู้สูงอายุของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน จะพบว่า อันดับที่ ๑ เป็นของประเทศสิงค์โปร์ (ร้อยละ ๒๐) อันดับ ๒ คือประเทศไทย (ร้อยละ ๑๕.๘) อันดับ ๓ คือประเทศ เวียดนาม (ร้อยละ ๙.๕) อันดับ ๔ คือประเทศพม่า (ร้อยละ ๗.๕) อันดับ ๕ คือประเทศมาเลเซีย (ร้อยละ ๗.๔) อันดับ ๖ คือประเทศอินโดนีเซีย (ร้อยละ ๗.๑) อันดับ ๗ คือประเทศลาว (ร้อยละ ๖.๙) อันดับ ๘ คือประเทศกัมพูชา (ร้อยละ ๖.๗) อันดับ ๙ คือประเทศบรูไน (ร้อยละ ๕.๗) และอันดับสุดท้ายคือประเทศฟิลิปปินส์ (ร้อยละ ๕.๗) ตามลำดับ

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่ามี ๓ ประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเรียบร้อยแล้ว คือ ประเทศสิงค์โปร์ ไทยและเวียดนาม และคาดว่าในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า อีก ๕ ประเทศก็จะก้าวสู่ประเทศผู้สูงอายุตามมา คือประเทศพม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว และกัมพูชา

โดยอีกไม่เกิน ๓๕ ปี ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะเป็นประเทศสังคมสูงวัยครบทุกประเทศ กลายเป็นภูมิภาคสูงวัย หรือจะเรียกอีกอย่างว่า “ภูมิภาคแห่งความชรา” ก็อาจจะเรียกได้

จึงรู้สึกชื่นชมกับผู้จัดงานสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติในปีนี้ ที่หยิบเรื่องทางสังคมที่สำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในภูมิภาคมาถกแถลงเพื่อการเตรียมพร้อมต่อปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที