วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง (๑)

๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘

“สิบปากว่า ไม่เท่าหนึ่งตาเห็น สิบตาเห็น ไม่เท่าหนึ่งมือคลำ สิบมือคลำ ไม่เท่าหนึ่งทำดู” เป็นสุภาษิตที่ผมจำมาจากที่ไหนไม่รู้ แต่ช่างมีความหมายลึกล้ำจริง ๆ บอกอะไรไว้ในข้อความนั้นมากมายทีเดียว

ผมเป็นพนักงานของ “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ที่เรียกย่อ ๆ ว่า “สช.” ภารกิจหนึ่งขององค์กรนี้คือ การหนุนเสริมให้พื้นที่ชุมชนมีการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม อะไรน่ะ “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” ทำไมฟังแล้วมันช่างเข้าใจยากจัง

ผมก็เห็นด้วยนะ แต่ที่ใช้คำนี้ก็เพราะเห็นเขาใช้กันนะ ผมก็เลยขอใช้บ้าง

แต่หากอธิบายแบบง่าย ๆ เจ้า “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” แท้จริงแล้วก็คือ “ทิศทางที่มีเป้าหมายไปสู่สิ่งที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี โดยเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม” นั่นแหละ

คงพอเข้าใจขึ้นบ้างนะครับ

ที่นี้หากจะให้อธิบายต่อ ก็ต้องบอกว่า เจ้าตัวชื่อยาก ๆ นี้ จุดเริ่มต้นมันมาจากการประชุมของตัวแทนประเทศต่าง ๆ ที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อปี ๒๕๒๙ ก็ประมาณเกือบ ๓๐ ปีที่แล้ว แล้วสรุปว่าหากจะสร้างเสริมสุขภาพประชาชนให้ดีขึ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ การสร้าง “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม”

ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้มานาน แต่ผมคงไม่ขอย้อนไปเล่าว่ามีการขับเคลื่อนอย่างไร แต่ขอบอกว่าเรื่องนี้มาสำเร็จเมื่อปี ๒๕๕๐ มีการประกาศใช้กฎหมายที่ชื่อว่า “พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐” และทำให้เกิดสิ่งใหม่กับสังคมไทย ๕ เรื่อง

๑ ใน ๕ เรื่อง มีเรื่อง “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ” รวมอยู่ด้วย โดยในปี ๒๕๕๒ มีการประกาศใช้ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” พร้อม ๆ กับ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา” ซึ่งนับเป็นธรรมนูญสุขภาพตำบลแห่งแรกของประเทศไทย

หากจะนับกันตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ จนถึงปี ๒๕๕๘ ตอนนี้มีพื้นที่ต่าง ๆ ทำธรรมนูญสุขภาพตำบลมากกว่า ๓๐๐ แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ

ในฐานะที่ผมเป็นพนักงานของ สช. ก็ทำหน้าที่ไปบรรยายให้พื้นที่ต่าง ๆ ฟังว่า ธรรมนูญสุขภาพคืออะไร ทำอย่างไร ดีอย่างไร

แต่บอกตรง ๆ ว่า ไม่เคยทำด้วยตัวเองสักที ได้แต่ครูพักลักจำ ฟังจากชุมชนโน้นเล่าว่าทำแบบนี้ ชุมชนนี้ทำแบบนั้น แล้วไปอธิบายต่อให้ชุมชนที่สนใจฟัง ก็ไม่รู้ว่าผลออกมาดีตามที่ผมเล่าให้ฟังหรือปล่าว

เมื่อเป็นแบบนี้ ใจจึงอยากจะเรียนรู้ของจริง เพื่อทดสอบสมมติฐานจากฟังว่า “มันดีจริงตามที่ฟังหรือปล่าว”

โชคดีมากมาย ที่ไปพบ “คนจิตใหญ่ใจสาธารณะ” เข้า เอ่ยปากชักชวนกันหาพื้นที่ทำ “ธรรมนูญสุขภาพ” กัน ทุกคนสนใจ และอาสายื่นมือยื่นใจเข้ามาช่วย จึงเกิดกลุ่ม “ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง” ขึ้น ชื่อ “ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง” มาจากไหนนะ ฟังแล้วเข้าท่าดี

แย้มนิดหนึ่งว่าทำไมต้อง “ฒ ผู้เฒ่า” และทำไมต้อง “เขาทอง” ก็เพราะ สิ่งที่จะทำนี้จะทำงานเกี่ยวกับ “คนสูงวัย” หรือจะเรียกแบบไม่สุภาพว่า “คนแก่” ก็ไม่ว่ากัน และสถานที่ที่เป็นเป้าหมายก็คือ “ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์” นั่นเอง

จุ๊ จุ๊ เอาไว้แค่นี้ก่อนนะ หากอยากรู้เรื่องต่อต้องติดตามตอนต่อไปว่า แล้วที่เขียนมาทั้งหมดเนี่ยะกำลังจะบอกอะไร

แต่ผมยืนยันว่าเรื่องนี้สนุกแน่นอน

1 ความคิดเห็น: