วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง (๓)

๑ กันยายน ๒๕๕๘

“ธรรมนูญสุขภาพ คืออะไร ?”

เป็นคำถามแรก ๆ ที่ผุดถามขึ้นภายใต้มหาวิทยาลัยต้นมะขาม ณ หน้ากุฏิเจ้าอาวาสวัดเขาทอง ซึ่งเป็นคำถามที่ดีมาก ๆ เพราะเป็นคำถามที่นำไปสู่การกำหนดเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน

หากจะตอบคำถามนี้ คงต้องย้อนกลับไปที่ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่บัญญัติไว้ให้มีการจัดทำ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อเป็นกรอบการพัฒนางานด้านสุขภาพขององค์กรต่าง ๆ ซึ่งคต่อมา ได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” ในปี ๒๕๕๒ และในคำปรารถของธรรมนูญระดับชาตินี้ได้เขียนไว้ว่า องค์กรหรือพื้นที่จะนำแนวคิดนี้ไปจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” ได้

ซึ่งในปี ๒๕๕๒ ก็ได้เกิด “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” ที่ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งนับเป็นธรรมนูญสุขภาพตำบลแห่งแรกของประเทศไทย และในเวลาต่อ ๆ มา ก็เกิดธรรมนูญสุขภาพทั้งระดับอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน รวมทั้งธรรมนูญสุขภาพเชิงประเด็นอีกมากมายนับร้อยแห่ง

และจากประสบการณ์การลงไปเรียนรู้จากพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีการจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” ได้เห็นคนในชุมชนนั้น ๆ ได้ให้ความหมายไว้อย่างกว้างขวาง

บางชุมชนมองเป็นเป้าหมายหรือความฝันร่วม บางชุมชนมองเป็นข้อตกลง กฎ กติกา ร่วมกัน บางชุมชนมองเป็นศีลร่วม ในขณะที่บางชุมชนถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ร่วมของคนในตำบลนั้น

และครั้งล่าสุด ได้มีโอกาสไปคุยกับคนภาคใต้ เขาเรียกธรรมนูญชุมชน ว่าคือ “ชันชี” หรือ “การตกลง หรือสัญญาร่วมกัน”

ฉะนั้นหากให้ผมนิยามความหมายของ “ธรรมนูญสุขภาพ” ก็สามารถให้ความหมายไว้ว่าเป็น “เป้าหมาย ความฝัน ศีล ข้อตกลง กฎ กติกา วิสัยทัศน์ ที่คนในชุมชนอยากเห็น อยากเป็น อยากมี ร่วมกัน อันนำไปสู่การมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี” นั่นเอง

แม้จะมอง “ธรรมนูญสุขภาพ” ของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน แต่มีจุดที่เหมือนกันก็คือ “สิ่งเหล่านั้นต้องเป็นสิ่งที่คนในชุมชนอยากเห็น อยากเป็น อยากมี ร่วมกัน และเห็นว่าสิ่งนั้นจะนำไปสู่การมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน”

ในเวทีครั้งนี้ ผมเน้นย้ำไว้ว่า “ไม่ว่าเราจะเรียกเครื่องมือนี้ว่าอะไรก็ตาม สาระสำคัญที่สุดคือ ธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชุมชนท้องถิ่น เพราะเครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่มีชีวิตและทรงอำนาจมากกว่าเครื่องมือไหนๆ กฎหมายฉบับใดๆ เพราะถูกออกแบบด้วยคนในชุมชนผู้เป็นเจ้าของปัญหา ผ่านการมีเวทีและปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนนำไปสู่การจัดการสิ่งละอันพันละอย่างที่เป็นปัญหาในชุมชนร่วมกัน"

จากความหมายนี้ “ธรรมนูญสุขภาพ” จึงทำงานที่ยึดโยงกับหลักการสำคัญ อย่างน้อย ๔ ประการคือ

หนึ่ง : การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทั้งท้องถิ่น (อบต. เทศบาล) ท้องที่ (ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน) ท้องทุ่ง (สมาคม มูลนิธิ เครือข่าย ชมรม กลุ่มคน) และหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ (โรงเรียน วัด รพ.สต. เกษตรตำบล เป็นต้น)

สอง : ยึดโยงกับรากเหง้าและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนในแต่ละพื้นที่

สาม : ความเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ใช่เป็นของใคร หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ทุกคนต้องจำเป็นต้องใช้ธรรมนูญชุมชนเป็นกรอบในการประพฤติปฏิบัติตัวตามเนื้อหาสาระที่เขียนไว้ในธรรมนูญชุมชน

สี่ : พื้นที่จัดการกันเองเป็นหลัก โดยไม่ต้องรอองค์กรภายนอกมาจัดการให้

และจากการถอดบทเรียนจากพื้นที่ที่มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ จะพบว่ามีปัจจัยแห่งความสำเร็จ ประกอบด้วย

หนึ่ง : ต้องกินได้ และเข้าใจง่าย อันหมายถึง เกิดประโยชน์กับคนในชุมชนนั้น ๆ และเมื่ออ่านแล้วเข้าใจทันที ไม่มีศัพท์แสงทางวิชาการที่ต้องตีความกันหลายตลบ

สอง : มาจากคนในพื้นที่ และเปิดกว้างให้ผู้คนในชุมชนได้เข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตาม ร่วมได้ประโยชน์ ฉะนั้นจึงไม่ควรคัดลอกเนื้อหาสาระมาจากธรรมนูญของพื้นที่อื่นมาใช้ และไม่ควรเชื่อความคิดเห็นจากบุคคลภายนอกที่เสนอให้เป็นแบบโน้นแบบนี้

สาม : การรับรู้เป็นเรื่องสำคัญ จึงควรมีการสื่อสารให้คนในพื้นที่รับรู้อย่างทั่วถึง โดยช่องทาง ๆ ที่เหมาะสมกับคนในชุมชน อาทิ แผ่นพับ ป้ายโปสเตอร์ หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน การรณรงค์ในวาระสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น

สี่ : ปรับปรุง ทบทวนและเพิ่มเติมได้ จึงไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องความสมบูรณ์ในเนื้อหามากนัก เพราะเมื่อใช้ธรรมนูญชุมชนไปสักระยะหนึ่ง ก็นำมาพิจารณาว่าจะปรับปรุง หรือทบทวนธรรมนูญในข้อใดก็ได้ หรืออาจจะขอเพิ่มเติมเนื้อหาบางประการลงไปใหม่ก็ได้ โดยยึดหลักการสำคัญ ๔ ประการข้างต้น

ห้า : มีคนเกาะติด โดยคน ๆ นั้น ควรเป็นคนที่มีจิตสำนึก จิตสาธารณะ จิตอาสา และจิตเข้มแข็ง ในการทำงาน

นี่คือความเป็นมา ความหมาย หลักการและปัจจัยแห่งความสำเร็จของ “ธรรมนูญสุขภาพ” ที่ได้นำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในมหาวิทยาลัยต้นมะขามในวันนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น