วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2558

ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง (๖)

๑๒ กันยายน ๒๕๕๘

ในโอกาสที่ผมได้เข้าไปทำงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ได้เห็นข้อมูลเชิงสถานการณ์ของประเทศไทยเกี่ยวกับ “ผู้สูงอายุ” อย่างเป็นระบบ

โดยพบว่า

ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรมาเป็นลำดับ จนก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีคนที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ในสัดส่วนร้อยละ ๑๐ มานานหลายปีแล้ว

เมื่อ ๒ ปีก่อน ประเทศไทยเรามีผู้สูงอายุราว ๙.๖ ล้านคน หรือร้อยละ ๑๔.๗ และคาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๒๐ หรือกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete aged society) ในปี ๒๕๖๔ และเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสูงสุด (Super aged society) ที่มีผู้สูงอายุร้อยละ ๓๐ ในปี ๒๕๗๘

การเพิ่มจำนวนสูงขึ้นของผู้สูงอายุย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมไทย ทั้งผลกระทบต่อครอบครัว ด้านเศรษฐกิจ ด้านงบประมาณและการคลัง ด้านสังคม ด้านการเมือง และผลกระทบต่อตัวผู้สูงอายุเอง

ผู้สูงอายุไทยมีการศึกษาค่อนข้างน้อย โดยมีเพียงประมาณ ๑ ใน ๑๐ เท่านั้นที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป และการที่ผู้สูงอายุมีการศึกษาน้อยจะเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล บริการด้านสุขภาพและสังคม รวมทั้งโอกาสในการทำงานเชิงเศรษฐกิจตามมา

ด้านสุขภาพผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และมีภาวะทุพพลภาพเพิ่มขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้น

ด้านเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุไทยกว่าครึ่งหนึ่งมีรายได้เฉลี่ยอยู่ในช่วง ๔๐๐ – ๓,๓๐๐ บาทต่อเดือน ต้องพึ่งพิงรายได้จากบุตรหลานและการทำงานเป็นหลักสูงถึงร้อยละ ๘๗ โดยพึ่งพิงรายได้จากเบี้ยยังชีพ เงินบำเหน็จบำนาญ รายได้จากการออมและการลงทุนเป็นหลักมีเพียงร้อยละ ๑๐ และที่สำคัญผู้สูงอายุร้อยละ ๓๑ ไม่มีการเก็บออม และผู้สูงอายุสัดส่วนถึงร้อยละ ๔๒ มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอ

ด้านสังคม ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ให้อยู่ตามลำพัง หรืออยู่กับบุตรหลานเกิดช่องว่างระหว่างวัย ขาดการนำคุณค่าไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางสังคม

ด้านสภาพแวดล้อม พบว่าผู้สูงอายุมักประสบอุบัติเหตุจากการลื่นล้มในบ้าน เพราะไม่มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับวัย

นอกจากนั้น ยังพบอีกว่า ในด้านการมีบุตรนั้นผู้สูงอายุยุคปัจจุบันมีบุตรน้อยกว่าในอดีต และมีแนวโน้มที่จะอยู่อาศัยกับบุตรน้อยลง อยู่กับคู่สมรสและอยู่ตามลำพังเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลงมาก และรวมทั้งการย้ายถิ่นของบุตรที่อยู่ในวัยแรงงานไปทำงานในต่างพื้นที่

คนในรุ่นต่อไปจะยิ่งมีบุตรน้อยลงตามแนวโน้มภาวะเจริญพันธุ์ การหวังพึ่งพาบุตรในการเกื้อหนุนในยามสูงวัยก็จะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

และเมื่อค้นข้อมูลไปที่จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นจังหวัดที่ผมตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ พบว่าในปัจจุบันมีประชากรทั้งสิ้น ๑,๐๗๓,๑๔๒ คน มีประชากรสูงอายุ คิดเป็นร้อยละ ๑๔.๙ ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศ

แต่หากวิเคราะห์รายอำเภอ พบว่าในอำเภอพยุหะคีรี มีประชากรสูงอายุสูงถึง ร้อยละ ๑๘.๓ และเมื่อมองแคบลงไปที่ตำบลเขาทอง เป็นตำบลหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพยุหะคีรี มีประชากรผู้สูงอายุสูงถึง ๑,๕๒๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๐.๓ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวัดและประเทศอย่างมาก

ข้อมูลเหล่านี้ จึงเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งอันนำมาซึ่งโครงการจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ” ในครั้งนี้ โดยหวังว่า จะทำให้คนในตำบลเขาทองตื่นตัวและใช้เป็นเครื่องมือในการเผชิญกับมหันตภัยเงียบที่กำลังถาโถมตำบลผู้สูงอายุอย่างรู้เท่าทันนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น