วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สมัชชาสุขภาพ

๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

หากเอ่ยถึงคำว่า “นโยบาย” ผมเชื่อว่า แวบแรกของความคิดทุกท่านจะนึกถึง นโยบายของนายกรัฐมนตรี ของคณะรัฐมนตรี ของรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ของผู้ว่าราชการจังหวัด และของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งความคิดนั้นก็ไม่ผิดอะไร และยังจำเป็นต้องมี

แต่ปัจจุบันเริ่มมีการยอมรับมากขึ้นต่อ “นโยบาย” ที่มาจากช่องทางอื่น ๆ เช่น มาจากการเจรจาต่อรองของกลุ่ม องค์กรที่รวมตัวกัน แล้วผลักดัน กดดันไปให้กับผู้มีอำนาจยอมรับ เช่น นโยบายจากผู้เสียประโยชน์จากการทำเหมืองแร่ทองคำที่พื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลกและเพชรบูรณ์ หรือนโยบายที่มาจากข้อเสนอของ กรอ. เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังมี “นโยบาย” อีกรูปแบบหนึ่งที่เริ่มขยายวงในสังคมไทย นั่นก็คือ นโยบายที่มาจากการปรึกษาหารือกันของคนที่มาจากทุกภาคส่วน เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งในวงการสุขภาพเรียกนโยบายแบบนี้ว่า “นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม”

นโยบายแนวนี้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติว่าสามารถใช้เป็นยุทธศาสตร์เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีของมนุษย์ได้ จนมีการประกาศให้เป็นกลยุทธ์หนึ่งในกฎบัตรออตตาวา เมื่อปี ๒๕๒๙

สำหรับประเทศไทยเรา เครื่องมือหนึ่งที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับ “นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” ก็คือ “สมัชชาสุขภาพ” โดยได้มีการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ ว่าเป็น “กระบวนการที่ใหประชาชนและ หนวยงานของรัฐที่เกี่ยวของไดรวมแลกเปลี่ยนองคความรูและเรียนรู อยางสมานฉันท เพื่อนําไปสูการเสนอแนะนโยบายสาธารณะ เพื่อ สุขภาพหรือความมีสุขภาพของประชาชน โดยจัดใหมีการประชุมอยาง เปนระบบและอยางมีสวนรวม”

และได้แบ่งสมัชชาสุขภาพ ว่ามี ๓ ประเภท คือ

หนึ่ง สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ เช่น สมัชชาสุขภาพหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด เป็นต้น

สอง สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เช่น สมัชชาสุขภาพว่าด้วยผู้สูงอายุ เด็กปฐมวัย หรือเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

สาม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นกระบวนการที่ทำกันในระดับชาติ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้จัดเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง

สำหรับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อยากบอกว่าได้มีการจัดกันมาอย่างต่อเนื่องภายหลังจากประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ รวม ๙ ครั้ง และในปีนี้จะจัดเป็นครั้งที่ ๑๐ ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๐

และในปีนี้มีประเด็นสำคัญที่ถูกกำหนดเป็นระเบียบวาระที่จะให้สมาชิกจากทุกภาคส่วนราว ๑,๕๐๐ คน ไปร่วมแสดงความคิดเห็น รวม ๔ เรื่อง คือ

หนึ่ง การส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น

สอง ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

สาม การพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา

สี่ การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

โดยทั้ง ๔ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มาจากภาคีเครือข่ายเป็นผู้เสนอ มิใช่เกิดจากผู้จัดการประชุม

กระบวนการหนึ่งที่ทางผู้จัดได้ออกแบบไว้ คือการเตรียมตัวของพื้นที่ทั่วประเทศก่อนที่จะเดินทางไปเข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเดือนธันวาคมนั้น โดยสนับสนุนให้แต่ละจังหวัดจัดเวทีปรึกษาหารือและแสดงความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่เรียกว่า “ร่างมติ”

สำหรับจังหวัดนครสวรรค์ ได้ดำเนินการเช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ โดยได้จัดประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่โรงแรมบ้านสวนรีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งผมได้มีโอกาสไปร่วมเวทีและได้ทำความเข้าใจที่มาที่ไปให้กับผู้เข้าประชุมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ อปท. ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวาระทั้ง ๔ ประมาณ ๖๐ คนด้วย

ผลการประชุมเป็นที่น่าดีใจว่ามีข้อสรุปจากที่ประชุมที่แตกต่างจากร่างเอกสารที่สำคัญในหลายประเด็น และข้อสรุปเหล่านี้จะถูกจัดส่งไปให้กับผู้จัด พร้อมทั้งจะมอบให้ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนคนนครสวรรค์ จำนวน ๑๒ คน นำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกจากองค์กร หน่วยงานและจังหวัดอื่น ๆ ในวันประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป

ในมุมมองของผมนอกจากจะนำเสนอให้ผู้อ่านทราบว่า ประเทศไทยเรามีความก้าวหน้าไปมากสำหรับกระบวนการพัฒนานโยบาย มีการเปิดกว้างให้ทุกกลุ่มคนบนผืนแผ่นดินไทยเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ยังอยากจะชี้ให้เห็นว่าเครื่องมือที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพ” เป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนานโยบายในระดับกลุ่มคน องค์กร ชุมชน ตำบล จังหวัดได้

ถือเป็นเครื่องมือที่ปลดล็อคปัญหาเดิม ๆ ที่มักจะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอว่า “นโยบายนี้ขาดการมีส่วนร่วม” ได้ดีทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น