วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ขบวนองค์กรชุมชน

๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

เป็นอีกความรู้หนึ่งที่ได้รับจากการไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนยุทธศาสตร์ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมเทศบาลนครนครสวรรค์

ความรู้ที่ผมกำลังกล่าวถึงก็คือ ความรู้เกี่ยวกับกลไกที่ชื่อ “ขบวนองค์กรชุมชน” ได้รู้ว่าเป็นกลไกที่พัฒนาต่อยอดมาจากกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม หรือ Social Investment Fund หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า กองทุน SIF นั่นเอง

กองทุน SIF เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ซึ่งในช่วงนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตก มีผู้คนตกงานกลับคืนถิ่นสู่ชนบทราวสองล้านคน เกิด NPL ภาวะหนี้สิน ๒.๘ ล้านล้านบาท การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้วิกฤติเป็นโอกาส ซึ่งทำให้รัฐบาลตัดสินใจ กู้เงินจากธนาคารโลก (World Bank) โดยเฉพาะกองทุน SIF กู้มา ๑๒๐ ล้านเหรียญ หรือราว ๔,๘๐๐ ล้านบาท ระยะเวลา ๔๐ เดือน ตั้งแต่มกราคม ๒๕๔๒ ถึงเมษายน ๒๕๔๕

การสิ้นสุดการดำเนินงานตามเป้าหมายของกองทุน SIF ไม่ได้ทำให้กลุ่มคนที่ขับเคลื่อนในครั้งนั้นสิ้นสุดตามไปด้วย พวกเขายังรวมตัวกันทำงานขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนมาโดยตลอด ซึ่งมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ให้การหนุนเสริมขบวนนี้มาอย่างต่อเนื่อง

ภารกิจสำคัญที่ขบวนองค์กรชุมชนนี้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง คือ การสร้างระบบสวัสดิการชุมชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งสภาองค์กรชุมชน พัฒนาระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชน การบำรุงรักษา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ รวมทั้งการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน

ผมได้ให้มุมมองต่อเวทีที่มีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคท้องถิ่นและภาคประชาชนไปในหลายประเด็น อาทิ

ความเป็นสถาบันของคำว่า “ชุมชน” ที่มีตัวตนชัดเจนมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ซึ่งเริ่มมีการเขียนคำว่า “ชุมชน” ไว้ในรัฐธรรมนูญ และคำนี้ก็ปรากฏเรื่อยมาในรัฐธรรมนูยฉบับปี ๒๕๕๐ และฉบับปี ๒๕๖๐

โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ ๒๕๖๐ ในมาตรา ๔๓ บัญญัติให้ชุมชนมีสิทธิ ถึง ๔ ประการ ได้แก่

(๑) มีสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ

(๒) มีสิทธิในการจัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

(๓) มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดําเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือชุมชน หรืองดเว้นการดําเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

(๔) มีสิทธิจัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชี้ให้ที่ประชุมเห็นคือ ในร่างยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ ปี ที่มี ๖ ยุทธศาสตร์ และหากไปดูยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ก็จะพบว่าในมาตรการที่ ๓.๕.๕ กำหนดไว้ว่าให้มีการส่งเสริมให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะดีในทุกพื้นที่ โดยให้ชุมชนเป็นแหล่งบ่มเพาะจิตสำนึกการมีสุขภาพดีของประชาชนผ่านการจัดการความรู้ด้านสุขภาพที่เป็นประโยชน์ และสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างสุขภาวะที่พึงประสงค์ระหว่างกันโดยรัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้กำกับที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกให้ชุมชนสามารถสร้างการมีสุขภาพวะดีของตนเองได้ เช่น ให้ความรู้ สนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นในการจัดการสุขภาวะแก่ประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น เพื่อให้ชุมชนเป็นพื้นที่สำคัญในการจัดการสุขภาวะของแต่ละพื้นที่ ฉะนั้น การขับเคลื่อนขบวนองค์กรชุมชนที่จังหวัดนครสวรรค์ กำลังดำเนินการกันอยู่จึงเป็นการทำตามรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดบัญญัติไว้และยังสอดคล้องกับทิศทางที่กำหนดไว้ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี อีกด้วย

นอกจาก ๒ เรื่องดังกล่าวแล้ว ผมยังได้ชี้ให้เห็นถึงแนวคิดเรื่อง “การอภิบาล” ให้ที่ประชุมเห็นบทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนสังคมอยู่ในขณะนี้ว่ามาจากแนวคิดการอภิบาลที่มีความหมายว่า

“การปฏิสัมพันธ์กันของภาครัฐ องค์กรสาธารณะต่าง ๆ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ความท้าทายต่าง ๆ ในสังคมและสร้างสรรค์โอกาสใหม่ ๆ”

ฉะนั้น การอภิบาลในความหมายนี้คือเป็นทำงานที่เต็มไปด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน โดยเล็งเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ มุ่งหวังให้ทุกคนได้รับประโยชน์สูงสุดและมีความสุข

โดยในประเด็นหลังนี้ ผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวคิด “ประชารัฐ” ที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้

ฉะนั้น นอกเหนือจากความดีใจที่ได้ความรู้ใหม่จากเวทีดังที่กล่าวไปแล้ว ยังทำให้ผมเห็นกลไกสำคัญที่สามารถนำมาเชื่อมโยงการทำงานกับภารกิจของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อันเป็นองค์กรที่ผมทำงานอยู่ได้ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ หรือ “กองทุนสุขภาพตำบล”

เพราะภายใต้ขบวนองค์กรชุมชนนี้ภาคกิจหนึ่งคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับสภาองค์กรชุมชนในแต่ละพื้นที่ ฉะนั้น กลไกสภาองค์กรชุมชนจึงถือเป็นกลไกสำคัญที่จะเข้าไปร่วมขับเคลื่อนงานกองทุนสุขภาพตำบลให้เดินหน้าสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชนในระดับชุมชนได้เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น