วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สังคมชราภาพ

๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

ผมขึ้นจั่วหัวแบบนี้เพื่อต้องการบอกว่า ประเทศไทยเราเป็นแบบนั้นจริง ๆ เพราะขณะนี้มีคนที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปี ร้อยละ ๑๗ ซึ่งในวงวิชาการเขาบอกว่า หากประเทศใดมีคนที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ ๑๐ เขาเรียกว่า “สังคมสูงวัย” หรือ "สังคมชราภาพ" ที่ผมใช้เป็นชื่อเรื่องในวันนี้

การเป็นสังคมสูงวัยหรือสังคมชราภาพนี้ แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยหรอก เพราะเรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

มีข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ที่เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้คาดการณ์ตัวเลขประชากรของโลกที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก ๙๐๑ ล้านคน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็น ๑.๐๔ ล้านล้านคน ในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ และจะเพิ่มขึ้นเป็น ๒.๑ ล้านล้านคน ในปี พ.ศ. ๒๕๙๓

มองแคบเข้ามาดูข้อมูลของประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน ก็พบว่ากำลังเผชิญกับความเป็นสังคมสูงวัยเช่นเดียวกัน โดยองค์การสหประชาชาติได้รายงานไว้ในปีเดียวกันว่า ประชากรทั้งหมดในภูมิภาคนี้มีจำนวน ๖๓๑.๘๖ ล้านคน มีประเทศถึง ๓ ประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ ๑๐ หรือเป็นประเทศที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม และคาดว่าประเทศสมาชิกอาเซียนอีก ๕ ประเทศ จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุภายใน ๑๐ ปีข้างหน้า และจะเข้าสู่สังคมสูงอายุครบทุกประเทศในปี พ.ศ. ๒๕๘๓

สำหรับประเทศไทย ดังที่กล่าวไว้แต่ต้นแล้วว่าขณะนี้ มีผู้สูงอายุอยู่ร้อยละ ๑๗ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ในอีก ๕ ปี ข้างหน้า ประเทศไทยเราจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ หรือมีประชากรสูงอายุเท่ากับร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งหมด อันหมายความว่า มีคนเดินผ่านเรา ๕ คน จะเป็นคนแก่ ๑ คน นั่นเอง

การที่ประเทศไทยเราเข้าสู่ประเทศที่มีโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุมากแบบนี้ นับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในด้านทางตรงและทางอ้อม เพราะจะมีขนาดของกำลังแรงงานลดลง เป็นปัจจัยถ่วงให้ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง ทำให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวช้าลง และทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจ จำเป็นต้องพึ่งพิงอุปสงค์จากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ขีดความสามารถในการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการยกระดับการพัฒนาประเทศลดลง ทำให้ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น ในขณะที่ขีดความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐลดลง

ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ คือข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ได้เก็บข้อมูลพร้อมกันทั่วประเทศในปี ๒๕๕๗ โดยการสัมภาษณ์สมาชิกในครอบครัวจากครัวเรือนตัวอย่าง จำนวน ๘๓,๘๘๐ ครัวเรือน พบว่า

• ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวตามลำพังในครัวเรือนมีกว่าร้อยละ ๑๐.๔

• หนึ่งในสามของผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (เส้นความยากจนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ เท่ากับ ๒๙,๐๖๔ บาทต่อคนต่อปี) และบุตรยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุโดยประมาณ ๔ ใน ๕ ของผู้สูงอายุทั้งหมดได้รับการเกื้อหนุนทางการเงินจากลูก เกือบครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุยังมีรายได้จากการทำงาน มีเพียง ๑ ใน ๓ ของผู้สูงอายุมีรายได้จากเงินออมหรือการถือครองทรัพย์สิน

• มีผู้สูงอายุมากกว่า ๔ ใน ๕ ได้รับเบี้ยยังชีพและมีผู้สูงอายุไม่ถึง ๑ ใน ๑๐ ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญจากรัฐบาล

• มีผู้สูงอายุที่ยังคงต้องทำงานอยู่ราว ๓.๕ ล้านคน (ร้อยละ ๓๖) โดยงานที่ทำส่วนใหญ่เป็นงานนอกระบบ อาทิ การเกษตร ประมง งานฝีมือ เป็นต้น

และหากมองในมิติด้านสุขภาพ จากข้อมูลในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ก็พบว่า

• ผู้สูงอายุยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ความเสื่อมถอยของสุขภาพและพันธุกรรม

• ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรัง ๕ อันดับแรก ได้แก่ (๑) ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง (๒) เบาหวาน (๓) เก๊าท์ รูมาตอยด์ ปวดเข่า หลัง คอ เรื้องรัง (๔) หัวใจ และ (๕) อัมพฤกษ์ อัมพาต

• ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่องมีจำนวนมาก ผู้สูงอายุที่อายุ ๖๐ – ๗๙ ปี ไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ร้อยละ ๗.๗ อายุ ๘๐ – ๘๙ ปี ไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ๑๐.๑ และอายุ ๙๐ ปีขึ้นไป ไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ร้อยละ ๑๖.๓ เหตุผลที่ผู้สูอายุไม่เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องคิดว่าโรคที่เป็นอยู่นั้นไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผล เดินทางที่ไม่สะดวก ไม่มีเวลา ไม่มีผู้พาไป ไม่มีค่ารักษาพยาบาล ไม่มีค่าพาหนะในการเดินทาง

สถานการณ์ด้านสังคม วัฒนธรรม ก็พบว่าวิถีชีวิต ความสัมพันธ์ของคนในสังคมก็ต่างไปจากอดีต ขนาดครัวเรือนไทยมีแนวโน้มเล็กลง ผู้สูงอายุอยู่อาศัยเพียงลำพังเพิ่มมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ผู้สูงอายุอยู่อาศัยเพียงคนเดียวร้อยละ ๓.๖ ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ สูงขึ้นเป็นร้อยละ ๖.๓ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ร้อยละ ๗.๗ ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ร้อยละ ๘.๖ และปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นร้อยละ ๑๐.๔ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการย้ายถิ่นของบุตรเพื่อไปทำงานในเขตเมืองมากขึ้น

จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผมยกมาข้างต้นนี้ ผมอยากตั้งเป็นคำถามเพื่อชวนกันคิดว่า เราจะทำอย่างไรกันดีกับแนวโน้มของการเป็นสังคมชราภาพนี้

เราจะปล่อยไปเฉย ๆ ให้เป็นหน้าที่ขององค์กรรัฐเขาจัดการ หรือเราต้องเข้ามาช่วยกันออกแบบระบบและกลไกต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่กำลังคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็ว

หากปล่อยเฉยไป ผมอยากเตือนด้วยหัวใจแห่งความปรารถนาดีว่า เรื่องนี้ไม่ใช้เรื่องไกลตัวคุณเลย เพราะเรื่องของอายุเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเพิ่มขึ้นทุกวัน วันหนึ่งคุณและคนที่คุณรักทุกคนก็จะกลายเป็นคนแก่ แต่จะแก่แบบไหนนั้น เราสามารถออกแบบได้ แต่เราต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่วันนี้

............................................

บทความนี้เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของนครสวรรค์ เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น