๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
“เด็กคืออนาคตของชาติ” คำกล่าวนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนคงยอมรับและเห็นด้วย เพราะพวกเขาจะเติบโตขึ้นมาทำหน้าที่พัฒนาชาติ ต่อจากเราที่ค่อย ๆ ล้มหายตายจากไปตามวัฏฏสังสารที่เที่ยงแท้
วันนี้ผมหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเขียนเนื่องจาก ได้พบข้อมูลว่าทุกประเทศทั่วโลกก็ต่างมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็ก จนธนาคารโลกได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะสนับสนุนให้การพัฒนาเด็กต้องทำในลักษณะองค์รวมทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญาและสังคม นอกจากนั้นในรายงานการวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ของเจมส์ เจ เฮ็กแมน (James J Heckman) ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย พบว่าอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนมีค่า ๗-๑๒ เท่า หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนภายใน ร้อยละ ๑๐ ต่อปี นับได้ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก
เด็กที่เรียกว่า “เด็กปฐมวัย” (ตั้งแต่แรกเกิดถึง ๕ ปีแรก) เป็นช่วงที่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และรับประสบการณ์ใหม่ เนื่องจากระบบประสาทและสมองกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและสร้างใยประสาทเชื่อมประสานกันระหว่างเซลล์สมองทำให้เกิดการเรียนรู้และส่งผ่านข้อมูล การเจริญเติบโตทางกายภาพของสมองในลักษณะดังกล่าวจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ
แต่ปัจจุบันการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยของครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก จากการเลี้ยงดูในครอบครัวจนถึงวัยเรียน สู่การส่งบุตรหลานเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยหวังให้เด็กได้รับการดูแลส่งเสริมพัฒนาการจากผู้ดูแลหรือครูพี่เลี้ยง สถานรับเลี้ยงเหล่านี้จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งมอบภาระการดูแลเด็กปฐมวัยให้เติบโตเพื่อเป็นคนดี มีคุณภาพ ถัดจากสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินชีวิตของเด็ก
จากรายงานสถานการณ์สุขภาวะเด็กไทย พบว่า เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักต่ำกว่า ๒,๕๐๐ กรัม จะส่งผลให้เด็กมีระดับไอคิวต่ำกว่าปกติ เด็กจะมีภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อง่าย ป่วยนาน หายช้าและรุนแรง ในขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า ๒ ปีที่ขาดสารอาหาร เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะมีโอกาสป่วยด้วยโรคเรื้อรังได้มากกว่าเพราะการพัฒนาอวัยวะยังไม่สมบูรณ์ ทำให้การเผาผลาญอาหารลดลง ปัญหาสุขภาพต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียนจะส่งผลทำให้ร่างกายไม่สมส่วน มีภาวะเตี้ยหรือค่อนข้างเตี้ย สำหรับเด็กที่มีภาวะอ้วนจะส่งผลเสีย ดื้ออินซูลิน อาจทำให้เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ นอนกรน หยุดหายใจขณะนอบหลับ ทำให้สมองขาดออกซิเจน หลับไม่สนิท มีผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ล่าช้า
หากมองเข้ามาดูสถานการณ์สุขภาวะเด็กปฐมวัย ในเขตสุขภาพที่ ๓ (จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาทและอุทัยธานี) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบปัญหาสำคัญ ได้แก่ ภาวะเด็กอ้วน ภาวะเด็กเตี้ยหรือสูงไม่สมส่วน และพัฒนาการล่าช้า
จึงเป็นที่น่าดีใจที่เมื่อวันที่ ๑๕ – ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเวที “สมัชชาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๓” ที่โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ สปาและรีสอร์ท จังหวัดนครสวรรค์ ในเวทีวันนั้นได้หยิบยกประเด็นเรื่องของ “การเสริมสร้างสุขภาวะเด็กปฐมวัยอย่างมีส่วนร่วมเชิงสร้างสรรค์” มาพูดคุยกัน และได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายให้มีการขับเคลื่อน รวม ๖ ข้อ คือ
หนึ่ง เสนอให้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันครอบครัวผู้ดูแลเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยทุกคนในเขตสุขภาพที่ ๓ มีความรู้ความสามารถและทักษะพื้นฐานที่ดีในการดูแลให้ความรัก ความอบอุ่นแก่เด็กปฐมวัย ด้วยการฝึกทักษะการดูแลเด็กปฐมวัยที่บ้าน (home-based skill development programs)
สอง เสนอให้มีนโยบายการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (child center-based Programs) โดยมอบให้หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือเรียกชื่ออื่นๆ จัดให้มีกลไกการขับเคลื่อนและสร้างกระบวนการของการพัฒนาการเรียนรู้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยในสถานบริการให้ครอบคลุมในมิติสุขภาวะทางกาย ทางจิต ทางสติปัญญา และทางสังคม ตลอดจนยกระดับศักยภาพของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในการดูแลพัฒนาการเด็กปฐมวัย เช่น พี่เลี้ยงเด็ก ครูอนุบาล อาสาสมัครดูแลเด็ก และบุคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สาม เสนอให้มีนโยบายการดูแลสุขภาวะเด็กปฐมวัยในระบบบริการสาธารณสุข โดยกำหนดให้สุขภาวะเด็กปฐมวัย เป็น ๑ ในวาระสุขภาพสำคัญที่ต้องเร่งรัดให้บรรลุความเป้าหมายของตัวชี้วัดผลงานตามแผนยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี ด้านสาธารณสุข โดยมีกลไกการกำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในประเด็นสำคัญ ๓ เรื่อง ได้แก่ ภาวะเด็กอ้วน ภาวะเตี้ย และพัฒนาการล่าช้า
สี่ เสนอให้มีนโยบายการดูแลสภาพแวดล้อมชุมชนที่เอื้อต่อสุขภาวะเด็ก โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ทุกระดับ มีบทบาทและหน้าที่ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมชุมชนที่เอื้อต่อสุขภาวะเด็ก เช่น จัดให้มีสถานที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่เหมาะสม มีแผนพัฒนาระดับท้องถิ่นรองรับ มีการวางแผนและพัฒนาสภาพแวดล้อมชุมชนที่เอื้อต่อสุขภาวะเด็กปฐมวัยโดยได้รับคำปรึกษาทางวิชาการจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้การพัฒนามีประสิทธิภาพที่ดี
ห้า เสนอให้ตั้งศูนย์ประสานการพัฒนาเด็กปฐมวัยเขต ๓ ทำหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนร่วมกัน
ข้อเสนอทั้ง ๕ ข้อนี้จะเกิดผลจริงได้ ประชาชนทุกคนในเขต ๓ ทั้ง ๕ จังหวัด นี้ต้องร่วมมือกัน จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้
เรามาร่วมกันสร้างชาติด้วยการให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัยกันเถอะ
...............................................................
หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น