วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ขุมทรัพย์ในชุมชน

๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

หากไปดูคำนิยามของคำว่า “ขุมทรัพย์” จะพบว่ามีคนให้ความหมายไว้อย่างหลากหลาย อาทิ เป็น “ทรัพย์สมบัติ” บ้าง เป็น “ของมีค่า” บ้าง เป็น “สิ่งที่ล้ำค่า” บ้าง และรวมถึง เป็น “บุคคลที่มีคุณค่าสูง” “สงวนไว้เป็นของล้ำค่า” “ตราตรึงอยู่ในความทรงจำด้วยความรัก” และ “เก็บรักษาไว้” “สะสม” ด้วย

ซึ่งจากคำนิยามนี้ คำว่า ขุมทรัพย์ นั้นอาจจะเป็นคน หรือ สัตว์ หรือ สิ่งของ หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมก็ได้

วันนี้ผมขอหยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็น และอยากจะชี้ว่าในชุมชนทุกชุมชนมีขุมทรัพย์อยู่ก้อนหนึ่ง เป็นขุมทรัพย์เพื่อการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน

ใช่แล้วครับผมกำลังกล่าวถึง “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” หรือเรียกกันย่อ ๆ ว่า “กองทุนสุขภาพตำบล”

กองทุนสุขภาพตำบล เป็นขุมทรัพย์ที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๔๗ ที่กำหนดให้มีการสร้างหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่

เป็นขุมทรัพย์สำหรับการดูแลสุขภาพคนในแต่ละชุมชน ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค การรักษาพยาบาลโดยเน้นไปที่ระดับปฐมภูมิ และการฟื้นฟูสภาพ โดยยืนอยู่บนหลักการสำคัญของการ “มีส่วนร่วม” ใน ๓ ประการ

ประการแรก เป็นการมีส่วนร่วมในเรื่องของเงิน เพราะเงินที่ถูกนำมาใช้จ่ายมาจากการมีส่วนร่วมระหว่างงบประมาณของรัฐบาลที่จัดสรรผ่านมาทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมทบกับงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โดยงบประมาณในส่วนที่จัดสรรผ่าน สปสช. ในปีปัจจุบันจัดสรรในอัตรา ๔๕ บาทตัวประชากรหนึ่งคน นั่นหมายความว่า หากตำบลนั้นมีประชากร ๑๐,๐๐๐ คน ทาง สปสช. จะจัดสรรเงินไปให้กับตำบลนั้น ๔๕๐,๐๐๐ บาท แล้วไปสมทบกับงบของ อปท. อีก ระหว่างร้อยละ ๓๐ – ๖๐ ของเงินที่ สปสช.จัดสรรให้ไป ทั้งนี้เป็นไปตามขนาดของ อปท.นั้น ๆ

ประการที่สอง เป็นการมีส่วนร่วมในระดับกลไกบริหารกองทุน ที่ออกแบบให้มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนในชุมชนทั้งภาครัฐและท้องถิ่น ภาควิชาการและภาคประชาชน เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารกองทุนนี้

ประการที่สาม เป็นการมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณ โดยกองทุนนี้จะเปิดกว้างให้หน่วยงาน องค์กร กลุ่มและเครือข่าย อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) วัด โรงเรียน องค์กรภาคประชาชน ทั้งที่เป็นนิติบุคคลไม่ไม่เป็นนิติบุคคล เข้ามาของบประมาณจากกองทุนนี้ไปดำเนินงานเพื่อการดูแลสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน

หลักการจัดการกันเอง เป็นอีกหลักการหนึ่งที่นำมาใช้เป็นฐานในการบริหารจัดการกองทุนนี้ หมายถึงบทบาทการพิจารณาโครงการ การอนุมัติโครงการ การติดตามความก้าวหน้า ตลอดจนการประเมินผลโครงการและการเบิกจ่ายงบประมาณ เป็นบทบาทของคณะกรรมการกองทุน โดยมีหน่วยงานสาธารณสุขระดับอำเภอและจังหวัดคอยเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำและให้คำปรึกษา

กองทุนนี้ ยังกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าต้องสนับสนุนการดำเนินงานต่อศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ หรือศูนย์ที่เรียกชื่ออื่นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ เป็นจำนวนเงินที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑๕ เพื่อสร้างความมั่นใจว่ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ

นอกจากนั้นยังสามารถนำเงินจากกองทุนนี้ไปแก้ไขปัญหาในกรณีที่เกิดอุบัติภัยหรือโรคระบาดในชุมชนได้อีกด้วย โดยเสนอให้กรรมการกองทุนพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการ

ปัจจุบันนี้มีกองทุนครอบคลุมถึงร้อยละ ๙๙.๓ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาลและ อบต. ทั้งหมด มีงบประมาณที่รวมทั้งของรัฐบาลที่โอนผ่าน สปสช. กับส่วนที่ อปท. สมทบ ประมาณ ๗ พันล้านบาท

ในปีหนึ่ง ๆ จะมีการเบิกเงินจากกองทุนนี้ไปดูแลสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัยในชุมชน นับหมื่นโครงการ และยังมีเงินคงเหลืออยู่มากพอสมควร

ปัญหาการดำเนินงานย่อมมีเป็นธรรมดา ซึ่งประเด็นที่ผมได้ยินได้ฟังอยู่บ่อย ๆ ก็คือ ปัญหาความยุ่งยากในการใช้เงินจากกองทุนนี้ ปัญหาการกลัวการตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ ปัญหาด้านศักยภาพการพัฒนาโครงการ เป็นต้น

ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนแก้ไขได้ ถ้าได้ทำการศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งหากมองในเชิงระบบ ก็สามารถตอบได้ว่าเป็นการออกแบบระบบการทำการเพื่อการสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้นั่นเอง

ผมอยากส่งเสียงดัง ๆ มายังทุกหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มคน เครือข่ายที่ทำงานด้านสุขภาพที่สนใจการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน ลองศึกษาและเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขุมทรัพย์ขุมนี้กัน

เพราะขุมทรัพย์ที่ชื่อ “กองทุนสุขภาพตำบล” นี้ เป็นของคนไทยทุกคน รวมทั้งตัวคุณด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น