วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

โลกของกาแฟ

๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

อย่าเข้าใจผิดครับ ว่าผมจะเขียนเรื่อง “กาแฟ” ที่เป็นเครื่องดื่มที่มนุษย์จิบตอนเช้า เพราะผมไม่มีความรู้เรื่องกาแฟในคำนิยามนี้เลย เพียงแค่สั่งเป็น เอสเปรสโซบ้าง คาปูชิโนบ้าง อเมริกาโนบ้าง ก็เท่านั้น

แต่เรื่องที่ผมกำลังชวนให้ทุกท่านได้เข้าไปสัมผัสคือ เครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ใช้ฐานใจเป็นฐานใจในการพูดคุย

ใช่แล้วครับ ผมกำลังกล่าวถึง “เวิล์ดคาเฟ่” หรือ World Café’ ที่โด่งดังในประเทศไทยเมื่อสักสิบปีก่อน

เหตุผลที่ผมหยิบเรื่องนี้มาบอกเล่าก็เนื่องจาก ผมเพิ่งกลับจากเวทีที่นำเอากระบวนการนี้มาใช้ โดยผู้จัดเชิญ “ผม” ไปเป็นผู้ดำเนินการ

ผมได้รับการประสานจากน้องผู้จัดและกำหนดว่าให้ทำกระบวนการด้วย World Café’ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่พอมีทุนอยู่บ้างเลยรับปากไป ผมนำมาขบคิดถึงการออกแบบเวทีกับโจทย์ที่ค่อนข้างยากท่ามกลางผู้เข้าร่วมเวทีที่มีทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน

และสิ่งที่ผมคิดว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด ผมจึงเล่าที่มาที่ไป และฐานคิดของเครื่องมือนี้ให้กับผู้เข้าประชุมได้รับทราบและเรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยหวังว่าหากมีท่านหนึ่งท่านใดสนใจจะได้นำไปปรับใช้อย่างถูกต้อง

…………………………………………………..

ย้อนกลับไปในเช้าอรุณรุ่งวันหนึ่งของเดือนมกราคม ๑๙๙๕ ณ บริเวณบ้านหลังหนึ่งใน “มิล วาเล่ย์” รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นวันที่สองของการนัดหมายคนจำนวนสองโหลที่ล้วนเป็นผู้บริหารบริษัท นักวิจัยและที่ปรึกษาจาก ๗ ประเทศ จะมาพบและสนทนากันด้วยเรื่อง “ทุนทางปัญญา”

ผู้รับผิดชอบการประชุม คือ “เดวิด ไอแซคส์” และ “ฆวนนิต้า บราวน์” ค่อนข้างวิตก เพราะในเช้าวันนั้นเกิดฝนตก ทำให้ยังมีผู้ที่ยังเดินทางมาไม่ถึงที่ประชุม

พลันความคิดหนึ่งก็เกิดขึ้นว่า “น่าจะจัดโต๊ะในห้องนั่งเล่น แล้วให้แต่ละคนที่มาถึงดื่มกาแฟไปพลางก่อน” จึงรีบจัดแจงตามความคิดนั้น

ผู้เข้าประชุมคนหนึ่งเสนอว่า “น่าจะเปลี่ยนผ้าปูโต๊ะ” จึงช่วยกันเอากระดาษขาวมาคลุมโต๊ะ ในขณะที่บางคนนำแจกันดอกไม้มาวางบนโต๊ะ ส่วนอีกคนหนึ่งนึกสนุกจึงเขียนป้ายกระดาษว่า “โฮมสเตคคาเฟ่” ไปติดไว้ที่หน้าร้าน

เมื่อทุกคนมาถึงต่างก็แปลกใจกับบรรยากาศที่จัดเตรียมไว้ ต่างเดินไปหยิบกาแฟแล้วเดินมานั่งตามโต๊ะ ๆ ละ ๔ – ๕ คน ช่วยกันขบคิดถึงคำถามที่ค้างมาจากเมื่อวาน บางคนเริ่มจดอะไรขยิกขยิกบนผ้าปูโต๊ะ ผู้จัดทั้งสองเมื่อเห็นภาพดังนั้น จึงช่วยกันกล่าวกระตุ้นให้ผู้ร่วมวงคิดต่อ

จนสี่สิบห้านาทีผ่านไป ผู้เข้าประชุมคนหนึ่งลุกขึ้นยืนพร้อมกับกล่าวว่า “ผมชอบจังที่ได้เห็นบรรยากาศแบบนี้ แต่อยากรู้จังว่ากลุ่มอื่นคิดอะไรกัน ทำไมเราไม่ปล่อยให้เราเอาเมล็ดพันธุ์ทางความคิดของกลุ่มเราไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นบ้างล่ะ”

ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นข้อเสนอที่ดี จึงดำเนินการตามข้อเสนอนั้น โดยมอบให้สมาชิกคนหนึ่งทำหน้าที่เจ้าบ้านคอยเล่าให้สมาชิกกลุ่มอื่นที่มาใหม่ฟัง

การสนทนารอบนี้ใช้เวลาไปอีกหนึ่งชั่วโมง ปรากฏว่าทั่วทั้งห้องมีชีวิตชีวา ผู้คนตื่นเต้นและติดพันกับการสนทนาจนแทบไม่หายใจหายคอ จนมีคนหนึ่งเสนอขึ้นมาว่า “ทำไมไม่ลองเปลี่ยนเจ้าบ้านเป็นคนใหม่ แล้วที่เหลือก็เดินไปแลกเปลี่ยนความคิดกับกลุ่มอื่นอีกสักรอบล่ะ”

การสนทนาดำเนินต่อไปท่ามกลางสายฝนที่ตกหนักอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่ในห้องประชุมเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดกัน เกิดรูปภาพ แผนภูมิและตัวอักษรเต็มผ้าปูโต๊ะ จนถึงเวลาใกล้เที่ยง
ผู้จัดทั้งสองเสนอให้แต่ละกลุ่มนำผ้าปูโต๊ะไปวางรวมกันบริเวณพรมตรงกลางห้อง แล้วเชิญชวนให้ผู้เข้าประชุมเลียบเลาะชมสิ่งที่ปรากฏบนผืนผ้าปูโต๊ะนั้น

สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของผู้จัดทั้งสองและผู้เข้าประชุมทั้งห้องเป็นเสมือนมนตราที่ยากจะอธิบายได้ เพราะได้เกิดความคิดใหม่ ได้เห็นความเชื่อมโยงใหม่ ๆ เคล้าผสมเกสรของการหยั่งเห็นอันลึกล้ำที่หลากหลายกันไปมา

นี่คือจุดกำเนิดของเทคนิคการประชุมที่ให้ความสำคัญกับ “การสนทนา” ภายใต้ชื่อว่า “เวิลด์คาเฟ่”

นับตั้งแต่นั่นเป็นต้นมา “เวิลด์คาเฟ่” ก็ได้ถูกพัฒนากันมาตลอดเกือบ ๒๐ ปี มีการนำไปใช้สำหรับการประชุมในห้องโถงโรงแรมที่แน่นขนัด จุคนได้มากกว่าพันคน ไปจนถึงห้องนั่งเล่นที่เป็นกันเองมีผู้คนร่วมวงไม่ถึงสิบคนก็มี ทั้งในวงของนักธุรกิจ รัฐบาล สุขภาพอนามัย การศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน หรือในชุมชน อย่างกว้างขวาง

หลักการสำคัญของ “เวิลด์คาเฟ่” มี ๗ ประการ คือ

หนึ่ง : กำหนดบริบท การทำเป้าหมายให้กระจ่างชัด และปัจจัยหรือสถานการณ์กว้าง ๆ ที่ช่วยให้การสนทนาสามารถเกิดและพัฒนาขึ้นได้

สอง : สร้างพื้นที่แห่งมิตรไมตรี ต้องมั่นใจว่าสภาพแวดล้อมมีความเป็นมิตร ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจและปลอดภัย และมีความนับถือซึ่งกันและกัน

สาม : สำรวจและพิเคราะห์คำถามอันสำคัญ มุ่งความสนใจร่วมกันไปที่คำถามที่มีพลังกระทบใจ และชักนำให้เกิดความผูกพันและมีพันธะร่วมกัน

สี่ : ช่วยกระตุ้นหนุนให้ทุกคนมีส่วนสมทบ กระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่าง “ฉัน” กับ “เรา” โดยเชิญชวนให้ทุกคนเข้าร่วมอย่างเต็มตัวและเต็มใจ

ห้า : ผสมเกสรทางความคิดข้ามกลุ่ม เชื่อมโยงมุมมองที่หลากหลาย ใชัพลวัตของการอุบัติขึ้นของระบบชีวิตโดยการเพิ่มพูนความหลากหลายและความเข้มข้นในความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็คงไว้ซึ่งจุดเน้นร่วมในปัญหาหลัก

หก : ร่วมกันฟังเพื่อหาแบบแผน ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและคำถามที่เจาะลงไป มุ่งความสนใจร่วมกันในลักษณะที่ก่อให้เกิดความประสานสอดคล้องกันของความคิด โดยความเห็นชอบของแต่ละคนไม่ได้สูญหายไป

เจ็ด : เก็บเกี่ยวและแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบร่วมกัน ทำให้ความรู้และปัญญาร่วมนี้ให้เป็นที่รู้เห็นและนำไปปฏิบัติได้

หลักการง่าย ๆ ทั้งเจ็ดประการนี้ หากได้นำไปผนวกใช้ด้วยกัน ก็จะให้แนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้แสวงหาวิธีการสร้างสรรค์อันเอื้อเฟื้อให้เกิดการสนทนาขนานแท้ โดยมีเป้าหมายเพื่อการคิดร่วมกันและสร้างความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้

“เวิลด์คาเฟ่ มีจุดเน้นที่ “การสนทนาที่มีความสำคัญยิ่ง” เป็นสิ่งที่สอดคล้องเป็นอย่างดีกับธรรมเนียมปฏิบัติของ “สภากาแฟ” ในภาคใต้ของประเทศไทย”

เป็นบทสรุปที่ “ฆวนนิต้า บราวน์ และเดวิด ไอแซคส์” กล่าวไว้ในบทนำ “จากผู้เขียน” ของหนังสือชื่อ “เดอะเวิลด์คาเฟ่” ที่ทั้งคู่ร่วมกันเขียนขึ้น

………………………………………………………..

ขอบคุณผู้จัดที่มั่นใจเชิญผมให้ไปทำหน้าที่ครั้งนี้ ขอบคุณผู้เข้าประชุมกว่า ๕๐ คน ที่ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นที่ถูกกำหนดขึ้นจนได้ค้นพบประเด็นทั้งเชิงยุทธศาสตร์และเชิงปฏิบัติการที่หลากหลาย และทั้งหมดทั้งมวลจะนำไปสู่การพัฒนาตนและองค์กรที่ท่านสังกัดอยู่ และสุดท้ายก็ส่งผลต่อประชาชนผู้เป้าหมายสุดท้ายที่พวกเราคาดหวัง

1 ความคิดเห็น: