๗ มกราคม ๒๕๕๘
“๗ ปี ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สังคมไทยได้อะไร ?”
เป็นคำถามแบบอัตนัยของนักวิชาการรุ่นใหม่รายหนึ่งโพสต์แลกเปลี่ยนกันบนสื่อออนไลน์ ภายหลังจากพิธีปิดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติอิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร ไม่กี่นาที
ผมไม่ทราบเจตนาที่แท้จริงว่าคำถามนี้มีนัยอะไรแฝงเร้นอยู่ภายใต้ตัวอักษรที่เรียงร้อยมาหรือไม่ ?
แต่ถึงจะมีเจตนาอะไรหรือไม่ คำถามนี้นับเป็นคำถามที่ทำให้ผมได้ใช้เวลาในช่วงต้นปีใหม่ทำการทบทวนหวนคิดถึงห้วงเวลา ๗ ปีที่ตนเองได้เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อน “สมัชชาสุขภาพ” ด้วยคนหนึ่ง เพื่อตอบคำถามนี้
ผมใช้คำว่า “เด็กชาย (หญิง)” นำหน้าคำว่า “สมัชชาสุขภาพ” ไว้เพื่อบอกว่า “สมัชชาสุขภาพ” เปรียบเสมือนเด็กที่มีอายุยังไม่ครบ ๘ ปี กำลังเป็นช่วงของการเจริญเติบโต เรียนรู้และปรับตัว
แต่เป็นที่น่ายินดีที่ “สมัชชาสุขภาพ” แม้นจะเป็นเพียงเด็กน้อย แต่ก็มีผู้คนที่เฝ้ามองหรือจับตาดูอยู่ เฉกเช่นเดียวกับนักวิชาการผู้ที่ตั้งคำถามอัตนัยข้างต้น
“สมัชชาสุขภาพ” ตามกฎหมายว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ ที่ตราขึ้นและประกาศใช้เมื่อปี ๒๕๕๐ ได้ถูกนิยามไว้ว่าเป็น “เครื่องมือพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” หรือ “นโยบายสาธารณะที่ดี” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ๑ ใน ๕ ตามกฎบัตรออตตาวา ที่ประเทศต่าง ๆ ได้ไปประชุมกันในเวทีที่ว่าด้วย “การส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่” ที่ประเทศแคนาดา เมื่อปี ๒๕๒๙ เพราะเห็นว่า “นโยบายสาธารณะที่ดี” จะส่งผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวกตามไปด้วย
“นพ.ประเวศ วะสี” ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า “นโยบายสาธารณะที่ดี” เป็นประกอบไปด้วย “กุศล ๓ ประการ” คือ หนึ่ง กุศลทางปัญญา ที่หมายถึงการใช้ข้อมูลวิชาการที่เที่ยงตรงเป็นฐานในการทำงาน สอง กุศลทางสังคม ที่มีการเปิดพื้นที่ให้กับสังคมโดยรวมได้เข้ามาส่วนร่วม และ สาม กุศลทางศีลธรรม ที่มีเป้าหมายเพื่อสาธารณะ ไม่ใช่มีเป้าหมายเฉพาะตน กลุ่มคน หรือกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ฉะนั้น “สมัชชาสุขภาพ” จึงยึดหลัก “กุศล ๓ ประการ” นี้เป็นกรอบในการออกแบบการการทำงานอย่างเคร่งครัด ทั้งสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
ดังนั้น จึงได้เห็นกระบวนการทำงานของ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งกฎหมายให้มีการจัดขึ้นอย่างน้อยปีละครั้งนั้นมีการทำงานเป็นวงจรต่อเนื่องไม่สิ้นสุด นับตั้งแต่ กระบวนการเปิดรับประเด็นเชิงนโยบายจากทุกภาคส่วน การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย การรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศ การประชุมเพื่อหาฉันทมติ การนำมติไปขับเคลื่อน และการติดตาม รายงานและประเมินผล
ประเด็นเชิงนโยบายที่องค์กร หน่วยงานและเครือข่ายต่าง ๆ เสนอเข้ามาต้องมีข้อมูลสถานการณ์ที่ชัดเจน มีหลักเกณฑ์ที่เปรียบเสมือนตะแกรงตาถี่ที่รอบด้านคอยกลั่นกรองทั้งด้านความสำคัญ ความเร่งด่วน ความรุนแรงและความเป็นไปได้ในทำงานเป็นเครื่องมือกลั่นกรองว่าประเด็นเชิงนโยบายนั้นเหมาะสมที่จะถูกหยิบยกขึ้นเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติหรือไม่
ประเด็นเชิงนโยบายที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นระเบียบวาระการประชุม ก็จะมีการจัดทำเป็นเอกสารวิชาการที่เรียกว่า “เอกสารหลักและร่างมติ (บางเรื่องอาจจะมีเอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติม)” หรืออาจจะเรียกว่า “เอกสารข้อเสนอเชิงนโยบาย” ก็ต้องมีข้อมูลวิชาการที่ผ่านการวิเคราะห์สังเคราะห์มาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยมีกลไกอย่างน้อย ๓ ชั้น ทั้ง “คณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น” “คณะอนุกรรมการวิชาการ” และ “คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ช่วยกันกลั่นกรองให้เป็นเอกสารที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ
“เอกสารข้อเสนอเชิงนโยบายทุกเรื่อง” จะมีการนำไปเปิดเวทีสาธารณะในพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในวันประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในวันประชุมเพื่อร่วมกันหาฉันทมติก็จะมีผู้แทนกลุ่มเครือข่ายทั้งระดับพื้นที่ และจากกลุ่มเครือข่ายภาครัฐและการเมือง ภาควิชาการและวิชาชีพ และภาคประชาชน ประชาสังคมและเอกชนเข้าร่วมพิจารณากันอย่างครบถ้วน
เมื่อมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติออกมาแล้ว หน่วยงาน องค์กร เครือข่ายต่าง ๆ ก็นำไปดำเนินการในรูปแบบต่าง ๆ กันไป
ในแต่ละปีก็จะมีระบบการติดตามและประเมินผลทั้งการประเมินภายในและภายนอก และที่สำคัญก็คือมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการนำมติไปปฏิบัติร่วมกันในช่วงของการประชุมพิจารณาระเบียบวาระการประชุมที่เป็นเรื่องใหม่คู้ขนานกันไปด้วย
จากแนวปฏิบัติดังกล่าว จึงทำให้ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” เป็นกระบวนการที่นำไปสู่ “นโยบายสาธารณะที่ดี” ที่มีองค์ประกอบตาม “กุศล ๓ ประการ” ที่กล่าวไว้ข้างต้น
จากระยะเวลาที่ผ่านมา ๗ ปี ของการมี “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ในทัศนะของคนทำงานในวงใน ได้เห็นผลที่เกิดขึ้นอยากน้อย ๘ ประการ คือ
หนึ่ง เป็นเครื่องมือเพิ่มตัวละครที่เป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะให้กว้างมากขึ้นกว่าเดิม : ในอดีต เราจะคุ้นชินว่า เจ้าของนโยบายสาธารณะต้องจำกัดอยู่ในองค์กรของรัฐ ตั้งแต่ คณะรัฐบาล กระทรวง กรม กอง จังหวัด อำเภอ ตำบล ที่กระจายอยู่ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น แต่วันนี้ประชาชนทุกกลุ่มทุกพื้นที่สามารถเข้ามาเป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะได้ เราจึงได้เห็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล” ที่เสนอมาโดยประชาชนที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้าในจังหวัดสุรินทร์ หรือเรื่อง “การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง” ที่เสนอมาจากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในจังหวัดสงขลา เป็นต้น
สอง เป็นเครื่องมือเปิดเผยประเด็นปัญหาที่อยู่ใต้พรมต่อสาธารณะ : เมื่อตัวละครที่เป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะขยายขอบเขตมากขึ้น ปัญหาที่เคยเก็บดอง ซุกไว้ใต้พรม ก็ถูกเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ ตัวอย่างหนึ่ง คือ เรื่อง “แร่ใยหิน” ซึ่งเป็นสารที่นำไปใช้ในสิ่งของที่ชาวบ้านใช้ในชีวิตประจำวันหลายอย่าง อาทิ กระเบื้องปูหลังคา เบรก ครัชท์รถยนต์ เป็นต้น ในวงการวิชาการยอมรับกันว่าแร่ใยหิน หรือที่เรียกกันในวงการวิทยาศาสตร์ว่า “แร่ไคโซรไทม์” นี้ เป็นสารก่อมะเร็ง หลังจากเรื่องนี้ผ่านออกมาเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ ๓ – ๔ ปีก่อน ได้ทำให้สังคมได้รับรู้พิษภัยของสารอันตรายนี้กว้างขวางจนถึงทุกวันนี้
สาม เป็นเครื่องมือสร้างเครือข่ายการทำงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบข้ามสาขา : จากหลักการสำคัญอันเป็นฐานคิดสำคัญของสมัชชาสุขภาพ คือ “การมีส่วนร่วม” โดยใช้ “ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” เป็นกรอบคิดในการออกแบบกลไกทุกระดับ ส่งผลให้เกิดการทำงานในลักษณะ “ข้ามสาขา” เกิดการเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าในกระบวนการได้เรียนรู้สิ่งที่แตกต่างไปจากความรู้ของตนเอง เกิดการมองปัญหาและกำหนดทิศทางการพัฒนาที่รอบด้านมากกว่าเดิม
สี่ เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคม : ในบางครั้งเรื่องบางเรื่องมีขอบเขตจำกัดอยู่ในวงวิชาการเฉพาะเท่านั้น อาทิ เรื่องแร่ใยหิน โรคติดต่ออุบัติใหม่ แผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลก เป็นต้น แต่เมื่อประเด็นเชิงนโยบายเหล่านี้ถูกกำหนดให้เป็นระเบียบวาระของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแล้ว ได้สร้างการเรียนรู้ให้กว้างขวางออกไปนอกวงการเฉพาะกลุ่มเฉพาะเรื่อง พื้นที่ทั่วประเทศได้มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวไปพร้อม ๆ กัน
อย่างไรก็ตาม แม้ในเรื่องที่เสมือนเป็นประเด็นที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของประชาชนทุกหมู่ทุกเหล่า เช่น การตั้งครรภ์ไม่พร้อมของวัยรุ่น การป้องกันปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วน การป้องกันอุบัติเหตุ เป็นต้น เมื่อได้นำมากำหนดเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ก็ยิ่งเป็นการเสริมการเรียนรู้ให้กับสังคมให้กว้างขวางขึ้น ภายใต้ข้อมูลวิชาการที่ถูกต้องตรงกัน
ห้า เป็นห้องเรียนหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพของคนไทยในการแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของความมีเหตุผลด้วยข้อมูลวิชาการ : ด้วยเงื่อนไขของการเสนอความเห็นในระยะเวลาจำกัด ส่งผลให้เกิดการใช้เวลาที่จำกัดนั้นอย่างคุ้มค่า จากการเฝ้าดูพัฒนาการของการแสดงความคิดเห็นของผู้แทนกลุ่มเครือข่ายที่ได้เสนอความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จะพบว่ามีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดี แต่ละคนจะเสนอความคิดเห็นบนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการ กระชับ ตรงประเด็น ไม่เยิ่นเย้อ แบบน้ำท่วมทุ่งเหมือนในปีแรก ๆ และที่สำคัญเป็นการแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของความคิดเห็นร่วมของกลุ่มเครือข่ายที่ตนเองสังกัด ไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกเหมือนแต่ก่อน ซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่งของสังคมไทย
หก เป็นกระบวนการสร้างการทำงานแบบเครือข่ายอันเป็นพื้นฐานของการสร้างพลังพลเมือง : จากข้อจำกัดและความเป็นไปได้ในการที่จะเปิดให้กับประชาชนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมในกระบวนการของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ จึงมีการกำหนดให้มีการรวมตัวกันเป็น “กลุ่มเครือข่าย” จำแนกเป็น ๔ ประเภท คือ กลุ่มเครือข่ายเชิงพื้นที่ ที่ใช้พื้นที่จังหวัดเป็นฐานในการกำหนด กลุ่มเครือข่ายองค์กรภาครัฐและภาคการเมือง กลุ่มเครือข่ายวิชาการและวิชาชีพ และกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน ประชาสังคมและเอกชน โดยในแต่ละปีจะมีจำนวนกลุ่มเครือข่ายที่แตกต่างกันไป อย่างเช่นในปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๗ มีกลุ่มเครือข่ายรวม ๒๓๔ กลุ่ม
ในวันประชุมจะมีการกำหนดโควตาให้กับกลุ่มเครือข่ายและกลุ่มเพื่อคัดเลือกกันเองให้ได้มาซึ่งผู้แทนกลุ่มเครือข่ายตนให้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อไปร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ถูกกำหนดเป็นระเบียบวาระการประชุม
ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมากลุ่มเครือข่ายเชิงพื้นที่มีการยกระดับการทำงานในเชิงเครือข่ายที่ชัดเจนกว่ากลุ่มเครือข่ายอื่น มีการประชุมปรึกษากันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงร่างเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบาย การคัดเลือกผู้แทนกลุ่มเครือข่าย การกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนในการเรียนรู้กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดคู่ขนานกับการประชุมพิจารณาตามระเบียบวาระการประชุม ซึ่งผลจากการทำงานดังกล่าวส่งผลต่อกระบวนการสมัชชาสุขภาพในระดับจังหวัดที่ยกระดับการทำงานตามไปด้วย นอกจากนั้นในแต่ละจังหวัดมีเครือข่ายการทำงานต่อเนื่องในการทำงานเรื่องอื่นๆ อีกด้วย
เจ็ด เป็นเครื่องมือบูรณาการการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน : ทั้งนี้เนื่องจากหลักการ “การมีส่วนร่วม” ทั้งระดับกลไกจัดการ และการเปิดพื้นที่สาธารณะแสดงความคิดเห็นให้กับทุกกลุ่ม ทุกองค์กร และทุกพื้นที่ ทำให้ประเด็นเชิงนโยบายสาธารณะที่ถูกนำมากำหนดเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้รับการวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างรอบด้าน ไม่มีข้อจำกัดในเชิงพันธกิจของหน่วยงาน องค์กรแบบเดิม ๆ ที่ผ่านมา
แปด เป็นตัวแบบให้แก่ “สมัชชา” ที่องค์กร หน่วยงาน หรือเครือข่ายอื่น ๆ เป็นผู้ดำเนินการ : ในปัจจุบันมีการจัดสมัชชาต่าง ๆ มากมาย อาทิ สมัชชาพัฒนาการเด็กและเยาวชนแห่งชาติ สมัชชาผู้สูงอายุ สมัชชาครอบครัว สมัชชาสตรี สมัชชาการศึกษา สมัชชาผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ เป็นต้น สมัชชาเหล่านี้ได้มีความพยายามที่จะปรับกระบวนการจาก “สมัชชาสุขภาพ” ไปใช้ให้เหมาะสมกับสมัชชาต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติหลายราย จะได้รับเชื้อเชิญให้เข้าไปร่วมเป็นคณะทำงาน คณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในกลไกจัดสมัชชาต่าง ๆ เหล่านั้นอยู่หลายชุด
“สมัชชาปฏิรูประดับชาติ” นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้นำตัวแบบ “สมัชชาสุขภาพ” ไปใช้ในเกือบทุกขั้นตอน และได้มีการจัดสมัชชาปฏิรูปในช่วงปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๖ รวม ๓ ครั้ง และมีมติออกมาเกือบ ๒๐ มติ และมติเหล่านี้ได้ถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
ต้องขอขอบคุณนักวิชาการท่านนั้นที่ช่วยตั้งคำถามว่า “๗ ปี ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สังคมไทยได้อะไร ?”
เพราะเป็นคำถามที่ได้กระตุ้นให้คนทำงานได้ใช้เป็นประเด็นทบทวนการทำงานที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางผลที่เริ่มดอกออกผลข้างต้นย่อมมีสิ่งท้าทายอยู่เสมอ ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ไม่ใช่เป็นของผู้หนึ่งผู้ใด แต่เป็นของทุกคน
เรามาร่วมมือกันอุ้มชูดูแล “เด็กชาย (หญิง) สมัชชาสุขภาพ” ที่ยังอยู่ในวัยเด็ก ให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่า เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อสังคมอันเป็นที่รักของพวกเราทุกคนกันเถอะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น