วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สมัชชาสุขภาพ

๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

หากเอ่ยถึงคำว่า “นโยบาย” ผมเชื่อว่า แวบแรกของความคิดทุกท่านจะนึกถึง นโยบายของนายกรัฐมนตรี ของคณะรัฐมนตรี ของรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ของผู้ว่าราชการจังหวัด และของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งความคิดนั้นก็ไม่ผิดอะไร และยังจำเป็นต้องมี

แต่ปัจจุบันเริ่มมีการยอมรับมากขึ้นต่อ “นโยบาย” ที่มาจากช่องทางอื่น ๆ เช่น มาจากการเจรจาต่อรองของกลุ่ม องค์กรที่รวมตัวกัน แล้วผลักดัน กดดันไปให้กับผู้มีอำนาจยอมรับ เช่น นโยบายจากผู้เสียประโยชน์จากการทำเหมืองแร่ทองคำที่พื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลกและเพชรบูรณ์ หรือนโยบายที่มาจากข้อเสนอของ กรอ. เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังมี “นโยบาย” อีกรูปแบบหนึ่งที่เริ่มขยายวงในสังคมไทย นั่นก็คือ นโยบายที่มาจากการปรึกษาหารือกันของคนที่มาจากทุกภาคส่วน เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งในวงการสุขภาพเรียกนโยบายแบบนี้ว่า “นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม”

นโยบายแนวนี้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติว่าสามารถใช้เป็นยุทธศาสตร์เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีของมนุษย์ได้ จนมีการประกาศให้เป็นกลยุทธ์หนึ่งในกฎบัตรออตตาวา เมื่อปี ๒๕๒๙

สำหรับประเทศไทยเรา เครื่องมือหนึ่งที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับ “นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” ก็คือ “สมัชชาสุขภาพ” โดยได้มีการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ ว่าเป็น “กระบวนการที่ใหประชาชนและ หนวยงานของรัฐที่เกี่ยวของไดรวมแลกเปลี่ยนองคความรูและเรียนรู อยางสมานฉันท เพื่อนําไปสูการเสนอแนะนโยบายสาธารณะ เพื่อ สุขภาพหรือความมีสุขภาพของประชาชน โดยจัดใหมีการประชุมอยาง เปนระบบและอยางมีสวนรวม”

และได้แบ่งสมัชชาสุขภาพ ว่ามี ๓ ประเภท คือ

หนึ่ง สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ เช่น สมัชชาสุขภาพหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด เป็นต้น

สอง สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เช่น สมัชชาสุขภาพว่าด้วยผู้สูงอายุ เด็กปฐมวัย หรือเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

สาม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นกระบวนการที่ทำกันในระดับชาติ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้จัดเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง

สำหรับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อยากบอกว่าได้มีการจัดกันมาอย่างต่อเนื่องภายหลังจากประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ รวม ๙ ครั้ง และในปีนี้จะจัดเป็นครั้งที่ ๑๐ ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๐

และในปีนี้มีประเด็นสำคัญที่ถูกกำหนดเป็นระเบียบวาระที่จะให้สมาชิกจากทุกภาคส่วนราว ๑,๕๐๐ คน ไปร่วมแสดงความคิดเห็น รวม ๔ เรื่อง คือ

หนึ่ง การส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น

สอง ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

สาม การพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา

สี่ การจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

โดยทั้ง ๔ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มาจากภาคีเครือข่ายเป็นผู้เสนอ มิใช่เกิดจากผู้จัดการประชุม

กระบวนการหนึ่งที่ทางผู้จัดได้ออกแบบไว้ คือการเตรียมตัวของพื้นที่ทั่วประเทศก่อนที่จะเดินทางไปเข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเดือนธันวาคมนั้น โดยสนับสนุนให้แต่ละจังหวัดจัดเวทีปรึกษาหารือและแสดงความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่เรียกว่า “ร่างมติ”

สำหรับจังหวัดนครสวรรค์ ได้ดำเนินการเช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ โดยได้จัดประชุมไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่โรงแรมบ้านสวนรีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งผมได้มีโอกาสไปร่วมเวทีและได้ทำความเข้าใจที่มาที่ไปให้กับผู้เข้าประชุมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ อปท. ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวาระทั้ง ๔ ประมาณ ๖๐ คนด้วย

ผลการประชุมเป็นที่น่าดีใจว่ามีข้อสรุปจากที่ประชุมที่แตกต่างจากร่างเอกสารที่สำคัญในหลายประเด็น และข้อสรุปเหล่านี้จะถูกจัดส่งไปให้กับผู้จัด พร้อมทั้งจะมอบให้ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนคนนครสวรรค์ จำนวน ๑๒ คน นำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกจากองค์กร หน่วยงานและจังหวัดอื่น ๆ ในวันประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป

ในมุมมองของผมนอกจากจะนำเสนอให้ผู้อ่านทราบว่า ประเทศไทยเรามีความก้าวหน้าไปมากสำหรับกระบวนการพัฒนานโยบาย มีการเปิดกว้างให้ทุกกลุ่มคนบนผืนแผ่นดินไทยเข้ามามีส่วนร่วมแล้ว ยังอยากจะชี้ให้เห็นว่าเครื่องมือที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพ” เป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนานโยบายในระดับกลุ่มคน องค์กร ชุมชน ตำบล จังหวัดได้

ถือเป็นเครื่องมือที่ปลดล็อคปัญหาเดิม ๆ ที่มักจะได้ยินได้ฟังอยู่เสมอว่า “นโยบายนี้ขาดการมีส่วนร่วม” ได้ดีทีเดียว

วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ขุมทรัพย์ในชุมชน

๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

หากไปดูคำนิยามของคำว่า “ขุมทรัพย์” จะพบว่ามีคนให้ความหมายไว้อย่างหลากหลาย อาทิ เป็น “ทรัพย์สมบัติ” บ้าง เป็น “ของมีค่า” บ้าง เป็น “สิ่งที่ล้ำค่า” บ้าง และรวมถึง เป็น “บุคคลที่มีคุณค่าสูง” “สงวนไว้เป็นของล้ำค่า” “ตราตรึงอยู่ในความทรงจำด้วยความรัก” และ “เก็บรักษาไว้” “สะสม” ด้วย

ซึ่งจากคำนิยามนี้ คำว่า ขุมทรัพย์ นั้นอาจจะเป็นคน หรือ สัตว์ หรือ สิ่งของ หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมก็ได้

วันนี้ผมขอหยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็น และอยากจะชี้ว่าในชุมชนทุกชุมชนมีขุมทรัพย์อยู่ก้อนหนึ่ง เป็นขุมทรัพย์เพื่อการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน

ใช่แล้วครับผมกำลังกล่าวถึง “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” หรือเรียกกันย่อ ๆ ว่า “กองทุนสุขภาพตำบล”

กองทุนสุขภาพตำบล เป็นขุมทรัพย์ที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๔๗ ที่กำหนดให้มีการสร้างหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่

เป็นขุมทรัพย์สำหรับการดูแลสุขภาพคนในแต่ละชุมชน ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค การรักษาพยาบาลโดยเน้นไปที่ระดับปฐมภูมิ และการฟื้นฟูสภาพ โดยยืนอยู่บนหลักการสำคัญของการ “มีส่วนร่วม” ใน ๓ ประการ

ประการแรก เป็นการมีส่วนร่วมในเรื่องของเงิน เพราะเงินที่ถูกนำมาใช้จ่ายมาจากการมีส่วนร่วมระหว่างงบประมาณของรัฐบาลที่จัดสรรผ่านมาทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมทบกับงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โดยงบประมาณในส่วนที่จัดสรรผ่าน สปสช. ในปีปัจจุบันจัดสรรในอัตรา ๔๕ บาทตัวประชากรหนึ่งคน นั่นหมายความว่า หากตำบลนั้นมีประชากร ๑๐,๐๐๐ คน ทาง สปสช. จะจัดสรรเงินไปให้กับตำบลนั้น ๔๕๐,๐๐๐ บาท แล้วไปสมทบกับงบของ อปท. อีก ระหว่างร้อยละ ๓๐ – ๖๐ ของเงินที่ สปสช.จัดสรรให้ไป ทั้งนี้เป็นไปตามขนาดของ อปท.นั้น ๆ

ประการที่สอง เป็นการมีส่วนร่วมในระดับกลไกบริหารกองทุน ที่ออกแบบให้มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนในชุมชนทั้งภาครัฐและท้องถิ่น ภาควิชาการและภาคประชาชน เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารกองทุนนี้

ประการที่สาม เป็นการมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณ โดยกองทุนนี้จะเปิดกว้างให้หน่วยงาน องค์กร กลุ่มและเครือข่าย อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) วัด โรงเรียน องค์กรภาคประชาชน ทั้งที่เป็นนิติบุคคลไม่ไม่เป็นนิติบุคคล เข้ามาของบประมาณจากกองทุนนี้ไปดำเนินงานเพื่อการดูแลสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน

หลักการจัดการกันเอง เป็นอีกหลักการหนึ่งที่นำมาใช้เป็นฐานในการบริหารจัดการกองทุนนี้ หมายถึงบทบาทการพิจารณาโครงการ การอนุมัติโครงการ การติดตามความก้าวหน้า ตลอดจนการประเมินผลโครงการและการเบิกจ่ายงบประมาณ เป็นบทบาทของคณะกรรมการกองทุน โดยมีหน่วยงานสาธารณสุขระดับอำเภอและจังหวัดคอยเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำและให้คำปรึกษา

กองทุนนี้ ยังกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าต้องสนับสนุนการดำเนินงานต่อศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ หรือศูนย์ที่เรียกชื่ออื่นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ เป็นจำนวนเงินที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๑๕ เพื่อสร้างความมั่นใจว่ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ

นอกจากนั้นยังสามารถนำเงินจากกองทุนนี้ไปแก้ไขปัญหาในกรณีที่เกิดอุบัติภัยหรือโรคระบาดในชุมชนได้อีกด้วย โดยเสนอให้กรรมการกองทุนพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการ

ปัจจุบันนี้มีกองทุนครอบคลุมถึงร้อยละ ๙๙.๓ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาลและ อบต. ทั้งหมด มีงบประมาณที่รวมทั้งของรัฐบาลที่โอนผ่าน สปสช. กับส่วนที่ อปท. สมทบ ประมาณ ๗ พันล้านบาท

ในปีหนึ่ง ๆ จะมีการเบิกเงินจากกองทุนนี้ไปดูแลสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัยในชุมชน นับหมื่นโครงการ และยังมีเงินคงเหลืออยู่มากพอสมควร

ปัญหาการดำเนินงานย่อมมีเป็นธรรมดา ซึ่งประเด็นที่ผมได้ยินได้ฟังอยู่บ่อย ๆ ก็คือ ปัญหาความยุ่งยากในการใช้เงินจากกองทุนนี้ ปัญหาการกลัวการตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ ปัญหาด้านศักยภาพการพัฒนาโครงการ เป็นต้น

ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนแก้ไขได้ ถ้าได้ทำการศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งหากมองในเชิงระบบ ก็สามารถตอบได้ว่าเป็นการออกแบบระบบการทำการเพื่อการสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้นั่นเอง

ผมอยากส่งเสียงดัง ๆ มายังทุกหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มคน เครือข่ายที่ทำงานด้านสุขภาพที่สนใจการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน ลองศึกษาและเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขุมทรัพย์ขุมนี้กัน

เพราะขุมทรัพย์ที่ชื่อ “กองทุนสุขภาพตำบล” นี้ เป็นของคนไทยทุกคน รวมทั้งตัวคุณด้วย

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ชุมชนเข้มแข็งนำประเทศไทยสู่ยุค ๔.๐

๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

ดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ประเด็นเรื่อง “การสร้างชุมชนเข้มแข็ง” ถูกหยิบขึ้นมาตั้งเป็นประเด็น ๑ ใน ๕ เรื่องที่จะขับเคลื่อนภายใต้กลไกคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ ๓ กันในช่วง ๓ – ๔ ปีต่อไปนี้

การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ครั้งนี้ช่างสอดประสานกับการขับเคลื่อนในระดับชาติภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐ ก็หยิบเรื่อง “การสร้างชุมชนเข้มแข็ง” เป็นประเด็นหนึ่งที่เป็นเป้าหมายการปฏิรูป

หากพลิกไปดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ จะพบคำว่า “ชุมชน” ปรากฏอยู่ใน ๖ มาตรา ได้แก่ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ และมาตรา ๗๘ โดยเฉพาะในมาตรา ๔๓ (๑) และ (๒) ที่บัญญัติให้ชุมชนมีสิทธิ

(๑) อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ และ

(๒) จัดการ บํารุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

จึงนับเป็นความหวังของคนทำงานที่ให้ความสำคัญของการพัฒนาที่เน้น “พื้นที่” เป็นฐาน เพราะโอกาสที่เกิดจากการมีรัฐธรรมนูญรองรับ การมีกลไกที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนรับผิดชอบทั้งในระดับชาติและพื้นที่

ในทางสังคมวิทยา ชุมชนหมายถึงหน่วยทางสังคมและทางกายภาพอันได้แก่ละแวกบ้าน หมู่บ้าน เมือง โดยมีลักษณะร่วมในความหมายต่าง ๆ คือ

๑. ชุมชนท้องถิ่นในฐานะหน่วยทางอาณาบริเวณ คือมีลักษณะเป็นรูปธรรม มีสมาชิก และหลักแหล่งที่แน่นอนโดยอาณาบริเวณทางภูมิศาสตร์

๒. ชุมชนท้องถิ่นในฐานะหน่วย/ระบบทางสังคม เป็นเครือข่ายการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยสถานภาพบทบาทกลุ่มคนและสถาบันชุมชนจึงมีความสัมพันธ์กันเหมือนลูกโซ่

๓. ชุมชนในฐานะหน่วยทางจิตวิทยาวัฒนธรรม ชุมชนจะต้องเน้นความผูกพันระหว่างสมาชิกด้วยกันทั้งทางด้านจิตวิทยาและวัฒนธรรม

ส่วนในทางมานุษยวิทยา มุ่งเน้นความเป็นชุมชนที่ก่อให้เกิดมิตรภาพความเอื้ออาทร ความมั่นคงและความผูกพัน นักคิดในแนวนี้เสนอว่า ควรเรียกร้องให้มีชุมชนขนาดเล็กและมีโครงสร้างที่แน่นเหนียว เพราะจะช่วยฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้ดีขึ้น ใกล้ชิดและสนิทสนม

แต่หากวิเคราะห์ในเชิงปัญหา เราจะพบว่าปัจจุบันคนในชุมชนต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจทุกข์สุขของคนอื่น ไมสนใจต่อสังคมที่ตัวอยู่ ขาดความรู้สึกร่วมกัน ไม่มีความรู้สึกร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ซึ่ง ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยกล่าวเปรียบเปรยเมืองใดชุมชนใดที่ขาดความรู้สึกเช่นนี้ เมืองนั้นหรือชุมชนนั้นจะมีความทุกข์ร้อนมาก ท่านเรียกเมืองอย่างนั้นว่า “เมืองที่ขาดวิญญาณ”

ผมมีโอกาสเข้าไปร่วมประชุมกับกลไกปฏิรูปประเทศด้านสังคมเมื่อไม่นานมานี้ ที่ประชุมต่างยอมรับว่า การจะสร้างชุมชนเข้มแข็งนั้น มีเงื่อนไขอยู่ ๓ ประการ คือ (๑) เพิ่มสิทธิ หน้าที่ อำนาจและทรัพยากร (๒) ขจัดอุปสรรค ปกป้องคุ้มครอง และ (๓) เพิ่มพลังความสามารถ (Empowerment)

กรอบการปฏิรูป ถูกวางไว้ ๒ กรอบใหญ่ที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ การปฎิรูปเชิงระบบและกลไก และการปฏิรูปเชิงพื้นที่

ในประเด็นการปฏิรูปเชิงระบบและกลไกนั้น มองได้ใน ๔ มิติ คือ

(๑) การปฏิรูปสิทธิและบทบาทของชุมชน จำเป็นต้องการออกกฎหมายว่าด้วยสิทธิชุมชนให้ชัดและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในมาตรา ๔๓ ข้างต้น รวมถึงการยกระดับองค์กรที่มีอยู่ในชุมชน เช่น สภาองค์กรชุมชน เป็นต้น ให้มีความเข้มแข็งขึ้น

(๒) การปฏิรูปทรัพยากรและทุนชุมชน จำเป็นต้องปฏิรูปโดยการทบทวนกฎหมายต่าง ๆ ที่ปิดกั้นสิทธิในการจัดการทรัพยากรและทุนชุมชน อาทิ ดิน น้ำ ป่า ทุนภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนเข้าไปมีบทบาทในการจัดการด้วยตนเองให้มากขึ้น

(๓) การปฏิรูปด้านสวัสดิการ ที่ต้องมองในเรื่องระบบสวัสดิการต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล เป็นต้น เพื่อให้สามารถเป็นกองทุนเพื่อการดูแลและพัฒนาเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้สูงวัย และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะในพื้นที่ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น ได้อย่างเหมาะสม ต้องปฏิรูปให้เกิดความเป็นหุ้นส่วนทางสังคมหรือเครือข่ายทางสังคมเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ได้ และ

(๔) การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจชุมชน ต้องปฏิรูปให้ระบบที่มีอยู่ในชุมชน ทั้งสัมมาชีพชุมชน วิสาหกิจชุมชน และสถาบันการเงินชุมชน ให้เข้มแข็งเพื่อให้เป็นกลไกสร้างและออมให้เกิดขึ้นในชุมชน
สำหรับการปฏิรูปเชิงพื้นที่ ก็ต้องปฏิรูปที่มุ่งเน้นให้เกิดการทำงานแบบ “รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ” ตามแนวคิด “ประชารัฐ” โดยจำเป็นต้องมีกลไกขับเคลื่อน ซึ่งอาจจะเป็น “สภาประชารัฐตำบล” มีการบูรณาการเป้าหมายผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น แผนแม่บทชุมชน ธรรมนูญชุมชน สมัชชาชุมชน เป็นต้น เป็นแผนร่วมที่ทุกกลไกในชุมชนใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อน แบ่งบทบาทกันทำงาน มีระบบติดตาม แบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวน กันอย่างเป็นระบบ

นับเป็นภาพฝันลาง ๆ ที่จะถูกนำมาบรรจุไว้ในแผนการปฏิรูปสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง และจะใช้เป็นกรอบในการปฏิรูปประเทศในช่วง ๒๐ ปีข้างหน้า

ผมเชื่อแน่ว่าถ้ารัฐบาลเอาจริง กลไกรัฐและภาควิชาการหนุนเสริม ภาคเอกชน ภาคประชาชนร่วมขับเคลื่อน ชุมชนไทยใน ๘,๐๐๐ ตำบล จะกลายเป็นสวรรค์บนดินได้อย่างแน่นอนในระยะเวลาไม่นานนี้

เรามาร่วมกันสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของประเทศไทยยุค ๔.๐” กันเถอะ

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

หมายเหตุ : บทความนี้เคยเสนอผ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อเดือนกันยายา ๒๕๖๐

วันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เด็กคืออนาคตของชาติ

๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

“เด็กคืออนาคตของชาติ” คำกล่าวนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนคงยอมรับและเห็นด้วย เพราะพวกเขาจะเติบโตขึ้นมาทำหน้าที่พัฒนาชาติ ต่อจากเราที่ค่อย ๆ ล้มหายตายจากไปตามวัฏฏสังสารที่เที่ยงแท้

วันนี้ผมหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเขียนเนื่องจาก ได้พบข้อมูลว่าทุกประเทศทั่วโลกก็ต่างมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็ก จนธนาคารโลกได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะสนับสนุนให้การพัฒนาเด็กต้องทำในลักษณะองค์รวมทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญาและสังคม นอกจากนั้นในรายงานการวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ของเจมส์ เจ เฮ็กแมน (James J Heckman) ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย พบว่าอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนมีค่า ๗-๑๒ เท่า หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนภายใน ร้อยละ ๑๐ ต่อปี นับได้ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก

เด็กที่เรียกว่า “เด็กปฐมวัย” (ตั้งแต่แรกเกิดถึง ๕ ปีแรก) เป็นช่วงที่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และรับประสบการณ์ใหม่ เนื่องจากระบบประสาทและสมองกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและสร้างใยประสาทเชื่อมประสานกันระหว่างเซลล์สมองทำให้เกิดการเรียนรู้และส่งผ่านข้อมูล การเจริญเติบโตทางกายภาพของสมองในลักษณะดังกล่าวจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพ

แต่ปัจจุบันการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยของครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก จากการเลี้ยงดูในครอบครัวจนถึงวัยเรียน สู่การส่งบุตรหลานเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยหวังให้เด็กได้รับการดูแลส่งเสริมพัฒนาการจากผู้ดูแลหรือครูพี่เลี้ยง สถานรับเลี้ยงเหล่านี้จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งมอบภาระการดูแลเด็กปฐมวัยให้เติบโตเพื่อเป็นคนดี มีคุณภาพ ถัดจากสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินชีวิตของเด็ก

จากรายงานสถานการณ์สุขภาวะเด็กไทย พบว่า เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักต่ำกว่า ๒,๕๐๐ กรัม จะส่งผลให้เด็กมีระดับไอคิวต่ำกว่าปกติ เด็กจะมีภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อง่าย ป่วยนาน หายช้าและรุนแรง ในขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า ๒ ปีที่ขาดสารอาหาร เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะมีโอกาสป่วยด้วยโรคเรื้อรังได้มากกว่าเพราะการพัฒนาอวัยวะยังไม่สมบูรณ์ ทำให้การเผาผลาญอาหารลดลง ปัญหาสุขภาพต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียนจะส่งผลทำให้ร่างกายไม่สมส่วน มีภาวะเตี้ยหรือค่อนข้างเตี้ย สำหรับเด็กที่มีภาวะอ้วนจะส่งผลเสีย ดื้ออินซูลิน อาจทำให้เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง ตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ นอนกรน หยุดหายใจขณะนอบหลับ ทำให้สมองขาดออกซิเจน หลับไม่สนิท มีผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ล่าช้า

หากมองเข้ามาดูสถานการณ์สุขภาวะเด็กปฐมวัย ในเขตสุขภาพที่ ๓ (จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาทและอุทัยธานี) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบปัญหาสำคัญ ได้แก่ ภาวะเด็กอ้วน ภาวะเด็กเตี้ยหรือสูงไม่สมส่วน และพัฒนาการล่าช้า

จึงเป็นที่น่าดีใจที่เมื่อวันที่ ๑๕ – ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเวที “สมัชชาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๓” ที่โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ สปาและรีสอร์ท จังหวัดนครสวรรค์ ในเวทีวันนั้นได้หยิบยกประเด็นเรื่องของ “การเสริมสร้างสุขภาวะเด็กปฐมวัยอย่างมีส่วนร่วมเชิงสร้างสรรค์” มาพูดคุยกัน และได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายให้มีการขับเคลื่อน รวม ๖ ข้อ คือ

หนึ่ง เสนอให้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันครอบครัวผู้ดูแลเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยทุกคนในเขตสุขภาพที่ ๓ มีความรู้ความสามารถและทักษะพื้นฐานที่ดีในการดูแลให้ความรัก ความอบอุ่นแก่เด็กปฐมวัย ด้วยการฝึกทักษะการดูแลเด็กปฐมวัยที่บ้าน (home-based skill development programs)

สอง เสนอให้มีนโยบายการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (child center-based Programs) โดยมอบให้หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือเรียกชื่ออื่นๆ จัดให้มีกลไกการขับเคลื่อนและสร้างกระบวนการของการพัฒนาการเรียนรู้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยในสถานบริการให้ครอบคลุมในมิติสุขภาวะทางกาย ทางจิต ทางสติปัญญา และทางสังคม ตลอดจนยกระดับศักยภาพของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในการดูแลพัฒนาการเด็กปฐมวัย เช่น พี่เลี้ยงเด็ก ครูอนุบาล อาสาสมัครดูแลเด็ก และบุคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สาม เสนอให้มีนโยบายการดูแลสุขภาวะเด็กปฐมวัยในระบบบริการสาธารณสุข โดยกำหนดให้สุขภาวะเด็กปฐมวัย เป็น ๑ ในวาระสุขภาพสำคัญที่ต้องเร่งรัดให้บรรลุความเป้าหมายของตัวชี้วัดผลงานตามแผนยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี ด้านสาธารณสุข โดยมีกลไกการกำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในประเด็นสำคัญ ๓ เรื่อง ได้แก่ ภาวะเด็กอ้วน ภาวะเตี้ย และพัฒนาการล่าช้า

สี่ เสนอให้มีนโยบายการดูแลสภาพแวดล้อมชุมชนที่เอื้อต่อสุขภาวะเด็ก โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ทุกระดับ มีบทบาทและหน้าที่ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมชุมชนที่เอื้อต่อสุขภาวะเด็ก เช่น จัดให้มีสถานที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่เหมาะสม มีแผนพัฒนาระดับท้องถิ่นรองรับ มีการวางแผนและพัฒนาสภาพแวดล้อมชุมชนที่เอื้อต่อสุขภาวะเด็กปฐมวัยโดยได้รับคำปรึกษาทางวิชาการจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้การพัฒนามีประสิทธิภาพที่ดี

ห้า เสนอให้ตั้งศูนย์ประสานการพัฒนาเด็กปฐมวัยเขต ๓ ทำหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนร่วมกัน

ข้อเสนอทั้ง ๕ ข้อนี้จะเกิดผลจริงได้ ประชาชนทุกคนในเขต ๓ ทั้ง ๕ จังหวัด นี้ต้องร่วมมือกัน จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้

เรามาร่วมกันสร้างชาติด้วยการให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัยกันเถอะ

...............................................................

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐

วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สังคมชราภาพ

๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

ผมขึ้นจั่วหัวแบบนี้เพื่อต้องการบอกว่า ประเทศไทยเราเป็นแบบนั้นจริง ๆ เพราะขณะนี้มีคนที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปี ร้อยละ ๑๗ ซึ่งในวงวิชาการเขาบอกว่า หากประเทศใดมีคนที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ ๑๐ เขาเรียกว่า “สังคมสูงวัย” หรือ "สังคมชราภาพ" ที่ผมใช้เป็นชื่อเรื่องในวันนี้

การเป็นสังคมสูงวัยหรือสังคมชราภาพนี้ แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยหรอก เพราะเรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

มีข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ที่เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้คาดการณ์ตัวเลขประชากรของโลกที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก ๙๐๑ ล้านคน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็น ๑.๐๔ ล้านล้านคน ในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ และจะเพิ่มขึ้นเป็น ๒.๑ ล้านล้านคน ในปี พ.ศ. ๒๕๙๓

มองแคบเข้ามาดูข้อมูลของประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน ก็พบว่ากำลังเผชิญกับความเป็นสังคมสูงวัยเช่นเดียวกัน โดยองค์การสหประชาชาติได้รายงานไว้ในปีเดียวกันว่า ประชากรทั้งหมดในภูมิภาคนี้มีจำนวน ๖๓๑.๘๖ ล้านคน มีประเทศถึง ๓ ประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ ๑๐ หรือเป็นประเทศที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม และคาดว่าประเทศสมาชิกอาเซียนอีก ๕ ประเทศ จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุภายใน ๑๐ ปีข้างหน้า และจะเข้าสู่สังคมสูงอายุครบทุกประเทศในปี พ.ศ. ๒๕๘๓

สำหรับประเทศไทย ดังที่กล่าวไว้แต่ต้นแล้วว่าขณะนี้ มีผู้สูงอายุอยู่ร้อยละ ๑๗ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ในอีก ๕ ปี ข้างหน้า ประเทศไทยเราจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ หรือมีประชากรสูงอายุเท่ากับร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งหมด อันหมายความว่า มีคนเดินผ่านเรา ๕ คน จะเป็นคนแก่ ๑ คน นั่นเอง

การที่ประเทศไทยเราเข้าสู่ประเทศที่มีโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุมากแบบนี้ นับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในด้านทางตรงและทางอ้อม เพราะจะมีขนาดของกำลังแรงงานลดลง เป็นปัจจัยถ่วงให้ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง ทำให้อุปสงค์ในประเทศขยายตัวช้าลง และทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจ จำเป็นต้องพึ่งพิงอุปสงค์จากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ขีดความสามารถในการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการยกระดับการพัฒนาประเทศลดลง ทำให้ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น ในขณะที่ขีดความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐลดลง

ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ คือข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ได้เก็บข้อมูลพร้อมกันทั่วประเทศในปี ๒๕๕๗ โดยการสัมภาษณ์สมาชิกในครอบครัวจากครัวเรือนตัวอย่าง จำนวน ๘๓,๘๘๐ ครัวเรือน พบว่า

• ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวตามลำพังในครัวเรือนมีกว่าร้อยละ ๑๐.๔

• หนึ่งในสามของผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (เส้นความยากจนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ เท่ากับ ๒๙,๐๖๔ บาทต่อคนต่อปี) และบุตรยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุโดยประมาณ ๔ ใน ๕ ของผู้สูงอายุทั้งหมดได้รับการเกื้อหนุนทางการเงินจากลูก เกือบครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุยังมีรายได้จากการทำงาน มีเพียง ๑ ใน ๓ ของผู้สูงอายุมีรายได้จากเงินออมหรือการถือครองทรัพย์สิน

• มีผู้สูงอายุมากกว่า ๔ ใน ๕ ได้รับเบี้ยยังชีพและมีผู้สูงอายุไม่ถึง ๑ ใน ๑๐ ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญจากรัฐบาล

• มีผู้สูงอายุที่ยังคงต้องทำงานอยู่ราว ๓.๕ ล้านคน (ร้อยละ ๓๖) โดยงานที่ทำส่วนใหญ่เป็นงานนอกระบบ อาทิ การเกษตร ประมง งานฝีมือ เป็นต้น

และหากมองในมิติด้านสุขภาพ จากข้อมูลในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ก็พบว่า

• ผู้สูงอายุยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ความเสื่อมถอยของสุขภาพและพันธุกรรม

• ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรัง ๕ อันดับแรก ได้แก่ (๑) ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง (๒) เบาหวาน (๓) เก๊าท์ รูมาตอยด์ ปวดเข่า หลัง คอ เรื้องรัง (๔) หัวใจ และ (๕) อัมพฤกษ์ อัมพาต

• ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่องมีจำนวนมาก ผู้สูงอายุที่อายุ ๖๐ – ๗๙ ปี ไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ร้อยละ ๗.๗ อายุ ๘๐ – ๘๙ ปี ไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ๑๐.๑ และอายุ ๙๐ ปีขึ้นไป ไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง ร้อยละ ๑๖.๓ เหตุผลที่ผู้สูอายุไม่เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องคิดว่าโรคที่เป็นอยู่นั้นไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผล เดินทางที่ไม่สะดวก ไม่มีเวลา ไม่มีผู้พาไป ไม่มีค่ารักษาพยาบาล ไม่มีค่าพาหนะในการเดินทาง

สถานการณ์ด้านสังคม วัฒนธรรม ก็พบว่าวิถีชีวิต ความสัมพันธ์ของคนในสังคมก็ต่างไปจากอดีต ขนาดครัวเรือนไทยมีแนวโน้มเล็กลง ผู้สูงอายุอยู่อาศัยเพียงลำพังเพิ่มมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ผู้สูงอายุอยู่อาศัยเพียงคนเดียวร้อยละ ๓.๖ ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ สูงขึ้นเป็นร้อยละ ๖.๓ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ร้อยละ ๗.๗ ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ร้อยละ ๘.๖ และปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นร้อยละ ๑๐.๔ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการย้ายถิ่นของบุตรเพื่อไปทำงานในเขตเมืองมากขึ้น

จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผมยกมาข้างต้นนี้ ผมอยากตั้งเป็นคำถามเพื่อชวนกันคิดว่า เราจะทำอย่างไรกันดีกับแนวโน้มของการเป็นสังคมชราภาพนี้

เราจะปล่อยไปเฉย ๆ ให้เป็นหน้าที่ขององค์กรรัฐเขาจัดการ หรือเราต้องเข้ามาช่วยกันออกแบบระบบและกลไกต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่กำลังคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็ว

หากปล่อยเฉยไป ผมอยากเตือนด้วยหัวใจแห่งความปรารถนาดีว่า เรื่องนี้ไม่ใช้เรื่องไกลตัวคุณเลย เพราะเรื่องของอายุเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเพิ่มขึ้นทุกวัน วันหนึ่งคุณและคนที่คุณรักทุกคนก็จะกลายเป็นคนแก่ แต่จะแก่แบบไหนนั้น เราสามารถออกแบบได้ แต่เราต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่วันนี้

............................................

บทความนี้เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของนครสวรรค์ เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๐

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

โลกของกาแฟ

๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

อย่าเข้าใจผิดครับ ว่าผมจะเขียนเรื่อง “กาแฟ” ที่เป็นเครื่องดื่มที่มนุษย์จิบตอนเช้า เพราะผมไม่มีความรู้เรื่องกาแฟในคำนิยามนี้เลย เพียงแค่สั่งเป็น เอสเปรสโซบ้าง คาปูชิโนบ้าง อเมริกาโนบ้าง ก็เท่านั้น

แต่เรื่องที่ผมกำลังชวนให้ทุกท่านได้เข้าไปสัมผัสคือ เครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้จัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ใช้ฐานใจเป็นฐานใจในการพูดคุย

ใช่แล้วครับ ผมกำลังกล่าวถึง “เวิล์ดคาเฟ่” หรือ World Café’ ที่โด่งดังในประเทศไทยเมื่อสักสิบปีก่อน

เหตุผลที่ผมหยิบเรื่องนี้มาบอกเล่าก็เนื่องจาก ผมเพิ่งกลับจากเวทีที่นำเอากระบวนการนี้มาใช้ โดยผู้จัดเชิญ “ผม” ไปเป็นผู้ดำเนินการ

ผมได้รับการประสานจากน้องผู้จัดและกำหนดว่าให้ทำกระบวนการด้วย World Café’ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่พอมีทุนอยู่บ้างเลยรับปากไป ผมนำมาขบคิดถึงการออกแบบเวทีกับโจทย์ที่ค่อนข้างยากท่ามกลางผู้เข้าร่วมเวทีที่มีทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน

และสิ่งที่ผมคิดว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด ผมจึงเล่าที่มาที่ไป และฐานคิดของเครื่องมือนี้ให้กับผู้เข้าประชุมได้รับทราบและเรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยหวังว่าหากมีท่านหนึ่งท่านใดสนใจจะได้นำไปปรับใช้อย่างถูกต้อง

…………………………………………………..

ย้อนกลับไปในเช้าอรุณรุ่งวันหนึ่งของเดือนมกราคม ๑๙๙๕ ณ บริเวณบ้านหลังหนึ่งใน “มิล วาเล่ย์” รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นวันที่สองของการนัดหมายคนจำนวนสองโหลที่ล้วนเป็นผู้บริหารบริษัท นักวิจัยและที่ปรึกษาจาก ๗ ประเทศ จะมาพบและสนทนากันด้วยเรื่อง “ทุนทางปัญญา”

ผู้รับผิดชอบการประชุม คือ “เดวิด ไอแซคส์” และ “ฆวนนิต้า บราวน์” ค่อนข้างวิตก เพราะในเช้าวันนั้นเกิดฝนตก ทำให้ยังมีผู้ที่ยังเดินทางมาไม่ถึงที่ประชุม

พลันความคิดหนึ่งก็เกิดขึ้นว่า “น่าจะจัดโต๊ะในห้องนั่งเล่น แล้วให้แต่ละคนที่มาถึงดื่มกาแฟไปพลางก่อน” จึงรีบจัดแจงตามความคิดนั้น

ผู้เข้าประชุมคนหนึ่งเสนอว่า “น่าจะเปลี่ยนผ้าปูโต๊ะ” จึงช่วยกันเอากระดาษขาวมาคลุมโต๊ะ ในขณะที่บางคนนำแจกันดอกไม้มาวางบนโต๊ะ ส่วนอีกคนหนึ่งนึกสนุกจึงเขียนป้ายกระดาษว่า “โฮมสเตคคาเฟ่” ไปติดไว้ที่หน้าร้าน

เมื่อทุกคนมาถึงต่างก็แปลกใจกับบรรยากาศที่จัดเตรียมไว้ ต่างเดินไปหยิบกาแฟแล้วเดินมานั่งตามโต๊ะ ๆ ละ ๔ – ๕ คน ช่วยกันขบคิดถึงคำถามที่ค้างมาจากเมื่อวาน บางคนเริ่มจดอะไรขยิกขยิกบนผ้าปูโต๊ะ ผู้จัดทั้งสองเมื่อเห็นภาพดังนั้น จึงช่วยกันกล่าวกระตุ้นให้ผู้ร่วมวงคิดต่อ

จนสี่สิบห้านาทีผ่านไป ผู้เข้าประชุมคนหนึ่งลุกขึ้นยืนพร้อมกับกล่าวว่า “ผมชอบจังที่ได้เห็นบรรยากาศแบบนี้ แต่อยากรู้จังว่ากลุ่มอื่นคิดอะไรกัน ทำไมเราไม่ปล่อยให้เราเอาเมล็ดพันธุ์ทางความคิดของกลุ่มเราไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นบ้างล่ะ”

ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นข้อเสนอที่ดี จึงดำเนินการตามข้อเสนอนั้น โดยมอบให้สมาชิกคนหนึ่งทำหน้าที่เจ้าบ้านคอยเล่าให้สมาชิกกลุ่มอื่นที่มาใหม่ฟัง

การสนทนารอบนี้ใช้เวลาไปอีกหนึ่งชั่วโมง ปรากฏว่าทั่วทั้งห้องมีชีวิตชีวา ผู้คนตื่นเต้นและติดพันกับการสนทนาจนแทบไม่หายใจหายคอ จนมีคนหนึ่งเสนอขึ้นมาว่า “ทำไมไม่ลองเปลี่ยนเจ้าบ้านเป็นคนใหม่ แล้วที่เหลือก็เดินไปแลกเปลี่ยนความคิดกับกลุ่มอื่นอีกสักรอบล่ะ”

การสนทนาดำเนินต่อไปท่ามกลางสายฝนที่ตกหนักอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่ในห้องประชุมเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดกัน เกิดรูปภาพ แผนภูมิและตัวอักษรเต็มผ้าปูโต๊ะ จนถึงเวลาใกล้เที่ยง
ผู้จัดทั้งสองเสนอให้แต่ละกลุ่มนำผ้าปูโต๊ะไปวางรวมกันบริเวณพรมตรงกลางห้อง แล้วเชิญชวนให้ผู้เข้าประชุมเลียบเลาะชมสิ่งที่ปรากฏบนผืนผ้าปูโต๊ะนั้น

สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของผู้จัดทั้งสองและผู้เข้าประชุมทั้งห้องเป็นเสมือนมนตราที่ยากจะอธิบายได้ เพราะได้เกิดความคิดใหม่ ได้เห็นความเชื่อมโยงใหม่ ๆ เคล้าผสมเกสรของการหยั่งเห็นอันลึกล้ำที่หลากหลายกันไปมา

นี่คือจุดกำเนิดของเทคนิคการประชุมที่ให้ความสำคัญกับ “การสนทนา” ภายใต้ชื่อว่า “เวิลด์คาเฟ่”

นับตั้งแต่นั่นเป็นต้นมา “เวิลด์คาเฟ่” ก็ได้ถูกพัฒนากันมาตลอดเกือบ ๒๐ ปี มีการนำไปใช้สำหรับการประชุมในห้องโถงโรงแรมที่แน่นขนัด จุคนได้มากกว่าพันคน ไปจนถึงห้องนั่งเล่นที่เป็นกันเองมีผู้คนร่วมวงไม่ถึงสิบคนก็มี ทั้งในวงของนักธุรกิจ รัฐบาล สุขภาพอนามัย การศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน หรือในชุมชน อย่างกว้างขวาง

หลักการสำคัญของ “เวิลด์คาเฟ่” มี ๗ ประการ คือ

หนึ่ง : กำหนดบริบท การทำเป้าหมายให้กระจ่างชัด และปัจจัยหรือสถานการณ์กว้าง ๆ ที่ช่วยให้การสนทนาสามารถเกิดและพัฒนาขึ้นได้

สอง : สร้างพื้นที่แห่งมิตรไมตรี ต้องมั่นใจว่าสภาพแวดล้อมมีความเป็นมิตร ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจและปลอดภัย และมีความนับถือซึ่งกันและกัน

สาม : สำรวจและพิเคราะห์คำถามอันสำคัญ มุ่งความสนใจร่วมกันไปที่คำถามที่มีพลังกระทบใจ และชักนำให้เกิดความผูกพันและมีพันธะร่วมกัน

สี่ : ช่วยกระตุ้นหนุนให้ทุกคนมีส่วนสมทบ กระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่าง “ฉัน” กับ “เรา” โดยเชิญชวนให้ทุกคนเข้าร่วมอย่างเต็มตัวและเต็มใจ

ห้า : ผสมเกสรทางความคิดข้ามกลุ่ม เชื่อมโยงมุมมองที่หลากหลาย ใชัพลวัตของการอุบัติขึ้นของระบบชีวิตโดยการเพิ่มพูนความหลากหลายและความเข้มข้นในความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็คงไว้ซึ่งจุดเน้นร่วมในปัญหาหลัก

หก : ร่วมกันฟังเพื่อหาแบบแผน ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและคำถามที่เจาะลงไป มุ่งความสนใจร่วมกันในลักษณะที่ก่อให้เกิดความประสานสอดคล้องกันของความคิด โดยความเห็นชอบของแต่ละคนไม่ได้สูญหายไป

เจ็ด : เก็บเกี่ยวและแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบร่วมกัน ทำให้ความรู้และปัญญาร่วมนี้ให้เป็นที่รู้เห็นและนำไปปฏิบัติได้

หลักการง่าย ๆ ทั้งเจ็ดประการนี้ หากได้นำไปผนวกใช้ด้วยกัน ก็จะให้แนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้แสวงหาวิธีการสร้างสรรค์อันเอื้อเฟื้อให้เกิดการสนทนาขนานแท้ โดยมีเป้าหมายเพื่อการคิดร่วมกันและสร้างความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้

“เวิลด์คาเฟ่ มีจุดเน้นที่ “การสนทนาที่มีความสำคัญยิ่ง” เป็นสิ่งที่สอดคล้องเป็นอย่างดีกับธรรมเนียมปฏิบัติของ “สภากาแฟ” ในภาคใต้ของประเทศไทย”

เป็นบทสรุปที่ “ฆวนนิต้า บราวน์ และเดวิด ไอแซคส์” กล่าวไว้ในบทนำ “จากผู้เขียน” ของหนังสือชื่อ “เดอะเวิลด์คาเฟ่” ที่ทั้งคู่ร่วมกันเขียนขึ้น

………………………………………………………..

ขอบคุณผู้จัดที่มั่นใจเชิญผมให้ไปทำหน้าที่ครั้งนี้ ขอบคุณผู้เข้าประชุมกว่า ๕๐ คน ที่ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นที่ถูกกำหนดขึ้นจนได้ค้นพบประเด็นทั้งเชิงยุทธศาสตร์และเชิงปฏิบัติการที่หลากหลาย และทั้งหมดทั้งมวลจะนำไปสู่การพัฒนาตนและองค์กรที่ท่านสังกัดอยู่ และสุดท้ายก็ส่งผลต่อประชาชนผู้เป้าหมายสุดท้ายที่พวกเราคาดหวัง

วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ขบวนองค์กรชุมชน

๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

เป็นอีกความรู้หนึ่งที่ได้รับจากการไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนยุทธศาสตร์ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมเทศบาลนครนครสวรรค์

ความรู้ที่ผมกำลังกล่าวถึงก็คือ ความรู้เกี่ยวกับกลไกที่ชื่อ “ขบวนองค์กรชุมชน” ได้รู้ว่าเป็นกลไกที่พัฒนาต่อยอดมาจากกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม หรือ Social Investment Fund หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า กองทุน SIF นั่นเอง

กองทุน SIF เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ซึ่งในช่วงนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตก มีผู้คนตกงานกลับคืนถิ่นสู่ชนบทราวสองล้านคน เกิด NPL ภาวะหนี้สิน ๒.๘ ล้านล้านบาท การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้วิกฤติเป็นโอกาส ซึ่งทำให้รัฐบาลตัดสินใจ กู้เงินจากธนาคารโลก (World Bank) โดยเฉพาะกองทุน SIF กู้มา ๑๒๐ ล้านเหรียญ หรือราว ๔,๘๐๐ ล้านบาท ระยะเวลา ๔๐ เดือน ตั้งแต่มกราคม ๒๕๔๒ ถึงเมษายน ๒๕๔๕

การสิ้นสุดการดำเนินงานตามเป้าหมายของกองทุน SIF ไม่ได้ทำให้กลุ่มคนที่ขับเคลื่อนในครั้งนั้นสิ้นสุดตามไปด้วย พวกเขายังรวมตัวกันทำงานขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนมาโดยตลอด ซึ่งมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ให้การหนุนเสริมขบวนนี้มาอย่างต่อเนื่อง

ภารกิจสำคัญที่ขบวนองค์กรชุมชนนี้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง คือ การสร้างระบบสวัสดิการชุมชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งสภาองค์กรชุมชน พัฒนาระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชน การบำรุงรักษา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ รวมทั้งการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน

ผมได้ให้มุมมองต่อเวทีที่มีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคท้องถิ่นและภาคประชาชนไปในหลายประเด็น อาทิ

ความเป็นสถาบันของคำว่า “ชุมชน” ที่มีตัวตนชัดเจนมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ซึ่งเริ่มมีการเขียนคำว่า “ชุมชน” ไว้ในรัฐธรรมนูญ และคำนี้ก็ปรากฏเรื่อยมาในรัฐธรรมนูยฉบับปี ๒๕๕๐ และฉบับปี ๒๕๖๐

โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ ๒๕๖๐ ในมาตรา ๔๓ บัญญัติให้ชุมชนมีสิทธิ ถึง ๔ ประการ ได้แก่

(๑) มีสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ

(๒) มีสิทธิในการจัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

(๓) มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดําเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือชุมชน หรืองดเว้นการดําเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

(๔) มีสิทธิจัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมชี้ให้ที่ประชุมเห็นคือ ในร่างยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ ปี ที่มี ๖ ยุทธศาสตร์ และหากไปดูยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ก็จะพบว่าในมาตรการที่ ๓.๕.๕ กำหนดไว้ว่าให้มีการส่งเสริมให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะดีในทุกพื้นที่ โดยให้ชุมชนเป็นแหล่งบ่มเพาะจิตสำนึกการมีสุขภาพดีของประชาชนผ่านการจัดการความรู้ด้านสุขภาพที่เป็นประโยชน์ และสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างสุขภาวะที่พึงประสงค์ระหว่างกันโดยรัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้กำกับที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกให้ชุมชนสามารถสร้างการมีสุขภาพวะดีของตนเองได้ เช่น ให้ความรู้ สนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นในการจัดการสุขภาวะแก่ประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น เพื่อให้ชุมชนเป็นพื้นที่สำคัญในการจัดการสุขภาวะของแต่ละพื้นที่ ฉะนั้น การขับเคลื่อนขบวนองค์กรชุมชนที่จังหวัดนครสวรรค์ กำลังดำเนินการกันอยู่จึงเป็นการทำตามรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดบัญญัติไว้และยังสอดคล้องกับทิศทางที่กำหนดไว้ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี อีกด้วย

นอกจาก ๒ เรื่องดังกล่าวแล้ว ผมยังได้ชี้ให้เห็นถึงแนวคิดเรื่อง “การอภิบาล” ให้ที่ประชุมเห็นบทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนสังคมอยู่ในขณะนี้ว่ามาจากแนวคิดการอภิบาลที่มีความหมายว่า

“การปฏิสัมพันธ์กันของภาครัฐ องค์กรสาธารณะต่าง ๆ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ความท้าทายต่าง ๆ ในสังคมและสร้างสรรค์โอกาสใหม่ ๆ”

ฉะนั้น การอภิบาลในความหมายนี้คือเป็นทำงานที่เต็มไปด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน โดยเล็งเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ มุ่งหวังให้ทุกคนได้รับประโยชน์สูงสุดและมีความสุข

โดยในประเด็นหลังนี้ ผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวคิด “ประชารัฐ” ที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้

ฉะนั้น นอกเหนือจากความดีใจที่ได้ความรู้ใหม่จากเวทีดังที่กล่าวไปแล้ว ยังทำให้ผมเห็นกลไกสำคัญที่สามารถนำมาเชื่อมโยงการทำงานกับภารกิจของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อันเป็นองค์กรที่ผมทำงานอยู่ได้ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ หรือ “กองทุนสุขภาพตำบล”

เพราะภายใต้ขบวนองค์กรชุมชนนี้ภาคกิจหนึ่งคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับสภาองค์กรชุมชนในแต่ละพื้นที่ ฉะนั้น กลไกสภาองค์กรชุมชนจึงถือเป็นกลไกสำคัญที่จะเข้าไปร่วมขับเคลื่อนงานกองทุนสุขภาพตำบลให้เดินหน้าสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชนในระดับชุมชนได้เป็นอย่างดี

วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ

๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐

พระสงฆ์ถือเป็นแก้วดวงหนึ่งในสามดวงแห่งพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ชาวพุทธต้องช่วยกันทำให้แก้วใบนี้สุกสกาวเพื่อทำหน้าที่เผยแพร่และสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนไปอย่างยาวนาน

ปัญหาหนึ่งที่กำลังถาโถมเข้ามาทำลายแก้วดวงนี้ให้มัวหมองและเสื่อมสลายลงนั่นคือ “ปัญหาสุขภาพ”

เคยมีการสำรวจเมื่อหลายปีก่อน ได้ทำการตรวจคัดกรองสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศเกือบหมื่นรูป พบว่า พระภิกษุเกือบ ๑ ใน ๓ มีภาวะเจ็บป่วย โดยป่วยเป็นโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคปอด และโรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนั้นยังพบพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมสุขภาพเสี่ยงทั้งการสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกายที่เพียงพอในสัดส่วนที่สูงมาก

ผมดีใจเป็นอย่างมากที่ทราบว่า ในคราวการประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐ ได้มีมติที่สำคัญเรื่องการดำเนินงานพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ กำหนดให้มีการดำเนินพัฒนาวัดให้เป็น “วัดส่งเสริมสุขภาพ” และให้มีการจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” ขึ้น

ในเรื่องการจัดทำธรรมนูญสุขภาวะพระสงฆ์แห่งชาตินั้น ได้กำหนดเป้าหมายไว้ ๓ ประการ คือ พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และบทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม โดยให้ยึดหลักการสำคัญคือ “การใช้ทางธรรมนำทางโลก”

ผมได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นกลไกดำเนินตามมติมหาเถรสมาคมดังกล่าว ให้เข้าไปร่วมเป็นคณะทำงานจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติครั้งนี้

คณะทำงานชุดนี้มีพระพรหมวชิรญาณ และพระพรหมบัณฑิต เป็นที่ปรึกษา มีพระราชวรมุนี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธาน และมีพระสงฆ์และคณาจารย์จาก มจร. และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นฝ่ายเลขานุการ

คณะทำงานชุดนี้ทำงานกันอย่างหนัก ภายใต้ระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น เป้าหมายคือการประกาศใช้ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๒ ธันวาคม ศกนี้

กระบวนการทำงานเริ่มตั้งแต่การระดมสมองจากนักวิชาการด้านสุขภาพและด้านพระพุทธศาสนา จนได้ร่างธรรมนูญฯ แล้วนำไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ๕ เวที จนเมื่อวันที่ ๒๗ – ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ ทีมวิชาการชุดเล็กได้มารวมตัวกัน ปรับปรุงร่างตามข้อเสนอแนะที่ได้จากเวทีรับฟังความคิดเห็นมา

เนื้อหาของธรรมนูญฉบับนี้แบ่งออกเป็น

บทนำ ประกอบด้วย คำปรารถ และคำนิยามศัพท์

หมวด ๑ ปรัชญาและแนวคิดหลักของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มี ๖ ข้อ

หมวด ๒ พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย มี ๘ ข้อ

หมวด ๓ ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย มี ๑๐ ข้อ

หมวด ๔ บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม มี ๕ ข้อ และ

หมวด ๕ การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ มี ๘ ข้อ

รวมทั้งสิ้น ๓๗ ข้อ

ในที่นี้ผมขอยกตัวอย่างสาระในธรรมนูญฯ ฉบับนี้ที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นองค์กรต้นสังกัดที่ผมทำงานอยู่ ได้แก่

“ข้อ ๑๑ วัดพึงส่งเสริมให้พระสงฆ์มีความรู้ ความเข้าใจในระบบบริการสาธารณสุข และชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานในระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพตนเอง อุปัชฌาย์อาจารย์และสหธรรมิก”

“ข้อ ๑๘ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึงจัดชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานในระบบหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การควบคุมโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่พระสงฆ์อย่างเป็นธรรมและเหมาะสม"

“ข้อ ๑๙ อปท. และชุมชน พึงสนับสนุนให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การควบคุมโรค และการจัดการปัจจัยที่คุกคามสุขภาพของพระสงฆ์ โดยใช้งบประมาณของ อปท. และกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ และแหล่งงบประมาณอื่น ๆ”

ในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฉบับนี้ไปสู่การปฏิบัติ ทีมงานวิชาการคุยกันว่า สมควรจัดตั้งกลไกที่เป็นทางการทำหน้าที่ขับเคลื่อน ติดตาม ประเมินผลรวมทั้งทบทวนธรรมนูญตามระยะเวลาที่เหมาะสม

นับเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยในการที่สังคมได้หันมาให้ความสำคัญกับพระสงฆ์ หนึ่งในสามแห่งพระรัตนตรัยครั้งนี้

พวกเราในฐานะพุทธศาสนิกชน สามารถมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของแก้วดวงนี้ได้ด้วยตนเอง ทั้งการถวายอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่ถวายสิ่งที่ทำลายสุขภาพของพระสงฆ์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้พระสงฆ์เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนและสังคมในภารกิจที่ท่านทำอยู่ก็ถือเป็นการนำธรรมนูญสุขภาพไปสู่การปฏิบัติด้วย

เรามาร่วมมือกันขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมกันเถิด เพราะหากพระสงฆ์แข็งแรง ก็จะนำไปสู่วัดมั่นคง และชุมชนเข้มแข็งสืบไป

วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เขตสุขภาพเพื่อประชาชน

๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐

อะไรน่ะ ? ต้องเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในสมองของคุณอย่างแน่นอนเมื่ออ่านเจอคำคำนี้

แล้วมันคืออะไรกันล่ะ มันเป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุขหรือ เราคงไม่เกี่ยว พลิกไปอ่านเรื่องอื่นดีกว่า และถ้าคุณคิดเช่นนั้น บอกได้เลยว่าคุณกำลังเสียโอกาสที่สำคัญยิ่งในชีวิตไป

เพราะเรื่อง “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” นี้สำคัญมากกับชีวิตของคุณ และรวมไปถึงครอบครัวคุณ ชุมชนของคุณ สังคมและประเทศชาติของคุณ เพราะเรื่องนี้มันอยู่กับตัวคุณไปทุกขณะ

ผมอยากกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เรื่องของสุขภาพนั้นในปัจจุบันได้ขยายวงออกไปกว้างขวางมาก ขยายทั้งเชิงความหมาย เชิงขอบเขตและเชิงผู้เล่น หรือผู้ที่ต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างสุขภาพ

แม้นคุณจะร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี คุณจะทำหน้าที่หรือบทบาทใดในสังคม หรือคุณจะอายุเท่าใด ก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพ แต่จะเกี่ยวข้องในฐานะผู้ถูกกระทำตั้งในฐานะเป็นผู้กระทำเท่านั้นเอง

รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนประเทศเราให้เป็นประเทศไทย ๔.๐ ที่มีเป้าหมายสำคัญคือ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” จำเป็นอย่างยิ่งที่คนในชาติต้องช่วยกันขับเคลื่อน ไม่นอนรอรับผลจากการกระทำของคนอื่นแต่เพียงฝ่ายเดียว

และที่สำคัญการจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ คนไทยต้องเป็นคนที่มีสุขภาพที่ดีด้วย

ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้ามากในการปฏิรูประบบสุขภาพ จนมีการตรากฎหมายรับรองความหมายของคำว่า “สุขภาพ” ว่ามีขอบเขตกว้างครอบคลุมทั้งมิติทางกาย ทางใจ ทางปัญญาและทางสังคม ทำให้เกิดการขยายวงคนทำงานให้เข้ามาร่วมมือกันสร้างสุขภาพ ไม่จำกัดไว้แค่หน่วยงานและองค์กรภาครัฐเท่านั้น

ยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” คือหลักการสำคัญในการสร้างสุขภาพของประเทศไทยที่หมายถึงต้องดึงพลังความรู้ พลังทางนโยบายและการเมืองและพลังทางสังคมเข้ามาร่วมกันเขยื้อนภูเขาหรือปัญหาอุปสรรคที่ขวางกั้นนั้นให้หมดหรือลดน้อยลง เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีของคนในชาติ

แนวคิดนี้จึงทำให้เกิดองค์กรของรัฐในประเทศไทยมากมายเพื่อไปหนุนเสริมการทำงานในการสานพลังทั้งสามนี้ให้เข้ามาทำงานด้วยกันอย่างพี่อย่างน้อง พูดคุยแบบปรึกษาหารือกัน ช่วยกันคิด ต่อเติมเสริมแต่งและช่วยกันไปขับเคลื่อนชุมชนสังคมตามที่แต่ละคนมีแต่ละคนถนัด

“องค์กรตระกูล ส.” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรม สวรส. หรือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มีบทบาทหลักในการสร้างงานวิชาการและองค์ความรู้ สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มีหน้าที่ในการสร้างสุขภาพ สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหน้าที่สำคัญในเรื่องการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้กับประชาชน สช. หรือสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี โดยองค์กรเหล่านี้ต้องทำงานร่วมกับ สธ. หรือกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นองค์กรหลักในระบบสาธารณสุขของประเทศ

นอกเหนือจากองค์กรตระกูล ส. แล้วยังองค์กรมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพอีกมากมายทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม อาทิ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ที่มีบทบาทตามชื่อองค์กรคือการหนุนเสริมองค์กรชุมชนให้เข้ามามีส่วนในการสร้างสุขภาพ ผ่านงานชุมชนเข้มแข็ง งานสัมมาชีพ บ้านมั่นคง สภาองค์กรชุมชน รวมทั้งสวัสดิการชุมชน เป็นต้น

นอกจากองค์กรของรัฐที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีองค์กรภาควิชาการ อาทิ มหาวิทยาลัย วิทยาลัย องค์กรภาคประชาสังคม ทั้งที่เป็นมูลนิธิ สมาคม ชมรม เครือข่าย ทั้งที่เป็นภาคธุรกิจ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย องค์กรสื่อ และภาคประชาชนอีกนับหมื่นองค์กรกระจายตัวทำงานอยู่ในแต่ละจังหวัด

นี่คือความหลากหลายที่สวยงามของผู้เล่นในระบบสุขภาพ จนมีนักวิชาการบางท่านเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทยว่า “เป็นระบบพหุลักษณ์” ที่หมายถึงมีความหลากหลายและซับซ้อนมากมาย จากกรอบแนวคิดข้างต้นนี้ ทำให้การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี (พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย) เป็นประธาน ได้หยิบเรื่องนี้มาปรึกษาหารือกัน และในที่สุดก็ได้มีมติให้นำเรื่องนี้ไปขบคิดกันต่อระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

และในวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ ได้มีการนำประเด็นนั้นมาคุยกันต่อ และท้ายสุดที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันว่าควรจะพัฒนากลไกหรือเครื่องมือเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยในระยะเร่งด่วนเสนอให้มีการจัดตั้ง “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ขึ้น

ข้อเสนอนี้ได้ถูกนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้า คสช. (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้อนุมัติในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ ให้จัดตั้งกลไกนี้ตามที่เสนอได้ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ระยะเวลาที่ผ่านไปประมาณ ๒ ปี บัดนี้รัฐบาลได้มีการประกาศใช้ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ. ๒๕๕๙” ผ่านทางราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๙ เรียบร้อยแล้ว

หลักการสำคัญของ “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ได้ถูกกำหนดไว้ ๔ ประการ คือ (๑) การยึดประโยชน์สุข สุขภาวะประชาชนในเขตพื้นที่เป็นศูนย์กลาง (๒) การยึดหลักการ ทิศทางและแนวทางสำคัญของการปฏิรูประบบสุขภาพภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย ตามมติ ๖.๘ ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นกรอบในการดำเนินการ (๓) กลไกนี้จะทำงานด้วยกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมตามภารกิจ โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน และ (๔) เน้นการประสานพลังปัญญา พลังสังคมและพลังรัฐตามยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”

เป้าประสงค์สำคัญก็คือต้องการให้กลไกนี้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในระดับพื้นที่ และสอดคล้องต่อความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชน ครอบครัวและชุมชนในพื้นที่

เห็นไหมล่ะ คุณคือคนหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับ “เขตสุขภาพเพื่อสุขภาพ” ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้อย่างแน่นอน

หลักการทรงงานพระราชา

๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๐

ผ่านไปแล้วสำหรับเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ ซึ่งถือเป็นเดือนที่ประชาชนคนไทยเศร้าอาลัยไปทั้งแผ่นดิน เพราะเป็นเดือนแห่งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร หรือ พ่อหลวงอันเป็นที่รักยิ่งพวกเรา

ในโอกาสนี้ ผมใคร่ขอน้อมนำ “หลักการทรงงาน” ของพ่อหลวงซึ่งคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้ทำการรวบรวมหลักการทรงงานของพระองค์ท่านไว้ว่ามีรวมทั้งสิ้น ๒๓ หลักการ ประกอบด้วย

๑. จะทำอะไรต้องศึกษาข้อมูลให้เป็นระบบ : ทรงศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นระบบจากข้อมูลเบื้องต้น ทั้งเอกสาร แผนที่ สอบถามจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และราษฎรในพื้นที่ให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้อง เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และตรงตามเป้าหมาย

๒. ระเบิดจากภายใน : จะทำการใด ๆ ต้องเริ่มจากคนที่เกี่ยวข้องเสียก่อน ต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในให้เกิดความเข้าใจและอยากทำ ไม่ใช่การสั่งให้ทำ

๓. แก้ปัญหาจากจุดเล็ก : ควรมองปัญหาภาพรวมก่อนเสมอ แต่เมื่อจะลงมือแก้ปัญหานั้น ควรมองในสิ่งที่คนมักจะมองข้าม แล้วเริ่มแก้ปัญหาจากจุดเล็กๆ เสียก่อน เมื่อสำเร็จแล้วจึงค่อยๆ ขยับขยายแก้ไปเรื่อยๆ ทีละจุด

๔. ทำตามลำดับขั้น : เริ่มต้นจากการลงมือทำในสิ่งที่จำเป็นก่อน เมื่อสำเร็จแล้วก็เริ่มลงมือสิ่งที่จำเป็นลำดับต่อไป ด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ถ้าทำตามหลักนี้ได้ งานทุกสิ่งก็จะสำเร็จได้โดยง่าย

๕. ภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ : การพัฒนาใดๆ ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอคน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน

๖. ทำงานแบบองค์รวม : ใช้วิธีคิดเพื่อการทำงาน โดยวิธีคิดอย่างองค์รวม คือการมองสิ่งต่างๆ ที่เกิดอย่างเป็นระบบครบวงจร ทุกสิ่งทุกอย่างมีมิติเชื่อมต่อกัน มองสิ่งที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง

๗. ไม่ติดตำรา : เมื่อเราจะทำการใดนั้น ควรทำงานอย่างยืดหยุ่นกับสภาพและสถานการณ์นั้นๆ ไม่ใช่การยึดติดอยู่กับแค่ในตำราวิชาการ เพราะบางที่ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด บางครั้งเรายึดติดทฤษฎีมากจนเกินไปจนทำอะไรไม่ได้เลย

๘. รู้จักประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด : ในการพัฒนาและช่วยเหลือราษฎร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใช้หลักในการแก้ปัญหาด้วยความเรียบง่ายและประหยัด ราษฎรสามารถทำได้เอง หาได้ในท้องถิ่นและประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้นมาแก้ไข ปรับปรุง โดยไม่ต้องลงทุนสูงหรือใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยากมากนัก

๙. ทำให้ง่าย : ทรงคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุงและแก้ไขงาน การพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริไปได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อนและที่สำคัญอย่างยิ่งคือ สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบนิเวศโดยรวม “ทำให้ง่าย”

๑๐. การมีส่วนร่วม : ทรงเป็นนักประชาธิปไตย ทรงเปิดโอกาสให้สาธารณชน ประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับได้มาร่วมแสดงความคิดเห็น “สำคัญที่สุดจะต้องหัดทำใจให้กว้างขวาง หนักแน่น รู้จักรับฟังความคิดเห็น แม้กระทั่งความวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นอย่างฉลาดนั้น แท้จริงคือ การระดมสติปัญญาละประสบการณ์อันหลากหลายมาอำนวยการปฏิบัติบริหารงานให้ประสบผลสำเร็จที่สมบูรณ์นั่นเอง”

๑๑. ต้องยึดประโยชน์ส่วนรวม : พระองค์ทรงระลึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

๑๒. บริการที่จุดเดียว : ทรงจัดให้มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาหลายแห่งทั่วประเทศโดยใช้หลักการ “การบริการรวมที่จุดเดียว : One Stop Service” โดยทรงเน้นเรื่องรู้รักสามัคคีและการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันด้วยการปรับลดช่องว่างระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

๑๓. ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ : ทรงเข้าใจถึงธรรมชาติและต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดกับทรัพยากรธรรมชาติ ทรงมองปัญหาธรรมชาติอย่างละเอียด โดยหากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติจะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือเราด้วย

๑๔. ใช้อธรรมปราบอธรรม : ทรงนำความจริงในเรื่องธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักการแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงสภาวะที่ไม่ปกติเข้าสู่ระบบที่ปกติ เช่น การบำบัดน้ำเน่าเสียโดยให้ผักตบชวา ซึ่งมีตามธรรมชาติให้ดูดซึมสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ

๑๕. ปลูกป่าในใจคน : การจะทำการใดสำเร็จต้องปลูกจิตสำนึกของคนเสียก่อน ต้องให้เห็นคุณค่า เห็นประโยชน์กับสิ่งที่จะทำ

๑๖. ขาดทุนคือกำไร : หลักการที่พระองค์มีต่อพสกนิกรไทยคือ “การให้” และ “การเสียสละ” เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือความอยู่ดีมีสุขของราษฎร

๑๗. การพึ่งพาตนเอง : การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ เพื่อการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้มีความแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตได้ต่อไป แล้วขั้นต่อไปก็คือ การพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อมและสามารถ พึ่งตนเองได้ในที่สุด

๑๘. พออยู่พอกิน : ให้ประชาชนสามารถอยู่อย่าง “พออยู่พอกิน” ให้ได้เสียก่อน แล้วจึงค่อยขยับขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป

๑๙. เศรษฐกิจพอเพียง : เป็นปรัชญาที่พระองค์พระราชทานชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต ให้ดำเนินไปบน “ทางสายกลาง” เพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งปรัชญานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งระดับบุคคล องค์กร และชุมชน

๒๐. ความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน : ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อย ก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้ที่มีความรู้มาก แต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ

๒๑. ทำงานอย่างมีความสุข : ทำงานต้องมีความสุขด้วย ถ้าเราทำอย่างไม่มีความสุขเราจะแพ้ แต่ถ้าเรามีความสุขเราจะชนะ สนุกกับการทำงานเพียงเท่านั้น ถือว่าเราชนะแล้ว หรือจะทำงานโดยคำนึงถึงความสุขที่เกิดจากการได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นก็สามารถทำได้

๒๒. ความเพียร : การเริ่มต้นทำงานหรือทำสิ่งใดนั้นอาจจะไม่ได้มีความพร้อม ต้องอาศัยความอดทนและความมุ่งมั่น ดังเช่นพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก”

๒๓. รู้ รัก สามัคคี : รู้ คือ รู้ปัญหาและรู้วิธีแก้ปัญหานั้น รัก คือ เมื่อเรารู้ถึงปัญหาและวิธีแก้แล้ว เราต้องมีความรัก ที่จะลงมือทำ ลงมือแก้ไขปัญหานั้น และ สามัคคี คือ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่สามารถลงมือทำคนเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกัน

นับเป็นหลักการที่ล้วนมีคุณค่ายิ่ง ซึ่งหากท่านใดต้องการปฏิบัติตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ท่านสามารถนำหลักการทรงงานของพระองค์ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนลงคอลัมภ์ "คุยสบายกับนายปฏิรูป" ทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์