วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ชุมชนเข้มแข็งนำประเทศไทยสู่ยุค ๔.๐

๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

ดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ประเด็นเรื่อง “การสร้างชุมชนเข้มแข็ง” ถูกหยิบขึ้นมาตั้งเป็นประเด็น ๑ ใน ๕ เรื่องที่จะขับเคลื่อนภายใต้กลไกคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ ๓ กันในช่วง ๓ – ๔ ปีต่อไปนี้

การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ครั้งนี้ช่างสอดประสานกับการขับเคลื่อนในระดับชาติภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐ ก็หยิบเรื่อง “การสร้างชุมชนเข้มแข็ง” เป็นประเด็นหนึ่งที่เป็นเป้าหมายการปฏิรูป

หากพลิกไปดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ จะพบคำว่า “ชุมชน” ปรากฏอยู่ใน ๖ มาตรา ได้แก่ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๕๗ มาตรา ๕๘ และมาตรา ๗๘ โดยเฉพาะในมาตรา ๔๓ (๑) และ (๒) ที่บัญญัติให้ชุมชนมีสิทธิ

(๑) อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ และ

(๒) จัดการ บํารุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

จึงนับเป็นความหวังของคนทำงานที่ให้ความสำคัญของการพัฒนาที่เน้น “พื้นที่” เป็นฐาน เพราะโอกาสที่เกิดจากการมีรัฐธรรมนูญรองรับ การมีกลไกที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนรับผิดชอบทั้งในระดับชาติและพื้นที่

ในทางสังคมวิทยา ชุมชนหมายถึงหน่วยทางสังคมและทางกายภาพอันได้แก่ละแวกบ้าน หมู่บ้าน เมือง โดยมีลักษณะร่วมในความหมายต่าง ๆ คือ

๑. ชุมชนท้องถิ่นในฐานะหน่วยทางอาณาบริเวณ คือมีลักษณะเป็นรูปธรรม มีสมาชิก และหลักแหล่งที่แน่นอนโดยอาณาบริเวณทางภูมิศาสตร์

๒. ชุมชนท้องถิ่นในฐานะหน่วย/ระบบทางสังคม เป็นเครือข่ายการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยสถานภาพบทบาทกลุ่มคนและสถาบันชุมชนจึงมีความสัมพันธ์กันเหมือนลูกโซ่

๓. ชุมชนในฐานะหน่วยทางจิตวิทยาวัฒนธรรม ชุมชนจะต้องเน้นความผูกพันระหว่างสมาชิกด้วยกันทั้งทางด้านจิตวิทยาและวัฒนธรรม

ส่วนในทางมานุษยวิทยา มุ่งเน้นความเป็นชุมชนที่ก่อให้เกิดมิตรภาพความเอื้ออาทร ความมั่นคงและความผูกพัน นักคิดในแนวนี้เสนอว่า ควรเรียกร้องให้มีชุมชนขนาดเล็กและมีโครงสร้างที่แน่นเหนียว เพราะจะช่วยฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้ดีขึ้น ใกล้ชิดและสนิทสนม

แต่หากวิเคราะห์ในเชิงปัญหา เราจะพบว่าปัจจุบันคนในชุมชนต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจทุกข์สุขของคนอื่น ไมสนใจต่อสังคมที่ตัวอยู่ ขาดความรู้สึกร่วมกัน ไม่มีความรู้สึกร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ซึ่ง ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยกล่าวเปรียบเปรยเมืองใดชุมชนใดที่ขาดความรู้สึกเช่นนี้ เมืองนั้นหรือชุมชนนั้นจะมีความทุกข์ร้อนมาก ท่านเรียกเมืองอย่างนั้นว่า “เมืองที่ขาดวิญญาณ”

ผมมีโอกาสเข้าไปร่วมประชุมกับกลไกปฏิรูปประเทศด้านสังคมเมื่อไม่นานมานี้ ที่ประชุมต่างยอมรับว่า การจะสร้างชุมชนเข้มแข็งนั้น มีเงื่อนไขอยู่ ๓ ประการ คือ (๑) เพิ่มสิทธิ หน้าที่ อำนาจและทรัพยากร (๒) ขจัดอุปสรรค ปกป้องคุ้มครอง และ (๓) เพิ่มพลังความสามารถ (Empowerment)

กรอบการปฏิรูป ถูกวางไว้ ๒ กรอบใหญ่ที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ การปฎิรูปเชิงระบบและกลไก และการปฏิรูปเชิงพื้นที่

ในประเด็นการปฏิรูปเชิงระบบและกลไกนั้น มองได้ใน ๔ มิติ คือ

(๑) การปฏิรูปสิทธิและบทบาทของชุมชน จำเป็นต้องการออกกฎหมายว่าด้วยสิทธิชุมชนให้ชัดและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในมาตรา ๔๓ ข้างต้น รวมถึงการยกระดับองค์กรที่มีอยู่ในชุมชน เช่น สภาองค์กรชุมชน เป็นต้น ให้มีความเข้มแข็งขึ้น

(๒) การปฏิรูปทรัพยากรและทุนชุมชน จำเป็นต้องปฏิรูปโดยการทบทวนกฎหมายต่าง ๆ ที่ปิดกั้นสิทธิในการจัดการทรัพยากรและทุนชุมชน อาทิ ดิน น้ำ ป่า ทุนภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนเข้าไปมีบทบาทในการจัดการด้วยตนเองให้มากขึ้น

(๓) การปฏิรูปด้านสวัสดิการ ที่ต้องมองในเรื่องระบบสวัสดิการต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล เป็นต้น เพื่อให้สามารถเป็นกองทุนเพื่อการดูแลและพัฒนาเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้สูงวัย และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะในพื้นที่ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น ได้อย่างเหมาะสม ต้องปฏิรูปให้เกิดความเป็นหุ้นส่วนทางสังคมหรือเครือข่ายทางสังคมเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ได้ และ

(๔) การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจชุมชน ต้องปฏิรูปให้ระบบที่มีอยู่ในชุมชน ทั้งสัมมาชีพชุมชน วิสาหกิจชุมชน และสถาบันการเงินชุมชน ให้เข้มแข็งเพื่อให้เป็นกลไกสร้างและออมให้เกิดขึ้นในชุมชน
สำหรับการปฏิรูปเชิงพื้นที่ ก็ต้องปฏิรูปที่มุ่งเน้นให้เกิดการทำงานแบบ “รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ” ตามแนวคิด “ประชารัฐ” โดยจำเป็นต้องมีกลไกขับเคลื่อน ซึ่งอาจจะเป็น “สภาประชารัฐตำบล” มีการบูรณาการเป้าหมายผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น แผนแม่บทชุมชน ธรรมนูญชุมชน สมัชชาชุมชน เป็นต้น เป็นแผนร่วมที่ทุกกลไกในชุมชนใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อน แบ่งบทบาทกันทำงาน มีระบบติดตาม แบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวน กันอย่างเป็นระบบ

นับเป็นภาพฝันลาง ๆ ที่จะถูกนำมาบรรจุไว้ในแผนการปฏิรูปสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง และจะใช้เป็นกรอบในการปฏิรูปประเทศในช่วง ๒๐ ปีข้างหน้า

ผมเชื่อแน่ว่าถ้ารัฐบาลเอาจริง กลไกรัฐและภาควิชาการหนุนเสริม ภาคเอกชน ภาคประชาชนร่วมขับเคลื่อน ชุมชนไทยใน ๘,๐๐๐ ตำบล จะกลายเป็นสวรรค์บนดินได้อย่างแน่นอนในระยะเวลาไม่นานนี้

เรามาร่วมกันสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของประเทศไทยยุค ๔.๐” กันเถอะ

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>

หมายเหตุ : บทความนี้เคยเสนอผ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อเดือนกันยายา ๒๕๖๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น