วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2558

ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง (๖)

๑๒ กันยายน ๒๕๕๘

ในโอกาสที่ผมได้เข้าไปทำงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ได้เห็นข้อมูลเชิงสถานการณ์ของประเทศไทยเกี่ยวกับ “ผู้สูงอายุ” อย่างเป็นระบบ

โดยพบว่า

ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรมาเป็นลำดับ จนก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีคนที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ในสัดส่วนร้อยละ ๑๐ มานานหลายปีแล้ว

เมื่อ ๒ ปีก่อน ประเทศไทยเรามีผู้สูงอายุราว ๙.๖ ล้านคน หรือร้อยละ ๑๔.๗ และคาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๒๐ หรือกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete aged society) ในปี ๒๕๖๔ และเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสูงสุด (Super aged society) ที่มีผู้สูงอายุร้อยละ ๓๐ ในปี ๒๕๗๘

การเพิ่มจำนวนสูงขึ้นของผู้สูงอายุย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมไทย ทั้งผลกระทบต่อครอบครัว ด้านเศรษฐกิจ ด้านงบประมาณและการคลัง ด้านสังคม ด้านการเมือง และผลกระทบต่อตัวผู้สูงอายุเอง

ผู้สูงอายุไทยมีการศึกษาค่อนข้างน้อย โดยมีเพียงประมาณ ๑ ใน ๑๐ เท่านั้นที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป และการที่ผู้สูงอายุมีการศึกษาน้อยจะเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล บริการด้านสุขภาพและสังคม รวมทั้งโอกาสในการทำงานเชิงเศรษฐกิจตามมา

ด้านสุขภาพผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง และมีภาวะทุพพลภาพเพิ่มขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้น

ด้านเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุไทยกว่าครึ่งหนึ่งมีรายได้เฉลี่ยอยู่ในช่วง ๔๐๐ – ๓,๓๐๐ บาทต่อเดือน ต้องพึ่งพิงรายได้จากบุตรหลานและการทำงานเป็นหลักสูงถึงร้อยละ ๘๗ โดยพึ่งพิงรายได้จากเบี้ยยังชีพ เงินบำเหน็จบำนาญ รายได้จากการออมและการลงทุนเป็นหลักมีเพียงร้อยละ ๑๐ และที่สำคัญผู้สูงอายุร้อยละ ๓๑ ไม่มีการเก็บออม และผู้สูงอายุสัดส่วนถึงร้อยละ ๔๒ มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอ

ด้านสังคม ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ให้อยู่ตามลำพัง หรืออยู่กับบุตรหลานเกิดช่องว่างระหว่างวัย ขาดการนำคุณค่าไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางสังคม

ด้านสภาพแวดล้อม พบว่าผู้สูงอายุมักประสบอุบัติเหตุจากการลื่นล้มในบ้าน เพราะไม่มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับวัย

นอกจากนั้น ยังพบอีกว่า ในด้านการมีบุตรนั้นผู้สูงอายุยุคปัจจุบันมีบุตรน้อยกว่าในอดีต และมีแนวโน้มที่จะอยู่อาศัยกับบุตรน้อยลง อยู่กับคู่สมรสและอยู่ตามลำพังเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลงมาก และรวมทั้งการย้ายถิ่นของบุตรที่อยู่ในวัยแรงงานไปทำงานในต่างพื้นที่

คนในรุ่นต่อไปจะยิ่งมีบุตรน้อยลงตามแนวโน้มภาวะเจริญพันธุ์ การหวังพึ่งพาบุตรในการเกื้อหนุนในยามสูงวัยก็จะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

และเมื่อค้นข้อมูลไปที่จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นจังหวัดที่ผมตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ พบว่าในปัจจุบันมีประชากรทั้งสิ้น ๑,๐๗๓,๑๔๒ คน มีประชากรสูงอายุ คิดเป็นร้อยละ ๑๔.๙ ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศ

แต่หากวิเคราะห์รายอำเภอ พบว่าในอำเภอพยุหะคีรี มีประชากรสูงอายุสูงถึง ร้อยละ ๑๘.๓ และเมื่อมองแคบลงไปที่ตำบลเขาทอง เป็นตำบลหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพยุหะคีรี มีประชากรผู้สูงอายุสูงถึง ๑,๕๒๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๐.๓ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวัดและประเทศอย่างมาก

ข้อมูลเหล่านี้ จึงเป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งอันนำมาซึ่งโครงการจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ” ในครั้งนี้ โดยหวังว่า จะทำให้คนในตำบลเขาทองตื่นตัวและใช้เป็นเครื่องมือในการเผชิญกับมหันตภัยเงียบที่กำลังถาโถมตำบลผู้สูงอายุอย่างรู้เท่าทันนั่นเอง

วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง (๕)

๖ กันยายน ๒๕๕๘

ยังไม่ทันที่รอยยิ้มที่เกิดขึ้นจากความสุขที่ได้ชี้ให้เห็นคุณค่าของธรรมนูญสุขภาพว่าจะส่งผลอย่างไรกับคนในชุมชนจางหายไป คำถามที่สำคัญอีกคำถามหนึ่งก็ดังขึ้น

“แล้วมันทำยากไหมล่ะ อ้ายธรรมนูญสุขภาพเนี่ยะ”

ผมหันไปมองเจ้าของต้นเสียงนั้น พร้อมกับรู้สึกขอบคุณเจ้าของคำถามที่ตั้งคำถามตรงกับคำตอบที่ผมเตรียมไว้

ผมเริ่มอธิบายขั้นตอนการจัดทำและขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพ” ว่าสามารถจำแนกเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะการจัดทำกับระยะการขับเคลื่อน

ระยะที่ ๑ เป็นขั้นตอนในระยะการจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพ” มีขั้นตอนที่สำคัญ ประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ ๑ การจัดตั้งกลไกแบบมีส่วนร่วมในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ เพื่อเป็นกลไกในการทำหน้าที่ตั้งแต่การจัดเตรียมข้อมูล การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น การยกร่างและการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพ ที่ยึดการมีส่วนร่วม และสร้างความเป็นเจาของร่วมของคนในชุมชน

ขั้นตอนที่ ๒ การเสาะหาและวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้วตามหน่วยงานต่าง ๆ หรือข้อมูลที่ต้องจัดเก็บขึ้นมาใหม่

ขั้นตอนที่ ๓ การรับฟังความคิดเห็น ทั้งรายพื้นที่และรายกลุ่มที่สำคัญ โดยคำถามสำคัญที่ควรตั้งเพื่อให้ช่วยกันกำหนด นั่นก็คือ (๑) สิ่งที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี ในอีก ๕ ปี ๑๐ ปี ของประเด็นที่จะจัดทำธรรมนูญ (๒) สิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน และแนวทางรักษาหรือพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น และ (๓) สิ่งที่ไม่ดีที่มีอยู่ในชุมชน และแนวทางการแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีนั้นให้กลับเป็นสิ่งดี ๆ

ขั้นตอนที่ ๔ การยกร่างธรรมนูญ โดยการประมวลข้อมูลจากขั้นตอนที่ ๑.๑ และ ๑.๒ มาทำการยกร่างโดยทีมทำงานที่ส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยองค์ประกอบที่สำคัญ ควรมีสัก ๓ ส่วน คือ ส่วนนำ ที่กล่าวถึง ปรัชญา แนวคิดหลัก และความอยากเห็นอยากเป็น อยากมี ที่ได้มาจากการรับฟังความคิดเห็น ส่วนที่ ๒ คือ สาระสำคัญของประเด็น ซึ่งขึ้นอยู่กับประเด็นของธรรมนูญ และข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นเห็น

ขั้นตอนที่ ๕ การรับฟังความคิดเห็นรวม โดยนำร่างธรรมนูญไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ โดยต้องให้ครอบคลุมผู้แทนทั้งระดับพื้นที่ และกลุ่มคน หน่วยงานที่มีอยู่ในชุมชน

ขั้นตอนที่ ๖ ปรับปรุงธรรมนูญ โดยแก้ไขเพิ่มเติมจากข้อมูลที่ได้มาจากขั้นตอนที่ ๔ และถ้าจะให้มีคุณภาพมากขึ้น ควรนำกลับไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ทุกภาคส่วนให้ความเห็นชอบ

ขั้นตอนที่ ๗ การประกาศใช้ธรรมนูญ โดยผมได้เสนอให้ (๑) เชื่อมโยงกับวันสำคัญของชุมชน หรือของชาติ (๒) จัดให้มี “สัจจะในที่แจ้ง” ซึ่งให้คนในชุมชนเปล่งวาจาออกมาพร้อม ๆ กัน (๓) มีพิธีกรรมที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ เช่น การใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือ การจัดทำธรรมนูญเป็นใบลาน เป็นต้น (๔) มีการจัดทำเป็นเอกสารประจำครอบครัว เพื่อให้ทุกครอบครัวได้ศึกษาเนื้อหาของธรรมนูญ และย้ำเตือนใจว่าเป็นสิ่งที่ตนเองได้กล่าว “สัจจะในที่แจ้งไว้”

ระยะที่ ๒ ระยะการขับเคลื่อนธรรมนูญไปปฏิบัติ มีขั้นตอนที่สำคัญ ประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ ๑ การจัดทำแผนการขับเคลื่อน โดยการแปลงเนื้อหาธรรมนูญสุขภาพในแต่ละข้อมาเป็นแผนปฏิบัติการ ที่ระบุว่าจะมีวิธีการขับเคลื่อนอย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ

ขั้นตอนที่ ๒ การติดตามและรายงานผล เพื่อให้เห็นผลและความก้าวหน้าในการนำธรรมนูญไปปฏิบัติ โดยการกำหนดวิธีการและเครื่องมือในการติดตามและรายงานผล

ขั้นตอนที่ ๓ การประเมินผลและทบทวนธรรมนูญ ที่หมายถึงการประเมินผลว่าผลลัพธ์ หรือผลกระทบจากการมีธรรมนูญสุขภาพนั้นได้ส่งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบอย่างไร อะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคและความสำเร็จ ประเด็นไหนควรจะมีการทบทวนแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ได้เห็นการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพ” ในหลายพื้นที่พบว่าบางพื้นที่นำไปจัดทำเป็นข้อบังคับขององค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อการผูกโยงกับงบประมาณประจำปีของท้องถิ่นไปด้วย ซึ่งก็เป็นอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อน

นอกจากนั้นงานหลักใน ๒ ระยะข้างต้นแล้ว ยังไม่ควรละทิ้งงานสนับสนุนที่จะทำให้ “ธรรมนูญ” มีการดำเนินทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยดี ได้แก่ งานสื่อสารสาธารณะ งานจัดการความรู้ และงานบริหารจัดการ ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ

ทุกจังหวะของเวลาที่ค่อย ๆ ผ่านไปแต่ละวินาทีที่ผมเล่าแต่ละขั้นตอน สายตาของผู้เข้าประชุมที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการจัดทำธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุตำบลเขาทอง” ที่เป็นผู้คนที่อยู่ในพื้นที่กว่า ๓๐ คน นั้นบ่งบอกให้เห็นถึงแววของความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมในการเรียนรู้ อีกทั้งยังร่วมกันแสดงความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก ทำให้ผมในฐานะผู้เล่าเรื่องมีความสุขและเกิดปิติยิ่งที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมเล็ก ๆ ในครั้งนี้

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง (๔)

๔ กันยายน ๒๕๕๘

ตะวันเริ่มลาลับจากพื้นโลก ความมืดเริ่มปกคลุมบริเวณมหาวิทยาลัยต้นมะขาม แสงไฟจากหลอดนีออนและไฟโคมเริ่มทยอยเปิด สว่างความสว่างไสวไปทั่วลานมหาวิทยาลัยแบบบ้าน ๆ

ท่ามกลางแสงสว่างใต้ต้นมะขามนั้น มีคำถามหนึ่ง ถูกยกขึ้นถามต่อทีมงาน

“ทำธรรมนูญสุขภาพแล้วได้อะไร”

นับเป็นคำถามที่แสนง่ายในการตั้งคำถาม แต่ช่างเป็นคำถามที่หาคำตอบยากจริง ๆ

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่เคยฟังการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากพื้นที่ที่มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ ผมประมวลได้ว่า คุณค่าของธรรมนูญสุขภาพ มีอย่างน้อย ๔ ประการ คือ

หนึ่ง เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชนที่แท้จริง

สอง เป็นเครื่องมือในการยึดโยงให้ผู้คน หน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายต่าง ๆ ในชุมชนให้เข้ามาทำงานด้วยกันภายใต้กรอบทิศทางเดียวกัน

สาม เป็นเครื่องมือในการระดมสรรพกำลังคน กำลังเงินจากแหล่งต่าง ๆ มาพัฒนางานภายใต้กรอบการพัฒนาเดียวกัน นำไปสู่การทำงานที่เสริมกำลังกัน ลดความซ้ำซ้อน เกิดการบูรณาการกันอย่างจริงจัง

สี่ เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความรักสามัคคีของคนในชุมชน

จากคุณค่า ๔ ประการข้างต้น หากเกิดในชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ผลสุดท้ายก็ย่อมตกอยู่กับคนในชุมชนนั้น เพราะกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจะมีพื้นฐานมาจากความต้องการของคนในชุมชนที่เป็นปัญหาหรือภาพฝันที่แท้จริงของคนในชุมชน กิจกรรมไม่ได้จะฝากไว้ให้กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่จะแบ่งหรือเป็นความรับผิดชอบของประชาชนในชุมชน ขององค์กร กลไกหรือหน่วยงานที่ทำงานหรือเข้าไปทำงานในชุมชนนั้น เกิดการบูรณาการงานกัน ขจัดความซ้ำซ้อน และนำไปสู่ความมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในที่สุด

และสิ่งเหล่านี้ก็คือ การจัดการตนเอง หรือการจัดการกันเองภายในชุมชน และจะนำไปสู่ความเป็น “ชุมชนเข้มแข็ง” ในที่สุด อันเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนที่เป็นภาพฝันที่ทุกคนใฝ่หา

แววตาของผู้ร่วมประชุมเริ่มให้การยอมรับถึงเป้าหมายว่าสิ่งที่เขาได้ฟังนั้น ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับผมและทีมงานที่เป็นคนนอกชุมชน แต่ผลประโยชน์สุดท้ายนั่นกลับตกอยู่กับคนในชุมชนนั้นเอง

มันเป็นความสุขที่ยากจะอธิบายได้หมดที่เกิดขึ้นในใจผมและทีมงาน

วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2558

ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง (๓)

๑ กันยายน ๒๕๕๘

“ธรรมนูญสุขภาพ คืออะไร ?”

เป็นคำถามแรก ๆ ที่ผุดถามขึ้นภายใต้มหาวิทยาลัยต้นมะขาม ณ หน้ากุฏิเจ้าอาวาสวัดเขาทอง ซึ่งเป็นคำถามที่ดีมาก ๆ เพราะเป็นคำถามที่นำไปสู่การกำหนดเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน

หากจะตอบคำถามนี้ คงต้องย้อนกลับไปที่ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่บัญญัติไว้ให้มีการจัดทำ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อเป็นกรอบการพัฒนางานด้านสุขภาพขององค์กรต่าง ๆ ซึ่งคต่อมา ได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” ในปี ๒๕๕๒ และในคำปรารถของธรรมนูญระดับชาตินี้ได้เขียนไว้ว่า องค์กรหรือพื้นที่จะนำแนวคิดนี้ไปจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” ได้

ซึ่งในปี ๒๕๕๒ ก็ได้เกิด “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” ที่ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งนับเป็นธรรมนูญสุขภาพตำบลแห่งแรกของประเทศไทย และในเวลาต่อ ๆ มา ก็เกิดธรรมนูญสุขภาพทั้งระดับอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน รวมทั้งธรรมนูญสุขภาพเชิงประเด็นอีกมากมายนับร้อยแห่ง

และจากประสบการณ์การลงไปเรียนรู้จากพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีการจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” ได้เห็นคนในชุมชนนั้น ๆ ได้ให้ความหมายไว้อย่างกว้างขวาง

บางชุมชนมองเป็นเป้าหมายหรือความฝันร่วม บางชุมชนมองเป็นข้อตกลง กฎ กติกา ร่วมกัน บางชุมชนมองเป็นศีลร่วม ในขณะที่บางชุมชนถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ร่วมของคนในตำบลนั้น

และครั้งล่าสุด ได้มีโอกาสไปคุยกับคนภาคใต้ เขาเรียกธรรมนูญชุมชน ว่าคือ “ชันชี” หรือ “การตกลง หรือสัญญาร่วมกัน”

ฉะนั้นหากให้ผมนิยามความหมายของ “ธรรมนูญสุขภาพ” ก็สามารถให้ความหมายไว้ว่าเป็น “เป้าหมาย ความฝัน ศีล ข้อตกลง กฎ กติกา วิสัยทัศน์ ที่คนในชุมชนอยากเห็น อยากเป็น อยากมี ร่วมกัน อันนำไปสู่การมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี” นั่นเอง

แม้จะมอง “ธรรมนูญสุขภาพ” ของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน แต่มีจุดที่เหมือนกันก็คือ “สิ่งเหล่านั้นต้องเป็นสิ่งที่คนในชุมชนอยากเห็น อยากเป็น อยากมี ร่วมกัน และเห็นว่าสิ่งนั้นจะนำไปสู่การมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน”

ในเวทีครั้งนี้ ผมเน้นย้ำไว้ว่า “ไม่ว่าเราจะเรียกเครื่องมือนี้ว่าอะไรก็ตาม สาระสำคัญที่สุดคือ ธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชุมชนท้องถิ่น เพราะเครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่มีชีวิตและทรงอำนาจมากกว่าเครื่องมือไหนๆ กฎหมายฉบับใดๆ เพราะถูกออกแบบด้วยคนในชุมชนผู้เป็นเจ้าของปัญหา ผ่านการมีเวทีและปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนนำไปสู่การจัดการสิ่งละอันพันละอย่างที่เป็นปัญหาในชุมชนร่วมกัน"

จากความหมายนี้ “ธรรมนูญสุขภาพ” จึงทำงานที่ยึดโยงกับหลักการสำคัญ อย่างน้อย ๔ ประการคือ

หนึ่ง : การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทั้งท้องถิ่น (อบต. เทศบาล) ท้องที่ (ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน) ท้องทุ่ง (สมาคม มูลนิธิ เครือข่าย ชมรม กลุ่มคน) และหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ (โรงเรียน วัด รพ.สต. เกษตรตำบล เป็นต้น)

สอง : ยึดโยงกับรากเหง้าและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนในแต่ละพื้นที่

สาม : ความเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ใช่เป็นของใคร หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ทุกคนต้องจำเป็นต้องใช้ธรรมนูญชุมชนเป็นกรอบในการประพฤติปฏิบัติตัวตามเนื้อหาสาระที่เขียนไว้ในธรรมนูญชุมชน

สี่ : พื้นที่จัดการกันเองเป็นหลัก โดยไม่ต้องรอองค์กรภายนอกมาจัดการให้

และจากการถอดบทเรียนจากพื้นที่ที่มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ จะพบว่ามีปัจจัยแห่งความสำเร็จ ประกอบด้วย

หนึ่ง : ต้องกินได้ และเข้าใจง่าย อันหมายถึง เกิดประโยชน์กับคนในชุมชนนั้น ๆ และเมื่ออ่านแล้วเข้าใจทันที ไม่มีศัพท์แสงทางวิชาการที่ต้องตีความกันหลายตลบ

สอง : มาจากคนในพื้นที่ และเปิดกว้างให้ผู้คนในชุมชนได้เข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตาม ร่วมได้ประโยชน์ ฉะนั้นจึงไม่ควรคัดลอกเนื้อหาสาระมาจากธรรมนูญของพื้นที่อื่นมาใช้ และไม่ควรเชื่อความคิดเห็นจากบุคคลภายนอกที่เสนอให้เป็นแบบโน้นแบบนี้

สาม : การรับรู้เป็นเรื่องสำคัญ จึงควรมีการสื่อสารให้คนในพื้นที่รับรู้อย่างทั่วถึง โดยช่องทาง ๆ ที่เหมาะสมกับคนในชุมชน อาทิ แผ่นพับ ป้ายโปสเตอร์ หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน การรณรงค์ในวาระสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น

สี่ : ปรับปรุง ทบทวนและเพิ่มเติมได้ จึงไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องความสมบูรณ์ในเนื้อหามากนัก เพราะเมื่อใช้ธรรมนูญชุมชนไปสักระยะหนึ่ง ก็นำมาพิจารณาว่าจะปรับปรุง หรือทบทวนธรรมนูญในข้อใดก็ได้ หรืออาจจะขอเพิ่มเติมเนื้อหาบางประการลงไปใหม่ก็ได้ โดยยึดหลักการสำคัญ ๔ ประการข้างต้น

ห้า : มีคนเกาะติด โดยคน ๆ นั้น ควรเป็นคนที่มีจิตสำนึก จิตสาธารณะ จิตอาสา และจิตเข้มแข็ง ในการทำงาน

นี่คือความเป็นมา ความหมาย หลักการและปัจจัยแห่งความสำเร็จของ “ธรรมนูญสุขภาพ” ที่ได้นำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในมหาวิทยาลัยต้นมะขามในวันนั้น

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง (๒)

๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘

ผมร่ำลาทีมงาน เพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เมื่อนาฬิกาบอกเวลา ๑๙.๐๐ น. ของวันวาน (๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘) ในขณะที่ “คณะกรรมการจัดทำธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุตำบลเขาทอง” กำลังประชุมกันอยู่ที่ “มหาวิทยาลัยต้นมะขาม” บริเวณหน้ากุฏิเจ้าอาวาสวัดเขาทอง ใต้ต้นมะขามต้นใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านขยายไปรอบต้น

ระหว่างขับรถ ใจก็อดนึกขอบคุณผู้หลักผู้ใหญ่ของตำบลเขาทอง โดยเฉพาะ “พระครูนิภาธรรมวงศ์” หรือ “หลวงน้า” ที่พวกเราเรียกขานกัน ที่สละเวลามาเป็นประธานการประชุม ตลอดจนทีมงานที่เข้มแข็งและมุ่งมั่น ให้ใจเข้ามาร่วมกันทำงานชิ้นนี้

และก็อดไม่ได้ที่ย้อนกลับไปคิดถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้

ทุกปีใหม่ ผมจะได้รับ ส.ค.ส. จากสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร People Audit เมื่อเกือบ ๑๐ ปีก่อน และทำให้ผมรู้สึกรักองค์กรนี้เสมอมา

พร้อมกับคำอวยพรบนแผ่น ส.ค.ส. แล้ว ก็จะแนบแบบประเมินการนำความรู้จากการอบรมว่าทำงานต่ออย่างไร นอกจากนั้นยังแนบใบประกาศเชิญชวนให้ทุนไปทำงานให้กับผู้ผ่านหลักสูตรนี้อีกด้วย เกือบ ๑๐ ปี ผมได้แต่ระลึกถึงกิจกรรมที่ดีงามนี้เท่านั้น ไม่สนใจที่จะเขียนโครงการไปขอทุนตามใบประกาศนั้นเลย เหตุผลรึแสนมากมายหากขุดขึ้นมาอ้าง

แต่มาปีนี้ เกิดความคิดแปลกไป เกิดอยากใช้โอกาสที่สถาบันหยิบยื่นให้ดู

ประจวบกับที่ผมเองได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในขบวนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และไปเกี่ยวข้องกับงานด้านสังคมกับชุมชน ได้เห็นข้อมูลหนึ่งที่ประเทศเรากำลังเผชิญอยู่ นั่นก็คือ “การเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย” อันหมายถึง สังคมที่มีสัดส่วนคนสูงอายุที่มีอายุเกิน ๖๐ ปี มากกว่าร้อยละ ๑๐ ขณะนี้ประเทศเรามีผู้สูงอายุสูงเกือบร้อยละ ๑๕ และอีกไม่เกิน ๕ ปี จะสูงเป็นร้อยละ ๒๐ ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่รอวันประทุ

งานการศึกษาของ สปช. พบว่า ผู้สูงอายุของไทยกำลังเผชิญปัญหาสำคัญ ๔ ด้าน คือ (๑) ด้านสุขภาพ (๒) ด้านเศรษฐกิจ (๓) ด้านสังคม และ (๔) ด้านสภาพแวดล้อม (ซึ่งจะได้นำมาเสนอให้ทราบในรายละเอียดในตอนต่อ ๆ ไป)

จากโอกาสที่เปิดกว้างพร้อมกับข้อมูลที่พบเห็น จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผมหยิบเรื่องนี้ไปปรึกษาคนข้างตัว ซึ่งอดีตเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ ที่มีที่ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาทอง และเคยทำงานพัฒนาศักยภาพให้กับอาสาสมัครผู้สูงอายุในตำบลเขาทอง เมื่อราว ๓ – ๔ ปีก่อน

คำตอบที่ได้รับคือให้เดินหน้า พร้อมกับคำว่า “ธรรมนูญสุขภาพ” เกิดปิ๊งแว๊บขึ้นในสมอง

เหล่านี้จึงเป็นที่มาของ “โครงการจัดทำธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุตำบลเขาทอง” ที่ถูกจัดส่งไปให้กับสถาบันพระปกเกล้าตามระยะเวลาที่กำหนด

หลังจากชุ่มฉ่ำจากการเล่นรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์เพียง ๒ วัน ก็ได้รับจดหมายแจ้งสถาบันพระปกเกล้าว่า “ยินดีสนับสนุนทุนสำหรับโครงการที่ยื่นไป” ในวงเงิน ๓๕,๐๐๐ บาท และให้ผมตอบยืนยันว่าจะรับทุนหรือไม่

ผมนำเรื่องไปปรึกษาคนข้างตัวอีกครั้ง และเห็นตรงกันว่า “เดินหน้า” เป็นคำรบสอง แม้นวงเงินจะดูน้อยไปสักนิด แต่คิดว่าสามารถทำงานตามแผนให้เสร็จตามเป้าหมายได้

นี่คือจุดเริ่มต้น อันนำมาถึงการประชุมกันที่มหาวิทยาลัยต้นมะขามที่มีเป้าหมายของความอยู่ดีมีสุขของคนเขาทองเป็นปริญญาบัตรที่รอมอบให้ นั่นเอง

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง (๑)

๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘

“สิบปากว่า ไม่เท่าหนึ่งตาเห็น สิบตาเห็น ไม่เท่าหนึ่งมือคลำ สิบมือคลำ ไม่เท่าหนึ่งทำดู” เป็นสุภาษิตที่ผมจำมาจากที่ไหนไม่รู้ แต่ช่างมีความหมายลึกล้ำจริง ๆ บอกอะไรไว้ในข้อความนั้นมากมายทีเดียว

ผมเป็นพนักงานของ “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ที่เรียกย่อ ๆ ว่า “สช.” ภารกิจหนึ่งขององค์กรนี้คือ การหนุนเสริมให้พื้นที่ชุมชนมีการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม อะไรน่ะ “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” ทำไมฟังแล้วมันช่างเข้าใจยากจัง

ผมก็เห็นด้วยนะ แต่ที่ใช้คำนี้ก็เพราะเห็นเขาใช้กันนะ ผมก็เลยขอใช้บ้าง

แต่หากอธิบายแบบง่าย ๆ เจ้า “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” แท้จริงแล้วก็คือ “ทิศทางที่มีเป้าหมายไปสู่สิ่งที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี โดยเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม” นั่นแหละ

คงพอเข้าใจขึ้นบ้างนะครับ

ที่นี้หากจะให้อธิบายต่อ ก็ต้องบอกว่า เจ้าตัวชื่อยาก ๆ นี้ จุดเริ่มต้นมันมาจากการประชุมของตัวแทนประเทศต่าง ๆ ที่กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อปี ๒๕๒๙ ก็ประมาณเกือบ ๓๐ ปีที่แล้ว แล้วสรุปว่าหากจะสร้างเสริมสุขภาพประชาชนให้ดีขึ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ การสร้าง “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม”

ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้มานาน แต่ผมคงไม่ขอย้อนไปเล่าว่ามีการขับเคลื่อนอย่างไร แต่ขอบอกว่าเรื่องนี้มาสำเร็จเมื่อปี ๒๕๕๐ มีการประกาศใช้กฎหมายที่ชื่อว่า “พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐” และทำให้เกิดสิ่งใหม่กับสังคมไทย ๕ เรื่อง

๑ ใน ๕ เรื่อง มีเรื่อง “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ” รวมอยู่ด้วย โดยในปี ๒๕๕๒ มีการประกาศใช้ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” พร้อม ๆ กับ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา” ซึ่งนับเป็นธรรมนูญสุขภาพตำบลแห่งแรกของประเทศไทย

หากจะนับกันตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ จนถึงปี ๒๕๕๘ ตอนนี้มีพื้นที่ต่าง ๆ ทำธรรมนูญสุขภาพตำบลมากกว่า ๓๐๐ แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ

ในฐานะที่ผมเป็นพนักงานของ สช. ก็ทำหน้าที่ไปบรรยายให้พื้นที่ต่าง ๆ ฟังว่า ธรรมนูญสุขภาพคืออะไร ทำอย่างไร ดีอย่างไร

แต่บอกตรง ๆ ว่า ไม่เคยทำด้วยตัวเองสักที ได้แต่ครูพักลักจำ ฟังจากชุมชนโน้นเล่าว่าทำแบบนี้ ชุมชนนี้ทำแบบนั้น แล้วไปอธิบายต่อให้ชุมชนที่สนใจฟัง ก็ไม่รู้ว่าผลออกมาดีตามที่ผมเล่าให้ฟังหรือปล่าว

เมื่อเป็นแบบนี้ ใจจึงอยากจะเรียนรู้ของจริง เพื่อทดสอบสมมติฐานจากฟังว่า “มันดีจริงตามที่ฟังหรือปล่าว”

โชคดีมากมาย ที่ไปพบ “คนจิตใหญ่ใจสาธารณะ” เข้า เอ่ยปากชักชวนกันหาพื้นที่ทำ “ธรรมนูญสุขภาพ” กัน ทุกคนสนใจ และอาสายื่นมือยื่นใจเข้ามาช่วย จึงเกิดกลุ่ม “ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง” ขึ้น ชื่อ “ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง” มาจากไหนนะ ฟังแล้วเข้าท่าดี

แย้มนิดหนึ่งว่าทำไมต้อง “ฒ ผู้เฒ่า” และทำไมต้อง “เขาทอง” ก็เพราะ สิ่งที่จะทำนี้จะทำงานเกี่ยวกับ “คนสูงวัย” หรือจะเรียกแบบไม่สุภาพว่า “คนแก่” ก็ไม่ว่ากัน และสถานที่ที่เป็นเป้าหมายก็คือ “ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์” นั่นเอง

จุ๊ จุ๊ เอาไว้แค่นี้ก่อนนะ หากอยากรู้เรื่องต่อต้องติดตามตอนต่อไปว่า แล้วที่เขียนมาทั้งหมดเนี่ยะกำลังจะบอกอะไร

แต่ผมยืนยันว่าเรื่องนี้สนุกแน่นอน

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

แผ่นดินของเรา

๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘

เช้าของวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องโถงของอาคารรัฐสภาเนืองแน่นไปด้วยประชาชนที่แต่งตัวด้วยอัตลักษณ์ของความเป็นชนเผ่าที่หลากหลาย ถือป้ายที่มีข้อความต่าง ๆ มีทั้งผู้เฒ่า หนุ่มสาวและเด็ก ๆ เกือบ ๒๐๐ คน

ผมรี่เข้าไปยืนฟังคำแถลงการณ์ จึงทราบว่า ผู้คนที่มาร่วมกันนี้เป็นตัวแทนของ “สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” มายื่นหนังสือต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ขอการสนับสนุนผลักดันให้รัฐบาลและคนไทยยอมรับและเคารพการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมทั้งเร่งดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามปฏิญญาสหประชาชาติว่า ด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และให้ช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

“สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” (Council of Indigenous People in Thailand) เป็นสภาที่มีสมาชิกของคนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย รวม ๓๘ ชนเผ่า อาทิ กะเหรี่ยง กุย ขมุ คะฉิ่น ของ ดาราอาง ถิ่น ไทเขิน ไทยทรงดำ ไทพวน ไทยวน ไทยอง ไทลื้อ ไทใหญ่ ไตหย่า บรู บีซู ปลัง ญ้อ ญ้อกุร ภูไท มลาบรี มอญ มอแกน มอแกลน มันนิ ม้ง เมี่ยน โย้ย ลาหู่ ลีซู ลาวกา ลาวคั่ง ลาวแง้ว ลาวเวียง ลเวือะ โส้ แสก อาข่า อึมปี อูรักละโว้ย เป็นต้น

สภาแห่งนี้เป็นผลมาจากกระบวนการรวมตัวเพื่อต่อสู้และเรียกร้องสิทธิภาคประชาชนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้โดยกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การรับรองไว้เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๔ และประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไปแล้ว

แท้จริงแล้วการรวมตัวของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี และได้ประกาศให้วันที่ ๙ สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย”

ในปี ๒๕๕๗ ได้มีการจัดสมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย ครั้งที่ ๑ ที่จังหวัดตาก มีมติรับรอง "ธรรมนูญสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย" ที่ถือเป็นกติการ่วมที่สมาชิกต้องปฏิบัติ

และระหว่างวันที่ ๘ – ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ ได้มีการจัดสมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย ครั้งที่ ๒ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ได้มีการสรรหาสมาชิกสภาและจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการสภา

เป้าหมายหนึ่งของข้อเสนอที่มายื่นต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งนี้ คือ การผลักดันให้เกิดกฎหมายว่าสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย ซึ่งได้มีการยกร่างโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายไว้เรียบร้อยแล้ว สาระสำคัญที่ปรากฏในร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมีกลไกหลัก ๔ กลไก คือ สภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย คณะกรรมการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย คณะผู้อาวุโส และสำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย

และมีกองทุนสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย เพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชนเผ่า ตลอดจนส่งเสริม ฟื้นฟู อัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรมอันดีงาม ภูมิปัญญา อาหาร สมุนไพร พันธุ์พืช พื้นที่ทำมาหากิน และโครงสร้างการปกครองตามจารีตประเพณีของกลุ่มประชากร ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย

นับเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าชื่นชมของตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทยครั้งนี้ เพราะเขาได้มายืนยันให้คนไทยและสังคมโลกรู้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเป็นพหุลักษณ์ของผู้คนที่อยู่อาศัยบนพื้นแผ่นดินผืนนี้

และนี่คือความสวยงามของประเทศอันมีนามว่า “ประเทศไทย”

ว่าด้วยเรื่อง “เพศสภาพ”

๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘

“การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ เพศสภาพ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้”

เป็นบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญ ในมาตรา ๓๔ วรรคสาม ฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งมาให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๘

ในวันนั้น ผมรู้สึกดีใจที่พบคำว่า “เพศสภาพ” ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยเหตุผล ๒ ประการ คือ

หนึ่ง เรื่องของ “เพศสภาพ” เป็นเรื่องใหม่สำหรับรัฐธรรมนูญ เพราะหากย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ และปี ๒๕๕๐ จะไม่มีคำนี้ปรากฏอยู่

สอง เรื่องนี้เป็นการผลักดันแรงหนึ่งจากคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส (กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ) สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าไปเป็นทีมงานเลขานุการของ กมธ.ปฏิรูปชุดนี้

ผมจำได้ว่า ข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ ที่เสนอไปให้บัญญัติเรื่อง “เพศสภาพ” ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มี ๒ จุด คือ

จุดแรก ให้บัญญัติไว้ในบททั่วไปในมาตราที่ว่าด้วยขอบเขตความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ โดยเสนอให้บัญญัติว่า “ประชาชนที่อาศัยในประเทศไทย ไม่ว่าเหล่ากำเนิด สีผิว เพศ เพศสภาพ ภาษา ชาติพันธุ์ สัญชาติ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญเสมอกัน”

จุดที่สอง ได้เสนอให้ขยายขอบเขตการไม่เลือกปฏิบัติให้กว้างขวางขึ้น โดยขยายการไม่เลือกปฏิบัติรวมไปถึง “เหตุมาจากความแตกต่างจากเพศสภาพ ชาติพันธุ์ สัญชาติ สีผิว พื้นเพทางชาติหรือสังคมทรัพย์สินการเกิด” เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐ ที่บัญญัติไว้เพียงว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเหตุเพราะความแตกต่างจากถิ่นกำเนิด ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้”

แม้นความเห็นของ กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนำไปบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพียงจุดเดียว ผมก็ยังดีใจ

เหตุผลที่ กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ เสนอไป เพราะเห็นว่าในปัจจุบัน สังคมได้ให้การยอมรับในเรื่องเพศสภาพมากขึ้น แต่ยังไม่เคยบัญญัติรับรองในเรื่องนี้ไว้

และได้ชี้ว่า คำว่า “เพศสภาพ (Gender)” นั้นองค์การอนามัยโลกได้ให้ความหมายไว้ว่าเป็น “คุณลักษณะของผู้หญิงและผู้ชายในบทบาทประกอบสร้างทางสังคม พฤติกรรม กิจกรรมและคุณลักษณะที่ให้สังคมพิจารณาว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง” ในขณะที่คำว่า “เพศ (Sex)” มีความหมายในลักษณะทางชีววิทยาของบุคคล ที่แบ่งเป็นเพศหญิงและเพศชาย แต่เพศภาพมิใช่เป็นเพียงการแบ่งเพศชาย เพศหญิง ทางกายวิภาคและสรีรวิทยาเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการถูกกำหนดโดยสังคมและวัฒนธรรมที่กำหนดความเป็นหญิง-ชาย ความความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทหญิงชาย ลักษณะเฉพาะประจำเพศ (gender stereotype) และความเป็นตัวตนของหญิงชายที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาด้วย

ตัวอย่างเช่น เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ซึ่งมีเพศสภาพที่จะนำไปสู่การกำหนดบทบาทเพศต่าง ๆ มากกว่าเพศหญิงและเพศชายเท่านั้น

อีกไม่นาน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะส่งร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ที่ได้ปรับปรุงภายหลังจากที่รับฟังความคิดเห็นจากกลไกสำคัญในสังคม กลับมาที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ศกนี้

ก็คงลุ้นว่าคำว่า “เพศสภาพ” จะยังคงอยู่หรือถูกตัดทิ้งจากร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจะอยู่หรือถูกตัดทิ้งเรื่องของ “เพศสภาพ” ก็ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยไว้เรียบร้อยแล้ว

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558

อีกก้าวหนึ่งขององค์กรประชาสังคม

๙ สิงหาคม ๒๕๕๘

แม้นจะเป็นวันอาทิตย์ ที่เป็นวันหยุดพักผ่อนของคนส่วนใหญ่ แต่ภายในห้องประชุมชั้น ๓๔ ของตึกเอสเอ็มทาวเวอร์ ที่ตั้งอยู่หน้าสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๕ สนามเป้า หมู่มวลสมาชิกกลุ่มหนึ่ง เกือบ ๓๐ ชีวิต ได้ใช้เวลาของวันหยุดนี้มานั่งประชุมปรึกษาหารือพูดคุยกันในเรื่องสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรภาคประชาสังคม

และผมก็เป็นคนหนึ่งในหมู่มวลกลุ่มนั้น

เรื่องที่พวกเราพูดคุยกันคือ เรื่อง "การส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม"

เหตุผลสำคัญที่ต้องมาพูดคุยก็คือ รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีพลเอกประยุทธ รสโอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ เห็นชอบต่อ "ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ...." ตามที่รองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นผู้เสนอ

สาระสำคัญของระเบียบฉบับนี้ คือ ให้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม" (คสป.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ มีรัฐมนตรีตัวแทนหน่วยงาน และผู้ทรงวุฒิ ร่วมเป็นกรรมการ

ความสำคัญของกรรมการชุดนี้ คือ การส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชน ชุมชน รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ขององค์กรภาคประชาสังคม

และยังรวมถึงเรื่องของการสนับสนุนการศึกษาวิจัย การฝึกอบรม การพัฒนาศักยภาพและธรรมาภิบาลขององค์กรภาคประชาสังคม การจัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคม และการจัดทำนโยบายสาธารณะที่เสนอโดยองค์กรภาคประชาสังคม

ตลอดจนการจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมในการพัฒนาประเทศ การติดตามและประเมินผลและการรายงานผลการดำเนินงาน รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคอีกด้วย

สรุปแบบง่าย ๆ ก็คือ จะมีกลไกระดับชาติที่มาทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมให้มีความเข้มแข็งในการทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของสาธารณะอย่างเป็นระบบ เป็นรูปธรรม ซึ่งแท้จริงแล้วประเทศไทยมีขบวนขององค์กรภาคประชาสังคมที่เข้ามาร่วมอภิบาลและพัฒนางานทางสังคมมาอย่างยาวนาน แต่การทำงานในอดีตนั้นเป็นไปในลักษณะ “การช่วยเหลือกันเอง”

จึงนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของวงการภาคประชาสังคม ที่นับต่อจากนี้ไป ประเทศไทยเราได้กำเนิดกลไกที่มีบทบาทหน้าที่หนุนเสริมองค์กรภาคประชาสังคมเป็นตัวเป็นตนโดยฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ทำคลอด

ผมทราบว่ากว่าที่จะมีมติคณะรัฐมนตรีนี้ออกมา มีพัฒนาการการขับเคลื่อนมายาวนานกว่าเกือบ ๒ ปี ซึ่งผมคิดว่า

"ช่วงเวลาที่ผ่านไปนั้นเกิดผลคุ้มค่าต่อความเหน็ดเหนื่อยทุ่มเทของกลุ่มคนผู้ก่อการดีครั้งนี้ เพราะท่านได้วางปักหมุดวางฐานให้กับกลไกภาคประชาสังคมของประเทศ ที่ถือว่าเป็นกลไกหนึ่งที่มีบทบาทในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากลไกภาครัฐเรียบร้อยแล้ว"

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2558

อาเซียน : ภูมิภาคแห่งความชรา

๘ สิงหาคม ๒๕๕๘

เมื่อสองวันก่อน (๖ สิงหาคม ๒๕๕๘) ได้มีโอกาสไปร่วมเวทีประชุมสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติ ประจำปี ๒๕๕๘ ที่ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ซึ่งทราบว่าจัดมาหลายครั้งแล้ว โดยในปีนี้ได้กำหนดกรอบแนวคิดหลักของงานไว้อย่างทันสมัยว่า “สังคมสูงวัย จะสร้างพลังอย่างไรในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ผมค่อนข้างจะพอรับทราบข้อมูลเรื่องสังคมสูงวัยของประเทศไทยอยู่พอสมควร แต่ไม่เคยรับรู้เลยว่าประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนของเรานี้ แต่ละประเทศมีสัดส่วนของผู้สูงวัยมากน้อยเพียงใด

แต่ในงานนี้ ผมได้พบกับคำตอบเหล่านั้น

คำว่า “สังคมสูงวัย” นั้นหมายถึง “ประเทศที่มีประชากรที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ ๑๐ ของประชากรทั้งประเทศ”

ซึ่งประเทศไทยเรานั้นเข้าสู่สังคมสูงวัย มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ หรือ ๗ ปีล่วงมาแล้ว และคาดหมายกันว่าในอีก ๓ ปีข้างหน้า หรือปี ๒๕๖๔ ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete aged society)” คือ มีจำนวนผู้สูงอายุถึงร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งหมด

และที่น่าตกใจยิ่งขึ้น เมื่อคาดการณ์ว่าในอีกไม่เกิน ๒๐ ปีข้างหน้า หรือปี ๒๕๗๘ จำนวนผู้สูงอายุของไทยเราจะพุ่งไปถึงร้อยละ ๓๐ กลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super aged society)” ในที่สุด นั่นก็หมายความว่า ประชากร ๓ คน จะเป็นผู้สูงอายุ ๑ คน

การเป็นสังคมสูงวัยนั้น ย่อมส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งมิติด้านสุขภาพ ด้านสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ด้านรายได้ อาชีพและเศรษฐกิจ และด้านสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่

ปรากฏการณ์นี้มิได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว เพราะเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่เกือบทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากร และเมื่อหันกลับมามองประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน ภาวการณ์นี้ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

หากเรียงลำดับสัดส่วนผู้สูงอายุของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน จะพบว่า อันดับที่ ๑ เป็นของประเทศสิงค์โปร์ (ร้อยละ ๒๐) อันดับ ๒ คือประเทศไทย (ร้อยละ ๑๕.๘) อันดับ ๓ คือประเทศ เวียดนาม (ร้อยละ ๙.๕) อันดับ ๔ คือประเทศพม่า (ร้อยละ ๗.๕) อันดับ ๕ คือประเทศมาเลเซีย (ร้อยละ ๗.๔) อันดับ ๖ คือประเทศอินโดนีเซีย (ร้อยละ ๗.๑) อันดับ ๗ คือประเทศลาว (ร้อยละ ๖.๙) อันดับ ๘ คือประเทศกัมพูชา (ร้อยละ ๖.๗) อันดับ ๙ คือประเทศบรูไน (ร้อยละ ๕.๗) และอันดับสุดท้ายคือประเทศฟิลิปปินส์ (ร้อยละ ๕.๗) ตามลำดับ

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่ามี ๓ ประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเรียบร้อยแล้ว คือ ประเทศสิงค์โปร์ ไทยและเวียดนาม และคาดว่าในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า อีก ๕ ประเทศก็จะก้าวสู่ประเทศผู้สูงอายุตามมา คือประเทศพม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว และกัมพูชา

โดยอีกไม่เกิน ๓๕ ปี ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะเป็นประเทศสังคมสูงวัยครบทุกประเทศ กลายเป็นภูมิภาคสูงวัย หรือจะเรียกอีกอย่างว่า “ภูมิภาคแห่งความชรา” ก็อาจจะเรียกได้

จึงรู้สึกชื่นชมกับผู้จัดงานสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติในปีนี้ ที่หยิบเรื่องทางสังคมที่สำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในภูมิภาคมาถกแถลงเพื่อการเตรียมพร้อมต่อปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สมัชชาพลเมือง กลไกใหม่ในรัฐธรรมนูญ

๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘

นักปรัชญาชาวเยอรมันคนหนึ่งชื่อ นายเจอร์เก้น ฮาเบอร์มาส (Jürgen Harbermas) ได้เคยเสนอแนวคิดเรื่อง “พื้นที่สาธารณะ” ไว้ตอนหนึ่ง ว่าเป็น “การเปิดให้มีพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาแลกเปลี่ยน ถกเถียง หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นการมาพูดคุยถึงเรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาสาธารณะหรือผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างอิสระ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อส่วนรวม”

ผมว่าเป็นคำกล่าวที่สำคัญอย่างมาก สอดคล้องกับกระแสการพูดคุยกันของผู้คนในสังคมบ้านเรากับกลไกที่ชื่อ “สมัชชาพลเมือง” ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างอยู่ในขณะนี้

ผลผลิตหนึ่งของการมีพื้นที่สาธารณะก็คือ จะเกิดความรู้ระดับชุมชนท้องถิ่นขึ้นมาในประเด็นสาธารณะต่าง ๆ ที่ผ่านการคัดสรร คัดกรอง กลั่นกรองจนตกผลึก จนกลายเป็นประเด็นร่วมของคนที่มาหารือร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่นต่อไปในอนาคต

ลักษณะเด่นของพื้นที่สาธารณะแบบนี้จะมีการสร้างบรรยากาศของการ “สานเสวนาสาธารณะ” โดยที่ยอมรับในความแตกต่างทางความคิดกันได้และมีบรรยากาศการสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ผ่านรูปแบบการสนทนา อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมเกิดขึ้น โดยไม่มีการบังคับข่มขู่ ชักจูง คุกคาม หรือออกคำสั่งให้ต้องพูดแต่อย่างใด

ฮาเบอร์มาสเรียกรูปแบบพื้นที่สาธารณะแบบนี้ว่า “เป็นกระบวนการสร้างประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ” โดยเป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับการถกแถลงสนทนา เพื่อแสวงหาเหตุผลของแต่ละฝ่ายที่เห็นแตกต่างกัน ได้มีพื้นที่ในการเสนอความเห็นอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม มีการให้น้ำหนักกับหลักฐาน เหตุผล ความรู้สึก อารมณ์ และสร้างความเข้าใจในเจตนารมณ์ร่วมมากกว่าการตัดสินใจโดยเสียงข้างมากแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนกับในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน

กล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการประชาธิปไตยทางตรงที่คนในชุมชนท้องถิ่น คนตัวเล็กตัวน้อยจะมาร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือ เปิดกว้างในการเข้าถึง มีความเท่าเทียมในการแสดงความคิดเห็น มีการแลกเปลี่ยนอภิปรายบนฐานของเหตุผล มีการหาข้อสรุปร่วมกัน และนำข้อสรุปไปต่อรองทางนโยบายกับภาครัฐหรือผู้มีอำนาจในสังคมต่อไป

กระบวนการปรึกษาหารือผ่านพื้นที่สาธารณะมีหลายรูปแบบ อาจเป็นเวทีเสวนาแบบเปิด มีลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดเวทีสาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้สนทนาถกเถียงโดยไม่จำกัดเฉพาะแต่ในหน่วยงานหรือกลุ่มของตนเองเท่านั้น หรือเวทีแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ อาทิ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น สถานีโทรทัศน์ วิทยุชุมชน หรืออินเตอร์เน็ต ก็ได้

เราสามารถนำแนวความคิดนี้มาประยุกต์ใช้กับ “สมัชชาพลเมือง” ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในระดับชุมชนท้องถิ่น เพราะการเปิดให้มีพื้นที่สาธารณะจะนำไปสู่การคลี่คลายความกังวลใจร่วมกันของกลุ่มหรือชุมชน อันเกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นเกิดความตระหนักในสิทธิและความสามารถของตนเอง พัฒนา “ความรู้ในระดับชุมชนท้องถิ่นตนเองขึ้นมา” เพื่อที่จะตรวจสอบนโยบายรัฐที่ผู้กำหนดนโยบายดำเนินการโดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น

อีกทั้งยังสามารถยกระดับพัฒนาให้กลายเป็นความคิดร่วมหรือข้อตกลงร่วม จนกลายเป็นกฎหมายหรือนโยบายจากคนข้างล่างภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน ที่เป็นกฎหมายหรือนโยบายที่คนข้างล่างได้ “คิดร่วม เห็นร่วม ตกลงร่วม” และส่งผ่านความคิดร่วมที่ตกผลึกดังกล่าวนั้นในรูปแบบต่างๆ เช่น กฎหมาย นโยบาย ข้อบัญญัติต่างๆ ไปยังคนข้างบนที่อยู่ในระบบประชาธิปไตยตัวแทน

กระบวนการสร้างความรู้ของชนชั้นล่างนี้เอง คือ การชี้ให้เห็นถึง “การไม่สยบยอม” หรือ “การต่อต้าน” อำนาจรัฐที่มาจากศูนย์กลางและเข้ามากำหนดวิถีชีวิตของพวกเขา เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ไร้สิทธิไร้เสียง และต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะการสร้างนโยบายสาธารณะของตนเอง

เป็นการสร้างพลังอำนาจให้แก่ประชาชนในการกำหนดอนาคตของชุมชนท้องถิ่นตนเองนั่นเอง ผ่านการแลกเปลี่ยน โต้เถียง และต่อรองของผู้คนที่เห็นต่างและมีค่านิยมแตกต่าง เพื่อให้ร่วมคิดถึงทางเลือกหรือทางออกของแง่มุมต่าง ๆ ในสังคม

หันกลับไปดู “สมัชชาพลเมือง” ที่เขียนไว้ในหมวด ๗ ว่าด้วยเรื่อง “การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น” มาตรา ๒๑๕ วรรคสามว่า “เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรานี้ พลเมืองอาจรวมกันเป็นสมัชชาพลเมืองซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากองค์ประกอบที่หลากหลายจากพลเมืองในท้องถิ่น และมีความเหมาะสมกับภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ มีภารกิจในการร่วมกับองค์กรบริหารท้องถิ่นในการดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้”

และยังกำหนดรายละเอียดไว้ในวรรคสี่อีกว่า “องค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ที่มา วาระการดำรงตำแหน่ง ภารกิจของสมัชชาพลเมืองและการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

แล้วเกิดความกังวลใจอยู่ไม่น้อย เพราะร่างที่ออกมานี้เสมือนจำกัดบทบาทของสมัชชาพลเมืองไว้ให้ทำงานร่วมกับองค์กรบริหารท้องถิ่นเท่านั้น ไม่สามารถไปร่วมคิด ร่วมพิจารณากับการทำงานขององค์กรราชการส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาค ได้เลย และยังมีเจตนาทำให้สมัชชาพลเมือง กลายเป็นกลไกใหม่ มีโครงสร้างที่ชัดเจนแข็งตัว อาจกลายเป็นของเล่นใหม่ของผู้คนบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น

ในมุมมองของผม ฝันอยากให้ “สมัชชาพลเมือง” เป็น “พื้นที่สาธารณะ” ตามแนวคิดของฮาเบอร์มาส ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่ต้องการเข้ามาเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน

หมายเหตุ บทความนี้เคยนำลงในวารสาร “สานพลัง” ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๕๘

วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ผญา ภูมิปัญญาของคนอีสาน

๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘

“เขาเรียกว่า ผญา ครับ”

เป็นคำตอบที่ผมได้รับจากคนที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ผม หลังจากที่ผมหันไปกระซิบถามเขาว่า สิ่งที่ลุงอีกคนหนึ่งกำลังขับขานอยู่กลางเวทีนั่นเรียกว่าอะไร

เป็นเหตุการณ์ที่ผมได้พบเจอด้วยตัวเอง ในเวทีผู้นำทางความคิดปฏิรูปประเทศไทย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ ที่โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี โดยเป็นเวทีที่เชิญแกนนำกลุ่มและเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน มาช่วยกันระดมสมองกำหนดทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “ประชาเสวนา”

ช่วงหนึ่ง เป็นช่วงที่ต้องมีการสรุปผลการประชุมกลุ่มโดยตัวแทนกลุ่ม ซึ่งปรากฏว่ามีคุณลุงคนหนึ่งที่ลุกขึ้นแล้วขับขานอะไรสักอย่างหนึ่ง คล้าย ๆ บทกลอน แต่ฟังดูก็ไม่ใช่ แต่ไพเราะแปลกหูดี ผมจึงหันไปถามคนข้าง ๆ ถึงชื่อบทขับขานดังกล่าว

ผญา เป็นคำพูดที่ชาวไทยอีสาน ใช้พูดกันเพื่อแสดงถึงภูมิปัญญาของผู้พูด ซึ่งหากไปค้นคว้าผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้น (Search Engine) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า กูเกิ้ล จะพบว่ามีนักวิชาการหลายคนได้ให้ความหมายไว้ อาทิ

ปรีชา พิณทอง ได้ให้ความหมายว่าหมายถึง ปัญญา ความรู้ ความฉลาด คำภาษิตที่มีความหมายลึกซึ้ง

นงลักษณ์ ขุนทวี ให้ความหมายไว้ว่า ผญา เป็นคำภาษาถิ่นอีสาน ตรงกับภาษาไทยกลางว่า ปัญญาหรือปรัชญา เพราะในภาษาถิ่นอีสาน จะใช้เสียง ผ แทนเสียง ป หรือ ปร ในภาษาไทยกลาง เช่น เผด เป็น เปรตโผด เป็น โปรด ผาบ เป็น ปราบ ผาสาด เป็น ปราสาท

สำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สรุปความหมายของ ผญา ไว้ว่าเป็นคำพูดของนักปราชญ์ถิ่นอีสานโบราณ และเป็นภาษาที่มีอายุมากพอสมควร ผญาเป็นคำที่ถ่ายทอดมาจากคำว่า ปัญญา และปรัชญา ซึ่งอพยพมาตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา นักปราชญ์โบราณอีสานท่านเปลี่ยนจากคำเดิมคือ ปัญญา เป็น ผญา เพื่อความสะดวกหรือเพื่อความเหมาะสมกับภาษาถิ่นก็อาจเป็นได้ ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ ดังนั้น คำว่า ผญา ก็คงมีความหมายเช่นเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน

สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นกาพย์กลอนพื้นเมืองอย่างหนึ่ง ที่แสดงความคิด ปัญญา ความฉลาดหลักแหลมของชาวบ้าน พร้อมกันนั้นก็เป็นคำพูดที่แสดงถึงความมีไหวพรับปฏิภาณอันหนักแน่นระหว่างหนุ่มสาว หญิงชาย ที่ยกขึ้นมาเพื่อถามไถ่เกี่ยวกับความรู้รอบตัว ทัศนคติคุณสมบัติที่มีความรักต่อกัน

เมื่อสืบค้นที่มาที่ไปของผญา ในอาจารย์กูเกิ้ลกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่ายากที่จะตัดสินได้ว่ามาจากไหน ใครเป็นผู้ให้กำเนิดหรือริเริ่ม แต่ก็มีผู้รู้และนักวิชาการได้การศึกษาค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับเรื่องนี้และด้สันนิษฐานหรือให้ทัศนะเกี่ยวกับที่มาของผญาไว้ว่าน่าจะมาจาก ๕ ทาง คือ

หนึ่ง ผญาเกิดจากคำสั่งสอนและศาสนาโดยหมายเอาคำสอนของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก ครูบาอาจารย์ที่มีต่อศิษย์ พ่อแม่ที่มีต่อลูกหลาน ทั้งนี้ก็สืบเนื่องจากคำสอนของศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา สอง ผญาเกิดจากขนบธรรมเนียมประเพณี โดยหมายเอา ข้อปฏิบัติที่คนในสังคมอีสานปฏิบัติต่อกันในวิถีชีวิต

สาม ผญาเกิดจากการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว อาจหมายเอาแรงบันดาลใจหรือความรู้สึกภายใจที่อยากจะบอกต่อกันและกัน จึงกล่าวออกมาด้วยคำคมเชิงโวหารภาพพจน์ต่าง ๆ แล้วเกิดการโต้ตอบถ้อยคำแก่กันและกัน

สี่ ผญาเกิดจากการเล่นของเด็กโดยหมายเอา การเล่นกันระหว่างเด็กแล้วมีการตั้งคำถามอย่างเช่น ปริศนาคำทาย แต่แทนที่จะถามโดยตรงกับสร้างเป็นถ้อยคำที่คล้องจองกัน

ห้า ผญาเกิดจากสภาพแวดล้อมหรือเหตุการณ์อื่น ๆ ในวิถีชีวิต โดยหมายเอา สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตแล้วเกิดแรงบันดาลใจให้เกิดถ้อยคำในใจและมีการกล่าวถ้อยคำที่คล้องจองแก่กันและกัน ในโอกาศที่เดินทางไปมาค้าขาย หรือกิจกรรมอื่น ๆ

จากข้อสันนิษฐานข้างต้น จึงเห็นว่าผญานั้นมีความหมายต่อชาวอีสาน ไม่ว่าชาวอีสานอาศัยอยู่สถานที่ใด เมื่อมีกิจกรรมใด ๆ ร่วมกัน หรือสนทนากันในกลุ่ม จะมีการกล่าว ผญาสอดแทรกขึ้นมาเสมอ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ผญามีบทบาทหน้าที่และมีความสำคัญต่อสังคมชไทยอีสานตั้งแต่อตีดจนถึงปัจจุบัน อาจแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ แล้วแต่โอกาสที่จะนำไปใช้ในกิจกรรมนั้น ๆ และสามารถสรุปได้ว่า ผญา หรือคำคม ภาษิตโบราณอีสานนี้ เป็นได้ทั้งคำสอน คำเกี้ยวพาราสี คำปริศนา และคำอวยพร

ที่นี้ลองมาอ่านคำผญาที่ผมขอให้ลุงเขียนให้ผม หลังจากที่ลุงได้ร่ายหรือขับขานผญาจบลงในวันนั้นดูครับ เนื้อหามีอยู่ว่า

“โลกพัฒนาไปหน้า ก้าวเข้าสู่ความเจริญ คนหากเพลินนำใจ คิดสิรวยมีเงินล้าน คิดสิรวยน้ำข้าว กะเอาสารเข้าไปใส่ นาเคยคาดเคยไถ เคยใช้ควายอีตู้ ยามมันขี่ได้เฮ็ดปุ๋ย

ออนซอนเดพี่น้องเอ๋ย เคยขี่ควายกินหญ้าตามคันนา ยามแดดอ่อน เสร็จจากไถคาดแล้ว เที่ยวกินหญ้าเลาะเล็ม สู่มื้อนี้บ่เห็นภาพความทรงจำนั่นแล้ว

หญ้าที่ควายกินผัดเอายาไปฆ่า นาเคยไถควายตู้กะเป็นคูโบต้ามาแทนที่ แอกคาดไถมีบ่แพ้ ทะโยนทิ่มเข้าใส่ไฟ

คิดสิรวยนำอ้อยนำยางผัดม่างถน กูหากคิดมาโดน หนทางรวยมันบ่พอ เกือบตายทิ่มแม่นบ่เห็น คิดสิรวยนำข้าง สองตายายเว้าอ้อม ๆ หัวใส่กินยุ้ม ๆ เงินล้านอยู่แค่วา จงคอยชอมไปหน้าดอนหัวนาสิแปนเป่า

ผักเม็กผักกระโดนผักสมโมง ผักหวานทั้งป่าติ้ว เขาสิย้ายเข้าใส่ไฟ เขาบ่ปราณีเจ้าสิเอายางเข้าไปปลูก คันแทนาเขาสิย้าย เอาอ้อยเข้าใส่แทน

ในน้ำมีปลาในนามีข้าว โบราณเฮาเว้ากันสิบต่อ บาดว่าถึงสู่มือกลับป่นเปลี่ยนไป ในน้ำมีแต่ยา ในนามีแต่อ้อย ฝูงเฮาเห็นแล้วว่าไป่พากันขนเคมีเข้าไปใส่ ปูปลากบเขียดน้อย หอยกะไข้จอยผอม ผมหากชอบมาแล้ว สี่ห้าปีที่ก้าวผ่าน คนกะเจ็บป่วยไข้ ไผหายกะลุกลาม มันหากเถิงยามแล้ว พี่น้องเอยให้ฟ้าวตื่น หันหลังคืนคิดถี่ถ้วน ฐานเค้าพ่อแม่เฮา คันคิดพอเพียงแล้วให้เอาใจตั้งต่อคำว่าพออยู่ที่ใจพ่อนั้น สิสุขล้นลื่นกว่าคน…”

เหล่านี้คือเนื้อหาที่ลุงได้ขับขานในวันนั้น ซึ่งต้องบอกว่าเสียงที่ลุงได้เปล่งออกมานั้นช่างไพเราะ เป็นจังหวะจะโคนและมีพลังเป็นอย่างมาก

นี่คือทุนทางวัฒนธรรมของคนอีสานและของคนไทย ที่เราควรหันมาช่วยกันอนุรักษ์รักษาและทำนุบำรุงไว้ให้ลูกหลานเราได้ยลยินกันไปจนมิมีวันสูญสิ้น

เรามาร่วมกันหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่ดีงามเหล่านี้กันเถอะ

วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

ข้างหลังภาพ

๒๐ มกราคม ๒๕๕๘

แม้นจะล่วงผ่านมากว่า ๗๐ ปี นวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” บทประพันธ์ของ “ศรีบูรพา” หรือ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” ที่แต่งมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๐ เมื่อหยิบมาอ่านครั้งใดก็ยังคงสร้างความตราตรึงใจให้กับผู้อ่านทุกครั้ง

ผมยังจำได้แม้นจะลางเลือนไปบ้างว่าเมื่อเกือบ ๓๐ ปีที่แล้ว (ปี ๒๕๒๘) ผมได้ดูหนังเรื่องนี้ที่นำแสดงโดย “นาถยา แดงบุหงา” และ “อำพล ลำพูน” ยังประทับใจในความรักระหว่าง “หม่อมราชวงศ์กีรติ” กับ “นพพร” มิรู้คลาย และทราบว่าเมื่อปี ๒๕๔๔ ได้มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้ง โดยฝีมือการกำกับของ “เชิด ทรงศรี” และ นำแสดงโดย “คารา พลสิทธิ์” และ "ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์” จึงแสดงถึงความสวยงามของนวนิยายเรื่องนี้

ท่ามกลางสายลมยามเช้า ๆ โชยหอบความเย็นมากระทบผิวกายเพิ่มความหนาวในต้นปีใหม่ ๒๕๕๘ ผมแสนดื่มด่ำไปกับความรัก ความรื่นรมย์ ความสงสาร และความประทับใจในตัวอักษรที่เรียงร้อยไว้อย่างประณีตบรรจงของฝีมือบรมครู เพราะได้ใช้เวลาว่างละเมียดไปกับ “ข้างหลังภาพ” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔๕ ของสำนักพิมพ์ดอกหญ้าที่ซื้อมาวางบนชั้นหนังสือตั้งแต่ปีกลายอีกคราหนึ่ง

นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าของ “นพพร” ที่บอกเรื่องราวความคิด ความรู้สึกของเขาที่มีต่อ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” สุภาพสตรีที่เขาหลงรักตั้งแต่วันแรกพบจวบจนวาระสุดท้ายของเธอ

“หม่อมราชวงศ์กีรติ” ดำรงความเป็นสาวอยู่จนเข้าขีดความสาวทึมทึก ก็ยังไม่พบรักหรือชายที่สมควรแก่ความรักของเธอ จวบจนเธออายุย่างเข้าปีที่ ๓๕ จึงมีข้าราชการชั้นพระยาอายุ ๕๐ ปี ซึ่งเป็นพ่อหม้ายมีลูกติด ๒ คนมาสู่ขอ

ด้วยความหมดหวังที่จะได้พบชายที่ดีกว่านั้นและนิสัยนักศิลปะของเธอทำให้มีความต้องการจะรู้จักความเป็นไปของโลกให้กว้างกว่าที่ได้พบเห็นอยู่ในวงแคบ เธอจึงได้ยอมแต่งงานกับเจ้าคุณผู้นั้น และแล้วก็ได้พบเห็นโลกภายนอกบ้านของเธอสมความปรารถนา “พระยาอธิการบดี” ผู้เป็นสามีพาเธอไปเที่ยวญี่ปุ่น ณ ที่นั้นเอง เธอก็ได้พบกับ “นพพร” นิสิตหนุ่มแห่ง “มหาวิทยาลัยริคเคียว” ซึ่งเป็นบุตรชายของเพื่อนสามี และเป็นผู้ที่สามีของเธอขอร้องให้ช่วยจัดหาบ้านพักและนำเที่ยวด้วยในโอกาสต่าง ๆ


“หม่อมราชวงศ์กีรติ” ยังสาวและสวยสดชื่นอยู่ ด้วยการเป็นสุภาพสตรีสมัยใหม่ที่รู้จักบำรุงรักษาความงามแลวัยไว้ได้ ด้วยเหตุนี้เธอจึงเป็นที่สะดุดตาสะดุดใจของ “นพพร” เด็กหนุ่มผู้ห่างการสมาคมกับสุภาพสตรีไทยถึง ๓ ปีเศษแล้วอย่างมากมาย

การได้พบและติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาที่ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” กับสามีพักอยู่ที่ประเทศนั้นจึงทำให้ “นพพร” กับ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” คุ้นกันจนถึงขีดสนิทสนม ประกอบกับได้อยู่ด้วยกันท่ามกลางบรรยากาศอันสวยงามของประเทศญี่ปุ่น และความงามความเปล่งปลั่งของ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” เป็นสื่อชักจูงใจด้วย ในที่สุด “นพพร” เด็กหนุ่มผู้ไม่เดียงสาก็เกิดความรักขึ้นในหัวใจ

บรรยากาศในเรือลำน้อยท่ามกลางราตรีเดือนหงายในสวนสาธารณะใกล้บ้านพัก ทั้งคู่ได้มีโอกาสอยู่ด้วยกันตามลำพังกว่า ๒ ชั่วโมง ได้เริ่มถักทอความรักขึ้นในหัวใจของ “นพพร” จนทำให้ “นพพร” นอนไม่หลับ คิดฟุ้งซ่านทั้งคืน

การเดินทางไปพักผ่อนและอยู่ด้วยกันถึง ๕ วันที่ “กามากูระ” ยิ่งเพิ่มเติมเชื้อไฟรักให้กับทั้งคู่ให้ลุกลามใจเพิ่มขึ้นไปอีก

เหตุการณ์ได้ดำเนินต่อไป จนวันนั้นซึ่งเป็นวันอาทิตย์ “พระยาอธิการบดี” ได้รับเชิญจากเอกอัครราชฑูตให้ไปร่วมงานพิธีแห่งหนึ่ง จึงอนุญาตให้ “นพพร” พา “หม่อมราชวงศ์กีรติ” ไปเที่ยวเล่นที่ “มิตาเกะ”

ทั้งคู่ต่างได้ใช้เวลาพูดคุยกัน เล่าเรื่องชีวิตให้กับคู่สนทนาฟังอย่างละเอียด ทั้งคู่ใกล้ชิดกันจนในที่สุด “นพพร” ก็อดใจไว้ไม่ได้ เข้าไปประคองร่างของ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” ให้เข้ามาชิดกายเขา ซบหน้าลงที่พวงแก้มสีชมพูอ่อน ประคองกอดและจุมพิต “หม่อมราชวงศ์กีรติ” ที่อยู่แนบกายด้วยสุดแสนเสน่หา พร้อมกับเอ่ยปากบอกรักสตรีผู้มีอายุมากกว่า

ความรักอันบริสุทธิ์และร้อนแรงของผู้ที่เพิ่งมีความรักเป็นครั้งแรกนี้ดูเหมือนจะทำให้ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” นักศิลปะซึ่งไม่เคยได้พบความรักเลยรู้สึกลำบากใจที่จะข่มใจไว้อยู่มากเหมือนกัน แต่ด้วยความที่มีอายุมากแล้ว มีพันธะและการได้รับการอบรมศึกษาในทางดีงามในชีวิตเบื้องต้นมาแล้ว ก็ข่มใจไว้อย่างดี จน “นพพร” ไม่สามารถจะทราบได้ว่า “หม่อมราชวงศ์กีรติ” รักตนหรือไม่

ทั้งสองต้องจากกัน เมื่อกำหนดการเที่ยวญี่ปุ่นของ “พระยาอธิการบดี” ยุติลง แต่ความรักของ “นพพร” คงรบเร้าจิตใจให้กระสับกระส่ายจนถึงขีดสุด จดหมายคือช่องทางบอกความในใจของทั้งคู่ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปความรักในหัวใจก็ค่อย ๆ อ่อนลงตามธรรมชาติของคนที่มีภาระทางด้านการเล่าเรียนที่จะต้องใส่ใจมากกว่า

จนในที่สุดเมื่อสองปีล่วงไปแล้ว “นพพร” ก็รู้สึกใน “หม่อมราชวงศ์กีรติ” อย่างมิตรคนหนึ่งเท่านั้น

หกปีล่วงไป “นพพร” สำเร็จการศึกษาและฝึกหัดงานที่ญี่ปุ่นพอสมควรแก่การแล้วก็เดินทางประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้น “หม่อมราชวงศ์กีรติ” เป็นหม้ายแล้ว และบำเพ็ญชีวิตอยู่อย่างสงบเสงี่ยมที่บ้านหลังหนึ่ง

เขาทั้งสองได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการพบที่ “นพพร” รู้สึกเหมือนพบพี่สาวที่ดีคนหนึ่งเท่านั้น

เวลาหกปีในญี่ปุ่นได้เปลี่ยนจิตใจของ “นพพร” เด็กหนุ่มผู้อ่อนแก่ความรักให้เป็นชายหนุ่มที่ไม่ใคร่จะคิดถึงอะไรนอกจากงานและการตั้งตัวเท่านั้น

เมื่อมาอยู่เมืองไทย น้อยครั้งมากที่ “นพพร” จะเดินทางไปพบกับ “หม่อมราชวงศ์กีรติ”

ในวันนั้น “นพพร” ได้เดินทางไปพบ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” แต่เป้าหมายของการไปพบคือการแจ้งข่าวการแต่งงานกับคู่หมั้นที่บิดาหาไว้ไห้เมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ในญี่ปุ่น

“หม่อมราชวงศ์กีรติ” ตกใจกับข่าวที่ได้รับแจ้งเป็นที่สุด แต่ก็พยายามเก็บความรู้สึกไว้ภายในใจตน สิ่งที่เธอทำดีที่สุดคือคำอวยพร

“ฉันขออวยพรล่วงหน้าไว้ก่อน ฉันเป็นผู้ที่มีความเชื่อถือในความรัก ฉะนั้นฉันขออวยพรให้เธอทั้งสองได้รักกัน จะก่อนหรือหลังแต่งงานก็ตาม แต่ขอให้รักกันอย่างที่สุดและโดยเร็วที่สุด”

เมื่อแต่งงานแล้วได้สองเดือน “นพพร” ได้ทราบว่า “หม่อมราชวงศ์กีรติ” เจ็บหนักด้วยโรควัณโรค เขาจึงเดินทางไปเยี่ยม “หม่อมราชวงศ์กีรติ”

เมื่อทราบว่า “นพพร” มาเยี่ยม “หม่อมราชวงศ์กีรติ” บอกให้น้องสาวและพยาบาลช่วยแต่งตัวในชุดที่สวยที่สุดเพื่อปกปิดร่างกายที่ร่วงโรยจากโรคที่รุมเร้าเธอ

เมื่อทั้งคู่ไปพูดคุยกันระยะหนึ่ง “หม่อมราชวงศ์กีรติ” ได้สอดมือลงไปใต้หมอน แล้วล้วงเอากระดาษภาพแผ่นหนึ่งยื่นมอบให้กับ “นพพร”

สิ่งที่ “นพพร” ได้เห็น คือภาพวาดสีน้ำแสดงถึงภาพลำธารที่ไหลผ่านเชิงเขาแห่งหนึ่ง มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่หนาทึบตามลาดเขา มีทางเดินเล็ก ๆ ผ่านไปบนชะง่อนหิน ตะปุ่มตะป่ำไปด้วยก้อนหินใหญ่น้อย มีพรรณไม้เลื้อยและดอกไม้ป่าสีต่าง ๆ บนต้นเล็ก ๆ ขึ้นเรียงรายอยู่ตามหินผานั้น มุมหนึ่งของภาพมีภาพของคนสองคนนั่งเคียงคู่กันอยู่ ตอนล่างของมุมหนึ่งเขียนไว้ด้วยตัวหนังสือเล็ก ๆ ว่า “มิตาเกะ”

“ความรักของเธอเกิดขึ้นที่นั่น และก็ตายที่นั่น แต่ของอีกคนหนึ่งยังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังแตกดับ”

“หม่อมราชวงศ์กีรติ” กล่าวพร้อมกับมีน้ำตาไหลซึมออกมาจากเปลือกตาที่ปิดลง

อีก ๗ วันต่อมา “นพพร” มาเยี่ยม “หม่อมราชวงศ์กีรติ” อีกครั้งหนึ่ง ในวันนั้น “หม่อมราชวงศ์กีรติ” พยายามจะพูดประโยคสุดท้ายกับ “นพพร” แต่ก็ไม่มีเสียง หมดเรี่ยวแรง เธอจึงขอดินสอกับกระดาษแผ่นหนึ่ง แล้วค่อย ๆ บรรจงเขียนลงบนกระดาษว่า

“ฉันตายโดยปราศจากคนที่รักฉัน แต่ฉันก็อิ่มใจว่า ฉันมีคนที่ฉันรัก”

นวนิยายขนาดความยาวเพียง ๑๕๘ หน้า จบลงเพียงเท่านี้ แต่แม้นจะอ่านจบลงผมยังไม่อาจละวางหนังสือเล่มน้อยหน้าปกสีลายเส้นของหญิงสาวที่แสนสวยเล่มนั้นลงได้ พลันคล้ายมีน้ำตาเอ่อคลอเบ้าอันคงเกิดจากความสงสารต่อ “หม่อมราชวงศ์กีรติ” ที่เก็บซ่อนความรักแรกของตนไว้ในใจ

ผมค่อย ๆ วางหนังสือเล่มน้อยลงบนโต๊ะ พร้อมกับค่อย ๆ หลับตาลงดื่มด่ำกับความประทับใจที่ยากจะอธิบายได้หมดจากบทประพันธ์ของ “ศรีบูรพา” ที่ได้เรียงร้อยตัวอักษรไว้อย่างวิจิตรบรรจงสวยงามจนกลายเป็นนิยายรักที่ดีเยี่ยมเล่มหนึ่งของวงการวรรณกรรมไทย

ยามใดที่เพื่อน ๆ เหงา เศร้า และเครียด ผมเสนอให้หา “ข้างหลังภาพ” มาอ่าน ผมมั่นใจว่าความเหงา ความเศร้าและความเครียดนั้นจะหายเป็นปลิดทิ้งอย่างแน่นอน

วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2558

วันเด็ก : คิดถึงเด็ก

๑๐ มกราคม ๒๕๕๘

......“บัวดอกหนึ่งโผล่พ้น......ชลธาร
สูงสิบนิ้วเบ่งบาน..............อุทกพ้น
หากจักกะประมาณ.............ตื้นลึก สระฤา
ใช้คณิตศาสตร์ตอนต้น..........ตอบได้ ไม่นาน
......โน้มมาลย์จนมิดน้ำ.......พอดี
หมายจุดคู่พื้นนที..............เที่ยงไว้
ยี่สิบเอ็ดนิ้วมี.................ระยะเบี่ยง เบนนอ
ย่อมบอกตื้นลึกได้.............ดั่งนี้ แหละสหาย”

จากปริศนาข้างต้น สระน้ำลึกเป็นจำนวนเต็มนิ้วได้เท่าไร (ตอบเป็นจำนวนเต็ม)

เป็น ๑ ใน ๔๐ ข้อ บนกระดาษคำถามที่ลูกชายส่งให้ผมดู หลังจากกลับมาจากการสอบวัดระดับความรู้ด้านคณิตศาสตร์ของโรงเรียนที่ลูกชายผมเรียนอยู่ในชั้น ม.๒

ผมพยายามหาคำตอบของคำถามข้อนี้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ตัดสินใจโพสต์ขึ้นเฟชบุ๊ค มีเพื่อน ๆ หลายคนต่างให้คำตอบกับคำถามข้อนี้แต่คำตอบก็แตกต่างกันไป ยิ่งซ้ำเสริมให้ผมคิดต่อไปไม่ได้ว่าเป้าหมายของข้อสอบข้อนี้ต้องการอะไรเพิ่มขึ้นไปอีก

ใน “วันเด็กแห่งชาติ” ปีนี้ อดดีใจที่ได้ทำหน้าที่เป็นพ่อที่ดี ขับรถไปส่งให้ลูกชายไปโรงเรียนเพื่อเข้าสอบแข่งขัน ท่ามกลางอากาศที่ไม่ปกติ เพราะมีสายฝนพรำมาแต่เช้า ทำให้อากาศยิ่งเย็นขึ้นจนรู้สึกหนาว ต้องหาเสื้อคลุมมาใส่สร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายตลอดทั้งวัน

กลับจากส่งลูกชายไปโรงเรียน ก็กลับบ้านมานอนอ่านหนังสือที่กำลังถึงบทสนุก เปิดดูทีวีดู โดยมีเสียงเครื่องบินไอพ่นที่หน่วยงานของจังหวัดจัดขึ้นบินผ่านเหนือหมู่บ้านเป็นระยะ ทำให้ต้องชะโงกออกไปนอกบ้านดูเป็นระยะ

ทีวีทุกช่องก็จะรายงานหรือถ่ายทอดสดรายการเกี่ยวกับงานวันเด็กที่หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ จัดขึ้น

“ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต” อันเป็นคำขวัญของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ให้ไว้ในวันเด็กแห่งชาติประจำปีนี้ถูกนำเสนอผ่านรายการทีวีซ้ำไปซ้ำมา

“วันเด็ก” หรือ “Children's Day” เริ่มมีมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ เป็นปีที่ทั่วโลกเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติกันขึ้น ตามความเห็นคล้อยตามกับองค์การสหประชาชาติที่นำปัญหาเรื่องเด็กมาร่างเป็นปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของเด็ก

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่รับข้อเสนอจาก “องค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ” ผ่านมาทาง “กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย” ว่า ประเทศไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็กให้มากขึ้น ดังที่นานาประเทศกำลังทำอยู่

ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๙๘ ได้มีมติรับหลักการให้จัดงาน “วันเด็กแห่งชาติ” ขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการรับไปดำเนินการ และในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๙๘ ประเทศไทยจึงมีงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติและจัดติดต่อกันมาจนถึงปี ๒๕๐๖

ในปีเดียวกันนั้นที่ประชุม “คณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ” มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่เพื่อความเหมาะสม ด้วยเหตุผลว่าในเดือนตุลาคม ประเทศไทยยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็กไม่สะดวกในการมาร่วมงาน รวมทั้งวันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้ ตลอดจนการจราจรก็ติดขัด

คณะรัฐมนตรีได้ประชุมกันในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ เห็นชอบ จึงประกาศเปลี่ยนงานฉลองวันเด็กแห่งชาติจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม มาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ปี ๒๕๐๗ ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว

งานวันเด็กแห่งชาติที่ยึด “วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม” จึงเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี ๒๕๐๘ และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

และในแต่ละปีนายกรัฐมนตรีก็จะมีการกำหนดคำขวัญวันเด็กแห่งชาติให้เด็กได้ท่องจำกัน โดยคำขวัญวันเด็กแห่งชาติแรกมาจากนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” ที่ให้ไว้ว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม”

แวบหนึ่งของความคิด อดที่จะคิดไปถึง “คุณภาพของเด็กไทยในภาพรวม” ไม่ได้

เมื่อศึกษาลงลึกไปดูจำนวนเด็กของประเทศไทย พบว่าขณะนี้ประเทศไทยเรามีเด็กประมาณร้อยละ ๒๐ ซึ่งประมาณคร่าว ๆ ก็คงประมาณ ๑๓ ล้านคน (คิดจากประชากรไทยทั้งหมด ๖๕ ล้านคน)

สิ่งที่น่าตกใจก็คือ ข้อมูลจากเว็บไซด์ของสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า เด็กราว ๖,๔๐๐,๐๐๐ คน เป็นเด็กที่ด้อยโอกาส จำแนกเป็น

• เด็กเร่ร่อนจรจัด มีประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ซึ่งแหล่งชุมชนแออัดที่มีจำนวนเด็กเร่ร่อนมากที่สุดอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร บริเวณสะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ชุมชนคลองเตย ชุมชนรังสิต และชุมชนธัญบุรี รวมทั้งตามเมืองขนาดใหญ่ อาทิ ด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย บริเวณตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว บริเวณชุมชนข้างทางรถไฟ หอนาฬิกา จังหวัดนครราชสีมา และบริเวณเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาครอบครัวแตกแยก ถูกทารุณกรรม บางส่วนออกมาเร่ร่อนเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว และหนีตามเพื่อนมาเร่ร่อน โดยเด็กกลุ่มนี้กำลังเผชิญความเสี่ยงสูงต่อปัญหายาเสพติด การขายบริการทางเพศ และอาชญากรรม

• เด็กไร้สัญชาติ มีราว ๒๐๐,๐๐๐ – ๓๐๐,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้มีอยู่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน ที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษา เป็นเด็กจากชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาพักพิงในประเทศไทย มีทั้งที่อยู่มานานเป็นชั่วอายุคน และเพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ จึงยังไม่ถูกรับรองสัญชาติ ทำให้เด็กในกลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับบริการเท่าเทียมกับเด็กทั่วไป โดยขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่ได้รับสิทธิรับทุนแม้เรียนดี เสี่ยงต่อการถูกล่อลวงไปค้ามนุษย์ ขาดสิทธิทางการรักษาพยาบาล และไม่สามารถเดินทางไกลได้ เพราะไม่ได้รับการรับรองสิทธิการเป็นพลเมือง

• ลูกของแรงงานต่างด้าว มีจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ คน ปัญหาสำคัญของเด็กในกลุ่มนี้คือ ขาดโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากต้องอพยพตามผู้ปกครองเข้ามาทำงาน และเป็นกลุ่มที่ต้องเป็นแรงงานเด็ก จึงไม่มีเวลาเรียนในระบบโรงเรียนปกติ

• เด็กติดเชื้อเอดส์ มีจำนวน ๕๐,๐๐๐ คน ซึ่งติดเชื้อเอดส์จากพ่อแม่ จึงมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นทั้งเด็กกำพร้าและติดเชื้อเอดส์ จึงต้องเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพ ขาดการยอมรับจากสังคมทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ การส่งต่อของเด็กระหว่างองค์กรไม่เป็นความลับ และเด็กที่ป่วยไม่สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้

• เด็กกำพร้าถูกทอดทิ้ง มีเกือบ ๙๐,๐๐๐ คน ซึ่งถูกทอดทิ้งตามโรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก และที่สาธารณะ โดยมีสาเหตุจากแม่ที่อยู่ในวัยเรียน และแม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้

• เด็กถูกบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ที่ถูกบังคับเป็นแรงงานอย่างผิดกฎหมาย มีราว ๑๐,๐๐๐ คน ซึ่งมีจำนวนมากที่ยังไม่เข้าถึงระบบการคุ้มครองของกฎหมายและบริการทางสังคม เนื่องจากสถานประกอบการมีลักษณะซ่อนเร้น เช่น โรงงานขนาดเล็กตามห้องแถวและชานเมือง

• เด็กถูกบังคับให้ค้าประเวณี รวมถึงเด็กที่ทำงานในสถานบริการ เช่น สนุ๊กเกอร์คลับ ผับ คาเฟ่ ฯลฯ โดยพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ที่เข้าสู่การค้าประเวณี ไม่ต่ำกว่า ๒๕,๐๐๐ คน

• เด็กติดยา มีราว ๑๐,๐๐๐ คน กระจายอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ รวมถึงพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

• เด็กยากจนพิเศษ หรือเด็กที่ครอบครัวมีรายได้รวมกันไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาทต่อปี มีจำนวนเกือบ ๓,๐๐๐,๐๐๐ คน

• เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดาร มีจำนวน ๑๖๐,๐๐๐ คน

• เด็กออทิสติก เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ (LD) เด็กสมาธิสั้น (ADHD) มีจำนวนถึง ๒,๕๐๐,๐๐๐ คน อยู่ในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา ซึ่งขาดการส่งเสริมดูแลตามพัฒนาการการเรียนรู้อย่างเข้าใจ

ข้อมูลจากเว็บไซด์ของ สสส. อีกแห่งหนึ่งยังได้เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์เด็ก ไว้เมื่อเดือนมกราคม ปี ๒๕๕๗ ไว้อย่างน่ากังวลว่า

“ในรอบ ๑๕ ปีที่ผ่านมา พบว่า เด็กปฐมวัยประมาณร้อยละ ๓๐ หรือ ๑ ใน ๓ ของเด็กเล็กในประเทศมีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่สูงมาก โดยพบว่ามีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าถึงร้อยละ ๒๐ ตามด้วยพัฒนาการทางปฏิภาณไหวพริบและการเข้ากับสังคม อีกร้อยละ ๕ ซึ่งพัฒนาการทั้งสองด้านจะมีผลต่อระดับสติปัญญา ทำให้เด็กกลุ่มนี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ทั้งด้านทักษะการอ่าน เขียน คิดคำนวณ และไอคิว”

“ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโณทัย” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ชี้ไว้อย่างชัดเจนว่า

“การดูแลเด็กเล็ก ๐ – ๕ ปี นับว่าเป็นยุคทองของพัฒนาการเรียนรู้เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมองมีการพัฒนาการสูงสุดที่จะผลต่อสติปัญญา บุคลิกภาพ และความฉลาดทางอารมณ์ การลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่เด็กเล็ก จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด”

โดยยังได้กล่าวถึงผลการศึกษาของ James Heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล (๒๕๔๒) สำทับไว้ว่า

“การลงทุนในเด็กปฐมวัย จะได้ผลตอบแทนกลับคืนในอนาคตถึง ๗ เท่า นั่นคือ หากลงทุน ๑ บาท จะได้ผลประโยชน์คืนกลับสู่สังคมถึง ๗ บาท โดยพบว่า เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีทั้งสารอาหารและการดูแลสุขภาพที่ดีในช่วงแรกของชีวิตจะมีทักษะทางกายภาพ ไอคิวและอีคิวที่ดีกว่า มีโอกาสที่จะเข้าเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษาสูงกว่า สามารถลดโอกาสการซ้ำชั้นหรือออกกลางคัน และมีโอกาสเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ มีรายได้ให้กับครอบครัวในอนาคต”

นอกจากข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อมูลที่เป็นกระแสฮือฮาให้แก่คนไทยที่สุด นั่นก็คือข้อมูลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน จาก The Global Competitiveness Report ๒๐๑๒ – ๒๐๑๓ ที่จัดให้ประเทศไทยเราอยู่อันดับ ๘ โดยอันดับ ๑ ได้แก่ สิงคโปร์ อันดับ ๒ มาเลเซีย อันดับ ๓ บรูไน ดารุสซาลาม อันดับ ๔ ฟิลิปปินส์ อันดับ ๕ อินโดนีเซีย อันดับ ๖ กัมพูชา อันดับ ๗ เวียดนาม

เห็นข้อมูลที่ค้นพบ เห็นคำถามที่ลูกชายเอาให้ช่วยหาคำตอบ อดไม่ได้ที่จะนำไปเชื่อมโยงกับคำขวัญวันเด็กแห่งชาติปีนี้ที่ว่า “ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต”

แล้วให้บทสรุปให้กับตนเองว่า “ถึงเวลาปฏิรูปประเทศไทย” แล้วจริง ๆ

วันพุธที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2558

เด็กชาย (หญิง) สมัชชาสุขภาพ

๗ มกราคม ๒๕๕๘

“๗ ปี ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สังคมไทยได้อะไร ?”

เป็นคำถามแบบอัตนัยของนักวิชาการรุ่นใหม่รายหนึ่งโพสต์แลกเปลี่ยนกันบนสื่อออนไลน์ ภายหลังจากพิธีปิดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติอิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร ไม่กี่นาที

ผมไม่ทราบเจตนาที่แท้จริงว่าคำถามนี้มีนัยอะไรแฝงเร้นอยู่ภายใต้ตัวอักษรที่เรียงร้อยมาหรือไม่ ?

แต่ถึงจะมีเจตนาอะไรหรือไม่ คำถามนี้นับเป็นคำถามที่ทำให้ผมได้ใช้เวลาในช่วงต้นปีใหม่ทำการทบทวนหวนคิดถึงห้วงเวลา ๗ ปีที่ตนเองได้เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อน “สมัชชาสุขภาพ” ด้วยคนหนึ่ง เพื่อตอบคำถามนี้

ผมใช้คำว่า “เด็กชาย (หญิง)” นำหน้าคำว่า “สมัชชาสุขภาพ” ไว้เพื่อบอกว่า “สมัชชาสุขภาพ” เปรียบเสมือนเด็กที่มีอายุยังไม่ครบ ๘ ปี กำลังเป็นช่วงของการเจริญเติบโต เรียนรู้และปรับตัว

แต่เป็นที่น่ายินดีที่ “สมัชชาสุขภาพ” แม้นจะเป็นเพียงเด็กน้อย แต่ก็มีผู้คนที่เฝ้ามองหรือจับตาดูอยู่ เฉกเช่นเดียวกับนักวิชาการผู้ที่ตั้งคำถามอัตนัยข้างต้น

“สมัชชาสุขภาพ” ตามกฎหมายว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ ที่ตราขึ้นและประกาศใช้เมื่อปี ๒๕๕๐ ได้ถูกนิยามไว้ว่าเป็น “เครื่องมือพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” หรือ “นโยบายสาธารณะที่ดี” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ๑ ใน ๕ ตามกฎบัตรออตตาวา ที่ประเทศต่าง ๆ ได้ไปประชุมกันในเวทีที่ว่าด้วย “การส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่” ที่ประเทศแคนาดา เมื่อปี ๒๕๒๙ เพราะเห็นว่า “นโยบายสาธารณะที่ดี” จะส่งผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวกตามไปด้วย

“นพ.ประเวศ วะสี” ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า “นโยบายสาธารณะที่ดี” เป็นประกอบไปด้วย “กุศล ๓ ประการ” คือ หนึ่ง กุศลทางปัญญา ที่หมายถึงการใช้ข้อมูลวิชาการที่เที่ยงตรงเป็นฐานในการทำงาน สอง กุศลทางสังคม ที่มีการเปิดพื้นที่ให้กับสังคมโดยรวมได้เข้ามาส่วนร่วม และ สาม กุศลทางศีลธรรม ที่มีเป้าหมายเพื่อสาธารณะ ไม่ใช่มีเป้าหมายเฉพาะตน กลุ่มคน หรือกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ฉะนั้น “สมัชชาสุขภาพ” จึงยึดหลัก “กุศล ๓ ประการ” นี้เป็นกรอบในการออกแบบการการทำงานอย่างเคร่งครัด ทั้งสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

ดังนั้น จึงได้เห็นกระบวนการทำงานของ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งกฎหมายให้มีการจัดขึ้นอย่างน้อยปีละครั้งนั้นมีการทำงานเป็นวงจรต่อเนื่องไม่สิ้นสุด นับตั้งแต่ กระบวนการเปิดรับประเด็นเชิงนโยบายจากทุกภาคส่วน การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย การรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ทั่วประเทศ การประชุมเพื่อหาฉันทมติ การนำมติไปขับเคลื่อน และการติดตาม รายงานและประเมินผล

ประเด็นเชิงนโยบายที่องค์กร หน่วยงานและเครือข่ายต่าง ๆ เสนอเข้ามาต้องมีข้อมูลสถานการณ์ที่ชัดเจน มีหลักเกณฑ์ที่เปรียบเสมือนตะแกรงตาถี่ที่รอบด้านคอยกลั่นกรองทั้งด้านความสำคัญ ความเร่งด่วน ความรุนแรงและความเป็นไปได้ในทำงานเป็นเครื่องมือกลั่นกรองว่าประเด็นเชิงนโยบายนั้นเหมาะสมที่จะถูกหยิบยกขึ้นเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติหรือไม่

ประเด็นเชิงนโยบายที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นระเบียบวาระการประชุม ก็จะมีการจัดทำเป็นเอกสารวิชาการที่เรียกว่า “เอกสารหลักและร่างมติ (บางเรื่องอาจจะมีเอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติม)” หรืออาจจะเรียกว่า “เอกสารข้อเสนอเชิงนโยบาย” ก็ต้องมีข้อมูลวิชาการที่ผ่านการวิเคราะห์สังเคราะห์มาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยมีกลไกอย่างน้อย ๓ ชั้น ทั้ง “คณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น” “คณะอนุกรรมการวิชาการ” และ “คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ช่วยกันกลั่นกรองให้เป็นเอกสารที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ

“เอกสารข้อเสนอเชิงนโยบายทุกเรื่อง” จะมีการนำไปเปิดเวทีสาธารณะในพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในวันประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในวันประชุมเพื่อร่วมกันหาฉันทมติก็จะมีผู้แทนกลุ่มเครือข่ายทั้งระดับพื้นที่ และจากกลุ่มเครือข่ายภาครัฐและการเมือง ภาควิชาการและวิชาชีพ และภาคประชาชน ประชาสังคมและเอกชนเข้าร่วมพิจารณากันอย่างครบถ้วน

เมื่อมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติออกมาแล้ว หน่วยงาน องค์กร เครือข่ายต่าง ๆ ก็นำไปดำเนินการในรูปแบบต่าง ๆ กันไป

ในแต่ละปีก็จะมีระบบการติดตามและประเมินผลทั้งการประเมินภายในและภายนอก และที่สำคัญก็คือมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการนำมติไปปฏิบัติร่วมกันในช่วงของการประชุมพิจารณาระเบียบวาระการประชุมที่เป็นเรื่องใหม่คู้ขนานกันไปด้วย

จากแนวปฏิบัติดังกล่าว จึงทำให้ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” เป็นกระบวนการที่นำไปสู่ “นโยบายสาธารณะที่ดี” ที่มีองค์ประกอบตาม “กุศล ๓ ประการ” ที่กล่าวไว้ข้างต้น

จากระยะเวลาที่ผ่านมา ๗ ปี ของการมี “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ในทัศนะของคนทำงานในวงใน ได้เห็นผลที่เกิดขึ้นอยากน้อย ๘ ประการ คือ

หนึ่ง เป็นเครื่องมือเพิ่มตัวละครที่เป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะให้กว้างมากขึ้นกว่าเดิม : ในอดีต เราจะคุ้นชินว่า เจ้าของนโยบายสาธารณะต้องจำกัดอยู่ในองค์กรของรัฐ ตั้งแต่ คณะรัฐบาล กระทรวง กรม กอง จังหวัด อำเภอ ตำบล ที่กระจายอยู่ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น แต่วันนี้ประชาชนทุกกลุ่มทุกพื้นที่สามารถเข้ามาเป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะได้ เราจึงได้เห็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล” ที่เสนอมาโดยประชาชนที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้าในจังหวัดสุรินทร์ หรือเรื่อง “การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง” ที่เสนอมาจากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในจังหวัดสงขลา เป็นต้น

สอง เป็นเครื่องมือเปิดเผยประเด็นปัญหาที่อยู่ใต้พรมต่อสาธารณะ : เมื่อตัวละครที่เป็นเจ้าของนโยบายสาธารณะขยายขอบเขตมากขึ้น ปัญหาที่เคยเก็บดอง ซุกไว้ใต้พรม ก็ถูกเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ ตัวอย่างหนึ่ง คือ เรื่อง “แร่ใยหิน” ซึ่งเป็นสารที่นำไปใช้ในสิ่งของที่ชาวบ้านใช้ในชีวิตประจำวันหลายอย่าง อาทิ กระเบื้องปูหลังคา เบรก ครัชท์รถยนต์ เป็นต้น ในวงการวิชาการยอมรับกันว่าแร่ใยหิน หรือที่เรียกกันในวงการวิทยาศาสตร์ว่า “แร่ไคโซรไทม์” นี้ เป็นสารก่อมะเร็ง หลังจากเรื่องนี้ผ่านออกมาเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อ ๓ – ๔ ปีก่อน ได้ทำให้สังคมได้รับรู้พิษภัยของสารอันตรายนี้กว้างขวางจนถึงทุกวันนี้

สาม เป็นเครื่องมือสร้างเครือข่ายการทำงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบข้ามสาขา : จากหลักการสำคัญอันเป็นฐานคิดสำคัญของสมัชชาสุขภาพ คือ “การมีส่วนร่วม” โดยใช้ “ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” เป็นกรอบคิดในการออกแบบกลไกทุกระดับ ส่งผลให้เกิดการทำงานในลักษณะ “ข้ามสาขา” เกิดการเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าในกระบวนการได้เรียนรู้สิ่งที่แตกต่างไปจากความรู้ของตนเอง เกิดการมองปัญหาและกำหนดทิศทางการพัฒนาที่รอบด้านมากกว่าเดิม

สี่ เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคม : ในบางครั้งเรื่องบางเรื่องมีขอบเขตจำกัดอยู่ในวงวิชาการเฉพาะเท่านั้น อาทิ เรื่องแร่ใยหิน โรคติดต่ออุบัติใหม่ แผนยุทธศาสตร์สุขภาพโลก เป็นต้น แต่เมื่อประเด็นเชิงนโยบายเหล่านี้ถูกกำหนดให้เป็นระเบียบวาระของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแล้ว ได้สร้างการเรียนรู้ให้กว้างขวางออกไปนอกวงการเฉพาะกลุ่มเฉพาะเรื่อง พื้นที่ทั่วประเทศได้มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวไปพร้อม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม แม้ในเรื่องที่เสมือนเป็นประเด็นที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของประชาชนทุกหมู่ทุกเหล่า เช่น การตั้งครรภ์ไม่พร้อมของวัยรุ่น การป้องกันปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วน การป้องกันอุบัติเหตุ เป็นต้น เมื่อได้นำมากำหนดเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ก็ยิ่งเป็นการเสริมการเรียนรู้ให้กับสังคมให้กว้างขวางขึ้น ภายใต้ข้อมูลวิชาการที่ถูกต้องตรงกัน

ห้า เป็นห้องเรียนหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพของคนไทยในการแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของความมีเหตุผลด้วยข้อมูลวิชาการ : ด้วยเงื่อนไขของการเสนอความเห็นในระยะเวลาจำกัด ส่งผลให้เกิดการใช้เวลาที่จำกัดนั้นอย่างคุ้มค่า จากการเฝ้าดูพัฒนาการของการแสดงความคิดเห็นของผู้แทนกลุ่มเครือข่ายที่ได้เสนอความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จะพบว่ามีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดี แต่ละคนจะเสนอความคิดเห็นบนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการ กระชับ ตรงประเด็น ไม่เยิ่นเย้อ แบบน้ำท่วมทุ่งเหมือนในปีแรก ๆ และที่สำคัญเป็นการแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของความคิดเห็นร่วมของกลุ่มเครือข่ายที่ตนเองสังกัด ไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกเหมือนแต่ก่อน ซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่งของสังคมไทย

หก เป็นกระบวนการสร้างการทำงานแบบเครือข่ายอันเป็นพื้นฐานของการสร้างพลังพลเมือง : จากข้อจำกัดและความเป็นไปได้ในการที่จะเปิดให้กับประชาชนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมในกระบวนการของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ จึงมีการกำหนดให้มีการรวมตัวกันเป็น “กลุ่มเครือข่าย” จำแนกเป็น ๔ ประเภท คือ กลุ่มเครือข่ายเชิงพื้นที่ ที่ใช้พื้นที่จังหวัดเป็นฐานในการกำหนด กลุ่มเครือข่ายองค์กรภาครัฐและภาคการเมือง กลุ่มเครือข่ายวิชาการและวิชาชีพ และกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน ประชาสังคมและเอกชน โดยในแต่ละปีจะมีจำนวนกลุ่มเครือข่ายที่แตกต่างกันไป อย่างเช่นในปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๗ มีกลุ่มเครือข่ายรวม ๒๓๔ กลุ่ม

ในวันประชุมจะมีการกำหนดโควตาให้กับกลุ่มเครือข่ายและกลุ่มเพื่อคัดเลือกกันเองให้ได้มาซึ่งผู้แทนกลุ่มเครือข่ายตนให้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อไปร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ถูกกำหนดเป็นระเบียบวาระการประชุม

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมากลุ่มเครือข่ายเชิงพื้นที่มีการยกระดับการทำงานในเชิงเครือข่ายที่ชัดเจนกว่ากลุ่มเครือข่ายอื่น มีการประชุมปรึกษากันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงร่างเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบาย การคัดเลือกผู้แทนกลุ่มเครือข่าย การกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนในการเรียนรู้กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดคู่ขนานกับการประชุมพิจารณาตามระเบียบวาระการประชุม ซึ่งผลจากการทำงานดังกล่าวส่งผลต่อกระบวนการสมัชชาสุขภาพในระดับจังหวัดที่ยกระดับการทำงานตามไปด้วย นอกจากนั้นในแต่ละจังหวัดมีเครือข่ายการทำงานต่อเนื่องในการทำงานเรื่องอื่นๆ อีกด้วย

เจ็ด เป็นเครื่องมือบูรณาการการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน : ทั้งนี้เนื่องจากหลักการ “การมีส่วนร่วม” ทั้งระดับกลไกจัดการ และการเปิดพื้นที่สาธารณะแสดงความคิดเห็นให้กับทุกกลุ่ม ทุกองค์กร และทุกพื้นที่ ทำให้ประเด็นเชิงนโยบายสาธารณะที่ถูกนำมากำหนดเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้รับการวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างรอบด้าน ไม่มีข้อจำกัดในเชิงพันธกิจของหน่วยงาน องค์กรแบบเดิม ๆ ที่ผ่านมา

แปด เป็นตัวแบบให้แก่ “สมัชชา” ที่องค์กร หน่วยงาน หรือเครือข่ายอื่น ๆ เป็นผู้ดำเนินการ : ในปัจจุบันมีการจัดสมัชชาต่าง ๆ มากมาย อาทิ สมัชชาพัฒนาการเด็กและเยาวชนแห่งชาติ สมัชชาผู้สูงอายุ สมัชชาครอบครัว สมัชชาสตรี สมัชชาการศึกษา สมัชชาผู้ด้อยโอกาสและคนพิการ เป็นต้น สมัชชาเหล่านี้ได้มีความพยายามที่จะปรับกระบวนการจาก “สมัชชาสุขภาพ” ไปใช้ให้เหมาะสมกับสมัชชาต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติหลายราย จะได้รับเชื้อเชิญให้เข้าไปร่วมเป็นคณะทำงาน คณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในกลไกจัดสมัชชาต่าง ๆ เหล่านั้นอยู่หลายชุด

“สมัชชาปฏิรูประดับชาติ” นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้นำตัวแบบ “สมัชชาสุขภาพ” ไปใช้ในเกือบทุกขั้นตอน และได้มีการจัดสมัชชาปฏิรูปในช่วงปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๖ รวม ๓ ครั้ง และมีมติออกมาเกือบ ๒๐ มติ และมติเหล่านี้ได้ถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ต้องขอขอบคุณนักวิชาการท่านนั้นที่ช่วยตั้งคำถามว่า “๗ ปี ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สังคมไทยได้อะไร ?”

เพราะเป็นคำถามที่ได้กระตุ้นให้คนทำงานได้ใช้เป็นประเด็นทบทวนการทำงานที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางผลที่เริ่มดอกออกผลข้างต้นย่อมมีสิ่งท้าทายอยู่เสมอ ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ไม่ใช่เป็นของผู้หนึ่งผู้ใด แต่เป็นของทุกคน

เรามาร่วมมือกันอุ้มชูดูแล “เด็กชาย (หญิง) สมัชชาสุขภาพ” ที่ยังอยู่ในวัยเด็ก ให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่า เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อสังคมอันเป็นที่รักของพวกเราทุกคนกันเถอะ