วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ว่าด้วยเรื่อง “เพศสภาพ”

๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘

“การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ เพศสภาพ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย สุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้”

เป็นบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญ ในมาตรา ๓๔ วรรคสาม ฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งมาให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๘

ในวันนั้น ผมรู้สึกดีใจที่พบคำว่า “เพศสภาพ” ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยเหตุผล ๒ ประการ คือ

หนึ่ง เรื่องของ “เพศสภาพ” เป็นเรื่องใหม่สำหรับรัฐธรรมนูญ เพราะหากย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ และปี ๒๕๕๐ จะไม่มีคำนี้ปรากฏอยู่

สอง เรื่องนี้เป็นการผลักดันแรงหนึ่งจากคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส (กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ) สภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าไปเป็นทีมงานเลขานุการของ กมธ.ปฏิรูปชุดนี้

ผมจำได้ว่า ข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ ที่เสนอไปให้บัญญัติเรื่อง “เพศสภาพ” ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มี ๒ จุด คือ

จุดแรก ให้บัญญัติไว้ในบททั่วไปในมาตราที่ว่าด้วยขอบเขตความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ โดยเสนอให้บัญญัติว่า “ประชาชนที่อาศัยในประเทศไทย ไม่ว่าเหล่ากำเนิด สีผิว เพศ เพศสภาพ ภาษา ชาติพันธุ์ สัญชาติ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญเสมอกัน”

จุดที่สอง ได้เสนอให้ขยายขอบเขตการไม่เลือกปฏิบัติให้กว้างขวางขึ้น โดยขยายการไม่เลือกปฏิบัติรวมไปถึง “เหตุมาจากความแตกต่างจากเพศสภาพ ชาติพันธุ์ สัญชาติ สีผิว พื้นเพทางชาติหรือสังคมทรัพย์สินการเกิด” เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐ ที่บัญญัติไว้เพียงว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเหตุเพราะความแตกต่างจากถิ่นกำเนิด ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้”

แม้นความเห็นของ กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนำไปบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพียงจุดเดียว ผมก็ยังดีใจ

เหตุผลที่ กมธ.ปฏิรูปสังคมฯ เสนอไป เพราะเห็นว่าในปัจจุบัน สังคมได้ให้การยอมรับในเรื่องเพศสภาพมากขึ้น แต่ยังไม่เคยบัญญัติรับรองในเรื่องนี้ไว้

และได้ชี้ว่า คำว่า “เพศสภาพ (Gender)” นั้นองค์การอนามัยโลกได้ให้ความหมายไว้ว่าเป็น “คุณลักษณะของผู้หญิงและผู้ชายในบทบาทประกอบสร้างทางสังคม พฤติกรรม กิจกรรมและคุณลักษณะที่ให้สังคมพิจารณาว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง” ในขณะที่คำว่า “เพศ (Sex)” มีความหมายในลักษณะทางชีววิทยาของบุคคล ที่แบ่งเป็นเพศหญิงและเพศชาย แต่เพศภาพมิใช่เป็นเพียงการแบ่งเพศชาย เพศหญิง ทางกายวิภาคและสรีรวิทยาเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการถูกกำหนดโดยสังคมและวัฒนธรรมที่กำหนดความเป็นหญิง-ชาย ความความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทหญิงชาย ลักษณะเฉพาะประจำเพศ (gender stereotype) และความเป็นตัวตนของหญิงชายที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาด้วย

ตัวอย่างเช่น เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ซึ่งมีเพศสภาพที่จะนำไปสู่การกำหนดบทบาทเพศต่าง ๆ มากกว่าเพศหญิงและเพศชายเท่านั้น

อีกไม่นาน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะส่งร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ที่ได้ปรับปรุงภายหลังจากที่รับฟังความคิดเห็นจากกลไกสำคัญในสังคม กลับมาที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ศกนี้

ก็คงลุ้นว่าคำว่า “เพศสภาพ” จะยังคงอยู่หรือถูกตัดทิ้งจากร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจะอยู่หรือถูกตัดทิ้งเรื่องของ “เพศสภาพ” ก็ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยไว้เรียบร้อยแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น