๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘
เช้าของวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องโถงของอาคารรัฐสภาเนืองแน่นไปด้วยประชาชนที่แต่งตัวด้วยอัตลักษณ์ของความเป็นชนเผ่าที่หลากหลาย ถือป้ายที่มีข้อความต่าง ๆ มีทั้งผู้เฒ่า หนุ่มสาวและเด็ก ๆ เกือบ ๒๐๐ คน
ผมรี่เข้าไปยืนฟังคำแถลงการณ์ จึงทราบว่า ผู้คนที่มาร่วมกันนี้เป็นตัวแทนของ “สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” มายื่นหนังสือต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ขอการสนับสนุนผลักดันให้รัฐบาลและคนไทยยอมรับและเคารพการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมทั้งเร่งดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามปฏิญญาสหประชาชาติว่า ด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และให้ช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
“สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” (Council of Indigenous People in Thailand) เป็นสภาที่มีสมาชิกของคนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย รวม ๓๘ ชนเผ่า อาทิ กะเหรี่ยง กุย ขมุ คะฉิ่น ของ ดาราอาง ถิ่น ไทเขิน ไทยทรงดำ ไทพวน ไทยวน ไทยอง ไทลื้อ ไทใหญ่ ไตหย่า บรู บีซู ปลัง ญ้อ ญ้อกุร ภูไท มลาบรี มอญ มอแกน มอแกลน มันนิ ม้ง เมี่ยน โย้ย ลาหู่ ลีซู ลาวกา ลาวคั่ง ลาวแง้ว ลาวเวียง ลเวือะ โส้ แสก อาข่า อึมปี อูรักละโว้ย เป็นต้น
สภาแห่งนี้เป็นผลมาจากกระบวนการรวมตัวเพื่อต่อสู้และเรียกร้องสิทธิภาคประชาชนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้โดยกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การรับรองไว้เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๔ และประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไปแล้ว
แท้จริงแล้วการรวมตัวของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี และได้ประกาศให้วันที่ ๙ สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย”
ในปี ๒๕๕๗ ได้มีการจัดสมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย ครั้งที่ ๑ ที่จังหวัดตาก มีมติรับรอง "ธรรมนูญสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย" ที่ถือเป็นกติการ่วมที่สมาชิกต้องปฏิบัติ
และระหว่างวันที่ ๘ – ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ ได้มีการจัดสมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย ครั้งที่ ๒ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ได้มีการสรรหาสมาชิกสภาและจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการสภา
เป้าหมายหนึ่งของข้อเสนอที่มายื่นต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งนี้ คือ การผลักดันให้เกิดกฎหมายว่าสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย ซึ่งได้มีการยกร่างโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายไว้เรียบร้อยแล้ว
สาระสำคัญที่ปรากฏในร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมีกลไกหลัก ๔ กลไก คือ สภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย คณะกรรมการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย คณะผู้อาวุโส และสำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย
และมีกองทุนสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย เพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชนเผ่า ตลอดจนส่งเสริม ฟื้นฟู อัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรมอันดีงาม ภูมิปัญญา อาหาร สมุนไพร พันธุ์พืช พื้นที่ทำมาหากิน และโครงสร้างการปกครองตามจารีตประเพณีของกลุ่มประชากร ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย
นับเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าชื่นชมของตัวแทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทยครั้งนี้ เพราะเขาได้มายืนยันให้คนไทยและสังคมโลกรู้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเป็นพหุลักษณ์ของผู้คนที่อยู่อาศัยบนพื้นแผ่นดินผืนนี้
และนี่คือความสวยงามของประเทศอันมีนามว่า “ประเทศไทย”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น