๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘
ผมร่ำลาทีมงาน เพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เมื่อนาฬิกาบอกเวลา ๑๙.๐๐ น. ของวันวาน (๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘) ในขณะที่ “คณะกรรมการจัดทำธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุตำบลเขาทอง” กำลังประชุมกันอยู่ที่ “มหาวิทยาลัยต้นมะขาม” บริเวณหน้ากุฏิเจ้าอาวาสวัดเขาทอง ใต้ต้นมะขามต้นใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านขยายไปรอบต้น
ระหว่างขับรถ ใจก็อดนึกขอบคุณผู้หลักผู้ใหญ่ของตำบลเขาทอง โดยเฉพาะ “พระครูนิภาธรรมวงศ์” หรือ “หลวงน้า” ที่พวกเราเรียกขานกัน ที่สละเวลามาเป็นประธานการประชุม
ตลอดจนทีมงานที่เข้มแข็งและมุ่งมั่น ให้ใจเข้ามาร่วมกันทำงานชิ้นนี้
และก็อดไม่ได้ที่ย้อนกลับไปคิดถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้
ทุกปีใหม่ ผมจะได้รับ ส.ค.ส. จากสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร People Audit เมื่อเกือบ ๑๐ ปีก่อน และทำให้ผมรู้สึกรักองค์กรนี้เสมอมา
พร้อมกับคำอวยพรบนแผ่น ส.ค.ส. แล้ว ก็จะแนบแบบประเมินการนำความรู้จากการอบรมว่าทำงานต่ออย่างไร นอกจากนั้นยังแนบใบประกาศเชิญชวนให้ทุนไปทำงานให้กับผู้ผ่านหลักสูตรนี้อีกด้วย
เกือบ ๑๐ ปี ผมได้แต่ระลึกถึงกิจกรรมที่ดีงามนี้เท่านั้น ไม่สนใจที่จะเขียนโครงการไปขอทุนตามใบประกาศนั้นเลย เหตุผลรึแสนมากมายหากขุดขึ้นมาอ้าง
แต่มาปีนี้ เกิดความคิดแปลกไป เกิดอยากใช้โอกาสที่สถาบันหยิบยื่นให้ดู
ประจวบกับที่ผมเองได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในขบวนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และไปเกี่ยวข้องกับงานด้านสังคมกับชุมชน ได้เห็นข้อมูลหนึ่งที่ประเทศเรากำลังเผชิญอยู่ นั่นก็คือ “การเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย” อันหมายถึง สังคมที่มีสัดส่วนคนสูงอายุที่มีอายุเกิน ๖๐ ปี มากกว่าร้อยละ ๑๐ ขณะนี้ประเทศเรามีผู้สูงอายุสูงเกือบร้อยละ ๑๕ และอีกไม่เกิน ๕ ปี จะสูงเป็นร้อยละ ๒๐ ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่รอวันประทุ
งานการศึกษาของ สปช. พบว่า ผู้สูงอายุของไทยกำลังเผชิญปัญหาสำคัญ ๔ ด้าน คือ (๑) ด้านสุขภาพ (๒) ด้านเศรษฐกิจ (๓) ด้านสังคม และ (๔) ด้านสภาพแวดล้อม (ซึ่งจะได้นำมาเสนอให้ทราบในรายละเอียดในตอนต่อ ๆ ไป)
จากโอกาสที่เปิดกว้างพร้อมกับข้อมูลที่พบเห็น จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผมหยิบเรื่องนี้ไปปรึกษาคนข้างตัว ซึ่งอดีตเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ ที่มีที่ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาทอง และเคยทำงานพัฒนาศักยภาพให้กับอาสาสมัครผู้สูงอายุในตำบลเขาทอง เมื่อราว ๓ – ๔ ปีก่อน
คำตอบที่ได้รับคือให้เดินหน้า พร้อมกับคำว่า “ธรรมนูญสุขภาพ” เกิดปิ๊งแว๊บขึ้นในสมอง
เหล่านี้จึงเป็นที่มาของ “โครงการจัดทำธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุตำบลเขาทอง” ที่ถูกจัดส่งไปให้กับสถาบันพระปกเกล้าตามระยะเวลาที่กำหนด
หลังจากชุ่มฉ่ำจากการเล่นรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์เพียง ๒ วัน ก็ได้รับจดหมายแจ้งสถาบันพระปกเกล้าว่า “ยินดีสนับสนุนทุนสำหรับโครงการที่ยื่นไป” ในวงเงิน ๓๕,๐๐๐ บาท และให้ผมตอบยืนยันว่าจะรับทุนหรือไม่
ผมนำเรื่องไปปรึกษาคนข้างตัวอีกครั้ง และเห็นตรงกันว่า “เดินหน้า” เป็นคำรบสอง แม้นวงเงินจะดูน้อยไปสักนิด แต่คิดว่าสามารถทำงานตามแผนให้เสร็จตามเป้าหมายได้
นี่คือจุดเริ่มต้น อันนำมาถึงการประชุมกันที่มหาวิทยาลัยต้นมะขามที่มีเป้าหมายของความอยู่ดีมีสุขของคนเขาทองเป็นปริญญาบัตรที่รอมอบให้ นั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น