วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2558

อาเซียน : ภูมิภาคแห่งความชรา

๘ สิงหาคม ๒๕๕๘

เมื่อสองวันก่อน (๖ สิงหาคม ๒๕๕๘) ได้มีโอกาสไปร่วมเวทีประชุมสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติ ประจำปี ๒๕๕๘ ที่ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ซึ่งทราบว่าจัดมาหลายครั้งแล้ว โดยในปีนี้ได้กำหนดกรอบแนวคิดหลักของงานไว้อย่างทันสมัยว่า “สังคมสูงวัย จะสร้างพลังอย่างไรในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ผมค่อนข้างจะพอรับทราบข้อมูลเรื่องสังคมสูงวัยของประเทศไทยอยู่พอสมควร แต่ไม่เคยรับรู้เลยว่าประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนของเรานี้ แต่ละประเทศมีสัดส่วนของผู้สูงวัยมากน้อยเพียงใด

แต่ในงานนี้ ผมได้พบกับคำตอบเหล่านั้น

คำว่า “สังคมสูงวัย” นั้นหมายถึง “ประเทศที่มีประชากรที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ ๑๐ ของประชากรทั้งประเทศ”

ซึ่งประเทศไทยเรานั้นเข้าสู่สังคมสูงวัย มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ หรือ ๗ ปีล่วงมาแล้ว และคาดหมายกันว่าในอีก ๓ ปีข้างหน้า หรือปี ๒๕๖๔ ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete aged society)” คือ มีจำนวนผู้สูงอายุถึงร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งหมด

และที่น่าตกใจยิ่งขึ้น เมื่อคาดการณ์ว่าในอีกไม่เกิน ๒๐ ปีข้างหน้า หรือปี ๒๕๗๘ จำนวนผู้สูงอายุของไทยเราจะพุ่งไปถึงร้อยละ ๓๐ กลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super aged society)” ในที่สุด นั่นก็หมายความว่า ประชากร ๓ คน จะเป็นผู้สูงอายุ ๑ คน

การเป็นสังคมสูงวัยนั้น ย่อมส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งมิติด้านสุขภาพ ด้านสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ด้านรายได้ อาชีพและเศรษฐกิจ และด้านสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่

ปรากฏการณ์นี้มิได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว เพราะเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่เกือบทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากร และเมื่อหันกลับมามองประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน ภาวการณ์นี้ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

หากเรียงลำดับสัดส่วนผู้สูงอายุของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน จะพบว่า อันดับที่ ๑ เป็นของประเทศสิงค์โปร์ (ร้อยละ ๒๐) อันดับ ๒ คือประเทศไทย (ร้อยละ ๑๕.๘) อันดับ ๓ คือประเทศ เวียดนาม (ร้อยละ ๙.๕) อันดับ ๔ คือประเทศพม่า (ร้อยละ ๗.๕) อันดับ ๕ คือประเทศมาเลเซีย (ร้อยละ ๗.๔) อันดับ ๖ คือประเทศอินโดนีเซีย (ร้อยละ ๗.๑) อันดับ ๗ คือประเทศลาว (ร้อยละ ๖.๙) อันดับ ๘ คือประเทศกัมพูชา (ร้อยละ ๖.๗) อันดับ ๙ คือประเทศบรูไน (ร้อยละ ๕.๗) และอันดับสุดท้ายคือประเทศฟิลิปปินส์ (ร้อยละ ๕.๗) ตามลำดับ

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่ามี ๓ ประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเรียบร้อยแล้ว คือ ประเทศสิงค์โปร์ ไทยและเวียดนาม และคาดว่าในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า อีก ๕ ประเทศก็จะก้าวสู่ประเทศผู้สูงอายุตามมา คือประเทศพม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว และกัมพูชา

โดยอีกไม่เกิน ๓๕ ปี ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะเป็นประเทศสังคมสูงวัยครบทุกประเทศ กลายเป็นภูมิภาคสูงวัย หรือจะเรียกอีกอย่างว่า “ภูมิภาคแห่งความชรา” ก็อาจจะเรียกได้

จึงรู้สึกชื่นชมกับผู้จัดงานสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติในปีนี้ ที่หยิบเรื่องทางสังคมที่สำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในภูมิภาคมาถกแถลงเพื่อการเตรียมพร้อมต่อปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น