วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สมัชชาพลเมือง กลไกใหม่ในรัฐธรรมนูญ

๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘

นักปรัชญาชาวเยอรมันคนหนึ่งชื่อ นายเจอร์เก้น ฮาเบอร์มาส (Jürgen Harbermas) ได้เคยเสนอแนวคิดเรื่อง “พื้นที่สาธารณะ” ไว้ตอนหนึ่ง ว่าเป็น “การเปิดให้มีพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาแลกเปลี่ยน ถกเถียง หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นการมาพูดคุยถึงเรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาสาธารณะหรือผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างอิสระ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อส่วนรวม”

ผมว่าเป็นคำกล่าวที่สำคัญอย่างมาก สอดคล้องกับกระแสการพูดคุยกันของผู้คนในสังคมบ้านเรากับกลไกที่ชื่อ “สมัชชาพลเมือง” ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างอยู่ในขณะนี้

ผลผลิตหนึ่งของการมีพื้นที่สาธารณะก็คือ จะเกิดความรู้ระดับชุมชนท้องถิ่นขึ้นมาในประเด็นสาธารณะต่าง ๆ ที่ผ่านการคัดสรร คัดกรอง กลั่นกรองจนตกผลึก จนกลายเป็นประเด็นร่วมของคนที่มาหารือร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่นต่อไปในอนาคต

ลักษณะเด่นของพื้นที่สาธารณะแบบนี้จะมีการสร้างบรรยากาศของการ “สานเสวนาสาธารณะ” โดยที่ยอมรับในความแตกต่างทางความคิดกันได้และมีบรรยากาศการสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ผ่านรูปแบบการสนทนา อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมเกิดขึ้น โดยไม่มีการบังคับข่มขู่ ชักจูง คุกคาม หรือออกคำสั่งให้ต้องพูดแต่อย่างใด

ฮาเบอร์มาสเรียกรูปแบบพื้นที่สาธารณะแบบนี้ว่า “เป็นกระบวนการสร้างประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ” โดยเป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับการถกแถลงสนทนา เพื่อแสวงหาเหตุผลของแต่ละฝ่ายที่เห็นแตกต่างกัน ได้มีพื้นที่ในการเสนอความเห็นอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม มีการให้น้ำหนักกับหลักฐาน เหตุผล ความรู้สึก อารมณ์ และสร้างความเข้าใจในเจตนารมณ์ร่วมมากกว่าการตัดสินใจโดยเสียงข้างมากแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนกับในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน

กล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการประชาธิปไตยทางตรงที่คนในชุมชนท้องถิ่น คนตัวเล็กตัวน้อยจะมาร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือ เปิดกว้างในการเข้าถึง มีความเท่าเทียมในการแสดงความคิดเห็น มีการแลกเปลี่ยนอภิปรายบนฐานของเหตุผล มีการหาข้อสรุปร่วมกัน และนำข้อสรุปไปต่อรองทางนโยบายกับภาครัฐหรือผู้มีอำนาจในสังคมต่อไป

กระบวนการปรึกษาหารือผ่านพื้นที่สาธารณะมีหลายรูปแบบ อาจเป็นเวทีเสวนาแบบเปิด มีลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดเวทีสาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้สนทนาถกเถียงโดยไม่จำกัดเฉพาะแต่ในหน่วยงานหรือกลุ่มของตนเองเท่านั้น หรือเวทีแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ อาทิ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น สถานีโทรทัศน์ วิทยุชุมชน หรืออินเตอร์เน็ต ก็ได้

เราสามารถนำแนวความคิดนี้มาประยุกต์ใช้กับ “สมัชชาพลเมือง” ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในระดับชุมชนท้องถิ่น เพราะการเปิดให้มีพื้นที่สาธารณะจะนำไปสู่การคลี่คลายความกังวลใจร่วมกันของกลุ่มหรือชุมชน อันเกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นเกิดความตระหนักในสิทธิและความสามารถของตนเอง พัฒนา “ความรู้ในระดับชุมชนท้องถิ่นตนเองขึ้นมา” เพื่อที่จะตรวจสอบนโยบายรัฐที่ผู้กำหนดนโยบายดำเนินการโดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น

อีกทั้งยังสามารถยกระดับพัฒนาให้กลายเป็นความคิดร่วมหรือข้อตกลงร่วม จนกลายเป็นกฎหมายหรือนโยบายจากคนข้างล่างภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน ที่เป็นกฎหมายหรือนโยบายที่คนข้างล่างได้ “คิดร่วม เห็นร่วม ตกลงร่วม” และส่งผ่านความคิดร่วมที่ตกผลึกดังกล่าวนั้นในรูปแบบต่างๆ เช่น กฎหมาย นโยบาย ข้อบัญญัติต่างๆ ไปยังคนข้างบนที่อยู่ในระบบประชาธิปไตยตัวแทน

กระบวนการสร้างความรู้ของชนชั้นล่างนี้เอง คือ การชี้ให้เห็นถึง “การไม่สยบยอม” หรือ “การต่อต้าน” อำนาจรัฐที่มาจากศูนย์กลางและเข้ามากำหนดวิถีชีวิตของพวกเขา เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นท่ามกลางการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ไร้สิทธิไร้เสียง และต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะการสร้างนโยบายสาธารณะของตนเอง

เป็นการสร้างพลังอำนาจให้แก่ประชาชนในการกำหนดอนาคตของชุมชนท้องถิ่นตนเองนั่นเอง ผ่านการแลกเปลี่ยน โต้เถียง และต่อรองของผู้คนที่เห็นต่างและมีค่านิยมแตกต่าง เพื่อให้ร่วมคิดถึงทางเลือกหรือทางออกของแง่มุมต่าง ๆ ในสังคม

หันกลับไปดู “สมัชชาพลเมือง” ที่เขียนไว้ในหมวด ๗ ว่าด้วยเรื่อง “การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น” มาตรา ๒๑๕ วรรคสามว่า “เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรานี้ พลเมืองอาจรวมกันเป็นสมัชชาพลเมืองซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากองค์ประกอบที่หลากหลายจากพลเมืองในท้องถิ่น และมีความเหมาะสมกับภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ มีภารกิจในการร่วมกับองค์กรบริหารท้องถิ่นในการดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้”

และยังกำหนดรายละเอียดไว้ในวรรคสี่อีกว่า “องค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ที่มา วาระการดำรงตำแหน่ง ภารกิจของสมัชชาพลเมืองและการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

แล้วเกิดความกังวลใจอยู่ไม่น้อย เพราะร่างที่ออกมานี้เสมือนจำกัดบทบาทของสมัชชาพลเมืองไว้ให้ทำงานร่วมกับองค์กรบริหารท้องถิ่นเท่านั้น ไม่สามารถไปร่วมคิด ร่วมพิจารณากับการทำงานขององค์กรราชการส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาค ได้เลย และยังมีเจตนาทำให้สมัชชาพลเมือง กลายเป็นกลไกใหม่ มีโครงสร้างที่ชัดเจนแข็งตัว อาจกลายเป็นของเล่นใหม่ของผู้คนบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น

ในมุมมองของผม ฝันอยากให้ “สมัชชาพลเมือง” เป็น “พื้นที่สาธารณะ” ตามแนวคิดของฮาเบอร์มาส ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่ต้องการเข้ามาเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน

หมายเหตุ บทความนี้เคยนำลงในวารสาร “สานพลัง” ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๕๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น