วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ผญา ภูมิปัญญาของคนอีสาน

๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘

“เขาเรียกว่า ผญา ครับ”

เป็นคำตอบที่ผมได้รับจากคนที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ผม หลังจากที่ผมหันไปกระซิบถามเขาว่า สิ่งที่ลุงอีกคนหนึ่งกำลังขับขานอยู่กลางเวทีนั่นเรียกว่าอะไร

เป็นเหตุการณ์ที่ผมได้พบเจอด้วยตัวเอง ในเวทีผู้นำทางความคิดปฏิรูปประเทศไทย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ ที่โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี โดยเป็นเวทีที่เชิญแกนนำกลุ่มและเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน มาช่วยกันระดมสมองกำหนดทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “ประชาเสวนา”

ช่วงหนึ่ง เป็นช่วงที่ต้องมีการสรุปผลการประชุมกลุ่มโดยตัวแทนกลุ่ม ซึ่งปรากฏว่ามีคุณลุงคนหนึ่งที่ลุกขึ้นแล้วขับขานอะไรสักอย่างหนึ่ง คล้าย ๆ บทกลอน แต่ฟังดูก็ไม่ใช่ แต่ไพเราะแปลกหูดี ผมจึงหันไปถามคนข้าง ๆ ถึงชื่อบทขับขานดังกล่าว

ผญา เป็นคำพูดที่ชาวไทยอีสาน ใช้พูดกันเพื่อแสดงถึงภูมิปัญญาของผู้พูด ซึ่งหากไปค้นคว้าผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้น (Search Engine) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า กูเกิ้ล จะพบว่ามีนักวิชาการหลายคนได้ให้ความหมายไว้ อาทิ

ปรีชา พิณทอง ได้ให้ความหมายว่าหมายถึง ปัญญา ความรู้ ความฉลาด คำภาษิตที่มีความหมายลึกซึ้ง

นงลักษณ์ ขุนทวี ให้ความหมายไว้ว่า ผญา เป็นคำภาษาถิ่นอีสาน ตรงกับภาษาไทยกลางว่า ปัญญาหรือปรัชญา เพราะในภาษาถิ่นอีสาน จะใช้เสียง ผ แทนเสียง ป หรือ ปร ในภาษาไทยกลาง เช่น เผด เป็น เปรตโผด เป็น โปรด ผาบ เป็น ปราบ ผาสาด เป็น ปราสาท

สำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สรุปความหมายของ ผญา ไว้ว่าเป็นคำพูดของนักปราชญ์ถิ่นอีสานโบราณ และเป็นภาษาที่มีอายุมากพอสมควร ผญาเป็นคำที่ถ่ายทอดมาจากคำว่า ปัญญา และปรัชญา ซึ่งอพยพมาตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา นักปราชญ์โบราณอีสานท่านเปลี่ยนจากคำเดิมคือ ปัญญา เป็น ผญา เพื่อความสะดวกหรือเพื่อความเหมาะสมกับภาษาถิ่นก็อาจเป็นได้ ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ ดังนั้น คำว่า ผญา ก็คงมีความหมายเช่นเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน

สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นกาพย์กลอนพื้นเมืองอย่างหนึ่ง ที่แสดงความคิด ปัญญา ความฉลาดหลักแหลมของชาวบ้าน พร้อมกันนั้นก็เป็นคำพูดที่แสดงถึงความมีไหวพรับปฏิภาณอันหนักแน่นระหว่างหนุ่มสาว หญิงชาย ที่ยกขึ้นมาเพื่อถามไถ่เกี่ยวกับความรู้รอบตัว ทัศนคติคุณสมบัติที่มีความรักต่อกัน

เมื่อสืบค้นที่มาที่ไปของผญา ในอาจารย์กูเกิ้ลกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่ายากที่จะตัดสินได้ว่ามาจากไหน ใครเป็นผู้ให้กำเนิดหรือริเริ่ม แต่ก็มีผู้รู้และนักวิชาการได้การศึกษาค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับเรื่องนี้และด้สันนิษฐานหรือให้ทัศนะเกี่ยวกับที่มาของผญาไว้ว่าน่าจะมาจาก ๕ ทาง คือ

หนึ่ง ผญาเกิดจากคำสั่งสอนและศาสนาโดยหมายเอาคำสอนของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก ครูบาอาจารย์ที่มีต่อศิษย์ พ่อแม่ที่มีต่อลูกหลาน ทั้งนี้ก็สืบเนื่องจากคำสอนของศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา สอง ผญาเกิดจากขนบธรรมเนียมประเพณี โดยหมายเอา ข้อปฏิบัติที่คนในสังคมอีสานปฏิบัติต่อกันในวิถีชีวิต

สาม ผญาเกิดจากการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว อาจหมายเอาแรงบันดาลใจหรือความรู้สึกภายใจที่อยากจะบอกต่อกันและกัน จึงกล่าวออกมาด้วยคำคมเชิงโวหารภาพพจน์ต่าง ๆ แล้วเกิดการโต้ตอบถ้อยคำแก่กันและกัน

สี่ ผญาเกิดจากการเล่นของเด็กโดยหมายเอา การเล่นกันระหว่างเด็กแล้วมีการตั้งคำถามอย่างเช่น ปริศนาคำทาย แต่แทนที่จะถามโดยตรงกับสร้างเป็นถ้อยคำที่คล้องจองกัน

ห้า ผญาเกิดจากสภาพแวดล้อมหรือเหตุการณ์อื่น ๆ ในวิถีชีวิต โดยหมายเอา สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตแล้วเกิดแรงบันดาลใจให้เกิดถ้อยคำในใจและมีการกล่าวถ้อยคำที่คล้องจองแก่กันและกัน ในโอกาศที่เดินทางไปมาค้าขาย หรือกิจกรรมอื่น ๆ

จากข้อสันนิษฐานข้างต้น จึงเห็นว่าผญานั้นมีความหมายต่อชาวอีสาน ไม่ว่าชาวอีสานอาศัยอยู่สถานที่ใด เมื่อมีกิจกรรมใด ๆ ร่วมกัน หรือสนทนากันในกลุ่ม จะมีการกล่าว ผญาสอดแทรกขึ้นมาเสมอ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ผญามีบทบาทหน้าที่และมีความสำคัญต่อสังคมชไทยอีสานตั้งแต่อตีดจนถึงปัจจุบัน อาจแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ แล้วแต่โอกาสที่จะนำไปใช้ในกิจกรรมนั้น ๆ และสามารถสรุปได้ว่า ผญา หรือคำคม ภาษิตโบราณอีสานนี้ เป็นได้ทั้งคำสอน คำเกี้ยวพาราสี คำปริศนา และคำอวยพร

ที่นี้ลองมาอ่านคำผญาที่ผมขอให้ลุงเขียนให้ผม หลังจากที่ลุงได้ร่ายหรือขับขานผญาจบลงในวันนั้นดูครับ เนื้อหามีอยู่ว่า

“โลกพัฒนาไปหน้า ก้าวเข้าสู่ความเจริญ คนหากเพลินนำใจ คิดสิรวยมีเงินล้าน คิดสิรวยน้ำข้าว กะเอาสารเข้าไปใส่ นาเคยคาดเคยไถ เคยใช้ควายอีตู้ ยามมันขี่ได้เฮ็ดปุ๋ย

ออนซอนเดพี่น้องเอ๋ย เคยขี่ควายกินหญ้าตามคันนา ยามแดดอ่อน เสร็จจากไถคาดแล้ว เที่ยวกินหญ้าเลาะเล็ม สู่มื้อนี้บ่เห็นภาพความทรงจำนั่นแล้ว

หญ้าที่ควายกินผัดเอายาไปฆ่า นาเคยไถควายตู้กะเป็นคูโบต้ามาแทนที่ แอกคาดไถมีบ่แพ้ ทะโยนทิ่มเข้าใส่ไฟ

คิดสิรวยนำอ้อยนำยางผัดม่างถน กูหากคิดมาโดน หนทางรวยมันบ่พอ เกือบตายทิ่มแม่นบ่เห็น คิดสิรวยนำข้าง สองตายายเว้าอ้อม ๆ หัวใส่กินยุ้ม ๆ เงินล้านอยู่แค่วา จงคอยชอมไปหน้าดอนหัวนาสิแปนเป่า

ผักเม็กผักกระโดนผักสมโมง ผักหวานทั้งป่าติ้ว เขาสิย้ายเข้าใส่ไฟ เขาบ่ปราณีเจ้าสิเอายางเข้าไปปลูก คันแทนาเขาสิย้าย เอาอ้อยเข้าใส่แทน

ในน้ำมีปลาในนามีข้าว โบราณเฮาเว้ากันสิบต่อ บาดว่าถึงสู่มือกลับป่นเปลี่ยนไป ในน้ำมีแต่ยา ในนามีแต่อ้อย ฝูงเฮาเห็นแล้วว่าไป่พากันขนเคมีเข้าไปใส่ ปูปลากบเขียดน้อย หอยกะไข้จอยผอม ผมหากชอบมาแล้ว สี่ห้าปีที่ก้าวผ่าน คนกะเจ็บป่วยไข้ ไผหายกะลุกลาม มันหากเถิงยามแล้ว พี่น้องเอยให้ฟ้าวตื่น หันหลังคืนคิดถี่ถ้วน ฐานเค้าพ่อแม่เฮา คันคิดพอเพียงแล้วให้เอาใจตั้งต่อคำว่าพออยู่ที่ใจพ่อนั้น สิสุขล้นลื่นกว่าคน…”

เหล่านี้คือเนื้อหาที่ลุงได้ขับขานในวันนั้น ซึ่งต้องบอกว่าเสียงที่ลุงได้เปล่งออกมานั้นช่างไพเราะ เป็นจังหวะจะโคนและมีพลังเป็นอย่างมาก

นี่คือทุนทางวัฒนธรรมของคนอีสานและของคนไทย ที่เราควรหันมาช่วยกันอนุรักษ์รักษาและทำนุบำรุงไว้ให้ลูกหลานเราได้ยลยินกันไปจนมิมีวันสูญสิ้น

เรามาร่วมกันหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่ดีงามเหล่านี้กันเถอะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น