วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2558

วันเด็ก : คิดถึงเด็ก

๑๐ มกราคม ๒๕๕๘

......“บัวดอกหนึ่งโผล่พ้น......ชลธาร
สูงสิบนิ้วเบ่งบาน..............อุทกพ้น
หากจักกะประมาณ.............ตื้นลึก สระฤา
ใช้คณิตศาสตร์ตอนต้น..........ตอบได้ ไม่นาน
......โน้มมาลย์จนมิดน้ำ.......พอดี
หมายจุดคู่พื้นนที..............เที่ยงไว้
ยี่สิบเอ็ดนิ้วมี.................ระยะเบี่ยง เบนนอ
ย่อมบอกตื้นลึกได้.............ดั่งนี้ แหละสหาย”

จากปริศนาข้างต้น สระน้ำลึกเป็นจำนวนเต็มนิ้วได้เท่าไร (ตอบเป็นจำนวนเต็ม)

เป็น ๑ ใน ๔๐ ข้อ บนกระดาษคำถามที่ลูกชายส่งให้ผมดู หลังจากกลับมาจากการสอบวัดระดับความรู้ด้านคณิตศาสตร์ของโรงเรียนที่ลูกชายผมเรียนอยู่ในชั้น ม.๒

ผมพยายามหาคำตอบของคำถามข้อนี้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ตัดสินใจโพสต์ขึ้นเฟชบุ๊ค มีเพื่อน ๆ หลายคนต่างให้คำตอบกับคำถามข้อนี้แต่คำตอบก็แตกต่างกันไป ยิ่งซ้ำเสริมให้ผมคิดต่อไปไม่ได้ว่าเป้าหมายของข้อสอบข้อนี้ต้องการอะไรเพิ่มขึ้นไปอีก

ใน “วันเด็กแห่งชาติ” ปีนี้ อดดีใจที่ได้ทำหน้าที่เป็นพ่อที่ดี ขับรถไปส่งให้ลูกชายไปโรงเรียนเพื่อเข้าสอบแข่งขัน ท่ามกลางอากาศที่ไม่ปกติ เพราะมีสายฝนพรำมาแต่เช้า ทำให้อากาศยิ่งเย็นขึ้นจนรู้สึกหนาว ต้องหาเสื้อคลุมมาใส่สร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายตลอดทั้งวัน

กลับจากส่งลูกชายไปโรงเรียน ก็กลับบ้านมานอนอ่านหนังสือที่กำลังถึงบทสนุก เปิดดูทีวีดู โดยมีเสียงเครื่องบินไอพ่นที่หน่วยงานของจังหวัดจัดขึ้นบินผ่านเหนือหมู่บ้านเป็นระยะ ทำให้ต้องชะโงกออกไปนอกบ้านดูเป็นระยะ

ทีวีทุกช่องก็จะรายงานหรือถ่ายทอดสดรายการเกี่ยวกับงานวันเด็กที่หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ จัดขึ้น

“ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต” อันเป็นคำขวัญของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ให้ไว้ในวันเด็กแห่งชาติประจำปีนี้ถูกนำเสนอผ่านรายการทีวีซ้ำไปซ้ำมา

“วันเด็ก” หรือ “Children's Day” เริ่มมีมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ เป็นปีที่ทั่วโลกเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติกันขึ้น ตามความเห็นคล้อยตามกับองค์การสหประชาชาติที่นำปัญหาเรื่องเด็กมาร่างเป็นปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของเด็ก

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่รับข้อเสนอจาก “องค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ” ผ่านมาทาง “กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย” ว่า ประเทศไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของเด็กให้มากขึ้น ดังที่นานาประเทศกำลังทำอยู่

ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๙๘ ได้มีมติรับหลักการให้จัดงาน “วันเด็กแห่งชาติ” ขึ้น โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการรับไปดำเนินการ และในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๙๘ ประเทศไทยจึงมีงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันเด็กแห่งชาติและจัดติดต่อกันมาจนถึงปี ๒๕๐๖

ในปีเดียวกันนั้นที่ประชุม “คณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ” มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่เพื่อความเหมาะสม ด้วยเหตุผลว่าในเดือนตุลาคม ประเทศไทยยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็กไม่สะดวกในการมาร่วมงาน รวมทั้งวันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้ ตลอดจนการจราจรก็ติดขัด

คณะรัฐมนตรีได้ประชุมกันในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ เห็นชอบ จึงประกาศเปลี่ยนงานฉลองวันเด็กแห่งชาติจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม มาเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ปี ๒๕๐๗ ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว

งานวันเด็กแห่งชาติที่ยึด “วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม” จึงเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี ๒๕๐๘ และจัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

และในแต่ละปีนายกรัฐมนตรีก็จะมีการกำหนดคำขวัญวันเด็กแห่งชาติให้เด็กได้ท่องจำกัน โดยคำขวัญวันเด็กแห่งชาติแรกมาจากนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” ที่ให้ไว้ว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม”

แวบหนึ่งของความคิด อดที่จะคิดไปถึง “คุณภาพของเด็กไทยในภาพรวม” ไม่ได้

เมื่อศึกษาลงลึกไปดูจำนวนเด็กของประเทศไทย พบว่าขณะนี้ประเทศไทยเรามีเด็กประมาณร้อยละ ๒๐ ซึ่งประมาณคร่าว ๆ ก็คงประมาณ ๑๓ ล้านคน (คิดจากประชากรไทยทั้งหมด ๖๕ ล้านคน)

สิ่งที่น่าตกใจก็คือ ข้อมูลจากเว็บไซด์ของสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า เด็กราว ๖,๔๐๐,๐๐๐ คน เป็นเด็กที่ด้อยโอกาส จำแนกเป็น

• เด็กเร่ร่อนจรจัด มีประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ซึ่งแหล่งชุมชนแออัดที่มีจำนวนเด็กเร่ร่อนมากที่สุดอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร บริเวณสะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ชุมชนคลองเตย ชุมชนรังสิต และชุมชนธัญบุรี รวมทั้งตามเมืองขนาดใหญ่ อาทิ ด่านแม่สาย จังหวัดเชียงราย บริเวณตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว บริเวณชุมชนข้างทางรถไฟ หอนาฬิกา จังหวัดนครราชสีมา และบริเวณเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาครอบครัวแตกแยก ถูกทารุณกรรม บางส่วนออกมาเร่ร่อนเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว และหนีตามเพื่อนมาเร่ร่อน โดยเด็กกลุ่มนี้กำลังเผชิญความเสี่ยงสูงต่อปัญหายาเสพติด การขายบริการทางเพศ และอาชญากรรม

• เด็กไร้สัญชาติ มีราว ๒๐๐,๐๐๐ – ๓๐๐,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้มีอยู่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ คน ที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษา เป็นเด็กจากชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาพักพิงในประเทศไทย มีทั้งที่อยู่มานานเป็นชั่วอายุคน และเพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ จึงยังไม่ถูกรับรองสัญชาติ ทำให้เด็กในกลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับบริการเท่าเทียมกับเด็กทั่วไป โดยขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่ได้รับสิทธิรับทุนแม้เรียนดี เสี่ยงต่อการถูกล่อลวงไปค้ามนุษย์ ขาดสิทธิทางการรักษาพยาบาล และไม่สามารถเดินทางไกลได้ เพราะไม่ได้รับการรับรองสิทธิการเป็นพลเมือง

• ลูกของแรงงานต่างด้าว มีจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ คน ปัญหาสำคัญของเด็กในกลุ่มนี้คือ ขาดโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากต้องอพยพตามผู้ปกครองเข้ามาทำงาน และเป็นกลุ่มที่ต้องเป็นแรงงานเด็ก จึงไม่มีเวลาเรียนในระบบโรงเรียนปกติ

• เด็กติดเชื้อเอดส์ มีจำนวน ๕๐,๐๐๐ คน ซึ่งติดเชื้อเอดส์จากพ่อแม่ จึงมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นทั้งเด็กกำพร้าและติดเชื้อเอดส์ จึงต้องเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพ ขาดการยอมรับจากสังคมทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ การส่งต่อของเด็กระหว่างองค์กรไม่เป็นความลับ และเด็กที่ป่วยไม่สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้

• เด็กกำพร้าถูกทอดทิ้ง มีเกือบ ๙๐,๐๐๐ คน ซึ่งถูกทอดทิ้งตามโรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก และที่สาธารณะ โดยมีสาเหตุจากแม่ที่อยู่ในวัยเรียน และแม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้

• เด็กถูกบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ที่ถูกบังคับเป็นแรงงานอย่างผิดกฎหมาย มีราว ๑๐,๐๐๐ คน ซึ่งมีจำนวนมากที่ยังไม่เข้าถึงระบบการคุ้มครองของกฎหมายและบริการทางสังคม เนื่องจากสถานประกอบการมีลักษณะซ่อนเร้น เช่น โรงงานขนาดเล็กตามห้องแถวและชานเมือง

• เด็กถูกบังคับให้ค้าประเวณี รวมถึงเด็กที่ทำงานในสถานบริการ เช่น สนุ๊กเกอร์คลับ ผับ คาเฟ่ ฯลฯ โดยพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ที่เข้าสู่การค้าประเวณี ไม่ต่ำกว่า ๒๕,๐๐๐ คน

• เด็กติดยา มีราว ๑๐,๐๐๐ คน กระจายอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ รวมถึงพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

• เด็กยากจนพิเศษ หรือเด็กที่ครอบครัวมีรายได้รวมกันไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาทต่อปี มีจำนวนเกือบ ๓,๐๐๐,๐๐๐ คน

• เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถิ่นทุรกันดาร มีจำนวน ๑๖๐,๐๐๐ คน

• เด็กออทิสติก เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ (LD) เด็กสมาธิสั้น (ADHD) มีจำนวนถึง ๒,๕๐๐,๐๐๐ คน อยู่ในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา ซึ่งขาดการส่งเสริมดูแลตามพัฒนาการการเรียนรู้อย่างเข้าใจ

ข้อมูลจากเว็บไซด์ของ สสส. อีกแห่งหนึ่งยังได้เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์เด็ก ไว้เมื่อเดือนมกราคม ปี ๒๕๕๗ ไว้อย่างน่ากังวลว่า

“ในรอบ ๑๕ ปีที่ผ่านมา พบว่า เด็กปฐมวัยประมาณร้อยละ ๓๐ หรือ ๑ ใน ๓ ของเด็กเล็กในประเทศมีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่สูงมาก โดยพบว่ามีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าถึงร้อยละ ๒๐ ตามด้วยพัฒนาการทางปฏิภาณไหวพริบและการเข้ากับสังคม อีกร้อยละ ๕ ซึ่งพัฒนาการทั้งสองด้านจะมีผลต่อระดับสติปัญญา ทำให้เด็กกลุ่มนี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ทั้งด้านทักษะการอ่าน เขียน คิดคำนวณ และไอคิว”

“ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโณทัย” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ชี้ไว้อย่างชัดเจนว่า

“การดูแลเด็กเล็ก ๐ – ๕ ปี นับว่าเป็นยุคทองของพัฒนาการเรียนรู้เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมองมีการพัฒนาการสูงสุดที่จะผลต่อสติปัญญา บุคลิกภาพ และความฉลาดทางอารมณ์ การลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่เด็กเล็ก จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด”

โดยยังได้กล่าวถึงผลการศึกษาของ James Heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล (๒๕๔๒) สำทับไว้ว่า

“การลงทุนในเด็กปฐมวัย จะได้ผลตอบแทนกลับคืนในอนาคตถึง ๗ เท่า นั่นคือ หากลงทุน ๑ บาท จะได้ผลประโยชน์คืนกลับสู่สังคมถึง ๗ บาท โดยพบว่า เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีทั้งสารอาหารและการดูแลสุขภาพที่ดีในช่วงแรกของชีวิตจะมีทักษะทางกายภาพ ไอคิวและอีคิวที่ดีกว่า มีโอกาสที่จะเข้าเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษาสูงกว่า สามารถลดโอกาสการซ้ำชั้นหรือออกกลางคัน และมีโอกาสเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ มีรายได้ให้กับครอบครัวในอนาคต”

นอกจากข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อมูลที่เป็นกระแสฮือฮาให้แก่คนไทยที่สุด นั่นก็คือข้อมูลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน จาก The Global Competitiveness Report ๒๐๑๒ – ๒๐๑๓ ที่จัดให้ประเทศไทยเราอยู่อันดับ ๘ โดยอันดับ ๑ ได้แก่ สิงคโปร์ อันดับ ๒ มาเลเซีย อันดับ ๓ บรูไน ดารุสซาลาม อันดับ ๔ ฟิลิปปินส์ อันดับ ๕ อินโดนีเซีย อันดับ ๖ กัมพูชา อันดับ ๗ เวียดนาม

เห็นข้อมูลที่ค้นพบ เห็นคำถามที่ลูกชายเอาให้ช่วยหาคำตอบ อดไม่ได้ที่จะนำไปเชื่อมโยงกับคำขวัญวันเด็กแห่งชาติปีนี้ที่ว่า “ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต”

แล้วให้บทสรุปให้กับตนเองว่า “ถึงเวลาปฏิรูปประเทศไทย” แล้วจริง ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น