วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง (๔)

๔ กันยายน ๒๕๕๘

ตะวันเริ่มลาลับจากพื้นโลก ความมืดเริ่มปกคลุมบริเวณมหาวิทยาลัยต้นมะขาม แสงไฟจากหลอดนีออนและไฟโคมเริ่มทยอยเปิด สว่างความสว่างไสวไปทั่วลานมหาวิทยาลัยแบบบ้าน ๆ

ท่ามกลางแสงสว่างใต้ต้นมะขามนั้น มีคำถามหนึ่ง ถูกยกขึ้นถามต่อทีมงาน

“ทำธรรมนูญสุขภาพแล้วได้อะไร”

นับเป็นคำถามที่แสนง่ายในการตั้งคำถาม แต่ช่างเป็นคำถามที่หาคำตอบยากจริง ๆ

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่เคยฟังการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากพื้นที่ที่มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ ผมประมวลได้ว่า คุณค่าของธรรมนูญสุขภาพ มีอย่างน้อย ๔ ประการ คือ

หนึ่ง เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชนที่แท้จริง

สอง เป็นเครื่องมือในการยึดโยงให้ผู้คน หน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายต่าง ๆ ในชุมชนให้เข้ามาทำงานด้วยกันภายใต้กรอบทิศทางเดียวกัน

สาม เป็นเครื่องมือในการระดมสรรพกำลังคน กำลังเงินจากแหล่งต่าง ๆ มาพัฒนางานภายใต้กรอบการพัฒนาเดียวกัน นำไปสู่การทำงานที่เสริมกำลังกัน ลดความซ้ำซ้อน เกิดการบูรณาการกันอย่างจริงจัง

สี่ เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความรักสามัคคีของคนในชุมชน

จากคุณค่า ๔ ประการข้างต้น หากเกิดในชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ผลสุดท้ายก็ย่อมตกอยู่กับคนในชุมชนนั้น เพราะกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจะมีพื้นฐานมาจากความต้องการของคนในชุมชนที่เป็นปัญหาหรือภาพฝันที่แท้จริงของคนในชุมชน กิจกรรมไม่ได้จะฝากไว้ให้กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่จะแบ่งหรือเป็นความรับผิดชอบของประชาชนในชุมชน ขององค์กร กลไกหรือหน่วยงานที่ทำงานหรือเข้าไปทำงานในชุมชนนั้น เกิดการบูรณาการงานกัน ขจัดความซ้ำซ้อน และนำไปสู่ความมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในที่สุด

และสิ่งเหล่านี้ก็คือ การจัดการตนเอง หรือการจัดการกันเองภายในชุมชน และจะนำไปสู่ความเป็น “ชุมชนเข้มแข็ง” ในที่สุด อันเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนที่เป็นภาพฝันที่ทุกคนใฝ่หา

แววตาของผู้ร่วมประชุมเริ่มให้การยอมรับถึงเป้าหมายว่าสิ่งที่เขาได้ฟังนั้น ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับผมและทีมงานที่เป็นคนนอกชุมชน แต่ผลประโยชน์สุดท้ายนั่นกลับตกอยู่กับคนในชุมชนนั้นเอง

มันเป็นความสุขที่ยากจะอธิบายได้หมดที่เกิดขึ้นในใจผมและทีมงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น