วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

ฒ ผู้เฒ่าเขาทอง (๕)

๖ กันยายน ๒๕๕๘

ยังไม่ทันที่รอยยิ้มที่เกิดขึ้นจากความสุขที่ได้ชี้ให้เห็นคุณค่าของธรรมนูญสุขภาพว่าจะส่งผลอย่างไรกับคนในชุมชนจางหายไป คำถามที่สำคัญอีกคำถามหนึ่งก็ดังขึ้น

“แล้วมันทำยากไหมล่ะ อ้ายธรรมนูญสุขภาพเนี่ยะ”

ผมหันไปมองเจ้าของต้นเสียงนั้น พร้อมกับรู้สึกขอบคุณเจ้าของคำถามที่ตั้งคำถามตรงกับคำตอบที่ผมเตรียมไว้

ผมเริ่มอธิบายขั้นตอนการจัดทำและขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพ” ว่าสามารถจำแนกเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะการจัดทำกับระยะการขับเคลื่อน

ระยะที่ ๑ เป็นขั้นตอนในระยะการจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพ” มีขั้นตอนที่สำคัญ ประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ ๑ การจัดตั้งกลไกแบบมีส่วนร่วมในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ เพื่อเป็นกลไกในการทำหน้าที่ตั้งแต่การจัดเตรียมข้อมูล การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น การยกร่างและการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพ ที่ยึดการมีส่วนร่วม และสร้างความเป็นเจาของร่วมของคนในชุมชน

ขั้นตอนที่ ๒ การเสาะหาและวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้วตามหน่วยงานต่าง ๆ หรือข้อมูลที่ต้องจัดเก็บขึ้นมาใหม่

ขั้นตอนที่ ๓ การรับฟังความคิดเห็น ทั้งรายพื้นที่และรายกลุ่มที่สำคัญ โดยคำถามสำคัญที่ควรตั้งเพื่อให้ช่วยกันกำหนด นั่นก็คือ (๑) สิ่งที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี ในอีก ๕ ปี ๑๐ ปี ของประเด็นที่จะจัดทำธรรมนูญ (๒) สิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน และแนวทางรักษาหรือพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น และ (๓) สิ่งที่ไม่ดีที่มีอยู่ในชุมชน และแนวทางการแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีนั้นให้กลับเป็นสิ่งดี ๆ

ขั้นตอนที่ ๔ การยกร่างธรรมนูญ โดยการประมวลข้อมูลจากขั้นตอนที่ ๑.๑ และ ๑.๒ มาทำการยกร่างโดยทีมทำงานที่ส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยองค์ประกอบที่สำคัญ ควรมีสัก ๓ ส่วน คือ ส่วนนำ ที่กล่าวถึง ปรัชญา แนวคิดหลัก และความอยากเห็นอยากเป็น อยากมี ที่ได้มาจากการรับฟังความคิดเห็น ส่วนที่ ๒ คือ สาระสำคัญของประเด็น ซึ่งขึ้นอยู่กับประเด็นของธรรมนูญ และข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นเห็น

ขั้นตอนที่ ๕ การรับฟังความคิดเห็นรวม โดยนำร่างธรรมนูญไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ โดยต้องให้ครอบคลุมผู้แทนทั้งระดับพื้นที่ และกลุ่มคน หน่วยงานที่มีอยู่ในชุมชน

ขั้นตอนที่ ๖ ปรับปรุงธรรมนูญ โดยแก้ไขเพิ่มเติมจากข้อมูลที่ได้มาจากขั้นตอนที่ ๔ และถ้าจะให้มีคุณภาพมากขึ้น ควรนำกลับไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ทุกภาคส่วนให้ความเห็นชอบ

ขั้นตอนที่ ๗ การประกาศใช้ธรรมนูญ โดยผมได้เสนอให้ (๑) เชื่อมโยงกับวันสำคัญของชุมชน หรือของชาติ (๒) จัดให้มี “สัจจะในที่แจ้ง” ซึ่งให้คนในชุมชนเปล่งวาจาออกมาพร้อม ๆ กัน (๓) มีพิธีกรรมที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ เช่น การใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือ การจัดทำธรรมนูญเป็นใบลาน เป็นต้น (๔) มีการจัดทำเป็นเอกสารประจำครอบครัว เพื่อให้ทุกครอบครัวได้ศึกษาเนื้อหาของธรรมนูญ และย้ำเตือนใจว่าเป็นสิ่งที่ตนเองได้กล่าว “สัจจะในที่แจ้งไว้”

ระยะที่ ๒ ระยะการขับเคลื่อนธรรมนูญไปปฏิบัติ มีขั้นตอนที่สำคัญ ประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ ๑ การจัดทำแผนการขับเคลื่อน โดยการแปลงเนื้อหาธรรมนูญสุขภาพในแต่ละข้อมาเป็นแผนปฏิบัติการ ที่ระบุว่าจะมีวิธีการขับเคลื่อนอย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ

ขั้นตอนที่ ๒ การติดตามและรายงานผล เพื่อให้เห็นผลและความก้าวหน้าในการนำธรรมนูญไปปฏิบัติ โดยการกำหนดวิธีการและเครื่องมือในการติดตามและรายงานผล

ขั้นตอนที่ ๓ การประเมินผลและทบทวนธรรมนูญ ที่หมายถึงการประเมินผลว่าผลลัพธ์ หรือผลกระทบจากการมีธรรมนูญสุขภาพนั้นได้ส่งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบอย่างไร อะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคและความสำเร็จ ประเด็นไหนควรจะมีการทบทวนแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ได้เห็นการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพ” ในหลายพื้นที่พบว่าบางพื้นที่นำไปจัดทำเป็นข้อบังคับขององค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อการผูกโยงกับงบประมาณประจำปีของท้องถิ่นไปด้วย ซึ่งก็เป็นอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อน

นอกจากนั้นงานหลักใน ๒ ระยะข้างต้นแล้ว ยังไม่ควรละทิ้งงานสนับสนุนที่จะทำให้ “ธรรมนูญ” มีการดำเนินทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยดี ได้แก่ งานสื่อสารสาธารณะ งานจัดการความรู้ และงานบริหารจัดการ ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ

ทุกจังหวะของเวลาที่ค่อย ๆ ผ่านไปแต่ละวินาทีที่ผมเล่าแต่ละขั้นตอน สายตาของผู้เข้าประชุมที่เรียกตัวเองว่า “คณะกรรมการจัดทำธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุตำบลเขาทอง” ที่เป็นผู้คนที่อยู่ในพื้นที่กว่า ๓๐ คน นั้นบ่งบอกให้เห็นถึงแววของความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมในการเรียนรู้ อีกทั้งยังร่วมกันแสดงความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก ทำให้ผมในฐานะผู้เล่าเรื่องมีความสุขและเกิดปิติยิ่งที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมเล็ก ๆ ในครั้งนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น