๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐
อะไรน่ะ ? ต้องเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในสมองของคุณอย่างแน่นอนเมื่ออ่านเจอคำคำนี้
แล้วมันคืออะไรกันล่ะ มันเป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุขหรือ เราคงไม่เกี่ยว พลิกไปอ่านเรื่องอื่นดีกว่า และถ้าคุณคิดเช่นนั้น บอกได้เลยว่าคุณกำลังเสียโอกาสที่สำคัญยิ่งในชีวิตไป
เพราะเรื่อง “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” นี้สำคัญมากกับชีวิตของคุณ และรวมไปถึงครอบครัวคุณ ชุมชนของคุณ สังคมและประเทศชาติของคุณ เพราะเรื่องนี้มันอยู่กับตัวคุณไปทุกขณะ
ผมอยากกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เรื่องของสุขภาพนั้นในปัจจุบันได้ขยายวงออกไปกว้างขวางมาก ขยายทั้งเชิงความหมาย เชิงขอบเขตและเชิงผู้เล่น หรือผู้ที่ต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างสุขภาพ
แม้นคุณจะร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี คุณจะทำหน้าที่หรือบทบาทใดในสังคม หรือคุณจะอายุเท่าใด ก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพ แต่จะเกี่ยวข้องในฐานะผู้ถูกกระทำตั้งในฐานะเป็นผู้กระทำเท่านั้นเอง
รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนประเทศเราให้เป็นประเทศไทย ๔.๐ ที่มีเป้าหมายสำคัญคือ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” จำเป็นอย่างยิ่งที่คนในชาติต้องช่วยกันขับเคลื่อน ไม่นอนรอรับผลจากการกระทำของคนอื่นแต่เพียงฝ่ายเดียว
และที่สำคัญการจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ คนไทยต้องเป็นคนที่มีสุขภาพที่ดีด้วย
ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้ามากในการปฏิรูประบบสุขภาพ จนมีการตรากฎหมายรับรองความหมายของคำว่า “สุขภาพ” ว่ามีขอบเขตกว้างครอบคลุมทั้งมิติทางกาย ทางใจ ทางปัญญาและทางสังคม ทำให้เกิดการขยายวงคนทำงานให้เข้ามาร่วมมือกันสร้างสุขภาพ ไม่จำกัดไว้แค่หน่วยงานและองค์กรภาครัฐเท่านั้น
ยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” คือหลักการสำคัญในการสร้างสุขภาพของประเทศไทยที่หมายถึงต้องดึงพลังความรู้ พลังทางนโยบายและการเมืองและพลังทางสังคมเข้ามาร่วมกันเขยื้อนภูเขาหรือปัญหาอุปสรรคที่ขวางกั้นนั้นให้หมดหรือลดน้อยลง เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีของคนในชาติ
แนวคิดนี้จึงทำให้เกิดองค์กรของรัฐในประเทศไทยมากมายเพื่อไปหนุนเสริมการทำงานในการสานพลังทั้งสามนี้ให้เข้ามาทำงานด้วยกันอย่างพี่อย่างน้อง พูดคุยแบบปรึกษาหารือกัน ช่วยกันคิด ต่อเติมเสริมแต่งและช่วยกันไปขับเคลื่อนชุมชนสังคมตามที่แต่ละคนมีแต่ละคนถนัด
“องค์กรตระกูล ส.” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรม สวรส. หรือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มีบทบาทหลักในการสร้างงานวิชาการและองค์ความรู้ สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มีหน้าที่ในการสร้างสุขภาพ สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหน้าที่สำคัญในเรื่องการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้กับประชาชน สช. หรือสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่ในการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี โดยองค์กรเหล่านี้ต้องทำงานร่วมกับ สธ. หรือกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นองค์กรหลักในระบบสาธารณสุขของประเทศ
นอกเหนือจากองค์กรตระกูล ส. แล้วยังองค์กรมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพอีกมากมายทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม อาทิ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ที่มีบทบาทตามชื่อองค์กรคือการหนุนเสริมองค์กรชุมชนให้เข้ามามีส่วนในการสร้างสุขภาพ ผ่านงานชุมชนเข้มแข็ง งานสัมมาชีพ บ้านมั่นคง สภาองค์กรชุมชน รวมทั้งสวัสดิการชุมชน เป็นต้น
นอกจากองค์กรของรัฐที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีองค์กรภาควิชาการ อาทิ มหาวิทยาลัย วิทยาลัย องค์กรภาคประชาสังคม ทั้งที่เป็นมูลนิธิ สมาคม ชมรม เครือข่าย ทั้งที่เป็นภาคธุรกิจ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย องค์กรสื่อ และภาคประชาชนอีกนับหมื่นองค์กรกระจายตัวทำงานอยู่ในแต่ละจังหวัด
นี่คือความหลากหลายที่สวยงามของผู้เล่นในระบบสุขภาพ จนมีนักวิชาการบางท่านเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทยว่า “เป็นระบบพหุลักษณ์” ที่หมายถึงมีความหลากหลายและซับซ้อนมากมาย
จากกรอบแนวคิดข้างต้นนี้ ทำให้การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี (พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย) เป็นประธาน ได้หยิบเรื่องนี้มาปรึกษาหารือกัน และในที่สุดก็ได้มีมติให้นำเรื่องนี้ไปขบคิดกันต่อระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และในวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ ได้มีการนำประเด็นนั้นมาคุยกันต่อ และท้ายสุดที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันว่าควรจะพัฒนากลไกหรือเครื่องมือเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยในระยะเร่งด่วนเสนอให้มีการจัดตั้ง “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ขึ้น
ข้อเสนอนี้ได้ถูกนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้า คสช. (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้อนุมัติในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ ให้จัดตั้งกลไกนี้ตามที่เสนอได้
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ระยะเวลาที่ผ่านไปประมาณ ๒ ปี บัดนี้รัฐบาลได้มีการประกาศใช้ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน พ.ศ. ๒๕๕๙” ผ่านทางราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๙ เรียบร้อยแล้ว
หลักการสำคัญของ “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ได้ถูกกำหนดไว้ ๔ ประการ คือ (๑) การยึดประโยชน์สุข สุขภาวะประชาชนในเขตพื้นที่เป็นศูนย์กลาง (๒) การยึดหลักการ ทิศทางและแนวทางสำคัญของการปฏิรูประบบสุขภาพภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย ตามมติ ๖.๘ ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นกรอบในการดำเนินการ (๓) กลไกนี้จะทำงานด้วยกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมตามภารกิจ โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน และ (๔) เน้นการประสานพลังปัญญา พลังสังคมและพลังรัฐตามยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”
เป้าประสงค์สำคัญก็คือต้องการให้กลไกนี้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในระดับพื้นที่ และสอดคล้องต่อความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชน ครอบครัวและชุมชนในพื้นที่
เห็นไหมล่ะ คุณคือคนหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับ “เขตสุขภาพเพื่อสุขภาพ” ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้อย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น