วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ

๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐

พระสงฆ์ถือเป็นแก้วดวงหนึ่งในสามดวงแห่งพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ชาวพุทธต้องช่วยกันทำให้แก้วใบนี้สุกสกาวเพื่อทำหน้าที่เผยแพร่และสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนไปอย่างยาวนาน

ปัญหาหนึ่งที่กำลังถาโถมเข้ามาทำลายแก้วดวงนี้ให้มัวหมองและเสื่อมสลายลงนั่นคือ “ปัญหาสุขภาพ”

เคยมีการสำรวจเมื่อหลายปีก่อน ได้ทำการตรวจคัดกรองสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศเกือบหมื่นรูป พบว่า พระภิกษุเกือบ ๑ ใน ๓ มีภาวะเจ็บป่วย โดยป่วยเป็นโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคปอด และโรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนั้นยังพบพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมสุขภาพเสี่ยงทั้งการสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกายที่เพียงพอในสัดส่วนที่สูงมาก

ผมดีใจเป็นอย่างมากที่ทราบว่า ในคราวการประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐ ได้มีมติที่สำคัญเรื่องการดำเนินงานพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ กำหนดให้มีการดำเนินพัฒนาวัดให้เป็น “วัดส่งเสริมสุขภาพ” และให้มีการจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” ขึ้น

ในเรื่องการจัดทำธรรมนูญสุขภาวะพระสงฆ์แห่งชาตินั้น ได้กำหนดเป้าหมายไว้ ๓ ประการ คือ พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และบทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม โดยให้ยึดหลักการสำคัญคือ “การใช้ทางธรรมนำทางโลก”

ผมได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นกลไกดำเนินตามมติมหาเถรสมาคมดังกล่าว ให้เข้าไปร่วมเป็นคณะทำงานจัดทำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติครั้งนี้

คณะทำงานชุดนี้มีพระพรหมวชิรญาณ และพระพรหมบัณฑิต เป็นที่ปรึกษา มีพระราชวรมุนี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธาน และมีพระสงฆ์และคณาจารย์จาก มจร. และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นฝ่ายเลขานุการ

คณะทำงานชุดนี้ทำงานกันอย่างหนัก ภายใต้ระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น เป้าหมายคือการประกาศใช้ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๒ ธันวาคม ศกนี้

กระบวนการทำงานเริ่มตั้งแต่การระดมสมองจากนักวิชาการด้านสุขภาพและด้านพระพุทธศาสนา จนได้ร่างธรรมนูญฯ แล้วนำไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ๕ เวที จนเมื่อวันที่ ๒๗ – ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ ทีมวิชาการชุดเล็กได้มารวมตัวกัน ปรับปรุงร่างตามข้อเสนอแนะที่ได้จากเวทีรับฟังความคิดเห็นมา

เนื้อหาของธรรมนูญฉบับนี้แบ่งออกเป็น

บทนำ ประกอบด้วย คำปรารถ และคำนิยามศัพท์

หมวด ๑ ปรัชญาและแนวคิดหลักของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มี ๖ ข้อ

หมวด ๒ พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย มี ๘ ข้อ

หมวด ๓ ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย มี ๑๐ ข้อ

หมวด ๔ บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม มี ๕ ข้อ และ

หมวด ๕ การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ มี ๘ ข้อ

รวมทั้งสิ้น ๓๗ ข้อ

ในที่นี้ผมขอยกตัวอย่างสาระในธรรมนูญฯ ฉบับนี้ที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นองค์กรต้นสังกัดที่ผมทำงานอยู่ ได้แก่

“ข้อ ๑๑ วัดพึงส่งเสริมให้พระสงฆ์มีความรู้ ความเข้าใจในระบบบริการสาธารณสุข และชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานในระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพตนเอง อุปัชฌาย์อาจารย์และสหธรรมิก”

“ข้อ ๑๘ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึงจัดชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานในระบบหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การควบคุมโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่พระสงฆ์อย่างเป็นธรรมและเหมาะสม"

“ข้อ ๑๙ อปท. และชุมชน พึงสนับสนุนให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การควบคุมโรค และการจัดการปัจจัยที่คุกคามสุขภาพของพระสงฆ์ โดยใช้งบประมาณของ อปท. และกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ และแหล่งงบประมาณอื่น ๆ”

ในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฉบับนี้ไปสู่การปฏิบัติ ทีมงานวิชาการคุยกันว่า สมควรจัดตั้งกลไกที่เป็นทางการทำหน้าที่ขับเคลื่อน ติดตาม ประเมินผลรวมทั้งทบทวนธรรมนูญตามระยะเวลาที่เหมาะสม

นับเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยในการที่สังคมได้หันมาให้ความสำคัญกับพระสงฆ์ หนึ่งในสามแห่งพระรัตนตรัยครั้งนี้

พวกเราในฐานะพุทธศาสนิกชน สามารถมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของแก้วดวงนี้ได้ด้วยตนเอง ทั้งการถวายอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่ถวายสิ่งที่ทำลายสุขภาพของพระสงฆ์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้พระสงฆ์เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนและสังคมในภารกิจที่ท่านทำอยู่ก็ถือเป็นการนำธรรมนูญสุขภาพไปสู่การปฏิบัติด้วย

เรามาร่วมมือกันขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมกันเถิด เพราะหากพระสงฆ์แข็งแรง ก็จะนำไปสู่วัดมั่นคง และชุมชนเข้มแข็งสืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น