วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

วิถีชาวเล : บางคำถามยังไร้คำตอบ

๒๙ เมษายน ๒๕๕๗

ดวงตะวันเบื้องหน้ากำลังคล้อยต่ำ ความร้อนแรงของแสงสุรีย์ดูราวจะผ่อนคลายกว่าตอนที่ผมอยู่กลางทะเลสาบสงขลายิ่งนัก ผมเดินออกจากบ้านท่าเสา หมู่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ด้วยใจที่อ่อนโรยพร้อมกับน้ำหน่วงตา และแสงตะวันที่กำลังลาลับฟ้าทีละน้อย ๆ

“กลับมาอีกนะ” คำพูดที่สั่นเครือของ “บังรัน” พูดก่อนที่ผมจะก้าวขึ้นรถตู้

บ่ายวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๗ ผมนั่งอยู่ที่บ้านของ “บังรัน” คำพูดที่อธิบายเหตุการณ์และตั้งคำถามพรั่งพรูจากผู้ร่วมวงสนทนา บางคำถามยังไร้คำตอบในวันนี้ ความสลับซับซ้อนของปัญหาที่ไม่ใช่มองเห็นได้เพียงบนผิวน้ำทะเล และยังเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตเชิงวัฒนธรรมที่แตกต่าง

พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ได้ก่อเกิดปมความขัดแย้งให้กับผู้คนที่มาใช้เป็นแหล่งทำมาหากิน ปัญหาค่อย ๆ เติบโตขึ้นไปตามกาลเวลาที่หมุนเวียนผ่านไป และทำลายความรักความสามัคคีของคนในชุมชนเดียวกันกลายเป็นความเกลียดชังแม้คนรั้วบ้านติดกัน

“ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” พื้นที่สำคัญที่หลายคนรู้จักดี เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนรอบทะเลสาบหลายจังหวัด มีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า ๘,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม ๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา ครอบคลุม ๑๑ อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอหาดใหญ่ อำเภอสะเดา อำเภอรัตภูมิ อำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ อำเภอควนเนียง อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอนาหม่อม อำเภอบางกล่ำ อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดพัทลุง ครอบคลุมทุกอำเภอ รวม ๑๒ อำเภอ และจังหวัดนครศรีธรรมราช ครอบคลุม ๒ อำเภอ คือ อำเภอชะอวด และอำเภอหัวไทร รวมทั้งสิ้น ๒๕ อำเภอ

"บ้านท่าเสา" เป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพประมงในทะเลสาบสงขลาที่อยู่หน้าบ้านนั้นเอง

ในวงสนทนาตั้งแต่บ่ายจนเย็นย่ำวันนั้น มีคนสำคัญร่วมวงและถือเป็นคนต้นเรื่องนาม “บังรัน” ผู้มีพื้นเพจากแดนดินใต้สุดของประเทศไทย "นราธิวาส" ซึ่งได้ย้ายมาอยู่กินกับภรรยาที่บ้านท่าเสามากกว่า ๑๐ ปีเศษ ยึดอาชีพทำประมงพื้นบ้านด้วย “ไซนั่ง” เครื่องมือดักสัตว์น้ำทั้งปลา ปู กุ้ง

"ไซนั่ง" หรือโป๊ะน้ำตื้นหรือลอบยืน คือ เครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่งแต่ถูกเรียกชื่อแตกต่างกันไป โป๊ะน้ำตื้น คือ ชื่อที่เรียกโดยประกาศของจังหวัดสงขลา ส่วน "ไซนั่ง" หรือลอบยืนเป็นคำนิยมที่ใช้กันในหมู่ชาวประมงและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรวมถึงคนทั่วๆไป

“ไซนั่ง” เป็นโครงไม้รูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์สูง ๑.๕ – ๒.๐ เมตร ยาวประมาณ ๑ เมตร กว้างประมาณ ๖๐-๘๐ เซนติเมตร ตัวโครงของไซนั่งบุด้วยอวนไนลอนขนาดของช่องตา ๑.๕ เซนติเมตร มีช่องเปิดสำหรับสัตว์น้ำเข้าทางหนึ่ง ปากช่องเปิดยาวตลอดเท่ากับความสูงของไซนั่ง มีงาแซงกันสัตว์น้ำว่ายน้ำย้อนกลับออกมา ทางด้านตรงข้ามทำเป็นช่องขนาดเล็ก เปิดปิดได้ อยู่ตรงส่วนล่างของไซนั่ง สำหรับเก็บรวบรวมสัตว์น้ำ มีโครงไม้ประกอบเชือกทำเป็นกว้านไม้ขัด สำหรับชักลอกตัวไซนั่งขึ้นพื้นผิวน้ำ

ชาวประมงจะวางไซนั่งในตอนเย็นและเก็บในตอนเช้าตรู่ ที่ระดับน้ำลึกประมาณ ๑ – ๒ เมตร และจะจุดตะเกียงน้ำมันตั้งไว้ส่วนบนของ "ไซนั่ง" ด้วย เพื่อให้มีแสงสว่างช่วยล่อกุ้งและปลาเข้ามา

"ไซนั่ง" เข้ามาในพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตั้งแต่ช่วงประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๐ใช้กันแพร่หลายตั้งแต่บริเวณทะเลสาบสงขลาตอนล่างในจังหวัดสงขลา จนถึงอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เนื่องจากสามารถจับกุ้งได้เป็นจำนวนมากกว่าเครื่องมือประเภทอื่น ๆ อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอย่างดี แม้ว่าการวาง "ไซนั่ง" แต่ละลูกต้องใช้ต้นทุนประมาณลูกละ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงกว่าเครื่องมือประเภทอื่น ๆ ก็ตาม

“บังรัน” เล่าให้ฟังว่า “ไซนั่ง” หนึ่งลูกจะจับสัตว์น้ำไปขายได้คืนละประมาณ ๓๐๐ – ๕๐๐ บาท

เมื่อปี ๒๕๕๖ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพัทลุง ได้สำรวจและสรุปจำนวน "ไซนั่ง" ในทะเลสาบ พบว่าในจังหวัดสงขลามีจำนวน ๒๕,๑๗๘ ลูก และจังหวัดพัทลุงมี ๔,๔๒๖ ลูก

“บังรัน” เล่าให้ฟังว่าชาวบ้านท่าเสาใช้ “ไซนั่ง” เป็นเครื่องมือทำมาหากินมาโดยตลอด แต่ในช่วง ๔ – ๕ ปีหลังมานี้ มีชาวบ้านหันมาใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “อวนรุน” เพราะสามารถจับสัตว์น้ำได้มากกว่า และส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว คืนหนึ่งได้ไม่น้อยกว่า ๑๕,๐๐๐ บาท ในขณะที่ชาวประมงที่ยังใช้ไซนั่งจะมีรายได้คืนหนึ่งสูงสุดไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาทเพียงเท่านั้น

ด้วยรายได้ที่ดีขึ้นกว่าหลายเท่าตัว ชาวบ้านในตำบลจึงหันไปใช้ “อวนรุน” เพิ่มขึ้นทุกวัน จนขณะนี้ชาวบ้านกว่า ๙๐ % หันมาใช้ “อวนรุน” กันหมดแล้ว

“อวนรุน” เป็นเครื่องมืออวนรูปถุงที่ใช้เครื่องยนต์ผลักดันเครื่องมืออวนที่ยึดติดกับเครื่องมืออวน และติดตั้งบริเวณหัวเรือ ให้เคลื่อนที่ในแนวราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สัตว์น้ำที่อยู่ด้านหน้าใกล้ปากอวนเข้ามาติดอยู่ที่ก้นถุงอวน เครื่องมือประเภทนี้ ปากอวนจะเป็นสามเหลี่ยมเอนตามคันรุน

สัตว์น้ำที่เป็นเป้าหมายหลักของ “อวนรุน” คือ กุ้งทะเลทุกชนิด ปลากะตักชนิดตัวแบน หมึกและเคย แต่เนื่องจากปากอวนกางออกเป็นรูปสามเหลี่ยม และเปิดสูงมาก จึงทำให้จับสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ที่อาศัยบริเวณเดียวกันได้ด้วย

ด้วยความเกรงว่าสัตว์น้ำในท้องทะเลสาบสงขลาจะหมดไป “บังรัน” และชาวบ้านรอบๆทะเลสาบสงขลาจึงลุกขึ้นมารณรงค์ให้ชาวบ้านกลับมาใช้ “ไซนั่ง” เหมือนเดิม มีการร้องเรียนกับทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การกระทำดังกล่าวนำมาซึ่งความเกลียดให้กับชาวบ้านที่ใช้ “อวนรุน” เพราะต้องถูกตรวจตราจากเจ้าหน้าที่ของรัฐมากขึ้น

บางครั้งก็โดนจับ ถูกเรียกค่าปรับ แต่ด้วยรายได้ที่ทบทวีเมื่อเทียบกับค่าปรับเพียง ๕,๐๐๐ บาทเท่านั้น อีกทั้งชาวบ้านยังมีการส่งสัญญาณกันเองเมื่อมีเรือตรวจการณ์แล่นมาเพื่อหลบหลีกจากการตรวจจับจากเจ้าหน้าที่

สิ่งที่ไม่คาดคิดก่อนที่ผมและทีมงานจะไปร่วมวงสนทนาเพียง ๒ วัน นั่นก็คือ “ไซนั่ง” ของ “บังรัน” ที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบจำนวนกว่า ๑๕ ลูก ถูกกีดจนเสียหายไม่สามารถจับดักสัตว์น้ำได้อีกต่อไป นอกจากต้องประกอบขึ้นมาใหม่เพียงเท่านั้น

“บังรัน” เล่าให้ฟังว่า “ไซนั่ง” เหล่านี้ เพิ่งนำมาลงได้เพียงคืนเดียว เงินที่ลงทุนต่อ “ไซนั่ง” ๑ ลูก เกือบ ๒ หมื่นบาท ฉะนั้นงานนี้จึงแทบหมดตัว เพราะค่าเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนี้กว่าสองแสนบาท

หญิงชาวบ้านคนหนึ่งที่นั่งร่วมวงสนทนาอยู่ด้วย ระบายความอัดอั้นใจว่า “เริ่มจะเปลี่ยนความตั้งใจ หันไปทำอวนรุนกับเขาบ้าง แต่ด้วยใจที่ยังอยากอนุรักษ์สัตว์น้ำให้อุดมสมบูรณ์ตลอดไป จึงระงับไม่เห็นแก่รายได้ที่ยั่วยวน”

เรือไม้ความยาวประมาณ ๕ เมตร ท้ายติดเครื่องยนต์ นำผมและทีมงานอีก ๒ คน แล่นฝ่าเปลวแดดอันแรงกล้าไปบนผืนน้ำของท้องทะเลสาบ ละอองน้ำกระเซ็นมาปะทะใบหน้า สร้างความสดชื่นได้พอควร สองฟากซ้ายขวาที่เรือแล่นผ่านไป เต็มไปด้วย “ไซนั่ง” วางเรียงรายสุดลูกหูลูกตา

กว่าครึ่งชั่วโมงที่ต้องใช้เวลานั่งอยู่บนเรือที่ขับโดยเพื่อนบ้าน “บังรัน” พาผมและทีมงานมาหยุดอยู่ ณ จุดตั้ง “ไซนั่ง” ลูกหนึ่ง

“บังรัน” ค่อย ๆ ก้าวไต่ขึ้นไปบนยอดของไซนั่งที่ทำด้วยไม้ไผ่อย่างคล่องแคล่ว ในมือหยิบไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๒ นิ้ว ยาวประมาณ ๑ ศอก ติดมือขึ้นไปด้วย “บังรัน” ใช้ไม้อันนั้นสอดเข้าไปในช่องเชือก แล้วค่อย ๆ ม้วนไม้ ทำให้ “ไซนั่ง” ที่จมอยู่ในน้ำ ค่อย ๆ ขยับขึ้นสู่บนผืนน้ำ จนเห็นฐานของ “ไซนั่ง”

ภาพที่ปรากฏต่อสายตาทุกคนที่ไปด้วยกันก็คือ ตาข่ายที่ผูกร้อยรอบตัวโครง “ไซนั่ง” มีรอยถูกของมีคมตัดขาดเป็นช่องโหว่เต็มไปหมด ในใจผมอยากจะเห็นปลาหรือกุ้งสักตัวติดอยู่ในไซนั่งจำเป็นต้องสลายไป

น้ำเสียงของ “บังรัน” เมื่อเห็น “ไซนั่ง” ของตนโดยทำลายอย่างรุนแรง เปลี่ยนไปคล้ายคนจะร้องไห้ คำพูดต่าง ๆ ระบายออกมาบ่งบอกถึงความเจ็บช้ำที่อยู่ในใจของเขา

พวกเราทำได้เพียงการให้กำลังใจชายผู้ถูกกระทำเท่านั้น

เขาบอกกับผมว่า เขาไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า จะโดนกระทำรุนแรงขนาดนี้ เขาไม่กล้าที่จะลงทุนซ่อมแซมไซนั่งที่ถูกทำลาย เพราะเกรงว่าจะโดนลอบกลั่นแกล้งแบบเดิมอีก

วงสนทนาที่ประกอบด้วยชาวบ้านกว่า ๑๐ คน และคณะของเรา ๕ คน นั่งปรึกษาหารือกัน และเห็นพ้องร่วมกันว่า ทางออกเฉพาะหน้าที่เป็นไปได้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องใน ๔ แนวทาง

(๑) ประสานงานกับหน่วยงานด้านการประมงที่ดูแลบริเวณดังกล่าว ให้เร่งรัดการประกาศให้บริเวณพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่อนุรักษ์สัตว์น้ำ ห้ามใช้อวนรุน
(๒) ในระหว่างที่รอการดำเนินงานจากภาครัฐ ควรมีการจัดทำป้ายรณรงค์ให้ชาวบ้านตระหนักและร่วมกันอนุรักษ์สัตว์น้ำที่เหมาะสมกับฤดูกาล
(๓) ทำความเข้าใจกับโต๊ะอิหม่าม ให้ใช้พิธีละหมาดทุกวันศุกร์ เน้นย้ำเรื่องประกาศจังหวัดที่ห้ามใช้อวนรุนในพื้นที่อนุรักษ์ดังกล่าว
(๔) ตั้งวงปรึกษาหารือ เพื่อสร้างกติกาการทำมาหากินร่วมกันในชุมชน

แต่สำหรับผมแล้วแม้จะมีหลักการทำงาน “เรื่องการมีส่วนร่วม” เป็นหลักเสมอมา แต่สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ผมคงไม่กล้าที่จะเสนอให้ตั้งวงพูดคุยโดยใช้หลักการดังกล่าว

เพราะเสียงของ “บังรัน” ที่กระซิบบอกกับผมว่า “แม้แต่คนที่อยู่ข้างบ้าน เขาก็ใช้อวนรุน และตอนนี้เขาไม่คุยกับผมแล้ว”

เมื่อต่างฝ่ายต่างกล่าวถึงเป้าหมายบนจุดยืนที่แตกต่างกันและดูเหมือนจะเป็นเส้นขนานที่ยากจะมาบรรจบกันได้ อะไรคือดุลยภาพของการพัฒนาที่นำมาซึ่งความยั่งยืนรอบด้าน

คำถามท้าท้ายสำคัญที่ว่า จะพัฒนา จะอนุรักษ์ไปทำไม่ เมื่อกระทำแล้ว คนอยู่ไม่ได้ หรือ จะเหลือเพียงผู้คนที่ยากจนและหิวโหย บนวาทกรรมแห่งสิ่งที่เรียกว่า การพัฒนา

ฉะนั้นการพัฒนาที่มีคนเป็นตัวตั้งน่าจะเป็นคำตอบที่สำคัญ ที่จะใช้กำหนดทิศทางแห่งการพัฒนาทะเลสาบสงขลาในอนาคต

การค้นหาคำตอบเรื่องนี้จึงท้าทายสำหรับผมและ “บังรัน” ยิ่งนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น