วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2557

บันทึกไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม : วันรับเสด็จ

๖ เมษายน ๒๕๕๗

วันที่ ๖ เมษายน ปีนี้เป็น "วันจักรี" วันย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยในวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสถาปนาราชวงศ์จักรี และขึ้นครองราชย์เป็นองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในวันที่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕ เป็นต้นมา

นับจากนั้นเป็นต้นมาประเทศไทยก็มีพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชย์มาจนถึงทุกวันนี้ และได้นำพาประเทศไทยผ่านปัญหาอุปสรรค และก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีการพัฒนาระดับแนวหน้าประเทศหนึ่งในสังคมโลกใบนี้

ฉะนั้นในวาระที่วันจักรีได้เดินมาอีกวาระหนึ่ง ผมในฐานะประชาชนคนไทยที่เกิดและเติบโตอยู่บนพื้นแผ่นดินไทยแห่งนี้ ใคร่ขอน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ท่ามกลางความร้อนระอุของคิมหันตฤดูที่แผ่คลุมประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ ผมนึกถึงเรื่องราวเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ตนเองได้มีโอกาสใกล้ชิดพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่งขึ้นมา และขอใช้โอกาสวันหยุดนี้นำความปลาบปลื้มดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟังครับ

ย้อนไปเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นวันแรกของพิธีเปิดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๔๒ และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ ๑๒” ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร โดยมี “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” อันเป็นที่รักของคนไทยทุกคน เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานในครั้งนี้

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งนัก ที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมในพิธีเปิดงานวันนั้น ทั้งเฝ้ารับเสด็จและถวายหนังสือต่อพระองค์ท่าน นี้เป็นความปิติยิ่งในชีวิตของผมและครอบครัว

ปีนี้เป็นปีแรกที่องค์กรที่ผมทำงานอยู่ คือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เข้าร่วมเป็นองค์กรหนึ่งในการจัดบู๊ธงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติประจำปีนี้ โดยเป็นความร่วมมือกับองค์กรด้านสุขภาพหลายองค์กร อาทิ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มูลนิธิหมอชาวบ้าน และสำนักงานโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program: HITAP) กระทรวงสาธารณสุข

ที่ตั้งของบู๊ธ สช. อยู่ในทำเลที่ดีมาก เมื่อเดินลงบันไดจากห้องประชุมใหญ่ไป แล้วเลี้ยวขวาไปเพียงเล็กน้อยก็จะถึงทันที ภายในบู๊ธมีโลโก้ สช. ขนาดใหญ่ลอยเด่นดึงดูดสายตาอยู่บนผนังหลังห้อง มีบอร์ดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับ “การวัดรอบเอว” เพื่อดูระดับความอ้วนของตนเอง อีกทั้งยังมีข้อมูลผลการศึกษาของ “การตรวจสุขภาพ” ประกอบความเข้าใจ ว่าผลที่ออกมาหมายถึงเช่นไร และที่เตะตาที่สุด คือ ป้ายที่ตั้งอยู่หน้าบู๊ธซึ่งมีข้อความที่ว่า “ตรวจวัดระยะสุขภาพ” ตั้งเด่นเป็นสง่าเคียงข้างตู้กระจกโชว์หนังสือที่ สช. และองค์กรภาคีได้ผลิตไว้อย่างสวยงาม

ที่ชั้นบนของตู้โชว์นั้นได้แสดงหนังสือจำนวน ๓ เล่ม ที่ได้ทูลเกล้าถวายแด่องค์ประธานในครั้งนี้ด้วย

เล่มที่ ๑ “รอยเวลา : เส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพ” ที่ “นฤนาท อนุพงศ์พัฒน์” ได้เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าพัฒนาการของการพัฒนาระบบสุขภาพตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ปี ก่อนหน้ายุคปัจจุบัน จนถึงปี ๒๕๕๒ ที่มีการประกาศใช้ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ มี “วิชัย โชควิวัฒน และ โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์” เป็นบรรณาธิการ สนับสนุนการพิมพ์โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ตีพิมพ์เมื่อมกราคม ๒๕๕๖

เล่มที่ ๒ “รอยเหมือง : สารคดีภาพเล่าเรื่องเหมืองแร่ในประเทศไทย” เป็นหนังสือรวบรวมภาพจากฝีมือการถ่ายภาพของ “เริงฤทธิ์ คงเมือง” และเขียนบรรยาย โดย “บำเพ็ญ ไชยรักษ์” เป็นสารคดีภาพจากต้นเรื่อง ๑๑ แห่ง ประกอบด้วย “ลาทีเหมืองดีบุก มารักไข่มุกอันดามัน” “แม่นางร่อนแร่ : ความป่วยไข้สีดำที่ร่อนพิบูลย์” “หลักโคหลักใจในเขาคูหา” “ลมบอกข่าวจากดอยผาแดง” “แม่ถอด ถิ่นนี้มีมากกว่าเหล็ก” “ปริศนาบนก้อนเมฆ” “เวียงแหงในเงาสงคราม” “มายาทองคำ” “ช้างผูกโบว์แห่งเซไล” “พิษตะกั่วที่คลิตี้ ๓๐ ปี ยังไม่จาง” และ “เกลือ – โปแตส อีสาน : ศึกชิงมณีสมุทร”

เล่มที่ ๓ “เมฆปริศนา : ประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องเหมืองแร่ในเมืองไทย” เป็นหนังสือบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่ โดยฝีมือของนักเขียนสารคดีช่อการะเกดนาม “บำเพ็ญ ไชยรักษ์” ภาพประกอบเรื่องโดย “เริงฤทธิ์ คงเมือง” รวม ๑๑ เรื่อง คือ “ศิวิไลซ์แห่งเหล็กวิลาศที่ภูเก็ต” “ร่อนพิบูลย์กับความป่วยไข้สีดำ” “เขาคูหาขวัญหาย” “แม่ตาว : ความลับบนดอยผาแดง” “สู่หัวใจแห่งขุนเขาที่แม่ถอด” “แม่เมาะ : เมืองเมฆปริศนา” “เวียงแหงถิ่นพหุวัฒนธรรม” “เทือกเขาเพชรบูรณ์ในมายาทองคำ” “จดหมายจากทะเลภูเขา” “คลิตี้ : หมู่บ้านเสือร้องไห้” “และ “เกลือ – โปแตส : สินแร่มณีสมุทร”

โดยหนังสือเล่มที่ ๒ และ ๓ จัดอยู่ในกล่องสีน้ำตาลอ่อนกล่องเดียวกัน ภายใต้ชื่อ “เล่าเรื่องเหมืองแร่ในเมืองไทย” สนับสนุนการพิมพ์โดย “ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ตีพิมพ์เมื่อกันยายน ๒๕๕๖

เมื่อผมรู้ตัวว่าต้องปฏิบัติภารกิจที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ในช่วงเย็นของวันพุธที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๗ แม้นมีคำถามมากมายเกิดขึ้นทั้งเรื่องการแต่งตัว การกล่าวถวายรายงาน สาระของหนังสือที่จะถวาย แต่ความดีใจล้นพ้นในโอกาสที่หาได้ยากยิ่งในชีวิตเช่นนี้ ก็กลบความกังวลใจทุกสิ่งเหล่านั้นไปจนหมด

เสียงโทรศัพท์จาก “วิเชียร ฤกษ์จินดาพล” หรือ “น้องหนุ่ม” ผู้ประสานงานหลัก ที่ดังขึ้นในช่วงค่ำของวันเดียวกัน ได้บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ผมรับทราบล่วงหน้า และการเตรียมตัวที่เกี่ยวข้องดังกล่าวจนสิ้นความสงสัย

๐๖.๒๐ น. ผมเดินทางมาถึง “ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” สถานที่จัดงาน ขณะนั้นยังมีผู้คนที่บางตามากผมพบ “น้องหนุ่ม” สาวฐิติพร คหัฎฐา หรือ “น้องอ้อม” และทีมงาน ช่วยกันจัดบู๊ธให้พร้อม จัดเตรียมหนังสือที่จะถวาย โดยต้องนำไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ก่อนที่จะนำมาตกแต่งด้วยริบบิ้นจัดวางบนพานสีทองอย่างสวยงาม พร้อมกับนำไปจัดวางไว้ ณ โต๊ะถวายพร้อมกับผู้ที่จะถวายรายอื่น ๆ

และแล้วเวลาแห่งการรอคอยมาถึง ภายหลังจากพิธีเปิดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” ผ่านไป องค์ประธาน ได้เสด็จไปตามลาดพระบาท เพื่อชมบู๊ธต่าง ๆที่องค์กรและสำนักพิมพ์ต่าง ๆ นำมาแสดงภายในงาน ผมกับทีมงานเข้าประจำที่บริเวณหน้าบู๊ธของตนเอง

องค์ประธานค่อย ๆ เสด็จ พร้อมกับผู้ติดตามที่เดินตามไปอย่างช้าๆ บางบู๊ธพระองค์ท่านก็จะแวะทักทาย บางบู๊ธจะมีการถวายหนังสือ คณะของพระองค์ท่านเดินผ่านหน้าบู๊ธฝั่งตรงข้ามไป แล้วไปวกกลับเสด็จชมบู๊ธที่ตั้งอยู่ฝั่งเดียวกับบู๊ธขององค์กรเรา

ขณะนั้นผมรู้สึกคอแห้งลงแบบฉับพลัน ในใจคิดว่าจะถวายรายงานอย่างไรดี หัวใจของผมเต้นไม่เป็นจังหวะเสียแล้ว

เมื่อผมตั้งสติได้ พระองค์ท่านก็มายืนอยู่หน้าบู๊ธของ สช. แล้ว สายตาเพ่งมองไปภายในบู๊ธ และเงยหน้ามองไปที่ป้ายข้อความ “ตรวจวัดระยะสุขภาพ”

“บู๊ธนี้เป็นบู๊ธของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติครับ ในงานนี้ได้เปิดบริการตรวจสุขภาพกับประชาชนที่มาในงาน” ผมกล่าวรายงานพร้อมกับใจที่เต้นรัวด้วยความปลาบปลื้ม

พระองค์ท่านอมยิ้ม สายตาส่งมายังผม พร้อมกับตรัสออกมาว่า

“สุขภาพ สุขภาพ ดิฉันไม่กล้าตรวจสุขภาพ” พร้อมกับทรงสรวลออกมา ทำให้ผมและทีมงานที่เฝ้ารับเสด็จ พร้อมทั้งคณะที่ติดตามเสด็จ อดไม่ได้ที่จะหัวเราะออกมาพร้อม ๆ กัน

ผมโค้งคำนับพระองค์ท่านในขณะที่พระองค์ท่านเสด็จไปยังบู๊ธถัดไป ความรู้สึกของผมปนเปกันระหว่างความปิติและความโล่งอก

พระองค์ท่านค่อย ๆ เสด็จไปตามบู๊ธต่าง ๆตามเส้นทางที่ได้กำหนดไว้แล้ว ผมเห็นรถเข็นบรรทุกหนังสือที่มีผู้ถวายให้แก่พระองค์ท่านเข็นไปยังรถพาหนะที่เตรียมไว้นับสิบ ๆ เที่ยว แต่ละเที่ยวจะเห็นหนังสือเต็มคันรถทุกเที่ยวไป

ผมรีบเข้าประจำที่ ณ จุดที่จะถวายหนังสือที่จัดไว้อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับผู้แทนสำนักพิมพ์และองค์กรต่าง ๆ

เวลาผ่านไปนานนับชั่วโมง และนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สายตาของผมได้สัมผัสกับพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด พระองค์ท่านเสด็จมาถึงจุดแรกของโต๊ะที่มีผู้รอรับเสด็จ แล้วค่อย ๆ เสด็จพร้อมกับเอื้อมพระหัตถ์ไปรับหนังสือที่มีผู้ถวาย จนมาถึงจุดที่ผมยืนอยู่ ผมยกพานทองที่วางหนังสือทั้ง ๓ เล่ม ขึ้น พร้อมกับกล่าวว่า “เป็นหนังสือสารคดีภาพเกี่ยวกับเหมืองแร่ในประเทศไทย”

พระองค์ท่านเอื้อมพระหัตถ์มารับ พร้อมกับพยักพระพักตร์ ผมได้ยินเสียงของพระองค์ท่านไม่ถนัดนัก แต่รู้อยู่เต็มอกว่า พระองค์ท่านแสดงความขอบใจออกมา

พระองค์ท่านค่อย ๆ รับถวายหนังสือไปจนหมด ก่อนที่จะเสด็จไปยังบู๊ธในลำดับต่อไป

ผมอดไม่ได้ที่จะเปล่งเสียงออกมาอย่างพร้อมเพรียงกัน พร้อมกับประชาชนที่มารอแน่นอออยู่ที่ประตูทางเข้า ยามที่พระองค์ท่านเสด็จผ่านไป อย่างกึกก้องว่า “ทรงพระเจริญ”

แม้นวันเวลาจะล่วงเลยมากว่า ๑ สัปดาห์แล้ว แต่ความประทับใจในการได้รับโอกาสจากผู้บริหารในองค์กร ให้เป็นผู้แทนเข้าเฝ้ารับเสด็จและถวายหนังสือครั้งนี้ยังคงอยู่ในความทรงจำ ความอิ่มเอมใจยังไม่จางหายและคลายออกจากชีวิตจนยากอธิบายเป็นตัวอักษรถึงความรู้สึกดังกล่าวนั้นออกมา

เหตุการณ์ในครั้งนี้นับเป็นมงคลยิ่งต่อชีวิตของผมและครอบครัว และทำให้ผมมีแรงบันดาลใจในการทำงานตามบทบาทหน้าที่ต่อไป

ใครจะคิดบ้างล่ะครับว่า โอกาสอันหายากครั้งนี้จะเดินทางเข้ามาในชีวิตผมแบบกะทันหันเช่นนี้

ผมนึกย้อนหลังไป ถึงเหตุการณ์ ๓ ครั้งก่อนหน้านี้ที่ผมได้มีโอกาสใกล้ชิดพระองค์ท่าน

ครั้งที่ ๑ ในปี ๒๕๒๕ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรระดับปริญญาตรี ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ครั้งที่ ๒ ในปี ๒๕๔๕ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรระดับปริญญาโท ของมหาวิทยาลัยมหิดล

ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๔๙ เมื่อครั้งที่ยังเป็นข้าราชการกรมอนามัย ได้ถ่ายรูปหมู่กับพระองค์ท่านพร้อมกับคณะเจ้าหน้าที่ของกรมอนามัย ในงานหนึ่งที่พระองค์ท่านเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด

ฉะนั้นกิจกรรมในครั้งนี้จึงนับเป็นครั้งที่ ๔ ที่ผมได้มีโอกาสได้รับเสด็จ “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” พระบรมวงศานุวงศ์อันเป็นที่รักยิ่งของคนไทยทุกคน

ในวาระวันจักรีประจำปีนี้ ผมในฐานะข้าราชการของพระมหากษัตริย์ไทย ใคร่ขอน้อมถวายหัวใจในการทำหน้าที่ที่รับผิดชอบอย่างเต็มกำลัง พร้อมใคร่ขอถวายคำอำนวยพรจากประชาชนตัวเล็ก ๆ คนนี้ว่า “ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน” สืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น