๓๐ เมษายน ๒๕๕๗
“มาเยี่ยมชม บุคคล สาธารณะ……….ที่มานะ สร้างเสริม เติมอาหาร
ให้อุดม สมบูรณ์ ถิ่นพักพาน………………………..เป็นถิ่นฐาน เลี้ยงผู้คน ได้ชิมกิน
เพาะพันธุ์ปู แล้วนำคืน ธรรมชาติ…...เป้าแน่ชัด ท้องทะเล กระแสสินธุ์
แหล่งอาหาร อุดมพลี มีปูกิน……………………….สร้างแผ่นดิน มีสารพัด นานาปู
น้าชำนาญ ลุงนันท์ และป้าต้อย………ตัวเชื่อมร้อย อุดมการณ์ ด้วยใจสู้
ขอคารวะ ด้วยจิต และเชิดชู……………………….ท่านคือผู้ สร้างโลก ให้สมบูรณ์”
บทกลอนข้างต้นผมได้ถ่ายทอดความรู้สึกไว้ใน “สมุดเยี่ยม” ที่ “น้าชำนาญ” ขอให้ผมเขียนแสดงความคิดเห็นต่องานที่เรียกว่า “ธนาคารปู” กิจกรรมเล็ก ๆ แต่มีคุณค่า และส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของ “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ให้เป็นแหล่งอาหารสำหรับหล่อเลี้ยงผู้คนทั่วโลกได้ชิมได้กินกันต่อไปในทุกวี่วัน
ในช่วงก่อนเที่ยงของวันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๗ ผมและทีมงานรวม ๘ คน ในนามของคณะวิจัยโครงการการจัดการองค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา) ของวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชม “ธนาคารปู” ที่ “กลุ่มออมทรัพย์ ป.ทรัพย์อนันต์ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา”
“กลุ่มออมทรัพย์ ป.ทรัพย์อนันต์” แห่งนี้ แต่ก่อนเป็นเพียง “แพ ป.ทรัพย์อนันต์” ที่ทำกิจการซื้อขายปูทะเลจากชาวประมงทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน แต่เมื่อ “ลุงนันท์” และ “ป้าต้อย” เจ้าของได้เห็นความสำคัญและต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวประมง จึงริเริ่มให้มีการออมเงินเพื่อเป็นสวัสดิการด้านต่าง ๆ ให้กับสมาชิก และจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ เป็นต้นมา
กลุ่มออมทรัพย์แห่งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ ๔ ข้อ คือ (๑) เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะปูที่ใกล้สูญพันธุ์ เป็นการขยายการเพาะพันธุ์ลูกปูจากแม่ปูคืนสู่ธรรมชาติ (๒) ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้าน (๓) ส่งเสริมการออมทรัพย์และการประหยัดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ (๔) ส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและทะเลอ่าวไทยให้เป็นแหล่งทำมาหากินแก่คนรุ่นหลังต่อไป
หลังจากทักทาย “น้าชำนาญ” น้องชาย “ลุงนันท์” หัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญแล้ว ผมใช้โอกาสที่หาได้ไม่ง่ายนี้ เดินสำรวจดูสถานที่โดยรอบของธนาคารปู ที่เต็มไปด้วยบ่อคอนกรีตขนาดยาวประมาณ ๕ เมตร กว้างประมาณ ๑ เมตร ก่อสูงขึ้นมาจากพื้นประมาณครึ่งเมตร โดยมีการก่อปูนกั้นเป็นห้อง ๆ ราว ๑๐ ห้อง แต่ละห้องก็จะมีน้ำประมาณค่อนถัง มองลงไปจะเห็นลูกปูขนาดต่าง ๆ ว่ายวนอยู่ยั้วเยี้ยเต็มไปหมด บางห้องแทบมองไม่เห็นลูกปูเพราะตัวเล็กมาก สอบถาม “น้าชำนาญ” จึงรู้ว่าเพิ่งมีอายุได้ประมาณ ๒ – ๓ วันเท่านั้น
ผมเดินลัดเลาะไปยังด้านหลังของตัวธนาคาร ซึ่งเป็นบริเวณทะเลสาบที่มีสะพานไม้ทอดยาวยื่นออกไปในท้องทะเล ขณะนั้นมีเรือประมงขนาดเล็กจอดอยู่ประมาณ ๔ – ๕ ลำ เรือแต่ละลำก็จะมีเครื่องมือประมงอยู่พร้อมสรรพวางซ้อนเทินกันอยู่เต็มลำเรือ
ผมเดินย้อนกลับออกมาด้านหน้าธนาคารอีกครั้ง สายตาก็ประสบกับอาหารทะเลที่วางอยู่บนโต๊ะทั้งปลาหมึก ปลา และที่สำคัญก็คือปูนึ่งตัวใหญ่ ๆ วางบนจานพูน โดยมีเสียงของ “น้าชำนาญ” เอ่ยเชิญชวนทีมงานของเราว่า “กินข้าวกันก่อน”
บุคคล ๓ คน สำคัญที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ของ “ธนาคารปู” แห่งนี้ คือ “ลุงนันท์” “ป้าต้อย” และ “น้าชำนาญ”
“ลุงนันท์” ชายวัยกลางคนที่นับถือศาสนาพุทธท่ามกลางชาวบ้านรายรอบในหมู่บ้านที่นับถืออิสลาม แต่ด้วยความมีอัธยาศัยไมตรีที่ดีและยังได้ “ป้าต้อย” ภรรยาคอยช่วยเหลือและมีจิตใจโอบอ้อมอารีต่อผู้คน ทำให้ครอบครัวนี้กลายเป็นที่รักของทุกคนในชุมชน
“ลุงนันท์” เล่าให้กับทีมงานของเราฟังด้วยเสียงดังฟังชัดว่า “ในสมัยก่อนบริเวณแถวนั้นจะมีปูอุดมสมบูรณ์ขนาดมีคำเปรียบเปรยว่า หากเอาอวนไปลากแล้วชักอวนขึ้นมาจะไม่มีที่ให้มือจับ เพราะทั้งอวนจะเต็มไปด้วยปู แต่เหตุการณ์เริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ที่มีการสร้างฐานเจาะน้ำมันกลางทะเล จำนวนปูเริ่มลดลงอย่างชัดเจน โดยดูจากปริมาณการจับปูที่เคยได้วันละหลายร้อยกิโลกรัมต่อครั้งที่ออกทะเลไป ลดลงมากถึงบางวันไม่สามารถจับปูได้เลย ออกเรือไปก็ไม่คุ้มกับค่าน้ำมัน จนเวลาผ่านไปประมาณ ๕ ปีเศษ “ปู” กลายเป็นสิ่งหายากยิ่งในย่านทะเลแถวนั้น”
“ลุงนันท์” มานั่งคิดว่าควรจะทำอะไรดี เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปย้ายฐานเจาะน้ำมันออกไปให้พ้นจากกลางทะเล จึงคิดที่จะทำให้ปูกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเก่าก่อนแทน ประกอบกับตัวเองก็รู้สึกผิดบาปกับชีวิตที่ผ่านมาซึ่งใช้ “ปูทะเล” เป็นแหล่งทำมาหากินของครอบครัวจนความเป็นอยู่ดีขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน
จากฐานคิดดังกล่าว จึงแลกเปลี่ยนกับผู้คนฝ่ายต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนในที่สุดได้รับการสนับสนุนจากบางหน่วยงานให้วัสดุก่อสร้างและเงินทุนมาก้อนหนึ่ง รวมกับเงินส่วนตัวที่ได้รับเป็นค่าชดเชยความเสียหายที่ทาง ปตท. ในฐานะเจ้าของฐานเจาะน้ำมันจ่ายให้รายเดือน มาก่อสร้างและพัฒนาเป็น “ธนาคารปู” มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ โดยมี “น้าชำนาญ” เป็นกำลังสำคัญในการเพาะพันธุ์ปู
อย่างไรก็ตามการทำธนาคารปูไม่ได้ราบเรียบเป็นเส้นตรง เพราะอุปสรรคสำคัญ คือ “น้ำ” สำหรับเลี้ยงปูที่จะเพาะพันธุ์ออกมา เนื่องจากน้ำทะเลในบริเวณใกล้ ๆ ที่พัก ไม่สามารถที่จะใช้เลี้ยงปูให้อยู่รอดได้ เนื่องจากมลพิษที่มองไม่เห็นจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน จำเป็นต้องขับเรือออกไปนำน้ำจากกลางทะเลมาใช้ และนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
จากสิ่งที่ “ลุงนันท์” กำลังทำอยู่นี้ จึงส่งผลให้เกิดความคิดใหม่ว่า “ทำอย่างไรที่จะให้คนในชุมชนคนอื่น ๆ จะหันมาร่วมมือกันเพิ่มผลผลิตปูให้กับท้องทะเลมากขึ้น” จึงได้เข้าร่วมกับโครงการวิจัยที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ประสานงานมา โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖
ผมได้รับข้อมูลจาก “ศรีภารัตน์ ภูวเดชชูกุลโรจน์” หรือ “น้องน้ำ” ผู้ประสานงานพื้นที่ว่า ในปีที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีชาวบ้านพูดคุยถึงปัญหาและทิศทางการพัฒนาตำบลหัวเขามาแล้ว ซึ่งผลการจัดเวทีนั้นพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้มีสาเหตุมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
• ชาวประมงหันมาเพิ่มศักยภาพในการทำประมง เนื่องจากเกิดภาวะทรัพยากรที่ลดลง เช่น ลดขนาดตาอวนให้เล็กลงให้สามารถจับสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กได้มากขึ้น เนื่องจากตัวใหญ่เหลือน้อยลง เพิ่มจำนวนเรือหรือจำนวนเครื่องมือประมงเพื่อให้ได้ปริมาณสัตว์น้ำมากขึ้น
•ระบบนิเวศมีความเสื่อมโทรมมากขึ้น โดยเฉพาะมีสาเหตุมาจากน้ำมือมนุษย์ที่ใช้ทะเลสาบเป็นแหล่งรองรับมลพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสีย สารเคมีต่างๆ ที่ปล่อยสู่แหล่งน้ำโดยไม่มีการบำบัดที่ได้มาตรฐาน จึงทำให้ที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำโดนทำลาย
• ภาวะของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เป็นภาวะที่หนุนเสริมให้มีการจับสัตว์น้ำให้ได้มากขึ้นเพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุน แต่ละครั้งที่ออกทะเลไปจับสัตว์น้ำจึงต้องมีสัตว์น้ำกลับมา จึงทำให้เพิ่มเป้าหมายมาจับสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ยังไม่เติบโตและวางไข่ด้วย ทำให้ลดจำนวนสัตว์น้ำที่อยู่ในภาวะเจริญพันธุ์ตามไปด้วย
• ปริมาณเครื่องมือทำลายล้างบริเวณทะเลสาบสงขลาที่มีมากขึ้น ส่งผลให้สัตว์น้ำขนาดเล็กถูกจับไปอย่างมากมายมหาศาล จนทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถโตพอในขนาดที่จะจับได้ สัตว์น้ำบางชนิดก็เกิดการสูญพันธุ์ในที่สุด
• การบังคับกฎหมายไม่สามารถทำอย่างจริงจังได้ เป็นสาเหตุที่กระบวนการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ไม่เป็นผล เนื่องจาก ผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติมีมูลค่ามหาศาล การจัดการจึงไม่สามารถดำเนินคดีอย่างจริงได้เพราะมีกลุ่มอิทธิพลขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่
• หน้าที่ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติไม่ได้เป็นหน้าที่ของเฉพาะหน่วยงานราชการเท่านั้น ต้องขยายการมีส่วนร่วมไปถึงทุกคนที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาตินั้นร่วมกัน ทั้งคนจับสัตว์น้ำ คนซื้อขาย คนบริโภค ต่างก็มีส่วนในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
จากสาเหตุที่ชาวบ้านร่วมกันวิเคราะห์ขึ้นมานั้น จึงได้ร่วมกันพิจารณาว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในที่สุดทุกฝ่ายก็เห็นพ้องกันว่าควรจะมี “กติกาชุมชน” ในการบริหารจัดการทรัพยากรในทะเล ร่วมกัน
ตัวอย่างกติกาชุมชนของตำบลหัวเขาที่ผมได้เห็นนับว่าสนใจยิ่ง อาทิเช่น
• ขนาดสัตว์น้ำที่จับ ไม่ควรจับสัตว์น้ำที่มีขนาดยังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เพื่อให้สัตว์น้ำได้สามารถแพร่พันธุ์ก่อน
• เครื่องมือจับสัตว์น้ำต้องเป็นเครื่องมือที่ไม่ทำลายล้าง
• วิธีการจับสัตว์น้ำที่มีจรรยาบรรณในการทำประมง
• การกำหนดเขตในการจับสัตว์น้ำที่เหมาะสม และการสร้างเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ
• การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการจัดการทรัพยากรร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกับหน่วยงาน หน่วยงานกับชาวบ้าน กลุ่มประมงพื้นบ้านกับประมงพาณิชย์
• การสร้างพื้นที่เรียนรู้ ชุดการเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดและขยายพื้นที่ให้กับ บุคคลหรือกลุ่มที่สนใจ
• การสร้างจิตสำนึกสาธารณะร่วมในการใช้ทรัพยากร
• การรณรงค์ฟื้นฟูแหล่งน้ำเสียให้มีคุณภาพที่เหมาะสม
• การปล่อยปูที่เพาะฟักสู่ทะเลนอก เพื่อให้อัตรารอดสูงขึ้น แต่ต้องมีแหบ่งหลบซ่อนให้ปูด้วย
• ส่งเสริมชาวประมงให้ทำการเพาะปูทะเลมากขึ้น เพื่อช่วยกันเพิ่มทรัพยากร ให้รอบชายฝั่งทะเลสงขลาหรือทั่วประเทศ
• การศึกษาอัตรารอดในการปล่อยลูกปูสู่ธรรมชาติ ว่ามีอัตรารอดเท่าใด
• การปล่อยสัตว์น้ำ ให้เหมาะสมกับพฤติกรรม เช่น ปูทะเลหากินตอนกลางคืนควรปล่อยในตอนกลางคืนและมีแหล่งหลบภัย หรือปล่อยลงคอกก่อนสู่ทะเล
• การส่งเสริมกลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มออมทรัพย์ให้แก่ชาวประมง
• การรับรองสิทธิชุมชน ให้มีบทบาทในการร่วมจัดการทรัพยากรมากขึ้น โดยให้ท้องถิ่นสนับสนุน
• การรณรงค์ให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกิน เช่น การรับประทาน ปูไข่ ปลาไข่
• สร้างความชัดเจนของบทบาทหน่วยงานต่างๆ ให้แก่ประชาชน และความเข้าใจระหว่างหน่วยงานด้วยกันเอง
โดยเงื่อนไขสำคัญที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน คือ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ต้องเข้ามีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินการในครั้งนี้
กว่า ๓ ชั่วโมง ที่ทีมงานของเรานั่งฟังเรื่องราวต่าง ๆ จากปากของ “ลุงนันท์” และ “น้าชำนาญ” ท่ามกลางอาหารที่จัดบริการโดย “ป้าต้อย” ช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วเสียจริง เวลาแต่ละนาทีที่ผ่านไปล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยสาระที่น่าเรียนรู้ยิ่งนัก โดยเฉพาะผมที่พื้นเพเป็นคนภาคเหนือตอนล่าง ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยท้องทะเลเป็นที่พักพิง เรื่องเล่าต่าง ๆ ที่พรั่งพรูออกมาจากคนต้นเรื่องจึงสนุกและได้แง่คิดในการทำงานของผมยิ่งนัก เกิดความอิ่มเอมใจที่ได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ จากนักเล่าเรื่องที่เป็น “ผู้ทำจริง”
การได้เห็นชุมชนลุกขึ้นมาจัดการกันเอง และนำแนวคิดของ “ธรรมนูญสุขภาพ” อันเป็นเครื่องมือ "ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐" ที่ผมกำลังขับเคลื่อนอยู่ ไปปรับใช้เพื่อสร้าง “กติกาของชุมชน” ด้วยมือของคนในชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อคนในชุมชน นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมเกิดความรู้สึกดังกล่าว
ผมอดคิดไม่ได้ว่าพลังความตั้งใจของคนตำบลหัวเขา โดยเฉพาะ “ลุงนันท์” "ป้าต้อย” และ “น้าชำนาญ” ที่เดินตามเส้นทางศรัทธาอย่างคงมั่น ยิ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงานที่จะมุ่งมั่นตั้งใจและเป็นแรงสนับสนุนเบื้องหลังให้ชาวบ้านที่นี่ได้เดินไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งและเต็มพลังการทำงานที่มุ่งมาดปรารถนาต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น