วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

จดหมายถึงเพื่อน ฉบับที่ ๖

๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗

บุญส่ง เพื่อนรัก

“ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ…..จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๓๐ น. เป็นต้นไป”

ระหว่างที่ผมกำลังขับรถกลับบ้านหลังจากเสร็จสิ้นจากภารกิจงานในพื้นที่ เสียงดังกล่าวดังผ่านลำโพงรถคู่ใจและสร้างความตระหนกให้ผมไม่น้อย พลันที่เสียงประกาศจบก็มีเสียงเพลงแนวปลุกใจรักชาติดังขึ้นตามมา ไม่ต่างจากสถานีอื่นๆ ก็จะมีเพียงเสียงเพลงดังกล่าวสลับกับการอ่านประกาศของโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ใช้ชื่อย่อว่า คสช. เป็นระยะ ๆ

บุญส่งเพื่อนรัก เราไม่ได้เขียนจดหมายมาหานายนานมากแล้วซินะ ด้วยภารกิจการงานในช่วงนี้ที่ค่อนข้างรัดตัว แต่เพราะเสียงประกาศข้างต้น ทำให้เราคิดถึงนายขึ้นมาทันที และลงมือเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงนาย เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ ในประเทศไทยให้ฟัง

ถ้านายยังจำได้ ๒ เดือนที่แล้ว จดหมายฉบับล่าสุดที่เราเขียนถึงนายเล่าให้ฟังว่า

ผู้ชุมนุมภายใต้ชื่อ กปปส. ยังคงชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยนำยุทธวิธีมาใช้ทุกรูปแบบ ทั้งเดินปิดกรุงเทพฯ บางจุด ตั้งเวทีในย่านที่สำคัญๆ พร้อมกันหลาย ๆ จุด เดินรณรงค์ไปตามท้องถนนทั่วกรุงเทพ เดินสายไปพบผู้บริหารองค์กรรัฐและรัฐวิสาหกิจ ย้ายไปชุมนุมที่สวนลุมพินี แล้วสุดท้ายย้ายมาชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน และกำหนดวันประกาศชัยชนะในวันที่ ๒๖ พฤษภาคมนี้

การกระทำของ กปปส. มีเป้าหมายสำคัญ คือ การให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออก เพื่อเปิดให้มีการตั้งคณะรัฐมนตรีคนกลางทำการปฏิรูป แล้วเร่งให้มีการเลือกตั้งที่โปร่งใส แต่จนวันที่เกิดเหตุการณ์นี้รัฐบาลก็ไม่ยอมลาออกแต่อย่างใด

แม้นมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากอำนาจหน้าที่กรณีโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ และคำตัดสินของ ปปช. กรณีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ว่านายกรัฐมนตรีมีความผิด ก็มีการตั้งรัฐมนตรีคนอื่นมาทำหน้าที่แทน

อีกทั้งทางด้านวุฒิสภาก็มีความพยายามหาทางออก แต่ทางรัฐบาลก็ยังไม่ยอมลาออกแต่อย่างใด

จนในที่สุดเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ผบ.ทบ. จึงใช้อำนาจตาม พรบ.กฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ ประกาศกฎอัยการศึก และมีการเชิญหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ไปประชุม และเมื่อวานนี้ได้มีการเชิญแกนนำ ๗ ฝ่าย คือ รัฐบาล พรรคเพื่อไทย นปช. พรรคประชาธิปัตย์ กปปส. วุฒิสภาและ กกต. ไปร่วมประชุมหารือกันที่สโมสรกองทัพบก

ซึ่งตามข่าวที่เราติดตามทราบว่าแต่ละฝ่ายก็มีข้อเสนอของตนเอง แต่ข้อเสนอเหล่านี้ยังไปคนละทิศละทาง ผบ.ทบ. จึงเลิกประชุมแล้วตั้งโจทย์ให้แต่ละฝ่ายกลับไปคิด แล้วนำคำตอบมาประชุมใหม่ในวันนี้

และต่อไปนี้คือข่าวที่เราได้มาจากเฟชบุ๊ค เล่าให้เห็นบรรยากาศก่อนการยึดอำนาจในครั้งนี้

“ผู้เข้าร่วมประชุมชุดเดิมที่เดินทางไป ต่างรู้สึกได้ถึงความแตกต่างของบรรยากาศการรักษาความปลอดภัยในวันนี้ ที่ทางกองทัพได้จัดกำลังทหารเข้ามาดูแลภายในตัวอาคารสโมสรกองทัพบก ที่ใช้เป็นสถานที่หารือจำนวนมาก และแต่ละคนจะพกอาวุธประจำกาย ขณะเดียวกันบรรดาเสนาธิการทหาร ก็ได้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ขณะที่วันที่ ๒๑ พ.ค. ที่ผ่านมา แม้จะมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำการในอาคารแต่ก็ไม่มีการพกพาอาวุธ และแต่ละเหล่าทัพก็มีเพียงผู้นำ หรือตัวแทนเหล่าทัพบางคนเท่านั้น

นอกจากนี้ก่อนการหารือยังได้มีการขอเก็บเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดของผู้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากการหารือเมื่อวันที่ ๒๑ พ.ค. ได้มีภาพภายในห้องประชุมเผยแพร่ออกไป และได้กันผู้ติดตามให้ไปรอผู้ร่วมประชุมอีกชั้นหนึ่ง

อย่างไรก็ตามเมื่อการประชุมเริ่มขึ้น ผบ.ทบ. ได้เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้เสนอแนวทางตามที่ได้ให้การบ้านไปก่อนหน้านี้ โดยแต่ละฝ่ายก็ยังคงนำเสนอแนวทางในมุมของตัวเอง ซึ่งเห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศแล้ว

เมื่อแต่ละฝ่ายไม่มีจุดร่วมที่ตรงกัน ผบ.ทบ. ได้ขอพักการประชุม และเชิญแกนนำฝ่าย นปช. และ กปปส. ไปหารือร่วมกันอีกห้องหนึ่ง ประมาณ ๔๕ นาที เมื่อกลับมาที่วงหารือแล้วก็ยังได้เชิญเฉพาะประธาน นปช. และเลขาธิการ กปปส. ไปพูดคุยกันส่วนตัวประมาณ ๑ นาที ก่อนที่จะกลับมาที่วงหารือ

และได้สอบถาม รมว.ยุติธรรมในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาล ว่าตกลงรัฐบาลยืนยันไม่ลาออกทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่ ซึ่ง รมว.ยุติธรรม ระบุว่านาทีนี้ไม่ลาออก

ผบ.ทบ. จึงบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นตั้งแต่นาทีนี้ ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง

จากนั้นก็ได้เชิญตัวแทนวุฒิสภาและ กกต. ออกจากที่ประชุม โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้แต่ขอให้ยังอยู่ในพื้นที่สโมสรทหารบกเพื่อรอกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกจากพื้นที่ก่อน ส่วนตัวแทนจากฝ่ายอื่นๆ ได้ถูกควบคุมตัวไปยังสถานที่หนึ่ง”

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ต้องบอกว่าความรู้สึกของเราค่อนข้างสับสนมากมาย ระหว่างความรู้สึกที่เชื่อมั่นต่องานที่เราทำอยู่ซึ่งเป็นงานเพื่อสร้าง “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” กับความรู้สึกต่อการใช้ “การยึดอำนาจ” ที่กลายเป็น “ทางออกประเทศไทย” ที่ถูกเลือกนำมาใช้

หรือทางออกนี้ คือ ทางออกเดียวที่หลงเหลืออยู่ในช่วงเวลาเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถย้อนอดีตได้ ฉะนั้นสิ่งที่เราและคนไทยทุกคนจะทำได้นับต่อไปนี้ไป ก็คงทำหน้าที่ของตนให้ดีและสุจริตที่สุดตามบทบาทที่แต่ละคนมี

สำหรับเราแล้ว คงทำได้ด้วยการเรียกร้องให้ คสช. ยึดผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นที่ตั้ง เร่งรัดจัดให้มีคณะรัฐมนตรีที่ดีโดยเร็วเพื่อออกมาทำการปฏิรูปประเทศไทย โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้งให้เป็นระบบที่ทำให้ได้คนดีและเก่งเข้ามาทำงาน และคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็ว

เราขอให้นายช่วยดลบันดาลให้สิ่งที่เราคิดเกิดขึ้นจริงด้วยนะ

คิดถึงเพื่อน

“เราเอง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น